ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ความจริงที่รู้

๖ ก.ย. ๒๕๕๒

 

ความจริงที่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาความจริงมันเกิด มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความรู้เฉพาะ ธรรมะมันเป็นอย่างนี้ พอธรรมะมันเป็นอย่างนี้ปั๊บ หลวงตาจะพูดคำนี้ คำว่าเวลาเขาปฏิบัติกัน ปฏิบัติกันพอเป็นพิธี เราถึงบอกว่าวัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม วัฒนธรรมก็เป็นวัฒนธรรมประเพณี ฉะนั้นเวลากำหนดเห็นไหม อย่างที่เขาจัดอบรมกัน เขาจะเดินกันเป็นแพๆ เลย มันทำพอเป็นพิธี หลวงตาบอกนี่เป็นพิธีกรรม บวชปฏิบัติเป็นพิธี เพราะเวลาเป็น มันจะเป็นเฉพาะบุคคล

แล้วความเป็นเฉพาะบุคคลแล้ว ถ้าคนภาวนาเป็นนะ มันเป็นเรื่องของจิต มันเหมือนเมล็ดพันธุ์พืชนี้ เราต้องคัดพันธุ์ จิตมันคนละจิต มนุษย์เป็นมนุษย์นะ แต่หัวใจไม่เหมือนกันเลย ถ้าหัวใจไม่เหมือนกัน มันต้องคัดพันธุ์อย่างนั้น นี่กรรมฐานมันเป็นอย่างนี้ พอกรรมฐานเป็นอย่างนี้ปั๊บ ทางวิชาการ โดยทางปฏิบัติต้องให้รู้หมด ต้องให้รู้เหมือนกันหมด ต้องเผยแผ่ ต้องให้เข้าใจหมด

ถ้าเข้าใจนี้มันเป็นปริยัติ ปริยัตินี่ทำได้ แต่ปฏิบัตินี่ยากมาก กรณีปฏิบัติมันต้องให้รู้จริง เพราะมันรู้จริงมันถึงเข้าไป ถ้าไม่รู้จริงนะเดี๋ยวมันตีกลับ ความเห็นนี้มันจะตีกลับตลอด เพราะมันมีกิเลสไง มันจะม้วนตัวกลับ ถ้ามันเป็นความจริง

เห็นไหม ที่เราพยายามจะพูดนี้ เราต้องการให้สังคมไทย ให้มันชัดเจนในชาวพุทธเรา ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าเป็นปริยัติก็ให้เป็นปริยัติ ไม่ใช่ว่าจะไปดูถูกเหยียดหยามอะไรทั้งสิ้น

ทุกคนมันผ่านปริยัติมา อย่างเช่น พระที่บวช เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่กรรมฐาน ๕ มันเป็นปริยัติ ทุกคนต้องผ่าน พระพุทธเจ้าบอกนะ ถ้าอุปัชฌาย์ไม่บอกกรรมฐาน การบวชพระนั้นไม่สมบูรณ์จะเป็นพระไปไม่ได้ นี่ปริยัติมันต้องมี แต่ปริยัติคือ ทางวิชาการ มันเหมือนกับทางวิชาการกับภาคปฏิบัติ ทางวิชาการนี้พูดได้หมด เพราะเวลาโต้เถียงกันทางวิชาการเห็นไหม ทางวิชาการเขาทำการวิจัย จะใช้ปัญญาขนาดไหน ก็เป็นทางวิชาการ ใครทำวิจัยได้มากมายขนาดไหน ถ้าวิชาการ มันได้ทั้งนั้น

แต่ทางฟากของความเป็นจริง ในการปฏิบัติ ทีนี้การปฏิบัติมันก็ต้องเป็นความจริงขึ้นมา ที่เราออกไปโต้แย้ง โต้แย้งตรงนี้ไง ตรงที่ใครพอเป็นไปได้ หรือใครปฏิบัติได้จริง ให้มันได้จริง ไม่ใช่ว่าจากภาคปฏิบัติให้เป็นทางพิธีกรรม ให้เป็นวัฒนธรรมประเพณี ให้เป็นทางวิชาการ วิชาการในการปฏิบัติไง “ว่างๆ ว่างๆ” ว่างๆ นี้เราก็ว่างอยู่แล้ว แล้วทุกคนจะพูดคำนี้หมด “เมื่อก่อนเราเป็นคนที่ทุกข์มาก เป็นคนที่ไม่ดี เดี๋ยวนี้ดีขึ้น เดี๋ยวนี้เป็นคนดีหมดเลย”

อ้าว ดีก็ดี ดีกับชั่ว แต่ธรรมะพ้นจากดีและชั่ว แล้วข้ามจากความดีไป ธรรมะต้องข้ามเหนือความดีไปนะ เราติดดีของเรา ถ้าข้ามความดีไปเห็นไหม อย่างนี้พอเราปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงมันต้องเป็นอย่างนี้ ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ดูประสบการณ์ของจิตไง ถ้าจิตเรายังไม่มีประสบการณ์ เราทำอะไรไม่ได้หรอก พอจิตเรามีประสบการณ์ขึ้นมา เรียกร้องให้สัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม “นี่ นี่ อู้ฮู!” เวลาทุกคนมานะ “ละเอียดมากๆ” แต่สำหรับเรานะ เราหัวเราะ เพราะมันจะมีละเอียดกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ เพราะอะไรรู้ไหม มรรค ๔ ผล ๔ ความละเอียดลึกซึ้งของปุถุชน ปัญญาของพวกเราที่ว่า “ว่างๆ ว่างๆ” คือความละเอียดลึกซึ้งของปุถุชน แล้วพอทำสมาธิได้ง่ายนะ พอทำความสงบได้ ความละเอียดของกัลยาณปุถุชน ความละเอียดของโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๘ จำพวกนี้ ๘ ขั้นตอน ความละเอียด ๘ ชั้น

แล้วมันจะเปรียบเทียบ ถ้า ๘ เหมือนกัน คือสมาบัติ ๘ ความสงบความละเอียดของสมาบัติ ๘ ไม่ใช่มรรคผล แปดสองสิบหก ดูสิความละเอียดของจิต ที่ว่าละเอียดๆ คำว่าละเอียดนี้เราก็ดีใจแล้ว เพราะคำว่าละเอียดที่เราเข้าไปลึกซึ้ง เพราะมันไม่มีในทางวิชาการ มันไม่มีในห้องเรียน มันไม่มีในชีวิตประจำวัน ชีวิตโลกนี้ไม่มี ความละเอียดที่เราเป็นนี้ มันจะเป็นเฉพาะต่อเมื่อจิตสงบ

ถ้าจิตเราสงบนะ พอจิตเราสงบ มันจะเข้าไปถึงข้อมูล มันเข้าไปแก้ไขตรงนั้น ถ้าแก้ไขที่ตรงนั้นเห็นไหม ที่ว่าพอมันเห็น แล้วอย่างที่เห็น พอจิตสงบปั๊บ ทะลุพุทโธเข้าไป เห็นร่างกายนี้มันสกปรก ถ้าร่างกายสกปรก ในการพิจารณากาย มันหลากหลายมาก กาย เวทนา จิต ธรรม นี่สติปัฏฐาน ๔ ในกายนี้มันก็ยังแตกขยายไปอีก กายอย่างหยาบ กายอย่างกลาง กายอย่างละเอียด ในกายนี้ พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย หรือพิจารณากายโดยเห็นกาย ถ้าพิจารณาไป มันยังแตกแขนงไปอีก

ฉะนั้นพอจิตเราสงบนะ เราเห็นข้างในมันเน่า มันน่าสะอิดสะเอียน แล้วถ้าไปพูดโดยวิชาการนะ ไปพูดกับพวกปริยัตินะ “ไม่ใช่” เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันไม่เห็นกาย มันเห็นแต่ความรู้สึก เห็นไหม การเห็นกาย ถ้าคนเป็นจะฟังออก การเห็นกายอย่างนี้มันเห็นกายโดยปัญญาไม่เห็นภาพ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ เห็นกาย จิตนี่เหมือนตา แล้วจิตเห็น จิตเห็น คือจิตเห็นภาพ คือจิตเห็นนิมิต

การเห็นกายนี้ยังหลากหลายไปอีกเยอะแยะเลย ทีนี้พอมันเห็นภาพหรือไม่เห็นภาพ อย่างที่เราพูดตอนเช้าเห็นไหม บอกว่าการปฏิบัตินี้ทุกคนต้องหวังผล ถ้าเหตุมีมันจะลงที่ผล เอาที่ผลไง ผลคืออะไร ผลคือมันสะเทือนใจ ผลคือ “อู้ฮู อู้ฮู” เห็นไหม มันมีผลไง มันมีเหตุแล้วมันมีผล มันเป็นการยืนยันว่า อันนี้จริง

ถ้ามันมีเหตุไม่มีผล “อู้ฮู เห็นกายนะ หลวงพ่อเมื่อคืนเห็นกายนะ อู้ฮู เห็นกาย” “แล้วได้อะไรล่ะ”

“มันก็เฉยๆ มันก็ธรรมดา”

มันมีเหตุ มันไม่มีผล เพราะจิตมันไม่สงบ เหตุมันมีนะ ถ้ามีเหตุเห็นไหม ถ้าเหตุมันสมบูรณ์ มันจะตอบสนองเป็นผล ถ้าเหตุมันมีของมันนะ เหตุมีเหมือนกัน แต่เหตุนั้นมันไม่สมบูรณ์ไง เหตุนั้นมันเกิดจากปริยัติก็ได้ เกิดจากสัญญาก็ได้ เกิดจากความรู้ความเห็นอะไรขึ้นมาก็ได้ เกิดจากจินตนาการก็ได้ เห็นไหม ผลมันก็ไม่เหมือนกันใช่ไหม เพราะเหตุมันไม่สมบูรณ์ไง เหตุมันไม่เป็นไปไง นี่ไงเราถึงต้องกลับมาที่เหตุไง เหตุคืออะไร เหตุก็คือสติปัญญานี่ไง เหตุ คือ สติ สมาธิ ปัญญา

ถ้าเหตุมัน คือ สติ สมาธิ ปัญญานะ ผลมันจะตอบอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ที่ว่าแก้จิต แก้จิต เขาดูกันตรงนี้ไง ดูที่ว่า มันเป็นไหม ถ้ามันเป็นนะ ซ้ำไป แล้วพอเป็นแล้ว พอบอกให้ซ้ำไป นั่งงงแล้วนะ “หลวงพ่อซ้ำอีกแล้วหรือ” “อ้าว เมื่อวานมึงกินข้าว วันนี้มึงต้องกินข้าวไหม แล้วพรุ่งนี้กินอีกไหม” มันต้องกินอีกนะ พอซ้ำไปนะ เรากินข้าวทุกวัน เราจะดีขึ้นของเราทุกวัน ถ้าเรากินข้าวของเรา ความว่ากินข้าวของเรานี้ เราจะดีของเราขึ้นไป

นี่ก็เหมือนกัน เราทำซ้ำเข้าไป ทีนี้เราคิดแบบทางโลกไง ซ้ำคือที่เก่า ซ้ำคือไม่ก้าวหน้า แต่ความจริงมันไม่ใช่ เพราะความก้าวหน้าหรือทางโลกนี้ การก้าวหน้าคือการเคลื่อนไปข้างหน้า ทีนี้การเคลื่อนไปข้างหน้าคืออดีตอนาคตแล้ว เพราะอะไร เพราะข้อมูลมันอยู่ที่จิต อยู่ที่จิตคืออยู่ที่ภพ เพราะฉะนั้นถ้าเราซ้ำลงไป เราซ้ำถึงตัวภพนั้น ซ้ำถึงข้อมูลของเรานั้น การซ้ำนี่ถูกต้อง การซ้ำนะ การซ้ำนี้ซ้ำโดยปัจจุบัน คือการซ้ำในการกระทำ ไม่ได้ซ้ำด้วยสัญญา สัญญาคือการจำมา การจำมามันเลื่อนลอยแล้ว

การจำมาหรือการเอาข้อมูลมา อย่างเช่น เมื่อวานนี้ดี แล้วจะเอาอย่างเมื่อวานอีกเห็นไหม “เมื่อวานภาวนาดีมากเลย วันนี้จะเอาภาวนาแบบเมื่อวาน” มันไปจำเมื่อวานนั้น แต่มันลืมฐานข้อมูลแล้ว ลืมตัวจิต เพราะจิตไม่สงบ ถ้าจิตสงบนะ ไอ้ที่ได้มาเมื่อวานมันเป็นเรื่องของเมื่อวาน

จิตสงบปั๊บ มันเข้าสู่ฐานที่ตั้ง “กรรมฐาน” ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ฐานคือภพ ฐานคือใจ ถ้ามันสงบปั๊บ สิ่งที่เคยดีมาแล้ว สิ่งที่เราเคยเห็นมาแล้ว สิ่งที่มันเป็นความว่างปล่อยวางที่มันซึ้งใจอยู่แล้ว มันเป็นเมื่อวาน มันเป็นอดีตเห็นไหม

ถ้ากลับมาสงบปั๊บ มันจะมาที่ฐานมาปัจจุบันทันทีเลย มันจะเข้ามาสู่ฐานที่ตั้งแห่งการงานเลย ตัวสมาธินี้ ตัวฐีติจิต ตัวข้อมูลนี่ ฉะนั้นพอเราทำความสงบถึงที่จิต ซ้ำถึงที่จิตปั๊บ พอข้อมูลมันออกมา มันก็ล้างข้อมูล ล้างข้อมูล นี่ไงอุปาทานการยึดมั่น ศรปักอยู่ที่ใจ มันเริ่มถอนออก สำรอกออก คายออก สำรอกออก คายออก สำรอกออก คายออกจากใจ การวิปัสสนาต้องซ้ำอย่างนี้ ซ้ำเข้าไปเพื่อให้สำรอก เหมือนเราเป็นไข้ เราเป็นไข้แต่เรายังไม่หายจากไข้ เรากินยาอยู่ ก็ต้องกินยาซ้ำๆ ซากๆ เพื่อให้หายจากไข้

นี่เหมือนกันสิ่งที่เป็นอวิชชา สิ่งที่เป็นสักกายทิฏฐิ สิ่งที่เป็นความเห็นผิด มันซ้ำอยู่ที่ภพ ถึงมันจะปล่อยวางขนาดไหน มันปล่อยวางจากข้างนอก มันปล่อยวางทางธรรมของพระพุทธเจ้า มันปล่อยวางจากการกระทำของเรา แต่มันยังไม่ปล่อยวางตามความเป็นจริง ถ้ามันปล่อยวางตามความเป็นจริง ที่ว่าจิตจริง ขันธ์จริง เวทนาจริง มันถึงเป็นจริง จิตมันยังปลอมอยู่ ปลอมเพราะอะไร ปลอมเพราะอวิชชา ปลอมเพราะข้อมูลนี้มันยังครอบงำอยู่ด้วยความหลงผิด จริงไหม

แต่ที่เราวิปัสสนาอยู่นี่ คือธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เราฝึกฝนอยู่ใช่ไหม มันก็เข้ามาล้าง แต่มันยังล้างไม่ถึงที่สุด มันล้างไม่ถึงก้นบึ้ง มันล้างไม่สะอาดหมดเห็นไหม มันถึงเป็นโสดาบันไม่ได้ไง มันเป็นโสดาบัน คือจิตสะอาดในขั้นของโสดาบัน โสดาบันมันสะอาดบริสุทธิ์หมด มันต้องกลับมาล้างไง ล้างแล้วล้างเล่า ให้ซ้ำ คำว่าให้ซ้ำ หลวงตาท่านตอบเยอะมาก เวลาใครไปถามปัญหา ท่านจะนั่งเอาไม้เจียแคะฟันนะ แล้วก็บอก “ซ้ำ” ไปถามปัญหาท่านครึ่งวันเลย ท่านตอบคำเดียวนะ “ซ้ำไปอีก” หลวงตาท่านตอบนะ

เราฟังแล้วเราซึ้งนะ เราเข้าใจ แล้วเราก็เข้าใจคนฟังด้วย “โอ๋ ถามปัญหา เหมือนเจ็บไข้ได้ป่วยนี้อธิบายอยู่ครึ่งวันเลย ตอบมาซ้ำที่เก่า ซ้ำอีกไปนะ ทำซ้ำไปอีก” กลับบ้านเลย อย่างนี้เขาก็บอกว่า อาจารย์ไม่มีปัญญา ไม่ละเอียดลึกซึ้ง เหมือนกับสมมุติ เหมือนกับอาจารย์โลกๆ อาจารย์โลกๆ จะอธิบายอยู่ครึ่งวัน แต่ไม่มีเนื้อหาสาระเลย เพราะมันเคลื่อนจากฐาน มันเคลื่อนจากจิตตรงที่มันเจ็บไข้ได้ป่วย มันจะไม่มีเนื้อหาสาระเลย เราเจ็บไข้ได้ป่วยที่ภพที่จิต แล้วก็อธิบายธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วก็ไปแก้ไขกันอยู่ที่ข้างนอก แล้วไอ้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย คือหัวใจของเราก็ปล่อยมันทิ้งไว้ แล้วเราก็ว่าคนๆ นั้นมีปัญญา คนๆ นั้นละเอียดลึกซึ้ง คนๆ นั้นพูดทางวิชาการได้ละเอียดมาก

แต่ครูบาอาจารย์ของเรานี้ท่านบอกเลย คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย คือภพ คือจิต คือหัวใจของเรา การกระทำนี้มันต้องเข้าไปชำระตรงนั้น เข้าไปสำรอกคายความเห็นผิดออกจากตรงนั้น ให้ซ้ำเข้าไปที่ตรงนั้น ให้ซ้ำเข้าไปที่ตรงนั้น เพราะเหตุใด ให้ซ้ำเข้าไปตรงนั้นเพราะสิ่งที่ทำมา มันเข้าไปถึงจุดแล้ว สิ่งที่เราทำมา มันเข้าไปถึงจุด เราถึงมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้น อารมณ์ความรู้สึกที่เราอธิบายออกมานั่นล่ะ มันคือเหตุผลที่เอ็งได้เข้าไปพบ เข้าไปเห็น แล้วทำได้อย่างนั้น อารมณ์ที่เราเข้าไปเห็นเข้าไปรู้นั่น ธรรมะไง

เหมือนเรากินยาเข้าไป มันมีอาการที่ไข้นี้จางลง เพราะเรากินยานั้นเข้าไป ยานั้นมันออกฤทธิ์ ความเจ็บไข้ได้ป่วย หายใจไม่ออก อึดอัดมาก แล้วลดไข้ พอลดไข้ขึ้นมาก็หายใจโล่งอกขึ้นมา การหายใจได้ การอะไรได้นี้ มันบอกถึงว่ายานั้นมันให้ผล ในการใช้ปัญญา จิตเราสงบขึ้นมา เราใช้ปัญญาของเราออกไป มันปล่อยมา มันว่างมา มันมีความลึกซึ้งมา มันสะเทือนใจมา มันบอกถึงการให้ผล ถ้าบอกถึงการให้ผล ยานั้นมันให้ผลแล้ว

ธรรมโอสถนั้นมันให้ผล ธรรมโอสถมันมีผล ถ้ามันมีผล เอ็งก็กินยาแล้ว เอ็งก็ถูกทางแล้ว แล้วทำไมไม่กินยาเม็ดที่ ๒ เม็ดที่ ๓ เม็ดที่ ๔ ให้ยานั้นมันเข้าไปถึงที่สุด แล้วให้มันถอนรากถอนโคนโรคนั้นออกจากใจล่ะ นี่เพราะเราไม่กินยาซ้ำไง เพราะเรากินยาเข้าไปแล้ว พิษไข้มันจางลง พิษไข้มันคลายตัวออก พอพิษไข้มันคลายตัวออก เราหายใจได้ เหมือนเราหายใจไม่ออก เป็นหวัดหายใจไม่ออก เจ็บคอมากเลย แล้วพอจมูกมันหายใจออกบ้าง “เฮ้อ หายแล้ว” ไม่กินยาต่อไง ไม่กินยาต่อ เดี๋ยวก็เป็นอีกไง แล้วถ้ามันดื้อยา มันก็ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ไง ฉะนั้นถึงบอกว่า “ให้ซ้ำ ให้ซ้ำ”

แต่ท่านไม่อธิบายอย่างนี้ เพราะถ้าอธิบายอย่างนี้ ประสาเรานะ เราเข้าใจเราก็ว่าตอนนี้เราอธิบายได้ เราเก่งนะ ต่อไปเราคงไม่อธิบาย เพราะกูอธิบายอย่างนี้มาเป็นหลายล้านครั้งแล้ว มันไม่ไหว เพราะท่านไม่ได้แก้เฉพาะลูกศิษย์คนนี้นี่ หลวงตาท่านแก้ลูกศิษย์มาตั้งแต่ท่านปฏิบัติมาตั้งแต่ปี ๙๒ ท่านแก้ไข ท่านพูดซ้ำซากมากี่ล้านๆ หนแล้วล่ะ เพียงแต่ว่าเวลาคนมา มันเป็นอำนาจวาสนาของคนเห็นไหม เช่น รุ่นครูบาอาจารย์ที่ห้วยทราย พระอาจารย์สิงห์ทองท่านพูดเลย “สมัยห้วยทราย นึกว่าพระทั้งวัดจะเป็นพระอรหันต์หมดเลย” เพราะว่าพระทุกองค์ต้องแขวนโคม ต้องเดินจงกรมตลอด เพราะท่านเข้มงวดมาก ใครเห็นสภาพแบบนั้นนะ วัดนี้ทั้งวัดจะไม่มีใครเหลือตกค้างอยู่ในโลกเลย จะเป็นพระอรหันต์หมดเลย เพราะทุกคนเข้มข้นหมดเลย นั่นเวลาท่านเข้มข้น แต่เราไม่เจอเวลาอย่างนั้น

เรายังเจอหลวงตาอยู่ แต่หลวงตาตอนนี้อายุ ๙๗ ตอนนั้นท่านอายุเพิ่ง ๓๐-๔๐ เห็นไหม ขนาดเจอหลวงตาด้วยกัน วาสนาก็ยังต่างกัน ถ้าเราเจอหลวงตาตอนที่ท่านยังเข้มข้นอยู่นะ ไปถามอย่างนี้นะ ท่านจะซัดๆๆๆๆ ใส่กระเด็นเลย เพราะท่านยังสด ยังเข้มข้นอยู่ใช่ไหม

แต่ตอนนี้ท่านพูดอย่างนี้มาหลายล้านครั้งแล้ว พอไปนะ ท่านจะบอกว่า “ซ้ำ ซ้ำเนาะ ซ้ำไปอีก ถูกแล้วแหละ ซ้ำเนาะ” ไอ้คนฟังก็แค่นี้เองหรือ อธิบายมาครึ่งวันหลวงตาบอกซ้ำเนาะ

เหตุที่ซ้ำ เหตุผลที่อธิบายมาแล้ว ซ้ำลงไป ถูกแล้ว แล้วเวลาถูกแล้วมันจะมีอาการ อาการมันสำรอก สำรอกคือหัวใจนี่ โอ้โฮ! เหมือนเรานี้ เราพูดบ่อยเหมือนคนผิดแล้วสำนึกผิด สำนึกผิดแล้วแก้ไขตัว คนผิดแล้วสำนึกผิดนะ จริงๆ นะ เวลาคนอื่นบอกว่าเราผิดนี่ เราไม่ค่อยยอมฟัง แต่ถ้าวันไหนสำนึกผิดนะ ไปนั่งอยู่โคนไม้นะ แล้วนั่งร้องไห้ สำนึกตัวเองไง นั่งน้ำตาไหลอยู่คนเดียว

จิตถ้ามันสำนึกนะ จิตถ้ามันเห็นของมันนะ มันคลายตัวของมัน นี่เห็นไหม อัตตาหิ อัตตโน นาโถ อันนี้พูดถึงว่าเราพิจารณาแล้วมันต้องซ้ำไปเรื่อยๆ ถูกต้องแล้ว อันนี้ถูกต้องแล้วต้องขยันด้วยนะ

เราฟังบ่อย เวลาลูกศิษย์มาถามปัญหานี่ “โอ้โฮ! หลวงพ่อมันละเอียดมาก มันละเอียด... อู๊ย! มันละเอียด...” “เออน่า เออเดี๋ยวมันจะละเอียดกว่านี้อีก”

เราถึงได้พูดเห็นไหม ว่าเวลาเขาพูดเรื่องสติ ใครอ่านหนังสือของเขา เคยได้ยินคำว่ามหาสติไหม ในหนังสือของเขามีคำว่ามหาสติไหม ไม่มีเลยนะ

เพราะมันมีสตินะ สตินี่มันไล่ทันแค่ขั้นของโสดาบันกับขั้นของสกิทาคามีเท่านั้น ขั้นของอนาคามี สติไล่ไม่ทันแล้ว สตินี่มันอ่อนเกินไป มันเด็กเกินไปที่มันจะทำงานของขั้นอนาคามี ขั้นของอนาคามีต้องเป็นมหาสติ ต้องเป็นมหาสติ สติปัญญาจะไล่กิเลสของพระอนาคามีไม่ทัน พระสกิทาคามีจะไล่กิเลสของพระอนาคามีไม่ได้ ถ้าจะเป็นอนาคามิมรรคต้องเป็นมหาสติ ต้องเป็นมหาสติเท่านั้น ถ้าไม่ใช่มหาสติจะไล่ตามกิเลสของพระอนาคามีไม่ทัน จะไล่ความคิดไม่ทัน ความคิดมันจะเร็วกว่านี้อีก มันจะละเอียดกว่านี้อีก แล้วไล่ไม่ทัน

มหาสตินี้ไล่กิเลสของพระอนาคามีทัน แล้วถ้าเป็นกิเลสของพระอรหันต์นะ แม้แต่มหาสติยังไม่ทันมันเลย มันจะเป็นมรรคญาณเลย มันจะเป็นสติอัตโนมัติ สติกับจิตมันจะมาพร้อมกันเลย มันจะไล่กันไปเลยเพราะอะไร เพราะจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ตัวจิตมันเป็นตัวกิเลส ตัวจิตนี่มันเป็นตัวสมุทัย เป็นตัวอวิชชา แล้วถ้าพูดถึงสติเกิดจากมัน ก็เหมือนเรากับลูกเรา ลูกจะทันพ่อไหม ปัญญาของลูกจะทันปัญญาของพ่อไหม

แล้วตัวสติมันเกิดจากจิต สตินี่เกิดจากจิตนะ สติเกิดที่ไหน สติมาจากฟ้าหรือ สติของพระพุทธเจ้าก็เป็นสติของพระพุทธเจ้านะ สติของใครก็เป็นสติของคนนั้น เพราะมันเกิดจากจิตดวงนั้น คือบอกว่าถิ่นที่เกิด อย่างสินค้านี้มันต้องมีถิ่นที่เกิด อย่างศีล สมาธิ ปัญญานี้มันต้องมีถิ่นที่เกิด มันเกิดบนจิตใคร มันเกิดบนภพที่ไหน มันจะชำระจิตดวงนั้น ถ้ามันไปเกิดในที่อื่น มันก็ไปชำระจิตของคนอื่น มันไม่ชำระจิตของเรา จริงไหม

ฉะนั้นถ้าพูดถึงสติเกิดจากจิต แล้วสติเกิดจากจิตนี้ เห็นไหม สติมหาสติมันเกิดจากจิต แล้วตัวจิตเป็นตัวกิเลส เอ็งว่าตัวสติมันจะทันตัวจิตไหม ทันไหม มันเป็นไปไม่ได้ นี่ไง มันมีสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ ถ้าสติกับจิต สติมันเป็นอัตโนมัติ สติกับจิตมันเป็นอันเดียวกัน มันจะใส่กันไป เห็นไหม มันทันไหม นี่ไงมันถึงจับกิเลสได้ไง พอมันจับกิเลสได้ มันจะพิจารณาของมันได้ไง ถ้ามันจับกิเลสไม่ได้ มันจะพิจารณาได้อย่างไร ถ้าคนจับผู้ทำผิดไม่ได้ จะเอาใครมาเป็นผู้รับผิด ถ้าใครจับกิเลสไม่ได้ ใครจะฆ่ากิเลส ถ้าจับกิเลสไม่ได้ หากิเลสไม่ได้ จะเอาอะไรไปฆ่ามัน ไม่มีทาง

เราถึงบอกว่า เราอ่านมาตลอดนะ เราก็ดู เพราะเขาปฏิเสธเรื่องสติ สตินี่ฝึกไม่ได้ สตินี่เป็นอนัตตา อื้อฮือ! ไม่รู้พระพุทธเจ้าองค์ไหนสอน กูไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนสอน พระพุทธเจ้ามึงกับพระพุทธเจ้ากูคนละองค์แน่ๆ คนละองค์ พระพุทธเจ้ากูนี่บอกว่าสติต้องสอน สติต้องทำดีๆ พระพุทธเจ้าเอ็งกับพระพุทธเจ้ากูต้องคนละองค์ คนละองค์เด็ดขาด เพราะพระพุทธเจ้าเราสอนถึงสติ มหาสติ สติอัตโนมัติ แต่ของเขาพูดถึง สติไม่ต้องฝึก สติไม่ต้องเอา คือโยนสติทิ้งไปเลย แล้วจะเกิดเอง โดยที่เขาเป็นศาสดาใหม่ แล้วก็บอกว่าเราบอกว่าเขาผิด อันนี้อันหนึ่งนะ อันนี้จบประเด็นนี้

แล้วถ้าประเด็นอย่างนี้มันก็เกี่ยวเนื่องกันที่ว่าเวลาปฏิบัติไปนี้ จนรวมเป็นแท่ง จะรวมเป็นอะไรก็แล้วแต่ คำพูดอย่างนี้ เวลากำหนดอานาปานสติ ถ้าจิตมันลงนะ กำหนดลม กำหนดไปเรื่อยๆ มันจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ละเอียดๆๆๆ ละเอียดจนมันจะตัดกัน มันจะแบบว่าละเอียดจนระลึกลมไม่ได้ แต่ความจริงลมมันมีอยู่

เวลาเข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน ๗ คืน เขาถามว่า ๗ วัน ๗ คืนนี้ ทำไมไม่ปัสสาวะบ้างเลยหรือ ไม่อุจจาระบ้างเลยหรือ

ไม่ เพราะอวัยวะมันจะหยุดหมด ทุกอย่างมันจะหยุดของมันเห็นไหม แล้วหยุดแล้วมันอยู่ได้อย่างไรล่ะ ทางผิวหนังนี่ อากาศมันจะถ่ายเทได้ มันจะถ่ายเทได้ตามธรรมชาติของมัน มันซึมได้ ความซาบซึมของมัน

นี่ก็เหมือนกันเวลาลมหายใจของเราเรากำหนดลมหายใจ ถ้ามันจะละเอียดขนาดไหน มันจะละเอียดของมันนะ ถ้าคนปฏิบัติใหม่ หรือคนที่ยังไม่เคย หลวงตาพูด เราซึ้งมาก เวลาหลวงตามา หลวงตามาที่นี่จะพูดถึงรวมใหญ่บ่อย สังเกตได้ มาโพธารามทีไรจะพูดถึงรวมใหญ่ ทีนี้จะบอกว่า คนไม่เคยรวมใหญ่จะไม่รู้จักรวมใหญ่

รวมใหญ่คืออัปปนาสมาธิ รวมใหญ่คือจิตว่าง จิตสนิทมาก มันสักแต่ว่ารู้ มันจะละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ ทีนี้พอละเอียดเข้ามาเรื่อยๆ ระหว่างธรรมชาตินะ ฟังนะ! ธรรมชาติของมนุษย์นี่ มันมีร่างกาย ร่างกายนี่ต้องการออกซิเจน สมองนี่ขาดออกซิเจนไม่ได้ ถ้าขาดออกซิเจน คนนั้นสมองตายนะ ตายทันทีเลย ฉะนั้นร่างกายต้องมีออกซิเจน มันต้องมีลมหายใจตลอดเวลา ทีนี้พอเราหายใจ เพราะร่างกายเรานี้ การกระทำของร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันเคลื่อนไหวได้ เพราะมันมีพลังงาน มันมีตัวจิต ตัวจิตมีพลังงานอยู่แล้ว ร่างกายจะทำงานโดยสมบูรณ์ ถ้าตัวจิตปกติ ทุกอย่างปกติอยู่ โดยสถานะของมนุษย์

ทีนี้ถ้าเรามากำหนดลมหายใจ อานาปานสติกำหนดลมหายใจ ถึงที่สุดแล้วนี้ กำหนดลมหายใจนี้ ใครเป็นคนกำหนดเห็นไหม เขาบอกเวลาอธิบายแบบกรรมฐานว่ากำหนดลมหายใจก็คือกรรมฐาน เพราะมันต้องผ่านจมูก ผ่านร่างกาย ลมนี่มันต้องผ่านโพรงจมูกเข้าไป มันจะผ่านเข้าไป มันจะเข้าไปสู่ปอด มันก็เป็นเรื่องของธาตุ ของร่างกายเห็นไหม มันก็เป็นกรรมฐาน แต่ถ้าพูดถึงไม่มีชีวิต เพราะไม่มีความระลึก โดยไม่มีจิต ไม่มีจิตคือไม่มีความคิด ไม่มีความตั้งใจ จะกำหนดลมมาได้อย่างไร

ทีนี้เรากำหนดลมหายใจ เราต้องการความสงบเห็นไหม เวลาตัวที่สงบจริงๆ ขึ้นมา กลับกลายเป็นจิตสงบ ไม่ใช่กายสงบ ไม่ใช่กายสงบนะ กายเป็นธาตุมันสงบไม่ได้ กายมันทรงตัวของมัน แต่เวลาจิตมันสงบ เราจะบอกว่า กำหนดลมๆ นี่ เราจะบอกว่ากายกับจิตนี้มันคนละส่วนกัน แต่มันอาศัยอยู่ด้วยกัน เนื่องด้วยกันเหมือนกับเป็นอันเดียวกัน เหมือนกับเป็นอันเดียวกันเลย เพราะมนุษย์ทุกคนมีร่างกายกับจิตใจ อยู่ในร่างกายเราเป็นอันเดียวกัน

ฉะนั้นพออยู่ในร่างกายเราเป็นอันเดียวกัน เวลากำหนดลมหายใจ ความสงบนี่มันเป็นเรื่องความสงบของจิต ทีนี้ความสงบของจิตพอมันสงบเข้าไป มันมีระดับของมันที่ว่ามันจะทิ้งกาย พอมันทิ้งกาย ระหว่างกายกับจิต มันจะแยกออกจากกัน แม้แต่ของที่อยู่ด้วยกัน ความรู้สึกกับร่างกาย มันจะแยกออกจากกันจนเป็นอิสระชั่วคราว พอมันเป็นอิสระชั่วคราว มันจะสะดุดไง เราจะบอกว่า เวลาลมจะหาย ทุกคนจะสะดุด ระหว่างที่มันจะเปลี่ยนมันทำให้เราสะดุด พอเราสะดุดนี่ มันจะทำให้เราออก คือทำให้จิตเรามันไม่กล้าทิ้งเข้าไปสู่ความจริง

เพราะมันกลัวจะตายไง กลัวจะตาย กลัวลมจะหาย กลัวลมจะขาด มันจะสะดุดตลอดเวลา ทีนี้พอกำหนดลมไปเรื่อยๆ กำหนดลมไปเรื่อยๆ ช่วงที่ผู้ประพฤติปฏิบัติยังไม่เป็น ตรงนี้มันจะเป็นอุปสรรค มันจะคอยสะกิดให้ใจมันหวั่นไหว คอยสะกิดใจให้มันออก ทีนี้เรากำหนดลมไปเรื่อยๆ กำหนดลมไปเรื่อยๆ เห็นไหม โดยที่มีสติ ถ้าคนชำนาญเห็นไหม คนชำนาญหรือคนเริ่มเป็น กำหนดลมหรือตั้งสติไว้ มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป มันจะตายก็ให้มันรู้ว่ามันตาย เราจะทำความดี มันจะตายก็ให้มันเป็น ให้มันจริง ให้มันตายให้ดูที ทำดีแล้วมันจะตาย ก็ขอดูความจริง

ถ้ามันมีความมั่นคงอย่างนี้ มันก็จะเริ่มละเอียด... เข้าไปอีก ละเอียดเข้าไปจนความรับรู้ลมหายใจดับหมดเลย

พูดอย่างนี้ เขาจะหาว่าผิดอีกแล้วนะ จิตดับไม่ได้ ความรู้สึกดับไม่ได้ คนมันภาวนาไม่เป็นไง คำว่าดับนี้ มันดับถึงความรับรู้ลม แต่ตัวจิตนี้ชัดเจนมาก ลมนี่ดับหมด ทุกอย่างดับหมด สักแต่ว่า มันเข้ามาเป็นตัวของมันเอง จิตกับกายนี้แยกออกจากกันเลย แยกออกมาที่ตรงไหน คนเป็นรู้ คนรวมใหญ่รู้ แยกออกมาจนตัวจิตนี้เป็นอิสระของมัน ธรรมดานี่เราจับไปที่แขนสิ เอามือแตะไปที่ผิวหนังตรงไหนจะรู้สึกตัวตลอด แต่ขณะที่มันแยกออกจากกัน คือมันหดตัวมันเป็นอิสระของมัน ตามผิวหนัง ตามอายตนะ ตามร่างกายนี้ไม่รับรู้อะไรเลย ไม่รับรู้อะไรเลย!

ตัวจิต มันเหมือนกับเอาตัวจิตไปตั้งไว้อยู่โดดๆ ต่างหากเลย ร่างกายนี้มันอยู่ของมันโดยธรรมชาติเลย เวลามันเป็นอัปปนาสมาธิจะเป็นอย่างนั้น รวมใหญ่เป็นอย่างนั้น เหมือนกับเอาความรู้สึก เอาจิตนี้ไปตั้งไว้ต่างหาก ร่างกายตั้งไว้ต่างหากเลย ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะมันไม่รับรู้ นี่อัปปนาสมาธิเป็นอย่างนี้

นี่พูดถึงเวลาสงบนะ แล้วสงบแล้วคลายออกมาจะเห็นอะไร จะรู้อะไร จะเห็นเทวดา อินทร์ พรหม มันอยู่ที่วาสนา อยู่ที่วาสนาของคนที่สร้างมามากสร้างมาน้อย ไม่เท่ากัน บางคนสงบเฉยๆ บางคนสงบแล้วจะมีเทวดามาอนุโมทนา จะมีคนมารับรู้ มีคนมาส่งเสริม

แล้วบางคนนะ เวลาจะสงบนี้ ถ้ามีกรรมนะ มันจะโดนเทวดาแกล้ง อย่าว่าจะมีแต่เทวดามาส่งเสริมนะ มันจะมีเทวดามาแกล้ง มาสะกิดอย่างโน้น มาทำอย่างนี้ ทำให้เราตกใจ ทำให้เราเข้าไม่ได้ มาส่งเสริมก็มี แต่คำว่ามาแกล้ง มีน้อยนักนะ แต่มี สิ่งใดมีต้องว่ามี แต่สิ่งที่เขามาทำไม่ดีแล้ว ส่วนใหญ่แล้วเทวดาเขาจะมีสติสัมปชัญญะของเขา เขาจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีหรอกเพราะเป็นกรรม แต่สิ่งที่ดีมันเป็นประโยชน์ ทุกคนอยากได้ ฉะนั้นพอจิตมันสงบขนาดไหน แล้วออกรู้ไง ออกรู้นี่ออกไปพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต

เวลาเราสอนลูกศิษย์ ลูกศิษย์เขามาบอก “พิจารณากายไม่ได้ ใครทำอะไรไม่ได้นี่ แล้วจะเดินไปทางไหน” เราจะบอกเลยว่า ถ้าจริงนะ ต้องให้กำหนดพุทโธๆๆๆๆ จนจิตเป็นอัปปนาสมาธิ หรือกำหนดลม กำหนดอะไรก็ได้จนเป็นอัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธินี้ มันจะบอกถึงจริตนิสัย อย่างเช่น พอจิตสงบเต็มที่ มันออกมานี่ ถ้าออกไปหากาย มันจะเห็นของมัน น้อมไปที่กายจะเห็นกาย ถ้าไม่เห็นกายแสดงว่ามันไม่ตรงจริตแล้ว คือหาไม่ได้ คือเราใช้กำลังเต็มที่แล้ว แล้วยังทำไม่ได้ เอ็งก็ต้องเปลี่ยนงานแล้ว

เหมือนเราทำงาน เราทำงานเต็มที่เลย พองานนี้เราทำเต็มที่แล้ว งานนี้เราไม่ประสบความสำเร็จ เราก็เปลี่ยนงานของเรา เปลี่ยนงานของเราเลย เปลี่ยนไปดูจิต ไปดูเวทนา เราเปลี่ยนได้ กาย เวทนา จิต ธรรม เปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนแปลงการกระทำได้ กำหนดลมหายใจเข้าไปเต็มที่เลย ถ้าเป็นได้นะ แต่รวมใหญ่นี้มันทำได้ยาก แล้วถ้าจริงๆ แล้ว มันก็ไม่ต้องการใช้กำลังขนาดนี้มาออกวิปัสสนา เพราะว่า ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธินี้ก็พิจารณาได้แล้ว ขณิกะก็พิจารณาได้ การพิจารณาได้ คือพิจารณาเพื่อฝึกฝนไง

อย่างที่เขาว่า ปัญญาเกิดเองๆ

เป็นไปไม่ได้ สมาธิ ปัญญาเกิดเองไม่ได้ สมาธิอยู่ที่การกระทำ เหตุมันสมควรถึงเป็นสมาธิ

ถ้าเหตุอย่างนั้น ดูจิตเฉยๆ แล้วปล่อยให้มันเป็นเอง แล้วไม่จงใจ

คำว่าไม่จงใจนี้ เราปฏิเสธล้านเปอร์เซ็นต์เลย คำว่าไม่จงใจก็คือไม่ตั้งใจ เหมือนสอยเข็ม โอ้โฮ! เราต้องตั้งใจนะ

ถ้าใครบอกว่า สอยเข็มไม่ต้องตั้งใจ หลับตาแล้วทิ่มไปนี่ มันจะเข้าเอง

เอ็งเชื่อไหม?

สอยเข็มนี่อย่าตั้งใจนะ ถ้าใครสอยเข็มโดยตั้งใจ คนนั้นผิดนะ ถ้าสอยเข็มแบบหลับตาแล้วทิ่มไปเรื่อยๆ มันจะเข้าพอดีเลย ไม่จงใจแล้วเข้าพอดี นั่นเป็นสัมมาสมาธิ

หลับตาแล้วสอยเข็ม มันเข้าไม่เข้าก็ไม่รู้ พอหลับตาแล้วสอยเข็มไป แล้วก็บอกว่านี่สอยเข็มเสร็จแล้ว เสร็จเพราะอะไร เพราะเราได้ทำแล้วไง

นี่ก็เหมือนกัน สัมมาสมาธิจะเกิดที่ไหน เกิดบนจิต คือเขาสอยเข็มเข้าหรือไม่เข้าไม่รู้ แต่ว่าสัมมาสมาธิไปเกิดบนจิตนะ

กูถึงบอกว่า “สัญญาสมาธิไม่มี สัญญาสมาธิไม่มี มีแต่สัมมาสมาธิ”

ถ้าจะให้พูด เอาไหมเอามาพูดกัน มันมีจุดให้พูดเยอะมาก ทีนี้ถ้าพูดมากเกินไป มันก็แบบว่าติเรือทั้งโคลง ติเรือหมดเลยหรือ แต่ถ้ามันผิดมันก็ผิดหมดจริงๆ นั่นแหละ แต่ถ้าเอาตรงหัวใจนี่ ตรงนี้คือหัวใจ เรื่องสติ เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญานี่คือหัวใจ แล้วเรื่องหัวใจนี่ก็บอกผิดหมด

ฉะนั้นเวลาเราทำของเรานะ ถ้ามันสงบของมันได้ เราจะเช็ค เวลาลูกศิษย์มาเราจะเช็ค ทุกคนมาถามว่าจะทำอย่างไรไง ถ้าจะทำอย่างไรก็เช็คหมายถึงว่าเข้ามาถึงข้อมูลเลย แล้วทำงานเลย ถ้าทำไม่ได้ก็เปลี่ยนงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนงาน มันต้องทำได้ เพราะกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พระพุทธเจ้าบอกแล้วว่า วิธีทำความสงบนี้มีให้ถึง ๔๐ วิธีการ แล้ววิปัสสนานะ ขั้นของปัญญาไม่มีขอบเขต! ขั้นของปัญญาคือขั้นของอาชีพ ขั้นของอาชีพไม่จำกัดตายตัวว่าใครต้องทำอาชีพอะไร ทุกคนมีจังหวะ ทุกคนมีวาสนา ทุกคนมีโอกาสมาถึง อาชีพอะไรก็ทำได้ ขอให้อาชีพนั้นเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ อาชีพที่เป็นสัมมาทิฏฐิ อาชีพนั้นทำให้เรามีฐานะ อาชีพอะไรก็ได้

ปัญญาที่มันจะออกรู้ แต่ถ้ามีสมาธิเป็นฐาน มันจะออกอาการที่ว่าเป็นอย่างนั้น นี่เหมือนกันเวลาพิจารณากายไปแล้ว ถ้ามันถูกเห็นไหม พิจารณากายไปแล้ว มันปล่อยวาง ก็พิจารณากายต่อเนื่อง พิจารณาต่อเนื่อง อย่าทิ้ง! อย่าทิ้งกายเด็ดขาด พอมันพิจารณากายไปแล้วนะ พอมันปล่อยนะ มีพระหลายองค์มาหา บอกว่า

“หลวงพ่อ พิจารณาแล้ว พิจารณากายแล้วมันปล่อยหมดเลย เป็นโสดาบันแล้ว” เราบอกว่า “ไม่ใช่หรอก ให้พิจารณาซ้ำ”

“ซ้ำได้อย่างไร ก็ไปถามครูบาอาจารย์มาหลายองค์แล้ว ครูบาอาจารย์บอกว่าปล่อยอย่างนี้เป็นโสดาบัน”

แล้วเขาก็บอกอาจารย์นั้นว่า “มีอาจารย์บางองค์บอกต้องสมุจเฉทปหาน ต้องขาดนะ มันถึงเป็นโสดาบัน”

อาจารย์นั้นบอกว่า “ถ้าเขาเป็นอย่างนั้นก็ปล่อยเขาไปเถอะ ไอ้พวกขาดก็อยู่กับพวกขาดเถอะ พวกเราจะอยู่กันอย่างนี้”

เห็นไหม ดูทิฏฐิเขาสิ ทิฏฐิของเขานะ ไอ้พวกขาด พวกขาดเป็นความจริงก็อยู่ของเขาเถอะ ไอ้เราไม่ขาดก็ช่างมันเถอะก็อยู่ของเรา อยู่ของเรา หมายถึงว่า มันพิจารณาอยู่มันปล่อยอยู่ แต่ไม่ขาด ถ้าไม่ขาดเหมือนเราเป็นโรค เรารักษาเรา แต่ไม่หาย แล้วเราไม่กินยาต่อ ประเดี๋ยวมันก็เป็นโรคซ้ำอีก แล้วเป็นโรคซ้ำแล้ว ถ้ามันดื้อยาขึ้นมายิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ แต่เขาไม่เข้าใจตรงนี้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเรื่องเป็นโรคเป็นภัย เวลาโรคภัยไข้เจ็บมันแสดงตัว มันตายนะ แต่ไอ้โรคของจิตมันไม่เคยตายไง ไอ้ตรงนี้มันทำให้คนชะล่าใจ พอมันชะล่าใจ มันก็จะเป็นซ้ำ เป็นซ้ำไป พอเป็นอย่างนั้นปั๊บเขาก็บอกว่า “ไอ้พวกที่ขาดให้ขาดไปเถอะ ไอ้เราไม่ขาดก็อยู่ประสาเรา”

ในวงปฏิบัติมันมี เราเจออย่างนี้มาเยอะไง เราเจอคนที่หลงผิด คนที่เข้าใจผิดนี้เยอะมากแล้วก็ไปตามเขา พวกนี้นะสุดท้ายแล้ว จะมาร้องไห้ทุกที ร้องไห้แล้วก็ให้แก้ไขใหม่ ถ้าแก้ไขได้นะ ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็อยู่กันตามประสาไปอย่างนั้น แต่ถ้ายังเข้มแข็งอยู่ ประสาเรา เราเป็นสุภาพบุรุษ เราเป็นนักเหตุผลทั้งหมดใช่ไหม เราทำอะไรนี่ เราก็ต้องเอาเหตุผลมาเป็นตัวตั้ง แล้วก็พยายามต่อสู้ พยายามเต็มที่ใช่ไหม ให้ถึงเหตุถึงผล ให้ถึงที่สุดนะ มันจะได้จบกันไง เราอย่ามาครึ่งๆ กลางๆ อะไรที่เป็นเหตุเป็นผลนี้ เราต้องพิสูจน์ เราต้องพิจารณา แล้วทำให้ถึงที่สุดเลย ผิดถูกนี้เรารู้เลยแล้วจบกัน เอากันจริงๆ จังๆ อย่างนี้แล้วมันจะรู้ผล

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันปล่อยแล้ว เราก็ซ้ำไปๆๆ อย่างพิจารณากายนี่ถูกต้อง แต่ก็ต้องซ้ำอีกแหละ ซ้ำ ซ้ำ ซ้ำ พอถึงที่สุดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกหมด โสดาบันจะเป็นเองบนหัวใจเรา พระพุทธเจ้าเป็นคนรับรู้ พยากรณ์ คือรับทราบเท่านั้นเองว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่เป็นหรือไม่เป็นนั้น เราต้องเป็นก่อน

แหม.. เอาพริกเข้าปากแล้วเคี้ยวนะ แล้วไปถามคนอื่นว่า “เผ็ดไหม เผ็ดไหม”

เอ็งเคี้ยวอยู่ เราเคี้ยวพริกอยู่ในปาก ความเผ็ด ความร้อนมันอยู่ในปากเราใช่ไหม แล้วเดินไปถามเขาว่า “เคี้ยวพริกนี้เผ็ดไหมครับ พริกนี้เผ็ดไหมครับ”

นี่ไง ถ้าเราเป็นโสดาบัน เหมือนเราเคี้ยวพริก คือ จิตมันเป็น มันเผ็ด มันร้อน ไอ้คนที่ว่าจะเผ็ดหรือไม่เผ็ด มันอยู่ข้างนอก การไปหาครูบาอาจารย์มันอยู่ข้างนอก แต่ไอ้เผ็ดไอ้ร้อนนี้ มันอยู่ในใจเรานะ นี่โสดาบัน เราเป็นที่ใจเรา เป็นก่อน เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วถูกต้องเลย อันนี้พูดถึงการพิจารณากาย

ทีนี้การพิจารณาเวทนานะ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ถูกแล้ว ถ้าไม่มีพุทโธนะ การพิจารณาเวทนานี้ มันมีเวทนากาย เวทนาจิต เวทนากายคือมันรับรู้ความเจ็บปวด ความกระทบของร่างกาย

เวทนาจิต มันอยู่เฉยๆ ของมัน แต่มันก็เศร้าโศกเสียใจเห็นไหม เวทนานี้ มันมีเวทนากาย เวทนาจิต เวทนาจิตคือเวทนาในหัวใจของเรา ดูสิ ไม่มีใครทำอะไรเราเลยนะ ก็เจ็บช้ำน้ำใจ เจ็บ.. เจ็บ.. โอ๊ย.. ทำไมถึงเจ็บล่ะ ไม่มีใครทำอะไรเราเลย เจ็บ.. มันเจ็บใจ ไม่มีใครทำอะไรเราเลยนะ เจ็บ.. มันเจ็บหัวใจเห็นไหม เจ็บกว่าร่างกายอีกนะ ร่างกายเจ็บก็ยังรักษาแผลหาย แต่เจ็บใจนี่ โอ๊ย.. เจ็บ.. เจ็บอยู่แล้ว แล้วใครทำล่ะ ไม่มีหรอก เจ็บ..

เวทนากาย เวทนาจิต เวทนาจิตต้องเอาธรรมะรักษานะ แต่ทีนี้เวลาเป็นจิตนี้ มันหาได้ยาก เวลาธรรมะรักษามันหาไม่ได้ ถ้าเราทำจิตให้สงบนี่ เวทนากายมันจะเห็น มันเป็นการฝึกซ้อมของจิตไง จิตนี่มันมาฝึกซ้อมที่เวทนานี้ เรากำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันสงบเข้าไป ถ้ามันต่อสู้กับเวทนาได้ ถ้าการต่อสู้กับเวทนาครั้งแรก แล้วกำลังยังไม่พอ การต่อสู้เวทนานั้น ก็เหมือนเอาเด็กไปต่อสู้กับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่หลอกหมดเลย เอายาพิษมาให้ เอาน้ำตาลเคลือบนะ บอกเด็กเลย อันนี้ทอฟฟี่อร่อยมาก พอให้เด็กกินนะ เด็กตายเลย

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อจิตของเรานี้ยังเป็นเด็กอ่อน เด็กของเรายังสู้ไม่ไหว เราจะออกไปสู้กับเวทนาเลย มันไม่ไหว ฉะนั้นเราต้องกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมาก่อน อย่างไรก็แล้วแต่ ให้คนที่มีกำลังพอสูสีกัน ให้ออกไปปะทะกัน ออกไปสู้กัน ให้คนที่จิตใจเข้มแข็งพอจะสู้กันได้ เพราะกิเลสมันขี่ใจเรามาตลอดนะ กิเลสนี่มันขี่ใจเรามาตลอด กิเลสคืออวิชชา อวิชชาคืออะไร อวิชชาคือความไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกตัวเองนะ แต่รู้ไปหมดทุกอย่างเลย อวิชชาคือความไม่รู้สึกตัวมันเองนะ

เขาบอกว่าอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้อะไร รู้นะมึง ไม่รู้เขาด่ากู ทำไมกูเจ็บล่ะ ใครด่ากู กูสะดุ้งทุกทีเลย ไหนว่าไม่รู้ รู้ทั้งนั้น ใครว่ากูก็รู้ ไหนว่าอวิชชาบอกเลย ไม่รู้ เขาด่าแล้วเราเจ็บไง แต่ถ้ามีวิชชาเขาด่าเราแล้ว เรารู้หรือไม่รู้ รู้ รู้แต่กูไม่เจ็บ รู้ว่าเขาด่าด้วย รู้ถึงความรู้สึกว่า เขาด่าด้วยเหตุผลอะไรด้วย เขาด่าด้วยอะไร คือรู้สึกตัวไง แต่ถ้าไม่รู้สึกตัวนะ เขาด่าเรานี่เพราะเรากับความรู้สึกของเราเป็นอันเดียวกัน ก็ออกไปรับรู้ข้างนอก แต่ตัวอวิชชามันรู้ที่เขาด่า แต่ตัววิชชาคือรู้สึกตัวเราเอง มันเรื่องธรรมดาๆ พระพุทธรูปยังมีคนติเตียนเลย สวยไม่สวย สิ่งต่างๆ ไม่มีใครพอใจสักคนหนึ่ง ไอ้ที่เขาด่า บางทีเขาด่ามา เอ๊ะ! มันได้ข่าวมาผิดหรือเปล่า อธิบายให้มันฟัง เดี๋ยวมันยังมาขอโทษเลย เพราะมันฟังข่าวมาผิด เห็นไหม

อวิชชาคือความไม่รู้ กิเลสอย่างนี้มันขี่เรามานาน พอขี่เรามานาน เวลาเราออกไปพิจารณาเวทนา มันก็จะพิจารณาเวทนาด้วยอวิชชาไง ด้วยอวิชชา อวิชชาคือว่ารู้ธรรมะของพระพุทธเจ้าหมดเลย เวทนาไม่ใช่เรา ชีวิตก็ไม่ใช่เรา อะไรก็ไม่ใช่เรา ทำให้เป็นความว่าง รู้ไปหมดเลย แต่ตัวมันไม่รู้เรื่องนะ เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่รู้

ถ้ารู้ทำไมไม่เข้าใจเวทนาจริงล่ะ ถ้ารู้ เวทนาเกิดทำไมแพ้มันล่ะ เห็นไหมตัวจิตมันไม่รู้ ถ้าตัวจิตมันไม่รู้ ถึงต้องกำหนด พุทโธ พุทโธ ก่อน ให้จิตมันแข็งแรง ให้จิตเข้มแข็งขึ้นมา เวลาเวทนามันเกิด ถ้าเราไปสู้เลย เหมือนเด็กๆ ออกไปสู้ มันสู้ไม่ไหว ถ้าสู้ไม่ไหวนะ พอเวทนามันเกิดใช่ไหม เราเป็นเด็กใช่ไหม เขาว่าเวทนาไม่ใช่เรา ขอดูหน้ามันหน่อยนะ กูไปดูเวทนานะ อู้ฮู.. มันก็เจ็บเป็น ๓ เท่า ๔ เท่า ๕ เท่า ไปดูหน้ามันนะ มันกระทืบแบนเลย มันกระทืบเอาตายเลยนะ พอมันกระทืบเอาตาย ตายไปแล้วยังไม่รู้จักเลยว่ากูตายไปแล้วนะ ลุกหนีไปแล้ว เลิกไง ไม่ทำดีกว่า... ไม่ไหวเว้ย... ไหนพระพุทธเจ้าบอกภาวนาแล้วดี ใครทำบุญแล้วได้บุญ นั่งภาวนาอยู่นี่เกือบตาย... ไม่เห็นได้อะไรเลย

ภาวนาด้วยความไม่เข้าใจของเรา ภาวนาด้วยมุมมองของเรา เรามีมุมมองผิด มุมมองแบบไปอ้อนวอนขอแบบพระเจ้า ไปศาลเจ้าเห็นไหม ขอสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาอ้อนวอนขอ นี่ก็เหมือนกันพระพุทธเจ้าบอกว่า “เวทนาไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา” พระพุทธเจ้าพูด ไม่ใช่เราพูด พระพุทธเจ้าพูด พระพุทธเจ้ารู้จริง แล้วเราไปอ้อนวอนขอพระพุทธเจ้าบอกให้เป็นอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องฝึกเราขึ้นมา เราจะฝึกเราขึ้นมาเห็นไหม เราต้องสร้างจิตใจให้เราเข้มแข็งก่อน

เห็นไหม เราพูดกับลูกศิษย์เมื่อวานนี้ เขามาพูด เขาบอกว่า “อู๋ย.. เขารู้ไปหมดเลย เก่งไปหมดเลย” เราบอกว่า “เอ็งต้องรู้แบบวิทยาศาสตร์บ้างสิ วิทยาศาสตร์คือรู้ด้วยเหตุด้วยผล” นี่ก็เหมือนกัน เวทนาของเรา รู้ให้ได้ด้วยเหตุด้วยผลสิ อย่าไปรู้ด้วยความจำจากพระพุทธเจ้ามา เราไปจำของพระพุทธเจ้ามานะ “มันต้องเป็นอย่างนี้ เวทนาไม่ใช่เรา เราต้องคุมเวทนาได้” อู๊ย.. รู้ไปหมดเลย นี่รู้ด้วยจำมา รู้ด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่รู้ด้วยวิทยาศาสตร์ ไม่รู้ถึงความเป็นจริงของเรา

ถ้ารู้จากความเป็นจริงของเรา เราต้องพุทโธ พุทโธ ให้ใจมันเข้มแข็งขึ้นมาก่อน พอใจเข้มแข็งขึ้นมาก่อน “อื้อฮือ ว่างหมดเลย แข็งแรงมาก ไหนเวทนาอยู่ไหน” ทีนี้เวทนาหาไม่เจออีก เวทนาหายหมดเลย เพราะมันเข้มแข็งขึ้นมา เวทนาไม่กล้าสู้ เวทนาวิ่งหนีอีก ก็เลยไม่เจอเวทนาอีก แต่พอจิตมันเสื่อมนะ เวทนามาอีกแล้ว ความสมดุลมันไม่มีเห็นไหม เราถึงต้องค่อยๆ ฝึกไง

สิ่งที่พูดนี่นะ มาจากประสบการณ์ เวลาเราเข้มแข็งขึ้นมา จิตดีก็หาเวทนาไม่เจอ เวลาจิตมันอ่อนแอ เวทนามันก็เหยียบหัวอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไรรู้ไหม ถ้าจิตมันเข้มแข็ง เวทนามันก็ไม่มีเป็นธรรมดา ถ้าจิตอ่อนแอเวทนามันก็เกิด ลองนั่งสิ วันไหนนั่งไม่ดี ฟุ้งซ่านนะ หงุดหงิดน่าดูเลย ฉุนเฉียวน่าดูเลย นั่นล่ะวันนั้นเวทนามันเต็มที่ ใจอ่อนแอ วันไหนใจเข้มแข็งนะ “อื้อฮือ! วันนี้ใจดีหมดเลย” ก็หาเวทนาไม่เจอ เห็นไหม ความสมดุลนี้เราหาไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นเราต้องฝึกไง กรรมฐาน พระป่าเขาฝึกกันอย่างนี้ไง พอพุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตสงบนะ พอจิตสงบ วันนี้จิตดี เวทนาไม่มี เห็นไหม พอจิตสงบ เราก็ดู ถ้ามันยังไม่มี ก็กลับมาพุทโธ อีกพักหนึ่ง พอนั่งไป ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมงเวทนามันต้องเกิดเป็นธรรมดา

ถ้าจิตเข้มแข็งพอเกิดขึ้นมานะ “ไหน? ไหนเวทนา ไหน? ไหนเลยนะ เวทนาเป็นอย่างไร กระดูกเป็นเวทนาหรือ เลือดเป็นเวทนาหรือ หนังเป็นเวทนาหรือ” ใส่เข้าไปเลย ถ้าหนังเป็นเวทนา คำพูดอย่างนี้ มันจะพูดก็ต่อเมื่อจิตสงบนะ เวลาจิตสงบ มันใช้ปัญญามันสมดุล มรรคญาณมันเกิดกับจิตดวงนี้ กับจิตดวงที่สงบนี่ พอจิตดวงที่สงบ ภพไง กิเลสอยู่ที่ใจเห็นไหม กิเลสอยู่ที่ใจ ข้อมูลอยู่ที่ใจ ความทุกข์อยู่ที่ใจ ความไม่รู้อยู่ที่ใจ พอใจมันสงบมันหมุนออกไป พอปัญญาเกิดอย่างนี้ มันเกิดเป็นปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม พอคำตอบมันตอบมาปั๊บ ใจนี้มันจะปล่อย วูบ! วูบ! เห็นไหม นี่ปัญญาเกิดอย่างนี้

มันจะวูบเดี๋ยวนั้นเลย มันจะวูบขึ้นมากับจิตเดี๋ยวนั้น เพราะจิตมันเป็นสมาธิ เพราะความหลงผิดมันอยู่ที่จิต แล้วพอจิตมันคิด ก็เหมือนคนสำนึก เหมือนคนทำผิดแล้วมันสำนึกผิด จิตมันหลง จิตมันไม่รู้ พอจิตมันไม่รู้ จิตมันออกวิปัสสนา พอจิตมันรู้ ใครสอนก็ไม่เท่ากับตัวเองสอนตัวเอง ใครสอนก็ไม่เท่ากับจิตสอนจิต ใครมันจะดีกว่าจิต ถ้าจิตมันรู้จิตมันปล่อยพั้บ! โอ้โฮ! ความว่างอันนี้กับความว่างที่พุทโธๆ มันต่างกันเลย นี่เพราะปัจจุบัน เราจะบอกคำว่าปัจจุบันนี้ กับที่เราคิดกันว่าขันธ์ไม่ใช่เรา สติไม่ใช่เรา สมาธิไม่ใช่เรา อันนี้เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า

ถ้าใครเห็นปัจจุบันธรรมอย่างนี้นะ ธรรมะของพระพุทธเจ้านะ หลวงปู่มั่นพูด หลวงตาพูดนะ “สาธุ.. พระพุทธเจ้านั่งอยู่ต่อหน้าก็ไม่ถามนะ เพราะมันอันเดียวกัน” แต่นี่เพราะอันนี้มันกลวงนะ คำหนึ่งก็พระพุทธเจ้า สองคำก็พระพุทธเจ้า ต้องเอาพระพุทธเจ้ามาค้ำ เอามาเป็นแบ็คไว้ก่อน ไอ้ตัวนี้มันจะผิดจะชั่วจะดีก็ช่างมันเถอะ ขอบอกว่าเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นปัจจุบันธรรมนะ “สาธุ ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เป็นธรรมะพระพุทธเจ้า ส่วนอันนี้เป็นธรรมะของเรา เรารู้จริงๆ เราเห็นจริงๆ เราพูดได้จริงๆ แล้วเราพูดได้ครบวงจร”

ถ้าเราไม่รู้ไม่เห็นครบวงจรอย่างนี้ สิ่งที่เป็นสติมันจะเริ่มทำความสงบใจอย่างไร แล้วใจที่สงบแล้ว ถ้าใจสงบไม่เห็นขันธ์ ไม่เห็นเวทนา เพราะว่าจิตมันดีแล้ว กิเลสมันหลบหมดเห็นไหม หลวงตาจะบอกประจำ การวิปัสสนาการต่อสู้กับกิเลส การขุดคุ้ยหามันนี่อันหนึ่ง การต่อสู้กับมันอีกอันหนึ่ง การหามันไง พอจิตสงบจะไม่เห็นมันหรอก จิตสงบจะไม่เห็นมัน วันไหนใครจิตดี เหมือนสิ้นเดือน ถ้าใครสิ้นเดือนนะ เงินเต็มกระเป๋านะ ห้างไหนก็จะไปเดินนะ เพลินมาก สนุกมาก แล้วพอปลายเดือนก็นั่งคอตกเลย

นี่ก็เหมือนกันพอจิตมันดีนะ เวทนามันหายเกลี้ยง กิเลสมันหลบหมด มันไม่กล้าสู้หน้าเลย มันรู้ว่าธรรมาวุธมันแรง ธรรมาวุธมันจะเชือดเฉือน ธรรมาวุธมันจะฟันคอเรา มันจะหลบทันที กิเลสฉลาดมาก หาไม่เจอนะ

ฉะนั้นการขุดคุ้ยหานี่เป็นงานอันหนึ่ง ถ้าหาเจอแล้วเราแยกแยะอีกอันหนึ่ง นี้เป็นหลักการของกรรมฐาน เป็นหลักการของการต่อสู้ เป็นหลักการของการทำวิปัสสนา

นี่เวทนาเห็นไหม ถ้าต่อสู้เวทนาต้องต่อสู้อย่างนี้ ค่อยๆ ไง ไม่ใช่ว่าเราจะต่อสู้กับเวทนา แล้วเราก็ไปเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาตั้งไว้ก่อนเลยนะ แล้วจะเดินตามนี้ เดี๋ยวผิด เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามานะ เอาปริยัติ เอาทฤษฎีมาเต็มทั้งดุ้นเลยนะ แล้วจะทำตามนั้นนะ ไม่ได้กิน แล้วบอกว่า “ก็ทำตามพระพุทธเจ้าสอน ก็พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ นะ ถูกต้องตามธรรมะของพระพุทธเจ้าเลยนะ พุทธพจน์เลยนะ พุทธพจน์”

ก็นั่นพุทธพจน์ แต่กิเลสเป็นของมึง อยู่ในใจมึง คนละเรื่องนะเว้ย นี่ปัจจุบันธรรม สาธุ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้สาธุนะ พุทธพจน์ ธรรมของพระพุทธเจ้า ใช่ นี่ไงปริยัติ ศึกษาปริยัติแล้ววางไว้ ถ้าปฏิบัติต้องปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ถ้าเอาปริยัติมาในวงปฏิบัติ มันจะเกิดขึ้นมาพร้อมกับความเห็นของเรา ความเห็นของกิเลส มันไม่เป็นตามนั้นหรอก มันเป็นวิปัสสนึกหมดนะ นี่การต่อสู้กับเวทนา

เคลียร์ไหม วันนี้ตอบดีมากเลย วันนี้ให้คะแนนตัวเองเห็นไหม มีแต่คนด่า ไม่มีคนชมเลย ต้องชมตัวเอง เวลาเขาด่าก็ยังหัวเราะเว้ย เวลาไม่มีใครชมก็ขอชมตัวเอง วันนี้ให้คะแนนตัวเอง ประธานสภาห้ามโหวต ลงคะแนนให้ตัวเองได้อย่างไร ลงคะแนนตัวเอง คะแนนนี้มีค่าเท่ากับศูนย์ ไม่นับ ประธานสภาให้คะแนนไม่ได้ มีอะไรอีกไหม ถ้าไม่มี สาธุเนาะ เอวัง