เทศน์บนศาลา

เทศน์ในวันอาสาฬหบูชา

๒๙ ก.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์ในวันอาสาฬหบูชา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ใจเราลบไม่ได้เลย ปัจจุบันนี้ทำแบบว่าแกล้งโง่เลย แกล้งโง่ ทำเซ่อเลย มันก็ไม่ได้ เพราะมันซับมาแต่ละภพแต่ละชาติ ชาติของมนุษย์ไม่ใช่ว่าเกิดมาชาตินี้ชาติเดียว พระพุทธเจ้าบอกเลย มันสืบต่อมาจนไม่มีต้นไม่มีปลาย สืบย้อนกลับไปไม่มีต้นไม่มีปลายเลย แล้วภพมันสะสมมาในใจขนาดไหน แล้วเราจะมาแกล้งลืมมัน แกล้งลืมอย่างไรมันก็มี ไม่มีทาง

สัญญาความจำได้หมายรู้ซับลงที่ใจ ซับลงที่ใจมาตลอด จนกว่า ผู้ที่ไปเกิดเป็นพรหม อยู่เป็นพรหมมันแปดหมื่นปี เป็นล้านๆ ปี แล้วพอมาบวชเป็นพระหรือมาปฏิบัติ แล้วพอจิตสงบย้อนกลับไปไม่มี เห็นไหม เขาว่าภพชาติไม่มี อดีตชาติไม่มี มีชาติปัจจุบัน เพราะตัวเองไปนอนเนื่องอยู่นาน มันเลยละเอียดไง ขันธ์เลยละเอียดขึ้นไป แล้วเวลาจิตสงบมันสืบไม่ได้ สืบไม่ได้เพราะตัวเองไม่มีปัญญา

แต่ต้องสืบได้สิ เพราะของมันมีอยู่ในหัวใจ กิเลสมันมีอยู่ที่ใจ ทำไมจะสืบไม่ได้ สืบได้หมด เพียงแต่ว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอ หรือว่าทำขนาดนั้นแล้วก็อ้างเลย อ้างว่าไม่มี...มีนะ

ศาสดาในลัทธิต่างๆ ในสมัยพุทธกาล ว่า ไม่มี มีชาติปัจจุบันเท่านั้น ไม่ต้องปฏิบัติมาก อยู่ไปวันๆ ตายแล้วก็จบกัน อยู่ไปวันๆ นะ เขาว่ากันอย่างนั้นเลย เขาสอนมาอย่างนั้น มันมีลัทธิต่างๆ ให้เราตื่นไปๆ พอไปจริงๆ เข้ามันไม่ใช่น่ะสิ

อย่างเช่น ปัจจุบันนี้เราก็ทำอย่างที่เขาว่า พอตายไปใครรับผล คนสอนมันก็ไม่มารับผลกับเรานี่นา เราต่างหากเป็นผู้รับผลของเรา เราทำความผิดของเราไว้ เราเดินชีวิตผิด เสร็จแล้วผลจะอยู่กับเราหมดเลย

เช่น ความอยากมันเกิดขึ้น เห็นไหม กิเลสทำให้เราเกิดความอยาก เราก็ทำตามความอยากหมดเลย พอทำจบแล้ว ไอ้ความอยากไปไหน? ความอยากมันก็หายไป ไอ้คนรับคือเรานั่นแหละไอ้คนที่ทำตามความอยากนั่นน่ะ ความอยากไม่ได้ยุให้เราทำ ทำเสร็จแล้วมันก็มารับกรรมไปครึ่งหนึ่ง เราครึ่งหนึ่งก็ยังดีนะ...นี่ไม่หรอก ทำเสร็จแล้วความอยากมันก็หายไปจากใจ เราจะอยากกับมันเอาข้างหน้านะ แต่เราสิเป็นผู้รับกรรม เพราะเราต้องรับกรรม รับกรรมนะ วิบากเป็นผล

ถึงว่าเวลาฟังแล้วให้คิด เรื่องของใจมันสำคัญ คนไม่เคยเห็นหน้ากันเลย พอมาเจอหน้ากัน ทำไมบางทีมันโกรธ มันไม่พอใจกันล่ะ คนอยู่ด้วยกัน อีกคนจะรักกัน ชีวิตครอบครัวควรจะรักกัน มันมีเรื่องระหองระแหง เพราะอะไร? มีกรรมอดีต กรรมปัจจุบัน เห็นไหม กรรมอดีตมันมาแต่เก่า แล้วอนาคตมันก็จะไปจากปัจจุบันนั่นแหละ

ถึงว่าลบได้ไหม ลบได้ไหม ลบให้เป็นอากาศไปเลย

ได้ ได้เพราะเกิดจากความเพียรของเรานี่ไง ทำใจให้สงบ ใจสงบมันก็เหมือนอากาศเลย ว่างหมดเลย ใจสงบนะ ถ้าใจไม่สงบสิ ใจมันเปรียบคล้ายๆ อากาศเลย เวลามันปั่นป่วน เห็นไหม เวลาพายุเกิดขึ้นมา เวลาเราอารมณ์รุนแรงขึ้นมามันปั่นป่วนไปหมดเลย เวลามันนิ่งขึ้นมาล่ะ ทำไมเราควบคุมไม่ได้ ก็ไหนว่าเราเป็นเราไง ไหนว่าใจนี้เป็นของเรา ร่างกายนี้เป็นของเรา

ไม่ใช่สักอย่างหนึ่ง เป็นของอาศัยเขาทั้งนั้นล่ะ

ถ้าเป็นเรานี่ โรงพยาบาลไม่ต้องมี เพราะเราสั่งให้เราไม่เจ็บ ใช่ไหม เราต้องสั่งให้ร่างกายนี้ไม่เจ็บไข้ ไม่ป่วย มันเป็นไปตามสั่งไหม? ไม่เป็นไปหรอก ทั้งๆ ที่ใจเราอาศัยกายนะ อาศัยกายนี้เสวยภพภพหนึ่ง แล้วมันก็เผอเรอไปยึดว่าเป็นของเรา เผอเรอว่าอย่างนั้นเลย เพราะพุทธเจ้าสอนว่าไม่ใช่ ศาสดาองค์ใดๆ ก็ว่าไม่ใช่ ไม่ใช่นะ กายนี้ไม่ใช่ของเรา ถ้าของเรา เราต้องสั่งได้ ต้องบังคับบัญชาของเราได้

ฉะนั้น “ไม่ใช่ของเรา ทำไมมันอยู่กับเราล่ะ”

อ้าว! ก็เราทำความดีมาไง ถึงว่าได้เป็นภพมนุษย์ มนุษย์ถึงได้มีร่างกายนี่ไง ถ้าไปเกิดอย่างอื่น มันก็เป็นภพอื่นไป

ทีนี้ได้ร่างกายมาแล้วเป็นคุณ มหาคุณ ถ้ารู้จักใช้มัน นี้ได้ร่างกายมาแล้วก็ไม่รู้จักใช้มันไง ใช้มันอย่างไร? ก็ดูมัน เวลาพระเขาบวชใหม่ เห็นไหม อุปัชฌาย์ต้องสอนนะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ถ้าอุปัชฌาย์สอนนะ อุปัชฌาย์องค์ไหนบวชพระไม่ได้สอนกรรมฐาน ๕ ไม่เป็นพระ สำคัญขนาดไหน ฟังสิ ขนนี่ ผมนี่สำคัญขนาดไหน เพราะพิจารณาตรงนี้ไง

เพราะเรานะ เรามีอยู่กับตัวเรา ไอ้สิ่งนี้มันมีอยู่กับตัวเรา แต่เราไม่มอง เราไปมองสิ่งตรงข้าม มองสิ่งตรงข้าม มันก็มองเป็นของสวยของงาม ไม่มองเป็นปฏิกูล เวลาของพวกนี้ตกลงใส่อาหารเรากินได้ไหม? เรากินไม่ได้เลย เรายังขยะแขยง แต่ทำไมมองตรงข้ามมันสวยล่ะ แล้วมองตรงข้ามไปนะ แล้วเวลามันแปรสภาพแล้วเราเห็น มันก็จะสลดใจใช่ไหม แล้วก็ย้อนกลับมา นี่เขาเรียกว่าพิจารณากายนอก

สรรพสิ่งในโลกนี้มันแปรสภาพไปหมด แล้วถ้าเรามองไปแล้วนะ มีปัญญา มีความคิด มันจะถอนใจกลับมาไง ไม่ให้ไปติดอยู่ในนั้น เพราะเราติดสิ่งนั้นกัน ติดสิ่งข้างนอกเพราะไม่รู้จักตัว

ทีนี้พอกลับมาพิจารณากายของตัว ที่ว่ากายนี้มีเป็นประโยชน์ พิจารณากายของเรา พิจารณากายนะ พิจารณากายนี้ พอมันรู้จักกายนี้ตามความเป็นจริง อย่างว่านะ รู้จักกายนี้ตามความเป็นจริง มันเป็นจริงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่มันมีโดยสมมุตินี้หลอกไว้ สมมุติเรานี้หลอกไว้ ทุกคนจะรู้เลยว่ากายนี้มันจะแปรสภาพตามความเป็นจริง ทุกคนรู้ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย แต่ได้ใช้อันนี้เป็นประโยชน์กับเราไหม ไม่ได้ใช้เลย มาอยู่กับมันไปวันๆ ก็เหมือนกับเราเพลิดเพลินไปกับชีวิตนี้ไปวันๆ หนึ่ง

แต่ถ้าเรารู้จักใช้ คนรู้จักใช้ ใช้แบบพระอริยเจ้านะ นี่ทำใจให้สงบ ถ้าจิตนี้สงบเป็นสมาธิ ย้อนกลับมาดูกายของตัว มันจะแปรสภาพในปัจจุบัน ถ้าจิตนี้สงบมันไม่มีมิติ ถ้าเพ่งเห็นกาย มันจะแปรสภาพ มันจะเน่ามันจะเปื่อย เห็นสภาพ แล้วมันจะเกิดความสลดสังเวช แล้วมันจะรู้ว่า ทำไมหัวใจนี่มันโง่ขนาดนี้ หัวใจของเราทำไมโง่ขนาดนี้ ถ้าเห็นความจริง จะติตัวเองเลยว่า ไอ้ตัวเองที่เห็นอยู่นี่เป็นสิ่งที่ไม่จริง

ถ้าเห็นด้วยตาใน เห็นด้วยสมาธิ เห็นด้วยความเป็นจริง มันจะแปรสภาพทันที แล้วมันจะปล่อยวางทันที ปล่อยวางแล้วกายก็คือเรา กายนี้ก็เป็นประโยชน์มหาศาลเลย มันจะปล่อยวางได้ กายนี้ปล่อยวางได้ แต่ปล่อยวางได้ในความเห็นนะ น้ำต้องเต็มตุ่ม แล้วพอมันเต็มตุ่มแล้วมันจะอิ่มในตุ่มนั้น น้ำแห้งตุ่ม ในตุ่มที่มีน้ำ ช่วงที่มีน้ำอยู่ ช่วงนั้นตุ่มนั้นจะอิ่มน้ำ แต่ช่วงนี้พอมันจะแห้ง คือว่ามันไม่เต็ม เรารู้ตามสัญญา เรารู้ตามความศึกษามา เป็นอย่างนั้นน่ะ มันไม่สามารถให้เต็มตุ่มได้ จนล้นตุ่ม น้ำเต็มตุ่มแล้วล้นออกไปเลย

นี่เหมือนกัน ความเห็น ความเข้าใจ ถ้ามัน...จนเต็มตุ่มนะ มันสะสมมาจนเต็มตุ่ม มันล้นออกมาๆ ภาวนาไง พิจารณาเข้าๆ มันก็สะสมความเห็นอันนี้ นี่พอล้นตุ่มไปมันปล่อยเองโดยธรรมชาติ ถึงว่าถ้าเห็นอย่างนั้น ไม่ใช่เห็นที่ว่าอย่างที่เราเห็นกัน เห็นอย่างนี้มันเห็นด้วยปากไง เห็นด้วยสัญญา เห็นด้วยการศึกษาเล่าเรียน มันไม่ได้เห็นตามความเป็นจริงของหัวใจ ถึงให้หัดพิจารณา รู้แล้วก็รู้ไว้สักแต่ว่ารู้ นั่นเขาเรียกว่า ถือว่าเป็นการศึกษาเล่าเรียน

ถึงว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ปริยัติ คือ การศึกษาเล่าเรียน การฟังขณะนี้ก็คือ การเล่าเรียน นี่ฟังธรรมต่อหน้า เล่าเรียนต่อหน้า แต่ถ้าเรียนต่อหน้าแล้วใจเป็นอย่างนี้ไหม ถ้าเล่าเรียนต่อหน้าแล้วใจเป็นต่อหน้าด้วย อันนั้นปัจจุบันเลย

สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเทศน์อยู่ เวลาฟังสำเร็จเดี๋ยวนั้นๆ อย่างนี้ ฟังเดี๋ยวนั้น เข้าใจเดี๋ยวนั้น ปล่อยวางเดี๋ยวนั้น เพราะจิตพร้อมไง สมัยพุทธกาล สมัยก่อนนั้น จิตของผู้ที่แสวงหา เพราะสมัยนั้นเขาจะถือกันว่า พวกพราหมณ์ต้องเรียนไตรเวทย์ ต้องเรียนทำสมาธิ แล้วเขาจะชมกันเรื่องนี้ไง เรื่องเป็นคนดี เรื่องควบคุมจิตของตัวเองได้อยู่ แต่ไม่มีคนบอกไม่มีคนสอน พระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมเท่านั้นน่ะ หลุดๆๆๆ หลุดออกหมดเลย มันถึงว่าฟังธรรมเฉพาะหน้าไง รู้เฉพาะหน้า

แต่พวกเราขาดสมาธิไง “ถ้าว่าขาดสมาธิก็ต้องเป็นคนที่สติฟั่นเฟือนสิ ทำไมเราเป็นคนบริบูรณ์” เป็นคนบริบูรณ์เพราะมันสติสมบูรณ์ในการเป็นมนุษย์เท่านั้น มันไม่สติสมบูรณ์สามารถยับยั้งจิตไว้ให้อยู่กับตัว ยับยั้งจิตไว้ให้อยู่กับตัว มันไม่คิดฟุ้งออกไปไง นั่นน่ะ สติอันนั้นถึงสมบูรณ์

จนเป็นสติ แล้วก็มหาสติ แล้วก็จะมีสติอัตโนมัติ ฝึกขึ้นขนาดนั้นนะ ถ้าสตินี้เป็นอัตโนมัติ ความคิดแว็บขึ้นมาจากใจ จะรู้ทันทันทีเลย ความคิดนี้จะไม่มีเกิดขึ้นมาจากใจได้ เพราะมันกระเพื่อมออกมาพร้อมกับความคิด นั่นน่ะเขาเรียกสติอัตโนมัติ จิตนี้มันเป็นปกติของมันโดยปกติ พอมันจะคิดปั๊บ มันจะดึงสติฟุ้งออกมาพร้อมกันโดยอัตโนมัติไง สตินี้จะเคลื่อนไปพร้อมกับความคิดนี้จะเกิดขึ้นเลย

แต่นี่ไม่ใช่นี่ คิดไปจนจบแล้ว คิดกันไปจนเหนื่อยหอบแล้วกลับมา “เฮ้อ! ฉันเพิ่งรู้ตัว” นี่หรือสติ มันถึงไม่ได้ผล มันถึงไม่ได้เป็นสมาธิขึ้นมาไง เรานี่ขาดสติ สติอ่อนไง สติ สติ คือ ความระลึกรู้อยู่ สติ คือการไม่พลั้งเผลอ นี่มหัศจรรย์

จิตนี้เป็นสมาธินะ มันจะร่มเย็นนะ ร่มเย็น มันจะอ้อยสร้อย ค่อยๆ ลง ค่อยๆ ลงนะ ถ้าผู้ปกติ แต่ถ้าผู้ที่คึก แบบว่าจิตมันโลดโผน มันวูบเลย มันวูบ มันไปนะ แต่ถ้าเป็นปกติเรากำหนดไปเรื่อยๆ จิตมันจะค่อยๆ ลง ค่อยๆ ลงไปนะ มันจะเย็นของมันไปตามปกติ จะไม่มีการเผลอแม้แต่นิดเดียวเลย จะไม่มีการแบบว่าแส่ส่ายออกไปทางอื่น มันจะมั่นคงของมันลงไปเลย เห็นตลอด จะไม่มีการว่าแว็บ

ลงไปๆ จนถึงฐานนะ เย็น สุขมากๆ สุขขนาดว่าได้ติดในสมาธิกันล่ะ นั่นน่ะ สติมันพร้อม เห็นความคิดของใจ มันบังคับให้ใจเป็นแท่งไหลลงไปเป็นช่อง ลงไปถึงฐานเลย ถึงว่าจิตนี้มันเป็นรูปไง เขาว่าเป็นรูปกายๆ รูปจิต รูปความคิด แต่ที่มันไม่เห็นเพราะว่าจิตนี้มันเคลื่อนไป มันไหวไป

เหมือนกับหนัง เห็นไหม เหมือนกับหนังจอภาพมันเปลี่ยนภาพตลอดเวลา มันเปลี่ยนไป ความคิดนี้เหมือนกัน มันเปลี่ยนภาพตลอดเวลา จิตนี้ก็หมุนไปอย่างนั้น มันถึงไม่คงที่ไง นี่สติมันไม่พร้อมไง สติมีอยู่ แต่มีเพื่อสืบต่อภาพนี้ให้สืบต่อเป็นเรื่องราวเท่านั้น ไม่ใช่สติพอจนกว่ายับยั้งอยู่ ยับยั้งจนเหมือนจอทีวีไม่มีภาพ เป็นจอทีวีเปล่าๆ แต่มีความรู้สึกอยู่ นั่นคือสมาธิ

สมาธิก็มี ขณิกสมาธิ เข้าแว็บๆ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จากขณิกะ คือชั่วครั้งชั่วคราว แว็บๆ แว็บๆ อุปจาระเริ่มละเอียดขึ้น เริ่มชัดขึ้น อุปจาระ เป็นสมาธิเข้าไป อันนี้ลึกกว่าขณิกะ แล้วมันย้อนออกมา อันนี้แหละมันจะเห็นภาพ มันจะเห็นนิมิตต่างๆ อันนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติเนิ่นช้านะ แล้วเสียเวลาเปล่า เพราะมันจะภาพแล้วมันจะตื่นเต้นมาก เห็นไหม ขณะแค่สมาธิ จะเห็นภาพ จะเห็น...มันจะมาหลอกตัวเองอีกชั้นหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติควรจะปฏิเสธ ภาพใดจะเกิดขึ้นก็แล้วแต่นะ ภาพนี้เป็นนิมิต ยิ่งปฏิบัติไปยิ่งร้อยแปดเลยเพราะอะไร เพราะสัญญากับความจำของใจมันกำลังเข้มข้น พอจิตนี้มันรวมตัวนิดเดียว พวกนี้จะฟูขึ้นมาทันทีเลย ร้อยแปด จะคิดถึงเมื่อวาน จะคิดถึงวานซืน คิดถึงพรุ่งนี้ มะรืนนี้ แล้วก็ดูว่า ตัวเองมีสัมผัสที่ ๖ จะว่าตัวเองรู้อะไรล่วงหน้า

มันให้ประโยชน์กับเราไหม ถ้าเราคิดถึงเห็นโทษมันนะ มันจะให้ประโยชน์กับเราไหม ถ้ามันยังไม่ให้ประโยชน์เรา ทำไมเราไม่พักไว้ ถ้าคนมีปัญญานะ เราควรพักตรงนี้ไว้ ไอ้ความที่เห็นนี่พักไว้ เพราะว่าคนตาไม่บอด ใครๆ ก็เห็น ในเมื่อเราเป็นคนตาดี แล้วเราต้องการสมบัติที่มีคุณค่ามากกว่านี้ ทำไมจะให้เรื่องอย่างนี้มาชักนำให้เราออกไปนอกลู่นอกทาง นอกลู่และนอกทางนะ

อย่างน้อย ทำให้เนิ่นช้า อย่างกลางนะ ไม่เดิน อยากมาก ทำให้เสียไปเลย นั่นโทษของมัน แต่มันเป็นธรรมชาติของอย่างนั้นแหละ เป็นธรรมชาติของดวงจิตต้องเป็นแบบนี้ พอเข้าไปสงบแล้วจะออกรู้ทันที ฉะนั้นถ้ามีสติต้องเพิ่มสติมากขึ้นไป ถ้าผู้ฝึกให้เห็นโทษนะ ผู้ใดเห็นคุณแล้วก็เห็นโทษด้วย เห็นโทษแล้วก็ “อ้อ! อันนี้เป็นโทษ อันนี้เป็นคุณ”

ละจะโทษมาเอาคุณ ละจากการเห็นชั่วคราว จะเห็นสิ่งที่มากกว่า ละการเห็นชั่วคราว เห็นชั่วคราว แล้วเห็นหลอกด้วย

จากคนปกติเรา เวลาคุยกันว่าคนอื่นหลอกเรา แต่เวลาเราภาวนาเข้าไปดูใจของตัวเอง ใจของตัวเองก็หลอกใจตัวเอง ถ้าปัญญามันทันหลอกเราไม่ได้ เราไม่ตามๆ มันจะมาล่อ เหมือนกับคนเอาอาหารมาล่อเรานี่ เราไม่กิน พอเราไม่กิน พอไม่กินบ่อยๆ เข้า มันไม่กินเข้ามันก็สงบของมันเอง อ๋อ! ล่อ เราเห็นโทษ เราเข้าใจ เห็นโทษแล้วก็ปล่อยๆ ล่ออย่างไรก็ไม่ไป

จากอุปจาระมันจะเข้าอัปปนาสมาธิ อัปปนา อันนี้ควรจะเป็นอันนี้ อันนี้จิตเข้าไปพักเลย อัปปนาสมาธิไง อันนี้ไม่รับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น มันจะสงบนิ่งเลย นิ่งของมันเลยนะ พอพักอย่างนี้แล้ว มันก็เหมือนกับคนมีพลังงานแล้ว มีแรงมากแล้วค่อยออกมาไง พอจิตถอนจากอันนี้มา ถ้าพิจารณาอันนี้เป็นประโยชน์ พิจารณาอันนั้นขาด พิจารณาอันนั้นขาด แต่ขาดชั่วคราว เพราะว่ากิเลสการสะสมมานี่มันแน่นหนามาก

การสะสมมาของกิเลสกับใจนะ การอยู่มาด้วยกันมันดึกดำบรรพ์ ภพชาติเรานี้ไม่ได้มีภพชาติเดียว มันสะสมมา จิตนี้มันนอนเนื่องกันมาตลอด แล้วจะมาทำให้มันอ่อนๆ ได้อย่างไร ตามธรรมเขาว่านะ สิ่งใดที่ว่าคมเข้มแข็งที่สุด ไม่มี กับกิเลสกับจิตที่อยู่ด้วยกัน เราไปมองว่าเป็นวัตถุอะไรแข็งที่สุด ไม่มีหรอก ระหว่างกิเลสกับจิตที่อยู่ด้วยกันนี้แข็งกว่า มันแข็งมาก มันรุนแรงมาก มันถึงได้หลอกเรามากี่ร้อยชาติแล้วล่ะ หลอกเรามานะ กิเลสของเราเองหลอกเรามา แล้วเราก็เชื่อมาตลอด ไม่เคยจะต่อต้านเลย จนได้มาพบพระพุทธศาสนานี่

พระพุทธศาสนาสอนลงตรงนี้ สอนลง เห็นโทษของกิเลสในหัวใจ แต่ถ้าเราพูดอย่างนั้นปั๊บ มันก็จะไม่เห็นใช่ไหม ถ้าเราพูดอย่างนั้นปั๊บ มันก็บอกว่า พอจะทำเข้ามาที่ใจก็ว่ามีเราไง เราก็คือ กิเลสนะ จะทำอะไรก็ว่า เรากลัวทุกข์ กลัวยาก เราไปหมดเลย เรากับกิเลสเลยเป็นอันเดียวกัน

แต่ความจริงแล้วกิเลสไม่ใช่เรา เราคือเรา กิเลสคือกิเลส แต่เพราะมันอยู่ด้วยกันไง แบบเราใส่เสื้อผ้า เสื้อผ้านั่นคือของเราใช่ไหม แต่เสื้อผ้ากับเรานี่คนละคนนะ เสื้อผ้าเป็นเสื้อผ้า เรา มนุษย์เป็นมนุษย์ แต่เสื้อผ้ามันอยู่ในตัวเราก็เป็นของเรา กิเลสก็เหมือนกัน ถ้ากิเลสเป็นเรา กิเลสเป็นอันเดียวกัน เราไม่สามรถชำระกิเลสได้

กิเลสไม่ใช่เรา แต่มันอยู่กับเรา

ฉะนั้น เราถึงต้องสรุปลงก่อนว่า ต้องโทษว่าเราคือกิเลสก่อน ต้องซับลงที่เราๆ ซับเข้าไปเลย เวลาเราจะทำอะไร เรากลัวจะเป็นเราๆ ก็ไม่กล้ารุนแรงไง อย่างเช่นจะฝืนก็ไม่กล้าฝืน ฝืนเราคือฝืนกิเลส การฝืนเรา การฝืนใจ การข่มขี่เราคือการข่มขี่กิเลส มันอยากเท่าไรเรายิ่งดึงไว้ๆ ถ้าอยากแล้วทำตามมันครั้งเดียว จะมีครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ ถ้าเราไม่ยอมแล้ว ครั้ง ๑ ไม่มี ๒ ๓ ก็ไม่มี แต่เราถึงทนไม่ไหว เราจะทนไม่ไหวนะ เพราะมันเป็นความเคย

แล้วโลกมนุษย์ โลกสมมุติ สมมุติไว้ให้พออยู่กันได้ไง อะไรที่ไม่ผิดนัก เขาก็จะบอกอนุโลม เราก็เลยพูดว่าอันนั้นเป็นธรรมชาติ อันนั้นเป็นสิ่งที่ว่าไม่ผิดพลาด เราก็เลยทำกัน แต่ให้...อย่างเช่น ไฟนี่ร้อน กามราคะเป็นของร้อน แต่ในเมื่อเราเป็นชาวโลก เราละไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงสอนไง สอนให้มีศีล ๕ ศีลของปุถุชนให้มีศีล ๕ ศีล ๕ นี้มีคู่ได้ไง ข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร ถ้าเป็นคู่ของตัว ไม่ผิด แต่ถ้าเป็นคนอื่นผิด ผิดศีล ๕ เห็นไหม

พระพุทธเจ้าไม่ได้บังคับตายนะเพราะพวกเรามันไม่หลายระดับ มนุษย์นี้มีหลายชนชั้นนะ มีชนชั้นระดับต่างๆ อย่างศีล ๕ แล้วมาศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เห็นไหม พอศีล ๘ ก็ต้องเลิกแล้ว ศีล ๘ นี่ห้ามแล้ว เป็นพรหมจรรย์แล้ว ห้ามเสพ ถ้าเสพกามนี่ผิดแล้ว แล้วมาศีล ๘ นี้เป็นแม่ชีกับพวกอยู่อุโบสถ แล้วก็มาศีล ๑๐ เณร ศีลพระ

เรื่องสมมุติเป็นอย่างนั้น เราปล่อยตามสมมุติไป เราถึงไม่เห็นโทษของมัน ไม่เห็นโทษของมันใช่ไหม แต่พอเรามาภาวนา การภาวนา การให้เห็นโทษ เพราะการชำระภพชาติมันต้องชำระตรงนั้น กามราคะ เริ่มต้นตั้งแต่พิจารณามา ละกายนี้ก็ยังไม่ใช่ ละกายไปเลย กายละออกไป ขาด เพราะกายนี้มันเป็นสักแต่ว่ากาย เห็นไหม คนตายแล้ว ศพก่ายกันก็ไม่มีความหมาย แต่ความจริงมันมีทุกข์เพราะหัวใจ การพิจารณากายพ้นออกไปเป็นพระโสดาบัน

นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันก็ยังมีคู่ เพราะนางวิสาขาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ ๗ ขวบ ก็ยังแต่งงานมานะ มีลูก ๒๑ คน เห็นไหม ละกายไปแล้วก็ยังละกามไม่ได้ เพราะกามนี้มันถึงกับละภพชาติ

ถึงบอกว่า ถ้าเราเห็นประโยชน์ เห็นคุณ เห็นแก่ชีวิตของเรา เราจะให้มีความสุขมหาศาลเราต้องละตรงนั้น เพราะตรงนั้นเป็นตัวทุกข์เลย ทุกสิ่งลงที่ตรงนั้นหมด ลงเรื่องกามราคะทั้งหมด หามาก็เพื่อกามราคะ ทุกอย่างเลย เอามาดัดตนไง ทุกอย่างเอามาดัดตนเพื่อตรงนั้น แล้วเรื่องกายก็ต้องเรื่อตรงนั้น ระหว่างตรงข้าม ถึงให้พิจารณาลงที่กายจะเห็นประโยชน์ตรงนี้ไง

พิจารณาตรงที่กาย กายนี้ไม่ใช่ตามความเป็นจริง คิดดูสิว่าเราไม่รู้ แล้วให้สิ่งนี้จูงจมูกลากเราไป กับเราไปรู้เท่า ความรู้เท่าเกิดจากใจนะ จากใจผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่รู้เท่าเพราะพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าสอนนั้นเป็นสำหรับพระพุทธเจ้าสอนมา แต่พอเราไปรู้เท่านี่เป็นประโยชน์ขึ้นมาที่เราเห็นตามความเป็นจริง เพราะรู้เท่าอย่างนี้แล้วมันถึงว่าทรงตัวได้ไง ไม่ต้องพึ่งใคร

แต่ถ้ายังไม่รู้เท่านะ ขณะฟังอยู่อย่างนี้มันก็ยังหมุนตาม เห็นตามนั้นจริงอยู่ แต่ไอ้สิ่งที่ต่อต้านภายใน เห็นตามความเป็นจริง เห็นอยู่ว่าต้องแปรสภาพอย่างนั้น แต่อีกใจหนึ่งก็เอาไว้ก่อน นั่นมันแบ่งเป็น ๒ ความคิดอยู่ในหัวใจ แล้วความคิดที่อยู่ลึกกว่าอันนั้นคือกิเลส อันนั้นร้ายกว่า เพราะว่ามันอยู่ภายใน

เหมือนในบ้านเรา เราซ่อนอยู่ภายใน มันทำให้ข้างนอกเสียหายหมดเลย จากข้างนอกทำลายเข้ามายังไม่เหมือนกับข้างในทำลายออกมา เพราะข้างนอกเรายังสามารป้องกันได้ แต่ข้างในเราป้องกันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ฟังอยู่ เห็นไหม แต่ข้างในมันยังเอะใจ มันลังเลสงสัย ถึงต้องย้อนกลับมาตรงนั้นๆ

เห็นโทษของเราไง เห็นโทษก็เห็นคุณพร้อมกันนะ เพราะไม่เห็นโทษ เข้าใจว่าโทษ แต่ไม่เห็น

เราเอามือจับปลาไหล ลองเอาขึ้นมาสิเห็นว่าปลาไหลนี้เป็นงู เราจะทิ้งไหม นี่ก็เหมือนกัน จับปลาไหล ใจเหมือนกัน ใจมันคิดอย่างนั้น มันไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริง มันสลัดทิ้งเลย แล้วลองคิดดูว่าการสลัดออกของใจ การสลัดออกเลยนะ

พระพุทธเจ้าสอน พระพุทธเจ้าบอกไว้เลย เวลามันขาดดั่งแขนขาด มันสลัดออกขนาดนั้น ขาดออกไปเลย ดั่งแขนนี้ขาดออกไปเลย ถ้ามันรู้จริงนะ แล้วมันจะสืบต่อได้อย่างไร ความคิดอันนั้นมันขาดออกไปเลย แต่ความคิดยังมีอยู่ ความคิดที่เป็นโทษขาดออกไป แต่ความคิดนี้มันก็เป็นระบบธรรมชาติของความคิดอยู่ ขันธ์ ๕ ยังมีอยู่อย่างปกติ แต่กิเลสมันขาดออกไป เพราะเรารู้เท่าตามความเป็นจริง

มันเส้นผมบังภูเขานะ ศาสนานี้กว้างขวางและลึกซึ้งมากจนพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วรำพึงเลยล่ะ “ไม่รู้จะสอนใครได้ ไม่รู้จะสอนใครได้นะ” เราก็มองสิ ธรรมนี้วางไว้แล้วสองพันกว่าปี แล้วใครจะทำอย่างนั้น ทำตัวได้อย่างนั้นแล้วเห็นตามความเป็นจริง...แต่มี ครูบาอาจารย์วางกันเป็นทอดๆ มาเลย ที่ล่วงไปแล้วก็ล่วงไปแล้ว แต่ที่ยังทรงอยู่ก็ยังทรงอยู่ มันเป็นเทคนิคปัจจุบันระหว่างหัวใจของแต่ละดวง เทคนิคปัจจุบันนะ

อย่างเช่นเราสงสัยขึ้นมา ลังเลสงสัยขึ้นมา แล้วเราต้องการให้คนชี้นำ เรายังเปิดหนังสือไม่ได้ ในเมื่อมีครูมีอาจารย์สืบทอดมาๆ การสืบทอดมา ศาสนาเราถึงจรรโลงอยู่ได้ สืบทอดมาถึงพวกเรา แล้วเราเอาเทคนิคเข้ามาใช้ไหม

เราอยากมีความสุข อยากให้ใจนี้สงบ เพราะถ้าใจนี้สงบนะ มันให้ผลทั้งโลกนี้โลกหน้า ให้ผลทั้งทางโลกทางธรรม ให้ผลเลยนะ เพราะว่าโลกนี้มันซ้อนกันอยู่ โลกเรานี่ซ้อนกันอยู่ โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกพรหม ซ้อนอยู่นี่ แต่เราจะไปดูกันที่อื่นนะ เวลาขึ้นสวรรค์ก็ไปสูงๆ มันซ้อนอยู่ที่นี่

ฉะนั้น เวลาจิตนี้มันสงบ จิตนี้มันจะยกสูงขึ้นมาเท่าพวกเทวดา เขาจะชื่นชมมาก ถึงว่าให้ผลปัจจุบันไง เขาจะปกป้อง เขาจะให้ผล เขาจะคุ้มครอง เขาจะดูแลไง โบราณว่า “คนดีผีคุ้มไง” เพราะผีมันก็อยากได้บุญด้วย ใครบ้างไม่อยากได้บุญ

อย่างเรานี่ไม่ไปเจอ พบประสบความทุกข์นะ เรายังคิดไม่ถึงนี่ เพราะช่วงอย่างนี้เราเป็นมนุษย์ ร้อนนักเราก็หลบเข้าที่ร่ม ทุกข์นักเราก็หาคนอาศัยได้ แต่เวลาเราดับขันธ์จากนี้ไปสิ ตกนรกก็นรกอย่างนั้นน่ะ ไปเป็นสัมภเวสีไม่ถึงกับลงนรกนะ สัมภเวสีนี่ อย่างเช่นรถชนกัน อุบัติเหตุ ขนาดนั้นนะ แค่นั้นนะ เพราะจิตนี้ยังไม่เสวยภพ

สัมภเวสีหมายถึงว่า จิตนี้ยังไม่มีเวลาจะไป กาลเวลาของตัวเองยังไม่ถึง แต่เกิดอุบัติเหตุ พอไปอยู่ในสภาพนั้นน่ะ นั้นล่ะมาขอส่วนบุญเราแล้ว มาขอส่วนบุญแล้วนะ แล้วไปอยู่สภาพแบบนั้น มันถึงได้ทุกข์ยากไง แต่เราอยู่ในสภาพแบบนี้ เราไม่รู้นี่นา เราถึงปล่อยตัวกันไง ถึงปล่อยตามความสบาย แต่ถ้าไปเจอสภาพแบบนั้น จะเห็นคุณค่าของศาสนา เห็นคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ เห็นคุณค่าของการทรมานตนเองไง

การทรมานตนเอง คือทรมานตรเองให้เข้าหาคุณงามความดี ทรมานตนเองนะ

เวลาพระเขาถามกัน ใครเป็นผู้ทรมาน ใครทรมานได้ คนอื่นสอน เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วย เวลามันเจ็บแข้งเจ็บขา อะไรเป็นคนคิด เวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม เวลาเจ็บใครจะมาช่วยเราล่ะ ถ้าเราเจ็บตาม เจ็บ ๒ เท่า เวลาเจ็บขานะ พอเราเจ็บ อยากให้เจ็บหาย ความเจ็บนั้นจะเพิ่มขึ้นๆๆ ทีนี้ใครจะช่วย นี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ อยู่ตรงนี้

ถ้าปัญญานี้มันหมุนเลย มันหมุนตามเลย เดินมาก็ไม่เจ็บ พอมานั่ง ๒ นาที เจ็บแล้ว ถ้าเจ็บนี้มันเป็นเรานะ เจ็บนี้เป็นเรา เราลุกเดินไป มันต้องเจ็บไปกับเราสิ ทำไมเราก้าวขาแล้วมันหายล่ะ แล้วมันมหัศจรรย์นะ มหัศจรรย์ตรงที่ว่า ถ้าใจนี้ปล่อย เจ็บๆ นี้หายทันที จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ขาเจ็บ หัวใจมันไปยึดมั่นต่างหากล่ะ มันเจ็บ ถ้าปล่อยแล้วมันจะไม่เจ็บเลย

มันในสภาพเดียวกันกับว่า เราเพลิน นั่งดูทีวีเพลิน ถ้าเราดูทีวีเพลิน จิตนี้ ความรู้สึกนี้มันไปอยู่ที่จอภาพ นั่ง ๓ ชั่วโมงก็ไม่เจ็บ มันก็เหมือนกับขอนไม้ใช่ไหม กายนี้เหมือนขอนไม้เลยเพราะจิตมันส่งออกหมด เหมือนบ้านร้าง จิตนี้ ความรู้สึกมันพุ่งออกไปอยู่ที่จอภาพ ไออุ่นมันก็อยู่ที่กายนี้แหละ แล้วกายนี้ก็สักแต่ว่ากาย เหมือนกับท่อนไม้ เขาเรียกคนเผลอไง เห็นไหม คนเหม่อ คนเซ่อ คือว่า คนร้างจิตมันไม่อยู่กับตัว

แต่ถ้าดึงจิตกลับมาที่ตัว ภาพจะชัดหมด ความเจ็บปวดจะตามมาทันทีเลย อันนั้นแบบว่า มันไม่รู้โดยความไม่รู้นะ มันยังปล่อยได้ขนาดนั้น แล้วถ้าปัญญามันไล่จิกทันล่ะ แล้วมันคลายออก มันปล่อยออก คิดดูสิว่ามันจะขนาดไหน ขนาดเผลอๆ มันยังเป็นได้อย่างที่ว่านั้น แล้วถ้าตามความเป็นจริงล่ะ

เวทนาสักแต่ว่าเวทนา จิตสักแต่ว่าจิต เวทนาคือความสุขไง เวทนาคือความทุกข์ไง เวทนาคือเจ็บปวด สุข ทุกข์นี่คือเวทนา แต่ถ้าจิตนี้กับความรู้สึกอันหนึ่งหลุดออกไป เวทนาส่วนเวทนา จิตส่วนจิต กายส่วนกาย อยู่ได้นะ

ความจริงมันเป็นอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครมาใคร่ครวญอย่างนี้ นี่ปัญญามันมาใคร่ครวญอย่างนี้ไง ถึงว่าพิจารณาเวทนาไง เวทนากาย เวทนาจิต เห็นไหม ใจมันปล่อยออกไปแล้ว ถ้าใจมันยังคิดเรื่องอื่นมันยังทุกข์อยู่ ทุกข์กายทุกข์ใจ

ทุกข์กาย เวลาหิว เวลาร้อน นี่ทุกข์ ทุกข์ใจคือเวลามันเจ็บปวด เจ็บปวดของใจไง โทมนัส ใจนี้เขาเรียกว่า โทมนัส กายนี้เขาเรียกว่า ทุกข์ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ทุกข์มี ๒ ชิ้น แต่ถ้าพูดถึงเวทนา เวทนา ๑๘ เวลาแยกออกไปนี่มหาศาลเลย นี้เราย่นเข้ามาให้แคบเข้าๆๆ ให้ดูเฉพาะตรงนี้เลย ให้ดูตอ ดูหลัก ขนาดตอยังหาไม่เจอนะ มันเป็นนามธรรมไง ใจนี้เป็นนามธรรม เราถึงจับต้องไม่ได้ ต้องอาศัยนามธรรมเข้าไปจับนามธรรม อาศัยสติเข้าไปไล่

นามธรรมคือจิต...สติคือเกิดจากความรู้สึกอันเก่านั้นล่ะ จิตเดิมแท้ เห็นไหม ระลึกขึ้นมาสิ ระลึกอยู่มันก็มีความรู้สึก นั่นคือสติ สติ ระลึกขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากเราฝึกฝนนั่นล่ะ ระลึกอยู่บ่อยๆ ระลึกบ่อยๆ สักพักพอระลึกขึ้นมาแล้วมันก็เหมือนกับไฟ พอเราจุดขึ้นมาแล้วมันก็จะมอดลงๆ

จิตนี้ก็เหมือนกัน ระลึกขึ้นมานี่มันจะชัด พอสักพักมันก็จะมอดลงๆ...ต้องระลึกต่อเนื่องๆ ระลึกไว้ตลอดเวลา แล้วสติก็พร้อมขึ้นมาเรื่อยๆ พอสติพร้อมมันก็ไล่เข้าไปสิ สติคือความรู้สึก แล้วไอ้ผู้รู้ก็เป็นความรู้สึก ใช่ไหม ก็รู้สักแต่ว่ารู้...

...มันเป็นผลมหาศาลนะ ถ้ามันอยู่ เพราะคนที่ทำได้มันจะมีความสุขกับตัวเองก่อน ใครจะทุกข์ร้อนขนาดไหนก็ไม่สำคัญ เราเป็นคนอิ่มก่อนไง ยืนอยู่กลางทะเลทรายทั้งหมดเลย แต่เรามีน้ำกินอยู่คนเดียวในกลางทะเลทราย ดูสิมันจะเป็นอย่างไร หัวใจทั้งหมดเร่าร้อน แต่หัวใจของเราอิ่มหนำ แค่มีสมาธิก็อิ่มหนำแล้ว แค่มีสมาธินะ

อย่างที่ว่า ก่อนสมัยพุทธกาลเขามีกันมาพร้อมแล้วนะ ถึงบอก ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ถึงได้ไปเลยเลยนะ เขามีมาพร้อมแล้ว ไอ้เราเดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์มันเจริญไง โลกมันเจริญ แล้วเราไปเห็นคุณค่าของทางโน้นมาก จนแบบว่าเป็นโรคเครียด โรคนี้จะเครียดมาก แล้วจะฟั่นเฝือกันมาก เราจะกลับมาเห็นคุณค่าตรงนี้ โลกอื่น ชาติอื่นเขามีหมอทางจิต แต่เราชาวพุทธมีพระหมออยู่แล้ว พระนี่ล่ะ เพียงแต่ว่าเรามองพระข้ามไป เราไม่ใช้ประโยชน์ตรงนี้

เรามีสมบัติอยู่ในตัวกันมากมายเลย แล้วเราก็สลัดทิ้งไป แล้วเราก็วิ่งไปหามัน ศีลธรรมของเรามีกันอยู่แล้ว ศีลธรรมของเราไง การกำหนดดูใจ กำหนดพุทโธ แล้วดูใจของตัว ทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว แล้วโยนทิ้งไป แล้วก็วิ่งไปหาหมอ ให้หมอเขาใช้ยาฉีด ยาบังคับเอา สุดท้ายแล้วเราต้องกลับมาระลึกสตินั่นแหละเพื่อจะฝึกสติขึ้นมาใหม่

เหมือนกับของที่มีคุณค่าอยู่ที่มือ เหวี่ยงมันทิ้งไป แล้วก็ไปหามาใหม่ ก็หาของที่มีอยู่ที่มือนั่นล่ะ เพียงแต่ภาษาพูดมันต่างกันเท่านั้นเอง แต่ความสุขก็คือความสุข ความสุขของใจไง ความสุขก็คือความสุข เพียงแต่ความพอใจ เราพลิกใจไม่เป็น พลิกใจของเราไม่เป็น มันก็เลยไม่ลงตามความสุขแท้ไง

โลกมันหลอกกัน โลกนี้มันหลอกกัน คนมีปัญญาเท่านั้นหาเงินได้ พลิกไปพลิกมานะ ไอ้ของเดิมนั่นล่ะ พลิกอยู่นั่นน่ะ ไอ้เราก็วิ่งตามกันไปๆ นี่พูดถึงโลกนะ แล้วใจล่ะ เดี๋ยวไอ้โน่นเจริญ เดี๋ยวก็ว่าไอ้โน่นดี มีใหม่อยู่เรื่อย มีใหม่มาตลอดเวลา

พระพุทธเจ้าถึงได้บอกไงว่า ปัจจัย ๔ เท่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ เลยจากปัจจัย ๔ นั้นไปจะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ถ้าปัจจัย ๔ นี้ต้องมี ขาดนี้ไม่เลย ขาดนี้ดำรงชีวิตไม่ได้ เราก็มีปัจจัย ๔ พอ อย่างอื่นจะมาให้มันเป็นตามความเป็นไป เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนไว้ก่อนแล้ว ดักหน้าไว้เลย ดักหน้า ไอ้พวกเราไม่รู้ตัว วิ่งตามเขาไป พอวิ่งตามเขาไป...นี่ยังดีนะ ยังอายุขนาดนี้กัน ลองไปสัก ๗๐-๘๐ สิ จะมารู้ตัวก็สายเสียแล้ว

อาจารย์ว่าไว้ “เกิดมาชาติหนึ่ง ก็เหมือนกับ (ขอโทษนะ) ก็เหมือนกับวัวกับควายตัวหนึ่ง เขาจูงไป กินหญ้าไป” เขาจะจูงวัวไปฆ่าไง จูงไปก็กินหญ้าไปๆ ยังไม่รู้ตัวว่าเขาจะเอาไปฆ่า ชีวิตก็เหมือนอย่างนั้นล่ะ เกิดมาแล้วก็จะตาย นี่แหละเวลาดำรงชีวิตอยู่นี่ก็เหมือนกัดหญ้าไป กินหญ้าไป เขาจะจูงไปฆ่า เขายังกินหญ้าข้างทางไปได้นะ พอไปถึงโรงฆ่า...หมดโอกาส

นี่ก็เหมือนกัน พอเวลาถึงเวลาอายุ ๘๐-๙๐ ก็หมดโอกาส พอหมดโอกาสก็อยากจะทำแล้วนะ อยากจะทำความดีเพราะเราจะไปแล้ว จะสิ้นแล้ว ชีวิตนี้จะหมด ก็เหมือนกับเราจะออกนอกประเทศ ก็อยากจะหาเสบียง แต่นี่มันออกจากชีวิตมนุษย์ ต้องออกจากชีวิตมนุษย์แล้ว แล้วจะไปใช้ชีวิตอะไร จิตนี้มันต้องไปไง ทำดีก็ไปเกิดบนสวรรค์ ทำชั่วตกนรก แน่นอน! แน่นอน! เพราะว่ามันเป็นที่อยู่ของใจ

ใจนี้อยู่ที่ไหน กายนี้ตายแล้วอยู่ที่นี่ ใจต้องไปแน่นอน นรกสวรรค์มีเด็ดขาด เพราะในตำราบอกไว้หมดแล้ว ถ้านรกสวรรค์ไม่มี พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้อะไร บุพเพนิวาสานุสติญาณก็บอกอยู่แล้ว ภพชาติต่างมาๆ จุตูปปาตญาณ วิชชา ๓ พระพุทธเจ้า หลักของเราอย่างนี้เลย หลักของเราชาวพุทธ

ฉะนั้น ถึงว่าไม่ให้เผลอ ไม่ให้หลงระเริงในชีวิต ถึงว่าเราไม่ใช่สัตว์ที่ว่าจูงกินหญ้าไป นี่ชีวิตนี้ตลอดชีวิตเลย

ท่านเปรียบเหมือนการประกอบอาชีพของเรา เหมือนกับกัดหญ้าไปกินหญ้าไป แต่ถ้ามันกัดหญ้าไปกินหญ้าไปแล้วรู้สึกตัวด้วยมันก็ดีน่ะสิ เพราะมันต้องไปอยู่แล้วใช่ไหม สัตว์ทุกตัวต้องถึงที่สุด ทุกคนต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตายทั้งหมด

แต่ก่อนจะตายนี่เราทำไว้พร้อมแล้ว จนนักปฏิบัติ ปฏิบัติจนตายก่อนตาย ตายเลยนะ กิเลสมันขาดมันก็คือตายแล้ว เพราะกิเลสอันนั้นมันหลอก จริงๆ แล้วไม่มีอะไรตาย ไม่มีหรอก มันขาดไปแล้วมันหมด จริงๆ ไม่มีอะไรตาย เพราะจิตนี้มันไม่ตาย แต่ที่มันยังตายอยู่ก็เพราะเรานี่แหละ ตายตรงไหน ตายแล้วมันอาลัยอาวรณ์ไง ขันธ์ ๕ มันเต็มตัว ลองขันธ์มันขาดไปๆ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์นี้เป็นภาระทั้งนั้น ความจำได้หมายรู้ การสืบต่อนี้เป็นหมายรู้

พ่อ ลูก แม่ ลูกไง แทนกันได้ไหม? ไม่มีใครแทนกันได้นะ

ลูกเจ็บ แม่บอกว่า “ให้แม่เจ็บแทน”...ไม่ได้

ลูกตาย แม่บอกว่า “แม่ตายแทนได้ไหม”...ไม่ได้

จริงๆ แล้วคือว่าจิตดวงหนึ่งกับกายนั้นเป็นของใครของเขา แต่ไอ้กรรมนี่มาเกิดเป็นแม่ลูกกัน นี่มันเป็นปกติ มันเรื่องของกรรม แต่ถ้าถึงที่สุดแล้ว ถึงจริงจุดจริงๆ แล้วคือหนึ่งเดียว คือใจของตัว มันแทนกันไม่ได้ มันช่วยกันไม่ได้ จิตดวงนั้นถึงว่าไปเรื่อยๆ แปรสภาพไปตลอด แล้วพอหนึ่งเดียว เห็นไหม ถ้ามันตัดขาดจาภายในแล้ว แล้วไม่ใช่พ่อแม่เหรอ? ใช่ แต่อาลัยอาวรณ์ตัวนี้มันไม่มีแล้ว ขาดไปหมดเลย

ดูอย่างพระพุทธเจ้าสิ ท่านสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้วนะ แล้วกลับไปโปรดพ่อ โปรดพ่อ พระเจ้าสุทโธนะ โปรดจนเป็นพระอนาคามี จนวันสุดท้ายเทศน์เป็นพระอรหันต์เลย ทำไมกลับไปโปรดล่ะ

เป็น แต่เป็นด้วยคุณ ไม่ได้เป็นด้วยโทษ ไอ้พวกเรานี่เป็นด้วยโทษไง ด้วยโทษหมายถึงว่า ยึดติดอย่างเดียว แต่ไอ้คุณไม่เห็น เห็นแต่โทษ ยึดไว้ รั้งไว้ๆ จะให้เป็นตามแต่ความชอบใจของตัว ให้เป็นความปรารถนาของตัว แล้วมันไม่เป็นตามความปรารถนาของตัวหรอก มันเป็นตามความเป็นจริงอย่างที่เขาสร้างบุญกุศลมาแต่ละบุคคล แล้วกรรมนี้มาสัมผัสกันเท่านั้น

กรรมมาสัมผัสกัน กรรมเกี่ยวเนื่องกัน กรรมเกาะเกี่ยวกัน เหมือนแผ่นดิน แผ่นดินอยู่เอกเทศไม่ได้ เห็นไหม แผ่นดินของเราจะตั้งอยู่บนโลกได้อย่างไร แผ่นดินของเราก็ต่อเนื่องกันไปหมดนั่นแหละ แผ่นดินของเรากับแผ่นดินของคนอื่นมันต่อเนื่องกันขึ้นไป นี่กรรมมันเกี่ยวพันกันไป

แล้วเกิดมาเพื่อใช้กรรม คำว่า “ใช้กรรม” เราเกิดมาเพื่อใช้กรรม เมื่อมีกรรมแล้วก็สร้างกรรมดีสิ กำปั้นทุบดินสิ เกิดมาเพื่อใช้กรรม แต่ทำกรรมดี ไม่ทำกรรมชั่ว แต่กิเลสมันพาให้ทำนะ ถ้าเรารั้งไม่ไหว เราต่อต้านไม่ไหว ก็ธรรมดา มันทำไปแล้วเราพยายามนึกได้ก็จะไม่ทำอีก จะไม่ทำอีกนะ เพราะว่าขณะทำอยู่ปัจจุบันนี้ เวลาให้ผลข้างหน้ามันให้มากกว่านั้น

กรรมปัจจุบันอย่างหนึ่งนะ เวลาให้ผลข้างหน้านี่มันเป็นบวกนะ มีบวกด้วย มีบวก มีลบ ข้างหน้าน่ะ เพราะความอาฆาตต่างกัน ยิ่งเวลาฝั่งตรงข้าม ความอาฆาตแค้น ความผูกพยาบาท อย่างการให้อภัยกัน การต่อเนื่องกัน อันนี้มันให้ผลทั้งนั้นน่ะ กรรมมันเป็นธรรมชาติอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วมันมีทิฏฐิของใจเข้าไปบวก ถึงว่าพระพุทธเจ้าถึงสอนให้อโหสิๆ

ถ้าเราไม่มีการอโหสิหรือว่าไม่มีการลบล้างนะ มันจะบวกๆๆ เข้าไปนะ พอยิ่งบวกกับบวกมาเจอกัน แล้วมันไปอีกๆ นะ แล้วเราจะล้างให้เกลี้ยงๆๆ ล้างด้วยการปฏิบัติ อย่างเช่น ปฏิบัติเราอยู่นี่ กรรมเรานี่มหาศาลเลย

ดูพระองคุลิมาลฆ่าคนมา ๙๙๙ ศพ กรรมมากหรือไม่มากล่ะ แต่เวลาล้าง ล้างจบชาตินั้นล่ะ ฆ่าชาตินั้นล่ะ ๙๙๙ ศพ แล้วก็สำเร็จชาตินั้นน่ะ เห็นไหม กรรมล้างได้ สำเร็จชาตินั้น พระพุทธเจ้าไปโปรด สำเร็จเลย

“องคุลิมาล เราหยุดแล้ว ทำไมเธอไม่หยุด”

พระพุทธเจ้าไล่มาไง คนมีความคิด คนใฝ่ดีอยู่ แต่โดนหลอกไป กรรมเก่า โดนเขาหลอกไป ปรารถนาอยากจะเอาวิชาไง ถ้าเอาวิชาต้องฆ่าคนมาพันคน ไล่ฆ่าเขาเลย เพราะต้องการเอาวิชานั้น ฆ่ามาๆ จน ๙๙๙ ศพ จะฆ่าแม่อยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเห็นว่าพระองคุลิมาลนี้มีนิสัยจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าไม่ไปโปรดวันนี้ จะฆ่าแม่ จะหมดโอกาส

แม่ไปแล้วนะ กษัตริย์จะเอาคนมาจับ ฆ่าคนมาก โจรใหญ่ แม่เป็นห่วงลูกไง จะไปเตือนลูก ฟังสิ ขนาดจะไปเตือนลูก รู้ด้วยนะว่าลูกหน้ามืดตามัว ก็ทุกข์ไหม ฆ่าคนมา ๙๙๙ ศพ ทุกข์มากใช่ไหม ก็เหลืออีกศพเดียวครบพันแล้ว จะได้วิชาแล้ว แล้วพอแม่มาก็ไม่เข้าใจว่าแม่ไม่แม่แล้วนะ จะเอาน่ะ จะเอาวิชา รักวิชา อยากได้วิชามาก พระพุทธเจ้า ถ้าไม่ไปก็ฆ่าแม่ พระพุทธเจ้าไปก่อน เห็นพระพุทธเจ้า จะฆ่าพระพุทธเจ้าก่อน

พระพุทธเจ้าใช้ฤทธิ์ ไม่ได้เดิน ยืนเฉยๆ แต่มันลอยไป องคุลิมาลวิ่งเกือบตาย วิ่งไม่ทัน มีวิชาด้วยนะ องคุลิมาลมีวิชามาก วิ่งเร็วกว่าพวกเสือ เขาฝึกมา โบราณเขามีวิชากัน เร็วมาก ตามใครก็ทันนะ ใครจะหนีไม่พ้นเลย แต่ไล่วิ่งอย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าไม่ทัน จนทนไม่ไหว เรียกให้หยุด พระพุทธเจ้า...พอเรียกมันก็เป็นการโต้ตอบ

พระพุทธเจ้าบอก “เราหยุดแล้ว เธอต่างหากยังไม่หยุด”

องคุลิมาลบอก “พระพุทธเจ้าโกหก ก็หนีอยู่ นี่จะหยุดได้อย่างไร” ก็เลยไปบอกว่าพระพุทธเจ้าโกหก

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ใช่ เราหยุดทำบาป” เห็นไหม สะอึกเลย มันแทงใจไง

“เราหยุดจากการฆ่า แต่เธอยังไม่หยุด”

วางดาบเลย วางมีดเลย กราบเลย

จากวิชา นิ้วอีกพันนิ้วนี่จะเอา ไม่เอาอีกแล้ว มันมีเม็ดใน มันมีความรู้สึกข้างใน เป็นคนดีอยู่ ก็เลยขอบวช พระพุทธเจ้าบวชให้ สำเร็จในชาตินั้น ให้ดูว่ากรรมมันล้างได้ไง

แต่ที่พูดเมื่อกี้นี้ พูดเรื่องกรรม พูดให้เห็นโทษไง ให้เห็นการหมุนไปของมันไง ถ้าเห็นโทษ เราก็ออกจากโทษนั้น เราต้องเอาตัวออกจากโทษนั้นนะ วัฏวนนี้เหมือนกับกระทะใหญ่ แล้วเราเป็นสัตว์สัตว์หนึ่งอยู่ในวัฏวนนั้น เหมือนกับเราตกในกระทะทองแดง เหมือนกับเขาทอดกล้วยทอด เห็นไหม แล้วเราก็เป็นกล้วยทอดชิ้นหนึ่ง กลิ้งอยู่ในนั้น ร้อนอยู่อย่างนั้น เผาอยู่อย่างนั้นน่ะ มันไปไม่รอดหรอกจากวัฏวนนี้ ฉะนั้น ถ้าเราจะเป็นกล้วยทอด ก็อย่าให้กล้วยทอดมันทอดขึ้นมาแล้วเขาช้อนขึ้นมาให้สะเด็ดน้ำมัน

นี่ก็เหมือนกัน ยังอยู่ในวัฏวน เพราะยังไม่สิ้นจากกิเลส แต่อาศัยบุญกิริยาวัตถุ การภาวนานี้ได้บุญมาก จะจิตสงบ ไม่สงบ ได้บุญมาก เพราะพระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ ตอนจะนิพพาน เขาถวายดอกไม้ เอาดอกไม้ธูปเทียนบูชามากเลย พระพุทธเจ้ากำลังจะสิ้นแล้วนะ ยังฝากคำคมไว้น่ะ

“อานนท์ ต่อไปเธอจงบอกเขานะว่าการบูชาด้วยอามิสบูชานี่ไม่ประเสริฐเลย ให้ปฏิบัติบูชา”

เรานั่งอยู่นี่ เราทรมานกายอยู่นี่ เท่ากับเรายกกายของเราถวายพระพุทธเจ้า เพราะเรามีสิทธิในกายของเราใช่ไหม เราจะไม่นั่งก็ได้ เราจะลุกเดี๋ยวนี้ก็ได้ ทำไมเราฝืนนั่ง เพราะเราฝืนนั่งนี้เรายกกายนี้ ยกกิริยา ยกทุกข์อันนี้ถวายไง เหมือนกับเราเอากายทั้งกายประเคนให้พระพุทธเจ้าเลย นี่ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยร่างกาย ด้วยเลือดเนื้อ ด้วยความอดทน นี่คือปฏิบัติบูชา

ความทุกข์ ความเจ็บ ความปวด ทรมานเพื่อถวายพระพุทธเจ้า จะได้บุญ ไม่ได้บุญ? มันได้บุญอยู่แล้ว ปฏิบัติบูชาไง เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าไง ทำตามพระพุทธเจ้าสอน ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า มันถึงได้สะสมไปๆ ได้กิริยาไป ได้กิริยา กิริยานี้ดีขึ้นๆ

จากไม่เคยนั่งสมาธิเลย เห็นไหม นั่งสมาธิทำอย่างไร เรานี่นั่งจนเคยแล้ว อยู่คนเดียวก็ทำได้ มันก็มีนิสัย

จูฬปันถกมาปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ได้เลย จนพี่ชายจะให้สึก พระพุทธเจ้ามาสอนให้ลูบผ้าขาว ก็อันนี้ บุญกิริยาวัตถุ เราทำถ้ามันฝังใจเราไป มันจะเป็นบุญบารมีไป เหมือนกัน พี่ชายเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน มหาปันถก จูฬปันถกเป็นน้องชาย

เป็นพระอรหันต์นะ แต่ไม่รู้จริตนิสัยเพราะไม่เหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพุทธวิสัยจะรู้วาระจิตหมดเลย จนพี่ชายให้สึก

พระพุทธเจ้ามาดักหน้าเลย “จูฬปันถกจะไปไหน”

“จะไปสึก”

“ทำไมถึงสึกล่ะ”

“พี่ชายบังคับให้สึก”

“เธอบวชเพื่อใคร”

“บวชถวายพระพุทธเจ้า”

“มานี่ๆ” ให้เอาผ้าขาวไปลูบ แต่พูดภาษาบาลีนะ ว่าผ้านี้ขาวหนอๆ ลูบ

ลูบไปๆ นี่มันสลดใจนะ ผ้าขาวๆ ทำไมมันดำ? ดำเพราะเหงื่อมือออกไป มันสลดสังเวชไง เห็นไหม สลดสังเวชปล่อยทันทีเลย สำเร็จ

พระพุทธเจ้าเทศน์ไว้ เขาไปถามพระพุทธเจ้า เหตุใดถึงเป็นแบบนี้

เพราะจูฬปันถก ชาติก่อนที่จะเกิดเป็นพระจูฬปันถกนี่ เกิดเป็นกษัตริย์ แล้วออกตรวจพลสวนสนาม เป็นกษัตริย์ก็ต้องประณีตใช่ไหม ออกตรวจพลสวนสนาม ขี่รถม้าแล้วมีผ้าขาว ผ้าเช็ดหน้าลูบหน้า พอลูบแล้วมันสลดสังเวช ความสลดสังเวชนั้นมันฝังใจ มันกินใจ มันให้ผลข้ามชาติเลยล่ะ ข้ามไปอีกชาติหนึ่งมาลูบผ้านั่นน่ะ เข้ากับตรงนั้น

ไอ้เราก็เหมือนกัน ถึงถ้าได้ชาตินี้ต้องเอาเลย แต่ถ้าไม่ได้มันก็สะสมไปๆ มาเจอของดีแล้วมันต้องหยิบให้ติดมือบ้าง จะหยิบส่วนไหนติดมือก็ต้องหยิบ หยิบให้ได้ เกิดไม่เกิดตายเปล่าไง เกิดท่ามกลางพระพุทธศาสนา ถึงไม่สิ้นก็ต้องให้มีอะไรติดไม้ติดมือไป

เกิดเป็นคน การเกิดเป็นทุกข์ แต่ให้เกิดดี...จนแบบว่าเครื่องพัง ไม่มีน้ำมันหล่อลื่น ทุกข์ให้ทุกข์พอสมควร เพราะทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ต้องดับการเกิดคือดับทุกข์ ไม่เกิดก็คือไม่ทุกข์ ถ้าไม่เกิดแล้วไปไหน มันก็ไปอยู่ที่มันไม่เกิดนั่นล่ะ เพราะจิตนี้ไม่มีวันดับ อยู่คงที่ของมัน ว่าคงที่ก็ไม่ได้นะ เขาถึงว่า พูดผิดอีกล่ะ...ไม่คงที่ก็เหมือนคงที่

เกิดจากการปฏิบัตินะ เกิดจากตามความเป็นจริง

หน่ออ่อนมันชำแรกขึ้นมา ดูเวลาหน่อไม้ขึ้นมาแตกหน่ออ่อนสิ หน่ออ่อนนี้สวยมาก หน่ออ่อน นี้เหมือนกัน เราเริ่มปฏิบัติ ให้แตกหน่อจากหัวใจ หน่ออ่อนชำแรกออกจากกิเลส หน่ออ่อนปลูกได้ไหม เราเริ่มปลูกหน่ออ่อน มันแตกขึ้นมาจากภายใน หน่อมันอ่อน มันดีไปหมดแหละ

ความคิดเริ่มต้น ความคิดที่มันดีขึ้นมาจากหัวใจ แล้วเราสามารถจะทำให้มันแก่ได้ไหม ความคิด คิดทำความดี ใครๆ ก็คิดใช่ไหม แล้วก็ล้มไปๆ เหมือนหน่ออ่อนๆ ต้นไม้อ่อนๆ ไม่สามารถเติบโตได้ ความคิดอยากปฏิบัติดี อยากจะทำคุณงามความดี อยากจะให้เกิดตายได้สัมผัสรสของธรรม เหมือนหน่ออ่อน แล้วพอเกิดขึ้นมาก็ลบล้างกันหมดเลย กิเลสมันลบล้างหมดเลย มันน่าเศร้าใจ

ความคิดดีใครก็คิดเป็น ใครก็คิดอยากจะทำ แล้วทำไมมันทำไม่ได้ล่ะ นี่เห็นไหม ดูโทษของมันสิ เราก็ว่าเราดี ใจเราดี แล้วเราจะไปเห็นโทษของใจเราไหม ความดีที่เกิดขึ้นมา ชำแรกขึ้นมาจากไอ้กิเลสในหัวใจ จากภพใจ มันขึ้นมานี่เป็นธรรมนะ พระพุทธเจ้าสอนถึงการทำความดี แล้วมันก็ลบไปหมด เห็นไหม กิเลสมันพาลบหมดเลย

กิเลสๆ นี่ว่ามันเหมือนยักษ์เหมือนมารนะ ก็ความเคยใจของเรานั่นแหละ ที่มันอยู่ที่หัวใจของเรานั่นแหละ ในหัวใจเรานั่นน่ะ พระพุทธเจ้า...ความคิดที่ไม่ดี ท่านให้ชื่อว่ากิเลส ถ้าความคิดที่ดีให้เป็นธรรม มันมีกุศลกับอกุศลไง กุศลคือความดี อกุศลคือความไม่ดี ความดีมันลบล้างออกหมดๆ หน่ออ่อนถึงเกิดไม่ได้

วันอาสาฬหบูชา อยากให้หน่ออ่อนนี้มันเกิด หน่ออ่อน พยายามพูดถึงตรงนี้ เราไม่พูดเข้าวิปัสสนาเลยล่ะ นี่สมถะล้วนๆ นะ วันนี้ไม่ยกวิปัสสนาเลย วิปัสสนาพิจารณากาย ก็มันเป็นการ...หน่ออ่อนยังไม่เกิดเลย ไม้ยังไม่แก่เลย

ปลูกขึ้นมา จงใจได้ไหม รักษาให้ดี รักษากติกา ตั้งใจ ตั้งข้อปฏิบัติมาลงที่หัวใจ เราจะละเว้น เราจะไม่ทำอะไร เราจะฝืนอะไร นี่หน่ออ่อน แล้วอันนี้เราก็พยายามรดน้ำบำรุงมันสิ บำรุงขึ้นมาให้เกิดขึ้นมาจากภายในนั่นน่ะ ถ้าหน่ออ่อนนี้มันแก่ขึ้นมานะ มันก็พยายามจะต่อต้านไอ้ความที่ว่าปัดให้ล้มๆ อันนั้นได้บ้าง แล้วเราก็เป็นคนดีขึ้นมานะ

คนดีไม่ต้องให้มาบอก ใครจะบอกว่าเราเป็นคนดี ในหัวใจเรารู้เอง ถึงว่า ไม่มีของในที่ลับ ไฟไม่มีในที่ลับที่แจ้ง ในที่แจ้ง ไฟร้อน ในที่ลับ ไฟก็ร้อน เราทำความผิด เราทำความถูก ใจเราเท่านั้นรู้หมด เราจะโกงใครมา เราจะให้ใครไป เราจะทำความดีไว้ ใครจะมาชม ไม่ชม แต่เรารู้ เห็นไหม ใจเรานี้รู้นะ ถึงว่าไม่มีความลับ ความลับไม่มีโลก เพราะคนทำนั้นรู้หมด เราทำนี่เรารู้ แล้วพอเราตายไป อันนี้มันให้ผลๆ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว อันนี้มันมาประจานอีกทีหนึ่ง

อย่างเรานี่ทำความไม่ดีไว้เต็มที่มหาศาลเลย แล้วเราก็อวดอ้างว่าเราทำความดี บทเราจะตายขึ้นมามันจะออกเอง กรรมมันจะให้ผลนะ ทุรนทุราย อยู่ไม่เป็นสุขหรอก ทุรนทุรายมาก ถ้าเราทำความชั่วไว้มาก มาหลอกลวงชาวบ้าน ถึงเวลาจะตายนี่ทุรนทุรายมากเลย เพราะมันหลอกเขาไว้มาก มันจะตกนรกไง พอมันจะตกนรก จิตมันรู้ก่อน มันร้อน มันจะดิ้นรนกระวนกระวาย แล้วมันจะไปไหนล่ะ? มันก็ลงข้างล่างนั่นล่ะ

แต่ถ้าเราทำความดีไว้สิ ถึงว่าความลับไม่มีๆ แล้วเราทำความดี เราก็อยากให้คนชมเรา อยากจะให้เราเป็นคนดี...ไม่ต้อง ให้มันดีใน ในหัวใจนั่นน่ะ หัวใจมันดีขึ้นมาแล้ว ใครจะชมไม่ชม ไม่เกี่ยว หัวใจนี้ประเสริฐ กัดเพชรขาด ต้องกัดเพชรขาด มันถึงทำลายได้หมดในความไม่ดีในหัวใจ ทำลายได้หมดเลย มันทำลาย...

สงครามใด มันจะเท่ากับสงครามชำระหัวใจ สงครามที่ว่ารุนแรงที่สุด มันมีสงครามไหนที่จะเป็นสงครามเอาชนะใจตัว ไม่มี แล้วเราชนะสงครามภายในขึ้นมานี่ โอ้โฮ! มันถึงประเสริฐไง จากคนธรรมดาเป็นยอดคน เป็นยอดคนนะ เพราะมันเกิดเป็นคน แต่ไม่เหมือนคน มันไม่ทำเหมือนคนเขาแล้ว มันออกไปเหนือคน แต่ก็คนนั่นล่ะ ถ้ามองไปก็คนเหมือนกัน แต่หัวใจมันไม่ใช่ หัวใจภายในมันประเสริฐของมันเองอยู่อย่างนั้นล่ะ เป็นเอกเทศของมัน พอเป็นเอกเทศของมันแล้วมันก็สอนคนได้สิ มาสอนไอ้พวกในหมู่คนให้ออกมาเป็นเอกเทศอย่างนี้ ก็เริ่มต้นตรงนี้ เริ่มต้นจากการปากกัดตีนถีบนี่

ไม่มี ไม่มีสิ่งใดๆ ในโลกนี้จะได้มาเปล่า...ไม่มี มันมีเหตุมีผล ต้องลงทุนลงแรงไปทั้งนั้น ของทุกอย่างต้องลงทุนลงแรง ไม่ลงทุนลงแรง...ปฏิบัติ เห็นไหม พระพุทธเจ้า “ถ้าคืนนี้ไม่สำเร็จจะนั่งตายอยู่นี่เลย ไม่ลุก” บัลลังก์สุดท้ายน่ะ แล้วก็สำเร็จขึ้นมา ถ้าไม่สำเร็จก็ตายอย่างเดียว สละชีวิตทั้งนั้นน่ะ ไม่มีหรอกที่จะได้มาชุบมือเปิบๆ...ก็พวกเรานี่ชุบมือเปิบ นั่งอยู่นี่ชุบมือเปิบ เราฟังอย่างนี้

เอาอาหารมาไว้กองตรงหน้าเลย แต่มันกินไม่เป็น ถึงว่ามันกินไม่ได้ๆ นะ จะว่าไม่กินก็ไม่ใช่นะ...กินไม่เป็น คือว่ามันไม่เข้าพอดีใจไง คำว่า “กินไม่เป็น” มันไม่สามารถทำให้ใจนี้กลมกล่อมแล้วลงไปในสมาธิได้ไง ถ้ากินเป็น มันก็สามารถกลมกล่อมใจนี้ให้เป็นตามธรรมนั้นไง

ธรรมไง สมาธิธรรมมันมีอยู่แล้ว จิตไม่ฟุ้งซ่านก็สงบ จิตไม่สงบมันก็ฟุ้งซ่าน พอมันตัดฟุ้งซ่านมันก็สงบ นี้มันตัดไม่ได้ มันถึงว่าอยู่ในใจของตัวเอง แล้วแต่ตัวเองเป็นผู้ทำเท่านั้น ในหัวใจของตัว เราเป็นผู้ทำเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทะลวงมือเข้าไปในกลางหัวใจแล้วพลิกใจเราหรอก เราต้องพลิกเอง ภพของจิตอยู่ที่นั่น พลิกเลยๆ พลิกจิตนี้ออกหมดเลย พลิกภพของมัน ภพคือพื้นฐาน ภพมันอยู่ที่กลางหัวใจ ความคิดมันออกจากกลางใจมา แล้วมันผ่านสมอง สมองก็จำๆ ใช่ไหม

ถ้าเราพลิกตรงนั้นปั๊บ มันคิดไม่ได้ มันไม่มีฐานไง ก็เหมือนกับเรานี่ไม่มีเสียง เสียงพูดออกมาได้เลย ตัดกล่องเสียงทิ้ง ไม่มี ทีนี้มันตะเบ็งออกมาๆ ทีนี้เราพลิกใจปั๊บ มันก็ไม่มีความคิด ไม่มีเลย พอมันไม่มี ทำอย่างไรล่ะ ไม่มี ทีนี้มันก็คิดโดยธรรมชาติ เพราะไม่มีกิเลสเข้าไปยุแหย่ มันก็เลยกลายเป็นภาระเท่านั้น ขันธ์นี้เป็นภาระ ขันธ์นี้ไม่มีคนยุแหย่แล้ว มันก็มีความสุขน่ะสิ

จากเราอยู่ปัจจุบันนี้มีคนยุแหย่ตลอด มันยุให้ทำไอ้โน่นทำไอ้นี่นะ กับไม่มีใครมายุเลย เรานั่งอยู่ปกตินะ แล้วมี ๑๐ คนคอยนั่งยุ กับเรานั่งอยู่คนเดียว อะไรมีความสุขกว่ากัน เหมือนกัน ลองกิเลสมันสิ้นไปแล้วไม่มีใครยุ คนยุไม่มี เพียงแต่เราเป็นคนคิดไง อันนี้เป็นประโยชน์ อันนี้เป็นคุณเราก็ทำ อันนี้เป็นโทษ อันนี้ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ทำ ยกเว้นแต่คนมันเคยทำ มันทำเป็นกิริยาไป แต่มันก็ไม่ใช่โทษนะ

นั่นว่าเป็นยอดคน เราจะเป็นยอดใคร คนเกิดเป็นยอดคน เขาว่าคนทั่วไง ไอ้เราคนไม่ทั่ว คนครึ่งๆ กลางๆ พอคนไม่ทั่วแล้วก็จบ เพราะอะไร เพราะมันจะเกิดเป็นคนอันประเสริฐ กลัวจะไม่ได้เกิดเป็นคนอีกน่ะสิ ตายล่ะ ตายแน่นอน พอเกิด เกิดแน่นอนด้วย แต่จะเกิดเป็นอะไรเท่านั้นน่ะ เกิดเป็นอะไร

ฉะนั้น เราอยู่ในหลักการของศาสนา ศีลธรรมพระพุทธเจ้าสอน แล้วเราทำตามนั้น อย่างน้อยก็เกิดเป็นมนุษย์เด็ดขาด อย่างมากเกิดเป็นเทวดาขึ้นไปเลย เกิดภพสูงขึ้นๆ แต่เกิดสูงขึ้นก็ต้องกลับมาที่นี่ ทีนี้เรามีหลักการแล้วเราทำของเราไป ยกเว้นแต่ว่ากิเลสมันรุนแรง เราฝืนไม่ไหว สิ่งใดที่ทำมาแล้วมันเป็นอดีตไปก็อย่าไปเสียใจกับมัน ปัจจุบันนี้เรามีชีวิตอยู่ แล้วเราเจอช่องแนวทางแล้ว เราก็เดินแนวทางนี้ของเราไป เดินแนวทางของเรานี่ไป เป็นผู้ที่ฉลาด เอาตัวรอดคนเดียวไง

โลกทั้งโลกมันจะติเตียนนะ ไอ้คนมาวัดนี่ ไอ้คนที่ว่าโง่ๆ เซ่อๆ นี่ อยู่ดีๆ ไปทุกข์ไปทรมาน เขาไปเที่ยวสนุกแสนสนุกนะ มานั่งทรมานกัน แล้วมันมีกี่คนในโลกนี้ เขาก็ว่าพวกเราโง่ๆ เซ่อๆ ไอ้คนที่โง่ๆ เซ่อๆ นี่แหละมันจะไปดี ไอ้คนที่ฉลาดๆ มันจะไป...ดูคนส่วนมากก็แล้วกัน คนที่ฉลาดๆ มันจะไปประสาเขานั่นแหละ

ดูในทะเลสิ เวลาเขาไปดึงอวน เวลามันติดสัตว์ทะเลมานี่ ปลาทูกี่ร้อยกี่พันตัว นี่เวลาสนุกมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เวลาอวนลากขึ้นมาที มันจะรู้ว่า “อ๋อ! ชีวิตนี้จะสิ้นแล้ว” ไอ้เราออกมานี่มันแบบว่า มาฝึกไว้ก่อนเลย มาเตรียมเสบียงไว้ก่อน มาเตรียมทางไปแล้ว เวลาอวนลากมา เราก็พ้นออกจากอวนไป อวนลากมาเราก็มีช่องนะ อวนขาด อวนทะลุ เราก็พ้นของเราไป นี่คนโง่ คนโง่มันเอาตัวรอดได้

ถ้าเขาว่าเราโง่ เราก็ยอมโง่ โง่ภาษาโลกเขาว่านะ แต่ฉลาดธรรม แต่โง่ทางโลก ถ้าฉลาดทางโลกแล้วโง่ทางธรรม เสียหาย เขาว่าฉลาด ฉลาดกันทางโลก ฉลาดทางโง่ ไอ้เราโง่ทางฉลาด ถ้าเรามีหัวใจคิดอย่างนี้ มันพลิกใจเราได้

โลกธรรม ๘ ลมปากของคน รับประกันได้ ทำดีขนาดไหนก็ว่า ไม่มีทางหรอกที่ไม่โดน เวลาเราทุกข์มากๆ นะ สำหรับเวลาเรารักษาหัวใจเรา แต่เวลาคำพูดนี่อีกเรื่องหนึ่ง เวลาเรารักษาหัวใจเรา เราจะคิดเลยแหละ เวลาโลกธรรมมันแรง พระพุทธเจ้าสอนไว้ มีบทธรรมอยู่บทหนึ่ง สอนพระว่า “ในโลกนี้ คนที่โดนโลกธรรมแรงที่สุดในโลกนี้ไม่มีใครเท่าพระพุทธเจ้า” แล้วไปอ่านประวัติเป็นอย่างนั้นจริงๆ ประวัติพระพุทธเจ้า จะโดนคนใส่ความ โดนคนแกล้งมานี้มหาศาลเลย พระพุทธเจ้านะ

พระพุทธเจ้าบอกเองเลย “ในโลกเรานี้ โลกมนุษย์นี้ ไม่มีใครจะโดนโลกธรรมรุนแรงเท่าพระพุทธเจ้า” โดนการใส่ความ โดนการยุ ดูในประวัติพระพุทธเจ้าสิ มหาศาลเลย นั้นเราก็ต้องโดนตามนั้น ขนาดพระพุทธเจ้ายังโดน โลกธรรม ๘ เป็นธรรมเก่าแก่ เป็นธรรมประจำโลก แล้วเราจะเห็นว่าการนินทากาเลนี้มากกว่าการชม เป็นธรรมเก่าแก่ คือว่าของมันมีมาโดยดั้งเดิม มันเป็นสมบัติของโลก มันเป็นนิสัย มันเป็นสันดานอย่างนี้มาโดยธรรมชาติ แล้วเรามาเกิดท่ามกลางธรรมชาติ เหมือนกับเรามาเกิดในท่ามกลาง เราปฏิเสธดินไม่ได้หรอก เราต้องเหยียบบนแผ่นดิน

นี้เหมือนกัน เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว สิ่งนี้มันมีอยู่โดยดั้งเดิม แล้วสิ่งนี้มากระทบเรา เราถึงว่าโลกธรรม ๘ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว เวลาเขาชมมา มันก็เหมือนว่า ลมปากคน เหมือนกลิ่นหอม ลอยมาแล้วก็ผ่านไป เวลาเขาติเตียนมานะ เปรียบเหมือนเสาเข็มทิ่มลงที่หัวใจ ทิ่มมาผลัวะๆ เลย

นี่เราเทียบให้เห็นไง เห็นคุณและเห็นโทษ เห็นว่าอันนี้ผิด อันนี้ถูก

เวลาเขาด่ามาหรือเขาว่ามา สติเราคิดตรงนี้ได้นะ ไอ้ว่ามาด่ามานี่เรื่องของเขา แต่สังเกตว่าหัวใจนี้มันฟู ไม่ฟู หัวใจเรานี่ หัวใจฟูหรือไม่ฟู ฟูตามเขาไหม กิริยาทุกข์ สุข นี้มันอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่เขา ถ้ามันเดือดร้อนที่ใจเรา เขาด่า เขาหัวเราะ เขาก็ไปแล้ว เราทุกข์อยู่คนเดียว แต่ถ้าเขาด่ามา เราไม่ทุกข์ เราคุมใจเราได้ ฉะนั้น ใจเราสำคัญ ถ้าเราคุมได้ เรารักษาเราได้ รักษาใจของตัว

นั่นโลกธรรม ๘ มันของดั้งเดิมนะ ของดั้งเดิม ของประจำมา เพราะมันมีมาก่อนนั้น พระพุทธเจ้าตรัสมา กัปนี้องค์ที่ ๔ แล้วคิดว่าพระพุทธเจ้าตรัสองค์ที่ ๔ แล้วองค์ต่อไปก็พระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าทั้ง ๕ องค์นี้ตรัสธรรมะอันเดียวกันใช่ไหม ฉะนั้น โลกธรรมนั้นมีมาโดยดั้งเดิม พระพุทธเจ้าองค์ที่แล้วก็พูดอย่างนี้ ธรรมะนี้เหมือนกัน ของเดิม (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)