เทศน์บนศาลา

เทศน์อบรมในพรรษา

๒๘ ส.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เข้าพรรษาต้องอบรมเข้ามาอีก เดี๋ยวก็ไม่ได้อบรมกันเลยล่ะ อบรมธรรมะนะ

ธรรมะ...ธรรมะมีต่อเมื่อพระพุทธเจ้าเกิดแล้ว พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมนะ แล้วเอาธรรมมาสอน ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ โลกนี้มืดบอด เดี๋ยวนี้มีศาสนาอยู่ก็เหมือนกับจะมืดบอด มันมองไม่เห็นน่ะ มันห่างออกไปเรื่อยๆ นะ แสงสว่างของดวงอาทิตย์ แสงสว่างของไฟฟ้ามันก็เป็นแสงสว่างอยู่ข้างนอก แต่หัวใจมืดบอดไง หัวใจมืดบอด อย่างพวกเรานี่ หัวใจมันเริ่มสลัวๆ ไม่ถึงกับมืดบอด เพราะมันเชื่อธรรม

ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมะนะ ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่มี มันร้อนมากนะ คนจะทำความดีขนาดไหน มันก็ได้ความดีขนาดที่ว่ามันทำความดีนั่นล่ะ ก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ มีพวกศาสดาต่างๆ เขาปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์กันทั้งนั้นล่ะ พระพุทธเจ้าไปเรียนมาหมดแล้ว ไปเรียนมาแล้วมันก็ยังทุกข์อยู่ไง ได้สมาบัตินะ เรียนกับอาฬารดาบสได้สมาบัติ จิตนี้สงบหมด แต่มันก็รู้อยู่

ถ้าคนมีปัญญานะ จิตนี้เป็นสมาธินะ คำว่า”สมาบัติ”นี้ โอ้โฮ...มันลึกขนาดไหน มันดีกว่าสมาธิของเราอีก อัปปนาสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันเป็นสมาธิเฉยๆ แต่สมาบัตินี่จิตมันได้เข้าออก ย้อนเข้าย้อนออกแล้วจิตมันมีพลังไง สมัยก่อนนั้นถึงว่ามีคนเหาะได้ นี่จิตเป็นสมาธินะ เป็นสมาบัติ จิตต้องเป็นสมาธิ จิตต้องมีความสงบ แต่พระพุทธเจ้าไปเรียนมาแล้ว ความสงบมันก็เป็นความสงบ จิตเป็นความสงบไง จิตเป็นสมาธิ แต่ก็มีความทุกข์เพราะคนไม่หลงระเริงไง พยายามย้อนดูใจของตัว ดูใจของตัว แล้วมันก็ไปไหนไม่รอดล่ะ ถึงว่ามืดบอด

คำว่า “มืดบอด” คือไม่รู้ทางออก จะว่าไม่รู้ดีรู้ชั่ว “รู้” คนนี่รู้ดีรู้ชั่วอยู่ อยากจะใฝ่ดี อยากทำดีมาก เหมือนกับเราเข้าไปติดคุก แล้วไม่มีประตูออกเลย วัฏฏะเป็นแบบนั้น วัฏวนนี่เป็นแบบนั้น เกิดๆ ตายๆ อยู่ ออกไม่ได้ ชีวิตเรานี้เหมือนกับเฟืองๆ หนึ่ง อยู่ในเครื่องน่ะ เป็นเฟืองตัวหนึ่งเราอยู่ในเครื่อง มันติดปั่นอยู่อย่างนั้นน่ะ เฟืองตัวนี้เสียก็ไปเป็นเฟืองตัวใหม่ เฟืองตัวนี้เสียก็ไปเป็นเฟืองตัวใหม่ เป็นอะไหล่ตัวหนึ่งๆ ในเครื่องนั้นไง

ก็เหมือนกับวัฏวน กามภพ รูปภพ อรูปภพ ๓ ภพนี้ จิตนี้ไปเกิดแล้วเกิดเล่าๆ จะทำความดีความชั่วก็อยู่ในนี้ไง ถึงใช้คำว่า”มืดบอด”ไง มืดบอดมันมืดบอดตรงนี้นะ ไม่ใช่ว่ามืดบอด นี่มันคนตาบอด ไม่มีธรรมะมันต้องมืดบอด ต้องมืดบอด ดีก็ดีประสากิเลสพาดีนั่นล่ะ ชั่วก็ชั่วสุดๆ เลย ถ้าทำชั่วสุดๆ เวลาไปเกิด ทุกข์มันก็อยู่ในก้นแท็งก์นั่นน่ะ เฟืองตัวที่ร้อนที่สุด อยู่ในนรกไง ไม่ใช่มันร้อนที่สุด มันเป็นเฟืองในวัฏวน

แล้วว่าคนที่มีความดี เห็นไหม ว่าดีของเขาก็ดีแค่ทำสมาธินั่นล่ะ ดีแบบฤๅษีชีไพร มันไม่มี คือว่าธรรมะนี้ประเสริฐมาก พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว มันละเอียดลออลึกซึ้งมากนะ จนไม่รู้ว่าจะสอนใคร จนท้อใจไง จนพรหมต้องมา... “พฺรหฺมา จ โลกา” นี้พวกพรหมเขามานิมนต์พระพุทธเจ้านะ ให้แสดงธรรมเถิด เลยเป็นประเพณีมา

แม้แต่เจอศาสนาก็จะมืดบอดตรงนี้ มืดบอดกันตรงที่ว่า ไม่เข้าใจไง ของมีอยู่ แล้วจะออกอย่างไรให้พ้นจากวัฏฏะๆ สมัยก่อนมืดบอดเพราะเขาไม่มี มันก็น่าเห็นใจนะ มันเป็นวาสนาของคน

ถึงว่าการเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนานี้มันเป็นบุญอย่างมหาศาลเลย มันเป็นคนที่ว่ามีโอกาส มีเครื่องดำเนิน เหมือนเรามีเงิน แต่เราไม่รู้จะซื้ออะไร ไม่มีสินค้าให้ซื้อ ปัจจุบันนี้สินค้าก็มี เงินก็มี แต่ก็ยังไปซื้อยาพิษมาใส่ใจของตัวอีกล่ะ แม้แต่บวชพระมาแล้วก็เป็นแบบนั้นนะ ถึงได้โอ้โฮ...โอ้โฮ...เลยนะ

แม้เป็นนักปฏิบัติมันก็ยังออกนอกลู่นอกทาง ไปไหนกันก็ไม่รู้นะ เข้าใจว่าปฏิบัติ เข้าใจว่าไง อ่านตำรากันให้กิเลสเป็นตัวนำ กิเลสเป็นตัวนำความเข้าใจของตัวแล้วก็ตีความหมายไปนั่นน่ะ พระพุทธเจ้าบอกไว้ไง ผู้ใดด้นเดาธรรม ธรรมะด้นเดา ไม่ใช่ของแท้หรอก ความด้นเดา ความจินตนาการมันจะเป็นของแท้ได้อย่างไร เพราะคนเราน่ะมันมีกิเลสอยู่แล้ว จะอย่างไรๆ ก็แล้วแต่กิเลสมันต้องออกหน้า แม้แต่ถือธรรมะอยู่ ถือคำสอนพระพุทธเจ้าอยู่นั่นล่ะ แต่กิเลสมันก็จะทำให้สงสัย เริ่มต้นจากสงสัย เหมือนเราเล็งเป้า มันผิดจากเป้าไปแล้วมันจะตรงได้อย่างไร

ถึงว่ามันต้องพึ่งครูบาอาจารย์อย่างนี้ล่ะ ต้องพึ่งครูบาอาจารย์ นักประพฤติปฏิบัติทุกข์นะ กระเสือกกระสนเลยล่ะ หาคนชี้นำ ทั้งๆ ที่ธรรมะวางอยู่ พระพุทธเจ้าวางอยู่ นักปฏิบัติบางคนว่านะ ไม่เชื่อใครเลย เชื่อพระพุทธเจ้า พูดน่ะพูดได้ เชื่อพระพุทธเจ้า ใครก็เชื่อ ทุกคนเชื่อพระพุทธเจ้าอยากทำตามพระพุทธเจ้าทั้งหมด แต่กิเลสในใจของเรามันทำให้พลาดจากนั้น พระพุทธเจ้าพูดถูก ครูบาอาจารย์พูดถูก ตำราบางทีก็พูดถูก บางทีนะ

พระพุทธเจ้าสอนไว้ในกาลามสูตรเห็นไหม ไม่เชื่อว่าครูบาอาจารย์พูด ไม่เชื่อว่าตำราบอก ไม่เชื่อว่าทำตามๆ กันมา ให้มาประพฤติปฏิบัติ ฟัง ฟังแล้วต้องมาใคร่ครวญมาทำ พิสูจน์ขึ้นมาจากใจ อันนั้นถึงเป็นชาวพุทธแท้ แต่นี้มันยังไม่ได้ทำ เห็นไหม เพียงฟังมาเพียงเชื่อมานี่มันต้องพาผิด

ฉะนั้นเรามาอยู่ท่ามกลางพระพุทธศาสนา ท่ามกลางข้อวัตรปฏิบัติ ท่ามกลางเลย เพราะมันกึ่งพุทธกาล ถ้าท่ามกลางเราก็ต้องหาทางออก ต้องทำให้ได้ก่อนไง

ฟัง ฟังแล้วคิด ความคิดของเรานี้เราว่าเราฉลาดนะ แต่ฟังให้ดีสิ การฉลาดคือการขวนขวายความทุกข์มาใส่ตัว ความฉลาดของทางโลกเขาน่ะ ความฉลาดของทางโลกมันเอาความทุกข์มาใส่ตัวนะ ความฉลาดนี่ มันไปขนมา เพราะว่าตัวเองฉลาดนิ ฉลาดก็ขนเข้ามาๆ คิดเข้าไป เพราะพระพุทธเจ้าหรือว่าธรรมะบอกว่า ต้องให้หยุดคิดมันถึงเป็นสมาธิใช่ไหม ความคิดนี้มันเนื่องด้วยกิเลส เราต้องให้มันหยุดคิด ใช้ความคิดหักห้ามความคิดอันนี้ นี้มันคิดไม่ได้

คำว่า”ฉลาด”มันคิดว่า ถ้าเราตัดทอนเรา มันถึงว่า เราคนโง่ไง เราเสียเปรียบ กิเลสมันสอนอย่างนี้ มันเสี้ยมอย่างนั้นน่ะ มันกลัวแต่เสียเปรียบ กลัวแต่จะขาดทุน มันต้องคิดเอากำไรไว้ก่อน คำว่า”เอากำไร” เอาความทุกข์มาใส่ตัวทั้งนั้นน่ะ มันขาดทุนหรือมันเสมอทุนไม่ได้

การทำใจให้สงบต้องขาดทุน ต้องขาดทุนนะ การขาดทุนจริงๆ แล้วมันคือการได้กำไร การยับยั้งการไม่ทำ เห็นไหม เราเห็นข้างนอกอยู่น่ะ เห็นว่าเป็นทองคำ เห็นว่าเป็นสมบัติมหาศาลเลย อยากจะไปขวนขวายมา อยากจะไปกว้านมา เราไปกว้านมาแล้วมันเป็นอะไรล่ะ เราเข้าใจว่าทองคำ แต่มันเป็นไฟ มันไม่ใช่ทองคำ มันเป็นไฟ สีเหลืองๆ มันเหมือนทอง ไปจับเข้าก็ร้อน แต่พอจะหยุดมันก็หยุดไม่ได้ เพราะความเข้าใจของเราอย่างนั้นน่ะสิ ถึงว่ามันเข้าใจผิดเห็นไหม

ความเข้าใจผิดนี้ออกมาจากไหน? ออกมาจากความคิดของเรา อวิชชาไง อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา นี่ความรู้ผิด ความรู้ของเรานั่นล่ะ เราไปยึดไง ยึดความรู้ของเรา ถึงว่ามืดบอดๆ ทั้งๆ ที่แสงสว่างมี แต่มันมืดภายในไง

ความมืดความสว่างมันตรงนี้ ตรงที่ปัญญานี่ ถ้าปัญญามันรื้อเข้าไปตรงนั้นนะ มันก็สว่างขึ้นมา ที่ไหนมืดเปิดไฟเข้าก็สว่าง แค่เปิดสวิตช์เท่านั้นล่ะ มันจะสว่างขึ้นมาทันที แต่นี่มันกดไม่ได้มันกลัวขาดทุนไง

ถ้าอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำลายตัวเอง นี่ว่าขาดทุนหมดเลย กลัวแต่จะเสียเปรียบ แต่ถ้ามันจะกำไรขึ้นมา นั่นน่ะโง่สองชั้น ตัวเองโง่แล้วยังว่าตัวเองฉลาด เพราะไม่เข้าใจใช่ไหม มันต้องยอมขาดทุน กดเข้าไปที่ใจของตัวนั่นล่ะ กดเข้าไปตรงที่ว่าฉลาดๆ ให้มันแพ้เขาบ้างสิ บอกว่า "แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร"ไง กำไรนั่นคือเป็นมาร ฉลาดนั่นคือมารฉลาด มารมันพาให้ฉลาด มารมันเสี้ยม มารในใจเรานะ อย่าไปมองใจคนอื่น

ใจของคนอื่นก็เป็นความทุกข์ของคนอื่น ใจของเราก็เป็นความทุกข์ของเรานะ มารในใจเรามันก็ให้ความร้อนกับเราน่ะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การอาศัยกันนั่นเป็นการอาศัยกันภายนอก

แต่ขณะปฏิบัตินี่ มารในใจ ความคิดในใจ แขกในใจ ความจรมาของอารมณ์ภายในใจ มันยิ่งกว่าสังคมภายนอกหลายเท่านัก สังคมภายนอกมันไปๆ มาๆ มันยังเห็นตัวเห็นตน ความเกิดดับๆ ในใจนี่ไม่เห็นเลย ความเกิดดับในใจนั่นน่ะ มันจรมามหาศาล มันยิ่งกว่าเขามีงานมหรสพข้างนอกอีก มันคึกคะนอง มันโลดเต้นเผ่นกระโดด มันอยู่ที่ใจเห็นไหมนั่นน่ะ

อันนั้นน่ะเราดับมัน ดับมันถึงว่าได้กำไรไง ดับมันให้ได้ มันถึงว่าเป็นคนฉลาดตามธรรม แต่โง่ตามโลกเขา เขาว่าเซ่อๆ ซ่าๆ ไม่ยอมคึกคะนองไปกับเขาไง คึกไปทำไม คึกไปทำไม คึกไปให้ทุกข์หรอ คนเราสงบภายในนะ จิตมันมีหลักยึด มันเป็นคนที่...เหมือนคนนิ่ง ทำอะไรนี้จะสวยงามไปหมดเลย ทำ จะทำดี แล้วได้ประโยชน์ล้วนๆ แต่เพราะกลัวขาดทุน ทำอะไรถึงสะเปิ้ปสะป้าบไง เขาเรียกลน คนลน เพราะมันอยากได้มากเกินไป

ถ้าเรามีหลักยึดแล้วนี่ มันก้าวเดินไปด้วยเต็มฝ่าเท้า ไม่หลงไม่ตื่นเต้นไปกับอารมณ์ภายนอก ไม่ตื่นข่าวไง ข่าวอะไรจะผ่านมาต้องหยิบ ต้องฟังก่อน ใคร่ครวญ ไม่ตกใจ เพียงแต่ยับยั้งตรงนี้มันก็ได้ประโยชน์แล้ว ดูหลักใจมันดูตรงนี้นะ ดูหลักใจ เริ่มมีหลักไง ว่าเป็นชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีหลัก มันจะตื่นไปหมด เดี๋ยวนี้มันจะตื่นไปหมดนะ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นพุทธไม่พุทธนะ เขาว่าเดี๋ยวนี้ชาวพุทธถือศาสนา ๓ ศาสนาพร้อมกัน เขาว่าใครถือศาสนาใดศาสนาเดียว หนึ่งคนต่อศาสนาเดียว เดี๋ยวนี้มันทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ทั้งผี ถือผีนั่นล่ะ

พุทธมันคืออะไรล่ะ พุทธไม่ตื่นเต้นไปกับโลกภายนอกไง สิ่งใดเกิดขึ้นนะ เห็นไหมสิ่งนั้นต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา มองโลกนี้ตามความเป็นจริง มันต้องพิสูจน์กันให้เห็นก่อนมันถึงจะเชื่อได้ พิสูจน์ด้วยหลับตา ไอ้เรื่องอย่างอื่นน่ะเป็นไสยเวทย์ ไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์มันแก้ทุกข์ไม่ได้นะ มันมีแต่เพิ่มทุกข์ มันมีแต่ทำให้เกิดการจองเวรจองกรรมกันไปเรื่อย การจองเวรจองกรรมนั้นเป็นทางที่ถูกหรือ

พระพุทธเจ้าให้เชื่อเรื่องของกรรม กระทำมานี่เป็นการกระทำกรรมมา ต้องทำกรรมดีมา ถึงได้มาเกิดพบพระพุทธศาสนา ทำกรรมดีนะ ช่วงที่เกิดเป็นมนุษย์ ทำกรรมดีมา แต่ช่วงจากไปจากนี้ ตายจากมนุษย์ไปนี่กรรมอะไรจะพาไป กรรมอะไรจะพาเราไป

กรรมเป็นสมบัติของใจ กรรมมันเป็นเหมือนพาหนะพาใจนี้ขึ้นสูงๆ ต่ำๆ มันพาเรามาถึงจุดกึ่งกลาง เหมือนกับข้ามฟากมาจากแม่น้ำฟากหนึ่งมาถึงกลางแม่น้ำนี่ แล้วเราจะว่ายข้ามฟากไหน จะกลับไปฟากเก่าหรือ หรือจะขึ้นมาฟากนี้ ข้ามพ้นจากห้วงไง ห้วงแห่งกรรม ข้ามไปได้ ข้ามพ้นได้

กำลังใจมันเกิดขึ้นแล้ว เราใฝ่ดีนี่นะ เราเกิด เราไม่มืดบอดเหมือนคนอื่นเขา เราตั้งใจมาแล้วน่ะ เราตั้งใจจะเข้าหาไง เราตั้งใจนะ ความตั้งใจมันเหมือนกับเริ่มหาฟืนหาเชื้อ หัวใจอย่างนี้หายากแล้ว หัวใจไม่มืดบอด

หัวใจมืดบอด คือ หัวใจไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ไง หัวใจที่ปิด หัวใจที่คว่ำ นี้หัวใจเราเริ่ม เริ่มจะเปิด แต่มันยังหาสวิตซ์ไม่เจอ หาสวิตซ์ไม่เจอเปิดไฟในหัวใจไม่ได้ แสงสว่างไง มันเป็นอุปกิเลสนะ แต่มันก็ทำให้สดชื่นแจ่มใส แสงสว่างภายในใจ

จิตสงบมันจะสว่าง แค่จิตสงบ บางทีสว่างเห็นไหม เป็นดวงแก้วเป็นดวงอะไรขึ้นมาเห็นภายใน พอบอกว่าดวงแก้วก็จะยึดหมายล่ะ อย่าไปยึดมัน มันเป็นบุญเป็นกรรมของแต่ละบุคคลหรอก บางคนก็สงบเฉยๆ จิตนี้สงบเย็นเรื่อยลงไปนะ จิตสงบ คือ จิตที่ปล่อยวาง สบาย สบาย มีความสุข สุขแท้ๆ นะ สุขที่ไม่เจือด้วยอามิส เห็นไหม นี่ความสุข เขามีสุขของโลกเขานี่สุขเพื่อทุกข์ สุขแล้วก็ทุกข์ ทุกข์แล้วก็สุข มันลุ่มๆ ดอนๆ ไง

ของในโลกเรานี้มันเป็นของคู่ มันไม่เป็นหนึ่ง ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เป็นหนึ่งนะ ถึงที่สุดแล้วเป็นหนึ่ง เอโก ธมฺโม สุขที่ไม่คลาดเคลื่อน ไม่กลับไง สุขที่ไม่กลับลงมา ไม่เป็นสอง เป็นหนึ่ง สุขล้วนๆ เลย ของนอกนั้นนะมันมีร้อนคู่กับเย็น เย็นคู่กับร้อน พอเย็นแล้วมันต้องร้อน ร้อนแล้วมันต้องเย็นกลับไปกลับมา มันไม่มีอะไรจีรังถาวรเลย ยกเว้นแต่หัวใจที่ทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันเป็นหนึ่งเดียวมันไม่มีสองมันจะกลับมาได้อย่างไร นี่ถึงว่าสุขแท้ไง สุขแท้มันสุขตรงนี้สุขที่ไม่กลับกลาย สุขที่ไม่ปลิ้นปล้อน สุขจริงๆ

แต่ในโลกนี้สุขเพราะว่าอามิส สุขเพราะป้อน สุขเพราะเด็กร้องไห้แล้วได้ของเล่นตามความพอใจมันก็ยิ้มเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวมันก็เบื่อ กิเลสมันสอนเสี้ยมคนอย่างนั้นน่ะ เหมือนเด็กๆ เหมือนเรานี่เป็นขี้ข้าของมันไง มันเหมือนคอยเอาของมาหลอกเด็ก เราก็เป็นเด็กดวงใจหนึ่ง

ดวงใจนี้เด็กมากนะ ไม่รู้อะไรเลยให้กิเลสมันหลอก ไสไป ไสไป ไสไปตลอด อยากได้ไปหมดในโลกนี้ อยากได้ อยากจน...อยากจนบ้าว่าอย่างนั้นเถอะ บางคนเห็นไหม ความอยากพาจนแบบว่าเสียสติไปก็มี อยากแล้วนะ คิดดูนะ อยากหนึ่ง สองไม่สมความปรารถนาหนึ่ง มันทุกข์กี่ชั้น อยากไม่มีขอบเขต กิเลสเป็นแบบนั้น อยากจนไม่มีขอบเขต แล้วก็ไม่สมปรารถนาอีก ซับซ้อนๆ ไปจนเครียด จนทำลายตัวเองก็มี นั่นเพราะใจมันไม่สงบ นั่นเพราะไม่รู้เห็นโทษของมัน เข้าใจว่าอันนี้เป็นความถูกต้องไง เข้าใจว่าความอยากนี้มันเป็นความดี เป็นคนขยันขันแข็ง

คนขยันหรือคนไม่ขยัน มันรู้ด้วยสัญชาตญาณนะ มันแสดงออกเอง คนจริงเท่านั้น คนรู้คนตรงเท่านั้น มันถึงจะตรงต่อซื่อสัตย์กับตนเองไง การประพฤติปฏิบัติมันต้องอย่างนั้น ถึงต้องมีศีล ถึงต้องมีศีลไง ใจคนน่ะกิเลสมันจะทำให้เห็นแก่ตัว ศีลนี้มากั้นไว้ เอาศีลนี้มาล้อมไว้ก่อน ไปเบียดเบียนเขา ไม่ลักทรัพย์ ไม่ให้คิดวอกแวกไปอยากได้ของคนอื่น

มโนกรรม ของเขาเป็นของเขา ของเราเป็นของเรา สมบัติของเรา เราก็หวง สมบัติของเขาเขาก็หวงเห็นไหม ใจมันไม่คิดไปเอาของเขา ใจไม่คิดเบียดเบียนกัน นี่ศีล เอาศีลมาตั้ง ดังนั้นมันอยาก ความอยากนี่มันอยากได้ อยากได้ไม่มีขอบเขต เราคิดได้ก็ว่าตัวเองดีไง มันโง่หรือมันฉลาดนั่นน่ะ

ถ้าเราได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงอันนั้นไม่ใช่ อันนั้นเป็นปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ การได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรานะกับการได้มาด้วยความอยาก ด้วยการปลิ้นปล้อน ไม่ใช่ ปลิ้นปล้อนหนึ่งนะ ได้มาด้วยคดด้วยโกงเห็นไหม ได้ไม่มีขอบเขต

ความอยากอันหนึ่งเป็นมรรค ความอยากอันหนึ่งเป็นกิเลสเห็นไหม อยากทำความดี อยากออกจากกิเลส อยากข้ามพ้นภพชาติ การเกิดนี้เป็นทุกข์ เป็นทุกข์อย่างยิ่ง

แม้แต่พระพุทธเจ้าสร้างบารมีมามหาศาลเลย เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะดูสิ ก่อนจะออกบวชเห็นไหม เขาปรนเปรอขนาดไหน ยังเห็นนะ ก่อนจะออกบวชทุกข์ขนาดไหน มันมีความสุข สุขเพราะว่า เขารู้ พระเจ้าสุทโธทนะรู้ว่า พระพุทธเจ้านี้เขาทายไว้ว่า ถ้าอยู่ในโลกนี้จะเป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะสำเร็จโพธิญาณ

ธรรมดาพ่อกับลูกใช่ไหม เขาก็อยากเอาลูกไว้น่ะ ให้สืบสกุล ไม่ได้คิดหรอกว่าออกบวชเป็นพระพุทธเจ้า มันจะทำประโยชน์กับโลกขนาดไหน ทำประโยชน์กับโลกมหาศาล ทำถึงสามโลกธาตุ สอนเทวดา สอนมนุษย์ กับถ้าอยู่ในโลกเป็นจักรพรรดิมันเดี๋ยวเดียวเท่านั้นล่ะ จักรพรรดิในโลกนี้มีกันมาตั้งเท่าไหร่แล้ว เพราะโพธิญาณอันนั้น เพราะว่าบารมีที่ได้สร้างสมมา มันเป็นไปโดยธรรมชาติ ต้องออกบวชเด็ดขาด เป็นไปทางอื่นไม่ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่ชำระกิเลส มันก็คือ กิเลสน่ะ

ก็เลยเหนี่ยวรั้งกันไว้เห็นไหม ปรนเปรอกันไว้ พยายามผูกมัดไว้ให้ทุกอย่าง ผูกมัดไว้แม้แต่มีครอบครัว ผูกมัดแม้กระทั่งมีลูก แล้วจะออกบวชทุกข์ขนาดไหน ดูสิ การเกิดเป็นทุกข์หรือไม่เป็นทุกข์ ไม่ต้องให้ชีวิตอย่างพวกเราที่ว่า เศษเดนนี้หรอกที่ว่ามีทุกข์ เอาชีวิตของพระพุทธเจ้าเลย ชาติภพของพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะตรัสรู้ทุกข์ขนาดไหน เทียบสิ เทียบชาติของพระพุทธเจ้า ศาสดาองค์เอกของเรา ของทั้งสามโลกธาตุ ของเทวดาด้วย ของมนุษย์ด้วย ของทุกๆ คนที่อยากปรารถนาทำความดี เชื่อในพุทธคุณไง

คนตาบอดต้องเชื่อคนตาดี พระพุทธเจ้าตาดี เป็นผู้ที่เบิกทางออกไปแล้ว แล้วกวักมือเรียก แล้ววางทางไว้ ไม่ใช่กวักมือเรียกให้เราขึ้นไปกลางหนามกลางดงนะ ถางทางเอาไว้อย่างดีเลย ชุบมือเปิบ มาพระพบพระพุทธศาสนาชุบมือล้างมือแล้วมาเปิบข้าวกิน มันยังเอาข้าวไปใส่ปากผิด นั่นน่ะ แล้วว่าเราฉลาดหรือเราโง่ ว่าเราฉลาด ฉลาดแต่ใฝ่หาข้างนอกน่ะ ไม่ฉลาดเอาหัวใจรอด ไม่ฉลาดเพื่อเอาใจเราพ้นจากทุกข์น่ะ

ชาติเป็นทุกข์ แล้วเราทุกข์ขนาดไหน ชาติของเรา แล้วเราจะพ้นจากชาตินี้ไปได้อย่างไร พ้นจากการเกิดนะ อย่าว่าแต่ทุกข์เศษๆ เลยน่ะ ชาติปิ ทุกฺขา นั่นน่ะ อริยสัจนะ ทุกฺขํ อริยสจฺจํความเกิดนี้เป็นธรรมชาติ ต้องเกิด แล้วเกิดดีแล้ว เกิดมาเพื่อจะให้เกิดข้ามภพชาติไปเลย เกิดมานี่เกิดมาเพื่อปฏิบัติไง ไม่ได้เกิดมาตายเปล่า ปฏิบัติๆ เปล่าๆ นะ เกิดมาก็ตายเปล่า ตายเปล่าเลย ไม่ได้สร้างสมไว้ สร้างแต่เรื่องภายนอกว่าอันนี้จะเป็นของๆ ตัว อันนี้จะเป็นสมบัติของตัว มันจะได้อะไรไว้

ในโลกนี้เกิดมาเท่าไหร่ แล้วก็ไปหมดแล้วเท่าไหร่ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าสักคนหนึ่ง เกิดมาก่อนหน้านี้มหาศาล มนุษย์แสนๆๆๆๆ ชาติ ชาตินี้ไม่ที่สิ้นสุด แล้วก็ตายหมดแล้ว ไม่เกินร้อยปี มนุษย์นี้ไม่เกินร้อยปีตายหมดเลย แล้วก็เกิดมาอีกมหาศาล ตามหลังมาน่ะ เด็กเกิดใหม่นี้มากมายเลย แล้วก็จะตายไปข้างหน้า แล้วไปตื่นเอาอะไรกับการเกิด ตื่นอะไรกับการยึดมั่นถือมั่นในชาตินี้

ถึงต้องเอาชาตินี้มาขยำไง เอาชาตินี้มาย่ำ ว่าเกิดมาชาตินี้เป็นมนุษย์ที่ทุกข์ แต่ทุกข์เพื่อจะพ้นทุกข์ไง ชาติที่คนตาสว่าง ไม่ชาติของคนมืด ชาติของคนตาสว่าง ชาติของคนที่เห็นทางเดินไป ชาติของคนที่จะพ้นไปได้ ไม่ใช่ชาติของคนที่เกิดมาตาบอดแล้วคลำไปไง นี่มันมีบุญตรงนี้ไง เกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนา มันจะพ้นจากวัฏฏะได้ พ้นจากวัฏฏะ ออกจากวัฏฏะ ไม่ใช่เกิดมาแล้วหมุนอยู่ในวงหมุนอย่างเก่า หมุนน่ะหมุนดี หมุนร้อนๆ ด้วย

ไม่มีใครเป็นไทแก่ตัวนี่น่ะ อยู่ในประเทศไหนก็แล้วแต่ มันอยู่ในกฎหมายของประเทศนั้นล่ะ เกิดมาที่ไหนมันก็มีกฎกติกาทั้งนั้น ใครเคยเป็นไทแก่ตัว “ไม่มี” ว่าสมัยก่อนนั้นเป็นทาสเขา เดี๋ยวนี้ไม่เป็นทาสหรือ เดี๋ยวนี้เป็นทาสกิเลสตัณหา ทาสความอยาก ทาสทุกอย่างนะ แต่มันไม่ได้พูดคำว่า”ทาส”เท่านั้นเองแหละ มันพูดว่าเป็นพลเมืองชาตินั้นๆ ต้องทำตามกฎหมายของบ้านนั้นๆ มันก็ทาสนั่นล่ะ เป็นทาสเขา เป็นทาสของกฎหมายที่เราร่างขึ้นมาเอง แล้วก็เป็นทาสตัวเอง

สมมุติโลก เพียงแต่จะพลิกแพลงเท่านั้นล่ะ ถ้าหัวใจมันฉลาดมันเห็นเป็นโทษ มันก็จะหาทางออกไง มันสลดสังเวช ขอให้เป็นทาสชาตินี้ชาติสุดท้ายเถิด ขอให้เป็นทาสเขาแค่ชาตินี้ชาติเดียว จะพ้นจากการเป็นทาสให้ได้ ถ้ามันคิดสิ มันคิด มันได้เห็น มันรู้เท่าน่ะ มันก็จะได้ขวนขวายไง เต็มใจในการประพฤติปฏิบัติ เต็มใจในการจะยอมทุกข์ นี่มันไม่เต็มใจ ทำสักแต่ว่าทำกัน ศึกษามาแล้วว่าทำอย่างนี้จะถูกต้อง มันมีแต่เปลือก นั่งสมาธิก็คิดไปร้อยแปด จะเดินจงกรมก็ไม่ทันเดินเลย

การประพฤติปฏิบัตินี่มันต้องวางเข็มมุ่งให้ตรง วางเข็มมุ่งไง วางใจให้เป็นกลาง ให้จิตนี้ลงเป็นหนึ่ง กำหนดจิตดู กำหนดจิตให้ลงเป็นหนึ่ง จิตนี้เป็นหนึ่งมันก็ปล่อยความคิดข้างนอก ความคิดข้างนอก มันทำให้แบบว่าเราฟุ้งซ่านออกใช่ไหม มันเหนี่ยวรั้ง เหนี่ยวรั้งหัวใจนี้ให้แผ่ออกไปสามโลกธาตุ หัวใจนี่ หัวใจมันคิดไปได้ร้อยแปด เห็นไหม คิดถึงประเทศไทย ขอบประเทศไทย มันก็คิดมันก็แผ่ไปได้เลย นามธรรมนิ มันแผ่ออกไป เราย่นเข้ามาให้มันหดตัวเข้ามา

จิตนี้มันหมุนไปตลอด มันเหมือนพลังงานที่มันพุ่งออกตลอดเวลา เหมือนกระแสน้ำที่เขาฉีดออกไปแรงๆ เห็นมันพุ่งไปแรงขนาดไหน แต่นี่มันพูดถึงกระแสน้ำฉีดใช่ไหม แต่นามธรรมมันคิดออกไปมันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันหยุดไม่ได้ มันหยุดไม่เป็น มันมีฐานอยู่ที่ใจแล้วมันพุ่งออกไป

ทีนี้พุ่งออกไปก็ครอบไปหมดเลย มันไปข้องกับอะไรล่ะ ไปคิดถึงลูก ถึงเมีย คิดถึงสมบัติ คิดถึงใคร เห็นไหม มันก็เห็นภาพชัดขึ้นมา แต่มันคลุมออกไปแล้วโดยเราไม่เห็นเราไม่รู้ มันคิดออกไปเมื่อไรเราก็ไม่รู้ พอมันคิดถึงใครขึ้นมา อ๋อ คิดถึงคนนั้น มันถึงเห็นว่า ความคิดเป็นตัวตนขึ้นมา มันเตรียม มันแผ่ออกไปตลอดเวลาอยู่แล้ว

นี้เราก็ตั้งเป็นหนึ่งไว้ไง กำหนดอะไรก็แล้วแต่ ฟังเสียงไว้ กำหนดไว้ ไม่ให้มันออกไป ให้มันเป็นแท่งเป็นหนึ่งอยู่ในใจของตัว มันเป็น สติกำหนดระลึกรู้อยู่ เห็นไหม รั้งไว้ๆ มันจะเข้ามา เข้ามาอยู่เป็นตัวของตัว เป็นอิสระขึ้นมาได้นิดหนึ่ง ว่าอย่างนั้นเลยนะ เป็นอิสระขึ้นมาจากไม่เป็นทาสของความคิด ดูสิ เรามองแต่ว่าเราเป็นทาสของคนอื่น เป็นทาสของข้างนอก เป็นทาสของความคิดเป็นมารฝ่ายต่ำที่มันไสเราไปน่ะ

เวลาคนอื่นมารังแกเรา เราโกรธมากเลย ใครเอาเปรียบเรา เราก็โกรธ แต่เวลามารเอาเปรียบเราน่ะ เวลามารมันไสเราเราไม่เคยโกรธมารให้เราเลย เราไม่เคยโกรธกิเลสของเราเลยนะ กิเลสในใจเราที่มันไสเราให้ออกไปข้างนอกนี่เราไม่เคยโกรธมันเลย โกรธแต่คนนอก ถ้าเรายับยั้งได้นี่ เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำไมยับยั้งไม่ได้ ยับยั้งไม่ได้เพราะมันมีแรงมาก มันเป็นธรรมชาติฝ่ายต่ำของใจ

เมื่อเราโกรธ เราเห็นโทษของมันเราก็ต้องฝืน ฝืนเห็นไหม ฝืน หัดฝืนหัดทน ต้องฝืน ไม่ยอม ถ้าเคยคิดครั้งหนึ่งมันจะคิดอีก ถ้าเคยภาวนาแล้วถึงจุดหนึ่งแล้วเลิก มันจะเลิกไปตลอดไป นั่ง ๕ นาที ๑๐ นาที พักก่อน พักก่อน นั่นล่ะมันจะเคยใจ นั่ง ๕ นาทีก็เอา ๑๐ เอา ๒๐ เอา ๓๐ เอาชั่วโมง เอา ๒ ชั่วโมงไปเรื่อย ฝืนไปเรื่อยเห็นไหม

น้ำหยดลงหิน การเร่งความเพียร การฝึกฝืนกระแส ของมันธรรมชาติเหลือเกินนะ ของอะไรก็แล้วแต่ มันต้องมีได้กับไม่ได้ มีสูงกับมีต่ำ มีขาวกับมีดำ ลองเราฝืนเรากัดฟันทนน่ะ มันเป็นไปได้อย่างไรที่มันจะทำไม่ได้ มันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อมันมีการกระทำอยู่น่ะ มันจะผิดก็ยอมรับว่าผิด ก็ต้องแก้ไขไป วันนี้ผิด พรุ่งนี้ผิด ผิดหมายถึงว่า เรากำหนดใจมันไม่ลง ทำสมาธิอยู่ ทำ แต่มันวางใจลงไปไม่ถูก กำหนดแล้วมันไปติดอยู่ ติดอยู่ในความคิด ถึงจุดหนึ่งความรู้มันจะช้อนไว้เลย ดักไว้หมด เพราะมันเป็นกิริยาของใจไง

คำว่า”กิริยา”หมายถึงอารมณ์ ใจมันเคยพักเคยผ่อน เห็นไหม ถ้ามันทำงานมากมันก็จะเพลีย มันก็จะให้พักผ่อน อันนี้เหมือนกัน พอจิตมันเริ่มภาวนา เริ่มกำหนด ถ้ามันคิดออกไปมันพอใจอารมณ์ใช่ไหม มันอร่อย ความอร่อยในรสชาติของความที่ว่ามันเคยใจ มันเคยติดในรสอะไร มันก็ตาสว่าง แต่พอเราจะให้มันสงบลง ควรจะสงบอยู่ ไม่หรอก มันลงไปที่ตรงง่วงนอนนั่นซะ

มันหลอกเห็นไหม อันนี้ใครหลอกเรา ใจเราเองนี่มันหลอก ใจเรานี่มันหลอก เพราะมันเป็นความเคยใจ ความเคยใจคือว่า จิตใจมันเป็นแบบนี้ มันเป็นธรรมชาติของมันที่มันต้องเป็นอย่างนั้น ฟุ้งซ่านแล้วก็สงบ สงบแล้วก็ฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้นอยู่ในใจของตัว ทั้งๆ ที่ไม่ใช่นักปฏิบัตินะ

เวลาคนเขาโกรธจัดหรือว่าเขาโมโหจัด หรือเขาเสียใจจัดๆ เห็นไหม ไปเต็มที่เลย แล้วมันก็จะจางลง มันก็จะสงบลง หายไปไหน ลองใครไปสะกิดตรงนั้นสิ ไปอีกแล้ว เพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันเกิดขึ้นแล้วมันต้องดับ ไฟติดแล้วมันต้องดับ ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง โกรธแล้วมันต้องหายโกรธ แต่ใครคุ้ยอีกก็เกิดอีก ทีนี้ถ้าเราเห็นโทษมันปั๊บเราให้มันสงบลง แล้วเราจับตัวโกรธได้ เราตัดเราเลย ตัดโกรธออกจากใจได้ โลภ โกรธ หลงนี่ ตัดได้ พอตัดออกไปแล้วมันยิ่งเป็นอิสระเห็นไหม

คำว่า”เป็นไท” เป็นไทแก่ตัวนั่นน่ะ เขาเอาโซ่มาผูกไว้ที่ขา เอาออกเขายังตามจับนะ แต่ถ้าเราตัดความเป็นไทที่หัวใจแล้วนะ ไม่มีใครสามารถจะเอาโซ่มาคล้องได้อีกเลย ไม่มีทาง เพราะหัวใจนี้เป็นอิสระเป็นนามธรรม ใครจะเอาอะไรมาคล้อง ความคิดของเราใครจะเอาอะไรมาพิสูจน์ นี่ว่าความคิดนะ เพราะความคิดนี้เป็นอาการของใจ แล้วใจที่มันลึกกว่าความคิด อันนั้นมันเป็นไท มันก็ไม่ไปเกิดอีกน่ะสิ ใจนี้มันไม่เป็นขี้ข้าซะอย่างหนึ่ง มันจะไปไหน เพราะใจมันเป็นขี้ข้า ร่างกายมันก็เลยเป็นตามไป ภพชาติมันก็เกิดขึ้นมันก็หมุนตามไป

ของดีมันอยู่ที่ใจของเรา ความเป็นจริงอยู่ที่นี่ทั้งหมด ไอ้สิ่งที่อยู่รอบข้าง นี่มันเป็นแค่สิ่งแวดล้อมนะ เราเกิดมาแล้วถึงได้พบ เราเกิดมาแล้วมันถึงได้เจอ เราเกิดมาแล้ว มันเป็นกรรมที่เรารับมา กรรมของเราเอง เราทำสภาพนี้มาแล้วมันก็เกิดมาเจอสภาพแบบนี้ ฉะนั้นมันถึงว่ามันเป็นการกระทำของเราใช่ไหม เราก็ต้องกระทำต่อไปสิ กรรม เอากรรมแก้กรรม การกระทำไง กรรมชั่ว เอากรรมดีเข้าไปแก้ กรรมมันเป็นกลาง

แต่นี่พอขึ้นว่า กรรมแล้วก็ขาอ่อนเลยล่ะ เข้าใจว่ากรรมแล้วแก้ไขกันไม่ได้ไง อันนี้เป็นกรรม ให้กรรมมันเป็นไป เวลากรรมดีเรายอมรับสิ ผลมาเป็นกรรมดี ความดีมา ความสุขใจมา เออ...อันนี้เป็นกรรมดี แต่ถ้ากรรมชั่วเราละได้นี่นา คนเป็นไม่ใช่คนตาย คนตายมันไม่ละหรอก ตายไปแล้วมันละไม่ได้ แต่คนเป็นมีความรู้สึกนี่ อะไรไม่ดีเราก็รู้ เรารู้อยู่แล้วยังมีพระพุทธเจ้าสอนอีกนะ เพราะเราเข้าใจว่าดี แต่มันไม่ดีจริงเห็นไหม มันถึงได้เป็นผลให้เราหลงอยู่

อยากจะออกทุกคนน่ะ อยากจะพ้นทุกข์ อยากจะพ้นทุกข์แต่ไปเอาอะไรก็ไม่รู้ ไม่ต้องวิ่งไปที่อื่น ให้หันกลับมาดูที่ใจ รูปแบบข้างนอกไม่เกี่ยว รูปแบบนะ พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว กรรมฐานตั้ง ๔๐ ห้อง กรรมฐานถึง ๔๐ ห้องนะ ๔๐ แบบไง ใครว่าแบบไหนดีก็ตามเขาไป ใครว่าแบบไหนดีก็ตามเขาไป ไม่มีหลักเลย แล้วก็เอาแต่แบบนั้นมาคุยโม้กัน คุยโม้น่ะ ฟังสิ คำว่า”คุยโม้” นั่นมันไม่มีความจริงเลยไง

ถ้ามีความจริง ความจริงมันเกิดขึ้นภายใน รูปแบบมันเป็นกิริยาเฉยๆ พอจิตสงบมันก็มีความสุข เออ ความจริงอันนี้ ความจริงอย่างหนึ่ง ไม่ต้องยึดนะว่าของใครจะทำอย่างไรแล้วจะให้เหมือนเขา ใครจะมาจากไหนก็แล้วแต่ ปัจจุบันนี้นั่งอยู่กลางศาลาทั้งหมดเลย จะมาจากไหนทำไมมารวมอยู่ที่นี่ล่ะ จะรูปแบบใดจะทำอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าจิตนี้สงบมันต้องมีความสุข มันต้องมีความจริง มันต้องรู้ว่า อ้อ...นี่คือจุดศูนย์กลาง จะมาทางไหนก็แล้วแค่ ต้องมีความสุขใจ ลงที่เดียวกัน

แม่น้ำจากสายไหนก็แล้วแต่ มันต้องไหลลงมหาสมุทรทั้งหมด จะแม่น้ำสายไหนในทวีปไหนก็แล้วแต่ มันลงไปมหาสมุทรทั้งนั้น จะเดินมาสายไหนก็แล้วแต่มันต้องมีความสงบเกิดขึ้นจากใจถึงเป็นทางที่ถูกต้อง แต่ความจริงที่นักปฏิบัตินี้มันไม่ใช่ความสงบ มันเป็นการคาดเดา เป็นการคาดเดานะ มันถึงไม่ได้ผลไง พอจิตมันสงบมันก็เริ่มรู้จัก พอจิตสงบมันก็ตั้งมั่นได้ ให้พิจารณานะ กายนอกหรือกายใน

กายนอกหรือกายใน กายนอกก็ดูสิ คนเกิดขึ้นมาจากเด็กมันก็เริ่มเป็นผู้ใหญ่ขึ้น กายนอกเห็นไหม ให้มันสลดสังเวชไง คำว่า”สลดสังเวช”หมายถึงว่า ใจมันไม่เต้นเผ่นกระโดดจนเกินกว่าเหตุ คนเรานี่มันเป็นอย่างนี้ กายของเรานี้สวยขนาดไหนก็แล้วแต่นะ กายของเรานี้สวยอยู่แล้ว แต่ถ้ามันไม่มอง ไปมองข้างนอก เห็นไหม ทำไมไปมองข้างนอกล่ะ ทำไมไม่มองกายของเราเอง มันต้องย้อนกลับมาจากนั่น

แสงไฟมันส่องออก ความคิดคนมันส่งออก จิตถึงสงบมันก็ส่งออก มีความสุขแล้วมันก็คิดดูข้างนอกอยู่ ไอ้ของเขานี่มันของแต่งทั้งนั้นล่ะ ต้องคอยดัดคอยหวีกันผมน่ะ ร่ายกายก็คอยอาบน้ำกันอยู่

เวลาคนบ้ามันเกรอะกรังอยู่กลางถนน ทำไมไม่ว่ามันสวยงามล่ะ คนบ้ามันเกรอะกรังเลยนะเห็นไหม มันไม่เคยอาบน้ำเลยล่ะ มันเดินอยู่กลางถนนนะ ทำไมไม่มองว่ากายนั้นสวย ทำไมมองคนที่แต่งสวยๆ ว่าสวยล่ะ ก็สวยเพราะแต่ง สวยเพราะหลอก มันไม่ได้สวยจริงนี่นะ ถ้าปล่อยไว้มันก็เหมือนคนบ้านั่นน่ะ นี่คนมีสติอยู่มันยังรักษาอยู่ มันก็เลยดูว่าสวย

นั่น...ทีนี้พิจารณากายนอกมาให้มันสลดเข้ามาภายในไง มันก็จะสั้นเข้าหดเข้า สั้นเข้าๆ จากเดิม ใจนี่แผ่ครอบสามโลกธาตุ ความคิด คิดออกไปนอกหมดเลย พอเป็นสมาธิจิต จิตก็คิดเป็นหนึ่ง เห็นไหม คำว่า”คิดเป็นหนึ่ง”หมายถึงว่า มันคิดในตัวมันเอง แต่มันก็มองออกมา จากสามโลกธาตุก็มองกาย มองกายนอก กายใน มองกายนอก กายในนี่มองกัน พอเห็นกายนอก เราเข้าใจกายนอก ให้เปรียบเทียบเพื่อให้ใจมันสงบเข้ามาอีก

การเปรียบเทียบ การดูกายนอกให้สลดสังเวช คือว่า ให้ชำนาญไง อย่างจิตนี่พอสงบขึ้นไป มันเหมือนกับเสื้อผ้าเราสกปรกแล้วเราพับไว้ ไม่ได้ซัก เสื้อผ้าใส่แล้วมันเลอะหมดเลย ดำขี้ไคลเต็มเลย แล้วเราก็พับเก็บไว้เฉยๆ กางออกมามันก็เหม็น จิตสงบก็เหมือนกัน จากเสื้อผ้าที่ใส่ พอพับขึ้นจิตมันก็สงบเข้าไป พอมันกางออกมาก็เหม็น ออกมาก็พิจารณาไง พิจารณากายนอกเพื่อจะซักไง ซักความสกปรกนั้น

การพิจารณา คือ การขยี้ การขยี้เพราะกิเลสนี้มันเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับในใจ เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับกระแสจิตนั้นน่ะ จากความสงบนั้นมันก็ยังนอนเนื่องอยู่ภายในจิตนั้น พิจารณากายนอก รูป รส กลิ่น เสียงไง เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสธรรมารมณ์ ผัสสะ พอมันเข้าใจตรงนี้ปั๊บจากสงบเฉยๆ จากจิตสงบ ฟังนะ จากจิตที่เป็นสมาธิ พอพิจารณากายนอก พอความเข้าใจมันก็ปล่อย ปล่อย พิจารณาเข้า ปล่อย พิจารณาเข้า ปล่อย จนมันเข้าใจมันหลุดนะ

รูป รส กลิ่น เสียง ความสัมผัส ภายนอกนี่ อ๋อ...มันเป็นเครื่องหลอกล่อใจ ใจปกติมันเป็นสมาธิใช่ไหม พอมันจะคิดแว็บออกไปก็คิดแว็บออกไปในรูป รส กลิ่น เสียงนี้ ถ้ามันตัดรูป รส กลิ่น เสียง นี้ มันก็ไม่ออกไป มันคิด มันพิจารณาเข้า หลายทีเข้า มันจะเข้าใจตามความเป็นจริง แล้วมันจะปล่อย ผัวะ นั่นล่ะ เป็นกัลยาณปุถุชนเพราะเข้าใจ จากสามโลกธาตุ หดเข้ามาเป็นสมาธิ เป็นผู้ที่ว่ามีสมาธิไง ยังมืดบอดอยู่

แต่พอพิจารณาแบบนี้ พระพุทธเจ้าสอนไง พระพุทธเจ้าถึงมาสอนการพิจารณาอันนี้ มรรคมีองค์ ๘ มีในศาสนานี้เท่านั้น ศาสนาอื่นไม่ต้องมาพูด “ไม่มี” ถึงว่าเป็นศาสนาที่เอกไง เป็นศาสนาของผู้สิ้นกิเลสไง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สิ้นกิเลสแล้วถึงได้มาสอน สอนทางเบิกเลยล่ะ เบิกทางตรงนี้ เห็นไหม ต่างกับสมาธิธรรมดาตรงนี้ สมาธิสมาบัติของเขาน่ะ แค่ใจสงบมาเฉยๆ ก็เหมือนกับเราเอาเสื้อผ้าสกปรกพับเก็บไว้นั่นเอง

พระพุทธเจ้าบอกให้พิจารณากาย มนุษย์คนหนึ่งก็มีกายกายหนึ่ง เทวดาตนหนึ่งก็เป็นกายกายหนึ่ง พรหมหนึ่งก็เป็นหนึ่ง แต่ไอ้พวกนั้นเขานอนเนื่องเขามีจิตล้วนๆ เราเป็นมนุษย์ กายที่เน่าเปื่อย กายที่มันมีทวารทั้ง ๙ ที่มันขับเคลื่อนของเน่าบูดออกมา กายนี่เป็นของประเสริฐ เพราะมันทำให้จิตได้พิจารณาไง เหมือนกับกระแสบวกกับกระแสลบ ถ้าไฟไม่มีกระแสบวกกระแสลบ มันเดินไปไม่ได้ ไม่มีกายกับจิตมันก็ไปไม่ได้

พอจิตนี้พิจารณากายภายนอก ตัดเข้ามา เริ่มตัดตรงนี้เลย ศาสนาพุทธต่างกับศาสนาอื่นตรงนี้ ตรงที่เริ่มพิจารณาจากกายภายนอก ตัดรูป รส กลิ่น เสียง ภายนอกทั้งหมด ถึงว่าเป็นกัลยาณปุถุชนนะ กัลยาณปุถุชนเป็นปุถุชนที่เบาบางแล้ว ไม่ใช่คนมืดบอด หนาไปด้วยความมืด

แม้มีสมาธิอยู่ก็เป็นความมืด มีสมาธิก็ใช้ไปทางอื่น เป็นไสยศาสตร์ ถึงจะเหาะเหินเดินฟ้าอยู่ก็ไม่สามารถชำระกิเลสได้ เหาะเหินเดินฟ้าก็ไม่สามารถย้อนกลับมาพิจารณานี้ กาลเทวิฬถึงได้ร้องไห้เลยล่ะ ที่ไม่ทันพระพุทธศาสนาเรานี่ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ แต่ก็ไม่มีความสามารถจะรู้ได้ รู้แต่เฉพาะเรื่องของสมาธิไง รู้แต่เรื่องความเป็นไปของเขา รู้เรื่องแบบพรหมชาติ การทำนายรูปลักษณะ

พระพุทธเจ้าเกิดแล้ว แล้วเพราะอาการ ๓๒ มีอยู่ จะต้องตรัสรู้ต่อไป รู้แต่เปลือก แต่ไม่สามารถรู้ชำแรกเข้าไปในหัวใจ ชำแรกเข้าไปชำระอันนี้ไง เพราะใจมันปล่อย ปล่อยรูป รส กลิ่น เสียงมา พระพุทธเจ้าสอนซ้ำเข้าไปอีก หันกลับมาดูใจ รูป รส กลิ่น เสียง มันตัดแล้วนะ มันก็เริ่มเดิน เริ่มสะอาดขึ้น เริ่มเห็นทางเดินขึ้น

แต่นี้พิจารณากายในล่ะ ถ้าทำจิตสงบลง พิจารณากายใน คือกายของเรา อันนี้พิจารณากายนอก ที่พูดเมื่อกี้พิจารณากายนอก ย้อนกลับจิตนี้หดย่นเข้ามา เพราะมันเรื่องของกายแล้ว จากเดิมนั้นเป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของวัฏฏะ เป็นเรื่องของเวียนว่ายตายเกิด เรื่องสามโลกธาตุ หดเข้ามาเป็นเรื่องของกาย หดเข้ามาเป็นสมาธิใช่ไหม แล้วก็หดเข้ามาเรื่องของตัดรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก ก็พิจารณารูป รส กลิ่น เสียงภายใน

จิตนี้มันติดที่กายของเราเองนั่นล่ะ มาดูขอบเขตของผิวหนังนี่ เห็นตามความเป็นจริงสิ กายนอกที่เราดูเมื้อกี้นี้ เราดูที่เราพิจารณานั้นก็เป็นกายนอก กายเราก็เป็นแบบนั้นน่ะ ความดีของคนอื่นไง เราก็มองไม่เห็น เห็นแต่ความชั่วของเขา แล้วความดีของเราล่ะ

“ไฟ” ไฟอยู่บนหัวคนละกองจะปัดไฟของใครก่อน เอาไฟสองกองไว้บนศีรษะเรากับศีรษะเขา ก็ปัดศีรษะเราก่อนใช่ไหม เราก็เลยไปช่วยเหลือคนอื่นเขา

มันไม่เห็นตามความเป็นจริง กายกับเราก็เป็นอย่างนั้นล่ะ แต่มันเข้าใจว่ากายตัวเองสวยไง เห็นแต่กายคนอื่นมันเป็นขี้ทูดกุดถัง กายเรานี้ประเสริฐ มันเข้าข้างตัวเองอย่างนั้นล่ะจิตน่ะ หัวใจของเราเราก็ต้องว่าเราดี กายของเราก็ต้องสวยกว่าเขา ขัดสีฉวีวรรณนะ แต่เวลากิเลสมันเกิดมันเกิดจากกายนอกกระทบนะ เพราะมันมีฐานอันนี้ไปใช่ไหม เพราะหัวใจมันอยู่ในกายของเรา แล้วเราก็มองกายนอกไป เห็นไหม

เหมือนสมบัติในตัวเรา แก้วแหวนเงินทอง อยู่ที่ข้อมือเราไม่สวยหรอก ถ้าไปอยู่ข้อมือคนอื่นสวย ความเคยชินน่ะ มันร้ายกาจมากนะ ถ้าพิจารณาเห็นมันก็ปล่อยวางชั่วคราว เดี๋ยวก็มาเสวยอารมณ์เก่านั้นน่ะ ใจ มันเบื่อๆ อยากๆ อยู่อย่างนั้น มันไม่สมุจเฉท มันไม่ปหานขาด หันกลับมาดูใจ ดูกายของตัว พิจารณาซ้ำไปสิ ทีนี้คนเรามันไม่กล้า ความย้อนใจเข้ามาพิจารณานี่นะ แบบมันสะท้อนใจ ใครก็อยากจะสนองไว้นะ ความดีความงามความสวยความเด่นของเรา มันไม่อยากจะพิจารณามันไม่เชื่อ

ความหลงของใจนะ แม้แต่พระพุทธเจ้าย้ำแล้วย้ำอีกนะ ให้กลับมาพิจารณาเถิด เวลาพิจารณา มันมีอยู่ ๒ ประเด็น ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง กับว่ากิเลสมันหลอกให้พิจารณา หลอกว่าพิจารณาก็พิจารณาออกไง พิจารณาพอถึงจุดหนึ่งกิเลสมันบังเงา มันว่าเข้าใจแล้ว แล้วปล่อยวางแล้ว มันจะทำให้เนิ่นช้าหรือทำให้หลงทางไปเลย แล้วก็จินตนาการอารมณ์ ให้พิจารณากายนะ ความเห็นนะ มันจะไปเห็นเอง พิจารณาให้ปล่อย การปล่อย เราเข้าใจว่าปล่อย แล้วเราก็ไปเทียบเอา เวลาจิตมันปล่อย เราว่า อ้อ...ปล่อยแล้วๆ ไม่ใช่!

ถ้าปล่อยจิตมันหลุดออกไปต้องซ้ำไง เหมือนกับของจริง เราเอาไฟหลอมทอง ยิ่งเผาเข้าไปมันยิ่งสะอาด อย่าชะล่าใจ ต้องซ้ำๆๆๆ พิจารณากายหรือพิจารณาจิตนี่ต้องซ้ำ กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ เลย ต้องซ้ำอยู่อย่างนั้น พอถึงจุดหนึ่ง มันอิ่มในตัวมันเอง น้ำหนักมันพอกันแล้วนะ มันรวมลง อย่าไปจินตนาการ แล้วจะเข้าใจว่า ภาวนามยปัญญานี้เป็นแบบใดไงเวลามรรคสามัคคีมันเป็นอย่างไร

ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากภาวนา การพิจารณากายนอก นี่คือการฝึกปัญญาทั้งนั้นนะ แล้วปัญญาอย่างประเสริฐด้วย แต่คนมองข้ามไปว่าปัญญาข้างนอกเป็นความประเสริฐ ปัญญาอย่างนี้ปัญญาไม่ดี ไอ้ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นปัญญาผูกมัด ปัญญาในภาวนามยปัญญา เห็นไหม การเสือก การสน การดันขึ้นมาทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วพอมันรวมเป็นหนึ่งหรือว่าปัญญานี้มันมีแรงขึ้นมาที มันตัดขาดทีหนึ่ง มันเป็นไปด้วยมรรคนะ เพราะความเพียรก็ชอบ

การดำริลง ดำริลงด้วยกายกับใจนี่ถูกต้อง กายกับใจ นี่ปัญญามันหมุนมา ความถูกต้องนะ งานก็ถูกต้อง เลี้ยงชีพด้วยกายกับใจก็ถูกต้อง เพราะจะเอาใจพ้น เลี้ยงชีพนี้ คือ การงานชอบ ความเพียรชอบ ความดำริชอบ แล้วสมาธิกับสมาธิหมุนเข้ามาภายในชอบ แล้วมันเกิดปัญญาโดยชอบ ปัญญานี้ ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาไง

แล้วหมุนไปๆ มันหมุนไปแล้วการงานนี่มันเหนื่อยมาก การไสไปของกระแสจิต งานภายในนี่ทำนะยากกว่างานภายนอกมหาศาล เพราะงานภายนอกมันเป็นงานวัตถุ ไม้หรืองานใดใดก็แล้วแต่ เราแบกไม้แบกฝืน เราเก็บของ นี่มันเป็นวัตถุใช่ไหม เรายังรื้อย้ายได้ง่ายๆ แต่หัวใจเราจับต้องอย่างไรจะพลิกให้ถูกให้ผิด นี่ยากหรือง่าย แล้วมันไปมันไม่ไปด้วย มันหลอก ทั้งหลอก ทั้งยอก ทั้งย้อนนะ แล้วถ้าไสไปมันจะเหนื่อย

พอมันเหนื่อยมาก ความเพียรตัวนี้ผิด มันเป็นสัญญาเราก็พัก การทำงานภายในใจ มันมี ๒ อย่าง พักใจด้วยแล้วก็ไสให้ใจทำต่อด้วย พักไง พักก็กลับมากำหนดไว้เฉยๆ พอกำหนดไว้ให้จิตมันสงบ มันได้พลังงานขึ้นไปก็ไปทำใหม่ งานรื้อภพรื้อชาตินะ นี่ภาวนามยปัญญา มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ใครจะมาประดิดประดอยให้มันเป็น หรือใครจะบัญชาการให้มันเป็น หรือใครจะมาทำให้มันเป็น “ไม่ได้” มันเป็นได้โดยธรรมชาติไง ถึงได้ว่า ภาวนามยปัญญา

เกิดขึ้นจากการทำใจให้ลงพอดีเท่านั้น ทำใจให้ลงพอดีนะ สมุจเฉทปหาน ประหารกิเลส กิเลสนี้มันแก่นกิเลส กิเลสนี้เหนียวแน่นมาก อยู่ที่ใจ กิเลสนี้เหนียวแน่นมาก เป็นนามธรรม ของแข็งๆ อะไรเขาก็ทำลายได้หมด แต่กิเลสนี้เป็นนามธรรมแล้วอะไรทำลายมันไม่ได้เลย ไม่มีอาวุธใด ยกเว้นแต่ธรรมาวุธนี้เท่านั้น มีทางนี้ทางเดียว ธรรมาวุธนี่ หมุนเข้าไปชำระกิเลสนี่

ตั้งให้ตรง ผิดถูกนี้เป็นเรื่องปกติของผู้ที่เริ่มดำเนินงาน หมุนเข้าไปเลย มันหมุนเข้าไปนะ มันเข้าไปตัดทีหนึ่ง มันถึงไม่ขาด มันก็ อ๋อ...ภาวนามยปัญญาเป็นแบบนี้ มันยังไม่ขาดนะ แต่พอมันหมุนเข้าไปถึงจุดหนึ่ง จุดที่มันสมควรพอดี มัชฌิมาปฏิปทา พอดีๆ พอดีๆ เลย ไม่มีเรา ไม่มีเขา มันหมุนไปโดยธรรมชาติ ขาด พรึบ กิเลสมันหลุดออกไป อันนี้มันถึงเป็นตามความเป็นจริงไง ที่ว่าไม่ด้นเดา

มันเกิดขึ้นจากธรรมชาติ ใครจะประทานให้ใคร ใครจะสอนให้ใคร ใครจะบัญชาการ ไม่ได้ทั้งสิ้น แล้วใครก็โกหกไม่ได้ด้วย จิตนี้เป็นจิต ทุกข์นี้เป็นทุกข์ จิตนี้แยกออกไปเลย กายนี้เป็นกาย นี่พระโสดาบัน เห็นไหม

พระโสดาบันนะ เกิดในศาสนาพุทธนี้เท่านั้น เป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ สมณะที่ ๑ แล้วใครจะเป็น ผู้ปฏิบัติเป็นนะ ผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องตามความเป็นจริง ผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ที่ปฏิบัตินั้น ผู้นั้นเท่านั้นเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งสมบัติของตัว สมบัติอันนี้เป็นสมบัติอันประเสริฐที่ทุกคนเรียกร้องหา แต่เขาก็หาผิด เราเป็นชาวพุทธ เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าวางหลักไว้แล้วขั้นที่ ๑ เราปีนขึ้นถึงไหม ถ้าเราปีนขึ้นถึง พักนี้แล้วนะ เป็นอันว่าหมดห่วง เป็นอันว่าหมดห่วงนะ มันไม่ไหลไปตามวัฏวน ไม่เป็นเฟืองที่หมุนอยู่ในเครื่องนั้น

วัฏฏะนี้มันยังวนนะ เป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่ตกนรกเด็ดขาด มันตัดอย่างที่เรียกว่าตัดก้นแท็งก์ข้างล่างแล้ว อย่างไรก็เกิดก็ยังเกิดอยู่กลางเครื่อง กับสูงขึ้นเท่านั้น เครื่องยนต์ส่วนที่สกปรกที่สุด คือ ส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด ที่ว่ายกขึ้นมาอยู่เป็นตรงกลางแล้วไง นี้พระพุทธเจ้าสอนตรงนี้ไง หลุดออกจากวัฏฏะไง นี่ทางอันเอกไงที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ประทานไว้ไง ถ้าอย่างนั้นถึงว่าโลกถึงจะสว่างไง สว่างด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าประกาศธัมมจักฯ เทวดานี้สรรเสริญลือลั่นไปถึงพรหมขึ้นไป เพราะว่าโลกนี้สว่างแล้ว พระพุทธเจ้าได้ประกาศธัมมจักฯแล้ว ประกาศธัมมจักฯ จักรอันเอกแล้ว จักรที่มันจะตัดออกไง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ไปประกาศมันก็จะหมุนอยู่ในนี้เท่านั้น ถึงว่าโลกนี้มันเป็นโลกแห่งความมืด เป็นโลกมืด

นี้เป็นโลกสว่าง แต่สว่างก็ต้องเป็นทางเดินออกไป สว่างอยู่เฉยๆ เราไม่เดิน เรานอนตายอยู่นั่นมันก็เป็นทางสว่างอยู่นั่นล่ะ ถนนมี มันก็พาดไปตามถนนเส้นนั้น เราไม่ยอมขึ้นไปเดินบนถนน มันจะไปได้อย่างไร ถนนก็เป็นถนน ธรรมะพระพุทธเจ้าก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า หัวใจมันไม่เดินตามมันก็เป็นหัวใจที่ว่านอนอยู่กับกิเลสนั่นล่ะ ก็หัวใจไม่สามารถเดินบนถนนของพระพุทธเจ้าได้ ต้องยกใจขึ้นไปเดินบนถนนของพระพุทธเจ้า เดินบนธรรมอันนั้นไปไง

ถึงขั้นที่ ๑ ไง พักที่ ๑ เห็นไหม มันตัดส่วนล่างออก ไม่ลงนรกเด็ดขาด มันจะไปหน้าอย่างเดียว สมณะที่ ๑ ใครเป็นก็ได้นะ ผู้ที่ปฏิบัติ ใครก็ได้ พระพุทธเจ้าไม่ผูกขาดไว้กับใคร ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทุกๆ ดวงใจมีสิทธิ์หมด มันเป็นของกลางไง เป็นอกาลิโกไง ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แล้วหัวใจนั่นน่ะทำได้เหมือนอย่างนั้นไหมล่ะ

เป็นธรรมชาติอันหนึ่งนะ มันไม่ใช่ธรรมชาติหมุนเวียนอย่างโลกนี้นิ ไอ้ธรรมชาติแบบนี้มันธรรมชาติหมุนเวียน ไอ้นี่ธรรมชาติแบบหมุนออก คำว่า”เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง” คือว่า มันไม่มีเจ้าของไง พระพุทธเจ้าวางไว้แล้ว ผู้ที่ปฏิบัติเข้าไปนะเป็นเจ้าของของตัวเอง ผู้ใดปฏิบัติก็เป็นเจ้าของของคนนั้น ใจของใครคนนั้นเป็นเจ้าของ ธรรมที่สถิตในใจก็ผู้นั้นเป็นเจ้าของ ไม่มีใครแย่งได้ ไม่ต้องไปเผื่อแผ่ใคร ยกเว้นไว้แต่สั่งสอนเขาต่อ เหมือนกับผู้ที่กินอิ่มแล้ว ก็บอกเขาวิธีกิน

อันนี้มันเพียงแต่ว่า ยังไม่พ้นจากวัฏฏะ แต่มันก็สูงขึ้นเห็นไหม ทาง ความสว่าง นี้ความสว่างอย่างนี้มันก็สูงขึ้นไปอีกๆ จนหลุดออก พิจารณากายกับจิต มันจะพิจารณาง่ายขึ้น พิจารณาง่ายขึ้นเลยพอพ้นตรงนี้ไปแล้วพิจารณาง่ายขึ้น เพราะคนมันชำนาญไง แบบเราทำงาน เริ่มทำงานเป็น พอใจมันทำงานเป็นแล้วนะ มันทำได้ ใจมืดตื้อเลย หยิบผิดหยิบถูก คนไม่เคยงานหยิบผิดหยิบถูก มันเคอะๆ เขินๆ ไง ถ้าคล่อง เชี่ยวชาญขึ้น แล้วยิ่งได้ประโยชน์ออกมายิ่งเชี่ยวชาญเข้าไปใหญ่ ความเชี่ยวชาญ แล้วเชี่ยวชาญอะไรมันจะประเสริฐกว่าเชี่ยวชาญภายในล่ะ

เขาว่าคิดเฉยๆ อยู่เฉยๆ มันจะสบายเนอะ ว่ากินเฉยๆ นอนเฉยๆ ไง ต้องให้เฉยๆ ให้นิ่งๆ มันถึงจะทำงานได้ งานภายในน่ะ จะไปคึกคะนองแบบโลกเขา แล้วจะไปทำงานอย่างไร มันอารมณ์กระทบภายนอก แล้วโลกภายนอกมันใหญ่ ไอ้โลกใจนี่มันใหญ่กว่าเขา ใจทั้งใจนะ โลกๆ หนึ่ง คือ โลกของเรา คนละหนึ่งโลก มันไม่ตื่นเต้นถ้าพูดอย่างนี้ มันเข้าใจโลกแล้วมันไม่ตื่นเต้น เข้าใจนะ เริ่มเข้าใจไปเรื่อยๆ ไอ้โลกนี้ โลกดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็หมุนไปอย่างนี้ล่ะ

แต่ถ้าหัวใจมันหลุดออกจากโลกล่ะ โอ้โฮ...พิจารณาสิ จิตมันมีความสุขแล้วมันมองไปข้างหน้า มองไปข้างหน้า มันยังมีความทุกข์อยู่ ถึงสมณะที่ ๑ ก็แล้วแต่ ถึงเป็นสมณะที่ ๑ ความทุกข์คือความทุกข์หยุมหยิมในใจนะ แล้วคนเรามันกระเสือกกระสนมา มันอยากจะได้มากกว่านั้น ใครไม่ได้สมบัติ ได้สมบัติมาชิ้นหนึ่งแล้วยังรู้ว่าในถ้ำนั้นยังมีสมบัติมาก ในถ้ำใจนี่ มองกันแต่สมบัติภายนอก ในอุโมงค์ในกายนี่ เราได้มาแค่ชิ้นเดียว แล้วถ้าไม่มีธรรมะสอน พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้ว่า ในถ้ำนี่มันยังมีอีกสมบัติอีก ๓-๔ ชิ้นนะ แล้วเราได้มาชิ้นหนึ่งแล้วเรารู้นี่ รู้ด้วยความเป็นจริงภายใน มันก็ตะเกียกตะกายอยากได้ธรรมะอีก มันก็มุดเข้าถ้ำใหญ่เลยล่ะ

เมืองของจิต จิตคือจิตภายในนี่ ศีลมันบริสุทธิ์ขึ้นนะ พระโสดาบันนี่ ไม่สีลัพพตปรามาสไง ไม่ถือศีลโดยความลูบคลำ สมบัติมันมีขึ้นมามากกว่าเก่า ย้อนกลับดูเลย ไม่นิ่งนอนใจ ไม่นิ่งนอนใจนะ บางคนว่าเป็นอย่างนี้นิ่งนอนใจได้อย่างไร ก็ดูนางวิสาขาสิ ถ้าไม่นิ่งนอนใจ ยังไปแต่งงานอยู่อีกล่ะ นั่นล่ะเพราะได้แค่นั้นเอง แล้วนักปฏิบัตินิ่งนอนใจสิ แต่ถ้าครูบาอาจารย์มีคอยเคาะ คอยอยู่ มีผู้สูงอยู่ไง ถ้าผู้สูงไม่อยู่มันก็จะเข้าใจว่า เป็นอย่างนั้นเลยล่ะ เข้าใจว่านะ ว่าต่อไปศาสนาจะเสื่อม มันเสื่อมอย่างนั้นล่ะ เสื่อมเพราะใจคนเข้าไม่ถึงไง

เพราะกิเลสมันอยู่ในใจ มันจะอวดกันว่าใจของฉันนิ่มนวลกว่า ใจของฉันดีกว่า กิเลสมันจะอวดกันอย่างนั้น มันอวดเฉยๆ กิเลสมันพาอวด แต่ไม่ใช่ความจริง ไอ้นี่พอมาถึงตอนนั้นแล้วก็ว่ามันพาอวด มันพาอวดมันสมมุติแล้ว สมมุติ สมมุติว่าโสดาบันนี้เป็นสิ้นแล้ว อาการของใจนะ ถ้ามันสิ้นแล้วมันจะไม่หันกลับมาดู แต่เราเป็นคนซื่อตรงต่อตัวเอง ในตำราก็สอนไว้ มรรค ๔ ผล ๔ ไม่ใช่ในมรรค ๑ ผล ๑ ไอ้นี่มันแค่หนึ่งเดียว ไม่ให้มันหลงไง เราต้องเตือนตนตลอดเวลานักปฏิบัติน่ะ

พอหลงมันต้องหันกลับมาดูใช่ไหม กายกับจิตนั้นน่ะ บดขยี้มันลงไป เห็นกายก็ได้ เห็นจิตก็ได้ กายกับจิตนั้น ถ้าจิตเขาจิตเรามันก็จะส่งออก มันเป็นการโต้ตอบ นั่นล่ะ เริ่มฝึกปัญญารอบ ๒ ไง ภาวนามยปัญญารอบที่ ๒ แล้วก็จะกลายเป็นสมณะที่ ๒ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่สอนไว้เองนะ พบสมณะไง ในมงคล ๓๘ ประการ มงคลของชีวิต มงคลชีวิตนี้ไว้แค่สอนคนภายนอก แต่เวลาจะสอนจิต มงคลชีวิตของจิต จิตนี้มันเป็นเอง

มันแปลกนะ จิตของคนเรานี่ อย่างเช่นเงิน เราว่าเป็นแบงก์เป็นเงิน มันเป็นของข้างนอกใช่ไหม แต่ไอ้นี่มงคล ๓๘ ประการ มันก็เหมือนกับแบงก์ เหมือนกับเป็นสิ่งที่ว่าเป็นมงคลสำหรับชีวิตการดำเนิน แต่ดำเนินๆ ไปแล้วจิตนี้มันเป็นเอง แล้วจิตนี้จะเป็นแบงก์ได้อย่างไรล่ะ ไอ้แบงก์อันนั้นมันเป็นสมมุติ มงคลนี้ก็เป็นมงคลของชีวิต แล้วพอจิตนี้มันเป็นเอง เพราะมันเป็นในมงคลนั้น เป็นสมณะในมงคลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เห็นไหม

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นสมณะ แล้วใจเราเป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เราก็เข้าไปเป็นมงคลอันนั้น จากที่มงคลชีวิตนี้เป็นแค่ส่องทางนะ แล้วจิตของเราเองนี้จะเป็นมงคลกับเราเอง แล้วเป็นมงคลกับผู้อื่นด้วย การได้พบสมณะเป็นมงคลอย่างยิ่ง การได้พบสมณะนะ ได้กราบได้ไหว้สมณะนะ เป็นมงคลแก่ชีวิต แล้วเราเป็นสมณะภายใน ถ้าเราปฏิบัติถึงว่าใจเราเป็นสมณะแล้ว คิดดูสิ สมณะนั้นอยู่ในใจเราเอง เราจะสัมผัสใคร เราก็สัมผัสจิตเราเองสิ

หัวใจของเราสัมผัสสมณะในใจของเราเอง เป็นมงคลไหม จากมงคลภายนอก แล้วจิตเราเป็นสมณะเอง เห็นไหม มันก็มีความสุขเองน่ะสิ นี่อกาลิโก ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรมๆ นี่ไง ธรรมในหัวใจนี่ ใจมันเป็นเองอยู่แล้วนี่ ร้องเรียกสัตว์เลย ถ้าใจยังไม่เห็นก็เรียกร้องสัตว์เรานี่แหละ ก็สัตว์ใจเรานี่ไง ใจเราก็เป็นสัตว์หนึ่ง สัตว์โลก เพราะมันไม่ได้เคลื่อนออก ถ้าอย่างนั้นพอเรียกสัตว์นอกมันจะเคลื่อนออกไง

พอร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ใจมันก็จะวิ่งออกไปเรียกคนอื่นมาดู “ไม่ใช่” พอร้องเรียกก็ร้องเรียกเรานั่นล่ะ ปลุกเราให้ตื่น ปลุกใจเราให้ตื่นไง ถ้ายังไม่เห็นเราก็ดูของผู้อื่นไปก่อน ถ้าเราเห็นน่ะ ดูของใครของคนอื่น ก็ของครูบาอาจารย์ไง ท่านสอนไว้ ท่านชี้ทางไว้ เราสัมผัส เราลิ้มรสเอง อู้ฮูย...สุขมาก ลิ้มไปเรื่อย พิจารณากายและจิตครั้งที่ ๒ นะ คิดอย่างนี้แหละ พิจารณาเข้าไป ถ้าคิดนี้คือการพิจารณา คือการหมุนปัญญาให้หมุนไปไง

การหมุนธรรมจักรให้หมุนไป ดูอย่าง เขาโม่แป้งสิ ออกแรงขนาดไหนมันหนักไหมล่ะ จิตนี้มันจะเคลื่อนไปด้วยปัญญา ด้วยมรรคนี่มันก็อย่างนั้นล่ะ หมุนออกไปใหม่ๆ มันจะหนักมาก มันไม่อยากไป ไม่อยากทำงาน มันอยากจะนอนตาย จิตนี้เป็นสมาธิ จิตนี้มีความสุข นอนอยู่ใต้โม่นั่นล่ะ โม่ก็เหมือนจักร มันกลมๆ หมุนไปเห็นไหม ธรรมจักรก็เป็นอย่างนั้นล่ะ ล้อเกวียนน่ะ

ความหมุนไปของเกวียน ของจักรนั้น ความหมุนไปของปัญญานั้น หมุนไปเรื่อยๆ หรือหมุนไปจนมันคล่องตัวมันฟรีออกไปเองเลยล่ะ นี่แหละปัญญา ไอ้หมุนนี่มันมีคนหมุน มันต้องใช้พลังงาน ใจเราก็เหมือนกัน พลังงานของใจ ปกติมันหมุนอยู่โดยธรรมชาติของมัน แต่หมุนโดยกิเลส หมุนเป็นบวก บวกอะไร บวกกิเลสเข้าไปสิ นี่เราบวก เราเอามาหมุนเหมือนกัน หมุนให้มันตัด ให้มันลบออก ลบกิเลสนั้นออกไป ลบได้ ถ้าลบไม่ได้พระพุทธเจ้าไม่สอน พระพุทธเจ้าลบก่อน แล้วถึงมาสอนพวกเรา

หมุนไปมันก็ตัดไปล่ะ ตัดไปเรื่อย แต่ของมันแก่นกิเลส แก่นมันเหนียว พอตัดไปมันรวมลง ตัดไปมันรวมลง มันได้พักไปไง ความสุขนี้มันเจือไปเรื่อยๆ เจือให้ผู้ปฏิบัติได้ลิ้มรสของความสุขบ้าง เราจะว่าแต่ทุกข์ๆๆ อย่างเดียวหรอ ทุกข์เป็นอริยสัจ สุขก็เป็นอริยสัจ สุขกับทุกข์เป็นของคู่กัน เราจะดื่มด่ำสุขหรือทุกข์มากกว่ากันเท่านั้น จากสุขน้อยๆ สุขปานกลาง กับสุขไม่เปลี่ยนแปลงเลย พอมันตัดเข้าไปมันก็มีความสุข จิตเป็นสมาธิมันก็มีความสุข แต่การทำงานมันเพลียมันเหนื่อยออกมามันก็ฟุ้งซ่าน ก็มีความทุกข์ ก็หมุนกลับมาอีก

ทุกข์สุขภายนอก นักปฏิบัติทุกคนต้องมีการมีงานนะ นักปฏิบัตินะ พระปฏิบัติ ทำข้อวัตรปฏิบัติ ออกไปปฏิบัติมันก็เป็นความทุกข์กายทุกข์ใจ แต่มันก็หมุนเข้ามาคอยดู สิ่งใดก็แล้วแต่ปฏิบัติอยู่นี่มันจะเป็นของย้อนเข้ามาใจได้ทั้งหมด มันกระทบได้นะ ดูอย่างพระ สมัยพุทธกาลจะไปถามพระพุทธเจ้าสิ ไปยืนดูน้ำฝน มันตกลงมาเห็นไหม เป็นฟอง เป็นต่อม คิดมันก็ย้อนกลับทันทีเลย จิตที่กำลังใคร่ครวญอยู่ จิตที่กำลังหมุนอยู่ มันพร้อมเสมอนะ ขอให้กระทบกลับมาเถิด

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราประพฤติปฏิบัติอยู่เราหมุนอยู่ ในเมื่อนักปฏิบัติมันก็มีงานมีอาชีพ เราจะว่าอย่างนั้นหรอก หรือว่าคนที่ปฏิบัติไม่ต้องประกอบเลยหรอ อาชีพส่วนอาชีพ การงานส่วนการงาน ปฏิบัติส่วนปฏิบัติ หมุนไปได้ตลอด มันไปด้วยกันได้ ถ้าเราทำใจเราพอดี มันจะหมุนออกไป อะไรกระทบนี่มันจะย้อนกลับๆๆ นักปฏิบัติคือมันย้อนเข้าภายในหมด เพราะกิเลสมันอยู่ภายใน นักปฏิบัติมันจะย้อนเข้ากลับมาเชือดกิเลสภายในตัวของตัวนี้ มันไม่มองออกไปแล้วไปบวกเข้ามาให้มันเป็นโทษไง

มันไปบวกเข้ามานะ ถ้าเป็นความคิดของกิเลส มันจะบวกข้างนอกเข้ามาให้เป็นสิ่งที่ทับถมใจตัว แต่ถ้าเรานักปฏิบัติ มันจะย้อนกลับมาให้ว่าอันนั้นคือเป็นโทษ แล้วในใจเรามีไหม ถ้าอันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ใจนี้คิดไม่ดี ก็ตัดที่ใจเราสิ เห็นไหม นักปฏิบัติมันจะเก็บทุกสิ่ง

แม้แต่เห็นแม่ไก่กับลูกไก่เลี้ยงกัน มันยังสลดเลย เห็นสัตว์มันนอนกันมันเล่นกันมันจะย้อนกลับมาเลย อ๋อ...ถ้ามีสติ ใจมีสติ หัวใจนี้เป็นแม่ไก่ ไอ้กิริยาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นลูกไก่ ถ้าสตินี้มันพร้อม มันดูแม่ไก่นี้มันเลี้ยงลูกมันดี จิตนี้มันก็สบายขึ้น ถ้าจิตนี้มันปล่อยเผ่นผ่าน ลูกไก่มันก็ไปตกระกำลำบาก หัวใจก็ค่อยๆ เก็บเข้ามานะ ซับเข้ามาๆ จากลูกไก่มันก็มาอยู่ในปีกของแม่ไก่ทั้งหมด มันก็มารวมลงอยู่ที่หัวใจ

มันก็เห็นคุณเห็นโทษสิ ความเห็นคุณความเห็นโทษเกิดขึ้นจากการใคร่ครวญน่ะ การใคร่ครวญนั้นคือการใช้ปัญญา นี่คือภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาไง ปัญญาที่เกิดจากการหมุนเก็บ หมุนเข้ามา จากนั้นมันเบี้ยวๆ บูดๆ หมุนให้มันกลม จากนี้มันเบี้ยวมันบูด มันไม่เที่ยง ความหมุนเข้า ความคิดบ่อยเข้า การเคลื่อนไปเรื่อย มันหมุนไปเรื่อย จนมันเที่ยงมันตรง มันรวมลง มันรวมอีกแล้ว รวมเป็นภาวนามยปัญญาขั้นที่ ๒ ไง

จะเป็นสมณะที่ ๒ ตัดขาดเลย โลกนี้แยกออก โลกนี้สักแต่ว่าโลก โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง ไม่มี ไม่มีเขาไม่มีเรา กายนี้เป็นกาย จิตนี้เป็นจิต แยกออกจากกัน สมณะที่ ๒ เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นมาจากโลกนี้ราบเป็นหน้ากลองนั้นล่ะ แล้วอยู่ที่ไหนล่ะ ใจของผู้ปฏิบัติ ปัจจัตตังรู้จำเพาะผู้นั้น เป็นสมบัติของผู้นั้นแล้วต้องไปซื้อมาจากไหน? ซื้อมาจากในศาสนาพุทธ ซื้อมาจากในหัวใจ ซื้อมาจากขุด มาจากถ้ำในหัวใจเราไง ซื้อมาจากพละกำลังของเรา มันซื้อขายไม่ได้ มันแลกเปลี่ยนไม่ได้ ไม่มีทาง มันถึงว่า เป็นธรรม ธรรม ธรรมไง

หวังจะพึ่งใคร มันต้องหวังพึ่งตัวเราเอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนน่ะ จิตนี้เป็นที่พึ่งแห่งจิต ใจนี้มันรู้ขึ้นมาจากภายใน โอ้โห...มันยิ่งเด็ดเดี่ยวนะ คำว่า”เด็ดเดี่ยว”มันจะเอาให้ได้ ใจนี้ยิ่งเด็ด ใจนี้ยิ่งเดี่ยว มันยิ่งมุดลึกเข้าไป กายเราแคบๆ นี่ แต่ความดิ่งของมันนะ วัฏฏะนี้คิดดูสิ วัฏฏะสามโลกธาตุมันกว้างแคบขนาดไหน หัวใจนี้มันไปมันหมุนไป แล้วจะเวลาชำระล้างมัน

เวลาดิ่งลงมานะ ดูสิ โลกเราขนาดจักรวาลเดียวนี่มันยังลึกขนาดนี้ แล้วในหัวใจนี่มันอยู่ในวังวนของนี้มันจะใหญ่ขนาดไหน ก็มุดเข้าไปมันจะได้มาก มองใจว่าเป็นของเล็กน้อยไง ใจนี้มันกว้างขวางมาก ไม่มีขอบไม่มีเขต เพราะใจนี้มันราบหมด มันปล่อยได้หมดนะ นี่สมณะที่ ๒ เราก็ได้คบสมณะที่ลึกเข้าไปอีก เราก็ได้บุญมากขึ้นไปอีก แต่นี้คำว่า”บุญกับบาป”มันก็ไม่ค่อยสนใจนะ มันจะละให้ได้ มันจะละให้ได้นะ

จิตเป็นจิตล้วนๆ กายเป็นกายล้วนๆ นั่นล่ะ แต่กายในกาย มันยังมีทางเดินต่อไปเพราะพระพุทธเจ้าสอนไว้ทางนี้ยาวมาก ทางรกชัฏนะ ตัดเรื่อยๆ ตัดเรื่อยๆ กิเลสมันอยู่ข้างทางนะมันจะพาให้ออกข้างทางนั่นล่ะ เวลาเดินไปกิเลสมันคอยเหนี่ยวคอยรั้งไว้ พักก่อน นู่นก่อน ไว้เมื่อนั้นไว้เมื่อนี้ มันจะเหนี่ยวมันจะรั้งไว้ตลอด กิเลสเราเหนี่ยวรั้ง พระพุทธเจ้าไม่ได้เหนี่ยวรั้ง ธรรมนี้ของประเสริฐ ทางธรรมนี้ของใคร ทางนี้มันก็เป็นทางเลี่ยมไปเลย

แต่ทางของเราเป็นแบบนี้ ทางของใครก็แล้วแต่เป็นวาสนาบารมีมา ถ้าเราสร้างของเรามาดี เวลาเราไปตามทางมันจะมีน้ำมีท่าไว้คอยเลี้ยงเรา ถ้าวาสนาเราน้อย โอ้โฮ...ทางนี้นะเป็นทางที่ว่าทะเลทรายเลย แต่ก็เป็นของใครของบุคคลนั้นนะ ไม่จำเป็นต้องให้เหมือนกัน แต่นี้ถ้าทางของเราเป็นแบบนี้เราก็ต้องเต็มใจทำ ต้องเต็มใจทำเพราะเป็นทางของเรา

ถ้ามุดหันกลับมาดู มันจะเสวยสุขอยู่พักใหญ่แหละ พิจารณาถึงนี้มันจะเสวยสุขพักใหญ่ ถ้ามันเพลีย มันสุขนักเราก็ยอมรับ สุขนี้เราเสวย สุขนี้ไม่ต้องกำหนด แต่มันอยู่ได้ไม่นานหรอก สุขมันก็คู่ มันมีความทุกข์อันละเอียดอยู่ในใจ มีความสุขนะ พระอริยบุคคลไม่มีความสุขได้อย่างไร เขาไม่ใช่บุคคลธรรมดาอย่างเรา มันต้องต่างกันอยู่แล้ว ใจนี้ต่างกันมาก ต่างกันคนละชั้นเลยล่ะ

นี้กิเลสมันยังไม่สิ้น มันยังเสี้ยมอยู่ข้างใน ข้างในยังมีข้าศึกอยู่ สุขอยู่พักหนึ่งก็หันกลับมาดู เวลาใจมันกระเพื่อมไปแล้ว พอมันมีความทุกข์ก็เหมือนกับของเรายังไม่สะอาดใช่ไหม มันยิ่งมีสิ่ง...เราซักเสื้อผ้ายังไม่สะอาดพอ เราต้องซักอีก ซักซ้ำ เราซักเสื้อผ้ายังไม่สะอาดเราจะหยุดได้อย่างไร เสื้อผ้านี้ยังซักไม่เสร็จเลย มันจะเก็บเข้าตู้ได้อย่างไร ต้องซักอีก ซักลงไปอีก

ก็เหมือนกัน พอจิตมันได้คิด จิตมันมีความรู้สึก มันก็หมุนกลับมาดูลงไปที่กายและใจหมุนเข้ามาดู ว่าโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง อันนั้นมันขั้นตอนของเขา มันก็ราบอย่างนั้นล่ะ ราบเป็นหน้ากลองขึ้นไป เดี๋ยวดินนะ เราไถไปสิ ดินนี่เราไถไปเลย แต่มันมีหญ้าอยู่หญ้าก็เกิดอีก แล้วเกิดนี่เกิดหนาด้วย เพราะดินมันเลี่ยมใช่ไหม

ใจก็เหมือนกัน ใจราบเป็นหน้ากลอง แต่ถ้าหันกลับไปดูใจแล้วจับใจได้นะ แต่มันยังจับไม่ได้น่ะสิ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลองเราก็นอนเพลินอยู่นั่นล่ะ โอ้...ดินนี้ราบดีเนอะ นอนนุ่มหญ้าขึ้นสบาย เพราะมันหาตัวนั้นไม่เจอ หาตัวตนยากนะกิเลส งานนี่มันเป็นงานค้นคว้านะ ค้นหานะ อย่างหญ้านี่มันเห็นนะ เราเห็นว่าหญ้า เราเห็นได้ง่าย แต่ในหัวใจมันเวิ้งว้างมันมองไม่เห็น แล้วจะจับตรงไหน ก็รากของหญ้ามันซ่อนอยู่ในดิน ไอ้กิเลสนี้มันซ่อนอยู่ในใจ

ถ้าจับตรงนี้เจอนะ โอ้โฮ...เพราะอันนี้มันชุ่ม มันชุ่มกามราคะน่ะ ไอ้โลกที่ว่าราบๆ นั่นน่ะ มันเป็นเหยื่อไปทั้งนั้น เป็นหญ้าไปทั้งนั้น ตรงนี้สำคัญ ตรงนี้น้ำป่าเลย จะรุนแรง การปฏิบัติขั้นนี้เป็นขั้นที่รุนแรงที่สุด ขั้นไหนก็ไม่โหดเท่าขั้นนี้ ขั้นนี้ต้องโหดนะ สู้กันอย่างเต็มที่เลย แล้วสู้กันภายในไม่ได้สู้กันข้างนอก สงครามข้างนอกเกิดให้มันเกิดไป สงครามโลกไหนจะเกิด มันก็เกิดแล้วก็ดับเดี๋ยวก็เกิดใหม่ แต่สงครามอันนี้เกิดนะ จะเกิดนะ มันจะเกิดไม่ได้ถ้าเราหาไม่เจอ

ถ้าเราหาเชื้ออันนี้เจอ กามราคะอันนี้เจอ สงครามนี้ถ้าเกิดแล้วถ้าดับแล้วจะไม่มีสงครามอีก จะไม่มีสงครามอีกเลย ถ้าเจอมันจะรุนแรงขนาดนั้นน่ะ เพราะมันเป็นกามราคะ เพราะใจนี้เป็นกาม ใจนี้เป็นชุ่ม ไอ้อย่างที่ว่าสมณะที่ ๒ นั้นมันเป็นเปลือกไง จากเปลือกออกไปมันเจอข้างใน เราตีป้อมค่ายเข้าไปเห็นไหม เราไปรบข้าศึก จะตีกำแพงเข้าไปจะมีอะไร ทะลุกำแพงเข้าไป ไอ้เมืองหลวงเขา ข้างใน ในราชมณเฑียรนั่นทองคำทั้งนั้นนะมีทองคำ มีความวิจิตรพิสดารอยู่ในนั้น

หัวใจก็เหมือนกัน เราตีป้อมค่ายจากใจเข้าไป ชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ ชั้นนี้เขาสงวนเขารักไง ชั้นนี้มันเป็นชั้นภายในแล้วมันจะสงวนวัฏจักรไว้ข้างในอีกชั้นหนึ่งน่ะ ไอ้วัฏจักรนั้นมันไม่มีองครักษ์นะ นี้องครักษ์ทั้งนั้น แล้วองครักษ์นี้ต่อสู้ มันต่อสู้เต็มที่เพราะขั้นนี้มันรู้ว่าภัยนี้ ไฟนี้เข้ามาเต็มที่แล้ว มันจะหลอกเต็มที่เลย มันจะผลักไส สงครามนี้รุนแรง ความหลอกของจิต ความจะผลักไสออกมานะ ชนแล้วหนี ชนแล้วหนีเลย หัวเข้าไปชนนี่มันไสหัวออกวิ่งออกมาไม่รู้ตัวเลย ไม่รู้ตัว

พอไม่รู้ตัวออกมา มันรู้ว่าแพ้ คำว่า”ไม่รู้ตัว”นี้มันเริ่มต้นใช่ไหม เพราะไม่รู้ตัว มันผลักไสออกมาซักพักคิดได้ก็วิ่งเข้าไปใหม่ สงคราม สงครามแพ้ก็ต้องสู้ วัฏฏะนะ เจ้าวัฏฏะนะ ใครจะยอมให้ประเทศชาติล่มจม ประเทศชาติก็คือเราไง เราคือโลก นี่สงครามโลก โลกของใจ โลกใครโลกมันนะ โลกหนึ่งโลกคือหมู่สัตว์ โลกคือมนุษย์ โลกของเรา

มันจะมีอุบายน่ะ อุบายทั้งของเขาและของเรานะ อุบายของกิเลสนะ กับอุบายของธรรม อุบายของธรรมเกิดจากใคร? ก็เกิดจากเรานี่แหละ เกิดจากธรรมจักรนี่ เกิดจากภาวนามยปัญญา คนไม่เคยโง่ตลอดไปหรอก คนโง่มันถึงเวลาจำเป็นขึ้นมามันต้องฉลาดใช่ไหม คนเราจะตายมันต้องสู้ เวลาจนตรอก ปัญญามันเกิดดีนัก เวลานั้นน่ะเวลาจะตาย เวลาภาวนาขึ้นมามันจะตายจริงๆ นะ เอาตายจริงๆ ช่วงนี้ช่วงตายจริงๆ เพราะถ้ามันหลอกก็หลอกจนตายเลย เพราะเวลาตายข้างในมันจะทำให้ตายเลย มันจะหลอกหมด

กิเลสนี้ร้ายจริงๆ กิเลสคนอื่นว่าร้ายๆ กิเลสของเรานี่ เวลาต่อสู้มันจะหลอกเลยล่ะเพราะถ้ามันไม่หลอกเรา มันก็แพ้ ถ้ามันแพ้แล้วมันก็เหมือนกับปล่อยให้ประเทศชาติเขาล่มจมเลย มันต้องตายไปข้างหนึ่ง มันต้องกิเลสตายกับเราตายเท่านั้นนะ ถ้าไม่กิเลสตายกับเราตายกับเราตายนี่สู้กันไม่ได้ ตายจริงๆ ! ต้องกิเลสตายกับเราตายเท่านั้นเลย ถึงว่ารุนแรงไง ต้องกิเลสตาย ไม่กิเลสตายก็เราตาย

อันนี้กิเลสมันเป็นนามธรรม ความคิดอันนั้นเป็นนามธรรม แต่ถ้าเราตายกิเลสมันก็ครองใจ เราก็แพ้ เราก็อยู่ของเราแบบสัตว์เหรอ คอยกินหญ้าไปเรื่อยๆ เหรอ มันไม่อย่างนั้นนักปฏิบัติ มันมีกำลังใจ เพราะมันมีแรงของใจ แรงของสมาธินี่นะ แรงของใจ แรงของการภาวนา แรงของปัญญา การเลี้ยงชีพไง แรงของงานชอบ ความเพียรชอบ อุตสาหะชอบ มันจะหมุนกลับไปเรื่อย

ถึงจุดหนึ่ง เหมือนกับเราจุดไฟไว้แล้ว งานยังไม่เสร็จ เราถอดอุปกรณ์เครื่องมากองไว้หมดเลย แล้วไม่เคยประกอบ มันจะถอยมาอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้ามันมีแรงกลับไปมอง มันก็ต้องทำ ก็อันนั้นล่ะ อันที่ว่าเกลื่อนอยู่นั้นนะต้องประกอบขึ้นมาให้เสร็จ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน กิเลสอยู่ที่ใจถ้ายังไม่ฟันกันอยู่ มันก็ต้องหันกลับไปตรงนั้นล่ะ จะไปไหนก็แล้วแต่ จะนอนเนื่องจะออกไปข้างนอก จะเข้าสมาธิ จะเสวยสุขอยู่ ไม่อยากสู้กับมัน เดี๋ยวกลับมาก็งานอันเก่า เพราะถ้างานยังไม่เสร็จ คือยังไม่เสร็จ มันจะไปไหนรอดไม่ได้ มันจะต้องกลับมาสู้ตรงนี้ไง

มันถึงต้องหันกลับมาสู้ ต้องดันจนกลับมาสู้จนมีแรงพอ หมุนสู้เข้าไปบ่อย ขาด ขาดอีกล่ะ ขาดทีก็สะเทือนหวั่นไหวเลยล่ะ มันถึงว่าใครตายไปข้างหนึ่งไง อันนี้มันสำคัญ สำคัญที่ว่ากามภพไง ถ้าอันนี้ขาดนะ สมณะที่ ๓ ขาด มันจะไม่เกิดแล้ว ไม่เกิดในกามภพนี้ ตั้งแต่เทวดาลงมา พรหมชั้นหยาบๆ ลงมา พรหม ๕ ชั้นขึ้นไปเป็นที่อยู่ของผู้ที่เป็นสมณะที่ ๓ นี้ เกิดเป็นพรหมรูปเดียวนะ แล้วเกิดเป็นพรหมแล้วไม่ใช่ว่าเกิดซ้ำอีก เกิดเป็นพรหมแล้วก็สิ้นไปเลย เหมือนกับเอามะม่วงแก่ไปวางไว้แล้วมันจะสุกไปท่าเดียว ถ้ามะม่วงอ่อนมันไม่สุกสิ มันดำมันเน่า ไอ้นี่มันสุก สุกไปก็สิ้นไป นี่สมณะที่ ๓

แล้วไม่มีอะไรมาเทียบนะ ไม่ต้องว่าสุขแล้วจะมาทุกข์อีก เกิดแล้วจะไม่เกิดอีก ไม่ต้อง ไปเลย แล้วไม่ต้องให้มีใครมาปริญญาด้วย มันต้องเป็นปัจจัตตัง ถึงว่าศาสนาเรานี้ยอดเยี่ยม ในศาสนาของเรานี่มีพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นี้มากมายเลยในศาสนาพุทธเรา ครูบาอาจารย์เห็นไหม มีตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้สิ้นกิเลสแล้ว แล้วก็สอนพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระกัสสปะ มาเป็นชั้นเป็นตอนมาเลย นั่นสมณะที่ ๓

พอไปแล้วเวิ้งว้างนะ ช่วงนี้ไปแล้วว่างเวิ้งว้างไปหมดเลย เพราะพรหม ว่างๆ อยู่อย่างนั้นนะ เพราะถือว่าตัวเองว่างไง คนมันจะหลงนะ พอว่างไปมันเข้าใจว่า เข้าใจว่า เพราะความว่างก็คือเราใช่ไหม ความว่างก็คือเรา นี่คือเจ้าวัฏจักร ความว่างนั้นคือเรา เราถึงจะว่าง เพราะไม่มีวัตถุสิ่งใดหรอกที่มันจะรู้ตัวมันเอง วัตถุนะ นอกจากหัวใจของคน เคยเห็นวัตถุใดมันรู้ตัวมันเองบ้าง นอกจากหัวใจ นอกจากสิ่งมีชีวิต เพราะสิ่งมีชีวิตนั่นมันกิเลส

สิ่งมีชีวิตน่ะ มันถึงจะรู้จักตัวมันเองได้ นี่หัวใจ เราก็มีสิ่งมีชีวิต ถึงมันจะว่างมันก็ต้องรู้จากใจมันสิ แต่กิเลสมันทำให้ไม่รู้ กิเลสมันส่งออก มันไม่รู้หรอก มันต้องหลงกันไปอยู่นานนะ หลง ต้องหลง จนมีผู้ใดมาบอก ทำไมต้องให้คนอื่นมาบอกล่ะ ทำไมเราไม่บอกตัวมันเอง เพราะมันเข้าข้างตัวมันน่ะ จิตนี้จะเข้าข้างตัวเองมาก กิเลสจะสงวนตัวเองมาก เห็นว่าอันนี้เป็นทองคำ อันนี้เป็นสิ่งที่วิเศษ มันว่านะ มันว่า อ้าวเราก็ว่าใครไม่ดีๆ ทั้งนั้นล่ะ เราต้องว่าตัวเราดี

เจ้าวัฏจักรมี โลภ โกรธ หลง มันก็ขาดไปตั้งพร้อมกับไอ้กามภพแล้ว ตั้งแต่หลาน เหลนมา ขาดมาหมด ลูกก็ขาดไปแล้ว นี้ตัวมันเอง มันจะเอาตัวมันรอดอย่างไร มันต้องพลิกแพลงเต็มที่ล่ะ มันกลัวเขาจะตามเห็นหน้ามัน ย้อนกลับมาดูก็ไม่ได้นะ มันเฉาๆ ดูสิความสว่างนี่มันจะเฉาอยู่อย่างนั้นล่ะ มันพิลึก ไม่มีใครรู้

นี่ถึงว่า อวิชชาปจฺจยา สงฺขารา แสงมันส่งออก อวิชชามันเคลื่อนไป มันปัจจยาการเป็นอันเดียวกันไปหมดเลย บึบบับ บึบบับ อยู่ในที่กลางใจนะ ตอของจิต ในอาทิตตฯ(อาทิตตปริยายสูตร) ถึงว่า ละขันธ์ ๕ แล้ว ละกาย ละรูป ละเวทนา ละสัญญา ละสังขาร ละวิญญาณ เพราะวิญญาณกระทบกับจิตนี้น่ะสิ จิตนี้กระทบถึงเกิดวิญญาณขึ้น ผัสสะ ธรรมารมณ์ กระทบกับอะไร? กระทบกับความว่าง มันก็มีความรู้สึกขึ้นมา นี่ตอ มโนวิญญาณ เจตนาไง

มโนสัญเจตนาหาร มโนๆ มโนคือตอของมัน คือตัวของมันเอง มโนคือใจ ถ้ามันจับได้ อันนี้มันจะอ้อยอิ่งนะ ไอ้ที่ว่าเมื่อกี้ น้ำป่าน้ำทะลักนั่นแรง ถ้าจับตรงนี้ได้น่ะ มันจะนิ่ม มันจะนวล พิจารณาแทบไม่ได้เลย ถึงว่า มหาสติ-มหาปัญญานี้ก็พิจารณาไม่ได้ มหาสติ-มหาปัญญา มันเป็นปัญญา มันเป็นการใคร่ครวญ อันนี้เป็นการดูเฉยๆ ดูการแว๊บออก

ถึงว่า ญาณหยั่งรู้ไง ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างไสว พอรู้เท่ามันก็จบ นั่นรู้เท่านะ ว่าอันนี้รู้เท่านะ การพิจารณาการเห็นมันสมุจเฉทปหาน มันพลิกเลยๆพลิกทีเดียวจบ นี่งานของศาสนา มันสามารถสำเร็จได้ สามารถจบได้ งานของโลก นี่ผลออกจากวัฏฏะ อันนี้พ้นออกไปจากวัฏฏะเลย หลุดออกไปจากวัฏฏะนี้ สามโลกธาตุ(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)