เทศน์บนศาลา

เทศน์อบรมในพรรษา

๒๑ ส.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

น่าสงสาร เวลาคุยอะไรก็น้ำตาไหลๆ ทุกข์น่ะ เวลาทุกข์มันทุกข์มาก ใครเวลาสะกิดใจก็น้ำตาร่วงๆ แล้วก็จะไปหาความสุขกัน อยากจะหาความสุข เกิดมาเป็นคนแล้วอยากจะพบความสุข แล้วมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็สอนความสุข แต่ข้างนอกเขาว่าสอนเรื่องอริยสัจ เรื่องทุกข์ ทุกข์เป็นทุกข์ เป็นทุกข์นิยม...ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ทุกข์นิยมนะ ศาสนาพุทธเราไม่ใช่ทุกข์นิยม

เพียงแต่เป็นศาสนาของเอกบุรุษ เป็นศาสนาของผู้ที่เข้าหาความจริงไง

“ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ” ไม่ใช่เป็นทุกข์นิยม “ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ” ที่ไหนเกิดโรค เราต้องเข้าไปแก้โรคที่นั่นไง ที่ไหนเกิดโรค ที่ไหนเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะไปแก้ที่นั่น...ไม่ใช่ศาสนาอื่น สุขนิยม สุขนิยม แล้ววิ่งหาแต่ความสุข แล้วไม่เคยเจอ ไม่เคยเจอความสุขจริงๆ เลยล่ะ

เราว่าเราเป็นความทุกข์ พอพูดว่า “ทุกข์” ก็เลยเข้าใจผิดกันหมด แล้วทำก็ทำผิดหมดเลย ทุกข์มันเป็นผล “เป็นผล” ทุกข์มันเป็นผล เป็นวิบาก แต่สมุทัยตัวไม่เข้าใจความทุกข์ต่างหากล่ะ พระพุทธเจ้าสอนตรงนั้นไง...ทุกข์ก็สอน แต่สอนว่ามันเป็นผลของเหตุไง เราสาวไปหาเหตุ

ไม่ใช่ว่าวิ่งเข้าไปหาทุกข์นิยม ทุกข์นิยม แล้วก็กอดทุกข์อยู่

มันเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจใช่ไหม เช่น เรามีความทุกข์อยู่ เรามีความผิดใจกัน ใครมาสะกิดใจมันก็คิดซ้ำคิดซาก อันนั้นเป็นทุกข์นิยมจริง โลกเอาความคิดของโลกแล้วมาจับศาสนาไง เอาความคิดของพวกเราแล้วไปจับศาสนา อย่างเช่น เรามีความคิดฝังใจ เรามีความทุกข์อยู่ ใครมาพูดสะกิดใจเราก็ไม่พอใจใช่ไหม มันก็เกิดให้ทำความคิด ทำให้ทุกข์มันเกิดขึ้น พอเราคิดว่าจะไปหาทุกข์เราก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น...ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ว่าไปหาทุกข์แล้วมันจะทุกข์อีกนะ

ให้ดูทุกข์ไง ทุกข์อันนี้มันเป็นทุกข์เนื้อไง ไม่ใช่ทุกข์อารมณ์ ทุกข์ของโลกเราที่ว่านี่มันเป็นทุกข์อารมณ์ “ทุกข์เปลือก” ฟังสิ ทุกข์ยังมีทุกข์เปลือก กับทุกข์เนื้อใน ถ้าไปเห็นทุกข์เนื้อใน รู้ว่าอันนี้เป็นอริยสัจ “อ้อ! มันเป็นสัจจะความจริงอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว” อย่างเช่นกายเรามันพิการไป เจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง แต่เราไปเสกสรรปั้นยอว่าไม่อยากให้เป็นไปตามนั้น นี่เขาเรียกสมุทัย นี่ทุกข์เนื้อใน ถ้าจับทุกข์เนื้อในได้ เราก็จะสาวหาเหตุหาผลกันได้

แต่นี่เราไปเอาแต่ความทุกข์ข้างนอก ทุกข์นินทากาเลไง ทุกข์โลกธรรมไง มันไม่ใช่ทุกข์เนื้อใน มันทุกข์เปลือก ทุกข์ว่ากลัวจะไม่มีตามที่ความมั่นหมาย มันก็เลยแบบพยายามจะปรุงแต่ง อันนั้นเป็นทุกข์เปลือก แล้วทุกข์เปลือกก็เจออารมณ์เปลือกๆ แล้วก็เลยทำให้ล้มคว่ำคะมำหงายไปในอารมณ์เปลือกๆ นั้นไง พระพุทธเจ้าถึงสอนว่าทุกข์เปลือกนี้ เราต้องข้ามพ้นตรงนี้ไง ไม่ให้จิตอยู่กับอารมณ์ พยายามทำความสงบ ทำความสงบนะ “ทำความสงบ” ฟังสิ ทำไมบอกว่าทำสมาธิ ทำความสงบ จิตนี้ต้องสงบก่อนแล้วมันถึงจะมีสมาธิ “จิตนี้ต้องสงบ”

จิตของปกติเรามีสติ แล้วมันสงบอยู่แล้วเป็นบางครั้งบางคราว ถ้าจิตไม่สงบ มันฟุ้งซ่านมากเกินไปจนอารมณ์รุนแรงขึ้นไปจนเสียสติได้ แต่ธรรมชาติของจิตมันมีทั้งฝ่ายขาวและฝ่ายดำ ถ้ามันไปตามความเคยชินของกิเลส กิเลสจะยุให้ไปฟุ้งซ่าน แต่มันก็มีเนื้อใน คือว่ามันมีความรู้สึกมีพุทธะอยู่ที่ใจไง มันก็มีฝ่ายขาวบ้าง ถึงมีสติยับยั้ง เราจะยับยั้งได้เป็นบางครั้งบางคราว แล้วก็ยับยั้งไม่ได้ บางทีมันรุนแรงมา เราก็ยับยั้งไม่ได้

ความจริง ธรรมะในใจ ก้นบึ้งของใจมันมีอยู่แล้วทั้งนั้นล่ะ เพียงแต่มันโดนกิเลสปกคลุมไว้ไง แล้วเราไม่เข้าใจ เราไม่รู้ทันตามความเป็นจริง เราก็พุ่งออกไปดูข้างนอก พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “ให้ทำใจสงบ” ทำใจสงบก็เหมือนกับเราได้ยืน ได้ยืนดูภาพ เราไม่ใช่วิ่งดู ไม่ได้เดินดู “ยืนดู” ทำใจให้สงบ พอสงบบ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้า มันก็จะเกิดสมาธิ

สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต จากสงบแล้ว สงบหนหนึ่ง ๒ หน ๓ หน เข้าไปเรื่อยๆ ถึงว่าเราทำใจสงบ ทำใจเราอยู่เฉยๆ อันนี้ก็ถูกต้องแล้ว มันต้องต่อเนื่องกันบ่อยๆ มันถึงจะเป็นสมาธิไง สมาธิในใจของตัว พอมีสมาธิแล้วมันก็มีตั้งมั่น คนไม่มีสมาธินะ คนที่อยู่กับโลกเขา ใครพูดอะไรมาก็ตื่น ใครจะพูดอะไรมามันก็หลง มันเชื่อเขาง่ายไง แต่ถ้าคนมีสมาธิ เขาพูดอะไรมามันต้องใคร่ครวญก่อน

จิตตั้งมั่น คือไม่ตื่น...เราถ้าจิตไม่ตั้งมั่นเหมือนกับคนตื่น คนตื่นใครพูดอะไรมาก็เชื่อ ตื่นไปหมดเลย เขาว่าที่นั่นมีไอ้นี่ ที่นี่มีไอ้นั่นนะ อยากได้อยากดี ทั้งๆ นั่นเป็นลมปากเฉยๆ มันไม่ใช่เป็นตามความเป็นจริง แต่ถ้ามีสมาธิแล้ว เขาพูดมานี่ฟัง แล้วใคร่ครวญว่าเป็นไปได้ตามอย่างนั้นไหม เห็นไหม ผลจะเกิดทันทีเลย นี่ธรรมะเริ่มแรกก็เกิดผลแล้ว เกิดว่าเราเป็นไม้หลักปักอยู่ในแม่น้ำ ไม่ใช่ไม้หลักปักล้มนอนอยู่ในแม่น้ำ ในแม่น้ำ ปักอยู่น้ำพัดมามันก็ปักอยู่ มันก็ต้านได้ ต้านกระแสของโลกไง ต้านกระแสของความเป็นไป ความเป็นไปตามกระแสโลก ไม่ใช่ตามความเป็นจริง กระแส ฟังดู “กระแส” มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วันนี้ก็ว่าให้คุณค่า พอมันเก่าเขาก็เลิก เขาก็เปลี่ยนใหม่ กระแสไม่ใช่ความจริง ความจริงมันอยู่ที่เราใคร่ครวญอันนั้น ถึงว่าให้จิตนี้มีสมาธิ

“การทำจิตให้สงบ” ฟังนะ การทำจิตให้สงบมันทำยากไหม...ยาก เห็นไหม เราทำจิตให้สงบ ถ้าไม่สงบนี่มันอึดอัด มันอยากลุกอยากเลิก ถึงว่ากำหนดลมหายใจเข้าและหายใจออกแล้ว ก็ต้องให้จิตเข้ามาไง ให้ม้วนเข้า ให้จิตนี้ม้วนเข้าหาภายใน คือไม่ม้วนออก ความรู้สึกนี้มันส่งออกนะ เช่น พอเรานั่งเราอึดอัด เราไม่พอใจมันจะเลิก ถ้าเราปล่อยตามความเป็นจริง น้ำมันก็ไหลลงต่ำ กับน้ำมันไหลลงมา เราก็คอยกวาดน้ำให้ย้อนกลับไป ให้ย้อนกลับไป

เหมือนกัน กำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก หรือกำหนดใดๆ ก็แล้วแต่ แล้วพิจารณานั่นน่ะ พิจารณาเพื่อความสงบนะ “พิจารณาเพื่อความสงบ” ดูกายนอกไง พิจารณาเพื่อความสงบ นั่นน่ะ ย้อนเข้าไง คือว่าพับกระแสจิตเข้าข้างใน พับกระแสจิตคือเราเอาไม้กวาดกวาดน้ำขึ้นไม่ให้ลงต่ำ ถ้ากวาดบ่อยๆ มันก็ต้านน้ำไว้ นี่ภาพชัดเลย

ความคิดก็เหมือนกัน ความคิดกระแสของใจมันจะไหลออกๆ เราเริ่มต้นนั่งเราก็ตั้งใจว่าเราจะนั่ง แต่พอนั่งสักพักหนึ่ง พอไม่ได้หรืออย่างไรความขัดเคืองใจมันต้องมี ความขัดเคืองใจที่มันจะพาให้คิดออกไง เริ่มต้นจากคิดออก พอคิดแล้วกายมันก็จะทำตาม ใช่ไหม เราก็พยายามพิจารณาดู พิจารณาหมายถึงว่าย้อนกลับๆ พิจารณาดูกาย ดูความรู้สึก นี่พิจารณาย้อนกลับ ทั้งลมหายใจด้วยนะ พิจารณาอย่างนี้มันเหมือนกับเสื้อผ้า เหมือนกับผ้าสกปรก ผ้าสกปรกเรากำหนดพุทโธๆ หรือกำหนดใจสงบนี่มันสงบธรรมดา แต่ผ้าสกปรกใช่ไหม เราก็ล้างน้ำ เวลาซักผ้าเสร็จ ซักด้วยผงซักฟอก เราต้องล้างน้ำสะอาด ใช่ไหม

จากผ้าสกปรก จากการซักฟอก จากการน้ำล้างสะอาด นี่เริ่มคิดอย่างนี้ จิตนี้มันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ซักฟอกนะ นี่ซักฟอกเฉยๆ นะ ซักฟอกให้จิตละเอียดเข้าไปไง คำว่า “จิตละเอียด” ละเอียดในสมาธินะ ไม่ใช่ละเอียดด้วยวิปัสสนา “ละเอียดในสมาธิ” ละเอียดในการสงบตัวลง คือกิเลสมันสงบตัวลงไง นี่สมาธิที่ถูกต้อง

ถ้าสมาธิที่ไม่ถูกต้องนะ... “สัมมาสมาธิ” สัมมาสมาธิมันอาศัยศีลไง อาศัยใจที่ไม่ส่งออก ไม่เอาสมาธินี้ไปประกอบเป็นไสยศาสตร์เป็นไสยเวทออกไปข้างนอก แต่ถ้าเป็นสมาธิน่ะมีศีล พอมีศีล เราไม่เบียดเบียนใช่ไหม ไม่เบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนใจของตัว จิตนี้พอมันเป็นสมาธิขึ้นมา มันใสอย่างนี้ แล้วก็ซักน้ำๆ เข้ามา ให้สมาธินี้ใสเข้าไปๆ ให้สะอาดขึ้นไง อันนี้คือสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ทำสมาธิเหมือนกัน ทำให้จิตสงบเหมือนกัน แต่มนต์ดำ-มนต์ขาวไง

“หลักของใจ” ใจจะทำคุณงามความดีหรือจะทำเบียดเบียน ว่าเบียดเบียนเลย แต่โลกเขาว่าเป็นคุณงามความดีไง เห็นไหม มันก็ต้องใช้พลังงานของใจ พลังงานของสมาธินี่แหละ ถึงว่าเป็นมิจฉาหรือเป็นสัมมา ฉะนั้นเราถึงให้มีศีล เรารักษาศีลแล้ว พอรักษาศีล ศีลเราบริสุทธิ์ บริสุทธิ์จากกายไม่ขยับออกไปทำความชั่ว ใจไม่คิดออกทำในสิ่งที่ผิด มันเป็นศีลภายในไง เป็นศีลภายใน ทำให้ใจ ให้สมาธินี้สะอาด

พอสมาธินี้สะอาดใช่ไหม พอสมาธินี้สะอาด มันให้ความร่มเย็น อิ่มใจไง ความสุขของใจ พอความสุขของใจ อิ่มใจ มีความสุขแล้ว ความสุขในสมาธินี้ก็มหาศาลนะ มหาศาลจริงๆ แล้วให้มันสุขถ้าเป็นสัมมา ถ้าเป็นมิจฉามันไม่สุข มันร้อน มันเกิด...พอจิตมันสงบ มันเหมือนถือเคร่งไง มันเหมือนกับว่าเรารัดไว้ เรารัดไว้แล้วมันจะออก เรารัดไว้ เราถอยเข้ามาเฉยๆ แต่ไม่ได้ซักให้สะอาด

แต่ถ้าเป็นสัมมาสมาธินี่มันจะโล่ง เบาสบาย สบายมาก มีความสุขมาก พอมีความสุขมาก ก็ทำให้ละเอียดเข้าไปอย่างที่ว่า ละเอียดเข้าไป พิจารณาเข้าไป ม้วนกลับๆๆ ทีนี้พอม้วนกลับขึ้นมานี่มันจะติด เพราะคนไม่รู้นี่มันจะว่างโล่งไป คิดว่าอันนี้มันเป็นผล...มันเป็นผลของการทำให้ใจสงบ มันไม่เป็นผลของในตำราที่พระพุทธเจ้าเราสอนแล้ว

พระพุทธเจ้าสอนว่ามนุษย์ให้เดินสองขา การงาน การหามาเป็นต้นทุนไง อย่างเช่น การสร้างบ้าน การหาวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่ง การประกอบเป็นบ้านเป็นเรือนอย่างหนึ่ง เราไปหาเงินมา ใช่ไหม เราไปซื้อของมาเพื่อจะสร้างบ้าน อันนั้นก็เป็นลงทุนแล้วชั้นหนึ่ง เราไปจ้างช่างมาทำงาน ค่าแรงงานกับข้าวสุกต่างกัน ไอ้นี่ก็เหมือนกัน การหาวัสดุมาคือหาให้ใจสงบ หาให้ใจตั้งมั่นก็เหมือนเราหาวัสดุอุปกรณ์มา แต่การจะวิปัสสนาไง ก็เหมือนกับการสร้างบ้าน

พระพุทธเจ้าสอนให้วิปัสสนา วิปัสสนาหมายถึงการชำระกิเลส กิเลสนี่มันอยู่ในสมาธิที่ใสๆ นั่นน่ะ สมาธิใสขนาดไหนกิเลสก็สงบตัวลงใสกว่าสมาธินั้น เห็นไหม ที่ว่าจิตนี้โล่งสบายแล้ว นึกว่าสะอาด มันสะอาดจากอารมณ์โลกภายนอก มันเป็นโลกียารมณ์ แต่ไอ้เนื้อแท้ของอารมณ์ภายใน มันแค่สงบตัวลง ซุกอยู่ในความใสสะอาดนั้น

นี่พระพุทธเจ้าถึงได้สอนไง สอนให้วิปัสสนา วิปัสสนานี้เป็นมรรค

“อริยมรรค” มรรคคือมีองค์ ๘ นี้มีเฉพาะในศาสนาพุทธนี้เท่านั้น

สมาธิใส สมาธิดีก็อุทกดาบส อาฬารดาบส เขาก็ได้สมาธิมาก่อน พระพุทธเจ้าก็เคยไปเรียนมา พระพุทธเจ้าเคยไปเรียนมาจากเขาแล้ว แล้วทำไมสมาธินั้นมันไม่เป็นมรรคไปล่ะ ถ้าสมาธิหรือว่าความจิตสงบ จิตที่มันเป็นความดีแล้ว มันเป็นไปเองโดยธรรมชาตินะ แบบจิตนี้เป็นสมาธิ พอใสสะอาดแล้วมันจะเห็นกิเลส มันจะชำระกิเลสไป แล้วก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้มรรคเรา ใช้มรรคเป็นเครื่องดำเนินนี่เขาก็มีอยู่แล้ว ทำไมมันไม่เป็นไปล่ะ

ฉะนั้น ถึงว่าสมาธิมันก็เป็นสมาธิ มันไม่ใช่วิปัสสนา มันจะยันกันตรงนี้ไง ยันที่ว่าสมาธิก็คือสมาธิ ปัญญาก็คือปัญญา สมาธิเป็นปัญญาไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้อุทกดาบสต้องสำเร็จไปแล้ว อาฬารดาบสก็ต้องสำเร็จไปแล้ว เพราะเขาได้ถึงสมาบัติ ทำไมเขาไม่สำเร็จไป

ถ้าสมาธินี้มันเป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นไปโดยอัตโนมัติ ทำจิตนี้ให้สงบแล้วจะเห็นกิเลส แล้วจะให้ทะลุกิเลสไปเลยโดยธรรมชาติของมัน ทำไม่เขาต้องตายโดยที่ว่าเขาไม่ได้ผลล่ะ พระพุทธเจ้าพอตรัสรู้แล้ว กำหนดดูจะสอนใครก่อน สอนผู้ที่มีพื้นฐานก่อน ก็จะสอนอาฬารดาบส กำหนดดูไป ตายเสียแล้ว เสียใจเหลือเกิน ตายเสียแล้ว ถ้าอยู่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ แต่ในเมื่อตายไปแล้ว

พระพุทธเจ้าสอนก็สอนคนเป็น สอนคนมีโอกาส สอนให้เข้าเดินมรรค มรรคคือปัญญาไง สัมมาสมาธินี้ก็เป็น ๑ ในมรรค คือองค์ ๘ “มรรค ๘”... ๑ ใน ๘ ความเพียร จากเพียรในสมาธิ เพียรทำใจให้สงบก็ทุกข์แล้ว ทุกข์พอสมควร แล้วยังต้องวิปัสสนาอีก วิปัสสนาแล้วมันก็ยังมีสัมมากับมีมิจฉาอีกล่ะ

การพิจารณาที่ว่าติดไง พิจารณาข้างนอก พิจารณานะ พิจารณาโดยอารมณ์ การพิจารณาโดยอารมณ์นะ หลับตา หลับตาให้ตาในเห็นกาย เห็นรับรู้ความรู้สึกเวทนา จิต อารมณ์ที่ฟุ้งซ่าน ธรรม ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้น นั่นน่ะ หลับตาแล้วพิจารณาถึงจะเป็นผล

ถ้าลืมตาพิจารณาไปพิจารณาที่ไหนลืมตาน่ะ ลืมตาพิจารณาภายนอก มันเป็นอารมณ์โลก มันเป็นว่าเราสมมติไง ลืมตาพิจารณาข้างนอก คิดว่าดูกายนอกกับดูกายใน ดูกายนอกนะ ถ้าจิตนี้มันมีการเพ่งอยู่ มีการบังคับอยู่ มันพิจารณาแล้วมันก็ว่าเห็นตามความเป็นจริง เพราะมันกดไว้ไง นี่มันจะเสียตรงนี้

การพิจารณาภายนอกมันพิจารณาเพ่งออกไป แล้วจิตนี้มันก็มีอารมณ์แบบว่าเราวิปัสสนึก นึกให้ตามความเป็นจริงในตำราไง แล้วกดไว้ กดไว้มันก็พูดได้ กดไว้มันก็จะรู้เท่าตามความเป็นจริงนั่นน่ะ อาการเราอนุโลมไป แต่เวลามันตีกลับขึ้นมานี่เสียเลย

เขาถึงว่าหลับตาแล้วให้ตาในเห็นพิจารณา ความปล่อยวางมันปล่อยวางจากขั้วหัวใจ ปล่อยวางจากภายใน มันจะปล่อยวางโดยอัตโนมัติ ฟังนะ มันจะปล่อยวางโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ปล่อยด้วยการบังคับ หรือปล่อยด้วยเราพอใจปล่อย...ไม่ใช่

การพิจารณาจนเท่าทันความเป็นจริง มันจะขาดออกไป ถ้าว่าเราคิด เราคาด เราหวังจะให้ปล่อย ถึงขนาดนั้นปล่อย ขนาดนี้ปล่อย อันนั้นเป็นการคาดหมาย อันนั้นเป็นการหลอกตัวเองไว้ชั้นหนึ่งแล้ว ฉะนั้นถึงว่าพิจารณา ถึงจะลืมตาพิจารณานะ ในทางจงกรมก็ได้อยู่ แต่ตานี่ลืม ลืมสักแต่ว่าลืม เดินจงกรมตาใสๆ อยู่แต่จิตไม่ส่งออกเลย มันพับมันม้วนเข้าข้างในหมด ตาสักนี่แต่ว่าตา แต่จิตนี้จะหมุนอยู่ภายใน ถ้าขณะใครเดินจงกรมนะ มันก็คือการพิจารณาเหมือนกันนั่นล่ะ อันนี้ก็พิจารณาถูกต้อง

แต่ถ้าเรานั่งอยู่ คำว่าพิจารณาภายนอกคือส่งออก...ส่งออกไม่ได้ ต้องย้อนกลับ ย้อนกลับ ย้อนกลับ เพราะกิเลสอยู่ที่ใจ รูปข้างนอก เสียงข้างนอก กลิ่นข้างนอก รสข้างนอก จะดีหรือไม่ดี จะประณีตขนาดไหน จะติดคือใจไปติดต่างหาก รูปจะประณีตจะดีขนาดไหน เขาเป็นรูปของเขาอยู่อย่างนั้น จิตของเรา ความรู้สึกของเราไปมั่นหมาย ไปติดเขาต่างหากล่ะ ฉะนั้น ถ้าเราส่งออกไป เราก็ไปเห็นรูปอย่างนั้น มันก็เหมือนโลกเขานั่นล่ะ โลกเขา เขาก็ดูกันอยู่อย่างนั้น เขาก็ติดกันอยู่อย่างนั้น แต่ในโลกเขา คนที่มีศีลธรรมเขาก็ยับยั้งได้บางครั้งบางคราว

ถ้าเราส่งออกไป แล้วเราไปยับยั้งไว้ด้วยสติพอสมควร ว่าอย่างนั้นนะ “ด้วยสติพอสมควร” แบบการอนุโลมขึ้นจากภายในของจิตที่ว่าศึกษาตำรามา แล้วไม่ทำลงมัชฌิมาท่ามกลางตามความเป็นจริงไง มันก็ดูอย่างโลกเขา โลกล้วนๆ เลย แต่เราก็เข้าใจว่าอันนั้นเราปล่อยตามความเป็นจริงแล้ว...ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก ถ้าปล่อยตามความเป็นจริงจะไม่ถามใครเลย

คนปล่อยตามความเป็นจริงมันจะปล่อยขาด หัวใจนี่จะปล่อยขาดออกไปเลย แล้วคิดดูสิว่ามันปล่อยขาด อาการที่ขาด อาการของใจเร็วมาก แต่ปัญญาเร็วกว่านั้น ปัญญาเร็วหมด จะไม่มีการพลั้งเผลอแม้แต่อณูเดียว จิตนี้จะพลิกกี่ชั้นกี่ตลบ มันจะทันหมด เห็นทุกอณูของจิต จิตนี้หมุนไปอย่างไร มรรคนี้สามัคคี ประหารกิเลสออกไปแบบใด จิตนี้จะรู้ ไม่ต้องให้ใครมาบอก พอมันขาดอย่างนั้นแล้วจะไม่ลังเลสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

“การลังเลสงสัย” พอขึ้นว่าลังเลสงสัยนี่กิเลสล้วนๆ กิเลสล้วนๆ เลย ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน จำเพาะตนสิ อหังนะ อหังการมาก มันเป็นอริยทรัพย์ภายใน มันเป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่ว่าโลกนี้เขาหากันไม่เจอ โลกนี้เขาไม่มี มันเกิดขึ้นจากภายใน เกิดขึ้นจากภายในก็เกิดขึ้นจากตอนสงบ ตัวเราขณะนี้ หนา ๑ คืบ กว้าง ๑ ศอก หน้าอก แต่เวลาคิดมันคิดสร้างโลกนะ จรวด ดาวเทียมทุกอย่าง เกิดขึ้นมาจากคนทั้งนั้นเลย

นี่ก็เหมือนกันเวลาความคิดออกไป มันครอบ ๓ โลกธาตุ แล้วเราพยายามจะให้มันหดเข้ามาไง หดเข้ามาให้อยู่ในกลางทรวงอก หดเข้ามา หดเข้ามา หดเข้ามาตั้งอยู่เป็นหนึ่ง หนึ่งนี้เป็นสมาธิไง มันรุนแรงขนาดไหน เวลาเห็นว่าเห็นคนตัวเล็กๆ ขนาดนี้แหละ หนาคืบ กว้างศอก แต่ความคิดไม่เป็นอย่างนั้นนี่ ความคิดนี้มันใหญ่มาก มันใส มันไปได้ทั่ว ๓ โลกธาตุ มันหมุนไปได้หมดเลย รับรู้ไปได้ทั่วหมด

แล้วเราดึง เราย้อนกลับมา กระชากกลับมาเลย กระชากกลับมาให้หยุดนิ่ง ความเร็วที่เร็วมหาศาลแล้วหยุดนิ่ง คิดดูสิว่ามันจะมีพลังขนาดไหน ความเร็วหมุนไป ลม ดูสิลม มันไม่เห็นมีเลย เวลามันเกิดพายุขึ้นมา โอ้โฮ! ทำไมมันทำให้พังไปหมดเลย บ้านเรือนทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากลองเลย

จิตนี้เอาให้อยู่สิ ให้อยู่แล้วนะ แล้วเราหมุนตามอริยมรรค ความมันสามัคคีนี้มันจะตัดกิเลสขนาดไหน มันสมุทเฉทปหาน ขาดๆๆๆ โอ้โฮ! ลูกหลานเหลนนะ กิเลสมันจะตายมาตลอด เหลนตาย ลูกตาย หลานตายมา จนปู่ย่าตายาย กิเลสมันมีคนเดียวเหรอ มีตัวเดียวในใจเหรอ พญามาร พญามารน่ะ ลูกพญามาร นางตัณหา นางอรดี นางโลภ นางโกรธ นางหลง นั่นลูกสาวนะ นั่นแค่ลูก แล้วหลานล่ะ ถึงว่าต้องฆ่ามันตั้งแต่หลานมาเลยนะ ตั้งแต่เหลนมาเลย ฆ่ามาตลอด ฆ่ามาตลอด

พอฆ่า ฆ่าความไม่อยากทำไง ต้องชำระความไม่อยากทำ ความไม่เข้าใจไง กิเลสมันต่อต้านไง ปวดเจ็บขนาดไหน นี่แค่เด็กๆ แค่กระเซ้าเย้าแหย่นะ เราก็ล้มกันแล้ว แค่กิเลสมันกระเซ้าเท่านั้นน่ะเราสู้ไม่ไหว แล้วเราว่าจะชำระมัน จะชำระมัน ชำระต้องชำระ ไม่มีใครทำแทนเราได้หรอก ถึงได้ว่าไงว่าเราปรารถนาความสุขไง ปรารถนาความสุข เวลาน้ำตาไหลมันก็รู้ ความทุกข์ ถึงได้น่าคิดนะ ยับยั้งให้ตรงนี้มันมีความสุขมาตลอด

การประพฤติปฏิบัติมันจะมีความทุกข์ พอปฏิบัติถึงจุดมันจะมีความสุขมาตลอดเลย ความสุขคือความอิ่มใจไง มันต้องมีเครื่องเยียวยา นักรบมันถึงจะรบได้ไง มันต้องมีเครื่องมีสัมภาระ มีความสุขเจือไปตลอด

พอจิตสงบมันก็มีความสุขของมันจุดหนึ่ง วิปัสสนาก็มีความสุขของมันจุดหนึ่ง มันจะให้ผลความสุขนี้ไปเรื่อยๆ มันไม่ใช่ให้ความทุกข์ไปตลอดหรอก ถ้าให้ความทุกข์ๆๆ ทุกข์ตลอด มันก็เหมือนไม้เผาไฟสิ เราเอาไม้เอาฟืนเข้าเตา มันไหม้ไปหมดเลย ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าการปฏิบัติมันมีแต่ความทุกข์ ไม่มีความสุขมาเจือเลย ร่างกายนี้มันต้องโดนไหม้สลายไปหมดเลย ร่างกายจะทนอยู่ไม่ได้ เพราะมันมีแต่ความทุกข์ล้วนๆ น่ะ

แต่มันมีความสุขมาเจือปนไง มีความสุขมาคอยให้มีรสชาติบ้าง มีรสชาติให้เรามีกำลังใจ มีความอุตสาหะจะทำต่อไป อันนี้เป็นอาหารของผู้ปฏิบัติ เป็นอาหารของใจ ใจมันจะได้ว่าไม่แห้งจนเกินไป ไม่ให้เผาจนละลายไปหมด นั่นน่ะ มีความสุขไง ความสุขในการที่ว่าฝืน แต่มันเป็นความสุขภายใน เป็นความสุข เป็นความพอใจ

นักปฏิบัตินี่แปลก เวลาทุกข์ก็ว่าทุกข์มากนะ เวลาปฏิบัติก็เผอเรอ ปล่อยไป เพราะกิเลสมันเสี้ยมในท่ามกลางปฏิบัติไง เห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็หลงตามมันไป เราอุตส่าห์ อุตส่าห์นะ อุตส่าห์จะประกอบทำใจให้มันสงบได้ หาเงินหาทองมาเก็บไว้ แล้วก็โยนทิ้งไปซะ เอาไว้โยนทิ้งเลย เพราะรักษาไม่เป็นไง มันจะเป็นความดี ถ้าเก็บรักษาไว้เงินทองนั่นน่ะ มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ไอ้มีสลึงเดียวจะเที่ยวจับจ่ายไปแล้ว

เพราะการออกไปเห็นนั่นน่ะมันเหมือนกับใจส่งออกแล้วนะ นั่นคือการจ่ายเงินที่ว่าสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่รู้สึกตัวเลย เพราะมันใช้แล้ว พลังงานนี้ใช้ ได้ออกไปแล้ว ใช้ออกไปแล้ว แห้งเลยนะ ตื่นเต้น ดีใจ ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านด้วยกิเลสมันหลอก แต่เราเข้าใจว่าอันนั้นเป็นธรรม...หลอกสิ เพราะอุปจารสมาธิไง อุปจารสมาธิ จิตนี้สงบนิดเดียวแล้วส่งออกไปรับรู้เลย มันหมุนออก อุปจาระคือวงรอบ มันหมุนออกไม่เข้าหาใน ไม่เข้าอัปปนา จิตนี้ไม่เข้ารวมเป็นหนึ่ง แล้วพลังงานอันนั้นก็ไม่พอ

ความไม่รอบรู้ของเรา ความตื่นเต้น ความชินชาของใจ ความชินชาของกิเลสมันอยากจะพุ่งออก แล้วไปเจอคนที่ว่าออกๆ ด้วยกัน เวลาภาวนาก็อยากเห็นนรกสวรรค์ นั่งโช้ะ! เข้าไปก็อยากจะดูเทวดา...ยังไม่ได้สงบมันก็ล่อไว้แล้ว เหมือนทางโลกเขาโฆษณาสินค้านั่นล่ะ ยังไม่มีเงินจะซื้อเขาเลย อยากไว้ในใจแล้ว ฉันมีเงินฉันจะซื้อไอ้นั่น ฉันจะซื้อไอ้นั่น จิตยังไม่ทันสงบเลยก็อยากจะไปดูไว้ก่อนแล้ว แล้วพอมันจิ้มเข้าไปสงบหน่อยเดียวพุ่งออกเลย...น่าเสียดาย อุตส่าห์ทำซะเกือบเป็นเกือบตายแล้วให้มันเสื่อม ให้มันหมดไปโดยใช่เหตุเลย

“โดยทำในทางที่ถูก” กับ “โดยทำในทางที่ผิด” ทั้งๆ ที่ประกอบความเพียรเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ภาวนาเหมือนกัน แต่ภาวนาแล้วควรจะให้เดินก้าว ๑ ๒ ๓ ๔ ไป ก้าวหนึ่งเราก็ล้มแผละ ก้าวหนึ่งเราก็ล้มแผละ เริ่มต้นแล้วก็ล้ม เริ่มต้นแล้วก็ล้ม ไม่มีคำว่าสองในหัวใจเลย หนึ่งแล้วก็ล้มไป หนึ่งก็ล้มไป

แต่เวลาทุกข์ขึ้นมาก็บอกอยากจะมีความสุข อยากจะประพฤติปฏิบัติ แต่ไม่เคยนับถึงสอง ไม่มีการฝืนในหัวใจไว้เลย ไม่มีการต่อต้านกิเลสเอาไว้ในใจของตัว กิเลสมันหลอกในท่ามกลางปฏิบัตินั่นล่ะ เริ่มต้นปฏิบัติมันก็หลอก เห็นไหม มันมีความทุกข์ ๒ อย่าง ความยาก ๒ อย่าง ยาก ในการปฏิบัติ ๑ ยากจากกิเลสมันจะหลอกให้ล้ม ๑

เราไม่เข้าใจ พอเราคิดเราก็ว่าถูก พอเราคิดนะ มันยังไม่ทันคิดมันก็ว่ามันถูกไว้แล้ว แล้วพอมันคิดมันก็ว่ามันถูก ถ้ามันถูกทำไมเราไม่ได้ผลประโยชน์มากขึ้นไป ฟังสิ ถ้ากานั้นถูก กานั้นดี มันต้องเบา อย่างที่ว่าพระพุทธเจ้าสอนไง สิ่งใดที่ขัดเกลา สิ่งใดที่มักน้อย นั่นล่ะเป็นทางที่ถูก สิ่งใดที่มักมาก สิ่งใดที่ให้เพิ่มพูน อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นเป็นโลก

แต่ถ้ามันขัดเกลา มันมักน้อย แล้วมันจะมีความสุขได้อย่างไร? อ้าว! ใจที่ไม่แบกสัมภาระ ใจที่ปล่อยวาง ทำไมจะไม่มีความสุข โลกนี้คาดหมายผิด คิดว่าใครมีเงินมากๆ แล้วจะมีความสุข เงินมากๆ มีแต่ตัวเลข แต่หัวใจที่ปล่อยวางไง คนที่ไม่มีอะไรเลยนั้นคือมีความสุข มีเงินมากๆ ก็เหมือนกับว่าเราแบกหินไว้ก้อนใหญ่ๆ ถ้าเราปล่อยไว้หมดล่ะ ไอ้ที่ว่าเงินนั้นเป็นกระดาษ

แต่ความจริงแล้วในหัวใจมันเป็นอริยทรัพย์ มันเป็นทิพย์ ยิ่งไม่มีมันจะกลับมี ถ้ายิ่งมีแล้วมันจะไม่มีเลย มันพะรุงพะรังไปหมดน่ะ จิตนี้พะรุงพะรังไปด้วยอารมณ์ ธรรมารมณ์ไง สัมผัสแล้วคิด หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง แต่จิตนี้คิดแล้วมันจะฟุ้งซ่านเลย มันไม่สองหรอกมันแตกกระจาย มันจะแตกกระจายไปแบบว่าคิดไปโลกร้อยแปด เราไม่ให้มีเชื้อ เราจะชักเชื้อนั้นออกเพื่อไม่ให้จิตนี้มีเชื้อ เพื่อไม่ให้จิตนี้มันคิด ก็ต้องให้ว่าง ต้องให้ขัดเกลา ต้องให้มักน้อย ต้องให้สันโดษ

สิ่งใดขัดเกลาสิ่งนั้นถึงจะเป็นธรรม ถึงจะเป็นธรรม ถึงจะเป็นความถูกต้อง พอมันมักน้อย มันสันโดษ มันน้อยลงก็ว่าตัวเองจะขาดทุนไง พอภาวนาก็จะเอามากๆ ไง มากๆ แล้วก็ล้มกลิ้งไปนู่นไง

อย่าไปหวัง อย่าไปหวัง อย่าไปจินตนาการ อย่าไปหมายเอาข้างหน้า ละอย่างเดียว ละอย่างเดียว “ละใจ” ละให้ว่างมันจะมีความสุขมาก ละให้ว่างเลย หนึ่งเดียวนั้น จิตนี้เป็นหนึ่ง หนึ่งนี้ไม่สืบต่อ หนึ่งแล้วก็ล้ม หนึ่งแล้วก็ล้ม พุทโธแล้วก็หาย พุทโธแล้วก็หาย หนึ่งๆๆๆๆ หนึ่งอยู่อย่างนั้นน่ะ สภาวะที่เอกัคคตารมณ์ จิตเป็นหนึ่งเพราะเป็นสมาธิ มันยังเป็นตน

แต่ถ้าวิปัสสนาแล้วมันจะเป็นหนึ่งไม่ได้ มันจะหลุดไปเลย ว่างหมด วิปัสสนานะ วิปัสสนาที่ถูก การพิจารณาที่ถูก ถ้าพิจารณาที่ผิด พิจารณาภายนอกมันจะเห็นอีกอย่างหนึ่ง มันเห็นแบบโลกนั่นล่ะ เห็นแบบความเบื่อหน่ายไง คลายกำหนัด จินตนาการกันไป เบื่อหน่ายคลายกำหนัด มันเบื่อหน่ายตรงไหน มันเบื่อหน่ายมันก็เหมือนกับเรากินเหล้าเมา เมาจนอ้วกจนไม่อยากกินอีกแล้ว พอหายเมามันก็อยากอีก พอเบื่อหน่ายๆ มันจะเบื่อไปไหนล่ะ มันเบื่อเพราะไม่อิ่มท้อง พอมันหิวขึ้นมาก็จะกินอีก

ลองท่ามกลางสิ “มัชฌิมาปฏิปทา” มันขาดออกไป มันรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริงเหนือธรรม เหนือธรรมชาติ เหนือการเวียนว่ายตายเกิด เหนือการวน เหนือการย้อนกลับมากินซ้ำ ไอ้โรคนี้มันเหมือนเสือ มันจับควายได้ตัวหนึ่งจับโคตัวหนึ่ง มันกินส่วนหนึ่ง แล้วมันซ่อนไว้ เดี๋ยวจะกลับมากินอีก ไอ้เสือในใจไอ้เสือกิเลสมันเป็นอย่างนั้นล่ะ มันหลอกตัวเองว่าตัวเองพิจารณาแล้วก็ว่าปล่อยวางไว้ได้แล้ว “ว่า” นะ “ว่า” แล้วว่าปล่อยวางไว้แล้ว แล้วว่ารู้ตามความเป็นจริงแล้ว “แล้วว่า แล้วว่า” “ว่า” ตลอด ผิดตลอด เพราะมันเป็นวิปัสสนึก มันมีเขามีเรา ในเมื่อเรายัง “ว่า” อยู่ไง มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา มันเป็นจินตมยปัญญา จินตนาการ มีเขามีเรา เราว่าเขา ลองดูภาวนามยปัญญาดูสิมันเป็นอย่างไร

จิตนี้เป็นสมาธิเป็นหนึ่งใช่ไหม การงานชอบเป็นหนึ่งใช่ไหม งานชอบความเพียรชอบเป็นหนึ่งใช่ไหม ความเห็นชอบ ความดำริชอบ ความจงใจลงที่ชอบ มันก็หมุนไป วนออกไป วนออกไป หนึ่งนี้จนมันรวม มันสามัคคี มรรคนี้สามัคคี มรรคนี้รวมกัน รวมกันจนไม่มีหนึ่ง รวมกันจนเป็นสุญญากาศ รวมกันจนเป็นสุญญากาศนะ เป็นอากาศ เป็นความว่าง

แล้วรวมปัญญานี้มันหมุน หมุนจนสามัคคี จนมันวิรัติเอง มันตัดออกไปเอง ไม่มีเราไม่มีเขา ขณะขาดนี้เราไม่รู้สึกตัว ฟังสิ ขณะที่มันเข้าใจมันยังไม่รู้สึกตัวเลย มันจะขาดต่อหน้า ไม่ใช่ว่าเราเขาเลย ไม่ว่า...รู้ตามความเป็นจริงเลยล่ะ มันจะขาดไง พระพุทธเจ้าถึงบอกมันเป็นญาณทัสสนะไง รู้ว่ากิเลสขาด มันขาดออกไปก่อน จิตสงบลงเลยแล้วย้อนกลับมารู้ เหมือนพังบ้านทั้งหมด พังให้ทลายราบไปเลย แล้วเราถึงมาเห็นว่าเป็นเรา

นี้จะพังบ้านก็ไม่กล้าพัง รื้อแต่หลังคาออกไปเหลือแต่เสาโด่เด่อยู่ แล้วก็พังบ้านแล้ว มันพังได้อย่างไร เสาโด่เด่อยู่นั่นน่ะ มันพังมันต้องพังออกไปหมด ราบไปหมดเลย มันเป็นนามธรรมมันไม่ใช่วัตถุ ไอ้นี่พูดถึงวัตถุมาเปรียบเทียบไง จิตนี้ยิ่งขยี้ หัวใจนี้ยิ่งขยี้ยิ่งขยำแล้วมันจะรอดออกมาไง ไม่กล้าทำอะไรเลย ไม่กล้าทำอะไรเลย มันเป็นจินตนาการทั้งหมด

อ่านธรรมะมาแล้วก็มาหลอกตัวเอง ศึกษาธรรมะมาก็มาหลอกตัวเอง ศึกษาธรรมะมานั่นยาวิเศษ ยาประเสริฐ ยาเลอเลิศ ขยำลงไปสิ มันต้องหลุดออกมาจากตรงนั้นอีกทีหนึ่ง ไอ้นี่ศึกษามาแล้วก็เอาเป็นความจริงเลย มันจะเป็นได้อย่างไรในเมื่อมันเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า เราไปฟังมา ไปจินตนาการมาแล้วเราว่าเป็นอย่างนั้น มันเป็นปริยัติไง เป็นวิชาการถูกต้อง แต่ต้องประกอบลงที่จิต แล้วขยำออกมาแล้วมันเล็ดลอดออกมาไง ว่าคั้นออกมาจากอริยสัจ หัวใจโผล่นี่ออกมาจากอริยสัจนะ มันไม่ใช่อริยสัจ มันโผล่ออกมาจากอริยสัจอีกทีหนึ่ง

อริยสัจนี้เป็นทางเดินของจิต เหมือนกับเราต้อนสัตว์เข้าไปในการชำระล้างออกแล้วโผล่ออกไปอีกปลายท่อหนึ่ง อันนี้ก็เหมือนกัน จิตนี้ผ่านอริยสัจไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วโผล่ออกมาจากอริยสัจ อริยสัจนี้เป็นโรงงานใหญ่ เราเอาหัวใจนี้ผ่านเข้าไป ผ่านเข้าไป แต่ตัวอริยสัจนั้นก็เป็นแค่โรงงานเท่านั้น หัวใจที่หลุดออกมาจากอริยสัจรู้เท่าตามความเป็นจริงทั้งหมด อธิบายได้หมด รู้หมด

แต่นี่เราไปศึกษาโรงงาน ศึกษาอริยสัจแล้วก็เอาโรงงานนั้นเป็นตัวตั้ง แล้วก็เดินรอบไง เดินรอบไปข้างๆ แล้วก็ว่าตัวเองอธิบายได้ ทุกข์เป็นอย่างนั้น สมุทัยเป็นอย่างนั้น นิโรธเป็นอย่างนั้น มรรคเป็นอย่างนั้น แต่ผลที่ตัวสะอาดไม่มี เพราะตัวเองไม่ได้กลั่นเข้าไปในโรงงานนั้น เดินเลียบชายโรงงานนั้นมาแล้วก็มาอธิบายอริยสัจกัน แล้วพอมันพลิกกลับ มันตีกลับ...เพราะกิเลสอยู่ในหัวใจ กิเลสมันอยู่ในหัวใจอยู่แล้วตามความเป็นจริง เพราะมันไม่ผ่านโรงงานนั้น

มันถึงว่า ต้องการปฏิบัตินี้สำคัญ แม้จะปฏิบัติอยู่มันยังเดินผ่านชายไปเฉยๆ บังคับหรือกำหนดจิตลงไม่ถูกที่ บางทีก็กลัวจะไม่ได้ผลรีบไปก่อน บางทีก็ช้าเกินไป ถึงกำหนดจิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ บารมีธรรมของแต่ละบุคคลไม่เสมอกัน การเจาะจงลงก็ไม่เหมือนกัน

การพิจารณากายก็อย่างหนึ่ง พิจารณาเวทนาก็อย่างหนึ่ง พิจารณาจิตก็อย่างหนึ่ง พิจารณาธรรมก็อย่างหนึ่ง แต่อย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่ ให้ถือความชำนาญของตัว ถือความชอบของตัวแล้วเอาอย่างเดียวไม่ต้องเดิน ๔ อย่าง กาย เวทนา จิต หรือธรรม ก็หัวใจนี้ไปเกาะเกี่ยว พิจารณาแขนงเดียวมันก็สะเทือนถึงหัวใจหมดเหมือนกัน

พิจารณาเพื่อให้หัวใจนั้นสะเทือน เพื่อให้หัวใจนั้นมันปล่อยออกจากที่มันยึดไว้ ไม่ใช่พิจารณาเพื่อเดินวนรอบเลียบโรงงานนั้นไปเฉยๆ ต้องผ่านเข้าไปในเครื่อง ให้บดให้ขยี้หัวใจ อย่าไปกลัวว่าหัวใจจะพัง เพราะหัวใจนี้เป็นนามธรรม

เอามือขยำอากาศสิ ลองเอามือขยำอากาศดู อะไรที่มันพังออกไป...ไม่เห็นมี มันจะลอดง่ามมือออกไป หัวใจมันเป็นนามธรรม ยิ่งขยี้เท่าไรมันยิ่งสะอาด “ต้องขยี้” อย่าไปกลัว อย่าไปกลัวว่ามันจะชำรุดมันจะเสียหาย เราไปกลัวไง กลัวว่าจะชำรุด กลัวจะเสียหาย กลัวเราจะเจ็บ กลัวเราจะปวด กลัวเราจะไม่ได้ผล ต้องสร้างสิ่งนี้เอาไว้รองรับผลของมัน

ก็คิดจะสร้างนี่ คิดจะสร้างก็ผิดแล้ว เพราะไม่ต้องสร้าง การเกิดมันมาพร้อมกับการเกิด จิตนี้ปฏิสนธิมันสร้างตัวมันเองมันมาแล้ว จิตปฏิสนธิเกิดเป็นมนุษย์มันสร้างตัวมันเองมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วจะมาสร้างอะไรกันตอนปฏิบัตินี้เล่า

จิตนี้มันสร้างมันมาเอง มันมาตามกรรม เพียงแต่เรามีโอกาส เราไม่หลงระเริงเหมือนชาวบ้านเขา เราได้โอกาส เหมือนกับเรารู้ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร แล้วเราได้เตรียมตัวไว้ผจญภัยไง กับคนที่เขาไม่ยอมรับ เขาไปตาม...เขาเผลอตัว จนกว่าน้ำป่ามา หลากมาก็ตายไปเปล่าๆ

อันนี้ก็เหมือนกัน ลองได้ตั้งใจมาประพฤติปฏิบัติ รู้ว่ามีภัยจะมา รู้ว่าเราจะต้องตายไปข้างหน้า ก็ชำระเสียเดี๋ยวนี้ มันเป็นตามความจริงอยู่แล้ว การเกิดขึ้นมา ปลายทางมันก็อยู่ที่ตรงสิ้นนั่นล่ะ เกิดขึ้นมาแล้วต้องดับ ปลายทางอยู่ที่ดับ แต่ชีวิตทั้งชีวิตนี้เราทำประโยชน์ให้กับตัวเราเองขนาดไหน

ชีวิตนี้เกิดมา หัวใจมันได้พลิกได้เปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นขนาดไหน ตัวเป็นมนุษย์แต่หัวใจเป็นเทวดาก็พอใจแล้ว หัวใจเป็นเทวดานะ เหมือนกับปืน เหมือนกับกระสุนมันจะออกจากแหล่ง นี่เหมือนเลย ภพของมนุษย์ เราจะหลุดออกไป หัวใจจะหลุดออกไปจากภพมนุษย์ไปมันจะไปอยู่ตรงไหน เราเท่านั้นที่จะเป็นคนเริ่มต้น แรงขับมาก-แรงขับน้อยก็อยู่ตรงนี้ ตรงได้สร้างคุณงามความดี หรือคุณงามความไม่ดีนั่นน่ะ สร้างคุณงามความดีแรงขับนั้นเย็น ทำความไม่ดีไว้แรงขับนั้นร้อน แรงขับร้อนมันจะไปไหนล่ะ

“แรงขับเย็น” บุญกุศลเป็นแรงขับที่เย็น การประพฤติปฏิบัตินั้นมันยิ่งเย็นเข้าไปใหญ่ บุญกุศลนั่นเป็นเย็นแล้วนะ เป็นแรงขับ แต่ประพฤติปฏิบัติไม่ต้องขับเลย มันรู้ตัวมันเองเลย ตัวกระสุนนั้นไม่ต้องให้อะไรขับ เพราะมันชำระจนมันปล่อยวาง มันว่าง มันเป็นไปตัวมันเอง มันลอยไปเองโดยธรรมชาติ จิตดวงนี้ต้องอาศัยแรงขับไป “แรงของกรรม” กรรมดีก็ขับไปดี กรรมชั่วก็ขับไปชั่ว ชำระกิเลสสิ้นแล้ว แรงขับไม่มีความหมาย ข้ามพ้นดีและชั่วไง ข้ามพ้นแรงขับทั้งหมด หัวใจนี้ไม่มีแรงขับ

พอไม่มีแรงขับมันก็เป็นสุญญากาศ มันกลับไปได้ทั่วไปหมดเลยเพราะเป็นสุญญากาศ มันเข้ากับอะไรก็ได้ อยากรู้แรงขับร้อนมันก็เข้าไปอยู่ในแรงขับร้อนก็ได้ อยากรู้แรงขับเย็นมันไปอยู่ในแรงขับเย็นก็ได้ เพราะมันเป็นความว่าง นี่มันให้เลือกเอาทั้งสามอย่าง แล้วเราเกิดมาเป็นมนุษย์ไง เราถึงมาเลือกเอาตรงนี้ไง เลือกเอา มันจะชำระแรงขับออกทั้งสองฝ่าย

เวลาให้ทานนั่นน่ะ เราสะสมแรงขับที่เย็น เวลาทำความดีเราก็สะสมแรงขับที่เย็น เวลามาประพฤติปฏิบัติก็อาศัยแรงขับที่เย็นนี้มาเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่มีแรงขับเลย การปฏิบัติมันก็ปฏิบัติยาก ต้องอาศัยแรงขับคือทาน ศีล ภาวนาไง ภาวนานี้มันขับให้ใจนี้หมดแรงขับเลย หมดแรงขับ แรงขับดันไง ตอนนี้มันมี ในใจมีไหม แรงขับดันในใจเรามีไหม มันขับไปทางไหน

ดู…ใจเรา เราเห็นใจเราเท่านั้น เราดูใจเรา เราเพ่งดูใจเรา เราจะเห็น ใจของเรา เราต้องเป็นผู้รักษาเอง ใจของเราจะให้ใครมาเป็นคนชี้แนะ เราพลิกได้ เราปิ้งปลา เรากลับปลาซ้ายกลับปลาขวาไม่ให้ปลานั้นไหม้ หัวใจ หัวใจ เราปิ้งใส่ตบะธรรมไง ตบะคือไฟ ตบะๆๆ “ตโป จฯ” มันเป็นมงคลอย่างหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ตบะธรรม ตบะธรรม เราก็เพิ่มมา คบบัณฑิตก็เป็นมงคลอย่างหนึ่ง มงคล ๓๘ ประการสำหรับการดำรงชีวิตที่ถูกต้องที่ดีงาม

“คบบัณฑิต” เราคบนักประพฤติปฏิบัติ คบใครก็บัณฑิตอยู่แล้ว “ไม่คบพาล” แล้วก็มาสร้าง “ได้เห็นสมณะ” ได้เห็นหรือยัง ได้เห็นสมณะนี้ก็เป็นมงคลอย่างหนึ่ง สมณะที่ ๑ ถึงสมณะที่ ๔ การเห็นสมณะ การได้คบบัณฑิต แล้ว “สร้างตบะ” ตบะธรรมที่เผาหัวใจเป็นมงคลทั้งหมด เป็นมงคลที่ว่าเราสร้างในปัจจุบันแล้วอยู่ใกล้ๆ เลย จะว่าอยู่ใกล้มันยังพูดหยาบเกินไป มันอยู่ที่หัวใจเลย มันอยู่ที่กลางอกของเราเลย...เป็นมงคลทั้งนั้น แล้วทำไมไม่ไขว่คว้าล่ะ

เวลาทำมาหากินก็อยากได้เงินมากๆ อยากได้ความดีมากๆ แล้วนี่มันอยู่ท่ามกลางในหัวใจของเราเลย เป็นมงคลทั้งหมด เป็นความดีทั้งหมด แต่เราไม่เข้าใจแล้วเราผลักไสออกไป จากความดีอยู่บนโต๊ะ...ไม่เอา พลิกล้มโต๊ะนั้นเสีย แล้วก็ไปเริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นนี่ถูก-ผิดก็ยังไม่รู้เลย ของมีอยู่ พระพุทธเจ้าสอนอยู่ ครูบาอาจารย์สอนอยู่ อยู่ต่อหน้าเลย อยู่ต่อหน้าเลย ถ้าให้ละเอียดเข้าไปก็อยู่ที่ท่ามกลางหัวอกเลย เพียงแต่ใช้ถูกเท่านั้นน่ะ เป็นผู้ที่ไม่หลงระเริงในโลก

คนเราเกิดมาปัจจัย ๔ ต้องมี ประกอบอาชีพได้เป็นปกติ แต่เวลาหันกลับมาในหัวใจ วัดค่ากันตรงนี้ วัดค่ากันตรงเรื่องของใจที่ดี ใจที่ดีขึ้น ดีขึ้น เดี๋ยวนี้โลกร้องหากันหมดนะ ร้องหาความเป็นธรรม ร้องหาความเป็นธรรม เราต่างหากไม่ให้ความเป็นธรรมกับหัวใจ เราเอาอะไรป้อนมันบ้างก็ไม่รู้วันๆ หนึ่งน่ะ ป้อนแต่ไฟ ป้อนแต่ยาพิษ เวลาร้องหาความเป็นธรรมก็ร้องหาความเป็นธรรมกันนะ แต่เวลาป้อนหัวใจของตัว นั่นน่ะ ยาพิษล้วนๆ เลย

ถ้าป้อนคุณธรรมของหัวใจมันต้องเย็น ต้องมีความสุข ป้อนสิ่งที่ดีให้กับใจกินน่ะ ป้อนได้ตลอดเวลานะ ป้อนได้ฝึกได้ ใจนี้ฝึกได้ อยู่ขณะไหน ทำอะไรอยู่ พุทโธๆ อยู่ ให้ใจสงบได้ตลอด สงบเท่าไร เย็นเท่าไร อิ่มเท่าไร มันเป็นเชื้อทั้งนั้นน่ะ มันเป็นสิ่งที่ให้เราได้มาประกอบทั้งหมด

สิ่งใดที่มี พอมีขึ้นมามันก็เหมือนกับเรามีวัตถุดิบนั้นพร้อมหมด เราป้อนให้ตลอด เราทำใจเราตลอด นั่นผู้ที่ฉลาด ถึงเวลาทำการงานก็ทำ ถึงเวลาหยุดก็ต้องหยุด ถ้าได้ฝึกแล้วเวลาหยุด หยุดเป็น ถ้าไม่ได้ฝึกหยุด หยุดไม่เป็น เวลาทำงานทำเกือบเป็นเกือบตาย เวลาหยุดแล้วมานอนยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะมันจะมาคิดใคร่ครวญถึงงานที่ทำมาแล้ว ผิดหรือถูก เวลาทำด้วยกาย เหนื่อยแสนเหนื่อย กายทำเสร็จแล้ว หัวใจมาทำซ้ำอีกทีหนึ่ง เหนื่อยกว่าใช้กายทำอีก ดูนี่เพราะอะไร เพราะไม่ได้ฝึกไง ถ้าฝึกแล้วงานนั้นเสร็จแล้วพักไว้ตรงนั้นล่ะ กลับมาก็มาทำความสงบของใจ นั่นน่ะ ป้อนใจเป็น ป้อนใจที่ถูกต้อง

มันถึงได้เกิดมา แล้วมันเวลาพูดแล้วน้ำตาไหล เห็นแต่น้ำตาไหลนะ คาดไป หมายไป เมื่อนั้นจะดี เมื่อนี้จะดี “เมื่อ” แต่ปัจจุบันนี้ไม่รู้...ปัจจุบันนี่ทุกข์ถ้าน้ำตาไหลอยู่ ปัจจุบันนี้ทุกข์ แต่ถ้าเข้าใจแล้วว่าปัจจุบันนี้มันจะแก้อนาคต วิบากไง วิบากของมนุษย์ไง เพราะกรรมที่สร้างมานี้เป็นมนุษย์ไง เป็นมนุษย์มันเป็นวิบากแล้ว เพราะมันมีกรรม มันถึงได้อยู่ในสภาพแบบนี้ แล้วจะเสียใจไปทำไม ไม่ควรเสียใจในสภาพที่ว่ามันเป็นผลของการกระทำของเราเอง ไม่ควรเสียใจ ควรแต่ว่าอันนี้มันเป็นต้นทุนที่เราจะเริ่มพลิกออก

การได้คิดอันนี้เป็นผลที่ประเสริฐมาก เพราะการได้คิดก็คือการว่าหยุด หยุดการจะทำให้เชื้อโรคนี้มากขึ้นไปอีก ถ้ายังไม่ได้คิดมันก็ยังสะสมเชื้อนั้นต่อไป แต่เราไม่คิดตรงนี้นี่ เราคิดแต่เสียใจ คิดแต่น้ำตาไหล แต่ถ้าเราได้คิดปั๊บ มันจะหยุดทันทีว่า “อ้อ!” สิ่งที่เกิดมา สิ่งที่เป็นมานี้มันจะได้ไม่เพิ่มพิษให้กับใจไง แต่เวลาคิดนี่มันคิดแล้วให้พิษกับใจทั้งหมด มันไม่ได้คิดแล้วชำระพิษนั้นออกไป พอหยุดปั๊บมันก็ได้เริ่มต้น พอเริ่มต้นแล้วก็ทำคุณงามความดีเรานี่แหละ เอากรรมปัจจุบันนี้ วันนี้เย็น พรุ่งนี้ต้องเย็น วันนี้ไม่เป็นหนี้พรุ่งนี้ไม่ต้องจ่ายใคร เป็นหนี้เขาอยู่พรุ่งนี้ก็ต้องใช้เขา ฉะนั้น ถึงต้องทำกรรมปัจจุบันนี้ให้ไม่เป็นหนี้ใครไง “ทำกรรมปัจจุบัน” โดยแรงขับที่ว่านั่นล่ะ

ถึงเวลาพูดแล้ว หรือระลึกแล้ว มันถึงได้ไม่เสียใจ ระลึกแล้วมันควรจะเป็นคุณงามความดี ระลึกแล้วก็น้ำตาไหล ถ้าระลึกแล้วมันเป็นคุณงามความดีเพราะเราเข้าใจ มันก็ต้องยิ้มสิ ยิ้มว่าทำไม โอ้โฮ! เราเข้าใจแล้ว เรามืดบอดมานานไง

ที่ไหนมืด เปิดไฟขึ้นมาตรงนั้นก็สว่าง ความคิดที่ไม่เท่าทันใจของตัวคือความมืด กิเลสมันหลอกให้คิด มันมืดหมดเลย พอเรามายับยั้ง เรามาทันความคิดของเรา ก็เปิดไฟขึ้นมา มืดตรงไหนไฟติดขึ้นมาก็สว่างตรงนั้น ฉะนั้น ถ้ามันเปิดไฟขึ้นมาแล้ว มันตกใจไงพอสว่างขึ้นมาเห็นหมด มันควรจะดีใจ อย่าเสียใจ

แต่พอสว่างขึ้นมาแล้วเห็นหลาวเห็นหอก กลับเสียใจร้องไห้อีก เห็นหลาวเห็นหอกก็เก็บสิ สว่างแล้ว อันนี้เป็นศัตรู อันนี้เป็นของมีคม มันจะบาดเรา มันจะทำอะไรให้เราเจ็บปวดก็เก็บให้เรียบร้อย อยู่ในท่ามกลางความสว่างดีกว่าอยู่ในท่ามกลางความมืดนะ อยู่ในท่ามกลางความมืดมันไม่เห็นอะไรเลย แล้วมันก็อุ่นใจเนาะ เพราะไม่เห็นพิษเห็นภัย

ฉะนั้น พอเปิดไฟขึ้นมาแล้ว มันควรจะดีใจไงว่าจะไม่เสริมพิษกันอีก อยู่ในท่ามกลางความมืดนี่แย่มากๆ นะ ไม่รู้เราจะประสบภัยอะไร เราคิดเอง ทุกอย่างเราคิดดีหมดในท่ามกลางความมืด เราคิด แต่มันไม่ใช่เป็นความจริง ความจริงคือการกระทำ กรรมมันให้ผลต่างหากล่ะ ทำกรรมดีได้ดี ทำกรรมชั่วได้ชั่ว เด็ดขาด!

ทีนี้เราก็ว่าทำกรรมดีแล้วไม่เห็นได้ดี ทำกรรมดีแล้วมีแต่ความทุกข์ ไม่เห็นได้ผลดีกับเราเลย ลองนั่งดู สิ่งที่เกิดขึ้นจากข้างนอกมันมีกรรมเก่ากรรมใหม่ มันมีความกระทบกระทั่งกันมา แต่กรรมในหัวใจไง มันเป็นปัจจัตตัง มันมีความอุตสาหะของเราเอง เราสามารถที่จะบังคับเองเลย แต่ถ้าอาศัยคนอื่น อาศัยข้างนอก สังคมโลก สัตว์สังคมอาศัยกันมันต้องอย่างนั้นล่ะ เราบังคับไม่ได้ ใจเรายังบังคับไม่ได้เลย ใจคนอื่นจะบังคับอย่างไร แต่ถ้าเราเข้าใจ เราเชื่อพระพุทธเจ้าว่า “ทำดีได้ดี” ทำสิ่งไหนมันจะดีเท่ากับภาวนานี้

การให้ของทางโลกเขา ให้วัตถุไง การให้ของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติบูชาสำคัญที่สุด ให้อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง ยกให้คนอื่นไปหมด พอกิเลสมันมายกให้กิเลสมันไปว่าอย่างนั้นเลยพอให้เขาไป ให้เขาไป มันก็หมดสิ สิ่งนั้นต้องหมด ให้บ่อยๆ ให้ตลอดเวลา ให้ต้องหมด กองขนาดไหน ชักออกตลอดเวลามันต้องหมด

แต่นี่ไม่ได้ชัก ความเห็นของโลก การสะสมนั้นคือการได้ มีแต่จะสะสม สะสมอารมณ์ สะสมความนึกคิด ยิ่งสะสมมันก็ยิ่งอยู่ในความมืดนั่นล่ะ เพราะเหมือนกับใบไม้ เห็นไหม มีมากใบมันก็ทึบมันก็หนา มองอะไรไม่เห็นเลย ข้างล่างมืด ยิ่งคิดมากก็เหมือนกับคิดทีหนึ่งก็เอาใบไม้ใบหนึ่งมาบังไว้ๆๆ บังจนมืดหมด

ทีนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ปล่อยวางๆ มันก็เหมือนเลาะใบไม้นั้นออก เลาะออกก็เห็นไง เห็นไปเรื่อย ทีนี้พอเลาะใบไม้ออกก็เห็นต้นไม้สิ แล้วไอ้รากไม้ รากแก้วอวิชชา ปัจจยา สังขารา นั่นน่ะ ละโลภ ละโกรธ ละหลงหมดแล้วนะ ก็โค่นต้นไม้หมดแล้วนะ แต่รากแก้วนั้นยังไม่ได้ถอนน่ะ เดี๋ยวมันงอกอีก ดูสิ รากแก้วยังไม่ได้ถอนน่ะ

โลภ โกรธ หลงนี่เราละได้หมดแล้ว ขนาดโกรธนี่โกรธไม่มีแล้ว หลงก็ไม่หลงแล้ว โลภ โกรธ หลง แต่ยังไม่ได้ถอนไอ้อวิชชานั่นน่ะ ก็ว่าพญามาร ลูกสาวพญามาร โลภ โกรธ หลง นี่แค่ลูกสาวพญามาร ไอ้รากแก้ว ถอนรากแก้วขึ้นมาพรวดเดียว...ต้นไม้มันตายไปแล้ว แต่จะไม่มีการเกิดอีกไง ถ้ารากแก้วยังอยู่มันยังแตกใบอ่อนอีก

มันอยู่ที่ไหน ไอ้ที่พูดนี่มันอยู่ที่ไหน ในตำราเหรอ...มันอยู่ที่ใจเรา ในตำรานั้นมันเป็นผลความสำเร็จของพระพุทธเจ้า แล้ววางไว้ แต่รากแก้วในใจเรา เราต้องถอนเราเอง รากแก้วในใจนะ ต้นไม้ก็กาย โค่นมันสิ ไอ้ที่มันสะสมเข้ามานี่โค่นที่ไหน กายนี้ก็กายนี้ บ้านเรือนนี่ขนาดไหน เดี๋ยวนี้ข้ามชาติไปเลยนะ ไม่ใช่มีบ้านเราบ้านเดียวนะ มีมันทั่วโลก มีบ้านอยู่ทุกประเทศ มันไปขนาดนั้นน่ะ

ละกาย ละใจ พอละหมดแล้วกลับสบาย ว่าละกายแล้วเหลือใจไง ละกายแล้วละใจด้วย ถ้าละกายแล้วเหลือใจไว้น่ะ เออนั่นล่ะ นั่นล่ะรากแก้วล่ะ ละกายแล้วก็ถอนใจทิ้งไป ถอนหัวใจทิ้งไปเลย อันนี้ก็หมดเลยสิ พอถอนหัวใจทิ้งแล้ว ละทั้งใจด้วย คือสุญญากาศเลย ถ้าไม่ละใจนะ มันยังเป็นหนึ่งอยู่ เพราะใจเป็นเราอยู่ พอเป็นเรานี่มันขวางไปหมดล่ะ ของที่เป็นวัตถุ อย่างไม้ ตีไปกลางอากาศมันก็ยังมีเสียงไม้ผ่านอากาศดังหวีดหวิวอยู่ หัวใจเหมือนกัน ลองมีอยู่น่ะ ยังไงมันก็คิด ยังไงมันก็เป็น ยังไงมันก็ขวาง มีใจอยู่ มีความคิด มันยังขวางไปนั่นล่ะ

มันถึงว่าต้องละใจไง พอละแต่กาย ละให้หมด เหลือแต่หัวใจ กายก็ต้องละ ใจก็ต้องละ ละทั้งนั้น แล้วมันจะได้ไม่มีอะไรมาขวางไว้ภายใน มันขวางก็ยังดีที่รู้ว่าขวางนะ ที่ไม่รู้ว่าขวางเพราะมันเป็นเรา พอเป็นเรานี่มันไม่เห็นล่ะ พอมืด-สว่าง มืด-สว่าง ไอ้นี่มันยิ่งกว่ามืด-สว่าง แดดจ้าๆ อยู่ มันมืดจริงๆ เพราะความไม่รู้ เพราะมันบังด้วยอวิชชาไง อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาคือความไม่รู้

มันถึงว่า เราก็ว่า “ไม่รู้ได้อย่างไร ก็คิดอยู่นี่”...ก็คิดแบบโง่ ๒ ชั้นไง

ก็มันคิด มันคิดนี่ ความคิดนี้มัน...เราไม่เคยคิด

นักเรียนเรียนวิชาเดียวกันมา เขาคิดมาขนาดไหนถึงเขียนเป็นตำรา แล้วเรามาคิดใหม่ๆ ก็ว่าเราเก่ง ความคิดนี้มันเป็นอารมณ์ไง มันไม่เห็นตัวตนเลย คือมันถึงได้มืด...ไม่รู้ตรงนี้ ไม่รู้ว่าเราคิดไง นึกว่าคิดขึ้นมาเก่งไง มันเป็นอารมณ์คิดน่ะ มันไม่ใช่อารมณ์เรา ไม่ใช่อารมณ์รู้สึกตัว

ถือว่าเป็นอวิชชา เพราะไม่รู้คือไม่รู้ตัวตน ไม่รู้ว่าอันนี้ผิดถูก

วิชชาเกิดขึ้นมันก็ดับหมดไง สว่างเกิดขึ้นก็คือวิชชา วิชชารู้อะไร มันรู้สึกตัวตั้งแต่เริ่มคิด จิตนี้คิดมันก็ไหลออกมาพร้อมกับสติรู้สึกตัวไปตลอด นี่รู้วิชชา (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)