เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ พ.ค. ๒๕๔๖

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พระพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฝากไว้ ฝากไว้ให้เรารักษาศาสนา ใครรักษาศาสนาได้ขนาดไหนก็เป็นศาสนาขนาดนั้น เวลาพระพุทธเจ้าฝากไว้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ เป็นกษัตริย์ แล้วมีความสุขในประสาโลก มีความสุขของเขาตามประสาโลกมีอย่างนั้น แต่ก็ยังต้องแสวงหา เห็นไหม ออกแสวงหาธรรมอยู่ ๖ ปี

การออกแสวงหาธรรม พยายามทำความเพียรขนาดไหนก็พยายามจะทำขนาดนั้นเพื่อจะให้ได้ธรรมมา แต่ศึกษาไปขนาดไหนก็ไม่ได้ธรรมของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ เจ้าลัทธิต่างๆ ทำอยู่นั้นไม่ใช่ทาง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยตนเอง ด้วยตนเองนะ เป็นธรรมที่ชำระกิเลสในหัวใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเผยแผ่ธรรมมา เห็นไหม

แล้วพระกัสสปะเป็นผู้ที่ว่าอายุก็เท่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือธุดงควัตร พระกัสสปะถือธุดงควัตรจนสังฆาฏินี่ปะซ้ำปะซากจน ๗ ชั้น จนหนามาก จนพระพุทธเจ้าขอแลกไง แลกกับพระกัสสปะ ขอแลกมาเพื่อว่าให้พระกัสสปะได้ห่มสังฆาฯ ใหม่ เพราะสังฆาฯ นี้เป็น ๒ ชั้น แต่ปะถึง ๗ ชั้นขึ้นมา นั่นเพราะว่าพระกัสสปะทำเป็นตัวอย่างไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามว่า “เธอทำนี้เพื่อประโยชน์สิ่งใด?”

พระกัสสปะบอกว่า “ทำไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เป็นแบบเป็นอย่าง เป็นที่ว่ากล่าวอ้างได้ว่ามีผู้ทำมาแล้ว”

พระกัสสปะเป็นพระอรหันต์นะ แต่ในการที่ว่าทรงธรรมทรงวินัยไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นว่าพระกัสสปะจะเป็นผู้ที่ว่ารับธรรมต่อไป รักษา ฝาก เห็นไหม ฝากธรรมไว้บริษัท ๔ นี่ฝากพระกัสสปะไว้

พระกัสสปะถึงว่าทำสังคายนาด้วย แล้วต่อให้อนุชนรุ่นหลังเป็นแบบอย่างตลอดมา แล้วแต่ใครจะเข้าถึงธรรม ถ้าเข้าถึงขนาดไหนก็ทรงได้ขนาดนั้น แต่พวกเราเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้ พวกเรานี่มีภาระมาก ทุกคนมีภาระอยู่แล้ว จะฝากฝังให้เรารักษาอีก รักษาไปไม่ได้ แล้วแต่คนจะมีความคิดเห็นอย่างไร

เวลาแม่พระสารีบุตรนี้ เห็นไหม แม่พระสารีบุตรมีลูกชายเป็นพระอรหันต์ถึง ๗ องค์ แต่ตัวเองเป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วพระสารีบุตรว่าคิดอย่างไร จะทำให้แม่จะทรมานแม่ได้ สุดท้ายแล้วไปดูก็ไม่มีใครทำ จนไม่มีใครสามารถทำได้ ต้องพระสารีบุตรนี้เป็นผู้ที่ทรมานเอง

นั่นน่ะไปลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน แล้วกลับไปที่บ้าน เห็นไหม กลับไปที่บ้านจะไปนิพพาน ไปนิพพานนะ เข้าไปในบ้าน แม่ของสารีบุตรเห็นพระสารีบุตรเดินมา นึกในใจนะ เห็นว่าบวชตั้งแต่หนุ่มจนแก่ นี่จะกลับมาสึก ความเห็นนี่เห็นผิดอยู่ตลอดไป

แต่คืนนั้นนะ คืนนั้นพอเข้าไป พระสารีบุตรนี้มีโรคประจำตัว เวลาโรคประจำตัวนี่เป็นโรคถ่ายท้องประจำ พระอินทร์ลงมาเป็นแสงพุ่งเข้าไปในห้อง เห็นนะ เห็นว่านั่นใครมา ถามลูก “นั่นใครมา?”

“นั่นพระอินทร์มา”

“นั่นพรหมมา”

จะมาอุปัฏฐากพระสารีบุตร เห็นไหม

นั่นน่ะเห็นสภาวะแบบนั้น ถึงถามว่า “นั่นใคร? นั่นใคร?” ลูกเรามีความสามารถขนาดนี้เชียวเหรอ?

พอใจอ่อนควรแก่การงาน พระสารีบุตรถึงได้เทศน์สอนไง เทศน์คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่แหละ

คุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแสวงหาธรรมขนาดไหน สร้างสมบารมีมากว่าจะเกิดได้แต่ละองค์นี้เป็นของที่แสนยาก การจะเกิดได้แต่ละองค์นะ เพราะว่าธรรมนี่เป็นของที่ละเอียดอ่อนมาก อยู่ในหัวใจของเราแล้วเรามองสิ่งต่างๆ ออกไป เรามองจากข้างนอก เราไม่ได้มองเข้ามาในหัวใจ เราจะไม่เห็นสิ่งนี้เลย

ใจนี่มีความรับรู้ต่างๆ แล้วส่งออกๆ ส่งออกไปรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วก็พุ่งออกไปข้างนอก ไปรับรู้สิ่งต่างๆ แล้วไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งจากภายนอก นี่ย้อนกลับเข้ามา มันลึกซึ้งมาก จะไม่มีใครเห็นได้ ต้องพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นั่นน่ะคุณของพระพุทธเจ้า กว่าจะเกิดได้ขนาดนั้นนะ

แม่ของพระสารีบุตรได้ฟังเป็นพระโสดาบันมาคืนนั้น แล้วมีความสุขมาก แล้วถึงกับเสียใจนะ ร้องไห้บอกว่า “ลูกชายไม่รักแม่เลย ถ้ารักแม่ ควรจะบอกสิ่งนี้แก่แม่มานานแล้ว” แต่เมื่อตอนเย็นเวลาจะเดินกลับไปบ้าน “ลูกเราบวชตั้งแต่หนุ่มจนแก่ จะกลับมาสึก” เห็นไหม นี่ใจของคน ถ้ามันยังไม่เปิด มันเป็นสภาวะแบบนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ฝากศาสนาไว้กับพวกเรา ฝากศาสนาไว้กับบริษัท ๔ ฝากศาสนาไว้กับเราได้อย่างไรในเมื่อเรามีภาระรับผิดชอบมหาศาล

สิ่งที่เรามีภาระรับผิดชอบ เราจะรับผิดชอบอะไรอีกต่างๆ นั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าใจคนเปิดขึ้นมามันรับภาระได้ สิ่งที่รับภาระได้ เห็นไหม เราทำบุญกุศลเป็นบุญกุศลของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางศาสนาไว้ แล้วทำไว้เป็นธรรม เช้าขึ้นมาพระออกบิณฑบาตเพื่อเลี้ยงชีวิต เห็นไหม สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ คือเลี้ยงการประพฤติปฏิบัติชอบ อาชีวะเลี้ยงใจให้ใจชอบ

แต่ธาตุขันธ์มันสิ่งที่ต้องการอาหาร ต้องการสิ่งที่ว่าสืบต่อชีวิตของมันก็ให้บิณฑบาต บิณฑบาตเพื่อเลี้ยงชีพ เห็นไหม เพื่อเลี้ยงธาตุขันธ์ไว้เพื่อเอาไปศึกษาศาสนา เอาไปศึกษาไง ทำความสงบของใจเข้ามา ศึกษาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเพื่อให้ใจนี้เข้าถึงธรรม ถ้าเข้าถึงธรรมได้จะเห็นคุณธรรม

ธรรมและวินัยมันเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เป็นคำสั่งสอน ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นธรรมอย่างประเสริฐที่สุด แล้วใครจะเข้าถึงธรรมอันนั้นได้ ใครเข้าถึงได้มากก็จะมีความเคารพมีความเลื่อมใสได้มาก จะรักษาทรงธรรมทรงวินัยไว้มาก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน มารมาดลใจตลอดนะ เพื่อให้ศาสนานี้สั่นคลอนไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ไป เห็นไหม พญามารทรมานจนคอตกนะ จนลูกสาว ๓ คนเห็นว่าพ่อคอตกเพราะอะไร

“เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดมือไปแล้ว หลุดมือของเราไป”

นางราคะ นางตัณหา นางอรดีบอกว่า “พ่อไม่ต้อง เราจะไปล่อลวงเอง”

นางราคะ นางตัณหา นางอรดีไปร่ายรำนะ ในภาพวาดตามโบสถ์ เห็นไหม ร่ายรำจะไปล่อ

นั่นน่ะแม้แต่พ่อของเขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังฆ่าได้ ส่วนลูกจะมาล่อเป็นไปไม่ได้ ใจคนเข้าถึงธรรมแล้วจะเห็นสิ่งสภาวะแบบนี้ แล้วมันจะละเอียดอ่อนเข้าไป รักษาธรรมเข้าไป ในหัวใจปล่อยวางสิ่งต่างๆ ทั้งหมด

เพราะว่าลูกพญามารทั้ง ๓ มันก็คือความรู้สึกของเรานั่นแหละ สิ่งที่ความรู้สึก เห็นไหม ความโลภ ความโกรธ ความหลงในหัวใจของเรามันเป็นลูก แต่พ่อของมันคือความไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้ถึงติดนั้นไป อวิชชานี่ความไม่รู้ ไม่รู้ในสิ่งล่อต่างๆ สิ่งล่อต่างๆ อยู่ในหัวใจนะ นั่นน่ะเข้าถึงธรรม เข้าถึงสภาวธรรมอันนี้

ถ้าเข้าถึงสภาวธรรมอันนี้ มันจะละเอียดอ่อนเข้ามา เห็นไหม มันศึกษาธรรมวินัย ถ้าธรรมวินัยก็เกิดขึ้นมาจากใจ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากใจ ผู้ทรงธรรมทรงวินัย เห็นไหม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีเป็นนักรบ ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติ การเลี้ยงชีวิต การบิณฑบาตเลี้ยงชีวิต

ของเราเหมือนกัน ประกอบสัมมาอาชีวะ เราประกอบสัมมาอาชีวะ เราเช้าขึ้นมา เราหุงหาอาหารแล้วก็ตักสิ่งนี้ใส่บาตรไปก่อน มันเป็นสภาวธรรมที่ว่ามันเป็นธรรมชาติสิ่งที่มีอยู่ ไม่ต้องมีความเดือดร้อนของใครเลย ไม่ต้องเป็นภาระรับผิดชอบของใคร เรามีอยู่แล้ว เราทำอยู่แล้ว

ถ้าเรามีหัวใจที่เราจะส่งเสริม เห็นไหม เราส่งเสริม ฝากศาสนาไว้กับเรา เราก็ดูแลพระดูแลเจ้า เพื่อพระเจ้าก็ศึกษาต่อไป มันเป็นขั้นตอนของแต่ละบุคคล ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล เรารับผิดชอบศาสนาต่างๆ กันไป

ถ้าเรารับผิดชอบศาสนาสิ่งต่างๆ ขึ้นไป มันก็เริ่มเป็นธรรมขึ้นมาจากในหัวใจ ในหัวใจเป็นธรรมเพราะสิ่งนี้เราประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติเกิดขึ้นมาจากไหน? เกิดขึ้นมาจากความเห็นชอบ ความเห็นถูกต้อง ความเห็นดีงามเราถึงทำ ถ้าความเห็นไม่ดีงาม เราจะไม่มีเวล่ำเราจะไม่มีเวลา เราจะทำสิ่งนี้ไม่ได้ ถ้าทำสิ่งนี้ไม่ได้ เราก็ปล่อยวาง เห็นไหม เราไม่รับผิดชอบต่างๆ

เหมือนโลกนี่ มีชาวพุทธมากมายเลยที่ว่าไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ไม่สนใจในเรื่องของศาสนา คือว่าเขาไม่สนใจใจของเขาเอง ถ้าเขาสนใจในเรื่องของศาสนา คือเขาสนใจเรื่องใจของเขาเอง เพราะศาสนาสอนเข้ามาที่ใจ สอนเข้ามาที่ความทุกข์ความสุขในหัวใจ

สิ่งที่สอนเข้ามาที่ความทุกข์ความสุขในหัวใจ ผู้ที่สนใจในศาสนา ทำบุญกุศล ฟังธรรม ประพฤติปฏิบัติ นั่นเขาก็สนใจของเขา เขาสนใจธรรม เพื่อที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากธรรมไว้กับบริษัท ๔ เราเป็นบริษัทหนึ่งที่สนใจศาสนา รักษาศาสนาก็คือรักษาหัวใจของเรา ถ้ารักษาหัวใจของเรา ทำใจของเราเข้าถึงศาสนา ทำใจของเราเข้าถึงความสงบ เห็นไหม เข้าถึงธรรม

นั่นน่ะศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันจะรู้ขึ้นมาจากในหัวใจ เพราะภาชนะที่จะใส่ธรรมคือใจของคน ใจของคนรับรู้สิ่งต่างๆ ใจของคนรับรู้ความสุขความทุกข์ มันเป็นเรื่องนามธรรม

ความสุขความทุกข์มันเป็นเรื่องกระทบกับใจ ใจดวงนี้ถึงเป็นที่ใส่ธรรมไง อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ ความทุกข์ ทุกข์ก็เกิดขึ้นที่ใจ ทุกข์นี้เกิดขึ้นที่ใจ คนตายแล้วซากศพนี้ไม่มีความรู้สึกต่างๆ เอาไปเผาไฟมันก็ไม่รับรู้สิ่งต่างๆ

แต่ถ้ามีชีวิตอยู่ เห็นไหม แม้ในบาดแผลเล็กน้อยเราก็เจ็บเราก็ปวด สิ่งที่เจ็บปวดเกิดขึ้นจากใจรับรู้สิ่งต่างๆ รับรู้เรื่องของร่างกาย แล้วรับรู้ความทุกข์ของใจ เห็นไหม โทมนัส ความทุกข์ความระทมใจ โทมนัส โสมนัส เห็นไหม โทมนัส-โสมนัสอยู่ในใจ ความสุขความทุกข์ของใจ ใจอันนี้มันสะสมสิ่งต่างๆ ความสะสมมันรับรู้

รับรู้ก็รับรู้สภาวธรรม สภาวธรรมสภาวะที่เกิดขึ้น คนมีชีวิตเท่านั้นถึงมีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติ ถ้าเมื่อลมหายใจเข้ายังมีอยู่ ลมหายใจออกยังมีอยู่ เรายังมีหัวใจ ถ้าลมหายใจขาดขึ้นมาปั๊บ สภาวะต่างไป ต่างไปเพราะลมหายใจขาดปั๊บจิตนี้ออกจากร่าง จิตนี้ต้องไปรับรู้สภาวะ ต้องเกิดในสถานะของเขา เขาต้องเกิดทันทีในสถานะของเขาที่เกิดตลอดไป อันเกิดอันนั้นก็วนไปในวัฏฏะ วัฏฏะไปก็พลัดพรากจากศาสนา

เพราะศาสนาเกิดที่มนุษย์นี้ เห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหมยังต้องมาฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมาฟังธรรมจากผู้ที่มีธรรมในหัวใจ สั่งสอนไง อริยสัจมันเกิดขึ้นมาจากความรู้ในหัวใจ อริยสัจ เห็นไหม

ใจนี้ถ้าเป็นอริยสัจขึ้นมาแล้วมันสะเทือนที่หัวใจ ออกมาเป็นอริยสัจทั้งหมด รับรู้ว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคเกิดขึ้นอย่างไร? มันเป็นไปสภาวะแบบใด? แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหมก็ไม่รู้สิ่งนี้ ต้องมาฟังธรรมจากผู้มีธรรมในหัวใจ

จะสั่งสอนสิ่งนี้ไง สั่งสอนการที่ว่าเราต้องย้อนกลับเข้ามา อย่าไปมองสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ โลกนี้มีอยู่เพราะเป็นสภาวะแบบนั้น ถ้าเรามีมันก็รับรู้ ถ้าเราไม่มี โลกก็มีอยู่อย่างนั้น เก้อๆ เขินๆ อยู่อย่างนั้นของเขา ถ้าใจมันรักษาใจตัวเองได้

นั่นน่ะสภาวธรรมแบบนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงว่าพระกัสสปะ พระสารีบุตร พระอัครสาวกต่างๆ ศึกษาธรรมขึ้นมาแล้วมีธรรมสิ่งนี้จรรโลงศาสนามา ครูบาอาจารย์ของเรามาฟื้น หลวงปู่มั่นนี่มาฟื้นสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วมีใจเป็นธรรมขึ้นมา ถึงได้ทรงข้อวัตรปฏิบัติไง ข้อวัตรปฏิบัติเพื่อมาดัดแปลงตน

มันจะเป็นความลำบาก มันจะเป็นความที่ว่ายุ่งยาก สิ่งที่ยุ่งยาก เห็นไหม เพราะใจมันต้องการง่าย คนที่มักง่ายจะไม่ได้สิ่งใดเลย คนที่ยุ่งยาก ยุ่งยากเพราะอะไร? เพราะมันต้องเลือกเฟ้นไง เลือกเฟ้นว่าสิ่งที่ใจแสวงหา ใจเกาะเกี่ยวขึ้นมา มันเป็นความถูกหรือความผิด

สิ่งที่เป็นความถูกหรือความผิดนี่มันค่อยดัดแปลงตน มันมีกติกา มีข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งที่เป็นข้อวัตรปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินไง ทางนะ เรามีถนนหนทาง เราก็จะไปได้ ถ้าเราไม่มีหนทาง รถราจะวิ่งไปที่ไหน ถ้ามีถนนหนทางเป็นไปได้ ข้อวัตรปฏิบัติมันเป็นทางเดินของใจ ใจมันจะขัดข้องกับสิ่งนี้ มันไม่ยอมรับสิ่งนี้ ถ้าสิ่งนี้เราก็ดัดแปลงมัน บังคับให้มันทำจนเป็นจริตนิสัย

ขอนิสัย... ขอนิสัยครูบาอาจารย์ ๕ ปีนะ ขอนิสัยให้ได้อย่างนี้ขึ้นมา ถ้ามีนิสัยดัดแปลงตน เห็นไหม ดัดแปลงเข้าไปที่ใจ ธรรมและวินัยมันอยู่ที่ใจ เริ่มต้นจากว่ารับภาระ เราว่าการก่อสร้าง การรักษาพระ พระเป็นช่างก็ก่อสร้างวัดสร้างวา นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง เป็นบุญกุศลส่วนหนึ่งสร้างจรรโลงศาสนา

สิ่งนั้น... โบสถ์ไม่มีความรู้สึก วัตถุไม่มีความรู้สึก แต่ใจของคนมีความรู้สึก ถ้าใจของคนมีความรู้สึก พระที่ประพฤติปฏิบัติดัดแปลงใจของตัวเองแล้ว เอาใจของตัวเอง

จากใจดวงหนึ่งให้ใจดวงหนึ่ง ใจที่รับรู้สิ่งนั้น ยื่นให้กับใจดวงนั้นต่อๆ ไป เห็นคุณค่าของน้ำใจ เห็นคุณค่าของธรรม โบสถ์วิหารนั้นถึงเป็นเรื่องรองไป มันเป็นศีลธรรมจริยธรรม นั้นเป็นสิ่งที่สร้างบุญกุศลนั้นเห็นชอบด้วย สิ่งที่เป็นบุญกุศล การสละออกเป็นบุญกุศลหมด แต่บุญกุศลอย่างหยาบ

บุญกุศลอย่างละเอียด เห็นไหม “อานนท์ เธอบอกเถิด ให้ปฏิบัติบูชา...”

สิ่งที่ปฏิบัติบูชา อามิสบูชานี่ โบสถ์วิหารต่างๆ เป็นอามิสทั้งหมด เป็นสิ่งบูชาจากใจทั้งหมด แต่เป็นอามิส เห็นไหม แต่การปฏิบัตินี่เข้าถึงเนื้อของใจ ใจดวงนั้นปฏิบัติถึงใจ ใจดวงนั้นเป็นพุทธะ รักตนสงวนตน รักใจของตัว แล้วพุทโธ พุทโธ เห็นไหม

ถวายข้าวพระพุทธ ถวายพระพุทธนะ ถวายคำว่า “พุทโธ พุทโธ” ถวายเข้าไปที่ใจสิ ถวายข้าวพระพุทธนั้นเป็นสมมุติ เป็นกิริยาการกระทำ แต่เราถวายข้าวพระพุทธของเรา เห็นไหม พุทธะคือผู้รู้ในหัวใจ แล้วพุทโธ พุทโธเข้าไปในหัวใจ ถวายสิ่งนี้เข้าไปถึงหัวใจ ใจกินพุทโธเข้าไป ใจเป็นพุทธะขึ้นมา อิ่มเต็มสงบขึ้นมา อันนี้ถึงถวายจริง แล้วจะเป็นการรักษาสงวนใจของตัวเอง

นั่นน่ะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากธรรมไว้ไง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราก็เป็นพระพุทธเจ้าฝากไว้ ถ้าฝากไว้ เรารักษาขนาดไหน ถ้ารักษาได้ก็ใจของเรานั่นเป็นธรรมขึ้นมา ถ้าใจเราเป็นธรรม ความสุขขึ้นมาตรงนี้ แล้วมันจะเป็นเครื่องยืนยันกับความรู้สึกของเรา เอวัง