ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ความฝัน

๑๔ ม.ค. ๒๕๖๑

ความฝัน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๑

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่)ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “ไม่อยากมีทุกข์”

กราบเมตตาหลวงพ่อขอคำแนะนำครับ ขอคำแนะนำต่อ

๑. ผมเข้าใจแล้วว่า เพราะคิดปรุงแต่งจึงทุกข์ เห็นอาการของทุกข์แล้ว วิธีแก้ง่ายๆ ของผมคือรีบไปทำความสงบก็จะดับทุกข์ได้เพราะมันเกิดสุข แต่ในชีวิตจริงผมเหมือนเสพติดความทุกข์ มันหนักๆ หน่วงๆ อึดอัด สะใจดี มีสติความรู้ครับว่าปรุงแต่ง รีบดับ แต่เดี๋ยวนี้ปรุงแต่งอีก เลยทุกข์อีก ผมอยากแก้จุดนี้ครับ ขอคำแนะนำ

๒. ผมมีความเข้าใจว่า อยากหายกลัวต้องไปเผชิญกับความกลัวแบบสุดๆ อยากละกามต้องเผชิญกับอสุภะ ไม่อยากทุกข์ต่อ ละผัสสะ ลดความอยากให้มากที่สุด คือต้องละทางโลก อยู่กับตัวเองให้ได้ ผมเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ และมันมีเครื่องวัดหรือสิ่งบอกเหตุอย่างไรที่จะบอกว่าเราสมควรสละเพศฆราวาสได้แล้วเพื่อเข้าสู่เพศที่มีความสงบสุข

ตอบ : ไอ้นี่พูดถึงสละเพศฆราวาสก่อนเนาะ การสละเพศฆราวาสคือการบวช ถ้าการบวชนะ การบวชเป็นสิ่งที่ดีงาม การบวชเป็นสิ่งที่ดีงาม เห็นไหม เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ สิ่งที่เราเคารพบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก ถ้าแก้วสารพัดนึก เขาว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ถ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ วางธรรมวินัยไว้มหาศาล ไว้มหาศาลนะ เวลาเทศนาว่าการ ในพระไตรปิฎก เวลาใครก็อ้างว่าพระไตรปิฎก พออ้างว่าพระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ

แต่ในพระไตรปิฎกนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนใคร เวลาสอนถึงฆราวาส อนุปุพพิกถา สอนเขาเสียสละทาน สอนเขาให้กตัญญูกตเวที เวลาเขามีศรัทธามีความเชื่อ ถ้ามาขอบวชแล้วให้ฝึกหัดให้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าขอกรรมฐานแล้วก็เข้าป่าเข้าเขาไปเพื่อปฏิบัติ

ถ้าบวชแล้วนะ มีอำนาจวาสนานะ อยากมาศึกษา ศึกษาเพื่อเป็นคันถธุระ พอศึกษาเป็นคันถธุระ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคันถธุระกับวิปัสสนาธุระ คันถธุระคือศึกษาจดจำธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อทรงธรรมทรงวินัย ทรงธรรมทรงวินัยไว้

แต่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ เห็นภัยในวัฏสงสาร เวลาปฏิบัติแล้วจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลาปฏิบัติ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ ถ้าวิปัสสนาธุระเขาจะทำความจริงของเขา

ฉะนั้น เวลาคำว่า “อยากจะสละเพศฆราวาสบวชเป็นสมณะ บวชเป็นพระ เข้าสู่เพศแห่งความสุข”

นี่เป็นความคิดนะ เป็นความเชื่อ ถ้าเป็นความเชื่อนะ เพราะอะไร เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศาสนาพุทธมีคุณค่ามาก ถ้ามีคุณค่ามาก คนที่มีศรัทธามีความเชื่อถ้าบวชมาเป็นพระแล้วก็ต้องเป็นพระที่ประเสริฐ เป็นพระที่ดีงามทั้งหมด

แต่สังคม สังคมของชาวพุทธ ถ้าสังคมเขามีความเชื่อลัทธิอื่น นักบวชของเขาก็เป็นแบบอื่นไปใช่ไหม แต่ของเราพอบวชมาแล้ว เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา

หลวงตาท่านบอกเลย คนไม่มีอำนาจวาสนาจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ

เพราะศาสนาพุทธไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ เลย ศาสนาพุทธเวลาบวชมาแล้วเขาบวชมาให้ประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ก็รื้อมนุษย์นี่แหละ รื้อสัตว์ขนสัตว์รื้อสิ่งมีชีวิตนี้ เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำเร็จเป็นพระอรหันต์มหาศาลเลย

สัตว์เดรัจฉาน พวกอบายภูมิเขาไม่มีโอกาสของเขา ถ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ก็รื้อสัตว์ขนสัตว์พวกเรานี่แหละ ถ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์พวกเรา สิ่งที่เวลาบวชมาแล้ว บวชมาก็เพื่อประพฤติปฏิบัติ บวชมาแล้วก็เพื่อถอดถอนกิเลส ถ้ามันเป็นสัจจะความจริงขึ้นมาอย่างนั้นนะ พระที่บวชมาแล้วก็ต้องเป็นพระที่ดีงามไปทั้งหมด

แล้วเรามองสิ เวลาคนเรามันอยู่ที่อารมณ์ อารมณ์เวลาความดีมันขึ้นมันก็ดีของมันไป เวลามันเสื่อมนะ พอมันเสื่อมไปแล้ว ถ้าเสื่อมแล้วเขาละเพศของสมณะไปเป็นเพศฆราวาสก็มี ถ้าเขาไม่ละไป เขาทำอย่างไรมันก็สร้างแต่ความบาดหูบาดตากับประชาชน ถ้าบาดหูบาดตาประชาชนนะ

เราจะบอกว่า เวลาบวชเป็นพระนี่สูงสุด บวชเป็นพระนี่ดีงามมาก แต่บวชเป็นพระแล้วเราประพฤติปฏิบัติไปแล้วมันจะเป็นจริงหรือไม่

ถ้ามันจะเป็นจริงนะ บวชแล้วๆ ถ้ามีอำนาจวาสนาบวชแล้วนะ ทำความสงบของใจได้ ยกขึ้นสู่วิปัสสนาได้ ถ้ามันภาวนาของมันได้นะ มันก็มีความสุข มีความสงบสุขให้เราได้ชื่นบาน แต่ถ้ามันทำไม่ได้มันก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน ถ้าความทุกข์

การสละเพศฆราวาส เขาบอกว่ามันสมควรหรือไม่ๆ

นี่พูดถึงความเชื่อของเขา ความเชื่อของเขานะ สิ่งที่การบวชเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ เวลาเขาบวชเณรแก้ว โอ้โฮ! เขาจัดงานยิ่งใหญ่ของเขามาก เวลาทางพวกไทยใหญ่เวลาเขาจัดบวชสามเณรแก้วอะไรของเขายิ่งใหญ่มาก

แล้วเวลาเราบวชพระก็เหมือนกัน พอบวชพระเป็นประเพณี พอเป็นประเพณี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาทรงออกผนวชไปกับนายฉันนะ กับม้ากัณฐกะ เวลาม้านั่นน่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราบวชเราก็พยายามจะจัดให้เหมือนอย่างนั้นนะ โอ๋ย! แห่แหนกัน มันเป็นประเพณีทั้งนั้นน่ะ เป็นความเชื่อ เป็นบุญกุศล เป็นบุญกุศลนะ ทำอย่างนั้นเพื่อสะสมบุญของตน สะสมบุญ บุญก็ส่วนบุญ บาปก็ส่วนบาป เวลาทำขึ้นมามันก็มีบุญมีบาปของมันทั้งนั้นใช่ไหม

แต่เวลากรรมฐานเราเวลาออกบวชด้วยความเรียบง่าย ด้วยความเรียบง่าย โกนหัวแล้วก็บวชเลย พอบวชเสร็จแล้ว พิธีการบวช ถ้าบวชเสร็จแล้วนะ บวชร่างกาย บวชตามประเพณีวัฒนธรรม

เวลาจะบวชใจนี้สำคัญมาก เวลาจะบวชใจขึ้นมา เราจะเอาจริงเอาจังของเราขึ้นมา เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา บวชมาแล้วมีกายกับใจๆ มันเป็นเรื่องโลกๆ ยังหาใจของตนไม่เจอ ถ้าหาใจของตนเจอ ต้องทำความสงบของใจได้ ถ้าทำความสงบของใจได้ พอหาใจของตนเจอ ยกหัวใจขึ้นสู่วิปัสสนานะ โอ้โฮ! มันจะมหัศจรรย์

ศาสนานี้มหัศจรรย์มาก มหัศจรรย์มาก คนไม่มีบุญเข้าไม่ถึง เข้าไม่ถึงหรอก เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติกันมันก็เข้าได้แต่ความเห็นของเราเท่านั้นน่ะ มันไม่เข้าสู่ความจริง

ถ้าเข้าสู่ความจริงแล้วมันจะเห็นเลย เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแยกไว้เลย สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการศึกษา จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากจินตนาการ การจินตนาการแบบโลกๆ การจินตนาการแบบนักวิทยาศาสตร์

แล้วเวลาถ้าทำความสงบของใจเข้ามาได้แล้วจินตนาการขึ้นมา จิตนี้มหัศจรรย์มาก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้มันจินตนาการได้ร้อยแปดเลยน่ะ นี่จินตมยปัญญา

แล้วถ้าเกิดภาวนามยปัญญา ไม่มีใครเคยเห็นน่ะ คนถ้าเคยเห็นขึ้นมา ถ้าคนเคยเห็นภาวนามยปัญญา อย่างน้อยเป็นโสดาปัตติมรรค มันยกขึ้นสู่มรรค ยกขึ้นสู่มรรคเพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ สงบมันเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

ถ้าเห็นสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันพิจารณาไปแล้วเวลามันปล่อยวางนี่ตทังปคหาน การปหานชั่วคราวๆ เพราะการประพฤติปฏิบัติ การปหานชั่วคราวมันปล่อยวางชั่วคราว

พอปล่อยวางชั่วคราว คนที่ไม่มีอำนาจวาสนาจะลืมตัวมาก ลืมตัวว่าบรรลุธรรมๆ แล้วเวลามันเสื่อมนะ โอ้โฮ! ร้องไห้ เวลามันเสื่อมไง มันชั่วคราว มันไม่จริง พอมันไม่จริงนะ แล้วคนที่อำนาจวาสนาที่ไม่ถึง

เราฟังๆ มานะ ส่วนใหญ่ ไอ้นี่เราจะบอกว่า เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติเวลาธรรมเกิดๆ ธรรมเกิดมันเหมือนความฝัน เหมือนความฝัน ธรรมเกิดมันไม่มีเหตุมีผล

แต่ถ้าเป็นการปหานชั่วคราว มันมีสมาธิ มันมีศีล มันมีสมาธิ มันมีปัญญา มันมีการกระทำ แต่ด้วยอำนาจวาสนาของตนมันไม่ต่อเนื่อง

ถ้ามันต่อเนื่องนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาถ้าถึงจุดนี้แล้วนะ เวลาพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง มันปล่อยชั่วคราวๆ ชั่วคราวแล้วนะ ถ้าอำนาจวาสนายังไม่ถึง เวลาพิจารณาชั่วคราวแล้วมันก็คิดว่าเป็นความจริง เผอเรอ ไม่บำรุงรักษา หรือทำให้มันเจริญขึ้นไม่ได้

แต่ครูบาอาจารย์ของเรายืนยันได้เลยว่ามันต้องทำซ้ำทำซากๆ เพื่อทำซ้ำ ทำซ้ำคือความชำนาญ ทำซ้ำคือการพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหมือนกับว่าเราจะทำลายสิ่งใดก็แล้วแต่ เราทำลายแล้วยังทำลายไม่ได้ เราทำลายซ้ำทำลายซาก พยายามหาจุดอ่อน หาการกระทำ ทำซ้ำทำซาก จนถึงที่สุดเวลามันขาด เขาเรียกสมุจเฉทปหาน การปหานโดยเด็ดขาด นี่ธรรมะเป็นชั้นๆ ขึ้นไปอย่างนี้

แล้วถ้ามันเป็นจริงอย่างนี้ ถ้าคนเป็นจริงอย่างนี้นะ มันพูดได้ตามความจริงอย่างนี้นะ ความเป็นจริงอย่างนี้สมุจเฉทปหานกับตทังคปหาน อารมณ์ ความรู้สึก สถานะ ความเป็นไป มันแตกต่างกันอย่างไร

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ หลวงปู่มั่นสอนอย่างนี้ สอนเรื่องอริยสัจ สอนเรื่องอริยสัจในพระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนแบบฤๅษีชีไพร สอนอย่างนั้นมันฤๅษีชีไพรของเขามีอยู่แล้ว มันเข้าถึงไม่ได้

นี่พูดถึงสละเพศฆราวาสแล้วจะมาบวชเป็นพระ

การบวชเป็นพระนี้สูงส่งดีงามมาก แต่เวลาคนที่เขาอยู่ในสมณเพศไม่ได้ เขาเรียกว่าหมดบุญๆ พอมันหมดบุญ หมดอำนาจวาสนา ก็สึกหาลาเพศไป มันก็เป็นวาสนาของคน มันไม่ใช่ทำความเสียหายอะไรทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องธรรมดา นี่ถ้าเป็นเรื่องธรรมดา

ฉะนั้น เวลาบวชเป็นพระไปแล้ว คนเวลาบวชเป็นพระ เราห่วงตรงนี้ไง เราห่วงตรงที่คนเรามีเจตนา มีความตั้งใจดีมาก แล้วพอบวชเป็นพระเข้าไปแล้วไปเจอหมู่พวกที่ไม่ดี หรือเจอครูบาอาจารย์ที่ภาษาเรานะ เจอครูบาอาจารย์ที่หลอกลวง โอ้โฮ! มันจะเจ็บช้ำ เพราะว่าอะไร

พวกเราจะจินตนาการกันว่าในเพศของสมณะจะต้องเป็นที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นครูบาอาจารย์ของเราที่สูงส่งเลอเลิศ พอเข้าไปอยู่ด้วยกัน พอไปเห็นพฤติกรรมเห็นอะไร โอ้โฮ! คอตกเชียวนะ

แต่ถ้ามีวาสนา ถ้าเราหาครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง อย่างเช่นเราอยู่กับหลวงตามา อยู่กับครูบาอาจารย์มา โอ้โฮ! อย่างที่หลวงตาท่านพูดกับหลวงปู่มั่นนะ เราซึ้งมากนะ “เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะพูดทีเล่นทีจริง แต่เราไม่เคยเล่น” เราเหมือนเทป อัดทุกคำเลย

ถ้าเป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ แม้พูดทีเล่นมันก็จริงนะ พูดอย่างไรมันก็มีน้ำหนัก พูดอย่างไรมันก็มีรสชาติ คือมันมีรสมีชาติ มันซาบซึ้ง โอ้โฮ! มันดีงามไปหมดนะ

“ท่านจะพูดทีเล่นทีจริง แต่เราไม่เล่น เราจริงตลอด”

นี่หลวงตาเวลาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น เราฟังแล้วซึ้ง แล้วเวลามาอยู่กับท่าน เวลาพระเยอะๆ นะ แล้วมีปัญหากัน กระทบกระเทือนกันนะ

ท่านบอกว่า “พระด้วยกันมันมีกิเลสกันทั้งนั้นน่ะ อย่าจับผิด อย่าคอยเพ่งโทษกัน ให้ดูเราเป็นตัวอย่าง”

คือให้ดูตัวท่าน ท่านบอกเลยลูกๆ นะ อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน อย่ากระทบกระเทือนกัน ลิ้นกับฟันมันขบกันนะ ให้มองตัวท่าน

นี่ไง ท่านกล้าพูดอย่างนี้เลยนะ บอกว่า ให้ดูตัวท่านเป็นตัวอย่าง อย่ามองกัน

เด็กๆ มันดูกันมันก็จับผิดกันได้ทั้งนั้นน่ะ ให้มองท่าน มองท่านน่ะ ถ้าคำว่า “มองท่าน” ท่านบอกว่า ท่านเป็นตัวอย่าง ชีวิตเป็นแบบอย่าง

ถ้าไปเจอพระดีๆ อย่างนี้นะ โอ้โฮ! แบบว่าชีวิตนี้เหมือนพระอานนท์ เทวทัตให้เขาปล่อยช้างนาฬาคิรีจะให้ทำร้ายพระพุทธเจ้า พระอานนท์เข้าขวางเลย ยอมสละชีวิตนะ ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ที่สะอาดบริสุทธิ์ที่ดี มันสละชีวิตได้หมดเลย

แต่มีพระที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยความเชื่อของเราว่าพระองค์นี้ใช้ไม่ได้เลย แต่ลูกศิษย์ลูกหาเขาเยอะแยะ แล้วเขาก็สละชีวิตได้เหมือนกันนะ เพราะเขาเชื่อ เขาก็เชื่อของเขา เขาก็สละชีวิตได้เหมือนกัน

ถ้าสละชีวิตของเรา เอ็งสละไปทำไมวะน่ะ สละเพื่อปกป้องสิ่งที่ทุจริตอย่างนั้นน่ะหรือ อย่างนั้นเราไม่สละ

นี่พูดถึงคำว่า “เสียสละๆ” ใครก็พูดกันทั่วไป “พระองค์นั้นก็มีคนสละๆ” สละจริงหรือสละเพื่อปกป้องทุจริต

สละเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์สิ นี่เวลาพูดถึงครูบาอาจารย์เรานะ

นี่บอกว่า เราจะเตือนไว้ เพราะเขาบอกว่าเขาสมควรสละเพศฆราวาสหรือไม่ เพื่อไปบวชสู่เพศความสงบสุข

ถ้าบวชไปแล้วเอ็งไปเจอพระที่เอ็งไม่เห็นด้วย เอ็งก็จะไปทุกข์สองชั้นสามชั้นน่ะ

นี่พูดถึงว่าการจะกระทำเนาะ นี่มาคำถาม “๑. ผมเข้าใจแล้วว่าการปรุงแต่งเป็นทุกข์ เห็นอาการของทุกข์แล้ว วิธีการง่ายๆ คือทำความสงบเพื่อจะดับทุกข์ แต่ในชีวิตจริงผมเหมือนเสพติดความทุกข์ เพราะมันหนักๆ หน่วงๆ สะใจดี”

เราจะบอกว่ามันมีทุกคนน่ะ เวลาเราเข้าสมาธินะ เวลาโดยทั่วไป คนเรา คนเราโดยทางโลก ทางโลกเขาก็ทุกข์ยากตามประสาฆราวาสของเขา ถ้าคนเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นคุณค่าของธรรมะแล้วก็พยายามจะตรึกในธรรม พยายามศึกษาธรรมะๆ

พอศึกษาธรรมะมันก็มีปัญญา ปัญญาระหว่างธรรมะคือสัจจะความจริง สัจจะมันเป็นอย่างนั้น โดยข้อเท็จจริงมันเป็นอนิจจัง มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นน่ะในโลกนี้

ถ้าเราอยู่กับโลก เราก็ทุกข์ทางโลกใช่ไหม แต่พอเราศึกษาธรรมะ ธรรมโอสถมันก็เข้ามาบรรเทา บรรเทาชีวิตฆราวาสเรา ชีวิตประจำวันของเรานี่ ชีวิตประจำวันเราก็มีความทุกข์เป็นธรรมดาอยู่แล้ว

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมะแล้ว ธรรมะบอกว่า ทุกข์นี้มันเป็นอนิจจัง ทุกข์นี้มันเป็นอนัตตา มันวางแล้วมันปล่อยได้ เราศึกษาแล้วมันก็เป็นปัญญาของเราไง นี่พูดถึงว่าเวลาเราศึกษาธรรมะของเรามา

เวลาเราศึกษาธรรมะแล้วเขาบอกว่า ถ้าอยากจะได้รสของธรรมต้องประพฤติปฏิบัติ

เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราปฏิบัติของเรา เราพยายามทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบได้ ใจของมันเป็นสมาธิได้ พอเป็นสมาธิได้ ถ้าเป็นสมาธิจริงนะ

ปฏิบัติแล้วสมาธิจริงหรือสมาธิปลอม

ถ้าสมาธิปลอมๆ ก็ว่างๆ จับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย

ถ้าเป็นสมาธิจริง สมาธิมันต้องมีสติ มันต้องมีผู้รับรู้ มันต้องมีตัวตนของเราถึงเป็นสมาธิ สมาธิเป็นสมาธิ ควบคุมดูแลได้ ถ้าสมาธิควบคุมดูแลไม่ได้ ยกสมาธิขึ้นสู่วิปัสสนาได้อย่างไร จิตที่เป็นสมาธิเราน้อมไปให้เห็นกาย ให้เห็นเวทนา ให้เห็นจิต เห็นธรรมได้อย่างไร ถ้ามันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมได้ มันก็มีความรับรู้อยู่ไง ถ้ามีความรับรู้

นี่เขาบอกว่า เวลาจิตเขาเป็นไปแล้วมันหนักมันหน่วงอะไร

มันหนักมันหน่วง ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิใช่ไหม มันก็จะโล่งจะโถงจะปลอดโปร่ง สัมมาสมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่น จิตที่ไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ เลย มันก็ว่างหมดเลย มันไม่หนักหน่วง ไม่อึดอัด ถ้ามันหนักมันหน่วง มันอึดอัด มันก็เป็นมิจฉา มันมีตัวถ่วงของมัน

เวลาทำสมาธิๆ เวลาทำสมาธิขึ้นไป ถ้าเราพุทโธๆๆ จนพุทโธ ด้วยการศึกษาธรรมะของเรามาว่าพุทโธแล้วมันเป็นหยาบๆ เวลาพุทโธต่อไปมันก็จะละเอียดขึ้น แล้วพุทโธก็จะหายไป เราก็พุทโธๆ แล้วก็โยนทิ้งเลย พุทโธๆ หายแล้ว...ตกภวังค์

คนเราโดนกิเลสมันหลอกมันลวงเวลาปฏิบัติ มันไม่จริง

เวลาปฏิบัติถ้ามีครูบาอาจารย์จริง เขาบอกว่าเป็นสมาธิ ใครจะเป็นสมาธิ เราไม่เคยว่าใครเป็นสมาธิเลย แต่สมาธิเป็นอย่างไร

“โอ๋ย! สมาธิว่างๆ ว่างๆ”

ว่างๆ ก็ขี้ลอยน้ำไง สมาธิเป็นอย่างไร สมาธิมันต้องมีที่มาที่ไปสิ เวลาคนกำหนดพุทโธๆ เวลาคนกำหนดพุทโธๆ พุท มันแฉลบแล้ว พุท มันคิดไปนู่น พุทกว่าจะโธ พุทก็ไปคิดถึงดาวอังคาร กลับมาโธอยู่ที่ดวงจันทร์ เดี๋ยวพุทมันไปอีกแล้ว

เวลาปฏิบัติใหม่ๆ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ เพราะอะไร เพราะว่ากิเลสมันกลัวธรรมะมาก พุทธานุสติ พุทธะ พุทธะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนะ เราจะเอาพุทธะเข้าไปสู่หัวใจของเรา

กิเลสในใจของเรามันความเคยชินของมัน มันเจ้าวัฏจักร มันคุ้มครองในใจของเรา มันผลักดันไว้ มันไม่ให้เข้ามาหรอก ทีนี้เวลาเข้ามา มันก็เลยพุทโธมันขัดมันแย้งกัน เห็นไหม

แต่ด้วยสติด้วยปัญญาของเรา เราพยายามทำของเราด้วยศีล ด้วยพฤติกรรมของเรานะ เราพยายามหัดนึกพุทเข้า โธออกประจำต่อเนื่องไป ถ้าทำด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยอำนาจวาสนา คนมีอำนาจวาสนานะ พุทกับโธกับหัวใจมันจะกลมกลืนกัน

พอมันจะกลมกลืน เวลาพุทโธๆ เออ! ง่ายๆ พุทโธแล้วมันกลมกล่อม เออ! พุทโธดีเนาะ มันก็เริ่มจะเป็นเนื้อเดียวกัน พุทโธเป็นเนื้อเดียวกัน

พุทโธไป พุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าพุทโธไปเรื่อยๆ นะ พอรวมเป็นเนื้อเดียวกันนะ อู๋ย! มันละเอียด มันละเอียดมันก็จะโยนทิ้งอีกแล้ว ตกภวังค์อีกน่ะ

พุทโธๆๆ ของเราไปเรื่อยๆ ห้ามทิ้ง ห้ามทิ้งพุทโธแน่นอน

เพราะพุทโธเป็นคำบริกรรม พุทธานุสติ เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ พอพุทโธๆ จนมันละเอียด ละเอียดจนมันจะพุทโธไม่ได้ มันเริ่มกลัวแล้ว เฮ้ย! จะตายหรือเปล่าวะ เฮ้ย! มันจะเจออะไรวะ มันจะเข้ามา แฉลบเข้ามา

พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธจนกว่ามันจะพุทโธไม่ได้ แต่ตัวพุทธะเด่นมาก พุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ แต่ตัวมันจริงๆ มันจะระลึกรู้ได้เต็มตัวของมันเลย นี่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิมันเด่นชัดของมันเลย โอ้โฮ! สักแต่ว่ารู้ ดับหมด โลกนี้ดับหมดเลย พุทโธไม่ได้เลย พุทโธไม่ได้ แต่ตัวมันชัด ถ้าตามข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้

แต่โดยสัญชาตญาณของคน พุทโธๆๆ พุทโธชัดๆ ไม่ได้ เดี๋ยวมันหยาบ พุทโธๆ แล้วก็หลับไปเลย ร้อยทั้งร้อยตกภวังค์หมด

ทำสมาธิแสนยาก ที่ทำกันอยู่นี่หายไปหมด หายไปโดยมันหายไป พอหายไป “อู๋ย! ว่างๆ ว่างๆ” มึงหลับ มึงหลับมันยังว่าว่างๆ อยู่อีก เพราะมึงไม่รู้เรื่องมึงก็ว่าว่างน่ะสิ เพราะความรู้สึกมันไม่มีเลย มันหายไปเลย แล้วพอมันจะมา อ๋อ! มาแล้ว สะดุ้งตื่น

โธ่! การปฏิบัติใครๆ เขาก็รู้ถ้าคนเป็น ถ้าคนไม่เป็นมันไม่รู้หรอก

ฉะนั้นบอกว่า มันอึดอัดมันขัดข้อง

เพราะในการประพฤติปฏิบัติมีคนถากถางนินทาเยอะว่า ปฏิบัติแล้วมันทุกข์มันยาก มันจะเป็นจริงหรือ ปฏิบัติมันต้องมีความสุขสิ มันต้องมีความสุข มันต้องมีความดีงาม

มันดีงาม มันดีงามแน่นอนอยู่แล้วแหละ แต่ที่มันจะมีความทุกข์ ความทุกข์เพราะว่ากิเลสมันโดนบีบคั้น ไอ้สิ่งที่ว่ากิเลสมันโดนแผดเผามันก็อึดอัดขัดข้อง มันแสดงออกทั้งนั้นน่ะ เวลาที่ว่ามันทุกข์ยาก มันทุกข์ยากเพราะกิเลส มันไม่ใช่ทุกข์ยากเพราะปฏิบัติธรรม แต่เราปฏิบัติธรรมมันยังไม่ได้ถึงการปฏิบัติธรรมแท้ มันก็ยังไม่ได้รสของธรรม

รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง

สติ สามารถยับยั้งความฟุ้งซ่านได้ทั้งหมด

สมาธิ ยับยั้งความคิดได้ทั้งหมด

ปัญญา ถอดถอนกิเลสได้ทั้งหมด

ทำไมมันจะไม่เลอเลิศ แต่นี่ทำกันไม่จริงสักคน ถ้ามันเป็นจริงมันจะเป็นจริงอย่างนี้

นี่พูดถึงว่า เวลาเขาภาวนาแล้วมันอึดอัดขัดข้อง มันไปเสพติดความทุกข์ไง ทีนี้พอมีสติขึ้นมาแล้วก็รู้ว่าปรุงแต่งขึ้นมา

เราจะบอกว่า ถ้าทำตามความเป็นจริง ศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ปุถุชน กัลยาณชน ทำเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา แล้วทำให้มันเป็นความจริงขึ้นมา อย่าเพ้อเจ้อ อย่าเพ้อฝัน

เพราะว่าคำถามทีแรกว่ากลัวทุกข์ๆ กลัวไปหมด

มันเพ้อเจ้อ ความเพ้อเจ้อ ความกลัว ความกลัวมันก็คือความกลัว มันมีพระเข้าใจผิดเยอะแยะไป บอกว่า “อู๋ย! กลัวมากเลย แล้วภาวนาไปเดี๋ยวนี้หายกลัวหมดเลย ได้เป็นพระอนาคามี”

หา! เฮ้ย! ละความกลัวแล้วเป็นพระอนาคามีได้ด้วยหรือ มันไม่มีอยู่ พระอนาคามีมันต้องถอดถอนกามราคะนู่น

ไอ้ละความกลัว ความกลัวก็เป็นความกลัวอันหนึ่ง มันก็เป็นกิริยาอันหนึ่ง เป็นอารมณ์หนึ่งใช่ไหมว่าเป็นความกลัว เห็นไหม คนบางคนกลัวผีมากเลย แต่เวลาเขาแก้ไขแล้วนะ เขาก็หายกลัวเลย เขายังไม่เห็นเป็นอะไร เยอะแยะ

เวลากรรมฐานเราถ้ากลัวนักๆ กลัวนักก็เอาความกลัวนี้มาเป็นประโยชน์ เข้าไปอยู่กับป่าช้า เข้าไปอยู่กับซากศพไง เพราะมันจะได้ไม่คิดฟุ้งซ่านไป

เราอาศัยความกลัว อาศัยต่างๆ เป็นองค์ประกอบ เป็นเครื่องประกอบทำให้เราภาวนาขึ้น อาศัยความกลัวเสือ กลัวผี กลัวต่างๆ อาศัยมรณานุสติ เพราะอะไร เพราะกิเลสมันดื้อนักก็ต้องอาศัยสิ่งนี้เข้ามากำราบปราบปรามมัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันกลัวทุกข์ใช่ไหม มันกลัวทุกข์มันก็พลิกแพลงไป กิเลสมันปลิ้นปล้อนไปตลอด แล้วก็อ้างคำกิเลสคำหนึ่ง แล้วเราก็จะโต้ตอบกันอยู่อย่างนี้

เพราะเราจะบอกว่า ถ้าเราทำความสงบของใจแล้วถ้ามันเห็นสัจจะความจริง เห็นอริยสัจ มันก็พิจารณาของมันไป

ไอ้นี่มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ พอกิเลสมันหลอกนะ เดี๋ยวก็เรื่องนั้น เดี๋ยวก็เรื่องนี้ พอเรื่องพิจารณาจนมันปล่อยวางแล้วมันก็ไปสร้างเรื่องใหม่ มันก็เป็นเรื่องอยู่ข้างนอก เพราะมันอยู่ข้างนอกไง เพราะมันอยู่ข้างนอกใช่ไหม

เขาบอกว่าเขาเสพติดความทุกข์ แต่นี่พอรู้เท่าก็รีบปรุงแต่ง

อันนั้นมันอยู่ข้างนอก ทำความสงบของใจเข้ามา ใจสงบแล้วย้อนไปดูอริยสัจก็จบ นี่ข้อที่ ๑.

“๒. ผมเข้าใจว่าอยากหายกลัว ต้องเผชิญกับความกลัวแบบสุดๆ อย่างเช่นกามราคะเขาก็ต้องละด้วยอสุภะ ถ้าไม่อยากทุกข์ต้องละผัสสะ ลดความอยากให้มากที่สุด ละทางโลก แต่ตัวเองคิดถูกหรือเปล่า และมันมีเรื่องเครื่องวัดสิ่งบอกเหตุ”

สิ่งบอกเหตุ สิ่งบอกเหตุก็ผลของการปฏิบัติ เขาเรียกวิบาก ผลของการปฏิบัติใช่ไหม

การละความกลัวต่างๆ

เราจะบอกว่าอารมณ์มันก็สร้างไปเรื่อยๆ ฉะนั้น เวลาเราเป็นฆราวาส เราอยู่กับโลก เราก็มีสัมมาอาชีพ แล้วเราก็พยายามประพฤติปฏิบัติของเราไป แล้ววัดผลของเราไปเรื่อยๆ ไง วัดผลของเราไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่แล้วมันจะเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ

เราตอบปัญหาไปเยอะ แล้วก็พวกที่ถามมาทางเว็บไซต์เขามาหาเรา บางทีมานั่งฟังอยู่อย่างนี้ “ผมหยุดไปแล้ว ๒ ปี ผมหยุดไปแล้ว ๔ ปี” พอภาวนาไปเดี๋ยวก็พักไป ๒-๓ ปี เดี๋ยวก็กลับมาภาวนาใหม่ เดี๋ยวก็เลิกไป ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ มันไม่ต่อเนื่อง มันทำต่อเนื่องไปไม่ได้

นี่ไง เราถึงเปรียบถึงอำนาจวาสนาของคน ถ้าคนมีอำนาจวาสนาเขาจะต่อเนื่องของเขา เขาจะทำของเขาต่อเนื่องขึ้นไปได้ แม้แต่บวชเป็นพระก็เหมือนกัน เราอยู่ในวงการพระ เรารู้อยู่ เวลาที่ปฏิบัติ ปฏิบัติได้จริงมากน้อยได้แค่ไหน

ถ้าปฏิบัติได้จริงนะ เวลาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านจะสังเกตลูกศิษย์ ถ้าลูกศิษย์ถ้าทำต่อเนื่อง ทำแล้วมันได้ผลนะ องค์นั้นมีโอกาส แต่บางคนฮึดฮัดอยู่พักหนึ่งแล้วก็หายไป ๒ ปี ๓ ปีกลับมาทำใหม่ อยู่อย่างนั้นน่ะ ขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนั้นมันไม่ไปไหนหรอก

ถ้าภาษาเรานะ ภาษาเรา เราก็ย้อนกลับมาที่ว่าบารมีเขามีเท่านี้ วาสนาเขามีเท่านี้ เพียงแต่เขาให้อยู่เป็นพระ อยู่ไปเพื่อสร้างบุญบารมีไปเท่านั้น แต่ถ้ามันเป็นจริงเป็นจังขึ้นมามันจะได้ผล

ถ้าไม่ได้ผลจะเป็นอย่างนี้ บวชอย่างนั้นน่ะ เวลาบวชแล้วนะ ยังดีนะ ยังดียังแบบว่าไม่อมทุกข์นะ ถ้ามันอมทุกข์นะ กินอิ่มนอนอุ่น คนมีการกินมากๆ นอนมากๆ มันจะเป็นเรื่องอะไรล่ะ มันก็เป็นเรื่องเสพกามทั้งนั้นน่ะ มันจะเป็นเรื่องอะไร แล้วมันก็มาแผดเผาตัวเองทั้งนั้นน่ะ

แต่เวลาอยู่กับหลวงตา ถ้าใครฉันนมข้นนะ นมยูเอชที พระหนุ่มๆ ท่านไม่ให้ฉันเลย ถ้าใครฉันนมไม่ใช่ลูกศิษย์เรา พระหนุ่มๆ ดำรงชีพโดยการฉันอาหารพอเป็นมื้อๆ ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปเสริมขึ้นมาให้ไปกระตุ้นกิเลสหรอก

นี่เราอยู่กับท่านมานะ โธ่! เวลาเรามาเราเพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ แล้วถ้าเรายังภาวนายังไม่ถึงจุด อะไรบ้างที่ไปกระตุ้นให้มันไปกระตุ้นกิเลสเรา มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ล่ะ มันเป็นสุขตอนลิ้นกระทบ ตอนได้รสชาติ แต่พอมันกินเข้าไปแล้ว

ท่านถึงบอกเลยนะ ตอนเราอยู่กับท่านน่ะ พระไม่กล้าฉันเลย ถ้าฉัน ท่านชี้หน้าเลยนะ “ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา”

แต่ถ้าพระอายุมากแก่เฒ่าแล้วจะฉันบ้าง ท่านเปิดโอกาสให้ แต่ถ้าพระหนุ่มเณรน้อยท่านไม่ให้เลย

ท่านบอกว่าไม่ต้องมาบอกหรอก เพราะอะไร เพราะท่านเอาตัวท่านเป็นเกณฑ์ เพราะตัวท่านตอนเป็นพระเล็กเณรน้อย ท่านบอกว่าพอมันฉันแล้วมันควบคุมตัวเองไม่ได้ พอสุดท้ายแล้วนะ ท่านบิณฑบาตมานะ ถ้าได้พวกนี้มาท่านจะให้พระผู้เฒ่า ท่านไม่เคยแตะเลยตั้งแต่ท่านเป็นพระเด็กๆ นะ นี่หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง

แต่เวลาที่เราเจอไม่ใช่หลวงตาเล่าหรอก บนศาลาเลย ชี้หน้าอย่างนี้เลย ถ้าพระ พระไม่กล้า นี่คืออะไร นี่คือการพ่อแม่คุ้มครองดูแลลูกศิษย์ ลูกศิษย์ไม่มีวุฒิภาวะ ลูกศิษย์ไม่มีปัญญาพอ พ่อแม่คุ้มครองๆ ไอ้เด็กมันก็ดื้อใช่ไหม มันก็อยากกินน่ะ ชี้เลย “ไม่ใช่ลูกศิษย์เรา” ทุกคนจะกลัวมาก นี้คือการคุ้มครองของครูบาอาจารย์นะ นี่พูดถึงว่าถ้ามันมีครูบาอาจารย์ที่ดี ทุกอย่างมันก็ดีไปได้ ถ้าดีไม่ได้ มันก็เก็บไว้ในใจ

นี่พูดถึงว่าความกงความกลัว

กลัวก็เหมือนกัน เราจะบอกเลย กลัวมันเป็นอารมณ์ มันเป็นอาการ แต่จริงๆ คือกิเลสมันสร้าง กลัวเรื่องนั้น กลัวเรื่องนี้ กลัวเรื่องนู้น กลัวไปทั่ว ดับกลัวนี้ก็ไปกลัวอันอื่นต่อ พอดับเรื่องนี้เสร็จก็ไปกลัวไม่มีจะกิน พอมีเงินทองเต็มล้นฟ้าเลย กลัวว่าอาหารจะไม่อร่อย กลัวว่ากินเข้าไปแล้วเดี๋ยวจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ มันกลัวไปร้อยแปด มันสร้างไปเรื่อย

นี่จะบอกว่า พอบอกว่ามีความกลัวก็จะไปจ้องอยู่กับมัน แล้วก็จะไปจบกันตรงนั้น

ไม่จบหรอก ถ้าจบต้องทำความสงบของใจเข้ามา

นี่พูดเพราะว่ามันสะเปะสะปะ คิดว่ามันเป็นเรื่องปฏิบัติแล้วมันจะเป็นเหตุเป็นผล การปฏิบัติไปกิเลสมันปลิ้นปล้อน ตัวเองไม่ทันไง เล่ห์เหลี่ยมของมันไง เล่ห์เหลี่ยมของกิเลสมันร้อยแปด อารมณ์มันพลิกไปเรื่อย แล้วพลิกไม่ทัน เดี๋ยวก็เรื่องนี้ๆ ไม่จบหรอก มันไปคุยกันที่เงาไง ไม่คุยกันที่ต้นเหตุไง

ต้นเหตุก็คือใจไง ถ้าใจมันสงบก็จบ

ไอ้นี่ไปเอาปลายเหตุ แล้วก็ว่าจะแก้อย่างไรๆ ทำไมจะไปบวชพระนู่นน่ะ จะไปบวชพระเลยนะ บวชไปวัดนั้นเดือดร้อนเลย พระในวัดทั้งหมดมันจะไปจับผิดหมดเลย มันไม่จับผิดใจเราไง

นี่พูดถึงว่า ต้นเหตุมันอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่อาการข้างนอก อาการข้างนอกมันเป็นเรื่องอาการทั้งหมด จบ

ถาม : เรื่อง “ฝันเป็นจริง”

รบกวนถามหลวงพ่อค่ะ ลูกต้องกราบขอขมาหลวงพ่อที่คำถามของลูกไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติเลยเจ้าค่ะ คือเป็นคำถามที่ลูกสงสัยเจ้าค่ะ เรื่องคือ ก่อนที่พ่อของลูกจะเสียชีวิตเมื่อ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ลูกได้ฝันว่ามีผู้ชายประมาณ ๒-๓ คนขับรถมารับพ่อของลูกไปไหนไม่ทราบ ซึ่งก็เห็นว่าพ่อของลูกได้นั่งรถไปกับเขาแล้ว โดยที่ในฝันมีตัวลูกและน้องสาวอยู่ในเหตุการณ์ด้วย และกำลังจะเก็บเสื้อผ้าของใช้ของพ่อเพื่อตามเขาไป แล้วความฝันก็จบแค่นั้นเจ้าค่ะ

ซึ่งลูกก็ได้เล่าความฝันนี้ให้กับน้อง พี่ และญาติๆ ฟัง เขาต่างก็บอกให้ระวังเพราะพ่อของลูกนอนติดเตียงมาหลายปีแล้ว ซึ่งตัวลูกก็ยังไม่ได้ทันเตรียมหรือระวังใดๆ แต่ทำบุญทำสังฆทานนำพระมาสวดเท่านั้น พอถึงวันที่พ่อของลูกเสีย เหตุการณ์มันเหมือนในฝันมาก โดยที่ลูกก็อยู่กับน้องเพียง ๒ คนตามในฝัน ลูกอยากทราบว่าความฝันนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรเจ้าคะ กราบขอบพระคุณหลวงพ่อเจ้าค่ะ

ตอบ : ความฝันก็เป็นความฝัน ความฝันของคน คนน่ะ อย่างที่ว่ามันอยู่ที่วาสนาของคนนะ บางคนไม่เคยฝันเลย บางคนฝันแล้วฝันเล่า ฝันจนเป็นเรื่องธรรมดา บางคนนานๆ ฝันที แล้วฝันแม่นมาก ฝันแม่นคือมันตรงกับความฝันนั้น

เพราะตรงนี้มันจะย้อนกลับมาที่หลวงปู่มั่นพูด หลวงปู่มั่นบอก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตที่สร้างบุญกุศลมามากน้อยแค่ไหนมันก็ตามจริตของจิตนั้น

ถ้าจิตนะ จิตอย่างนั้น ถ้าจิตคนที่ฝันมากอะไรมาก เวลาไปภาวนาก็จะเห็นนิมิตมาก คนที่ไม่เคยฝันสิ่งใดเลย ส่วนใหญ่แล้ว ๘๐ เปอร์เซ็นต์ก็ไม่เคยฝันสิ่งใดมา เวลาถ้าไปปฏิบัตินะ ถ้ามันสงบก็สงบเฉยๆ โดยที่ไม่เห็นอะไรเลย แต่คนที่ฝันแล้วแม่นๆ ฝันตรงๆ มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี่พูดถึง ความฝันมันก็อยู่ที่จริต อยู่ที่จริตนิสัยที่สร้างมา ถ้าสร้างมาแล้ว คนเราเวลามันฝัน ถ้าฝันนะ หลวงตาใช้คำว่า “ฝันดิบ ฝันสุก”

เวลาคนนอนหลับ ฝันสุกคือฝันตามข้อเท็จจริงของคนนอนหลับ แต่เวลาเรานั่งอยู่นี่ เราคิดอยู่นี่เขาเรียกฝันดิบ ฝันดิบๆ คิดอยู่นี่ฝัน ฝัน เพ้อเจ้อ เพ้อฝัน หลวงตาท่านพูดอย่างนี้เลยนะ ฝันดิบๆ ฝันก็คือสังขารไง

นี่ไง เวลาเราทำสมาธิ เวลาหลวงตาท่านบอก คนเราเกิดมาเหมือนกับเครื่องยนต์ ติดเครื่องแล้วไม่เคยดับเลย แม้แต่หลับก็ฝัน แม้แต่หลับก็ไม่ได้ดับเครื่อง แต่เวลาเข้าสมาธิ พุทโธๆๆ พอจิตเข้าสมาธินี่ดับเครื่อง เครื่องยนต์ได้พัก

เครื่องยนต์ที่เกิดมาแล้วก็ติดเครื่องจนกว่าจะถึงวันตาย เครื่องยนต์จะชำรุดเสียหายมันก็ลากกันไปจนวันจะตาย แต่เรามาพุทโธๆๆ จิตสงบเราเหมือนกับดับเครื่อง เครื่องได้ดับได้พักได้ผ่อน แล้วมาติดเครื่อง เครื่องมันจะได้การซ่อมบำรุงรักษาที่ดี นี่ก็เหมือนกัน จิตก็เหมือนกัน

ฉะนั้น เวลาที่ว่าเวลาเราติดเครื่อง เราก็คิดมาตลอด แม้แต่เวลาหลับมันก็ฝัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันฝัน สิ่งที่เขาฝัน เขาฝันแล้วเหมือนกับว่ามีผู้ชาย ๒ คนขับรถมารับพ่อไป นี่ในฝันของเขา เหมือนกับเขากับน้องสาวจะตามไป แล้วพอมาอีกระยะหนึ่งพ่อของตนก็เสีย เวลาเสีย เขาก็อยู่กับน้องสาวของเขา ๒ คน แล้วก็เหตุการณ์นั้นเหมือนในความฝัน

ในทางวิทยาศาสตร์เขาว่าเซนส์ มิติที่หก ความสัมผัสได้ๆ จิตมันเป็นไปได้ ความจิตเป็นไปได้นี่เรื่องหนึ่งนะ นี่เรื่องหนึ่งคือว่า มันเรื่องธรรมดาของคน เรื่องธรรมดาของสิ่งมีชีวิต เรื่องธรรมดาเลย

แต่ทีนี้ถ้าถามถึงปัญหา เรื่องธรรมๆ เราก็พูดถึงผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือจิตที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะมันได้สร้างบุญสร้างกรรมมามากน้อยแค่ไหน มันมีประสบการณ์มามากน้อยแค่ไหน นี่ก็เป็นความฝันไง

ความฝันก็เป็นความฝัน คนเรามันคิดได้ คนเรามันคิดได้ คนเรามันก็ฝันได้ พอฝันได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง มันก็เป็นสิ่งที่เราได้สัมผัส เราได้มีอำนาจวาสนารู้ถึงวาระที่พ่อจะเสียก่อน คือฝันไปก่อน แล้วเวลาถึงเหตุการณ์วันจริงวันที่พ่อเสียมันเหมือนกับในฝันเลย

ไอ้นี่พูดถึงว่า จิตของเรา ความรู้สึกของเรามันมีสิทธิ มันมีความพิเศษ เราก็รับรู้ไว้ ถ้าไปพูดข้างนอกนะ เราพูดกันในชาวพุทธของเรา นี่มันเป็นข้อเท็จจริงของสิ่งมีชีวิตไง

แต่พอเราไปพูดปั๊บ พอถึงญาติพี่น้อง คนที่มีความเชื่ออย่างหนึ่งก็จะลากกันไปแล้ว “อย่างนี้ต้องไปหาหมอ หมอดู อย่างนี้ต้องไปแก้กรรม” เสียเงิน ไม่ใช่ ไม่ใช่พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเชื่อ หมอดูเขาก็เป็นการทายทัก เป็นอะไรต่างๆ ถ้ามันชักออกไปทางนู้นยุ่งเลย

นี่เราไม่ชักออกไปทางนู้น เราจะชักเข้ามาให้เป็นสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชักเข้ามาให้เป็นเรื่องของการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายในเรื่องผลของวัฏฏะ

จิตที่มันได้สร้างสมบุญญาธิการมา จิตที่มันสร้างเวรสร้างกรรมมา มันจะมีความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน จิตที่มันสร้างบุญมามากมันจะมีความรับรู้ ถ้าเรามีความรับรู้ได้เป็นพิเศษอย่างนั้นมันก็เป็นบุญกุศลของเรา

แล้วเรื่องที่มันเกิดขึ้นมา คนเราก็มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นความจริง พ่อติดเตียงมาหลายปี พ่อเสียไปแล้วมันเป็นความจริง มันเป็นความจริง เรากตัญญูกตเวที เราดูแลมาถึงที่สุดแล้ว เราได้ทำหน้าที่ของเราถึงที่สุดแล้วก็จบ นี่พ่อก็เสียไปแล้ว เราทำเสร็จแล้วก็จบ

แต่ความรู้ความเห็นอย่างนี้มันตกผลึกอยู่ในใจของเราว่ามันเป็นจริงอย่างนี้หรือไม่

สิ่งใดเราก็ทำคุณงามความดีของเรา เราก็ดำรงชีวิตของเราโดยปกติ เรามีสติสัมปชัญญะ เราไม่ประมาทกับชีวิต เราใช้ชีวิตของเราไปโดยความจริงของเรา สร้างบุญกุศลกับใจของเราให้ใจของเราให้มีความสุขในชีวิตนี้ ถ้าโลกนี้และโลกหน้า โลกนี้ ชีวิตในโลกนี้ โลกหน้าถ้ามันเป็นไปได้ เราก็มีบุญกุศลของเราไป เราทำคุณงามความดีของเราไป

ความฝัน ความฝันมันผ่านไปแล้ว ฝันเรื่องอะไร อย่างเมื่อกี้นี้เขาฝันดิบ ฝันถึงการบวช การออกบวชเลย

ไอ้นี่ความฝันจริงๆ เลย แล้วฝันเรื่องอะไร ถ้าฝันแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ว่าเรื่องความรู้สึกของเราเอง เรื่องจิตใจของเราเอง

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก พัฒนาหัวใจของเราให้มีสติมีปัญญาขึ้น พัฒนาตัวเราให้ดีขึ้น ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เราดีขึ้น ถ้าเราพิจารณาเป็นของเราเป็นขึ้นมา เราจะมีอริยสัจ เราจะมีสัจจะความจริง เราจะมีคุณธรรมในใจของเรา เห็นไหม คุณธรรมในใจของเรา

ใจของเรานี่แหละที่เกิด ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วเวลาเกิดเป็นมนุษย์ถ้าพิจารณาแล้วมีอริยภูมิในใจของตน เกิดอีก ชาติ แล้วถ้าพิจารณาของเราถึงที่สุด ไม่เกิดอีกเลย จิตที่พ้นจากข้อสงสัยทั้งหมด พ้นจากคำถามทั้งหมด เข้าใจแจ่มแจ้งทั้งหมด เข้าใจโลกธาตุ เข้าใจเรื่องกิเลส เข้าใจเรื่องสัจธรรมทั้งหมด พ้นจากกิเลสไป นี่คือสุดยอดของพระพุทธศาสนา เอวัง