เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o มิ.ย. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาภาวนากันนะ เวลาเขามาถามปัญหาภาวนา เวลาภาวนาไปนี่ เราหลงเราก็หลงในตัวเราเองนะ เราหลงหมายถึงว่า เราผิดพลาดไป แต่ความผิดพลาดของเราไป เราเชื่อมั่นตัวเราเอง เราเชื่อมั่นตัวเราเองไงว่าเราไม่ผิดพลาด พอเราไม่ผิดพลาดไปนะ เราจะว่าคนอื่นผิดพลาดไง ถึงว่าเขาว่าทำไมครูบาอาจารย์ต้องหลอกกัน ทำไมครูบาอาจารย์ต้องบอกว่าต้องสมุจเฉทปหาน

ความจริงเราเข้าไปรู้เท่ารู้ทันมันก็ปล่อยวางแล้ว แล้วมันปล่อยวางแล้วมันก็มีความสงบ นั่นน่ะความปล่อยวางของเขา มันคิดว่าปล่อยวางนั้นเป็นผล เห็นไหม แต่เวลาของเขานี่ เขาเข้าไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าไม่เข้าถึงจุดหมายปลายทาง มันต้องรักษาไว้ เพราะมันเป็นกุปปธรรม มันเจริญแล้วเสื่อม มันเจริญแล้วเสื่อม มันเหมือนกับมันไหวอยู่ตลอดเวลา มันมีความสืบต่อตลอดเวลา ความรู้สึกมันจะสืบต่อตลอดเวลา มันสืบต่อนี่มันต้องให้สติสัมปชัญญะเข้าไปทัน พอทันนะมันก็เป็นปัญญา ปัญญามันก็จะปล่อยวางตลอดไป

แต่ถ้ามันเป็นหลักความจริง เห็นไหม ตามหลักความจริง เวลามันเกิดขึ้นถึงที่สุดแล้วมันจะต้องขาดออกไป สิ่งที่ขาดออกไปแล้วมันจะไม่กลับมาเป็นอีก มันไม่กลับมากำเริบอีก ในส่วนของอันนั้นจะไม่กลับมากำเริบอีก มันถึงจะมีส่วนหนึ่งตัวรับรู้ไง ส่วนตัวรับรู้และส่วนที่มันเสวยอารมณ์นี้มันเป็นการเสวยอารมณ์ ถ้ามันเสวยอารมณ์ มันรับรู้สิ่งต่างๆ ไปนะ มันเป็นการสื่อความหมาย แต่มันออกไปพร้อมกับความรู้สึกใช่ไหม?

แต่ถ้าเป็นความหลง เราต่างหากเป็นผู้หลงนะ เราหลงของเรา เราไม่เข้าใจของเรา แล้วเราไม่เข้าใจของเรา เราทำไม่ถึงที่สุด เราทำไม่ถึงที่สุดถึงสิ้นกระบวนการของสัจธรรม แล้วเราก็ติดข้องที่ตรงนั้น แล้วเราเข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นความจริง แล้วเราไปโทษเองนะ กลับไปโทษคนที่ว่าผ่านไปถึงที่สุดนะ ว่ามันมีสิ่งที่ขาดออกไป ออกไปจากใจ ออกไปจากใจ..

มันจะขาดออกไปจากใจได้อย่างไรในเมื่อกิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสไม่มีตัวตน เห็นไหม นั่นน่ะคำพูดอย่างนี้มันเป็นคำพูดคำฟ้อง ฟ้องเพราะอะไร ฟ้องว่าเราไม่เคยเห็นกิเลส เราไม่เคยชำระกิเลส ถึงเห็นว่ากิเลสนี่เป็นนามธรรม แล้วกิเลสเป็นนามธรรมแล้วมันจะออกไปได้อย่างไร รู้เท่าทันมันก็ปล่อยวางเฉยๆ

นั่นน่ะเพราะว่ามันไม่เคยสิ่งที่หลุดออกไปจากใจ แต่สิ่งที่หลุดออกไปจากใจมันเห็นนะ เห็นว่าหลุดออกไปจากใจ เพราะในพระไตรปิฎกบอกไว้แล้วว่า “ถ้าเวลากิเลสขาด มันดังแขนขาด” เวลาตัดกิเลสขาดดังแขนขาด ดังแขนขาดต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความหลุดออกไปจากใจ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีหลุดออกไปจากใจ สิ่งนั้นเป็นผลประโยชน์ขึ้นมา เห็นไหม มันหลุดออกไปแล้วมันไม่กลับมาอีก มันตายนี่นะ กิเลสตายๆ คำว่า “กิเลสตาย” มันเอาอะไรมาตาย? เขาเถียงนะ เขาเถียงว่ามันเอาอะไรมาตาย? ในเมื่อมันไม่มีตัวตน มันเอาอะไรมาตาย?

นี่มันไม่มีตัวตนจริงอยู่ มันไม่มีตัวตน มันเป็นนามธรรม มันมีสิ่งกระทบมันเกิดขึ้น ถ้าสิ่งกระทบเกิดขึ้น เหมือนกับตะกอนน้ำ เห็นไหม ถ้าตะกอนน้ำอยู่ในน้ำ ถ้าไม่มีอะไรกระทบขึ้นมาตะกอนน้ำ น้ำจะใสตลอดเลย แต่ถ้าเราขยับเขยื้อน ตะกอนนั้นมันจะขึ้นขึ้นมา ตะกอนน้ำมันอยู่ในน้ำนั้น แล้วน้ำนั้นก็เต็มแก้วอยู่อย่างนั้น ตะกอนน้ำอยู่ในน้ำนั้นเป็นอนุสัย นี่มันเป็นสิ่งที่ว่ายกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

แต่ถ้าเป็นนามธรรมเป็นกิเลส มันเกิดขึ้นกับใจดับกับใจเหมือนกัน มันเกิดกับใจมันดับกับใจ มันเป็นเชื้อของใจ มันอยู่ข้องเกี่ยวไปกับใจ มันถึงทำให้ใจนี้เกิดดับ เกิดตายเกิดตายไปตลอด มันจะพาให้เราเกิดตายเกิดตายไปในวัฏสงสาร

แต่ถ้าเราจับต้องสิ่งนี้ได้ นั่นน่ะจับต้องนี่ จับต้องสิ่งนี้ได้มันวิปัสสนาไป มันจะปล่อยวางของมันเป็นชั้นเป็นตอน เป็นชั้นเป็นตอน มันจะปล่อยวางเป็นชั้นเป็นตอนจนกว่ามันจะขาด มันต้องขาด พอมันขาดขึ้นไปมันจะสืบต่ออีกไม่ได้

นี่มันตัดย่นของ เห็นไหม เวลาขันธ์กับจิตมันเกี่ยวข้องกันไปมันจะออกมาจากภายใน มันจะย้อนกลับแล้วมันจะเคลื่อนออกมาจากภายนอก ไปรับรู้ภายนอก เวลาเราตัดขึ้นมา มันจะเป็นชั้นเป็นตอน ตัดเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอน เห็นไหม ตัดขันธ์นี่ขาดออกไปๆ จนจิตมันหดตัว มันร่นตัวมันเข้าไปจนมันเข้าไปอยู่ในตัวมันเอง

พออยู่ในตัวมันเอง นั่นน่ะอะไรมันขาด? สิ่งที่ขาดมันเห็นอะไรขาด?

ถ้าเห็นขาดอย่างนี้ มันถึงจะเห็นว่านี่มันเป็นอกุปปธรรม แล้วรู้จากใจดวงนั้น นี่คนเห็น แต่คนเห็นมีส่วนน้อย ถึงว่าเวลามันเห็นมันเป็นการคาดหมาย คาดหมายว่าสิ่งนั้นจะเป็นความจริง ความจริงจะเป็นสิ่งที่เรารู้เราเห็นเราเข้าใจอย่างนั้น พอเราเข้าใจอะไรเราก็หลงไป นั่นน่ะตัวเองหลง แล้วยังไปว่าคนที่ไม่หลงเป็นผู้ที่ว่าเขียนเสือให้วัวกลัวไง ทำไมต้องขาด ทำไมต้องหลอกกัน ทำไมครูบาอาจารย์ต้องหลอกกันไว้ หลอกว่าเป็นอย่างนั้น หลอกว่าเป็นอย่างนั้น.. ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรขาด

นั่นน่ะคำพูดนี่มันฟ้องเลย ฟ้องถึงว่าเราไม่เคยเห็น เราไม่เคยเป็นไปสภาวะแบบนั้น เราถึงเชื่อว่ามันไม่เป็นไปสภาวะแบบนั้น มันเป็นไปตามรู้เท่าแล้วมันปล่อยวาง เห็นไหม ความรู้เท่าแล้วปล่อยวางนี่มันเป็นสมถกรรมฐาน มันอยู่ในวงของสมถะ ถ้าเราไปรู้เท่าแล้วมันจะปล่อยวาง มันต้องปล่อยวางตามความเป็นจริง มันเป็นสมถกรรมฐานจนกว่ามันจะยกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้ายกขึ้นวิปัสสนาได้ มรรคมันจะเดินตัว ถ้ามรรคมันจะเดินตัวได้ มันจะเป็นวิปัสสนาขึ้นไป

กิเลสมันจะขาดมันขาดจากปัญญา ปัญญาวิปัสสนาในกิเลสขาด ถ้าปัญญาไม่วิปัสสนา มันเอาอะไรไปชำระล้าง เอาอะไรไปฟาดฟันกับกิเลส ถ้าไม่ฟาดฟันกิเลส กิเลสมันก็นอนยิ้มอยู่ในหัวใจนั่นน่ะ กิเลสมันว่ามาเลยผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วก็มาอยู่ในใต้อำนาจของกิเลสโดยธรรมชาติของมัน ปฏิบัติแล้วๆ ก็อยู่ในอำนาจของเขา เห็นไหม ไม่พ้นไปจากเขาได้

ถ้าพ้นไปจากเขาได้ เราต้องมีความละเอียดรอบคอบ ต้องพยายามละเอียดรอบคอบนะ มันสงบตัวขนาดไหน มีความสุข จะมีความสุขมาก ความสุขในความละเอียดอ่อนของใจ ใจสงบตัวจะมีความสุขมาก ความสุขจนทำให้ติดข้องได้ ความสุขจนทำให้เราหลงเชื่อตัวเราเองได้ ว่าสิ่งนี้มันหมดเชื้อจากกิเลสแล้ว มันมีความสุขขนาดนั้น

แต่ความสุขอย่างนี้มันเจริญแล้วเสื่อม เห็นไหม มันเจริญขึ้นไป อย่างนั้นนักปฏิบัติมันจะเจริญขึ้นมาอย่างไร เวลาปฏิบัติไปแล้วเสื่อมไป เวลาเสื่อมค่าออกไป จะปล่อย พอเวลาเสื่อมค่าออกไป มันเสื่อม พอเสื่อมมันเอากลับตัวเองไม่ได้ ถึงไม่มีหลักเกณฑ์ไง ไม่มีหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติ

ถ้าหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัตินะ วิปัสสนามันจะเข้าไปชำระกิเลสออกไปได้ ชำระกิเลสออกไป ทำให้กิเลสนี้ขาดออกไปจากใจ นั้นเป็นสิ่งที่ตามความเป็นจริงที่มันจะเป็นจริงตามแต่ผู้ที่ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจะเป็นแบบนั้น

แต่เวลาพูดไปมันพูดแล้วมันเหมือนกับว่ามันเป็นการพูดอยู่ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเห็นแล้วก็พูดได้ แต่ผู้ที่ไม่ประพฤติปฏิบัติมันก็เป็นการเดินเข้าไปหา เห็นไหม สิ่งที่เดินเข้าไปหามันเป็นความทุกข์แสนทุกข์แสนยาก การประพฤติปฏิบัตินี้มันก็ยากหนักหนาอยู่แล้ว ทำไมต้องให้มันทุกข์ยากอย่างนั้น?

มันไม่ได้ทุกข์ยากอย่างนั้นนะ เขาว่าทุกข์นิยม ศาสนาพุทธเป็นทุกข์นิยม ทุกข์นิยมว่าทุกอย่างเป็นทุกข์..

ไม่ใช่หรอก! มันเป็นสัจจะนิยม มันจะเสื่อมสภาพ มันจะไม่เป็นตามความเป็นจริง มันจะไม่มีคุณธรรมในหัวใจนั้น ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจนั้น ใจมันจะแยกออกไป ใจเป็นใจ ขันธ์เป็นขันธ์ เห็นไหม ถ้ามันเสวยอารมณ์ออกมา มันก็สืบต่อออกมา ถ้าไม่เสวยอารมณ์ขึ้นมา มันคงที่ของมันอยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าไม่สมุจเฉทปหาน มันหมุนออกไปอย่างนั้น มันมีสิ่งใดกระทบมันก็ออกไป มันมีเชื้อล่อ มันมีเครื่องล่อไง มันมีเครื่องล่อให้ใจนี้ออกมาจากรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก มันมีเครื่องล่อให้ออกมารับรู้สิ่งต่างๆ แล้วมันก็ล่ออยู่อย่างนั้น แล้วมันก็เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม มันทุกข์นะ ทุกข์นี้ว่าทุกข์นิยม ทุกข์นิยม..

มันเป็นสัจจะนิยม! สัจจะนิยมคือความจริงที่จับทุกข์ได้ แล้วสมุจเฉทปหานทำความทุกข์ได้ ทุกข์ดับโดยตัวมันเอง ให้แสดงตัวมันเองจนพอตัวแล้วมันดับไปอย่างหนึ่ง ทุกข์มันดับเพราะว่าเราไปชำระเหตุของมัน เห็นไหม คือสมุทัย

สมุทัยคือความที่ว่าต้องการ ความตัณหา ความขับเคลื่อนของใจตัวนี้ให้ออกไปแสวงหา ไปทำให้มันเป็นไปตามสัจจะ แล้วมันถึงจะเกิดทุกข์อีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม เราไปดับที่เหตุ ตัวทุกข์มันก็ตัวเก้อๆ เขินๆ ทุกข์ถึงไม่ใช่ทุกข์นิยม ทุกข์นี้มันเกิดโดยธรรมชาติของมัน โดยหัวใจของมันมีอยู่แล้ว แต่เราต้องสู้กับสิ่งนี้ เราเผชิญกับสิ่งนี้เข้าไปแล้วมันจะทำกับสิ่งนี้ ไปแก้ไขสิ่งนี้ได้

แต่ถ้าเราไม่เผชิญกับสิ่งนี้ รู้เท่าดับ รู้เท่าดับ เราไปรู้เท่ามันเอง เห็นไหม มันก็ล่อเราเป็น ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ ๒ ชั้น ๓ ชั้นคือว่ารู้เท่าแล้วพอใจแล้ว ความวางไว้ตามความเป็นจริงแล้ว สภาวะเป็นอย่างนั้น มันพอใจของมัน เห็นไหม พอใจของมันเพราะอะไร เพราะว่ามันหลอกเรา หลอกเราให้อยู่เพื่อไม่ให้ปฏิบัติเข้าไปจนเห็นหน้าของมัน

ถ้าเราเห็นหน้าของมัน เวลาเราความคิดเกิดขึ้นมา เรามีความคิด เห็นไหม เราก็หลงไปตามความคิดของเรา แต่ถ้าความคิดเกิดขึ้นบอก “นั่นน่ะอะไรเกิดขึ้นมา?” เห็นไหม ความคิดนั้นจะคิดอีกไม่ได้เลย เพราะ! เพราะสติสัมปชัญญะมันรู้ทัน สติสัมปชัญญะนี่รู้ทัน ทุกอย่างจะสงบตัวลง ถ้าสติสัมปชัญญะมันไม่รู้ทัน มันจะไหวตัวมันไปจนถึงที่สุดแล้วก็เป็นอารมณ์

เราเป็นอารมณ์ไปรับวิบากไปรับผลของมัน ไปรับผลความรู้สึก แต่ไม่ใช่สาวไปหาเหตุ หาต้นเหตุของมันที่เกิดดับ ต้นเหตุของมันที่เกิดดับ เห็นต้นเหตุของมันแล้ว นั่นนะต้นเหตุมันเกิดดับ ตัวนี้เป็นตัวทุกข์ ตัวนี้เป็นตัวทำให้เกิดการมีปัญหา ถ้ามีปัญหาตัวนี้ขึ้นมา เราทำให้เราเคลื่อนไหวไป เราต้องหมุนเวียนไปกับมัน ตัวนี้เป็นตัวปัญหา เห็นไหม เราต้องไปจับตัวปัญหามัน แล้วแยกออกไปๆ แยกออกไปด้วยปัญญาญาณ เห็นไหม ปัญญาญาณมันจะแยกออก พอแยกออกไป มันจะมีสิ่งใดหลุดออกไปจากใจ อย่างนั้นถึงจะเป็นประสบความสำเร็จ อย่างนี้แล้วถึงจะไม่เสื่อม

สิ่งที่ไม่เสื่อมมันมีอยู่ สิ่งที่เสื่อมก็มี สิ่งที่ไม่เสื่อมก็มี สิ่งที่ไม่เสื่อม มันเป็นถึงที่สุด เราเข้าไปแล้ว มันเกาะติดแล้วมันจะไม่เสื่อมจากสิ่งนี้ไปอีกเลย นั้นเป็นอกุปปธรรม เกิดจากการประพฤติปฏิบัติที่ว่าพยายามเข้าไปจนเห็นตัวมันเอง จนทำได้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าสิ่งที่หลอกกันหรอก มันจะหลอกกันได้อย่างไรในเมื่อมันเป็นความจริงของเรา

ถ้าเราเข้าไม่ถึง เราเองต่างหากหลอกตัวเราเอง เราหลงใช่ไหม แล้วเราก็หลอกตัวเราเองหนึ่งว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องสงวนไว้ ต้องรักษาไว้ พยายามรักษาไว้นะ เพื่อจะไม่ให้มันกระทบกระทั่ง เพื่อจะให้ตะกอนนั้นนอนอยู่สงบๆ ไม่ให้ตะกอนนั้นมันฟูขึ้นมา ถ้าตะกอนมันฟูขึ้นมา เหมือนกับน้ำใสๆ มันก็ขุ่นขึ้นมา นี่เราต้องรักษาอย่างนั้น ทุกข์ไม่ทุกข์? รักษาสิ่งนี้ไว้แล้ว

มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ว่าเราจะรักษาแล้วไม่กระทบกระเทือนสิ่งใดเลย โลกนี้มันอยู่ที่อายตนะทั้งหมดมันกระทบ สิ่งที่กระทบทำให้ใจกระเทือนออกไป พอใจกระเทือนออกไป มันก็รับรู้อารมณ์ ทุกข์มันก็เกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน แล้วต้องพยายามรักษาไว้ การรักษาไว้อย่างนี้หรือที่เป็นผลของมัน?

มันจะไม่ให้เป็นผลของมันหรอก มันเป็นการคาดหมายของผู้ที่หลงไปชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็บ่นกันว่าทุกข์ๆ นะ มันจะกระเทือนกันไปแล้วต้องใช้ปัญญาไล่ตามตลอดไป มันจะทุกข์ตลอดไปอย่างนั้นเพราะอะไร เพราะไม่ได้สมุจเฉทปหานตรงสมุทัย

ถ้าสมุทัย เหตุมันอยู่ที่ไหน ดับเหตุแล้วผลมันเกิดขึ้นไม่ได้หรอก ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย พอมันจะขยับตัวปั๊บ มันจะรู้ทัน ขยับตัวรู้ทัน รู้ทันสิ่งนั้นแล้วจะปล่อยวางสิ่งนั้นไปตามเป็นจริง เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่ว่าสืบต่อแล้วเป็นประโยชน์ไง สืบต่อเพื่อสื่อความหมายกัน มันต้องสื่อความหมายไป เพราะว่าจิตนี้มันอยู่ในสมมุติใช่ไหม?

โลกสมมุติเป็นแบบนี้ เราอยู่ในสมมุติเขาก็ต้องอยู่กับสมมุติเขาไป ต้องสื่อความหมายกันรู้เรื่อง ผู้มีสติสัมปชัญญะไม่ใช่ผู้ที่หลงใหลไป ผู้ที่ไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะ เห็นไหม ผู้ที่เลอะเลือนไปพูดกับเขาไม่รู้เรื่องอย่างนั้นเหรอ? ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นั้น มันกลับต้องสมบูรณ์ขึ้นมา มันสมบูรณ์ขึ้นมาในใจขึ้นมาแล้วอะไรมันจะสื่อความหมายไม่ได้? สื่อความหมายไม่ได้รู้เท่าทันตลอด

ถึงว่ารู้ความกระทบของอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วย รู้สิ่งที่จะออกไปรับรู้อารมณ์นั้นด้วย รู้ว่าควรพูดไม่ควรพูดอีกด้วย นั่นน่ะสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ขนาดนั้น

ถึงว่ามันถึงเป็นผลของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจริง ถึงว่าไม่ใช่เป็นการหลอกกัน เป็นความจริงแต่เราเข้าไม่ถึงต่างหาก ถ้าเราเข้าไม่ถึงต่างหากต้องยอมรับว่าเราเข้าไม่ถึงต่างหาก ถ้าเราเข้าไม่ถึงต่างหาก เราจะทำต่อไปมันก็จะไปถึงจุดนั้น ถ้าไม่ทำต่อไป เราก็จะหลงในตัวเราเอง จะรักษาไว้อย่างนั้น มันจะไม่มีความสุขขึ้นมาพอประมาณหรอก มันมีความสุขต่อเมื่อมันปล่อยวาง มีความสุขต่อเมื่อมันรู้เท่า เห็นไหม ความสุขคือว่ามันยับยั้งทัน

มันเหมือนกับคนที่ว่าเช็ดถูของรักษาของอยู่นี่ สกปรกคอยเช็ดๆ นี่ ของนั้นจะสะอาดอยู่ แต่ต้องเหนื่อยใช่ไหม? กับคนที่ไม่รักษาเลยนะ ของสกปรกขนาดไหนก็ปล่อยมันไป ไม่รับรู้สิ่งนั้น

ความสุขเกิดขึ้นอย่างนี้ ความสุขเกิดขึ้นบอกของเราสะอาด ของเราสะอาด.. แต่มันทุกข์เพราะการรักษา แต่ถ้ามันทำลายหมด เห็นไหม “กายนี้เป็นโพธิ จิตนี้เป็นกระจกใส” ฝุ่นมันจะเกาะคอยเกาะกระจกใสต้องคอยเช็ดอยู่ ถ้าเราทำลายกระจกนั้นออกไป ฝุ่นมันจะเกาะอะไร? มันไม่เกาะอะไรเลย เพราะมันไม่มีอะไรให้เกาะ

นี่ก็เหมือนกัน การเช็ดถูอยู่นั้น เราทำลายหมดแล้ว สิ่งที่เป็นภาชนะที่รองรับมันไม่มี ภวาสวะไม่มีในสิ่งสภาวะแบบนั้น แล้วมันจะเอาอะไรมาเป็นกระทบ มันจะไม่มีอะไรกระทบเลยในหัวใจนั้น

แต่ถ้าไม่กระทบแล้วอะไรสื่อออกมา สื่อออกมานั้นเสวยอารมณ์ออกมาโดยธรรมชาติของมัน โดยสิ่งที่มีอยู่ โดยที่ว่ามันเป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ออกไปตามอาการของมัน ไม่มีกิเลสเป็นเจ้าของ สิ่งที่เราออกมา เราออกมาด้วยกิเลสเป็นเจ้าของ เห็นไหม ภวาสวะนั้นเป็นเจ้าของ รับรู้สิ่งต่างๆ เป็นความทุกข์ออกมาจากภายนอก

นั้นเป็นการที่ว่าการรักษาจิตกับไม่ต้องรักษาจิต จิตนี้ไม่ต้องรักษา มันเป็นไปธรรมชาติของมัน เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่อะไรเป็นเครื่องอยู่ไง สิ่งใดจะอยู่เป็นที่อยู่อาศัย ให้มันเป็นเครื่องอยู่อาศัย ให้มันทรงตัวมันได้ กับถ้าไม่อยู่อาศัยมันก็เป็นสภาวะของมันอยู่อย่างนั้น เห็นไหม กับที่ว่าเราควบคุมไม่ได้เลย ต้องใช้ปัญญาคอยรักษาๆ อันนั้นเป็นทุกข์มาก

นี้คือผู้ที่ปฏิบัติ หลงไปในการปฏิบัติ แล้วยังไปกล่าวตู่อีกนะ ว่าครูบาอาจารย์นั้นโกหก ครูบาอาจารย์นั้นพูดไม่มีความจริงออกมา ต้องมาโกหกกันเพื่ออะไร เพื่อจะหลอกลูกศิษย์ทำไม

ไม่หลอกลูกศิษย์! พูดให้ลูกศิษย์เข้าถึงที่สุดได้ แต่ถ้าเราเข้าไม่ถึง เราต้องพยายามถึงให้ได้ ถ้าถึงได้มันจะรู้ถึงเหมือนกัน เข้าถึงที่สุดอิ่มแล้วเหมือนกัน จะเหมือนกันทั้งหมด เอวัง