เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๑ ก.พ. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราพูดกัน เวลาเราว่า เวลาเมื่อวานพระบอกว่าพระอ่านกฎหมายออก แล้วอ่านกฎหมายเป็น เราอ่านหนังสือกันน่ะ เราได้แต่อ่านออก แต่เราไม่เข้าใจความหมายไง ถ้าความหมายอันนั้นเราไม่เข้าใจ เราก็จะตีความไม่ออก แล้วเราก็ตีความไม่ได้ อ่านพระไตรปิฎกก็เหมือนกัน ถึงบอกว่า เวลาว่าต้องศึกษานะ ให้ได้บาลีมา พอได้บาลีมานี้จะไขพระไตรปิฎกได้หมดเลย

ไขพระไตรปิฎกกับไขกิเลสมันคนละอันกัน ถ้าไขพระไตรปิฎกแล้วเข้าใจ ชำระกิเลสได้ ถ้าสิ่งนั้นแล้ว เวลาถ้าผู้ที่เรียนมา ๙ ประโยคมากมายเลย ๙ ประโยค เขาแต่งบาลีได้นะ เขาทำอะไรได้ เขาเข้าใจพระไตรปิฎกหมดเลย ไปถามหลวงปู่ฝั้น ๙ ประโยค นี่ถามหลวงปู่ฝั้นเลย “ผมนี้จบ ๙ ประโยค ผมรู้ไปหมดเลย พระไตรปิฎกนี่ผมเข้าใจหมดเลย แต่ผมปฏิบัติไม่เป็นแล้วผมปฏิบัติไม่ได้ ให้ผมทำอย่างไร” ถามหลวงปู่ฝั้นนะ

หลวงปู่ฝั้นบอกว่า “ให้กำหนดที่ทุกข์สิ” ให้กำหนดลงมาที่ทุกข์ ทุกข์นี้เรากำหนดมาที่ทุกข์ ทุกคนต้องมีทุกข์อยู่ เพราะศาสนาเราสอนเรื่องการดับทุกข์ “ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป” ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป แล้วทุกข์ก็บีบบี้สีไฟสัตว์โลก บีบบี้สีไฟใจของเราทุกๆ คนให้มีแต่ความทุกข์ไป เราพบพระพุทธศาสนา หลักเกณฑ์ของศาสนานี้สอนเรื่องทุกข์ เรื่องของการดับทุกข์ เหตุแห่งการดับทุกข์ ทุกข์ดับเพราะเหตุ เหตุเพราะสิ่งใด ที่ครูบาร์อาจารย์ถนอมรักษากัน ถนอมรักษากันตรงนี้ไง แต่ในเมื่อคนที่ศึกษากันแล้วมันไม่เข้าใจถึงธรรมนี้ มันก็แบบว่าเข้าไปแล้วมันไม่เห็นธรรมไง

ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต จะกราบตถาคต จะรักศาสนามาก ธรรมและวินัยนี้เชิดชูด้วยชีวิตเลย แต่ถ้าเข้าไปศึกษา เข้าไปเล่าเรียน ถึงบอกว่า ให้สัมภาษณ์ว่าพระปฏิบัติมาเที่ยว มาอะไร นี่เขาว่ากันอย่างนั้น เพราะเขาไม่เชื่อกัน เพราะเราเคยเห็น เราธุดงค์ไป เขาบอกพวกนี้มาเที่ยว...จริงอยู่ การประพฤติปฏิบัติ คนส่วนใหญ่มันก็มีมาก ผู้ที่ว่าเห็นเขาแบกกลดแบกบาตรออกป่า เราก็แบกกลดแบกบาตรเดินไปตามถนน การธุดงค์ไปบนถนนหนทางอย่างนี้มันไม่ใช่ธุดงค์หรอก

ถ้าการธุดงค์ ถ้าเราไปได้ ไปรถได้เราก็ไปรถ ถึงที่สุดแล้วเข้าป่าไป ไปในป่ามันจะไปเห็นนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ ไปในที่สงัด ที่เสียว ที่ที่โลกเขาไม่ต้องการ ที่นั้นน่ะมันจะทำให้เราคิดมาก คนคนเดียวถ้าอยู่คนเดียวนี้ระวังความคิดของตัวเอง เราอยู่ในสังคมนี้เรานอนใจนะ โลกเป็นสัตว์สังคม เราอยู่กับสังคม อาศัยสังคม แล้วสังคมนี้อาศัยกฎหมายเพื่อจะให้สังคมนั้นมีความสุขสงบร่มเย็น นี่กฎหมายมันก็มีส่วนหนึ่ง แล้วกิเลสมันอยู่ในหัวใจ มันก็นอนอยู่ในหัวใจ เห็นไหม เราไม่กลัวอะไรเพราะเราอยู่ในสังคม มันอบอุ่นไง ความอบอุ่นของกิเลส กิเลสมันหลอกขนาดนั้นนะ

แต่ถ้าเราเข้าป่า เราไปอยู่ในที่วิเวก พระพุทธเจ้าสอนให้เที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพ ไปดูสิ่งต่างๆ สิ่งนั้นมันเป็นความจริงไง เวลาคนเขาพูดเป็นโวหาร ทางโลกเขาพูดให้ตลกกันว่าเวลาเขาตายแล้วอย่าเอาเขาไปป่าช้านะ อย่าเอาเขาไปเผานะ เขากลัวผี...นี่เวลาเขาพูดเขายังพูดได้ว่าเขาตายแล้วเขายังกลัวผี แต่เวลาเขาตายไปแล้วเขาเป็นอะไรไป ซากศพมันเป็นอะไรไป

แต่เรามีชีวิตอยู่ เอาสิ่งที่ว่าเราตายแล้ว เรากลัวผีนี้ สิ่งที่กลัวผีนี้คือใจมันกลัว คนตายแล้ว ซากศพมันไม่มีความหมายหรอก เพราะว่ามันไม่มีชีวิต แต่เวลาเราไปเที่ยวป่าช้านี้ ร่างกายนี้มันทำให้หัวใจนี้ไปด้วย มันพาให้หัวใจไปไง เพราะเราเดินไปนี่หัวใจไปด้วย สิ่งที่กลัวผี กลัวความสงัดความวังเวงนี้ เราธุดงค์เพื่อเหตุนั้นไง ไปในที่สงัด ไปในที่เปลี่ยว ไปในที่อย่างนั้น แล้วมันจะเห็นความคิดของตัวเอง เห็นความกังวลของตัวเอง เห็นความตกใจของตัวเอง ความกลัวต่างๆ มันกลัวขึ้นมา ความกลัวนี้มันเกิดขึ้นจากอะไร

ทุกข์มันเกิดจากตรงนี้ ทุกข์เวลาถ้ามันอยู่ในหมู่คณะ มันอยู่ในสิ่งที่คลุกเคล้านะ มันจะไม่เห็นความกลัวนี้ มันจะนอนใจ แล้วมันก็พลิกแพลงไป เห็นไหม เบียดเบียนกัน ทำลายกัน ทำทุกๆ อย่าง เพราะอะไร เพราะทุกคนมีกิเลส กิเลสในหัวใจนี้มันย่ำยีทุกหัวใจ มันย่ำยีหัวใจของเรานะ มันอยู่บนใจ อยู่บนความรู้สึกของเรานี้ เราทุกคนรู้จริงไหมว่าเราทุกข์ หนึ่ง...สอง ทุกคนรู้ว่าเราทำอย่างนี้ไม่ดี หนึ่ง เวลาทำแล้วไม่ดี...นี่มันก็พอใจทำ มันอยากทำ ต้องมีศีลเข้ามากำหนด

มันบีบบี้สีไฟดวงใจดวงนั้นไง มันบีบบี้สีไฟใจดวงนั้น แต่ใจดวงนั้นมันไม่เห็นกับมัน มันก็เลยเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วมันก็ไปเอาเปรียบสังคม เอาเปรียบคนอื่น นี่กิเลสมันบีบบี้สีไฟใจดวงนั้นน่ะ ใจดวงของเรานี้ถ้าไปอยู่ในที่สงัด มันเบียดเบียนใครไม่ได้ มันก็มาเบียดเบียนตนเอง เพราะมันอยู่คนเดียว มันจะไปอ้างอิงพึ่งพาอาศัยคนอื่นไม่ได้ พอพึ่งไม่ได้มันก็ย้อนกลับมา พอย้อนกลับมามันก็มีความวังเวง ความวิเวก มันก็เริ่มกลัว พระออกปฏิบัติออกธุดงค์เพื่อเหตุนี้ เพื่อค้นคว้าหาตัวเองไง

อยู่ในหมู่ในคณะนี้ ถ้าเราล็อกตัวเองอยู่ในที่ส่วนตัวของเรามันก็พอคิดได้ มันก็พอเป็นไป แต่มันก็มีความกังวล เห็นไหม นิวรณธรรม ๕ ความกังวล ความเกาะเกี่ยว ความข้องใจนี้มันก็เกาะเกี่ยวไป แต่ถ้าไปอยู่ในป่า มันไม่มีโดยธรรมชาติ มันจะไปเกาะเกี่ยวไปกังวล มันไม่หลอกตัวเองไง ภาพนั้นมันไม่เห็นตัวเอง มันก็ต้องอยู่สภาวะแบบนั้น นี่จะค้นคว้าหากิเลส อย่างนี้ไปเที่ยวหรือ ไปชำระกิเลสของตัวเอง แต่พระส่วนใหญ่เวลาทำมันก็มีส่วนที่ว่าเสียหายไปๆ เขาก็ไม่เชื่อกัน สิ่งที่ไม่เชื่อกัน ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมากมายมหาศาลเลย แล้วจะออกมาได้กี่องค์ล่ะ สิ่งที่เป็นไป แต่เราก็ต้องสงวนรักษานะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนี้แทบจะไม่อยากจะสอนใครเลย เพราะใครจะรู้ได้อย่างนี้ๆ แต่เสร็จแล้วก็มีคนรู้ได้ แล้วก็สอนเฉพาะคนๆ นั้น เจาะจงไง เล็งญาณนะ สัตวโลก สัตว์ดวงไหนมันมีโอกาส องคุลิมาลจะฆ่าแม่อยู่แล้ว ถ้าองคุลิมาลฆ่าแม่ นี่อนันตริยกรรม กรรมอันมหาศาล คือฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้สงฆ์แตกแยก จะไม่สามารถทำให้ใจดวงนี้เข้าถึงธรรมได้เลย “โอกาสขององคุลิมาลนี้จะเสียไปถ้าเราไปช้ากว่านี้” ถึงต้องไปทรมานองคุลิมาลก่อน แล้วได้องคุลิมาลมา นี่กลับใจขึ้นมาประพฤติปฏิบัติ พระองคุลิมาลนี้เป็นพระอรหันต์นะ นี่ฆ่าคนมา ๙๙๙ ศพ แต่เพราะความหลงผิด สิ่งที่หลงผิดคือความยึดมั่นถือมั่นอันนั้นผิด แต่เวลาพลิกกลับมา สิ่งนี้ทำให้ใจดวงนี้สะอาดได้ แต่กรรมมหาศาลเลย กรรมที่ว่าเคยฆ่าคนไว้ ๙๙๙ ศพ ไปบิณฑบาตที่ไหนก็แล้วแต่ เวลาเขายิงนก เขาทำอะไร หินก้อนนั้นมันก็บังเอิญจะต้องมาโดนศีรษะของพระองคุลิมาล จนพระองคุลิมาลนี้ไปรำพึงกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบิณฑบาตกลับมานี้เลือดไหลโซกเลย นี่เลือดออก ทุกข์มากๆ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระองคุลิมาลนะ “องคุลิมาล อย่างมากเธอก็แค่เลือดตกยางออก แต่เธอเคยฆ่าเขาทั้งชีวิต”

พระองคุลิมาลได้สติขึ้นมา มันก็ไม่น้อยเนื้อต่ำใจสภาวะแบบนั้น สิ่งที่เราเคยหลงผิดแล้วทำไป อันนั้นมันเป็นอดีต แก้ไม่ได้เลย แต่กรรมมันมีไง กรรมมันมี มันก็ต้องเข้ามากระทบกับร่างกายนั้น แต่หัวใจของพระองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์น่ะ เข้าถึงหัวใจไม่ได้ แต่ทำไมมีความน้อยเนื้อต่ำใจล่ะ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความคิดนี้มันมีเป็นขันธ์ ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์อันที่ว่าใช้ความคิด เห็นไหม

ถ้าว่าอย่างนี้ ดูจากหลวงตาสิ เวลาคิดขึ้นมาเรื่องช่วยโลกช่วยสงสารนี้ ทำไมยืนขวางเขาล่ะ นี่ยืนขวางเขา เมื่อวานนี้ฟังกับหมู่คณะ หลวงตาบอกว่า เราจะใช้ธรรมสอนโลก เราจะใช้ธรรมสอนโลก จะใช้กรณีนี้ให้เป็นกรณีว่าใช้ธรรมสอนโลก ให้เขาเห็นสภาวธรรมว่าธรรมเป็นสภาวะจริงแบบนั้น แต่มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ เพราะอะไร เพราะเรามองไม่เห็นทางออกเลย เห็นไหม มองไม่เห็นทางออก นี่ทำไมท่านไม่ปล่อยล่ะ ในเมื่อสิ่งที่เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสากรรจ์นี่รับไว้ทำไม? เพราะมันไม่ใช่กิเลสของท่าน กิเลสของท่าน ท่านชำระกิเลสของท่านออกไปแล้ว คือว่าธรรมของท่าน คือความเห็นของท่าน ความถูกต้องของท่าน แล้วท่านต้องสงวนรักษาสิ่งนี้

แต่โลก ความเป็นไป เห็นไหม อ่านกฎหมายออก อ่านกฎหมายเป็น คือตีความอย่างนี้มันผิดตามกฎหมาย แต่กระแสของโลก “สังฆราชเป็นผู้ที่ชราภาพแล้ว สังฆราชเป็นผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย”...อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง เอามาอ้างไม่ได้ เป็นกระแสของโลก มันก็ว่ากันไป แต่เวลาประชุมกันเขาบอกเลยว่าขอให้ทำถูกต้อง ถ้าองค์สมเด็จพระสังฆราชตั้งใคร เราก็ไม่ว่ากัน จะตั้งใคร จะเป็นอย่างไร เราไม่คัดค้าน แต่การทำผิดกฎหมาย กฎหมายเป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมนี้ร่มเย็น

สังคม เห็นไหม ทุกคนมีสิทธิ ธรรมใหญ่กว่ากฎหมาย ใหญ่กว่าทุกอย่าง เราก็มีสิทธิ สิทธิเสรีภาพ ใครจะทำอะไรก็ได้ แต่พอร่างกฎหมาย กฎหมายนั้นก็จะไปรอนสิทธิ์ของคนในสังคมนั้น เช่น ทำให้เสียงดังเกินไป ทำอะไรเกินไปนี้ มันก็มีโทษตามกฎหมาย จะเล็กจะเบาจะน้อย นี่รอนสิทธิ์ของตัวเอง แล้วถ้ากฎหมายนี้รอนสิทธิ์ของตัวเอง ถ้ากฎหมายนั้นเขาใช้ตามกฎหมาย ตามความเห็นของเขา

นี่ธรรมและวินัย วินัยนี้หยาบมาก เวลามีปัญหาขึ้นมา ต้องตัดสินกันตามวินัยนะ ถ้าวินัยผิด กฎหมายต้องผิด แต่ธรรมใหญ่กว่า เช่น เวลาพระปฏิบัติ เวลาสวดปาฏิโมกข์กันอยู่ นี่อยู่ในวินัย เวลาสวดปาฏิโมกข์กันอยู่ สวดปาฏิโมกข์นี้ถ้าผิด นั้นเป็นโมฆียะ สิ่งที่ทำนั้นไม่มีผลเลย เป็นโมฆะทั้งหมดเลย

แล้วถ้าสงฆ์เขาไม่เข้าใจ เขาทำสิ่งนั้นผิดอยู่ เรารู้อยู่ เรารู้เป็นนะว่าอันนี้มันเป็นความผิด ถ้าเราคัดค้านไป สงฆ์นั้นเป็นพวกที่ว่าเป็นความเห็นผิดของเขา เขาเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเราพูดไป มันจะมีความกระทบกระทั่งกัน เห็นไหม ให้ค้านไว้ในใจไง สิ่งนี้ให้เราค้านไว้ในใจ เราไม่ยอมรับสภาวธรรม คือว่าเราไม่ยอมเป็นอาบัติด้วย เราไม่ยอมร่วมกับสังคมอย่างนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าสังคมนั้นผิด เราไม่สามารถต้านกระแสสังคมนั้นได้ ให้เราค้านไว้ เราไม่เห็นด้วย แล้วอยู่ในใจ อยู่ในใจของเรา เห็นไหม มันเป็นธรรมไง ธรรมคือความรู้สึก เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่ความรู้สึกอันต่างๆ ความถูกต้องอันบริสุทธิ์นั้น แต่กฎหมายนั้น สภาวะเขียนไว้อย่างนั้น แล้วสังคมยอมรับกฎหมายนั้น นี่สิ่งที่ว่ากฎหมายมันถึงหยาบกว่าไง ถ้าตีผิดตีถูก ก็ยังมีส่วนหนึ่ง แล้วถ้าตามกฎหมายนั้นก็ยังหยาบอยู่

แต่ถ้าเป็นธรรม ธรรมถึงกว้างขวางมาก กว้างขวางหมายถึงว่า มันตามจิตใจนี้ไปแล้วแต่ในวัฏฏะ ภพชาติต่างๆ มันจะซับไปกับใจนั้น ใจจะเกิดดี เกิดชั่ว เกิดมีบุญกุศล เวลาเกิดขึ้นมา ทุกคนอยากเกิดเป็นลูกกษัตริย์ ทุกคนอยากเกิดเป็นลูกคนดี แต่ถ้ากรรมมันไม่ให้ผลอันนั้น มันจะเกิดมาได้อย่างไร ดูสิ คนทุกข์เข็ญใจนะ ลูกสิบคน สิบห้าคนนี้ มหาศาลเลย คนมั่งมีศรีสุขอยากได้ลูกมาก อยากได้มาก แต่กรรม เราไม่ได้ทำบุญอันนั้นไว้ เกิดมาเป็นลูกคหบดี มีความสุขมาก เกิดขึ้นมาคาบช้อนทองช้อนเงินออกมา เขาจะมีคนคอยดูแลรักษา เราเกิดกันมาอยู่ตามอำนาจของเรา เกิดมาเราต้องดิ้นรนตามประสาของเราไป แต่มันเป็นสภาวะแบบนั้น

เวลาครูบาร์อาจารย์ ผู้ที่สิ้นกิเลส หลวงปู่มั่นก็เกิดชายทุ่งชายนา หลวงตาก็เกิดอย่างนั้นเหมือนกัน เกิดอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะประเทศอันสมควรไง เวลาสมควรโดยธรรม โดยธรรมต้องฝึกฝนขึ้นมาให้มีโอกาสได้ออกประพฤติปฏิบัติ ถ้าเกิดเป็นลูกคหบดีนี้จะออกได้ยากมาก สิ่งที่ออกได้ยาก เพราะอะไร เพราะสิ่งนั้นมันรัดไว้ ทุกจิตทุกดวงใจจะมีความเกาะเกี่ยวกันสภาวะของโลกเขา เกาะเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้มา

แต่ถ้าเราเป็นสภาวะแบบนั้น มันเป็นไปไง สิ่งที่เป็นไป อำนาจวาสนาเราถึงมองไม่เห็น เราไปเห็นแต่ว่าข้าวของเงินทองจะเป็นสิ่งที่เป็นสมบัติของเรา แต่ไม่เห็นธรรมในหัวใจ คุณธรรมในหัวใจอันนั้น ถ้าคุณธรรมในหัวใจอันนั้น นี่การสร้างสมมามันถึงมีโอกาสในการบวชไง ประเทศอันสมควร เกิดในพระพุทธศาสนา ประเทศอันสมควรอันหนึ่ง เกิดในประเทศอันสมควรที่ว่าจะได้ออกประพฤติปฏิบัติอันหนึ่ง

การออกประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม พระรัฐบาลนี้รวยมาก ลูกชายคนเดียว เวลาออกประพฤติปฏิบัติ นี้รวยมหาศาลเลย นิมนต์มาที่บ้านไง เอาเงินทองมากองไว้มหาศาลเลย ไว้บนบ้าน บอกว่า “ลูก ข้าวของเงินทองนี้ของลูกทั้งหมดเลย แล้วไม่มีใครดูแลรักษานี่จะให้ทำอย่างไร” กองท่วมหัวนะ

พระรัฐบาลบอกกับพ่อแม่นะว่า “ขอให้เอาทองนี้ถมลงไปในแม่น้ำ” ให้ผลักลงแม่น้ำไปหมดเลย เพราะว่าใจของพระรัฐบาลมากกว่านั้นนะ แล้วพระรัฐบาลพูดถึงเป็นภาษิตไว้ “โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ” สิ่งที่เรื่องของโลกมันพร่องอยู่เป็นนิจ จะมีมากมายขนาดไหน แต่มันไม่สามารถถมให้ใจดวงนั้นเต็มได้ ใจดวงนั้นจะมีมากขนาดนั้น มันก็ยังอยากได้ต่อไป ถมเท่าไรก็ไม่เต็มไง แต่ธรรมในหัวใจของพระรัฐบาลนี้เป็นพระอรหันต์นี่ถมเต็ม สมบัติของโลกก็เป็นของโลก เวียนไปตามกระแสโลกนั้น แต่ธรรมในหัวใจนั้นไม่เวียนไปกับกระแสโลก สุดส่วนในใจนั้น เห็นไหม ธรรมและวินัยไง

หลวงตาถึงว่าจะอาศัยธรรมนี้สอนโลก แต่สอนโลกแล้วโลกจะรู้หรือไม่รู้มันก็เป็นไปนะ โลกรู้ไม่รู้ แต่ธรรมนี้เรามั่นใจ พระพุทธเจ้าสอนอะไร ธรรมต้องย่อมชนะอธรรม แต่กระแสของโลกเป็นสภาวะแบบนั้น เรารักษาของเราได้ เราทำของเราได้ แล้วแต่กำลังของเรา กำลังของเราเท่านั้นนะ เอวัง