พุทธะที่แท้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “จิตที่เป็นอยู่เป็นจิตแบบไหน”
คำถามแรก จิตผมตอนนี้เมื่อเจอสิ่งกระทบ ถ้าเรื่องไม่หนักหนามากนัก มันจะดับเองโดยที่ไม่ต้องเบียดอารมณ์หรือกดข่ม จิตมันเชื่อว่ามันเกิดแล้วมันต้องดับแน่นอน แต่ถ้าเจอเรื่องใหญ่ๆ ปกติแล้วจะคิดมากไม่สบายใจอยู่นาน แต่เดี๋ยวนี้ ๒ - ๓ วันมันก็ปกติ และเดี๋ยวนี้เวลาจิตจะออกไปยินดียินร้าย มันจะเห็นการเกิด เหมือนเอานิ้วไปชี้แตะที่ปลายสามเหลี่ยมแหลม ซึ่งนิ้วที่ไปแตะปลายสามเหลี่ยมแหลมนั้น ยังไม่ได้ขยายองศา ออกไป มันก็ดับแล้ว
นี่คือผมยกตัวอย่างจิตที่กำลังไปสืบต่อกับสังขารนะครับ นอกจากนั้นแล้วผมยังเห็นคำสั่งก่อนนี้ ก่อนที่นิ้วชี้จะไปแตะปลายแหลมสามเหลี่ยมนั้น คือ ตา หู ไอ้ตัวรับรู้นึกคิดหรือพูด ในใจมันทำงาน แต่ผมเห็นตอนมันกำลังจะอ้าปากพูดในใจคือการเอื้อนของลำคอ เพราะปกติคนเราจะพูดในใจ ใจจะนึก ใจจะเอื้อน กระดกลำคอ เหมือนพูดออกเสียงแต่ไม่ออกเสียง พอผมเห็นตรงนี้มันก็ดับทันที ผมจึงเรียนถามหลวงพ่อว่า “จิตตอนนี้เป็นแบบไหนครับ”
ตอบ : “จิตตอนนี้เป็นแบบไหน” จิตตอนนี้ที่เป็นแบบไหน จิตที่มันเป็นมันเป็นไปได้หลากหลายนัก จิตเวลามันที่มีสำนึกที่ดี จิตที่มันคิดถึงว่าชีวิตของเรา เราเกิดเป็นคน เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะแสวงหาความดี นี่เวลาถ้าจิตที่อารมณ์มันดี มันคิด สิ่งที่ดีมันก็เป็นแบบนี้
แต่เวลาจิตมันคิดถึง เวลามันคิดถึงความเห็นแก่ตัว คิดถึงการที่เราโดนรังแก เราโดนเหยียบย่ำ เราโดนทำลาย เวลามัน น้อยเนื้อต่ำใจมันก็คิดไปอีกอย่างหนึ่ง จิตนี้มันคิดได้หลากหลายนัก จิตนี้มันคิดได้หลากหลายนัก ถ้าจิตนี้มันคิดได้หลากหลาย นัก จิตที่มันเป็นอยู่นี่ๆ มันเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะคนเรา นี่นะเวลาจิตที่มันดีๆ มันเท่าทันอารมณ์ของตนมันก็มี แต่ถ้า เวลาจิตของเรามันแบบตกต่ำ จิตของเราเวลากิเลสมันครอบงำ เราไม่รู้เท่าทันหรอก
แล้วถ้าคนน่ะตอนนี้มันก็ย้อนกลับมาคนที่มีวาสนา ไม่มีวาสนา คนที่มีวาสนาเวลาจิตเราจะดี หรือจิตเราจะตกต่ำขนาดไหน มันก็มีจุดยืนของมัน คือมันไม่ตามกระแสนั้นไป มันไม่ให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ทำลายมัน แต่จิตถ้าคนมันตกต่ำแล้วมันไม่มีอำนาจวาสนานะ เวลาเป็นสิ่งใดมันเป็นไปตามนั้น เวลาจิตเรามันตกต่ำมันจะทำความชั่ว ทำอะไร มันทำได้ทั้งนั้น แต่เวลาจิตมันดีมันควรจะทำความดีมันทำไม่ได้ เพราะทุกคนก็คิดอยากจะพ้นทุกข์ทั้งนั้น ทุกคนก็อยากจะบรรลุธรรมๆ แต่มันคาดหมายไม่ได้ มันคาดหมายไม่ได้ สิ่งที่มันคาดหมายๆ สิ่งนั้นเป็นความคาดหมาย
ฉะนั้น “เขาบอกว่า คำถามนะ คำถามครั้งแรกครับ คำถามนี่เป็นคำถามแรกไม่เคยถามมาเลย” เขาว่าอย่างนั้นนะ ถ้าไม่เคยถามมาเลย เวลาพูดจิตนี้มันอยู่ระดับไหน แต่ถ้าเป็นความจริงของเรา ถ้าให้เราเสนอนะ ถ้าให้เราแนะ เราจะบอกว่า กลับไปพุทโธ กลับไปพุทโธก่อนไง เพราะเวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านสอน เห็นไหม สอนให้ทำความสงบของใจก่อน ทำความสงบของใจก่อน เราจะบอกว่าความสงบของใจเป็นบาทฐาน ความสงบของใจเป็นพื้นฐาน ความสงบของใจเป็นสิ่งรองรับ
แต่ถ้ามันไม่มีความสงบ จิตมันไม่มีพื้นฐาน แล้วถามว่า “จิตนี้อยู่ระดับไหน แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป แล้วมันมีสิ่งใดเป็นพื้นฐาน” นักกีฬา นักกีฬาทุกชนิดเลย เห็นไหม เบสิกที่ดี พื้นฐานที่ดีของเขา เขาต้องฝึกของเขา แล้วสิ่งที่พื้นฐานที่ดีแล้วมั่นคงแล้ว ไอ้เทคนิคเขาไปฝึกเอาข้างหน้า ข้างหน้ามันจะทำได้ เห็นไหม คนมีการศึกษา คนมีปัญญา พื้นฐานของมันให้เป็นคนดี คนดีถ้ามีสติมีปัญญาทำสิ่งใดมันจะเป็นประโยชน์ไง คน เห็นไหม คนโดยพื้นฐานๆ ให้มันมีความดีเป็นพื้นฐาน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา สมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้ามีพื้นฐานขึ้นมามันก็ จะมั่นคงของมันขึ้นไป ถ้าจิตมันมั่นคงขึ้นไป “จิตตอนนี้มันเป็นอะไรอยู่” จิต เห็นไหม มันมีความรู้สึกโดยพื้นฐานว่า ถ้าสิ่งใดมีการกระทบแล้วมันต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปแน่นอน อะไรที่มันเป็นของพื้นๆ มันไม่มีสิ่งใดที่มีอำนาจรุนแรงที่ควบคุมจิตเราได้ เว้นไว้แต่จิตที่มันอารมณ์ที่มันรุนแรงมันก็มีอำนาจมากกว่า แล้วเวลาจิตที่มันจะแตะปลายสามเหลี่ยม ที่มันจะเข้าไปสู่ความรู้สึกอันนั้นนี่มันคืออะไร เพราะมันยังไม่ขยายความ มันยังไม่เป็นไป เห็นไหม
เวลาเราทำ เราสอน เราสอน เห็นไหม เวลาบริกรรม เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ถ้าเวลามันทำไม่ได้ เวลาคนทำ ไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา เวลามันมีสมาธิแล้ว ฝึกหัดสมาธิทำความสงบของใจ แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาๆ หรือพื้นฐาน แต่ โดยทั่วไปคนที่ปฏิบัติมากๆ ทุกคนจะร้องเรียนมาก แล้ว เมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญา แล้วเมื่อไหร่จะเป็นสมาธิ แล้วเมื่อไหร่เนี่ย ไอ้คำว่า “เมื่อไหร่ๆ” มันทำให้คนแบบว่าท้อแท้หมดกำลังใจ ถ้าคนท้อแท้หมดกำลังใจ เห็นไหม
ของเรา ในประสบการณ์ของเรานะ เริ่มต้นเราก็พุทโธ นี่แหละ พุทโธทั้งวันทั้งคืนเลย เพราะอ่านประวัติหลวงปู่มั่น อ่านประวัติครูบาอาจารย์ว่าอยู่กับพุทโธ เราบวชใหม่ๆ นะ ทั้งวันเลย จะจับไม้กวาด เราจะทำอะไร เราอยู่กับพุทโธตลอด เวลามันก็ดีขึ้นมา สุดท้ายก็เสื่อม เราเสื่อมขึ้นไปแล้ว เสื่อมแล้วเอาตัวไม่รอด เราเลยดันทุรัง เราใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ ใช้ปัญญาไปเรื่อยๆ พอจิตมันสงบได้จริงๆ พอจิตสงบได้จริงๆ แล้วก็บังเอิญมาเจอหนังสือหลวงตา ปัญญาอบรมสมาธิ แหม! มันเข้ากันได้เลย ถ้าเข้าใจแบบนั้นก่อน หนังสือมันคงมีอยู่แล้วแหละ แต่! แต่เราไปอ่าน ไปศึกษาแล้ว ความเข้าใจเราเข้าใจ ไม่ถึง เราก็ทำของเราไปเรื่อย ดันทุรังของเราไป ใช้ความคิด แล้วสติตามมันไป มันหยุดได้ เราก็เอ้อ! มันก็แปลกเนาะ
แล้วถ้าพูดคนเดียวมันก็แปลกๆ สุดท้ายไปเจอหนังสือ ท่านพิมพ์ออกมาเล่มเล็กๆ ของหลวงตา ปัญญาอบรมสมาธิ เออ! เหมือนกันเลย แต่ของของท่าน ท่านจะเปรียบเทียบกับต้นไม้ใหม่ ตัดกิ่งตัดก้านมันลงมา จนเหลือโคน แล้วขุดโคน เห็นไหม มันก็แบบว่ามันไม่มีเสียงกระทบรุนแรง แต่ถ้าโค่นต้นไม้ใหญ่ๆ เนี่ย เราโค่นต้นไม้เราโค่นที่ต้น ต้นไม้เวลาล้มครืน เสียงมันรุนแรง นั่นคือว่าคำบริกรรมพุทโธๆๆ นั่นน่ะ เวลาเป็นสมาธิมันจะเกิดความมหัศจรรย์แบบต้นไม้ เราตัดต้นไม้แล้วต้นไม้ใหญ่มันล้ม มันจะเกิดการกระทบกระเทือน มันรุนแรง เห็นไหม นี่สมาธิอบรมปัญญา
แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ นี่จำหนังสือมาพูดตรงๆ เลย ท่านบอกเลยนะ เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ ตัดกิ่งตัดก้านมันออกไปทีละกิ่งทีละก้าน แล้วก็หย่อนมันลงมา เวลาเหลือแต่โคนต้น เวลาไปขุดแล้วโคนต้นมันล้มมามันไม่กระทบกระเทือนอะไร เพราะต้นเราโดนตัดมาแล้ว ตัดกิ่งตัดก้านก็ตัดความคิด ไง ความคิดที่มันคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้ คิดเรื่องนู้น ตัดมัน ตัดที่อารมณ์ อารมณ์ตัดมันไปเรื่อยๆ ตัดไปเรื่อยๆ แล้วมัน หยุดได้ เอ้อ! ของเราพอมันหยุด โอ้โฮ! พอมันหยุดได้ เห็นไหม นั่นคือปัญญาอบรมสมาธิ
ที่เราพูดนี้ คำถามว่า “จิตนี้มันอยู่ในระดับไหน” นี่ผู้ถาม นี้ผู้ถามเขาบอกว่า “นี่คำถามแรก ไม่เคยถามมาเลย” นี้คำถามแรกเราก็จะย้อนกลับไปที่พื้นฐาน พื้นฐานว่าก่อนที่มันจะเป็น แบบนี้ ก่อนที่จิตมันจะเห็นตัวมันเอง เห็นไหม เห็นเหมือน ปลายนิ้วชี้ไปที่สามเหลี่ยม สามเหลี่ยมนั้น เห็นจิตของเรา ถ้า เห็นจิตของเราเห็นอย่างไร เพราะว่าการเห็นมันเห็นโดยอุปาทานก็ได้ เห็นโดยสามัญสำนึกก็ได้ เห็นโดยส้มหล่นก็ได้ แต่ถ้าจิตสงบแล้วถ้าเห็นโดยความเป็นจริง เห็นไหม ถ้าเห็นตามความเป็นจริง จิตมันสงบก็เห็นตามความเป็นจริงเนี่ย มันก็ต้องกลับไปที่ความสงบนั้น
ถ้ากลับไปที่ความสงบนั้นเพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่รู้ที่เห็นมันไม่ชัดเจน เราเข้าใจไม่ได้ใช่ไหม เหมือนเรามองเห็นสิ่งใดแล้วเราไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นมันคืออะไร เราก็ต้องตั้งสติแล้วพยายามดูสิ่งนั้นให้เห็นให้ชัดเจนว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นมันคืออะไร ถ้าเรายัง ไม่เห็นอีก เราก็ต้องกลับมาว่ามันบกพร่องที่ไหน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสัมมาสมาธิที่ดี ถ้ามีพื้นฐานที่ดี มันยกขึ้นสู่วิปัสสนามันจะรู้ มันจะเห็นของมัน ถ้ามันรู้มันเห็นแล้ว มันเห็นแล้วมันไม่เข้าใจ มันต้องกลับไปสู่พุทโธนั้น กลับไปสู่ที่สัมมาสมาธินั้น ต้องไป สร้างให้สัมมาสมาธินี้มั่นคง มันก็ต้องกลับไปสู่ที่พุทโธนั้น กลับไป ที่ปัญญาอบรมสมาธินั้น
ถ้ากลับไปที่นั่น แต่! แต่เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว มันคิดว่าเหมือนกับทางวิทยาศาสตร์ เหมือนทางโลก ทำงานแล้วมันต้องลุยไปข้างหน้าๆ ไปนอนตายอยู่ข้างหน้าหมดเลย เหมือนกับกองทัพรบมันรุกไปข้างหน้า รุกไปแล้วกระสุนก็หมด น้ำมันก็หมด เสบียงก็หมด โอ้ฮูย! ข้าศึกมันยิ้ม ไม่ต้องทำอะไรเลย มันยืนดูเฉยๆ รอให้มันตาย นี่ก็เหมือนกัน ลุยไปข้างหน้าๆ สมาธิมึงไม่มี เหมือนกองทัพที่ไม่มีกระสุน ไม่มีน้ำมัน ไม่มี เสบียงอาหาร กองทัพนั้นไปไม่ได้เด็ดขาด นี่ไง แต่คนไม่คิด อย่างนั้นหรอก “อู้ย! ปัญญาๆ ฆ่ากิเลสด้วยปัญญา โอ! นี่คือปัญญา ฮูย! นี่คือภาวนามยปัญญา” นอนตายอยู่ข้างหน้านั่นน่ะ เดี๋ยวไปตายอยู่นั่นหมดล่ะ ตายเด็ดขาด
เพราะมรรค ๘ ความสมดุลของมันต้องมี กองทัพต้องไปด้วยความพร้อมเพรียงทั้งกำลัง ทั้งทักษะของทหาร ทั้งทหารที่มีจิตใจที่กล้าหาญ ทั้งเสบียงที่สมบูรณ์ ทั้งฝ่ายเสธ. ที่วางแผนที่ดี ไปข้างหน้า รุกไปข้างหน้า ไปพร้อมกันข้างหน้า ถ้าเจอข้าศึกเมื่อไรมันก็ได้เสียทั้งนั้น
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงว่า “จิตนี้มันเป็นแบบไหน” สิ่งที่ รู้ที่เห็นมันรู้เห็นได้หลากหลายนัก มันรู้เห็นได้นะ รู้เห็นด้วยอุปาทาน รู้เห็นด้วยจินตนาการ รู้เห็นด้วยตามความเป็นจริง แล้วพอมันรู้เห็นแล้ว รู้เห็น เห็นไหม ดูสิว่าเกิดดับ เกิดดับ พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ลง เช้าก็พระอาทิตย์ขึ้น เย็นพระอาทิตย์ตก ไอ้พวกเขาอยู่ไอ้ขั้วโลกเขาบอกไม่มีขึ้นไม่มีลง กูเห็นมันลอยอยู่อย่างนี้ พระอาทิตย์ไม่เคยตกเลย ๖ เดือน อูย! มันไม่ไปไหนเลย แต่ของเราพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก
นี่ความรู้มันเห็นมันร้อยแปด แต่สิ่งที่รู้ที่เห็นมันปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ตอนกลับมาที่ว่าเรารู้เราเห็น แล้วเราเข้าใจเรื่องสิ่งใด ถ้ามันรู้เห็นสิ่งใดนะ ฉะนั้น ถึงว่า “จิตนี้มันอยู่ระดับไหน” คำว่า “ระดับไหน” คือว่าก็อยากรู้ว่ามันรู้มันเห็นได้ร้อยแปดนะ แล้วสิ่งที่เด็กอนุบาลเด็กเล็กๆ ที่มันเห็น มันยิ่งมากกว่านี้อีก แล้วเวลาโตขึ้นมาเห็นแล้วมันได้ประโยชน์อะไร เห็นแล้วได้ฝึกหัดว่าให้มันเติบโตขึ้นมาได้ไหม ในสมัยพุทธกาลสามเณรน้อยอายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ คำว่า “เป็นพระอรหันต์” สมบูรณ์แบบนะ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ๘ สมบูรณ์แบบ ถ้าไม่สมบูรณ์แบบเป็น พระอรหันต์ไม่ได้ สามเณรอายุ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ ไอ้เรา แก่เฒ่าจนป่านนี้ยังทำอะไรไม่เป็นเลย มันอยู่ที่วาสนาของคนนะ
ถ้าว่า “สิ่งที่อยู่ระดับไหน” ก็ระดับที่เขาบอกเขาเห็นไง เห็นอารมณ์ของตน เห็นความเกิดดับ ถ้าเห็นความเกิดดับแล้ว ถ้ามันรู้เท่าทัน ถ้ารู้เท่าทันนะ รู้เท่าทันเสร็จแล้วมันทำอย่างไรต่อ เขาบอกว่า “เขาเห็นว่านิ้วไปแตะสามเหลี่ยม ถ้าสามเหลี่ยมนั้นก็คือ ตา หู จมูก” นี่มันเห็น การเห็นอย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิพอมันรู้มันเห็นมันก็ปล่อย พอปล่อยแล้วเป็นอย่างไรต่อ แล้วเดี๋ยวมันก็คิดต่อ ทำต่อ ทำต่อจนกว่าจิตจะตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่นถ้ามันไปรู้เห็นตามความเป็นจริงนะ ถ้ามันไปรู้เห็นตามความเป็นจริงนั้นคือสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง
แล้วถ้ามันสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง มันก็เป็นเข้าไปที่ธรรมวินัย ไปที่ศาสดา คือธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา ธรรมวินัยสอนไว้ เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนาเป็นการประพฤติปฏิบัติในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐานมีสติมีสัมปชัญญะเป็นพื้นฐาน แล้วเห็นกาย เห็น เวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง กายานุปัสสนา เห็นไหม ไปวิปัสสนากายต่างๆ ถ้ามันเป็นความจริง แล้วถ้ามันเป็นความจริงมันต้องมีสัมมาสมาธิเป็นตัวพื้นฐาน
ถ้ามีสัมมาสมาธิมันทำให้เป็นโลกุตตรปัญญา ถ้าเป็น ความคิดของเราเป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญาคือความคิดเองไง โลกียปัญญาคือความคิดแบบกิเลสไง ความคิดแบบวิชาการ ความคิดแบบที่เรามีความรู้ เพราะอะไร เพราะมันเกิดจากจิต เกิดจากโลกียะ เกิดจากโลกไง แต่ถ้าเป็นธรรมๆ มันต้องมีสัมมา- สมาธิไง เพราะสัมมาสมาธิมันก็เข้าสู่ธรรม เห็นไหม เข้าสู่ธรรมก็ศีล สมาธิ ปัญญามันเข้าสู่มรรค เข้าสู่มรรคเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่อริยสัจมันก็เข้าสู่โลกุตตระ เข้าสู่โลกุตตระมันก็เป็นโลกุตตรธรรม
แต่ถ้าเป็นความคิดของเราเองโลกียธรรมแล้วแบ่งตรงไหน คนภาวนาไม่เป็นแบ่งไม่เป็น เพราะมันเหมารวมหมด เป็นอย่างนั้นๆ เป็นอย่างนั้น เออ! เป็นสิทธิ์ เป็นสิทธิ์ของทุกๆ คนที่คิดอะไร ก็ได้ มันเป็นสิทธิ์ของเอ็ง แล้วมันจะได้ผลไม่ได้ผลเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก นี่พูดถึงว่าเขาถามมาแค่นี้เองไง “เขาถามว่า มันอย่างนี้มันอยู่ในขั้นไหน” ถ้ามันรู้เท่า แล้วแต่มันจะสืบต่อ มันจะอ้าปากจะพูดอย่างไร มันจะหยุดหมดอย่างนี้ ถ้าสติมันดี ถ้าพูดถึงเพราะเป็นคำถาม คำถามแรก “พื้นฐานว่าเขาทำความสงบมาอย่างไร” คนเรานะทำความสงบมาจะรู้เลย “ผมกำหนดพุทโธมา ๘ ปี ๑๐ ปี ผมภาวนามาขนาดนั้นแล้วมันสงบ” เออ! อย่างนี้มันมีเหตุมีผล ถ้าบอกว่า “ผมนึกเองเมื่อวานนี้มันเป็นเดี๋ยวนี้เลย” ส้มหล่น ส้มหล่นคือมันฟลุก
คนเราถ้าไม่มีพื้นฐานมามันเรื่องหนึ่งนะ ดูสิ นักมวย เห็นไหม นักกีฬาที่ดีการฝึกซ้อมเขา นักกีฬาที่ดีๆ มันจะมีวินัยกับตัวเอง แล้วเขาจะฝึก เขาจะดูแลร่างกายของเขา เขาจะเป็นนักกีฬาที่มีคนนับถือศรัทธา นักกีฬาที่ว่ามันฟลุก มันไปชกครั้งเดียวชนะ แล้วมันไม่เคยซ้อมเลย ขึ้นไปป้องกันแชมป์แพ้ทุกที แล้วมันก็ไปผลาญเงินของพื้นฐานของมัน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมีสัมมาสมาธิมันพิจารณามาดี มันเป็นอย่างไร ถ้ามันไม่มีสิ่งที่อะไรดี มันก็เหมือนนักกีฬาที่ไม่มี วินัยกับตนเอง นี่ก็เหมือนกัน จิตของคนที่จะภาวนามันต้องมี พื้นฐานของมันมา ถ้ามันไม่มีพื้นฐานของมันนะ มันก็เป็นแบบเป็นวาสนาเป็นแบบพรสวรรค์ ถึงเวลาก็ขึ้นจะแข่งอย่างเดียวเอาแต่ตังค์เขา แต่ขี้เกียจซ้อม ไม่ดูแลตัวเอง ไม่รักษาสุขภาพ ของตน เป็นนักกีฬาที่เห็นแก่ตัวเพราะอะไร เพราะคนที่เขาคอยหนุนหลัง คนที่มีกำลังใจช่วยทั้งประเทศ แต่เราไม่คิดถึงหัวใจ ของคนที่เขาคอยให้กำลังใจเรา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติมีปัญญา เราพุทโธของเรา เรามีพื้นฐานของเรา เห็นไหม นักกีฬาที่ดี
นี่พูดถึงว่า “จิตนี้อยู่ในระดับไหนไง” เพราะคำพูดระดับนี้ มันก็แค่รู้แค่เห็น ถ้ารู้เห็นรู้เห็นมันรู้เห็นโดยวิธีการใด ถ้ารู้เห็นนะ ถ้ารู้เห็นโดยที่ว่าจิตใจเป็นสิ่งที่ดี จิตใจเป็นอารมณ์ดี จิตใจ ของคนที่ดีมันก็เท่าทันความคิดของตน วันไหน วันไหนถ้าความโลภ ความโกรธ ความหลงมันท่วมท้นหัวใจ มันไม่เห็นหรอก โกรธก็เป็นกู กูนี่แหม! ใครๆ ก็ว่ากู ใครๆ ก็นินทากู กูก็อยากได้นู่น ถ้ามันพอเวลามันตกต่ำมันเป็นอย่างนั้นเลย ถ้ามันเป็น เรื่องโลกๆ นะ
แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ สมาธิที่ดีมันก็จะรู้เห็นที่ดี สมาธิเสื่อมเราก็รู้ว่าเสื่อมหมดแล้วทุกข์ร้อนเผาลนในใจมาก ถ้ามันเป็นได้จริงแล้ว แล้วมันก็อยู่ที่วาสนาของคนนะ วาสนาของคน วาสนาของคนว่าใครทำมากทำน้อยมีอำนาจวาสนาแค่ไหน คนที่ มีอำนาจวาสนาเขาจะมีจุดยืนของเขา เขาพยายามทำของเขา แต่คนที่ไม่มีอำนาจวาสนานะ เดี๋ยวก็เลิก เดี๋ยวก็ทำ เดี๋ยวก็ทำ เดี๋ยวก็เลิก กรรมฐานม้วนเสื่อ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้ายอยู่อย่างนั้น แต่ก็ยังดีนะ ยังเป็นคนที่ดี ไม่ถือว่าเลิกแล้วไปเลย แล้วไป สำมะเลเทเมานู่น เสียหายไปเลย อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง จบ
ถาม : เรื่อง “ทำถูกไหม ทำอย่างไรต่อ” นี่คำพูดเขานะ
คำถาม เดินจงกรมกำหนดพุทโธ พุทโธหนึ่ง พุทโธสอง ไปเรื่อยๆ ถ้าวันไหนเดินจงกรมแล้วฟุ้ง ไม่สงบเลย ก็เปลี่ยนไปเป็นพุทโธ ธัมโม สังโฆ หนึ่ง หรือตายหนึ่ง ตายสอง ไปเรื่อยๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ย้อนความฟุ้งซ่านจนสงบบ้าง
ก็จะพิจารณาสิ่งที่จับได้ตามอาการความคิด ความรู้สึกที่เกิดตอนนั้นในทางจงกรม ซึ่งแต่ละครั้งที่ปฏิบัติเรื่องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางทีก็เรื่องเดิม เช่น เรื่องเสียงท้องร้อง
คำถามนะ
๑. พิจารณาเสียงท้องร้อง ท้อง ปวดท้องหิว ใช้อุบายว่า อะไรหิว ส่วนไหนหิว อาการก็จบลง ล่าสุดก็เจออีกแต่เปลี่ยน เป็นถามหาเหตุผลว่า เสียงท้องร้องเป็นรูป แล้วสัญญาเก่าไป กำหนดว่านี่คือหิว ซึ่งจริงๆ ไม่ได้หิว ตรงไหนปวด ใจไม่เห็นปวด หรือทุกข์ ขันธ์ก็แสดงไป ถ้าไม่ปรุงให้ค่าความหมาย หรืออยากให้มันดับหายไปไวๆ หายไปเร็วๆ มันก็อยู่แตกอยู่แยกกัน แล้วอาการก็หายไป คราวนี้พอมาอีกแค่บอกเอ๊ะ! กิเลสตัวเก่า ไม่ต้องหาหรอก เลยโดยไม่ได้พิจารณาอะไร อาการก็หายเลย ทำแบบนี้ได้ไหม หรือควรพิจารณาแยกด้วยอุบายต่างๆ แม้เป็นเรื่องเดิมๆ ค่ะ
๒. พิจารณาความรู้สึกโกรธ ว่าใครโกรธ ทีแรกมันจะ โยนว่าคนอื่นผิด มีเหตุผลนั้นต่อมา แต่สติทันก็จะมีตัวสวน สอนกลับมาที่ตัวเรา นั่นแหละ เห็นแก่ตัว มีทิฏฐิมานะ จะเอาชนะ เหยียบย่ำละอายใจ และจบเรื่องลงแบบนี้คือพิจารณาเวทนา ทางใจใช่ไหมคะ
๓. เวลามีสัญญาหรือสิ่งค้างคาเกิดขึ้น แล้วเราจับได้เอามาพิจารณาแยกขันธ์ ๕ ว่าเรื่องจบแล้ว แต่เราไปคว้าสัญญาจากคำพูดเก่าๆ มาคิดปรุงแต่งสังขารจนเสียใจหรือโมโหเป็นเวทนาเอง ถ้าตายเรื่องพวกนี้จะยังสำคัญไหม หรือหาเหตุผลจนใจ ยอมรับเหตุผลที่ดีกว่า (ก็แปลกใจที่ความคิดดีๆ หรือเหตุผลอีกมุมที่ย้อนเข้าตัวว่า จริงๆ แล้วเกิดจากเรานั่นแหละ รู้ได้อย่างไรว่าเราถูก จนใจยอมรับ มักจะเกิดได้ถ้ามีสติและสงบ ซึ่งในชีวิต ปกติ คิดไม่ได้แบบนี้) แบบนี้คือวิธีการพิจารณาจิตใช่ไหมคะ
๔. ข้อดีที่ได้จากความกลัวคือตาสว่าง หายง่วง สติคิดแบบพุทโธไม่หลุด สงบได้ เช่น เวลาเจองู แมงป่อง สัตว์มีพิษ ตอนเดินจงกรม แต่กลัวความคิด ได้ยินเสียงหัวเราะบ้าง เสียง คนเรียก คนคุยกัน เสียงของเคลื่อนที่ แต่ไม่มีใครอยู่ด้วยตอนนั้น เสียงที่ไม่มีเหตุผล ปกติมักจะระวังกลัวฟั่นเฟือนและเป็นอุปาทานเปล่าๆ และมักหาพิจารณาก่อนว่าเสียงอะไร มีเหตุผลเกิดได้ไหม ไม่เชื่อง่ายๆ กลัวหลอกตัวเอง นานๆ เจอทีค่ะ มักจะเจอตอน อยู่วัดช่วงมีสติสงบๆ หรือมีกำลังภาวนา แก้ไขโดยนิ่งและฟัง เสียงชัวร์ๆ ว่าเสียงอะไร ต่อมาก็แผ่เมตตา และก็ส่งให้เขาไปรับเมตตาผลบุญจากหลวงพ่อแทนค่ะ เพราะกลัวและแก้ความกลัวต่อด้วยพุทโธรัวๆ สิ่งที่ว่าทำถูกคือสิ่งนี้ทำถูกไหม หรือมีวิธีอื่น ที่ดีไหม ถ้าจะใช้ในการพิจารณาว่าเสียงคืออะไร กลัวอะไร ถ้าเป็นผีเราจะกลัวไหม
หลวงพ่อ : ไอ้นี่พูดถึงข้อ ๑. ข้อ ๒. ข้อ ๓. ข้อ ๔. เนาะ
ตอบ : เอาพุทโธก่อน เวลาเอาคำถามนี่ว่าพุทโธหนึ่ง พุทโธ สอง แล้วพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าพุทโธไปเรื่อยๆ จิตเรามั่นคงแล้วนะ สิ่งไหนมันก็มั่นคงตาม ถ้าจิตใจเราไม่มั่นคงมันอยู่ที่วาสนาๆ ถ้าวาสนาแล้วถ้าเจอสิ่งใด ถ้ามันหลอกลวงแล้ว เรารู้ว่าสิ่งใดที่เรา ทำไปแล้ว คำว่า “หลอกลวง” คือภาวนาไปแล้วมันไม่มีผลตอบแทนคือว่างเปล่า แต่มันจะได้ประโยชน์ ประโยชน์อันเดียวเท่านั้นน่ะ ประโยชน์คือประสบการณ์ ประสบการณ์ของคนปฏิบัติ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ
ตอนที่เราปฏิบัติใหม่ๆ นะ เราจะคิดว่าเราเปรียบเหมือนนักกีฬาวิ่ง ๑๐๐ เมตร ถ้านักกีฬาวิ่ง ๑๐๐ เมตร เขาพยายาม วิ่งไปถึงเส้นชัยของเขา นั้นคือการแข่งขันวิ่ง ๑๐๐ เมตร แต่ถ้า เราวิ่ง ๑๐๐ เมตร วิ่งไป ๕ เมตร ๑๐ เมตรแล้วกลับมาตั้งต้น ใหม่ วิ่งไปครึ่งๆ กลางๆ แล้วตั้งต้นใหม่ มันไม่ถึง ไม่ถึงเส้นชัย ซักที พยายามทำต่อเนื่อง ทำต่อเนื่อง ทำต่อเนื่องของเราไป
แล้วเวลากำหนดพุทโธก็พุทโธของเราไป ถ้ามันเป็นไปได้ จริงนะ ถ้าเป็นไปได้จริง เห็นไหม มันจะทุกข์มันจะยาก มัน เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา มันอ่อนเพลียมาก มันแบบว่าควบคุมตัวเอง แบบบังคับตัวเอง ทุกข์มาก แต่ก็พยายามทำ พยายามทำของเรานะ มันมีประสบการณ์ของมัน ถ้ามันเป็นจริงมันจริงมันก็ดีขึ้น ถ้ามันไม่เป็นจริงมันก็แบบว่าเป็นประสบการณ์ เพราะว่า เราต้องพยายามสร้างสมไป พยายามสะสมหาความชำนาญของตน เราทำของเราอยู่อย่างนี้ เราเชื่อมั่นว่ามันมีที่ไปของมัน
ฉะนั้น “คำถามที่ ๑. คำถามที่ ๑. บอกว่า เวลาแก้ เวลามันหิว” เวลาเป็นปกติมันหิวมันใช้ปัญญาไปร้อยแปด ปัญญามันจะเกิดขึ้น สิ่งใดมันเกิดขึ้น ถ้าสติมันดี สมาธิมันดี ปัญญานั้นก็ เป็นปัญญา แต่ถ้าสติสมาธิไม่ดี เราไม่คิดตามมันไป เรากลับมา พุทโธนั่นแหละ กลับมาพุทโธ สิ่งที่เดี๋ยวๆ มันก็เกิดอีก ถ้าเราภาวนาอยู่ เรากลับมาที่พุทโธ แล้วถ้ามันใช้ปัญญาไปได้ มันก็ ใช้ปัญญาของมันไป ถ้ามันใช้ปัญญาไม่ได้ เดี๋ยวมันฟั่นเฟือน กลับมาพุทโธทันทีเลย นี่ข้อที่ ๑.
เห็นไหม ข้อที่ ๒. “ข้อที่ ๒. ก็เหมือนกัน เขาว่าเขาพิจารณาของเขา ว่าสิ่งที่มันตามไป ว่าคนนู้นว่าเรา คนนี้ว่าเรา สุดท้ายมันเป็นที่เราทั้งนั้น” เขาจะชมหรือเขาจะด่าแล้วแต่มัน เป็นเรื่องของเขา มันจริงหรือไม่จริงๆ นะ คนเราเกิดมามันมี ความผิดพลาดเป็นธรรมดา อย่างเช่น เรา เห็นไหม เราเนี่ย เวลา ที่เราตอบปัญหา หรือเทศนาว่าการอยู่นี้ เราพยายามจะบอกให้คนทุกคนแข็งแรง ให้ทุกคนมั่นคงขึ้นมา เห็นไหม คนที่ไม่เคยทำความผิดเลยไม่มี มันเคยทำความผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น แล้วอดีตชาติมันมามหาศาล เวลาเราย้อนกลับไปถึงพันธุกรรมของจิตๆ เพราะมันเป็นจริตเป็นนิสัยจนเป็นสันดาน แล้วพอเป็นสันดานแล้วเป็นความคิด เป็นจิตใต้สำนึกของเรา จิตใต้สำนึกมันรู้มันคิดของมันอยู่อย่างนี้ แล้วมันจะไม่ผิดไม่พลาดไปได้อย่างไร
ถ้าเวลามันผิดมันพลาดไป เห็นไหม เราก็ภาวนาของ เราไป เห็นไหม ใครจะว่าอย่างไรมันจะจริงหรือมันจะเท็จเป็นเรื่องของเขา แต่เราต่างหากสำนึกได้หรือไม่ ว่าเราถูกหรือเราผิด ถ้าเราผิดเราก็พยายามทำให้มันถูก ถ้ามันถูกก็ทำให้มันดีขึ้น เราทำของเราอยู่อย่างนี้ แล้วคนอื่นจะว่าอย่างไรมันเรื่องของเขา เว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่เวลาครูบาอาจารย์เทศนาว่าการ ครูบาอาจารย์ ที่ท่านทำความดี เอามาเปรียบเทียบ เปรียบเทียบหมายความว่าเรายังไม่ดีพอไง เรายังไม่ดีพอทำอย่างนั้นไม่ได้ เราก็พยายามทำของเราให้มันดีขึ้นๆ มันก็เป็นประโยชน์กับเราไง
ไอ้นี่แบบว่า “คำถามที่ ๒ เห็นไหม เวลามีสิ่งใดที่มัน โกรธมันขึ้นมา ก็คิดว่าเวลามันว่า คนนู้นว่าเรา คนนี้ว่าเรา เวลาเรามีสติปัญญามันสวนกลับมา เขาบอกว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นการเห็นแก่ตัวของเราเอง เป็นการเห็นแก่ตัว มีทิฏฐิมานะ จะเอา ชนะคนอื่น จะเหยียบเขา จนคิดได้ร้อยแปด” ถ้ามันไม่มีทิฏฐิมานะจะเอาแพ้เอาชนะกัน คนก็เท่ากับคน พอเท่ากับคนเรื่องของเขา เราก็สร้างคุณงามความดีของเรา เราก็ฝึกหัดภาวนา ของเรา เราก็พยายามรักษาใจของเรา มันก็จบ
นี่ถ้าปัญญาไล่เข้ามา แต่ปัญญาไล่เข้ามาอย่างไรแล้วแต่นะ สำคัญสติ สมาธิ ถ้าสติสมาธิมันมั่นคงมันจะได้ผล ได้ผลหมายความว่ามันจะทำให้ใจ มาตรฐานของใจสูงขึ้น มันจะพัฒนาขึ้นไง ถ้ามีสติมีสมาธิมันจะพัฒนาขึ้น พันธุกรรมของจิตๆ มันมาตรฐานมันจะพัฒนาขึ้น พัฒนาขึ้นทำให้เรา สูงขึ้น ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็อยู่แค่นี้ แล้วก็คอยฟังแต่คนผล กระทบข้างเคียง อันนี้เรื่องหนึ่ง
“๓. ที่ว่ามันมีสัญญาค้างคาใจ มันพิจารณาไป เวลาเขาใช้ ปัญญาของเขา เห็นไหม มันสิ่งที่ว่าเวลามันมีสัญญา มันคิดมันปรุงขึ้นมา มันเสียใจ มันต่างๆ แต่เวลาจิตพอมันมีสติ มีสมาธิ เห็นไหม (มันแปลกใจว่ามีความคิดดีๆ เหตุผลที่มีมุมย้อนกลับ ทำให้เรามีความคิดที่ดีๆ)” ถ้ามันมีสติ มันมีสมาธิ เห็นไหม นี่ผลของสมาธิ มันเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาไปนานๆ ถ้ามันมีมาตรฐานของมัน เวลามันเกิดภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจาก การภาวนา มันไม่ใช่ปัญญาโดยหาเหตุผล มันเป็นปัญญา เกิดจากจิต ถ้าเป็นปัญญาเกิดจากจิตมันจะเป็นประโยชน์อย่างนี้ แล้วเขาบอกเลยว่า ความคิดอย่างนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ความ คิดอย่างนี้มันมีมากน้อยแค่ไหน
“แล้วข้อที่ ๔. ข้อที่ ๔. ว่าความกลัว สิ่งที่ความกลัวทำให้หายง่วงนอนหายต่างๆ” ไอ้ความกลัวๆ กลัว เห็นไหม ดูสิ บางคนมีความกลัวแล้วแบบว่าละความกลัวได้ บางคนมีความกลัวๆ ความกลัว เห็นไหม โดยธรรมชาติของคน กลัวผี กลัวสาง กลัวต่างๆ พระครูบาอาจารย์ถึงสอนต่างๆ ให้ องค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนให้ไปเที่ยวป่าช้า ไปเที่ยวป่าช้า เห็นไหม ให้อะไร ไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไปเที่ยวป่าช้าก็อาศัยความกลัว
เวลาครูบาอาจารย์เราเข้าป่าเข้าเขาไป เห็นไหม เวลา ไปเจอเสือเจอสางเจอผีเจอสางก็นี่ไง ก็อาศัยความกลัวไม่ให้มันฟุ้งซ่านไง ไม่ให้คิดไปตามอิสระของมันไง ถ้ามันมีอย่างนี้ขึ้นมามันก็ทำให้มันสงบระงับ คือมันไม่กล้าส่งออกเกินไปไง คือเอาสิ่งนี้ มันบีบคั้นเข้ามา “นี่เขาบอกว่าเขาเอาสิ่งที่เขาเห็นประโยชน์กับความกลัว ความกลัวของเขา เขาทำให้ของเขามันสงบระงับ ทำให้เขาไม่ตื่นเต้นจนเกินไป ทำให้เป็นประโยชน์” ถ้าเป็นประโยชน์นี่คือคำถามของเขา คำถามมันเกิดจากการภาวนา ถ้าเกิดจากการภาวนา แต่เราอยากให้เวลาภาวนาต้องมีสติมีสมาธิ เพราะมีสติ มีสมาธิแล้วมันจะยกมาตรฐาน นี่พระพุทธศาสนานะ
พระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ ในกาลปัจจุบันนี้มันเป็นเรื่องของโลกนะ พวกเรา เห็นไหม ในเรื่องโลก เรื่องเศรษฐกิจ ปีนี้เป็นปีที่ว่าทางเมืองจีนเขามาซื้อทุเรียนมาก แล้วทำให้คนไทยตื่นตัวในการกินทุเรียน กินทุเรียนโดยส่วนใหญ่แล้วเราไปซื้อผลไม้ ชนิดเดียว นี้ผลไม้ชนิดอื่น ผลไม้ชนิดอื่นกำลังซื้อมันมีเท่านี้ไง พอกำลังซื้อมันมีเท่านี้ ผลไม้ชนิดอื่นมันทำให้ราคาตกต่ำมาก ในแนวทางเดียวกัน ก่อนหน้านั้นในเว็บไซต์ต่างๆ เขาขายแต่เครื่องสำอางๆ คนก็ไปซื้อเครื่องสำอางจนโอ้โฮ! เขาร่ำรวยกัน ไปหมด พอมันมีผลกระทบถึงว่าเครื่องสำอางมันเป็นพิษทำให้ เสียหาย ตำรวจก็จับ พอเขาจับปั๊บ ตอนนี้สิ่งที่เว็บไซต์มาแทนเครื่องสำอาง คือเครื่องรางของขลัง ไอ้นู่นก็รวย ไอ้นี่ก็รวย มันแปลก
พระพุทธศาสนาเขาไม่สอนอย่างนั้น พระพุทธศาสนาสอนศีล สมาธิ ปัญญา เขาสอนให้คนมั่นคงขึ้นมา พระพุทธ-ศาสนาไม่ได้สอนถึงว่ามันจะมีเครื่องรางของขลัง ไอ้จะเชื่อฤกษ์ผา นาทีแล้วมันจะร่ำจะรวย มีของมงคลแล้วมันจะอื้อ! เราเห็นแล้วมันแปลกใจมาก มันแปลกใจว่าทำไมสังคมมันอ่อนแอได้ขนาดนี้ เราพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ พูดถึงเรื่องโลก นี่พระพุทธศาสนาๆ พระพุทธศาสนาสอนให้คน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็น ที่พึ่งแห่งตน จะสอนให้ทุกๆ คนดีขึ้น มาตรฐานของหัวใจสูงขึ้น แล้วมาตรฐานของทุกคน พระพุทธศาสนาสอนเข้าไปสู่ใจของคนๆ ไง
มันเป็นเรื่องกระแสสังคมๆ เพราะอะไร เพราะเวลาแบบว่าราคาพืชผลเศรษฐกิจ พืชเศรษฐกิจเวลาราคาตกต่ำ ชาวไร่ชาวนาเดือดร้อนกันไปหมด เวลาพืชผลทางเศรษฐกิจมันดี แต่มันดีตัวเดียว เห็นไหม ดีที่ทุเรียน โอ๋! ดีมาก พอดีมากขึ้นไป พืชผลเศรษฐกิจทางอื่น อำนาจกำลังซื้อมันไม่มี ราคาตกต่ำมาก ไอ้นี่มันเป็นกำลังซื้อไง ไอ้นี่มันเป็นวิทยาศาสตร์เป็นระบบเศรษฐกิจนะ แต่ความเชื่อ “ทานแล้วขาว ทานแล้วขาว ขาว ไปหมดเลย” ขาวจนตายหลายศพ ตำรวจจับ ตำรวจจับขึ้นมา เห็นไหม พอจับตอนนี้มาเป็นแบบว่าจะมีอะไรก็ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งนั้น ดีไปทุกอย่าง ทำไมคนไทยเชื่อเรื่องอย่างนี้ได้ ทำไมคนไทยไม่เชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ถ้าเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่ไงก็ดูสังคมพระ ก็พระเอาแต่ได้ พระรวยอยู่คนเดียวว่างั้นเลย อันนั้นเป็นในสังคมมีคนดีและคนชั่ว แต่เอาที่คำสอนในพระพุทธศาสนาสิ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ตนยังพึ่งตัวเองไม่ได้ อย่างพวกเรายังพึ่งตรงนี้ไม่ได้ เราก็พึ่งครูบาอาจารย์มา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านเกิดมาในพระพุทธศาสนา ท่านบวชเป็นพระ ท่านก็พยายามหาที่พึ่งของท่าน ไปหาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ “ท่านต้องแก้ตัวของท่านเอง” เวลาท่านแก้เสร็จ แล้ว เห็นไหม ท่านพยายามรักษาลูกศิษย์ลูกหาของท่าน
เวลาบอกหลวงตา “มหา มหาพรรษามากแล้ว ไม่ต้องขึ้นมานะ ให้พระเล็กพระน้อยมันขึ้นมา มันจะได้มีข้อวัตรติด หัวใจมันไป” ถ้ามีข้อวัตรติดหัวใจมันไป เราศึกษาธรรมะของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษามาทางวิชาการ ศึกษามาแล้วมันไม่ติดหัวใจมันเลย ศึกษามาแล้วมันทิ้งมันขว้างไง หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เห็นไหม ท่านศึกษาของท่าน ท่านพยายามฝึกหัดของท่านให้มันเกิดขึ้นมาในหัวใจของท่าน เห็นไหม
แล้วท่านฝึกแล้วเวลาหลวงตาขึ้นไปหาท่าน “มหา มหาเรียนมาถึงเป็นมหา คำสอนของพระพุทธเจ้าประเสริฐมาก เทิดศีรษะไว้ แล้วเก็บไว้ในลิ้นชักสมองนะ แล้วให้ฝึกหัดประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าถึงแล้วมันก็จะเป็นอันเดียวกันไง” เวลามันฝึกหัดพิจารณาขึ้นมา มันก็เป็นการพัฒนายกระดับหัวใจของมันขึ้นมา นี่ไง สิ่งที่มันเป็นจริงๆ ความจริงเวลาปฏิบัติขึ้นมามันจะติดหัวใจมันไป นี่ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ท่านให้ติดหัวใจมันไป เราก็ได้ฝึกฝนมาจากครูบาอาจารย์ของเรานี่แหละ ฝึกหัดๆๆ ฝึกหัดให้ มันเป็นจริงขึ้นมาไง พอเป็นจริงขึ้นมา คำสอนขององค์สมเด็จ- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ่งนั้นเป็นแนวทางเป็นการชี้เข้ามาในหัวใจของเรา เห็นไหม
เวลาพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ไม่เชื่อองค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกพระสารีบุตรมาถามว่า “เธอคิดอย่างนี้จริงๆ หรือ” “จริง” เพราะพูดความจริงเป็นวิทยาศาสตร์ ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ แต่เดิมตอนที่ยังไม่เข้าใจสิ่งใดเลยไปฟังเทศน์ของพระอัสสชิมาแล้ว พระอัสสชิส่งให้มาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็รอแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าจะให้มันสิ้นกิเลสไป เวลาตัวเองยังฝึกตัวเองไม่ได้ก็หวังพึ่งไง ไปพึ่งฟังเทศน์พระอัสสชิ พระอัสสชิส่งมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้องค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามสั่งสอน สั่งสอนก็พยายามมีการกระทำ พอกระทำจนมาเป็นความจริงขึ้นมา เราจะเชื่ออะไร เป็นความจริงแล้ว
นี่ถ้ามันมีข้อวัตรติดหัวใจมันไป เห็นไหม มันจะฝึกหัดขึ้นมา มันจะทำของมันขึ้นมาไง ถ้าขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าย้อนกลับมาชาวพุทธๆ เนี่ย พระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาพุทธมันไม่มีคุณค่าอย่างนั้นแล้ว เหรอ มันเชื่อไม่ได้แล้วใช่ไหม มันจะต้องไปเชื่อไอ้นั่นรวย ไอ้นี่รวย ไปเชื่อสิ่งนั้นเหรอ นี่พูดถึงพระพุทธศาสนาไง
ย้อนกลับมาคำถามที่ปฏิบัติมา ปฏิบัติมา ปฏิบัติมาก็เริ่มต้นปฏิบัติถ้าสู่หัวใจ ยกมาตรฐานของใจไง ถ้ายกมาตรฐานของใจเข้ามาให้เป็นพุทธะไง นี่หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ถ้าใจมันเป็นจริง ใจมันจะเป็นพุทธะ ใจเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าใจเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วฝึกหัดวิปัสสนาในแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ถ้าแนวทางสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ ศาสนาพุทธมีคุณค่า ผู้เฒ่าผู้แก่ของเรา เห็นไหม เลือกให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วก็พยายามส่งเสริมกันอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติมันจะได้จริงหรือไม่ได้จริง
ทีนี้ “คำถามที่ ๑. เห็นไหม จิตนี้อยู่นี้เป็นแบบไหน” อันนี้คำถามแรก ความเห็นมันก็ยังแบบว่าจิตนี้เป็นไปได้โดยเป็นโลกก็เป็นได้ ไม่เป็นสมาธิก็เป็นได้ เป็นสมาธิก็เป็นได้ แต่! แต่ เป็นแล้วมีอะไรเป็นพื้นฐาน เป็นแล้วมีอะไรจะส่งเสริมต่อเนื่อง ให้มาตรฐานของมันสูงขึ้น ให้เป็นพุทธ ธรรม สงฆ์ในใจ
คำถามข้อที่ ๒. “คำถามที่ ๒. ก็เหมือนกัน คำถามที่ ๒. มันอยู่ที่ประสบการณ์ของจิตที่ภาวนาไป จิตจะเป็นอย่างนั้น จิตจะเป็นอย่างนั้น” จะเป็นอย่างนั้นมันต้องมีบาทฐานด้วยศีล ด้วยสมาธิ สมาธิเป็นพื้นฐาน ถ้ามีสติมีสมาธิเป็นพื้นฐาน มันก็จะเป็นพระพุทธศาสนา มันจะเข้ามาสู่อริยสัจ เข้ามาสู่ความจริง ไม่ใช่เร่ร่อน ไม่ใช่เร่ร่อนแบบเขาไง
ตอนนี้ เห็นไหม พอเขาจับไอ้พวกเครื่องสำอางไปแล้ว ตอนนี้ก็กลายเป็นพวกเครื่องรางของขลัง แล้วเครื่องรางของขลัง นู่นก็ดี นี่ก็ดี ไม่ต้องทำอะไรล่ะ มึงไลน์มาเลย กูส่งให้ได้เลย รวยเลย ทุกอย่างดีได้หมดเลย มันเป็นไปไม่ได้ ชาวพุทธเหลวไหล สังคมหยำเป
แต่ถ้าเป็นจริงๆ เห็นไหม มันต้องย้อนเข้ามานี่ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น พระพุทธศาสนาเป็นศาสนา ที่มีคุณค่า แล้วผู้ที่ถามก็อย่างนี้ ปัญหานี้มันอยู่ที่เราเป็นชาวพุทธ เราอยากจะปฏิบัติ เราอยากทำความจริง ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันก็มีคุณค่าขึ้นมาตรงนี้ อย่างไรก็มีคุณค่าขึ้นมา มีคุณค่าขึ้นมา ที่ว่า ชาวพุทธเห็นธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้ามีคุณค่า เพราะมีคุณค่าเราถึงจะปฏิบัติ เพราะมีคุณค่าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ชีวิตของเรานะ สิทธิของเรานะ เรามีสิทธิใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ ทำไมเราต้องมาบังคับหัวใจของเรา ทำไมเราต้องมาดูแลหัวใจของเรา เพราะเราอยากยกมาตรฐานหัวใจของเราให้มันเป็นพุทธแท้ ให้มันเป็นสัจจะความจริง แล้วถ้าเป็นสัจจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าประพฤติปฏิบัติมาตามความจริงขึ้นมา มีคุณธรรมขึ้นมาในใจ นี่เวลาพระเขาเคารพ เขาเคารพกันที่นี่ อาวุโสภันเตก็เคารพ เคารพตามกฎหมาย เคารพตามคำเชื่อตามพระพุทธเจ้า แต่ถ้ามันเป็นความจริงเราเชื่อในคุณธรรม เรามีคุณธรรมนี่ประเสริฐ นี่ เห็นไหม พระพุทธศาสนามีคุณค่าแบบนี้
ฉะนั้น เราประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา อย่าตื่นโลกตื่นสงสาร ตื่นแบบโลกเขา ตื่นไปกับเขา แล้วมันก็จะเป็นอยู่แบบนี้ ลุ่มๆ ดอนๆ เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ เพราะเราเห็น เราเกิดมากับโลก เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ นั้นคือการพัฒนา นั้นคือพันธุกรรมของจิต นั้นคือการเกิดการตาย การสร้างสมคุณงามความดี ในปัจจุบันนี้โลกเขาก็ยังหมุนเวียนกันอยู่
แต่! แต่เราจะหักวิวัฏฏะ หักหัวใจของเราด้วยคุณธรรม ด้วยสัจจะ ด้วยความจริง ด้วยการกระทำให้เกิดมรรคเกิดผล ในหัวใจนี้ นี้พระพุทธศาสนา คำสั่งสอนที่แท้จริงขององค์-สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง