กล้าไม้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “หายใจไม่ออก อาการเหมือนกลั้นหายใจ”
กราบนมัสการหลวงพ่อ
หนูภาวนามาได้เกือบ ๒ ปีแล้วค่ะ ใช้อานาปานสติหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ จับลมตรงปลายจมูก ช่วงเริ่มต้นก็หายใจเบาสบายดี อาการปวดขาก็มีเป็นปกติ แต่พอนั่งนานๆ ประมาณชั่วโมงกว่าถึง ๒ ชั่วโมง มันจะมีอาการเคลิ้มเหมือนจะหลับ แต่ไม่หลับ รู้ว่าหายใจเข้าออกยาวหรือสั้น และหลังจากนั้นก็จะมี อาการเหมือนตึงที่จมูก ถ้ามีอาการนี้เกิดขึ้น อาการปวดขาจะหายไป นั่งนานถึง ๓ ชั่วโมงก็ได้ (ถ้าไม่มีอาการตึงที่แถวจมูก อาการปวดจะทรมานมากเจ้าค่ะ)
แต่พอหลังจากนั้นประมาณ ๕ เดือนมานี้ อาการตึงที่จมูกเกิดขึ้นเร็วมาก ไม่น่าจะถึง ๑๐ นาทีแรก แล้วอาการหายใจไม่ออกเหมือนจะกลั้นหายใจมันก็เกิดขึ้น หนูไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรแล้ว หนูทดลองแก้โดยการวางพุทโธ แล้วเอาสติไปจับตรงท้องหรือลิ้นปี่หรืออก ขึ้นอยู่กับว่าลมมันอยู่ตรงไหน หนูกำหนดรู้ตรงนั้น ผลคือบางครั้งมันก็เบาสบายนิดหน่อย บางครั้งมันก็รู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข เฉยๆ อยู่อย่างนี้หลายเดือนเจ้าค่ะ หนูเลยแก้ใหม่โดยไม่วางพุทโธ แต่กำหนดลมอยู่ที่ท้องหรือหน้าอกแทน ผลก็คือมันหายใจออกเป็นบางช่วงเวลา บางช่วงเวลามันก็หายใจไม่ออก ไม่สบาย
ขอหลวงพ่อเมตตาช่วยแก้ปัญหาให้หนูด้วยเจ้าค่ะ หนูเบื่ออาการนี้มากค่ะ กราบขอบพระคุณ
ตอบ : ใครๆ ก็เบื่อความไม่ดีทั้งนั้น ใครๆ ก็อยากได้แต่ความดีทั้งนั้น ใครๆ อยากได้ความดี เห็นไหม เราเกิดเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องคุณงามความดี ให้ทำคุณงามความดี ทำดีต้องได้ดี แต่! แต่กิเลสมันก็โต้แย้งไง ศาสนาสอนให้ลำบาก ถ้าเราใช้ชีวิตโดยปกติของเรา เราก็จะมี ความสุข เราก็จะต้องถือศีล เราก็ต้องมาบังคับตัวเอง ศาสนา สอนให้เราทำอะไรไม่สะดวกทั้งนั้นเลย นี่เวลามันคิดของมัน
แต่ถ้าคนที่มีสติมีปัญญาของเขา บอกว่า ศาสนาต้องมีศีล มีธรรม มีศีลมีธรรมคือบังคับตนเองให้ ให้อยู่ในแนวทางที่ดี ถ้าเราจะทำความพอใจของเรา ใครๆ เขาก็ทำได้ แล้วทำตามความพอใจของเรา เราก็ไปกระทบกระเทือนกับคนอื่น เวลาไปกระทบกระเทือนคนอื่นมันก็สร้างเวรสร้างกรรมกันต่อไป การ กระทำมันก็มีแต่เวรมีแต่กรรมไปทั้งนั้น ถ้ามีเวรมีกรรมทั้งนั้น คนเราเกิดมาก็เกิดมาจองเวรจองกรรมกัน มันจะมีความสุขที่ไหนล่ะ มันไม่มีความสุขหรอก แต่มันเป็นความคิดของกิเลสเพราะ มันมักง่าย มันต้องการความสะดวกสบาย แล้วมันไม่สบาย
แต่ถ้าคนจะเอาความจริงๆ มันต้องบังคับตัวเอง มีจุดยืนของเรา เข็นครกขึ้นภูเขา ถ้าการเข็นครกขึ้นภูเขามันที่สูง ครก มันจะลื่น ลื่นลงมาใส่เรา มันต้องใช้น้ำหนัก ต้องใช้ความอดทน มันต้องทำคุณงามความดีทั้งนั้น ทำดีต้องได้ดีไง ฉะนั้น ถ้าเรา เชื่อ เรามีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนา เราก็อยากจะประพฤติปฏิบัติ เราก็อยากจะรู้จริงรู้แจ้งอย่างที่องค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอน อย่างที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านบอกว่า ท่านมีความสุข ท่านมีความอุดมสมบูรณ์ จิตใจท่านผ่องแผ้ว อู๋ย! อยากเจอๆ อยากพิสูจน์ๆ นี้พอมันพิสูจน์ขึ้นมา มันก็อยู่ที่การกระทำ ถ้าอยากพิสูจน์มันต้องพิสูจน์
เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้จริงๆ นะ บอกพระอานนท์ “อานนท์ เธอบอกเขานะ อย่า บูชาเราด้วยอามิสเลย ข้าวของเงินทองเป็นอามิสบูชา ให้บูชาเราโดยการประพฤติปฏิบัติเถิด” หายใจเข้านึกพุท หายใจออก นึกโธ บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการประพฤติปฏิบัติของเรา เพราะในการประพฤติปฏิบัติมันจะแลกมาด้วยความทุกข์ความยาก แต่ผลที่มันได้มามันจะเกิดความสุขความจริงขึ้นมา ความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบ ความจริงที่ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมา ถ้าเราทำได้จริงเราก็จะได้ผลอย่างนั้น
ถ้าได้ผลอย่างนั้นปั๊บ เราก็อยากจะปฏิบัติ แต่พอเรามาปฏิบัติปั๊บ เราจะมีปัญหาไปหมดเลย เราจะมีความขัดแย้งไป หมดเลย เราจะมีความทุกข์ความยากไปหมดเลย อันนี้มันเป็น การยืนยันไง เห็นไหม กล้าไม้ กล้าไม้ที่อ่อน ดูสิ เขาเพาะพันธุ์ ไม้ เขาตัดแต่งพันธุกรรมของมัน เวลาเขาตัดแต่งแล้ว เวลาเขาเพาะกล้าไม้เขาต้องไปเพาะในที่ร่มเพื่อไม่ให้แดดมันเผา เวลามันโตขึ้นมา เห็นไหม ต้องเอาออกตากแดดบ้าง เพื่อให้มันได้รับแดด ให้มันมีความอดทน พอมันทำได้เราก็จะไปลงแปลงต่างๆ กล้าไม้ กล้าไม้ เห็นไหม เวลาเราเพาะพันธุ์ขึ้นมา มันก็ต้องอนุบาล มัน ต้องดูแลมัน เผื่อมันจะโตขึ้นมา แต่กล้าไม้ พันธุกรรมของ ไม้บางชนิดมันไม่เติบโต เมล็ดพันธุ์บางเมล็ดพันธุ์ไปเพาะแล้วมันไม่แตก มันไม่ขึ้นมา เมล็ดพันธุ์ของมัน เห็นไหม
นี่ก็เหมือนกัน จิตของคน จิตของคน จิตของคนที่มัน เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันได้สร้างสมของมันมา ถ้ามันได้สร้างสมของมันมา พันธุกรรมของจิตๆ มันตัดแต่งของมันมา เวลามันตัดแต่งของมันมา คนที่มีความคิดดีๆ คนที่มุมมองดีๆ ทำไมเขาคิดแต่มุมมองที่ดีๆ มากๆ คนที่มุมมองที่คิดมันโต้แย้ง โต้แย้ง ดูสิ มุมมองขึ้นมา เห็นไหม มันเป็นเวรเป็นกรรมนะ เป็นเวรเป็นกรรม
ถ้ามันชัดเจนก็ต้องพระเทวทัต พระเทวทัต เวลาองค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระเวสสันดร เขาก็เกิดเป็นชูชก แล้วเวลามาเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ สุปปพุทธะกับ พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพี่เป็นน้องกัน เทวทัตก็มาเกิดเป็นพี่เป็นน้อง กัน เวลามาบวชแล้ว บวชแล้ว ก็เริ่มต้นมาบวชในชาติในตระกูลเดียวกัน เป็นศากยบุตรด้วยกัน เป็นกษัตริย์ด้วยกัน เวลาออกประพฤติปฏิบัติขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวทัตได้ฌานโลกีย์ พอเทวทัตได้ฌานโลกีย์ เทวทัตได้ฌานโลกีย์ก็อยากจะปกครองแทนองค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มาขอพร ขอพร จะขอปกครองสงฆ์ไง นี่ไง เวลามุมมองและความคิดไง
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องการปกครองสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการวางธรรมวินัย ไว้ให้รื้อสัตว์ขนสัตว์ ให้สัตว์บริษัท ๔ ได้ประโยชน์ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเทวดา อินทร์ พรหม สอนให้เขาพ้นจากทุกข์ไง ให้เขาได้ประสบความสุขที่แท้จริงไง แต่เทวทัตต้องการแค่ปกครองสงฆ์ ปกครองสงฆ์
เราพูดถึงมุมมอง มุมมอง มุมมองพื้นฐาน กรรมของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้ามันกรรมของคนไม่เหมือนกัน มันจะย้อนมาที่ปฏิบัติเนี่ย เวลาปฏิบัติเราเกิดเป็นคนเหมือนกันทั้งนั้น มันมีศรัทธามีความเชื่อเหมือนกันทั้งนั้นน่ะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาก็ด้วยความมีเป้าหมายอยากพ้นทุกข์เหมือนกันทั้งนั้น แล้วมันต่างคนต่างพยายามกระทำไปไง ต่างคนต่างกระทำไป มันก็มีอุปสรรคของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
กล้าไม้ กล้าไม้เห็นชัดๆ นะ แต่จิตเห็นกันอย่างไร จิต เห็นอย่างไร อนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเช้าขึ้นมาเล็งญาณเลย ทำไมต้องเล็งญาณล่ะ เล็งญาณขึ้นมา จิตดวงใดเขาได้สร้างสม บุญญาธิการของเขามา แล้วเขามีโอกาสที่จะได้เกิด มีโอกาสที่ จะบรรลุธรรม แล้วมันมีเยอะถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปรื้อสัตว์ขนสัตว์คือไปรื้อค้นพวกนี้ พวกนี้เขาจะหมดโอกาสไป อย่างเช่น เช่น องคุลิมาล ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าไปช้าอีกวันเดียว ประวัติศาสตร์ในพระพุทธศาสนาจะเปลี่ยนมือไปเลย ประวัติศาสตร์ในพระพุทธศาสนา องคุลิมาลจะฆ่าแม่ เพราะแม่จะไปช่วยองคุลิมาล องคุลิมาลพอฆ่าแม่มันก็เป็น อนันตริยกรรม องคุลิมาลจะไม่มีโอกาสได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระ-อรหันต์เลย
คำว่า “รื้อสัตว์ขนสัตว์” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า คำว่า “เล็งญาณ เล็งญาณ” เล็งญาณดูบุคคลที่เขามีโอกาสมหาศาล แล้ว ๑. เขาจะเกิดภัยพิบัติ ๒. เขาจะสิ้นชีวิตไป ต้องไปเอาคนนั้นก่อน เอาคนนั้นก่อน นี่งานของพระพุทธเจ้า เวลางานของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ปรารถนาจะให้สัตว์โลกมีความสุข ปรารถนาให้สัตว์โลกมีดวงตาเห็นธรรม แต่เทวทัตอยากปกครองสงฆ์
ทำไมสงฆ์ต้องไปปกครองมันล่ะ สงฆ์มันก็โตขึ้นมา บวชเป็นพระอายุ ๒๐ ถึงได้บวชไง สงฆ์มันเข้มแข็งในตัวมันเอง อยู่แล้วไง ถ้าสงฆ์ถ้าสงฆ์เป็นที่ดี พระ ๔ องค์เป็นที่ดีเป็นสงฆ์ ขึ้นมา พระ ๔ องค์นั้นจะลงสังฆกรรมจะทำคุณงามความดีไงล่ะ ถ้าพระ ๔ องค์นั้นมีดีครึ่งหนึ่ง มีไม่ดีครึ่งหนึ่ง เห็นไหม มันก็มี การโต้แย้งกัน มันก็ต้องพยายามชักจูงกัน ถ้ามันชักจูงขึ้นมาดีได้ ไอ้พระที่เก๊มันก็จะเปลี่ยนมาเป็นที่ดี นี่สงฆ์ สงฆ์ปกครองสงฆ์ สงฆ์ก็จะชักนำกันเองไง
แต่ถ้าบุคคลจะไปปกครองสงฆ์ๆ แล้วทำไมไม่รู้จักปกครองตัวเอง ทำไมไม่รู้จักรื้อค้นหัวใจของตัวเอง ทำไมไม่ทำให้หัวใจ ตัวเองสิ้นสุดแห่งทุกข์ เพราะหัวใจสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วเข็นให้ไปมันยังไม่ไปเลย ให้ไปปกครองไม่เอาแล้ว ไม่เอาแล้ว มันไม่อยาก ไปปกครองใครหรอก เพราะมันรู้เช่นเห็นชาติ รู้ถึงความเป็นจริงว่าคนเราชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ทุกคนมันต้องตาย ไปข้างหน้า มันไม่มีอะไรจริงสักอย่างหนึ่งเลย จะไปปกครองของไม่จริง จะไปดูแลของไม่จริง เดี๋ยวมันก็ย่อยสลายไป เดี๋ยวมันก็แตกกันไปใช่ไหม พระ ๔ องค์เดี๋ยวก็แยกกันไป สงฆ์ไม่มีแล้ว มันอยู่ด้วยพักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็กระจายกันไป แล้วจะไปปกครองอะไรมันไม่มีอยู่จริง เพราะมันเป็นสมมุติชั่วคราว แล้วจะไปอยู่ กับความชั่วคราวอย่างไร เราอยู่กับความจริงในใจของเรา นี่พูดถึงเทวทัต
เราพูดเรื่องนี้ขึ้นมาว่า กล้าไม้ที่มาของจิต แล้วเราก็จะยกเข้ามาอยู่ที่ปัญหาในการปฏิบัติไง พวกเราเนี่ย เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมามีการศึกษา ประชาธิปไตย เกิดมาสิทธิเสรีภาพ เท่ากัน เสมอกัน เราเสมอกันโดยความเป็นมนุษย์ รัฐธรรมนูญ รับประกันถึงความเป็นมนุษย์ รับประกันถึงศรัทธา ถึงความ เชื่อ ถึงการเปิดโอกาสให้นับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ นี่พูดถึงว่าเราเสมอกัน โดยความเป็นมนุษย์ เราเสมอกันโดยกฎหมาย แต่เวลาประพฤติปฏิบัติเข้ามาตรงนี้ เวลาปฏิบัติ กล้าไม้ กล้าไม้ กล้าไม้ ที่แข็งแรงไปปลูกที่ไหนมันก็ขึ้น กล้าไม้ที่อ่อนแอ เวลาไปปลูกที่ไหน ถ้าดูแลดีๆ มันก็อาจจะขึ้นบ้าง แต่ถ้าคลาดสายตาตายหมดเลย กล้าไม้ กล้าไม้บางชนิดไม่สามารถงอกได้เลย กล้าไม้บางชนิดมันขาดตกบกพร่องของมัน
หัวใจ หัวใจของเราที่จะประพฤติปฏิบัติมีศรัทธามีความเชื่อมีเป้าหมายนี่แหละ แต่เวลาทำไป เวลาทำไปนะ ขนาดทำดีแล้วนะ บางทีมันยังเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันมีอุปสรรคไปข้างหน้าแน่นอน มีอุปสรรคข้างหน้าแน่นอนเพราะอะไร เพราะเรามีกิเลส คนที่มีกิเลส กิเลสหยาบ กิเลสหนา กิเลสบาง กิเลสของคนก็ไม่เท่ากัน กิเลสคนเบาบางฉันไม่เอา อะไรเลย แต่ฉันก็ไม่ไปไหนเลย มันไม่ทุกข์ไม่ยากจนเกินไป แต่ถ้ากิเลสมันหยาบๆ อู้ฮู! มันทุกข์นะ นู่นก็ขาดแคลน นี่ก็ ไม่ได้ ไม่มีอะไรเลย ขาดแคลนตลอด ทุกข์ตลอด มันก็ไม่ เหมือนกัน เห็นไหม มันไม่เหมือนกัน
พอไม่เหมือนกันปั๊บ เราจะบอกว่าสิ่งที่เราพบสิ่งใด เราเผชิญกับสิ่งใด นั้นคือกรรมเก่าของเราทั้งนั้นน่ะ คือสิ่งที่เราได้สร้างมา พอสิ่งที่ได้สร้างมา เวลามาภาวนาไป โดยอาการพื้นฐานเลย ไอ้ที่ว่า “หนูภาวนามา ๒ ปี หายใจเข้านึกพุท หายใจออก นึกโธ เวลามันปวดขา ปวดขา เวลามันนั่งปกติมันจะปวดขา ของมัน ประมาณ ๒ ชั่วโมงมันจะมีปวดขามาก มันปวดขามาก แล้วมันจะมีอาการเคลิ้มๆ เหมือนจะหลับ แต่ไม่หลับ” หลับแน่นอน
“เหมือนจะหลับ” หลับไปแล้ว
“เหมือนจะหลับแต่มันไม่หลับ” มันไม่หลับขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเดี๋ยวมันก็หลับ เดี๋ยวมันก็ตื่น เวลาหลับขึ้นไป สติเราไม่ทันปั๊บมันก็จะวูบหายไปพักหนึ่ง สติเราดีขึ้นมาก็จะกลับมา พอกลับมาขึ้นมาก็เหมือนกับตื่นขึ้นมา แล้วถ้ามันต่อเนื่อง ต่อเนื่องไปนะ พอมันหลับไป โดยความเข้าใจผิดนะ มันบอกว่า นี่คือสมาธิเลยนะ นั่นคือตกภวังค์หมดเลย
แล้วเวลาเข้ามา เห็นไหม “มันจะเริ่มเคลิ้มๆ พอมันหายใจเข้าออกสั้นๆ มันจะมีอาการตึงที่จมูก พอมีอาการตึงที่ จมูกปั๊บ ความรู้สึกนี้มันไปอยู่ที่จมูก อาการปวดขา..” จิตนี้ มันรับรู้ได้หนึ่งเดียว เวลามันไปจำเจแล้วมันรับรู้ถึงอาการนั่ง เพราะโดยธรรมชาติของคน เวลานั่งทับขา ขาจะปวดก่อน เวลานั่งทับเวลาเลือดลมมันไม่เดิน อาการปวดขามันฝังใจ มันก็ไป อยู่ที่อาการปวดขาก่อน แล้วอาการปวดขาเด่นชัดขึ้นมาก็ปวดขา พอปวดขาเราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ มันไปเกิดอาการตึงที่จมูก อาการตึงที่จมูก ความรู้สึกนี้ไปอยู่ที่ปลายจมูก ไปรับรู้อาการตึงนั้น พอรับรู้อาการตึงนั้น อาการปวดขาก็หายไป มันก็ไปอยู่ที่อาการตึงนั้น ถ้าอาการตึงนั้นมันก็อยู่ชั่วคราว ทำไมไม่ไปอยู่ที่อาการตึงนั้น ไอ้การปวดขาทรมานมาก อาการที่ตึง อาการที่รับรู้นั้นก็เป็นการรับรู้อันหนึ่ง
แต่ถ้าเราพุทโธต่อเนื่องไป อาการตึงนั้นก็จะหายไป อาการตึงหายไป แต่ความรู้สึกเราไปอยู่ที่ลมหายใจชัดๆ ลมหายใจชัดๆ ลมหายใจจะละเอียดขึ้น เบาบางขึ้น พออาการ ลมหายใจมันเริ่มเบาลง อาการหายใจมันเริ่มบางลง เราก็ตกใจ อู๋ย! มันจะตาย มันจะตาย อาการหายใจก็เด่นชัดขึ้นมา นี่ไง มันหยาบ ละเอียดอย่างนี้ ถ้าจิตมันภาวนาไป นี่พูดถึงอาการ ของใจทั้งนั้น
ถ้าอาการของใจทั้งนั้น สิ่งที่อาการของใจ เรากลับมาที่พุทโธชัดๆ ไว้ แล้วอยู่ที่พุทโธ อยู่ที่พุทโธคือคำบริกรรม คือเราบังคับ เราดูแลให้ความรู้สึกเราอยู่กับพุทโธ อยู่กับพุทธะ อยู่กับพุทธะอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามันละเอียด มันหยาบขึ้นมา มันผล ผลคือวิบาก ผลคือการกระทำไง การกระทำที่พุทโธนั้นมันจะเกิดอาการ เห็นไหม อาการที่มัน ปวดขา อาการที่มันตึงที่ปลายจมูกต่างๆ อาการที่เกิดขึ้น อาการ อาการที่มันทำอยู่ อาการโดยธรรมชาติของมัน
เวลากระแสน้ำที่มันไปตามแม่น้ำ เห็นไหม ก็ไหลไปตามแม่น้ำนั้น ถ้าไปเจอเขื่อน ไปเจอสิ่งต่างๆ น้ำนั้นมันก็ไหล เบี่ยงเบนไปตามแต่ไอ้สิ่งที่กีดขวาง
นี่ก็เหมือนกัน เราหายใจพุทโธๆ การหายใจของเรา สิ่งใดที่ไปกระทบกับสิ่งใด สิ่งที่ว่าเราไปรับรู้อะไรต่างๆ นี่อาการของมัน แล้วอาการอย่างนี้เราก็ย้อนกลับไปที่ว่าจิตคนที่มีอำนาจวาสนา ไม่มีอำนาจวาสนา ถ้าคนมีอำนาจวาสนาเรื่องอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผิวเผิน เรื่องเบาบางมาก มันทำของ มันไปชัดเจนเข้าไป อย่างที่เราว่าพอไปแล้ว ถ้าไปอยู่ที่ลมหายใจมันจะเห็นลมหายใจ ลมหายใจชัดๆ แล้วถ้าลมหายใจมันเบาบางลง ลมหายใจเบาบางลงแต่จิตมันเด่นขึ้น ฟังให้ดีนะ ไม่ใช่ลมหายใจมันหายไป โอ๊ย! ทุกอย่างหายไป แล้วหายไปหมดเลย อย่างนี้ไอ้นี่ตกภวังค์แน่นอน
เวลาลมหายใจมันเบาบางลง แต่ความรู้สึกชัดขึ้น รู้สึกว่าลมหายใจมันละเอียดขึ้น มันเหมือนมีคนรู้ลมหายใจ ลมหายใจจะละเอียดขึ้น ชัดขึ้น เบาขึ้น ดีขึ้น มันไม่ตกใจ แต่ถ้าลมหายใจมันละเอียดขึ้น เราไปอยู่กับลมหายใจนั้นน่ะมันก็ตกใจต่างๆ เห็นไหม ถ้ามันแยกออกมา แยกออกมา เราพุทโธชัดๆ พุทโธ ชัดๆ อาการจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป แต่เราเป็นผู้ดู ดู สุดท้ายแล้วถ้าลมหายใจจนหายขาดเลย ลมหายใจไม่มี แต่ความจริงมี มีหมด เพียงแต่จิตมันไม่รับรู้ มันไม่รับรู้อะไรเลย บริกรรม จนมันเด่นชัดขึ้นมานั้นคือสัมมาสมาธิ อัปปนาสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นี่พูดถึงว่าอาการที่เป็นไปใช่ไหม
ฉะนั้น เขาบอกว่า “ระยะ ๕ เดือนหลังนี้มันจะเกิดเร็ว มาก แค่เพียง ๑๐ นาทีก็เกิดขึ้น” นี่คือความชำนาญ นี่คือ ดีขึ้น อาการที่มันดีขึ้นๆ อาการที่ดีขึ้น มันจะพัฒนาขึ้น ถ้ามันพัฒนาขึ้น สุดท้ายแล้วเขาบอกว่า “เขาก็เปลี่ยน เปลี่ยนไป อาการ ที่มันตึงที่ปลายจมูก จะตึงที่อะไรความรับรู้มันจะละเอียดขึ้นมา ทีแรกมันเป็น ๒ - ๓ ชั่วโมง มันถึงจะเป็นได้ ตอนหลังแค่ ๑๐ นาที ถ้า ๑๐ นาทีเขาเลยทิ้งหมดเลย อะไรก็ไม่เอา สุดท้ายแล้วก็มาพิจารณาลม อาการที่เกิดขึ้นคือมันรู้เฉยๆ” สิ่งที่รับรู้ สิ่งต่างๆ มันจะเกิดขึ้นทั้งนั้น มันจะพัฒนาของมันไป แล้วจาก สิ่งหนึ่ง แม่น้ำทั้งสายที่มันไหลไปมันจะเจอสิ่งกีดขวางในแม่น้ำ ทั้งสาย นี่ก็เหมือนกัน มันจะเจออุปสรรคไปตลอด เจออุปสรรคไปตลอด จนกว่าเราเข้าใจ เราทำได้จริงหมด แล้วมันจะวางอุปสรรคทั้งหมด จนตัวมันเป็นอิสระขึ้นมา นั่นคือจิตเป็นอิสระ นี่คือการภาวนาไง
ถ้าการภาวนาถึงตอนนั้นแล้วเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ถึงตอนนั้นเราค่อยฝึกหัดใช้ปัญญา ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นมา ถ้า การใช้ปัญญาจิตมันยังไม่สงบ เราก็ใช้ปัญญาได้ แต่ใช้ปัญญา อย่างนี้ ใช้ปัญญาฝึกหัด แต่ถ้าจิตสงบแล้วใช้ปัญญา ถ้าปัญญา มันเกิดขึ้น ผู้ที่ปฏิบัติ โอ้โฮ! มันจะมหัศจรรย์มาก เวลามันเกิด ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา โดยสมบูรณ์แบบ นะ เราจะมหัศจรรย์กับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้ามาก
แต่นี้เวลาพูดไป เวลาคนมันไม่เห็น มันก็ไปแต่งนิยาย เป็นอย่างนั้นๆ แล้วพอไปแต่งนิยาย คำว่า “นิยาย” คือจินตนาการ ไอ้พวกคนฟัง ถ้ามันฟังนิยายแล้วมันเข้าใจนะ แต่ถ้ามันฟังธรรมะมันไม่เข้าใจ ฟังธรรมะอื้อ! อื้อ! แต่ถ้าฟัง นิยายนะใช่เลย เพราะนิยายมันเข้ากับนิยาย นิยายมันเข้ากับสมมุติ นิยายมันเข้ากับกิเลส นิยายธรรมะฟังเพลิดเพลิน ฟังแล้วเข้าใจเลย แต่ถ้าเป็นจริงมันฟังได้ยาก ฉะนั้น บอก ถ้าจิต มันสงบแล้วฝึกหัด ถ้าเป็นจริงๆ มันพูดเปรียบเทียบความจริง อันนั้นได้ยาก แต่ถ้ามันเป็นธรรมะนิยาย เห็นไหม ไอ้นี่เราจะเข้าใจได้ ฉะนั้น ก็ฝึกหัดของเราไป
“เขาบอกว่าเขาไม่เอาอะไรเลย พอสุดท้ายแล้วเวลาพุทโธเอาไว้ที่อก ไว้ที่ต่างๆ” อันนั้นคืออุบายวิธีการของเรา ถ้ามันจะเป็นไปได้นะ เราก็พยายามตั้งใจของเรา อะไรที่มันผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีตแล้ว มันเป็นประสบการณ์ของเรา สุดท้ายแล้วเรากำหนดหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ อยู่กับลมหายใจชัดๆ
อาการที่เล่ามาให้ฟัง สิ่งที่มันเป็นอดีตที่มันผ่านมาแล้ว เวลาไปภาวนาต่อไปมันก็จะเกิดอาการแบบนี้ หรืออาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ กิเลสมันร้ายกาจนัก ถ้าพอเรารู้ปั๊บมันจะเปลี่ยน เปลี่ยนวิธีการหลอกเลย เดี๋ยวหลอกท่านั้น เดี๋ยวหลอกท่านี้ แล้วหลอกนะ มันก็วนมาอย่างนี้ ตอนนี้พอหลอกอย่างนี้ เราเชื่อมันนะ เราหลงนะ มันก็หลอกอยู่พักหนึ่ง พอเรารู้เท่าปั๊บ มันก็ไปหลอกรูปใหม่ใช่ไหม พอเราก็ตามมันไป พอเรารู้ เดี๋ยวก็กลับมาหลอกที่เดิมอีกล่ะ ไม่ทันมันหรอก
แต่ถ้าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เวลาใช้ปัญญาก็ปัญญาว่าเราโง่เง่า ปัญญาที่เราไม่ทันกิเลส ปัญญาที่พยายามจับผิดตน ปัญญาพยายามฝึกหัดตนให้แข็งแรงขึ้นมา เดี๋ยวจะทันกิเลส พอทันเข้าไปแล้วจะรู้เท่าหมดเลย พอรู้เท่าหมดเลยก็ย้อนกลับไปที่ว่ากล้าไม้ กล้าไม้ที่มันมีเวรมีกรรมมา มันทำได้ง่าย ทำได้ยาก
แล้วถ้าในการประพฤติปฏิบัติของเรา พันธุกรรมของจิตๆ เวลาเราภาวนาแล้วเราใช้ปัญญาของเรา นั่นคือตัดแต่งมัน คือแก้ไขมัน คือพยายามรักษาพันธุ์ไม้นี้ให้แข็งแรง สิ่งใดที่มันเป็นโรคเป็นสิ่งอุปสรรคกับต้นไม้นั้น เราพยายามบำรุงรักษา บำรุงรักษาให้มันแข็งแรง แล้วเดี๋ยวมันก็จะภาวนาดีขึ้น การภาวนาดีขึ้นคือทำจิตให้กลับมาเป็นปกติ แล้วจะไม่สงสัยเรื่องอย่างนี้ แต่ทุกคนปฏิบัติจะไปเจออย่างนี้ทั้งนั้นน่ะ แต่เราก็พยายาม แข็งแรงของเราไง
นี่พูดถึงกล้าไม้ กล้าไม้ เราจะบอกว่า จิต จิตเดิมแท้ จิตที่มันมาเกิดเป็นเรา มันมีอุปสรรคอะไรมา มันได้สร้างอะไรมา เวลาเราปฏิบัติมันโผล่มาหมดแหละ เพราะอะไร เพราะเราจะเข้าไปเผชิญหน้ากับความจริง เราจะเข้าเผชิญ เผชิญหน้ากับจิตของเรา การภาวนาคือค้นหาจิตของเรา พุทธะ หาผู้รู้ของเรา ถ้ามันได้ประโยชน์ มันได้เป็นความจริง มันก็จะเป็นประสบการณ์ของเรา นี่คือการปฏิบัติ ถ้าเป็นการปฏิบัตินะ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรมจะได้สัจธรรม จะได้ความจริงเป็นผลตอบแทนในการประพฤติปฏิบัติของเรา
ถาม : เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อที่ตอบคำถามเรื่อง คุณพ่อ คุณแม่”
ตอบ : เขาขอบคุณเฉยๆ เราทำตามหน้าที่ จบ
ถาม : เรื่อง “ตั้งจิตอธิษฐาน”
กราบนมัสการหลวงพ่อ
กระผมมีเรื่องสงสัยคือเมื่อปี ๕๓ กระผมได้บวชที่เมืองเลย ตอนแรกกะจะอยู่แค่ ๑ เดือน ก็จะสึก หลวงปู่ก็เทศน์ดักว่าสึกออกไปก็เป็นผี เป็นเปรต เป็นสัตว์นรก เราก็เลยอยู่ต่ออย่างจับใจไม่มีกำหนดสึก ก็พอดีจิตเกิดอาการความรู้สึกหดตัวเข้ามา แล้วกายเกิดอาการคล้ายแยกร่างได้ ด้วยเสียงของใจเราพูดขึ้นเอง กายกับใจไม่ใช่อันเดียวกัน ประมาณนี้ครับ แล้วอารมณ์ดีใจคึกคัก อยู่ ๓ - ๔ วัน
ขอเข้าเรื่องเลยนะครับ พอปลายปีผมกลับมาเยี่ยมบ้านที่อุดรฯ พักวัดป่าใกล้ๆ บ้าน ปกติหลวงปู่ไม่อยู่วัด พอหลวงปู่มาพาทำวัตรเย็น พอสวดมนต์เสร็จก็หันหน้ามายิ้มๆ แล้วบอกว่า “ใครปรารถนาพระปัจเจกฯ กับอัครสาวก พระพุทธเจ้า ให้ตั้งใจอธิษฐานเอา” ช่วงเช้าก่อนให้พรก็พูดแบบเดิมอีก ส่วนผมก็อธิษฐานอย่างเดิมอีก คือขอเป็นพระอัครสาวก เพราะเป็นพระพุทธเจ้าต้องมีคุณสมบัติดี แต่เราไม่มีเลย
ขอถามเลยนะครับ
๑. หลวงปู่ให้เราอธิษฐานเพราะเหตุอะไรครับ
๒. หลวงปู่บอกแค่ ๒ - ๓ ครั้ง เว้นไว้ทำไมครับ
กราบขอบพระคุณหลวงพ่อมาก
ตอบ : นี่คำถามเขาเนาะ เอาอารัมภบทตรงนี้ก่อน อารัมภบท ที่ว่าเขาบวชมา บวชมา เวลาภาวนาไป ภาวนาไป เวลาจิตมัน หดตัวเข้ามา ถ้าจิตหดตัวเข้ามาจิตเกิดอาการคล้ายแยกร่าง แล้วเสียงในใจก็พูดขึ้นมาเอง กายกับใจนี้มันไม่ใช่อันเดียวกัน อารมณ์จิตก็ดีขึ้น คึกคักอยู่ ๓ - ๔ วัน มันก็เป็นแค่นี้ประมาณแค่นี้ พอประมาณแค่นี้ๆ
เวลาภาวนาไปอาการของจิตๆ มันมีมหาศาล เวลามีมหาศาล เหมือนปัญหาแรก เห็นไหม ปัญหาแรกที่ว่าเวลาภาวนาไป ภาวนามีแต่ความทุกข์ความยาก ภาวนาไปแล้วมันตึงไปหมด มันเจ็บมันปวดไปหมด นั่นคืออาการอาการหนึ่ง อันนี้เหมือนกัน ไอ้ที่ว่าจิตเวลามันหดตัวเข้ามา เกิดอาการกายแยกร่างๆ
เวลาในวงการพระปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไปพอจิตมันเริ่มสงบนะ จิตนี้ออกจากร่างไป ไปยืนอยู่ข้างนอก มองกลับมาที่ร่างเดิมของตน พระบางทีเป็นอย่างนี้ตั้งหลายองค์ พอเป็นอย่างนี้ เราบอกว่า “ปล่อยให้จิตออกจากร่างนี้ไปไม่ได้ ให้กำหนด รั้งไว้ๆ รั้งไว้ได้ถ้าเขารั้งไว้” แต่! แต่พระที่เขาเป็น เขาก็ไม่ อยากรั้ง เพราะเขาเห็นว่าจิตที่ออกจากร่างไปแล้วมองมาที่ร่างนั้น มันเป็นผลการปฏิบัติของเขา เราบอกว่า “มันไม่ใช่ มันส่งออก” พอมันส่งออกไปเขาบอกว่ามันใช่ มันใช่ มันมีความสุข มันมีความพอใจ เพราะมันเหนือกว่าพระที่ปฏิบัติ แต่อยู่ไป ๒ เดือน ๓ เดือนนะ มันเริ่มเสื่อมลง สึกหมดเลย ไอ้พระที่ว่าจิต แยกร่างได้สึกไปหมดแล้ว ไอ้จิตที่ออกจากร่างไปก็สึกหมดแล้ว มันของชั่วคราวทั้งนั้น
เวลาปฏิบัติไป เห็นไหม เทศน์เมื่อคืน เมื่อคืนวานนี้ อบายภูมิ จิตมันอยู่ที่อบายภูมิ มันไม่อยู่ที่ภูมิพุทธะ อบายภูมิ มันเป็นเปรต เป็นผี เป็นนรก เป็นร้อยแปด โธ่! อยู่ที่อบายภูมิ จิตมันอยู่ที่อบาย มันไม่อยู่ที่พุทธภูมิ พุทธภูมิคือพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานไง ไปอยู่ที่อบายภูมิ อบายภูมิมันเห็นของมัน แล้วมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา
นี่ก็เหมือนกัน เวลาผู้ที่ปฏิบัติว่าเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ถ้ามีครูบาอาจารย์ที่ดีนะ จิตมันหดตัวเข้ามามันก็อาการไง พออาการขึ้นมา พอมีการแยกร่าง โอ้โฮ! มันเป็นได้ทั้งนั้น นิยายธรรมะ โอ้โฮ! มันแต่งได้เยอะมาก แล้วกิเลสมันแต่ง พญามาร มันแต่ง มันแต่งให้เชื่อหมดเลย แล้วแต่งนิยายธรรมะให้ฟังเลย แล้วนี่ โอ๋ย! มีเสียงพูดขึ้นมาได้เองเลยนะ “กายกับใจไม่ใช่ อันเดียวกัน”
ไม่ใช่อันเดียวกันเพราะมันไม่ได้ยินมาชาตินี้หรอก เกิดมาเป็นมนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา ๒,๕๐๐ ปี ๒๕ ชั่วคน ๒๕ ชั่วคนก็เกิด ๒๕ ครั้ง การเกิด ๒๕ ครั้ง พระพุทธศาสนา ฟังเทศน์มามากมายมันฝังใจ ฝังใจอยู่ในใจไงเวลาคนเขาบอก เวลาเราอุปมาอุปไมยเรื่องสวรรค์ อุปมาเรื่องพรหมได้หมดเลย แต่อุปมาเรื่องโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อุปมาเรื่องนิพพานไม่ได้ เพราะจิตมันไม่เคยไป คือมันไม่มี ข้อมูลไง
สิ่งที่มันมีข้อมูล นี้เขาบอกว่าเสียงมันเกิดขึ้นมาเอง กายกับใจไม่ใช่อันเดียวกัน ประมาณนี้ๆ โธ่! ธรรมมันเกิดยิ่งกว่านี้อีก เวลาคนปฏิบัตินะ เวลาธรรมเกิดมันผุดขึ้นมา คำพูดในธรรมะ สุดยอด หลวงปู่มั่นเวลาธรรมเกิด ธรรมเกิด พอธรรมเกิดนะ ธรรมมันเกิดนะเป็นภาษาบาลีด้วย “เรายังไม่พูด รอมหามาก่อน”
พอหลวงตากลับมาจากวิเวกไง “อ้าว! ใครเป็นมหาตอบ”
ท่านขึ้นบาลีเลย หลวงตาท่านนั่งเฉยเพราะอะไร เพราะลูกศิษย์กับอาจารย์อยู่ด้วยกัน ลูกศิษย์กับอาจารย์รู้นิสัยกัน ลูกศิษย์ท่านรู้ว่าอาจารย์ท่านไม่ต้องการให้เราตอบหรอก เพราะว่า ถ้าเราตอบแล้วมันก็ตอบด้วยปัญญาของเรา แต่ถ้าอาจารย์ท่าน จะเอาไว้ฝากเรา พอ “ใครเป็นมหา มหาตอบนะ” มหา ท่านมีคุณธรรม มหาท่านไม่ตอบ ท่านนั่งเฉยๆ พอหลวงปู่มั่น ท่านตั้งบาลีขึ้นมา พอมหาไม่ตอบ ท่านก็ตอบเองเลย ภาษาบาลีอย่างนี้ มันมีความหมายว่าอย่างนี้ หลวงตาท่านเป็นมหานะ ท่านบอก “โอ้! ถ้าเราตอบ เราก็ตอบตามตัวอักษร ตอบตามทฤษฎี แต่เวลาท่านตอบ สุดยอด สุดยอด” สุดยอดขึ้นมา เห็นไหม นี่ธรรมเกิด ธรรมเกิด
เวลาธรรมเกิด แล้วหลวงตาท่านพูดประจำ เวลาของหลวงปู่มั่น เวลาธรรมเกิดท่านเกิดเป็นภาษาบาลี แต่ของ หลวงตาพระมหาบัวท่านบอกท่านเกิดเป็นภาษาไทย คนที่ อำนาจวาสนาน้อย เวลามันเกิดเป็นภาษาสมมุติของเราที่ใครชนชาติใดมีภาษาพูดใด มันก็จะผุดขึ้นมาเป็นภาษานั้น แต่ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนาผุดเป็นภาษาดั้งเดิม ภาษาบาลีขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ไง เวลาธรรมเกิด ธรรมเกิด ไอ้นี่ เห็นไหม “เสียงของใจมันพูดขึ้นมาเอง” เราพูดประจำว่า ธรรมเกิดไม่ใช่อริยสัจ ธรรมเกิดมันเป็นวาสนาบารมีของคน เวลาธรรมเกิด มันก็เกิดไปแล้ว เกิดไปแล้วมันก็แล้วไปแล้วไง มันก็เหมือนที่ว่ากล้าไม้นั่นน่ะ มันอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของคน
ฉะนั้น บอกว่าเวลาเข้าไปสุดท้ายแล้ว คำถามแท้ๆ “เขาจะถามว่าการปรารถนาเป็นพระอัครสาวก แล้วบอกว่าหลวงปู่ท่านพูดให้ใครอธิษฐาน” คำว่า “อธิษฐานนะ” เรานั่งอยู่เนี่ย เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกว่าแต่เดิมท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ท่านสร้างอำนาจวาสนามามาก นี่ไง พันธุกรรมของจิตหลวงปู่มั่นท่านได้ตัดแต่งมาดีมาก ท่านได้ทำมามาก ทั้งๆ ที่ท่านทำมามาก ท่านมาเกิดในชาติปัจจุบันนี้ ตอนเป็นเด็ก เห็นไหม ท่านมีโรค โรคประจำตัว โรคถ่ายท้อง แล้วเวลาท่านบวชเป็นเณร ท่านสึกออกไปแล้วมาบวชเป็นพระใหม่ ท่านมีโรคประจำตัวของท่านนะ หลวงปู่เสาร์ท่านก็ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
เวลาลูกศิษย์ลูกหาเราเยอะแยะที่มาหาเรา ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า คนนั้นก็ปรารถนา คนนี้ก็ปรารถนา การปรารถนา ใครก็สามารถปรารถนาได้ การปรารถนาก็เหมือนกับทางโลก ใครๆ ก็อยากถูกรางวัลที่ ๑ ใครๆ ก็ปรารถนาถูกรางวัลที่ ๑ แล้วถูกไหม ไอ้คนที่ถูกรางวัลที่ ๑ ส่วนใหญ่แล้วฟลุก ไปถึงแล้วไม่ได้ตั้งใจซื้อเขายัดเยียดให้ โอ๋ย! ถูกรางวัลที่ ๑ ไอ้คนที่ไปซื้อรางวัลที่ ๑ หาเกือบตาย ซื้อเหมาแผงเลยก็ไม่ถูก
นี่ก็เหมือนกัน เวลาปรารถนาๆ ใครๆ ก็ปรารถนา เขาก็อยากถูกรางวัลที่ ๑ ทั้งนั้นน่ะ แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ถูก การปรารถนามันก็เหมือนกับตั้งสัจจะ มีเจตนาเท่านั้น แล้วทำไปได้ถึงหรือไม่ถึงนั่นอีกเรื่องหนึ่ง การปรารถนาแล้ว ผู้ที่ปรารถนา เห็นไหม คนที่ปรารถนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลงมาจากดาวดึงส์ ชาวมคธนครปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมดเลย
นี่เป็นคำเทศน์ของหลวงปู่สิม ท่านบอกว่า “หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นก็อยู่ที่นั่นด้วย” ดูสิ เวลาคำเทศน์ของแม่ชีแก้ว บอกว่า “หลวงตามหาบัวเป็นพันธุลเสนาบดี เป็นทหารเอกของพระเจ้าปเสนทิโกศล” นี่พูดถึงว่า เราจะย้อนกลับไปถึงคุณงามความดีของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้สร้างมา สร้างมา พันธุกรรมของจิตท่านได้แต่งมาตั้งสมัยไหน การที่เป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติที่มีหลักเกณฑ์ คือท่านได้สร้างของท่านมา พันธุกรรมของท่านได้ตัดแต่งมา ตั้งแต่สมัยองค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าอยู่ที่นครราชคฤห์เลย ใครยืนยัน ใครยืนยัน อันนี้ มันเป็นคำเทศน์ของหลวงปู่สิม หลวงปู่สิมท่านเป็นพระอะไร เวลาฟังคำพูด คำพูดของผู้ศีลบริสุทธิ์ หลวงปู่สิม แม่ชีแก้ว เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ท่านสะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจของท่าน ท่านพูดออกมาด้วยตามข้อเท็จจริง นี่ไง กล้าไม้ กล้าไม้ กล้าไม้ที่ดีมันเป็นอย่างนั้น
แต่นี่ไอ้คำถาม “สิ่งที่ว่าเขาอธิษฐาน อธิษฐาน แล้ว หลวงปู่ท่านให้อธิษฐานอะไร” เวลาครูบาอาจารย์ท่านให้พร ท่านก็ให้ทุกคนปรารถนาดีทั้งนั้น แล้วใครจะปรารถนาดีมากน้อยก็เป็นเรื่องของของเขา แล้วปรารถนาแล้วมันจะทำได้จริงหรือไม่ ถ้าปรารถนาแล้วมันทำแล้วถึงที่สุดได้ผลประโยชน์ตามจริงหรือไม่
มากมายมหาศาล เวลาไป ไปแล้วพลิก ไปแก้ไข ถ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ได้พยากรณ์ พระที่ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ไปถอนไปเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น น้อยมาก ปรารถนาเป็นล้านๆๆๆ จะไปถึงที่สุดว่าเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าหนึ่งนึงยังแสนยาก หนึ่งเดียวยังแสนยาก ปรารถนาทั้งนั้น ไอ้ที่ว่าปรารถนาเป็นพระอัครสาวก ปรารถนาเป็น ปรารถนา ทั้งนั้น ความปรารถนาแล้วยังจะต้องไปอีกยาวไกล ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย อสงไขยๆ นับไม่ได้ นับไม่ได้ เป็นแต่ละภพแต่ละชาติ
แล้วที่ปรารถนา ปรารถนา ทุกคนปรารถนาเป้าหมาย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่แล้วถ้ามีคุณธรรมนะลดมาถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ก็กลับแล้วพลิก พอพลิกขึ้นมา มาเป็นสาวกภูมิ ถ้าสาวกภูมิ แต่สาวกภูมิมันไม่เหมือนสาวกทั่วไป อย่างเช่น หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นหาไม่ได้อีกแล้วจริงๆ เพราะว่าความปรารถนาของท่าน ท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ามาก่อน จะได้แบบหลวงปู่มั่นหาไม่ได้หรอก ไม่ได้ หาได้ยากมาก
เวลาจะหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์ก็แสนยาก แล้วเวลาแสวงหาผู้ที่จะสิ้นกิเลสได้จริงก็แสนยาก แล้วผู้ที่สิ้นกิเลสได้จริงแล้วถ้ามีอำนาจวาสนา ต้องมีอำนาจวาสนาถึงจะได้ตีแผ่ธรรมะ คือเผยแผ่ธรรม คือสื่อสารได้ คือพูดให้เราเข้าใจได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วนะ กว่าประพฤติปฏิบัติมันก็แสนเข็ญ แล้วเวลาจะพูดออกมามันยิ่งพูดยาก เพราะเราแสนเข็ญอยู่แล้ว ฉะนั้น เวลาเป็นความจริงๆ มันเป็นเรื่อง พันธุกรรมๆ พันธุกรรมของจิตๆ
ฉะนั้น ที่ว่า “ที่หลวงปู่ท่านให้อธิษฐาน อธิษฐานอะไรครับ อธิษฐานอะไรครับ” ไอ้นั่นเรื่องของเขา มันเป็นเรื่องของความเข้าใจกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์ มันเป็นเรื่องความเข้าใจระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ถ้ามันเข้าใจได้มันก็เข้าใจกันได้ ถ้ามัน ไม่เข้าใจกันได้ การขอนิสัยๆ ไง ศิษย์กับอาจารย์มีความเห็น ตรงกันหรือไม่ ถ้าไม่เห็นตรงกันก็อีกเรื่องหนึ่งนะ นี่พูดถึงว่า “ท่านให้อธิษฐานอะไร” ก็ต้องกลับไปถามท่าน ถ้าท่านยังมี ชีวิตอยู่นะ ถ้าท่านไม่มีชีวิตอยู่แล้วก็จบกันไป
“๒. ที่หลวงปู่ท่านให้อธิษฐาน ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง” อันนั้น เป็นความเข้าใจกัน เป็นความเชื่อถือกัน เป็นการส่วนตัว เป็นความเชื่อถือเป็นการส่วนตัว มันเป็นเรื่องส่วนตัวไง
ฉะนั้น ถ้าเรื่องส่วนตัว นี่พูดถึง เห็นไหม พูดถึงเรา ให้เห็นว่าปัญหาข้อที่ ๑ เขาภาวนาไปแล้วมีอุปสรรคไปทั้งหมด ไอ้นั่นภาวนาไปแล้วนะ เราพูดถึงพันธุกรรมของจิตคือวาสนาของคน เราจะบอกว่ามันเป็นวาสนาของคน แต่คนเราเกิดมา ทุกคนปรารถนาดีทั้งนั้น ถ้าคนมีศรัทธามีความเชื่อปรารถนาแล้วก็พยายามประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลทั้งนั้น แต่มันก็เป็นวาสนาของคนทำได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำได้มากขึ้นมามันก็ทำให้เราใกล้ชิด กับหลักธรรม ศีล สมาธิ ปัญญามากขึ้นเท่านั้น แล้วถ้ามัน เสื่อมไป เสื่อมไปก็ฟื้นฟูใหม่ นี่คนที่ประพฤติปฏิบัติ
ไอ้คำถามนี้ คำถามนี้ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติเลย คำถามนี้เพียงแค่ว่าอธิษฐาน แค่จะจองพื้นที่ แค่จะจับจอง จับจองสิทธิ์ของตน จะอธิษฐานเป็นอัครสาวก จะอธิษฐานเป็นพระปัจเจก- พุทธเจ้า จะอธิษฐาน
เวลาในวงกรรมฐานครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ดูสิ หลวงปู่มั่นท่านบอก ท่านเคยปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพราะท่านมีบุญวาสนาขนาดนั้น ท่านถึงไปแก้หลวงปู่เสาร์ได้ หลวงปู่เสาร์ปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วเวลาลูกศิษย์ลูกหาที่ หลวงปู่มั่นท่านแก้ไข แก้ไข ไอ้พวกนี้ไม่ต้องใช้ปัญญามาก ฉับ ฉับ ฉับได้หมดล่ะ ท่านถึงได้บอกไง เพราะคนที่มีปัญญามาก คนที่ได้ผ่านมามาก เห็นไหม “แก้จิตนี้แก้ยากนะ ให้ภาวนามา ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ” ผู้เฒ่าคือท่าน ท่านมีความสามารถมาก แล้วถ้าต่อไปนะมันก็เหมือนกับไอ้พวกตาบอดคลำ ช้างกันทั้งนั้น ตาล่ะบอด ใจก็บอด แหม! จะแก้จิต แก้จิต มันจะแก้ที่ไหน แก้โดยให้มรรคให้ผล มันไม่ได้ผลหรอก
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน นี่พูดถึงแค่ปรารถนา ถ้าปรารถนาแล้ว ปรารถนานี่ คนที่ปรารถนาแล้วมายกเลิก คนที่ปรารถนาแล้วมาพลิกแพลงเยอะแยะไปหมด “แต่นี่คำถามของเขา เขาปรารถนามาก แล้วเขาอยากจะไปได้มาก” เขาเรียกว่าคนอยากทำงานมาก ไอ้คนอยากทำงาน คนอยากทำคุณงามความดีนะมันมีมาก มีมากในสายของมหายาน ในสายทิเบต ทิเบต ดูสิ เวลาเขากราบ เขาไหว้กัน เขาสละชีวิตทั้งชีวิต เขาเพื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า การนอนอย่างนั้น การพิจารณาแบบมหายาน นั้นเขาปรารถนาเพื่อสังคม ปรารถนาเพื่อสัตว์โลก คือให้คนอื่นมีความสุขก่อน เราจะมีความสุขเป็นคนสุดท้ายนะ นั่นความปรารถนาของเขา
แล้วดูชีวิต ดูชีวิตชาวพุทธในทิเบตสิ ในทิเบตภูมิอากาศสภาพแวดล้อมเขามันอัตคัดขาดแคลนมาก แต่เขาก็ใช้ชีวิตของเขา เลี้ยงสัตว์นะ เขาต้องเก็บหญ้าเก็บฟางเอาไว้หน้าหนาวให้ สัตว์มันมีพืชกิน เพื่อเขาจะได้มีนม เพื่อเขาจะได้มีเนยเอาไว้ ดำรงชีพ เขาใช้ชีวิตกันด้วยความทุกข์ยาก แต่เขาพยายามใช้ชีวิตกัน เห็นไหม เพื่อให้คนอื่นได้มีความสุข มีความสุข อันนี้มันเป็นอุดมการณ์ของเขา นี่พูดถึงว่าความปรารถนาให้ทุกคนเป็นสุข แล้วเราจะเป็นคนมีความสุขเป็นคนสุดท้าย
นี่ไง การปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เวลาปรารถนาไป ปรารถนา พอปรารถนาไปทำมากไป มากไป เออ! เราก็อยากมีความสุขเหมือนกัน เราก็อยากจะพ้นทุกข์เหมือนกัน เลิกดีกว่า เปลี่ยนแปลงดีกว่า นี่พูดถึงไอ้นั่นความเห็นนะ เราจะบอกว่าสังคมที่มีความเห็นอย่างนี้มากมาย แล้วศึกษาไป ไม่ใช่คนสองคนนะ ทิเบตเขากระจายออกไปเป็นทั่วโลก แล้วมีคนปรารถนาอย่างนี้เยอะมากมาย ในยุโรปในอเมริกาเขาก็ปรารถนา แล้วทีนี้พอปรารถนาแล้ว นี่พูดไม่ใช่ประชดนะ แล้วพอปรารถนาอย่างนี้ แล้วจะมาแย่งชิงการเป็นพระพุทธเจ้า แล้วกว่าจะได้แต่ละองค์ ปรารถนาทั้งโลกเลย แล้วเมื่อไหร่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าเสียที
แต่ถ้ามันมีจุดยืนนะ มันทำด้วยความสุข ทำด้วยความ พอใจมันมีความสุข แต่ถ้าเป็นความจริง “อันนี้เขาพูดถึงว่า หลวงปู่ท่านมีปัญหาอย่างไร” โอ๋ย! ไอ้นั่นมันเรื่องของหลวงปู่ หลวงปู่ท่านคิดไปอีกอย่างหนึ่งก็ได้ แต่เอ็งคิดผิดเองก็ได้ เอ็งคิดโดยไม่เท่าทันก็ได้ ปัญญาของคนไม่เท่ากันหรอก ถ้าปัญญาของคนไม่เท่ากัน เอ็งก็คาดหมายของเอ็งไป
แต่ถ้าถามเรา ไม่รู้ ไม่รู้ เราไม่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่รู้เรื่องด้วย แต่รู้แต่เฉพาะว่าเรื่องกล้าไม้ เรื่องพันธุกรรมของจิต เรื่องผลของวัฏฏะ เรื่องจิตเวียนว่ายตายเกิด ที่มันทุกข์มันยากมาอย่างนี้ แล้วความจริงก็เป็นความจริง ไอ้อย่างที่ความคิด ความปรารถนา กิเลสทั้งนั้น แรงปรารถนาของคน ความเห็นของคน ไร้สาระ
ถ้าสาระของมัน สาระเป็นความจริง เห็นไหม อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรื่องสัจจะ เรื่องความจริง ถ้ามัน เป็นจริงๆ แล้วพระพุทธศาสนาแวววาว พระพุทธศาสนา สุดยอด เพียงแต่เวลาคนจะเข้าสู่พระพุทธศาสนาไง ต่างมุมมอง ต่างความเห็น แล้วก็มุมมองของใครก็ว่าศาสนาเป็นเหมือนที่ตนเข้าใจ อันนั้นเป็นมุมมองของเขา แต่ถ้าเป็นความจริงๆ นะ ศาสนามีหนึ่งเดียว อริยสัจ จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ถ้าเป็นสัจจะความจริงนั้นคือตัวความจริง เอวัง