ถามทาง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : เรื่อง “ความคิดจากตอนที่จิตสงบ”
กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ
ก่อนถึงคำถาม ขอรายงานผลที่เคยถามไว้เมื่อปีก่อน “ถ้าจิตเวิ้งว้างกล้าๆ กลัวๆ จำไว้นะอย่าทิ้งพุทโธไม่เสีย” ตอนนี้ภาวนาไม่กล้ากลัวแล้วค่ะ เพราะจับสภาวะกลัวตื่นเต้นไม่ใช่เรา ใช้พุทโธจดจ่อดูอารมณ์นั้นไป น่าแปลกใจตรงพอเรารู้ทันว่าไม่ใช่เรา มันหายแวบไปเลยค่ะ สำหรับคำถามครั้งนี้ พอจิตสงบแล้วพิจารณาด้านปัญญา หนูคิดว่าตรงนี้ทำยากค่ะ อาจจะเพราะทำไม่เป็น หรือไม่ค่อยมีอุบายคิดเท่าไร รอธรรมะเกิดเองก็ไม่ค่อยจะเกิด (แต่ถ้ามีบ้างที่ซาบซึ้งน้ำตาไหล นานๆ ครั้งค่ะ) ตอนนี้เป็นลักษณะหัวตอ เข้าใจที่หลวงตาพูดเลยค่ะ
คำถามที่หนูสงสัย คำถามว่า
๑. จิตสงบออกพิจารณาปัญญา คือการใช้ความคิดข้อธรรมหลังจากจิตสงบแล้วใช่ไหมเจ้าคะ (จิตมันขี้เกียจค่ะ)
๒. เป็นบางครั้งที่จิตดีๆ พอสงบ หนูลองสั่งให้ยกมือขึ้น มือแขนไม่ทำตาม พอเรียกลมหายใจแรงๆ คราวนี้ยกขึ้นได้ตามใจสั่ง หนูเคยเข้าใจเอาเองว่า มันมีอะไรบางอย่างเชื่อมกายกับจิตอยู่ คืออะไรคะ หลวงพ่อ
ตอบ : คำถามเนาะ คำถามนี้ถามถึงผลของการปฏิบัติ ผลของการปฏิบัตินะ ถ้าผลของการปฏิบัติ สิ่งที่ว่าคำถามต่อเนื่องๆ มา ถ้าต่อเนื่องมา เห็นไหม อย่างเช่น เช่น เมื่อวานนี้เขาก็ความเข้าใจของเขา วันนี้ก็เป็นความเข้าใจอีกคนหนึ่ง
เวลาความเข้าใจๆ เวลาถามปัญหามา เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงรัตน-โกสินทร์ แต่เดิมมา แต่เดิมมา เห็นไหม พระนเรศวรมหาราช เวลาพระอาจารย์ของพระนเรศวรมหาราชเป็นพระป่าๆ คำว่า “พระป่า” คือพระปฏิบัติ เวลาพระป่าพระปฏิบัติ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มันจะมีวิปัสสนา-ธุระ คันถธุระ ถ้าวิปัสสนาธุระก็พระวิปัสสนา พระที่มีความสามารถที่เขาควบคุมกันดูแลกัน คันถธุระ คันถธุระคือการศึกษา พอการศึกษา ส่วนใหญ่เขาไปศึกษาในสำนัก ศึกษาในราชวัง เพราะว่ามหากษัตริย์จะเป็นผู้อบรมผู้สั่งสอน มหากษัตริย์เป็นผู้คุ้มครองดูแลศาสนา
แต่วิปัสสนาธุระ เวลาวิปัสสนาธุระมันต้องมีผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเป็น ถ้าผู้ที่ปฏิบัติเป็นนะ เขาเท่าทันจิตไง เพราะจิตมันกะล่อน จิตมันปลิ้นปล้อน กิเลสนี้มันร้ายกาจนัก ถ้าร้ายกาจนัก คนที่ไม่มีสติไม่มีปัญญามันเท่าทันไม่ได้ พอเท่าทันไม่ได้ เวลาจิตโดนกิเลสมันหลอก โดนกิเลสมันหลอก มันปรุงมันแต่ง มันสร้างภาพ มันยิ่งกว่านะ เพราะ เพราะคำว่า “ยิ่งกว่า” เวลาคนประพฤติปฏิบัติไปมันสำคัญตนไปทั้งนั้น
แล้วอย่างพวกเรา พวกเรานะ เราเป็นชาวพุทธนะ เราเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเคารพองค์สมเด็จพระ-สัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์อยู่ในป่า ไม่มีรูปเคารพท่านก็กราบได้ๆ ท่านกราบรัตนตรัยของท่าน ท่านกราบด้วยหัวใจของท่านไง แต่เวลากิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเข้ามาในหัวใจ โอ๋ย! มันว่ามันใหญ่กว่า มันใหญ่กว่า มันยิ่งใหญ่กว่าๆ ถ้าไม่ยิ่งใหญ่กว่ามันไม่มีต้นธาตุต้นธรรมหรอก มันไม่มีสิ่งที่เหนือพระพุทธเจ้าหรอก ไอ้สิ่งที่เหนือพระพุทธเจ้านั่นคือมันเหนือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อีก
แต่ถ้ามันมีวิปัสสนาธุระอย่างนี้นะ ท่านกระทืบตายเลย อย่างเช่น เช่น มีพระ เห็นไหม พระสมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านลงมาจากเชียงใหม่ มีพระบอกว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์ สมเด็จวัดพระศรีมหาธาตุท่านก็ตั้งมหา ๙ ประโยค ๔ องค์ สอบไอ้พระองค์นี้ สอบกันไปสอบกันมา สอบอยู่อย่างนั้นน่ะ ๙ ประโยคมันก็ตามตำรับตำรา นี่คันถธุระกับวิปัสสนาธุระ คันถธุระ เห็นไหม คันถธุระเขาจบ ๙ ประโยคนะ จบ ๙ ประโยค ๔ องค์ ๔ องค์นี้ ๓๖ บาลี ๙ ประโยคนี้ ๓๖ ประโยค ๓๖ ประโยคมันเอาไม่อยู่ ถามอย่างไรก็ไม่ได้ ถามอย่างไรก็ไม่ได้ ปลิ้นไปปลิ้นมา ปลิ้นมาปลิ้นไปอยู่อย่างนั้น เพราะเวลากิเลสมันหลอก ทั้งๆ ที่ ๓๖ ประโยคนะ ไม่ใช่ ๙ ประโยค
สุดท้ายแล้วหลวงปู่มั่นลงมาจากเชียงใหม่ ก็นิมนต์พระองค์นี้ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็ให้ท่านพูดถึงธรรมะออกมา พอพูดจบ “ท่านติดสมาธิ” ไอ้บ้านั่นกราบแล้วไม่กล้าพูดอะไรเลย เงียบ นี่พูดถึงว่า วิปัสสนาธุระ วิปัสสนาธุระ ถ้าผู้ที่มีภูมิความรู้มีความเป็นจริงอันนั้นมันจะเป็นความจริงไง ถ้าเป็นความจริงนี่วิปัสสนาธุระ
คันถธุระ คันถธุระคือการศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่องจำกันเป็นนกแก้วนกขุนทอง พอท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองขึ้นมาแล้ว แล้วอีโก้มันเกิดขึ้นมา เวลาสติปัญญามันเกิด มันก็เกิดด้วยความหลอกลวง หลอกลวงมันสร้างภาพไปทั้งนั้น พอสร้างภาพไป เห็นไหม นี่พูดถึงว่าในวงการ เพราะเราเป็นพระ เราประพฤติปฏิบัติอยู่ในวงครอบครัวกรรมฐาน ปัญหาอย่างนี้มันเจอมามาก พอเจอมามาก ย้อนกลับมาในปัจจุบันนี้ เวลาเราบวชใหม่ๆ เราเองเราก็แสวงหา คำว่า “แสวงหาของเรา” มันก็ตั้งใจอยู่ว่าหลวงตามหาบัวเป็นเป้าหมาย แต่! แต่บวชใหม่ๆ ใช่ไหม ก็อยากจะศึกษาก่อน กลัวว่าตัวเองยังแบบว่าไม่เข้าใจเรื่องข้อวัตร กลัวจะทำผิดพลาด อยากจะสงวนสิทธิ์ไว้ให้มันชัดๆ ไง กลัวโดนไล่ออกแล้วมันจะหมดสิทธิ์
ก็เลยศึกษาจากรอบนอกเข้ามา ไปเจอใครนะ ไปไหนมาสามวาสองศอก ถามช้างแม่งตอบม้า ถามม้ามันตอบเสือ มันตอบไป รู้ว่ามันถามช้างตอบม้าเพราะอะไร จะรู้ว่ามันถามช้างตอบม้าต่อเมื่อเราประพฤติปฏิบัติเข้าหลักเข้าเกณฑ์ แต่ตอนที่มันถามช้างมันตอบม้า อือ! ก็ใช่เว้ย ไปไหนมาสามวาสองศอก ก็ยี่สิบวาไง คือพอไม่เป็นมันเห็นดีเห็นงามไปกับเขาหมด มันตื่นเต้น เวลาเขาตอบปัญหามา อู๋ย! ใช่ เออ! ใช่ แต่พอใช่แล้วมันไม่ใช่ พอใช่นะแต่ใจเรามันไม่เป็นอย่างนั้น ใจมันก็ยังเดือดร้อนอยู่น่ะ เวลาศึกษามาแล้วทำอย่างไรมันก็ทำไม่ได้ พระก็ชวนธุดงค์กันไป ไปอีสาน ไปอีสานก็ไปพักที่สว่างแดนดิน วัดหลวงปู่บุญนี่แหละ ไปพักที่นั่น
พระเขาบอกว่า “ถ้าเอ็งมาอีสานนะ เอ็งไม่ได้ไปภูทอก เหมือนเอ็งไม่ได้มาอีสาน”
“เฮ้ย! จริงหรือวะ”
ก็เลยเข้าไปภูทอก คืนที่หนึ่ง พอคืนที่สองท่านเทศน์เท่านั้นน่ะ จบเลยนะ กูไม่ไปไหนแล้วล่ะ “อวิชชาอย่างหยาบของท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางๆ ในหัวใจของท่านอีกมหาศาลเลย อวิชชาอย่างละเอียดที่ในใจท่านอีกมากมาย” ไม่ต้องให้ใครตอบกูแล้วล่ะ เพราะไอ้หยาบๆ มันเพิ่งแค่สงบเฉยๆ ไอ้งานที่ต้องทำค้นคว้าหาอวิชชาอย่างกลาง อย่างละเอียดในใจกูยังอีกมหาศาล มันมีงานทำไง ก่อนหน้านั้น อู้ฮู! ถามช้างตอบม้า ตอบไปไหนมาสามวาสองศอก บ้าบอคอแตกไปทั่ว แล้วพออยู่ที่นั่นก็เริ่มเอาจริงเอาจังขึ้นมา พอเอาจริงเอาจังขึ้นมา ตั้งลำให้ดี ตั้งลำให้ดี ทำจิตให้สงบแล้วตั้งลำให้ดี พอมันเข้าไป โอ้โฮ! มันเข้าไปเห็นจิต มหัศจรรย์มาก
พอมหัศจรรย์มากก็เริ่มต่อเนื่องๆ ไป กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเลย เครื่องบินท่านตกเสียชีวิต โอ้โฮ! ตาย มันแบบว่าหนาวไปทั้งตัวเลย เพราะอะไร เพราะโดนเขาหลอกมาหัวปั่นมากี่ปีเรา โดนไอ้ถามช้างตอบม้า ไปไหนมาสามวาสองศอกอยู่เท่าไร พอมาเจอของจริงเข้า อยู่กันไม่ถึงปีเครื่องบินตกแล้ว มันเลยบอกว่า “มึงต้องเข้าบ้านตาด” เข้าบ้านตาดหมายความว่าต้องหาควาญช้างที่มีความสามารถ ไอ้ช้างมันไม่มีควาญ ถ้าช้างไม่มีควาญมันเดินเข้าไปในหมู่บ้านใดมันใหญ่นะ ทุกคนต้องวิ่งหนีมันหมดล่ะ เพราะมันเป็นช้าง ใครๆ ก็กลัว แต่ถ้ามันเจอควาญช้างนะ เฮ้ย! ช้างหางตกเลย มันต้องหลบเลย เราก็เลยต่อเนื่องมา
นี้เอามาเป็นปฐมบท จะย้อนกลับมาที่คำถาม คำถามว่า “เวลาหลวงพ่อตอบอย่างนั้นๆๆ หนูฟังคำตอบแล้วบอกว่า ห้ามทิ้งพุทโธ ต้องอยู่กับพุทโธ เมื่อก่อนมันเวิ้งๆ ว้างๆ มันกลัว เดี๋ยวนี้มันก็หายกลัวแล้วมันดีขึ้น” เห็นไหม เพราะเวลาที่เราตอบปัญหาๆ มันเหมือนกับคนหลงทาง เวลาเราไปไหนก็แล้วแต่ ทางอยู่ที่ไหน ทางอยู่ที่ปาก ถามไปทั่ว หลงทางกูก็ถาม หลงทางกูก็ถาม
คนภาวนานี่ก็เหมือนกันมันไม่เห็นทาง มันหลงทาง มันวิ่งมาหา มันเขียนเว็บไซต์มาถาม เราก็เป็นคนบอกทางๆ ถ้าคนบอกทางบอกทางแล้ว ไอ้คนที่มันบอกแล้วถ้ามันไปถูกทาง มันก็จะไปถึงทาง มันจะไปตามเป้าหมายของมัน ถ้าบอกทางไปแล้วมันทำไม่ได้มันก็ไม่ถึงเป้าหมายของมัน ถ้ามันไม่ถึงเป้าหมายของมัน ฉะนั้น คนบอกทางผิดหรือ นี่ก็เหมือนกัน ตอนนี้นะ เมื่อก่อนที่ตอบปัญหาๆ เราจะบอกว่าไปไหนมาสามวาสองศอก ถามช้างตอบม้ามาตลอด ฉะนั้น เวลาที่เราตอบปัญหา ตอบปัญหาก็เพราะเหตุนี้ มึงถามช้าง กูก็ว่าช้าง ช้างตัวมันใหญ่ ช้างมันมีงวง ช้างมันมีใบหูใหญ่ๆ ช้างมันมีหาง มึงถามช้าง กูก็ตอบช้าง มึงถามม้า กูก็ตอบม้าแล้วกันนี่แหละ
ฉะนั้น เราถึงตอบปัญหาอยู่นี่ไง ถ้าเราตอบปัญหาอยู่นี่เพราะอะไร เพราะเราก็โดนมาเอง แล้วพอโดนมาเองนะ โดยที่ว่าสมัยเรานี่นะ มันก็มีพระอยู่ แล้วประสาเราตอนนั้นมันยังไม่ใช่พุทธทุนนิยมแบบนี้ ถ้าพุทธทุนนิยมแบบนี้ เห็นไหม มีแต่เรื่องทุนนิยม มีแต่เรื่องการบริโภคนิยม มีแต่เรื่องศักยภาพ ไปไหนต้องมีขบวนยาวๆ ไปไหนต้องมีหน้าม้า ไปไหนต้องมีคนรับหน้า ต้อนหน้า รับหน้ารับหลัง ไอ้นี่มันเรื่องทุนนิยม มันเป็นเรื่องทางโลกทั้งนั้น
เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงตาท่านพูดประจำว่า “นิสัยเราไปไหนไปคนเดียว” ครูบาอาจารย์ของเราไปไหนนะ ท่านไปคนเดียวมันสะดวกสบายของท่าน แล้วถ้าไปไหนไปคนเดียวอยู่กับธรรมไง วิหารธรรมในใจ อยู่ในธรรม ธรรมมันเต็มหัวใจ ธรรมมันเต็มหัวใจมันไม่ชอบเกาะเกี่ยวกับใคร มันไม่ชอบพิรี้พิไร ไม่ชอบออเซาะฉอเลาะ ไม่ชอบ ธรรมไม่ชอบ ไอ้ออเซาะฉอเลาะ พิรี้พิไรไปหน้าไปหลัง อันนี้มันเป็นเรื่องบุพเพสันนิวาส มันเป็นเรื่องละครทีวีทั้งนั้น ฉะนั้น เวลาถ้าเป็นความจริงๆ ไปไหนท่านไปคนเดียวทั้งนั้น
ฉะนั้น ในสมัยปัจจุบันนี้มันกลับเป็นพุทธทุนนิยม ยิ่งกรรมฐาน กรรมฐานระบบเศรษฐกิจ เศรษฐีโลก คนล้อมหน้าล้อมหลัง มันก็เลยทำให้คนที่เริ่มจะประพฤติปฏิบัติไขว้เขว ไขว้เขวว่าความจริงมันคืออะไรวะ ความจริงมันคืออะไร
ความจริงมันคือศีล คือสมาธิ คือปัญญาในใจของเรา ความจริงๆ คือหัวใจของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เข้าสู่โคนไม้ เรือนว่าง เข้าสู่ที่สงบสงัด แล้วหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ค้นคว้าหาหัวใจของตนให้เจอ พระพุทธ-ศาสนาสอนเข้ามาที่นี่ สอนเข้ามาที่ใจของคน หลวงตาท่านตอกย้ำประจำ พระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ในหัวใจของสัตว์โลก หลวงตาไปไหนไปเอาหัวใจคน ไปเอาหัวใจคน หัวใจๆ การประพฤติปฏิบัติขึ้นมาค้นคว้าหาใจของตน
ถ้าหาใจของตนขึ้นมาจะเข้าคำถาม คำถามมาบอกว่า “เวลามันปฏิบัติไปแล้ว เมื่อก่อนมันเวิ้งว้างมันกล้าๆ กลัวๆ แล้วก็จำคำหลวงพ่อไว้ “อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ” ไอ้กล้าๆ กลัวๆ มันก็ดีขึ้น มันก็หายไป พอมันหายไป จากสภาวะใด ความตื่นเต้นกลัวก็จะพุทโธตลอดเวลา แต่มันแปลกใจตรงที่ว่า เวลาถ้ามันตรงปั๊บ ไอ้ที่รู้เท่าทันว่าไม่ใช่เรา พอไม่ใช่เรามันจะหายวับเลย” มันหายวับเพราะมันทันไง ถ้ามันไม่หายวับขึ้นมามันก็สร้างเรื่อง พอมันไม่หายวับขึ้นไป พอจับผู้รู้ ผู้รู้ก็เป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ก็สิ้นกิเลสแล้วเราก็เป็นพระอรหันต์เลย จบ ถ้ามันอยู่มันก็หลอกไปเรื่อย
เพราะคนโกหกเรา คนมาโกหกเรา เรารู้เท่าทันคนโกหก คนโกหกมันกล้าสู้หน้าเราไหม กิเลสมันคอยหลอกเราตลอดเวลา แล้วถ้าสติปัญญาเราไม่ทันมันนะ พอกิเลสมันหลอกก็ใช่เลย แหม! ท่านนี่เป็นยอดมนุษย์ ท่านนี่เป็นนักปฏิบัติ โอ๋ย! ท่านนี่เป็นคนเก่ง มันก็หลงตัวมันเอง พอมันหลงตัวมันเองปั๊บมันก็จะไปเหยียบย่ำคนอื่นแล้ว “ฉันนี้เป็นยอดมนุษย์นะ” ใครบอก กิเลสมันบอกกู กิเลสในใจมันบอกมาเมื่อกี้นี้ บอกว่าคนนี้เป็นยอดมนุษย์ พอมันยอดมนุษย์มันก็มองคนอื่นต่ำแล้ว มองนักปฏิบัติคนอื่นด้อยค่ากว่าเรา พอมันด้อยค่ากว่าเรา ด้วยอีโก้ใช่ไหม มันก็จะเหยียบเขาไปไง
แต่ถ้ามันรู้ทันปั๊บ บอกว่า “พอมันรู้ว่าไม่ใช่เราปั๊บ มันหายแวบเลย” ก็รู้ทันมันน่ะ รู้ทันกิเลส กิเลสมันก็หลบหน้า แต่มันไม่ไปไหนหรอก มันรอให้เอ็งอ่อนแอ เดี๋ยวมันมาใหม่ มันรอให้เอ็งแพ้ พอมันรอให้เอ็งชักไม่แน่ใจ เดี๋ยวมันก็มาหลอกอีก พอมาหลอกก็เชื่อมันนะ
ที่มันหลอกเราไม่ได้เพราะอะไร มันหลอกเราไม่ได้ เพราะเขาบอกว่า เห็นไหม “หลวงพ่อบอกว่าให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธจะไม่เสีย ก็อยู่กับผู้รู้อยู่กับพุทโธมาตลอด มันก็ดีขึ้น มันก็ชัดเจนขึ้น แต่มันก็น่าแปลกใจ ตรงที่พอไปรู้เท่าทันว่าไม่ใช่เรา มันหายแวบเลย” เห็นไหม เพราะถ้าจิตมันดีขึ้น จิตเราดีขึ้นนะ ไอ้พวกกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันก็จะเบาบางลง
แต่ในเมื่อคำว่า “ดีขึ้น” แต่ยังไม่ได้ฆ่า ยังไม่ได้ทำลาย มันยังอยู่สมบูรณ์ของมัน คำว่า “อยู่สมบูรณ์ของมัน” เพียงแต่ว่าจิตของเราเข้มแข็งขึ้นมามันก็หลบหลีก แต่ถ้าจิตใจเราอ่อนแอนะ มันเหยียบตายเลย ภาวนาก็ไม่ได้ “เราเกิดมาเป็นคนก็วาสนาน้อย เราก็มีหน้าที่การงาน ภาวนาไปเดี๋ยวก็เจ็บไข้ได้ป่วย โอ๋ย! พรรคพวกเยอะแยะเลยเขาไปเที่ยวสนุก” โอ้โฮ! เยอะแยะเลย ถ้าจิตใจมันอ่อนแอนะ มันมีเหตุผลเต็มไปหมดเลยที่จะให้เลิก
แต่ถ้าเราเริ่มพุทโธ เราอยู่กับพุทโธ ถ้าจิตมันดีขึ้น โลกมันก็เป็นของโลกๆ อยู่อย่างนั้น มันมีมาตั้งแต่เรายังไม่เกิด เราเกิดมาแล้วมันก็ยังมีมาเพื่อจะบริการเราอยู่เนี่ย แต่เราไม่ไป เราไม่ไปใช้บริการของเขา สุขภาพเราก็แข็งแรง เงินทองเราก็อยู่สมบูรณ์ ทุกอย่างดีไปหมดเลยถ้าจิตมันดี
ถ้าจิตไม่ดีนะ ไปเลย โอ้โฮ! ถ้าวาสนาน้อยจบเลยนะ ฉันเป็นคนวาสนาน้อย คนอื่นมันวาสนามากกว่า มันจะไปเทียบวาสนากับเขาแล้ว เทียบวาสนากับเขา คำว่า “เทียบวาสนากับเขา” เขาก็จะลากเราไปทั้งนั้น เพราะเราจะไปเทียบกับเขา แต่เขาไม่มาเทียบกับเรา เขาไม่มาเทียบกับเรา มีแต่เราจะไปเทียบกับเขา ถ้าเขาจะมาเทียบกับเรา เราแข็งแรงกว่า เพราะอะไร เราถือพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เป็นผู้อยู่ด้วยเป็นเอกเทศ ไม่มีสมบัติภาระรุงรัง นี่เข้าข้างตัวเอง ไม่มีแล้วอวดเขาว่าไม่มีอีก ถ้าไม่มีก็บอกเขาเลย “ฉันถือพรหมจรรย์ ฉันอยู่ด้วยความเป็นพรหมจรรย์ ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเลย” มันสู้เราไม่ได้แล้ว มันเทียบเราไม่ได้ เพราะมันอยู่แบบเราไม่ได้
ถ้าจิตมันดีขึ้น ไอ้นี่พูดถึงว่าจิตมันดีขึ้น ถามช้างตอบช้าง ไม่ได้ถามช้างตอบม้า ไปไหนมาสามวาสองศอก เพราะ เพราะการภาวนาเบสิกมันเป็นอย่างนี้ แล้วเวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านสอน สอนให้หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบระงับเข้ามาแล้ว ด้วยสติสัมปชัญญะที่ดีขึ้น ใจเราสงบแล้วรู้ว่าสงบ ถ้ารู้ว่าสงบขึ้นมา เห็นไหม เพราะอะไร เพราะใจสงบแล้วมีสติควบคุมดูแล
ไม่ใช่ว่าพอมันว่างๆ เออ! เออ! เหมือนคนขับรถแล้วหลับใน คนขับรถหลับในมันพารถมันไปไม่ถึงฝั่งหรอก หลับแล้วหลับอีก เดี๋ยวต้องลงข้างทางแน่นอน ไอ้นี่ก็ว่างๆ ว่างๆ มันหลับในไม่รู้ว่ามันจะตกภวังค์เมื่อไร แต่ถ้าเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขับรถแจ่มใสสติสมบูรณ์ จะพารถเข้าไปจอดที่ไหน จอดตรงไหนๆ จอดตึกหลังไหน มันเข้าจอดได้หมด ถ้าเราหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธด้วยสติ สติสมบูรณ์ ถ้ามันสมบูรณ์ของมัน เห็นไหม มันก็เป็นสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิมันก็มีความสุขของมัน มันก็ดีขึ้นของมัน นี่พูดถึงว่าเริ่มต้นเบสิก ถามทาง นี่บอกทาง ถามช้างตอบช้างแล้วกันแหละ ถามช้างไม่ตอบม้าแล้วกัน
แต่! แต่คนเรามันเป็นจริตเป็นนิสัย สังคมปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์ที่ท่านจะผ่านพ้นของท่านไป ท่านได้สร้างบุญกุศลของท่านมาขนาดไหน เวลาหลวงปู่มั่นท่านสร้างสมบุญญาธิการมา ท่านบอกท่านปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ปรารถนาเป็นพระ-โพธิสัตว์ เวลาที่ท่านประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ไปอยู่กับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์พาไปออกวิเวก เวลาพากลับมาเยี่ยมบ้าน เพื่อนๆ มานั่งคุยด้วย หลวงปู่เสาร์เห็นท่าไม่ดี พาหนีเลย เฮ้ย! ท่าไม่ดีแล้ว เพราะอะไร
เพราะพาหลวงปู่มั่นกลับไปเยี่ยมบ้านที่อุบลฯ โอ้ย! เพื่อนๆ มานั่งคุยด้วยนะ สนุกไปกับเขานะ ครูบาอาจารย์ท่านดูกิริยา กิริยาที่ว่าเวลาพูดแล้วมันมีออกรส มันร่วมมือกับเขา ท่านเห็นท่า ท่าไม่ดีแล้ว พอท่าไม่ดีแล้วออกอุบายเลย “ไป! ธุดงค์ต่อ ธุดงค์ต่อ” พาเข้าป่าเข้าเขาไปต่อ พาเข้าป่าเข้าเขาไปเพื่อให้หลบหลีกจากเพื่อนฝูง หลบหลีกจากญาติพี่น้อง หลบหลีกจากถิ่นที่อยู่ของตน ออกวิเวกของท่านไป
กว่าที่ครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านมีอำนาจวาสนาขนาดนั้น แล้วครูบาอาจารย์ที่เป็นความจริง ท่านพาออกวิเวกขนาดนั้น มีพื้นฐานเบสิกที่ทำมาขนาดนั้น กว่าท่านจะตั้งหลักได้ กว่าท่านจะตั้งความจริงขึ้นมาได้ ในสมัยปัจจุบันนี้จะมีใครมีอำนาจวาสนาเกินหลวงปู่มั่น จะมีใครมีอำนาจวาสนาทำแล้วประสบความสำเร็จแบบหลวงปู่มั่น
แล้วไอ้นี่ที่ภาวนาในสังคม ภาวนาปัจจุบันนี้ ไปไหนมาสามวาสองศอก ถามช้างตอบม้าก็แล้วกันแหละ แล้วปฏิบัติไปบ้าบอคอแตก ฉะนั้น ที่ตอบปัญหาอยู่ก็เพราะเหตุนี้ ฉะนั้น เพราะเหตุนี้ปั๊บเวลาถามปัญหามา “หลวงพ่อบอกว่าใช่ หลวงพ่อต้องยอมรับนะว่าใช่” บอกว่าใช่นี่นะ เพราะอะไร เพราะสังคมเป็นแบบนั้น ทุกคนจะพากันไปอีเหลวแหลก ทุกคนจะพาคนทุกๆ คนให้ไปกู้หนี้ยืมสิน กู้หนี้ยืมสิน เวลาไปกู้หนี้นอกระบบ เวลากู้ได้เงินทั้งนั้น เพราะเงินนอกระบบ เขาให้มึงกู้ก่อน แล้วเดี๋ยวกูจะตามมาทวง ไอ้ปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน สัพเพเหระเหมือนการกู้หนี้นอกระบบ อะไรก็ได้ ภาวนาอะไรก็ได้ โอ้ย! นั่งแล้วได้สมาธิเลย โอ๋ย! บรรลุธรรมแล้ว
แล้วเวลามันจะทวงคืนนะ หมดเนื้อหมดตัว หมดจากสติสัมปชัญญะ สิ่งที่หลักใจของเรามีเหตุมีผล มีหลักมีเกณฑ์ กลายเป็นคนไม่เอาไหน กลายเป็นคนมักง่าย กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว กลายเป็นคนที่ประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ฟังใคร กลายเป็นคนที่ประพฤติปฏิบัติแล้วถือแต่ความเห็นของตนเป็นใหญ่ เวลามันเสีย มันเสียไปนู่น เหตุที่รู้ว่าทำอย่างนี้จะได้ผลอย่างไร เห็นว่าสังคมชักนำกันไปอย่างไร เห็นว่าชาวพุทธมันจะเหลวแหลกไป เราถึงได้ตอบปัญหาอยู่เนี่ย ที่ตอบปัญหาเขาอยู่เนี่ยเพราะอะไร เพราะยืนขวางไง กระแสสังคม ลมเศรษฐกิจ เวลาเศรษฐกิจเวลามีเหตุการณ์ขึ้นมา มันพัดมา ประเทศเล็กๆ ล้มระเนระนาดไปหมดเลย
นี่ก็เหมือนกัน ปลุกกระแสกัน ภาวนายอดเยี่ยม นอนหลับไปตื่นขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ “ไอ้พวกกรรมฐาน ไอ้พวกขี้ทุกข์ อัตตกิลมถานุโยคทำอะไรไปมีแต่ความทุกข์ความยาก มาอยู่กับกู หลับไปตื่นมาเป็นพระอรหันต์เลย” กู้หนี้นอกระบบ เวลามันมาทวงหนี้นะ มันทุบบ้านทิ้งเลยนะมึง เวลามันมาทวงหนี้มันมาเอาคืนหมดล่ะ เวลาเขามาทวงหนี้ไม่เห็นหรอก แต่เวลาหลงใหลไปกับเขา
แต่เวลาเรา มึงถามช้าง กูตอบช้างก็แล้วกันแหละ ฉะนั้น ไอ้ที่ถามมาเราตอบไปๆ เวลาตอบไป คนที่ยึดหลักไว้ได้ “เขาถึงบอกว่า จำคำที่หลวงพ่อว่าไว้ อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธ มันก็ดีขึ้นอย่างนั้นๆ” ดีขึ้นก็ดีขึ้น นี่ก็ยังดี ยังดีที่ว่าทำแล้วมันเป็นประโยชน์ไง
สำหรับคำถามนะ “เขาใช้ปัญญาๆ ปัญญาที่เขาจะใช้ถูกต้องหรือไม่” ปัญญาที่เขาจะใช้มันก็เป็นโลกียปัญญา คำว่า “โลกียปัญญา” คือปัญญาอบรมสมาธิเท่านั้น สิ่งที่เป็นปัญญาๆ ปัญญาอบรมสมาธิหมายความว่าอะไร ปัญญาอบรมสมาธิ หมายความว่า ปัญญาเกิดจากความคิดของเรา เหมือนกับเราศึกษาๆ ทางวิชาการ เราศึกษาทางวิชาการ เราใช้อะไรคิด สมอง เราไปศึกษา เราไปศึกษามาจบดอกเตอร์กัน ทำวิชาการจะเป็นศาสตราจารย์กันใช้อะไรๆ ทำ แล้วเวลาเราไปภาวนาใช้อะไร อันเดียวกันหรือเปล่า อันเดียวกันไหม ถ้าอันเดียวกันก็เกิดจากสมอง เกิดจากสมองก็โลกียปัญญา ถ้าโลกียปัญญาผลของมันก็คือสัมมาสมาธิ ถ้าทำถูกเป็นสัมมา ถ้าเป็นมิจฉาก็โกงตัวเองด้วย นี่ไง แล้วบอกใช้ปัญญาๆ
อย่างที่คำถามของเขา “๑. จิตสงบแล้วพิจารณาปัญญาคือการใช้ความคิดในข้อธรรมตามที่จิตสงบใช่หรือไม่เจ้าคะ” ถามช้างจะตอบช้างนะไม่ใช่ตอบม้า จิตมันสงบ สงบจริงหรือเปล่า จิตมันไม่สงบเพราะอะไร เพราะวงเล็บ (จิตมันขี้เกียจเจ้าค่ะ) จิตมันขี้เกียจจิตมันไม่เห็น ถ้าความจริงเป็นธรรมๆ แล้วจิตมันจะขยันหมั่นเพียรเพราะอะไร เพราะมหัศจรรย์ อย่างคนเรา อย่างพวกเรานะใครก็แล้วแต่ทำธุรกิจ วันนี้มีคนมาสั่งซื้อ ได้กำไร ๕ ล้าน พรุ่งนี้มีคนมาสั่งซื้อของได้กำไรอีก ๑๐ ล้าน วันต่อไปเขามาสั่งของกำไรอีก ๑๕ ล้าน งกไหม อยากได้ ๕ ล้าน ๑๐ ล้าน ๑๕ ล้าน ๒๐ ล้าน ภาวนานี่ก็เหมือนกัน เพราะจิตสงบแล้ว อู้ฮู! มันสุขมาก จิตสงบมหัศจรรย์ มันไม่เคยเป็นอย่างนี้ เฮ้ย! จิตทำไมมันเป็นอย่างนี้วะ เฮ้ย! จิตมันขนาดนี้เชียวหรือ พอมันเฮ้ย! อย่างนี้ปั๊บนะ มันอยากได้อีก ไม่ได้ มันจำได้
นี่ไง มันเหมือนกับค้าขาย วันนี้ได้ ๕ ล้าน พรุ่งนี้ ๑๐ มะรืน ๑๕ ๒๐ อยากได้ไหม อยาก ภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าภาวนานะพอมันสงบแล้วมันมหัศจรรย์ก็ดีขึ้น แล้วนี่มีไหมล่ะ ทำธุรกิจเกือบตาย เขาไม่เคยซื้อของเราสักที ของเต็มโกดังขายไม่ออกอยู่นู่น นี่ก็เหมือนกัน ภาวนาเกือบตาย จิตแม่งไม่เคยลงสักที สงบอยู่ไหนก็ไม่รู้จัก แล้วก็อาจารย์ว่ามหัศจรรย์ๆ กูไม่เคยมหัศจรรย์สักที เมื่อไหร่มันจะมหัศจรรย์สักทีวะ
นี่ไง ถ้าเมื่อไหร่มันจะมหัศจรรย์สักที มันก็ย้อนกลับไป หลวงปู่มั่นไง ขนาดอำนาจวาสนาบารมีระดับนั้น เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เป็นครูเอกของพวกเรา เป็นผู้ที่มีหลักเกณฑ์ปักไว้กับประเทศไทย ก่อนที่ท่านจะภาวนา หลวงปู่เสาร์ต้องพาหลบพาหลีกหนีเพื่อน หนีทุกคนเข้าป่าเข้าเขาเพื่อจะไปสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาให้เป็นความจริงขึ้นมา
สิ่งที่มันจะเป็นความจริงขึ้นมาเนี่ยวิปัสสนาธุระ ครูบา-อาจารย์ที่เป็นธรรม ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริง ท่านจะพาลูกศิษย์ลูกหาของท่านไปสู่สัจจะไปสู่ความจริง เวลาไปสู่สัจจะไปสู่ความจริง มันต้องเกิดความขยันหมั่นเพียร ต้องเกิดความมุมานะ “โอ้ฮูย! อัตตกิลมถานุโยค ไอ้นี่เป็นความทุกข์” ไอ้นี่คืออิจฉา ไอ้นี่คือกิเลส เที่ยวทิ่มเที่ยวตำเขาโดยที่ตัวเองก็ทำอะไรไม่เป็น แล้วถ้าตัวเองก็จะพาบริษัท ๔ พาชาวพุทธไปหยำเป พาชาวพุทธไปสู่ความเหลวแหลก แล้วความจริงไม่มีเหลือ ความจริงที่มีอยู่นี้เพราะหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบา-อาจารย์ของเรา ท่านวางรากฐานมา แล้วเป็นจริงขึ้นมานี่ เห็นไหม
นี่พูดถึงคำถาม วันนี้พูดถึงโลกทัศน์ พูดถึงโลกทัศน์ จุดยืนของเราที่เราทำงานอยู่นี้ก็เพราะนี่ไง ที่เราทำงานอยู่นี้เพราะเหตุนี้ ที่ตอบปัญหาอยู่นี่ ยังบิณฑบาต ยังทุกข์ยังยาก ยังอาบเหงื่อต่างน้ำอยู่ ก็ยืนกับเขานี่ไง กระแสสังคม กระแสของกิเลส กระแสของความมักง่าย ให้มันพัดเข้ามา ยืนสู้กับมันอยู่นี่ไง แล้วยืนสู้กับมันแบบว่าไม่เสียใจไม่ต้องอะไรพิสูจน์ เหมือนกับคนเขาต้องพิสูจน์ว่าเราเป็นคนจริง นี่ไม่ต้องพิสูจน์ ไม่มีอะไรพิสูจน์ พิสูจน์เรื่องอะไร ไม่พิสูจน์ แต่กูยืนอยู่เฉยๆ พวกมึงกระอักเลือดก็แล้วกันแหละ มึงทำอะไรก็ทำไปเถอะ
นี่ไง ฉะนั้น บอกว่า “จิตที่สงบแล้วพิจารณาปัญญาคือการใช้จิตที่เขาทำเพื่อจิตสงบ” อันนี้มันเป็นความคิดของผู้ปฏิบัติไง เป็นความคิดของผู้ถาม แต่มันจริงหรือไม่ มันไม่จริง มันไม่จริง เราทำความสงบของใจเราเข้ามา เพราะใจสงบแล้วจิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นแล้วอย่างที่ว่ามันมหัศจรรย์ มันอยากกระทำ มันมีการก้าวหน้า แล้วมันทำไปแล้วมันจะเป็นความจริงของมัน แต่ถ้ามันยังไม่ก้าวหน้า เราก็ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วถ้ามันจะพิจารณา มันพิจารณาก็ฝึกหัดไปๆ
การฝึกหัดพิจารณา เราบอกว่ามันก็เป็นการฝึกหัดใช้ การฝึกหัดใช้ปัญญาๆ เวลากรรมฐานเขาเสียดสีตลอด “ทำความสงบของใจ ใจสงบแล้วใช้ปัญญา แล้วเมื่อไหร่หนูจะได้ใช้ปัญญาเจ้าคะ” ทุกคนจะถามเลย แล้วเมื่อไหร่จะได้ใช้ปัญญาสักที ก็มึงใช้ได้เลย แต่! แต่ปัญญานี้มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาจากเรานี่แหละ ปัญญาจากสามัญสำนึก เพราะเรายังพัฒนาหัวใจของเราให้มันพัฒนาขึ้นไปถึงระดับที่จะวิปัสสนาไม่ได้
แต่ถ้าเราไม่ฝึกหัดเลย เหมือนนักมวย เหมือนสามเณรน้อย พระที่จะเป็นครูบาอาจารย์ เป็นพระผู้ใหญ่มา ก็มาจากสามเณรน้อย นักกีฬาก็มาจากนักกีฬาที่ฝึกหัดมาทั้งนั้น การฝึกหัดมาแล้วถ้ามันมีความสามารถ มันมีทักษะที่ดี มันก็จะเป็นนักกีฬาที่ดี ถ้ามันมีความสามารถทักษะมันไม่ดี หรือทักษะมันดีขึ้นมาแต่วาสนามันไม่มี มันเกิดอุบัติเหตุ มันเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา มันมีตัวแปรอีกมหาศาลเลย แต่ถ้าไม่มีการฝึกหัดมาเลย เราก็จะไม่มีพระผู้ใหญ่ ไม่มีสามเณรน้อย ไม่มีผู้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา มันจะมีครูบาอาจารย์ที่ไหนให้เรากราบล่ะ มันมีจากสามเณรน้อย จากพระเล็กพระน้อยก็ฝึกหัดขึ้นมาไง
ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็ฝึกหัดของเรา เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเรา ใช้ได้ ไม่ผิดหรอก แต่! แต่มึงไม่ใช่พระผู้ใหญ่ มึงไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ นี่ไง แต่เวลาคนถามส่วนใหญ่อย่างนี้ว่า “หนูได้เหรียญทองหรือยัง” มึงก็รู้ว่าได้หรือยัง มึงได้ลงแข่งหรือยังล่ะ เวลาถามปัญหาถามมาเลย “หลวงพ่อๆ ทำอย่างนี้ที่หนึ่งหรือเปล่า เหรียญทองหรือเหรียญเงิน” แล้วก็จะบังคับให้กูตอบอยู่เนี่ย แล้วพอกูตอบไปแล้วก็ “หลวงพ่อสงบว่าอย่างนั้นๆๆ น่ะ”
แต่ที่พูดอยู่ทุกวันนี้ก็พูดแบบ เจ้าคุณจูม ธรรมเจดีย์ท่านพูด เราซึ้งมาก “การเป็นเจ้าคณะภาค เราไม่อยากเป็นหรอก แต่ที่เป็นเจ้าคณะภาคอยู่นี่ก็เพราะว่าเป็นเพื่อไม่ให้คนอื่นเขามารังแกพระกรรมฐาน เขาไม่ให้มารังแกพระป่า พระปฏิบัติ” ไอ้เราตอบปัญหาอยู่นี่ กูก็ตอบปัญหาพวกนักปฏิบัตินี่ อย่าให้คนมาเสียดสี อย่าให้คนมาทิ่มมาตำ อย่าให้คนมาดูถูกดูแคลน ไอ้คนที่ปฏิบัติ เวลาเขาดูถูกดูแคลนขึ้นมา เพราะเราไม่มีใครคุ้มครองใช่ไหม พอนั่งภาวนาอยู่ พุทโธๆ เขาบอกมึงจะบ้าหรือ เลิกเลย แต่ถ้าเราบอกว่าเรานั่งพุทโธๆ เขาว่าจะบ้า บอกว่ามึงน่ะบ้า กูน่ะดี
เราอยู่เพื่อนี่ไง เราตอบปัญหาอยู่เป็นเพื่อนพวกมึงไง เป็นเพื่อนของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติไง คนที่ประพฤติปฏิบัติที่ไม่มีที่พึ่งที่อาศัย อย่างน้อยมันก็มีเว็บไซต์ของไอ้หงบให้คอยถามก็แล้วกันล่ะ เหตุผลที่กูตอบปัญหานี้ก็เพราะเหตุนี้แหละ เพราะอะไร เพราะว่ากูอยู่นี่ มึงโดนรังแก มึงก็ถามกูได้ มึงโดนคนอื่นเขาดูถูกเหยียดหยาม มึงก็ถามกูได้
นี่ไง เพราะอะไร เพราะการประพฤติปฏิบัติกรรมฐานใครมันรู้ล่ะ มันเป็นอารมณ์ มันเป็นความรู้สึก แล้วใครเห็นล่ะ มันไม่มีใครรู้ใครเห็นขึ้นมามันก็เหยียบย่ำเหยียดหยาม พยายามจะเคาะให้เข้าเป็นพวกเขา เคาะให้เป็นเหยื่อ เป็นเหยื่อเสร็จแล้วก็ทำบุญเยอะๆ อยากได้บุญ เอาเงินมาให้กู ใครอยากเป็นพระโสดาบันต้องโอนทรัพย์สมบัติให้กูหมดเลย มันเลยไม่กลายเป็นสีลัพพตปรามาส ไม่ลูบไม่คลำในทรัพย์สินมึงไง แต่เอามาให้กูแทน
มันมีนะ ลูกศิษย์เรามาหาเลย “อยากเป็นพระโสดาบันไหม ถ้าอยากเป็นพระโสดาบัน ทรัพย์สมบัติทั้งหมดต้องโอนเป็นส่วนกลาง ถ้าเอ็งไม่มีทรัพย์สมบัติแล้ว เอ็งไม่สีลัพพต-ปรามาส เอ็งไม่มีทิฏฐิ” มันก็เชื่อ มันก็โอนกันน่ะ เขาเป็นพระเขมรอยู่ที่เชียงใหม่ โลกทั้งโลกเขาหลอกลวงกันทั้งนั้น แล้วมันก็จะหลอกเอาทรัพย์พวกเอ็งนั่นน่ะ ถ้าไม่ได้หลอกเอาทรัพย์พวกเอ็ง ก็หลอกเอาความเชื่อ หลอกเอาหัวใจ
เวลาเราพูดถึงพวกพระที่มีปัญหาใช่ไหม เขาบอก “หลวงพ่อพูดทำไม”
กูพูดเพื่อให้พวกมึง เอาใจของพวกมึงไว้ในตัวของมึง มนุษย์ให้เอาความรู้สึก เอาหัวใจของเราไว้อยู่กลางอกนี้ ให้เป็นอิสรเสรีภาพอยู่กับเรานี่ อย่าให้ใครมาฉกฉวยดึงไปเป็นเหยื่อของมัน นี่ที่ตอบอยู่เนี่ย มันถึงว่าถามช้างตอบช้างไม่ตอบม้า ถ้าที่อื่นนะมันไม่ได้ถามช้างตอบช้างนะ มันหลอกมึงอีกต่างหาก ทำอย่างนั้นลำบาก มาอยู่กับกูง่าย
แต่! แต่เรายืนยันจากหลวงปู่มั่น ยืนยันหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์พระปัจเจกพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า กับพระพุทธเจ้าได้ลาความเป็นพระโพธิสัตว์นั้น แล้วมาประพฤติปฏิบัติ จนเป็นครูบา-อาจารย์ของเรา กูเอา ๒ องค์นี้เป็นที่ยืนยัน แล้วองค์อื่นนั้นไร้สาระ นี่ข้อที่ ๑.
“๒. เป็นบางครั้งที่จิตดีๆ พอสงบหนูก็ลองสั่งให้ยกมือขึ้น เมื่อแขนไม่ทำตาม พอเรียกลมหายใจแรงๆ คราวนี้ยกขึ้นได้ตามใจสั่ง หนูเลยเข้าใจเอาเองว่ามันมีอะไรบางอย่างเชื่อมต่อกัน” ไอ้เชื่อมต่อกัน เดี๋ยวนี้นะ หุ่นยนต์ ทางเทคนิคเขาใช้พลังงาน ใช้สายไฟ เวลาเขาทำมันยังยกได้เลย ไอ้ยกมือไม่ยกมือ “ทีแรกมันยกมือไม่ได้ พอหนูเรียกลมหายใจแล้วมันยกมือได้” ยกมือด้วยกำลังของของจิต มันเป็นกำลัง กำลังคือสมาธิ ธรรมะของพระพุทธเจ้า ปัญญา ปัญญาคือการวิเคราะห์วิจัย การค้นคว้าการแสวงหา เพราะเวลาเราจะฆ่ากิเลส มันต้องฆ่าด้วยปัญญา
เวลาหลวงตาท่านเทศน์ เห็นไหม “สมาธิจับ ปัญญาตัด” ไม่มีสมาธิจับไม่ได้ ไม่มีสมาธิจิตเราไม่มหัศจรรย์ จิตเราไม่สงบเราจะไปรู้อะไร จิตเราไม่มหัศจรรย์ จิตไม่สงบ มันก็โลกียปัญญา คือปัญญาสามัญสำนึก ปัญญาสามัญสำนึกตกอยู่ใต้อวิชชา อวิชชาคือกิเลสตัณหาความทะยานอยาก สามัญสำนึกที่คิดอยู่เนี่ยอยู่ในอวิชชาทั้งนั้น เพราะมันอยู่จากภพ
ความคิดเกิดจากจิต จิตมีอวิชชา จิตครอบคลุมทั้งหมด ความคิดทั้งหมดส่งออกเป็นสมุทัย ผลของสมุทัยเป็นทุกข์ พอจิตมันสงบแล้ว จิตเห็นจิตเป็นมรรค ผลของจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ หลวงปู่ดูลย์พูดอริยสัจไว้ชัดๆ เลย ของจริงคือของจริง มันมีขั้นตอนของมัน แล้วมันเป็นความจริงของมัน แต่คนโง่ คนโง่มันไม่มีขั้นตอนนะ มันรวบรัดหมดเลยว่ากูรู้ แล้วมันก็แถแม่งไปเรื่อยเฉื่อย ไร้สาระ
นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าพลังงานการยกขึ้น อย่าไปตื่นเต้น นั่งอยู่เฉยๆ เนี่ยนะ เวลามีคนเดินผ่านไป แต่เราเห็นสิ่งหนึ่งผ่านไป แต่จิตใจเราไม่รับรู้ เราไม่รู้ว่าคืออะไร แต่ถ้าเรานั่งมองอย่างนี้ นาย ก เดินผ่านไป เมื่อกี้ถามใคร นาย ก นี่ไง อายตนะ ตากระทบรูป จิตมันสมบูรณ์ รับรู้หมด แต่ตากระทบรูป จิตไม่สมบูรณ์ เราเห็นอะไรก็แล้วแต่ที่มันผ่านไปโดยที่ว่าเราไม่รู้ว่าคืออะไร แต่เห็นของผ่านไป
นี่ก็เหมือนกัน พลังงานคือตัวจิต แต่สิ่งที่ยกขึ้นๆ ก็พลังงานทั้งนั้น มันมีอะไรล่ะ มันไม่มีอะไรไง ฉะนั้น มันไม่ตื่นเต้นกับเรื่องแบบนี้ นี่มันคือพลังงาน พลังงาน เห็นไหม ดึงลมหายใจชัดๆ ขึ้นมามันก็สมบูรณ์ของมัน “แล้วเขาบอกว่ามันคืออะไรเจ้าคะ” มันสมบูรณ์ของมัน อายตนะ เห็นไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่ว่าถ้าใจมันรับรู้ ใจสมบูรณ์ มันก็รับรู้
เวลาหลวงตาท่านเทศน์ ตาเป็นใหญ่ในรูป หูเป็นใหญ่ในเสียง ความสัมผัส ผิวหนังความสัมผัสเป็นใหญ่ในความสัมผัส ใหญ่คนละหน้าที่ ตามันก็ใหญ่เฉพาะตานะ หูทำงานแทนตาไม่ได้ ตาทำแทนหูไม่ได้ หูมีหน้าที่รับเสียง รับเสียง ถ้าจิตมันรับสมบูรณ์ขึ้นมา เห็นไหม มันก็รับรู้ของมัน นี่อายตนะ ๖ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือใจของตน ใจของตน
ทีนี้เราทำความสงบของใจเข้ามาสู่ใจ เข้าสู่ใจ เห็นไหม เวลายกแขนยกขึ้น ความสัมผัสนั่นมันคืออะไร ทีแรกสั่งให้ยกมือขึ้น มันไม่ยก เส้นประสาท ปลายประสาท สิ่งที่ควบคุมสมอง ควบคุมปลายประสาทต่างๆ สั่งให้ร่างกายนี้ทำงาน แต่เวลาถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะมันเห็นจากจิต ถ้าเห็นจากจิตขึ้นมามันก็จะเป็นธรรม
จากเป็นโลก เป็นโลกคือ เห็นไหม อย่างที่ว่าเราศึกษา โลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากโลก คือปัญญาเกิดจากจิต ความคิดทั้งหมดเกิดจากจิต จิตนี้มันเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันมีเวรมีกรรมของมัน คนคิดดีคิดชั่วเกิดจากตรงนี้ แล้วคิดดีคิดชั่วก็ส่งออกหมดเลย สิ่งที่คิดออกมา สมุทัย ผลของมันคือทุกข์
แล้วถ้าจิตเห็นจิตล่ะ พอจิตมันสงบแล้ว จิตเห็นจิตคือจิตเห็นอาการ จิตเห็นจิต อาการของจิต จิตเห็นความคิดของตนเอง จิตเห็นความคิดของตนเองเป็นมรรค เป็นมรรคคืออะไร เป็นมรรคคือปัญญาไง สมาธิจับ ปัญญาตัด พอปัญญาตัด มันเกิดนิโรธ ดับทุกข์หมดเลย ตัด ตัดอะไร ตัดกิเลส แต่ความคิดยังมีอยู่นะ เพราะความคิดขันธมาร ขันธมารคือความคิดเป็นมารหมดเลย เพราะมันมีมาร มีอวิชชา แต่พระอรหันต์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์เป็นภาระ พลังงานนั้นยังมีอยู่แต่ไม่มีกิเลส มันก็มีโดยธรรมชาติของมัน
แต่ของเราเพราะมันมีกิเลส มันเลยเป็นขันธมาร อยู่ในพระไตรปิฎก เพียงแต่ว่าเราจำหน้าจำชื่ออะไรไม่ค่อยได้ แต่พระไตรปิฎกอ่านมาหมดแล้วเพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าก็สอน แต่ของเรามีพระเขาแปลกใจ “หลวงพ่อสงบพูดไม่มีบาลีเลย แต่พูดฟังรู้เรื่องดี แต่ไม่มีบาลีเลย” ถ้ามีบาลีกูตายเลย เพราะว่าเราไม่ได้ภาษาไง พอมีบาลีขึ้นมา ภาษามันขัดแย้งกัน กูต้องมาพิจารณาบาลีกูก่อน มันก็เลยไม่ไหลลื่น ฉะนั้น เวลาเราพูดไม่มีบาลีเลย
มีพระมาหาที่นี่ เขาฟังเทศน์ในเว็บไซต์แล้วเขาอยากจะฝึก เขาบอกว่าพระเขาคุยกันว่าเทศน์หลวงพ่อไม่มีบาลีเลย เพราะธรรมดาเขาศึกษา ๙ ประโยค ๓๖ ประโยค เวลาเขาจะเทศน์เขาต้องขึ้นบาลีไง เป็นหัวเรื่อง แล้วเขาก็ขยายความ เขาบอกว่า “หลวงพ่อไม่มีบาลีเลย แต่ฟังดี” เขาว่านะ ของเขามีบาลีนะ แต่ฟังไม่รู้เรื่อง พระเขาฟังเว็บไซต์ เขาก็ไปวิเคราะห์วิจัยกัน เหมือนนักวิชาการ เขาทำงานกัน เขาก็ค้นคว้าหาข้อเท็จจริงทั้งนั้น แล้วเขาก็จะมาปรึกษา มาเรียนกับเรา
“ถ้าเรียนกับเรา มึงกลับไปพุทโธ”
“ผมจะมาเรียนกับหลวงพ่อเรื่องเทศน์ ทำไมต้องมาพุทโธล่ะ”
“อ้าว! ถ้าใจมึงไม่ดี มึงไม่มี มึงก็พูดไม่ได้ไง ถ้าจะพูดก็ต้องกลับไปพุทโธก่อน ฝึกหัดใจของตนก่อน ให้ใจของตนรู้จริงเห็นจริง ก็พูดตามความรู้ความเห็นอันนั้นก็จบไง คนที่พูดจากประสบการณ์ของตน พูดจากสิ่งที่รู้ที่เห็นมันจะไปไหนล่ะ มันก็พูดได้ทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้ามันไม่รู้ไม่เห็นเลย ยืมเขามา ยืมพระพุทธเจ้ามา”
เวลาหลวงตาท่านพูดไง เวลาถามว่า “ทำไมพูดอย่างนั้นน่ะ” “อ้าว! ก็พระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนั้นไง บาลีพูดไว้อย่างนั้นไง” “แล้วอย่างไร” บาลีพูดอย่างนั้นแต่กูไม่รู้เรื่องไง ก็เลยพูดแล้วก็สับสนนี่ไง มันก็เลยยุ่งอยู่นี่ไง
นี่พูดถึงนะ คำถามเขาถามทาง เราก็ตอบทาง ถามทาง ตอบทาง แต่คนเดินทาง คนเดินทางต้องพยายามฝึกฝนของตน แล้วถ้าเดินทางถึงเป้าหมายแล้ว “หลวงพ่อไม่ต้องบอก เสียเวลา หนูจะไปเอง” เวลามันภาวนาได้นะ มันไม่คิดถึงอาจารย์มันหรอก มันจะไปเอง เหมือนเด็ก เด็กเดินไม่ได้ มันอ้อนให้ผู้ใหญ่อุ้มมันนะ เวลาถ้ามันเดินได้ มันวิ่งเล่นนะ มันไม่ให้ใครไปแตะมันนะ มันสนุกของมัน นี่ก็เหมือนกัน มึงถามทาง กูบอกทาง แล้วถ้าเอ็งเดินทางได้แล้วนะ เอ็งจะไม่สนใจคนบอกทาง เอ็งจะไปตามเส้นทางของเอ็ง เอวัง