ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สติปัฏฐานสี่

๗ มิ.ย. ๒๕๕๒

 

สติปัฏฐานสี่
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานเราคุยเรื่องกันเองไปหมด แล้วเขาก็มาถามปัญหารอบหลังหลายคนมากเลย เขาตั้งใจมาจะถามปัญหา แต่เมื่อวานเราไปคุยเรื่องพวกเรากันเองเลยไม่ได้อัดเทป เลยต้องมาพูดตอนนี้ไง เพราะเดี๋ยวซีดี มันจะออกตามหลัง เพราะเขามาหาเลย เขาบอกว่า เวลาภาวนาไปแล้วมันสะดุ้ง จิตมันลงไปแล้วมันสะดุ้ง แล้วจะให้ทำอย่างไร? แล้วพอรอบบ่ายก็มาอีกคนหนึ่ง ก็เหมือนกันเลย ไอ้นี่มัน วูบ! วูบ!

พอวูบ พอเราปฏิบัติไปแล้ว อันนี้คืออุปสรรค พอมีอุปสรรคปั๊บ ถ้าไปที่เขาสอนกัน ให้ปล่อยวางให้หมด ให้เป็นธรรมดา ให้เป็นธรรมชาติไปหมดเลย นั่นล่ะ แล้วมันจะหาย มันหายเพราะอะไร? เพราะเราปฏิเสธ เราไม่รับรู้ แต่ถ้าเป็นความจริง ไม่เป็นอย่างนั้น มันต้องหายจากที่เรากระทำ

อย่างเช่น เราทำอาหาร แล้วอาหารมันแบบว่า มันขาดเครื่องปรุง หรือมันขาดส่วนผสม มันเป็นอาหารไม่ได้ เราก็ต้องหาส่วนผสมนั้น หรือสิ่งใดมาทำอาหารนั้น ให้เป็นต้มยำ เป็นแกงอะไรขึ้นมาให้ได้ แต่เขาบอกว่า อาหารนี้มันทำไม่ได้ พอบอกทำไม่ได้ก็ปล่อยวางหมด แล้วมันหายเอง อาหารนั้นจะมีขึ้นมาได้ไหม? เราจะทำอาหารแต่ขาดเครื่องปรุง เราต้องหาเครื่องปรุงนั้นมาเพิ่ม หรือหาเครื่องปรุงอย่างอื่นมาทดแทนกันได้ มาให้อาหารนั้นสำเร็จออกมาเป็นอาหาร นั้นถึงจะเป็นผลว่าเรามีอาหารใช่ไหม?

แต่ถ้าบอกว่าเราทำอาหาร แล้วมันขาดเครื่องปรุง แล้วทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ ก็ปล่อยเฉยๆ ไง ดูกันไปเฉยๆ นั่นแหละ เดี๋ยวอาหารมันสุกขึ้นมาเอง คนไม่ได้คิดมุมกลับนะ เพราะมีคนมาหาเยอะมาก บอกว่าเวลาภาวนาไปแล้ว เขาบอกว่า เกร็งเกินไป จิตเกร็งเกินไป จิตกดเกินไป จิตทับเกินไป ให้ปล่อยๆ แล้วมันจะดี แล้วทุกคนมาพูดบอกว่า “ดีจริงๆ นะ หลวงพ่อ โอ้โฮ ดี มันว่างหมดเลย”

เราเศร้าใจ ก็เปรียบเหมือนการทำอาหาร ถ้าเราไม่ทำอาหาร เราจะได้อาหารมาไหม เราทำอาหารขึ้นมา เราจะทำสมาธิ เราจะภาวนา ถ้ามันมีอุปสรรค จิตจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องแก้ไขจิตนั้นจนทะลุผ่านไป ถ้าเราไม่ทะลุผ่านตรงนี้ไป จิตเราจะเข้าไปสงบไม่ได้

พอมาถึงจุดนี้ปั๊บบอกว่า ให้ปล่อยให้หมดๆ ว่างไง ปล่อยให้หมดเลย เพราะอะไร? เพราะเราไปกดเกินไป อ้าว คำว่ากดเกินไป ก็คือการตั้งใจทำ คำว่ามันเกร็งเกินไปอะไรนี่ ก็เหมือนกับของเรา เราเกร็งเกินไป แต่ถ้าเราเกร็งเกินไป ก็เหมือนเราทำงานไม่เป็น เราก็เกร็งเป็นธรรมดา แต่ถ้าคนทำงานบ่อยๆ มันจะเกร็งไหม? เกร็งมันจะหายไปใช่ไหม? เพราะว่าถ้าจิตมันสะดุ้งหรืออะไรนี่ มันเป็นนะ มันเป็นวาระของกรรม

เวลาปฏิบัติไป คนทำสมาธิ บางคนก็กำหนด พุทโธ พุทโธ แล้วก็ลงสมาธิไปเฉยๆ โดยที่ไม่เห็นอะไรเลยก็เยอะมาก ประเด็นนี้นะ ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ประเด็นที่ว่า ภาวนา พุทโธ พุทโธ ไป แล้วมันเกิดการสะดุ้ง เกิดการเห็นนิมิต มันมีสัก ๒๐-๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้ามันมีอีกสัก ๕ เปอร์เซ็นต์ หลวงตาพูดบ่อย คำว่า ๕ เปอร์เซ็นต์ นี่ เฉพาะ ๕ เปอร์เซ็นต์ ที่ว่าจิตคึกคะนอง เวลามันภาวนาไปแล้วมันจะรู้จะเห็นอะไรของมันแปลกๆ

ไอ้รู้เห็นแปลกๆ มันก็ย้อนกลับมา กลับมาที่บอกว่า พระโสดาบัน เวลาตายไปแล้วกลับมาเกิดใหม่ พระโสดาบันจะรู้ตัวพระโสดาบันไหม? แล้วคนที่ตายไปแล้วมาเกิดเป็นพระโสดาบัน กับ ไอ้จิตที่เกิดปกติ คุณภาพของจิตมันเท่ากันไหม? มันไม่เท่ากันอยู่แล้วใช่ไหม?

ทีนี้ไอ้ ๕ เปอร์เซ็นต์ ๓ เปอร์เซ็นต์ นั่นน่ะ มันจะมีอะไรพิเศษของเขา คำว่าพิเศษของเขา ไม่ใช่ว่าคนนั้นอยากเป็น หรือว่าเขาบังคับให้คนนั้นมันเป็น คนนั้นเป็นโดยคุณสมบัติของเขา จิตของเขามีคุณสมบัติอย่างนั้น มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่เขาไม่รู้ตัวของเขา เขาไม่รู้ตัวของเขาว่าเขาเป็นอะไรใช่ไหม? เวลาภาวนาไปมันก็จะมีอะไรพิสดารของเขา ในส่วนตัวของเขา

ฉะนั้นเราบอกว่า ถ้ากลับมาปล่อยให้หมดเลย แล้วมันจะกลับมาเหมือนกัน มันก็ไม่เหมือนกัน นี่ไง ถ้ามันสะดุ้งหรือมันวูบ มันจะเป็นอะไรก็แล้วแต่นะ โดยหลักเลยกลับมาที่พุทโธอย่างเดียว เพราะโดยหลัก

อย่างเช่นเวลาเรานั่งอยู่นี่ ถ้าอากาศร้อนเราจะเหงื่อไหลไคลย้อยกันเลย เพราะอะไร? เพราะอุณหภูมิมันสูง อากาศมันร้อน เหงื่อมันก็ออกมาเป็นธรรมดา ถ้าเราอาบน้ำชำระร่างกายมันก็ต้องสะอาดเป็นธรรมดาใช่ไหม

ไอ้สะดุ้ง เห็นไหม อาการของจิตมันเป็นสภาวะแบบนั้นใช่ไหม เราอาบน้ำเราทำความสะอาดร่างกายเรา ร่างกายเราก็กลับมาสะอาดเป็นปกติธรรมดา เรากลับมาที่พุทโธไง จิตสะดุ้งหรือจิตอะไรก็แล้วแต่นี่ สะดุ้งใครรู้ว่าสะดุ้ง จิตวูบ ใครรู้ว่าวูบ

คำว่าจิตสะดุ้ง จิตวูบใครเป็นคนรู้ เรานั่งกันอยู่ ๒ คน คนหนึ่งสะดุ้ง อีกคนหนึ่งไม่สะดุ้ง ไอ้คนที่ไม่สะดุ้ง จะรู้ว่าคนนี้สะดุ้งไหม? ไม่รู้หรอก จิตสะดุ้ง จิตวูบ จิตต่างๆ จิตเรารู้เอง จิตเราเป็นคนไปรู้ ถ้าจิตเราไปรู้ เรารักษาจิตของเรา โดยที่ไม่ออกไป โดยที่มันอยู่กับพุทโธ พุทโธนี่ มันวูบออกไป ไปรับรู้ปั๊บ เหมือนมือเราไปจับถ่าน จับไฟ มือจะต้องร้อนเป็นธรรมดา เราชักมือกลับมา เราปล่อยปั๊บ มันก็หาย จริงไหม

มือเราไปจับของร้อน มันก็ต้องร้อนเป็นธรรมดา ถ้ามือเราคลายของร้อนออก มือเราไม่จับของร้อน มันจะร้อนไหม? จิตสะดุ้งใครเป็นคนรู้ว่าสะดุ้ง จิตวูบใครเป็นคนรู้ว่าวูบ ก็จิตนี่มันออกไปรับรู้ จิตมันออกไปรับรู้แล้วเรากลับมาพุทโธ พุทโธ ให้มันกลับมาอยู่ที่ตัวมัน นี่วิธีแก้ จำไว้ชัดๆ เลย หลวงตาสอนประจำ หลวงตาเน้นตลอด

“มีสติอยู่กับผู้รู้ไม่มีเสีย”

อยู่กับผู้รู้คือตัวจิต ผู้รู้คือตัวจิต แต่ออกไปรู้แล้วเป็นอาการของจิต ไม่ใช่จิตแล้ว สะดุ้งมันอาการของจิต ถ้ากลับมาที่ตัวจิต ทุกอย่างไม่มี ทุกอย่างไม่มี ทีนี้จะกลับมาที่จิต มันจะกลับมาที่จิต เวลาตอบนี่ง่ายมากๆ เลย แต่เวลาทำ คนทำแสนยากเพราะอะไร? เพราะโดยธรรมชาติของพลังงานมันคลายตัว โดยธรรมชาติของผู้รู้มันต้องส่งออก มันต้องออกไปรู้ แล้วพอออกไปรู้ปั๊บ เราบอกว่าถอยกลับๆ แล้วถอยอย่างไรล่ะ? แล้วจะกลับมาหาผู้รู้กลับมาอย่างไร? เพราะมันคิดว่าความคิดเป็นผู้รู้ เพราะธรรมชาติมันออกมารู้ที่ความคิดแล้ว

โดยสัญชาตญาณ โดยธรรมชาติของจิตมันออกมารับรู้ที่ความคิดแล้ว แล้วความคิดไปรับรู้อะไรล่ะ? มันก็มีอาการ มีค่า ไปสะดุ้งตรงนั้น แล้วถ้าเกิดตั้งสติขึ้นมา มันต้องถอยกลับมา ฉะนั้นมันแก้ง่ายๆ เลย แต่มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา คือกำหนดสติชัดๆ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ชัดๆ พอชัดๆ พลังงานนี้มันอยู่ที่พุทโธใช่ไหม มันไม่ได้อยู่ที่อาการต่างๆ มันอยู่ที่พุทโธ

พุทโธกับความรู้สึกที่ส่งออกต่างกันอย่างไร? ความคิดที่เราคิด เรื่องอยากรู้อยากเห็น มันเป็นเหมือนกับกระแสน้ำ มันเป็นร่องน้ำ ร่องน้ำที่มันไป คำว่าพุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ เราพยายามบังคับร่องน้ำ เราเปลี่ยนร่องน้ำ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธนี่เรานึกพุทโธแล้วมันเป็นธรรม พุทธานุสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่มันไม่ออกไปรับรู้อย่างอื่น มันบังคับตรงนี้ แต่มันไม่ยอมพุทโธเพราะอะไร?

มันไม่ยอมพุทโธเพราะมันมีความอยากรู้ ใครสะดุ้ง? ใครวูบ? อะไรมันวูบ? อะไรมันสะดุ้ง? แล้วมันสะดุ้งอย่างไร? ทำไมมันถึงสะดุ้ง? แล้วสะดุ้งมันมาจากไหน? มันก็จะหลอกไปเรื่อยๆ ไง ถ้ามันหลอกไปเรื่อยๆ นี่ชอบ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นเรื่องของธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ธรรมชาติของกิเลสมันเป็นอย่างนี้ ธรรมชาติของธรรมเราต้องนึกขึ้นมา พุทโธๆ เราต้องนึกขึ้นมา ถ้าเรานึกขึ้นมาเราตั้งในใจเรานึกขึ้นมา พุทโธ พุทโธ มันจะเปลี่ยนร่องน้ำ เปลี่ยนไอ้ที่ไปรับรู้สะดุ้ง กลับมาอยู่ที่พุทโธ

กลับมาอยู่ที่พุทโธนี่ก็เป็นสมมุติ พุทโธเป็นคิดอันหนึ่ง พุทโธ พุทโธ เรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจน พุทโธไปเรื่อยๆ ถ้าเราอยากได้อะไร เราจะไม่ได้อะไรเลย เราทำงานของเรา เช่นเราตั้งน้ำ เราทำอาหาร เรารักษาไฟเรา อาหารต้องสุกเป็นธรรมดา พุทโธ พุทโธ คือ ตบะธรรม พุทโธ พุทโธ คือไม่ต้องเอาอะไรเลย มันสงบเอง

แต่นี้มันไม่สงบเพราะอะไรรู้ไหม? เพราะมันอยากสงบไง เขาบอกให้ดูไฟ มันไม่ไปดูเตา ดูในกระทะ สุกหรือยังว้า? สุกหรือยัง? ให้ดูไฟๆ กลับมาที่พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเป็นเอง แต่มันไม่เป็นเพราะเราอยากเป็น เราไปเร่ง เราไปเร้า ทำไมมันถึงไม่เป็น ทำไมคนอื่นเขาเป็นกัน มันไปอยากตรงนั้นไง

พุทโธอย่างเดียว พูดประสาเราเลยนะ ถ้าเราจะภาวนานะ เราบอกเลย เราจะพุทโธอย่างเดียว อะไรจะเกิดขึ้นเราไม่สนใจทั้งสิ้น จะวูบ จะรู้อะไร ไม่สนใจ พุทโธ พุทโธนี่ ถ้ามันไม่สงบนะ (จะว่าให้เตะเลย) มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพียงแต่พวกเรานี้อ่อนแอกันเกินไป พวกเราไม่จริงกันเกินไป นี้พูดถึงเวลามันสะดุ้งนะ ที่เขาแก้กัน เพราะลูกศิษย์มาหาเยอะ

เวลาหนูไปทางนู้นนะ เขาบอกจิตมันกดทับเกินไป หนูก็ปล่อยวาง โอ๊ย มันสบาย มันว่าง มันก็จริงนะ เราก็ มันก็กรรมของสัตว์ เอ้อ มันเกร็งเกินไป มันกดเกินไป แล้วพอไปทำแล้วมันดีหมด ทำไมมันจะไม่ดี ก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ปล่อยหมดทุกอย่างเลย

คือ เด็กของเรา ลูกมันบอกทำงานแล้วเหนื่อยนะ เราบอก อ้าว มึงอยู่เฉยๆ มึงไม่ต้องทำอะไรเลย โอ๋ย มันสุขสบายทุกคน แล้วมันได้อะไร? มันไม่ได้อะไร แต่เขาคิดของเขา มันเป็นสัญญาอารมณ์ สร้างภาพกันไป ว่าได้อย่างนั้นๆ แล้วเวลาบอกพุทโธ พุทโธ ให้สงบนี่ เขาก็ถามกลับ อันนี้เราจะพูด อันนี้ประเด็นอยู่ที่นี่ ไอ้นี่มันพื้นฐาน ประเด็นของเขาบอกว่า

แล้วเมื่อไหร่มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ล่ะ?

เมื่อไหร่มันจะเป็นภาวนาล่ะ?

ทุกคนถามตรงนี้ไง แล้วถ้าทำ พุทโธ พุทโธ ถ้าจิตมันสงบแล้ว

แล้วเมื่อไหร่ถึงจะได้เป็นวิปัสสนา?

เมื่อวานเขามาถามตรงนี้ แล้วเมื่อไหร่มันจะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ล่ะ? เราบอกว่า สติปัฏฐาน ๔ เห็นไหม อริยสัจ ๔ สติปัฏฐาน ๔ มรรค ๘ นี่เป็นหัวใจของศาสนา แต่คนที่จะเข้าถึงหัวใจของศาสนามันต้องเป็นผู้ที่เข้าไปรู้จริง อย่างเช่น ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่แหวน ครูบาอาจารย์ของเราเห็นไหม พวกนี้รู้จริง ถ้ารู้จริง ท่านจะพูดตามความเป็นจริง ถ้าคนไม่รู้จริงนะ สติปัฏฐาน ๔ อริยสัจ ๔ ทุกอย่าง มันอยู่ในพระไตรปิฎก มันเป็นชื่อ แต่ ไม่มีใครเคยทำได้จริง ไม่มี ถ้าคนทำได้จริง เขาจะไม่พูดถึง สติปัฏฐาน ๔ โดยหลักลอย

สติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน มันจะเกิดมาจากไหน? มันเกิดมาจากจิตตภาวนา ไม่มีจิตเป็นผู้รื้อค้น ไม่มีจิตเป็นผู้เข้าไปเห็น จะไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ สิ่งที่เขาทำกันอยู่ ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสัญญาอารมณ์ การสร้าง คือการสร้างภาพขึ้นมา ไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ นะ ถ้าจิตมันสงบ จิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยสัจจะตามความเป็นจริง อย่างน้อยถ้าเขาทำต่อไปข้างหน้า เขาต้องเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์

แล้วว่าเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ของเรา ทำไมนี่ปฏิบัติก็ว่าเป็นสมถะ ไม่เป็นวิปัสสนา มันไม่เป็นวิปัสสนาคือว่าไม่เป็นการปฏิบัติ แล้วทำไมครูบาอาจารย์เราท่านเผาไปแล้วเป็นพระธาตุหมดเลย เพราะคนเป็น เราจะบอกว่า เพราะคนเป็นถึงสอนตามความเป็นจริงว่า ต้องจิตสงบเข้ามาก่อน ถ้าตัวจิตไม่มีจะเอาอะไรวิปัสสนา มันต้องมีจิตอย่างที่ว่า เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

จิตเห็น จิตเห็น แต่นี่ไม่ใช่จิตเห็น ความคิดเห็น สัญชาตญาณเห็น ความคิดเห็น เพราะความคิดคิดว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ คิดว่าเป็น เราจะบอกว่าการคิดว่าเป็น กับเป็นจริงมันคนละเรื่องกัน ถ้าคิดว่าอย่างนี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วมีมุมมองที่แตกต่างว่า อันนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ ของเราเป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วผลที่ตอบรับมันอยู่ไหน? ผลที่ตามความเป็นจริงมันอยู่ไหน? ทุกคนเป็นห่วงว่า ถ้ากำหนดพุทโธ กำหนดทำสมถะแล้วเมื่อไหร่จะได้เป็นสติปัฏฐาน ๔ แล้วที่เขาทำกันว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงหรือปลอม?

มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงหรือเปล่า? ถ้ามันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ใครเป็นคนเห็นสติปัฏฐาน สัญญาเห็นได้ไหม? ความคิดเห็นได้ไหม? มันก็เป็นแค่ความคิดใช่ไหม? มันไม่ใช่จิตเห็น ถ้าไม่ใช่จิตเห็น มันก็ไม่ใช่เป็นปฏิสนธิจิต คือตัวที่กิเลสอยู่เห็น ถ้าตัวจิตเป็นตัวเห็น ตัวจิตเป็นตัวที่มีกิเลสอยู่ คนที่มีกิเลสอยู่

เหมือนคนไข้ คนป่วย ใครป่วยใครไข้เข้าโรงพยาบาล คนป่วยนั้นไปรักษามันถึงจะหาย เราเป็นคนไข้คนป่วยใช่ไหม? ให้ญาติไปรักษาแทน ไปรักษาที่ตัวญาติแทนไง ญาติคนไหนก็ได้ ไปโรงพยาบาลแทน แล้วเดี๋ยวหาย แล้วมันหายไหม? คือตัวจิตคือตัวประธาน ความคิดมันเหมือนเงา มันไม่ใช่ตัวจิต นี่ไม่ใช่ตัวจิตมันไปเห็น มันก็เหมือนกับไม่ใช่ตัวเองไปรักษา มันไม่ได้รักษาตัวมันเอง มันรักษาที่เงา มันรักษาที่ข้างนอก มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ จริงไหม แต่เขาบอกสติปัฏฐาน ๔ เพราะ สติปัฏฐาน ๔ ของเขา เป็นความคิด สติปัฏฐาน ๔ ของเขา เขาคิดว่า กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน เขาคิดว่าเห็นกายไง แล้วเห็นกายใครเป็นคนเห็น?

ดูสิ อาจารย์ใหญ่ หมอไปเรียน มันรื้ออยู่ทุกวันๆ มันเห็นกายไหม? มันจับกายด้วย มันเอากายมาศึกษาด้วย ศึกษาเสร็จแล้ว มันเอามาเป็นวิชาชีพมารักษาคนไข้ด้วย แล้วได้สตางค์ด้วย มันเห็นกายหรือเปล่า? ไม่เห็นเลยๆ ทั้งๆ ที่ผ่าตัดอยู่ มันจับกายอยู่นี่ มันไม่เห็นกายเลย เพราะความคิดมันเป็นอันหนึ่งนะ นี่มือเลยนะ มือจับเลยนะ มันไม่ใช่จิต จิตเห็นไม่เป็นอย่างนี้ สติปัฏฐาน ๔ ต้องจิตสงบก่อน

แล้วทีนี้พอเราปฏิบัติแล้ว เมื่อไหร่จิตจะสงบล่ะ? แล้วสงบแค่ไหน ถึงจะออกวิปัสสนา ออกรับรู้ล่ะ? ไอ้ตรงนี้คนเป็นสอนถูกหมด คนไม่เป็นสอนผิดหมด คนเป็น คำนี้เราไม่ค่อยได้ยินจากใคร แต่ได้ยินจาก หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตา

“ธาตุ ๔ และ ขันธ์ ๕ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา”

หลวงตาบอกเลย “อายตนะ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นได้ทั้งสมถะ เป็นได้ทั้งวิปัสสนา”

พวกเรานี่มันยังเป็นปุถุชนอยู่ จิตนี่ยังเป็นสามัญสำนึกอยู่ มันเป็นเรื่องธรรมชาติของมันอยู่ เวลาเราคิดถึง กาย เวทนา จิต ธรรม มันก็เป็นสมถะ เพราะว่าเวลาพุทโธ พุทโธ มันสงบได้ ปัญญาอบรมสมาธิมันก็สงบได้ เวลาเรากำหนดกาย กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม มันก็สงบได้ เพราะจิตยังไม่สงบ ผลของมันคือความสงบ มันเป็นสมถะ

พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม อย่างที่ว่าพิจารณานี่ ที่ว่าสติปัฏฐาน ๔ ๆ เขาว่าเป็นวิปัสสนา ไม่ใช่ ผลของมันคือสมถะ ผลของมันคือการปล่อยวาง ผลของมันคือพอจิตมันพิจารณาแล้ว จิตมันจะหดตัวเข้ามาเป็นอิสระ ถ้ามีสติมีความเข้าใจ เราจะบอกนี้คือสมถะ นี้คือสมาธิ แต่เขาบอกนี้เป็นวิปัสสนา เพราะจิตเขายังไม่เป็นสมาธิ เขาไปใช้แล้วเขาเข้าใจว่าเขาเป็นวิปัสสนา

เราถึงว่า เขาตั้งชื่อว่า วิปัสสนา แต่ความจริงผลของมันไม่ใช่วิปัสสนา แต่ถ้าคนเป็นนะ เขารู้ว่าผลของมันไม่ใช่วิปัสสนา แต่ก็พิจารณา สติปัฏฐาน ๔ เหมือนกัน กาย เวทนา จิต ธรรม เหมือนกัน แต่พิจารณาโดยอาการของจิต มันยังไม่เข้าไปถึงจิต พิจารณาไปแล้วผลของมันคือสมาธิ

ถ้าผลของมันเป็นสมาธิ ถ้าคนเข้าใจรู้จักจริงมันเป็น สัมมาทิฏฐิ คือมันความเห็นถูกต้อง ความเห็นดีงาม มันจะยอมรับว่าผลของมันคือสมาธิ เหมือนกับเมล็ดข้าว เราเห็นข้าวเปลือก เราเห็นเมล็ดข้าวมันหมดไปเลย แล้วเมล็ดข้าวมันมาจากไหน? เมล็ดข้าวมาจากรวงข้าว รวงข้าวมาจากไหน? รวงข้าวมาจากต้นข้าว ต้นข้าวมาจากไหน? ต้นข้าวเกิดจากเมล็ดข้าวที่ปลูกอยู่ในดิน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจะเป็นวิปัสสนา วิปัสสนานี้มาจากไหน? วิปัสสนานี้ลอยมาจากฟ้าเหรอ วิปัสสนามันต้องเกิดมาจากจิตที่สงบแล้ว ที่จิตไปเห็นตามความเป็นจริง มันมีรากเหง้า มีที่มามีที่ไปพร้อมของมันหมด เมล็ดข้าว เดี๋ยวนี้มันเป็นการตลาดไง เราอยากได้ข้าวเปลือก เราก็ซื้อเอา ข้าวสารเราก็ซื้อเอา เราทำได้หมด

แต่ถ้าเป็นเรื่องของจิตไม่ได้ ไม่มีการซื้อขาย สมาธิซื้อที่ไหน สติซื้อที่ไหน ปัญญาซื้อที่ไหน ไม่มีซื้อ มันต้องเกิดขึ้นมาจากจิต จิตต้องสร้างขึ้นมาทั้งหมด นี้จิตสร้างขึ้นมาทั้งหมด เราก็ต้องปรับพื้นที่นะ ไถนา หว่านเมล็ดข้าว เป็นต้นข้าว รักษาต้นข้าวไม่เป็น ต้นข้าวตายก่อนโดนเพลี้ยกัด มันไม่มีรวง ไม่มีรวงก็ไม่มีเมล็ดข้าว ทำความสงบของจิตนี่ไง

จิตถ้ามันสงบขึ้นมานี่ เราจะรักษามันอย่างไร? จิตที่สงบ อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ แล้วเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนาล่ะ? จิตปกตินี่ใช้ปัญญาได้ แต่เราเข้าใจว่าปัญญาที่เราใช้ คือ ปัญญาอบรมสมาธิ ต้นตรงปลายจะตรง ต้นมันคด พอเราใช้สติของเรา ใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้คือสติปัฏฐาน ๔ นี้คือวิปัสสนา มันก็นึกว่าข้าวเปลือกนี่ไปซื้อที่โรงสี ที่โรงสีมันก็มีขาย

ทีนี้โรงสีนะ ไม่ใช่จิตของเรานะ ฉะนั้น พอเราคิดขึ้นมาโดยสามัญสำนึกนี่ เราคิด กาย เวทนา จิต ธรรม แต่ถ้าเราเข้าใจว่ามันเป็นสมถะ มันเป็นจิตสงบเข้ามา พอจิตสงบเข้ามามันก็พิจารณาเข้าไปเรื่อย แล้วพิจารณากายซ้ำเข้าไปอีก พอพิจารณาซ้ำไปอีก ความเห็น ที่จิตสงบแล้วเห็น กับความคิดเห็น เห็นไหม เหมือนที่มามันแตกต่าง

ที่มาแตกต่างความรู้สึกมันจะแตกต่าง พอความรู้สึกแตกต่าง ผลของมันก็ให้ผลแตกต่าง นี่ไง ถึงว่าอันไหน เป็นวิปัสสนา อันไหนเป็นสมถะ ถ้าคนที่ภาวนาเป็นแล้วนะ ในสมถะก็มีวิปัสสนา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ แต่มันหยาบ ละเอียด กาลเวลาของใคร ผู้ที่ปฏิบัติเห็นไหม เหมือนเราทุกคนเลย ทุกคนที่นั่งอยู่นี่ รวมทั้งเราด้วย เมื่อก่อนนี้เป็นทารกทั้งนั้น เกิดจากแม่มานี่ช่วยตัวเองไม่ได้หมด แล้วพ่อแม่เลี้ยงมา โตมาจนป่านนี้ จิตของมันก็เหมือนกัน จิตมันต้องพัฒนาการ

นี้เราไปคิดกันเองว่า เราปฏิบัติแล้ว เราเกิดมาแล้วจะโตเป็นผู้ใหญ่เลย ไม่ใช่โอปปาติกะนี่ ถ้าเป็นเทวดา ใช่เกิดมาเป็นอย่างนี้เลย นี่ก็เหมือนกันพอเกิดขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่เลย ไม่ยอมเป็นเด็กไง ไม่ยอมเป็นเด็กคือไม่ยอมรับสมถะ ไม่ยอมรับการตั้งไข่ของจิต

ถ้าไม่ยอมรับจิตตั้งไข่ จิตมันเริ่มพัฒนาการมา มันจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่อย่างนี้ได้อย่างไร? การภาวนามันเป็นอย่างนี้หมด

ฉะนั้นพอจิตมันสงบ วิปัสสนาจะเกิดเมื่อไหร่? คือเราใช้ปัญญาได้ แต่เราเข้าใจว่าการใช้ปัญญา คือการใช้ปัญญาเพื่อความสงบ เพื่อสร้างตบะธรรม พอจิตมันสงบแล้ว พอออกวิปัสสนา อีกทีหนึ่ง พอเห็นจริงนะ พอเห็นจริงตามความเป็นจริงมันจะเข้าใจเลย อ๋อ อารมณ์ความรู้สึก วิปัสสนา ถ้าเป็นสมถะนะ พิจารณากาย มันพิจารณาของมันไป โดยปกตินี่แหละ แล้วพอมันเห็นโทษมันจะปล่อย พั้บ! โอ้ ว่าง พั้บ! ว่าง

แต่พอจิตมันสงบแล้วนะ พอไปเห็นกายปั๊บนะ พอเห็นกายมันสะเทือนขั้วหัวใจเลย มันสะเทือนมาก มันสะเทือนเพราะอะไร? มันเหมือนกับเราให้ยา ยานี่มันฟื้นฟูร่างกาย แล้วยาอันหนึ่งมันไปถอนรากถอนโคน เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ มันจะให้ผลแตกต่างนะ ยาอันหนึ่งเราจะให้ผลกับร่างกาย ให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นมาก่อนใช่ไหม พอเราให้ยาอีกที ยามันไปชำระไข้ มันจะให้ผล โอ๋ มันจะร้อนวูบวาบ มันจะทำให้ร่างกายนี้ร้อนมาก โดยวิปัสสนานี่ จิตมันออกรู้ มันมีความแตกต่าง คนที่ภาวนามาจะรู้

ฉะนั้น เพราะคำถามว่า แล้วเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนา เราไปวิตกกังวลกันว่า เราทำสมถะ เราทำความสงบของใจ เราจะเนิ่นช้า แล้วเราจะไม่ได้วิปัสสนา แล้วมันเป็นการฝังรากกัน ฝังรากว่า อันนั้นไม่ใช่วิปัสสนา อันนี้เป็นวิปัสสนา แต่ความจริงมันเป็นวิปัสสนาทั้งหมด เพราะอะไร? เพราะในสมถะก็มีวิปัสสนา

แม้แต่ในการรักษาศีล ก็ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาการรักษาศีลเราจะรักษาศีลถูกต้องได้อย่างไร การรักษาศีลของเรา มันต้องมีปัญญาใช่ไหม ในการทำสมถะมันก็ต้องมีปัญญา ปัญญานั่นปัญญาสายตรงๆ แต่ปัญญาในการรักษาตัวเอง ปัญญาการรักษาให้จิตนี้มันรอด รักษาจิตให้เข้มแข็ง แล้วถ้าจิตมันเข้มแข็งขึ้นมาแล้วนะ ถ้าออกไปฝึก ขยันทำไปเถอะมันจะรู้เอง เราถึงพูดนะ เมื่อก่อนเวลาบอก ไอ้นู่นถูก ไอ้นู่นผิด เวลาเขามาถามเห็นไหม

เราบอกภาวนานี้ผิดหมดล่ะ ผิดหมดเพราะว่าเรายังมีกิเลสอยู่ไง มันยังไม่ถูกต้อง ถ้ามันจะถูก ถ้าโสดาบันนี่ถูกละ คำว่าโสดาบันนะ เราใช้คำว่าภาวนาเป็น ภาวนาไม่เป็น ถ้าภาวนาเป็น มันเริ่มต้นจากวิปัสสนานี่แหละ

เพราะวิปัสสนาแล้วมันจะรู้เลยนะ ผลของจิตความรู้สึกของสมถะเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกของการใช้ปัญญาขั้นวิปัสสนามันจะโล่งโถง มันจะแทงทะลุ มันจะทุบคว่ำ ทุกคูหาของจิตต่างกัน แล้วพอมันทุบทำลายมันก็โล่งว่าง พอโล่งว่างขึ้นมา พอจิตมันเสื่อมหรือว่าสมาธิมันอ่อนลง มันคลายออกมา เราจะรู้เลย รู้ถูกรู้ผิด คนภาวนาเป็นมันตรงนี้ไง

คำว่าภาวนาเป็นหมายถึงว่า รู้ถึงว่าทำอย่างนี้มันให้ผลที่ดี ทำอย่างนี้ให้ผลเหมือนกัน แต่ผลมันไม่ถูกต้องนี่ มันจะทำให้เราตั้งสติให้ดีๆ แล้วปัญญาใคร่ครวญให้ดีๆ เพื่อเราจะพยายามดันเข้าไปในทางที่ถูกต้องไง นี่ภาวนาเป็น

คำว่าภาวนาเป็น เหมือนเราทำงานเป็นแล้วนี่ เราจะรู้เลยว่าทำงานอย่างนี้มันให้ผลถูก ทำงานอย่างนี้มันจะให้ผลในทางเสียหาย แล้วให้ผลเสียหาย ถ้ายังเผลออยู่ ยังไม่เข้าใจอยู่ มันก็ให้ผลเสียหาย คือมันเสื่อมหมดเลย พอมันเสื่อมหมด มันก็ช็อกตัวเอง เอ้อ นี่ไง ก็ไม่เชื่อ พอไม่เชื่อขึ้นมา ผลของมันก็คอตกนี่ไง พอคอตก ก็ต้องกลับมาตั้งสติใหม่ไง มันฟ้องไง การภาวนา ผลมันจะฟ้องเราเอง ฟ้องคนกระทำเอง

ทีนี้พอมันฟ้องบ่อยครั้งเข้าๆ มีครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ มันจะเริ่มระวังตัวเอง นี่ภาวนาเป็น เพราะมันเจ็บจนเข็ด มันเสื่อม มันเจริญจนเข็ดนะ จนเรานี่เข็ดเอง แล้ว มันไม่มีทางออกทางอื่น ถ้ามีทางออกทางอื่น พระพุทธเจ้าสอนแล้ว ในเมื่อมันไม่มีทางออกทางอื่น มันมีทางออกทางนี้ทางเดียว เราก็ต้องกลับมาเข้าสู่ทางออกเส้นนี้

ทีนี้ถ้ามันกลับเข้ามาสู่ทางออกเส้นนี้ มันก็ต้องทำสมาธิขึ้นมาอีก ทำให้จิตสงบ ทำให้ตั้งมั่นขึ้นมา ทำให้มีกำลังขึ้นมา แล้ว วิปัสสนาไป มันก็ยิ่งเข็ด เข็ดในการเสื่อมใช่ไหม มันถึงถนอมรักษา แล้วสังเกตได้ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านบอกตอนที่ท่านกำลังภาวนาเข้มงวดเลยนี่ ท่านบอกท่านอยู่กับใครไม่ได้เลย

คำนี้แหละ ถ้าคนมันเข็ดมันขยาดแล้วนี่ ถ้าไปคลุกคลี ไปคุย ไปรับรู้เรื่องของคนอื่น แล้วเวลาของการภาวนามันมีน้อย แล้วจิตเรามันก็ต้องการเวลา ต้องการกำลัง ต้องการความสงัด มันถึงต้องหลีกเร้นอยู่คนเดียวไง คนที่ภาวนาจะเข้าใจคำนี้มากเลยว่า เวลาเรากำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม งานของเรากำลังจะได้ผล เราจะไม่มีเวลาไปนั่งคุยกับใคร ไม่มีเวลาจะไปรับรู้เรื่องของใครหรอก

เวลาของเรา เราต้องเอาตัวเรารอดอย่างเดียว นี่คนภาวนาเป็นถึงเป็นคนสงบเสงี่ยม คนรักษาศีล คนไม่คลุกคลี จะแยกตัวออกอยู่คนเดียว แต่แยกตัวออกแบบภาวนานะ ไม่ใช่แยกตัวออกแบบไข้หวัดใหญ่ เขาไม่ให้เข้าหมู่ ไอ้นี่เป็นไข้หวัดใหญ่เข้ามาไม่ได้ เดี๋ยวมันแพร่เชื้อ แยกมันออกไป แต่นี้เราแยกตัวเราเอง เราเป็นคนแยกว่า เรารู้ ว่าเราต้องการประโยชน์อะไร เราจะแยกตัวของเราออกไป

แยกตัวไปแล้ว พยายาม เพราะปัญญามันเกิดแล้ว มันพยายามจะแบบว่าไม่ให้กระทบกระเทือนไง มันจะมีอุบายไง ว่ามันจะเร่งความเพียร ก็คุยกันไง ขอโอกาส แต่ถ้าไม่อย่างนั้นเขาจะหาว่าเราไปรังเกียจเขา เราอยู่ด้วยกันรังเกียจกัน แล้วเขาจะอยู่กับเราได้อย่างไร?

แต่เราจะบอกว่า เราขอเวลา ขอต่างๆ เห็นไหม นี่คนภาวนาเป็น เพราะเป็นกับไม่เป็นมันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ที่ความเห็นถูก-เห็นผิด เพราะจิตมันถูกมันผิดเอง มันเจ็บของมันไปเอง แล้วมันจะเริ่มต้นวิปัสสนาของมันไป ไม่ต้องไปห่วง

ตอนนี้นะ เราไปห่วงกันว่าเมื่อไหร่เราจะได้วิปัสสนา แล้วเขาบอกว่ากำหนดอย่างนี้ๆ เป็นวิปัสสนา กำหนดอย่างนี้ๆ เป็นสมถะ เป็นสมถะทั้งหมดล่ะ แล้วจะเป็นมิจฉาสมถะด้วย มิจฉาสมถะเพราะอะไร? เพราะไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นสมถะ ก็เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา พอมันเริ่มว่างๆ ก็คิดว่าเป็นนิพพาน เพราะถือว่า วิปัสสนาแล้วไง นี่ไง ต้นคดปลายมันถึงคด ถ้าต้นมันตรง เราไม่ต้องไปห่วงสมถะหรือวิปัสสนา

คำว่าสมถะหรือวิปัสสนานี่ เราไม่มีสิทธิให้ค่า เราไม่มีสิทธิไปพูดนะ มันจะต้องเป็นผลโดยตัวของมันเองต่างหาก ในผลของสมถะหรือวิปัสสนานี่ ถ้าผลมันให้ผลเป็นสมถะ มันก็ให้ผลเป็นความสงบ แต่ถ้าเราทำความสงบจนเป็นพื้นฐานได้แล้ว

ในคุณสมบัติของเขาเป็นวิปัสสนา เราจะชำระกิเลสของเรา เราเองไม่สามารถให้ค่า ให้คะแนน สมถะหรือวิปัสสนาได้ มันจะต้องมีคุณสมบัติของการกระทำอันนั้นเองว่า เป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา แล้วมันจะให้ผลของมันเอง ไม่มีใครมีสิทธิบัญญัติเป็นสมถะหรือวิปัสสนาได้ โดยตัวของมันเอง แต่มันจะเป็นคุณค่าในตัวของจิตเอง

ฉะนั้นจะบอกว่าอย่างนี้เป็นสมถะ อย่างนี้เป็นวิปัสสนา โดยจริงๆ แล้วเราไม่เชื่อเลย แล้วเราก็โต้แย้งมาตลอด เพียงแต่ว่ามันพูดไปประสาเรานะ คนมานั่งนี่ทุกคนอยากจะภาวนา แล้วยังไม่ทันภาวนาเลย ก็มานั่งเถียงกันก่อนว่าเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา ตกลงก็เลยไม่ได้ภาวนาใช่ไหม เราก็เลย อืม สมถะก็สมถะ วิปัสสนาก็วิปัสสนา อ้าว ทำไปเถอะ

แล้วพอเขาทำไปแล้วนะ เขาจะมาคุยกับเรานะ พอเราเริ่มชี้แจงเขาจะเข้าใจละ ถ้าเขาได้ทำแล้ว แต่เขายังไม่ได้ทำเลย แล้วเราจะไปโต้แย้งกันเพื่อประโยชน์อะไร? มันไม่มีประโยชน์ ทั้งๆ ที่เราไม่เชื่อเลยว่ามันเป็นวิปัสสนา มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ถ้า เราไม่ได้เปิดบัญชี จะไม่มีใครโอนเงินเข้าบัญชีเราได้เลย เราไม่มีบัญชีในธนาคารใครก็โอนเงินเข้าบัญชีเราไม่ได้ แต่ถ้าใครเปิดบัญชีในธนาคารนะ แล้วเราทำธุรกรรม กับใครแล้ว แล้วเขาโอนเข้าบัญชีเรานะ เราจะได้ตัวเลขในบัญชีนั้น

จิตถ้ามันสงบมันเปิดบัญชี จิตมีหลักมีเกณฑ์มันเปิดบัญชีของมัน จิตไม่เคยสงบเลย จิตตภาวนาไง สติปัฏฐาน ๔ จิตรู้กาย จิตรู้จิต จิตรู้เวทนา จิตรู้ธรรม จิตรู้ ตัวจิตนั่นแหละ เป็นตัวเจ้าของบัญชี ตัวจิตเป็นตัวเปิดรับ จะแดงหรือจะเขียว ตัวแดงมันก็เสื่อมๆๆ ถ้ามันเป็นตัวเขียวขึ้นมามันก็ได้ๆๆๆ ตัวจิตนี่สำคัญมาก

นี้ตัวจิตอยู่ที่ไหนล่ะ? เมื่อก่อนเทศน์จะพูดบ่อย บอกพวกโยมนี่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีใครรู้จักตัวเองเลย ชี้ไปที่ตัวเอง ตัวเองอยู่ที่ไหน ถ้าเป็นทะเบียนบ้านนะ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสัญชาติ เปลี่ยนได้หมด ถ้าบอกตัวเรานะ ชี้ไปที่มือสิ ตัดทิ้งเลย หัวใจเป็นเรานะเขาเปลี่ยนหัวใจทิ้งเลย อ้าว ตรงไหนเป็นเรา ไม่มีเลย แต่ถ้าจิตสงบนะ อึ๊ก! นั่นแหละตัวเรา

ตัวจิตสงบ เพราะตัวเดียว จิตมันกลับมาที่ตัวมันเอง แล้วสติมันพร้อม โอ้โฮ สมาธิ โอ้โฮ โอ้โฮ นั่นล่ะบัญชี นั่นล่ะตัวตน นั่นล่ะปฏิสนธิจิต

ปฏิสนธิจิตที่เกิดในไข่มานั่งเป็นมนุษย์กันอยู่นี่ แล้วกิเลสมันอยู่ตรงนั้น ฉะนั้นพอจิตสงบเข้ามา มันเข้ากับฐีติจิตมันเข้าไปอยู่ตรงนั้น แล้วตรงนั้นมันออกรับรู้ออกวิปัสสนา มันก็เข้ามาทำลายข้อมูลของมันตรงนั้น ตรงนั้นเป็นวิปัสสนา ถ้าคนวิปัสสนา มันต้องเข้ามาถึงตรงนี้ให้ได้ แต่ถ้ามันยังเข้าถึงไม่ได้ ก็ใช้ปัญญาได้ มีคนพูดกันมาก แล้วเมื่อไหร่จิตจะเป็นสมาธิล่ะ? แล้วเมื่อไหร่จะได้วิปัสสนาล่ะ? ก็เมื่อจิตมันมีกำลังไง

นักกีฬา ถ้าฝึกซ้อมดีแล้ว ทุกอย่างดีแล้ว ออกแข่งได้ตลอด นี่ก็เหมือนกัน นักกีฬา มันต้องถึงหน้าเทศกาลของเขา มันถึงจะได้แข่งนะ แต่กิเลสตั้งแต่เกิดจนตาย มันอยู่กับเราตลอดเวลานะ จะนอนจะกินจะไปไหน กิเลสมันอยู่กับเราตลอดเวลา เราสู้กับกิเลสเราได้อยู่ตลอดเวลานะ มันแข่งขันอยู่ตลอด

แต่จิตมันสงบแล้ว พอเราใช้ปัญญาเข้าไป มันมีเหตุมีผล เราวิปัสสนาได้แล้ว เราใคร่ครวญของเราได้แล้ว ไม่ใช่ว่า จิตต้องสงบจนถึงอัปปนาสมาธิเลยนะจนสักแต่ว่ารู้ โลกเขาวิปัสสนานะ ไม่ใช่ ถ้าเราถึงตอนนั้นนะ ประสาเราว่า โลกมันแตกไปแล้ว เรายังไม่ได้วิปัสสนาเลย ไม่ต้องรอถึงตอนนั้นหรอก ตอนนี้ก็ใช้ได้ ใช้ปัญญาได้ เป็นปัญญาอบรมสมาธิไง คือ ต้นมันตรง เราเข้าใจว่าเราใช้ปัญญาใคร่ครวญในธรรมะ ตรึกในธรรมะ

พระพุทธเจ้าสอนพระโมคคัลลานะ ถ้าง่วงเหงาหาวนอน ให้ตรึกในธรรม ถ้าเราตรึกในธรรม เราใช้ปัญญาของเรา มันก็ตรึกในธรรม มันไม่เสียหายอะไรเลย ผลของมันคือกลับมาสงบ เราก็รู้ๆ อยู่ เราตรึกในธรรม

เราตรึกในธรรม คือธรรมะพระพุทธเจ้าไง เราตรึกในธรรมะพระพุทธเจ้า แต่ ถ้ามันเกิดคือประสบการณ์ของเรา นี้คือธรรมะของเรา เวลาจิตสงบนี่ จิตเราสงบ เวลาเกิดปัญญาขึ้นมานี่ต่อสู้กับกิเลส มันทำลายกิเลสปั๊บนี่ปัญญาของเรา ก็เหมือน (โทษนะ) เหมือนมวย เราต่อยกิเลสน็อคคาที่เลย โป๊ะเข้าปลายคาง นอนอยู่นี่เลย เออ

ก็มันใช้ปัญญาเราต่อสู้กับความเคยชินของใจ กิเลสคือความเคยชินของใจมันต่อสู้กัน แล้วปัญญามากกว่า มันชนะ น็อคกิเลสนอนต่อหน้าเลย นอนซึ่งๆ หน้าเลย พอธรรมะชนะเห็นไหม หลวงตาใช้คำว่า “เก้าอี้ดนตรี” หัวใจเป็นเก้าอี้ดนตรี เดี๋ยวก็กิเลสนั่ง เดี๋ยวก็ผลัดให้ธรรมะนั่ง เห็นไหม ฐีติจิต ตัวสมาธิ ตัวเรา เดี๋ยวก็กิเลสนั่ง เดี๋ยวก็ธรรมะนั่ง

ธรรมะคือเราสร้างให้มันนั่ง ถ้าธรรมะนั่ง ก็น็อคกิเลสลง พอน็อคกิเลสลงธรรมะก็นั่งอยู่ในหัวใจ ว่าง.. โล่ง.. นี่ไง น็อคกิเลสเลย นี่ธรรมะของเรา ปัญญาของเรา ถ้าเราตรึกในธรรม นี่ฟังธรรมๆ ฟังธรรมจากอาจารย์ แล้วก็อาจารย์ว่าอย่างนั้น บางคนมันเกิด จะบอกว่า โง่ ว่าทิฏฐิเถอะ อาจารย์ว่าอย่างนั้นนะ ต้องเดินตามเส้นอย่างนี้เลยนะ มันไม่ใช่

อาจารย์ท่านว่าอย่างนั้น แต่เส้นชีวิตเรามันคดโค้ง เส้นชีวิตเรามันไม่เหมือนกัน เราทำตามกำลังของเรา มันให้ผลกับเราเอง

ถ้าเส้นชีวิตของเราคดโค้ง คือว่า ทางเรามันคนละเส้นทาง เราจะบังคับให้เหมือนทางของอาจารย์ เราก็ออกนอกเส้นทางของเราสิ

นอกเส้นทางคือนอกความเคยชิน นอกกิเลส นอกสิ่งที่มันอยู่ในหัวใจของเรา เราต้องบดขยี้กิเลสในใจเรา ตามหน้าที่ของเรา ตามเส้นทาง ตามความโค้งของถนน ตามความโค้งของวิถีชีวิตของเรา เราสู้กับมันด้วยคุณสมบัติของเรา นี่ไง ธรรมะของเรา ธรรมะของเราคือประสบการณ์จริงในหัวใจของเรา

ประสบการณ์จริงที่จิตมีกำลังแล้วบดขยี้กิเลส มันเหมือนรถบดถนนเห็นไหม มันบดจนเรียบหมดเลย ไอ้นี่ก็บดบี้กิเลสไป นี่วิปัสสนา จะบอกว่า อย่าไปเชื่อสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนว่า สิ่งนั้นเป็นสมถะ สิ่งนั้นเป็นวิปัสสนา เราทำของเราไปเถอะ มันจะเป็น โดยคุณสมบัติเลย แล้วเป็นคุณสมบัติแล้ว ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ลูกศิษย์มาทุกคนนะ หลวงปู่มั่น ท่านจะเทศน์เลย

“ทำความสงบของใจก่อน ต้องจิตสงบก่อนๆ”

แล้วผู้ที่เทศน์จิตสงบๆ นี่ ลูกศิษย์เป็นพระอรหันต์เยอะแยะเลย

ไอ้ที่ว่าวิปัสสนาๆ นี่ อาจารย์มันก็งงนะ แล้วลูกศิษย์ที่เป็นพระอรหันต์ไม่เคยเห็นนะ ไม่เคยเห็น ไม่เคยมีเลย แต่วิปัสสนาสายตรงนะ สติปัฏฐาน ๔ เลย เต็มที่เลย ไอ้สมถะๆ ไม่ใช่วิปัสสนา นี่ แต่ดูครูบาอาจารย์เราสิ คือ ตามข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ แล้วเราไปเอาแต่ทฤษฎี

แล้วเอาทฤษฎีนี่ พยายามสร้างล้างสมองกัน ว่ามันต้องเป็นวิปัสสนา สมองก็โดนเอาขี้ยัดไว้ ล้างไว้หมดแล้วว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิปัสสนา แล้วมันเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ? ถ้ามันเป็นจริงมันต้องมีผลสิ เพราะว่า ตรงนี้ ประสาเราว่า มันฝังหัวกันมาเยอะเรื่องอย่างนี้

เราเองนะ มันจะเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนาเราก็ไม่รู้ล่ะ แต่เราก็ดันของเรามา โดยที่ครูบาอาจารย์ เหมือนกับ ไถนา เราเป็นวัว อาจารย์ไถนาอยู่ข้างหลังเราก็ลากของเรามาจนได้ เราเหมือนกับวัวลากแอกมา จะเป็นสมถะหรือเป็นวิปัสสนา กูก็ลากของกูมา กูมีข้าวกินก็แล้วกัน เดี๋ยวข้าวกูออกเป็นรวงๆ เลยล่ะ

ไอ้วิปัสสนาๆ กูเห็นแต่ พลาสติก อันนี้ถือว่า จะพูดอย่างนี้นะแล้วจับหลักอันนี้ไว้ แล้ว เรามันจะมีหลักไว้ แล้วถ้าเขาโต้แย้งมา ยังจะสู้ต่อ ไอ้สติปัฏฐาน ๔ นี่ ให้โต้มา

อ้าว ถาม-ตอบ ปัญหานิดหนึ่ง เพราะเวลาเราน้อย เราตัดตรงนี้สัก ๔ โมง เดี๋ยวพระจะมานะ

ถาม : ๑. ผู้ได้บรรลุอริยผลทุกขั้น จะมีญาณทัสนะว่า ได้บรรลุขั้นนั้นๆ ทุกขั้นหรือไม่?

หลวงพ่อ : แน่นอน ก็นี่ไงที่วันนั้นพูดไป ที่ว่าลูกศิษย์เขาไปถาม ว่าพิจารณาแล้วมันปล่อย อาจารย์บอกว่านี่โสดาบัน เขาเอาซีดี มาให้เราฟัง

ลูกศิษย์บอกว่า “หนูไม่รู้อะไรเลยนะ”

อาจารย์บอก “เออ ไม่รู้นั่นแหละโสดาบัน”

“ทำไมถึงเป็นโสดาบันล่ะ”

“ก็เพราะไม่รู้นี่ไง ถ้ารู้ตั้งใจไม่ได้ ต้องปฏิบัติแบบไม่รู้ถึงจะได้”

โอ้ กูก็งง ก็บอกว่า นี่โสดาบันๆ ไอ้ลูกศิษย์ก็บอกว่า

“ไม่ใช่ๆ หนูไม่รู้อะไรเลยนะ หนูไม่เข้าใจอะไรเลยนะ”

“นี่แหละโสดาบัน”

“ทำไมถึงเป็นโสดาบันล่ะ”

“อ้าว ก็เพราะไม่รู้นี่ไง”

แล้วลูกศิษย์นั่งอยู่เยอะเลย ลูกศิษย์ก็บอกว่า แล้วพวกนี้อยากทำมาก ก็บอกว่าพวกนี้ไม่ได้หรอก เพราะมันอยากมาก มันอยากทำมากเลยไม่ได้โสดาบัน ไอ้คนที่ไม่รู้อะไรเลย ได้โสดาบัน

ก็นี่ไง โสดาบันต้องให้ครูบาอาจารย์รับประกันไหม? ครูบาอาจารย์แค่ฟัง หลวงตาท่านบอกเลย ให้พูดมา เราจะฟังเฉยๆ แล้วถูกหรือผิด เราแค่บอกตรงนั้น

ฉะนั้นคนที่จะรู้ว่าเป็นโสดาบัน บรรลุขั้น รู้ทุกขั้นไหม? ต้องทุกขั้น แล้วไม่ใช่รู้ธรรมดาด้วยนะ คนที่ปฏิบัติใหม่ๆ มันจะรู้ปลอมไปก่อน คำว่ารู้ปลอมหมายถึงว่า เราได้ข้อมูลไว้เยอะมาก พอจิตมันวิปัสสนาไปแล้ว มันปล่อยแล้ว มันว่างหมดเลย มันชั่วคราว มันจะให้ค่าว่านี่ โสดาบัน มันจะยึดว่าเป็นโสดาบันเลย ว่าเป็นโสดาบัน แต่ไม่ใช่

เห็นไหม การรู้ปลอม การรู้ไม่ใช่รู้ทีเดียวจะจริงเลยนะ เพราะอะไร? เพราะเราไม่เคยพบเคยเห็น มันจะปล่อยขนาดไหน ไม่ใช่โสดาบัน ไม่ใช่ มันเป็นตทังคปหาน มันปล่อยชั่วคราว พิจารณากายนี่แหละ แล้วมันปล่อยๆ ปล่อยขนาดไหนนะ มีปัญหาถามไปที่หลวงตาเยอะมาก ไปดูปัญหาหลวงตาตอบสิ ท่านจะบอกว่า ถูกต้องแล้วแหละ แต่ต้องซ้ำเข้าไปอีกนะ ซ้ำเข้าไปอีก

คำว่าถูกต้อง คือเดินมาถูกต้อง คำว่าซ้ำ หมายถึงว่ามันยังไม่ถึงที่สุด มันยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโสดาบันไง ถ้าซ้ำไปๆ ถึงที่สุด ผลัวะ! จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขาด พั้บ! ตัวเองรู้ก่อน

ทีนี้พอรู้แล้ว มันก็แบบว่า ธมฺมสากจฺฉา ก็อยากให้ครูบาอาจารย์รับทราบ ก็ไปรายงานท่าน ดูสิ หลวงตาท่านพิจารณา นั่งตลอดรุ่ง แล้วท่านขึ้นไปหา หลวงปู่มั่น พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น อธิบายเลย นั่งไปตลอดรุ่งเลย สู้กับเวทนา เวทนาขาดเลย ตัวเองปล่อยหมดเลย ไปถามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นว่า

“เออ คนเราไม่ได้ตาย ๕ อัตภาพ คนเราเกิดมาก็ตายหนเดียวนี่แหละ คราวนี้ได้หลักได้เกณฑ์แล้วล่ะ นี่เอาเลย”

นี่แหละโสดาบัน ตัวเองรู้อยู่แล้ว แล้วท่านบอกเลย แต่ก่อนขึ้นไปกราบหลวงปู่มั่นนะ ถ้าข้อวัตร เรื่องธรรมวินัยนี่เคารพบูชามาก แต่เรื่องธรรมะเราไม่รู้ก็เถียงกับท่าน แล้วคราวนี้มันรู้จริง มันไม่กลัวอะไรเลย แล้วหลวงปู่มั่นชมขึ้นมา ท่านบอก โอ้โฮ คึกไปใหญ่เลย

ต้องรู้ ไม่รู้เป็นพระโสดาบันไม่ได้หรอก ไอ้ที่ว่าไม่รู้อะไรเลย แล้วเป็นพระโสดาบัน โอ๋ย พวกเรานอนหลับตื่นขึ้นมาเป็นพระโสดาบันหมดแหละ อ้าว ไม่รู้อะไรเลย เขาตอบของเขาแปลกนะ บอกว่า เพราะไม่รู้ถึงได้เป็น โอ้โฮ เราฟังแล้วเราช็อกเลย เพราะไม่รู้ถึงเป็นพระโสดาบัน ถ้ารู้แล้วไม่ได้ มันขัดกับข้อเท็จจริงมาก

ฉะนั้นที่บอกว่า บรรลุแต่ละขั้นตอน จะรู้ทุกขั้นตอนไหม? ต้องรู้

ตัวเองรู้ก่อน จิตที่ทุกข์มันรู้ว่าทุกข์ จิตที่สุขมันรู้ว่าสุข จิตที่หลุดพ้นมันรู้ว่าหลุดพ้น แล้วพอหลุดพ้นแล้วเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์ ถึงพยายามจะหาครูบาอาจารย์ หาผู้ที่หลุดพ้นแล้วคุยกัน พอคุยกันแล้วมันอุ่นใจ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็อุ่นใจนะ อุ่นใจแต่มันแปลกประหลาดไง เหมือนสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งในสังคม

แล้วสังคมก็เป็นกันอย่างนั้น แล้วเราเหมือนเป็นสัตว์ประหลาดเลย เอ.. เอ.. อยู่นะ แต่มันก็รู้อยู่นะ รู้ว่าตัวมันเป็น คุณสมบัติมันเป็นอย่างนี้แหละ แต่มันจะสงสัยตัวเองว่า เอ.. เราเหมือนสัตว์ประหลาด แต่พอไปเจอ (โทษนะ) ไปคุยกับสัตว์ประหลาดด้วยกัน เออ ใช่เว้ย คราวนี้เราไม่ใช่สัตว์ประหลาดแล้ว เรามีเพื่อนแล้ว

อ้าว จริงๆ อารมณ์ความรู้สึกเป็นอย่างนั้นจริงๆ เหมือนเราเป็นสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งไม่เหมือนเขา ความคิด ความอ่าน มันก็ไม่เหมือนใครเลย เอ.. เอ.. พอไปคุยกับครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นนะ เออ ใช่ นี่ใช่ อ้อ ค่อยยังชั่วหน่อย อุ่นใจหน่อย โอ้ สัตว์ประหลาดมีหลายตัว ไม่อย่างนั้นจะคิดว่ามีสัตว์ประหลาดอยู่ตัวเดียว มันเป็นของมัน

อยู่กับโลกโดยไม่เหมือนโลก ไม่เหมือนเขาหรอก แต่อยู่กับเขา แล้วมันเป็นของมันเอง ที่ไปหาครูบาอาจารย์ที่คุยกันก็เพราะเหตุนี้ไง แต่พอมีคนบอกว่า เออ กูก็ทำอย่างนี้ แหม ค่อยยังชั่วหน่อย เหมือนกันๆ มันต้องรู้ รู้แล้วอธิบายให้คนไม่รู้ คนที่ไม่รู้วินิจฉัยผิดด้วย บอกไม่ใช่ คนที่รู้ถึงจะวินิจฉัยได้ถูกต้อง ว่าใช่

ถาม : ๒. กระผมไม่ถูกกับเพื่อนร่วมงาน จำเป็นต้องพบกันอยู่ทุกวัน ไม่อยากจะเจอ เราจะปฏิบัติตัวอย่างไร?

หลวงพ่อ : เราปฏิบัติประสาเรา รักษาใจเรานะ ถ้ารักษาใจเราแล้ว ทุกอย่างไม่มีปัญหาเลย รักษาใจเรา เพราะว่า โกรธเราก็รู้ว่าโกรธ สิ่งที่เราไม่พอใจอยู่ใกล้เคียง มันต้องปลุกอารมณ์เราอยู่แล้ว เรารักษาตรงนี้ต่างหากล่ะ ธรรมะมันเป็นของเรา รักษาใจของเรา ไม่มีใครที่ปรารถนาให้คนไม่รักชอบเราอยู่ใกล้เรา ต้องการคนที่รักชอบเราเท่านั้นถึงจะให้อยู่ใกล้เรา คนที่เกลียดชังไม่อยากให้อยู่ใกล้เราเลย แต่มันเป็นไปไม่ได้ในโลกนี้

อย่างเช่น ผู้หญิงนี้ชัดเจนมากเลย ผู้หญิงไม่อยากแก่ ไม่ต้องการสภาพแก่นี้เลย แต่หนีไม่พ้น เห็นไหม ผู้หญิงนี่ ไม่อยากแก่เลยล่ะ แล้วไม่ต้องการด้วย แล้วหนีมันพ้นไหม? อย่าว่าแต่คนข้างนอกนะ อย่าว่าแต่เพื่อนของเรา แม้แต่ร่างกายเราเอง เรายังไม่สมความปรารถนาของเรา

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้แล้ว เราเข้าใจของเราแล้ว เราจะอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอยู่นี้โดยสบายมาก มันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นอย่างนี้สุดวิสัยที่ใครจะเหนี่ยวรั้ง ความเป็นเพื่อน ความที่ดีกับเรา หรือไม่ดีกับเรา มันก็เป็นเวรเป็นกรรมด้วยนะ ยิ่งไม่ดี ถ้ามีกรรมต่อเรา ยิ่งเข้ามาใกล้เรา ยิ่งให้เราเจ็บปวด

ในสมัยพุทธกาล ในพระไตรปิฎก มีเพื่อนอยู่คู่หนึ่ง ผลัดกันฆ่าประจำ แล้วชาติที่เกิดในสมัยพระพุทธเจ้า เพื่อนคนหนึ่งเขาไปทำงานด้วยกัน แล้วกลับมาด้วยกัน นอนอยู่ในป่า คนหนึ่งหลับ เพื่อนอีกคนจะลุกขึ้นมาฆ่าเขาเลย พระพุทธเจ้ามาด้วยฤทธิ์เลย (อยู่ในพระไตรปิฎก)

มาถึง บอก “อย่านะ อย่าฆ่า อย่าฆ่า” แล้วบอกให้ปลุกเพื่อนที่หลับให้ตื่นขึ้นมา แล้วพระพุทธเจ้าเทศน์เลย ว่า ๒ คนนี้ ผลัดกันฆ่า มาอย่างนี้ ทุกภพทุกชาติ เมื่อชาติที่แล้ว คนที่นอนหลับอยู่ ฆ่าคนที่จะฆ่าอยู่ แล้วมาชาติปัจจุบัน คนที่ลุกขึ้นมาจะฆ่าเพื่อนนั้นอีก พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า อย่าฆ่าๆ แล้วปลุกเพื่อนขึ้นมา แล้วเทศน์

“เธอทำกันอย่างนี้มากี่ภพกี่ชาติแล้ว ให้ ๒ คน ให้อภัยต่อกัน”

แต่นี้เพื่อนของเรา เราเกลียดเขาหรือเขาเกลียดเรา เขาไม่เกลียดเราก็ได้ เขาไม่รู้ตัวก็ได้ แต่เรามีเรื่องขุ่นเคืองในใจของเรา ฉะนั้นเราต้องรักษาใจของเรา เห็นไหม ดูสิ หลวงตาท่านพูดเลย

“อย่าว่าแต่ชนชาติใดนะ ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ท่านเมตตาหมดเลย” หลวงตานี่

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ดูสิ ท่าน ช่วยโรงพยาบาล ทุกภพทุกชาติ เมืองไทย ในลาว ในพม่า ไปหมดเลย ท่านช่วยหมด การจะแก้ นี่นึกถึงคำว่าจะแก้อย่างไร? จะแก้ มันแก้ที่เขาไม่ได้ มันต้องแก้ที่ใจเราไง เราต้องปรับทัศนคติในใจของเรา เจ็บไหม? เจ็บ เจ็บเพราะอะไร?

เวลาเราปฏิบัติ เราอยากเห็น ทุกคนภาวนา จะเป็นสติปัฏฐาน ๔ ไง อยากเห็นกาย อยากเห็นเวทนา อยากเห็นจิต อยากเห็นธรรม ไอ้นี่เห็นเจ็บไง ไม่เห็นเหรอมันเจ็บ เห็นไหม ถ้าเห็นทำไมไม่สู้มัน นี่ก็เป็นวิปัสสนาอันหนึ่งนะ ถ้าเห็นแล้วมันเจ็บ ต้องสู้มันเลย มึงไปโกรธเกลียดเขาเรื่องอะไร?

ในส่วนตัวของเขา เขาจะทำผิดของเขาก็ได้ มันเป็นนิสัยของเขา (โทษนะ) ธรรมะเป็นอย่างนี้จริงๆ ด่าตัวเองว่า มึงเสือกอะไรเรื่องของเขา ต้องด่ามัน ด่าใจเรา มึงนี่เสือก มันเรื่องของเขา แต่ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นผู้ที่มีกรรมร่วมกัน เราคุยกันเข้าใจได้ เฮ้ย มันทำอย่างนี้มันผิดนะ เอ็งควรทำอย่างนี้นะ ถ้าเอ็งทำอย่างนี้ได้ เอ็งจะดีขึ้นนะ ถ้าเขาฟังเรา เราคุยกันได้ก็คุยกัน ถ้าคุยกันไม่ได้นะ เราต้องรักษาที่ใจเรา มันเป็นสิ่งที่เราจะไปแก้ไขตรงนั้นไม่ได้

เราเป็นพระมา เราเจอเรื่องอย่างนี้มาเยอะมาก เราเป็นพระนะ แล้วเณร เขาเอาเณรมาคอยกลั่นแกล้งเรา ตามธรรมวินัย เณร กับฆราวาส ไม่มีสิทธิ์เท่าพระ พระมีสิทธิ์มากกว่า เราโดนเณร แกล้งมาเยอะมาก แต่เณรไม่รู้เรื่องหรอก แต่พระฝึกเณรสอนเณร ให้มาแกล้งเรา เพราะเห็นว่าเราภาวนา เราไปเร็วมาเร็ว เวลาเราจะไปล้างบาตร เขาเอาเท้า เณรนะ เอาเท้ามาเหยียบยางล้างบาตรไว้หมดเลย ไม่ให้เราล้าง

เราภาวนานะ เราก็อมน้ำไว้ แล้วเราก็ล้างบาตร แล้วเราก็หลบไปหลบมา แล้วเราก็กลับ พอกลับไปถึงที่กุฏิ มันคายน้ำออกนะ โอ้โฮ ลมมันออกหู ลมมันออกเต็มไปทั้งตัวเลย แล้วก็มาเดินจงกรม ปัญญามันเกิด

เมื่อกี้นี้ถ้าเราคุมสติไม่ได้ เรา ตามสิทธิ์ เราทำได้ เพราะเขาผิด เพราะว่าการล้างบาตรมันเป็นกิจของสงฆ์ สงฆ์เป็นคนเอาน้ำใส่ตั่งล้างบาตร ยางนี่เราก็หากันมา เป็นสิทธิ์ของสงฆ์ แล้วสงฆ์เป็นคนทำเอง สงฆ์ก็มีสิทธิใช้ แล้ว เณรมันมีศีลน้อยกว่า มันไม่มีสิทธิทำอะไรทั้งสิ้น เขาทำผิดหมดเลย ถ้าเราพูดตามสิทธิ์ เราถูกหมดเลย

แต่เราไม่พูด เพราะพูดออกไปแล้ว เพราะว่าเขาตั้งใจมาแกล้ง เราพูดไปมันเหมือนกับเราเข้าทางเขา นี้พอเรากลับมาทางจงกรมนะ มันก็ขึ้น

“ถ้าเมื่อกี้นี้ เราคุมสติเราไม่ได้ เราใช้สิทธิทำถูกต้องของเรา ทำออกไป มันก็เกิดกระทบกระทั่งกัน”

เพราะเขาต้องการให้กระทบกระทั่งกัน ถ้ากระทบกระทั่งกันแล้วนี่ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เรื่องนี้ต้องไปถึงอาจารย์ ถ้าถึงอาจารย์แล้ว อาจารย์ก็ต้องมาเคลียร์ปัญหาให้เรา อาจารย์ก็เดือดร้อนเพราะเรา ถ้าเรารักษาจิตเราดวงเดียวนะ เรื่องก็ไม่เกิด อาจารย์ก็ไม่เดือดร้อน ในวัดก็ไม่มีปัญหา อู๋ย สุขสบาย

เวลาเดินจงกรมเห็นไหม ปัญญามันมาขึ้นทีหลังนะ แต่ตอนที่โดนไม่ทันหรอก ลมควันจะออกหูนะ อมน้ำไว้ แล้วเดินจงกรมนะ แล้วโดนอย่างนี้หลายครั้ง บ่อยมาก เพราะเขาเห็นว่าทำเราไม่ได้ เขาแหย่เราไม่ได้ เขาก็แหย่หนักขึ้นไป แหย่หนักขึ้นไป แล้วบางทีเดินจงกรมนะ เราจะได้ เราอดทนไว้ก่อน แล้วกลับมาหาเหตุผลเพื่อมาเคลียร์

เคลียร์อารมณ์ ไฟที่อัดในใจ ทีแรกมันอยู่ในเหตุการณ์ เราตั้งสติ ด้วยขันติบารมี พอกลับมาถึง ถ้าไม่อย่างนั้น แหม ความคิดเรานะ ลองอาฆาต บาดหมางใคร เดี๋ยวมันก็ไปล่อเขา มันต้องล้างมือให้เกลี้ยงไง มาเดินจงกรมๆ

แล้วฟังธรรมะ ที่บอกว่า ขันติอย่างหยาบ คือ คนที่มีอำนาจเหนือกว่า ติเตียนเรา เราทนได้คือขันติอย่างหยาบๆ คนที่เสมอกัน ติเตียนเราได้ ขันติอย่างกลางๆ ไอ้เด็กน้อยไอ้คนที่ไร้เดียงสามันมารังแกเรา เราทนได้ นี่ยอดของขันติ แหม มันยกหางไง เณรมันรังแกเราได้ ยอดของขันติ มันทนได้มันเก่ง นี่แก้ที่ใจเรา เราแก้เรื่องอย่างนี้มาเองนะ

ในการปฏิบัติ ในวงการทุกวงการจะมีคนดีและคนไม่ดี แล้วเราทำดีขนาดไหน ยิ่งทำดียิ่งเป็นสิ่งที่ ฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายที่เขาไม่เห็นดีด้วย เขาจะต้องดึงลงมาให้ได้ๆ ไม่ให้ไปได้ เราเจอปัญหานี้ เยอะมาก เจอมาตลอด เราถึงเข้าใจ หัวอกของพระไง พระที่มาอยู่กับเรา เราจะดูแลของเราเอง เราจะรักษาของเราเอง เพราะเราผ่านประสบการณ์ชีวิตเรามาเยอะมาก ทั้งทางดีและทางไม่ดี

ทางไม่ดี หมายถึง ไม่ใช่เราทำไม่ดีนะ เขาทำไม่ดีกับเรา แต่เราไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี เพราะ เรารู้ว่า ชีวิตเรา เรามุ่งหมายอะไร ถ้าเราจะทำไม่ดีนะ เราสึกไปอยู่กับโลกนะ กูทำได้ทุกอย่าง เวลาเพื่อนมาถาม ถามว่าเรามีความสุขไหม? บอกมีความสุขสิ ถ้ามึงเชื่ออย่างนั้น ถ้ากูไม่เชื่อนะ กูออกไปปล้นๆๆ เลย กูสุขสบายเลย กูไม่ต้องทำกินเลย เพราะกูเชื่อเรื่องกรรม กูถึงไม่ทำ กูไม่ทำอย่างนั้น

เวลาเพื่อนมาเยี่ยม มาถาม เขามาถามว่า บวชมานี่ เสียดายไหม? บวชมาหลายสิบปีนี่เสียดายไหม? บอก กูไม่เสียดาย เพราะเพื่อนกัน เขาจะไม่เข้าใจหรอกว่า เราภาวนาเป็นอย่างไร เพื่อนก็คือเพื่อน

ลูกๆ ไปหาพ่อแม่ เห็นไหม ลูกเป็นอธิบดีนะ มาพักบ้าน แม่เรียกคุณหนูๆ เพื่อนก็คือเพื่อน มันไม่เชื่อหรอก แต่ถึงเวลา ตอนนี้มันชักแปลกใจ ว่าทำไมเราพูดอะไรตอนนี้คนเขาฟังกันเยอะ มันชักแปลกใจๆ มันต้องถึงเวลาของมันเอง นี่พูดถึงการแก้ไขนะ เราจะบอกว่า เราจะไม่มีอะไรได้ดั่งใจหรอก ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี เราคิดอย่างนี้นะ เราคิดแล้วเราสังเวชมากนะ

พระพุทธเจ้าพยากรณ์เอาไว้ว่า

“กึ่งพุทธกาล ศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง”

แล้วเราเกิดช่วงกึ่งพุทธกาลกัน แล้วดูสังคมสิ ต่อไปดูสิ ตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่น แล้วครูบาอาจารย์เรา แล้วสมัยพวกเราต่อไป ดูสังคมของพระกับสังคมของโยมสิ ว่าหลักเกณฑ์มันจะมีมากมีน้อยแค่ไหน มันจะเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ ไง มันไม่มีอะไรหรอกเห็นไหม มันไม่มีอะไรคงที่หรอก แม้แต่สังคม แม้แต่ความเชื่อถือของสังคม แม้แต่ผู้นำของเรามันก็จะน้อยไปเรื่อยๆ นี่ชีวิตของเรา เราก็จะได้เจอสภาพนี้ ชีวิตต่อไปเขาจะไม่ได้เจอครูบาอาจารย์อย่างที่เราเจอกันนะ

ครูบาอาจารย์ที่เราเจอกันนี่ คนที่มาเกิดรุ่นใหม่ๆ เขาจะไม่ได้พบเห็นอาจารย์อย่างพวกเราเห็นนี้ เขาจะไปเจอพระของเขาข้างหน้า มีอะไรคงที่บ้าง? มีอะไรจะได้ดั่งใจเราบ้าง?

ฉะนั้นถ้าคิดได้อย่างนี้ กลับมารักษาใจนะ กลับมารักษาใจเรา แล้วเอาเราให้ได้

อันนี้ข้อที่ ๒ นะ

ถาม : ๓. ปฏิบัติบางครั้ง เหมือนหยุดความคิดได้ แต่ความรู้สึกว่าเป็นทุกข์มันมีกำลังมากกว่าจะทำอย่างไรดีครับ?

หลวงพ่อ : การหยุดอย่างนี้มันหยุดเปลือก แต่ถ้าเป็นการหยุดจริงนะ มันหยุดหมดเลย การหยุดจริงๆ หมายถึงว่า เกียร์นี่ เกียร์รถ รถอยู่ในเกียร์ แรงหมุนของเครื่องยนต์ มันต้องถ่ายกำลังลงไปใช่ไหม นี่มันไม่หยุดจริง เหมือนกับรถมันวิ่งอยู่ แรงเครื่องกับแรง มันพอดีกัน มันก็เลยถือว่าหยุด มันเลยทุกข์ไง มันเลยทุกข์อยู่

คำถามมันจะฟ้องถึงผลของใจที่ทำนั้น ถ้าเราปลดเกียร์ว่าง แรงของเครื่องยนต์ เราเหยียบขนาดไหน เครื่องยนต์มันก็จะไปหมุนของมัน แรงของล้อมันแยกอิสระหมด ถ้าหยุดความคิด ความคิดมันไม่ใช่จิต ความคิดคือขันธ์ ๕ ความคิดอาการของจิตกับตัวพลังงาน ถ้ามันหยุดได้ มันจะฟรี พอมันฟรี คนที่หยุดได้ คำว่าหยุดได้ พอมันหยุดปั๊บ โอ้โฮ ว่าง.. สุขมาก ไอ้นี่หยุดได้ ทำไมมันทุกข์ล่ะ นี่มันต่างกัน

ปฏิบัติบางครั้ง เหมือนหยุดความคิดได้ แต่ความรู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ ทุกข์มันมีกำลังมาก อ้าว หยุดแล้วทำไมมันทุกข์ นี่เห็นไหม มันขัดแย้งกัน แต่ถ้ามันหยุดนะ พอหยุด ทุกคนจะสะดุ้งเลยนะ โอ๊ะ! โอ๊ะ! ใหม่ๆ นี่จะเห็นว่า มันหยุด เหมือนเราขับรถมา เราขับรถมาเห็นไหม เวลาเราเข้าเกียร์ผิด เหยียบคันเร่งไป หวืด! เกียร์ว่าง ตกใจไหม เหมือนกัน ความคิด ทดเฟือง มันเฟืองของมันอยู่ พอเราพิจารณาไป มันปลดเกียร์ว่าง ปุ๊บ หลุดออกจากกันเลย เหยียบ หวืด! หวืด! ไม่มีแรงส่งถึงกันเลย มันแยกความคิดกับจิตไง

คำว่า หยุดคิดๆ คือ ถ้าความคิดมันหยุด ความคิดมันมาจากไหน? ความคิดมาจากจิต

ทีนี้ ปัญญาเราไล่ตามความคิดไป พอมันตามความคิดไป ความคิดมันหยุด พอความคิดมันหยุด จิตมันฟรีไง จิตมันว่างหมด กำลังของจิต เฟืองมันไม่ทดไปที่เครื่องยนต์ ว่าง.. อย่างน้อยต้องแปลกใจ อย่างมากมีความสุข ใหม่ๆ จะมีความสุขมาก

แล้วพอมีความสุข ความสุขเกิดขึ้นบ่อยครั้งๆ จนเป็นเรื่องธรรมดานะ แล้วบอกทำไมเมื่อก่อนมันสุข เดี๋ยวนี้ทำไมมันไม่สุขล่ะ อ้าว ครั้งแรกก็ตกใจ แต่ถ้ามันเหยียบฟรี บ่อยๆ เข้า เออ รู้แล้วว่ามันว่าง มันเลยไม่ตื่นเต้น เพราะมันหยุดบ่อยๆ ครั้งเข้า

มันจะบอกว่า อารมณ์ความรู้สึกมันจะจางลงๆ คำว่าจางลงนี่ มันไม่ใช่ว่ามันไม่มีผลนะ คำว่าจางลงคือ มันจะละเอียดขึ้นไง ความดี ที่ดีกว่านี้ไง ความดีที่ดีกว่านี้นะ พอมันจางลง สติมันพร้อมขึ้น คือมันมั่นคงไง จิตตั้งมั่น เอกัคคตารมณ์ จิตเป็นหนึ่ง จิตตั้งมั่น จิตมีกำลัง แต่เดิม พวกเราไม่มีกำลัง เหมือน สามล้อถูกหวยเลย ถีบสามล้อเกือบตายไม่มีสตางค์ วันหนึ่งถูกรางวัลที่หนึ่งขึ้นมาได้หลายล้านเลย ดีใจมาก

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลามันว่าง สามล้อถูกหวยคือมันว่างหมด มันตื่นเต้นมาก แต่พอเรามีเงินล้านขึ้นมา เราประกอบธุรกิจขึ้นมาแล้ว มันเป็นหน้าที่รับผิดชอบเราหมด คือว่าผลตอบแทนมันเสมอกัน มันก็ไม่ตื่นเต้น

จิตถ้ามันปล่อยวาง บ่อยๆ ครั้งเข้า มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันเห็นไหม นี่ที่ว่า ปีติ ใหม่ๆ เข้าไป มันจะ โอ้โฮ เกิด ปีติ เกิดความรู้สึกตื่นเต้นมากเลย แล้วก็ทำไป ทำไป เดี๋ยวนี้ทำไมมันไม่มี? มี มี แต่เพราะมันเป็นเรื่องปกติ มันเป็นเรื่องจิตที่มันมั่นคงขึ้น

เหมือนเราเป็นผู้ใหญ่ เรามีความรับผิดชอบขึ้น เราบริหารองค์กรมากขึ้น ความดูแลของเรา เราต้องรับผิดชอบหมด แต่ถ้าได้ตำแหน่งใหม่ๆ นะ โอ้โฮ ตื่นเต้นมากเลยนะ แต่บริหารเป็นหรือไม่เป็นไม่รู้ แต่เราบริหารไปแล้ว เดี๋ยวจะรู้ว่าบริหารถูกหรือไม่ถูก ทำไปนะ

การปฏิบัติบางครั้งเหมือนหยุดความคิดนี่ เหมือนหยุดความคิด คำว่าเหมือนหยุดความคิดไม่ได้ ถ้าหยุดความคิดคือเราตั้งสติไป เริ่มต้นที่พูด พุทโธ พุทโธ เป็นสมาธิอบรมปัญญา แต่ถ้าเราเป็นปัญญาชนมันพุทโธ พุทโธ นี่มันศรัทธาจริต

พอศรัทธาจริต เราพุทโธอย่างเดียว มันเหมือนกับว่ามันไม่มีเหตุมีผล จิตของเรา กิเลสของเรา มันจะโต้แย้ง พอมันจะโต้แย้งเราต้องใช้สติ ตามความคิดไป ตามความคิดไป ใหม่ๆ ใช้ความคิดไม่ได้ เพราะความคิดมันมีหนึ่งเดียว เราใช้มันซ้อนขึ้นมา ความคิดมันจะเกิดไม่ได้ เราใช้สติตามมันไปก่อนๆ ตามความคิดไปๆ สติมันคิดอะไร ตามมันไปๆ

ถึงที่สุดต้องมีสติเห็นไหม พอคำว่ามีสติ มันหยุดได้ พอหยุดได้ต่อไป สติมันตามไป ปัญญามันจะเกิด เริ่มต้นมันจะเกิดตั้งแต่มันหยุดได้ พอหยุดได้มันจะเห็นเลยว่า การหยุดนี้ กับการไม่หยุด มันให้ผลต่างกัน การไม่หยุดมันวิ่งไปตามความคิด มันเหนื่อยมาก หอบมาก ทุกข์มาก แต่ถ้ามันหยุดได้ หยุดได้มีความสุข

มีความสุขหมายถึงว่า เราควบคุมมันได้ พอควบคุมมันได้ปั๊บ มันเห็นดีและชั่วไง ควบคุมได้ถึงเป็นความสุข ดีกว่าความทุกข์ พอมันเห็นโทษใช่ไหม มันก็เห็นคุณ เห็นคุณของการที่จิตหยุดคิด เห็นโทษของการคิด

แล้วที่คิดนี้เป็นโทษ แล้วเราจะคิดอีกไหม แต่เราหยุดคิดไม่ได้ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นตัณหา มันเป็นเรื่องธรรมชาติของจิต ไม่อย่างนั้นมันหยุดคิดไม่ได้เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นเรื่องของโลก แต่เรื่องของสติตามไปเป็นเรื่องของธรรม

ถ้าเรื่องของธรรม ตามความคิดไป มันหยุดได้ พอหยุดได้ ธรรมมันเกิด พอธรรมมันเกิด มันมีปัญญา ปัญญาของธรรมมันเกิดเห็นไหม บอกความคิดนี่ มันคิดโดยธรรมชาติของขันธ์ มันคิดโดยธรรมชาติของมัน แต่ แต่เพราะมีตัณหาความทะยานอยาก เพราะมันมีแรงบวกของความพอใจ แต่ถ้าพอปัญญามันตามไป ธรรมชาติของความคิดกับความพอใจมันคนละเรื่อง

ความพอใจความไม่ต้องการ ความแสวงหา อันนั้นมันเป็นตัณหาความทะยานอยาก แต่ธรรมชาติของความคิดมันหยุดไม่ได้ มันมีของมันเป็นธรรมชาติของมัน แต่มันโดนตัณหา มันยุแหย่เท่านั้นเอง นี่สติมันตามไป ความคิดมันตามไป นี่ปัญญาอบรมสมาธิเพราะอะไร? เพราะ มันคิดเรื่องความคิด มันไม่ได้คิดเรื่องขันธ์กับจิต

นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ตามมันไปๆ พอตามไป สติมันตาม มันคิดบ่อยครั้ง มันก็หยุดบ่อยครั้ง บอกว่า หยุดๆๆๆๆ จนปัญญาที่สติมันมีกำลังมากกว่า ความคิดนี่คิดไม่ได้เลย จนพระที่ปฏิบัติกับเรานะ พอกำลังไม่พอใช่ไหม แต่ความคิดมันจะคิด มันเป็นรูปธรรมเลย มันพูดกับความคิดนะ นี่สมองมันคิดเลย

“เฮ้ย มึงหยุดคิดสิ กูเหนื่อยฉิบหายเลย” มันพูดกับความคิดมันนะ แล้วความคิดมันก็หยุด

นี่พอปัญญามันเกิดมันจะมี ปัญญาของมันไป นี่ปัญญามันจะเกิดนะ นี่ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วบอกที่มันหยุดคิดๆ ความคิดมันคิดอย่างไร? แล้วมันจะหยุดอย่างไร? แล้วเราจะดูแลมันไป ค่อยๆ ดูแลไป มันจะเป็นความจริงของมัน

เนี่ย ที่ว่าหยุดคิด หยุดคิด ไอ้ที่ว่าดูเฉยๆ เราค้านตรงนี้ประจำ แต่เขาก็บอกว่าเวลาเราพูดกับเขาก็เหมือนกันๆ ไม่เหมือนหรอก ถ้าดูอย่างที่เขาพูดทีแรกเห็นไหม ว่ามันกดจิตเกินไป จิตมันหน่วงเกินไป จิตมันทุกข์เกินไป

ถ้าจิตหน่วง จิตทุกข์เกินไป แล้วบอกให้ดูเฉยๆ เราถึงบอกว่ามันเหมือนกับ ให้เราปล่อยวางเฉยๆ เหมือนกับทำกับข้าว คือว่า กลับมาที่ไม่ต้องทำ แต่ถ้าเป็นความจริงมันไม่ใช่กลับมาที่ไม่ต้องทำ มันต้องทำต่อไป จนกับข้าวนั้นเสร็จถึงจะถูก ทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องทำจนถึงผลตอบสนองมันมี ไม่ใช่ถอนกลับมาที่ไม่ทำ

ถ้าถอนกลับมาที่ไม่ทำ มันก็ไม่มีอะไรเลย มันก็เลยเห็นไหม พอมีทัศนคติอย่างนี้ มันก็เลยบอกว่า ทุกอย่างเป็นธรรมดา ธรรมะเป็นธรรมดา ธรรมดาเป็นธรรมะ ถ้าอย่างนั้นคนเกิดมาก็เป็นธรรมะแล้ว เพราะเราเกิดมาในธรรมชาติ

การเกิดและการตายเป็นเรื่องธรรมดาใครฝืนได้ แต่พระพุทธเจ้าบอกไม่ใช่ พระพุทธเจ้าบอกมีฝั่งตรงข้าม มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องมี ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ใช่ธรรมดา

มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย ต้องมีฝั่งตรงข้ามที่ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่ใช่มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เออ เป็นธรรมดา เป็นธรรมดา ก็ตายธรรมดา ปฏิบัติธรรมดา ปฏิบัติฟรีๆ

เวลาเขาจะมารวบยอดว่าเราพูดเหมือนกันๆ ไม่เหมือน เราพูดตรงข้ามเลยนะ พูดตรงข้ามกับเขาเลย แต่เขาว่าเราพูดเหมือนกันเป็นธรรมดา เราถึงบอกไม่มี ธรรมดาวิมุตติไม่มี

ใครมีอะไรอีกไหม ถ้าไม่มีอะไร เราขอพักนะ เอวัง