เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ พ.ค. ๒๕๕๙

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะเนาะ ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมคือสัจธรรม สัจธรรมเป็นความจริง แต่ชีวิตของเราล่ะ ชีวิตของเราเป็นสมมุติไง เป็นความจริง จริงโดยสมมุติ จริงโดยสัจจะ จริงโดยวิมุตติ ความจริงมันมีหลายขั้นตอน ความจริงมีละเอียดลึกซึ้งเข้าไป แต่ความจริงของเรา ชีวิตนี้เป็นความจริงอันหนึ่ง แต่ความจริงอย่างนี้เป็นความจริงสมมุติชั่วคราว เพราะชีวิตมันมีอายุขัย แต่สัจธรรมๆ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นสัจจะอันหนึ่งเหมือนกัน แต่มันก็แปรปรวนของมัน

ธรรมโดยวิมุตติธรรม วิมุตติธรรมเป็นอกุปปธรรมๆ คำว่า “อกุปปธรรม” คือธรรมที่คงที่ตายตัว เอโก ธมฺโม ธรรมหนึ่งเดียวไง ธรรมหนึ่งเดียวคู่กับใจหนึ่งเดียว ใจอันเดียว ชีวิตหนึ่ง แต่ชีวิตหนึ่งมันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ชีวิตหนึ่ง จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตนี้สร้างเวรสร้างกรรม เวรกรรมพาให้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อเป็นสิทธิของเรา เป็นสิทธิของใคร ใครจะเชื่อก็ได้ ใครไม่เชื่อก็ได้ เป็นสิทธิ์

แต่สัจจะความจริงๆ เป็นแบบนั้น สัจจะความจริงโดยการพิสูจน์โดยการทดสอบกัน ในการทดสอบกัน ดูสิ พระโพธิสัตว์ๆ พระโพธิสัตว์ทำคุณงามความดีต่อเนื่องๆ การทำคุณงามความดีต่อเนื่องจนจริตนิสัยเป็นผู้ดีตลอดไป คิดร้ายไม่ได้ คิดต่ำทรามไม่ได้ คิดต่ำทรามไม่ได้ เพราะพระโพธิสัตว์ต่อเนื่องไปๆ ต่อเนื่องไปจนถึงชาติสุดท้าย พอเวลาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเป็นชาติสุดท้าย “เราเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” เพราะบารมีเต็ม เกิดที่ลุมพินีวัน “เราจะเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย” แต่ยังไม่ได้ออกบวช สุดท้ายนั่นเป็นอำนาจวาสนาบารมี

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขวนขวายๆ นะ เวลาขวนขวายออกประพฤติปฏิบัติ เวลาประพฤติปฏิบัติ กิเลสตัณหาความทะยานอยาก เวลาเกิด กิเลสพาเกิดๆ คนที่เกิดทั้งหมดมีกิเลสทั้งนั้น เจ้าชายสิทธัตถะเวลาเกิดขึ้นมาก็มีคุณงามความดี เวรกรรมอันนั้นพาเกิด กรรมที่สมบูรณ์แบบ กรรมที่บารมีเต็มแล้วพาเกิด แต่การพาเกิดนั้นมีอวิชชา มีความไม่รู้ปิดบังมา

ทีนี้ความปิดบังมา ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นมีการทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์มันเกิดบนที่ไหน ที่มีการเกิด พอเกิดแล้วต้องรับผิดชอบ เกิดแล้วต้องแสวงหา ถ้าเกิดแล้วแสวงหา เกิดมีการกระทำอันนั้นมันถึงมีความทุกข์ เวลามีความทุกข์ขึ้นมา เห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ถ้าจะไม่ทุกข์ต้องไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้สละราชบัลลังก์ออกพิจารณา ออกค้นคว้า

เวลาค้นคว้าขึ้นมา การค้นคว้านั้น ความทุกข์ความยากอันนั้นๆ ความทุกข์ความยากเพราะมีกิเลส มีความไม่รู้ในหัวใจของเรา ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่รู้คืออวิชชาทั้งนั้น เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์บางอย่าง เราก็ทำผิดพลาดไปทั้งนั้นน่ะ แต่นี่มันไม่รู้เท่าหัวใจของตน ไม่รู้เท่าหัวใจของตน ทั้งๆ ที่หัวใจของตนสร้างอำนาจวาสนาบารมีมาขนาดนั้น หัวใจของตนพยายามขวนขวายๆ ขวนขวายแต่คุณงามความดีทั้งนั้น คิดว่าเป็นคุณงามความดีทั้งนั้นไง แต่คุณงามความดีอย่างนี้เป็นคุณงามความดีแบบอวิชชา คุณงามความดีแบบที่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความผิดพลาดของเราคือความพลั้งเผลอ คือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อวิชชาทั้งนั้น

แต่เวลาเป็นอวิชชา เวลามันจะค้นคว้าๆ ค้นคว้าเข้ามาในหัวใจอันนั้น นี่ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพราะเหตุนี้ไง ฟังธรรมเพื่อตอกย้ำว่าเราก็มีสิทธิ์ ทุกคนเกิดมามีหัวใจ หัวใจดวงนั้น หัวใจดวงนั้นมีค่าที่สุด เวลาสุขเวลาทุกข์มันทุกข์ที่หัวใจไง แต่ทุกข์ที่หัวใจแล้ว เราเกิดมาเรามีชาติมีตระกูล เรามีครอบครัวของเรา มันต้องการความมั่นคงในครอบครัวของเรา

พ่อแม่ ถ้ามีลูกของเรา ลูกของเรามีที่ยืนในสังคม ลูกของเรามีความสุข พอใจแล้วแหละ ลูกของเราอย่าให้มีความทุกข์ความยากจนเกินไปนัก แต่คนเราเกิดมา อวิชชาในหัวใจ มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันมีความทุกข์อยู่ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริงในหัวใจอันนั้น ทุกข์เป็นความจริงนะ เวลามีสิ่งใดพอ มีสิ่งใดที่สมบูรณ์แบบทั้งนั้น แต่มันก็ยังเหงา มันก็ยังเศร้ายังสร้อยในใจ คนจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนมันก็ยังว้าเหว่ คนจะมีมากน้อยขนาดไหน ในดวงใจพร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีดวงใจอิ่มเต็มไปได้ ถ้าไม่มีดวงใจอิ่มเต็มได้

คนจะทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหน เราก็มีสิทธิเหมือนกัน เราก็มีหัวใจเหมือนกันไง เวลาถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติ เราก็เอาหัวใจเราประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาก็ค้นหาหัวใจของตน ถ้าค้นหาหัวใจของตนได้แล้ว เอาหัวใจของตนนั้นออกฝึกหัดใช้ปัญญา

ไอ้ที่ว่ามันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่มันไม่รู้ ที่อวิชชาอันนั้นน่ะ พามันออกค้นคว้า พามันออกพิจารณา พามันออกพิจารณาในหัวใจของตน ในหัวใจของตน ไม่ใช่สมอง ไม่ใช่สัญชาตญาณ ในหัวใจของตน ถ้าในหัวใจของตนแล้ว เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาต้องทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจขึ้นมา ทำความสงบของใจเพราะเหตุใด

เพราะเวลาเจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษาค้นคว้ากับเจ้าลัทธิต่างๆ ได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ กับอาฬารดาบส อุทกดาบส “เจ้าชายสิทธัตถะมีความรู้เสมอเรา มีความเห็นเหมือนเรา เป็นอาจารย์ได้”

เจ้าชายสิทธัตถะไม่เอาๆ เพราะเจ้าชายสิทธัตถะยังลังเลสงสัยอยู่ ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาสอนจนหมดไส้หมดพุงของเขา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษามาทั่วแล้ว ทำทุกรกิริยามาเต็มที่แล้ว สุดท้ายแล้วก็มารำพึง กิเลสมันอยู่ที่เรา กิเลสอยู่ที่เรา อดอาหารก็แล้ว กลั้นลมหายใจก็แล้ว ทุกอย่างก็แล้ว อยู่ที่เรา เราอยู่ไหนล่ะ ถึงกำหนดระลึกได้ด้วยอำนาจวาสนา กำหนดว่านึกถึงโคนต้นหว้าๆ ตอนที่เป็นราชกุมารนั้น กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก นี่ด้วยอำนาจวาสนา ด้วยบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองไง ถึงไม่มีครูไม่มีอาจารย์ ต้องรื้อค้นด้วยตนเองไง

เวลารื้อค้นด้วยตนเอง คิดถึงโคนต้นหว้านั้น คืนนี้ฉันอาหารของนางสุชาดาฟื้นฟูร่างกายแล้ว คืนนี้ถ้าเรานั่งแล้ว ถ้าเราไม่สำเร็จคืนนี้จะนั่งตายเลย แต่นั่งตายไม่ใช่นั่งตายแบบทุกรกิริยา ไม่ใช่นั่งตายแบบนั่งทรมานไง นั่งตายแบบค้นคว้าหาหัวใจของตนไง พอจิตมันสงบเข้ามาแล้ว บุพเพนิวาสานุสติญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณคือเข้าไปสู่ใจของตน ใจของตน จิตหนึ่งที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ย้อนอดีตชาติไปตั้งแต่เป็นพระเวสสันดรไป มันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันยาวไกลได้ขนาดนั้น ถ้าเข้าถึงใจของตนๆ แล้ว ไปรู้ถึงสิ่งที่มันสะสมมาในใจของตนไง ในใจของตนที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะนี้ไง

ถ้ามันเป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณ มันก็ไม่ใช่การชำระกิเลส ดึงกลับมา รำพึงกลับมา เวลาคนเราตกอกตกใจแล้วเราพยายามเรียกขวัญกำลังใจเรากลับมา จิตมันคิดเรื่องใดเราก็ดึงกลับมาอยู่ที่ปัจจุบันนี้ ดึงมันกลับมา

เวลามัชฌิมยาม จุตูปปาตญาณ ถ้ามันยังไม่สิ้นกิเลสแล้วมันจะไปเกิดอย่างนั้นๆ ก็ดึงกลับมาอาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณ อาสวักขัยคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ญาณหยั่งรู้ในกิเลสตัณหาของตน ญาณหยั่งรู้อวิชชาที่ไม่รู้ๆ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ไม่รู้ๆ นี่ แต่มันไม่รู้อย่างไรล่ะ มันมีญาณหยั่งรู้ มันมีสติมีปัญญา ไม่ใช่ว่าเข้าไปรู้ไปชนมัน ไม่ใช่ มันต้องมีมรรคมีผล มันต้องมีการกระทำ มันต้องมีปัญญา มันต้องมีมรรค ๘

เวลามรรค ๘ เข้าไปรื้อค้นอย่างนี้ขึ้นมา นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงปฏิญาณตนไงว่าท่านเป็นพระอรหันต์ๆ พระอรหันต์เพราะอะไร เพราะท่านมีวิชชา ๓ ท่านมีบุคคล ๔ คู่ ท่านมีมรรคมีผลในใจของท่าน ท่านถึงปฏิญาณตนของท่าน ไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ ปัญจวัคคีย์พยายามนัดกันว่าไม่รับๆ เวลาเทศนาว่าการ “ไม่รู้ เราก็บอกไม่รู้ ถ้ารู้แล้วเราก็บอกว่ารู้ มีอะไรให้ถามมาสิ”

แสดงธัมมจักฯ พอแสดงธัมมจักฯ เป็นความจริง พอความจริง พยานคือพระอัญญาโกณฑัญญะที่ฟังธรรมอันนั้น แล้วใช้สติปัญญาของพระอัญญาโกณฑัญญะแทงทะลุไป นี่มีดวงตาเห็นธรรมๆ

เวลามีความจริงขึ้นมามันจะรู้ได้ว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความปลอมไง ถ้าเป็นความปลอมก็ปลอมมา ๖ ปีไง ที่พยายามรื้อค้นมา พยายามสมบุกสมบันมา ๖ ปี มันปลอมทั้งนั้นน่ะ มันปลอมเพราะมันไม่เข้าสู่สัจจะความจริงไง เวลามันเข้าสู่สัจจะความจริง มันเข้าสู่สัจจะความจริงในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไง อกุปปธรรมๆ คือคงที่ตายตัว

แล้วธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ แล้วธรรมชาติมันก็แปรปรวนของมัน ธรรมชาติมันก็สัจจะ ธรรมชาติก็สมมุติบัญญัติ สมมุติคือภาษาสมมุติเรา ภาษาโลกมันมีหลายภาษามาก วัตถุสิ่งเดียวกันแต่เรียกหลายภาษา ภาษาไหนก็เรียกวัตถุชิ้นเดียวกัน นี่สมมุติ

บัญญัติ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาเถรวาทเราสวดมนต์นี่สวดมนต์เหมือนกัน นี่สมมุติบัญญัติ แล้วสมมุติ สมมุติโลก บัญญัติก็บัญญัติธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติมันก็แปรปรวน ธรรมชาติก็เป็นอารมณ์ของเราอันหนึ่ง ธรรมชาติ ความเวียนว่ายตายเกิดก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่เวลามันทำของมันไปแล้วมันไม่เกิดไม่ตาย มันเป็นธรรมชาติอย่างไรล่ะ

แล้วมันไม่มีใช่ไหม

มี ไม่มีได้อย่างไร ถ้าไม่มีเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยากรณ์ ดูสิ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เวลาประพฤติปฏิบัติแล้ว เวลามีดวงตาเห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรม เวลาสิ้นกิเลสแล้วไปสนทนาธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่จะสนทนาธรรมกัน คนที่วุฒิภาวะแตกต่างกัน มันจะรู้เหมือนกันได้อย่างไร คนเรามันต้องมีวุฒิภาวะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ สนทนาธรรมๆ เวลาสนทนาธรรมเป็นขั้นเป็นตอน

พระสารีบุตรเวลาไปเทศน์อนาถบิณฑิกเศรษฐี ไปเทศน์ผู้ป่วย ไปเทศน์ถึงเรื่องขันธ์ เรื่องขันธ์อันละเอียดไง เวลาฆราวาสเขาร้องห่มร้องไห้ ร้องห่มร้องไห้นะ อยู่ในพระไตรปิฎก บอก “ทำไมทำอย่างนี้ ทำไมฆราวาสไม่ได้ฟัง ทำไมฟังแต่ภิกษุ ทำไมฟังแต่นักรบ ขอฟังธรรมอย่างนี้บ้างได้ไหม ขอฟังธรรมอย่างนี้เทศนาว่าการฆราวาสบ้างได้ไหม” นี่เพราะเขาฟังแล้วเขาเป็นพระอนาคามี

พระสารีบุตรไปเทศนาว่าการกับฆราวาส เสร็จแล้วมาสนทนาธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “เธอทำไมสอนเขาต่ำทรามขนาดนั้น ทำไมไม่สอนให้สิ้นสุดแห่งทุกข์” นี่ขนาดได้อนาคามีนะ

เวลาคนที่เขามีคุณธรรมในหัวใจ คุณธรรมในหัวใจ มันมีมรรคมีผลในหัวใจ ถ้ามีมรรคมีผลในหัวใจ อะไรเป็นโสดาบัน อะไรเป็นสกิทาคามี อะไรเป็นอนาคามี อะไรเป็นพระอรหันต์ อะไร มันมีเหตุมีผลตรงไหน มันมีวุฒิภาวะแค่ไหนมันถึงว่าอะไรแค่ไหน

ถ้าอะไรแค่ไหน นี่ไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ครูบาอาจารย์ของเราที่ท่านเป็นธรรมๆ ท่านสนทนาธรรม ท่านรู้วุฒิภาวะของกันและกัน มันมีเหตุมีผลในหัวใจอันนั้น มันมีคุณธรรมอันนั้น ฟังธรรมๆ ฟังเพื่อเหตุนี้ ตอกย้ำอันนี้ แล้วตอกย้ำอันนี้ เราจะไม่หลงโลก

เกิดมากับโลกนะ เกิดมากับพ่อกับแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เราก็ต้องทำให้พ่อแม่ของเราอิ่มอกอิ่มใจ ทำให้พ่อแม่เราชื่นใจเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้เป็นเรื่องธรรมดา เราก็ขวนขวายของเรา ทำเพื่อพ่อแม่ของเรา แล้วก็ถึงทำเพื่อเรานั่นแหละ ถ้าเราประสบความสำเร็จแล้วมีที่ยืนนะ พ่อแม่ก็มีความชื่นใจ นี่โลก ว่าไม่หลงโลกๆ ไง

โลก โลกคือสัจจะ โลกคือโลกทัศน์ ถ้าโลกทัศน์ โลกคือเรา โลกคือในหัวใจของเรา เราเกิดมายืนอยู่บนโลกนี้ อยู่บนโลกนี้ เราหาเลี้ยงชีพอยู่บนโลกนี้ แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันก็หาเลี้ยงกิเลสตัณหาความทะยานอยากในตัวมัน ในหัวใจของเรา กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันหาผลประโยชน์บนหัวใจของสัตว์โลก มันอยู่บนหัวใจของเรานะ มันยึดครองหัวใจของเรา

เรามาอยู่บนโลกๆ เราคิดว่าเราหาสัจจะอยู่บนโลกนี้ สัจจะบนโลกนี้มันเป็นอาชีพ ถ้าเรามีสติมีปัญญา ฟังธรรมๆ มันตอกย้ำเพื่อชีวิตเรา ตอกย้ำเพื่อหัวใจเรา ถ้าหัวใจเราชื่นบาน หัวใจเรามันอบอุ่น หัวใจมันแจ่มแจ้ง มันจะคิดถึงเลยล่ะ อะไรมันมีค่ากว่ากัน อะไรมีค่ากว่ากัน

เวลาคนตาย จิตออกจากร่างไป เวลาเจ้าชายนิทรา ดูสิ เขาบอกว่าตายหรือยัง...ยัง ถ้าตาย จิตมันต้องออกจากร่าง อันนั้นคือการควบคุมส่วนประสาทมันใช้ไม่ได้ พอใช้ไม่ได้ แต่ความรู้สึกมันยังมีของมันอยู่ ถึงจะนิทราอย่างไรมันก็มีธาตุรู้อยู่นั้น

แต่ถ้ามันออก จิตออกจากร่าง จิตออกจากร่าง เวลาคนเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ จิตออกจากร่างแล้วไปเสวยภพเสวยชาติของเขาแล้ว เวลาเสวยภพชาติของเขา นี่ไง เวลาที่จิตมันออกจากร่างไปก็หมดโอกาส ถ้ามันหมดโอกาส ถ้าเรามีสติปัญญา ถ้าไม่หลงโลก เราต้องคิดของเรา คิดของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา แสวงหาของเราเพื่อประโยชน์กับเราไง

ประโยชน์กับโลกเราก็ทำแล้ว ดูสิ เวลาหลวงตาท่านบอกเลย เวลาท่านสละตาย ๒ ครั้ง ครั้งหนึ่งคือสละตายเพราะท่านฆ่ากิเลสตัณหาความทะยานอยากของท่าน ท่านสละตายอีกทีหนึ่งเพื่อโลกนี้ไง สละตายเพื่อเวลาโครงการช่วยชาติ ท่านสละชีวิตของท่านเลย นี่มันกลับกันไง ท่านได้ธรรมะของท่านแล้วท่านถึงมาช่วยโลก ไอ้เราอยู่โลกทั้งตัวเลย แล้วจะไปธรรมะจะไปตรงไหน ไปไม่เป็น ไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันหน่วงเหนี่ยวไว้ในหัวใจไง หัวใจมันข้องเกี่ยวไว้ไง ถ้าหัวใจมันข้องเกี่ยวไว้ เราข้องเกี่ยวไว้แล้ว แบกหามขนาดไหนก็ไปกันไม่รอด

คนจะไปรอดต้องเสียสละ ยิ่งเสียสละได้มากเท่านั้น ของหนัก เราพยายามขวนขวายไว้ เราพยุงไปไม่ได้ เพราะมันเป็นสมบัติสาธารณะ เป็นสมบัติของโลก เราทำคุณงามความดีกันนะ คุณงามความดี คนเราเขาวัดกันที่ไหน วัดกันที่บุญกุศล วัดกันที่หัวใจนั้นไง เวลาใครทำมันอยู่ในใจดวงนั้นน่ะ ในใจดวงนั้นเป็นคนทำ เจตนาไง เจตนาความรับรู้มันเป็นคนกระทำ แล้วอันนี้ที่มันเป็นทิพย์ๆ มันเป็นทิพย์กับใจดวงนั้นไง กรรมดีกรรมชั่วไปกับใจดวงนั้นทั้งหมด ใจดวงใดทำสิ่งใดทำอย่างนั้น

แล้วใจดวงนี้มาทำความสงบของใจ จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ถ้ามีสติมีปัญญา มีความสามารถก็ยกขึ้นสติปัฏฐาน ๔ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ จิตดวงนี้ทั้งนั้นเลย จิตดวงนี้ที่เป็น จิตดวงนี้ทั้งนั้นเลย ใจของเราทั้งนั้นๆ แล้วใครเป็นคนทำล่ะ แล้วใครเป็นคนรู้ล่ะ แล้วใครจะหลอกใครล่ะ หลอกกันไปก็หลอกกันมา แล้วโลกก็ตื่นเต้นกันไป

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราท่านอยู่ในป่าในเขาของท่าน คนที่มีคุณธรรมของท่านนะ คุณธรรมนั้นมันเหนือโลก คำว่า “เหนือโลก” สิ่งในโลกนี้ที่มีค่า ผู้ที่มีคุณธรรมไร้สาระ ของทิ้ง ทิ้งแม้แต่ชีวิต ทิ้งทุกๆ อย่าง แล้วของสิ่งใดจะมีค่ากับธรรมดวงนั้น ธรรมในใจดวงนั้นสำคัญที่สุด ถ้าคนมีคุณธรรมอย่างนั้นแล้วมันมีความสุขๆ ไง เพราะว่ามันมีค่าเหนือกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น แต่พวกเรามันไม่มีค่าไง เราไม่มีค่า เราถึงไปติดกับโลกธรรม ๘ ไง เพราะไม่มีค่า จิตใจเราไม่มีค่า เราไม่มีศักดิ์ศรี เราไม่มีคุณค่าใดๆ ทั้งสิ้น เราเลยเป็นเหยื่อ

เราฝึกใจเราไป ฝึกใจเรา ฝึกใจราจนหลุดพ้น หลุดพ้นจากอะไร หลุดพ้นจากหัวใจของเรานี่ไง ไม่ติดตัวเราก่อน มันต้องรู้แจ้งในใจนี้ก่อน ถ้าใจนี้ไม่รู้แจ้ง ใครมันจะรู้แจ้ง หลวงตาท่านพูดอีกแหละ ถ้าเราไม่ทรงมรรคทรงผล ใครจะทรง ศีลธรรมมันอยู่ที่ใคร

ศีลธรรม ดูสิ ยกมาอยู่ในตู้พระไตรปิฎก แล้วก็ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็ครูบาอาจารย์ของเรา แล้วเราล่ะ เวลาศีลธรรมยกให้ท่าน แต่คุณธรรมเราอยากได้ เราอยากได้ เราก็ต้องทำไง ศีล สมาธิ ปัญญาฝึกฝนขึ้นมา หน้าที่การงานเราก็ทำ ปัจจัยเครื่องอาศัยเราก็หา แต่ชีวิตนี้มีค่าๆ สิ่งใดที่มันมีคุณค่ากับมันล่ะ สิ่งที่มีคุณค่ากับมัน เราแสวงหาอยู่นี่ ถ้ามันแสวงหาอยู่นี่ จากการแสวงหาเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา กุปปธรรม อกุปปธรรม

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เราก็ยึดกันว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อนัตตาก็จับต้องอะไรไม่ได้เลย

อกุปปธรรมเหนืออนัตตา เหนือทั้งหมด แล้วใครเป็นคนสัมผัส ใจของสัตว์โลก ใจของเรานะ ฟังธรรมๆ พยายามตอกย้ำๆ ให้เห็นคุณค่าของน้ำใจ ให้เห็นคุณค่าของความรู้สึก แล้วเป็นของโยม ไม่ใช่ของเรา ของใครของมัน ใครสุขใครทุกข์อยู่ในใจทั้งสิ้น

แต่ฟังธรรม ให้ธรรมเป็นทาน เป็นทานก็คือนี่ไง ให้ธรรมเป็นทาน ให้สติให้ปัญญา ให้สติให้ปัญญาเหนือการให้ต่างๆ เหนือการให้ต่างๆ เหนือทุกอย่าง ถ้าเหนือทุกอย่าง เราต้องเอาสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์กับเรา แล้วฝึกฝนให้เป็นสมบัติของเรา เอวัง