เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ ส.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาหลวงตามา เห็นไหม เวลาท่านว่า เวลาท่านจะขึ้นจะลงน่ะ หัวเข่าถ้ามันลงแรงนะ มันจะหัก เวลากระดูกมันบางไง ตรงนี้เวลาคิดเราคิดย้อนกลับไปเลย คิดย้อนกลับไปถึงเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปปรินิพพาน เวลาพระอานนท์ขอร้องไว้ ขอร้องไว้ “อานนท์ เหมือนเกวียนเก่าคร่ำคร่าแล้วเอาไม้ดามไว้นะ” สิ่งที่เอาไม้ดามไว้ จะไปปรินิพพาน เหมือนเกวียนเก่าแก่ที่คร่ำคร่าแล้วเอาไม้ดามไว้ ร่างกายมันเป็นแบบนั้น แต่ก็ต้องรักษามันไป

แล้วเพื่อประโยชน์ นี่เพื่อประโยชน์นะ เวลาหลวงตาเขียนประวัติหลวงปู่มั่นนะ หลวงตาจะไปถามนะ ไปนอนกับหลวงปู่ชอบ จะไปนอนกับหลวงปู่ขาว จะไปถามข้อมูลจากหลวงปู่คำดี จะไปถามข้อมูลจากหลวงปู่เจี๊ยะ จะไปถามข้อมูลจากหลวงปู่ลี วัดอโศการาม เพราะอยู่มาด้วยกันไง นี่ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ หลวงตาเป็นธรรมอยู่แล้ว ใจที่หลวงตาเป็นธรรม สิ่งที่เป็นธรรมจะคิดพิจารณาอะไร มันจะเป็นธรรมไง สิ่งที่เป็นธรรมหมายถึงมันเป็นประโยชน์ ถ้าคิดถึงจะเอาอะไรเป็นประโยชน์

แต่ถ้าสิ่งที่มันมีกิเลสรวมไปด้วย ที่ว่าเวลาหลวงปู่มั่นบอกไว้ในมุตโตทัย ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สะอาดบริสุทธิ์มันเป็นทองคำล้วนๆ ไง แต่ทองคำที่อยู่ในเหมือง มันเจือไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันตีความไปประสาอำนาจของกิเลสอันนั้น ถ้ามันตีความไปตามอำนาจของกิเลสอันนั้น

นี่เรายืนยันในความบริสุทธิ์ของหลวงตาองค์เดียวมันก็พอแล้วใช่ไหม แต่ยังยืนยันในความบริสุทธิ์ของหลวงปู่ขาว หลวงปู่แหวน หลวงปู่ลี วัดอโศการาม หลวงปู่เจี๊ยะ เพราะอะไร เพราะหลวงตาท่านมาอยู่ตอน ๘ ปีสุดท้าย แต่ก่อนหน้านั้นมีปัญหาอะไร มีข้อมูลอย่างไรก็จะไปถามจากครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ที่เราเข้าใจว่าสิ้นกิเลส สิ้นกิเลส มันเป็นธรรม ธรรมทั้งหมดเลย สิ่งที่เป็นธรรมออกมามันจะเป็นประโยชน์ทั้งหมดเลย แล้วสิ่งที่มันไม่เป็นธรรมมันออกมา มันก็จะมีปัญหา แล้วข้อมูลอย่างนั้นหลวงตาไม่เคยได้ยิน เราว่าต้องได้ยินเพราะอยู่ในหมู่สงฆ์มันต้องได้ยิน สิ่งที่ได้ยินสิ่งนั้นมาท่านจะเขียนไม่เขียน เขียนแล้วออกมามันเป็นประโยชน์ มันเป็นการโต้แย้งมันไม่เป็นประโยชน์ เห็นไหม

เวลาหลวงตาบอกว่าอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นใกล้จะหมดเวลา “หมู่คณะได้คิดอะไรไว้บ้างหรือเปล่า หมู่คณะได้คิดอะไรไว้บ้างหรือเปล่า”

หลวงตาบอก “คิดอยู่ คิดอยู่มาก คิดอยู่เต็มหัวอกเลย” แต่ขณะนั้นหลวงตาท่านยังไม่สิ้นกิจของท่าน

ถ้าอย่างนั้นหลวงปู่มั่นบอก “เออ! เรื่องกิจการชำระกิเลสเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง”

ถ้าสิ้นอันนั้นแล้ว พอสิ้นจากกิจของตัวเองแล้ว หลวงตาถึงได้มาจดจารึก แล้วมันจะเป็นประโยชน์ๆ เป็นประโยชน์นะ แล้วสิ่งนี้มันเป็นความยืนยัน

แล้วท่านบอกว่า เวลาจะขึ้นจะลง ร่างกาย กระดูกมันจะหัก กระดูกมันจะเปราะ กระดูกมันจะเป็นไป นี่มันสิ้นแบบว่ามันใกล้ล่วงเวลาไง สิ่งที่ใกล้ล่วงเวลา ผู้ที่ยืนยันข้อเท็จจริงจะล่วงไป ล่วงไป แล้วถ้าผู้ที่ยืนยันข้อเท็จจริงต่อไปก็เป็นวิชาการ ใครจะตีความอย่างไรก็ได้ ใครจะตีความอย่างไรก็ได้ แล้วคนที่ตีความก็ตีความแบบมีกิเลสอยู่ ก็ต้องตีความไปประสากิเลส กิเลสไปอย่างนั้น

ถ้ามันข้อมูล เหมือนแผนที่ผิด เข็มทิศผิด แล้วมันจะชี้เข้าไปถึงที่ไหนล่ะ ถ้าเข็มทิศผิด มันก็ชี้ออกนอกลู่นอกทางทั้งหมดล่ะ นี่มันถึงว่าสลดสังเวชไง สลดสังเวชว่าเวลามันกลืนกินสัตว์โลกไปทั้งหมดเลย แล้วเราชะล่าใจกันได้อย่างไร ทำไมเรามีครูบาอาจารย์คอยชี้นำนะ แล้วชี้นำนะ ถ้ามีปัญหาอย่างนี้เราจะถามท่านได้ว่าจริงหรือไม่จริง พูดจริงหรือไม่จริง...พูดจริง แต่พูดขณะที่ว่า เวลาเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนนี้เขาตั้งประเด็นขึ้นมาว่า “พระบรมสารีริกธาตุเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะ หรือเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ตอนนี้ทางโลกเขาตั้งประเด็นขึ้นมาแล้วเขาก็โต้แย้งกัน เป็นกิจกรรมของเขา

ขณะที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะนี้เป็นพระโพธิสัตว์ ถ้าพระโพธิสัตว์ตายในพระโพธิสัตว์ กระดูกจะเป็นพระธาตุไม่ได้เลย แต่พอเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว สิ่งนี้เพราะว่าเวลาที่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔๕ ปี ธรรมในหัวใจมันฟอก ฟอกธาตุขันธ์อันนั้น ฟอกธาตุขันธ์อันนั้นจนธาตุขันธ์อันนั้นเป็นพระบรมสารีริกธาตุ แล้วตั้งประเด็น ไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกันล่ะ ไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกัน แต่มันก็อาศัยกันใช่ไหม มันก็เนื่องกันมาใช่ไหม

เวลาเป็นพระโพธิสัตว์ท่านก็ทำคุณงามความดีของท่านในพระโพธิสัตว์ เวลาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เหนือกว่า ที่ประเสริฐกว่า เพราะไม่มีความลังเลสงสัย เพราะมีความถูกต้อง พระโพธิสัตว์จะทำอะไรยังมีผิดมีถูกอยู่นะ พยายามจะสร้างบุญกุศล พยายามจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่มันก็มีผิดมีถูกอยู่ของมัน เพราะอะไร เพราะมันเป็นอนิจจัง เพราะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวะขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์นี้ธรรมยังไม่เกิดด้วย สิ่งที่ยังไม่เกิด สิ่งต่างๆ เป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งที่เป็นอนิจจังมันเคลื่อนที่ มันไม่คงที่ของมัน

แต่เวลาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หนึ่งไม่มีสอง เอกทั้งหมด คำไหนคำนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะหนึ่ง ไม่มีความลังเลสงสัย รู้ทั้งโลกนอกโลกใน โลกในคือโลกในจิตใจนั้น เพราะกิเลสนั้นสิ้นไป โลกนอกคือสภาวะความเป็นไปของโลก ของกรรมของสัตว์ กรรมของสัตว์ สัตว์นี้เกิดแล้วเกิดที่ไหน ตายแล้วเกิดที่ไหน นี่ไม่มีความลังเลสงสัย แล้วรู้แจ้งโลกนอกโลกใน รู้แจ้งโลกถึงจะเป็นธรรมทั้งหมดไง นี่สิ่งที่เป็นธรรม

ถึงว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนจะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ มันถึงไม่ควรโต้เถียง ถ้ามันจะโต้เถียงนะ มันต้องย้อนกลับไปที่ประเด็นคำถามนั้นน่ะว่า “พระบรมสารีริกธาตุนี้เป็นของเจ้าชายสิทธัตถะหรือเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”...มึงมันบ้าไง ความเข้าใจแค่นี้มันก็มีอยู่แล้ว ทำไมตั้งประเด็นขึ้นมาแล้วก็เถียงกันไป นี่เป็นกระทู้เถียงกันอยู่ตลอดไป

ความเห็นของโลก ถ้าไม่สมบูรณ์มันจะเป็นแบบนั้น แต่ถ้าเป็นความเห็นของธรรม มันเคลื่อนไป มันถึงเวลาไง ขณะที่เรานั่งอยู่นี่ เราเป็นเด็กหรือเปล่า ขณะที่เป็นเด็ก เซลล์ของเด็กมันตายไปหมดแล้ว แต่สิ่งนี้มันสืบต่อขึ้นมา แล้วก็ย้อนกลับสิ ถ้าเรามีปัญญานะ ย้อนกลับไปในวัฏฏะ ย้อนกลับไปที่ความเป็นไปของโลก ย้อนกลับไปที่ความเป็นไปของชีวิต แล้วเราก็พิจารณาของเราเป็นธรรมไหม ถ้ามันพิจารณาของเราเป็นธรรม มันจะสลดสังเวชเข้ามา สลดสังเวชเข้ามา แล้วมันก็จะกลับเข้ามาที่กิเลสไง กิเลส พอมันมีธรรมอย่างนี้ กิเลสมันจะเศร้าหมอง กิเลสมันจะเริ่มหดตัวลง หดตัวลงตรงไหน? ตรงที่ว่าเราทำไมประมาทขนาดนี้ ทำไมเราใช้ชีวิตของเราขนาดนี้ วันเวลาล่วงไปๆ เราทำอะไรของเราอยู่ ถ้าเรามีธรรมขึ้นมาอย่างนี้ มันจะเข้าไปกดกิเลส ถ้าธรรมเจริญขึ้นมา กิเลสมันจะยุบยอบตัวลง แล้วเราสลดสังเวชขึ้นมา ความเพียรมันจะเกิดขึ้น กำลังใจก็จะเกิดขึ้น ทุกอย่างก็จะเกิดขึ้น

ถ้ากำลังใจเกิดขึ้น ความเป็นไปเกิดขึ้น นี่ทรงธรรมทรงวินัย ทรงธรรมทรงวินัยคือใจมันมีกำลังขึ้นมา ใจมีสัมมาสมาธิขึ้นมา ใจมันมีศีลมีธรรมขึ้นมา ถ้าใจมีศีลมีธรรมขึ้นมา ใจมันเจริญขึ้นมา ถ้าใจเจริญขึ้นมา การทำความเพียรเราก็ต้องมี ถ้าเราพิจารณาสิ่งต่างๆ ถ้าเป็นธรรมนะ สิ่งต่างๆ ข้างนอกมันก็จะเป็นคุณประโยชน์กับใจดวงนี้ ถ้าเราไม่เป็นธรรม เราก็จะลังเลสงสัยไปกับเขา เห็นไหม เราก็เป็นเหยื่อของโลก เราก็เป็นเหยื่อของสังคม สังคมมันก็ตั้งกระทู้ขึ้นมา แล้วเราก็ต้องส่งออกไป เราก็ตีความไปกับเขา เราก็วิ่งไปกับเขา มันต้องย้อนกลับเข้ามาดูใจของเรา สิ่งนั้นให้เตือนใจของเราให้เราไม่ประมาท

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้แล้วด้วย แล้วยังบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย ให้พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

พิจารณาสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง หนึ่ง

พิจารณาสังขารคือร่างกาย ร่างกายที่มันแปรสภาพไป มันเสื่อมไปธรรมดา นี่หนึ่ง

สิ่งนี้เราพิจารณาของมันตลอดไป สิ่งที่เป็นปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยนั้นเป็นเรื่องของโลกเขา เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของเขานะ ใครร่ำรวยขนาดไหนก็อิ่มเดียว นอนคืนเดียว อยู่ที่นอนก็แค่หลังแตะพื้นเท่านั้น มีเท่านั้นจริงๆ นะ แต่ความสุขความทุกข์ในหัวใจมหาศาลเลยนะ เพราะมันคิดไป ๓ แดนโลกธาตุ เพราะมันคิดไปหมด มันยึดมั่นไปหมด มันคิดจินตนาการไปทั้งหมด แต่เวลาใช้จริงๆ คือใช้เท่านี้ แต่ถ้าเราไปติดปัจจัย ๔ มันก็จะทำให้ทุกข์สภาวะแบบนั้น

ถ้าเราไม่ติดปัจจัย ๔ ความเป็นทุกข์ เราทำมาหากิน เราพยายามทำมาหากินมันมีความทุกข์ยากก็ธรรมดา สิ่งนี้เป็นธรรมดา คนร่ำรวยขนาดไหนก็ธรรมดา ธรรมดาเพราะมันเป็นสภาวะแบบนั้น มันมีกินมีใช้เฉพาะปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ธรรมในหัวใจมันจะเกิดขึ้นไหม ถ้ามันเกิดขึ้น วันเวลาล่วงไปต้องตายแน่นอน สิ่งที่ตายแน่นอน พอตายไปแล้วจะเกิดสภาวะแบบไหน ปัจจุบันนี้ก็ทุกข์ขนาดนี้แล้ว แล้วสภาวะแบกไป เกิดตาย เกิดตายไป มันทุกข์ขนาดไหน ย้อนกลับ ย้อนกลับ ย้อนกลับตลอด เป็นธรรมตลอดๆ มันก็จะอาจหาญ มันก็จะรื่นเริงในธรรม

รื่นเริงในธรรมนะ เวลามันปล่อยวางนี่มันเข้าใจ เวลาเราอั้นตู้ เวลาเราคิดอะไรขึ้นมา มันจนตรอก ทุกข์มากแล้วเครียด แล้วไปไม่รอด แต่ถ้าเวลาธรรมมันเกิด มันเข้าใจปั๊บ มันปล่อยผลัวะ ปล่อยผลัวะ มันว่าง มันโล่ง มันสบาย มันมีความสุขมาก แล้วทำไมเราคิดไม่ได้อย่างนี้ ทำไมเราคิดไม่ได้อย่างนี้ เราไม่คิดอย่างนี้เพราะเราไม่มีสติ เราคิดไม่ได้อย่างนี้เพราะเราไม่มีสติของเรา แล้วเราไม่ค้นคว้าของเรา เราไม่พิจารณาธรรมของเรา เราต้องย้อนกลับเข้ามาที่หัวใจของเรา

เราคิดออกไป เราอยากได้วัตถุสิ่งใดก็แล้วแต่ เราคิดออกไป ต้องไปที่ไหน ต้องไปที่ห้างสรรพสินค้า ร้านมันอยู่ที่ไหน นี่เราคิดส่งออก เห็นไหม แต่ถ้าเราคิดถึงเรื่องทุกข์เรื่องสุขของเรา ย้อนกลับมาที่ใจ มันเกิดมาจากไหน ความเป็นไปขนาดไหน เราต้องตายไหม ย้อนกลับมาจับภายใน พอมาถึง มันไปปล่อยตรงนี้ไง ปล่อยผลัวะที่ตรงหัวใจ ตรงต้นของความคิด มันก็ว่าง มันก็โล่ง มันก็สบาย สิ่งนี้มันจะเจริญขึ้นมา ธรรมนี้เจริญขึ้นมา สภาวธรรมเจริญขึ้นมา แล้วทำใจของเราให้ได้ พิจารณาของเราให้ได้ ทำของเราให้ได้

วันนี้วันพระ วันพระวันเจ้าคือวันสร้างสมใจของเรา วันปกติวันธรรมดา เราทำมาหากิน ให้เลี้ยงร่างกาย แต่วันพระนี่เราต้องเลี้ยงหัวใจของเรา แล้วเราเลี้ยงหัวใจของเรา มันสลดที่ว่า หัวใจของเราจะเลี้ยงขึ้นมา มันก็ต้องมีอาหารใช่ไหม แล้วถ้าอาหารมันเจือไปด้วยสารพิษ เราก็รังเกียจอาหารนั้น

ต่อไปนี้มันก็จะเหมือนกัน เวลาอ้างครูบาอาจารย์นะ อ้างว่าหลวงปู่มั่นพูดที่นั่น หลวงปู่มั่นพูดที่นี่ แล้วจะพูดอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น อ้างไปอย่างนั้นตลอดไป...หลวงปู่มั่นท่านก็เป็นเหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ ก่อนที่ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านจะพูดอะไรมา ก่อนที่ท่านจะสิ้นกิเลส มันก็มีความผิดความถูกบ้าง ถ้าเราคิดว่าหลวงปู่มั่นพูดจริงนะ แต่ถ้าหลวงปู่มั่นพูดไม่จริง มันก็อ้างหลวงปู่มั่น นี่กิเลสในหัวใจของตัวอ้างครูอ้างอาจารย์

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราอ้างพระไตรปิฎกนะ “พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น” พูดอย่างนั้นแล้วตีความอย่างไร ตีความโดยมีกิเลส เรามีกิเลส เราก็ตีความประสาเรา พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าบอกให้ติดในธรรมเถิดอย่าติดบุคคลเลย

แต่ถ้าบุคคลในหัวใจเป็นธรรมล่ะ มันก็ธรรมในหัวใจดวงนั้น นั่นก็ธรรมทั้งนั้นล่ะ แต่ธรรมอยู่ในบุคคล เราก็มองไม่เห็นไง เราก็เชื่อไม่ได้ เราก็วางใจไม่ได้ ในเมื่อเป็นบุคคลไง พระพุทธเจ้าบอกให้เราเชื่อในธรรมเถิด อย่าเชื่อบุคคลเลย แต่บุคคลนั้นมีธรรมในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นบุคคลนะ ครูบาอาจารย์ของเราก็เป็นบุคคลนะ แต่บุคคลที่มีธรรมในหัวใจ ไม่มีความทุจริต ไม่มีสิ่งใด เราเชื่อได้หรือไม่ได้ แต่กิเลสเราไม่เชื่อ กิเลสเราไม่ยอมรับ กิเลสเราไม่ยอมรับว่ามนุษย์เหมือนกัน เราจะกราบจะไหว้ได้อย่างไร ต้องไหว้ตัวเองก่อน แล้วตัวเองก็มีความทุกข์ขนาดนี้จะไหว้ได้อย่างไร

ถึงบอกว่า เวลาเราจะตีความ มันจะงูกินหาง เราไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดไปหมดเลย แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ชี้นำนะ พอเรามัน อ๋อ! ในหัวใจนะ จะเข้าใจเลยว่าเขาภาวนาเป็นหรือไม่เป็น เพราะเวลาเกิดจากใจเรา เราคุยธรรมะกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ถ้าเขาพูดผิดจากความเห็นของเรา เขาผิดหรือเราผิด นี่ต้องมีแน่นอนอยู่แล้ว สิ่งนี้มันจะเข้าใจ เข้าใจแล้วจะเห็นไปตลอดเลยว่าเขาผิดหรือเราผิด หรือเราถูก หรือเขาผิด สภาวธรรมอย่างนี้จะเกิดขึ้นกับใจของเรา ปฏิบัติไป บุคคลนั้นเป็นธรรมจริงหรือไม่จริง เห็น ถ้าเรามีธรรมจริงในหัวใจของเรา เราจะเห็นความเป็นไปของใจเขาหมดเลย แล้วจะว่าสิ่งนั้นถูกหรือไม่ถูก สิ่งนั้นถึงเป็นสัจจะ สิ่งนั้นถึงเป็นอริยสัจ คืออริยสัจเกิดขึ้นจากใจดวงนี้ ใจดวงนี้เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นไปของเขา

นี่เรื่องของสังคม สัตว์สังคมอาศัยกันไป แต่ต้องการให้สังคมนั้นเจริญ ต้องการให้สังคมนั้นมีแต่ความสุข แล้วต้องการให้สังคมนั้นมีแต่สิ่งที่ถูกต้องไง ถึงจะต้องพูด เอวัง