เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ ม.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเกิดมาในศาสนา เราเกิดในพระพุทธศาสนา ดูสิ สมัยพุทธกาลนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาญาติรบกันไง แล้วญาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแย่งน้ำกันนะ ยกทัพมารบกันเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปห้ามนะ ปางห้ามญาติ เห็นไหม พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ไม่ให้ญาติรบกัน ถามญาติว่า น้ำนะ น้ำกับชีวิตอันไหนมีค่ามากกว่ากัน น้ำนะ แค่แม่น้ำ น้ำไหลมา เราเอามาทำประโยชน์ กับชีวิตของเรา อันไหนจะมีค่ามากกว่ากัน

“ชีวิตนี้มีค่ามากกว่าน้ำ”

แล้วยกทัพมารบกันทำไม

พอได้สติ เตือนสติ ก็แยกกันไปพักหนึ่งนะ เสร็จแล้วก็ยกมารบ พระพุทธเจ้าไปห้ามถึงสองหนสามหนก็ห้ามไม่ได้นะ สุดท้ายญาติสองฝ่ายนะ ญาติข้างพ่อ ญาติข้างแม่ รบกัน หมดเลย เพราะแย่งน้ำทำนากัน

เวลาเตือนสติมันก็ได้คิด เห็นคุณค่าของชีวิตไหม เราต้องเลี้ยงชีวิต เราต้องทำมาหากิน เราต้องใช้น้ำ เราต้องทำนา อันนั้นก็เห็นด้วย ความเห็นด้วย แต่คุณค่าของชีวิตมันก็ต้องมากกว่านั้น แล้วจะทำอย่างไร จะแบ่งสรรปันน้ำให้มันได้แบ่งกันน่ะ ต่างคนมันก็ไม่พอ เพราะน้ำน้อย น้ำก็ไม่พอ สิ่งที่ไม่พอ คนก็อยากได้ คนก็อยากจะเป็นประโยชน์ แล้วพอเป็นประโยชน์ นี่กิเลสมันบัง มันบังไง มันไม่สามารถจะประสานตรงนี้ได้ แล้วมันก็เกิดปัญหาขึ้นมา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดมาให้เห็นนะ ยกขึ้นมาให้เห็นเป็นประเด็นเลยว่าน้ำกับชีวิตของคน อันไหนมีคุณค่ามากกว่ากัน

แต่คนก็ต้องใช้อาศัยสิ่งนั้นเพื่อดำรงชีวิตใช่ไหม สิ่งที่ใช้ดำรงชีวิต แต่ถ้ามันประชุมกันได้ มันแบ่งปันกันได้ มันก็จะเป็นประโยชน์ได้ โลกเป็นแบบนั้น ปัจจุบันเป็นแบบนี้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนี้คือกรรมเก่าไง กรรมที่เขาสร้างสมกันมา ขนาดมีคนชี้นำอย่างนั้นเขาก็มองไม่เห็น

เราก็เกิดมาในโลก เราก็เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาบอกว่าให้แข่งขันกับตัวเอง การแข่งขันของโลก แข่งขันถึงที่สุด เป้าหมายมันอยู่ที่ไหน มันก็แข่งขันกันไป ทรัพยากรมีเท่านั้น แต่ถ้าเราแข่งขันกับตัวเราเอง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ ตอนที่พระอานนท์นิมนต์ไว้จะไม่ยอมให้ปรินิพพานน่ะ “อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ร่างกายของตถาคตก็ต้องสละไป”

ขณะที่ปัจจุบันนี้เหมือนกับวัวมันเทียมเกวียนเก่าๆ ไง เกวียนคือร่างกาย สิ่งนี้เป็นของเก่าๆ วัวนี้ก็ต้องเทียมเกวียน แล้วลากสิ่งนี้ไป มันน่าเบื่อหน่าย สุดท้ายแล้ว “คืนนี้เราตถาคตจะปรินิพพาน” จะต้องทิ้งเกวียนอันนั้น ของที่เก่าแก่ให้ประจำโลกไว้ แต่วัวตัวนั้นจะหลุดจากเกวียนนั้นไป

แข่งขันกับชีวิตก็แข่งขันกับแบบนี้ไง แข่งขันกับความเห็นของตัวเองที่มันผูกพัน ผูกไปกับจิต ความทุกข์ที่ผูกไปกับความรู้สึกของเรา ความรู้สึกอันนี้คือตัวจิต เหมือนกับวัวตัวนั้น แล้วมันก็ต้องลากเกวียนเก่าๆ อันนี้ไปทุกภพทุกชาติ ในวัฏฏะนี้มันต้องเวียนไปตลอดไป เราถึงต้องมาแข่งขันกับตัวเราเองไง เราจะปลดเกวียนอันนี้ออกจากใจเราได้อย่างไร ถ้าเราปลดเกวียนอันนี้ออกไปจากใจนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่คืนวันเพ็ญเดือน ๖ เวลาตรัสรู้ธรรม ธรรมกระจ่างแจ้งในหัวใจ นั่นน่ะ ปลดเกวียนออกจากใจอยู่แล้ว ปลดกิเลส เห็นไหม เราฉันข้าวของนางสุชาดาแล้วสิ้นถึงซึ่งกิเลสนิพพาน แต่เวลาไปฉันข้าวของนายจุนทะ ถึงซึ่งขันธนิพพาน ขันธ์มันสะอาดบริสุทธิ์อยู่ เวลาปลดเกวียนอันนั้นแล้ว มันปลดเกวียนในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรามองไม่เห็นไง

แต่เวลาบอกพระอานนท์ เปรียบให้เห็นเป็นรูปธรรม เห็นไหม เกวียน ร่างกายกับจิตใจ แต่กิเลสกับจิตใจเรามองไม่เห็น เราเห็นแต่ร่างกายกับจิตใจ ร่างกายนี้จับต้องได้ เราเห็นร่างกายนี้ เราก็ว่าร่างกายนี้เหมือนกับเกวียนอันนั้น เรามองเห็นได้ สอนคนที่เข้าไม่ถึง คนที่หยาบๆ ก็สอนแบบหยาบๆ แต่ถ้าพูดถึงคนที่มีตาด้วยกัน ตั้งแต่คืนตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นั่นน่ะปลดออกหมดแล้ว สอุปาทิเสสนิพพาน สะคือเศษส่วนของร่างกาย เศษส่วนของขันธ์ ๕ ยังอยู่กับธรรมนี้ตลอดไป สะ ส่วน เศษส่วนของพระอรหันต์ พระอรหันต์ที่มีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพาน คือว่าเวลาสิ้นกิเลสไป หมดจากสิ้นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องตรงนี้ คือหลัก คือหัวใจของศาสนา

เราต้องพยายามเข้ามาหาหลักของศาสนา สิ่งนี้เป็นหลักของศาสนา ถ้าหลักของศาสนาคือเรื่องของการชำระกิเลส เรื่องของมัคคะที่เราสร้างขึ้นมาในหัวใจ แต่สิ่งนี้มันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันก็อยู่ในภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เห็นไหม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานี้หมายถึงบริษัท ๔ ในศาสนานี้ บริษัท ๔ ในศาสนานี้อยู่ที่ไหนล่ะ? ก็อยู่บนสังคมโลก อยู่ในสังคมโลก อยู่กับโลกเขา โลกเขาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา โลกเขาเป็นไป วัฒนธรรมประเพณี

เราถึงบอกไง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยากจะเกิดทางภาคอีสาน อยากจะเกิดชนบท เกิดเพราะอะไร เพราะประเพณีเขา เวลาพระจะผิดจะถูกนะ เขาไม่กล้าโต้แย้ง เขาไม่กล้าอะไร เพราะเขามีศรัทธา เขามีความเชื่อมาก บรรยากาศ เวลาพระปฏิบัติ พระเดินไปในป่า เขาจะดูแลของเรา ถ้าธุดงค์ไปเห็นหลังคาบ้าน ๒ หลัง ๓ หลัง นี่ปักกลดได้แล้ว แขวนกลดได้แล้ว เพราะพรุ่งนี้เช้าเราจะมีข้าวกินแล้ว เพราะอะไร เพราะใจเขาเป็นแบบนั้น ความเป็นไปของสังคมมันเป็นแบบนั้น นี่มันอยู่ในสังคม สังคมนี้เริ่มต้นขึ้นมา

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็อยู่กับโลก โลกจะเป็นแบบนั้น ส่วนหยาบส่วนละเอียดมันเป็นสภาวะแบบนั้นไป แล้วสิ่งที่เดี๋ยวนี้โลกมันเจริญไง สิ่งที่เจริญขึ้นมา รวบยอดอยู่ที่ไหน อำนาจอยู่ที่ไหน ความเป็นไปอยู่ที่ไหน จะรวบยอดเข้าไปตรงนั้นไง ถ้ารวบยอดไปตรงนั้นมันก็เป็นไป

เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์กันนะ สมัยพุทธกาล สมัยมหาวิทยาลัยนาลันทา พระสงฆ์ไปรวมกันอยู่ตรงนั้นหมดเลย เวลาเขาจับ เขาเข้าไปถึงตรงนั้น มันก็ทำลายตรงนั้นหมดเลย แต่พระที่กระจายออกไปตามชนบท กระจายออกมา กระจายออกมาประเทศไทย กระจายออกไปประเทศต่างๆ มันก็ยังมีส่วนนี้ออกไป ถ้ามันมีอยู่ส่วนเดียวมันก็หมดไป นี่อำนาจเป็นแบบนั้น สิ่งที่เป็นอำนาจเป็นแบบนั้น

อำนาจเป็นธรรม ประชาธิปไตย ธรรมาธิปไตย แล้วว่า อัตตาธิปไตยล่ะ อัตตาตัวตนของเขามีอำนาจ มีกิเลสมาก ต้องการความเป็นไปมาก เขาก็ต้องการของเขา แต่ว่าธรรมจะรู้ได้ต่อเมื่อเราสื่อสารกัน เราสื่อสารออกมา ธรรมจากหัวใจที่มีธรรม ออกมาจากใจ จะรู้ว่าอันนี้ธรรม ธรรมเท็จหรือธรรมจริง ถ้าธรรมจริงนะ อย่างไรมันก็ปิดไม่อยู่ ถ้าธรรมเท็จนะ จำมา สัญญามา เป็นอย่างไรมันก็สภาวะแบบนั้น แล้วจริตนิสัยพยายามกลบเกลื่อนกันไป อย่างนี้เป็นออกไป

ศีล จะรู้ได้ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าอยู่ด้วยกัน จะเห็นกันแน่นอน ชีวิตของเราทั้งชีวิต หลายสิบปีขึ้นมาจะรู้ว่าศีลบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ อยู่กันสภาวะแบบนั้น เห็นไหม สภาวะแบบนั้นมันปิดกันไม่ได้ ถ้าเป็นธรรมขึ้นมา เราจะยอมรับกันด้วยความเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมก็ยอมรับกันว่าเป็นธรรม ถ้ามันไม่เป็นธรรม แต่จะทำให้มันเป็นธรรม มันถึงเป็นปัญหาขึ้นมา ถ้าปัญหานี้เกิดขึ้นมา พอผู้ที่ว่า คนที่มีอำนาจวาสนาก็สามารถจะยับยั้งสิ่งนี้ได้ ถ้าไม่มีอำนาจวาสนา เราก็ต้องทนไป อัตตาธิปไตย ถ้าธรรมาธิปไตย ยอมรับสิ่งที่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นมา สิ่งนี้เป็นเรื่องของโลกเขา ศาสนาจะเกิดขึ้นมาก็อย่างนี้ไง เกิดมาในประเทศอันสมควร สัปปายะในการประพฤติปฏิบัติ เราก็หวังตรงนั้นกัน ครูบาอาจารย์หวังตรงนี้นะ หวังว่าถ้าการปกครองความเป็นไปมันถูกต้อง เราอยู่ในป่าในเขามันก็จะเป็นไป ถ้าเราไปอยู่ในป่าในเขา

ธรรมะเกิดในป่าในเขานะ ดูสิ เรามาประพฤติปฏิบัติกัน แล้วเขาว่างานบุญๆ...มันเป็นงานบุญ เขาหาของเขาด้วยสิ่งของเขา งานบุญก็ได้ งานบุญ ครูบาอาจารย์เราก็งานบุญเหมือนกัน งานบุญของเราขึ้นมา เราทำบุญขึ้นมา แต่ไม่มีมหรสพ สิ่งที่เป็นมหรสพ เห็นไหม แค่ศีล ๘ ก็เห็นแล้ว ศีล ๘ ว่าห้ามดูการละเล่น ห้ามดูการฟ้อนรำ แต่นี้เราไปกว้านเข้ามา เราไปยึดเข้ามาให้มันเป็นเรื่องความเพลิดเพลิน เรื่องกระแสของโลก ไปทั้งหมดเลย เราถึงไม่เห็นธรรมเลย แต่ถ้าเราเข้าป่าเข้าเขา เพื่อความสงบเพื่อความวิเวกของเรา เห็นไหม ปัจจัย ๔

แต่ถ้าเข้าป่าเข้าเขา แล้วส่วนที่ฝ่ายปกครอง ฝ่ายข้างบนเขาเห็นด้วย มันก็เป็นประโยชน์ไป แต่ถ้าเขาไม่เห็นด้วย เวลาพูดนี่พูดจากภายนอกนะ เราจะส่งเสริมพระปฏิบัติ เราจะส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติ เราจะส่งเสริมศากยบุตร เราจะส่งเสริมธรรมทายาท เราจะไป แต่ในการกระทำมันเป็นไปอย่างนั้นไหมล่ะ การกระทำนะ เวลาพระอยู่ป่าก็ไปจับ เวลาพระอยู่ป่าก็ไปไล่ แล้วถ้าอยู่ในป่า มันไปทำอย่างนั้นกัน แล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ

ครูบาอาจารย์เราสงวนสิ่งนี้นะ อย่างเราเป็นผู้ใหญ่ เราผ่านโลกมา เรามีความเป็นไปพออยู่ได้ เราก็พอของเรา แต่ลูกหลานมามันจากไหนล่ะ ประเทศไทยมาจากไหน ความเป็นไป ทำมาอย่างไร มันก็มองไปสภาวะแบบนั้น เห็นไหม ส่วนหยาบ ส่วนละเอียด ถ้าส่วนละเอียด ส่วนความเป็นไป เราดูใจของเรา เราแข่งขันกับเรา เราปลดเปลื้องในใจของเรา มันก็ปลดเปลื้อง มันเป็นงานของเรา แต่เราอยู่ในสังคม ถ้าสังคมนั้นมันเป็นประโยชน์ สังคมนั้นมันเอื้อต่อการปฏิบัติ มันก็จะเป็นไป

ถ้าสังคมนั้นมันไม่เอื้อต่อการปฏิบัตินะ มันไม่เอื้อเลย การปฏิบัตินี้ก็ทำกันตามประเพณี เวลาภาวนากัน เวลาปฏิบัติกันก็ปฏิบัติกันเป็นพิธีกรรม เป็นพิธีกรรมจริงๆ เพราะอะไร เพราะไม่ออกไปวิเวก ไม่ออกเป็นส่วนสัด ถ้าออกเป็นส่วนสัด เราธุดงค์ไป เช่น เดินเข้าป่าช้า เราอยู่ในหมู่ของเรา เราก็อยู่ได้ จะไปปฏิบัติที่ไหนก็ไปได้ อยู่ปริวาสกรรม เขาว่านะ ต้องอยู่ปริวาสกรรม ปีหนึ่งทำกันหนหนึ่ง แต่ของเราอยู่กันเป็นทั้งชีวิต ชีวิตนี้อยู่ถือธุดงควัตร อยู่ในป่าในเขา อยู่ในป่าช้า อยู่กับซากศพ

เราเคยเป็นมา เราเคยไปนอนในป่าช้า ขณะเขาเผาศพอยู่เราก็อยู่กับซากศพ เวลามันกลัว มันกลัวจนขาสั่นนะ กลัวมากๆ ความกลัวนี่ เวลาเราชนะความกลัวมันก็หายไป เราต้องอาศัยสิ่งนี้เพื่อดูกิเลสของเรา

ในสมัยครั้งพุทธกาล มีพระชุดหนึ่งเขาคิดว่าเขาสิ้นกิเลสแล้ว จะมารายงานผลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารู้ด้วยญาณ บอกว่าให้พระไปห้ามไว้ บอกว่าให้ไปป่าช้าก่อน ให้ไปป่าช้า อย่าเพิ่งเข้ามาลา ให้เข้าไปป่าช้าก่อน พอเขาเดินเข้าไปในป่าช้า พระพุทธเจ้าสั่งให้ไปป่าช้า พอไปป่าช้า ไปในความสงัด มันเห็นความกระเพื่อมของใจไง “โอ๋ย! เราไม่ใช่ เราไม่ใช่หรอก” เพราะอะไร แต่ความหลงมันเป็นไปอย่างนั้น เวลาเราเข้าป่าเข้าเขาก็เพื่ออย่างนี้ เพื่อพิสูจน์ใจของตัวเองไง ให้สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม

เวลากลัวเสือ เวลากลัวกลัวผี หลวงปู่มั่นบอกให้ไปอยู่ตรงนั้น ไปอยู่ตรงนั้นเพื่ออะไร เพราะความกลัวนี้มันทำให้เราไม่ต้องฟุ้งซ่านมาก เวลาเราคิดมาก เวลาฟุ้งซ่าน เราคิดไปอย่างอื่นนะ พอเรากลัวนี่มันมีประเด็นเดียวแล้วคือกลัว แล้วกลัว ถ้าเราคิดออกไป เราตามอันนั้นไป มันจะไปมหาศาลเลย

เราใช้สติกำหนด กลัวคืออะไร กลัวมาจากไหน สิ่งที่พิจารณาความกลัว กลัวมาจากไหน กลัวนี่ กลัวคืออาการของใจ ใจเกิดขึ้นมาอย่างไรสภาวะแบบนั้น ภูตผีปีศาจ หรือว่าซากศพในป่าช้ามันก็เป็นธรรมชาติของเขา สุนัขมันเข้าไปหากินหาอยู่ในนั้นมันยังเป็นไปได้เลย หนูอะไรมันก็อยู่ในป่าช้านั้นทำไมมันไม่เห็นกลัว เราเป็นนักปฏิบัติ ทำไมเรากลัวอย่างนั้น ปัญญามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ นี่ปัญญาเอาชนะตนเอง ถ้าปัญญาเอาชนะตนเอง ความกลัวมันก็จะสงบตัวลง กลัวมันสงบตัวลง เดี๋ยวมันก็กลัวใหม่ กลัวแล้วกลัวเล่า ความกลัวนี้เกิดดับๆ ตลอดไป กลัวแล้วมันก็หายไปพักหนึ่งถ้ากำลังมันมี เดี๋ยวมันก็เกิดขึ้น ในการประพฤติปฏิบัติมันเป็นความเอื้ออย่างนั้น ถ้าเอื้ออย่างนั้น เราจะเป็นประโยชน์อย่างนั้น

ครูบาอาจารย์เราสงวนอย่างนี้ พยายามสงวนอย่างนี้ไว้เพื่อพวกเรา เพื่ออนุชนรุ่นหลังนะ พระกัสสปะเป็นพระธุดงค์เป็นเอตทัคคะในการธุดงค์ พระพุทธเจ้าสงสารมาก เพราะอายุเท่าพระพุทธเจ้านะ จนขอเปลี่ยนสังฆาฏิ เพราะอะไร เพราะปะแล้วปะเล่าถึง ๗ ชั้นนะ หนักมาก ขอเปลี่ยน “กัสสปะเอย เธอก็อายุปานเรา เธอทำอย่างนี้เพื่อเหตุใด” เพราะพระกัสสปะก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกันไง

“ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเพื่อข้าพเจ้าเองเลย ข้าพเจ้าทำอย่างนี้เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้มีคติ ได้มีตัวอย่าง ได้มีแบบอย่าง ให้ถือแบบอย่างนี้เป็นเครื่องดำเนิน”

เห็นไหม พระไตรปิฎก เวลาเราอ่าน อ่านธรรมอ่านวินัย เราอ่านแล้วเราตีความออกไหม แล้วเราทำอย่างไร เพราะเราเคยเป็น เวลาบวชใหม่ๆ นะ ถือธุดงค์เพราะไม่เคยมีครูบาอาจารย์ ถือธุดงค์นะ เวลาพระมาองค์หนึ่งก็ต้องบิณฑบาตข้างนี้นะ ต้องบิณฯ ตามสาย ต้องบิณฯ ตามอะไร ว่ากันไป ว่ากันไปนะ ต่างคนต่างไม่รู้ ต่างคนต่างตีความ ต่างคนต่างเป็นไป แต่นี้ครูบาอาจารย์เราทำ พระธุดงค์ พระปฏิบัติ ธุดงควัตร ๑๓ เพื่อจะจรรโลงไว้ ต่อไปมันจะเป็นตัวหนังสือแล้วจะทำกันไม่เป็น สิ่งที่ทำไม่เป็น ถึงจรรโลงไว้ รักษาไว้ แล้วมันเป็นไป สิ่งนี้มันถึงจะเป็นปฏิปทาเครื่องดำเนิน

ถ้าเรามีถนนมีหนทาง มีเครื่องปฏิปทาพาดำเนิน จะพาใจนี้ไป ถ้าเราว่าเราอยู่ที่ไหนเราก็ทำได้ คิดแบบกิเลสไง เราอยู่ที่ไหนเราทำได้ ที่ไหนก็ทำได้...ไม่จำเป็น ไอ้อย่างนั้นน่ะมันเป็นการอวดกันทั้งนั้นน่ะ มันอยากมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นการอวดกัน สิ่งนั้นไม่จำเป็น ที่ไหนก็ทำได้ๆ

นี่คนไม่เคยปฏิบัติไง ถ้าคนไม่เคยปฏิบัติ ว่าที่ไหนก็ทำได้ ทำได้จริงๆ แต่ทำได้เป็นพิธีกรรม ทำได้เป็นประเพณี ทำได้เป็นว่าสักแต่ว่าทำ แต่ผลมันจะเกิดขึ้นมาหรือไม่เกิด เพราะอะไร เพราะมันไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง เช่นอย่างที่ว่าเข้าป่าช้า เข้าป่าเข้าเขา เวลาเจอสัตว์ขึ้นมา เราจะทำอย่างไร

ไม่ต้องมีสิ่งใดเลย เพียงแต่แบกบริขารเข้าป่าไป พรุ่งนี้เช้าจะบิณฑบาตกับใคร เราจะเอาปากท้องไปฝากไว้กับใคร มันจะเป็นความกังวลไปทั้งหมด แต่ในปัจจุบันนี้นะ ก่อนจะไปธุดงค์นะ ก็เอาครัวไปตั้งไว้ข้างหน้าก่อน เอารถไปตั้งไว้ แล้วก็ตามไปนะ เป็นพิธีกรรม มันหลอกกิเลสให้มันฟูให้มันเข้มแข็ง กิเลสนี่ ไม่ได้ไปชำระมันเลย

แต่ถ้าเราธุดงค์ของเราไปนะ แบกกลดแบกบาตรไป จะได้กินไม่ได้กินไม่รู้ หลวงปู่ชอบ ในประวัติหลวงปู่ชอบ เข้าป่าไป ๓ วัน ๔ วัน ไม่เคยบิณฑบาตเลย ร้อน ร้อนถึงเทวดา เทวดามาใส่บาตรหลวงปู่ชอบ ใส่บาตหลวงปู่ชอบเพราะบ้านนี้ไม่มีเลย หลวงปู่ชอบนี้เป็นพระปฏิบัติ แล้วจะเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก กลับมาจากพม่าในประวัติหลวงปู่มั่น “เวลาเราอยู่เฉยๆ เวลาเราปกติ เทวดาก็มาหาเราบ่อย ขณะนี้จะตายแล้ว ทำไมไม่มีใครสนใจเราเลยนะ ถ้าวันนี้ไม่ได้กินข้าว ไม่ไหวแล้ว เพราะมันเพลียมาก”

พอเดินไป ในป่าไม่มีบ้านคนเลย จู่ๆ ก็ไปเจอคนมา เห็นไหม ด้วยความหิว ถามว่ามาจากไหน เขาชี้มือไปบนอากาศก็ไม่สนใจ เพราะหิวอยู่ อ้าว! รีบปลดบาตร บิณฑบาตจากเขา พอเข้าใส่บาตร บาตรมันก็แปลก อาหารนี้แปลกมาก เพราะกลิ่นมันมีมาก แล้วฉันเข้าไปมันมีรสชาติมาก แล้วมันอิ่มมาก มันมีความสุขมาก พอฉันเสร็จแล้วค่อยมาคิด อ้าว! คนนี้มาจากไหนล่ะ อ้าวเว้ย! ในป่านี้มันก็ไม่มีบ้านนะ เดินหาก็ไม่มีบ้าน

เห็นไหม สภาวะมันเป็นแบบนั้น ถ้าเราทำคุณงามความดี มันจะเป็นอย่างนั้นได้ แต่มันต้องดีจริงนะ ดีจนว่าเทวดาฟ้าดินต้องยอมรับความดีของเรา ถ้าเทวดาฟ้าดินยอมรับความดีของเรา เทวดาก็เกิดจากเรา มนุษย์ทำคุณงามความดีไปเกิดเป็นเทวดา ความคิดแบบเรา เทวดาก็มีความคิด แต่เป็นทิพย์ มีความสุขหมด แล้วจะรู้เรื่องอริยสัจได้อย่างไรล่ะ

จะเป็นเทวดา จะเป็นอินทร์ เป็นพรหมนะ ไม่เข้าใจเรื่องอริยสัจ ไม่เข้าใจเรื่องมัคคา ไม่เข้าใจเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญามันเกิดอย่างไร ชำระกิเลสอย่างไร ถึงมาฟังธรรมครูบาอาจารย์ไง ฟังธรรมครูบาอาจารย์เพื่อจะรู้จากภายในไง จะเป็นเทวดา จะเป็นอะไรก็ไม่รู้จักอริยมรรค ความเป็นมรรคไม่มี ในหัวใจนี้ไม่มี ไม่รู้ แต่ด้วยการทำบุญ บุญของอามิส สิ่งที่สละออกไป แล้วมันขึ้นไปเกิดเป็นเทวดา แต่อริยสัจ เวลามันเกิดขึ้นมา เหมือนกับที่ว่าเราต้องปลดเกวียนออกจากใจ ปลดเกวียนออกจากวัวตัวนั้น ปลดกิเลสออกจากใจตัวนี้ การประพฤติปฏิบัติเราจะเกิดขึ้นมา

จะว่าเราเอาตัวรอดได้แล้วไม่ต้องยุ่งกับโลกเขา เราก็เอาตัวรอดได้แล้ว ครูบาอาจารย์เป็นพระที่ประพฤติปฏิบัติสมควรกราบไหว้ พ้นจากโลกแล้ว ควรจะอยู่เฉยๆ คนคิดแบบนั้นก็ได้ แต่ถ้าคนคิด ครูบาอาจารย์ผ่านมาจากไหนล่ะ เหมือนพระกัสสปะผ่านมาจากไหนน่ะ? ผ่านมาจากธรรมจากวินัย คติตัวอย่าง เห็นไหม ครูบาอาจารย์ถึงพยายามจะทอดวางสะพานไว้ วางทางไว้ให้เราก้าวเดิน รักษาทางของเรา ของพวกลูกศิษย์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาอย่างนี้ ถึงจะต้องเดือดร้อน ถึงทำเพื่อพวกเรานะ ถ้าพวกเราเห็นสภาวะแบบนี้ พวกเราเห็นอย่างนี้ เราจะช่วยกันหรือไม่ช่วยกัน อยู่ที่ความเห็นของเรา เอวัง