ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เห็นผี

๑๖ ธ.ค. ๒๕๖o

เห็นผี

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เมื่อนั่งสมาธิจิตนิ่งแล้วเห็นความสว่างวูบเดียว แล้วทำให้จิตกลับมาอยู่ที่ตัว ทำให้เกิดความกลัว แล้วจะปฏิบัติอย่างไรต่อไปเจ้าคะ

ตอบ : เวลาเรานั่งสมาธิกัน เวลาเรานั่งสมาธินะ โดยธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการให้เราทำความสงบของใจก่อน

เวลานั่งสมาธิๆ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจสงบแล้วมันก็เหมือนกับคน เห็นไหม มันมีคนพูดมาก เวลาอ่านพระไตรปิฎกมา บอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกต้องให้ร่ำรวยก่อน ต้องมีความสุขก่อนแล้วค่อยมาปฏิบัติ

แล้วก็อ้าง อ้างว่ามันมีในพระไตรปิฎก มีอยู่กัณฑ์หนึ่ง เวลาคนที่เขาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทานอาหารก่อน เลี้ยงเขาจนอิ่มหนำสำราญแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงจะเทศนาว่าการ เขาก็เอาตรงนั้นน่ะมาอ้าง

แต่เวลาคนเรานะ บางทีมันตกทุกข์ได้ยาก คนเรานี่นะ ถึงเราจะมีเงินเต็มกระเป๋าเลย แต่เราไปผิดเวลา เราไม่มีอาหารกินหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ไอ้ความขาดตกบกพร่องมันมีได้หลายๆ ทาง ไม่ใช่ว่าเรามั่งมีศรีสุขแล้วเราจะอุดมสมบูรณ์ตลอดไป มันจะมีโอกาสนะที่เราตกทุกข์ได้ยาก มันมีโอกาสที่เราจะสมบูรณ์

นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนที่มีเวรมีกรรมจะมาฟังเทศน์ บางคนมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำอย่างนั้นจริงๆ แต่มันไม่ใช่ว่าต้องเอากรณีอย่างนั้นมาเป็นหลักไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำสมาธิๆ ความจริงแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจมันสงบแล้ว คนเราเวลามันทุกข์มันยากทำสิ่งใดก็ไม่ถนัดหรอก แต่คนเราได้ผ่อนคลายแล้ว ได้มีความสุขแล้ว จะทำสิ่งใดสิ่งนั้นมันจะเป็นประโยชน์ไง

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงให้ทำความสงบของใจก่อน ทำความสงบของใจก่อน

ถ้าใจไม่สงบ เราเครียด เรามีความตึงเครียด เรามีความวิตกกังวล ทำอะไรมันก็ขาดตกบกพร่องทั้งนั้นน่ะ ฉะนั้น เราต้องมาทำให้เรามีความสมบูรณ์ในใจของเราก่อน คือทำความสงบๆ

ฉะนั้น เวลาทำความสงบแล้ว อย่างที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาสอน สอนเรื่องอริยสัจ สอนเรื่องอริยสัจ สอนเรื่องสัจจะความจริง สอนเรื่องของเราแล้วแต่บุคคลนะ บุคคลที่ตกทุกข์ได้ยากก็ขอให้มีความสุขพอสมควร คนที่มีความสุขแล้วก็ให้มีความสุขมากขึ้น ไอ้คนที่มีความสุขหรืออยากจะพ้นจากทุกข์ไป มันเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปนะ มันไม่ใช่ว่ามีอย่างเดียวแล้วจะสอนพวกเราหมดหรอก ไม่ใช่

ฉะนั้น จะย้อนกลับมาที่ว่า “เมื่อนั่งสมาธิแล้วจิตนิ่ง แล้วเห็นแสงสว่างวูบเดียว แล้วทำให้จิตกลับมาอยู่กับตัว แล้วทำให้เกิดความกลัว ทำอย่างไรต่อไปเจ้าคะ”

เวลาทำให้เกิดความกลัวๆ ความกลัวมันไปเห็นสิ่งใดแล้วมันก็ฝังใจ ถ้าความกลัว เวลาพูดน่ะง่ายๆ ให้วางซะ ให้วางความกลัวนั้น แต่วางไม่ได้

วางไม่ได้มันก็อยู่ที่คนไง อยู่ที่คน คนมันฝังใจมากน้อยแค่ไหน คนเรามีจริตนิสัยกลัวเรื่องอะไร อย่างเรากลัวเรื่องไม่มีข้าวจะกิน เช้าขึ้นมากลัวบิณฑบาตไม่ได้ เราก็วิตกกังวลอยู่ตรงนั้นแหละ คนมันกลัวเรื่องอะไรล่ะ มันกลัวแล้วมันก็จะฝังใจเรื่องอย่างนั้นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบเห็นแสงแว็บนั้น

แสงนั้นเพราะเราไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วนะ จบ จบเลยนะ แสงนั้นมันก็เกิดจากจิตเราสงบใช่ไหม จิตเรามันมีการเปลี่ยนแปลง

โดยธรรมชาติ โดยสายตาปกติเราก็เห็นโดยปกติไม่มีสิ่งใด แต่คนสายตาพร่ามัวก็ไม่เห็นอะไร แต่คนสายตาที่ชัดเจนก็จะเห็น เห็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น กล้องจุลทรรศน์เขาสังเกตได้ เขาขยายได้หมด

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันมีการเปลี่ยนแปลง มันถึงเห็นสิ่งที่แว็บๆๆ นั้นน่ะได้ แต่ก็ชั่วคราว แว็บเดียว แว็บเดียวมันก็ผ่านไป แต่ผ่านไปแล้วเราไปฝังใจต่างหาก เราฝังใจว่า พอปฏิบัติแล้วนะ มันจะบ้า ปฏิบัติแล้วมันจะผิดพลาด

มันจะบ้า มันจะผิดพลาดอะไรไปถ้ามีสติ มันจะบ้า มันจะมีความผิดพลาด เพราะขาดสติแล้วตกใจ พอตกใจแล้วก็ไปฝังใจ พอฝังใจแล้วก็ย้ำคิดย้ำทำ

สิ่งที่มันผ่านมาบางอย่างมันเป็นของดีทั้งนั้นน่ะ แต่เราไปวิตกกังวลว่ามันเป็นของไม่ดี เป็นของที่มันจะมีเภทภัยมากับเรา

มันจะมีอะไร มันมีอยู่ในโลกนี้ ๒๔ ชั่วโมงของเรา ในโลกนี้มันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายมหาศาลในโลกนี้ต่อวัน แต่มีเรื่องอะไรของเราล่ะ มันเรื่องของเขา เราก็อยู่ของเรา ไปวิตกกังวลเรื่องอะไร เว้นไว้แต่ผู้ที่บริหารใช่ไหม

นี่พูดถึงว่า เราบอกว่าทำไมมันถึงกลัวก่อนไง แล้วบอกว่าให้วาง วางอย่างไรล่ะ ทำไมถึงวางล่ะ

อ้าว! เวลาให้วาง วางก็วางด้วยสติปัญญาของเราไง ไอ้ที่รู้ที่เห็นนั่นเพราะอะไร เพราะความดีของเรา เพราะเราพยายามนั่งสมาธิ เราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันเริ่มสงบแล้วมันก็มีอาการของมัน

อย่างเช่นเราเปรียบประจำนะ รถถ้ามันจอดอยู่เฉยๆ เข็มไมล์มันกระดิกไม่ได้หรอก แต่ถ้าล้อมันหมุนไปแล้ว เข็มไมล์มันก็จะกระดิกตาม ตามความเร็วของล้อนั้นไป

จิต จิตถ้าปกติมันก็เหมือนรถจอดอยู่ แต่ถ้าเราทำความสงบของใจมันก็เหมือนพอมันเปลี่ยนแปลงไปคือล้อมันเคลื่อนไป จิตมันมีอาการเคลื่อนไป มันก็จะมีอาการของมันแตกต่างกันไป ถ้ามันแตกต่างกันไป

ไอ้กรณีนี้มันก็อยู่ที่เวรกรรมของสัตว์ อยู่ที่ใครทำสิ่งใดมาก็จะเห็นสิ่งนั้น แล้วถ้าคำว่า “กรรม” กรรมคืออะไร กรรมคืออดีตนะ กรรมคือสิ่งที่เราทำมาแล้ว

บางคนนั่งภาวนา ส่วนใหญ่นั่งภาวนาไปแล้วไม่เคยเห็นอะไรเลย แล้วก็วิตกวิจารณ์ว่าตัวเองภาวนาไม่ได้ ภาวนาแล้วไม่เห็นอะไร

ถ้าเขาภาวนาพอจิตสงบแล้วมันจะเห็นแสงสว่าง เห็นความเวิ้งว้าง นั้นก็เป็นประเภทหนึ่ง ไอ้ที่เห็นแสงสว่าง จิตสงบแล้ว

เพราะว่าแสงสว่างไม่ใช่สมาธินะ แสงสว่างไม่ใช่จิตนะ ถ้าแสงสว่างเป็นจิต เราเปิดไฟทิ้งไว้ในบ้านสว่างทั้งวันเลย แต่เราไม่ได้อะไร

เพราะจิตมันสงบแล้วจิตมันไปเห็นเข้า เห็นความสว่างนั้น แต่มันก็มีคนเปิดไฟทิ้งไว้ที่บ้านมันก็สว่าง คนที่ไม่ได้เปิดไฟทิ้งไว้ที่บ้าน กลับบ้าน บ้านเราก็ไม่สว่าง แต่เราก็ได้กลับบ้านเราเหมือนกัน

คือเวลามันสงบแล้วก็คือความสงบไง ไม่ใช่แสงสว่างนั้นเป็นเครื่องหมายบอกถึงความสงบนะ แต่แสงสว่างนั้นเป็นผลพลอยได้จากความสงบนั้นต่างหาก ความสงบก็เป็นความสงบ แล้ว ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของคนสงบเฉยๆ ไม่เห็นแสงสว่าง คนที่เห็นแสงสว่างเป็นประเภทหนึ่ง

แล้วอีกประเภทหนึ่ง หลวงตาพูดว่า มีอยู่ประเภทหนึ่งประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ที่จิตคึกจิตคะนอง จิตคึกจิตคะนองพอสงบแล้ว โอ้โฮ! จะไปรู้ไปเห็นอะไรแปลกประหลาดเลย พวกนี้ก็ต้องแก้

เวลาแก้ขึ้นมาแก้ง่ายๆ แก้ขึ้นมานะ เรากลับมาที่พุทโธ กลับมาที่ลมหายใจนั้น ถ้าเรากลับมาที่ลมหายใจนั้น เราอยู่กับลมหายใจนั้น เราจะไม่รู้สิ่งใดนอกเหนือไปจากลมหายใจ เราอยู่กับพุทโธ เราก็จะรู้พุทโธชัดๆ ไม่รู้อย่างอื่นนอกจากพุทโธไป

แต่ถ้าจิตมันสงบแล้วเราไปเห็นนั้นแสดงว่าเราทิ้งจากลมหรือทิ้งจากพุทโธไปรู้สิ่งนั้น แล้วก็ไปตกใจกับสิ่งนั้น ถ้ามันจะแก้ก็กลับมาที่พุทโธนั้น กลับมาที่พุทโธ

หลวงปู่มั่นสั่งหลวงตาไว้ “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ แล้วไม่เสียหาย”

คนที่ทิ้งผู้รู้ ทิ้งพุทโธแล้วจะเสียหาย เสียหายเพราะไปรู้สิ่งใดแล้วก็จะตกใจไปตามสิ่งนั้น วิธีแก้ง่ายๆ แต่เราแก้ไม่ได้ แก้ไม่เป็น เพราะวิตกกังวลเยอะมากเกินไป ถ้าเยอะมากเกินไป เราก็กลับมาที่ผู้รู้ ที่พุทโธ

ฉะนั้น สิ่งที่เห็นนะ เห็นแสงสว่าง เห็นแสงสว่างบอกว่า ถ้าอย่างนั้นบอก คนที่เห็นแสงสว่างก็ผิด

ก็ไม่ใช่ คนที่จะเห็นแสงสว่างเขาก็เห็นของเขา คนที่ไม่เห็นเขาก็ไม่เห็นของเขา ไม่สามารถมาเปรียบเทียบกันได้ แต่คนที่เห็นแสงสว่างก็คือเห็นแสงสว่างไป เห็นแสงสว่างมันก็เป็นเรื่องจริตของเรา แต่จริงๆ แล้วเราก็ต้องการความสงบเหมือนกัน

ถ้าเรากลับมาที่ความสงบ เพราะอะไร เพราะทำความสงบบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าจนจิตตั้งมั่นๆ จิตตั้งมั่นคือว่ามันทำให้สงบได้ง่าย มันมีจุดยืนน่ะ คนที่จิตตั้งมั่นมีจุดยืนแล้วเขาพยายามจะฝึกหัดใช้ปัญญา คือยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้ายกขึ้นสู่วิปัสสนา วิปัสสนาในอะไร ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แล้วจะเห็นได้อย่างไร

เวลามันจะเห็นนะ ถ้าคนสงบแล้ว สงบบ่อยๆ จนตั้งมั่นแล้ว แต่ไม่เห็นกาย เขาให้รำพึง รำพึงคือนึกในสมาธิ

เวลาเราทำสมาธิ เราทำความสงบ เราก็พยายามจะสงบ คือพยายามจะหยุดคิด พอหยุดคิดแล้ว ในสมาธิ เราก็จะมาคิด แต่ถ้ามันคิดในสมาธิ คนมันมีจุดยืน คนที่มีความสงบมันสมบูรณ์แล้ว พอจิตมันสมบูรณ์แล้วจะทำงาน

เวลาจิตเราบกพร่อง เราจะทำให้จิตเราสมบูรณ์ พอสมบูรณ์แล้วนอนหลับอยู่นั่น ไม่ยอมทำอะไร แล้วพอจะยกขึ้นสู่ให้ทำงานอีกชั้นหนึ่ง

นี่ปัญญาในพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้ คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด หยุดคิดแล้วพอจิตเห็นอาการของจิตก็ต้องใช้ความคิด แต่ความคิดนี้เป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จิตสงบแล้ว จิตสงบแล้วคือมันไม่ให้ค่าไง

อย่างเช่นเราปกติ โอ้โฮ! เราเห็นกายจะเป็นอย่างนั้นนะ เราฟังครูบาอาจารย์มาหมดเลย เห็นกายแต่ละประเภทก็จะมีความรู้ความเห็นแตกต่างกันนะ พอเราเห็นปั๊บ มันเกิดความรู้ตรงจุดไหนปั๊บ ก็จะเห็นภาพนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะเราคิดโดยสามัญสำนึก

แต่ถ้าเราพยายามทำความสงบของใจ จิตมันสมบูรณ์ของมันโดยสัจจะของมัน เวลามันเห็นของมันนะ แล้วเราฝึกหัดของเรา นี่จะเป็นปัญญาของเรา นี่ว่าเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมเป็นปัญญาของเรา ถ้าเรารู้เห็นอย่างไร นั่นน่ะปัญญามันจะเกิดขึ้น

แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมันจะเห็นเลยนะ เพราะคนภาวนามาถึงตรงนี้ปั๊บจะรู้เลยว่าภาวนามยปัญญา กับสุตมยปัญญา ปัญญาของพวกเราเขาเรียกว่าสุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการศึกษา ปัญญาเกิดจากการใคร่ครวญ กับปัญญาที่เกิดจากการภาวนา คนที่ภาวนามาถึงสองทางจะเห็นเลยว่ามันแตกต่างกันอย่างไร แล้วจะเข้าใจคำสอนพระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้าสอนเพื่ออะไร แล้วสอนเน้นย้ำตรงนี้

แต่ถ้าคนไม่เคยมาเห็นภาวนามยปัญญา มันก็จะไปจินตนาการเอาตรงนั้นน่ะ เอาตรงที่ความคิดเรา “นี่คือปัญญาๆ” แต่คนภาวนาเป็นเขาเรียกว่าสัญญา สัญญาคือข้อมูลเดิม คือความจำเดิม มันเกิดจากตรงนั้น แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญามันเกิดจากปัจจุบัน เกิดจากกิเลสของตน นี่พูดถึงว่าถ้าจิตมันมั่นคงแล้วมันถึงยกขึ้นสู่วิปัสสนา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “นั่งสมาธิไปจนจิตนิ่ง แล้วเห็นความสว่างวูบเดียว แล้วทำจิตกลับมาอยู่ที่ตัว”

ทำจิตกลับมาที่ตัว เราก็ไปทำงานอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราภาวนาโดยอานาปานสติ ภาวนาโดยคำบริกรรม กลับมาตรงนี้ กลับมาตรงคำบริกรรมนี่จบ เพราะว่าจิตมันสมบูรณ์ในตัวมันเอง จิตของคนนี่นะมันสมบูรณ์ในตัวมันเอง แล้วสมบูรณ์ในตัวเองอยู่ที่ขั้นไหน

คนที่อยู่ที่ขั้นปกติของมัน มันก็ปกติของมัน ถ้ามันสูงขึ้นมานะ มันละเอียดขึ้นไป มันก็ละเอียดโดยสมบูรณ์ของมัน แล้วพยายามทำต่อเนื่องๆ ทำจนมันมั่นคง เขาเรียกชำนาญในวสี มันจะชำนาญแล้วเข้าใจมัน

พอเข้าใจ เหมือนเรา เรามีทุนอยู่พร้อม เราจะทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราไม่มีทุน เราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเรากลับมาจนสมบูรณ์ จนมันมั่นคง เราจะทำอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนทำไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะมันเป็นนามธรรม

พอเป็นนามธรรม พอเราคิดเรานึกปั๊บ เป็นโลกหมดแล้ว เราจะคิดจะนึกอย่างนี้ไม่ได้เลย ต้องทิ้งให้หมดเลย แล้วเราใช้คำบริกรรม ใช้อานาปานสติ ให้มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง

ทีนี้พอจะเกิดขึ้นตามความเป็นจริง มันก็ย้อนกลับมาที่วาสนาแล้ว ทีนี้คนจะมาเสียดายเรื่องบุญแล้ว “โอ้โฮ! ถ้าเราทำบุญมาเยอะๆ ก็ดีน่ะสิ” มันจะมาหนุนเราตอนนั้นน่ะ ถ้าเป็นจริงนะ

ถ้ามันไม่เป็นจริง ภาษาเรานะ โทษนะ ถ้ามันไม่เป็นจริงมันก็เหลวไหลไง คือใจเราอ่อนแอเกินไป วูบวาบเหลวไหลแล้วทรงตัวไม่ได้ ทุกคนอยากได้ แต่ไม่ได้เพราะไม่มีพื้นฐานรองรับ ไม่มีความเป็นจริงรองรับ

ความเป็นจริงรองรับ พระพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย โดยพื้นฐานของพระพุทธเจ้า โดยพื้นฐานของพระอรหันต์หนึ่งแสนกัป ต้องมีพื้นฐานของมัน ถ้ามีพื้นฐานของมัน

บ้าน ตึกสูง ไม่มีเสาเข็ม ไม่มีอะไร ล้มทั้งนั้นน่ะ ขึ้นไปไม่ได้หรอก แล้วมันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ นี่พูดถึงข้อเท็จจริงนะ

ฉะนั้น พอข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น แล้วถ้าเราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อรัตนตรัย เชื่อสัจธรรมอย่างนั้น เราก็ย้อนกลับมาที่ตัวเรา เราก็พยายามทำของเรา เช่น ปัจจุบันนี้เราก็พยายามทำของเรา ทุกคนก็พยายามขวนขวายของตน ใครๆ ก็พยายามขวนขวายของตน แล้วเกิดจากความสำคัญตรงนี้

ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง ทำสมาธิได้ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดปัญญาหนหนึ่ง แล้วเรานั่งสมาธิภาวนานี่มันสุดยอด ทำตรงนี้ พยายามทำ ทำแล้วได้อะไร

ทำแล้วมันก็ได้ปัญญาไง ได้ความมั่นคงของใจไง ได้สิ่งที่เป็นอัตตสมบัติของใจไปไง สิ่งที่เป็นความมั่นคงในใจ ใครทำคนนั้นได้ นั่นเป็นสมบัติของคนนั้น

นี่พูดถึงว่า “แล้วจะปฏิบัติอย่างไรต่อไปเจ้าคะ”

ปฏิบัติต่อไปก็ย้อนกลับมานี่แหละ ย้อนกลับมาคำบริกรรม ย้อนกลับมาที่กำหนด กำหนดที่นี่ แล้วให้กลับมาสงบอย่างนี้ พอสงบครั้งต่อไปมันจะเห็นแสงก็เห็น ถ้ามันไม่เห็นก็ไม่เป็นไร แล้วทำความสงบมากขึ้นๆ นี้คือการภาวนา

การภาวนา มรรคผลนิพพานของครูบาอาจารย์ของใคร สาธุ ก็เป็นของท่าน เราฟังไว้เป็นคติธรรมเป็นแบบอย่าง แต่ถ้าเป็นจริงๆ ต้องเป็นที่หัวใจเรา ต้องเป็นที่นี่ ถ้าเป็นที่นี่ มันจะได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่การกระทำของเรา นี้คือสมบัติของเราแท้ เอาตรงนี้ ต่อไป

ถาม : ถ้าเคยเห็นผี เห็นผีเปรต นางไม้ ได้กลิ่นเวลาเดินทาง แสดงว่าเราสามารถสัมผัสได้ หรือมีอะไรให้เราต้องทำต่อหรือไม่คะ

ตอบ : ถ้าเคยเห็นผีนางไม้หรือเวลาเดินทางได้กลิ่น ถ้าเราเคยเห็น เราเคยเห็นนะ ถ้าเราเคยเห็น เราก็พยายามอุทิศส่วนกุศลให้เขา

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านพูด เรามีครอบครัวไหม มี แล้วเวลาเราเกิดแต่ละภพแต่ละชาติ เรามีครอบครัวไหม มี ถ้าเรามีขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เวลาพลัดพรากจากกันไป ถ้ามันสัมพันธ์กันมันจะรู้มันจะเห็นได้ ถ้ามันจะรู้มันจะเห็นได้ เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาที่หลวงตาท่านพูดไง เวลาที่ท่านไปเห็นในสังคมที่สำรับอาหารที่เขากำลังกินข้าวกันอยู่ เวลาบางคนเห็นอย่างนี้เข้า ไอ้คนที่ไม่เห็นมันก็บอกว่าคนนี้วิตกวิจารณ์เกินไป ไอ้คนที่ไม่เห็นก็ไปติคนที่เห็น ไอ้คนที่เห็นจะพูด เราก็ไม่กล้าพูดว่าเราเห็น เพราะกลัวคนข้างเคียงจะบอกว่าเราเป็นคนไม่ปกติ

ทีนี้บอกว่า ไอ้คนที่ไม่เห็น ความสัมพันธ์นะ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เรามานั่งกันอยู่นี่ เราไม่เคยเป็นญาติเป็นพี่เป็นน้องกันมาตั้งแต่ภพใดชาติใดชาติหนึ่งมาเลยไม่มี

จิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ วิชชา ๓ ของพระพุทธเจ้า บุพเพนิวาสานุสติญาณ เวลาย้อนอดีตชาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป เฉพาะจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์เดียวไม่มีต้นไม่มีปลาย ท่านเกิดมาขนาดนั้น

ทีนี้การเกิด เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันมีการเกิด การเวียนตายเวียนเกิดกันมา มันเคยมีเวรมีกรรมต่อกันมา แล้วถ้ามันมีเวรมีกรรมต่อกันที่ชัดเจนขึ้น มันก็จะมาอย่างที่นี่นี่ไง

ถ้าเคยเห็นผีเปรต นางไม้

ถ้าเราเคยเห็นน่ะ ถ้าเราเคยเห็น แสดงว่าเขามาขอส่วนบุญ เขามาบอกสิ่งใด

เรา วิธีทำของเรา เวลาทำบุญ ถ้าไม่มีทำบุญ เราทำคุณงามความดีอยู่ เราอุทิศให้เลย อุทิศ อุทิศ หมายความว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ เป็นความสุขของเรา ขอให้เขาได้มีความสุข ได้มีความพอใจเช่นนี้เถิด

เราอุทิศส่วนกุศลให้ไป อุทิศส่วนกุศลให้ไป อุทิศส่วนกุศลเพื่อเพราะเวลามันเจอมันเห็นกันมันเป็นแบบนี้ แล้วถ้าคนไม่เห็น คนไม่เห็นก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่เห็นก็คือไม่เห็น

ฉะนั้น ถ้าเห็น สิ่งที่ว่าพอเห็นแล้วเราก็บอกว่า แสดงว่าเราสามารถสัมผัสเขาได้ ถ้าอย่างนี้แล้วเราก็ตั้งศาลเลย เพราะเราสัมผัสนางไม้ได้ เราสัมผัสผีได้ เราจะเป็นคนช่วยเหลือสังคมแล้ว จะตั้งศาลเลยหรือ

จะบอกว่า ถ้าเราสัมผัสได้ เรามีความสามารถสัมผัสได้

เราจะบอกว่า เรามีเวรมีกรรมต่อกัน ผู้ที่มีเวรมีกรรมต่อกัน เรามีความสัมผัสกัน เราก็พยายามเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ศาสนาพุทธนะ สอนถึงการให้อภัย สอนถึงการแสดงความเมตตาธรรมต่อกัน ไม่มีการอาฆาตมาดร้าย

แต่นี้มันต้องมีความผิดปกติ ถ้าไม่มีความผิดปกติ เขาจะไม่แสดงตนให้เราเห็นโดยชัดเจน มันต้องมีสิ่งใดเป็นการผิดปกติ เช่น เขาขาดแคลน เขามีความทุกข์ เขามีความกังวลสิ่งใด แล้วถ้าเรามีสิ่งใด เราก็อุทิศให้เขาไป

เวลาญาติพี่น้องเราตายไป เวลาคนบอก โอ๋ย! ญาติพี่น้องตายไปแล้วคนมาเข้าฝันๆ อู้ฮู! ดี๊ดี อีกคนบอกไม่เห็นมาเข้าฝันฉันเลย ไม่เห็นเข้าฝันฉันเลย

ไม่เข้าฝันน่ะสิดี เขาได้เสวยภพเสวยชาติ เขาไปตามสถานะของเขา ไอ้ที่มาเข้าฝันๆ นะ เพราะเข้าฝัน ถ้าเป็นเข้าฝันของเราเพื่อประโยชน์กับเรานี่เรื่องหนึ่งนะ

แต่ถ้าเป็นปัญหาสังคม อย่าฟังนะ อย่าเชื่อ เอาสิ่งนี้ อย่างเช่นเรา ถ้าพ่อแม่เราตาย มีคนมาบอกแล้ว โอ้โฮ! เมื่อคืนฝันเห็นพ่อแม่เอ็งนะ พ่อแม่เอ็งทุกข์ยากมาก อยากได้ไอ้นั่น อยากได้ไอ้นี่ โอ้โฮ! ถ้าทำอย่างนั้นต้องทำบุญอย่างนั้น...มันจะมาล้วงกระเป๋าไง

อย่าเชื่อ อย่าเชื่อ พระพุทธเจ้าไม่ให้เชื่อ

แต่ถ้าเป็นของเรา เราทำของเราโดยข้อเท็จจริง ไอ้ฝันบ้าง มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องเวรเรื่องกรรมมันมีทุกคนนะ กรรมคือการกระทำ จะบอกว่า เราเคยดื้อกับพ่อกับแม่มา เดี๋ยวไปมีลูก เดี๋ยวลูกมันก็ทำอย่างนั้นน่ะ เดี๋ยวจะโดนลูกมันทวงหนี้ มันมีเวรมีกรรมทั้งนั้นน่ะ

กรรมคือการกระทำ เราก็ทำคุณงามความดีของเรา ทำคุณงามความดีที่สุดความสามารถของเรา แล้วถ้ามันถึงที่สุด ทำความดีถึงที่สุดแล้วมันเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นมันก็เป็นกรรมของสัตว์ มันสุดวิสัยไง เวลาสุดวิสัยแล้วเราก็ต้องทนสภาวะแบบนั้น แล้วสร้างคุณงามความดีเพื่อให้มันเบาบางกันไป

นี่ก็เหมือนกัน จะบอกว่า สิ่งที่เห็นผี เห็นเปรต เห็นได้ไหม

ได้ แล้วถ้าทางการแพทย์นะ เขาต้องตรวจเช็กเลย แสดงว่าเลือดลมไม่ปกติ มันวูบ ถ้ามันวูบแล้ว มันวูบมันเลยเห็นภาพ จะมุมมองทางไหนล่ะ

มุมมองทางแพทย์ก็ได้ มุมมองทางศาสนาก็ได้ โดยอุปาทานก็ได้ ถ้าคำว่า “ก็ได้ๆ” นี่ศาสนาพุทธเรามีความมหัศจรรย์มากนะ แต่เราจะทำศาสนาพุทธแบบว่าให้เขาดูถูกเหยียดหยาม จะทำอย่างนั้นหรือ

ผีเปรต นางไม้มีไหม มี มีแล้วเป็นอย่างไรล่ะ แล้วถ้ามีแล้วต้องยอมจำนนกับมันใช่ไหม ไม่ใช่ ทั้งผีทั้งเปรตอะไรเขาก็มาขอส่วนบุญเหมือนกัน

ในธรรมะของพระพุทธเจ้า พุทธมามกะให้เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น พระธรรมคือสัจธรรม คือข้อเท็จจริง ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น

แต่นี่เวลามันเห็นแล้ว นี่มันแบบว่าภาษาเรานะ เล็กน้อยมาก เป็นเรื่องเหมือนลมพัดใบไม้ไหว เรื่องเล็กน้อยมาก แต่เล็กน้อยมากนี่นะ คนเอามาเป็นสินค้า เอามาเป็นเรื่องเป็นธุรกิจได้เลย แล้วเราเป็นชาวพุทธแท้ๆ ทำไมไปให้คนมาทำนาบนหลังพวกเรา

แต่ถ้ามันเป็นจริงอย่างนั้น มันเป็นกรรมของสัตว์ มันก็เป็นเฉพาะตรงนี้ เฉพาะวันที่เห็น แล้วพอมันพลาดอย่างนี้ไปมันก็แปรสภาพเป็นอย่างอื่นไปแล้ว สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง มันจะเปลี่ยนแปลงของมันไปตลอดเวลา

ไม่ใช่ว่าผีเปรต นางไม้ มันจะมาเป็นเจ้ากรรมนายเวรเราตลอดไป ไม่ใช่ แต่ถ้ามันมีเวรมีกรรมต่อกัน เราก็ใช้เวรใช้กรรมต่อกันไป จบสิ้นแล้วก็จบ ไม่ใช่ว่าจะต้อง โอ้โฮ! ชาตินี้ทั้งชาติจะต้องทำเงินส่งตลอดชีวิต ไม่ใช่ มันแปรสภาพของมันไปตลอดไง มันเปลี่ยนแปลง

เราเองเรายังต้องชราภาพ เราเองเรายังต้องตายไปเลย ตายไปแล้วยังสั่งลูกให้ไปส่งเสียนางไม้อีกหรือ ไม่ใช่ นี่ศาสนาพุทธนะ แต่เห็นได้จริงไหม ได้ แต่จำเป็นต้องเห็นหรือไม่ เห็นแล้วมันได้อะไร แล้วชีวิตเราล่ะ ในปัจจุบันนี้สติปัญญาของเราล่ะ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ถ้าสอนอย่างนี้แล้ว

ฉะนั้นบอกว่า ถ้ามันเป็นอย่างนั้นของมันไปแล้ว ถ้าสัมผัสได้ หรือมีอะไรให้ต้องทำอีก

หรือมีอะไร เราก็กลับมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ของเรา เราเป็นชาวพุทธ อย่างไรเราก็เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาคนถ้าเขามีปัญหานะ เราจะบอกเลยนะว่า ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วสัญญากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ อยู่ในพระไตรปิฎก ท้าวโลกบาลทั้ง ๔ บอกพระพุทธเจ้าว่า ถ้าผู้ใดระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะไม่มีใครสามารถไปรังแกได้เลย

เพราะท้าวโลกบาลเขาควบคุมเรื่องผีสางทั้งหมด ถ้าเราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรามีคนคุ้มครองเราหลายชั้นเลย

แต่ทีนี้มันก็มีเรื่องเวรเรื่องกรรมนี่แหละ เรื่องเวรเรื่องกรรมของคนมันเป็นเรื่อง ภาษาเรานะ มันเรื่องแบบสุดวิสัยเลยนะ อย่างเช่น เราพูดบ่อย บอกว่าอุบัติเหตุ เขาบอกอุบัติเหตุนี้เป็นกรรมหรือ มันเป็นอุบัติเหตุ เขาว่านะ

เราบอก อุบัติเหตุคือกรรม ทำไมมันเกิดกับมึงล่ะ ทำไมมันต้องข้ามเลนนู้นนะ ข้ามมาสองเลนเลยนะ มาชนมึงน่ะ แล้วทำไมต้องเป็นอย่างนั้นน่ะ ทำไมมันสุดวิสัยขนาดนั้นน่ะ บางทีไปดูอุบัติเหตุบางเรื่องมันไม่น่าจะเกิด มันไม่น่าเกิดได้ ทำไมมันเกิด แต่ถ้าทางวิทยาศาสตร์ ใช่ อุบัติเหตุ แต่มันก็มีกรรม

ทีนี้เพียงแต่ว่าคนรุ่นใหม่ไง ถ้าบอกว่านับถือศาสนาเขาจะบอกคนครึคนล้าสมัย ต้องบอกอุบัติเหตุ

ใช่ อุบัติเหตุ แต่ทำไม เรานะ เรานี่ควบคุมตัวเราตลอด เราขับรถโดยสติสมบูรณ์ตลอด ไม่รู้ใครมันมาชน กูก็ดูแลตัวเองดีขนาดนี้แล้วนะ ทำไมมันวิ่งมาชนกูอีกวะ

กรรมของสัตว์นะ หนีไม่พ้นหรอก เวลากรรมมันให้ผลนะ เราจะปกครองดูแล สุปปพุทธะใช่ไหม ที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่าจะธรณีสูบ เขาเองเขาก็ศึกษาเรื่องนี้ เขาบอกว่าจะสูบได้อย่างไร กูไปอยู่บนปราสาทชั้น ๗ คือไม่แตะแผ่นดินเลย

พอถึงเวลา ถึงเวลาท่านเลี้ยงม้าไว้ แล้วรักมาก เวลาถึงเวลาแล้วม้ามันดีดม้ามันดิ้น แล้วม้าตัวนี้ใครไปปลอบไม่ได้ ต้องเขาคนเดียว ถึงเวลาม้ามันดิ้นเลย แค่เปิดหน้าต่างมองเท่านั้นแหละ วืบ ไปเลยนะ สุปปพุทธะ นั่นพูดถึงเวลากรรมมันให้ผลน่ะ มันป้องกันขนาดไหนมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ นี่ขนาดป้องกันแล้วนะ

ไอ้เราขับรถ อู้ฮู! สติพร้อม สมบูรณ์พร้อม มันมาจากไหนไม่รู้ ตูม! อืม!

ไอ้อย่างนี้เราจะบอกว่า เรื่องเวรเรื่องกรรม พระพุทธเจ้าถึงให้เชื่อกรรมไง อย่างที่เราสติสมบูรณ์แล้ว อะไรแล้ว มันก็เป็นประโยชน์กับเรา เราต้องทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าสอนแล้ว อย่าให้ประมาท อย่าประมาทในชีวิต อย่าประมาทใดๆ ทั้งสิ้น เราพยายามรักษาของเรา แล้วถ้ามันสุดวิสัย เออ! มันก็เวรกรรม แล้วเราก็ตั้งสติของเราต่อเนื่องไป

ถ้าเราไม่ตั้งสติ มันอาจจะแรงกว่านี้อีกด้วย ถ้าเราไม่ได้ดูแล มันอาจจะเลวร้ายกว่านี้ นี่เราดูแลแล้วมันยังเกิดขึ้น เพราะอะไร เพราะชีวิตเรา ชีวิตเรา เราเกิดมามันสุดวิสัยนะ

อย่างเราพูดบ่อย เวลาพูดนะ พระพุทธเจ้า ๔๕ ปี ท่านเทศนาว่าการอยู่ในชมพูทวีป ท่านเดินไปท่านเหยียบอะไรบ้าง มันต้องมี แต่เราไม่ได้ตั้งใจ ไม่ปรารถนา ไม่ต้องการทำ แต่มันต้องมีในชีวิตจริงไง

เราก็เหมือนกัน เราก็สร้างเราก็พยายามทำของเราให้ดีที่สุด แต่ในเมื่อมันเป็นกรรมของสัตว์ เขามาที่นี่นะ เขามาถึงก็ “โอ้โฮ! หลวงพ่อ ขับรถชนหมา เศร้าใจมากเลย”

เราบอก ไม่ใช่ หมามันวิ่งมาชนรถมึงตาย มันก็มีกรรม ทำไมมันไม่ไปชนคันอื่น มันมาชนคันเราล่ะ

อ้าว! เราก็มีกรรมนะ เราไม่ใช่เราชนหมาแล้วเราจะรื่นเริงนะ แต่มันต้องมาคิดสิ เราก็เป็นสิ่งมีชีวิต เขาก็เป็นสิ่งมีชีวิต ใครบ้างอยากจะขับรถชนหมาตาย เราก็ระวังเต็มที่ แต่ทำไมมันวิ่งคันหน้ามันก็หลบพ้นนะ คันนู้นก็หลบพ้นนะ วิ่งมาชนคันเรา มันก็มีกรรมของมันไง มันก็มีกรรมของมัน สัตว์ก็มีกรรมของเขา แล้วเราก็มีกรรม ก็มาชนกันพอดี แล้วทำไมมันหลบคันอื่นพ้นล่ะ ทำไมต้องมาคันเราล่ะ

อันนี้ไม่ใช่พูดให้เข้าข้างตัวเองนะ พูดให้เห็นตามความเป็นจริงไง อย่าโทษแต่ตัวเอง อย่าโทษแต่เราผิดๆ บางทีเราก็ตั้งใจ เราก็ไม่อยากจะผิด แต่มันสุดวิสัย มันมีเวรมีกรรมต่อกันที่เขาต้องมาชดใช้

เราก็ไม่ตั้งใจไปทวงของใครหรอก เราก็ไม่ต้องการของใครหรอก แต่กรรมมันให้ผลเป็นอย่างนั้น แล้วก็อโหสิกรรมต่อกันไป อย่าเอามา โอ้โฮ! มาถึงหน้าเศร้านะ โอ้โฮ!

เราก็บอกว่า ไม่ใช่ มันวิ่งมาชนรถมึงตาย ทำไมมันไม่วิ่งไปชนอย่างอื่น ทำไมต้องมาชนรถมึงล่ะ

อันนี้มันสุดวิสัยนะ บางอย่างมันสุดวิสัย แต่อย่าเข้าข้างตัวเอง อย่าเข้าข้างตัวเองจนให้เราเสียหายนะ แต่เราก็ไม่โทษตัวเองจนตัวเองเศร้าหมอง

แต่ก็อย่าเข้าข้างตัวเองนะว่าฉันทำแล้วถูก ฉันทำแล้วถูก ไม่ใช่ ไม่มีหรอก อยู่กับปัจจุบันนี้ แต่เราต้องให้เข้าใจโดยความเป็นจริง

เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าสอนให้มีปัญญา อย่าเป็นเหยื่อใคร อย่าเป็นเหยื่อใครทั้งสิ้น จบ

ถาม : ๑. ไหว้พระแล้วอธิษฐานขอพร สมควรหรือไม่

๒. เลี้ยงเด็กดื้อทำอย่างไร

๓. นั่งสมาธิทำไมชอบฟุ้งซ่านกว่าปกติ จะทำอย่างไรให้จิตนิ่ง

ตอบ : “ไหว้พระแล้วอธิษฐานขอพร สมควรหรือไม่”

ต้องอธิษฐานด้วย อธิษฐานนี้เป็นอธิษฐานบารมี บารมีสิบทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านถึงมีความพยายามประพฤติปฏิบัติจนสมความปรารถนาได้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉะนั้น อธิษฐานบารมี อธิษฐานหมายถึงเป้าหมาย ไม่ใช่อธิษฐานแล้วก็ไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าคนเราไม่มีเป้าหมายเลย ไม่มีเป้าหมายชีวิตเลย ไม่มีเข็มมุ่งเลย เราจะทำอะไร

ฉะนั้น “ไหว้พระสวดมนต์แล้วอธิษฐาน สมควรหรือไม่”

ต้องด้วยนะ ต้องด้วยว่า พรุ่งนี้จะขยัน พรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง เขียนเอาไว้เลย แล้วทำไม่ได้ นั่นน่ะผิดพลาด อธิษฐานบารมี แต่ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างนี้ ไปบอกว่าอธิษฐานบารมี เช่น เจ้าคุณนรฯ “ทำดีดีกว่าขอพร” ถูกต้อง จริงนะ “ทำดีดีกว่าขอพร”

แต่การขอพรขอกำลังใจมันก็เป็นประโยชน์อันหนึ่ง แต่ขอแล้วเราต้องทำสิ

สิ่งที่ว่า เราอธิษฐานตั้งเป้าหมายแล้วเราทำไหม

ต้องทำนะ พยายามทำ พยายามขวนขวาย เพราะคำอธิษฐานมันจะเป็นกรอบบีบบังคับเรา แต่ถ้าเราไม่ได้อธิษฐานเลยเราก็ปล่อยตัวเราเหลวไหล เราก็ไม่มีสิ่งใดเลยใช่ไหม เราก็ตั้งสิ เราอธิษฐาน

อธิษฐาน เพราะบารมีสิบทัศ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี อธิษฐานบารมี มันก็มีอธิษฐานบารมี มันเหมือนเราตั้งเป้าหมาย แล้วเรากล้าตั้งไหม เรากล้าตั้งเป้าหมายไหม ถ้าเราตั้งแล้ว เราตั้งสิ ตั้งเป้าหมายที่เราสามารถทำได้

ฉะนั้นบอกว่า “ไหว้พระแล้วอธิษฐานขอพรจากพระ สมควรหรือไม่”

สมควร แล้วสมควรจริงๆ ด้วย แล้วต้องตั้งด้วย แล้วตั้งแล้วต้องทำให้ได้ อย่างเช่นหลวงตาเราพูด คืนนี้นั่งสว่าง ต้องสว่าง จะทำอะไร ต้องทำอย่างนั้น แล้วถ้านิสัยคนเป็นอย่างนี้นะ เป้าหมายนี่ถึง

ครูบาอาจารย์ของเรานี่นะ พอตั้งเป้าหมาย อย่างเช่นเข้าพรรษาตั้งเลย ธุดงค์กี่ข้อแล้วต้องทำให้ได้ บางคนธุดงค์ไป ๒ วันเลิก ๕ วันเลิก ครึ่งทางเลิก มันเสียสัจจะ สัจจะ อธิษฐานบารมี ฉะนั้น อธิษฐานบารมีต้องตั้ง

แต่โดยสังคมเรามันเหลวไหล แล้วพอเหลวไหลขึ้นไปแล้วเขาถึงบอกว่าไอ้พวกนี้พวกเหลวไหล พอตั้งแล้วเหลวไหลใช่ไหม แล้วเอานี้มาตั้งแล้วมาหลอกลวงไง หลอกลวงอะไรกัน มันก็เลยทำให้สังคม ในสังคมเขาไม่เชื่อกัน พอไม่เชื่อกันก็ทำให้เสียหาย

อันนี้มันเป็นสัจจะนะ เป็นสัจจะของคน เป็นนิสัยของคน เป็นความมั่นคงของคน เป็นนิสัยของคน มันฝึกหัดไง อธิษฐานบารมีต้องตั้งขึ้นไป

“๒. เลี้ยงเด็กดื้อทำอย่างไร”

อภิชาตบุตร อภิชาตบุตรคือบุตรดีกว่าพ่อกว่าแม่ เวลาเราเป็นลูกเป็นหลานแล้วเราดื้อ เราต่างๆ เวลาดื้อ มันมี มันผลัดกันเป็นพ่อเป็นลูกเป็นแม่กันมาตลอด เราพูดอย่างนี้เลย การเวียนว่ายตายเกิดมันผูกพันกันมาทั้งนั้นน่ะ ทีนี้มันผูกพันกันมาทั้งนั้น มันมีสิ่งใดมา

นี่เราพูดถึงกรรมเก่าก่อน ถ้าเด็กดื้อๆ เด็กดื้อเพราะว่าเราทำไว้ เราทำไว้มันก็เลยมาทวงหนี้ พอมาทวงหนี้แล้วทำอย่างไร

ถ้าทวงหนี้ เห็นไหม ใครมันจะมาหลอกลวงเราไม่ได้เลย เราฉลาดมาก ไบรต์ทันคนหมดเลย แต่เวลาลูกมันร้องนี่ควักหมดเลยนะ เวลาลูกมันอ้อน เวลาลูกมันอ้อน

มันมีของมันไง บางทีถ้ามันหมดเวรหมดกรรมต่อกันมันก็หายกันไป ถ้าไม่มีหมดเวรหมดกรรมต่อกัน ว่าไอ้นี่พูดถึงเด็กดื้อนะ อันนี้พูดถึงหลักการก่อนนะ หลักการเรื่องเวรเรื่องกรรมนี่เรื่องหนึ่ง

แล้วตอนนี้หลักในปัจจุบัน หลักในปัจจุบัน ลูกเราดื้อเราก็ต้องมีสติปัญญาพยายามอบรมเขา ถ้าอบรมเขาได้ ไอ้กรรมก็ส่วนกรรมไง กรรมเก่าส่วนกรรมเก่า กรรมใหม่ส่วนกรรมใหม่ ไอ้กรรมอันนั้นมันก็มีผลอย่างนี้ แล้วถ้าเราอบรมได้ เพราะธรรมดาความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูกมันมีความผูกพันกันมาก

แล้วอย่างเช่นคนที่มีลูก เห็นไหม อชาตศัตรูฆ่าพ่อ อชาตศัตรูเกิดมาจะฆ่าพ่อ แล้วพ่อรักมาก พระเจ้าพิมพิสาร พวกอำมาตย์บอกให้ฆ่าทิ้ง เพราะนี่มันฆ่าพ่อ แต่ด้วยความผูกพันนะ “ไม่เป็นไร เลี้ยงไว้ให้ชื่ออชาตศัตรู คือไม่เป็นศัตรูกับใครทั้งสิ้น”

เลี้ยงไว้เลี้ยงอย่างดี อบรมอย่างดีหมดเลย ถึงสุดท้ายนะ ถึงสุดท้ายเจอเทวทัต เทวทัตไปยุไง ให้ฆ่าพ่อเอาราชบัลลังก์ “ทำไมต้องฆ่า เดี๋ยวพ่อก็ให้” “แล้วเกิดถ้าเอ็งตายก่อนพ่อล่ะ” เออ! ชักเขวแล้วนะ “ถ้าเอ็งตายก่อนพ่อล่ะ แล้วเดี๋ยวพ่อเอ็งไม่ให้ล่ะ”

สุดท้ายจะเอาพ่อมาฆ่าก็ทำไม่ลงนะ เอาไปขังไว้ เดินจงกรมอยู่ ไม่ตาย ก็เอามีดไปกรีดเท้า ไม่กล้าฆ่า

คือจิตใจของคนมีเวรมีกรรมมันจะฆ่า แต่ด้วยการอบรมด้วยการบ่มเพาะ มันทำไม่ลง พอทำไม่ลงแล้วก็อยากได้ สุดท้ายด้วยเวรด้วยกรรมใช่ไหม เพราะกรรมเก่ามันมี สุดท้ายพ่อก็ตาย แล้วลูกก็เกิด

แล้วมหาดเล็กเขาจะมาส่งข่าวไง มาถึงก็จะส่งข่าวใครก่อนระหว่างพ่อตายกับลูกเกิด ไอ้นั่นก็บอกว่าลูกเกิดเข้าไปก่อนก็ได้ พอลูกเกิดเข้าไปก่อนก็ไปถวายไปรายงานไงว่าบัดนี้ลูกชายเกิดแล้วนะ โอ้โฮ! รักมาก มันผูกพัน คิดถึงพ่อ ปล่อยพ่อ จะปล่อยแล้ว ไอ้นั่นเข้ามารายงาน พ่อตายแล้ว ปิตุฆาต

นี่กรรมเก่ากรรมใหม่ กรรมมันมีของมันมา ถ้ากรรมมันมีของมันมา นี่เราพูด โทษนะ ขอนิดหนึ่ง อย่าให้ไปลงกับเด็กนะ อย่าให้ไปลงกับเด็ก ลูกของเราคือลูกของเรา ถ้ามันดื้อ นี่เราพูดถึงหลักการ พูดถึงผลของวัฏฏะ ทีนี้สุดท้ายแล้วลูกของเราก็คือลูกของเรานะ มันจะมีกรรม ในปัจจุบันนี้คือลูกของเรา เราก็ต้องอบรมบ่มเพาะ

นี่พูดถึงว่า เด็กดื้อจะทำอย่างไร

เด็กดื้อเราก็แก้ไข แต่ถ้าพูดถึงนะ พรหมวิหาร ๔ ถึงที่สุด เราทำดีที่สุดแล้ว ถ้ามันไม่ได้ เราก็ต้องอุเบกขาไง เราทำถึงที่สุด อย่างน้อยก็สายเลือด อย่างน้อยก็ญาติ

คนอื่นเรายังดูแลเลย คนนอกเรายังช่วยเหลือเจือจานเขาใช่ไหม แล้วนี่สายเลือดของเรา เราทำอะไรไม่ได้หรอก แต่เราพยายามอบรมให้ดีขึ้น ทำให้ดีขึ้น พยายามอบรมของเรา ทำของเราได้

แล้วถ้ามันดูตัวอย่างที่ดี มันต้องดีได้ ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติของผู้รู้มันรับรู้หมดน่ะ แต่มันประชด มันประชดมันประชัน มันบีบคั้นหัวใจ

นี่ไง การครองเรือนแสนทุกข์ ฉลาดเลยไม่มีเรือน การครองเรือนแสนทุกข์แสนยาก อันนี้พูดถึงเราต้องแก้ไข ธรรมะพระพุทธเจ้า ธรรมะนะมันใช้ได้ทุกแขนงถ้าเราฉลาดใช้ แต่เราไม่ฉลาดกันเอง

“๓. นั่งสมาธิทำไมมันฟุ้งซ่านกว่าปกติ จะทำอย่างไรให้จิตนิ่ง”

เพราะธรรมดาเราไม่ได้นั่งสมาธิมันสบายๆ เพราะว่ากิเลสมันหลอก แล้วพอนั่งสมาธิขึ้นมามันจะฟุ้งซ่าน มันต้องฟุ้งซ่านอยู่แล้ว

ยกไปที่เด็ก เด็กปล่อยให้มันเล่นสบาย มันอยู่ทั้งวันเลย พอให้มันนั่งสงบๆ มันไม่ยอม มันดิ้นตาย จิตเหมือนกัน ถ้าไม่ได้นั่งสมาธิ “โอ้โฮ! ถ้านั่งได้สมาธิด้วยนะ” มันคิดนะ พอไปนั่งเข้า โอ้โฮ! เกือบตาย เพราะมันแบบว่าถ้าจิตใจเราวอกแวกวอแวมันจะเป็นแบบนี้

แต่ถ้าอย่างเราตั้งใจของเรา เราทำเพื่อใจไง เราอยากได้ลิ้มรสอันนั้นไง สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มีไง มันทุกข์มันยาก ทุกข์ยากเรารู้อยู่เต็มหัวใจไง แต่ไอ้ความสุขไม่เคยได้สัมผัสสักที ก็อยากได้อย่างนั้นน่ะ

ถ้าอยากได้อย่างนั้นก็ต้องทุ่มเทไง ถ้าทุ่มเท เอาจริงเอาจัง เอาชนะมันสักหน มันชนะได้ ถ้าไม่เคยชนะมันสักหนมันก็เป็นอย่างนี้ นั่งทีไรก็ทุกข์ทุกที นั่งทีไรก็จะเป็นจะตายทุกที นั่งทีไรก็แพ้มันทุกที

ถ้าเอาจริงเอาจัง อ้าว! ตายให้มันตายไป เอาจริงเอาจังกับมัน ถ้าเอาจริงเอาจัง พอมันทำได้นะ มันก็กลัวเรา

ไอ้นี่เราแพ้มันทุกที มันหลอกแค่นี้นะ กิเลสมันหลอกแค่นี้ กิเลสมันคืออะไร กิเลสคือความเคยใจ มันก้าวอยู่หน้าเราก้าวเดียว จะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ข้างหน้าเราก้าวเดียว แล้วเราก็แพ้มันทุกที นี่กิเลส แล้วเราจะเอาชนะมัน เราทำจริงจังสักทีมันจะเป็นไปได้

“นั่งสมาธิทำไมมันฟุ้งซ่านนัก”

ถ้ามันฟุ้งซ่านนัก มันฟุ้งซ่านนักมันก็จริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยนะ มันมีคนถาม บอก “หลวงพ่อ ทำไมนั่งสมาธิต้องผ่านเวทนา”

เราบอกว่า ถ้าเวทนาเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้น ถ้ามันเข้าด้ายเข้าเข็ม เราต้องสู้กับมัน แต่ถ้าเรานั่งสมาธิหรือเราเดินจงกรมก็แล้วแต่ ถ้ามันไม่ได้พิจารณาเวทนา มันพิจารณาความฟุ้งซ่านต่างๆ มันก็ไปผ่านอย่างอื่นก็ได้ ทำไมต้องผ่านเวทนา

เราจะบอกว่ามันหลากหลาย ไอ้คนฟุ้งซ่านมันก็ฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้นน่ะ แล้วฟุ้งซ่านก็จำนนกับมันอย่างนั้นน่ะ ทำไมไม่พลิกล่ะ พลิกใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เราพลิกได้

หลวงตาสอน “อย่าเสียดายอารมณ์ของตน”

เราคิดอะไร เรื่องอะไร เราก็เสียดายอันนั้นน่ะ จะเอาชนะกับมันอันนั้นน่ะ ถ้าเราเปลี่ยนอารมณ์ซะ มันก็จบ มันพลิกแพลงได้

เวลาท่านพูดเลย “ภาวนาโง่ยิ่งกว่าหมาตาย”

หมามันตายมันฉลาดไหม มันนอนมันไม่ฉลาดหรอก แล้วคนภาวนาโง่กว่ามันอีก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาแล้ว เราพลิกแพลงของเราสิ เราเปลี่ยนแปลงของเราเพื่อโอกาสของเรา เพื่อโอกาสของเรานะ

ฉะนั้นว่า ความฟุ้งซ่านเนาะ

เราพลิกแพลงใช้อุบายแก้ไข แล้วมันมีไง มันมีกรรมฐาน ๔๐ ห้องคือการทำความสงบ ๔๐ วิธีการ คำว่า “ทำความสงบ ๔๐ วิธีการ” เพราะอะไร เพราะจริตนิสัยของคนมันแตกต่างกัน พระพุทธเจ้าฉลาดมาก มรณานุสติ อนุสติ ๑๐...มันมี ๔๐ วิธีการ

เราคิดถึงตรงนี้แล้วเราว่าพระพุทธเจ้าฉลาดมาก ฉลาดเพราะอะไร เพราะคนเรามันมีจริตนิสัยแตกต่างกัน มันมีความรู้ความเห็นแตกต่างกัน แล้วจะทำอยู่ทางเดียวมันเป็นไปไม่ได้ ถึงให้แนวทางไว้ ๔๐ วิธีการ

แต่เวลาเป็นสมาธิได้อันเดียว จิตสงบเหมือนกันน่ะ แต่วิธีการทำเข้ามา ๔๐ ทางเพื่อให้เข้ามาเพื่อความสงบของใจเท่านั้นเอง

พระพุทธเจ้าฉลาดมาก ฉลาด เปิดทางให้เรา ให้เรามีหนทางถึง ๔๐ ช่อง แต่พวกเรายังทำกันไม่ได้ แล้วทำได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรานะ อันนี้จบ

ถาม : มีญาติที่เน้นทำทานแต่ไม่ปฏิบัติภาวนา ชั่วขณะนี้นอนป่วยที่โรงพยาบาล ควรจะแนะนำเขาอย่างไรในขณะจิตสุดท้าย เราควรจะพูดสิ่งที่เขาชอบหรือพูดถึงธรรมะ ซึ่งเขาไม่เคยสวดมนต์ภาวนาเลย ขณะป่วยเขามีอาการโทสะ คิดในทางลบ เบื่อหน่ายชีวิต ไม่อยากอยู่

ตอบ : ไอ้กรณีนี้ถ้าย้อนกลับนะ ถ้าเราจะไปบอกเรื่องการภาวนา จะบอกเรื่องต่างๆ บางทีจริตนิสัยมันแตกต่างกัน เพราะคำพูดว่า “เขาเน้นการทำทาน”

ถ้าเน้นการทำทานนะ เราก็จะบอกว่า ถ้าบอกกับญาตินะ บอกว่า “ไม่ลืมวันนั้นหรือ ทำบุญน่ะ บุญมันได้ผลบุญอย่างนั้น” คือให้เขามีความสุขตรงนั้นไง มันควรจะให้เขามีความสุข เหมือนเด็ก เด็กอะไรที่ให้มันรื่นเริง มันมีความสุขได้ มันก็แค่นั้น ถ้าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็พูดอีกอย่างหนึ่ง

เราจะบอกว่า เราควรจะพูดสิ่งที่เขาไม่ชอบหรือพูดเรื่องธรรมะไหม

สิ่งที่ไม่ชอบ ถ้าเราจะพูด มันควรจะพูดตอนนี้ ตอนที่เรายังคุยกันได้ปกติ ให้เขาได้เลือกสิ่งที่ดีๆ

แต่ถ้าเขาป่วย เขาป่วยอยู่ เขาเบื่อหน่ายชีวิต เขาคิดทางลบ

เราพูดถึงทางบวก คิดถึงทางให้เขาได้ชื่นใจ ถ้าเขาชื่นใจ เขาชื่นใจแล้ว จิตใจเขามั่นคงแล้ว การรักษามันก็สะดวกขึ้น ถ้าหายแล้ว ดีแล้ว เราค่อยมาคุยกันว่าไอ้เรื่องของทานมันเรื่องของพื้นฐาน ถ้าเรื่องสมาธิ เรื่องภาวนา ถ้าไปคุยกันตอนนั้นมันดีกว่า

แต่ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ เราไปพูดมันก็ไปกดดันเขา เราควรจะพูดแต่สิ่งที่ว่าให้เขามีกำลังใจ มันเหตุการณ์เฉพาะหน้า ต้องพูดสิ่งที่เขามีกำลังใจ พอมีกำลังใจแล้วการรักษาโรคมันก็ดีขึ้น ถ้าหายจากโรคแล้วค่อยมาลงไม้เรียว จะมาลงไม้เรียวตอนท้ายๆ ก็ได้ แต่ถ้าเขาเจ็บไข้ได้ป่วยไปลงไม้เรียวมันไม่ดี นี่พูดถึงตอนนั้นนะ

ธรรมะมันมีหลายชั้นหลายตอน ถ้าหลายชั้นหลายตอน คนที่มันรับไม่ไหว รับไม่ได้ เราไปสอน ไร้ประโยชน์

แต่ถ้าจิตใจเขาควรแก่การงานนะ พระพุทธเจ้าอริยสัจเลย แต่ถ้าเขายังนั่นอยู่ พระพุทธเจ้าสอนอนุปุพพิกถา แค่ทาน ให้เขาได้ประโยชน์ของเขา เพราะทานทุกคนก็ทำได้ไง แต่ภาวนามันไม่ใช่ทุกคนนี่ แต่ถึงเวลาภาวนานะ ถ้าสูงส่งมันต้องภาวนาอยู่แล้ว

หลวงตาบอกเลยนะ ทำบุญกุศลมากน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ เขื่อนมันกั้นน้ำไว้มันก็แค่นั้นน่ะ แต่ถ้าจะพ้นจากทุกข์ต้องภาวนา จะพ้นจากทุกข์ไม่มีทางอื่น เว้นไว้แต่การภาวนาอย่างเดียว

จะทำบุญมากน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่ ถึงสุดท้ายแล้วต้องมาหัดภาวนา เพราะมันต้องเกิดปัญญา มันต้องเกิดศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องเกิดมรรค ไม่เกิดมรรคมันจะไปฆ่ากิเลสได้อย่างไร ไม่มีอาวุธไปทำลายกิเลส กิเลสมันจะหมดไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้

มันภาวนาอย่างเดียวที่จะผ่านกิเลสได้ ชำระกิเลสได้ แต่กว่าจะภาวนาได้ หนึ่ง ต้องเชื่อก่อน ธรรมะจริงหรือไม่ ภาวนาถูกหรือผิด ภาวนาแล้วมีอุปสรรค โอ๋ย! ยังอีกไกลเลยนะ แต่มีหนทางเดียว ฉะนั้น พูดถึงเวลาธรรมะเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเขาป่วยอยู่ เราควรจะทำอย่างไรให้เขาแบบว่ามีความสุข มีกำลังใจ จนหายป่วยแล้ว แล้วค่อยมาลงไม้เรียว ถ้าตอนนั้น เห็นด้วย แต่ตอนนี้ไม่ควรทำเพราะเขาป่วยอยู่ ต้องให้กำลังใจกันนะ คนอย่างนั้นเราจะไปทำให้เขาทรุดไม่ได้ ต้องทำให้เขาแข็งแรงขึ้นมา จบ

ถาม : ๑. เวลาปฏิบัติได้พิจารณาผิวกาย (เวทนา) แล้วจิตเกิดสงบนิ่งๆ ว่างๆ ไม่เดินการพิจารณาค่ะ เราควรทำอย่างไรต่อไปคะ เวลาพิจารณาเวทนาทางร่างกายและจิตออกไปคิดเรื่องนั้นๆ ก็คิดไปว่าเป็นสังขารขันธ์การปรุงการแต่ง แล้วก็กลับมาพิจารณาฟุ้งไป ก็แยกแยะว่าเป็นสังขาร

ตอบ : ไอ้นี่นะ “๑. เวลาปฏิบัติพิจารณาเวทนาเรื่องผิวกาย แล้วจิตเกิดสงบ นิ่งๆ ว่างๆ ไม่เดินการพิจารณาเจ้าค่ะ”

อันหนึ่งก่อน การพิจารณาไม่พิจารณา หนึ่ง ต้องมีกำลังก่อน เวลาพิจารณาไป ถ้าจิตมันสงบแล้ว จิตสงบแล้วนะ จิตสงบแล้วถ้าไปเห็นปั๊บ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นอาการของจิต คือเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

ถ้าจิตมันไม่สงบ สิ่งที่เราโต้แย้งอยู่ตลอดเวลาที่พูดอยู่นี่ เวลาส่วนใหญ่พูด เวลาปฏิบัติทุกคนจะบอกว่า “ปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ในแนวสติปัฏฐาน ๔”

แต่ถ้าแนวทางสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ของเรา หรือเป็นสติปัฏฐาน ๔ ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าเป็นตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันต้องทำความสงบของใจก่อน ใจสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต คือจิตเห็นตามความเป็นจริง มันก็จะเป็นภาวนามยปัญญา

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ปฏิบัติตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ แต่เป็นความเห็นของเราๆ ความเห็นของเราเพราะอะไร

ความเห็นของเราเพราะเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ใครๆ ก็พูดได้ ใครๆ ก็จินตนาการได้ ใครๆ ก็มีอุปาทานได้ แล้วมันก็เป็นอย่างนี้หมดเลย เป็นอย่างนี้หมดเลยเพราะอะไร เพราะปฏิบัติแล้วมันไม่มีผลไง ถ้าปฏิบัติมีผลมันพูดอย่างนี้ไม่ได้

ถ้าปฏิบัติที่มีผลนะ เรายืมเงินใครมา พอยืมเงินใครมาแล้ว เราบอกเราใช้หนี้แล้ว จบไหม เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเรายืมใครมา เราเป็นหนี้ใคร เราได้ใช้หนี้เขาตามความเป็นจริงแล้วมันถึงจะเป็นความจริง

นี่ก็เหมือนกัน บอกว่า “เวลาภาวนาพิจารณากายโดยผิวกาย เป็นเวทนา เกิดจากจิตว่าง”

เราจะบอกว่า ถ้าจิตมันสงบมันเห็นตามความเป็นจริงนะ

คำถามนี้มันเหมือนกับวิทยาศาสตร์ เหมือนกับวิทยาศาสตร์ เหมือนกับสามัญสำนึกเราเขียนนี่แหละ แต่ถ้าเป็นความจริง ถ้าคนเห็นมันจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง

เวลาคำถาม คำถามถ้าถามมาจากตำรา คำถามจากสัญญา สัญญาคือการเทียบเคียงคือการค้นคว้าของเรานี่แหละ แต่ทำแล้วมันยังไม่เข้าถึงสัจจะความจริง มันก็เขียนมาก็ผิวๆ แต่ถ้าเป็นความจริงนะ มันเป็นอีกอย่างหนึ่งเลย

ฉะนั้น อย่างข้อที่ ๑. ถ้าข้อที่ ๑. นะ “ทำไมจิตมันว่างๆ แล้วมันไม่ยอมพิจารณา”

มันไม่ยอมพิจารณาเพราะมันไม่เห็น เพราะมันไม่รู้ ถ้ามันรู้มันเห็นขึ้นมามันจับเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว มันเป็นสูตรสำเร็จอยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่าเป็นขันธ์ ขันธ์คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปเป็นอย่างไร สัญญาเป็นอย่างไร เราก็มีคำตอบอยู่แล้ว

เหมือนกับการทำข้อสอบ การทำข้อสอบ เรารู้คำตอบอยู่แล้ว เราตอบได้หมดน่ะ อย่างนี้เขาเรียกลอกการบ้าน ลอกการบ้านคือการลอกการบ้าน มันไม่มีความรู้ แต่ถ้าเราทำของเรามันเป็นอีกอย่างหนึ่ง นี่พูดถึงว่าข้อที่ ๑. นะ

ข้อที่ ๒. ว่าเวลาพิจารณาไปแล้วมันก็เป็นรูปอย่างนั้น

นี่เวลาพิจารณาไป ข้อที่ ๑. ข้อที่ ๒. ข้อที่ ๑. เราจะบอกว่า ถ้ามันเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นความจริงแล้วถ้ามาถามเราโดยตรงหน้านะ บอกว่า หนูเป็นอย่างนี้แล้วทำอย่างไรต่อ

เราจะตอบคำเดียวเลย “กลับไปพุทโธ”

ส่วนใหญ่เวลาใครมาถามเรา เราจะบอกให้กลับไปพุทโธ ถ้าใครอานาปานสติ กลับไปที่อานาปานสติ

ถ้ากลับไปที่อานาปานสติคือกลับไปที่ทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบตามความเป็นจริง ใจสงบจนมั่นคงแล้วถ้ามันไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง นี่มันจะย้อนกลับไปที่ว่าจริงหรือปลอมตรงนี้ไง

ถ้ามันเป็นจริงนะ มันเป็นจริงมันมีรสชาติไง อาหาร ใครตักทานอาหารเมื่อกี้ รสชาติอย่างไรก็ตามรสชาติอาหารที่มันเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าใครนั่งดูก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ คนนั่งดูก็ อืม! น่าจะอร่อย เอ๊! มันน่าจะดี แต่ไม่ได้กินเลย ไอ้คนกินนี่ แหม! เต็มๆ ปากเลย รู้หมด นี่จิตถ้ามันเป็นจริงนะ ถ้าจิตมันสงบนะ

กลับไปที่ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว ใจมันสงบแล้ว สงบมันก็รู้สึกแล้ว ถ้ามันสงบจริงน่ะมันติด ส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่มีวาสนามันจะติด ติดสมาธิ โดยธรรมชาติส่วนใหญ่จะติดสมาธิ

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะ พยายามฝึกหัด แล้วถ้าเรา เราติดสมาธิแล้ว พอเราเกิดอุปาทาน อุปาทานนะ เห็นกาย เห็นเวทนาตามความเห็นของเรา โอ้โฮ! มันไปเลย

เพราะอะไร เพราะมันเป็นอุปาทานอยู่แล้วใช่ไหม เป็นอุปาทานอยู่แล้ว มันส่งอยู่แล้ว พอส่งอยู่แล้ว พอความคิดมันพลิกแพลง มันไปเลย แล้วพอไปเลย จบ ผัวะ! พิจารณาสำเร็จแล้ว ผลของมันคือว่างๆ ไง ไม่มีอะไรเลย

เข้าข้างตัวเองหมดเลย แล้วก็ไม่ได้อะไรเลยด้วย แล้วก็เป็นอยู่อย่างนี้ทั้งนั้นเลย คนปฏิบัติเป็นอย่างนี้ร้อยทั้งร้อยเลย แล้วมันขาดอะไรรู้ไหม ขาดครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงรู้หมด

มันไม่เป็นจริง เงินจริงกับเงินปลอมไง เอาเงินปลอมมาวางเท่าไรมันก็ปลอม เงินจริงบาทเดียวก็ใช้ประโยชน์ได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันจริง ภาวนามันจริงนะ

แล้วแก้ไข แก้ไขก็กลับไปที่คำบริกรรม กลับไปที่อานาปานสติ กลับไปที่จุดเริ่มต้น ทำความสงบของใจให้ได้ ทำความสงบของใจได้ มันก็ย้อนกลับไปเมื่อกี้นี้ ย้อนกลับไปไอ้ที่ว่าพิจารณาได้ไม่ได้ ถ้ามันทำตรงนี้ได้มันก็จะได้

ไอ้นี่เพราะอะไร เพราะว่า “พอสรุปแล้วมันก็เป็นขันธ์”

สรุปแล้ว เพราะเรารู้คำตอบหมดแล้ว ปริยัติเขาศึกษามาเพื่อให้ปฏิบัติ ปริยัติศึกษามาแล้วแจกใบประกาศ แจกใบประกาศแล้วก็มีปัญญามีความรู้ ปัญญา ปัญญาของพระพุทธเจ้า ธรรมะสาธารณะไง ธรรมะเป็นธรรมชาติ

แต่ถ้าธรรมะเป็นของเรานะ ธรรมะเป็นของเรา ลมหายใจเข้าปอด ข้างนอกยังไม่ใช่ นี่เข้าปอดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันรู้ รู้ที่นี่เลย ถ้ามันรู้ที่นี่ นี่เหนือธรรมชาติ วางธรรมชาติไว้ข้างนอก

แต่ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาตินี่ก็สาธารณะไง สาธารณะก็นี่ไง ก็ศึกษามาไง ใครไม่รู้บ้าง พระพุทธเจ้า ๙ ประโยคเต็มประเทศไทย ภาวนาไม่เป็น พุทโธไม่ได้ จิตสงบยังไม่รู้ เพราะอะไร

เพราะไม่มีรสของธรรม ไม่มีรสของความสงบ ไม่มีรสของปัญญา ไม่มีรสของความรู้ ไม่มีรส ไม่มีรสคือไม่มีองค์ความรู้ แต่มีสัญญามีความจำ นี้ความจำนะ

ฉะนั้นจะบอกว่า ย้อนกลับมาคำถาม ไม่ได้ว่าใครนะ อันนี้เราจะพูดถึงกิเลส คือความรู้สึกของคนเป็นอย่างนี้ตลอด กิเลสมันบังเงา บังเงาคือเอาธรรมะมาตั้งแล้วพูดเรื่องธรรมะ แล้วถ้าใครพูดเรื่องธรรมะได้ คนนั้นรู้ธรรมะ...ไม่ใช่ ใครก็พูดได้ คอมพิวเตอร์พูดได้ดีกว่ามึง ทุกคนพูดได้ดีกว่า

นี่พูดถึงวิธีแก้นะ ถ้าพูดอย่างนี้ ถ้าวิธีแก้ นี่พูดถึงคำถามมันก็สมบูรณ์ในการปฏิบัติไง อ้าว! ก็ทำความสงบของใจนิ่งๆ ว่างๆ นิ่งๆ ว่างๆ แล้วพิจารณาไง อ้าว! พิจารณาแล้วทำอย่างไรต่อ

มันก็เหมือนเราไปดูงาน ดูงานแล้วทำงานแล้วไม่ได้อย่างที่เราทำ เหมือนกัน แต่ถ้ามันเป็นจริงๆ มันต้องเป็นจริงขึ้นมา มันต้องเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก มันถึงจะเป็นจริง

วิธีแก้ กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่อานาปานสติ ทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบแล้วพอมันจะรู้เห็น ถ้ามันรู้เห็นตามความเป็นจริงนะ ขนพองสยองเกล้า

ครูบาอาจารย์ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติเขาจะบอกว่า ต้องรู้จักกิเลส ต้องเห็นหน้ากิเลส มันถึงจะฆ่ากิเลสได้

ทุกคนไม่รู้จักกิเลส ไม่เห็นหน้ากิเลส แต่กูฆ่ามันทุกวันเลย แต่ไม่รู้ว่าฆ่าที่ไหน นี่ไง เพราะเราไม่รู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง

ถ้ามันรู้มันเห็นตามความเป็นจริง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก คำนี้เป็นคำพูดของหลวงตา หลวงตาบอกว่า พระพุทธเจ้าให้สันทิฏฐิโก รู้ตามความเป็นจริง นี่เป็นสัจจะ

แต่พวกเราต้องมีใบประกาศ มีผู้รับรอง

แต่หลวงตาบอกต้องสันทิฏฐิโก รู้จริงเห็นตามความเป็นจริงในหัวใจของตน อันนั้นจะเป็นความจริง

แล้วความจริงแล้ว มันต้องเป็นความจริงแบบครูบาอาจารย์ของเรา พูดได้ฉะฉาน ชัดเจน พูดเมื่อไหร่ก็ได้ จะพูดเมื่อไหร่ พูดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะความรู้ในหัวใจมันล้น

แต่ถ้าไม่มีอะไรเลย “อู้ฮู! เล่มนั้นเว้ย เอ๊ะ! มันอยู่ตรงไหนวะ นึกไม่ออก มันจะติดที่ปาก นึกไม่ได้ว่ะ เฮ้ย! มันอยู่ที่ไหนวะ” ถ้ามันไม่เป็นนะ

แต่ถ้ามันเป็น ล้นหัวใจ แล้วมันเป็นความจริง

พอคำถามนี้มันคล้ายๆ อย่างนั้น คล้ายๆ ว่ามันเป็นทางวิชาการ มันเป็นการศึกษา เป็นการกระทำ แล้วเราทำสำเร็จรูป ทำความสำเร็จรูป สำเร็จ นี่มันเป็นพิธีการไง ประชาธิปไตยต้องการเลือกตั้ง ก็พิธีเลือกตั้ง เลือกตั้งเพื่อไปเอาอำนาจ

นี่ก็ทำเป็นพิธี มันเป็นพิธีการ แต่มันไม่เป็นจริง ถ้าเป็นจริงขึ้นมา เราไปทำตามนั้น แล้วกลับไปทำตามนั้น ไม่ได้ว่าใครนะ ว่ากิเลสของคน

ครูบาอาจารย์ของเราท่านบอกว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือกิเลสในใจของคน

กิเลสในใจของคน แล้วนี่มันอยู่ในใจของเรา แล้วตอนนี้เราพยายามศึกษากันอยู่ เราพยายามศึกษากิเลสกันอยู่ แล้วเราพยายามจะให้เห็นตัวมัน เห็นหน้ามัน แล้วเราจะเอาชนะมัน เอวัง