ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ช่องว่างคุณธรรม

๗ มี.ค. ๒๕๕๓

 

ช่องว่างคุณธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาปฏิบัติ พวกเราคิดกันเองว่าการปฏิบัติเห็นไหม คือปัญญาชนถ้าเราศึกษาแล้ว เราจะทำได้ตามที่พระพุทธเจ้าสอน แต่ความจริงมันไม่ใช่ ถ้าความจริงมันใช่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะไม่ท้อใจ พระพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้แล้วนะ สอนด้วยแบบทางวิชาการ สอนแบบนั้นเหมือนสอนเด็กนี่ โอ๋ย ง่ายมากเลย แต่พระพุทธเจ้าท้อใจเลยนะ

มันเหมือนกับทางโลก ทางโลกเห็นไหม ดูสิตอนนี้มีปัญหากันทั่วโลกเลย ว่าช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ช่องว่างมันถ่างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ คนรวยจะรวยไปมากมายมหาศาลเลย แล้วคนจนก็จะจนทุกข์จนเข็ญใจเลย นี่ช่องว่างของคนรวยและคนจน แล้วรัฐบาลทุกประเทศ แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็พยายามออกกฎหมายมาเพื่อความเสมอภาค แต่ความเสมอภาคนั้นในอเมริกามันมีพวกกลุ่มชนที่มันไร้บ้าน พวกไร้บ้านทุกข์มาก ไม่มีบ้านอยู่นะ แล้วเวลาอากาศมันขนาดไหน แล้วอย่างเช่น ที่ตกจากรัฐสวัสดิการของเขา มันยิ่งลำบากใหญ่เลย เห็นไหมช่องว่างของคนรวยกับคนจน แล้วทุกประเทศมีหมดเลย

เพราะมันเป็นเรื่องของโลก มันเป็นเรื่องของกรรม มันเป็นเรื่องของวุฒิภาวะ มันเป็นเรื่องของสังคม มันเป็นอย่างนั้น มันจะให้ความเห็นเหมือนกันเสมอกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มีมากมีน้อยนี่ ประสาเราว่าปัญหาสังคมจะไม่มีวันหมดไปในเมื่อยังมีมนุษย์อยู่ ถ้ามีมนุษย์อยู่ปัญหาสังคมจะมีอย่างนี้ไป ถ้ามีอย่างนี้ไปเพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องของเวรของกรรม

คนเรานี่ แม้แต่ลูกของเรา ลูก ๔-๕ คนเห็นไหม ซื้อของไปให้เหมือนกันหมดบางคนพอใจบางคนไม่พอใจนะ แล้วหาว่าพ่อแม่รักไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่ของซื้อมาเหมือนกันเลย แต่มันด้วยความผูกพันของเด็ก เด็กมันมองเห็นว่าสิ่งที่อยู่ที่มือไม่มีราคาไม่มีคุณค่า ไอ้สิ่งที่อยู่ในมือคนอื่นนี่มีคุณค่า นี้คิดเกิดจากอะไร เกิดจากความเห็นของเขาเห็นไหม เกิดจากความพอใจของเขาเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งต่างๆ อย่างนี้มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องของสังคม สังคมมันเป็นอย่างนี้ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนะ นี่มันเป็นอย่างนี้มา แล้วทุกรัฐบาล บุคคลที่มีคุณธรรม คนที่มีความดีงาม เขาต้องแก้ไข ทุกคนพยายามแก้ไขตรงนี้ ถ้าแก้ไขตรงนี้มา เขาแก้ไขได้ไหม แต่ก็พยายามแก้ไขกัน พยายามทำคุณงามความดีกัน พยายามเพื่อสมานฉันท์ เพื่อความเสมอภาค เพื่อความเป็นธรรม

แต่ว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า อจินไตย ๔ กรรมเป็นอจินไตย กรรมเป็นอจินไตยมันไม่มีเหตุมีผล ไม่มีที่มาที่ไป มันมีการกระทำของมันมา มันมาจากไหน มันก็มีการขาดตกบกพร่องเป็นธรรมดา ดูสิ ดูพระสมัยพระพุทธกาลพระอรหันต์เห็นไหม ฉันข้าวไม่เคยอิ่ม ฉันข้าวไม่เคยอิ่มนะ แล้วหมู่คณะช่วยกันหมดนะ เอ้า บิณฑบาตอยู่ตอนท้ายใช่ไหม คนใส่บาตรก็ข้าวหมด วันนี้อยู่ตอนท้าย เอ้าพรุ่งนี้เปลี่ยนใหม่ เอ้าไปอยู่ข้างหน้า มันเห็นไหม กรรมนะ คนใส่บาตรก็บอกเมื่อวานเราใส่บาตรนะ เราใส่บาตรจากข้างหน้าไปข้างท้าย ข้างท้ายหมด วันนี้เอาใหม่ ข้างหน้าไม่ใส่เขาไปใส่ข้างท้าย

ไอ้หมู่นั้นจะช่วยกันก็เอาพระไปไว้ข้างหน้า ไอ้คนตักบาตรก็มีความคิดเห็นจะแก้ไขเรื่องเมื่อวานนี้ อดอีก จนร่ำลือถึงพระสารีบุตรเห็นไหม พระสารีบุตรก็ไปจับบาตรไว้จนฉันข้าวอิ่มมื้อสุดท้าย แล้วก็ตายไป ทั้งๆ ที่เป็นพระอรหันต์นะ ดูเวรกรรมสิ เวรกรรมมันมีของมันเห็นไหม นั้นเวรกรรมมันมีของมัน การกระทำมาคนจะเจือจานขนาดไหน ปัญหาสังคมมันก็มีของมัน

แต่นี้ ย้อนกลับมาเรื่องการภาวนา ถ้าย้อนกลับมาเรื่องการภาวนา ช่องว่างระหว่างความเห็น ช่องว่างระหว่างทิฏฐิ ระหว่างโลกกับธรรมน่ะมันถ่างมากกว่านั้นอีก มันถ่างมากกว่านั้นอีกแล้วเวลาเราสอนเห็นไหม ดูสิ พระพุทธเจ้า หรือครูบาอาจารย์เราก็พยายามอย่างนี้แหละ พยายามจะให้เสมอภาคให้มีความเห็นเหมือนกัน แต่มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะ เพราะความเห็นของใจ ของกรรม มันแตกต่างกัน ภาวะความเห็นมันแตกต่างกัน แล้วมันแตกต่างกันแล้วเวลาสอนมันก็แก้ไขตามนั้นน่ะ

ในภาคปฏิบัติ วิปัสสนาธุระมันเหมือนการรักษาโรคเลย เหมือนหมอ หมอนี่เวลาคนไข้มา เขาจะดูตามอาการไข้นะ อาการไข้ว่าไข้มันควรจะรักษาอย่างไร ไม่มีหรอกที่ว่า.. ไม่ใช่ฉีดวัคซีนนี่ ถ้าฉีดวัคซีนนะ ฉีดวัคซีนยังไงก็ฉีดวัคซีนอย่างนั้น มันหลอกลวงได้ ฉีดวัคซีนแต่ราคาของมันเห็นไหม ฉีดทั้งประเทศเลย ไอ้นั่นคือการฉีดวัคซีน แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมามันอยู่ที่อาการของโรคใช่ไหม ว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา โรคมันจะเป็นยังไง มันรักษายังไง โรคอย่างใดก็รักษาตามอาการของโรคนั้น โรครักษาหายหรือรักษาไม่หายเราก็รักษากันไป บางคนรักษา โรคบางอย่างรักษา โรคร้ายแรงขนาดไหน ถ้าเขาไม่ถึงที่สุด เขามีบุญกุศลของเขา รักษาก็หาย โรคที่ไม่น่าจะเป็น ไม่น่าจะเสียชีวิตเลย โรคเรื่องเล็กน้อยเขาก็เสียชีวิตได้ เวลาเขาหมดอายุขัยของเขา นี่เห็นไหม

แต่นี้เรื่องของการภาวนาก็เหมือนกัน การภาวนาเริ่มต้น ถ้าจิตมันมีความเห็นอย่างไร แม้แต่ทำความสงบมันก็แตกต่างหลากหลาย แล้วพอความแตกต่างหลากหลาย ถึงบอกว่าพระพุทธเจ้านี่สุดยอดมากเลย สุดยอดมากเพราะอะไร เพราะวางไว้เห็นไหม กรรมฐาน ๔๐ ห้อง เพราะอะไร เพราะมันแตกต่างหลากหลายใช่ไหม แต่ถ้ามันสงบเข้ามาเห็นไหม กรรมฐาน ๔๐ ห้อง กรรมฐานการทำความสงบ ๔๐ วิธีการ ถ้าสงบเข้ามาคือหนึ่งเดียว สมาธิคือหนึ่งเดียว จะมาแขนงไหนก็แล้วแต่ พอสงบก็เข้ามาอันเดียว

นี่ไงความเสมอภาค ความเสมอภาคโดยสมาธินะ ความเสมอภาคด้วยโสดาบัน พระโสดาบันก็เหมือนกัน สกิทา อนาคา อรหันต์นี่เหมือนกันหมดเลย เหมือนกันสำเร็จเป็นขั้นเป็นตอนมีหนึ่งเดียว มีหนึ่งเดียว แต่วิธีการเข้ามานี่มันหลากหลาย นี้พอหลากหลายขึ้นมา ดูสิ ครูบาอาจารย์เห็นไหม ดูหลวงปู่มั่นเวลาท่านจะสอนแต่ละองค์นะ ไม่เหมือนกันเลย

หลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำ ถ้าพระองค์ไหนปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์นะ จะถามถึงองค์นั้นเลย จิตเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร ท่านแก้เป็นบุคคลๆ ไง ไม่เหมารวม ไม่เหมารวม พอแก้เป็นบุคคลปั๊บ พระ ก. พระ ก. จิตเป็นยังไง พอจิตเป็นยังไงนี่ อย่างนี้เป็นจริตนิสัยโดยเฉพาะตัว ถ้าจริตนิสัยโดยเฉพาะตัวแก้กันเฉพาะตัว เฉพาะตัวเลย แก้กันที่นั่นเลย

เสร็จแล้วสั่งรวมพระ พอสั่งรวมพระ พอพระขึ้นศาลาปั๊บตอนนี้เทศน์ละ เทศน์เห็นไหมเป็นธรรม ธรรมหมายถึงฝน ฝนตกทั่วฟ้า พอฝนตกทั่วฟ้า ผู้ที่บ้านเรือนประชากรใครมีความสนใจจะกักน้ำฝนไว้ใช้ ใครมีแหล่งที่เก็บกักน้ำฝน บางคนมันนอนไม่ตื่น มันอยู่ในบ้านนี่ฝนตกก็ช่างหัวมัน เวลาฝนตกเสร็จแล้วมันเที่ยวเอาภาชนะไปขอน้ำเขาใช้ นี่เวลาฝนตกทั่วฟ้า หมายถึงคนประชากรทั้งประเทศฝนตกทั่วฟ้า แล้วแต่ผู้ที่จะรับได้รับไม่ได้เห็นไหม

ฉะนั้นเวลาท่านแก้ไขของท่านนะเป็นเฉพาะบุคคล นี่หลวงตาเล่าให้ฟังประจำ เวลาพระออกมาจากป่า จะขึ้นไปส่วนตัวก่อน จะขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นเลย หลวงปู่มั่นก็จะบอกว่า เอ้า พูดมา พูดมาว่าไปธุดงค์ทางนี้ ไปธุดงค์คราวนี้ กลับมานี่ได้ประสบการณ์อย่างใดมาบ้าง จิตมันออกไปแล้วภาวนาไปแล้ว ภาวนาแล้วมันดีขึ้นหรือมันเลวลง ไม่ใช่ว่าออกไปภาวนาแล้วมันจะดีขึ้นตลอดไปนะ บางทีจิตมันเลวลง เลวลงมากเพราะอะไร เพราะไปเจอผลกระทบ ไปเจอภาวนาไปแล้วมันมีสิ่งอะไรบีบคั้น มันติดใจอะไรเข้ามา มาหาท่าน ท่านก็แก้ให้ ก็แก้ให้เสร็จแล้วมันเป็นผลบวก ผลบวกไปภาวนาแล้วมันดีขึ้น ไปเจอเห็นสิ่งนั้น ที่นั่นเจอสิ่งนั้น ที่นั่นเจอสิ่งนี้

สถานที่ สถานที่มันมีเป็นมงคล เป็นอมงคล เป็นมงคลหมายถึงว่ามีเทวดาส่งเสริมเช่น หลวงปู่มั่นท่านเล่าให้ฟังเห็นไหม ท่านอยู่ถ้ำยาวน่ะ เดินจงกรม เดินจงกรมอยู่ มันมีรุกขเทวดา มันเป็นพวกเทพ รุกขเทวดาหรือพญานาค ท่านบอกว่าเดินจงกรมอยู่ หลวงปู่มั่นตัวท่านเองท่านเดินจงกรมนะ แต่นี้พอเดินจงกรมนี่มันไม่พอใจ เทพ พญานาคไม่พอใจ ก็คิดติในใจ ไม่ได้พูดนะคิดติในใจ สมณะอะไรเนี่ย เดินจงกรมเหมือนกับม้าแข่ง เสียงมันชัดไง เหมือนกับม้าแข่ง นี่หลวงปู่มั่นท่านรู้วาระจิต

เขาไม่ได้พูดออกมาเป็นคำพูดนะ เขาคิดในใจของเขา นี้หลวงปู่มั่นน่ะท่านเป็นพระที่มีคุณธรรม ท่านเป็นห่วง ท่านเป็นห่วงเป็นใยว่าผู้ที่ติเตียนท่านมันจะมีบาปมีกรรม ท่านก็สำรวมระวังขึ้นเพื่อจะไม่ให้เขาคิดขึ้นมา เพื่อเป็นอกุศลในใจของเขา ก็เดินให้มันแบบว่าสำรวมระวังมากขึ้น ไอ้พญานาคตัวนั้นมันคิดในใจใหม่นะ แหม..เวลาเดินก็เดินอย่างม้าแข่งเลย เวลาเดินตอนนี้นะเดินแบบคนป่วย เดินสำรวมระวัง เหมือนคนป่วย

เดินโดยความองอาจกล้าหาญมันก็บอกว่าเป็นม้าแข่ง เวลาเดินด้วยความสำรวมระวังมันก็บอกว่าเป็นพระป่วย นี่ท่านรู้ของท่านเห็นไหม ท่านก็บอกว่า ท่านก็เลยแก้เขาแล้วนะ เดินเป็นปกติเขาหาว่าเป็นม้าแข่ง เดินสำรวมระวังเขาก็บอกว่าเป็นพระป่วย ท่านก็เทศน์เลยที่เขามานี่ เขาก็มาเพื่อปฏิบัติ เพื่อจะละความทุกข์ ปฏิบัติละภพละชาติ ท่านน่ะมาคอยแต่จับผิดเขา ท่านเองน่ะ ท่านคิดว่าท่านเอาตัวเองรอดแล้วได้หรือ ท่านน่ะควบคุมตัวท่านได้ไหม ท่านรู้จักความคิดของท่านไหม ท่านเที่ยวดูแต่คนอื่น ท่านไม่ดูใจของท่าน โอ๋ เทศน์จนก้มลงกราบนะ

เพราะส่วนใหญ่แล้วพวกทิฏฐินี่เวลาคิด เขาคิดประสาของเขา แต่เวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศนาว่าการนะ เทศน์ด้วยใจ พอเทศน์ด้วยใจก้มลงกราบเลยนะ แล้ววางตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหาเลย นี่พูดถึงมุมมองนะ เวลาไปธุดงค์เข้ามา เวลาไปธุดงค์กลับมา มันบวกหรือลบ ถ้ามันบวกขึ้นมานี่มันบวกเพราะเหตุใด ถ้าบวกขึ้นไป พอบวกแล้ว บวกนะ ความดีที่ยังดีกว่านี้ยังมีอยู่เห็นไหม ท่านก็จะแนะให้ทำภาวนาให้สูงขึ้นไป

พอสูงขึ้นไปแล้ว ท่านเทศนาว่าการส่วนตัวก่อน เสร็จแล้วก็รวม ส่วนใหญ่แล้วพอมีพระมา พอธรรมสากัจฉาได้สนทนาธรรมกันแล้ว ท่านจะแก้ส่วนตัว แก้ส่วนตัวเสร็จแล้วท่านก็จะรวมพระแล้วเทศน์ พอเทศน์ขึ้นมาแล้วเนี่ยมันเป็นประเด็นไง คนที่เป็นเจ้าของปัญหานั้นมันก็ได้ สิ่งที่แก้ส่วนตัวนั้นคือเฉพาะ แต่เวลาท่านเทศน์ ฝนตกทั่วฟ้า มันมีแตกแขนงแยกย่อยไปอีกใช่ไหม

สิ่งแวดล้อม สภาวะแวดล้อมควรทำอย่างไร ควรตั้งจิตอย่างไร การวิปัสสนานี่ควรออกจิตอย่างไร แล้ววิปัสสนาไปแล้ว คนทำงานแล้วมันควรจะพักผ่อนยังไง มันควรจะดึงจิตกลับมา พอดึงจิตกลับมาแล้ว พอจิตมันมาพักผ่อนมีกำลังของมันแล้วได้ออกทำงานอย่างไร แล้วการทำงานต้องมีปัญญา มีการสำรวมระวัง ต้องมีสติปัญญา มีการแก้ไข มีความคมชัด ถ้ามันคมชัดมันชัดเจนเห็นไหม เป็นเอกภาพ จิตมันทะลุทะลวงออกไปได้อย่างไร ถ้ามันไม่มีคมชัด จิตมันไม่มีเอกภาพ มันคิดแตกแขนงไปเป็นหลายๆ ไง เราจะกลับมาทำความสงบอย่างไร แล้วออกไปต่อสู้อย่างไร

เวลาเทศนาว่าการพระ เวลาเทศน์มันจะมีเลศนัย มันจะมีอุบายวิธีการอยู่ในคำเทศน์นั้น แล้วถ้าคนมีวุฒิภาวะ คนที่มีหลักมีเกณฑ์นี่ เราทำเอง เราเป็นคนทำงานอยู่เอง จับผลัดจับผลูอยู่เนี่ย แล้วมีอาจารย์องค์หนึ่ง อาจารย์มาบอกวิธีการว่า จับอย่างนี้มันไม่มั่น จับให้มั่นคั้นให้ตาย จับให้มั่นคั้นให้ตายแล้วฟันให้มันถูกที่ ฟันถูกที่ ฟันอันนั้น วัตถุนี้มันอ่อนนิ่มมันควรใช้ระบบอย่างไร ควรทำอย่างไร เวลาพูดไปคนผู้เทศน์กับผู้ฟังจะรู้ทันกัน เพราะผู้ฟังทำอยู่กับมือใช่ไหม เราไปดึงมันกลับมา เราไปสัมผัสมากับมือเราใช่ไหม แล้วคนเทศน์จับมือเรากดอย่างนั้นเลย อย่างนั้นเลย เห็นไหม

นี่ ช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างความรวยกับความจน ช่องว่างระหว่างหัวใจ ระหว่างโลกกับธรรมนี่มันจะแคบเข้ามาๆๆ เห็นไหม ความแคบเข้ามา นี่ไงเวลาเทศนาว่าการ แต่พวกเราไม่เข้าใจ เราเป็นปัญญาชน โอ๋ย ศึกษาธรรมะแล้วเหมือนกัน ๆ อู๋ย ธรรมะ ว่างๆ นั่นมันเรื่องโลกๆ ไม่เป็นความจริงเลย ไม่เป็นความจริงเลย มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นความคิดของโลกๆ วิกฤตของโลก นี่คือโลกียปัญญา โลกียปัญญาคือเกิดจากภพ เกิดจากความรู้สึกของเราเกิดจากใจ มันเป็นสัญชาตญาณไม่ใช่โลกุตตรปัญญา โลกุตตรปัญญา โลกทัศน์เห็นไหม โลก-โลกทัศน์ โลกียะเกิดจากเราเห็นไหม โลกุตตระ โลกเหมือนกัน โลกเหมือนกัน แต่จะทันโลก

เพราะเขาถามมาในเว็บไซต์ เขาอ่านในเว็บไซต์ พอไปเจอเขาเอามาให้เราอ่าน บอกหลวงพ่อ เขาว่า สมมุติมันจะเป็นวิมุตติไม่ได้ แล้วทำไมหลวงพ่อบอกว่าเอาสมมุติแก้สมมุติละ เขาบอกฟังเว็บไซต์หลวงพ่อ ฟังไปฟังมาแล้วงงน่าดูเลย เดี๋ยวก็ใช่ เดี๋ยวก็ไม่ใช่ อยู่ในเว็บไซต์นั่นน่ะ

เวลาคนปฏิบัติเห็นไหม เวลาคนเริ่มก้าวเดิน เวลาก้าวเดินเราต้องให้ก้าวสูงขึ้น อย่างเช่นเราจะทำอย่างไรมันต้องพัฒนาขึ้นไป การพัฒนาขึ้นไปสิ่งเดิมคือไม่ใช่ละ คำว่าพัฒนามันต้องขึ้นจากฐานเดิมใช่ไหม คำว่าพัฒนาอย่างนั้น พัฒนาไปจากไหน พัฒนามาจากฐานเดิมไง ฐานคือจิตมันพัฒนาขึ้นไป จากฐานนี่พัฒนาขึ้นไป ถ้าไม่มีฐานมันจะพัฒนาที่ใด

แต่การจะพัฒนาขึ้นไปนี่มันต้องมาจากฐานเดิมคือต้องพัฒนาให้สูงขึ้นใช่ไหม ฉะนั้นฐานเดิมนั้นคือไม่ใช่ นี่คือสมมุติ นี่โลกียปัญญา แต่คนที่ไม่มีฐานเลย คนที่ไม่มีฐานเลยคนที่เร่ร่อน คนที่ไม่มีหลักเกณฑ์เลย มันต้องเอาสมมุติ หาฐานของตัวให้เจอไง ฐานน่ะคือสมมุตินะ ฐานคือตัวจิต ตัวจิตคือสมมุติหมด ความคิดต่างๆนี่สมมุติทั้งนั้น ต้องอาศัยสมมุติ อาศัยสมมุติค้นหาฐานของตัวเองให้เจอ ถ้าหาฐานตัวเองเจอแล้ว ฐานอันนี้ผิดละ ผิดเพราะอะไรเพราะมันเป็นสมมุติ แล้วถ้ามันเป็นโลกียปัญญาแล้วมันจะเป็นโลกุตตรปัญญาอย่างไร เห็นไหมคำว่าผิด เหมือนผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่ทำผิดผู้ใหญ่ก็ผิด แต่ถ้าเด็กนะ เด็กไม่เป็นไร เด็กต้องให้พัฒนาเป็นผู้ใหญ่เห็นไหม

ฉะนั้นคำว่าสมมุติ สมมุติหรือว่าโลกียปัญญาแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีโลกียปัญญาเลย ก็เหมือนกับเราไม่มีความสนใจในตัวเราเลย ไม่มีความสนใจในความดีเลย ถ้าเราไม่มีความสนใจในความดีเลยไม่มีความสนใจในการนับหนึ่งเลย เราจะนับหนึ่งกันไปได้อย่างไร ฉะนั้นคำว่าต้องอาศัยสมมุติไปก่อน อาศัยสมมุติไปก่อนคือต้องค้นหาตัวเราให้เจอก่อน ค้นหาตัวให้เจอคือค้นหาจิตเราให้เจอ ค้นหารากฐานของเราให้เจอ

ถ้ารากฐานของเราไม่เจอเห็นไหม การปฏิบัติถ้าไม่มีรากฐานของเรา การทำธุรกิจถ้าไม่เปิดบริษัท ไม่มีบัญชีใครจะทำธุรกิจได้ เอ็งทำอยู่คนเดียวใช่ไหมธุรกิจ เอ็งไม่ต้องสื่อสารกับใครเลยหรือ เอ็งไม่ต้องติดต่อทำธุรกิจกับใครเลยหรือ การทำธุรกิจมันก็ต้องมีเครือข่ายใช่ไหม มันต้องมีการโอนเข้าโอนออกใช่ไหม ถ้าเอ็งไม่มีบัญชีเอ็งจะทำธุรกิจไปได้ไหม ถ้าเอ็งค้นหาจิตของเอ็งไม่เจอ ยังไม่เจอตัวเรา ยังไม่มีการโอนเข้ามาที่เรา แล้วเอ็งจะทำบริษัทอะไร ก็ทำบริษัทเพ้อเจ้อไง ทำบริษัทในฝัน บริษัทในฝันน่ะมันไม่เป็นประโยชน์กับใครนะ ถ้าจะเป็นบริษัทมันต้องมีความจริงของมันใช่ไหม ถ้ามีความจริงของมันเห็นไหม ถ้าทำจิตสงบเข้ามา นี่ไง สมมุติ

เราต้องอาศัยสมมุติไปก่อน ไม่ใช่ยกหางนะ คือไม่ยกตัวตน ถ้าคนภาวนาเป็นมันจะรู้ว่าอะไรควรไม่ควร เริ่มต้นจากไหนไปไหน แต่ถ้าภาวนาไม่เป็นเริ่มต้นก็สมมุติไม่มี สมมุติไม่ดี สมมุติไม่เอา ก็มึงอย่าเกิดสิ เกิดมาในสมมุติทั้งนั้นน่ะ เอ้า ก็มึงอย่าเกิดมา ก็มึงเกิดมาแล้วมึงปฏิเสธชีวิตมึงได้ยังไง ในเมื่อสมมุติมันมี สมมุติมันมีตามสมมุติ แต่สมมุติน่ะ คำว่าสมมุติถ้าเราไม่สนใจเลยมันก็ไม่มี ไม่เป็นการเริ่มต้น ไม่เป็นการสิ่งที่เราจะเริ่มต้นจากที่ไหนเห็นไหม เดี๋ยวก็ว่าสมมุติใช้ได้ เดี๋ยวก็ว่าสมมุติใช้ไม่ได้ โอย ฟังไปฟังมาแล้วงงน่าดู

งงเพราะเวลาพูดมันก็มีการสอนเห็นไหม การสอนถ้าเราเป็นเด็ก สอนในโรงเรียนเห็นไหม อนุบาลก็อนุบาล ประถมก็ประถม มัธยมก็มัธยม แต่ในการเทศน์กัณฑ์หนึ่ง กัณฑ์หนึ่ง มันก็เริ่มต้นจากอนุบาลนี่ขึ้นไป จนถึงที่สุดแห่งการศึกษา แล้วมันก็วนเวียน มันก็ซ้ำ ซ้ำคือว่าเทศน์แต่ละกัณฑ์ๆ ไป แล้วเราอ่านไปเห็นไหม เราอ่านไปโดยที่ว่าไม่เห็นช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ไม่เห็นช่องว่างระหว่างโลกกับธรรม

ในเมื่อจิตมันมีช่องว่างแล้วเราไม่เข้าใจว่ามีช่องว่าง เราเข้าใจว่าเราเสมอภาค เราเข้าใจว่าความเข้าใจไม่ใช่ความจริง เราเข้าใจว่าเราเป็นปัญญาชน เราเข้าใจว่าเรามีการศึกษา เราเข้าใจว่าเรามีปัญญา แล้วเราก็ไปศึกษาธรรมะ แล้วบอกว่าหลวงพ่อนี่พูดผิด เดี๋ยวก็สมมุติใช้ได้ เดี๋ยวก็สมมุติใช้ไม่ได้ กลายเป็นว่าคนสอนผิดหมดเลยนะ ไอ้คนเข้ามาดูเว็บไซต์เก่งมากเลยรู้ไปหมดเลย แต่ไอ้คนสอนนี่ผิดไปหมดเลย ผิดเพราะช่องว่าง ช่องว่างความรับรู้ของเรา ถ้าเราศึกษามาแล้วเป็นธรรมะนะ เราศึกษาไว้ นี่เป็นธรรม เป็นแนวทาง แล้วเรากลับมาถมช่องว่างของเรา

ถมช่องว่างคือพยายามทำจิตของเราให้เสมอภาค คือจิตให้มันมีหลักมีเกณฑ์เข้ามา แล้วออกมาศึกษาธรรมะ ที่ครูบาอาจารย์ว่าเดี๋ยวก็ผิดเดี๋ยวก็ถูกน่ะ มันจะซึ้งมากนะ แล้วมันเห็นนะ เห็นอย่างที่ว่า เวลาพระออกไปวิเวกกลับมาหาหลวงปู่มั่น เห็นไหม เพราะเขาทำของเขามา เขาไปประสบของเขามา เห็นไหมดูอย่างเรา เราภาวนาเวลาภาวนาเสร็จมาหาอาจารย์มา ไอ้นั่นมันอะไร ไอ้นี่มันอะไร ทั้งๆ ที่เรารู้เราเห็นเราจับมาเองนะ เราจับงูเห่านึกว่าปลาไหลมาหาอาจารย์ ไอ้นี่งูเห่าหรือปลาไหลครับ ทั้งๆ ที่เราจับมาเห็นไหม แต่เราไม่รู้ว่างูเห่าหรือปลาไหลนะ เพราะจับมาอยู่กับมือก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีปัญญานะ เราศึกษา แล้วปัญญาของเรามีกำลังขึ้นไปนะ ปัญญามันจะรู้ของมัน มันจะรู้เลยอะไรคืองูเห่า อะไรคือปลาไหล

ถ้ามันรู้ มันรู้เองว่าเป็นงูเห่านะ รู้คือมันเกิดมาจากไหน รู้เกิดมาจากจิต จิตมันมีอวิชชา จิตมันไม่รู้มันก็ยึดมันก็กำมันมา แต่พอรู้มาจากจิต จิตมันสั่ง จิตมันสั่งสมอง จิตมันสั่งสมอง สมองพอสั่งควบคุมร่างกาย มันบอกนี่งูเห่านะ พอสมองมันสั่งมือมันสลัดทิ้งเลย สมองมันไม่สั่งเพราะสมองมันไม่รู้ ไม่รู้เพราะอะไร เพราะจิตมันไม่บอก จิตมันไม่บอกใช่ไหม มันก็ยึดมาเลย อันนี้ปลาไหลหรืองูเห่าครับ อันนี้ปลาไหลหรืองูเห่าครับ คือตัวเองสั่งเอง นี่ ปัจจัตจัง สันทิฏฐิโก

ในการประพฤติปฏิบัติมันจะเกิดสภาวะแบบนี้เห็นไหม นี่ไงช่องว่าง ช่องว่างระหว่างความมีและความจน ช่องว่างระหว่างหัวใจ ช่องว่างความไม่รู้ของใจ ถ้าใจมันมีช่องว่างของมันเห็นไหม แล้วไปศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้านะ โอ๋ย พุทธพจน์น่ะรู้ไปหมดเลยนะ แต่ช่องว่างในใจไม่มีใครเห็นไม่มีใครรู้ แต่ครูบาอาจารย์ของเราที่ประพฤติปฏิบัติมาจะรู้อย่างนี้เพราะอะไร เพราะดวงใจทุกดวงใจมีช่องว่าง

ทุกดวงใจมีช่องว่าง ไม่มีรูป รูปคือตัวจิต นามคือความคิด มีช่องว่างเพราะมีรูปมีนาม นามคือความว่าง มีรูปมีนามจิตก็พลิกหมุนไป พลิกหมุนไปก็เกิดภพเกิดชาติ ทุกจิตมีรูปมีนาม มีรูปคือจิต มีนามคือความว่าง แล้วมีความว่างเหมือนกับในสุญญากาศเห็นไหม ขวดน้ำมันมีความพร่องอยู่ น้ำในขวดนั้นพร่องมากพร่องน้อย ยิ่งน้ำในขวดพร่องมากเขย่าก็เสียงดังมาก ถ้าน้ำเต็มขวดมันไม่มีช่องว่าง น้ำเต็มขวดมันไม่มีช่องว่าง ไม่มีอากาศ มันเขย่าไม่ดัง นี่ไงทุกดวงใจมีช่องว่าง

นี้ช่องว่างของเราใครถมของมันได้ นี่พูดถึงช่องว่างตามวิทยาศาสตร์เลยนะ แต่พวกเราบอกเราไม่มีช่องว่าง เพราะทุกคนเก่งหมด กิเลสมันพาเก่ง มันไม่มีช่องว่าง พอไม่มีช่องว่างศึกษาธรรมะไป มันศึกษาไปโดยการสุตมยปัญญา ศึกษาโดยทฤษฎี ศึกษาโดยวิทยาศาสตร์ ศึกษาโดยกฎตายตัว ศึกษาโดยการจำ ศึกษาโดยความรู้โดยฉกฉวยลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้จ่ายลิขสิทธิ์ใครไง มันไม่เป็นความจริงของเรา

ถ้าเป็นความจริงนะ ดูพระนะ พระที่ปฏิบัติมีคุณธรรมนะ เขาพูดกันคำเดียวแล้วจบหมด แล้วพูดนะ พูดที่ไหน พูดเมื่อไหร่ เพราะอะไร เพราะมันพูดออกมาจากจิต จิตนี้มันรู้อยู่แล้วเหมือนกับเราจุดไฟกันมันสว่างอยู่แล้ว ไปตั้งที่ไหนมันสว่างตลอดไป ความรู้อันนี้ถ้ามันรู้แล้วมันจะรู้ตลอดไปใช่ไหม ถ้ามันรู้ตลอดไปพูดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าไปศึกษามาจำมา เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็จำได้ ถ้ามันมีความคิดมันขึ้นมา มันจำได้ขึ้นมามันก็ชัดเจน เดี๋ยวมันก็ลืม เดี๋ยวมันก็จำออกไป ก็ต้องทบทวนๆๆ เห็นไหม แต่ถ้าความจริงไม่ต้องทบทวน ถ้าทบทวนนั่นเป็นความปลอม เป็นสอง พลังงานกับความคิด

พลังงานเห็นไหม พลังงานคือตัวจิต ความคิดคือสังขาร แล้วมันรู้ที่สังขาร ไม่ใช่รู้ที่พลังงาน แต่เวลาถึงที่สุดแล้วน่ะ ถ้าจิตมันถึงที่สุดแล้ว มันชำระแล้วตัวจิตมันสะอาด ตัวพลังงานน่ะ ตัวพลังงานมันสะอาด ตัวพลังงานมันตัวรู้ไง นี่ไง ที่ว่าตัวจิตมันสั่งสมองไง จิตมันสั่งสมอง สมองมันก็ควบคุมร่างกายใช่ไหม แต่มันเร็วมาก เร็วมากจนเราไม่รู้มัน เราเห็นทางการแพทย์ เราเห็นโดยพลังงานไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้ามันจะสั่งของมันไปนะ มันจะสั่งของมันไป แต่ความจริงน่ะจิตมันเร็วขนาดนั้น

นี่พูดถึงความมหัศจรรย์ของจิต ความมหัศจรรย์ของการเกิดและการตาย ถ้ามันไม่มีช่องว่างนะ ช่องว่างมันไม่มี พอช่องว่างมีปั๊บ เราศึกษาขนาดไหน เราถึงบอกว่าในการประพฤติปฏิบัติทั้งหมด จะแนวทางใด จะการปฏิบัติของใครก็แล้วแต่ ผลของมันคือสมถะหมด ผลของมันคือสมาธิไง ผลของมันคือจิตอิ่มเต็มไง แต่อิ่มเต็มนี่จิตหนึ่ง จิตหนึ่งนี่กิเลสทั้งหมดเลย จิตหนึ่งนี้คือปุถุชน จิตหนึ่งนี้คือทำอะไรไม่ได้เลย จิตหนึ่งนี่คือยังไม่มีคุณธรรม

ว่างๆ ว่างๆ ไม่มีอ่ะ อยากจะใช้คำว่าไม่มีห่าอะไรเลย นี้พูดออกไปมันแหมพูดแรง ไม่มีห่าอะไรเล้ย ! ว่างๆ ว่างๆ ไม่มีอะไรเลย เพราะมันแก้ความเสมอภาคของจิตไง ไม่มีช่องว่างเฉยๆ แต่พอมีช่องว่างอย่างนี้ปั๊บ เพราะมีช่องว่างเราถึงศึกษาธรรมะไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าพูดถูก แต่ไปอ่านแล้วงงทุกคนเลย เอ๊..มันคืออะไร มันคืออะไร เพราะเรามันมีช่องว่าง พอมันมีช่องว่างมันก็เข้าใจไม่ได้

แต่ถ้าพอจิตมันสงบเข้ามาแล้วมันมีช่องว่างของมันใช่ไหม มันจะไปศึกษาสิ่งใดมานะ มันจะศึกษาของมัน แล้วค้นคว้าของมัน แล้วมันจะกลับมาดูแลตัวมันเอง แล้วชำระตัวมันเองเห็นไหม เพราะมันไม่มีช่องว่าง นี้พูดถึงเวลาการปฏิบัติ เพราะมันมีช่องว่างอย่างนี้ พอมีช่องว่างอย่างนี้แล้วเราก็เชื่อตามเขาไปอย่างนี้ พอเชื่อตามอย่างนี้มา มันถึงเวลาศึกษาไป การกระทำไป มันถึงเชื่อกันไปโดยความเชื่อ

ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้นะ ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ แต่ความเชื่อ ความเชื่อเป็นศรัทธา ศรัทธาความเชื่อนี่สำคัญมาก ศรัทธาความเชื่อทำให้เรามีการค้นคว้า ให้เรามีการกระทำ ให้เรามีความจงใจขึ้นมาศึกษา พอศึกษาขึ้นมาเห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก นี่ไงธรรมะพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ถ้าไม่มีช่องว่างอย่างนี้ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า เวลาพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ขึ้นมา จะสอนได้ยังไง จะสอนได้ยังไง

เพราะสอนไปแล้วใครจะคิดอย่างไร เพราะเวลาสอนไปแล้ว วุฒิภาวะ เหมือนกับพวกเราศึกษากันมา เราศึกษาทฤษฎีเราเข้าใจได้ แล้วทุกคนก็รู้หมดแล้ว รู้ตามทฤษฎีนั้นน่ะ รู้แล้ว ทุกคนรู้แล้วหมดเลย แต่ความจริงนั้น รู้โดยสุตมยปัญญา รู้ในโลก รู้โดยจินตมยปัญญานี่เข้าใจได้นะ รู้โดยภาวนามยปัญญาไม่มี ถ้าใครรู้โดยภาวนามยปัญญา อย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบัน เพราะพระโสดาบันน่ะภาวนามยปัญญาน่ะมันครบองค์ประกอบของมัน

พอครบองค์ประกอบของภาวนามยปัญญา คือ ครบเป็นองค์ความรู้ องค์ความรู้นั้นมันจะรวมตัวลงเป็นมรรคสามัคคี มรรคะ มรรค ๘ มันสามัคคีอย่างไร คนภาวนาไม่เป็นบอกว่า มรรค ๘ รวมแล้วเป็น ๑ เป็น ๑ ก็มีตัวเราเข้าไปขวางอยู่ ไม่ใช่ มรรค ๘ รวมแล้วไม่ใช่เป็นหนึ่ง มรรค ๘ รวมแล้วเป็นมรรคญาณ มรรคญาณเข้าไปชำระอย่างไร นั่นถ้าคนภาวนาเป็นรู้หมด เห็นหมด แล้วเป็นสภาวะแบบนั้น

มรรค ๘ งานชอบ เพียรชอบ ชอบต้องมีปัญญา มีงานชอบ คืองานที่ถูกต้องเห็นไหม มีอาชีพชอบ มีความเพียรชอบ ทุกอย่างความชอบความสมดุลของมัน ถ้าความชอบความสมดุลของมัน สภาวะมันเกิดอย่างไร นี่ไง ภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญานี่เข้าใจกันได้ ศึกษาทางวิชาการ จินตมยปัญญา จินตนาการ แต่จินตนาการมันหลากหลายนะ จินตนาการ จินตมยปัญญามันคล้ายกับปีติ ปีติเห็นไหม แม้แต่ขนพองสยองเกล้า ความพองตัว ตัวเล็กตัวใหญ่ ตัวต่างๆ รู้วาระจิตอยู่ในขอบข่ายของปีติหมดเลย

พอขอบข่ายของปีติใช่ไหม ถ้าปีติน่ะ จินตมยปัญญาก็เหมือนกัน จินตมยปัญญาถ้ามันมีสมาธิเข้ามา สมาธิตัวนี้มันจะทำให้จินตมยปัญญามันกว้างขวางมาก มันจะรับรู้ได้เยอะมากเลย จินตนาการ แต่จินตนาการของเรา มันไม่ได้จินตนาการในสมาธิใช่ไหม มันจินตนาการด้วยความสามัญสำนึก จินตนาการด้วยอำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน ใครจินตนาการเห็นไหม มันถึงกว้างขวาง นี่จินตมยปัญญา

แล้วถ้าภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาพูดกัน ไม่มีใครพูดได้ รถจอดอยู่นี่ ๔-๕ คัน แล้วติดฟิล์มหมดเลย เราไม่เคยเข้าไปในรถเลย เราไม่รู้ว่าในรถนั้นเครื่องยนต์กลไกมันใช้อย่างไร เครื่องยนต์กลไกในรถนั้นน่ะ ถ้าเราเปิดประตูเข้าไป ถ้าเราได้นั่งตำแหน่งที่คนขับ เราจะรู้เลยว่าเครื่องนั้นหรืออุปกรณ์ในรถนั้นจะขับเคลื่อนอย่างไร ใช้ระบบอะไรถึงจะให้รถนั้นขับเคลื่อนไปได้

ภาวนามยปัญญาก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเข้าขบวนการของมัน สมบูรณ์ของมันเห็นไหม มันทำให้จิตนี้ขับเคลื่อนไปได้ จิตนี้ขับเคลื่อนไปได้ นั่นไง ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ขับเคลื่อนระหว่างโสดาปัตติมรรค ไปถึงโสดาปัตติผล ถ้าเป็นโสดาปัตติผลเป็นอย่างไร ถ้าภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมา มันรู้ของมันขึ้นมา มันทำของมันขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับมันเห็นไหม

เราถึงบอกว่าการศึกษาธรรมะเห็นไหม ถ้ามันมีช่องว่าง ตอนนี้จิตใจเรามีช่องว่าง เราจะเชื่อหรือเราเชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่ เราจะปฏิเสธขนาดไหน แต่ในใจเรานี้มีช่องว่าง ใจเราจะมีช่องว่างหรือไม่มีช่องว่าง อันนี้มันเป็นการปฏิเสธหรือการที่ว่าเราให้คะแนน หลวงตาท่านพูดประจำ ในการประพฤติปฏิบัติเราจะให้คะแนนเราเองมากเกินไป เราจะให้คะแนนตัวเอง ตัดคะแนนตัวเอง เราเอง ไปให้ ไม่ใช่

จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นิโรธกับมรรคเห็นไหม ถ้ามรรคญาณ มรรคมันสมบูรณ์ของมัน มันเกิดนิโรธ นิโรธคือการดับทุกข์ นิโรธ นิโรธะดับทุกข์แล้วดับอย่างไรในอริยสัจ จิตนี้มันโดนกลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตขบวนการของมัน มันเกิดขึ้นของมัน เราจะรู้ชัดเจนมากเลย ถ้ารู้ชัดเจนมากขึ้นมามันจะเข้าใจคำว่าช่องว่างระหว่าง ความมีและความจน ช่องว่างของความรู้สึก ช่องว่างของต่างๆ ช่องว่างของรายได้ ช่องว่างของการรู้ธรรม

แต่นี้ช่องว่างของการรู้ธรรมเห็นไหม ทำไมพระพุทธเจ้าเวลาท่านจะเทศนาว่าการเห็นไหม ท่านจะรอก่อนเห็นไหม ถ้าคนไม่เป็นเลย เทศน์อนุปุพพิกถาก่อนเทศน์ทานก่อน ปรับพื้นฐานก่อน ปรับพื้นฐานของใจให้เขาสำนึกสามัญสำนึกของตัวเขาเอง ให้เขาเห็นคุณโทษของการทำบุญกุศลได้สวรรค์เห็นไหม ให้ถึงเนกขัมมะ ให้ถึงแล้วปฏิบัติ แล้วพอปฏิบัติขึ้นมามันถมช่องว่างให้ความเห็นเป็นเอกภาพ ให้ความเห็นตรงกัน ให้ขบวนการของมรรคมันเดินไปได้ตามความเป็นจริง

แล้วพอเดินได้ตามความเป็นจริงนะ เพราะถ้าเดินได้ตามความเป็นจริงเห็นไหม รถทุกคัน ถ้าขบวนการ ระบบของมันเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้ามันสมบูรณ์แล้วเราใช้ประโยชน์ เราขับเคลื่อนไปถึงเป้าหมายของเรา ใช้เป็นพาหนะของเรา มันก็เหมือนกันวิธีการ ขบวนการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพุทธเจ้าพยายามอบรมสั่งสอน พาให้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนถึงที่สุดเห็นไหม ถึงที่สุดแล้วช่องว่างนั้นเราจะถมให้เต็ม แล้วมันจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วธรรมะอันเดียวกัน จะไม่มี..

ครูบาอาจารย์ของเรานะ ถ้าท่านเป็นความจริงนะ เวลาท่านเจอกันนะจะว่า วิหารธรรม ท่านจะสนทนาธรรมกันแล้วก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากๆ มีความสุขนะ คือมันไม่มีความต่างไง ไม่ต้องมานั่งหน้าดำหน้าแดงนะ โอ้โฮ ความเห็นของข้าผิดนะ เถียงกันหน้าดำหน้าแดง ครูบาอาจารย์เราไม่มี เพราะอะไร เพราะปฏิบัติกันด้วยสามัญสำนึก

ถ้าเราพูดไปนะเหมือนคนน่ะ เด็กกับผู้ใหญ่ เด็กมันไปเสนอผู้ใหญ่โดยที่ว่ามันเห็นสัตว์แล้วเรียกชื่อผิดต่างๆ เวลาพ่อแม่บอกนี่ไม่ใช่ ไอ้นี่เป็นนก เป็นแมว เป็นช้าง เป็นม้า อะไรต่าง ๆเห็นไหม เด็กมันไม่รู้ของมัน มันก็ซึมซับอย่างนั้น คนปฏิบัติไม่เป็นนะ ไปเจอคนปฏิบัติเป็นนะเหมือนเด็กกับผู้ใหญ่เลย เด็กพูดผิดพูดถูกได้ตลอดเวลา ผู้ใหญ่พูดไม่ผิดเลย แล้วเด็กที่พูดผิดพูดถูกอายผู้ใหญ่ไหม

เวลาครูสนทนาธรรมกัน เวลาผู้ปฏิบัติยังไม่ถึงขั้นถึงตอน เวลาพูดออกไปมันผิดมันถูก ผิดแล้วแก้ไม่ถูกนะ ไปเจอช้างมาบอกว่าไปเจอมดอย่างนี้ แล้วก็บอกมดมันตัวเล็กๆ นะ อู้ย มดของหนูตัวใหญ่เบ่อเร่อเลย มดของหนูตัวยั้ยใหญ่ มันขัดกันแล้ว แล้วพอมีการโต้ตอบกัน มีการบอกกล่าวกัน เด็กก็มันจะเข้าใจได้เอง แล้วเด็กมันจะรู้ จริงไหม

ภาคปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เราปฏิบัติไปถ้ามันไม่ถูกต้องเวลาพูดออกไป ทีเดียวนะ มันไม่มีเหตุผลหรอก มันเหมือนเราหน้าแตก แล้วใครอยากหน้าแตกล่ะ หน้าแตกแล้วมัน...เพียงแต่ว่าหน้าแตก หน้าแตกเพราะความไม่รู้ เพราะไม่รู้มันก็เถียงเต็มที่ล่ะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกเห็นไหม เวลาเจอหลวงปู่มั่นน่ะไม่ได้เถียงด้วยทิฏฐิมานะนะ คือเราก็รู้อย่างนี้ เรารู้ของเราอย่างนี้ เราก็มีความรู้ องค์ความรู้เรามีเราก็พยายามพูดตามองค์ความรู้ของเราไปน่ะ แต่เสร็จแล้วเหตุผลน่ะ หน้าแตกทุกทีเลย

พอหน้าแตกก็แก้ไข ขณะที่เห็นด้วยความเชื่อมั่น มันเห็นด้วยความยึดมั่นของตัวนี่ มันคิดว่าถูกต้องน่ะ มันยึดมั่น มันองอาจกล้าหาญว่างั้นเถอะ เถียงด้วย ไม่ใช่เถียงด้วยทิฏฐิมานะ เถียงด้วยความรู้ความเห็นแค่นี้ไง แล้วความรู้ความเห็นของเราจะพัฒนาได้เห็นไหม ถ้าตรงไหนมันมีช่องว่าง เราถมให้เต็มด้วยสมาธิก่อน แล้วมันก็มีช่องว่างระหว่างอริยภูมิแต่ละชั้นๆ ขึ้นไป ถ้าถึงที่สุดแล้วนะมันจะอิ่ม มันจะเสมอกัน มีหนึ่งเดียว เอกภาพเดียวกันเห็นไหม ที่ว่ามีเอกภาพ มีพลานุภาพ เวลาที่สุดแห่งทุกข์แล้วมันจะเป็นที่สุดแห่งทุกข์เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปเห็นไหม

ย้อนกลับมาที่ช่องว่างทางโลก โลกช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนนี่เราเห็นชัดเจนมากนะ ช่องว่างความรู้สึก ช่องว่างของความรู้สึกความคิด เราไม่รู้ว่าใครคิดถูกคิดผิด ช่องว่างของมรรคผลนะ โสดาปัตติผล สกิทาคาผล อนาคามิผล อรหัตผล ช่องว่างของมันก็มี ถ้าช่องว่างอย่างนี้ ถ้าพูดถึงครูบาอาจารย์เราปฏิบัติถึงที่สุดแล้วนะ มันจะไม่มีช่องว่างเลย เราจะไม่มีช่องว่าง สูงสุดสู่สามัญ ไม่มีอะไรเลยนะ สามัญธรรมดานี่แหละ แต่รู้เห็นหมดนะ รู้เห็นหมดนะเพราะมันจะมาสู่สามัญนี่มันผ่านมาหมดแล้ว ไอ้คนที่สูงส่งนั่นน่ะ สูงส่งก็ไม่รู้ว่าสูงส่ง สามัญก็ไม่รู้ว่าสามัญ นี่แหละคือช่องว่างระหว่างความถูกและความผิด เอวัง