ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจปฏิบัติ

๒๓ ธ.ค. ๒๕๖o

ใจปฏิบัติ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ไม่อยากเอามาจำเป็นสัญญา”

กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมเคยกราบเรียนถามหลวงพ่อมาครั้งหนึ่งแล้ว หลวงพ่อก็เมตตาตอบคำถามชี้แนวทางให้กระผมแล้วครับ กราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณหลวงพ่อครับ (ถามเรื่องภาพความจำ ทำอย่างไรให้หายไป ถามเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๐)

ตั้งแต่นั้นมาผมก็นั่งสมาธิ ๒๐-๓๐ นาทีก่อนนอนเกือบทุกวัน ถ้าว่างจากงานในวันปกติหรือระหว่างขับรถกลับบ้าน ช่วงรถติดก็ทำอารมณ์จับที่ลมหายใจเข้าออกที่รูจมูกเอาแทบทุกวัน

จนเมื่อราวกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมนั่งท่องพุทโธจนเห็นลมเข้าออกรูจมูกชัดมาก รู้สึกเย็นรูจมูกมาก ขณะนั้นผมแปลกใจเลยเลิก ไม่ท่องพุทโธ แต่เอาสติและความรู้สึกมาจับลมดูลมเข้าออกรูจมูกแทนเอา และที่สำคัญครับ หูได้ยินรอบข้างแต่เราไม่ได้สนใจเลย (คงสงสัยและตื่นเต้นกับอาการจึงไม่สนใจ)

พอสักพักผมเอาสติมาท่องพุทโธใหม่ รู้สึกว่าพุทโธชัดมาก ดังในใจมาก ไม่มีอารมณ์อื่นมาผสมเลย (ความรู้สึกดีกว่า สุดยอดกว่าคราวที่นั่งพุทโธและขนลุกพร้อมตัวลอยหมุนหัวกลับ ที่เคยถามหลวงพ่อไว้ครั้งแรกครับ)

แต่หลวงพ่อครับ มันเป็น ๑-๒ นาทีเท่านั้นเอง คงเพราะผมสงสัยมาก คิดปรุงเอาเองว่า อีกหน่อยคงได้แบบนั้น อีกหน่อยคงได้แบบนี้ สุดท้ายพุทโธที่ท่องเลยไม่ชัดเลย กลับมาเป็นเหมือนเดิม เรียนถามหลวงพ่อดังนี้

๑. นี่คือการเป็นหนึ่งในความรู้สึกของสมาธิขั้นต้นของคนที่เริ่มฝึกจิตสงบ และคนฝึกทุกคนต้องเจอใช่หรือไม่ครับ (ผมไม่อยากเอาความจำ)

๒. หลวงพ่อเคยตอบคำถามลูกศิษย์บนศาลาเมื่อปีกว่าๆ กระผมก็นั่งฟังที่ศาลาในวันนั้นด้วยครับ ว่าด้วยคำถามที่ว่า “ลมหายใจหายไป” กรณีของผมคือจะหยาบกว่าเพราะกระผมไม่ท่องพุทโธ เป็นการดูลมแทน ไม่ท่องก็ได้ แต่ที่เขานั่งๆ ไปแล้วลมหายใจหาย จะละเอียดกว่าที่ผมเป็นใช่หรือไม่ครับ

๓. ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ พอผมนั่งสมาธิ จับลมที่รูจมูกชัดมาก พุทโธชัดดีกว่าเดิม พุทโธดังในใจกว่าเดิม เหมือนกับว่าพอนั่งแล้วจิตวิ่งมาที่รูจมูกทันทีครับ นั่งสบายดีมาก กระผมสงสัยตัวเองว่า กระผมเอาอารมณ์นั้นติดเป็นสัญญาในการนั่งสมาธิแล้วใช่หรือไม่ครับ ถ้าใช่ ถูกหรือผิด

๔. นั่งๆ ไปในขณะหลับตา ห้องนอนกระผมเหมือนมีแสงสว่างวาบหนึ่ง แสงที่เกิด กระผมเดาว่าเป็นแสงสว่างที่ไม่มีแหล่งกำเนิดแสง เพราะโต๊ะเก้าอี้ไม่มีเงาของวัตถุ เห็นพื้นไม้ขัดเงาแว็บเดียว กระผมคิดว่าไม่ใช่ฝัน ถ้าฝันก็แสงสว่างกว่าที่เคยฝัน เรียนถามหลวงพ่อครับ แสงสว่างที่เกิดเป็นแสงสว่างที่ไม่มีแหล่งกำเนิดใช่หรือไม่ครับ

(คำถามข้อที่ ๔. นี้ ก่อนนี้กระผมฟังชาวบ้านมาเยอะมาก อ่านมาก็เยอะ แต่ถ้ามาเกิดกับกระผม กระผมก็ไม่อยากเอามาจำเป็นสัญญาในการนั่งสมาธิครับ แต่ถ้าจริง กระผมก็ภูมิใจมากครับ)

ตอบ : นี่คำถามข้อ ๑. ๒. ๓. ๔. มันเริ่มต้นการปฏิบัติ เพราะเขาบอกว่าเขาเคยมานั่งฟังคำตอบที่เราตอบปัญหาตั้งแต่ปีกว่าแล้ว ปีกว่าแล้ว เป็นคำถามที่ว่า “ลมหายใจหาย” ลมหายใจหายนั่นน่ะ แล้วเขาบอกที่เขาเป็น มันจะเป็นเหมือนกันหรือไม่

คำถามว่า เขาเคยมานั่งฟังมาตลอดแล้ว นั่นคือการศึกษาในประเภทหนึ่ง การฟังไง เห็นไหม สมัยก่อนยังไม่มีตำรับตำราก็ศึกษากันโดยมุขปาฐะ โดยการจำ แต่ในปัจจุบันนี้ ในสมัยปัจจุบันนี้มีตำรับตำราแล้ว การศึกษาของเรา เราค้นคว้าเอาทางวิชาการ นี่พูดถึงการศึกษา

นี่ก็เหมือนกัน การฟังธรรมๆ ก็เป็นการศึกษาชนิดหนึ่ง เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านพูดถึงว่า พระกรรมฐาน เวลาสิ่งที่แสดงธรรมๆ การฟังธรรมๆ เป็นอันดับหนึ่ง

การฟังธรรมๆ ฟังธรรมจากในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรมๆ จากในใจของหลวงปู่มั่น ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในใจของหลวงปู่มั่นท่านมีสัจจะมีความจริง ท่านจะถ่ายทอดๆ นี่เผยแผ่ๆ มา เราเองต่างหากที่เราศึกษา คือเราฟังแล้วเราเข้าใจหรือไม่เข้าใจ

ถ้าไม่เข้าใจ หลวงตาท่านบอกว่า ฟังธรรมไม่เป็น ฟังธรรมไม่เป็น

ฟังธรรมไม่เป็นคือฟังแล้วไม่เข้าใจ ฟังแล้วไม่ได้ประโยชน์ นั่นคือฟังไม่เข้าใจ นั่นคือฟังไม่เป็น ถ้าฟังเป็นๆ มันก็เหมือนในสมัยปัจจุบันนี้ โทรศัพท์ ถ้าใครมีเครื่องรับโทรศัพท์ ถ้ามีคนโทรมา เรามีโทรศัพท์รับได้ เราก็จะรับได้ ถ้าโทรศัพท์เราเสียหาย โทรศัพท์เราไม่สมบูรณ์ เรารับไม่ได้หรอก โทรศัพท์นะ แม้แต่ถ่านหมด ถ่านหมดก็จบแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาที่แสดงธรรมๆ เราเป็นเครื่องรับ ถ้าเครื่องรับ ถ้ามันรับได้ รับได้แสดงว่าฟังธรรมเป็น ถ้าฟังธรรมเป็น มันเป็นประโยชน์กับเราไง นั่นน่ะการฟังธรรมฟังเข้าใจแล้ว ทีนี้พอเข้าใจแล้วเราจะมาประพฤติปฏิบัติ เวลาจะปฏิบัติ เราจะเอาความจริงของเราไง

โทรศัพท์ต้องรอเขาโทรมามันถึงจะมีคลื่น เราถึงจะได้ฟังธรรมอันนั้น แต่ถ้าเราปฏิบัติ ปฏิบัติมันเกิดจากใจเราเลย

ที่ว่าเวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ป่าอยู่เขา ท่านกลับมาในกรุงเทพฯ นี่พระผู้ใหญ่ “ท่านมั่น ท่านมั่นท่านอยู่ในป่าในเขาท่านไปศึกษากับใคร เราเป็นนักวิชาการ เราอยู่กับตู้พระไตรปิฎก อยู่กับตำรับตำรา เรายังต้องค้นคว้าตลอดเวลา แล้วท่านฟังธรรมจากใคร”

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ผมฟังธรรมตลอดเวลา ผมได้ฟังเทศน์ตลอดเวลาเลย”

ตลอดเวลาเพราะท่านปฏิบัติตลอดเวลาไง จิตใจมันเปิดตลอดเวลา พอจิตใจมันเปิดตลอดเวลา มันสัมผัสสัมพันธ์ไง

เวลาหลวงตาท่านเดินจงกรม ท่านบอกเลย เวลาเดินจงกรมพิจารณาธรรม กิ่งก้านของธรรม อารมณ์น่ะ ใจเป็นต้น กิ่งก้านคือความคิดที่เกิดจากต้นจากใบ

เวลาต้นไม้มันมีกิ่งมีใบของมัน แล้วก็พิจารณาจากใบไม้ พิจารณาจากกิ่งไม้ พิจารณาจากอารมณ์ ถ้ามันเป็นธรรมนะ

แต่ถ้าไม่เป็นธรรมนะ โอ้โฮ! มันล้มทับตายเลย ต้นไม้ล้มทับฟาดหัวดับไปเดี๋ยวนั้นเลย อารมณ์มันเกิดแล้วนะ มันเหยียบจมดินเลย นั่นถ้าไม่เป็น ไม่เป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าเป็น ต้นไม้ ลำต้น ลำต้นก็คือหัวใจของเรา พิจารณากิ่งก้านสาขาที่มันแผ่ออกไป นี่ไง เดินจงกรมท่านพิจารณาของท่าน แล้วท่านฟังธรรมของท่านตลอดเวลาเหมือนกัน

หลวงตาท่านบอกเลย ท่านเดินพิจารณาธรรม เวลาทำโครงการใหญ่ๆ นะ ท่านบอกไม่ปรึกษาใครเลย ปรึกษาธรรมะ ปรึกษาธรรมะก็เดินจงกรมนี่ เดินจงกรมเวลาปัญญามันเกิด มันไตร่ตรองของมันได้ไง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ในป่าฟังธรรมตลอดเวลาเลย ฟังธรรมตลอดเวลาเลย

แต่ของเรา เราต้องมาวัดมาวา ถ้ามีครูบาอาจารย์เทศนาว่าการ เราได้ฟังธรรมนั้น ถ้ามีปัญหาขึ้นมาก็เป็นคำถามนี่ไง ถ้าคำถาม ฟังธรรมแล้วเข้าใจแล้ว เข้าใจแล้วเราอยากจะประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะให้ใจเราเป็นธรรม ถ้าใจเราเป็นธรรม

ครูบาอาจารย์ท่านสอนวิธีการปฏิบัติ ต้องทำความสงบของใจเข้ามาก่อน

พอเริ่มจะทำความสงบของใจเข้ามา นี่ปัญหาร้อยแปดมาเลย ปัญหาร้อยแปดมาจากไหน มาจากกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตนในใจของตน กิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตนมันอยู่ในใจเรานี้ แล้วมันก็หลบซ่อนในใจเรานี้ แล้วเราก็ว่าเราดี

ทุกคนจะพูดนะ ทุกคนที่ไม่ได้ปฏิบัติจะบอกว่า “เราจะปฏิบัติเมื่อไหร่ก็ได้ เราทำงานมาแสนยาก โอ้โฮ! แค่นั่งสมาธิทำไมจะทำไม่ได้ นั่งนิ่งๆ ใครก็ทำได้” นี่เวลาคิด คิดกันทุกคนเลย แล้วพอมันมาทำจริงๆ ทำไม่ได้

เวลานั่ง เรานั่งเอาใจสงบ มันจะสงบหรือไม่ เวลานั่งขึ้นมา ร่างกายเวลาจับมัดไว้มันก็สงบ นั่งนิ่งๆ ได้ทั้งนั้นน่ะ แต่หัวใจมันนิ่งไม่ได้หรอก

ถ้าหัวใจมันจะนิ่งได้ เห็นไหม เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านสอนประจำ ต้องมีสติ ต้องมีสติ สติเท่านั้นน่ะ สติเกิดจากจิต แล้วสติก็รักษาจิต

ถ้ารักษาจิตขึ้นมา ถ้ามันรักษาจิต รักษาอย่างไร

ของ ของในบ้านเรา ถ้าที่ไหนมันรก เราจัดเก็บให้เรียบร้อยมันก็จบ แต่ความคิดจัดเก็บไม่ได้ ความคิดนี้ให้มันเก็บ เก็บแล้วมันไม่อยู่ ใส่ตู้เซฟมันยังวิ่งออกมาเลย มันถึงต้องมีคำบริกรรมพุทโธๆ นี่ไง พุทโธเพื่อเรียบเรียงให้มันเป็นระบบไง

ถ้าเรียบเรียงเป็นระบบขึ้นมา พุทโธๆๆ นี่จะจัดเก็บ จัดเก็บหัวใจของเรา จัดเก็บกิ่งก้านสาขาของธรรมไง คือสัญญาอารมณ์ในหัวใจของเรา เรามีสติ

ถ้าไม่มีสติมันก็ไปจัดเก็บเงาของมัน จัดเก็บสิ่งที่มันนึกคิด แต่มันไม่ใช่เป็นความจริง

แต่ถ้าเราระลึกพุทโธขึ้นมา พุทโธขึ้นมา เพราะจิตมันเป็นผู้ระลึก เวลาพุทโธขึ้นมา คำบริกรรมส่งออกไหม ส่งออก แต่ธรรมชาติของมันส่งออกแล้ว พลังงานมันส่งออกอยู่แล้ว แต่พลังงานนี้ให้ระลึกถึงพุทโธ ให้ระลึกถึงพุทธานุสติ ด้วยมีสติขึ้นมา

มีสติขึ้นมา พุทโธๆๆ ทีแรกมันก็ขัดมันก็แย้งกัน พุทโธกับจิตมันคนละเรื่องกัน พุทโธนี้เราพยายามระลึกถึงพุทธานุสติ จิตเราก็คิดไปประสาของมันอำนาจของมันโดยกิเลสมันขับไสมันไป

แต่เราพุทโธๆๆ จนมันกลมกลืนกัน มันพุทโธได้ง่ายขึ้น มันพุทโธได้ชำนาญขึ้น พุทโธได้ดีขึ้น มันชักเป็นระบบขึ้นมาแล้ว พุทโธๆๆ ถ้ามันละเอียดขึ้นๆ คือมันระลึกรู้แล้วมันไม่แฉลบ ไม่ออกนอก

เวลาพุทโธๆ มันก็แฉลบไปนู่นแฉลบไปนี่ ถ้ามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันกลมกลืนกัน มันก็สะดวกขึ้น

พุทโธๆ จนมันละเอียดขึ้นๆ มันพุทโธเบาๆ แล้วมันไม่ไปไหน มันอยู่กับเราไง

พุทโธๆๆ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ อย่างที่ถาม พุทโธไม่ได้ จิตมันชัดเจนมาก พุทโธไม่ได้

เพราะคำระลึกรู้ เรากำหนดพุทโธมันส่งออก ที่ว่าข้างนอกๆ ส่งออกๆ

โดยธรรมชาติของมันส่งออก แต่เราใช้พุทโธคำบริกรรมได้สะสมจัดระเบียบของมันเข้ามาเรื่อยๆ ถ้ามันดีขึ้นมา เดี๋ยวเป็นตัวมันเอง ตัวมันเอง ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิคือธาตุรู้ ธาตุรู้ที่ไม่พาดพิงอารมณ์

อารมณ์ที่ว่าพุทโธนี้ก็เป็นอารมณ์ ความคิดก็เป็นอารมณ์ ทุกอย่างเป็นอารมณ์หมด อารมณ์มันเกิดจากจิต ธาตุรู้ รู้อะไร รู้ในสิ่งที่ถูกรู้ ก็รู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวไง

แล้วอารมณ์ความรู้สึกของตัวนี้โดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันครอบงำ กิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เวลาโกรธมันก็จะไปอาฆาตมาดร้ายเขา เวลาหลงมันก็อยากจะได้ตามความพอใจของมัน เวลามันโลภ โอ้โฮ! ภาวนาก็โลภ ภาวนาก็อยากได้

ไม่ได้อะไรเลย เพราะมันเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ข้างนอกที่มันไปกระตุ้นอารมณ์ ไปกระตุ้นอารมณ์ อารมณ์ก็เลยบานทะโล่โท่ไปหมดเลย

พุทโธๆ เพื่อหดมันเข้ามา หุบร่ม เวลาร่มมันกางออกไป ความคิดมันกางออกไป พรึบ! กางเลย หุบไม่ได้ มันหุบไม่เข้า แล้วก็ดิ้นรนกันอยู่นี่ ดิ้นรนอยู่นี่ หุบร่มไม่ได้ไง

ถ้าหุบเข้ามา หุบร่มเข้ามา พุทโธๆๆ จนเป็นตัวของมันเอง มันไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ตัวมันชัดเจนขึ้นมาแล้วจะ อ๋อ! สมาธิเป็นอย่างนี้ สมาธิเป็นอย่างนี้เพราะจิตมันตั้งมั่น จิตเป็นจิต นี่เป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิคือมีสติมีปัญญา ถ้าจิตเป็นจิต ถ้าเป็นมิจฉา เป็นมิจฉามันเป็นภวังค์ รู้แต่ทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเป็นสัมมา สติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้วรำพึงไป

นี่พูดถึงว่าเวลาภาคปฏิบัติ เวลาปฏิบัติแล้วก็ต้องกลับมาปฏิบัติแบบคำถาม คำถามว่า เคยถามมาเรื่องภาพในใจ หลวงพ่อก็ตอบมาแล้ว แล้วนี่ก็เริ่มกลับมาปฏิบัติ พอปฏิบัติเข้าไปแล้ว เวลามันเข้ารูจมูก จมูกมันชัดๆ มันเย็นๆ ผมก็เลยมีความแปลกใจ

เวลาเราศึกษามันก็ส่วนศึกษา แต่พอเรามาสัมผัสขึ้นมา เอ๊อะ! เอ๊อะ! เอ๊อะ! เป็นอย่างนี้หรือ

เวลาศึกษามาแล้วนะปากเปียกปากแฉะเถียงกันนะ อู้ฮู! ไอ้นั่นดีกว่าไอ้นี่ ไอ้นี่ดีกว่าไอ้นั่น แต่เวลาเป็นกับตัวเอง งงนะ

ถ้ามันเย็นๆ มันเย็นขนาดไหน เย็นๆ คือความเย็นใจ เวลาร้อนๆ มันร้อน มันขุ่นใจร้อนใจ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันร่มเย็นเป็นสุขมันก็มีความเย็นใจ

แต่ความเย็นใจ เพราะเราไม่เคยมีความเย็นใจ เรามีแต่ความร้อนใจ เวลาเย็นใจขึ้นมามันก็ตกใจ เวลาตกใจขึ้นมา เราก็ไปเปลี่ยนแปลงไง

เราจะบอกว่า อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ

อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ

นี่เป็นคำสั่งเสียของหลวงปู่มั่นท่านสั่งไว้

อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรากำหนดลมหายใจ เรากำหนดพุทโธอยู่นี่ เราอย่าทิ้ง อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ ทำของเราไป

มันจะเย็น มันจะมีปฏิกิริยาอย่างนี้เกิดขึ้น เรื่องของเขา เราไม่ทิ้งผู้รู้ ไม่ทิ้งพุทโธ อย่างคนปฏิบัติไปแล้วพอมีสิ่งใดขึ้นมา กลัวเป็นกลัวตาย

ไม่ต้องไปกลัว จิตมันรู้อยู่นี่ไม่มีตาย ไอ้คนเผลอไผลต่างหากที่มันจะตาย ไอ้คนที่เผลอไผล ไอ้คนที่ตกใจ ไอ้คนที่คิดมากๆ นั่นน่ะมันจะตาย ไอ้คนไม่คิดน่ะมันไม่ตาย ไม่ตายเพราะผู้รู้มันเด่นชัด

แต่ไอ้คนที่คิดมาก วิตกกังวล มีความทุกข์ความยาก นั่นแหละไอ้คนนั้นมันจะตาย ตายเพราะอะไร ตายเพราะความคิดมากนั่นแหละ คิดจนมันทิ้งบ้านมันไป ทิ้งบ้านมันก็วูบไปเลย คนตายคือวูบหายไป แล้วก็ดับขันธ์ นั่นคือคนตาย

แต่ถ้าเรารู้ชัดๆ อยู่ ไม่ตาย ไม่มีตาย ไม่ต้องตกใจว่ามันจะเป็นจะตาย ไม่ต้องไปให้มันมาหลอก

นี่พูดถึงว่า เริ่มต้นจากการปฏิบัติมันจะเกิดปฏิกิริยาอะไรต่างๆ ขึ้นมา อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ เราพยายามทำของเราเข้ามา ทำเข้ามาแล้ว ถ้าพอมันชัดเจนขึ้นมา อย่างที่คำถามอารัมภบทมาเรื่อยๆ “โอ๋ย! มันชัดนะ มันดังกลางหัวใจชัดเจน”

นั่นแหละของจริง ของจริงมันเด่นชัดในกลางหัวใจ พุทโธกังวานกลางหัวใจ มันชัดเจนของมัน

แต่เพราะมันกลมกลืนกันแล้วไง

แต่เดิมพุทโธต้องนึกเอา ใจเราอยู่นี่ใช่ไหม เราก็ต้องพยายามนึกพุทโธเข้ามาไง วิตก วิจารขึ้นมาเพื่ออยากอยู่กับพุทธานุสติไง พอมันชัดเจนขึ้นมามันดังกังวานกลางหัวใจ มันพุทโธเองเลย พุทโธๆ พุทโธสอนเราด้วย มึงพุทโธดีๆ อย่างกูนี่สิ มันจะสอนเราอีกต่างหาก นี่ถ้ามันเป็นจริงมันจะเป็นจริงขึ้นมาแบบนี้

ทีนี้พอเป็นจริงขึ้นมา เขาบอกว่า สิ่งที่มันเป็นอย่างนี้มันเป็นชั่วครั้งชั่วคราว

ชั่วครั้งชั่วคราวมันก็แบบว่า เราบริกรรมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราทำเหตุมาก ผลมันก็จะมากขึ้น นี่เราทำเหตุได้แค่นี้ มันก็เกิดผลให้เราเห็นเท่านี้ พอเกิดผลให้เราเห็นได้เท่านี้ เห็นว่าจิตเราสงบได้ จิตเป็นสมาธิได้

แต่อารัมภบทเขาบอกเลย หลวงพ่อครับ แต่มันเป็นแค่ ๑-๒ นาทีเท่านั้นเองนะครับ โอ๋ย! เสียดาย คืออยากได้อีก

ถ้าอยากได้อีกก็ต้องกลับไปสร้างเหตุมากๆ สร้างเหตุมากๆ แล้วสร้างไว้ สร้างแต่เหตุ มันจะลงไม่ลงช่างหัวมัน

แต่พวกเราเวลาสร้างเหตุแล้วก็อยากลงสักทีหนึ่งแล้วก็ไปเริ่มต้นใหม่ มันก็เลยชักช้า

คำนี้เป็นคำสอนของหลวงปู่เจี๊ยะสอนเราเอง ถ้า ๒-๓ ชั่วโมง จะเป็นสมาธิได้ ๒-๓ นาที ถ้ามัน ๗-๘ ชั่วโมง จะได้ ๗-๘ นาที ถ้าทำมากขึ้นจะมากเท่านั้น

เราก็เลยพุทโธโดยไม่เอาสมาธินะ สะสมพุทโธไว้เยอะๆ เผื่อจะได้สมาธิลึกๆ พุทโธโดยไม่เอาสมาธิ เราทำอย่างนั้นจริงๆ

เวลาครูบาอาจารย์สอนอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราอยากพิสูจน์ เราจะพิสูจน์ เราก็เลยตั้งสติกับตัวเองว่า ทำ เหมือนกับทำงานโดยที่ไม่เอาผลตอบแทน ทำสมาธิโดยที่ไม่ต้องเอาสมาธิ เอาแต่เหตุ สร้างแต่เหตุ เหตุเท่านั้นน่ะ ทำอยู่อย่างนั้นน่ะเป็นเดือนๆ นะ พุทโธๆๆ โดยไม่เอาสมาธิ ไม่เอา จะลงก็ดึงไว้รั้งไว้ไม่ให้ลง เวลามันเต็มที่ของมันน่ะ โอ๋ย! มันควงสว่านลงเลยนะ จิตน่ะ วูบ วืดๆๆ

ทีนี้เพียงแต่ว่า เรามีครูบาอาจารย์คอยเป็นแบ็ก เราเลยไม่กลัว ถ้าเป็นคนอื่นตกใจตาย มันชักแล้ว ถอนเลย แต่เราไม่ เราปล่อยวูบๆ ควงสว่านลงนะ ลึกมาก “เชิญครับ” มันพูดกับจิต “เชิญเลย ตามสบาย” กำหนดพุทโธไปเรื่อยๆ ควงจนถึงฐีติจิต ถึงฐาน กึก! เงียบ สักแต่ว่า เออ! หลวงปู่เจี๊ยะพูดจริงเว้ย จริง

เราพิสูจน์หมดน่ะ แต่ถ้าครูบาอาจารย์สอนอะไรมา เราจะพิสูจน์กับตัวเราเอง ทำอย่างที่เขาบอกนั่นแหละ ทำเต็มที่เลย ได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ได้ มันโกหก ถ้าได้ ใช่ นี่เราทำของเรามาอย่างนี้

ฉะนั้น เขาบอกว่ามันเป็นแค่ ๑-๒ นาทีเท่านั้น

มันก็ฟ้องไงว่าเหตุเอ็งมีเท่านั้น ในสมุดบัญชีมีเท่าไรก็เบิกได้เท่านั้น เอ็งฝากไว้เท่าไรก็เบิกได้แค่นั้น ถ้าเราฝากไว้หลายๆ ล้านแล้วดอกเบี้ยทบด้วย เราเบิกต้นมา ดอกเบี้ยยังอยู่ในบัญชีคงค้างเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราทำเหตุของเรามากๆ อย่าไปตกใจ อย่าไปตกใจว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันอยู่ที่เหตุ เหตุมันสมดุลเท่าไร ผลมันจะตอบเท่านั้น แต่ถ้าเหตุมันไม่สมดุลของมัน เราก็สร้างเหตุของเรา เราเป็นนักปฏิบัติ เราเป็นนักสะสมของเรา สะสมคุณงามความดีของเรา นี่พูดถึงอารัมภบทนะ

“๑. นี่คือการเป็นหนึ่งในความรู้สึกขั้นต้นของคนที่เริ่มต้นฝึกจิตสงบ และคนที่ฝึกทุกคนต้องเจอใช่หรือไม่ครับ”

ใช่ แล้วไม่ใช่ใช่อย่างนี้นะ ใช่ หมายความว่า อำนาจวาสนาบารมีของคน จริตนิสัยของคนมันไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ประสบการณ์ของจิตไม่มีเหมือนกันหรอก

ประสบการณ์ของจิต ประสบการณ์ที่เราเป็น ประสบการณ์ข้อที่ ๑. เวลาถามนะ ประสบการณ์ “คนที่ปฏิบัติมันต้องเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ครับ”

เราว่าใช่ ใช่ แต่ก็ด้วยแง่มุมต่างๆ ไง ไอ้แง่ไอ้มุมของจิตที่มันเป็นแต่ละอันมันอาจจะแตกต่างกัน แต่ผลของมันคือจิตเป็นสมาธิไง ผลของมันคือจิตสงบไง แต่แง่มุมที่รู้ที่เห็นแตกต่างกัน แตกต่างคือความเห็นแตกต่าง แต่ผลของมันคือสัมมาสมาธิ คือจิตมันต้องสงบ จิตต้องมีกำลังของมัน มันถึงไปรู้ไปเห็นของตน

ทีนี้รู้เห็นของตนมันก็อยู่ที่จริตนิสัย คนชอบอะไร คนเคยมีการศึกษาอย่างใด คนมีการศึกษาอย่างใดก็แล้วแต่ มันก็คิดว่าสมาธิเหมือนกับองค์ความรู้ที่มีการศึกษาน่ะ คนมีการศึกษานิติศาสตร์ก็บอก เออ! มันเหมือนข้อตกลงอย่างนั้นๆ คนทางวิศวกรรมก็ว่า เออ! มันเป็นเหมือนที่เราทำงานอย่างนั้นๆ

มันอยู่ที่มุมมอง อยู่ที่การศึกษา แล้วพอจิตมันเป็นมันก็เทียบกับความรู้ของตนว่าสมาธิจะเป็นอย่างนั้นๆๆ มันก็อยู่ที่ใครมีการศึกษามาอย่างใด มีมุมมองอย่างไร มันก็ว่าสมาธิของมันเป็นแบบนั้น

ถ้าสมาธิเป็นอย่างนั้น เราถึงว่า เอาถึงผลของสมาธิ แต่มุมมอง สิ่งที่ว่าทุกคนจะเป็นอย่างนี้ทุกคนหรือไม่

เป็น แต่แง่มุมอาจจะแตกต่างกัน ถ้าไม่บอกว่าแง่มุมมันแตกต่างกัน ใครพูดแตกต่างจากเรา มา สู้กัน เอ็งผิด กูถูก มันไม่ใช่

ถ้าเขาพูดถึงสมาธิถูกก็คือถูก แต่แง่มุมที่เขาเห็นก็วาสนาของเขา ไอ้ของเรา เราสงบแล้ว เรามีความรู้ความเห็นของเราแล้ว อันนี้ของเรา แล้วมุมมองของเราก็เป็นมุมมองของเรา ถ้ามุมมองของเรา มันก็เป็นวาสนาของคน

นี่พูดถึงว่า ทุกคนจะเป็นอย่างนี้ทุกคนใช่หรือไม่

ทุกคนต้องทำความสงบของใจเหมือนกันหมด แต่มุมมองหรืออำนาจวาสนาของคนอาจจะแตกต่างกันบ้าง แตกต่างกันด้วยความเห็นโดยกิริยา แต่ความจริงต้องเป็นสมาธิ สมาธิอันเดียวกัน ศีล สมาธิ ปัญญา อริยสัจมีหนึ่งเดียว ทุกคนต้องก้าวผ่าน จิตนี้ต้องกลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคเหมือนกันหมด แต่วิธีการของคนแตกต่างกันได้

“๒. หลวงพ่อเคยตอบคำถามลูกศิษย์ที่ศาลาเมื่อปีก่อน กระผมนั่งฟังวันนั้นด้วย คำถามที่ว่าลมหายใจหายไป กรณีของผมหยาบกว่าอย่างนั้นใช่หรือไม่”

ใช่ กรณีลมหายใจจะหายไป มันพุทโธๆๆ จนพุทโธไม่ได้ จนพุทโธไม่ได้ แต่ตัวเองเด่นชัดนะ

ถ้ากำหนดลมหายใจ ลมหายใจก็ละเอียดๆ จนกำหนดถึงลมไม่ได้ พอกำหนดลมไม่ได้ ธาตุรู้ รู้ในสิ่งที่ถูกรู้ ธาตุรู้ คือจิตรับรู้ลม เวลามันละเอียดขึ้น มันปล่อยลม ตัวมันจะเป็นอิสระ

เวลาพุทโธๆ มันกำหนดพุทโธๆ ธาตุรู้เป็นผู้กำหนดอารมณ์รู้ กำหนดพุทโธๆ ธาตุรู้เป็นผู้กำหนด ธาตุรู้รู้พุทโธ พอรู้จนละเอียดขึ้น จนกลมกลืนกัน รู้จนกลมกลืนกัน มันปล่อยวางได้ จนมันอยู่ในตัวมันเอง นี่มันหายไปแบบนี้

มันหายไปโดยพุทโธ ความจริงธาตุรู้เด่นชัด มันอยู่ของมัน แต่คำบริกรรมหายไป หายไปเพราะว่าสิ่งที่ถูกรู้มันไม่รู้ข้างนอก ไม่รู้สิ่งที่มันถูกรู้ มันวางสิ่งที่ถูกรู้ วางจากข้างนอก จะเป็นตัวมันเองไง นี่ถ้ามันหายจริงๆ มันหายแบบนี้

แต่เวลาส่วนใหญ่แล้ว เพราะมีพระมาหาเรานะ เขาบอกว่า พุทโธต้องหาย ลมหายใจต้องหาย

เพราะเรารู้ว่าเราอยากให้พุทโธหาย อยากให้ลมหายใจหาย เราก็เลยปฏิเสธความรับผิดชอบ ปฏิเสธความรับรู้ แต่ตัวมันเองก็ยังหยาบอยู่อย่างนั้น มันก็เลยไม่เป็นไง

ที่ว่าพุทโธหาย ลมหายใจหาย แต่ไม่รู้ถึงความเป็นไปของตน ไม่รู้ถึงความมั่นคงของจิต ไม่รู้ว่าจิต สมาธิเป็นอย่างไร อันนี้ไม่ใช่สมาธิ อันนี้เป็นภวังค์ เป็นการปฏิเสธความรับรู้

เหมือนคนทำงาน คนที่ทำงานเสร็จหนึ่ง กับคนที่ปฏิเสธการทำงานแต่บอกตัวเองงานเสร็จแล้วหนึ่ง ต่างกันอย่างนี้ ต่างกัน

คนที่ทำงานสมบูรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้วคือเขาทำงานเสร็จแล้ว คือพุทโธๆ จนพุทโธหายไป กำหนดลมจนลมหายไป เขาทำงานเสร็จแล้ว

กับอีกคนหนึ่งไม่ทำอะไรเลย แล้วบอกว่าพุทโธหาย หายโดยที่มันไม่ได้ทำอะไรเลย มันก็ไม่รู้อะไรเลย มันก็เลยไม่มีอะไรเลยไง เพราะบอกว่ามันต้องหายไง พอมันหาย เราก็ปฏิเสธสิ พวกที่ทำงานเสร็จแล้วเขาก็อยู่กันสบายใช่ไหม เราก็แอบนอนไปกับเขา เข้ามาเสร็จแล้วเหมือนกัน แต่เราไม่มีอะไรเลย

การหายมันหายได้สองแนวทาง แล้วส่วนใหญ่แล้วจะหายไปโดยที่ว่าปฏิเสธ หายไปโดยไม่ยอมรับรู้ หายไปโดยที่สติปัญญาตนอ่อน เพราะอะไร

เพราะว่ามันจะหายโดยข้อเท็จจริงต้องมีวาสนานะ ต้องทำบุญมาเยอะ ต้องคนเก่งจริงๆ มันถึงจะหายแบบนั้น เพราะอะไร

เพราะมันจะหาย หนึ่ง ตกใจกลัวตาย ตกใจว่าเราไม่ได้หายใจ มันตกอกตกใจไปหมด มันจะมีตัวแทรก มันจะมีอุปสรรคตัวแทรกเข้ามาให้มีอุปสรรคมหาศาลเลย แต่เราก็มีอำนาจวาสนาพาจิตเราจนรอดพ้นจากการโกหกการปลิ้นปล้อนของกิเลส จนเราไปสู่ประสบความสำเร็จได้ วาสนาเยอะนะ แค่พุทโธนี่แหละ แค่พุทโธง่ายๆ นี่แหละ

คนไม่มีวาสนาทำแล้วอุปสรรคทั้งนั้นน่ะ พออุปสรรคแล้ว เออ! พุทโธก็หายแล้ว อะไรก็หายแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเลย

ไม่มีอะไรน่ะ คำว่า “ไม่มีอะไร” มันบอกแล้วล่ะว่าเอ็งผิดทาง

แต่ถ้าเป็นความจริง โอ้โฮ! โอ้โฮ! แหม! ถ้าไม่โอ้โฮ! นี่ต้องโอ้โฮ! แน่นอน มันมหัศจรรย์จริงๆ แล้วมหัศจรรย์จริงๆ ก็คือใจของเรานั่นแหละ แต่มันโดนปกคลุมไปด้วยกิเลส แล้วคราวนี้คำบริกรรมของเรา การกระทำของเรามันเหนือกิเลส มันทำให้กิเลสยุบยอบตัวลงแล้วมันเด่นชัดขึ้นมา ตัวเราเองเป็นอิสระเด่นชัดขึ้นมา นี่มันมหัศจรรย์ขนาดนั้นน่ะ ทำไมมันจะไม่จริง มันจริงแน่นอน

ฉะนั้น “ของผมหยาบกว่าเขาใช่หรือไม่”

ใช่ แล้วเราก็ค่อยทำของเรา ค่อยๆ ทำของเราไป นั่นมันเป็นเรื่องของเขาใช่ไหม นี่คือการกระทำของเรา มันจะเป็นความจริงของเราไง ฉะนั้น เป็นความจริงของเรา เราก็กำหนดพุทโธของเราเข้าไปเรื่อยๆ เรากำหนดพุทโธของเราไปเรื่อยๆ ทำของเราไปเรื่อยๆ เราปฏิบัติของเราขึ้นไปเพื่อจะเอาความจริงของเรา

“๓. ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผมนั่งสมาธิจับลมหายใจที่รูจมูกชัดมาก พุทโธดีกว่าเดิม พุทโธดังกว่าเดิม แล้วพอนั่งไปแล้วจิตมันวิ่งมาที่รูจมูกทันที นั่งสบายมาก สงสัยตัวเองว่าสิ่งนี้มันเป็นสัญญาหรือไม่”

ถ้าคำว่า “เป็นสัญญา” เราจะรู้ได้ ถ้าเป็นสัญญา สัญญา ตัวตนของเรามันไม่ชัดเจน แล้วมันไปอยู่ที่ตรงนั้นหมด แต่ถ้าเราชัดเจนของเรา เพราะอะไร เพราะคำว่า “พุทโธ” เราต้องใช้ตลอดไปไง

ถ้าบอกว่าวันนี้พุทโธ แล้วพรุ่งนี้ก็เป็นความจำจากวันนี้ไป มันก็เป็นสัญญา สัญญาคือมันให้ผลได้น้อย แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ พุทโธ คำบริกรรม เราต้องใช้สอยตลอดไป

เหมือนหินลับมีด มีดที่เราใช้งานมันต้องกร่อนไปเป็นธรรมดา มันต้องทื่อไปเป็นธรรมดา เราใช้มีด เราต้องลับมีดของเราต่อเนื่องไป พุทโธเราต้องต่อเนื่องไปเพื่อลับมีดของเราให้คมตลอดเวลา ถ้ามีศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมา จิตเราจะคมกล้า จิตเราจะพิจารณาของเราได้ มันต้องอาศัยพุทโธตลอดไป

ฉะนั้น ถ้าอาศัยพุทโธตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติ เราจะต้องอาศัยตลอดไป ถ้าอาศัยตลอดไป คำว่า “อาศัยตลอดไป” การกระทำต่อเนื่องไป มันเป็นความจำจากของเดิมหรือไม่

มันเป็นอยู่แล้ว คำว่า “สัญญาๆ” สัญญาคือว่ามันไม่เป็นข้อเท็จจริงในการปฏิบัติในปัจจุบัน นั่นเขาเรียกว่าสัญญา

แต่ถ้าเรากำหนดพุทโธ เมื่อวานก็พุทโธมา วันนี้ก็จะพุทโธ พรุ่งนี้ก็จะพุทโธต่อไป แล้วเป็นสัญญาหรือไม่

ถ้าเป็นปัจจุบัน ในธรรมในปัจจุบัน สติปัญญาพร้อม นี่ไม่ใช่สัญญา

เขาบอกว่า จะลบสัญญาอย่างไร จะไม่ให้มีสัญญาเลย

สัญญา สัญญาคือข้อมูลเดิม คือพื้นฐานเดิมของเราต้องมี แต่ขณะที่ปฏิบัติต้องให้เป็นปัจจุบัน อย่างเช่นเรายังไม่ได้ปฏิบัติ เราพูดได้จากสัญญาจากข้อมูลต่างๆ เราพูดได้ เราพิจารณาได้ แต่เวลาเราเริ่มจะนั่งปฏิบัติ ตรงนี้ต้องให้เป็นปัจจุบัน เวลาเราจะเริ่มทำต้องให้เป็นข้อเท็จจริง

เราเคยหุงข้าวทุกวันๆ แล้วหุงข้าวแล้ว เคยหุงข้าวมันก็กินไปหมดแล้ว อนาคตไปข้างหน้าเราก็ต้องหุงข้าวต่อไป แต่ถ้าปัจจุบันหุงเดี๋ยวนี้มันหอมๆ เลย เวลาหุงมันสุกขึ้นมา กลิ่นหอม ได้กินเดี๋ยวนี้เลย

นี่ภาคปฏิบัติ เอาตรงนี้ เอาตรงกดปุ่มแล้วเปิดหม้อ โอ้โฮ! ไอมันเข้าจมูก เออ! นี่ของจริง ของจริง ข้าวมันเตะจมูกเลย ตักมานี่ โอ้โฮ! ยังร้อนๆ เลย นี่ของจริง พุทโธอย่างนี้ นี่ถึงว่าไม่เป็นสัญญา

ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะวิตกกังวลไปเองไง แล้วเรายังแบ่งแยกไม่ได้

แต่เราจะบอกว่า การปฏิบัติไปมันจะมีอุปสรรค มันจะเป็นสัญญาหรือไม่เป็นสัญญา ถ้าไม่เป็นสัญญามันชัดเจน แล้วมันจะเป็นสมาธิได้ ถ้าเป็นสัญญาแล้วมันจะล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นน่ะ ถ้าเป็นสัญญาแล้วเราก็สะบัดหน้า เอาใหม่ ตั้งต้นใหม่ ถ้าเป็นสัญญานะ สะบัดหน้าเลย ไอ้ที่ทำมานะ ผิด เริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่ทำมาแล้วผิด เลิกดีกว่า จบ

ถ้ามันเป็นสัญญาเรารู้ได้ รู้ได้หมายความว่ามันไม่มีผลตอบแทน ไม่มีผลตอบสนอง เราวางเลย หายใจชัดๆ เอาใหม่ พุทโธไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะกลับมา กลับมาเป็นปัจจุบันมันก็ใช้ได้ไง

“๔. นั่งๆ ไปในขณะหลับตา ในห้องกระผมที่นั่งอยู่นั้นเหมือนมีแสงสว่างวูบ แสงที่เกิด ผมเดาว่าเป็นแสงสว่างที่ไม่มีแหล่งกำเนิด เพราะโต๊ะเก้าอี้มันไม่มีเงา”

ไอ้แสงนั้นมันเกิดได้ จิตมันสงบนี่แสงเกิดได้ แสงที่มันเกิดได้ เกิดได้นะ โดยทั่วไปครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติเวลาจิตสงบแล้วเห็นความสว่างไสว นั่นเป็นอำนาจวาสนาของท่าน

แต่ความจริงนะ ความจริงต้องจิตสงบ จิตสงบแล้วจิตมันจะไปรู้ไปเห็น มันเกิดแสงสว่าง เกิดต่างๆ นั่นน่ะ อันนั้นเพราะว่ามันมีวาสนา แต่ส่วนใหญ่ของคนเรา ส่วนใหญ่แล้วเวลาจิตมันสงบแล้วมันจะสงบลงเฉยๆ ไม่เห็นแสง ไม่เห็นอะไรหรอก

การเห็นแสง ทีนี้คนคิดว่าจิตสงบแล้วต้องเห็นแสงสว่าง มันก็เลยไปเปรียบเทียบว่า ถ้าเมื่อใดเห็นแสงก็คือจิตสงบ ถ้าเมื่อใดไม่เห็นแสง จิตก็ไม่สงบ

มันไม่ใช่ แสงนี้คือจิตออกรู้ไง ผู้รู้รู้ในสิ่งที่ให้ถูกรู้ พอจิตมันสงบแล้วมันพัฒนาดีขึ้น จิตปกติ จิตปกติคือสามัญสำนึกของเราคือปุถุชน ถ้ากัลยาณชนคือจิตมันสงบได้ ถ้าจิตสงบได้ จิตที่มีวาสนาจะเห็นแสง

เห็นแสงก็เป็นบางครั้งบางคราว บางทีส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็น แล้วถ้าเห็นนะ เวลาเห็นนะ เห็นเป็นแสง เห็นเป็นดวง เราก็เคยเห็น เราก็เคยรู้ เราเคยเห็นของเรามาทั้งนั้นน่ะ แต่ส่วนใหญ่แล้วมันสงบเฉยๆ

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าถ้าจะต้องเห็นอย่างนั้นๆๆ เห็นแสงเป็นสมาธิ ก็จะต้องเห็นแสงตลอดไป แล้วถ้ามันไม่เห็นแล้วเป็นสมาธิได้ไหม เพราะว่าจริงๆ แล้วคือสมาธิ

อย่างเช่นข้อที่ ๑. ที่พูดข้อที่ ๑. บอกว่า จิตสงบนี้เป็นพื้นฐาน แต่มุมมองหรือประสบการณ์ของจิต จริตนิสัยแตกต่างกัน ความแตกต่างกันโดยมุมมอง แต่จริงๆ แล้วคือจิตสงบ

อันนี้ก็เหมือนกัน จริงๆ แล้วคือจิตมันสงบ ถ้าจิตสงบแล้วบางทีมันจะเห็นแสงบ้าง เห็นแสงก็เป็นครั้งเป็นคราว บางทีสงบแล้วก็ไม่เห็น

ถ้าเห็นแสง สิ่งที่ว่าวาบขึ้นมานี่ใช้ได้ เห็นวาบขึ้นมานี่ใช่ไหม ใช่ บางทีมันได้แค่นี้ไง วาบมาก็คือวาบ วาบเพราะอะไรล่ะ

ถ้าเป็นทางโลก วาบก็เอ็งกำลังจะเป็นลม เพราะว่าเอ็งสติไม่ดี กำลังจะเป็นลม ต้องส่งหมอ อันนั้นคือคนจะเป็นลม มันวูบวาบเห็นดาวน่ะ โอ้โฮ! ดาวพร่าเลย อันนั้นคือคนจะเป็นลม แต่ถ้าจิตเราสงบ จิตเราดี ถ้ามันวาบขึ้นมา เพราะจิตมันเป็น มันสงบของมันแล้วเรารู้ได้

หมายความว่า คนธรรมดานี่นะ สติเขาไม่สมบูรณ์ใช่ไหม เวลาเขาไปเกิดอุบัติเหตุ มันเลยเกิดความจะเป็นลม เขาเห็นดาวเห็นเดือนของเขา ไอ้นั่นมันเป็นอาการทางเส้นประสาท

แต่ของเราๆ จิตเราภาวนาของเรา จิตเรา เพราะมันสงบบ้าง ถ้าเห็นแสง เห็นแสงก็เห็นแสง ถ้าพอเห็นแสง ไปตกใจ เห็นแสง ไปเห็นคุณสมบัติของมันว่า การเห็นแสงนี้เป็นสมาธิ จะต้องเห็นแสงอย่างนั้นๆๆ เราก็ไปติดพันกับกิริยา ไม่อยู่กับความเป็นจริง ถ้าอยู่กับความเป็นจริง มันอยู่ที่ความสงบนี้

เราจะบอกว่า การเห็นแสงที่เขาบอกว่า เขาถามว่า มันไม่มีแหล่งกำเนิดใช่ไหม

เราจะบอกว่ามันเป็นอย่างนั้น ใช่ พอใช่ขึ้นมาแล้ว ใช่แล้วมันเป็นอะไรขึ้นมา ใช่แล้วมันเป็นว่าจิตที่มันมหัศจรรย์ จิตของมนุษย์ จิตของเรามหัศจรรย์มาก จิตของคนมีคุณค่ามาก แล้วเวลาจิตที่มันสงบมันเห็นอาการอย่างนั้น มันเรื่อง ภาษาเรานะ จะว่าเรื่องปลีกย่อย มันยังเล็กกว่านั้นเลย

เพราะเวลาภาวนาไปนะ ถ้าคนมีวาสนาที่ว่าไปเห็นผีเห็นสาง เห็นเทวดา เห็นอินทร์ เห็นพรหม นั่นเขาจะเห็นเป็นชัดๆ เลย เห็นชัดๆ นั่นยังผิดเลย นี่ส่งออก ครูบาอาจารย์เราท่านไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นนะ

เห็นแสงนี่ก็เหมือนกัน ถ้าเห็นแสง เห็นแล้วก็เรื่องธรรมดา เห็นแล้วก็กลับมาพุทโธ ถ้าเห็นแล้วกลับมาพุทโธ ถ้าเห็นแสง เห็นแสงแสดงว่า เออ! วันนี้จิตเริ่มดีขึ้นแล้ว จิตมีมาตรฐานแล้ว เราพุทโธต่อเนื่องไปมันก็สงบต่อเนื่องไป

แสงก็คือแสง ถ้าบอกว่าเห็นแสงมันเป็นความสำคัญ

ดวงอาทิตย์มันขึ้นน่ะ เห็นเดือนเห็นดาว ดาวเดือนมันอยู่บนฟ้านู่นน่ะ ไอ้นี่ใจมันมหัศจรรย์ที่มันรู้มันเห็นได้ แต่เราไม่เอามาเป็นอารมณ์ เราจะต้องเอาอริยสัจ เราจะต้องเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา

ที่เราทำกันอยู่นี้เราต้องการอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรค ๘ เกิดนิโรธ ความรู้แจ้ง รู้แจ้งในอะไร รู้แจ้งในสัจจะความจริง ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ดับ วิธีการดับทุกข์ นี่เราต้องการตรงนี้

แต่เวลาทำไปแล้วมันจะรู้เห็นอย่างนี้ เห็นนู่นเห็นนี่ เห็นนู่นเห็นนี่มันก็แบบเด็กหัดเดินน่ะ เด็กเวลามันหัดเดินมันล้มลุกคลุกคลานกว่ามันจะเดินได้ จิต จิตกว่ามันจะเป็นไป มันจะเห็นอาการอย่างนี้ เริ่มต้นจิตมันจะเริ่มตั้งมั่นขึ้นมาได้ จิตมันจะเป็นไปได้ มันจะไปรู้ไปเห็นไปร้อยแปด แล้วถ้าเราไปติดตรงนั้นก็เหมือนเด็ก

ถ้าเด็กล้มอยู่นั่นมันก็ร้องไห้ พ่อแม่ก็เจ็บ โอ๋ๆ มันเดินไม่เป็นหรอก แต่ถ้ามันจะล้ม ล้มก็ลุกขึ้นสิลูก ลุกขึ้น ล้ม ล้มก็ลุกขึ้น ลุกขึ้นแล้วหัดเดินใหม่ อ้าว! ถ้าล้มก็ไม่เป็นไร เจ็บ เจ็บมาทายา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นแสงๆ แสงก็วาง แสงก็คือแสง จิตก็คือจิต แสงมีชีวิตไหม จิตมีชีวิตไหม จิตสำคัญกว่า แต่การเห็นนั้น เห็นนั้นมันเห็นโดยวาสนาของคน ไม่แปลก คนจะเห็นมันต้องเห็น แต่เห็นแล้วก็แล้วกันไป

ทีนี้เพียงแต่คำถามเขาให้ยืนยันว่า เขาเห็นแสงมันเป็นความจริงหรือไม่ มันเป็นแสงอย่างไร

แต่เห็นแสงก็คือแสง แล้วถ้าคนที่เห็นชัดๆ แล้วเราไม่ต้องยึดมั่นสิ่งนี้ แล้วพอไปเจอผู้นำในการปฏิบัติ “มันจะแสงสว่างอย่างนั้น” เรื่องของเขา เป็นวาสนาของท่าน เราก็สาธุ

แสงก็คือแสง ถ้าแสงมันเป็นอย่างนั้นนะ โรงไฟฟ้าฝ่ายผลิตมันทำพลังงานขึ้นมาแสงสว่างทั่วประเทศไทย โรงไฟฟ้าฝ่ายผลิตนี้เป็นพระอรหันต์ของเมืองไทยเพราะมีแสงสว่างที่สุด เราต้องไปกราบการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สาธุ แสงสว่างที่สุด...มันไม่ใช่

จิตเราต่างหาก จิตผู้รู้ต่างหาก

อันนี้พูดให้เห็นว่า มันเห็นได้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น เห็นนี้เพราะจิตมหัศจรรย์อย่างนี้ เป็นพลังงานที่มันรู้มันเห็นของมันได้ สิ่งที่มันรู้มันเห็นได้ รู้เห็นแล้วเราต้องเป็นผู้ใหญ่ รู้เห็นแล้วเราก็วางไว้ตามความเป็นจริง

ไม่ใช่รู้เห็นแล้วให้ความรู้ความเห็นนั้นหลอกลวงเรา แล้วให้เราวิ่งตามมันไป ไม่ใช่ สิ่งที่รู้ก็คือรู้ แต่เราต้องมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทุกอย่าง แล้วเราจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา รักษาจิตของเราขึ้นมา

เห็นได้ไหม

เห็น แล้วเป็นประโยชน์อะไรไหม เป็นประโยชน์เพียงแต่บอกว่าจิตเราเปลี่ยนจากปกติ

แล้วทำอย่างไรต่อไป

ก็พุทโธต่อไป ทำให้ดีขึ้นต่อไป พัฒนาใจของเราต่อไปให้เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมา นี่ถ้าเป็นประโยชน์

“ทั้ง ๔ ข้อนี้ กระผมได้ฟังชาวบ้านมาเยอะ อ่านมาก็เยอะ กระผมก็ไม่อยากจะให้เป็นสัญญา” คือไม่อยากให้เป็นผลลบไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่า “ผมฟังชาวบ้านมาเยอะ”

ดี เราเป็นบัณฑิต เราต้องรับฟัง ฟังแล้วมาวิเคราะห์วิจัย อย่าเชื่อ กาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น เชื่อเวลามันรู้มันเห็นในใจเรานี่แหละ เชื่อในการประพฤติปฏิบัติเรานี่แหละ

เห็นไหม เราได้ยินได้ฟังชาวบ้านมาเยอะ เราได้ศึกษามาด้วยตนเองมาเยอะ นั้นเป็นสุตมยปัญญา แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา ให้เชื่อความรู้ ให้เชื่อจากผลการปฏิบัติ ให้เชื่อจากความจริงในใจของเรา จบ

ถาม : เรื่อง “สถานีต่อไปที่จิตจะไป”

โยมเคยได้ยินมาว่า ถ้าเราสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้แม้แค่สักครั้งเดียว เวลาเราจะดับจิตสิ้นชีวิต จิตเราจะประหวัดไปที่สมาธิที่เราเคยทำได้ แล้วภพภูมิสถานีต่อไปของเราก็คือตามคุณภาพของสมาธิที่ได้ เช่น ถ้าเราทำได้ชั้นไหน เราก็จะไปจุติชั้นพรหมชั้นต่างๆ ใน ๑๖ ชั้น ความดังว่ามานี้ถูกต้องหรือไม่คะ เหตุที่จะทำให้จุติในรูปพรหมหรืออรูปพรหมคืออย่างไร

ถ้าเราบริกรรมพุทโธ เราจะไปรูปพรหมใช่ไหม ถ้าเรากำหนดรู้ในความว่าง เราจะไปอรูปพรหมใช่ไหม

โยมฝึกสมาธิมา มีครั้งหนึ่งที่ทำสมาธิได้นับว่าดีที่สุด คือจิตเป็นสมาธิด้วยการกำหนดรู้ความว่างเปล่า จิตเป็นสมาธิแบบรู้อย่างเดียว ขันธ์คือความคิดไม่มี ร่างกายไม่มี พิลึกกึกกือ พูดไม่ถูก แบบนี้เป็นอัปปนาสมาธิใช่หรือไม่

ตอบ : ไม่ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ

เพียงแต่ว่า “จิตนี้เป็นสมาธิอยู่อย่างเดียวแบบพิลึกกึกกือ”

คำว่า “พิลึกกึกกือ” คือความรู้มันไม่สักแต่ว่า ความรู้มันชัดเจน เป็นอัปปนาสมาธิไม่ได้

“ความคิดอย่างนี้ ร่างกายไม่เป็นอย่างนี้ ความพิลึกกึกกือจึงพูดอะไรไม่ถูก”

อันนี้ก็เป็นสมาธิอันหนึ่ง

แต่คำถามที่ว่า “จิตที่เป็นสมาธิแล้ว เวลาดับขันธ์แล้วจะเกิดเป็นพรหมชั้นใดชั้นหนึ่งใช่ไหม”

ใช่ ใช่ตรงไหน ใช่ตอนที่จะตายแล้วต้องระลึกถึงได้ แล้วออกไปพร้อมกับสมาธิ มันถึงจะไป

แต่ทำสมาธิได้แล้ว แล้วก็พิลึกกึกกือ ทำอะไรตามแต่ใจชอบ เวลาตายไปก็ตกใจ ตายไปก็เหมือนตกเหว ตายไปก็เลยวุ่นวายไปหมด อย่างนี้ไม่ได้ไปพรหมหรอก เพราะมันตอนตายน่ะเสวยภพ

แต่ที่ว่าทำสมาธิได้หนหนึ่ง เวลาจะตายเป็นสมาธิใช่หรือไม่

เวลาคนทำสมาธิได้หนหนึ่งมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตนี้ เวลาคนใกล้จะตายระลึกถึงตรงนี้ ระลึกถึงสมาธิ

จิตนี้เวลาคนจะใกล้ตาย เริ่มต้นก็ห่วงอาลัยอาวรณ์ไปหมดน่ะ แล้วพอมันเริ่มจะเป็นจะตายจริงๆ มันก็เริ่มห่วงใกล้ๆ เข้ามา พอมันถึงที่สุดแล้วมันก็เริ่มห่วงตัวเอง เออ! ถ้าคนอย่างนี้จะไปพรหมเพราะอะไร เพราะมันจะเข้าสู่ใจของตัวเองไง

แต่คนเวลามันดิ้นโครมครามเลย “สมบัติก็ยังไม่ได้ให้ใครเลย โอ๋ย! ไม่ได้สั่งเสียเลย จะตายแล้วเนี่ย” เวลาตายมันก็ไปอยู่ที่ใบสั่งเสียนั่นน่ะ มันจะไปพรหมที่ไหนล่ะ

ใช่ เวลาทำสมาธิแล้ว ผลของมันไง เวลาทำสมาธิได้แล้ว เวลาคนใกล้จะตาย คนใกล้จะตายมันต้องเสวยภพ มันจะไปของมัน ถ้าคนไปตามกรรม กรรมดีกรรมชั่วไง จิตทุกดวงนี้ทำดีและชั่ว เวลาตาย ออกจากไหน

ฉะนั้น สังคมไทยโบราณของเรา เวลาคนใกล้ตายให้นึกถึงพุทโธ ให้นึกถึงพระ นึกถึงพระๆ ให้นึกถึงความดีของตน ถ้านึกถึงความดีของตน มันเสวยภพที่ดีนั้นก่อน คนเราทำดีและชั่ว เสวยดีหรือเสวยชั่ว ถ้าเสวยชั่วมันก็เกิดชั่ว เกิดในอบาย เกิดในทุกข์ๆ ยากๆ ถ้าเสวยดีมันจะไปดี

ฉะนั้น คนมันทำดีอยู่ แต่เวลาจะตาย มันตายโดยความตกใจ ตายไปโดยความห่วงหาอาวรณ์ มันจะไปพรหมที่ไหน แต่ถ้าคนไม่เคยทำสมาธิเลยมันยิ่งไม่มีร่องรอยเลย คนไม่เคยทำความสงบของใจได้ มันจะไปไหน

แต่คนทำความสงบของใจได้ ถ้ามันฝึกหัด มันดูแลรักษา แล้วเวลาใกล้ตาย เวลาแก่เฒ่าขึ้นมาพยายามฝึกหัดถึงตรงนั้นน่ะ แล้วจิตมันจะประหวัดถึงตรงนี้ แล้วเวลามันใกล้หมดอายุขัย ถ้ามันประหวัดถึงตรงนี้

มันสำคัญตรงจิตออกจากร่าง มันสำคัญตรงอารมณ์สุดท้าย อารมณ์ที่จะออกจากร่างอารมณ์สุดท้าย

แต่คนที่เวลามันจะออกจากร่างมันกระวนกระวาย มันตกใจ มันทุกข์มันยาก ตรงนี้มันถึงทำให้พลาด แต่ถ้ามันนิ่งๆ ดูสิ เวลาคนตายนอนหลับไปเลย บางคนตายก่ายหน้าผาก “โอ้! ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ตายแล้ว” พวกนี้ไปไหนก็ไม่รู้

แต่คนตายนิ่งๆ ตายด้วยความนิ่มนวล เวลาตายมันจะบอกเลยนะ บางคนเกิดกรรมนิมิต โอ้โฮ! ตายดิ้นพราดๆ เลย เพราะทำอะไรไว้เยอะ แน่นอน อบายภูมิเด็ดขาด ดิ้นพราดๆ เลยน่ะ เวลาคนตาย ตายด้วยความนุ่มนวล

นี่เหมือนกัน ทำสมาธิได้แล้วมันจะไปพรหมใช่ไหม

ทำสมาธิได้แล้ว เวลาตายแล้วดิ้นพราดๆ มันก็เกิดเป็นเดรัจฉานแน่นอน สำคัญตรงนั้นด้วย ไม่ใช่ทำแล้วจะมาการันตี ใครการันตีให้ใครได้ พระพุทธเจ้ายังแค่พยากรณ์รับรู้ พระพุทธเจ้ายังการันตีให้ใครไม่ได้เลย

ความสะอาดบริสุทธิ์ ความรู้จริงของตน ทุกคนต้องทำเอง ทุกคนต้องปฏิบัติเอง ทุกคนต้องรู้เอง แล้วความรู้อันนั้นมันจะการันตีหัวใจดวงนั้น มันจะคุ้มครองหัวใจดวงนั้น มันจะพาหัวใจดวงนั้นให้ไปตามอำนาจวาสนาของสติปัญญาที่จะรักษา

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องมีคุณธรรมในใจ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่มีใครทำให้ ไม่มีใครส่งเสียให้ ทำเองทั้งนั้น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเป็นผู้ปฏิบัติของตนเป็นสัจจะเป็นความจริงของหัวใจดวงนั้น เอวัง