จิตฉลาด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
หลวงพ่อ : เอานะ เอา พร้อมแล้วโยมถามเลย
ถาม : อยากทราบว่า ความฉลาดแห่งจิตวิญญาณ ความหมายของพระอาจารย์หมายความว่าอะไรคะ
ตอบ : ความฉลาดแห่งจิตวิญญาณ ถ้าเป็นความหมายของเรานะ ไม่ใช่ความหมายของเรา ความหมายในพระพุทธศาสนาเนี่ย ความหมายในพระพุทธศาสนาว่า ความฉลาดของจิตวิญญาณ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้า เป็นครูบาอาจารย์ ท่านจะมองกลับไปที่ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะเลยนะ เพราะความความฉลาดของจิตวิญญาณ เพราะคนที่ฉลาดๆ ฉลาดของโลกๆ ก็ได้ คนเกิดมาที่ฉลาด คนเกิดมาเกิดมาแล้วประสบความสำเร็จทางโลกอย่างนี้ ไอ้นี่มันเป็นสมบัติทางโลก
แต่ในพระพุทธศาสนา ถ้าความฉลาดของจิตวิญญาณนะ มันเหมือนกับ เช่น พระสารีบุตร เป็นลูกเศรษฐีนะ ทุกอย่างมีพร้อมหมดเลย แต่มันอะไรนะ ไปเที่ยวที่ไหนก็ไม่สนุก ไปดูอะไรก็ไม่สนุกเลยล่ะ นี่ฉลาด เรื่องโลกๆ สมบูรณ์แบบหมดเลย แต่ มันจืดชืดหมดเลย มันน่าจะมีอะไรดีมากกว่านี้ ถ้าอย่างนั้นก็เลยไปนัดกับพระโมคคัลลานะว่า “เราจะออกบวช” นี้คำว่า “ฉลาด” คำว่า “จะออกบวช จะออกประพฤติปฏิบัติ” นี่คือความฉลาด ฉลาดตรงไหน ฉลาดตรงที่ว่าเราไปค้นคว้าหาสัจจะความจริง แต่ทางโลกเขามองไม่เห็นไง โทษนะ เดี๋ยวก่อน ทางโลกจะบอกนี่โง่ คนฉลาดต้องร่ำรวยมั่งมีศรีสุข ต้องประสบความสำเร็จทางโลก นี่คนฉลาดแต่ฉลาดแค่โลกๆ
แต่ถ้าฉลาดพระพุทธศาสนานะ พระพุทธเจ้าขนาดจะเป็นกษัตริย์ยังละทิ้งเลย พระกัสสปะกับภรรยาเป็นลูกเศรษฐีทั้งคู่เลย แจกสมบัติหมดเลย ออกบวช พระรัฐบาลเป็นลูกชาย คนเดียว พ่อแม่เป็นเศรษฐี แล้วจะออกบวชพ่อแม่ไม่ยอมให้บวช พ่อแม่ไม่ยอมให้บวช ถ้าไม่ให้บวชจะอดข้าวตาย พอจะอดข้าวตาย แม่มีลูกชายคนเดียวไง ก็พยายามไปเอาเพื่อนๆ มากล่อม เพราะเพื่อนมันรู้ใจกัน พอเพื่อนมากล่อมเสร็จแล้วไปพูดกับพ่อแม่เขา “พ่อแม่อยากเห็นหน้าลูกไหม ถ้ายังอยากเห็นหน้าลูกอยู่ต้องให้บวช ถ้าไม่อยากเห็นหน้าลูก อดข้าวตายแน่นอน”
สุดท้ายพ่อแม่ใจอ่อน อนุญาตให้บวช บวชไปนะก็ออกไปประพฤติปฏิบัติ พระรัฐบาล ชื่อพระรัฐบาล อยู่ในพระไตรปิฎก บวชออกมาแล้วก็ไปประพฤติปฏิบัติจนสิ้นกิเลสนะ เป็นพระ-อรหันต์ กลับมาเยี่ยมแม่ แม่นะด้วยอุบายของทางพ่อแม่ไง เขาก็ ไปขนทรัพย์สมบัติมาเต็มเลยมากองไว้ กองไว้เป็นกองภูเขาเลยนะ แล้วถามพระลูกชายบอกว่า “พ่อแม่มีเงินทองอย่างนี้ แล้วพ่อแม่ก็สองคนตายาย แล้วเงินทองกองเท่าภูเขาจะทำอย่างไร” ปรึกษาพระลูกชาย พระลูกชายบอกว่า “แม่ให้เอาใส่ล้อเกวียนแล้วก็ไปดัมพ์ใส่แม่น้ำเลย” พ่อแม่นี่ช็อก
นี่ไง เราได้พูดทุกวันว่า ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือทรัพย์สมบัติ เหนือเพชรนิลจินดา เหนือชื่อเสียง เหนือกิตติศัพท์ เหนือกิตติคุณ แล้วเขาได้มาแล้ว แต่พ่อแม่ ด้วยความเป็นพ่อแม่ว่า พ่อแม่สัมพันธ์พ่อแม่กับลูกใช่ไหม ทรัพย์สมบัติต้องมีค่าสิ เข็นทรัพย์สมบัติมาเลย แล้วตั้งปัญหา ถามลูก ทรัพย์สมบัตินี่ทำอย่างไรดี ถามลูกนะ คิดว่าลูกมันจะเสียดาย เก็บไว้ให้ผม เก็บไว้ให้ผม ไม่ใช่ ใส่ล้อเกวียนแล้วดัมพ์ ใส่แม่น้ำไป เพราะใจนี้ยิ่งใหญ่กว่า นี่ผู้ฉลาด
คำว่า “ฉลาด” แบบที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน ฉลาดทางโลกหรือฉลาดทางธรรม ฉลาดทางโลก เห็นไหม ก็ต้องมีสติมีปัญญาเท่าทันตามกระแสสังคม เท่าทันเขา นี่คือฉลาดทางโลก ฉลาดทางธรรม ละ วาง รู้แล้วปล่อยวาง ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น ถือมั่น เอาฉลาดทางไหนล่ะ เออ! ถ้าบอกว่าฉันฉลาด ฉลาด ต้องเป็นผู้ที่ฉลาดปราดเปรื่อง ฉลาดแล้วนะ ตอนนี้รัฐบาลกำลังเป็นปัญหามาก คนฉลาดต้องเป็นคนดีด้วย คนดีแล้วฉลาด โลกถึงเจริญ คนฉลาดแล้วขี้โกง จบเลย แล้วฉลาดอย่างไรล่ะ
ถ้าศีลธรรมๆ ศีลธรรมทำให้คนฉลาด ทำให้คนเป็นคนดี ให้คนดีเป็นผู้ที่ฉลาด ถ้าผู้ที่ฉลาดแล้วเขาจะระลึกถึงสังคม แล้วจะช่วยเหลือคุ้มครองดูแลผู้ที่ทุกข์ยาก ยากไร้ นั่นเป็นผู้ที่ฉลาด ผู้ที่ฉลาดอย่างนี้ปั๊บเขาก็มองถึงศีลถึงธรรม ถึงบุญกุศล มันฉลาด เหรียญมี ๒ ด้าน ฉลาดทางไหน ถ้าฉลาดจริงๆ เพราะเราว่าเรานี่เราฉลาดมาก ละสิ่งใดมาหมดเลย แล้วมาปฏิบัติ พอมาปฏิบัติทุกข์จนเข็ญใจปฏิบัติก็ไม่เป็น เอ๊ะ! กูฉลาดหรือนี่ กูฉลาดหรือ กูโง่วะเนี่ย ทำไมกูมาปฏิบัติแล้วไม่ได้เรื่องเลย ไหนว่ากูฉลาดไง ทำไมกูฉลาดแล้วกูทุกข์ขนาดนี้
นี่วาสนาบารมีของคนไม่เหมือนกัน ขิปปาภิญญา ผู้ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย คนที่ปฏิบัติแล้วทุกข์จนเข็ญใจ ปฏิบัติกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ต้องบากบั่น ที่มามันแตกต่าง แตกต่างกัน เราถึงใช้คำว่า “พันธุกรรมของจิต พันธุกรรมของจิต” พันธุกรรมของจิตคือการตัดแต่งพันธุกรรมนั้นมา พันธุกรรมนั้น มันได้ตัดแต่งมาอย่างไร มันมีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน นี่พันธุกรรมของมันคือทำมาทั้งนั้น จิตดวงนั้นเป็นผู้ทำมาทั้งนั้น แล้วถ้ามาในปัจจุบันนี้ถ้าจะดีขึ้น เราก็จะมาสร้างคุณงาม ความดีเนี่ย
นี่พูดถึงว่า ฉลาด ถ้าฉลาดแล้วมันฉลาดทางโลกหรือฉลาดทางธรรม ถ้าฉลาดทางธรรมนะ อย่างที่บวชมาแล้ว ครูบาอาจารย์เราฉลาดทางธรรม คือ ประพฤติปฏิบัติจะเอาความจริงขึ้นมา เอาคุณธรรม เอาคุณธรรมเหนือวัตถุ เหนือโลกธรรม ๘ นี่ความฉลาดของเรา
ถาม : การดำเนินชีวิตอย่างไรที่แสดงให้เห็นว่าเราดำเนินชีวิตแบบมีความฉลาดแห่งจิตวิญญาณน่ะค่ะ
ตอบ : การดำเนินชีวิตโดยความฉลาดทางจิตวิญญาณ คือคน มีสติ คนมีสติเนี่ย คนมีสติจะทำสิ่งใดไม่มีผิดพลาดเลย ถึงจะผิดพลาดก็น้อย มันจะผิดพลาดต่อเมื่อเราไม่รู้
มันมีคำถามนะ “พระอรหันต์ลืมในอะไร”
พระอรหันต์ลืมในสมมุติบัญญัติ พระอรหันต์ไม่ลืมในอริยสัจ ทีนี้คำว่า “ลืมในอะไร” ลืมในสมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติมันเปลี่ยนทุกวันใช่ไหม ถ้าสมมุติบัญญัติมันเปลี่ยน ทุกวัน ถึงพระอรหันต์ก็ไม่รู้เพราะสมมุติบัญญัติเขาเปลี่ยนไป ชื่อเสียงไง เปลี่ยนชื่อๆ เปลี่ยนสมมุติ ชื่อนาย ก. เรารู้จักคนนี้ ชื่อนาย ก. แล้วมันไปเปลี่ยนนาย ม. แล้วเราไปเรียกนาย ก. เราก็ผิดน่ะสิ นี่ก็เหมือนกัน พระอรหันต์หลงในสมมุติบัญญัติ ไม่เข้าใจในสมมุติบัญญัติ
แต่ถ้าอริยสัจ เรื่องอริยสัจเรื่องความจริง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในหัวใจนี่เปรี๊ยะๆๆ เลย มันคลาดเคลื่อนไม่ได้เลย นี่พระอรหันต์ไม่หลงตรงนี้ พระอรหันต์ไม่หลงในอริยสัจ
แต่พระอรหันต์หลงในสมมุติคือเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสมมุติ อย่างนี้ผิดพลาดได้
ฉะนั้น ถ้าคำว่า “มีสติมีปัญญา” เห็นไหม มีสติมีปัญญาที่ว่าฉลาด ฉลาดการผิดพลาดมันก็น้อย ความฉลาดคือฉลาดในอารมณ์ว่าอย่างนั้นเลย ความฉลาดมันต้องฉลาดในอารมณ์ เท่าทัน ในอารมณ์ของตน พอเท่าทันอารมณ์ของตน โกรธก็รู้ว่าโกรธ โกรธแล้วก็วาง สิ่งใดที่ไม่รู้ ไม่รู้ก็ไต่ถาม เห็นไหม อย่างผู้บริหารเขามีที่ปรึกษา ถ้าไม่รู้ก็ถามที่ปรึกษาว่าควรทำอย่างไร ถ้าการดำรงชีวิตแบบเท่าทันสติ จิตวิญญาณ สตินี่สำคัญ ถ้ามีสติ แล้วมันมาฝึกหัดได้ ฝึกหัดให้จิตใจฉลาดได้ พอมันฝึกหัด มันฝึกหัดทำบ่อยครั้งเข้า เดี๋ยวมันรู้ช่องทาง มันไปได้
ถาม : ถ้าเกิดจะถามในแง่ของคนทำงานอะไรอย่างนี้ ควรจะมีคุณลักษณะ มีลักษณะอะไรบ้างคะ
ตอบ : คนจะทำงาน คนจะทำงานจะถามว่างานอะไร ถ้างาน เขาต้องมีความรู้อย่างนั้น คนทำงาน คนทำงานทางโลกๆ มันก็อยู่ที่วาสนานะ วาสนาของคนบางคน อย่างเช่น อย่างนี้เลย อย่างคนตกงาน คนตกงานก็อยากมีงานทำ เวลาคนตกงาน คน ดูสิในทางโลก เวลานักการเมืองจะเสนอเลือกผม ผมจะทำให้มีงาน ๕๐๐ ตำแหน่ง ถ้าเลือกผม ผมจะให้ ๑,๐๐๐ ตำแหน่ง
ทุกคนก็แสวงหาเรื่องหน้าที่การงาน ถ้าพูดถึงถ้าใช้ชีวิตในหน้าที่ทำงาน ถ้าเขาซื่อสัตย์เขามีศีลมีธรรมของเขา เขาทำเพื่อประโยชน์ของเขา แต่! แต่ในทางโลก สรรพสิ่งในโลกเป็นอนิจจัง คนทำงานแล้วมันก็พัฒนา มันจะโตขึ้นเรื่อยๆ พอโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นไหม ในทางธุรกิจเขาถึงกีดกัน คู่แข่งขัน ความลับทางการค้า ถ้าเขามาทำงาน พอเขาเป็นงาน เขาก็ไปตั้งบริษัทของเขา ไอ้นี่ มันเรื่องธรรมดาของโลก
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าฉลาดในการทำงาน ก็อยู่ที่วาสนาของคนเนาะ ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่การบริหารของบริษัท เพราะว่าเขาเป็นคนคัดเลือกบุคลากรเอง ถ้าคัดเลือกขึ้นมาแล้วมัน... ไอ้นี่มันเป็นภาษาโลก ถ้าย้อนกลับไปประชาธิปไตยเลย มันเป็นสิทธิของเขา มันเป็นสิทธิของคนทำงาน มันอยู่ที่ว่าหน้าที่ผู้บริหารต้องรักษาผลประโยชน์ของตน ผู้ที่ฉลาด ฉลาดในการทำงาน
ถาม : อย่างที่ว่าในงานวิจัยก็จะอ้างอิงงานวิจัยของฝรั่ง ทีนี้ ในงานวิจัยของเขาจะมีองค์ประกอบอยู่ ๕ องค์ประกอบ ได้แก่การมีสติ ก็เลยอยากจะทราบว่า มันเกี่ยวข้องกับความฉลาด แห่งจิตวิญญาณอย่างไรบ้าง
ตอบ : สตินี่ คำว่า “มีสติ” ตอนนี้นะมันเรื่องอย่างทางโลกนี่ ทางโลกเขาพยายาม เห็นไหม เอาพระ เอาพระไปอบรมบุคลากรในบริษัทต่างๆ แล้วบุคลากรในบริษัทต่างๆ ขึ้นมา บุคลากรของเขาก็มีความสามารถมากขึ้น ฉลาดขึ้น บริษัทก็ได้ผลตอบแทนมากขึ้น เวลาเอาพระไปอบรมๆ เนี่ย พอเอาพระไปอบรม เริ่มต้นในศาสนาก็เน้นลงตรงนี้เลย เน้นลงที่สติ นี้คนที่มีสติมันต้องมีปัญญา คือเวลามีปัญญา หมายความว่า เวลาสติเกิดแล้วมีปัญญาเกิด เห็นไหม สติเราเกิดแล้วเป็นประโยชน์กับเรา
แต่คนเราเกิด คนโดยมนุษย์โดยธรรมชาติมันมีความโลภ มันมีความหลงในตัวมันเอง พอมีความโลภ ความหลง เห็นไหม เวลามันคิดอะไรไปนี่ขาดสติ ถ้ามีสติขึ้นมาปั๊บนี่มันรู้เท่าทัน ทีนี้ คำว่า “สติ” สติ เห็นไหม ความระลึกรู้ สติคือความระลึกรู้ แล้วรู้ในเรื่องอะไร ถ้ามีฝึกหัดสติ แล้วถ้าฝึกหัดบ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้า แม้แต่ในวงการในพระพุทธศาสนา ธรรมะของพระพุทธเจ้า สติต้องการในทุกๆ ที่ ทุกๆ สถาน ทุกที่เลย สติ ทีนี้พอสติ คนเราชาวพุทธเราก็บอกว่าเราเป็นชาวพุทธ ทำบุญแล้วได้บุญมากๆ ได้เงินมากๆ จะได้ลาภสักการะ ไปมองตรงนู้นเลย เลยกลาย เป็นเผลอไง เผลอไปที่ลาภสักการะ สติมันก็เลย
แต่ถ้ากลับมาที่สตินะ ไอ้เรื่องสติ สติคือสติใช่ไหม ผลตอบแทนเป็นผลตอบแทนใช่ไหม ลาภสักการะเป็นลาภสักการะใช่ไหม มันเป็นวาระที่จะต่อเนื่องไป แต่เรานี่เราไปเอาอนาคต ไง คือความคิดมันพุ่งไปอนาคตนู่น มันไม่อยู่กับปัจจุบันไง สติ ก็เลย มันต้องฝึกตรงนี้ พอฝึกตรงนี้แล้ว มันก็อยู่ที่ว่าคนจะเท่าทัน ไหม ตรงนี้มันอยู่ที่พื้นฐานใครฝึกมามากน้อยแค่ไหน ถ้าฝึกมาๆ มันจะเข้าใจของมัน เราเข้าใจของมัน เวลาเราผิดพลาด นี่ไง ขาดสติ เวลาใครผิดไป นี่ไงขาดสติ มันเป็นบททดสอบ เราต้องพัฒนาขึ้น เราต้องทำดีขึ้น นี่พูดถึง ๑ ใช่ ในพระพุทธศาสนา เน้นเลยเรื่องสติ
ถาม : ถ้าเกิดจะให้เกิดการพัฒนาในคนไทยทั่วๆ ไปอย่างนี้ค่ะ มีวิธีการอย่างไรบ้างคะ
ตอบ : วิธีการมีเยอะ ไอ้เนี่ยนักวิชาการทำวิจัยกันไว้เยอะ แล้วก็เอาไว้บนหิ้ง บนหิ้งเยอะมาก นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำอย่างไรๆ สังคมทำอย่างไร ทุกคนก็อยาก อยากให้สังคมดีขึ้นทั้งนั้น แต่! แต่เราไม่ค่อยเชื่อใครเลย ไม่เชื่อใครเพราะอะไร ไม่เชื่อใครเพราะเราเชื่อกรรม เวลาผู้บริหารนะ ทุกๆ คนก็ต้องการให้สังคมดีขึ้นทั้งนั้น แล้วเขามีกรรมในตัวของเขา มีอย่างเดียวแจก แจกแล้ว พอมันรับแล้ว มันใช้สอยหมดก็เท่านั้น มันไม่พัฒนาหรอก เพราะมันกรรมของสัตว์
ถ้ามันจะเป็นจริงมันก็ต้องอบรมไง อบรมพยายามให้เขา ดีขึ้น พยายามให้เขาดีขึ้น แล้วเขาดีขึ้นแล้ว เขาพัฒนาขึ้น เขาคิดของเขาได้ ถ้าเขาคิดของเขา เขาก็พัฒนาของเขาแล้ว แล้วจิตใจเขาต้องเป็นสาธารณะ จิตใจเป็นสาธารณะ หมายความว่า ผลประโยชน์ของคนอื่นสำคัญกว่า ผลประโยชน์ของสังคม สำคัญกว่า แต่ทุกคนว่า เขาไป ไปถามราชการเนาะ เสนออะไร แล้วผมได้อะไร มันคิดถึงตัวเขาก่อนเลย เขาไม่คิดถึงสังคมเลย แต่นั่นมันพัฒนาถึงสังคม สังคมได้อะไร แล้วเราได้อะไร
นี่พูดถึงว่าจะพัฒนาสังคม เรื่องทางโลกนะ เรื่องการบริหารจัดการ ทุกคนก็อยากจะให้ดีขึ้น เราก็เห็นด้วยนะ แต่! แต่ความเชื่อของเราไง ความเชื่อของเรา กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน กรรม กรรมของเขา บาปบุญของเขา ถ้ายังไม่ถึงวาระของเขา เขาจะทุกข์ยากอย่างนั้น แล้วพระพุทธเจ้ายังเชื่อกรรม นี่เฉพาะตัว ความเห็นส่วนตัว ความเห็นส่วนตัว
แต่ถ้าเป็นสังคมอย่างที่ว่าเนี่ยทุกคนคิดแบบโยม เราอยากจะพัฒนาๆ เราอยากจะทำเพื่อสังคมให้มันดีขึ้น แต่พัฒนานี่ ธรรมะของพระพุทธเจ้านะ คนนอนหลับอยู่นี่เราพัฒนาเขา ไม่ได้หรอก คนเราจะพัฒนาเขาได้มันต้องรู้สึกตัว มันต้องตื่นขึ้นมา แล้วเวลาตื่นขึ้นมา เราเสนอไปมันรับไหม แล้วใจเขาหลับใหล ไปทั้งหมดเลย แล้วเราก็จะมางัด เราจะมาปลุกเขา คนหลับอยู่นี่ เราพัฒนาเขาไม่ได้หรอก แล้วพอมันหลับอยู่แล้ว มันก็จะเรียกร้องของมันไปตลอดเวลา
นี่พูดถึงนะ แต่ถ้าเรากระตุ้น เวลาเทศน์มันก็กระตุ้น กระตุ้นเฉพาะบุคคล แล้วแต่จิตดวงใดมันจะสว่างขึ้นมา คือมัน รับรู้ขึ้นมา ได้ประโยชน์ตรงนี้ ถ้าเราพูดแล้วเขาไม่ตื่นตัว ยังหลับใหลอยู่ จบ นี่ความเห็นเรา
ถาม : องค์ประกอบที่ ๒ ค่ะ เขาบอกว่าเป็นความสามารถใน การดำเนินชีวิตอย่างมีความจริงภายในและก็มีอิสระ แล้วก็ดำเนินชีวิตอย่างมีแรงบันดาลใจ ความสุขสวยงาม
ตอบ : สิ่งมีชีวิตนะ มันขับเคลื่อนไปด้วยชีวิต ชีวะสิ่งมีชีวิตที่ ขับเคลื่อนไป สิ่งที่มีชีวิตชีวะขับเคลื่อนไป สิ่งที่ขับเคลื่อนไป ขับเคลื่อนไปมันก็เป็นวาระๆ เห็นไหม ธรรมะของพระพุทธเจ้า สว่างมามืดไป มืดมาสว่างไป บางคนเกิดมาสว่างนะ เกิดมาอุดมสมบูรณ์เต็มที่ เวรกรรมเท่านั้นมืดไป บางคนเกิดมานะต่ำต้อยมาก สตีฟ จ็อบส์ ไม่มีอะไรเลย เป็นเศรษฐีโลก บิล เกตส์ เห็นไหม เรียนไม่จบ พวกนี้มืดมานะ แล้วในสังคมเรายกย่องมาก คนที่ประกอบธุรกิจขึ้นมาจากปากกัดตีนถีบ จนเป็นเศรษฐีโลก ไม่ใช่รับมรดกตกทอดมา
ฉะนั้น สิ่งที่มืดมาสว่างไป สว่างมามืดไป ไอ้นี่พูดถึงในทางโลก ในทางวิทยาศาสตร์ ทางโลกของโยมเขาพยายามพัฒนา แต่ถ้าของเรามันกรรม เรื่องของกรรมแล้วพยายามให้เขาพัฒนาของเขา เวลาเกิดมาถ้าใครมีสติมีปัญญา แล้วอย่างที่ว่าเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนมาที่นี่เลย ไอ้นี่ดำรงชีวิต
ถาม : เป็นเรื่องความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย ค่ะ
ตอบ : ให้มันอยู่ที่เป้าหมาย บางคนมีนะอุดมคติ เวลาอุดมคติ ถ้าเขามีอุดมคติเขาเป็นคนดี นี่รัฐบุรุษมีอยู่คนเดียว น้อยคนนักจะเป็นรัฐบุรุษ คนทำความดีๆ ถ้าทำความดีนี่เป้าหมายของชีวิต แต่เป้าหมายของเรา กูจะได้อะไร โอ้โฮ! เป้าหมายของเรา แล้วเป้าหมายของเรามันไม่ชัดเจน พอไม่ชัดเจนมันก็เป็นอย่างนั้น มันอยู่ที่เป้าหมายของชีวิตของแต่ละบุคคล
แต่ถ้าเป้าหมายของชาวพุทธนะ แต่นี้ถึงที่สุดแห่งทุกข์เลย ถึงที่สุดแห่งทุกข์กล้าทำไหม พอบอกว่ามรรคผล ทุกคนท้อแท้หมดเลย ทุกคนกลัวมากเลย แล้วเวลาเชื่อไปเชื่อการเข้าเจ้า เข้าทรง ไปเชื่อบ้าบอคอแตกนู่น ไอ้นั่นมันจะเป็นได้จริงได้อย่างไร แต่ถ้ามันเป็นความเป็นจริงๆ ก็คือการประพฤติปฏิบัติคือเรา แบบว่าลูบคลำ ในพระพุทธศาสนาส่วนใหญ่มันอยู่เปลือกนอก อยู่เปลือกนอกอยู่แต่เรื่องพิธีกรรม มันไม่เข้าถึงความจริง พอ เข้าถึงความจริงทุกคนกลัว ทุกคนกลัวมากเลย เหมือนคนกลัวผี ไม่กล้าเข้าไปเจอผี
นี่ก็เหมือนกัน ไม่กล้าเข้าไปเผชิญกับชีวิตความเป็นจริง ว่าชีวิตนี้คืออะไร ตัวตนมันคืออะไร ไม่มีใครกล้าเข้าไป ฟังแต่เขาเล่า เขาว่านั่นดี นั่นดี แต่ไม่กล้าเข้าไปพิสูจน์ เข้าไปพิสูจน์ก็ นี่ไง ถ้าเข้าไปจริงๆ แล้วนะ เราเข้าไปจริงๆ แล้วนะเข้าไปศึกษาค้นคว้า โอ้โฮ! พระพุทธศาสนาสอนอย่างนี้เหรอ ตอนนี้พุทธ-ศาสตร์ๆ ดอกเตอร์เต็มเลย ข้าราชการไปเรียนพุทธศาสตร์ทั้งนั้นเลย ไปเรียนพุทธศาสนาเนี่ย พุทธศาสนาสุดยอดขนาดนั้น แต่ประเพณีวัฒนธรรมของเรามันเป็นชาดกไปหมดเลย มันเข้าไม่ถึงไง ถ้าเข้าถึงนะ ถ้าเข้าถึงแล้วมันก็ค้นคว้าตามเป็นจริงนี่แหละ
ไอ้นี่เรื่องเป้าหมายของชีวิต เป้าหมายของชีวิตของชาวพุทธเรา ถ้าให้พูดให้เต็มปากที่สุดแห่งทุกข์ เป้าหมายเลย เพราะสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือพ้นทุกข์ แต่นี่ไม่ใช่พ้นทุกข์ อยากรวย
ถาม : มีวิธีพัฒนา
ตอบ : วิธีพัฒนาก็เริ่มต้น วิธีพัฒนาเริ่มศรัทธา มีศรัทธาความเชื่อ ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนว่าศรัทธานี่คือหัวรถจักร ศรัทธานี่นะเป็นอริยทรัพย์ของฆราวาส ถ้าไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อ จะนอนจมอยู่นั่น นอนจมอยู่กับกิเลสของตน นอนจมอยู่กับชีวิตนั่น ไม่พัฒนาขึ้นมา ถ้ามันจะพัฒนาต้องมีศรัทธา ศรัทธาในอะไร ศรัทธาความสำคัญในชีวิตของตน ชีวิตของตนมีคุณค่า ชีวิตของตนนี่มีคุณค่ามาก
เราคิดตั้งแต่เด็กๆ ชีวิตนี้คืออะไร เกิดมาทำไม คิดมาอย่างนี้มาตลอดนะ แล้วอะไรมีเป้าหมาย แต่ตอนนั้นมันเป็นเด็กๆ ไง เห็นพระบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านคิดว่านี่อาจจะใช่ สุดท้ายแล้วศึกษาแล้วไม่ใช่ นี่เป้าหมายของชีวิตมันเป็นอุดมคติ มันคิดได้นะ
เด็กบางคนมันมีเป้าหมายสูงส่ง แต่เด็กบางคนก็อย่างว่า อันนี้เราเชื่อ เราเชื่อถึงพันธุกรรม เราเชื่อถึงความคิดดั้งเดิมในหัวใจนั้น แล้วถ้ามันมีคนดีกระตุ้น อย่างมีคนดีกระตุ้นเกิดในประเทศอันสมควรไง อย่างน้อยๆ เราก็เกิดเท่าทันหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ทำปูพื้นฐานในการปฏิบัติไว้ ถึงจะไม่เคยเห็น แต่ก็มีร่องมีรอย แล้วถ้าทำได้จริงนะ ถ้าทำได้จริง นั้นถ้ามันอุดมคติของชีวิต แล้วแต่คนตั้งเป้า ถ้าถามพระ พระก็ต้องพ้นจากทุกข์ ถามพระ พระต้องพ้นทุกข์เท่านั้น แต่ของพวกโยมใครตั้งเป้าหมายได้ขนาดไหนเอาแค่นั้น
ถาม : อยากเห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิทธิ์น่ะค่ะ
ตอบ : สรรพสิทธิ์
ถาม : ค่ะ จะเป็นการแยกตัวเองจากการยึดติดในตนเอง สิ่งอื่นหรือคนอื่น
ตอบ : นี่ความคิดของเขานะ ถ้าแยกจิต ถ้าสรรพสิทธิ์ของตน ถ้าสังคมถ้าเห็นสังคมเป็นสังคมหนึ่ง แต่ถ้าค่าสรรพสิทธิ์ ไอ้เรื่องนี้ สรรพสิทธิ์มันเรื่องของสัมมาสมาธิเลย สัมมาสมาธิจิตนี้ตั้งมั่น ถ้าจิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้เป็นอิสระ คำว่า “ค่าสรรพสิทธิ์” ตอนนี้มันไม่มีค่าสรรพสิทธิ์เพราะอะไร เพราะเราติดในบ่วงอารมณ์ของเราเอง เราติดถึงความกังวล เราติดความวิตกกังวลในใจเราทั้งนั้น
แต่ถ้าเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกโธ หายใจเข้านึก พุท หายใจออกโธ พยายามให้มันเป็นตัวของมันเอง ถ้าทำเป็นตัวของมันเอง โดยสิ่งที่มันวาง สิ่งที่ความหวาดระแวงต่างๆ วางให้หมดนะ พอถึงพุทโธๆๆ จนมันเป็นอิสระนะ นี่ค่าสรรพสิทธิ์ มันจะเป็นสัมมาสมาธิเลย ไม่เกี่ยวเนื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสัมมาสมาธิไม่พาดพิงอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นอิสระ เป็นหนึ่งเดียว ไม่มีสิ่งใดเลย มีแต่สติควบคุมอยู่ ถ้ามี สติเท่าทันกับความรู้สึกอันนี้ ค่าสรรพสิทธิ์
ถาม : อันนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง
ตอบ : ความสัมพันธ์กับสรรพสิ่ง ความสัมพันธ์ไม่ต้องไปสัมพันธ์มัน มันหลงอยู่แล้ว มันไปอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ของมัน เห็นไหม ความสัมพันธ์ของมัน อนุสัยๆ เห็นไหม “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” ดำริ อนุสัยมันมา มันเหมือนกับค่าสรรพสิทธิ์ใช่ไหม เหมือนกับสิ่งที่มันจะแสดงตัว มันแสดงตัวคือมันจะเป็นความคิดไง
ชีวิต ชีวิตคือพลังงาน ชีวิตคือตัวจิต จิตเดิมแท้ จิตคือ ผู้รู้ ค่าสรรพสิทธิ์สิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ พอมากระทบมันก็เป็นอารมณ์ความคิดไง เป็นอารมณ์ขึ้นมา เป็นตัวตนขึ้นมา พอเป็นตัวตนขึ้นมา ทีนี้ตัวตนขึ้นมาแล้วมันก็อยู่ที่จริตนิสัย คนโลภจริตก็เหลวไหลเชื่อเขาไปทั่ว คนโทสจริตใครมาแตะต้องไม่ได้มันมี แต่ความโกรธ คนจะโลภะมันอยู่ที่จริต มันอยู่ที่ว่าน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด มันก็มีปลาน้ำจืด มันก็เป็นสิ่งมีชีวิตในน้ำจืด น้ำกร่อยมันอยู่ที่น้ำจืดก็ได้ น้ำเค็มก็ได้ น้ำกร่อยก็ได้ น้ำเค็ม มันที่จริตนิสัย สัตว์แต่ละประเภทต้องอารมณ์ความรู้สึกที่มันมา กระทบกัน
นี่พูดถึงจิตนะ พูดถึงสิ่งที่ว่าสัมมาสมาธิ เพราะค่า สรรพสิทธิ์ที่มันจะทรงตัวได้ ธรรมชาติเป็นอยู่อย่างนี้ แล้วไม่มีใครรู้เท่าทันมัน มันก็อยู่อย่างนี้ มันอยู่อย่างนี้หมายความว่ามันแสดงตัวอยู่อย่างนี้ พอแสดงตัวอยู่อย่างนี้ปั๊บ แล้วเพียงแต่ว่า จิตอย่างนี้หรือบุคคลคนนี้ไปทำดีทำชั่ว พอไปทำดีทำชั่วมันก็เกิดผลจากความดีความชั่วข้างนอกใช่ไหม แต่ความชั่วข้างนอกมันมาจากไหน มันมาจากจริตนิสัยของเขา จริตนิสัยของเขาแล้วเกิดผลกระทบ ผลกระทบจากสังคมใช่ไหม ผลกระทบจากคนรอบข้าง มันก็ไปกระตุ้นให้อารมณ์ฟูขึ้นมา ฟูมันก็กระทำความรุนแรงไป
อันนี้มันเป็นค่า นี่เป็นธรรมชาติของจิต แต่ถ้าฝึกหัดทำๆ ฝึกหัดทำเขาก็ให้มันรู้เท่าทันตรงนี้ ให้มันรู้เท่าทันสิ่งนี้ แล้วพอรู้เท่าทันสิ่งนี้ รู้เท่าทันมันแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อ รู้เท่าทันแล้วมันมีผู้กระตุ้น อย่างที่เมื่อวานมีตัวเสี้ยมมีตัวอะไรต่างๆ นั่นตัวกิเลส กิเลสมันเป็นกิเลสเพราะอะไร เพราะถ้ากิเลสมันตายได้ ถ้าไม่ชำระกิเลส กิเลสมันตายมันจะสะอาดบริสุทธิ์ไม่ได้ แต่ สิ่งที่อธิบายนี้มันไม่ใช่สะอาดบริสุทธิ์ นี้คือกระบวนการของมัน
เวลาหลวงตาท่านเทศน์ท่านบอกว่า “วิถีแห่งจิต” จิตของคนทำงานอย่างไร จิตของคนมันพัฒนาการไปอย่างไร นี่มัน เป็นวิถี มันก็เหมือนกับอภิธรรม จิต ๑๐๘ ดวง ก็อธิบายกันไป แต่กิเลสมันอยู่ไหน มึงเห็นกิเลสหรือเปล่า เขาบอกกิเลสเป็น นามธรรม ไม่เห็นเองไง แต่นี่คือกระบวนการไง เวลาเขาพูดถึงอภิธรรม เห็นไหม ๑๐๘ ดวง ๑๑๐ ดวง ก็วิถี ขบวนการไง ก็เครื่องยนต์ แต่เครื่องยนต์นั้นมันมีน้ำมันหรือเปล่า เครื่องยนต์ อู้ย! อีก ๑๐๘ เลย อันนี้นี่ความสัมพันธ์
ถาม : การใช้ชีวิตอยู่บนความจริง
ตอบ : นี่การใช้ชีวิตอยู่กับความจริง ถ้ามันจริงอยู่แล้วนะ การใช้ชีวิตอยู่กับความจริง ธรรมะเนี่ยเป็นของจริง ชีวิตนี้เป็นความจริง แต่! แต่เพราะเขาก็มีกิเลส เราก็มีกิเลส เพราะเขาก็มีกิเลส เราก็มีกิเลส เขาก็มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เราก็มี ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเข้ากันปะทะกัน
แต่ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติใช่ไหม เขาต้องปฏิบัติตัวเขาก่อน พอปฏิบัติตัวเขาก่อน เขาฝึกหัดจนชีวิตเขาเป็นความจริง ชีวิตเขาเป็นความจริง หมายความว่า เขารู้เท่าทันกิเลสเขาหมดแล้ว พอรู้เท่าทันกิเลสเขาหมดแล้ว เวลาหลวงตาท่านพูดไง ท่านบอกว่า “ไอ้พวกนี้พวกถังขยะ เรานี่หลุดพ้นจาก ถังขยะแล้ว เราจำเป็นจะต้องลงมาถังขยะ เพื่ออยู่กับความเป็นจริง” อยู่กับความเป็นจริงปั๊บ ทีนี้ความเป็นจริงปั๊บ เวลาพูดสิ่งใดออกไป เขามานี่มันจริงหรือไม่ ถ้าเขาเข้าไม่จริง เราจริง เราจะเห็นความจริงอันนั้น แล้วเราก็จะไม่ไปโลภ ไปโกรธ ไป หลงกับความจริงอันนั้น
นี่พูดถึงว่า การใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงนะ ถ้าจะใช้ชีวิตของความเป็นจริง เราต้องรู้ความจริงก่อน ถ้าเราไม่รู้ความจริง เราก็เหมือนเขาไง เราก็เหมือนเขา เดี๋ยวอารมณ์วูบวาบๆ เหมือนกันไง อารมณ์วูบวาบๆ เหมือนกันมันอันตราย มันกระทบกัน
แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัตินะ เหมือนที่ว่าเริ่มต้นจากว่า ๑. เราต้องมีสติก่อน ๒. ค่าสรรพสิทธิ์ต่างๆ เราต้องรู้เท่า แล้วถ้ารู้เท่า ถ้ารู้เท่าประพฤติปฏิบัติแล้ว ถ้ามันเป็นความจริงไง กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ต่างอันต่างจริง กิเลสก็เป็นกิเลสจริงๆ ทำลายมันแล้ว กองอยู่นี่ มันอยู่นอกหัวใจ ของเรา มันไม่เข้ามายุ่งกับเรา
จิตของเราก็เป็นจิตจริงๆ เห็นไหม ผู้รู้ของเราก็เป็น ผู้รู้จริงๆ ใช่ไหม ถ้ามันจริงทั้งหมดแล้วมันรู้ตามความเป็นจริง ต่างอันต่างจริง ตรงนี้สำคัญ ต่างอันต่างจริงแล้วมันไม่กระทบกระเทือนกันเลย นี้เป็นผลของการปฏิบัติของเรา แต่! แต่เราก็ต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงที่เขาไม่รู้จริง ถ้าเขาไม่รู้จริง
ลูกศิษย์หลายๆ คนนะ เวลาเขาทำงานนะ เวลาลูกน้องเขาหรือเจ้านายเขาจะมาหลอกใช้เขา เขาบอกเลย แหม! จะมาหลอกใช้ฉัน ฉันรู้ทันนะ แต่พูดในใจ ไม่กล้าพูดออกมา พอเดี๋ยวเจ้านายเล่นเอา ถ้ามันรู้ความจริงแล้ว ถ้ารู้ความจริงเนี่ยแหม! เจ้านายจะมาหลอกใช้นะ แต่! แต่ถ้าเป็นหน้าที่การงานเขาก็ใช้ตามอำนาจหน้าที่ของเขา เราทำงานแล้ว เราก็ทำงานตามหน้าที่ของเรา เราก็ทำตามความสามารถของเรา เห็นไหม นี่อยู่กับ ชีวิตตามความเป็นจริง
ถ้าอยู่กับตามเป็นจริง ถ้าเรารู้จริง เราจะเห็นจริงเลย แต่มันสำคัญที่ว่าเราไม่รู้จริง พอเราไม่รู้จริงเราก็มีอารมณ์เหมือนกัน นะ บางคน เห็นไหม โดนเจ้านายหลอกใช้ แหม! เกี่ยงงอนแล้วนะ แล้วทำแบบว่าทำงานให้เสีย คือเราไม่รับผิดชอบ ถ้ายังไม่รู้จริง คนที่ไม่รู้จริงมันก็รู้เท่าได้เหมือนกัน รู้เท่าเหมือนกันแล้วมันไปออกฤทธิ์ออกเดช มันทำความเสียหายไง
แต่ผู้ที่รู้จริงแล้วนะ มันจะใช้ชีวิตตามความเป็นจริง ถ้ารู้จริงแล้วนะ เห็นแล้วประสาเรานะ มีสตินะ โดยมารยาสาไถย โดยกิเลส ดูแล้วมันน่าสังเวช แต่ถ้ามันเป็นธรรมๆ นะ ครูบา-อาจารย์ท่านบอกว่า ธรรมสังเวชคือเป็นข้อเท็จจริง เพราะเขามายา มายามันต้องแสดงออกอย่างนี้ นี่ไง นี่กิริยาของมายา ถ้าเรารู้ความเป็นจริงแล้ว ก็กิริยาของมายาเรามองแล้วเป็นธรรมสังเวชไง คือเราไม่ไปทำร้าย เราไม่ไปนั่น แต่เราสังเวช อู้ย! มันน่าสังเวช มันน่ารังเกียจ แต่มันเป็นมายา มันรู้เท่า ถ้ามันจริงมันรู้เท่าความจริงนะ แล้วโลกมันเป็นแบบนี้ โลก มันถึงต่างกันไง ถ้าโลกมันต่างกันแล้ว เราอยู่กับโลก อยู่กับ โลกแห่งความเป็นจริง
ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เห็นเด็กๆ ปฏิบัติใหม่เหมือนเด็กไร้เดียงสาเลย มองแล้วมันขำๆ นะ แต่ไอ้ไร้เดียงสาแล้วมันบอกว่ากูเก่ง กูแน่นะ กูทำเต็มที่เลย แต่ความจริงครูบาอาจารย์มองว่าไร้เดียงสา คำว่า “ไร้เดียงสา” หมายความว่า มันไม่มีความผูกพัน หรือไม่มีการรังเกียจรังงอนเขา แต่ดูเขาปฏิบัติโดยเหมือนกับ ไร้เดียงสา แต่เขาไม่ไร้เดียงสาหรอก เขากิเลสทั้งนั้น แต่มันมองอย่างนั้นนะ
เวลาครูบาอาจารย์มอง มองอย่างนั้น อยู่กับโลกของความเป็นจริง ถ้าทางวิทยาศาสตร์ ทางวิชาการว่าให้รู้ แต่ในทางธรรมะต้องรู้จริงก่อน เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้เลย รู้จริง เป็นผู้ที่หูตาสว่าง แล้วมันจะปลอดภัย
แต่เราผู้มืดบอดแล้วเราก็ตามืดบอดมาคลำกัน เถียงกันไป เถียงกันมา เดี๋ยวก็มีเรื่อง เพราะเราไม่จริงกันทั้งสิ้น ถ้าจะจริง ๑. ต้องจริงจากเราก่อน ถ้าจริงแล้วเราจะอยู่กับโลกแห่งสมมุติ โลกแห่งมารยาสาไถยด้วยความธรรมสังเวช อยู่ด้วยความสังเวช แต่จะบอกว่าอยู่ด้วยความเป็นธรรมไม่มี
เพราะในสมัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระ-อรหันต์เยอะแยะไปหมดนะ แต่ฉัพพัคคีย์ สัตตรสวัคคีย์ ยังเข้ามาก่อกวนเต็มไปหมดเลย มันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนบริสุทธิ์ผุดผ่องไปทั้งหมดไม่มี แต่ทำตัวเราเองให้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ได้ นี่โลกแห่งความเป็นจริง แต่ถ้าโดยพระโพธิสัตว์ก็จะ ช่วยเหลือทุกๆ คนให้จบก่อน แล้วเราจะนิพพานเป็นองค์สุดท้าย นั่นพระโพธิสัตว์ จะทำให้สะอาดบริสุทธิ์หมดเลย แล้วเราเป็น คนสุดท้าย นั้นก็เป็นความคิดของเขา
ถาม : องค์ประกอบนี่ค่ะ คิดว่ามันเป็นองค์ประกอบของความฉลาดในจิตวิญญาณไหม หรือว่ามีอะไรเพิ่มไหมคะ
ตอบ : ความฉลาดของจิตวิญญาณ เป้าหมายของโยม คิดถึงว่า จะร่าง ร่างเป็นโครงร่างขึ้นมาว่า ความฉลาดของจิตวิญญาณ เราจัดขบวนการจะทำอย่างใด แต่ในความเป็นจริงกระบวนการที่โยมพูดนี่ มันก็เหมือนวิธีการรักษาทางการแพทย์ วิธีการรักษาทางการแพทย์เขาก็ต้องค้นคว้าขึ้นมาใช่ไหมว่า เคมี สารเคมี ต่างๆ มันจะมาทำปฏิกิริยากับเชื้อโรคอย่างไรให้มันหายได้
อันนี้มันเป็นเชื้อโรคนะ แต่ทีนี้คำว่า “ฉลาดหรือโง่ ทางจิตวิญญาณ” ทางจิตวิญญาณ เวลาคนเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ประสาเราว่าเป็นความไม่ฉลาดอันหนึ่ง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วเราพยายามบอกให้คนที่รู้เท่าไม่ถึง การณ์ให้เขารู้เท่าถึงการณ์ ถ้าคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือทำ ความผิดพลาดขึ้นไป ถ้าเขารู้แล้ว เขารู้แล้ว แล้วเขาพยายามฝึกฝน หรือให้เขาทำถูกต้องขึ้นมานั่นคือเขาฉลาดขึ้น แต่! แต่ เห็นไหม ดูสิ พ่อแม่หลายๆ คนเลย เวลาสอนลูกบอกว่า จ้ำจี้จ้ำไชเลย ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ มันก็รู้ถึงวิธีการ ทำอย่างนี้แต่ไม่ทำ ทำไม
นี่พูดถึงถ้าขบวนการ กระบวนการที่เราพูดกันอย่างนี้นี่คือกระบวนการ วิธีการ ทีนี้พอกระบวนการทางจิตจะให้มันฉลาดให้มันเท่าทัน แต่มันมีเวรมีกรรมต่อกันนะ เวลาพ่อแม่จ้ำจี้จ้ำไชจะให้ทำอย่างนี้ อย่างนี้ มันไม่ทำ แต่พอไปเจอเพื่อนมันนะ มันทำให้เพื่อนเลยเพราะมันพอใจ เวลามันไม่พอใจมันต่อต้าน มันทำลาย เวลามันไปเจอคนที่มันพอใจ มันทำให้ดีเลิศเลย แล้วตรงไหนมันฉลาด เราจะบอกว่าฉลาดส่วนฉลาด แต่ทิฏฐิมานะ ความเลวร้าย ความเห็นของคน นี่พูดถึง ถ้าพูดถึงคำว่า “ฉลาด” แล้วให้เป็นอย่างนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์โดยวิธีการ
แต่! แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็สอนนะ สอนบอกว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไม่มี การจองเวรจองกรรม เราพยายามจะทำให้เขาดีนั่นล่ะ แต่! แต่ ไอ้ตรงนี้ไอ้ตรงทิฏฐิมานะ ไอ้ตรงเวรตรงกรรม ที่จะเอาแพ้เอาชนะกันนี่ตรงนี้ ตรงนี้ปั๊บมันเพราะว่าไอ้นี่สภาวะแวดล้อม จิตวิทยาต่างๆ เขาก็คิดอย่างนี้แหละจะทำให้เป็นคนดีทั้งนั้น แล้วเวลาเขาทำแล้วมันก็ดี ดีสิ ดีต่อหน้าเอ็ง ลับหลังเดี๋ยวก็เหมือนเดิม ถ้ามันจะดีมันต้องมีสามัญสำนึก
พระโพธิสัตว์คนที่คิดดีใฝ่ดีนะ ต่อหน้าและลับหลังทำดี ตลอด แม้แต่ชีวิตเอาไปเลย พระโพธิสัตว์เสียสละชีวิตเลย คนที่ดีๆ ดีจริงๆ แต่ในสังคมโลกมันมีทั้งดีและชั่ว เวลาพูดอย่างนี้ โยมอยากจะให้เป็นวิธีการ แต่เวลาเราพูด เพราะเราพูดถ้าเป็น วิธีการอย่างนั้น มันก็เป็นวิธีการอย่างนั้น มันก็มองข้ามเวรกรรม มองข้ามทิฏฐิมานะ มองข้ามสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงในใจของสัตว์โลก
แต่ถ้าสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงในใจของสัตว์โลก สิ่งนี้ถ้ามันเป็นจริงได้มันก็เป็นจริง ถ้ามันเป็นจริงไปไม่ได้ถ้าคนเขาคนดีนะ เราจะอบรมหรือไม่อบรมนะ เขาก็ขวนขวายเป็นดีได้ แล้วถ้ามันมีโอกาส ฉะนั้น สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธ พ่อแม่เลี้ยงลูกก็พยายามจะพัฒนาให้ดีทั้งนั้น ถ้ามันจะดีได้ แต่อันนี้เพราะว่ามีพระเขาพูดพุทธศาสนามีแต่พิธีกรรม นี้ของเรา เราก็จะทำให้ เป็นรูปแบบ นี้เป็นรูปแบบขึ้นมา มันก็ต้องทำ เราเห็นด้วยนะ ในการพัฒนา ในการสร้างความดี เราเห็นด้วย แต่ทีนี้ถ้าโยม ทำวิจัยหรือมีวิชาการรองรับ โอเค
แต่ทีนี้บอกว่ามาเป็นพระ แล้วเราเป็นพระ มันมองถึงที่มาเลย มองถึงว่าจริตนิสัย มองถึงคนที่เป็นไป แล้วที่เขาทำนะ เขาทำได้แค่นี้ ทำคือว่าให้โอกาสทุกๆ คน เวลาหลวงตาท่านพูด “เวลาท่านแสดงธรรมๆ หน้าที่เราได้ทำแล้ว คือได้บอกเหตุบอกผล บอกทุกอย่างแล้ว ต่อไปนี้เป็นหน้าที่ของเธอ หน้าที่ของคนนั้นจะเอาจริงหรือไม่เอาจริง นี่พระพุทธศาสนาสอนแบบนี้” พอสอนอย่างนี้ปั๊บแล้วนี่อุเบกขา พรหมวิหาร ๔ ถ้าอย่างนี้แล้วจบ โทษนะ ถ้าทำแล้วเขาได้ดี ดีของเขา ถ้า เขาไม่ยอม เขายังทำความเลวอยู่ ก็ของเขา อุเบกขาไง พรหมวิหาร ๔ ไง ฉันไม่เดือดร้อนนะ แต่ถ้าไม่มีพรหมวิหาร ๔ แล้วตายเลยนะ ก็สอนแล้ว เสียหน้าหมดเลย โอ้โฮ! เสียยี่ห้อกูด้วย อุ้ยตาย! เอ็งมียี่ห้อด้วยเหรอ นี่ไง สุดท้ายก็ลงมาพรหมวิหาร ๔
พรหมวิหาร ๔ เป็นธรรมของผู้บริหาร ถ้าไม่มีพรหม-วิหาร ๔ ทุกข์ตาย เพราะทำแล้วไม่ได้ดั่งใจ เต้นผางๆ เลย แต่ถ้าเราทำแล้วทำสุดความสามารถเลย แล้วสุดท้ายอุเบกขา เรื่องของเขา หน้าที่เราได้ทำแล้ว ทุกอย่างเราทำแล้ว ถ้าเขา มีทิฏฐิมานะอย่างนั้น มันก็เป็นกรรมของสัตว์ เราช่วยแล้ว เราช่วยได้เท่านั้น มันเวรกรรมของเขานะ เอวัง