เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ เม.ย. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระนะ ในศาสนาพุทธนี่ศาสนาแห่งปัญญา เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ไปอยู่กับสัญชัย แล้วประพฤติปฏิบัติกับสัญชัย สิ่งที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่ ปฏิเสธความว่าไม่ใช่นั้นหมดเลย คือไม่ใช่ไม่มี ความไม่ใช่ไม่มีแล้วสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งที่ว่าเป็นตัวตนอยู่ก็ไม่ใช่ ความเป็นว่าไม่ใช่

จนพระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะว่า เอ๊ะ! มันไม่มีเหตุมีผลนะ ก็เลยสัญญากันไว้ว่า ถ้าใครเจอครูบาอาจารย์นะ แล้วถ้าผู้ใดเห็นธรรมต้องมาบอกกัน พระสารีบุตรไปเจอพระอัสสชิบิณฑบาตอยู่ พระอัสสชิเป็นพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เป็นพระอรหันต์ เหยียด คู้ การย่างเดิน พระอรหันต์มันมีความนิ่มนวล มันมีความสำรวมในหัวใจ กิริยาออกมาก็สำรวม มันเกิดจากภายใน ถ้าภายในร่มเย็นภายนอกก็จะร่มเย็นไปด้วย เห็นแล้วมีศรัทธามาก เข้าไปถามท่านนะ เห็นท่านบิณฑบาตอยู่ เดินตามท่านไปๆ จนถึงที่ปลอดคน ว่านี่

“สิ่งที่ท่านทำอยู่นี้ ท่านทำมาจากใคร” บวชเพื่อใครไง

“เราเป็นผู้บวชใหม่ เราไม่มีความรู้หรอก”

“อ้าว! บวชใหม่ก็ไม่เป็นไร ขอให้พูดให้ฟังสักเล็กน้อยก็ยังดี”

นี่ว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มันต้องมีเหตุทำให้เกิดขึ้น”

ผลที่เกิดขึ้นต้องสาวไปหาเหตุ เย ธัมมา สิ่งที่มีเหตุ ต้องไปชำระกันที่เหตุ ปัญญาอย่างนี้ปัญญามีเหตุมีผล จากจับ เห็นไหม จากจับสิ่งที่มันเป็นไปที่เราเห็นแล้วสาวไปเหตุ ปัญญาอย่างนี้มันถึงจะเป็นปัญญาชำระกิเลส แต่ถ้าเป็นปัญญาอย่างพวกเรานี่ เราว่าเรามีปัญญากัน

ในสมัยพุทธกาลนะ พระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมอยู่ ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมีนักบวชเดินมา พระเจ้าปเสนทิโกศลยกมือไหว้นักบวชนั้น แล้วก็บอกพระพุทธเจ้าว่าพวกนี้เป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเธอจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เพราะพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้เป็นคฤหัสถ์ จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นพระอรหันต์ มีภูมิอะไรไปว่าเขาเป็นพระอรหันต์

พุทธเจ้าปฏิเสธปฏิเสธนะ เพราะพระเจ้าปเสนทิโกศลบอกว่าพวกนี้เป็นพระอรหันต์ พอพระพุทธเจ้าปฏิเสธปั๊บ พระเจ้าปเสนทิโกศลยอมรับสภาพไง ยอมสารภาพว่าสิ่งที่เป็นนักบวชนี้เป็นจารชน พระเจ้าปเสนทิโกศลให้เป็นแนวที่ ๕ ให้สืบราชการลับให้กับพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นลูกน้องของพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่ปลอมเป็นนักบวชเพื่อสืบข่าวความเป็นอยู่ของราชอาณาจักรของเขา

นี่ปัญญาอย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลรู้เพราะวางแผน มีปัญญาแบบทางโลก วางกลไกในการควบคุมในการบริหาร แล้วศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก จนไปขอ เห็นไหม ขอให้เป็นญาติกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปขอญาติมาบวช ไปขอญาติมาเป็นภรรยา จนมีบุตรมีหลานขึ้นมานี่ นี่สิ่งนี้ถึงที่สุดแล้วเขาปฏิวัตินะ พระเจ้าปเสนทิโกศลต้องขับม้าหนีไปหาพระเจ้าอชาตศัตรูจะขอกองทัพเขามาเพื่อจะมารบเอาชนะเอาเมืองคืน แต่ไปถึงประตูเขาปิดแล้ว สิ่งที่เขาปิดประตูเพราะว่าถึงเวลาเขาปิดประตูเข้าไม่ได้ นอนอยู่นั่น แล้วก็ตายที่นั่น

นี่ปัญญาทางโลกจะบริหารขนาดไหน จะความรู้ขนาดไหน มันก็เป็นปัญญา เป็นปัญญาว่ามันเป็นปัญญาที่ไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์พอ สิ่งที่ไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์พอมันเป็นปัญญา ปัญญาของเราใครๆ ก็มี ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถ้าปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมาเราก็คิดเห็นแก่ตัวได้ ถ้าคนเราคิดเห็นแก่ตัว เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเรามีศีล ไม่ปาณาติปาตา ไม่เบียดเบียน ไม่ทำลายกัน ไม่ฆ่าสัตว์ ถ้าเราไม่ฆ่าสัตว์อันนั้นถือว่าไม่ผิดศีล การเบียดเบียนกัน การคิดทำลายกัน นั้นมันก็เป็นมโนกรรม สิ่งนี้ที่ว่าเรามีศีลขึ้นมานี่ เราจะสำรวมของเราขึ้นมา ถ้าความคิดผิดคิดถูก ถ้ามีศีลอันบริสุทธิ์มันจะทำให้เกิดความสำรวมขึ้นมา จะเกิดสมาธิ สิ่งที่มีสมาธิมันก็เป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่ว่าโจรคิดจะปล้น บางคนคิดจะปล้น เขาวางแผนกัน เขาใช้ความคิดของเขามากนะ เขาก็มีสมาธิเหมือนกัน แต่ทำไมเขาคิดทำลายกัน เขาคิดฉกชิงวิ่งราวกัน เขาคิดวางแผนสลับซับซ้อนมาก จนเราตามไม่ทันเลย พอเราตามไม่ทันเขาก็เบียดเบียนเรา เขาทำลายเรา

นี่ปัญญาของโลกมันเป็นสภาวะแบบนั้น ว่าศาสนาแห่งปัญญา แต่ต้องเป็นปัญญาที่มีศีลเข้าควบคุม เป็นปัญญาที่มีศีลธรรมจริยธรรมควบคุมสิ่งนี้ สิ่งนี้จะย้อนกลับเข้ามาจากเป็นภัย ถึงจะเป็นปัญญาก็ต้องเป็นปัญญาที่บริสุทธิ์ เป็นปัญญาที่ว่ากลั่นกรองมาแล้ว ไม่ใช่ปัญญาอย่างที่เราคิด

ถ้าปัญญาอย่างที่เราคิด เราคิด เห็นไหม มันก็ได้ระดับทาน สิ่งที่ทำทานเราจะทำทาน เราจะเชื่อศรัทธา เราเกิดมาชีวิตนี้คืออะไร ความเห็นเป็นไป เห็นพระประพฤติปฏิบัติ เห็นศาสนามันก็จืดๆ จางๆ อย่างนั้นล่ะ แต่ถ้าเราได้อ่านพระไตรปิฎก ได้อ่านตำรับตำรา มันจะมีความศรัทธาขึ้นมา พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น สอนความละเอียดอย่างนั้น ลึกลับอย่างนั้นเข้ามาๆ มันก็มีศรัทธาเข้ามา ปัญญามันก็ว่ายอมเสียสละ จากยอมเสียสละเบียดเบียนตนเองก่อน

เบียดเบียนตน หลวงตาบอกว่า การเบียดเบียนเราคือการเบียดเบียนกิเลส การขัดใจ เพราะใจมันต้องการของมันทั้งนั้น มันต้องมีความหวงแหนโดยธรรมชาติของใจ ใจสมบัติมันต้องหวงแหน สิ่งที่เกิดมานี่มันหวงแหน ดูสิ เราดูสุนัขมันหวงถิ่น สภาวะที่มันหวงถิ่น สัตว์มันหวงถิ่น มันไม่ยอมให้ใครเข้าถิ่นมัน

ใจก็เหมือนกัน มันหวงตัวมันเอง ถึงถ้าเราเป็นคนมีบุญกุศล เราเป็นคนที่เสียสละได้ แต่มันก็หวงตัวมันเอง มันทำลายตัวมันเองไม่ได้ มันจะย้อนกลับเข้ามาถึงตัวมันเองไม่ได้ ถึงต้องทำสมาธิเข้ามาเพื่อที่จะเข้าไปหาตัวมัน ถ้าเข้าไปหาตัวมัน สภาวะนั้น นักกีฬา อย่างเช่นการประชุมนี่ ถ้าเราไม่เอาเข้าวาระการประชุม สิ่งนั้นจะประชุมไม่ได้เลย ถ้าเราไม่เข้าวาระนะ แล้วใครเป็นคนอนุมัติให้ยกให้เข้าวาระประชุมได้ล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าถึงใจเราได้ เรามีสถานที่ เราเห็นกิเลส กิเลสมันอยู่ที่ใจ มันจะย้อนกลับเข้ามาที่ใจ การชำระกิเลสมันต้องทำสัมมาสมาธิเพื่อยกขึ้นวาระได้ ถ้าวาระได้ เราพิจารณากาย กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งที่ว่าเขาพิจารณากายกัน เขาใช้ปัญญากัน ปัญญาที่เราคิดว่าเราใช้ปัญญาๆ ปัญญานอกวาระ ปัญญาที่ตัดสินแล้วไม่มีผลกับการชำระกิเลส เพราะว่ามันทำให้กิเลสสงบตัวลงเท่านั้น สิ่งที่กิเลสสงบตัวลง ทำความสงบเข้ามาๆ นี่เห็นความสงบของใจเข้ามาแล้วมันว่าง มันปล่อยวาง เราก็ว่านี่มันเป็นธรรมๆ ความคิดของเราไง ความคิดของเรามันไม่สะอาดไม่บริสุทธิ์ มันถึงเข้าไม่ถึงกิเลสได้

ถ้ามันจะเข้ากิเลสได้มันต้องย้อนกลับมาจากภายใน ถ้าย้อนกลับเข้ามา ปัญญาอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมาคือภาวนามยปัญญา สิ่งที่ภาวนามยปัญญาคือการเกิดจากการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติย้อนกลับเข้ามานะ นี่การเบียดเบียนตน พูดถึงทางโลกมองนะ มองว่าน่าสงสาร เวลาเราคิดสิ เรากินสามมื้อ ทำไมท่านฉันมื้อเดียวล่ะ พอฉันมื้อเดียวท่านยังอดนอนผ่อนอาหาร ท่านทำของท่านเพื่ออะไร มันจะคิดไปนะ

ระหว่างโลกกับธรรม มันจะไปคู่ขนานกัน ทางโลกก็ว่ามันเป็นการเบียดเบียนตน มันเป็นการที่ว่าเป็นการทำให้ตนเองลำบาก เวลากิเลสมันทุกข์ในหัวใจไม่มีใครเห็นว่ามันลำบากนะ หน้าชื่นนะ เวลาหน้าชื่นเข้าหากันน่ะยิ้มแย้มแจ่มใส แต่หัวใจเศร้าหมองหัวใจมีความทุกข์ในหัวใจ แต่ก็ไม่มีใครสามารถชำระสิ่งนี้ได้

เราเป็นชาวพุทธ เรากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเรามีที่พึ่ง เราเป็นที่พึ่งก็ที่พึ่งจากภายนอกที่พึ่งมาเกาะเกี่ยว เราอาศัยบ้านของเรา บ้านต้องจากเราไปหรือเราต้องจากบ้านนี้ไปโดยธรรมดา นี่ก็เหมือนกัน เราอาศัยคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นอนิจจัง มันเป็นอนัตตา มันเป็นสิ่งที่จากภายนอก

แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันเกิดขึ้นมาจากเรา บ้าน เห็นไหม ถ้าใครทำหัวใจให้สงบขึ้นมามันมีบ้านหลังหนึ่ง คือจิตนี้มีที่พักผ่อนอาศัย เราอยู่กลางแดดกลางฝน เราทุกข์มาก จิตนี้ถ้าไม่เคยมีหลักเกณฑ์ของใจ อะไรเข้ามามันเสวยอารมณ์ จิตนี้เสวยอารมณ์ ขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ มันเสวยความคิด สิ่งใดเกาะเข้ามา มันจะเกาะไปตลอด มันจะยึดมั่นถือมั่นไปตลอด ถ้าเราทำสัมมาสมาธิขึ้นมา สิ่งใดผ่านเข้ามามันเลือกมันเฟ้นของมันได้ เพราะคนอิ่มเต็ม คนเรามีสถานะ เรามีฐานะมาก คนเอาสิ่งที่ว่าต่ำต้อยกว่ามายื่นให้เรา เราจะรับไหม?

จิตเหมือนกัน ถ้ามันเห็นความสงบของใจ มันเห็นคุณค่าของใจ เห็นความทุกข์ร้อนของใจ เห็นการปล่อยวางของใจ เห็นสติสัมปชัญญะ เห็นสติควบคุมใจเข้ามา แล้วสิ่งนั้นเข้ามานี่จะทำให้มันฟุ้งซ่าน จะทำมันกระเพื่อม นี่ใครจะไปเอา เหมือนกับมีบ้านหลังหนึ่ง ถ้ามีสมาธิขึ้นมา จิตของเราตั้งมั่นเหมือนมีบ้านหลังหนึ่ง แล้วมันก็จะว่าง มันมีความสุขมาก ครูบาอาจารย์บอกว่า “ถ้าจิตสงบนี้พออยู่พอกิน” แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีครูบาอาจารย์ชี้ว่า นี้คือผลๆ ถ้านี้คือผลก็ติดอยู่อย่างนั้นนะ

ฤๅษีชีไพรก่อนสมัยพุทธกาลมีศีล ๘ อยู่แล้ว เพราะฤๅษีชีไพรอยู่ในป่าอยู่แล้ว เพราะคนเขาต้องการออกประพฤติปฏิบัติ เขาก็แสวงหาอยู่อย่างนั้น เจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส เข้าสมบัติ ๘ ด้วย สิ่งที่สมาบัติ ๘ สิ่งนี้ไม่สามารถชำระกิเลสได้ เพราะเข้าสมาบัติ ๘ ถอยออกมาแล้วกิเลสมันก็เท่าเก่า

มันจะสงบตัวลงขณะที่เข้าสมาบัติมีความสุขมาก ถอยออกมาแล้วจิตมันต้องออกมารับรู้ธรรมดา รูปกระทบตา รับรู้สิ่งต่างๆ พอรับรู้จิตมันทำงาน มันก็ออกมาโดยธรรมชาติของมัน จะมีสมาบัติได้อย่างไร มันจะมีความสงบเข้าไปได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งนี้กระทบขึ้นมา หัวใจมันก็ต้องรับรู้สิ่งนั้น ต้องบริหารสิ่งนั้น ต้องว่าสิ่งนั้นคืออะไร

มันออกมามันก็เคลื่อนออกมาทำสภาวะแบบนั้น แล้วมันเคยชินขึ้นมา กิเลสมันก็อาศัยสิ่งนี้ออกไป ความสงบของใจเป็นเท่านี้ ถ้าจิตสงบเข้ามา เราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นธรรมๆ มันจะปล่อยวางมาเท่านี้ เราเก็บสิ่งต่างๆ เอาไว้ แต่เราไม่ได้ชำระล้างมัน สิ่งที่ชำระล้างมันต้องปัญญา ปัญญาที่ว่าเราจะใช้ปัญญาอันนี้ ปัญญาอันนี้กลั่นกรอง กลั่นกรองความประพฤติปฏิบัติของเรา

นี่ศาสนาพุทธประเสริฐๆ ตรงนี้ ศาสนาพุทธเราตั้งแต่เด็กๆ นะ พากันมาวัด ฝึกฝนไว้ให้เด็กมันรู้จักสิ่งนี้ แล้วมันเข้าใจสิ่งนี้ เหมือนกับเราเอายาให้เขาไว้ในหัวใจ ถ้าวันไหนเขาทุกข์ขึ้นมาหรือเขามีความเป็นไปขึ้นมา เหมือนกับฝรั่งที่เขามาบวช เขาบอกเลย ถ้ามาเมืองไทยเวลาขาดเงินขาดทองให้เข้าวัด เพราะมีอาหารกินอยู่แล้ว

นี่ก็เหมือนกัน จิตเวลามันทุกข์ขึ้นมามันจะย้อนกลับเข้ามา ทุกข์นี้เป็นความจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้เป็นความจริง มันจะมีที่พึ่งไง กับทุกข์นี้เวลาทุกข์แล้วมันไม่มีทางไป มันจะทำลายตัวเองมาก มันจะหาทางออก

นี่จิตของเด็กๆ ความคิดอย่างนั้นมันเรื่องระดับทาน ปัญญาอย่างเราก็เป็นปัญญาระดับทาน ปัญญาระดับศีล เห็นไหม ควบคุมใจของเราให้ได้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นทำไมเราควบคุมไม่ได้ เพราะมันขาดสติ นี่ปัญญาระดับศีล แล้วปัญญาระดับที่ว่าภาวนามยปัญญานี่ศาสนาพุทธเรานี่มันมีตั้งแต่พื้นฐาน หลวงตาบอกว่า เหมือนกับห้างสรรพสินค้า ใครมีเงินเล็กน้อยก็ซื้อของเล็กน้อย ใครมีเงินมากก็ซื้อของมาก ซื้ออะไรก็ได้ มีเงินถึงซื้อ มีเงินคือความศรัทธา มีเงินคือความเชื่อ ความเชื่อความศรัทธาของเราต้องการสิ่งใด เราต้องการสิ่งใดเราก็แสวงหาสิ่งนั้น ถ้าเราต้องการสิ่งที่มีคุณค่ามาก เราก็ต้องลงทุนลงแรงมาก

ฉะนั้นพระปฏิบัติถึงยอมสละชีวิต ถ้ากิเลสมันยังมีในหัวใจ ถ้าเราไม่ตายก็ให้กิเลสตาย เพราะสิ่งนี้มีคุณค่ามาก มันเป็นยอดปิรามิดของศาสนาพุทธ สุดยอดธงชัยของศาสนาคือสิ้นจากกิเลส นิพพานนี้สิ้นจากกิเลสอยู่ในศาสนาพุทธนี้

ศาสนาอื่นไม่มีมรรค มรรคคือความเป็นไปจากภายใน มรรคไง ว่ากันเป็นมรรค เวลาโลกว่ามรรคก็สัมมาอาชีวะชอบ ความเลี้ยงชีพชอบ เราเป็นคนดีอยู่แล้วทำไมต้องไปวัด เราเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ ปากพูดทั้งนั้นนะ มันจะไม่ทุกข์ไปไหน มันเศร้าหมองมันผ่องใสในหัวใจ เป็นไปไม่ได้ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มี! ถ้าอย่างนั้นแล้วเวลามรรคที่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มรรคที่เกิดก็มรรคสัมมาสมาธิไง สัมมาสติไง นี่ความเพียรชอบ ความเพียรของใจ ใจที่มันก้าวออกทำงาน ใจที่สงบ พุทโธๆ ใจเพียรไม่ชอบ มันเป็นความเพียรของสมถะเท่านั้น

ความเพียรชอบคือยกวิปัสสนา วิปัสสนากายอย่างไร วิปัสสนาจิตอย่างไร นั้นคือความเพียรชอบ ความเพียรชอบงานก็ชอบ เพราะงานถูกต้องตามธรรมดา นี่มรรคอันนี้ต่างหากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มรรคอันนี้ต่างหาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก มรรคา ทางอันเอกๆ คือทางจากภายใน

ถ้ามรรค เห็นไหม มรรคสัมมาอาชีวะ มรรคทางโลก คนที่เขานับถือศาสนาอื่นๆ ทำไมเขาเจริญกว่าศาสนาพุทธล่ะ แล้วบอกว่ามรรคสัมมาอาชีวะประเสริฐที่สุด เราว่าชาวพุทธที่มีมรรคที่ประเสริฐที่สุด ทำไมชาวพุทธเราไม่ร่ำรวยเป็นเศรษฐีโลกอันดับ ๑ ทำไมชาวพุทธเราไม่ถึงขนาดนั้น เป็น! เป็นเศรษฐีโลกมีอันดับเหมือนกัน แล้วก็มีหัวใจด้วย มีหัวใจคือว่ามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ ใจมีที่อาศัย ไม่เหมือนกับว่าเป็นเศรษฐีด้วย แต่รุ่มร้อนด้วย มันต่างกันตรงนี้ไง

ถ้าศาสนาพุทธเป็นสภาวะแบบนั้น มรรคาถึงเป็นเครื่องดำเนิน มรรคาจากภายใน กิริยาของใจ ความคิด นักบริหารที่ว่าใช้ความคิดๆ นี่แล้วเวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลามรรคมันหมุนเข้าไปเป็นสภาวะแบบนี้ นี่คือมรรค มรรคาคือความคิดของใจ คือภาวนามยปัญญาคือสุดยอดของศาสนาพุทธเรา ต้องสร้างสมขึ้นมาจากทาน จากศีล จากภาวนา

จากที่ไม่เห็นเลย เตาะแตะขึ้นมาให้ทานไปก่อน ฟังธรรมนี่ ฟังธรรมขนาดนี้ ฟังธรรมแล้วเอามาเตือนใจ แล้วทำไมท่านทำได้ ทำไมครูบาอาจารย์ทำได้ ถ้าเราจะพ้นทุกข์เราต้องทำอย่างนั้น ถ้าเราจะอาศัยศาสนานี้เป็นเครื่องอยู่อาศัย เป็นอามิสที่ประคองให้หัวใจนี้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข นั้นก็เป็นแล้วแต่อำนาจวาสนาของสัตว์โลก เอวัง