เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ ม.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วันสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

...เป็นสมบัติที่สำคัญที่สุดนะ ความเชื่อเป็นอริยสมบัติของเรานะ มนุษย์สมบัตินี้ มีศรัทธาคือความเชื่อ ที่เรามากันนี่ เรามาทำบุญทำกุศล เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องมีความคิดความเชื่อก่อน ความเชื่อความเห็นเราถูกต้อง เราถึงจะทำงานถูกต้อง ความเชื่อเป็นศรัทธาเฉยๆ

แต่เชื่อแล้วศรัทธา ความเห็นมันผิดแล้วเห็นไหม ถ้าความเห็นมันผิด ในลัทธิศาสนาต่างๆ เขาก็สอนต่างๆ กันไป สอนต่างๆ กันไปนะ แต่พื้นฐานของศีลธรรมจริยธรรมนั้นถูกต้อง เป็นศาสนาที่ว่าสอนให้คนเป็นคนดี แต่ดีในเหตุผลอะไรล่ะ ดีในเหตุผลว่า ดีของเขามันดีเอาตัวรอดไหม

แต่ดีของเรา นี่เวลาเราพูดกันถึงเรื่องศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้านี่เห็นแก่ตัวมาก พระพุทธเจ้าสละลูกสละเมียออกไปบวช เพื่อเอาตัวรอดคนเดียว แต่ถ้าไม่เอาตัวรอดคนเดียวก่อน แล้วจะเอาใครรอดได้ เราจะช่วยเหลือใครเราต้องช่วยตัวเราเองก่อนใช่ไหม ถ้าเราสามารถช่วยตัวเราเองได้ เราสามารถบอกชี้ทางถูกได้ เราจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้

พระพุทธเจ้าบอกว่า “โคนำฝูง ! ถ้าโคมันโง่ มันไปกลางน้ำนะ มันจะพาฝูงโคทั้งหมดไปในวังน้ำวน มันจะตายอยู่กลางน้ำหมดเลย ถ้าโคตัวไหนมันฉลาด หัวหน้าโคมันฉลาดนะ มันจะสามารถพาโคให้ขึ้นฝั่งได้ ให้ผ่านพ้นไปได้”

อันนี้ก็เหมือนกัน ศรัทธาความเชื่อของเรา ถ้ามันเชื่อถูก มันจะทำให้เราไปในทางที่ถูกต้อง ถ้าเราเชื่อผิด แต่มันจะทำให้เราผิด ความเชื่อมันเป็นขบวนรถจักรแน่นอนเลย มันจะดึงเราเข้ามาในศาสนา ดึงเข้ามาในการกระทำคุณงามความดี ถ้าไม่มีตัวนี้ มันไม่มีการขับเคลื่อน ดูสิในทางศาสนาพุทธเราเห็นไหม

ศาสนาอื่นๆ เขายังมีการบังคับนะ เขามีการปกป้องของเขา เขาจะบังคับให้ทำอย่างนั้นๆ ศาสนาพุทธเรานี้มีเสรีภาพมากนะ จะเชื่อก็ได้หรือจะไม่เชื่อก็ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้วเห็นไหม

“แม้แต่เราตถาคตบอก ก็อย่าเพิ่งเชื่อนะ ต้องพยายามไปทดลอง ไปไตร่ตรองดูก่อนว่ามันถูกต้องไหม มันเป็นอย่างนั้นจริงไหม ถ้าจริงแล้วให้เชื่อความจริงที่เราเห็น ไม่ใช่เชื่อคำบอกเล่าขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อความเห็นของเราที่เราเห็นจริงนั้นนะ”

แต่ขณะที่เราเชื่อความเห็นของเรา อันนั้นก็ยังเป็นความจริงที่ว่าจริงสุดส่วน แต่เริ่มต้นมันเชื่ออย่างนั้นไม่ได้เลย เพราะอะไร เพราะว่าความเชื่อของเราเห็นไหม

เขาบอกเลยว่า “เขาไม่มาทำบุญทำกุศล คนไปวัดนี่เป็นคนมีปัญหาทั้งหมด”

พูดกันหมดนะ ทางโลกไปพูดกันว่า “คนไปวัดมีแต่คนมีปัญหา เขาเป็นคนที่ไม่มีปัญหา เขาเป็นคนดีมาก เขาอยู่ในบ้านอยู่ในเรือนของเขา” เห็นไหม คนเกิดมานี่เอาอะไรพาเกิด บุญกุศลพาเกิดนะ

ในศาสนาพุทธสอนอย่างนั้น องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ไว้โดยชอบ บอกไว้เลยนะว่า “การเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก” เพราะในวัฏวนนี่ มันเหมือนกับในวงล้อของแจ๊คพอต มันมีอยู่นิดเดียวเท่านั้นที่เราจะปาไปโดนตรงนั้น แต่โดนที่อื่นมันมีมากเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน ปาเป้านี้มันปาอย่างนั้น เกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก มันต้องวัดภาพในวัฏวนไง ในวัฏฏะคือว่าในวัฏฏะ ในเทวดา ในอินทร์ ในพรหม ในสัตว์นรก ในสัตว์เดรัจฉาน แล้วเทียบกับมนุษย์สิ มนุษย์นี่ส่วนนิดเดียว ! เล็กน้อยมาก น้อยมากจริงๆ นะ ถ้ามนุษย์เทียบส่วนกับในวัฎฎะแล้ว มันมีส่วนเล็กน้อยมาก

การเกิดมาเป็นมนุษย์นี้แสนยาก แต่เกิดด้วยอะไร เกิดด้วยบุญกุศลเห็นไหม ถ้ามีบุญกุศล ศีล ๕ มันบริสุทธิ์ก็เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา แล้วทำคุณงามความดี เกิดนู้นนี่.. พระพุทธเจ้าสอนเห็นไหม เกิดนั้นบุญกุศลพาเกิด เกิดแล้วเราจะทำคุณงามความดีอะไรต่อไป

ถ้าเราเชื่อ เรามีความศรัทธา เราก็ทำคุณงามความดีของเรา คุณงามความดีของเรานี่ การสละทานออกไป เวลาเราทุกข์ร้อนขึ้นมา มันจะทุกข์ร้อนในหัวใจ หัวใจของเรามีความทุกข์ร้อน มีความกังวลใจ แต่ทำไมเราสละสิ่งนั้นออกไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยฝึก การสละทานนี่เป็นการฝึกโดยอย่างหยาบๆ ไง

การสละทานออกมาเห็นไหม ความสละออกไปนี่ ของทุกคนหามานี่ มันก็ต้องว่าเป็นของเรา การสละออกไป หัวใจมันก็ต้องมีการต่อต้าน มีความคิด มีความแยบคายในใจ มันต้องคิดว่า นี่ของๆ เรา แล้วเพื่ออะไรเห็นไหม

นี่ฝึกฝนอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติอย่างหยาบๆ คือการสละทาน มันเป็นการกำจัดความตระหนี่ถี่เหนียวของหัวใจ ความตระหนี่ถี่เหนียว คือความคิดของใจ มันก็หวงแหนของมันไว้ แล้วความกังวล ความทุกข์ในหัวใจมันก็เหมือนกัน ความทุกข์ในหัวใจมันก็เป็นความคิดในหัวใจ มันก็อยู่ในหัวใจนั่นล่ะ แล้วมันสละออกไม่ได้

การสละทานถึงฝึกอย่างนั้น พอฝึกอย่างนั้นมันสละออกอย่างหยาบ มันก็สะเทือนถึงอย่างละเอียด ถึงสะเทือนในหัวใจ ถ้าใจมันคิดสละออกบ่อยๆ เข้า นั่นล่ะทาน ศีล ภาวนา ทำคุณงามความดี บุญกุศลพาเกิดๆ อย่างนี้ เพราะเรายังต้องตายต้องเกิด มันต้องเกิดต้องตายไปในวัฏวนนี้ ก็ให้บุญกุศลนี้พาเกิดไปเรื่อยๆ พาเกิดไปเรื่อยๆ เกิดเป็นบุญกุศลมันยังพอทนเห็นไหม

นี้ในศาสนาทุกศาสนา สอนคุณงามความดีสอนอย่างนี้ สอนให้มีความเมตตา ให้มีความสงสาร แต่ในศาสนาพุทธเรา มันมีส่วนว่าศาสนาสอนให้ใจนี้หลุดพ้น ท่านถึงเป็นหัวหน้าโคไง... หัวหน้าโคพาสัตว์ขึ้นฝั่ง มันต้องขึ้นฝั่งเป็นก่อน ถ้าสัตว์นั้นขึ้นฝั่งไม่เป็น จะพาเขาขึ้นฝั่งได้อย่างไร ถ้าสัตว์ตัวนั้นมันขึ้นฝั่งเป็น มันรู้ทางไปของมัคคะอริยสัจจัง มัคคะไง มัคโค ทางอันเอกในหัวใจ

เรามองกันหยาบๆ ก็มองกันเรื่องทางโลก โลกเป็นอย่างนั้นกันจริงๆ นะ การประกอบสัมมาอาชีวะ การทำมาหากินเป็นเรื่องแสนทุกข์แสนยากแล้ว แล้วยังจะต้องมาประพฤติปฏิบัติเพื่ออะไรอีก การทำมาหากินเพื่อปากเพื่อท้อง ปากกินทุกวัน กินวันละ ๓ มื้อ แต่หัวใจมันกินอะไร

ถ้าเรานึกพุทโธขึ้นมา นี่มันกินอาหารแล้ว เรานึกพุทโธนี่ ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ ก็พุทโธได้ เราพุทโธตลอด เวลาว่างนึกพุทโธ จะอยู่ในอิริยาบถอะไรก็ได้นึกพุทโธขึ้นมา นั้นล่ะอาหารของใจ ! อาหารของใจเป็นคำบริกรรม..

นั้นล่ะความเชื่อ ! มันเชื่อพระพุทธเจ้ามา แต่เราทำแล้วมันทำได้ไหม ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะเราทำขึ้นมานี้ มันอัตคัด มันขัดเคืองในหัวใจ แล้วมันทำด้วยความลำบาก นี่มันจะไม่เชื่อเห็นไหม ความเชื่อมันเชื่อกิเลส เราจะเชื่อกิเลส กิเลสจะพาออกไป ความเชื่ออย่างนั้น ถึงว่าความเชื่อต้องมีปัญญาในการใคร่ครวญด้วย ปัญญาของเรามันยังเป็นปัญญาหยาบอยู่ ปัญญาของเรามันอยู่ใต้ปกครองของอวิชชา ของกิเลสอยู่

เราต้องเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าความเพียร ความจะพ้นกิเลส จะพ้นจากความทุกข์ด้วย ต้องความเพียร ! ความเพียรนั้นดัดแปลงตน การประพฤติปฏิบัติก็เพื่อดัดแปลงตน เวลานั่งสงบ ใจมันดิ้นนะ ใจมันไม่ต้องการ ยิ่งถ้านั่งใหม่ๆ นี้มันจะคิดถึงเรื่องอื่นมากเลย นั้นล่ะใจสงบแต่ใจมันดิ้น ร่างกายนี่สงบ ร่างกายเรานั่งอยู่ แต่ใจมันดิ้นออกไป

มันต้องอาศัย ทาน ศีล ภาวนา เข้ามา ยิ่งมันมีความกังวลนะ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ นี่ ทำผิดพลาดอะไรไว้ในหัวใจ มันจะว่า อันนี้ศีลไม่บริสุทธิ์ แล้วมันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร

เห็นไหม ! เวลาคนอื่นทำผิดมันหลอกลวงกันได้ แต่เราทำความผิดเราจะหลอกลวงตัวเองไม่ได้ แล้วเวลานั่งประพฤติปฏิบัติ มันจะมาหลอกลวงเรา นิวรณธรรมเกิดแล้ว

นิวรณธรรมเป็นเครื่องกางกั้นผลที่จะเกิดของสมาธิ ที่ใจจะเกิดขึ้น อันนี้มากางกั้น ความผิดของเรานี่ อกุศลในหัวใจของเรา มันจะมากางกั้นใจของเราเอง ไม่ให้ใจของเราเข้าไปในผลอันประเสริฐนั้น นั่นล่ะมันถึงว่ามันวิตกกังวล ถึงต้องปลงอาบัติไง

คนเราเกิดมาทำความผิดหรือความถูกต้องมานี่ มีทุกคน คนเคยทำอย่างนั้นมาถึงว่า ต้องปลงอาบัติไง มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะบริสุทธิ์มาตั้งแต่แรก มันต้องสกปรกมาก่อน ของสกปรก ! แต่มันเป็นอามิสเห็นไหม บุญกุศลนี้เป็นอามิส ถึงจะสกปรกขนาดไหน มันก็เคยทำคุณงามความดีมา มันถึงพาให้เกิดดีไง

แต่เกิดดีขึ้นมาแล้ว กิเลสตัวสกปรกในหัวใจ มันจะพยายามผลักไสไป มันต้องมีความผิดพลาด ถึงต้องตั้งต้นใหม่เห็นไหม พระถึงได้ปลงอาบัติไง เราทำสิ่งที่เป็นกรรมอันนั้น มันเป็นกรรมไหม... เป็น ! เป็นกรรมแน่นอน ! ปลงอาบัติไม่สามารถลบล้างกรรมอันนั้นได้ แต่อาบัติอันนี้มันทำให้เราตั้งต้นใหม่ได้

เราจะเริ่มตั้งต้นใหม่ว่า สิ่งที่มันแล้วไปแล้วก็แล้วกันไป เราจะตั้งต้นใหม่ว่า เราจะไม่ทำความผิดอีกเห็นไหม นี่ปลงอาบัติอย่างนั้น เพื่อจะเริ่มต้นทำสมาธิไง ปัดนิวรณธรรม ความกังวลของใจหลุดออกไป

การปลงอาบัติคือว่า จะทำคุณงามความดี ตั้งต้นสารภาพผิดว่า เราเคยทำความผิดพลาดมา เพราะเราไม่มีสติสัมปชัญญะพอ แล้วเราทำต่อไป เราทำคุณงามความดี เราจะเริ่มตั้งตนใหม่ นั่นล่ะนิวรณธรรมมันจะสงบตัวลงเห็นไหม นี่อุบายวิธีการในเครื่องดำเนินขององค์ศมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ ให้เราเดินเอง เราไม่รู้หรอกนะ ว่าปลงอาบัติแล้วจะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไร

แต่เพื่อความสบายใจของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ทาง แล้ววางทางไว้ ถ้าเราเดินตามทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เชื่อ ! มันต้องเชื่อ ! ศรัทธาความเชื่อ ต้องเชื่อในพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน แล้วเดินตามไปจนถึงที่สุด แล้วความเห็นของเราเห็นขึ้นมาจริง พระพุทธเจ้าให้เชื่อสิ่งนั้น ให้เชื่อความเห็นจริงของใจของเราเอง !

ถ้าใจเราเห็นจริง นั่นล่ะเป็นปัจจัตตัง รื้อออกมาจากหัวใจ ถ้าเชื่อในศาสนาเห็นไหม ศาสนาพุทธมีมัคคะอริยสัจจัง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของผู้สิ้นกิเลส องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลสแล้ว ถึงได้วางศาสนาไว้ แล้วเราเดินตามนั้นไป หยาบ กลาง ละเอียด มันเป็นความหยาบ ความกลาง ความละเอียด

เด็กๆ เวลามันทุกข์ยากทุกข์ทน อยากหาอาหารมาเพื่อดำรงชีวิตของตัวเอง หาปัจจัย ๔ คนมีปัจจัย ๔ มันก็ทุกข์ คนจะมีสมบัติมากขนาดไหน มันก็ทุกข์ในหัวใจ เศรษฐีหรือว่ายาจกเข็ญใจ จะทุกข์เหมือนกัน แต่จะทุกข์เหมือนกันด้วยความดีดดิ้นในหัวใจ โดยอวิชชาตัวนั้น มันทำให้ใจตัวนี้เบียดเบียนใจ

ถ้าเราจะทำความสงบของใจ เวลาพ้นทุกข์เห็นไหม พ้นทุกข์ได้ทุกสถานะ ถ้ามีหัวใจของเรานะ ทุกคนเกิดมามีหัวใจนะ หัวใจเป็นตัวรับรู้ความสุขความทุกข์ มันดัดแปลงกันที่ตรงนั้น มันแก้ไขกันที่ตรงนั้น เริ่มเดินจากตรงนั้นเข้าไป ใจจะผ่านจากตรงนั้นเข้าไป

ศรัทธาความเชื่อ... ความเชื่อของเรา เริ่มต้นจากความเชื่อเข้าไป แล้วต้องมีปัญญาไตร่ตรอง เราเป็นชาวพุทธขึ้นมา เรามีปัญญาของเราขึ้นมา เราเชื่อศาสนาของเราเห็นไหม แล้วเราสละออก แล้วศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาที่มีอิสรภาพมาก ปล่อยให้ใครเชื่อก็ได้ ใครทำก็ได้ ใครไม่ทำก็ได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้ผล

นั่นล่ะความเชื่อถึงว่าเป็นหัวรถจักรตัวนี้ไง ตรงนี้ถ้ามีความเชื่อ มีความศรัทธา มันก็จะเริ่มต้นทำได้ ทำผิดหรือทำถูกมันเริ่มต้นเป็นไปก่อน แล้วมันมีอำนาจวาสนาอีก

เจอครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่มั่นลงมา ถ้าไม่มีหลวงปู่มั่นขึ้นมา สมัยก่อน หลวงปู่มั่นจะไปศึกษากับใคร ไม่มีใครสอนนะ แล้วเราก็ศึกษาใจเราสิ เอาใจเราเทียบ เราอ่านหนังสือ เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราสงสัยไหม เราสงสัย เราลังเลสงสัยไปหมด มันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วไม่มีกำลังใจด้วย

แต่ปัจจุบันตั้งแต่หลวงปู่มั่น เป็นผู้ที่ผ่านพ้นออกไปก่อน เป็นโคนำฝูงออกจากฝูง พาฝูงขึ้นฝั่งก่อน เป็นผู้ชี้นำเห็นไหม ในศาสนามีอย่างนั้น ถึงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นที่พึ่งของเรา พระรัตนตรัย !

พระสงฆ์ หมายถึงหลวงปู่มั่น หมายถึงพระอริยสงฆ์ขึ้นไป แต่สมมุติสงฆ์นี้ ต้อง ๔ องค์ขึ้นไปถึงเป็นสงฆ์ เรามีที่พึ่งของเรา แล้วเราพยายามทำของเราได้ ในศาสนานี้มันถึงควรจะรักษา มันควรจะทะนุถนอมไง

แล้วควรจะขวนขวาย ควรจะรีบเร่ง เพราะชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด ! ชีวิตนี้มีความตายเป็นที่สุด ! ต้องตายไปทุกคน ! แล้วเวลาอายุยังน้อยๆ อยู่นี่ ร่างกายนั่งก็ไม่เจ็บไม่ปวด...นี่ก็ไม่ทำ แต่ถึงเวลาแก่ขึ้นมาแล้วนี่ จะทำขึ้นมาก็ทำไม่ได้

ถึงเวลาคนมาหามากถามว่า “กิริยาการประพฤติปฏิบัติ จำเป็นต้องนั่งหรือ”

เราบอกว่า “การนั่งนี้มันเป็นท่านั่งที่สมดุลที่สุด ที่ว่าร่างกายนี้เลือดไหลสมดุลที่สุด เพื่อความอยู่ของร่างกายให้มันสมดุล”

แต่จริงๆ เรานั่งเพื่ออะไร เรานั่งเพื่อเอาใจใช่ไหม เดิน ยืน นั่ง นอน นี้ท่าไหนก็ได้ ขอให้ใจนั้นสงบตัว ขอให้ใจนั้นประเสริฐแล้วได้ผล นั่นล่ะท่าไหนก็ได้ ขอให้ได้

ถ้าได้...คนแก่ก็ทำได้ เด็กก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ แต่เด็กทำเข้ามาก่อนนี่ เด็กหัวใจมันสะอาด หัวใจมันสะสมน้อยกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะมีความสะสมมาในหัวใจมาก แล้วความลังเลสงสัยก็จะมาก ตัวเป็นผู้ใหญ่แต่ใจเหมือนเด็ก เดินไม่ได้..

เด็กนี้เป็นเด็กๆ อยู่ แต่ใจยังสะอาดผ่องแผ้วอยู่ ยังมีส่วนน้อยอยู่ ยังมีความเคารพในหัวใจอยู่ กับทำได้ง่ายเห็นไหม เด็กประพฤติปฏิบัติได้ง่าย ชี้ตรงไปได้ง่าย

แต่เราห่วงแต่ว่าในชีวิตโลกก่อน ต้องมีชีวิตโลกไป ต้องศึกษาวิชาโลกไป หมุนกันไปในโลกนี้ นั่นล่ะหมุนกันไปในโลกก็เป็นเรื่องของโลกเขา แล้วกว่าจะกลับมาก็แก่อีก โลกเป็นแบบนั้น !

โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน เราถึงมีความเชื่อความศรัทธาในหัวใจของเรา แล้วเราจะเชื่อในศาสนาพุทธ แล้วเราพยายามทำตัวของเราได้ มีมรรคผลมากมายที่จะให้เราไขว่คว้า แล้วเราจะไขว่คว้าได้ขนาดไหน นี่เป็นอำนาจวาสนาของเราชาวพุทธที่จะไขว่คว้าได้ เอวัง