เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ มิ.ย. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ในมงคล ๓๘ ประการ เห็นไหม “ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺ จ” ในการทำตบะธรรมแผดเผากิเลสนี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง แต่ “ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” การสนทนาธรรมนี้เป็นมงคลอีกมหาศาลเลย

นี่เขาทำมาถูกทางของเขาทั้งหมดเลยนะ เขาทำออกมาแล้วแปลกประหลาดมหาศาล เห็นตัวเองนี่เป็นดอกบัวเลย มองขึ้นไปบนพระอาทิตย์นี่เป็นพระพุทธเจ้า เป็นรูปพระพุทธเจ้าทั้งองค์เลย องค์สีดำ นั่นน่ะพอเห็นสภาพแบบนั้นก็เข้าใจว่าตัวเองผ่านมรรคผลไง ฟังดูเหตุการณ์แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามาก

แต่อันนี้มันเป็นการเห็นโดยที่ว่าเราเห็นเป็นนิมิต เขาก็ค้านว่าไม่ใช่นิมิต มันว่าจะไม่เป็นนิมิตก็ได้ เป็นปัญญานะ เป็นปัญญา ปัญญาในการพิจารณาแล้วมันปล่อยวาง แต่มันไม่มีจุดขณะ แล้วเขาฟังเทปมาก ฟังเทปผ่านครูบาอาจารย์มาก เขาบอกขณะจิตก็มี ขณะจิตของเขาเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นของเขา ขณะจิตของเขา เขาเห็นของเขาเข้าไป มันเห็นสภาพนั้น เขาว่าเป็นขณะจิต

นี่เห็นตัวเองเป็นดอกบัวนะ เห็นสภาพต่างๆ เห็นอสุภะด้วย เห็นอสุภะนี่ มองเห็นนะ เขาว่าดูหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์แบบหน้าหนึ่งไทยรัฐอย่างนี้ เขาบอกเลย เห็นเป็นอสุภะหมดเลย แต่เวลาเห็นเป็นอสุภะนี่มันไม่ได้เอาเป็นประโยชน์ไง เห็นเป็นอสุภะเข้ามา มันหมุนเข้ามาพักหนึ่ง แล้วมันคลายตัวออกไป แล้วก็มาคิดได้ทีหลังว่า ถ้าเป็นอสุภะ ถ้ามันหมุนเข้ามา มันจะเป็นประโยชน์เข้ามา นี่เป็นอสุภะ

ถ้าอย่างนี้ ขณะจิตมันจะเกิดตรงนี้ ขณะที่ว่ามันเป็นความถูกต้องก็มี เป็นความผิดไปก็มี แต่เพราะว่าได้ “ธมฺมสากจฺฉา” เห็นไหม นี่เขายอมรับ เขายอมรับหมดว่าทำไมของผมยังไม่เป็น ทำไมเรายอมรับคนอื่น? ทำไมไม่ยอมรับเขา?

เราบอกว่า “มันมาถูกทาง ไม่ใช่มาผิดทางนะ เดินมานี่ถูกทางหมดเลย” แต่เห็นสภาวะต่างๆ เห็นรูปแบบต่างๆ สภาวะนี่ความรู้ รู้ไปตลอดเลย สติปัฏฐาน ๔ รู้พร้อมจิตตลอด แล้วมันดีตรงนี้ ดีตรงที่ว่าเขามีสติปัฏฐาน ๔ เขารู้เรื่องสติปัฏฐาน ๔ ไง เรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม แล้วสติพร้อม เขาถึงไม่หลงไป

ถ้าเขาหลงไปนะ มันจะมีสิ่งต่างๆ มาบอกไง บอกต่างๆ นะ รู้วาระจิตคนอื่นก็รู้ เขาบอกบางทีก็รู้วาระจิตของคนอื่นนะ บางทีก็ถูก บางทีก็ผิด เราบอก “มันจะผิดโดยส่วนใหญ่ ถ้าต่อไปจะผิด” แล้วถ้าเข้าถึงฌานเข้าไปมันจะออกไปรับรู้ แล้วมันสำคัญตนไง สำคัญตนว่าเรานี่แปลกประหลาดกว่าโลกเขา มหัศจรรย์กว่าโลกเขา

ถ้ามหัศจรรย์กว่าโลกเขา มันจะไม่เข้ามาเป็นสติปัฏฐาน ๔ เป็นที่ว่าเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาเห็นความติดข้องของใจ ใจมันติดข้องในอะไร เห็นไหม ใจนี่มันติดข้องในความเห็นของกาย ในเรื่องร่างกายกับเรื่องความคิด ความคิดนี่มันติดข้อง ความคิดคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ กับจิตนี่มันผูกมัดกัน มันต้องตรงนี้ ตรงนี้คือจุดหัวใจของมันไง สติปัฏฐาน ๔ คือย้อนกลับมาตรงนี้

ทำความสงบของใจ ต้องมีความสงบของใจเข้ามาก่อน ถ้าความสงบของใจเข้ามา มันจะเห็นตัวตนของเรา มันจะจับต้องตัวเองได้ มันจะรู้ว่าความคิดของเราเป็นอย่างไร แต่เดิมความคิดของเรามันบวกเข้าไป อย่างที่เห็นนั่นน่ะ มันเห็นเพราะความคิดเรา เราเห็นจำเพาะเรา เห็นเราคิด เห็นไหม เราเห็นไป เราหมุนไป มันส่งออกไป แต่เขาบอกว่าเป็นการย้อนกลับ ขนาดพิจารณาตัวเองนะ พิจารณากายจนกายนี่ระเบิดหมดเลย จนกายระเบิด

เราบอกว่า มันระเบิดได้หมด มันระเบิดก็ได้นะ ระเบิดนี่เวลากายระเบิดขึ้นมา เวลาพิจารณาเข้ามา พอกายระเบิด ถ้าระเบิดซ้ำบ่อยครั้งๆ เข้า มันจะปล่อยวางจิตก็ได้ ถ้ามันระเบิดเข้า มันมีคำตอบ คำตอบคือขณะจิตไง ขณะจิตที่ว่ามันระเบิดออกไป ความรับรู้อันที่ว่าระเบิดออกไป “ยถาภูตํ” เห็นไหม รู้ตามความเป็นจริง ยังมีญาณอีกตัวหนึ่ง ตัวที่รู้จิตวาระรู้นั่นน่ะ เขาไม่มีตรงนี้ไง มันระเบิดออกไปแล้วมันว่างเฉยๆ

เราบอก “ระเบิดได้ ระเบิดบ่อยครั้งได้ ระเบิดขนาดไหนมันเป็นแบบว่าเราสร้างนิมิตขึ้นมาก็ได้ สร้างสถานะขึ้นมาก็ได้ เวลาระเบิดออกไปแล้วมันไม่ปล่อยวางตามความเป็นจริง ทำไมไม่ซ้ำตรงนั้น? จับตรงนั้นซ้ำเข้าไปอีก ถ้ามันซ้ำมันซ้ำได้ ขณะที่มันซ้ำได้ แต่มันเหนื่อยมาก”

งานของภายในนะมันเหนื่อยมาก ความเหนื่อยขนาดไหน แต่ระเบิดอย่างนี้ พอระเบิดเข้า มันก็เข้ามากับตำรา การพิจารณากาย ปล่อยวางกายไว้ตามความเป็นจริงต้องเป็นพระโสดาบัน มันคิดตามหลักตำรา มันเห็นตามตำราแล้วมันจะเรียกร้องเอาผลไง เรียกร้องเอาผลนี่มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา มันไม่มีคำตอบ สังโยชน์ไม่ขาดออกไปจากใจ

ถ้าเราซ้ำเข้าไปๆ นะ คำตอบของมันคือความหลุดออกไป ความข้องเกี่ยวของใจ เห็นไหม ความผูกมัดระหว่างความเห็นของเรากับร่างกายที่มันผูกมัดกัน มันจะหลุดออกไป สิ่งที่หลุดออกไป ความขาดออกไป เห็นไหม สรรพสิ่งนี่สักแต่ว่า มันจะอยู่ของมันสักแต่ว่า นี่คือขณะจิตที่มันจะเป็นไป

แต่ขณะจิตมันไม่มี ขณะจิตไม่มีก็ต้องหมุนออกไป แล้วหมุนออกไปก็เป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป เข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอนาคามีเลย มาบอกเราว่าผ่านถึงพระอนาคามี แต่เวลาสอบกันแล้วนะ อันต้นก็ไม่ใช่ อันสองก็ไม่ใช่ แต่เราบอก “ให้ซ้ำเข้าไป” เขาสงสัยแต่ยอม...

คุยกันแบบว่าคุยกันก้นกุฏิ ลูกศิษย์ก้นกุฏิเลย เขาภาวนามานานแล้วเขาไม่กล้ามาพูด เขาบอกเขาพูดมานานแล้วพึ่งมาพูด เมื่อวานคุยกันหมดเลย แล้วเขาบอกว่าอะไรล่ะ เราบอก “ไม่ผิด” เราว่ามันไม่ผิดหรอก มันมาถูกทางแล้ว แต่เพราะว่าด้วยความมักง่ายของเรา ความคิดของเราว่ามันผ่านไง ความคิดว่ามันผ่านกิเลส พอกิเลสว่ามันผ่าน เพราะเราคิด เห็นไหม เพราะเราคิดนี่เราเข้าข้างตัวเองแล้ว

ถ้าเราเข้าข้างตัวเอง เห็นไหม งานที่ทำมามันเหนื่อยแสนเหนื่อยแสนยาก ทำไมไม่ซ้ำเข้าไปตรงนั้น ไม่ซ้ำลงตรงนั้น.. แล้วถ้าซ้ำลงตรงนั้นไปเรื่อยๆ เข้าไป นี่ว่าปล่อยมาถึงขนาดที่ว่าเห็นสภาวะนี่ที่เห็นว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น ปล่อยไปชั้นหนึ่ง ตัวเองเป็นอย่างนั้น ปล่อยไปชั้นหนึ่ง มีพระหลายองค์พูดนะ เข้าใจว่าอย่างนั้น เห็นตัวเองนี่ว่าจิตมันมหัศจรรย์นะ

จิตของคนเรามันไม่แน่นอนหรอก คนเรานี่เป็นพื้นๆ ไปก็ได้ คนของเราจะมีคึกคะนองก็ได้ อย่างเช่นเวลาสงบขึ้นมา จะเห็นตัวเองหลุดขึ้นไปบนก้อนเมฆนะ จะเห็นเรานั่งอยู่บนก้อนเมฆ เห็นเราเดินจงกรมอยู่บนก้อนเมฆนะ เห็นเราเดินอยู่ข้างบนนู่นล่ะ ขึ้นไปข้างบน ออกไปข้างบนแล้วมองกลับมาเห็นเรานั่งอยู่อย่างนี้ แล้วเรื่องอย่างสภาวะอย่างนี้มันเห็นได้ตลอด มันเห็นได้

ความเห็นกับความที่วิปัสสนาเรื่องกายขาดมันคนละเรื่องกัน ความเห็นอย่างนั้นมันสำคัญตน แล้วพอสำคัญตนว่าเวลาเห็นอย่างนั้นปั๊บก็ว่าเป็นขณะจิตที่ว่าผ่านขั้นตอนไปแล้ว ฉันเป็นพระโสดาบัน ฉันเป็นอะไร..

มันไม่ใช่! พระโสดาบัน พระสกิทา พระอนาคา พระอรหันต์ แก้กันที่หัวใจ แก้กันที่จิต มันปลดเปลื้องกันที่หัวใจนี้ หัวใจนี้จะปลดเปลื้องความผูกพันความอุปาทานของใจ มันจะปลดเปลื้อง แล้วมันปลดเปลื้องนี่สติสัมปชัญญะมันจะพร้อมขึ้นมานะ สติสัมปชัญญะมันจะพร้อมตลอดเวลา ว่าเรานี่เวลาจิตกระเพื่อมว่าเสวยอารมณ์ เวลาจิตมันขยับออกไป เวลาจิตขยับออกไป เวลาความคิดมันเกิดขึ้น

ดูพระพุทธเจ้าเย้ยมารสิ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

ความคิดนี่ความดำริ ความก่อนที่ความคิด พอมันคิดขึ้นมา พอมันขยับปั๊บ เห็นไหม มันเสวยอารมณ์ พอเสวยอารมณ์ สติมันจะพร้อมไป แล้วมันจะรู้ทันกับความคิดของตัวเองไหม?

แล้วอย่างพวกเรานี่คิดไปจนโมโหนะ เวลาโกรธใครนี่โกรธจนสุดแรงเกิดแล้วนะ แล้วบอกสะใจอีกนะ โอ้โฮ.. เราโกรธแล้ว เราพอใจว่าเรามีอำนาจ เราโกรธเขาได้ เห็นไหม มันใช้ความโกรธจนหมดสิ้นไปแล้ว เรายังพึ่งมารู้ตามทีหลัง เรารู้ตามทีหลัง แต่เวลามันกระดิกขึ้นมา มันจะคิดขึ้นมา

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

จิตมันเสวยอารมณ์ นี่มันแก้กันที่หัวใจ แก้กันที่จิตนั้น แก้กันที่เรื่องความคิดตรงนั้น เพราะมันแก้กันที่ความคิดตรงนั้นมันจะปล่อยวางเข้ามา ถ้าแก้ตรงนั้นแล้วมันจะปล่อยกายเข้ามา ถ้าปล่อยกายเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันจะเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา

นั่นน่ะถึงบอกอันนี้เป็นมงคล เขาก็เป็นมงคลนะ เป็นมงคลที่ว่าเขายอมรับความเป็นจริง เขายอมรับอยู่ แล้วบอกต้องให้ซ้ำ แต่ตอนนี้มันมีงานมาก จะซ้ำก็ผ่านมาแล้ว จะซ้ำอยู่ ต้องให้ซ้ำกลับไป แล้วเราบอกว่า “ทิ้งกายทิ้งจิตไม่ได้”

กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แต่มันรวมแล้วกายคือจิต ทิ้งกายทิ้งจิตไม่ได้ งานวิปัสสนากายกับจิตนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ติดข้องกันตรงนี้เท่านั้น

กายกับความคิด จิตคือความคิด อารมณ์นะ ธรรมารมณ์คือความคิดของเรา ความคิดนี่มันผูกมัดกับใจ แล้วจะแก้ไขตรงนี้ออกไปได้อย่างไร ถ้าจะแก้ไขอย่างของเรานี่ เราคิดกันอยู่นี่ ความคิดเราที่คิดกันอยู่ เราจะแก้ไขน่ะแก้ไขไม่ได้ เราว่าทำไมเป็นเรื่องของความยากความลำบาก

เพราะเราคิดของเราขึ้นมา ความคิดขนาดไหนนี่มันเป็นได้ ความคิดของเราคิดไล่ความคิดเข้ามา มันจะปล่อยวางเข้ามา มันจะตามความคิดเข้ามา มันปล่อยวางๆ อันนี้มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เห็นไหม เป็นโลกียมรรค

พอเป็นความเห็นที่ว่าความคิดนี่จับต้องยากแล้วไล่ลำบาก ทำลำบากมาก สิ่งที่ความลำบากมาก ความทุกข์มหาศาลในหัวใจของเรามันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ธาตุรู้ของเรานี่มันโดนกิเลสปกคลุมไว้ในหัวใจ หัวใจโดนกิเลสปกคลุมใจไว้ แล้วเราเพิกกิเลสออกจากใจ มันเป็นสมบัติคงที่ไง เป็นสมบัติที่ว่าไม่เป็นอามิสไง สิ่งที่คงที่มันถึงเรื่อง.. ยากมันยากตรงนี้ ยากตรงที่เอาชนะตนเอง

คนเราทุกคนนะ ความคิดจริตนิสัยคนไม่เหมือนกัน มันชอบสิ่งใดต่างๆ กัน เห็นไหม บางคนสิ่งที่ไม่น่าติดนะ เรามองว่าไม่น่าติดเลย ทำไมเขาติด เขาติดของเขา เขาพอใจของเขา เพราะเขารักเขาสงวนของเขา เพราะจริตนิสัยเขาสร้างมาอย่างนั้น แล้วทุกคนต้องเอาชนะตนเองไง

มันยากทุกคนเลย ยากทุกคนเพราะทุกคนก็รักสงวนของคนแต่ละอย่างเหมือนกัน คนเราจะรักสงวนสิ่งต่างๆ ของแต่ละคนในเราคนละอย่างๆ ไป แล้วต้องไปจับตรงนั้นพิจารณาว่าเรารักสิ่งใด สิ่งใดที่เรารักนั้นเป็นอนิจจัง สิ่งใดอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ เราจับต้องสิ่งใดสิ่งนั้นไม่คงที่ สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์กับทุกๆ คน สิ่งนั้นเป็นเครื่องอยู่อาศัย

ประโยชน์กับเราคือว่าจิตของเรามันต้องคงที่ เครื่องอยู่อาศัยของชั่วคราว ของชั่วคราวเป็นความจริงไปได้ไหม? เป็นไปไม่ได้ ของเป็นชั่วคราวนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะมันไม่คงที่ มันต้องแปรสภาพ เราไม่พลัดพรากจากเขา เขาก็ต้องพลัดพรากจากเราวันยังค่ำ มันต้องพลัดพรากจากกันสักครั้งหนึ่ง

แต่เราพิจารณาของเรา เราปล่อยเราพิจารณา เราดูของเราว่าให้มันเห็นความพลัดพรากก่อน มันปล่อยวางก่อน เห็นไหม พอปล่อยวางก่อน จิตมันก็เป็นอิสระเข้ามา นี่มันเห็นอนัตตา ความไม่เป็นจริงของเรา เห็นไหม นั่นน่ะสิ่งที่เห็นอนัตตาเห็นไตรลักษณ์ นั่นน่ะเห็นไตรลักษณ์ถึงเห็นความจริง แล้วมันจะปล่อยวางตรงนี้

นี้คือหัวใจไง ภาวนามยปัญญาเกิดจากตรงนี้ เกิดขึ้นมาระหว่างเรื่องกายกับใจ กายพิจารณาเข้าไปเถอะ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เห็นไหม มรณานุสติ คิดถึงความตายแล้วสลดหดหู่ บางคนคิดแล้วไม่อยากคิด มันคิดแล้วมันสลดสังเวชนะ แต่ต้องคิด เห็นไหม คิดถึงความตาย

คิดถึงความตายนี่ยั้งความคิดเราทั้งหมด ที่มันจะมีอำนาจเหนือเรา มันจะหยุดคิดเลยนะ คิดถึงความตาย เราทุกคนต้องตาย ทุกคนต้องตาย ต้องตายๆๆ นี่คือมรณานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง คิดถึงความตายตลอดเวลา คิดถึงแล้วมันสังเวช เห็นไหม มันสลด มันสังเวช มันวิเวกกับมันวังเวง

วิเวกคือความพอใจ วิเวกคือว่ามันความสุขใจ วิเวกคือความปล่อยวาง ความวังเวง ความเศร้าใจ ความเสียใจ มันเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะกิเลสมันยังอยู่ในหัวใจมันก่อน เรายังฝึกหัดก่อน ทำไปบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะปล่อยวาง มันจะว่าง มันจะเวิ้งว้างของมันขึ้นมา นั้นคือปัญญา

ภาวนามยปัญญาจะเกิดจากตรงนี้ ตรงที่ปัญญามันเกิดขึ้น เราทำของเราเข้ามา เราใช้ปัญญาขนาดไหน เราก็เข้าใจว่ามันเป็นปัญญา เราใช้ได้ ปัญญาของเราใช้ไปเถิด ใช้ขึ้นมาแล้ว มันถึงเวลามันปลดเปลื้องเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา มันเป็นสัมมาสมาธิ มันปล่อยวางเข้ามา แล้ววิปัสสนาขึ้นมา

มันถึงว่า “ธมฺมสากจฺฉา” การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง “ตโป จ พฺรหฺมจริยญฺ จ” เริ่มต้นมงคล ๓๘ ประการ เห็นไหม ไม่คบคนพาล คนพาลข้างนอก คบคนพาลข้างนอก คนพาลข้างนอกเป็นบุคคล เห็นไหม คบความคิด ความคิดเป็นพาลนอกพาลใน ความคิดฝ่ายชั่วคือมันเป็นพาลพาไปทางผิดแล้ว คบบัณฑิต ความคิดถูก เห็นไหม ความคิดถูก เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ นี่ก็เป็นมงคลอย่างยิ่ง การเห็นสมณะ การประพฤติปฏิบัติ ถึงที่สุดแล้ว “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” ถึงที่สุดเป็นที่สิ้นสุดของกิเลส ที่สิ้นสุดของใจ เป็นมงคลอยู่ในที่เราประพฤติปฏิบัติกันตลอด

นั้นการศึกษา การสนทนาธรรมมันถึงเป็นมงคล มงคลที่ว่าทำให้เราไม่ใช่หลงออกไปข้างนอก ไม่ให้เราหมุนออกไปการเสียเวลา มันทำให้ประโยชน์กับเรา กับประโยชน์กับคนๆ นั้น

นี่ประโยชน์กับเราด้วย ธรรมเป็นแบบนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จนที่ว่าเราไม่สามารถคาดหมายได้เลย ถ้าเราคาดหมายได้ อันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นความคาดหมาย ต้องเป็นความจริงกับใจดวงนั้น มันถึงจะแก้ไขใจดวงนั้น

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

ถ้าสมควรแก่ธรรมมันจะรู้ขึ้นมา แล้วมันจะรู้เป็นปัจจัตตัง ต้องเป็นปัจจัตตังเพราะอะไร เพราะเรากินข้าว เราเป็นคนอิ่มใช่ไหม? เราเป็นคนทุกข์ใช่ไหม? เราเป็นแผล เห็นไหม แผลที่เราหายนี่เราต้องรู้ว่าแผลเราหาย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าแผลเราหาย มันจะจบสิ้นตรงที่ว่าเราเข้าใจตามความเป็นจริง ขณะจิตจะเกิดขึ้น แล้วจิตนั้นจะเป็นที่พึ่งของตนเองได้ เอวัง