เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๙ พ.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ใจที่ฝึกดีแล้วนะ ใจที่ฝึกดีแล้วมันมีที่พึ่ง ใจที่ไม่ฝึกดีแล้วเราต้องอาศัยของเราไป เราอาศัยของเราไปเพราะเรามีเชื้อของกิเลส ถ้ามีเชื้อของกิเลสอยู่ มันยังต้องไปตามประสามัน แรงขับเคลื่อนมันมีอยู่ ถ้าแรงขับเคลื่อนมันมีอยู่มันไม่มีวันที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีวันที่สิ้นสุดมันต้องขับเคลื่อนมันไปตลอดเวลา แล้วเราต้องอาศัยมันไปทรงตัวไว้ ถ้าทรงตัวไว้ทรงตัวไว้กับความทุกข์แล้วมันต้องเป็นอย่างนั้นไปธรรมชาติของมัน นี่หัวใจที่ยังไม่ได้ฝึกฝนดีแล้ว

ถ้าหัวใจที่ฝึกฝนดีแล้วล่ะ มันอยู่ของมันได้มันทรงตัวของมันได้ แต่มันก็ต้องขับเคลื่อนขณะที่มีชีวิตอยู่ ขณะที่มีชีวิตอยู่นี่มันต้องดำรงชีวิตอยู่ธาตุขันธ์ยังมีอยู่ ดำรงชีวิตอยู่ ขณะขับเคลื่อนใจจนถึงที่สุดแล้ว ใจดวงนั้นก็หมดไปหมดภาระไป แล้วใจดวงนั้นก็คงที่อยู่

ใจดวงนี้มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน แล้วเราก็มีในหัวใจของเราโดยธรรมชาติของเรา ใจของเรามีอยู่โดยธรรมชาติ ของมีอยู่แต่มีอยู่โดยความเป็นทุกข์ มันครบทุกอย่าง ทุกอย่างสมบูรณ์บริบูรณ์ แต่ใจมันก็อาลัยอาวรณ์ ใจของมันก็ยังอมทุกข์อยู่ในหัวใจ มันถึงต้องมีที่การฝึกฝน มันถึงต้องมีธรรมะนี่ เราแสวงหาธรรมกันนี่แสวงหากันเพื่อเรื่องของหัวใจ

ถ้าเราแสวงหาธรรม แสวงหาบุญกุศล เพื่อใจมีที่อยู่ที่อาศัย เพื่อใจมีที่พักที่ผ่อนนะ ใจมันมีที่พักที่ผ่อน ใจมันเหมือนกับรถ รถนี้มันดับเครื่องได้มันจอดได้นี่มันก็ยังจอดได้ ถ้ารถไม่ได้ดับเครื่องไม่ได้จอดเลย มันต้องติดเครื่องอย่างนั้นไป มันต้องพังไปตลอดเวลา

อันนี้ก็เหมือนกัน หัวใจของเราในร่างกายของเรา มันต้องขับเคลื่อนไปตลอดเวลา มันต้องหมุนตัวเองตลอดเวลา จนกว่ามันจะดับเครื่อง จนกว่ามันจะตายไป ถ้ามันตายไปมันก็ดับเครื่องไป เครื่องมันดับไป แต่ซากรถนั้นก็ออกไป แต่พลังงานขับเคลื่อนนั้นไม่มีออกไป ใจของมันเป็นอย่างนั้น

เราถึงต้องพยายามหาที่อยู่ที่อาศัย ที่อาศัยของมันคือว่ามันอาศัยเรื่องบุญกุศลเป็นที่อยู่ที่อาศัย มันพอพักมันได้ ถ้ามันพอพักมันได้ นั่นน่ะบุญกุศล มันถึงได้การเกิดในการประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติถึงต้อง ทาน ศีล ภาวนา เราศึกษานี่ศึกษาเพื่อใจของเรา เราศึกษาเพื่อเรา ใจของเรามีที่อยู่ที่อาศัย ใจของเรามีที่พึ่งอาศัย

แล้วเราพยายามเชื่อ เห็นไหม เราเชื่อเรื่องความประพฤติปฏิบัติ เราเชื่อเรื่องกรรม เราเชื่อเรื่องการทำคุณงามความดี ถ้าเราเชื่อคุณงามความดี เราจะดัดแปลงตน ถ้าเราไม่ดัดแปลงตน กิเลสมันผลักไสก่อน กิเลสมันอยู่ในหัวใจมันขับไสก่อน มันต้องไปตามความเห็นของตัวเอง ตามความเห็นของตัวเองก็คือตามความเห็นของกิเลส ตามความเห็นของกิเลสมันต้องการสุขสบาย ต้องการอยู่เฉย ๆ แล้วมีความสุขมีความสบาย

แต่อยู่เฉย ๆ มันมีความสุขมีความสบายไหม? มันยิ่งอยู่เฉยขนาดไหนมันยิ่งคิดมาก มันยิ่งอาลัยอาวรณ์มาก มันยิ่งสะสมมาก มันยิ่งทับถมตัวเอง มันทับถมตัวเองให้หนักหน่วงไปในหัวใจ หัวใจนั้นจะหนักหน่วงไปในความเห็นของตัวเองมาก กิเลสมันคิดว่ามีความสุข คิดว่ามีความพอใจ คิดว่าอันนี้เป็นความสะดวกสบาย แต่ความสะดวกสบายของมันน่ะ มีแต่ความทับถมของใจ ไม่มีความปลดเปลื้องภาระของใจได้

แต่การประพฤติปฏิบัติ การพยายามดัดแปลงตน ถ้ามีการดัดแปลงตนมันจะปลดเปลื้องเรื่องของใจได้ ทำความสงบของใจนะมันจะรู้เลยว่าความสงบของใจ มันจะเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก ใครเข้าถึงสมาธิครั้งแรกจะตื่นเต้นกับสมาธิของตัวเอง จะแปลกประหลาดกับความเป็นสมาธิของตัวเอง มันแปลกประหลาดกับความเป็นของใจมากว่าใจดวงนี้เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร? มันเป็นได้เพราะอะไร? เพราะคำบริกรรม เพราะการตั้งสติสัมปชัญญะ เพราะการระลึกรู้ตน เพราะการดัดแปลงตน

ถ้ามีการดัดแปลงตนมันจะเป็นไปได้ ถ้าไม่มีการดัดแปลงตนมันจะเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เลยมันจะเป็นอย่างนั้น เว้นไว้แต่เวลาเราทำวางใจไว้พอสมควรแล้วส้มหล่น มันเป็นไปได้โดยส้มหล่นโดยอำนาจวาสนาบารมี นี่อำนาจวาสนาบารมี

บารมีธรรมนี่ควรสะสมอย่างยิ่ง ถ้าเราสะสมธรรมของเรา เราสะสมใจของเรา เราทำบุญกุศลของเรา บารมีธรรมแต่ละดวงใจก็ไม่เหมือนกัน บารมีธรรมเกิดขึ้นมาในหัวใจนี่ ใจมันจะเป็นไปตามคุณงามความดี มันจะเชื่อธรรม เราคิดดูสิว่าศาสนาพุทธว่าเป็นศาสนาที่ประเสริฐมาก ศาสนาที่สามารถทำให้คนพ้นทุกข์ได้

แต่ศาสนาพุทธ เห็นไหม เราเป็นชาวพุทธทั้งหมด ทำไมหัวใจทุกคนเร่าร้อนล่ะ เพราะอะไร? เพราะมันไม่ได้มีการดัดแปลงตน เพราะมันไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติ มีการพยายามฝึกฝนตนเองขึ้นมานี่ อันนี้ถึงจะเป็นคุณงามความดี

ความเชื่อ เห็นไหม เชื่อในอะไร? เชื่อในทาน เชื่อในศีล เชื่อในภาวนา ไม่ให้เชื่อในสิ่งที่เป็นมหัศจรรย์ต่าง ๆ สิ่งที่เป็นมหัศจรรย์ มันเป็นความมหัศจรรย์ของใจต่างหาก ถ้าใจมหัศจรรย์มันมีความรู้ขึ้นมาในหัวใจ มหัศจรรย์ของมันเป็นอย่างนั้น ถ้าใจมหัศจรรย์ ใจของเราเป็นมหัศจรรย์เพราะผลของธรรม ไม่ใช่มหัศจรรย์เพราะสิ่งที่ภายนอก ถ้ามีสิ่งนี้ขึ้นมานี่ศาสนาพุทธมันจะแสดงตัวขึ้นมา

ศาสนานี่เป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนธรรมคือคำสั่งสอน แต่ศาสนธรรมเป็นที่พึ่งของเรา แล้วเราพึ่งไม่ได้เพราะอะไร? เพราะเราไม่สามารถทำได้ตามความเห็นอันนั้น

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราทำไม่สมควรแก่ธรรม เหตุเราสร้างสมไม่พอ ถ้าเหตุเราไม่พอนี่ผลมันจะเอามาจากไหน? ถ้าผลมันไม่มีขึ้นมานี่ เราจะเรียกร้องไปขนาดไหนมันก็ได้เรียกร้องไป ตีอกชกตัวขนาดไหนมันก็เรียกร้องไป เรียกร้องไปแล้วไม่ได้ผลตามความหมายของตัว ไม่ได้ผลตามความหมายของตัวหรอก เพราะอันนี้เป็นเรื่องของกิเลสในหัวใจ

มันมีมืดกับมีสว่าง ถ้าเป็นสว่าง ความสว่างของหัวใจ ความเข้าใจของใจ ใจมันสว่างขึ้นมาสว่างจากภายใน ความมืดความสว่างจากภายนอกอาศัยแสงไฟ แต่ความเข้าใจของตัว ความฉลาดของตัวนี้อาศัยปัญญาในหัวใจ นั่นน่ะถ้ามันเชื่อสิ่งนั้น

ศาสนาพุทธสอนถึงเรื่องมหัศจรรย์ มหัศจรรย์ในตัวเอง “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนมีหัวใจเป็นที่พึ่งแล้ว ตนต้องสามารถทำที่พึ่งของตนให้เกิดขึ้นมาในหัวใจของเราได้ ถ้าเราสามารถทำที่พึ่งเกิดขึ้นมาในหัวใจของเราได้ นั่นน่ะตนเป็นที่พึ่งตนได้ ยังเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้อีก ยังเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกได้อีก เป็นเนื้อนาบุญของโลก เห็นไหม ปุญญักเขตตัง เขตของเนื้อนาบุญ เนื้อนาบุญสิ่งนั้นมันเป็น เพราะใจมันบริสุทธิ์ ใจมันไม่มีความทุจริตในหัวใจ

แต่ใจเราทุจริตในหัวใจ มันไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลก มันต้องอาศัยโลกไป นี่สัตตะ โลกข้องอยู่ข้องอยู่อย่างนี้ ข้องอยู่ในกระแสของกรรม ข้องอยู่ในกระแสของโลกไป แล้วใจเราก็พร่องอยู่ ถ้าใจเราพร่องอยู่มันข้องอยู่ในหัวใจ แล้วมันคิดออกไปมันก็เวียนไปในความติดข้องของใจ ใจมันคิดไปอย่างนั้น นั่นน่ะกิเลสขับไสกิเลสไปอย่างนั้น ความคิดของเราเป็นกิเลสทั้งหมด เราถึงต้องดัดแปลงใจไง

ถ้าเราแก้ไข เราพยายามดัดแปลงเรา เราจะได้แก้ไขเราได้ ถ้าเราไม่ดัดแปลงเรา กิเลสมันอยู่ที่ไหน? กิเลสมันอยู่ที่ความเคยใจ กิเลสมันอยู่ที่ความคิดของเรานั้น ถ้าเราสวนกระแสเข้าไป ทวนกระแสเข้าไป ทวนกระแสของความคิด ความคิดสิ่งนี้เกิดขึ้นมานี่มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วมันให้โทษหรือให้คุณกับเรา ถ้ามันให้โทษกับเรา เราจะเชื่อมันไหม?

ความคิดของเรา เราก็เชื่อไม่ได้ เราถึงเชื่อตัวเองไม่ได้เลย เราต้องเชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงต้องเอาสิ่งนั้นมาเทียบเคียงใจของตัว เทียบเคียงความคิดความเห็นของตัว ถ้าเทียบเคียงความคิดของตัวขึ้นมานี่ นั่นน่ะธรรมแนบกับใจ เป็นของคู่ไปก่อน เริ่มต้นเป็นของคู่ไปก่อน

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว มันจะไม่เป็นของคู่หรอก มันจะสัมผัสกับใจ มันเป็นเนื้ออันเดียวกัน “เอโก ธัมโม” ใจนี้เป็นเอก “เอกัคคตารมณ์” ใจนี้เป็นหนึ่งก่อน พอใจนี้เป็นหนึ่งนั้น ยกขึ้นวิปัสสนา นี่ปัญญามันจะเกิดขึ้นเกิดขึ้นตรงนั้น ปัญญาของใจเกิดขึ้นมา ความเห็นของใจเกิดขึ้นมา มันจะเลาะความคิดเห็นผิดของตัวเองออกไป นั่นน่ะปัญญาเกิดขึ้น ความสว่างจากภายในจะเกิดขึ้นมา แสงสว่างของปัญญาเกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นอย่างละเอียดเข้าไป

อย่างหยาบขึ้นมา แค่เราแสวงหาบุญกุศลนี่ เราทำยากแสนยาก แล้วเราพยายามดัดแปลงตนมันยากไม่ยาก? เราต้องสละสิ่งทุกอย่างเลย สละมาเพื่อพยายามประพฤติปฏิบัติ สละมาเพื่อแสวงหาหลักธรรมของใจ เริ่มต้นต้องหลักธรรมของใจก่อน เอกัคคตารมณ์ ใจเป็นอารมณ์ ใจเป็นเอกหนึ่งเดียว อารมณ์หนึ่งก็เป็นอารมณ์เดียว เป็น เอโก ธัมโม ใจเป็นเอก ตัดออกหมด ทุกอย่างที่เป็นอารมณ์ไม่มี เป็นหนึ่งเดียวไม่มีสอง ไม่มีของคู่ ไม่มีมืดกับสว่าง มันจะคงที่ของมันขนาดนั้น นี่ใจที่ฝึกฝนดีแล้วถึงเป็นประโยชน์กับสัตว์โลกมาก

สัตว์โลกทุกคนที่มีหัวใจในร่างกายของเรา ทุกคนมีความรู้สึก แล้วพยายามจะดัดแปลงตน พยายามจะแสวงหาสิ่งนี้ให้ได้ ถ้าแสวงหาสิ่งนี้ได้ มันอยู่ในร่างกายของเรา มันน่าแปลกประหลาดนะ แสวงหาเงินแสวงหาทอง หน้าที่การงานเราแสวงหาออกไปเราทำไปข้างนอก ทำไปเพื่อได้ประโยชน์ขึ้นมา

แต่เวลาทำของเราดัดแปลงตน เอาชนะตนเองนี่ เอาชนะแสนยาก ถ้าเอาชนะตนได้ ตนอยู่กับเราเอง อยู่กับตัวเราเองแล้วเราสามารถทำได้เองขึ้นมานี่ ต้นทุนก็อยู่ที่นี่ ผลประโยชน์ก็อยู่ที่นี่ ผลอยู่ที่เรา แล้วผลประโยชน์มันมหาศาลด้วย เพราะผลประโยชน์มันซับไปกับใจ ใจเวียนตายเวียนเกิดไป มันซับไปกับใจ สมบัติโลกนี้หาไว้กับโลกเขานะ เรามีหน้าที่การงานเพื่อปากเพื่อท้องที่ธรรมชาติของมัน นี่ญาติโดยธรรม เรามีปากมีท้องขึ้นมาเป็นที่ต้องบังคับตนเองอยู่แล้ว ต้องหาอยู่หากินนี่มันเป็นเรื่องธรรมชาติเลย

แต่ความสุขอีกอันหนึ่ง ที่เราจะต้องแสวงหา คือความสุขของใจ ความสุขของใจนี่ สิ่งใดก็แล้วแต่เขาแสวงหา เขาเล่นของกันทางโลก จะสิ่งน่าสะสมขนาดไหน สะสมถึงจุดหนึ่งมันต้องเบื่อหน่าย สะสมถึงจุดหนึ่ง เห็นไหม นักสะสมขนาดพอสะสมถึงมากแล้ว ทำเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นที่สาธารณะเพื่อเผื่อแผ่คนอื่น มันถึงจุดอิ่มตัวของมันแล้ว นักสะสมขนาดไหน มันสะสมขนาดไหน มันก็เบื่อหน่าย

แต่การแสวงหาบุญ สะสมบุญเรื่องบุญของหัวใจ มันจะเบื่อหน่ายไปไหน? มันไม่ถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุดมันพ้นออกไป มันใจนี้ เอโก ธัมโม ใจนี้เป็นเอก มันเวิ้งว้างไปหมดแล้วมันสะสมสิ่งใดได้ มันสะสมเรื่องของบารมีธรรมนี่ มันสะสมมันควรสะสมอย่างยิ่ง สะสมแล้วไม่มีที่เบื่อหน่าย ไม่มีวันเบื่อพอ มันแสวงหา มันกว้างขวางขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ธรรม ถึงว่า ๑๖ อสงไขย ๘ อสงไขย ๔ อสงไขย นั่นน่ะสะสมมาขนาดไหน? นั่นมันจะเบื่อหน่ายไปไหน

นี่ก็เหมือนกัน ชีวิตของเราหมุนเวียนตายเวียนเกิด เราจะนับเกิด เราไม่มีที่นับเกิด ไม่มีนับต้นนับปลายได้มันจะเวียนไปออก มันจะเวียนไปตลอด มันถึงสะสมไป ถ้าสะสมไปถึงที่สุดแล้ว มันจะเป็นบารมีธรรมกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงเห็นคุณค่าของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ถึงเรื่องโลกนั้นปล่อยเป็นเรื่องของโลกเขา

เราเกิดมาในโลก เราอาศัยโลกอยู่ อาศัยเขาไป แต่ต้องเอาใจให้พ้นออกไปได้ ถ้าเราเกิดมาในโลกเราอาศัยโลกอยู่ แล้วเราทำสิ่งที่ว่าผิดพลาดไป เรายิ่งไม่ได้เกิดในโลก เกิดต่ำกว่าโลกนี้อีก เกิดในนรก เกิดในเปรต เกิดในอเวจี เกิดในสวรรค์ เกิดในอะไรแล้วแต่เราจะเกิด นี่ผลจากการกระทำในโลกนี้ทั้งนั้นเลย

ผลจากการสะสมบารมีธรรมของเราจะทำได้หรือไม่ได้ ทำได้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าทำไม่ได้ไม่เป็นประโยชน์กับเรา นี่ประโยชน์ตนต้องสะสมต้องสร้างขึ้นมา เอวัง