ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หาความจริง

๒๓ ต.ค. ๒๕๖o

หาความจริง

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ควรภาวนาอย่างไร”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่นับถือ โยมขอโอกาสถามปัญหาค่ะ โยมภาวนาอยู่ ๒ แบบ

๑. ภาวนาพุทโธถี่ๆ แล้วต่อด้วยลมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ครั้งละประมาณหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เดินจงกรมภาวนาพุทโธ ทำเช้าเย็นทุกวันมาหลายเดือน ส่วนใหญ่จิตฟุ้งซ่าน ไม่นิ่ง พอภาวนานานจนทนเวทนาไม่ไหวก็หยุดค่ะ

๒. ภาวนาพุทโธประมาณ ๒๐ นาที จิตยังไม่นิ่ง แต่นึกพิจารณาร่างกายต่อเลย แยกอวัยวะภายในเป็นส่วนๆ บางทีก็พิจารณาอสุภะเน่าหรือกลายเป็นดิน บางครั้งจิตจะนิ่งๆ มืดๆ ไม่มีความคิด รู้สึกสงบ ถ้าเดินจงกรมพิจารณาต้องนั่งลง แต่บางครั้งก็เห็นภาพตัวเองหรือครูบาอาจารย์เป็นอสุภะ ภาพชัด แล้วก็ร้องไห้ออกมาเอง

โยมควรภาวนาอย่างไรคะ ตอนนี้พยายามพุทโธอย่างเดียว ไม่พิจารณากาย ใจไม่สงบ ฟุ้งซ่านมากค่ะ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ ว่าหนูควรปฏิบัติอย่างไร เวลาหนูควรปฏิบัติอย่างไร

“๑. หนูภาวนาพุทโธถี่ๆ พุทโธถี่ๆ แล้วต่อด้วยลมหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธประมาณหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เดินจงกรมภาวนาพุทโธทั้งเช้าเย็นทุกวันหลายเดือน ส่วนใหญ่จิตฟุ้งซ่าน ไม่นิ่ง พอภาวนาจนทนเวทนาไม่ไหวก็หยุดค่ะ” นี่ข้อที่ ๑.

ถ้าข้อที่ ๑. เราพุทโธๆ ตามที่ครูบาอาจารย์บอก ถ้าครูบาอาจารย์บอก ข้อที่ ๑. เราจะทำความสงบของใจคือทำสมาธิ เขาบอกว่าเขาปฏิบัติสมาธิๆ

เราบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ทำความสงบของใจ พอใจสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา พระพุทธศาสนาสอนถึงมรรค ๘ สอนถึงศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนสมาธิ

ถ้าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องสมาธินะ เราก็มีเป้าหมายแค่สมาธิไง พระพุทธเจ้าสอนเรื่องมรรค ๘ นะ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องการประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าสอนถึงสัจธรรมนะ

ถ้าสัจธรรมในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามันเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาเกิดจากการภาวนาไม่ใช่เกิดจากการศึกษา

เวลาศึกษา ศึกษาจนได้ ๙ ประโยค เวลาได้ ๙ ประโยค มีพวก ๙ ประโยคเป็นเลขาของเจ้าคณะภาคไปถามหลวงปู่ฝั้น เวลาลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้นเล่าต่อๆ กันมาไง ไปถามหลวงปู่ฝั้นว่า “ข้าพเจ้าศึกษารู้หมดเลย ๙ ประโยค จะเขียนอะไร เรื่องบาลีเข้าใจทั้งนั้นน่ะ แล้วจะให้ผมภาวนาอย่างไรล่ะ เพราะในพระไตรปิฎกสอนพระโมคคัลลานะไปอย่างหนึ่ง สอนไปอย่างหนึ่ง สอนพระแต่ละองค์ก็คนละอย่างๆ”

เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ถึงจริตนิสัยของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ จริตนิสัยของเขา ถ้าสอนตรงจริตนิสัยของเขา เขาจะปฏิบัติได้ ถ้าไม่ตรงกับจริตนิสัยของเขา เขาปฏิบัติแล้วมันก็จะลุ่มๆ ดอนๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนสาวกไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น เขาเรียนมามากไง เขาก็ไปถามหลวงปู่ฝั้น “ผมมีปัญญามาก ผมรู้มากเลย แต่ผมไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ตำรามันชี้นำไว้ตั้งหลายทาง แล้วให้ผมทำอย่างไรล่ะ”

หลวงปู่ฝั้นท่านสวนเลย “ทุกข์อยู่ที่ไหนล่ะ ก็ลองกำหนดทุกข์ที่นั่นน่ะ ทุกข์อยู่ที่ไหนล่ะ”

คนเรา ใครเป็นคนทุกข์ใครเป็นคนยากล่ะ พวกเรามันทุกข์ยากที่หัวใจของเราใช่ไหม ก็ต้องย้อนกลับมาที่ใจเราไง ถ้าย้อนกลับมาที่ใจเรา

เวลาหลวงปู่ฝั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอน ท่านก็สอนให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธนี่ก่อน ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เราจะทำความสงบของใจ

แล้วถ้าจะบอกว่าจะทำสมาธิก็ได้ แต่การทำสมาธิ เราทำสมาธิเพื่อความสงบร่มเย็นให้จิตมันเบาบางลง แล้วเราจะมีงานต่อไปคืองานการฝึกหัดใช้ปัญญา

แต่โดยทั่วไปเขาจะบอกว่า “ทำสมาธิแล้วปัญญามันจะเกิดเอง ทำสมาธิเดี๋ยวปัญญามันจะลอยมาเอง ทำสมาธิมันจะดีไปทุกอย่าง”

ทำสมาธิคือการปลดปล่อยความทุกข์ ความฟุ้งซ่าน ความทุกข์ ความฟุ้งซ่านในหัวใจนี้ ถ้าเป็นสมาธิมันสงบระงับขึ้นมา นี่รสของสมาธิธรรม สมาธิธรรมคือจิตมันสุขมันสงบของมันไง แต่ถ้าสุขสงบแล้วจะสุขสงบแค่นี้ใช่ไหม

แต่ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาต่อไปมันจะเข้าหลักพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา

การภาวนานี้มันเป็นปัจจุบัน มันไม่มีอดีตอนาคต ไม่มีการคาดไม่มีการหมาย ไม่มีการคิดว่าเราจะใช้ปัญญาอย่างนั้น ไม่มีการคาดคิดว่าเราจะมีปัญญาอย่างนี้ ถ้าเราจะมีปัญญาอย่างนั้น จะมีปัญญาอย่างนี้ มันเป็นปัญญาในโกดังน่ะ ในคลังสินค้าที่เขาเก็บไว้ เอามาใช้ไม่ทัน

แต่ถ้ามันเป็นปัญญาในการภาวนามันเกิดเดี๋ยวนั้น เกิดในปัจจุบันนั้น ความทุกข์อยู่ที่ไหน ปัญญาเกิดที่นั่น ฟาดฟันกันที่นั่น ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดในปัจจุบันในขณะที่ภาวนา ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วมันจะเกิดอย่างนี้ได้

แต่ถ้ามันไม่มีสมาธิมันก็คาดหมาย มันจะไปเอาความคิดในโกดังในคลังสินค้านั้นออกมา คือการศึกษามา คือสัญญา คือความจำมา ความรู้มาในอดีตอนาคตก็พยายามจะไปดึงมันมา จะไปเปรียบเทียบมันว่าเป็นอย่างนั้นๆๆ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น ภาวนาเป็นความทุกข์อย่างนี้ ความทุกข์พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องแก้อย่างนั้น...กิเลสมันก็อยู่แค่นั้นน่ะ

แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันคิดอะไรขึ้นมา เราใช้ปัญญาไล่ตามมัน นั้นเป็นปัญญาอบรมสมาธิ คำว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” คือปัญญาสามัญสำนึกเรา ปัญญาปุถุชน ปัญญาแบบที่เราศึกษามันเป็นปัญญาโลกๆ

แต่ด้วยเราตั้งสติแล้วเราทำตามคำสอน มีสติพร้อมกับความคิด เราตามความคิด ความคิดที่มันคิดไป เรามีสติตามความคิดไป ความคิดนี้เป็นความคิดแบบโลกๆ เรานี่ แล้วถ้าความคิด คิดเรื่องอะไร คิดไปเรื่อย เดี๋ยวมันก็หยุด

ที่หลวงปู่ดูลย์บอกไง “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด” การหยุดคิดนี้คือสมาธิ แต่สมาธิ สมาธิแค่ชั่วเสี้ยววินาทีเลย หยุดปั๊บ คิดอีกแล้ว หยุดปั๊บ คิดอีกแล้ว เราก็ตามไปเรื่อยๆ นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

เราจะบอกว่าปัญญามันมีหลายชั้นไง ถ้าปัญญาอย่างนี้เขาเรียกว่าโลกียปัญญา ปัญญาแบบโลกๆ ปัญญาแบบสามัญสำนึกคือปัญญาคิดขึ้นมา แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาไม่ใช่เป็นอย่างนี้หรอก มันคนละเรื่องกันเลย แต่คนละเรื่องกันต้องคนที่เป็น แล้วถ้ามันเป็นอย่างนั้น เราถึงว่า ทำไมถึงจะต้องมาพุทโธกันอยู่นี่ไง

เวลาเราพุทโธ บอกว่าเราจะทำสมาธิ

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เราท่านบอกทำความสงบของใจให้ใจสงบระงับเข้ามา อย่าให้เราฟุ้งเราซ่าน อย่าให้เราวิตกวิจารณ์ อย่าให้เราคิดอดีตอนาคตจนเกินไป ทำใจของเราให้นุ่มนวล พอใจเรานุ่มนวลควรแก่การงาน พอควรแก่การงานแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะเทศน์เรื่องอริยสัจ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการรื้อสัตว์ขนสัตว์ อนุปุพพิกถา คนที่ไม่เคยทำสิ่งใดเลยก็ให้ฝึกหัดให้เสียสละทาน เวลาเสียสละทานแล้วจะได้ผลของมันคือได้ภพของสวรรค์ เวลาภพของสวรรค์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถือเนกขัมมะ

นี่อนุปุพพิกถาๆ พอจิตใจเขาควรแก่การงาน เพราะว่าจิตใจของเขามันมีระดับของมัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะเทศน์อริยสัจ ถ้าเทศน์อริยสัจขึ้นมา มันก็เทศน์แบบที่เราพยายามทำหัวใจของเราให้สงบระงับเข้ามา เวลาสงบระงับเข้ามาแล้วมันจะเข้าสู่อริยสัจ

ถ้าเข้าสู่อริยสัจคือว่า จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญาจะเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันจะเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากปัจจุบัน ปัญญาที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากจิตสงบแล้วรู้จักสติปัฏฐาน ๔ เห็นกิเลสตามความเป็นจริง มันจะแก้ไขกันตรงนั้นไง ถ้าแก้ไขกันตรงนั้น นี่ภาวนามยปัญญาที่เป็นเหตุเป็นผลไง

เวลาอริยสัจในพระไตรปิฎก ในสติปัฏฐาน ๔ ในพระไตรปิฎก นั้นเป็นทฤษฎี เป็นแบบอย่าง แบบอย่างนั้นเป็นทฤษฎีที่อยู่ในตำรา แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามันเป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงที่เกิดจากจิตของเรา จิตของเราที่มันทุกข์มันยากอยู่นี่ถ้าความเป็นจริงมันเกิดขึ้น พอมันเกิดขึ้น การกระทำเป็นจริง นี่คือข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงมันเกิดขึ้นอย่างไร เกิดขึ้นจากหัวใจนั้นไง

เราพูดอย่างนี้มาเพื่อจะให้เห็นว่าข้อปฏิบัติข้อที่ ๑. ที่บอกว่า เวลาพุทโธๆ ไปแล้ว หายใจเข้า หายใจออก ครั้งละประมาณชั่วโมงถึงชั่วโมงครึ่ง เดินจงกรมทุกเช้าทุกเย็น ทำมาหลายเดือน จิตมันยังฟุ้งซ่าน มันไม่นิ่งเสียที ไม่นิ่งเสียที

เพราะเราอยากได้ เวลาเราภาวนา คนเกิดมา คนเกิดมาเราต้องมีอาหารเพื่อดำรงชีพตลอดไป นี่ก็เหมือนกัน คนเราเกิดมา เรามีหน้าที่การงานของเรา

นี่ก็เหมือนกัน เราเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติจะเป็นคุณประโยชน์กับเรา ถ้าเห็นว่าจะเป็นคุณประโยชน์กับเรา เราก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติให้หัวใจเรานี้มีคุณธรรม ให้หัวใจเรานี้มีที่พึ่งที่อาศัย นี่เป็นสมบัติของเรา

มันจะนิ่ง มันจะไม่นิ่ง มันอยู่ที่เหตุผลไง

แต่นี่เราไปจนมุมไง กิเลสมันต้อนเราไปจนมุมเลย “ปฏิบัติแล้วก็ไม่นิ่ง ปฏิบัติแล้วก็ไม่สงบเสียที ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้อะไร” กิเลสมันชอบต่อรองอย่างนี้ แล้วเราทำแล้ว “อืม! ก็จริงเนาะ ทำมาตั้งนานไม่นิ่งเสียที เลิกดีกว่า ทำมาแล้วไม่ได้ประโยชน์ เลิกดีกว่า เวลาที่ปฏิบัติ ถ้าเอาไปทำงานจะได้ผลประโยชน์มากกว่านี้” โอ้โฮ! เวลากิเลส

ถ้ามันไม่ปฏิบัติ มันไปทำงานอย่างอื่นจะได้ผลประโยชน์มากกว่านี้ มากกว่านี้ มากกว่านี้มาเพื่ออะไรล่ะ

มากกว่านี้มาเพื่อความเก็บไว้ มากกว่านี้มาเพื่อเป็นภาระ มากกว่านี้มาเพื่อเป็นความทุกข์ แต่ถ้ามันมากกว่านี้ด้วยความเป็นสุข ด้วยความเป็นสุข เราทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบระงับแล้วเรารู้จักเก็บรู้จักรักษา

สิ่งใดคนเกิดมาต้องมีหน้าที่การงานทั้งนั้นน่ะ คนเราเกิดมามีอำนาจวาสนาบารมีทำสิ่งใดก็จะประสบความสำเร็จ มันก็จะมีเงินมีทองขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน

เวลาคนเราเกิดมามีเงินมีทองโดยธรรมชาติของมัน เราจะปฏิเสธเงินทองเราใช่ไหม เราไม่ได้ปฏิเสธ ก็มันเป็นข้อเท็จจริงที่เราทำมา มันเป็นความสุจริต มันเป็นการทำมาด้วยอำนาจวาสนา มันเป็นของของเรา เราก็ต้องเก็บต้องดูแลต้องรักษา

ไม่ใช่ว่าได้มาเราก็จะปฏิเสธว่าฉันปฏิบัติธรรม ฉันไม่ต้องการ ฉันไม่ต้องการ ฉันก็เดินจงกรม ไม่ต้องไปทำงานสิ

ทำงานก็มีผลตอบแทน เราก็ได้ผลตอบแทนนั้นมา เวลาเราจะเก็บจะรักษาอย่างไร นี่พูดถึงว่าถ้าคนมีบารมีนะ

เราจะบอกว่า ศาสนาไม่ปฏิเสธถึงผลที่ได้รับหรอก ศาสนาไม่ได้ปฏิเสธบุญกุศลที่เราเคยสร้างมา ถ้าเราเคยสร้างมา เรามีวาสนาอย่างใด เราทำสิ่งใดประสบความสำเร็จ นั่นก็คือวาสนาของเรา

ถ้าวาสนาของเรา เราก็เก็บดูแลรักษา ประหยัดมัธยัสถ์ เป็นหน้าที่การเก็บรักษาทรัพย์ของเรา ถ้าเรามีสติปัญญา ถ้าเรามีวาสนาระดับนี้ ถ้าเราได้มาระดับไหน ถ้ามันพอใจอย่างนี้นะ ความทุกข์มันน้อย ความทุกข์มันไม่มี

นี่พูดถึงว่าเวลาเขาพุทโธๆ แล้วจิตมันยังฟุ้งซ่าน จิตมันยังไม่นิ่ง ถ้าจิตไม่นิ่งแล้ว พอภาวนาไปจนทนเวทนาแล้วไม่ไหวก็หยุดค่ะ

เจอเวทนา ถ้าพุทโธชัดๆ พุทโธดีๆ นะ เวทนาเกิดมันก็แค่เมื่อยล้า เดินจงกรมทั้งวันๆ มันมีความเมื่อยล้า มีความระโหย นี่เรื่องธรรมดา แต่พอเราเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ ถ้าจิตมันดีๆ นี่นะ ไอ้ความล้า ความต่างๆ มันจะเบาบางลง

แล้วถ้าเดินจงกรม เวลาจิตมันจะเริ่มสงบนะ เริ่มอยู่กับที่ เดินจงกรมไปเหมือนไม่ได้เดินเลย เหมือนตัวเราลอยไปลอยมาเลยถ้าจิตมันดีนะ เวลาถ้าจิตมันดี มันดี ถ้าจิตมันไม่ดี มันเมื่อยมันล้า

ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดไง เวลาท่านภาวนาของท่าน แล้วท่านอดอาหารของท่าน เวลาเดินจงกรมมันเซลงข้างทาง มันเซลงตกทางจงกรมเลย

นักปฏิบัติมันมี มันมีถึงคราวที่จิตมันเจริญ มันถึงคราวที่จิตมันเสื่อม แต่เรามีหลัก เรามีเป้าหมายอย่างไรจะรักษา ถ้ามันเจริญเราก็ดูแลให้มันดี ถ้ามันเสื่อม เสื่อมเราก็พยายามฟื้นฟูมันขึ้นมา นี่มันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญในเรื่องการปฏิบัติ มันเรื่องธรรมดา ถ้าผู้ที่ปฏิบัติมีหลักนะ

ถ้าไม่มีหลักนะ เวลาเจริญก็ดีใจกับมัน เวลาเสื่อมก็ทุกข์ยากไปกับมัน เราปฏิบัติเพื่อทุกข์ยาก ปฏิบัติเพื่อหลงระเริงหรือ เราปฏิบัติเพื่อความสงบระงับ เราปฏิบัติ นี่ถ้าคนมีจุดยืนมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้ามีจุดยืนมันจะรักษาตัวเองได้ดีขึ้นไง

นี่พูดถึงว่าข้อที่ ๑. ถ้ามันไม่นิ่ง ไม่นิ่งเราก็พยายามรักษาของเราเพื่อความนิ่งอันนี้ อันนี้ถูกต้อง

“๒. เวลาภาวนาพุทโธไปประมาณ ๒๐ นาที จิตยังไม่นิ่ง ก็นึกพิจารณาร่างกายต่อเลย แยกอวัยวะเป็นส่วนต่างๆ บางทีก็พิจารณาเป็นอสุภะเน่า บางทีก็กลายเป็นดิน บางทีจิตก็นิ่งๆ มืดๆ ไม่มีความคิด รู้สึกสงบ บางทีเดินจงกรมแล้วพิจารณาจนต้องนั่งลง บางครั้งได้เห็นภาพตัวเอง”

นี่มันจะเข้าตรงนี้ จะเห็นภาพตัวเอง เห็นภาพต่างๆ ไอ้นี่เราออกฝึกหัดใช้ปัญญาอย่างนี้ ถ้าพูดถึงวิธีการเป็นอุบายนี่ใช้ได้ คำว่า “ใช้ได้”

“เวลาพุทโธๆๆ แล้ว ทีละหนึ่งชั่วโมงครึ่งทุกๆ วันมันไม่นิ่งเสียที บางทีภาวนาไปแล้ว พอพุทโธๆ ไป ๒๐ นาทีแล้วจิตมันยังไม่นิ่ง เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาไปเลย พิจารณาร่างกายแยกอวัยวะเป็นส่วนๆ”

ถ้าเราพุทโธๆ ไป จิตถ้ามันมีกำลังของมัน เวลาเรามาข้อที่ ๒. พอข้อที่ ๒. พอเราพุทโธสักพักหนึ่งพอจิตมันยังไม่นิ่งดี เราใช้ปัญญาไปเลย ใช้ปัญญาไปเลย ถ้ามันแยกอวัยวะได้ ถ้ามันเห็นอวัยวะได้ แยกอวัยวะได้ มันเป็น ๒ กรณี

กรณีหนึ่งแยกโดยจินตนาการ แยกโดยความเห็นของโลกๆ นี่ไง

กรณีนี้มันจะเข้ากับหลวงปู่เจี๊ยะท่านสอน หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านสอนว่า เพราะมันเป็นอุบายของหลวงปู่เจี๊ยะเองนะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านให้จิตเข้ากับที่ข้อนิ้ว จากข้อนิ้วนะ บังคับให้จิตอยู่ที่ข้อนิ้ว มาข้อมือ มาข้อศอก มาหัวไหล่ ขึ้นศีรษะ แขนซ้ายไปแขนขวา กลับมา ให้หมุนอยู่ในตัว ท่านบอกนี่คือทำสมถะ ถ้าจิตมันอยู่ในร่างกายนี้ได้ เหมือนเราพุทโธๆ แล้วมันไม่แฉลบ

เราพุทโธๆ เดี๋ยวก็คิดไปอย่างอื่นแล้วกลับมาพุทโธ พุทโธๆ แล้วเดี๋ยวคิดเรื่องนู้นก็กลับมาพุทโธ นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตอยู่ที่ข้อนิ้ว มันก็จะไปอยู่ที่ข้อเท้า บอกเอาไว้ที่ข้อเท้า มันก็จะอยู่บนศีรษะ มันดิ้นน่ะ มันดิ้น

แต่ถ้าเราบอกว่า จิตอยู่ข้อนิ้วมือ ไปอยู่ข้อศอก อยู่ข้อมือ ข้อศอก หัวไหล่ ถ้ามันคุมได้อย่างนี้ ท่านบอกว่านี่คือสมถะ นี่คือสมาธิ พอจิตสงบแล้วเรามาเห็นข้อนิ้วมือ ข้อศอก โดยจิตที่สงบ เห็นกายโดยตามความเป็นจริง

ไปฟังเทปของหลวงปู่เจี๊ยะได้เลย หลวงปู่เจี๊ยะจะพูดตรงนี้บ่อยมาก เพราะท่านชำนาญของท่านอย่างนี้ เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติส่วนใหญ่แล้วก็เอาประสบการณ์ของจิตนี่แหละ เพราะจิตมันเคยรู้เคยเห็นสิ่งใดมันจะฝังใจ

แต่ถ้าเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นสิ่งใดเลย เราก็ต้องพูดตามตำรา เวลาพูดตามตำรา ถ้าจำได้แม่น วันไหนสมองดีก็พูดได้ชัดเจนนะ วันไหนสมองทึบ ตำราก็เล่มเดิมนั่นแหละ แต่พูดไม่ค่อยได้ นี้ถ้าพูดตามตำรา เป็นปริยัติ

แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราท่านปฏิบัติมาในแนวทางใดก็แล้วแต่ สิ่งนั้นเป็นข้อเท็จจริง เป็นอริยสัจ เป็นสัจจะในหัวใจ พูดเมื่อไหร่ก็อย่างนั้น พูดที่ไหนก็อย่างนั้น ถ้าเป็นจริง นี่พูดถึงว่าหลวงปู่เจี๊ยะท่านคอยเน้นย้ำ

จะบอกว่า เวลาพิจารณากาย เราเห็นกายแล้ว พวกที่ปฏิบัติใหม่จะคิดว่าคือการวิปัสสนาไง ว่า “เราเห็นกายๆ นี่เป็นวิปัสสนานะ ฝึกหัดใช้ปัญญาแล้วนะ ได้ใช้ปัญญาแล้ว พอมันปล่อยแล้วกิเลสมันไม่เห็นขาดเลย”

ก็มันเป็นขั้นของสมถะ มันเป็นขั้นของการทำความสงบ แต่การทำความสงบโดยการพิจารณากาย ไม่ใช่จิตสงบแล้วถึงเห็นกาย

การทำความสงบโดยการพิจารณากาย เราเอากายเราเป็นตัวตั้ง แล้วเราใช้ปัญญาเราเทียบเคียงให้เห็นสภาพร่างกายของเรา พอเห็นสภาพร่างกายของเราตามความเป็นจริงมันก็หยุด มันก็ปล่อย นี้คือสมถะ นี่การทำสมถะโดยการพิจารณากาย

นี่โดยคำถามข้อที่ ๒. เขาบอกว่าเขาแค่ภาวนาพุทโธไปแค่ ๒๐ นาที จิตยังไม่ทันนิ่งเลย แล้วเขาก็มาพิจารณาแยกแยะอวัยวะเลย เวลาแยกแยะอวัยวะบางทีก็เป็นอสุภะเลย ให้กลายเป็นเน่าเป็นดิน

อันนี้มันเป็นตามทฤษฎี เป็นตามตำรา ถ้าทำได้ๆ จิตของเรา จิตของเรามันฟุ้งซ่าน จิตของเรามันแบกรับความทุกข์ความยาก มันแบกรับกิเลสตัณหาความทะยานอยากมาตลอด แล้วตอนนี้เรามาฝึกหัดภาวนาๆ คือเราจะมาชำระล้างให้มันสะอาด ชำระล้างให้สะอาด

เพราะของที่มันสกปรกพอมันชำระทำให้สะอาด เริ่มต้นมันทำอะไรมันก็ทำง่ายทั้งนั้นน่ะ ผ้าที่สกปรก พอน้ำเปล่าๆ ลงไปในน้ำ ถ้าขยี้มันก็ออก แต่มันไม่สะอาดโดยที่เราซักล้างโดยความพร้อมเพรียง ไอ้นี่เราซักล้างโดยเฉพาะหน้า

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันพิจารณากาย พิจารณากายมันเป็นได้มันก็เป็น แยกเป็นส่วนๆ เลย เห็นอสุภะเลย บางทีพิจารณากายเป็นดินไปเลย

นี่มันเป็น มันเป็น แต่มันเป็นชั่วครั้งชั่วคราว เพราะมันก็จะไม่เป็นอย่างนี้ตลอดไป เพราะไม่เคยทำอย่างนี้ พอทำอย่างนี้แล้วมันดี กิเลสมันยังไม่ทัน พอเดี๋ยวทำครั้งที่ ๒ กิเลสมันมาแล้ว ไม่ได้แล้ว อย่างนี้ไม่ได้ กิเลสพอเวลามันทันนะ ถ้ามันทันมันก็พลิกแพลงของมัน

เราจะบอกว่า เพราะเขาปฏิบัติแล้วเขาบอกว่า ควรจะทำอย่างไร เพราะถ้าจะให้เป็นสมาธิชัดๆ ชั่วโมง ชั่วโมงครึ่ง ทำมาตั้ง ๖ เดือน ๗ เดือนแล้วไม่ได้สักที แล้วพอมาทำชั่วคราวแล้ว พิจารณาแล้วมันได้มาอย่างนี้ แล้วมันควรจะเป็นอย่างนี้ไหม แล้วควรเป็นอย่างนี้ เวลาพิจารณาไปแล้ว เขาพิจารณาของเขาไป มันต้องนั่งลงเลยนะ เห็นภาพของตัวเอง เห็นภาพของครูบาอาจารย์ แล้วก็ร้องไห้ออกมาเอง

การร้องไห้ออกมา เห็นไหม เราไปเห็นอะไรสะเทือนใจมันก็ร้องไห้ เวลาหลวงตาท่านพูดถึงการร้องไห้นะ เวลาน้ำตา น้ำตาของท่าน ท่านบอกว่าน้ำตาของท่านที่ไปบรรลุธรรมที่ดอยธรรมเจดีย์ ท่านบอกน้ำตาอย่างนี้เป็นน้ำตาล้างภพล้างชาติ ชำระล้างภพล้างชาติ ชำระภพชาติเลย

แต่น้ำตาของพวกเราน้ำตาด้วยความโศกสลดไง สะเทือนใจๆ ถ้าสะเทือนใจก็น้ำตาไหล น้ำตา น้ำตาที่หลั่งไหลมันมีหลายชนิด น้ำตาของพวกเราน้ำตาเพื่อภพเพื่อชาติ น้ำตาเพื่อความผูกพัน เพื่อความทุกข์ความยาก

แต่เวลาครูบาอาจารย์สะเทือนหัวใจ ขันธ์มันทำงานไง คำว่า “ขันธ์ทำงาน” น้ำตา ธาตุน้ำในร่างกายเรามันมีอยู่แล้ว พอมันเกิดการกระทบ แบบว่าจิตมันสะเทือนใจ มันแสดงออก นี่เป็นเรื่องของธาตุ ๔

ไอ้ที่ว่าเขาบอกว่าเขานั่งลงร้องไห้

ร้องไห้อย่างนี้มันก็สะเทือนใจ แต่มันสะเทือนใจอย่างนี้มันสะเทือนใจแบบโลกๆ ไง สะเทือนใจแบบว่าเราไม่เคยรู้เคยเห็น พอเรามารู้มาเห็นเรื่องการปฏิบัติธรรมแล้วรู้เห็นอย่างนี้มันยังเป็นโลกอยู่ มันยังไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมมันจะละเอียดไปกว่านี้ คำว่า “เป็นธรรม” ควรทำอย่างไร

ถ้ามันพิจารณาอย่างนี้ แบบว่าพอจิตมันสัก ๒๐ นาทีแล้วพิจารณาไปเลย

มันได้ครั้งสองครั้ง แล้วต่อไปพอกิเลสมันรู้เท่ามันก็ไม่ได้ พอมันไม่ได้แล้วมันก็ต้องใช้กำลังของสมาธิที่มากขึ้น อย่างเช่น เราเปรียบเทียบบ่อยมากเลย เวลาเราจะซื้อของ เงินของเรามีอยู่ ๕ บาท ของนั้นราคา ๑๐ บาท เราซื้อไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเงินอยู่ ๒๐ บาท ของนั้นราคา ๑๐ บาท เราซื้อได้ แล้วยังเงินเหลือ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท นี้คือสมาธิ

ถ้าสมาธิของคนมีกำลังขึ้นมาไปพิจารณาแล้วมันจะได้ผล แต่ถ้าพอมันได้ผล พอสมาธิเราอ่อนลง พอพิจารณาไปครั้งแรก ครั้งที่สอง สมาธิมันได้ใช้ไปแล้ว เงิน ๕ บาทใช้หมดแล้ว อย่าว่าแต่ ๕ บาทเลย ศูนย์บาท ไม่มีสักบาท แล้วจะไปทำอย่างไรต่อ

มันก็ต้องกลับมาพุทโธวันยังค่ำ ฉะนั้น พุทโธทิ้งไม่ได้

เรายืนยันตลอดว่าหลวงปู่มั่นท่านได้สั่งหลวงตาไว้ “ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธ แล้วไม่เสีย”

ตอนนั้นหลวงตาท่านกำลังเต็มที่ของท่านนะ ท่านกำลังขวนขวายเต็มที่ของท่าน แล้วท่านก็อาศัยหลวงปู่มั่นเป็นผู้ชี้นำมาตลอด แล้วหลวงปู่มั่นก็จะมานิพพานซะ ฉะนั้น เวลาใกล้เวลาท่านจะเสีย หลวงตาจะขึ้นไปหาท่านตลอด แล้วท่านก็เห็นว่าหลวงตากำลังมุมานะเต็มที่ แล้วท่านก็ถึงเวลาจะต้องละธาตุขันธ์แล้ว ท่านเลยสั่งไว้เลย “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ”

ถ้าเราใช้ปัญญาขนาดไหน เราขวนขวายขนาดไหน ถ้าเราไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่ทิ้งพุทโธ คือไม่ทิ้งสมาธิ ไม่ทิ้งหลักหัวใจ เราจะไม่เสีย

ส่วนใหญ่พอมันใช้ปัญญาไปแล้วมันเตลิดเปิดเปิงไปเลยนะ พอใช้ปัญญาไปแล้วก็จะมาติแล้ว “ทำสมาธิมาตั้ง ๕ ปี ไม่เห็นได้อะไรเลย แหม! มันใช้ปัญญามันทะลุปรุโปร่งไปเต็มที่เลย” ไปเต็มที่ ไปจนกู่ไม่กลับ ถ้าไปเต็มที่นะ ไปเต็มที่แล้ว ไปแล้วกู่ไม่กลับเลย

แต่ถ้าไปขนาดไหนนะ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธนะ ยังกลับมาพุทโธอยู่ กลับมาพุทโธอยู่ ตัวพุทโธ ตัวสมาธิจะเป็นฐานรองรับสัมมาสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา มีสมาธิเป็นที่รองรับ จะไม่เสีย

ถ้าไม่มีสมาธิเป็นที่รองรับ เวลามันไปแล้วกิเลสมันชักจูงไปเลย เพราะตัวสัมมาสมาธิ ตัวจิตสงบมันจะเป็นตัวบาทฐาน เป็นสิ่งที่จะไม่ให้เราออกนอกลู่นอกทาง แต่ต้องเป็นสัมมาสมาธินะ

ฉะนั้นบอกว่าข้อที่ ๒. เวลาเพราะแค่ ๒๐ นาที เราทำอย่างนี้

เราจะบอกว่า ๑. กับ ๒. เอามารวมกัน เวลา ๑. เราก็พยายามจะพุทโธๆ พุทโธเพื่อความนิ่ง เพื่อให้จิตสงบ แล้วถ้าจิตสงบแล้วเราก็ใช้ปัญญาแบบข้อที่ ๒. นี้เลย ถ้าใช้ข้อที่ ๒. แล้ว พิจารณาไปแล้ว ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันใช่

แล้วนี่บอกว่าเห็นภาพเป็นครูบาอาจารย์เลย เห็นอสุภะเลย แล้วก็นั่งลงร้องไห้

มันสะเทือนใจ สิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น เวลามันรู้เห็น มันรู้เห็นขึ้นมาจากจิต ทำไมจะไม่สะเทือนใจ ถ้ามันร้องไห้ก็เป็นธรรมโอสถในใจของเรา แล้วเราก็กลับมาประพฤติปฏิบัติใหม่ ให้พุทโธไว้ พุทโธไว้ แล้วถ้าพุทโธแล้ว

ข้อที่ ๑. มันไม่นิ่ง ไม่นิ่ง ถ้ามันใช้ปัญญาได้ เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาแบบข้อที่ ๒.

เวลาใช้ปัญญาแบบข้อที่ ๒. ไปแล้ว ถ้ามันชักไม่ชัดเจน มันไม่มั่นคง กลับไปพุทโธ

กลับไปพุทโธ แล้วพุทโธแล้วกลับมาฝึกหัดใช้ปัญญา ทำอย่างนี้คู่ขนานกันไป เขาเรียกว่าสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน

แล้วถ้าครูบาอาจารย์ถ้าเป็นจริงนะ ท่านบอกว่า “ในสมถกรรมฐานก็มีวิปัสสนา เพราะต้องใช้ปัญญา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ เพราะต้องมีสมาธิ”

ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญามันก็แกว่ง ปัญญามันก็ไม่มั่นคง ถึงบอกว่าต้องเดินคู่กันไปทั้งสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐาน

แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นแล้วบอกว่า “ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ” ถ้าถูกต้องดีงามจะเป็นแบบนี้ ให้ปฏิบัติแบบนี้ต่อไป จบ

ถาม : เรื่อง “น้อมกราบขอขมาต่อพ่อแม่ครูจารย์เจ้าค่ะ”

ตอบ : เขาถามมาเรื่องครั้งที่แล้วเรื่องหวยว่ามันยอกย้อน ยอกย้อนเพราะเขาถามมาเรื่องว่าถูกหวยแล้วอยากทำบุญ ถ้าอย่างนั้นแล้วมันก็เหมือนกับว่า ถามว่าซื้อหวยผิดไหม ผิด แล้วเขาซื้อมาผิดแล้ว ตอนนี้พอเราบอกว่ามันเหมือนกับว่าเขาถูกหวยแล้วอยากทำบุญ แล้วถามปัญหามาเหมือนกับพระต้องการหรือไม่ นี่เวลาเราพูดกลับไปอย่างนี้ไง วันนี้ขอขมามา ขอขมามาก็จบ

เพราะว่าถ้าเป็นธรรมเนาะ ทำด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ทำด้วยเจตนาที่ดี แต่ถ้ามันมีเลศนัย เราไม่รู้เท่าทันกิเลสของเราก็ถือว่าให้อภัยต่อกัน จบ

ถาม : เรื่อง “ใจร้อน หงุดหงิดง่ายมากขึ้นหลังจากเริ่มปฏิบัติ”

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมขอบพระคุณหลวงพ่อที่ช่วยแก้ให้ครับ ผมที่เคยถามหลวงพ่อเกี่ยวกับคำด่าพระพุทธเจ้าเมื่อเวลานั่งสมาธิ และผมปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงพ่อ ปัจจุบันคำด่าได้จางลงไปแล้วครับ ซึ่งปัจจุบันผมได้นั่งปฏิบัติทุกวันต่อเนื่องวันละอย่างน้อย ๑ ชั่วโมงมาถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา ๗ เดือนแล้วครับ สำหรับคำถามในการปฏิบัติมีดังต่อไปนี้ครับ

๑. ขณะที่นั่งในช่วงเริ่มต้น รับรู้ถึงลมหายใจ เมื่อเวลานั่งผ่านไปสักระยะ รู้สึกว่าไม่รู้อะไรเลย เหมือนคนหลับไปช่วงหนึ่ง แล้วก็มารับรู้ลมอีก แบบนี้ใช่ภวังค์ไหมครับ ถ้าใช่ ต้องแก้อย่างไร

๒. ในชีวิตประจำวันผมรู้สึกว่าตัวเองใจร้อนมากขึ้น ขี้หงุดหงิดมากขึ้น แข็งกระด้างมากขึ้น กลายเป็นคนยอมหักไม่ยอมงอ เวลามีนินทากัน ผมกลับออกความคิดเห็นและร่วมนินทาไปกับเขาด้วย ซึ่งเมื่อก่อน ก่อนที่จะนั่งสมาธิ อารมณ์ผมไม่รุนแรงขนาดนี้ ซึ่งความรู้สึกสวนทางกับที่ปฏิบัติอยู่ครับ ผลตรงนี้เป็นจากวิบากกรรมหรือเปล่าครับ ขอความเมตตาหลวงพ่อด้วย

ตอบ : เอาคำถามข้อที่ ๑. เนาะ เอาคำถามข้อที่ ๑. ก่อน “ขณะที่นั่งในช่วงเริ่มต้น รับรู้ลมหายใจ เมื่อเวลานั่งผ่านไปสักระยะรู้สึกว่าไม่รู้อะไรเลย”

ตรงนี้ไม่รู้อะไรเลย มันเริ่มจะเข้าสู่ภวังค์แล้วล่ะ

“เหมือนคนหลับไปช่วงหนึ่ง แล้วก็มารับรู้ลมอีก แบบนี้ใช่ภวังค์ไหมครับ”

ใช่ล้านเปอร์เซ็นต์เลยล่ะ ส่วนใหญ่แล้วเวลาคนตกภวังค์ไปแล้วก็ยังไม่แน่ใจ พอยังไม่แน่ใจ พอเราตกภวังค์ไปแล้ว หายไปแล้ว

“อย่างนี้ใช่ภวังค์หรือไม่ครับ ความจริงมันไม่ควรน่าจะใช่นะครับ เพราะผมก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบครับ ผมก็ทำความดีทั้งนั้นครับ มันไม่ควรเป็นภวังค์ครับ”

แต่มันเป็นไปแล้วโดยที่ไม่รู้ตัว

โดยธรรมชาติของเรา เราจะคิดแต่แง่ดี เราจะคิดแต่คุณประโยชน์ไง แต่ความจริงถ้ามันตกภวังค์นะ แค่แบบว่ามันไม่รู้อะไรนี่มันไปแล้ว แล้วเวลาเรากำหนดพุทโธๆ เวลาพุทโธมันหยุดไปหรือพุทโธมันแฉลบออก เราปฏิบัติไม่สมบูรณ์แล้ว ถ้าไม่สมบูรณ์ เราก็เริ่มต้นใหม่ ไม่สมบูรณ์ เริ่มต้นใหม่

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติต่อเนื่องไปๆ มันเริ่มไม่รู้สึกตัว

ไม่รู้สึกตัว เราก็กลับมารู้สึกตัวใหม่ แล้วพอไม่รู้สึกตัวแล้วเราต้องบอกว่า การที่ไม่รู้สึกตัวนี่คือความไม่ดี

ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ด้วยระยะเวลา มันก็มีการพลั้งเผลอเป็นธรรมดา เวลาพุทโธๆ ไปมันก็เมื่อยล้าเป็นธรรมดา ความเมื่อยล้าหรือความพลั้งเผลอ กิเลสมันจะเข้าตรงนี้ แล้วถ้ากิเลสเข้าตรงนี้ เราพลั้งเผลอ

แล้วถ้าวันไหนจิตใจเราดี เวลาเรากำหนดพุทโธๆ ทำไมมันชัดเจนดีล่ะ แล้วบางทีพุทโธๆ มันก็ละเอียดลึกซึ้งเข้ามาได้ เวลาพุทโธๆ มันดีแต่มันไม่ลง มันดีแต่ไม่ลง มันจะขืนกันอยู่อย่างนี้

ฉะนั้น เวลาจะขืนกันอยู่อย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านถึงพยายามหาที่สงัด หาที่วิเวก หาที่สงัดวิเวกเพราะอะไร เพราะมันเป็นความคิดกับเราเท่านั้น มันเป็นพุทโธกับเราเท่านั้น เวลาทำงานของเรามันจะไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราเลย มีแต่ความตั้งใจ มีแต่สติของเราจดจ่ออยู่อย่างนั้นเลย แล้วจดจ่อแล้วพยายามทำของเรา

พอจดจ่อบางทีถ้ามันแบบว่ามันฝืดเคือง แบบว่ามันกดดัน พอมันกดดันมันก็ต้องระวัง ถ้าระวัง ถ้ามันไม่ได้ ไม่ได้ก็เอาใหม่ ไม่ได้ก็เอาใหม่ของเรา ทำกันอยู่อย่างนี้

แล้วเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เห็นไหม ดูสิ เวลาท่านอาจารย์สิงห์ทอง หลวงปู่จวนอย่างนี้ หลวงปู่ขาวท่านชม สององค์นี้เดินสมาธิจนเป็นร่องเลย

ถ้าเราจดจ่ออยู่ทั้งวันทั้งคืนๆ ไอ้ที่มันผิดพลาดๆ มันต้องผิดพลาดเป็นธรรมดา พอมันผิดพลาดไปแล้ว เราก็เป็น ของเราตกภวังค์หายไปเลย แล้วยังสำคัญตนนะ ภาวนาเก่ง ภาวนาเก่งมาก ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงสบายๆ

แต่ด้วยวาสนา มีอยู่วันหนึ่งนั่งแล้วพอออกจากภาวนามา เอ๊ะ! คนเก่งมากเลยออกจากภาวนา แต่ดันมีน้ำเปียกๆ อยู่ที่หน้าอก ก็เลยเอามาดม โอ้โฮ! น้ำลายมึงเอง แสดงว่ามึงนั่งหลับ พอนั่งหลับ ตั้งแต่วันนั้นมารู้เลยว่าตกภวังค์ พอตกภวังค์ แก้ตรงนี้เราแก้มาเป็นปีๆ

ไอ้ที่ว่าไม่รู้เลย หายไปเลย

เราเป็นมา ครูบาอาจารย์ก็เป็นมา ส่วนใหญ่แล้วผู้ปฏิบัติมันจะเป็นทุกคนแหละ เพราะมันเป็นช่องว่าง มันเป็นข้อเท็จจริงของกิเลสที่มันเอามาใช้กับจิตทุกๆ ดวง แล้วเราก็ฟังมา ศึกษามาจากของคนอื่นทั้งนั้นเลย ไม่ใช่ของของเรา เราไม่เคยพบเคยเห็นกับอาการแบบนี้ เราไม่เคยพบเคยเห็น

เหมือนถนนน่ะ ถนนที่มันสมบูรณ์เรียบร้อย เขาก็ขับรถผ่านไปได้ด้วยดี ถนนถ้ามันขาดมันชำรุด รถก็ต้องไปตกตรงนั้นน่ะ

จิต จิตที่มันจะเดินไปบนมรรคบนผล ที่มันจะเดินของมันไป มันเดินของมันไป กิเลสมันก็ขุดล่อไว้ ดักล่อตามทางไปตลอดทางเลย แล้วเราก็ศึกษาธรรมะมาเยอะแยะ ศึกษาคนอื่นมาหมดเลย แต่เรายังไม่เคยเดินไปเลย พอเดินไปตกหลุมไปแล้ว “อ๋อ! อันนี้เป็นสมาธิ” รถมันลงไปแล้ว “อ๋อ! อันนี้จะเกิดปัญญา” มันไม่รู้ มันไม่เป็นหรอก

เราจะบอกว่า ครูบาอาจารย์ก็เป็นมาหมดแหละ มันต้องเป็นปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก คือจิตของเรามันล้มลุกคลุกคลาน เราก็จะแก้ไขของเรามาเป็นชั้นเป็นตอน พอแก้ไขมา คนที่แก้ไขแล้ว มันถมถนนมันเต็มหมดแล้ว รถก็วิ่งสะดวกแล้ว วิ่งสะดวก วิ่งไปมาได้สบาย เห็นไหม ชำนาญในวสี

นี่ก็เหมือนกัน เราไม่เคยมีประสบการณ์อะไรเลย นั่งสมาธิแล้วเป็นสมาธิหมดเลย ฝึกหัดใช้ปัญญานี่เป็นพระอรหันต์เลย ไม่เคยหลงเลย ไม่เคยผิดพลาดเลย...โอ้โฮ! มันไม่มีในโลกนี้ แต่ถ้ามันมีก็ต้องแก้ไข

นี่พูดถึงข้อที่ ๑. นะ เริ่มตั้งแต่อารัมภบท เขาบอกว่าเมื่อก่อนเขาจะมีคำโต้แย้งพระพุทธเจ้ามาตลอด แล้วเราก็แนะนำไป เขาบอกว่ามันดีขึ้น แล้วตอนนี้ก็ภาวนามา ๗ เดือนแล้ว แล้วนั่งสมาธิไปแล้วบางทีมันไม่รู้สึกอะไรเลย

ถ้ามันไม่รู้สึกอะไรเลย เราก็เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นใหม่ คำว่า “ไม่รู้สึกอะไรเลย” เราต้องยกผลประโยชน์ให้กับจำเลยไปแล้วล่ะว่าใช้ไม่ได้ ขึ้นต้นใหม่ ขึ้นต้นใหม่ ไม่ต้องไปค้นคว้าหรอก

เพราะถ้าค้นคว้าแล้วกิเลสมันจะหลอกไปแล้ว “เอ๊! เราก็ทำถูกนะ เราก็ทำมากี่วันแล้วนะ” เสียเวลา ไม่ต้องไปค้นคว้ามัน กลับมาพุทโธ จบ

ไม่ต้องไปตามหาเรื่องมัน เพราะมันเป็นกิเลส มันหลอกเรา มันต้มเราสุกแล้วล่ะ แล้วเรายังจะไปตามหามันอีก ไม่ต้องไปตามหามัน กลับมาพุทโธเลย ถ้ากลับมาพุทโธ นี่ข้อที่ ๑.

แล้วเขาถามว่า อย่างนี้ใช่ตกภวังค์หรือไม่

ใช่ ตกภวังค์ไปแล้ว ถ้าตกภวังค์ ถ้าภวังค์นะ ภวังค์ ถ้าบอกว่าเป็นภวังค์ นั่งสมาธิแล้วเป็นภวังค์มันก็ดีขึ้นจากจิตปกติ คำว่า “ดีขึ้น” ภวังค์นี่เป็นสมาธิชนิดหนึ่ง แต่เป็นมิจฉา เป็นสมาธิที่ผิด เป็นสมาธิที่ไม่ดี ภวังค์น่ะ ถ้ามันเป็นภวังค์ มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

แต่ถ้ามันเป็นสมาธิ มันจิตสงบแล้วมีสติสมบูรณ์

ถ้ามันเป็นภวังค์ใช่หรือไม่

ใช่ แล้วภวังค์มันก็ดักหน้าเราจากจิตก่อนจะเข้าสมาธิ มันจะตกภวังค์ แล้วพ้นจากภวังค์นั้นก็จะเข้าสู่สัมมาสมาธิ ทีนี้เราก็ฝึกหัดตรงนี้ แก้ตรงนี้

“๒. ในชีวิตประจำวัน ผมรู้สึกว่าตัวเองใจร้อนขึ้น หงุดหงิดขึ้น กระด้างขึ้น เมื่อก่อนไม่เคยนินทาใคร เดี๋ยวนี้ก็นินทา”

ไอ้คำว่า “นินทา” มันก็แบบว่าเกินไป แต่ถ้ามันหงุดหงิดขึ้น มันขี้ร้อนขึ้น ธรรมดาของคน คนที่ปฏิบัตินะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านเปรียบ เปรียบเหมือนผ้าขี้ริ้ว ผ้าขี้ริ้วถ้ามันเปื้อนเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผ้าขี้ริ้วซักสะอาด มันเปื้อนเล็กน้อยมันก็รู้ว่าเปื้อน

จิตใจของคนมันเคยสกปรก มันเคยคลุกคลีอยู่กับกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันทำสิ่งใดมันก็คงไม่เป็นไรหรอก ของเล็กๆ น้อยๆ จะผิดมากผิดน้อยก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพอเรามาประพฤติปฏิบัตินะ เราจะซักผ้าเราให้สะอาด พอผ้าเราสะอาด อะไรมาโดนหน่อยมันหงุดหงิด มันหงุดหงิด

อันนี้พูดถึงว่า กิเลส เมื่อก่อนเราไม่เคยดูแล ไม่เคยควบคุมมัน มันเป็นเจ้าวัฏจักร มันเป็นผู้มีอำนาจ จะทำอะไรก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของกิเลส มันจะทำผิดพลาดสิ่งใดมันก็เป็นประโยชน์กับมันทั้งนั้นน่ะ

แต่วันใดเราบอกกิเลสมันไม่ดี กิเลสมันทำให้เราเสียหาย แล้วทำให้เราสร้างเวรสร้างกรรมกับคนอื่น มันควรจะไม่มีอยู่แก่ใจของเรา ตั้งแต่วันนั้นมากิเลสมันโดนควบคุม ทีนี้มันหงุดหงิดแล้ว มันอึดอัดแล้ว

อันนี้มันเป็นผลของการที่เราเริ่มต้นจะควบคุมต่างๆ มันเป็นอย่างนี้ได้ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบนี้ ทุกคนจะสงสัยตัวเองว่า เมื่อก่อนก็เป็นคนดีนะ เหมือนผ้าพับไว้เลย เดี๋ยวนี้เป็นคนที่หุนหันพลันแล่นหมดเลย

ก็เมื่อก่อนเป็นผ้าพับไว้เพราะเอ็งนอนหลับไง เป็นผ้าพับไว้เพราะเอ็งโดนกิเลสวางยาสลบ กิเลสมันโปะยาสลบเอ็งไว้ แล้วเอ็งก็นอนอยู่นั่นแหละ

แต่วันนี้เอ็งเป็นคนตื่นขึ้นมา พอตื่นขึ้นมาจะรับผิดชอบชีวิตของตน อะไรที่มันกระทบก็หงุดหงิดๆ แต่หงุดหงิดแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีนั่นแหละ แต่มันเป็นข้อเท็จจริงไง มันเป็นข้อเท็จจริงที่จิตมันจะผ่านแบบนี้

ถ้ามันหงุดหงิดแล้วเราก็มีสติปัญญาว่า หงุดหงิดมันไม่ดี ถ้ามันจะสงบ มันจะมีกำลัง ก็ขอให้มีกำลังอยู่ในสติปัญญาของเรา อย่าหงุดหงิด เขานินทากัน เราก็ไม่ไปนินทากับเขา เดี๋ยวมันก็คิดได้ เดี๋ยวมันก็เผลอ ถ้ามีสติมันก็คิดได้ ถ้าคิดได้ หงุดหงิดก็หายไป ถ้าคิดได้ ไอ้สิ่งที่มันอารมณ์ที่รุนแรงต่างๆ เพราะคำว่า “อารมณ์รุนแรง” รุนแรงคือมันมีพลังงาน พอจิตมันดีแล้วมันจะกระทบ

แต่ก่อนนั่นน่ะกิเลสควบคุม มันไปประสามัน คือไม่มีดีและชั่วมาเปรียบเทียบ ไม่มีกิเลสกับธรรมมาเปรียบเทียบ ถ้าเป็นกิเลสอย่างเดียว กิเลสมันก็ใช้จิตเราโดยเต็มกำลังเลย แต่พอเรามีคุณธรรมบ้าง มีสติปัญญาบ้าง มันมีคุณธรรมกับกิเลสมันมาเปรียบเทียบกัน

ทีนี้เราฝึกหัดขึ้นมาจนสติปัญญาเราดีขึ้น อาการต่างๆ แบบนี้มันจะเบาบางลง แล้วมันก็จะเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราเห็นโทษเห็นภัยแล้วเราก็จะรักษาจิตเราดีขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่มันเป็นเรื่องธรรมดา

เขาบอกว่า ผลตรงนี้เป็นวิบากกรรมหรือไม่

ไอ้เรื่องจริตนิสัยมันมีส่วนหนึ่ง แต่เราไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นด้วยกับว่า สิ่งใดเกิดขึ้น เราก็จะยกให้กับวิบากกรรม

คำว่า “วิบากกรรม” คือมันจะไม่แก้ไขไง ถ้าคำว่า “เป็นวิบากกรรม” นะ “อันนี้มันเป็นของตายตัว เราไม่ต้องไปแก้ไขมันน่ะ ปล่อยมันเลย”

มันจะเป็นวิบากกรรม จะเป็นสิ่งใด เราสามารถควบคุมได้ เราสามารถแก้ไขได้ มันจะเป็นเวรเป็นกรรมมาขนาดไหน เป็นเวรเป็นกรรม เราก็ระงับด้วยการไม่จองเวร

ถ้ามันจะมีเวรมีกรรมต่อกัน เราก็ไม่จองเวรจองกรรมเขา ถ้าเขาจะมืดบอด เขาจะแสดงอำนาจของเขา มันก็เป็นกรรมของสัตว์ ถ้าใครสร้างเวรสร้างกรรม มันก็เป็นคนที่เขาสร้าง แต่เราไม่สร้างเวรสร้างกรรมไปตอบสนองกับเขา ถ้าเรามีเวรมีกรรมอยู่ เราก็ให้อภัยเขา

แต่นี่ไง ถ้ามันจะเป็นวิบากกรรม วิบากกรรมก็เป็นวิบากกรรมที่เราจะแก้ไขได้ วิบากกรรมที่เราจะดูแลได้ วิบากกรรมที่เราจะทำให้พัฒนาขึ้นได้

ไม่ใช่บอกว่า นี่มันเป็นวิบากกรรมใช่ไหม ถ้าบอกว่าใช่ก็จบเลย ปิดฉาก ไม่ต้องทำอะไรต่อ

แต่ถ้ามันเป็นวิบากกรรม วิบากกรรมก็ต้องแก้ไข ถ้ากรรมดี กรรมดีทำให้เกิดพระอริยบุคคล ถ้าไม่มีการกระทำ ไม่มีมรรคไม่มีผลขึ้นมา จะไม่เกิดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

กรรมแก้ไขได้ ทุกคนเกิดมาจากกรรม แต่เราทำคุณงามความดี ทำกรรมดี กรรมดีลบล้างกรรมชั่ว กรรมดีทำให้จิตใจมันพัฒนาขึ้น กรรมดีทำให้หัวใจพ้นจากกิเลสไปได้เลย มันก็อยู่ที่การกระทำทั้งนั้น

ถ้ามันบอกว่าเป็นวิบากกรรมหรือไม่ มันเป็นวิบากกรรมใช่หรือไม่

มันก็มีส่วน แต่ถ้าเป็นวิบากกรรม เราก็ต้องแก้ไขได้ ไม่ใช่เป็นวิบากกรรมแล้วเราจะทำอะไรไม่ได้เลย

จะทำอะไรได้ก็แบบที่เราพูดมาตั้งแต่ต้นไง ถ้ามันร้อนนัก เราก็มาเทียบเคียงเอา ถ้ามันหงุดหงิด ก็บอกหงุดหงิดเพราะอะไร เราใช้สติปัญญานี้พยายามควบคุม เดี๋ยวด้วยเหตุด้วยผล ถ้าด้วยเหตุด้วยผลควบคุมจบแล้วนะ ด้วยเหตุด้วยผล เหตุและผลไง สติ สมาธิ ปัญญา

เวลาสติ สมาธิ ปัญญา นี่คือธรรม เวลาคือธรรม กิเลสมันกลัวธรรมทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าเราไม่เอาสติ สมาธิ ปัญญามาควบคุมมาดูแล มันก็เตลิดเปิดเปิง แล้วเราก็จับต้นชนปลายไม่ถูก คำว่า “จับต้นชนปลายไม่ถูก” เพราะเรายังไม่รอบคอบพอ ถ้าเรารอบคอบพอแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของคนที่ปฏิบัติใหม่

เราจะบอกว่า หลวงตาท่านสอนว่า คนที่ปฏิบัติยากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้นนี่ เริ่มต้นคือล้มลุกคลุกคลาน แล้วเราไม่มีเหตุมีผลไง มันจะยากตอนนี้ แต่พอเราปฏิบัติปั๊บ มันจะมีประสบการณ์ มีเหตุมีผลขึ้นมา พอภาวนาเป็นไปแล้วมันจะก้าวเดินไปได้แล้ว

เวลาปฏิบัติยากอยู่ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับอีกคราวหนึ่งคราวจะสิ้นกิเลส แต่ตอนนี้เราปฏิบัติคราวเริ่มต้นมันก็จะยากหน่อย ถ้ายากหน่อย ยากเพื่อสมบัติของเรา ยากเพื่อคุณสมบัติของเรา เราพยายามทำของเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ จบ เอวัง