เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ธ.ค. ๒๕๖๑

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๑

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรมะนะ ตั้งใจฟังธรรม เพราะบรรยากาศมันดีมาก มันไม่ร้อน ความชุ่มชื่น ทุกคนต้องการอย่างนี้ ต้องการความสะดวกสะบาย ต้องการความอบอุ่น ต้องการความสุข

แต่คนเกิดมาแล้วเกิดมาโดยเวรโดยกรรม คนเกิดมาเหมือนกันแต่อำนาจวาสนาคนไม่เหมือนกัน คนไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะกรรมจำแนกๆ แล้วกรรมจำแนก เอากรรมมาจากไหน กรรมก็มาจากมือเราทำนี่ กรรมที่เราทำของเรามา เห็นไหม

วันนี้วันหยุด วันนี้วันรัฐธรรมนูญ วันรัฐธรรมนูญก็เป็นวันหลักเกณฑ์ หลักกฎหมาย หลักกฎหมายบ้านเมืองมีขื่อมีแป เวลาบอกว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแป บ้านเมืองมีขื่อมีแป ต้องการความสิทธิเสรีภาพ ต้องการความเสมอภาค ความเสมอภาค เวลาบัญญัติกฎหมายมาเพื่อความเสมอภาค กฎหมายบังคับใช้ทุกๆ คนเสมอภาคกัน

แต่เวลาคนเขารักษากฎหมาย คนรักษากฎหมาย ถ้าคนรักษากฎหมายที่เป็นคนดีมากๆ เลยนะ คนดีมากๆ นะ แม้แต่ญาติพี่น้องเขาผิดเขาก็จับ แม้แต่ญาติพี่น้องเขามีปัญหา เขาตัดสินตามกฎหมายนั้น แต่คนที่ลำเอียง กฎหมายบัญญัติไว้น่ะมันดี แต่คนใช้กฎหมาย คนใช้กฎหมายไง

วันนี้วันสหประชาชาติ วันสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนก็ความเสมอภาคของโลก มันก็เป็นเรื่องสัญลักษณ์ เรื่องสัญลักษณ์ไง

เวลาสิทธิเสรีภาพๆ ด้วยความเชื่อของคน ด้วยความเชื่อของคนโดยประเพณีวัฒนธรรม ดูสิ เข่นฆ่ากันทั่วโลก สิทธิเสมอภาค ใครถือปืนคนนั้นมีอำนาจ ใครมีอำนาจขึ้นมา อำนาจกดขี่ข่มเหง ถ้าอำนาจกดขี่ข่มเหง เห็นไหม

เราภูมิใจกันมากนะ ภูมิใจกันมากว่าพระจุลจอมเกล้าฯ ท่านประกาศเลิกทาส การเลิกทาสของประเทศไทยทุกคนศึกษาแล้วเขายกย่องมาก

การเลิกทาสในอเมริกา ประเทศชาติเขาจะแบ่งเป็น ๒ ประเทศเลย เพราะว่าทางใต้ เกษตรกรรมเขาต้องใช้แรงงาน ไอ้พวกที่จิตใจเป็นธรรม จิตใจเป็นธรรมก็อยากไปช่วยเหลือเขา ช่วยเหลือเขาแล้วดูแลเขาหรือไม่ พอเลิกทาส เกิดสงครามการเมือง

ไอ้ของเราเวลาเลิกทาสนะ เวลาเลิกทาสนี่ค่อยๆ ประณีประนอม ลดไปทีละขั้นทีละตอน ทีละเล็กทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อยขึ้นมาให้มีความเสมอภาค พอความเสมอภาค เวลาเลิกทาสไปแล้ว ทาสบางคนไม่อยากให้เลิก เพราะอะไร เพราะอยากอยู่กับเจ้านาย เจ้านายคุ้มครองดูแลรักษา นี่ออกไปทำมาหากินเอง ทุกคนต้องเผชิญภัยเอง นี่พูดถึงว่าความรู้สึกนึกคิดของคนไง กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน

วันสิทธิเสรีภาพๆ เวลาสิทธิเสรีภาพความเป็นจริงนะ มีมาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม นี่ครอบสามแดนโลกธาตุ ความสิทธิเสรีภาพๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ ความรื้อสัตว์ขนสัตว์ ความเลิกทาส เลิกกิเลสตัณหาความทะยานอยากในใจของตน ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากเหยียบย่ำหัวใจของตน ถ้าเลิกทาส เลิกให้เป็นขี้ข้าของกิเลส เลิกเป็นขี้ข้าของกิเลสนั่นคือความเสมอภาค ภราดรภาพ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์ไง

วันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโอวาทปาฏิโมกข์ เราจะทำความดีตลอด ไม่ทำความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว

นี่พระอรหันต์ เวลาในนิกายเซน สิ่งที่ว่า หิวก็กิน ปวดท้องก็ขับถ่าย นี่เวลาเขาพูดมันของเรียบง่าย ของง่ายๆ ทั้งนั้นน่ะ

ละชั่วทำดี ละชั่วทำดี ละชั่วทำดี ละชั่วทำดีทั้งนั้นน่ะ ละชั่วทำดีแล้วละได้ไหม แล้วชั่วของใคร ดีของใคร ละชั่วของใคร ดีของใคร เห็นไหม

นี่วันสิทธิเสรีภาพ วันสิทธิเสรีภาพมันเสรีภาพ มันมีเวรมีกรรมซับซ้อนมา ถ้ามีเวรมีกรรมซับซ้อนมา เรามาทำบุญกุศล เราจะเลิกทาสในใจของเรา ถ้าเราจะเลิกทาสในใจของเรา เราไม่เป็นทาสของกิเลส ถ้าเราไม่เป็นทาสของกิเลส มันต้องมีการกระทำ

ดูสิ คนเขาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเขาต้องลงทุนลงแรงไปขนาดไหน ไอ้นี่เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามีสติปัญญาของเรา เราพยายามเอาชนะตนเองของเรา ถ้าเอาชนะตนเองของเรามันก็มีที่มาที่ไป จริตนิสัยๆ คำว่า จริตนิสัย” ทำมากทำน้อยขนาดไหน คนที่ทำมาก กรรมกรแบกหามมันทำทั้งวันทั้งคืนเลย เงินเดือนมันน้อยกว่าเราอีก เรานั่งบริหารขึ้นมา เงินเดือนเรามากกว่าเขาอีก

นี่ก็เหมือนกัน ทำมากทำน้อยขนาดไหนมันอยู่ที่วาสนาของคนนะ ถ้าเรามีสติมีปัญญาของเรา เราทำของเราประสบความสำเร็จของเรา

นี่หัวใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจของเรานะ หัวใจของเรา เรามีอำนาจวาสนาบารมีนะ มันลงในธรรมและลงวินัย มันไม่ต่อต้าน

นี่ไง เราเป็นปัญญาชน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มา ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว ศาสนาหมดไปแล้ว พอมาศึกษานี่นอกพระไตรปิฎก

มันคัดมันค้าน มันยอกมันแย้งไปตลอด มันไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นจังสักอัน แล้วมันมีอะไรเป็นสมบัติของมัน

เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นคนโง่หรือ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านต้องสร้างอำนาจวาสนามา

ในพระไตรปิฎก ในอภิธรรม พระอรหันต์ต้องสร้างมาแสนกัป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การสร้างมาแสนกัปๆ การสร้างมาแสนกัปก็นี่ไง พระโพธิสัตว์

ดูสิ อ่านพระไตรปิฎก พระโพธิสัตว์ทำตัวอย่างไร พระโพธิสัตว์ท่านสละอย่างไร พระโพธิสัตว์ท่านอยู่ชุมชนอย่างไร ท่านพยายามรักษาอย่างไร ท่านเป็นผู้นำนำด้วยปัญญาอย่างไร ท่านสร้างมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย

นี่ของเรา ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ของเราโง่หรือ ท่านฉลาด ท่านฉลาดท่านจะเลิกทาสในใจของท่าน ท่านไม่ไปชี้แจงว่า นั่นเอาเปรียบ นี่เอาเปรียบคนนั้น นี่ไง มันไม่คัดไม่ค้านอะไรทั้งสิ้น มันพยายามรักษา พยายามขวนขวาย พยายามกระทำขึ้นมา แล้วกระทำขึ้นมาแล้ว พอทำเป็นจริงขึ้นมามันเทียบเคียงพระไตรปิฎก

เวลาท่านปฏิบัติของท่านนะ ประวัติหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาจะมีอะไรที่มันลังเลสงสัย มีอะไรที่มันยังไม่ลงใจ ท่านก็มาหาเจ้าคุณอุบาลีฯ

หลวงปู่มั่นเคยจำพรรษาอยู่ในกรุงเทพนะ หลวงปู่มั่นเวลาท่านออกป่าออกเขาไปประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเกิดความสงสัย เกิดความเคลือบแคลงว่า ความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ แล้วพระไตรปิฎกเป็นอย่างนี้ แล้วเรายังเข้าใจไม่ได้อย่างนั้น ท่านมาปรึกษาเจ้าคุณอุบาลีฯ ปรึกษาเจ้าคุณอุบาลีฯ ค้นคว้ามาตลอด

แต่เวลาถ้าจิตใจท่านเป็นจริงขึ้นมา ตอนท่านไปอยู่ที่ถ้ำสาริกา เวลาจิตท่านลง ท่านกำหนดดูถึงผู้มีบุญมีคุณของท่าน กำหนดไปดูเลยนะ เจ้าคุณอุบาลีฯ ทำอะไรอยู่ตอนนี้ขณะนี้ โอ้โฮ! ท่านอยู่ในเมืองท่านก็ยังประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านกำลังพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ท่านจำวันเวลาไว้เลย แล้วเวลามาเยี่ยมเจ้าคุณอุบาลีฯ เจ้าคุณอุบาลีฯ บอก “โอ้โฮ! ท่านมั่นท่านเก่งเนาะ ท่านมั่นท่านเก่ง”

นี่ไง เวลาศึกษาค้นคว้าก็เรื่องศึกษาค้นคว้านะ แต่เวลามีการกระทำถ้าเป็นจริงขึ้นมาๆ ถ้าความจริงเป็นจริงอย่างนั้นมันก็เป็นส่งออก เห็นไหม กำหนดไปดูเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านยังทำอะไรอยู่ แล้วท่านพิจารณาอะไรของท่านอยู่

ส่งออก นั่นเป็นเรื่องของเจ้าคุณอุบาลีฯ แต่เรื่องในหัวใจของหลวงปู่มั่นล่ะท่านทำอย่างไร

นี่ไง เวลาส่งออกไป เราไปมองดูการส่งออกนั้นว่าเป็นคุณธรรม...ไม่ใช่ ความจริงๆ ความจริงคืออริยสัจ คือศีล สมาธิ ปัญญา คือมรรคคือผลในใจของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นต้องทำสติปัญญาขึ้นมาเท่าทันในใจของตน

เวลาเท่าทันในใจของตน สิ่งที่เวลาเท่าทันในใจของตน ทำความสงบของใจเข้ามาได้ ใจที่มีกำลังได้ ถ้าคนที่มีอำนาจวาสนาบารมีมันกำหนดดูได้ การดูนี่คือการส่งออก การส่งออกนี่อภิญญาที่รู้ได้ นี่คือวิธีการรักษา วิธีการที่จะดักหัวใจของคน แต่เวลาเป็นจริงๆ ขึ้นมามันต้องเข้ามาเป็นจริงในใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าในใจของผู้ประพฤติปฏิบัตินั้นไง

พูดถึงการที่จะมีเสรีภาพขึ้นมาในใจของเรา นี่ไง เวลาเขาเลิกทาสๆ เลิกทาสขึ้นมานะ เลิกทาสด้วยผู้นำที่ดี พระจุลจอมเกล้าฯ ท่านเลิกทาสของท่านเรียบร้อย มันเป็นขั้นเป็นตอน มันเป็นไปแล้วทุกสังคมยอมรับไปหมด

คนที่จะเลิกทาสหักด้ามพร้าด้วยเข่า หักด้ามพร้าด้วยเข่า เอาเลย อย่างนั้นๆๆ แล้วเป็นอย่างไร เกิดผลกระทบขึ้นมาอย่างไร นี่ตั้งใจทำคุณงามความดี แต่คนที่เขาอยู่ไป คนที่เขาต้องการเขายังไม่พร้อม คนที่เขายังต้องการใช้แรงงานอย่างนั้น นี่ไง สิ่งต่างๆ เป็นเรื่องโลกๆ ไง

ฉะนั้นจะบอกว่า เวลาคนที่บอกว่ามีสิ่งใดแล้วจะไปแจ้งยูเอ็น จะไปร้องยูเอ็นๆ

ยูเอ็นก็ต้องร้องมัน ในยูเอ็นก็มีการคอร์รัปชัน ในยูเอ็นก็มีชนชั้น ถ้าจะร้องไง นี่พูดถึงเรื่องโลกนะ เรื่องโลกส่วนเรื่องโลก

แต่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาย้อนแย้งเข้ามา เรื่องของสังคมเราก็ขวนขวาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์นี่ไม่ได้ช่วยสังคมหรือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่ได้ปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์หรือ มันทำนะ มันทำด้วยผู้ที่มีปัญญา ปัญญาที่ว่าสิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร ที่ใดควรและไม่ควร จริงและไม่จริง

ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับในสังคมนั้น มันไม่กระทบกระเทือน มันไม่กระทบกระเทือนจนเกินไป แต่มันก็มีผลกระทบกระเทือนแน่นอน เพราะมันมีความพอใจและไม่พอใจ ความพอใจไม่พอใจเป็นเรื่องกิเลสของคน

แต่คนที่มีสติมีปัญญานะ คนที่สร้างอำนาจวาสนานะ เขาทำคุณงามความดีของเขา ทำคุณงามความดีทิ้งเหว เขาช่วยสังคมๆ มีผู้เสียสละ มีแต่ผู้ที่มีสติปัญญาชักนำเขาไป นี่เสียสละทั้งนั้น ถ้ามันจะเสียสละนะ เสียสละโดยที่เขาไม่รู้เลย ถ้าเขารู้เขามีทิฏฐิมีมานะ มีการต่อต้าน แต่ถ้าเขาชักนำ เขาน้อมนำเขาไป มันเป็นจริง มันเป็นจริงอย่างนั้น นี่พูดถึงสังคมนะ ยังไม่พูดถึงหัวใจเลย

ถ้าพูดถึงหัวใจ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมามันแสนยาก แสนยากเพราะอะไร เพราะสังคมเป็นมนุษย์ใช่ไหม มีกฎหมายใช่ไหม มีระเบียบใช่ไหม บังคับมันใช่ไหม พยายามทำให้มันสงบเรียบร้อยใช่ไหม แล้วหัวใจล่ะ เวลาความคิดล่ะ เวลาความคิด ความคิดที่มันรุนแรงในหัวใจเอาอะไรไปยับยั้งมัน

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สติ ถ้ามีสติยับยั้ง เราเห็นโทษของมันไง ถ้ามีความคิดอย่างนี้ เวลาโกรธขึ้นมาเลือดสูบฉีดขึ้นมา เหงื่อไหลไคลย้อยเลย แต่ถ้ามันเป็นคุณงามความดี มันอบอุ่น มันร่มเย็นของมันในหัวใจ แล้วเราต้องการอะไร เราอยากได้อะไร แล้วถ้าเราดูแลรักษาขึ้นมา เห็นไหม

นี่ไง ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ความคิดที่ดีและความคิดที่ชั่ว ความคิดที่ดีมันก็ให้อบอุ่นอยู่พักหนึ่ง ความคิดที่ชั่วนะ คิดเสร็จแล้วร่างกายมันจะสูบฉีดของมัน นี่ไง ความคิดแล้ว ถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางไง ใจเป็นอิสระๆ

ถ้าใจเป็นอิสระแล้วเรายกขึ้นสู่วิปัสสนาใช้ปัญญาของเราไป ถ้าใช้ปัญญาของเราไปนะ วิปัสสนา วิปัสสนาคือการรู้แจ้งในใจของตน นี่จะทำใจให้เป็นอิสระแล้ว พยายามจะสำรอกจะคายทิฏฐิมานะความเห็นผิดๆ มันมีความเห็นผิดเพราะอะไร มีความเห็นผิดเพราะไม่รู้ ไม่รู้ที่ต้นขั้ว ไม่รู้ตั้งแต่ที่ภวาสวะที่ภพ

ความคิดเกิดดับๆ ความคิดเกิดดับบนอะไร ความคิดเกิดดับบนจิต เวลาความคิดที่เกิดมา เกิดมาจากอะไร เกิดมาจากความไม่รู้ ความไม่รู้ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาวิชาการ นั้นมันเป็นสัญญาเป็นความจำมา จำของเขามา ต้องเอามาวิเคราะห์วิจัยเป็นจริงขึ้นมาหรือไม่

เวลาศึกษาปริยัติขึ้นมา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา สาธุ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เป็นศาสดานะ แต่เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เป็นของเรา ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษามาแล้วมาค้นคว้า มาวิเคราะห์วิจัยของเรานี่ไง ถ้าวิเคราะห์วิจัยขึ้นมา ใครเป็นผู้วิเคราะห์วิจัย

คนที่เป็นผู้วิเคราะห์วิจัยขึ้นมามันก็ต้องเป็นจิตตภาวนาๆ จิตของเราเป็นผู้วิเคราะห์วิจัย ไม่ใช่ว่าเราเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมาแยกมาโต้เถียงกันว่าถูกหรือผิดๆ เอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวประกันแล้วก็แบ่งข้างกันแล้วทะเลาะเบาะแว้งกัน

แต่เวลาจะเป็นจริงๆ ขึ้นมา เราค้นคว้าหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรา หัวใจเราเป็นผู้วิเคราะห์อารมณ์ของเรา เป็นผู้วิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา มันวิเคราะห์วิจัยด้วยสัมมาสมาธิที่จิตมันตั้งมั่นขึ้นมา มันวิเคราะห์วิจัยด้วยสติปัญญาของมัน นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก อันนี้จะเป็นของเรา อันนี้จะเป็นของเรา

ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ศึกษามาเพื่อประพฤติปฏิบัติ ศึกษามานี่เป็นความจำๆ ทั้งสิ้น ศึกษามามากน้อยขนาดไหนมันก็เป็นสัญญาทั้งสิ้น เวลามันจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริงของเราๆ จิตตภาวนาๆ จิตมันยกขึ้นสู่วิปัสสนา จิตมันใช้สติปัญญาของมัน เห็นไหม

ถ้ามันจะเป็นอิสระ มันต้องเป็นอิสระในใจของตน ใจของตนมันพิจารณาของมัน มันแยกมันแยะของมัน มันเห็นโทษของมัน มันสำรอกมันคาย คายในอะไร ทิฏฐิมานะ ทิฏฐิความเห็นผิด

ความเห็นผิด ถ้ามันมีความเห็นผิดนะ สักกายทิฏฐิ สรรพสิ่งเป็นเรา ร่างกายเป็นเรา สมบัติเป็นของเราไง สมบัติเป็นของเรา เวลาทุกอย่างเป็นของเราๆ เพราะมันมีเราใช่ไหม เวลาศึกษาไปแล้ว ศึกษาไปวิเคราะห์ที่ตัวเราไง สมบัติก็เป็นสมบัติอย่างนั้น กายก็เป็นกายอย่างนั้น เวลาสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันทำลายสักกายทิฏฐิ ทิฏฐิที่ความเห็นผิด

เวลาเป็นทางโลกทางวิชาการ “ก็ให้มันเห็นถูกไง เห็นถูก พระพุทธเจ้าบอกถูกไว้แล้ว บอกกายนี้ไม่ใช่ของเรา” ทุกคนท่องกันปากเปียกปากแฉะ นู่นก็ไม่ใช่เรา นี่ก็ไม่ใช่เรา แต่ใจมันยังทุกข์

ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราที่เปลือกๆ ไม่ใช่เราเพราะเราจำมา ไม่ใช่เราเพราะเราศึกษามา มันไม่ใช่ของเราๆ มันก็รู้อยู่แล้วไม่ใช่ของเรา แต่เป็นจริงนี่มันเป็นหรือเปล่าล่ะ แต่เวลามันสำรอกมันคาย มันทำลายอย่าง

นี่ไง ที่บอกว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง แต่เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องอนัตตา อนัตตาคือการทำลายตัวตนไง

แล้วมึงไม่มีตัวตนมึงจะทำลายอะไร ไม่มีตัวตน ไม่มีสมาธิ ไม่มีภวาสวะ ไม่มีตัวตนที่ไปพิจารณาแล้วทำลายอะไร มันทำลายที่ตัวตนนะ ถ้ามันทำลายที่ตัวตน ทำลายอวิชชาที่ความไม่รู้ เพราะความไม่รู้ไงมันถึงลูบๆ คลำๆ ไง ทั้งที่ท่องปากเปียกปากแฉะนะ “ไม่ใช่เราๆ”

แต่เวลาเป็นจริง อนัตตา สิ่งใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างไร เกิดขึ้นจากจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ นี่เกิดขึ้น ถ้ามันไปเห็นสัจจะความจริงมันจะวิปัสสนา เห็นไหม ท่ามกลาง เวลาเป็นอนัตตา ถ้ามันทำลายตัวตน ทำลายตัวตน นี่ไง เป็นอนัตตา

แต่อนิจจังไม่ต้อง อนิจจังมันก็เป็นอนิจจังอยู่แล้ว สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง อนิจจังคือวัตถุธาตุ คือภาวะสังคม ความเป็นไปของโลก มันเป็นอนิจจังของมันอยู่แล้ว เราอยู่เฉยๆ วันเวลามันหมุนไปแล้ว ทุกอย่างมันแปรสภาพของมันไปตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ใครได้ล่ะ แต่ถ้าเป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนเข้ามาในใจ ปรารถนารื้อสัตว์ขนสัตว์

ถ้าสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ความยิ่งใหญ่ แล้วความยิ่งใหญ่นี้มันยิ่งใหญ่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในใจที่ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่เพราะอะไร ยิ่งใหญ่เพราะมันกระจ่างแจ้งในสามแดนโลกธาตุ

จิตนี้เวียนว่ายตายเกิดในสามแดนโลกธาตุ แล้วทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายตัวตนที่จะหมุนเวียนเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ มันทำลายสิ่งที่จะหมุนไปกับมัน แต่สิ่งนั้นมันมีอยู่ วัฏฏะมีอยู่ นรกสวรรค์มีของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ แต่จิตของเราไปเสวยภพเสวยชาติเองต่างหาก เวลามันทำลาย มันทำลายที่ตัวตนอันนี้ ถ้าทำลายที่ตัวตนอันนี้มันเป็นสัจจะความจริงอันนี้ แล้วถ้าเป็นสิทธิเสรีภาพ มันเป็นเสรีภาพแล้ว จบ จบคือมันไม่ไปไหนอีกแล้ว มันไม่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ

นี่พูดถึงว่า ถ้าเป็นสิทธิเสรีภาพ มันมีมาตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปีตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แต่วันนี้วันรัฐธรรมนูญ กฎหมาย บ้านเมืองต้องมีขื่อมีแป มีขื่อมีแป เราอยู่ในสังคมแล้วต้องมีคนรักษากฎหมาย ต้องมีผู้พิพากษาเป็นผู้ที่ตัดสินต่างๆ ร้อยแปด คนอื่นคนตัดสินทั้งนั้นอย่างนั้นน่ะ คนที่โดนกลั่นแกล้งก็มี คนที่แสวงหาผลประโยชน์ในระบบก็มี นี่มันเรื่องของสังคม มันเรื่องของโลก เรื่องต่างๆ ทุกคนก็พยายามขวนขวายเพื่อความดีงามทั้งสิ้น แต่เราจะยกให้เห็นว่าโลกกับธรรม

ทุกคนก็ปรารถนาดีทั้งนั้น ต้องการคุณงวามความดีทั้งนั้น แต่สังคมคือมนุษย์ มนุษย์มีดีและมีเลว แล้วถ้าเราเอาหัวใจไปฝากไว้กับเขา เราก็จะมีแต่ความทุกข์ยาก แต่ถ้าอยู่กับเขา ถ้าเราเจอคนดี เราสร้างวาสนามาดี สภาคกรรมที่ดี เราก็เป็นวาสนาของเรา เรามาเจอคนชั่ว คนรอบข้างที่บีบบี้สีไฟ เราก็ต้องหาทางหลบหลีกแก้ไข แก้ไขเอาตัวรอดของเรา

สิ่งต่างๆ มันเป็นเวรเป็นกรรมของสัตว์โลก แล้วถ้ามันเป็นจริงๆ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเข้ามาที่ใจเรา เห็นสัญลักษณ์ เห็นความที่ทุกคนขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์กับโลก เราก็ดู เราก็เห็น เราก็ชื่นชม

แต่เป็นความจริงๆ ความจริง สิ่งที่จะยั่งยืนของเรา แล้วพิสูจน์ได้ พิสูจน์ได้ ไม่ต้องหวังพึ่งใคร นั่งลงขัดสมาธิ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ บำรุงรักษาหัวใจของเรา บำรุงรักษาหัวใจของเราให้หัวใจเราเบิกบาน ให้หัวใจเราแช่มชื่น ให้หัวใจของเรามีปัญญานะ ปัญญาที่จับต้องได้ แยกแยะได้ วิเคราะห์ได้ วิจัยได้ เป็นมรรค

ดวงใจดวงใดไม่มีมรรค ดวงใจดวงนั้นไม่มีผล ดวงใจดวงใดมีมรรค มรรคนั้นจะสร้างดวงใจดวงนั้นให้เป็นอริยบุคคล ให้เป็นคนที่ทรงคุณค่าดีงามในตัวของมันเอง ไม่ต้องใครเชิดชู ไม่ต้องใครรับรู้ มันเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะใจดวงนั้น เอวัง