เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๘ เม.ย. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ชีวิตอุดมคติ ถ้าชีวิตอุดมคติมันต้องเป็นไปตามจริตนิสัย ตามความเป็นจริง ชีวิตในอุดมคตินะ มีคนมากเลยว่าศาสนาพุทธเราทำไมไม่บัญญัติอะไรให้มันแน่นอน ให้มันตายตัว ว่ามันต้องผิดพลาด ต้องเป็นอะไรไป ชีวิตในอุดมคติ อุดมคติของเรา เราใช้ชีวิตในทางโลกเรา เราใช้อุดมคติเราเป็นไปไม่ได้เลย เราจะต้องไปติดต่อกับสังคม สังคมเขาเป็นไป

ถ้าพูดถึงเขาบอกว่า “น้ำนิ่งไหลลึก” ต้องให้เราเก็บความรู้สึกของเราไว้ให้ได้ แล้วเพื่อสังคม เพื่อโลก เพื่ออะไร เพื่อความเป็นธรรม นั่นแหละชีวิตในอุดมคติ ถ้าเราอยู่ในโลกมันเป็นไปได้ยาก เพราะเราต้องสังคมกับโลกเขา มันเป็นไปในตามโลกเขา แต่ชีวิตอุดมคติในการประพฤติปฏิบัติมันเรื่องของจิตวิญญาณ ถ้าเรื่องของจิตวิญญาณ อุดมคติมันตั้งตนได้ ตั้งความเป็นไปของอุดมคติของเราได้

อุดมคติของเรา เห็นไหม มันจะให้เกี่ยวพันกับโลกน้อยที่สุด ถ้าพระมาอยู่ในโลก แค่บิณฑบาต ถ้าโยมใส่อาหารตกบาตร เท่านี้แหละพระอยู่ได้แล้ว พระประคองชีวิตไป เลี้ยงชีวิตเหมือนกับเพลารถ หยอดน้ำมันให้เพลารถนี้หมุนไปไม่เสียงดัง นี่ชีวิตอย่างนี้เกี่ยวพันกับโลกเขา แล้วมาพยายามอุดมคติของเรา อุดมคติของเราคือพ้นออกไปจากความนึกคิด พ้นออกไปจากกิเลสของเรา มันต้องทำของเรา

นี้มันทำของเรา ถ้าเอากฎหมายมาเป็นบรรทัดฐาน เห็นไหม กฎหมายบังคับ ถ้ากฎหมายบังคับมันจะทำให้เราแบบว่าแคบเข้ามาๆ อย่างเช่นการบวช การบวชนี่เมื่อก่อนนะ ถ้าในพระธรรมวินัยนะ ภิกษุพรรษา ๑๐ เป็นผู้ที่ฉลาดขึ้นมา สามารถบวชพระได้ มันง่ายไหม? สามารถบวชพระได้ เป็นพระโดยธรรมชาติ เป็นพระโดยธรรม โดยธรรมเลย แต่กฎหมายเถรสมาคมบอกว่า “ถ้าไม่ได้อุปัชฌาย์นี้ ใครไปบวชเป็นโทษอาญา” เป็นโทษอาญานะ ถ้าได้อุปัชฌาย์แล้วถึงจะบวชได้ ถ้าไม่ได้อุปัชฌาย์ไปบวชเป็นโทษอาญา นี่มันก็ไปจำกัดเขตของธรรมวินัย นี่พูดถึงพรบ.สงฆ์ของเก่านะ แต่อันนี้เขาออกมานาน

แต่อันใหม่นี้ออกมามันยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่ มันน่ากลัวที่ว่า มันแบบว่าตั้งเป็นผู้ที่มีอำนาจขึ้นมา แล้วมองกัน เวลาพูดนี่พูดเรื่องธรรมวินัย แต่ความเห็นของเขามันผลประโยชน์ เห็นไหม ผลประโยชน์ ตอนนี้ในหนังสือพิมพ์บอก ที่สมบัติกลางมีอยู่ ๗๐,๐๐๐ กว่าไร่ เงินของสมบัติสาธารณะสงฆ์มี ๒,๐๐๐ กว่าล้าน แล้วใครจะเข้ามาบริหารตรงนี้ นี่ใครจะเข้ามาบริหารตรงนี้?

นี่เขามองไปตรงนั้นเลย มองไปตรงนั้นกัน นี่ถึงว่ากฎหมายสำคัญ สำคัญกฎหมายจะให้จัดระเบียบสังคม เห็นไหม นี่ชีวิตในอุดมคติ ความเห็นของคนก็ไม่เหมือนกัน ความคิดของคนก็ไม่เหมือนกัน จริตนิสัยของคนก็ไม่เหมือนกัน คนเรามีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ความคิดละเอียดอ่อนไม่เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม บางอย่างเป็นของที่ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่คนบางคนเห็นว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องหยาบมาก เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำเลย แต่คนที่กระทำไป กระทำไปด้วยความเคยชินของเขา อันนี้มันเป็นจริตนิสัย

นี่เปิดกว้างเปิดกว้างตรงนี้ไง เปิดกว้างที่ว่านิสัยคนต่างกัน ความเห็นของคนต่างกัน ธรรมะต้องเปิดกว้างไป จริตนิสัยของคนมันจะเป็นไป แต่จริตนิสัยมันเป็นความคิดใช่ไหม? เป็นนามธรรม มันไม่เป็นวัตถุ มันไม่กระทบกระเทือนกันหรอก ถ้าไม่กระทบกระเทือนกัน กฎหมายเขียนบังคับตายตัว กฎหมายเขียนบังคับตายตัวต้องเป็นไปแบบนั้น ต้องทำไปอย่างนั้น

นี่ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมต้องเป็นสเต็ป คนไม่เคยทำ ไม่เคยเห็นจะเห็นว่าเป็นสเต็ปขึ้นมา มันเป็นสเต็ปโดยเรื่องของธรรมกับกิเลสมันจะเป็นไปนะ อย่างเช่นทำความเพียรขึ้นมา สัมมาสมาธิแค่ไหน? ต้องใช้ปัญญาแค่ไหนมันถึงชำระกิเลสได้ ส่วนใหญ่คนจะถามตรงนี้มากเลยว่า “มรรคอริยสัจจังที่หมุนไป มันใช้มรรค น้ำหนักของมรรคขนาดไหน มันจะชำระกิเลสได้”

บัว ๔ เหล่า ถ้าบัว ๔ เหล่าขึ้นมา คนเรามันจะทำของมันเป็นไป บางคนหนักไปทางสมาธิ บางคนหนักไปทางปัญญา บางคนหนักไปทางสติ มันหนักไปทางไหน แต่รวมลงแล้วมันต้องสามัคคีกัน มันต้องสมุจเฉทปหานชำระกิเลสได้โดยพร้อมกัน แต่มันถึงเป็นจริตนิสัยของคนที่ว่าต้องเปิดกว้างไว้ให้เขาเป็นไป ถ้าไปจำกัดขอบเขตขึ้นมาแล้วมันเป็นไปไม่ได้ มันจะทำให้การประพฤติปฏิบัติมันเหมือนกับว่าเป็นสเต็ป บังคับเป็นสเต็ปให้มันเป็นไป

สเต็ปของใคร? สเต็ปของเรา เราหลงตัวเราเองใช่ไหม? เราประพฤติปฏิบัติเราจะหลงตัวเราเอง เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้ามาขนาดไหนก็แล้วแต่ เราจะคิดว่าเราเป็นไป เรารู้แล้ว เรารู้แล้ว เห็นไหม ความรู้ของเรามันคาดหมายไป ความคาดหมายไปมันไม่เป็นความเป็นจริงแล้ว นี่มันต้องหมุนไปตามธรรมชาติของมัน มันหมุนขึ้นไป ถึงบอกว่ามันต้องเป็นไปแล้วแต่จริตนิสัย แล้วแต่ความพอดีของมรรคสามัคคีที่รวมตัวแล้วประหารกิเลสของแต่ละบุคคล มันถึงต้องปล่อยให้มันกว้างไง

ชีวิตอุดมคติมันอุดมคติตรงนั้น อุดมคติในนามธรรมไง อุดมคติในนามธรรม เห็นไหม เวลามันทุกข์มันทุกข์ที่ไหน? ใจมันทุกข์หรือกายมันทุกข์? ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บปวด ปวดหัวตัวร้อน ร่างกายมันมีความทุกข์ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าหัวใจมันไม่ไปตกใจ ไม่ไปเร่ง ความทุกข์นั้นมันก็อยู่ของมันแค่นั้นแหละ แต่ถ้าหัวใจไปเร่งเร้าขึ้นมา ร่างกายมันเป็นความทุกข์อยู่แล้ว ร่างกายไปเร่งเร้า เป็นความวิตกกังวลว่ามันจะเป็นไปอย่างนั้น มันจะเป็นไปอย่างนี้ มันเสริมไฟเข้าไป

จิตใจนี่สำคัญที่สุด มันจะไปเสริมไฟขนาดไหนก็ได้ มันจะยับยั้งขนาดไหนก็ได้ ทีนี้จะยับยั้งขนาดไหนตรงนี้สำคัญ ตรงที่ว่าสติสัมปชัญญะยับยั้งตัวเราเอง สติสัมปชัญญะ ถ้ามีสติกดไปตรงไหน ตรงนั้นจะหยุดคิด ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะมันจะคิดเตลิดเปิดเปิงไป สติถึงสำคัญไง สติถึงเป็นเบรกห้ามล้อ รถนี่ ความสำคัญของรถ เห็นไหม เบรกนี่สำคัญ ถ้าเบรกแตกรถจะชนตลอดเวลาเลย แต่เราไปดูที่คันเร่ง ไปดูที่เครื่องยนต์ที่มันต้องเป็นไป แต่ถ้าไม่มีเบรก รถนี่ออกไปไม่ได้เลย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีสตินะ ไม่มีสติสัมปชัญญะเหยียบเบรกในหัวใจไว้ นี่ธรรมคือความเหยียบเบรกไว้ รถเรา ความคิดของเรามันวิ่งไปตลอด มันชนไปตลอดนะ มันไปบนถนนมันจะชนไปตลอด มันไม่มีความเป็นไป สติสัมปชัญญะเบรกไว้ๆ เบรกของเราให้มันเป็นไป แต่เวลามันเป็นธรรมขึ้นมา เวลามันคิด อย่างเช่นประพฤติปฏิบัติ อยากจะทำสมาธิ อยากจะพ้นจากกิเลส อยากจะมีชีวิตในอุดมคติไง

ชีวิตในอุดมคติคือชีวิตที่ผ่องใส ชีวิตที่ผ่องแผ้วในหัวใจ หัวใจนั้นไม่มีมโนกรรม กรรมของใจนั้นไม่คิด ไม่เป็นไป มันเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน มันเกิดดับ มันกระเพื่อมขึ้นมา มันเป็นไปเพื่อสื่อความหมาย มันเป็นไปเพื่อจะให้การคุยกันเป็นธรรมดา แต่มันไม่สามารถให้โทษกับความคิดของเราได้

อุดมคติคือความเห็นของใจที่มันพ้นออกไปจากการชักนำของกิเลสไง ปกติของเรา เรามีการชักนำของกิเลส ความเคยชินของเรานี่แหละคือกิเลส ความเคยชิน ความคิดของเราคือกิเลส แล้ววิปัสสนาเข้าไป มรรคเข้าไปชำระตรงนี้มันถึงปล่อยไปไง ปล่อยให้อุดมคตินั้นมันเป็นไปได้ ปล่อยให้การประพฤติปฏิบัตินี้มีโอกาสไง ถ้าเขียนกฎหมายขึ้นมารวบรัดขนาดไหน รวบยอดขนาดไหน มันจะแคบลงขนาดนั้น มันจะแคบไป แล้วมันจะเป็นไปไม่ได้

นี่ธรรมวินัยไม่สำคัญ กฎหมายสำคัญกว่า เขาพูดอย่างนั้นนะ เขาว่ากฎหมายสำคัญกว่า เพราะกฎหมายบังคับ กฎหมายเป็นอาญา กฎหมายเป็นว่าจับสึกได้ จับอะไรได้ แต่ธรรมวินัยเป็นไปไม่ได้ ธรรมวินัยแล้วแต่สึกนี่มันสึกโดยธรรมวินัย เช่น ถ้าพระทำผิดขึ้นมา อาบัตินี่เป็นทันที กรรมจะเกิดขึ้นทันที นี่มันเป็นโดยธรรมชาติของมัน ถ้าพูดถึงว่าถ้าถึงที่สุดแล้วว่าตาลยอดด้วน จะทำคุณงามความดีมันก็เป็นไปไม่ได้ นั่นแหละเวลาธรรมตัดสินมันตัดสินโดยธรรมชาติเลยนะ แต่กฎหมายนี้ต้องมาแยกแยะ ต้องมาไตร่ตรองกันก่อนถึงจะเป็นไป นั่นแหละกฎหมายมันถึงเป็นส่วนหนึ่ง

ถ้าสำคัญมันก็สำคัญกฎหมายเป็นการส่วนรวม แต่เวลาจะร่างกฎหมายขึ้นมามันถึงว่าคนร่าง กฎหมายเป็นส่วนหนึ่ง แต่เจตนาของตัวเอง เป้าหมายของตัวเองที่จะเขียนกฎหมายให้สมประโยชน์ของตัวเองนั้นอีกอย่างหนึ่ง กิเลสคนเขียนกฎหมาย กฎหมายออกมามันสวยหรูขนาดไหนก็ได้ มันหมกเม็ดขนาดไหน เราอ่านตีความไม่ออกเราก็ไม่รู้เรื่องของมัน ถ้าเราไม่รู้เรื่องของมัน เราก็ต้องเป็นไป นี่มันจะบีบบังคับให้แคบลงๆ ความแคบลงของการประพฤติปฏิบัติ

แต่ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ นี่ที่ปล่อยไว้อย่างนี้ เวลาพระเล็กๆ ทำความผิดทำไมเขาจับสึกได้ทันทีเลย นั่นแหละธรรมวินัยสึกได้ สิ่งที่สึกไม่ได้เพราะมันมีกำลังอิทธิพลต่างหาก อิทธิพลของพระองค์นั้นสะสมไว้ อิทธิพลของความเห็นของเขา เวลามีปัญหาถึงจับกันไม่ค่อยได้ มันจับไม่ได้ตรงอิทธิพลอันนั้นแหละ แต่ถ้าพระเล็กๆ ไปกินเหล้าเมายาตามถนน นี่เขาจับสึกได้เลย จับสึกได้เลย ทำไมทำได้ง่ายล่ะ?

นี่ผิดนะ ถ้าธรรมวินัยมันทำได้ถูกต้อง แต่ที่ทำไม่ได้เพราะอิทธิพลต่างหาก แล้วกฎหมายจะออกมาล้างอิทธิพลอันนั้น อิทธิพลอันนั้นมันทำให้พลิกกฎหมายให้เป็นการเบียดเบียนไปอีก นั่นแหละตรงนี้สำคัญ ตรงนี้สำคัญว่าจะต่อสู้กับกิเลสของผู้ออกกฎหมาย ไม่ใช่ตัวกฎหมาย แต่พวกเราตอนนี้เขาเอาตัวกฎหมายเป็นตัวตั้ง แล้วพยายามว่ากฎหมายนี่มันจะเป็นคุณความดี กฎหมายนี้ออกไปก่อน แล้วไปแก้ไขเอาข้างหน้า ไปแก้ไขเอาข้างหน้า ไปแก้ไขเอา ปล่อยไปๆ

มันยิ่งปล่อยไปมันยิ่งสมกับกิเลสเขา อันนี้เป็นความเห็นของพวกเรา เราทำไม่ได้นะ แต่อาจารย์มหาบัวท่านทำของท่านได้ ท่านพยายามขวางขึ้นมาเพื่อหมู่คณะ เพื่อบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะได้อยู่เป็นสุขตลอดไป ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นั่นแหละมันเป็นบริษัท ๔ ในธรรมทายาทอันนี้ ถ้ามันเป็นไปได้มันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันเป็นไปไม่ได้มันก็เป็นไป มันเป็นไปตามประสาโลก โลกจะเป็นใหญ่

อันนั้นคิดถึงว่าชีวิตอุดมคติมันย้อนกลับมาเป็นภายในนะ ไม่ใช่ภายนอก อุดมคติภายใน แล้วอย่างนี้มันเขียนกฎหมายไปก็แล้วแต่เขา แล้วแต่มันเป็นไป เอวัง