ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ผ้าเช็ดเท้า

๒๕ พ.ย. ๒๕๖o

ผ้าเช็ดเท้า

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ท่านั่งในการสวดมนต์”

กราบถามหลวงพ่อเจ้าค่ะ อยากทราบว่าสตรีอย่างตัวลูก ท่านั่งในการสวดมนต์จำเป็นไหมคะว่าต้องนั่งท่านางฟ้าตลอดในการสวด ถ้าเกิดอาการเมื่อย ลูกสามารถเปลี่ยนเป็นท่านั่งพับเพียบได้ไหมคะ รบกวนหลวงพ่อเท่านี้

ตอบ : นี่พูดถึงการสวดมนต์ การสวดมนต์ สวดมนต์เป็นสิ่งที่ดีงาม สวดมนต์เป็นการสรรเสริญพุทธคุณ เวลาสรรเสริญพุทธคุณ เวลาคนที่มีคุณธรรมในหัวใจนะ อย่างเช่นหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบท่านเล่าให้หลวงตาฟัง

หลวงตาท่านมาพูดให้ฟังไง บอกว่า หลวงปู่ชอบไปอยู่ทางเพชรบูรณ์ ท่านก็สวดมนต์ทำวัตรนี่แหละ สวดมนต์ธรรมดา ทีนี้พอถึงเวลาแล้วท่านจะวิเวกต่อไป พวกเทวดาเข้ามาในนิมิตเลย บอกว่า อยากนิมนต์ให้ท่านอยู่ที่นี่ ไม่อยากให้ท่านธุดงค์ไป เพราะเวลาท่านสวดมนต์ โอ้โฮ! มันร่มเย็นเป็นสุขไปหมด เวลาท่านสวดมนต์เสียงมันกังวานไปทั่ว

แต่ท่านเป็นพระอรหันต์นะ ไอ้พวกเรา...

ฉะนั้น พอเสียงสวดมนต์มันกังวานไปทั่ว เขาชื่นชม เขามีความสุข มีความชุ่มชื่น เขาอยากให้ท่านอยู่นานๆ นี่ไง เวลาท่านสวดมนต์ เวลาสวดมนต์มันกังวานไปทั่ว มีแต่ความชุ่มชื่น ชุ่มชื่นใจเทวดา อินทร์ พรหมไปหมดไง

นี่พูดถึงการสวดมนต์ นี่เวลาหลวงปู่ชอบท่านทำ ท่านบอกท่านอยู่ในป่านะ ท่านสวดมนต์องค์เดียวนะ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต คือท่านสวดพึมพำๆ ภาษาเรา เพราะเราคนเดียว สติสัมปชัญญะมันสมบูรณ์ไง แต่เทวดาได้ยิน โอ้โฮ! กังวานไปทั่ว นี่พูดถึงคนที่มีบุญ

ฉะนั้น เราก็อยากปรารถนา อยากทำคุณงามความดี อยากสร้างกุศล เราก็จะทำแบบครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอน ก่อนนอนก่อนทำอะไรเราก็จะสวดมนต์ของเรา ถ้าเราสวดมนต์ของเรา สวดเพื่อเป็นสิริมงคลชีวิต สวดเพื่อเป็นมงคลชีวิตประจำวันของเรา ทำคุณงามความดีของเรา นั้นเป็นคุณทั้งนั้น ถ้าเป็นคุณทั้งนั้น

ทีนี้เวลานั่งแล้ว เวลาสวดมนต์แล้วมันก็มีเมื่อย มันก็ต้องใช้พลังงานเหมือนกัน ไอ้นี่ถ้าเวลานั่งแล้วเขาบอกว่า ท่าเขาจำเป็นต้องนั่งท่านางฟ้าหรือไม่

ท่านางฟ้าคือนั่งยองๆ ไง นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งท่าไหนก็ได้ ฉะนั้น ถ้านั่งท่านางฟ้าท่าเดียว คนอื่นเขาทำไม่ได้ คนพิการทำอะไรไม่ได้เลย เวลาคนพิการ คนติดเตียง คนนอนติดเตียงเขาทำสิ่งใดไม่ได้เลย

ยืน เดิน นั่ง นอน ทำคุณประโยชน์ได้ทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น เหมือนกัน เวลาคนนอน ถ้าพูดถึงคนเจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็นอนสวดมนต์ของเขาได้ ให้เขาทำคุณงามความดีเถิด

นี่ก็เหมือนกัน “ถ้าท่านั่ง ท่านั่งสวดมนต์จำเป็นไหมคะว่าจะต้องนั่งท่านางฟ้าตลอดไปเวลาสวดมนต์”

ไม่จำเป็น แต่ถ้าท่าไหนที่นั่งแล้วมันสวยงามๆ เบญจางคประดิษฐ์เวลากราบ เวลานั่ง นั่งพับเพียบ เวลานั่งพับเพียบก็ได้ เราจะบอกว่า ถ้านั่งพับเพียบได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งอย่างใดก็ได้ ถ้านะ ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วย ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ธรรมดานั่งพับเพียบดีที่สุด แต่ถ้านั่งท่านางฟ้าก็ได้ ถ้าเขาทำได้

“ถ้าเกิดลูกเมื่อยขึ้นมา สามารถเปลี่ยนท่านั่งพับเพียบได้หรือไม่”

ได้ นั่งท่าไหนก็ได้ ถ้าขอให้ทำคุณงามความดี ถ้าเขาทำคุณงามความดีมันความถูกต้องดีงาม ฉะนั้น เราให้เห็นว่าการสวดมนต์มันเป็นบุญเป็นกุศล เป็นคุณงามความดี เพราะการสวดมนต์ๆ สวดมนต์คือคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราได้คิด ได้คิดได้พิจารณาตามบทสวดนั้น เราจะได้สติได้ปัญญามากขึ้น

การสวดมนต์ๆ ชุ่มชื่นได้บุญได้กุศลนั่นเรื่องหนึ่งนะ แต่เวลาเรารู้แจ้ง เรากระจ่างแจ้งในคำสอน คำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราใคร่ครวญไตร่ตรองไป มันเป็นคำสอนของเรา ให้เราเป็นคนฉลาด ให้เรามั่นคงขึ้นมา อันนี้มันเป็นประโยชน์สองชั้นสามชั้น ถ้าเป็นประโยชน์สองชั้นสามชั้น การทำคุณงามความดีเป็นความดีไปทั้งหมด ถ้าเป็นคุณงามความดีทั้งนั้น

ฉะนั้น ถ้านั่งสวดมนต์ท่านั่งนางฟ้า ถ้าเวลาเมื่อยเปลี่ยนมานั่งพับเพียบได้หรือไม่

ได้ ได้ ท่านั่งพับเพียบ ท่านั่งนางฟ้านั่งยองๆ มันก็เป็นว่า ที่เขาทำกันไปเนาะ สถานที่ สถานที่เขาทำอย่างนั้น เราก็เป็นแบบนั้น ว่ามันเป็นแค่ท่านั่ง

นี่พูดถึงว่า ท่านั่งในการสวดมนต์ ถ้าท่านั่งในการสวดมนต์

ทำคุณงามความดี สวดมนต์เป็นสิ่งดีงาม เราต้องดีงาม หนึ่ง เราไม่คิดไปเรื่องชีวิตประจำวัน ไม่คิดไปเรื่องทางกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ให้มาตรึกในธรรม เวลาสวดมนต์ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอยู่กับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาสวดมนต์ แล้วอย่างที่ว่าสวดมนต์เผื่อแผ่ เผื่อแผ่ให้คนทั่วๆ ไป สวดมนต์ให้กับเทวดา อินทร์ พรหมได้ยินจากความเพียรของเรา

แต่ถ้าเป็นพระปฏิบัติ เวลาปฏิบัติ เวลาสวดมนต์ สำนักบางสำนักเขาสวดมนต์พร้อมกันที่ศาลา เวลาศาลา ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นในโบสถ์ นี่เป็นวัตรปฏิบัติทั่วไป

แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่มั่นท่านให้สวดเฉพาะ หลวงปู่มั่นท่านก็สวดของท่านเฉพาะที่ในกุฏิของท่าน เวลาท่านจะรวมเทศน์ ท่านรวมเทศน์ที่กุฏิ บางคราวเป็นที่กุฏิ บางคราวเป็นที่ศาลา ถ้าสวดมนต์ ถ้าการประพฤติปฏิบัติเขาต้องการความสงบสงัด ฉะนั้น ความเผื่อแผ่ ไม่ต้องเผื่อแผ่กัน เผื่อแผ่มันสะเทือนกันไง

เวลาสะเทือนกัน หมายความว่า คนหนึ่งต้องการความสงบ อีกคนหนึ่งส่งเสียงกระทบกระเทือนเขา มันไปกระทบกระเทือนในการทำความเพียร มันต้องสังเกตตรงนี้

ไปดูวัดทั่วไป เพราะเราก็ธุดงค์มานะ บางวัดทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นพร้อมกัน ถ้าเป็นสายหลวงปู่มั่น แล้วสายบ้านตาด ท่านจะให้ทำส่วนตัว เพราะว่าคนเราความเพียรคนไม่เสมอกัน ความมุมานะของคนไม่เท่ากัน กำลังของคนก็ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น ใครที่มีความมุ่งมั่นมากกว่าจะนั่งทีหนึ่ง ๑๒ ชั่วโมง นั่งทั้งตลอดรุ่ง เอาโดยส่วนตัวเลย ใครจะได้มากได้น้อยก็พยายามขวนขวายของตน ถ้าขวนขวายของตนนะ อย่างนี้มันไม่ได้ชักจูงคนที่ปฏิบัติใหม่

แต่ถ้านั่งบนศาลา นั่งพร้อมกัน พระเก่ามันก็ต้องนั่งได้นานเป็นเรื่องธรรมดา มันก็พยายามจะชักจูงพระใหม่ให้ปฏิบัติได้มากขึ้น นั่งพร้อมกันไปก็ชักนำกันไปไง อาศัยหมู่คณะดึงกันไป

แต่ถ้าเป็นการปฏิบัติ ภาวนาเป็นแล้ว ต่างคนต่างมุมานะ ต่างคนต่างจริตนิสัย มันไม่เหมือนกัน ความมั่นคง ความถนัดแตกต่างกัน ก็ให้สะดวกแก่ในการปฏิบัติ

ทีนี้ในการปฏิบัติมันก็เป็นที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านถนัดทางไหน ท่านพาทำอย่างใด สังเกตตรงนี้ นี่พูดถึงเวลาเข้าสังคม

แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวของเรา ทำได้ นั่งท่านางฟ้าก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ เวลาเมื่อยมันพลิกแพลงก็ได้ ได้ทั้งนั้นน่ะ ขอให้ทำ แล้วถ้าทำไปแล้ว ถ้ามันทำไปแล้วเราจะมีสติปัญญาระลึกได้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร แล้วจะทำความดีต่อเนื่องไปให้มันก้าวหน้าไป ความดีกว่านี้ยังมีอยู่ จบ

ถาม : เรื่อง “กิเลสแรงขึ้น”

กราบนมัสการหลวงพ่อ หนูมีปัญหารบกวนถามค่ะ ตั้งแต่หนูได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดหลวงพ่อเป็นเวลาเกือบ ๒ ปี หนูรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่หลังๆ มานี้ไม่ค่อยได้ปฏิบัติ หนูก็มีนิสัยที่แย่ลง คือชอบพูดจาข่มคน เกทับคนอื่น มีพฤติกรรมที่แสดงถึงความเหนือกว่า สำคัญตัวจนเริ่มกลัวว่าเพื่อนจะไม่คบ นิสัยหนูเลวร้ายลงมาก แบบที่ไม่เข้าใจตัวเองและหยุดตัวเองไม่ได้

หลวงพ่อเคยบอกให้รักษาศีล ๕ ก็ทำไม่ได้ ไม่ค่อยให้ความสำคัญ คิดว่าไม่เป็นไร แต่พอได้ทบทวนก็คิดว่า ที่ตัวเองเป็นแบบนี้เพราะว่าปฏิบัติแล้วไม่รักษาศีลหรือเปล่า

อีกอย่างคือ จุดมุ่งหมายประการหนึ่งของการปฏิบัติลึกๆ คืออยากเป็นคนที่ดีเลิศ เป็นคนที่ใครก็รักและยอมรับ (ชีวิตจริงหนูเป็นคนขี้แพ้มากค่ะ) คิดไปว่าการปฏิบัติธรรมทำให้เราดี ซึ่งมันก็ดีในช่วงแรก จิตใจเราดีขึ้น คนก็ยอมรับว่าเราดีอยู่ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าทุกอย่างแย่ลงกว่าเดิม หนูจึงอยากจะขอรบกวนหลวงพ่อช่วยอธิบายและชี้ทางแก้ไขให้หนูหน่อยค่ะ

ปล. หนูเพิ่งสำเหนียกว่าหนูอยากอยู่เหนือคนอื่น ตอนนี้หนูต้องการสติมากๆ ค่ะ และถ้าหากหนูล่วงเกินหลวงพ่อประการใด หนูก็กราบขอขมาด้วยนะคะ

ตอบ : นี่คำถามเนาะ คำถามถามมาเป็นอารัมภบท เป็นอารัมภบทว่า หนูเคยมาปฏิบัติที่วัดหลวงพ่อ ๒ ปี เวลาปฏิบัติใหม่ๆ มันก็ดีขึ้น รู้สึกตัวเองว่าดีขึ้น ดีขึ้นมากๆ เลย แล้วหลวงพ่อเคยบอกว่าให้ถือศีลๆ ให้ถือศีล ๕ คือว่าเรารักษาหัวใจของเราไว้ อย่าให้มันออกนอกลู่นอกทาง สิ่งนั้นเวลามันทำขึ้นมาแล้ว แต่ช่วงระยะหลังมันแย่ลงๆ ชอบพูดจาข่มคนอื่น เกทับคนอื่น พฤติกรรมที่เหนือกว่าคนอื่น

สิ่งต่างๆ แบบนี้มันเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นนะ ในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว สิ่งที่เราควรทำคุณงามความดี ถ้าคุณงามความดีหมายความว่าเรารักษาหัวใจของเรา แต่ถ้าเราไม่ได้ทำคุณงามความดี เราปล่อยปละละเลย กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจมันชักลากไปอย่างนั้นอยู่แล้ว

แล้วถ้านิสัยชอบพูดข่มคนอื่น ชอบเกทับคนอื่น จะชอบอยู่เหนือคนอื่น ถ้ามีสติมีสำนึกได้ มันก็คิดได้ เห็นไหม ถ้ามันคิดได้ พอมันคิดได้ สิ่งที่ว่าเราอยากอยู่เหนือคนอื่น อยากให้คนอื่นเขายอมรับ

อยากให้คนอื่นยอมรับ เราก็ทำคุณงามความดีสิ ทำคุณงามความดี อยากให้คนอื่นยอมรับๆ เพราะอะไร เพราะเราไม่มีสติสัมปชัญญะไง

แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติท่านพยายามอยู่โดดเดี่ยว ท่านจะแยกตัวของท่านไป แยกตัวของท่านไป เราจะเอาชนะตัวเราเองต่างหาก เราจะเอาชนะตัวเราเอง เราไม่เอาชนะคนอื่น เราจะเอาชนะกิเลสของเรา เราจะเอาชนะไอ้สิ่งที่มันคิดผิดในหัวใจของเราต่างหาก

แต่ไอ้นี่ตัวเองมองข้ามไปไง แล้วอยากจะไปเอาชนะคนนอกๆ เราจะไปเอาชนะคนนอกมันจะได้ประโยชน์อะไร ลองแจกตังค์เขาสิ บอกเลย แจกตังค์ทุกวันวันละห้าร้อย โอ้โฮ! เขาชมทุกวัน ทุกวันเขาจะมาเข้าแถวรับตังค์เลย อยากเป็นคนดี ซื้อได้ ทางโลกโดยการบริหารจัดการเขาทำได้ทั้งนั้นน่ะ แล้วมันเป็นความจริงหรือไม่ มันไม่มีอะไรเป็นความจริงสักอย่างหนึ่ง

ถ้าเป็นความจริงๆ ความจริงมันเป็นความจริงที่เรารู้ได้ในหัวใจของเราต่างหากล่ะ ถ้ามันเป็นความจริงที่รู้ได้ในหัวใจของเราต่างหาก เราก็กลับมาดูแลที่หัวใจของเรานี่ ถ้าเรากลับมาดูแลหัวใจของเรา มันก็เป็นประโยชน์ตรงนี้ไง ถ้าเป็นประโยชน์ตรงนี้ เห็นไหม

นี่พูดถึงว่า ถ้ามันมีสำนึกได้ เราจะไปอยู่เหนือใคร

เวลาอย่างว่าล่ะ วัยรุ่น วัยรุ่นเขาก็คิดอย่างนี้ เพราะคิดว่าอายุมันยังอีกยืนนานไง ก็อยากจะเป็นผู้นำ อยากจะเป็นหัวหน้า อยากจะเป็น มันก็เป็นอย่างนี้ไง

แต่ถ้าพอมีอายุมากขึ้นๆ ยิ่งเวลาชราภาพขึ้นมาเจ็บไข้ได้ป่วย นอนติดเตียง ไม่ต้องอยู่เหนือใครเลย อยู่เหนือเตียง นอนอยู่บนเตียง มันจะไปเหนือใคร

เหนือใครมันเป็นกิเลสไง กิเลสนี้เป็นนามธรรม เวลาเกิดขึ้นชั่วคราวในหัวใจของเรา ยุแหย่แล้วมันก็ไป แล้วการกระทำมันเกิดวิบาก วิบาก เวลาทำเสร็จแล้วใครเป็นคนรับ ก็หัวใจของเรา

แต่ถ้าเป็นธรรมๆ เราเสียสละ เราทำคุณงามความดี นี่ทำคุณงามความดีเพื่อเป็นบุญกุศล ยุให้เราทำ ทำแล้วมันเป็นอะไร ก็เป็นบุญกุศล มันก็ตกกับหัวใจของเรา

เราทำดีก็ทำคุณงามความดี ผลมันเกิดขึ้นมาเป็นบุญกุศล มันก็ตกกับหัวใจของเรา เราทำความชั่ว เราเหยียบย่ำเขา เราทำลายเขา มันเป็นกรรม มันเป็นบาปเป็นอกุศล เราทำแล้ว ผลนี้มันเกิดกับอะไร ก็ตกอยู่กับใจของเรา

ทำความดีความชั่ว เวลาทำแล้วผลมันตกอยู่กับเรา ถ้าผลมันตกอยู่กับเรา เรามีสติสัมปชัญญะ เราทำเพื่อใคร เราทำเพื่อเรา เราก็ทำคุณงามความดีของเราทั้งนั้นน่ะ ถ้าทำคุณงามความดีทำที่ไหน

ทำคุณงามความดี สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี เราทำความสงบระงับเข้ามาในหัวใจ ถ้าทำความสงบระงับเข้ามาในหัวใจ ถ้าจิตมันดีเลิศขึ้นมาแล้ว พระอัสสชิ พระอัสสชิเป็นพระอรหันต์ ท่านทำอะไร ท่านก็ทำข้อวัตรปฏิบัติ เช้าขึ้นมาท่านออกบิณฑบาต พระสารีบุตรเห็นการก้าวเดินของท่าน แสดงว่าข้างในหัวใจต้องมีคุณธรรม ตามไปๆ

ท่านทำอะไร ท่านไม่ได้ทำอะไรเลย ท่านควบคุมกิริยา ควบคุมความประพฤติของท่าน แต่คนนอกเขามองแล้วเขาเห็น เวลาเขาเห็นขึ้นมาแล้วเขาตามไปเลยนะ ตามพระอัสสชิไปจนบิณฑบาตเสร็จแล้ว ทำภัตกิจเสร็จแล้วถึงเข้าไปกราบพระอัสสชิ แล้วค่อยกราบถามท่านว่า “ท่านบวชมาจากไหน ท่านบวชมาจากใคร ทำไมกิริยาท่าทางมันน่าเคารพเลื่อมใส”

“โอ้โฮ! เราผู้บวชใหม่” ไม่เห็นอยากจะข่มใครเลย ขนาดคนเข้ามายกย่องยังบอกท่านบวชใหม่ ท่านมีความรู้เล็กน้อย พระอรหันต์นะ “มีความรู้เล็กน้อยก็ไม่เป็นไร บวชกับใคร” “บวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องธรรมทั้งหลาย เหตุการกระทำทั้งหมดมันต้องมีกรรมการกระทำ คือวิบาก คือผลที่เรารับกันอยู่นี่มันต้องมีเหตุ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ธรรมทั้งหลายมันต้องมีเหตุมีที่มาที่ไป พระพุทธศาสนามันมีที่มาที่ไป มันมีเหตุมีผล ไม่มีสิ่งใดลอยมาจากฟ้า

นี่ไง “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

แล้วพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะฝึกฝนมากับสัญชัย “นั่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่” พอมาฟังคำนี้ เพราะมันค้นคว้ามาตลอด แต่มันค้นคว้ามาสะเปะสะปะ มันไม่รู้จะไปทางไหนไง เวลามาฟังธรรมพระอัสสชิ เพราะอะไร เพราะในหัวใจของเขาก็แสวงหาอยู่

เวลาเขาใช้ปัญญาของเขา นี่ก็เป็นเหตุ ฟังพระอัสสชิ แต่ใช้ปัญญา “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” สิ่งที่เราค้นคว้า สิ่งที่เราขวนขวาย สิ่งที่เราแสวงหาอยู่นี่มันก็เป็นเหตุอันหนึ่ง แล้วเราไปหาอะไร

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ถ้ามันดับเหตุอันนี้ ดับเหตุอันนี้ พอเข้าใจถึงการดิ้นรนในใจของตน “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องดับไปเป็นธรรมดา” ไอ้การขวนขวายการดิ้นรน ถ้ามันมีเหตุมีผลความเข้าใจแล้วมันดับหมด มันวางได้หมด เห็นไหม เป็นพระโสดาบันเลย

นี่ไง จะบอกว่า สิ่งที่เราต้องการให้คนอื่นยอมรับๆ ใครเขาจะยอมรับ

แต่พระอัสสชิ ครูบาอาจารย์ของเราไม่ต้องการให้ใครยอมรับเลย แต่คนแสวงหา หลวงปู่มั่นอยู่ในป่าในเขา คนต้องแสวงหา ต้องซื้อทางเข้าไปหาหลวงปู่มั่น เพราะเป็นความดี กลิ่นของศีลกลิ่นของธรรมมันหอมทวนลม คุณงามความดีนี้มันขจรขจายไปทั่วประเทศ คุณงามความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสามแดนโลกธาตุ ทุกคนวิ่งเข้าไปแสวงหา

ไม่ต้องไปข่มเขา ไม่ต้องไปข่มเขา ไม่ต้องไปทับถมเขา ไม่ต้องไปทำเขาทั้งสิ้น ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีประโยชน์อะไรเลย นั้นเป็นเรื่องของการเอาชนะคะคาน

การเอาชนะคะคานนะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การรบทัพจับศึก ชนะเท่าไร สร้างเวรสร้างกรรมเท่านั้น การชนะด้วยการกระทำ ไม่มีวันจบวันสิ้น การชนะที่เลิศที่สุดคือการชนะตัวเอง การชนะความคิดที่จะไปทำลายเขา การชนะความคิดที่จะไปก่อเรื่อง ถ้าชนะตรงนั้นประเสริฐที่สุด

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเข้ามาที่นี่ ทีนี้บอกว่าต้องการให้เหนือคน ต้องการต่างๆ นิสัยมันเลวร้ายลง แบบที่ไม่เข้าใจตัวเองแล้วหยุดตัวเองไม่ได้

หยุดตัวเองไม่ได้ ก็วิ่งตามกิเลสไปมันจะไปหยุดได้อย่างไรล่ะ ถ้ามันไม่วิ่งตามไป ไม่ตามอารมณ์ไป เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ อย่าเสียดายอารมณ์ของตน

เวลาเราคิดขึ้นมา เราพอใจขึ้นมา เราว่าเราคิดถูก สิ่งที่ว่าคิดถูกมันยึดกับความคิดของตน แล้วก็เชื่อความคิด นี่มันจะทำไป ถ้าเรายังอาลัยอาวรณ์กับอารมณ์ของตน เห็นไหม

เราต้องไม่อาลัยอาวรณ์กับอารมณ์ของตน ทิ้งให้หมดเลย ทิ้งให้หมด

เวลาทำงานเราก็ต้องมีสติปัญญาเป็นเรื่องธรรมดา สติปัญญาที่เราทำหน้าที่การงานของเรา ถ้าทำเสร็จแล้วเราก็มาอยู่กับพุทโธ เรามาอยู่กับพุทโธ เราจะเอาชนะใจของตัวเราเอง เราจะเอาชนะไม่ให้หัวใจมันออกไปข้างนอก ไม่ออกไปวุ่นวายกับเรื่องต่างๆ แล้วถ้าไม่ออกไปวุ่นวายกับเรื่องต่างๆ สิ่งนี้มันเป็นเรื่องข้างนอก ถ้าเรื่องข้างในถ้ามันเป็นไปได้ เดี๋ยวเรื่องข้างนอกมันจะดีขึ้นมาเอง เห็นไหม

แล้วหลวงพ่อบอกให้ถือศีล ๕ เพราะว่าไม่ได้ประพฤติปฏิบัติแล้วมันเลวร้ายลงๆ

คำว่า “เลวร้ายลง” เห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัตินะ เวลาคนที่ไม่ปฏิบัติเขาว่าตัวเองดีทั้งนั้นน่ะ แต่เวลาคนปฏิบัติไปแล้ว ทำไมนั่นก็ไม่ดีนี่ก็ไม่ดี ไม่ดีทั้งนั้นน่ะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเปรียบเทียบ เปรียบเหมือนผ้าขาว ผ้าขาวถ้ามันสกปรกแล้วมันก็จะเห็นว่าสกปรก แล้วมันหงุดหงิด แต่ถ้าผ้ามันสกปรกอยู่แล้ว ผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดเท้ามันสกปรกอยู่แล้ว เช็ดเท้าอย่างไรก็เช็ดไปเถอะ แต่ถ้าผ้าขาวใหม่ๆ เช็ดเท้า พอเริ่มวางเท้าไปมันก็เห็นแล้วว่ามันสกปรก ผ้าเช็ดเท้าๆ แต่ผ้าเช็ดเท้าเขาก็ต้องซักต้องดูแลรักษาขึ้นมาเพื่อจะใช้เช็ดเท้าต่อไป

ทีนี้ถ้ามันผ้าเช็ดเท้า จิตใจของเรากิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นน่ะ เวลามาฝึกหัดมาประพฤติปฏิบัติมันก็ดีขึ้น มันก็เหมือนผ้าขาว พอเหมือนผ้าขาวขึ้นมาแล้ว พอมันมีสิ่งใดสกปรก สิ่งใดที่ไปถึงผ้าขาวนั้น มันก็จะเห็นชัดเจนว่ามันสกปรก พอมันเห็นว่าสกปรกแล้ว มันก็ทำให้เราหวงแหนไง พอทำให้เราหวงแหนมันก็เกิดความหงุดหงิด

เวลาคนประพฤติปฏิบัติแล้วนะ เมื่อก่อนเราก็เป็นคนดีๆ นะ ไม่ปฏิบัติมันก็ดี๊ดี เวลาปฏิบัติทำไมมันขี้โมโห ขี้โกรธ ขี้ต่างๆ

กรณีอย่างนี้ ถ้ามันรู้อย่างนี้ หัวใจเรามันสกปรก มันก็เหมือนผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดกิเลส กิเลสมันก็ย่ำยีทั้งนั้นน่ะ

เวลาว่าหนูเลวลงๆ

ถ้าเลวลง มีสติก็ดีไง ไม่มีคุณประโยชน์อะไรมากไปกว่าการเห็นโทษของตน การเห็นความผิดพลาดของตน ถ้าเราเห็นว่าเราผิดพลาดขึ้นมาแล้ว เราก็ทำคุณงามความดีของเรา เราก็พยายามละทิ้ง ละทิ้งที่มันทำความเสียหาย แล้วมารักษาให้มันเป็นปกติ

ไม่ต้องไป อู้ฮู! พอระลึกผิดได้ เที่ยวจะไปอ้อนวอนเขา ไม่ต้อง เวลาสำนึกผิดแล้วก็อยู่นิ่งๆ อย่าทำอีกนะ อย่าทำอีกนะ

เวลาสำนึกผิดได้ล่ะ แหม! น้ำหูน้ำตาพรากจะไปคารวะขอโทษเขาเชียว พอขอโทษเสร็จ เดี๋ยวทำเขาอีกแล้ว เดี๋ยวก็ไปทำลายเขาอีกแล้ว

ไม่ต้อง เรามาทำตัวเราให้ดีขึ้น ทุกคนเขาเห็นเอง ถ้าทำตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อนๆ ที่บอกว่าจนหวั่นกลัวว่าเพื่อนจะไม่คบๆ

เพราะเพื่อนจะไม่คบก็ไปจ้างเพื่อนให้มาคบเรา เขายิ่งไม่คบ เขายิ่งกลัวเลย ยิ่งเอาเงินไปจ้างเขา เขาวิ่งหนีเลยนะ

เราทำตัวเราดี เราทำตัวเราดีขึ้น พอทำดีขึ้น เพื่อนเขาก็เห็นเองว่าเราดีขึ้นหรือเราเลวลง ถ้าเราทำตัวเราดีขึ้น เดี๋ยวเพื่อนเขาก็มาหาเราเอง เพื่อนคือเพื่อนนะ คำว่า “เพื่อน” มันอยู่ที่ความเสมอภาค เขาจะคบเราก็ได้ เราจะคบเขาก็ได้

แต่ถ้าเป็นพี่เป็นน้อง เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกกัน ไอ้นี่มันเป็นโดยสายเลือด เป็นโดยสายเลือดเลย แต่คำว่า “เพื่อน” เรามาเจอกันเอง เรามีอิสระที่จะคบก็ได้ ไม่คบก็ได้ แล้วถ้าคบแล้ว เวลาเพื่อนรักเขารักกันจริงๆ เขารักกันจนเขาดูแลกันนะ

ฉะนั้น เวลาเขาจะคบเพื่อนเขาก็ดูนิสัย ดูนิสัยเรา ถ้าเราไม่เอาเปรียบเขา เราไม่ทับถมเขา นี้มันก็อยู่ในนวโกวาท เพื่อนแท้กับเพื่อนเทียม เพื่อนเทียมคือเพื่อนที่เอารัดเอาเปรียบ เพื่อนที่ไม่จริงใจต่อกัน ถ้าเพื่อนแท้ๆ แม้แต่ลับหลังมีคนมาติเตียน เพื่อนก็ช่วยแก้ไขให้ เพื่อนแท้คือปกป้องคุ้มครอง เพื่อนแท้เขาจะคอยแก้ไขให้เราถ้าเราพลั้งเผลอ ถ้าเจอเพื่อนตายนะ เขาตายแทนกันได้เลย เขาสาบานเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกัน

เขาทำคุณงามความดี แต่ถ้าเขาจะคัดเลือก เขาต้องคัดเลือกคนดี ถ้าเขาเลือกคนดี เราก็ต้องกลับมาที่เรานี่ก่อน

เขาว่า จนหวั่นกลัวว่าเขาจะไม่คบ เพื่อนจะไม่คบเรา

ถ้าเพื่อนจะไม่คบเรา เราวิตกกังวลไป มันเป็นมายา มันไม่ใช่ความจริง พอกลัวเขาจะไม่คบ เราก็ทำดีเพราะว่ากลัวเขาไม่คบ มันก็กลายเป็นหน้าไหว้หลังหลอก หน้าอย่าง หลังอย่างไง

แต่ถ้าเป็นความจริง เราทำความจริงจากใจของเรา เราเป็นอย่างนี้ เราจริงๆ อย่างนี้ เราสะอาดบริสุทธิ์อย่างนี้ เราร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างนี้ ถ้าเขาคบได้ เขาก็จะคบ ถ้าเขาจะคบไม่ได้ เขาก็ไปหาคนใหม่ เขาก็ไม่ต้องมาคบกับเรา ก็จบกันไป ไม่ต้องไปหวั่นไหว แต่มันต้องทำตัวเราให้ถูกต้องให้ชัดเจนก่อน ถ้าชัดเจนก่อน

กลัวเพื่อนจะไม่คบไง ถ้ากลัวเพื่อนจะไม่คบ กลัวเขาจะว่าเราอย่างนั้นไง

โมฆบุรุษตายเพราะลาภ ตายเพราะกลัวเขาจะไม่ว่าเราดี พวกโมฆบุรุษคนว่างเปล่า คนเน่าใน นี่ธรรมะพระพุทธเจ้านะ โมฆบุรุษตายเพราะลาภ ตายเพราะลาภ ตายเพราะผลประโยชน์ไง ตายเพราะกลัวเขาจะว่าเราไม่ดีไง ตายเพราะข้างในมันว่างเปล่าไง ให้เขาชักนำได้ไง

แต่ถ้าเรามีคุณงามความดี มีจุดยืนของเรา เราสร้างคุณงามความดี มันวัดกันด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ถ้าวัดกันที่นี่ก็จบ

เราทำคุณงามความดีของเรา เขาจะไม่คบก็เรื่องของเขา ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา เขาจะคบ คบก็คบกันด้วยคุณงามความดี คบกันด้วยความเสมอภาค คบกันด้วยความจริง ถ้าคบกันได้เราก็คบไง ถ้าคบไม่ได้ก็อยู่คนเดียวก็สบายอยู่แล้ว ไม่ต้องไปห่วงในผลของชีวิตนี้ไง

ถ้าสิ่งที่ว่า นิสัยมันเลวร้ายลงๆ

สิ่งที่เลวร้ายลงมันก็เป็นเพราะเหตุนี้ เป็นเพราะว่า เราต้องพุทโธ ต้องตั้งสติของเราต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เลวร้ายลงเพราะไม่ได้มีการรักษา เราเปรียบเหมือนผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดเท้าถ้ามันสะอาด มันสะอาดมันอยู่ที่การซักการดูแลรักษา ถ้าคนเราดูแลรักษาอยู่ มันจะเสื่อมขนาดไหน ถ้าเรารักษาอยู่ มันเจริญขึ้น แต่ถ้าเราไม่รักษามันก็จะเลวร้ายลง เพราะขาดการบำรุงรักษา

ของทุกสิ่งในโลกนี้เพราะขาดการบำรุงรักษา มันมีแต่ความชำรุดทรุดโทรมไปแน่นอน หัวใจของเราถ้าเรายังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เราไม่มีสติปัญญารักษา ถ้าเราไม่มีสติปัญญารักษา เราปล่อยปละละเลย นี่ไง มันก็จะสกปรก ถ้ามันสกปรกแล้ว ไม่มีใครเข้าใกล้

แต่ถ้าเราซักสะอาด เวลาเขาตากฝนกันมา เขาสกปรกมา เขาเจอผ้า เขาวิ่งเข้าไปเช็ดเลย เขายิ่งเช็ดยิ่งสะอาด ยิ่งชอบ เพราะมันอยากจะเช็ดความสกปรกออก เห็นไหม เรารักษา เราได้ซักได้ดูแลของเรา นี่เรารักษาของเรา ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา

แต่ถ้าพูดถึงว่า ความมุ่งหมายในการปฏิบัติธรรมลึกๆ อยากจะเป็นคนดีเลิศ

อยากเป็นคนดีมันดีอยู่แล้ว อยากบรรลุธรรม ถูกต้องแล้ว เพราะหลวงตาท่านสอนว่า ความอยากเป็นคนดี ความอยากประพฤติปฏิบัติเป็นมรรค

เป็นมรรคคือความขยันหมั่นเพียร ดำริชอบ ความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรมคือการขวนขวาย นี่ความเพียรชอบ คนเราต้องมีความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ

แล้วถ้าเราอยากจะเป็นคนดี ดีเลิศ ในการประพฤติปฏิบัติธรรมเราอยากจะเป็นคนดีเลิศ มันจะผิดไปไหน แต่พอมันดีแล้วก็วางไว้

ไม่ใช่ว่าดีเลิศแล้ว ดีเลิศมันคืออะไรล่ะ ดีเลิศมันคือทองแท่ง ก็อยากได้ทองแท่ง ถ้ามันดีเลิศ ดีเลิศ ดีเลิศนิพพาน นิพพานเป็นอย่างไร พอดีเลิศ มันจะเป็นตัณหาซ้อนตัณหาไง เพราะเราอยากแล้วเราไปตั้งเป้าไง

แต่ถ้าอธิษฐานบารมี เราอยากแล้วเรากระทำ เพราะเรายังไม่เคยรู้เคยเห็นไง ทองคำมันเป็นอย่างไร ทองคำถ้าเป็นทองคำแล้วทุกคนจะชื่นชมไปเอง เพราะทองคำใครๆ ก็อยากได้ ใครๆ ก็อยากปรารถนา แล้วถ้ามันเป็นธรรม ถ้านิพพาน นิพพานคือสิ้นกิเลส เรารู้ของเราเป็นปัจจัตตังเลย ไม่มีใครรู้กับเรา

ถ้าเป็นดีเลิศ คำว่า “ในการปฏิบัติธรรม ลึกๆ คืออยากเป็นคนดีเลิศ”

มันผิดตรงไหนล่ะ มันไม่เห็นผิดเลย อยากดี อยากดีเลิศ ดีเลิศก็ดีไง แต่ทำได้หรือเปล่า เราทำไม่ได้มันก็เหลวไหลนี่ไง ถ้ามันเหลวไหลขึ้นไป

เขาบอกว่า “ในการปฏิบัติธรรม ลึกๆ ก็อยากจะเป็นคนดีที่ดีเลิศ อยากจะเป็นที่รักใคร่ อยากให้คนเขายอมรับ แต่ชีวิตจริงหนูเป็นคนขี้แพ้”

เขาว่าอย่างนั้นนะ ถ้าชีวิตจริงเป็นคนขี้แพ้ เราก็รู้อยู่แก่ใจ เป็นคนขี้แพ้เพราะเราทำอะไรแล้วเราไม่ต่อเนื่องไง ถ้าเราต่อเนื่องมันก็ทำของมันได้ มีการต่อเนื่อง มีการรักษา

เพราะเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัตินะ มันมีเจริญแล้วเสื่อม แต่บางคนไม่เคยเจริญ ไม่เคยรู้จักธรรมะเป็นอย่างไรเลย มันไม่มีอะไรจะให้เสื่อม แต่คนเราเจริญแล้วเสื่อมนะ โอ้โฮ! มันทุกข์มันร้อน เพราะเวลาเจริญขึ้นมามันเป็นความมหัศจรรย์ ใจนี้มหัศจรรย์มาก เวลามันเสื่อมไปแล้ว สิ่งที่มีคุณค่า ความมหัศจรรย์มันหายไปหมดเลย แล้วมันเหลืออะไรไว้ล่ะ เหลือไฟ เหลือไฟเพราะอะไร

เพราะของที่มหัศจรรย์ในใจมันเป็นความมหัศจรรย์ต่อความเพียร การประพฤติปฏิบัติมันเป็นขึ้นมาจากข้อเท็จจริง เวลามันเสื่อมไป พอมันเสื่อมไป ทีนี้มันก็เป็นกิเลส กิเลสมันคือเป็นไฟ เป็นความน้อยใจ ความน้อยใจ ความโหยหาอาวรณ์ ความอยากได้ นี่กิเลสทั้งนั้นน่ะ

แล้วเวลามันอยู่กับกิเลส มันไม่รู้ว่ามันอยู่กับกิเลสนะ เพราะมันคิดเรื่องความมหัศจรรย์อันนั้นไง มันคิดถึงเรื่องความมหัศจรรย์ที่เวลามันปฏิบัติได้ นั่นมันคิดว่าอันนั้นเป็นธรรมจริง

แต่เวลามันเสื่อม มันเสียดาย อาลัยอาวรณ์ อันนี้เป็นกิเลส ทั้งๆ ที่ตัวเราเสื่อมแล้วอยู่กับกิเลสมันยังไม่รู้จักเลยนะว่าเราอยู่กับกิเลส มันคิดอย่างนี้แล้วมันจะเป็นมหัศจรรย์อีก...ไม่ใช่

มันต้องวางหมดเลย เพราะมันเสื่อมไปแล้ว มันหมดไปแล้ว มันหมดไปแล้ว หมดไปแล้วมันก็กลับมาเริ่มต้นจากการหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เพราะอะไร เพราะสิ่งที่มหัศจรรย์เกิดขึ้นมาจากความเพียร เพียรในอะไร เพียรในกรรมฐาน ๔๐ ห้อง นี่ถ้ามันกลับมาตรงนี้ไง มันกลับมาที่ความเพียร มันกลับมาที่การกระทำ มันก็จะฟื้นฟูกลับมาไง

แต่ความจริงเวลากิเลสมันปิดบังหัวใจ มันไม่ได้คิดอย่างนี้ไง มันไปคิดถึงเสียดาย ไปคิดแต่ความทุกข์ความยากไง ไปคิดเรื่องไฟไง

ถ้ามีคนมาสะกิดไง เวลาครูบาอาจารย์ที่คำว่า “แก้จิตๆ” เขาแก้กันอย่างนี้ไง เวลาแก้จิตเขาจะบอกเลย “ไอ้สมบัติบ้า ไอ้ที่เอ็งคิดอยู่มันคือบ้า ถ้าเอ็งจะคิดให้ดีก็มาคิดพุทโธนี่ไง”

“อ้าว! พุทโธมันของหยาบๆ ของเริ่มต้น เดี๋ยวนี้ฉันดีแล้ว”

กินข้าวแล้วอย่ากินข้าวอีกนะ ผู้ดีก็กินข้าว ยาจกก็กินข้าว ใครก็ต้องพุทโธทั้งนั้นน่ะ จะยาจกเข็ญใจ ผู้ดี ก็กินข้าวเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน การปฏิบัติก็พุทโธเหมือนกันหมดน่ะ จะสูงส่งแค่ไหนก็พุทโธ พุทโธคือคำบริกรรมไง คือจิตมันมีการบริหาร จิตมีการกระทำ มันก็เป็นดีขึ้นมาได้

แต่ความเศร้าความเสียใจไม่ใช่บริหาร นั่นคือความทุกข์ นี่ไง เวลาอยากให้เป็นคนดีเลิศ มันก็ไม่เห็นผิดนี่

แต่หนูเป็นคนขี้แพ้

เป็นคนขี้แพ้ เพราะเราทำด้วยความมุมานะ จากขี้แพ้ก็ให้มันเข้มแข็งขึ้นมา อย่างผู้ที่สุขภาพกายเขาดี เขาออกกำลังกายของเขา เขาฟื้นฟูร่างกายของเขา เขาสุขภาพเขาดี

เราขี้แพ้เราก็มาฝึกหัดของเราให้สุขภาพจิตมันแข็งแรง ถ้าสุขภาพจิตแข็งแรงมันจะแพ้ใคร ถ้าเราเข้มแข็ง จิตใจเราเข้มแข็ง มันจะไปแพ้ใคร จิตดั่งกับเพชร มันจะไปแพ้ใคร ถ้าทำของมันขึ้นมาได้นะ

นี่พูดถึงว่า ลึกๆ ในการปฏิบัติเขาอยากเป็นคนดีเลิศ แต่หนูเป็นคนขี้แพ้ เวลาทำไปแล้ว จิตของเราคิดไปว่าการปฏิบัติธรรมให้เราดีขึ้นในช่วงแรก แต่จิตของเรามันก็ดีขึ้นเพื่อให้การยอมรับว่าเราดีอยู่

อันนี้ก็ทำของเราไปนะ จบ

จบ เขาบอกว่า “ปล. หนูเพิ่งสำเหนียกว่าหนูอยากจะอยู่เหนือคนอื่น ตอนนี้หนูต้องการสติมากค่ะ และถ้าหากว่าหนูล่วงเกินหลวงพ่อก็ขอขมาด้วย”

ไอ้ล่วงเกิน ล่วงเกินความคิด เราพูดไปแล้ว อาบัติเพราะความคิดไม่มี ลงโทษเพราะความคิดไม่มี แต่มโนกรรมความคิด ความคิดมันคิด คนเราทุกข์เพราะคิด แล้วเราพยายามจะหยุดความคิด ถ้าหยุดได้ อันนั้นคือการบริหารจัดการได้ คือเราสามารถบริกรรมได้ สามารถรักษาจิตได้ มันก็หยุดความคิดได้

แต่ถ้าหยุดความคิดไม่ได้ เห็นไหม ทุกข์เพราะความคิด แล้วถ้ามันคิด คิดสิ่งที่ไม่ดีมันก็แผดเผามาตลอด ถ้าคิดสิ่งที่ดีมันก็ไม่มีกับเรา คิดสิ่งที่ดีมันดีอย่างไร แล้วมันจะเป็นประโยชน์อย่างไร เราก็ต้องกลับมา กลับมาตั้งสติ

เพราะเวลาคนที่ปฏิบัตินะ ถ้ามันมีเวรมีกรรมขึ้นมา เวลามีคนมีบุญกุศล เวลาภาวนาไปจิตมันลง มันจะเห็นเป็นพระทองคำ เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นสิ่งต่างๆ นั้นมันเกิดจากพันธุกรรมของเขาได้สร้างสมที่มาดี

บางคนนะเวลามาปฏิบัติ พอมาใกล้พระมันเกิดความทุกข์เลย มันเกิดการดิ้นรนในใจ เกิดการผลักไส เกิดสิ่งต่างๆ เกิดการผรุสวาทในใจ นั่นเพราะมันเป็นกรรมเก่า แล้วเวลาคนนะ ให้ขอขมาลาโทษ

คนที่เป็นบุญกุศลมันก็เป็นสิ่งที่ดีงาม แต่คนที่เป็นบาปอกุศลเขาสำนึกได้ในปัจจุบันนี้ สำนึกได้ในปัจจุบันนี้เพราะเขาเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุที่มาที่ไป แล้วคนที่เขาระลึกได้ ตั้งสติได้ เขาก็ขอขมาลาโทษกับพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เวลาขอขมารัตนตรัยคือขออภัย คนเราทำผิดแล้วขออภัยเรื่อยๆ การกระทำนั้น จิตใจของเขาเกิดการผรุสวาท เกิดการคับแค้นในใจ เบาบางลง ดีขึ้น เยอะมาก มีคนมาปรึกษาแล้วทำสิ่งนี้ แล้วเขาได้ประโยชน์กับการกระทำอย่างนี้ เขามารายงานผลเยอะ รายงานผลเยอะเพราะอะไร

เยอะเพราะว่า เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร มีเวรมีกรรมต่อกัน ให้อภัยต่อกัน ยกโทษต่อกัน นี่มันถึงเป็นประโยชน์ไง สิ่งที่เป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์อย่างนี้ ถ้าประโยชน์อย่างนี้ ประโยชน์อย่างนี้เพราะการกระทำ

การกระทำ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเกิดจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บรรลุธรรมกระจ่างแจ้งในสามแดนโลกธาตุ บุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตดวงนี้เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสร้างเวรสร้างกรรมผูกพันกันมามหาศาล นั่นคือกรรมเก่า

ในกรรมปัจจุบันนี้ ในกรรมปัจจุบันนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงการให้อภัยต่อกัน ให้ยกเลิกต่อกัน ให้มีการแผ่เมตตาต่อกัน ให้เป็นบุญเป็นกุศลไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม กราบธรรมอย่างนี้ไง

ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเราเข้าใจตามนี้ เราประพฤติปฏิบัติตามนี้ แล้วปฏิบัติตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะนั้นคุ้มครองใจดวงนั้นน่ะ

แต่ในทางโลกมันเป็นการคาดการเดา การคาดการหมาย คืออยากได้อยากดีไปหมดเลย แต่ไม่ได้ทำ ทำไม่ถูก ทำไม่ได้ มันก็เลยไม่เห็นผลไง

แต่ถ้าเราทำความจริงของเรา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เกิดความชุ่มชื่น เกิดความเป็นจริงในหัวใจของเรา แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมแบบนี้ สัจธรรม หัวใจที่มันทุกข์มันยากอย่างนี้มันเป็นไปได้นะ

ฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ จากที่ไม่เป็นสิ่งใดเลยมันก็หมักหมมไว้ในหัวใจ มันก็ไม่มีใครมาดูแลมัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันเป็นสิ่งที่ดีขึ้นก็บอกว่า เราหงุดหงิด มันเป็นคนขี้โกรธต่างๆ

มันเหมือนกับว่า ผ้าขาวกับผ้าขี้ริ้ว ผ้าเช็ดเท้า ผ้าเช็ดเท้ามันไม่เคยสะอาดสักที แต่ถ้าไปซักแล้วเป็นผ้าขาว แล้วทีนี้หวงนะ อย่ามาแตะเชียวนะ เดี๋ยวมันสกปรก หงุดหงิดๆ

นี่อยู่ที่การรักษา เราจะบอกว่า จะดีหรือจะเลวอยู่ที่สติ อยู่ที่ปัญญาของเรารักษาหัวใจของเรา ดูแลรักษาไว้ให้มันเป็นผ้าขาว อย่าให้เป็นผ้าเช็ดเท้า เอวัง