ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ที่เป็นสัปปายะ

๑๖ พ.ค. ๒๕๕๓

 

ที่เป็นสัปปายะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ในการภาวนาเคยถนัดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พยายามจะใช้คำภาวนาพุทโธโดยที่ไม่จับลมหายใจรู้สึกไม่ถนัด บางครั้งจิตฟุ้ง จะเร่งพุทโธก็ทำได้ยากเพราะลมหายใจเร่งไม่ทัน จะมีวิธีแก้อย่างไรคะ

หลวงพ่อ : ลมหายใจนี่คืออานาปานสติ การกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกนี้เป็นอานาปานสติ กำหนดพุทโธๆ นี่เป็นพุทธานุสสติ มันเป็นกรรมฐานคนละห้อง คือกรรมฐานคนละแผนก แต่เวลาเราฝึกสอนคนใหม่ เราก็ต้องหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ เพราะมันชัดเจน มันเป็นรูปธรรมที่ว่าเราภาวนาใหม่ๆ เป็นนามธรรมที่จับต้องได้ยาก แต่เวลาเราจะเร่ง หรือว่าเราจะใช้อุบาย เปลี่ยนแปลงพลิกแพลง เพื่อให้จิตมันสงบขึ้นมา

ถ้าเราบอกว่าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ลมหายใจสูดเข้าสูดออก แล้วพุทโธนี้มันช้าเกินไป ฉะนั้นถ้าจะพุทโธเร็วๆ เขาจะทิ้งลมหายใจไปเลย ไม่ต้องกำหนดลมหายใจ พุทโธเฉยๆ ไง นึกพุทโธเอา พุทโธๆๆๆๆ แต่ไม่เกี่ยวกับลมหายใจ เราวางลมหายใจไปอยู่กับพุทโธ ฉะนั้นมันเร่งได้ ทีนี้ถ้าเราบอกเราจะเร่งพร้อมกับลมหายใจไม่ได้ เพราะกรรมฐานคนละห้อง คือคนละแผนก แต่เอามารวมกัน ก็เลยเป็นการจับปลาสองมือ

แต่ถ้าเราเอาลมหายใจอย่างเดียวทิ้งพุทโธก็ได้ ไม่ต้องพุทโธเลย อานาปานสติกำหนดลมชัด ๆ หายใจระลึกมีสติพร้อมกับลมหายใจเข้าและลมหายใจออกตลอดเวลาชัดๆ คำว่าชัดๆ มันแก้ความหน่วงของใจ มันแก้ตกภวังค์ มันแก้ทุกๆ อย่าง ไอ้นี่มันแก้ด้วยคำบริกรรม แต่ถ้ามันไม่ได้ คือมันยังไม่สมดุล คือมันยังภาวนาไม่ได้ ก็ต้องแก้ด้วยการผ่อนอาหาร แก้ด้วยการไม่นอน วิธีแก้มันมีหลายอย่าง

ฉะนั้นถ้าลมหายใจเข้าพุท ลมหายใจออกโธ มันเร่งไม่ทัน มันไม่ทันหรอกเพราะลมหายใจกับพุทโธมันหน่วงกันเอง เราถึงบอกให้วางสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เอาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเอาชัดๆ แล้วทำไปเรื่อยๆ มันจะมีปฏิกิริยามาก มันจะเกิดอาการตัวพองเกิดอะไรต่างๆ เยอะแยะไปหมด ถ้าจริตเราเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าไม่มี ก็ให้พุทโธชัดๆ หรือลมหายใจชัดๆ คำว่าพุทโธชัดๆ กับลมหายใจชัด คืออันใดอันหนึ่ง อันเดียวไม่ใช่ทั้ง ๒ อัน ๒ อย่างนี้มันเป็นรูปธรรมนี้ เอามาจับต้องได้ชัดเจน

ฉะนั้นเวลาคนที่ฝึกใหม่ ลมหายใจก็จับต้องไม่ได้ พุทโธก็พุทโธไม่ได้ ก็เลยเอาให้ชัดๆ ไง เอาให้เป็นรูปธรรม ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ มันชัดเจนมาก พอต่อไป ทำไปๆ มันจะหน่วง พอหน่วงจะทิ้งอันใดอันหนึ่ง ให้ชัดๆ แค่อันใดอันหนึ่งมีคำบริกรรมอันหนึ่ง ฉะนั้นเพราะมันเร่งไม่ได้ถ้ามันฟุ้ง มันฟุ้งเพราะว่าเรากังวลด้วย พอยิ่งกังวลมันถึงเปิดช่อง แต่ถ้าไม่กังวล เราปล่อยอันใดอันหนึ่งแล้วชัดๆ ไว้ไอ้ความฟุ้งมันจะหายไป ความฟุ้งหายไปเพราะเราไม่ไปห่วงกังวลกับมัน

เราทำสิ่งใดก็ให้ชัดเจน คำว่าพุทโธกับลมหายใจ แต่เริ่มต้นถูกต้องผู้ปฏิบัติใหม่ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ ถ้าใช้ได้ประโยชน์ แต่พอภาวนาไปจิตมันละเอียดเข้าไปแล้วมันมีข้อต่อรองขึ้นมา ก็ให้วางอันใดอันหนึ่ง เหมือนเกียร์รถ ออกรถนี่เกียร์ ๑ เกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ พอความเร็วมันขึ้นระดับหนึ่ง ถ้าลากเกียร์ ๑ ตลอดไปมันก็ไม่ได้ แต่เกียร์ ๑ นี้ดีมากๆ สำหรับรถหนักที่จะออกตัวได้

พอออกตัวไปได้แล้ว เกียร์ ๑ เราไม่ต้องการใช้ เพราะเกียร์ ๑ รอบเครื่องมันไม่ทันกับความเร็วของรถเราก็ต้องเปลี่ยนเป็นเกียร์ ๒ เกียร์ ๓ เกียร์ ๔ นี่ก็เหมือนกัน พอจิตใจเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เราก็ต้องมีอุบายของเราเปลี่ยนแปลงของเราไป มันจะผ่านไปได้ ไม่ใช่ไปยึดอันใดอันหนึ่ง ใส่เกียร์ ๑ แล้วก็ลากทั่วประเทศไทย มันก็ไม่ได้ ไม่มีเกียร์ ๑ พอออกตัวมันก็ดับหมดเครื่อง มันก็ต้องพลิกแพลงเอา

ถาม : ๗๙. ผมบวชแล้วจิตใจไม่สงบเลยขณะนี้ผมบวชอยู่ ก่อนบวชมีความตั้งใจไว้สิบเดือน เนื่องจากตอนเป็นฆราวาสเป็นคนใจร้อนหงุดหงิดง่าย ดังนั้นก่อนบวชจึงตั้งใจให้โยมพ่อโยมแม่ คิดอยู่เสมอว่าบวชแล้วต้องได้ แต่ได้ในที่นี้คือความสงบของจิต ให้ตัวเองเป็นคนใจเย็น ใจสงบรอบคอบ ด้วยเหตุที่ว่าบวชแล้วต้องได้ เชื่อในวัดในศาสนา คงสามารถตอบปัญหาในตัวผมได้ มีอาจารย์ช่วยสอนช่วยแนะนำ ใจผมคงสงบมีสมาธิขึ้นมา แต่พอบวชไปแล้วไม่เป็นอย่างที่คิดเลย อย่างก่อนบวชแม้แต่น้อย หรือว่ามีความคิดฟุ้งซ่านไป บวชมาไม่นานก็อยากจะสึก แต่ถ้าผมจะสึกในเร็ววันนี้ คงไม่มีประโยชน์อะไรจากการบวช คงเป็นบาปมาก ในการติพระสงฆ์ ณ ที่ผมจำวัดอยู่ มีปัญหาไม่ต่างอะไรจากสังคมภายนอกเลย กระผมสงสัยว่าถ้าจิตใจเราไม่สงบ ยังมีห่วงตัดทางโลกขาดบ้างไม่ขาดบ้าง มีกิเลสบ่อยครั้ง ผมกลัวบวชต่อไปจะมีบาปมากกว่า บวชต่อไป ใจยังไม่สงบเลย และอาจมีบาปกรรมมากขึ้น (ผมคิดว่าพระสงฆ์ทำผิดคงบาปมากกว่าฆราวาสหลายเท่า ผมเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ)

ในเวลานี้อยากลาสิกขามาก แต่อยากจะปฏิบัติให้จิตใจสะอาดขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรหาทางออกไม่เจอ กรุณาช่วยแนะนำผมด้วยครับ ผมคิดว่าอยากย้ายวัดไปที่เขาสอนแนะนำในการฝึกจิตใจ แนะนำในทางที่ถูกที่ควร ผมคิดถูกไหมครับ นี่คือคำถามเขานะ แต่ถ้าผมลาสิกขาออกไปแล้วอยู่วัดประพฤติปฏิบัติฝึกใจฝึกจิต มาหาครูอาจารย์ที่สอนแนะนำให้ผม จะดีกับผมมากกว่าบวชอยู่ ทำผิดศีลกฎของสงฆ์เยอะหรือเปล่าครับ ผมยังมีความตั้งใจเป็นพื้นเดิมตั้งแต่แรกอยู่บวชให้ถึงสิ้นปีดีกว่าไหมครับ

หลวงพ่อ : ประเด็นอย่างนี้ มันเป็นประเด็นที่ความคิดของโลกกับของธรรมมันแตกต่างกัน เพราะความเห็นของเราวัดทุกอย่างต้องเป็นดีหมด เพราะเราก็เคยมีความคิดอย่างนี้ ก่อนเราบวชเราคิดว่าพระต้องสะอาดบริสุทธิ์หมด ถ้าคิดแบบโลกคิดว่าพระจะเป็นอย่างงั้น ถ้าบวชเข้าไปแล้ว ทำความดีก็ต้องเป็นความดี ไอ้นี่เขาเรียกสังคมดงขมิ้นมันเป็นเรื่องของพระ เวลาธรรมวินัยเรื่องของสงฆ์ อาบัติของสงฆ์ที่สงฆ์เอามาบอกฆราวาสนี่เป็นอาบัติ เห็นไหมคนในอยากออกคนนอกอยากเข้า นี่ของสงฆ์เพราะอะไร เพราะสังคมทุกสังคมมีคนดีและคนเลว

ในเมื่อพระบวชแล้วพระในเมืองไทยนี่ ๔-๕ แสนองค์ มันก็ต้องมีดีมีเลวเป็นธรรมดา ฉะนั้นเวลาเราคิดของเราเอง ด้วยความศรัทธาด้วยความเชื่อของเราว่าพระเป็นผู้ประเสริฐ พระเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งสังคมพระด้วยเข้าไปแล้วต้องสะอาดบริสุทธิ์ เพราะเราคาดหวังไว้มาก พอคาดหวังไว้มากพอเราเข้าไปแล้ว ถ้าบวชแล้วเห็นไหม เวลาหลวงตาท่านบวช เวลาท่านเทศน์สอนพระบอกว่าหัวโล้นๆห่มผ้าเหลืองนี่ใครก็ทำได้ โกนหัวนี่แบบว่าโกนเข้าไปจนถึงกะโหลกศีรษะก็โกนได้ไอ้เรื่องนี้มันเรื่องสมมุติหมด เราไปมองกันที่โกนหัวโล้นๆ ห่มผ้าเหลืองว่าเป็นพระ เราไม่ได้มองว่าข้อวัตรปฏิบัติของพระต่างหากที่เป็นพระ

ฉะนั้นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า สัปปายะ ๔ อาจารย์เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ คำว่าสัปปายะ ๔ เวลาเราไปดูในวัดนี่ ถ้าพูดถึงความเข้าใจของเรานะ เวลาเราเห็น บางคนเขาจะศรัทธา เขาไปวัดไปวากันทำไมเขาขวนขวายกัน ทำไมเขาต้องขวนขวายกัน เพราะเขาเป็นสัปปายะของเขา แต่ถ้าเป็นสัปปายะของสังคม อย่างวัดทั่วไปเห็นไหม พอเข้าไปที่วัดที่เขาต้อนรับดี เราก็พอใจไปอย่างนั้น

แต่ถ้าพูดถึงสัปปายะของเรา เราต้องการความสงบจริง เราต้องการความจริง เราจะเลือกไปอีกอย่างหนึ่งอันนี้เป็นสัปปายะ ฉะนั้นเข้าไปในวัดแล้วไม่ต่างจากสังคมภายนอกเลย พระก็มาจากคน คนในสังคมเป็นอย่างไร เวลาบวชเป็นพระแล้วก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเวลาเราบวชเป็นพระนี่ สังคมจากภายนอก เราเป็นมนุษย์ ถ้าเราปรารถนาสิ่งใด เราตั้งใจในสิ่งใด ดูสิ เวลาเอาหลวงตาเป็นตัวอย่าง หลวงตาท่านปฏิบัติมาท่านศึกษามาจนเป็นมหา

นี่ท่านบอกเลย เวลาศึกษาไปพูดถึงสวรรค์ อยากไปสวรรค์ อยากไปพรหม สุดท้ายก็อยากไปนิพพาน พออยากไปนิพพานแล้วนิพพานมีไหม ใจส่วนใหญ่ในความรู้สึกก็ยอมรับ ก็เชื่อ แต่มันก็ลังเลใจว่าแล้วใครจะสอนเราได้ล่ะ ใครจะบอกเราได้จริง มันก็มีความสงสัยอยู่ ฉะนั้นถ้าเป็นขนาดที่ว่าตั้งใจจริงแล้ว ท่านยังมีความสงสัยอยู่ ท่านตั้งปฏิญาณตนไว้ว่า ถ้ามีอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้ชี้นำได้ เป็นผู้คลายความสงสัยได้ ท่านจะยอมตายกับอาจารย์องค์นั้น จะเอาอาจารย์นั้นเป็นที่พึ่งที่อาศัย

เห็นไหม เขาต้องแสวงหา เขาไม่ใช่บอกว่า เรามีความตั้งใจจะบวชนะ เรามีความจงใจจะบวชมาก แล้วเราต้องการคุณงามความดีหมดเลย แล้วคิดว่าจะบวชไปเลย แล้วพอบวชเข้าไป หลวงตาอีกแหละ หลวงตาท่านพูดไว้ วัดเป็นส้วมเป็นถาน พระเป็นมูตรเป็นคูถ แต่พวกเรามองไม่ออก เรานี่มองไม่ออกหรอกว่า เป็นส้วมเป็นถานจริงหรือเปล่า เป็นมูตรเป็นคูถจริงหรือไม่จริง แต่เวลาพระที่บวชเข้าไป บวชด้วยกันจะรู้เองว่าเป็นมูตรเป็นคูถจริงหรือเปล่า ศีลจะรู้ได้ต่อเมื่อการที่เราอยู่ด้วยนานๆ นะ ธรรมะจะรู้ได้ต่อเมื่อแสดงธรรม

ฉะนั้นด้วยวุฒิภาวะของเรา เราจะเข้าใจไม่ได้หรอกเราเข้าใจไม่ได้ พอเราเข้าใจไม่ได้พอเราเข้าไปแล้ว มันก็มีความผิดหวังอย่างนี้ พอมีความผิดหวัง เราต้องทำตัวเราแล้ว เรื่องของเขาเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเราเป็นเรื่องของเรา ถ้าเรื่องของเขาเราจะเข้าสังคมอย่างไร ดูสิ เวลาหลวงท่านพูด เวลาท่านเรียนบาลีอยู่ เวลากลางคืนท่านอยากปฏิบัติ พอมาเดินจงกรมเวลาเพื่อนผ่านมา ทำอะไรอยู่นี่ ว่าเดินจงกรม โอ้ย จะไปสวรรค์ จะไปนิพพานเหรอรอกันก่อน นี่ในวงของสังคมเขาเป็นการล้อเล่นเป็นการหยอกล้อกัน

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงสังคมเขาเป็นอย่างนั้น เวลาเราอยู่กับเขา เราต้องอยู่กับเขาโดยสังคมแบบนั้น แต่เราต้องหาเวลาปฏิบัติของเราเอง หรือจะย้ายวัด เขาบอกหรือผมสมควรจะย้ายวัด จะย้ายไปวัดไหนล่ะ วัดมันก็เหมือนวัด ย้ายไปเจอเลวกว่านี้จะยิ่งเจ็บใจมากกว่านี้อีก ถ้าย้ายวัดไป วัดนี้ว่าไม่ดีแล้วนะ ย้ายไปอีกวัด โอ้โฮ หนักกว่าเก่าอีก โอ๋ เจ็บช้ำไปกว่าเก่าอีกนะ เพราะอะไร เพราะเราคาดหมายไว้สูง

เราก็เคยคิดอย่างนี้ตอนที่บวชใหม่ๆ เราก็เคยคิดอย่างนี้ ผู้บวชใหม่เข้าไปมันก็เหมือนกับเราเป็นลูก เราเป็นลูกเห็นไหม เหมือนดูสิพ่อแม่ต้องดูแลทะนุถนอมลูกขนาดไหน เราบวชเข้าไปใหม่ เราก็เหมือนเป็นลูก เราเพิ่งเกิด พระครูบาอาจารย์ก็ต้องช่วยดูแลเรา

มันไม่เป็นอย่างที่คิดเลยล่ะ พอเข้าไปแล้วเป็นอย่างลูกก็จริงอยู่ แต่เราก็มีการศึกษา เราก็มีความรู้ใช่ไหม เราก็เอาความรู้เราเข้าเทียบ พอเข้าเทียบมันก็ไม่เป็นอย่างที่ใจเราปรารถนาหรอก

ฉะนั้น สัปปายะ ๔ สถานที่ไม่เป็นสัปปายะ จิตเราเป็นสัปปายะไหม อาจารย์เป็นสัปปายะไหม จะบอกว่าก่อนบวชหรือก่อนที่เราจะประพฤติปฏิบัติ เราต้องเลือกก่อน เวลาในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า อย่างเช่นเรานี้ อาคันตุกวัตร ไปวัดไหนก็แล้วแต่ ไปถึงไปกราบขออาศัยท่าน แล้วให้ดูกัน ๗ วัน ถ้าพูดถึงถ้า ๗ วันนี่เราเห็นว่าดีงามแล้ว เราถึงขอนิสสัย ถ้าไม่ขอนิสสัย ราตรีที่ ๗ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ฉะนั้นที่เรามาขอนิสสัย ขอนิสสัยจากอุปัชฌาย์ จากอุปัชฌาย์ก็มาเป็นอาจารย์

ฉะนั้นเวลาบวชแล้วมันเหมือนยังไม่บรรลุนิติภาวะ การบรรลุนิติภาวะของโลกเดี๋ยวนี้ ๑๘ หรือ ๒๐ ไม่รู้ แต่ทางพระนี่คือ ๕ พรรษาขึ้นไป ถ้าพรรษาที่ ๑ ๒ ๓ ๔ นี้ต้องขอนิสัย ถ้า ๕ พรรษาขึ้นแล้วนะต้องเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ฉลาดหมายถึงว่า ๕ พรรษานี่ท่องปาฏิโมกข์ได้ ท่องปาฏิโมกข์ได้ก็เหมือนจบนิติศาสตร์ ใครจบนิติศาสตร์จะรู้เรื่องกฎหมายใช่ไหม ใครท่องปาฏิโมกข์ได้ ปาฏิโมกข์คือศีล ๒๒๗ ของพระ ถ้าศีล ๒๒๗ ของพระก็เป็นผู้ฉลาด คือรู้กฎหมาย รู้ธรรมวินัย พ้นจากนิสสัย แต่ถ้าเรายังท่องปาฏิโมกข์ไม่ได้ถ้าเราเป็นผู้ไม่ฉลาดนะ ให้ ๑๐๐ พรรษาก็ไม่พ้นนิสสัย

ฉะนั้นถ้าพ้นนิสสัยแล้ว เราไปอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ได้ เวลาอยู่กับอุปัชฌาย์อยู่กับอาจารย์ต้องขอนิสสัย ถ้าไม่ขอนิสสัยเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ฉะนั้นถ้าพูดถึงเวลาไปอยู่ ๗ วันแล้วเราดูนิสัยใจคอกันเราเข้ากันไม่ได้ หมายถึงว่าคำสอนของท่านนี่เรารับไม่ได้เลย หรือสิ่งใดๆ ที่ท่านแสดงออกมานี้เราขัดแย้งมากเลย ให้เก็บของออกไปไม่ให้อยู่กับท่าน เพราะกรณีอย่างนี้กรณีเรื่องจริตนิสัยนี้เป็นอย่างหนึ่ง

ดูสิ มันเข้ากันโดยธาตุ ลูกศิษย์พระสารีบุตรธาตุเป็นปัญญาหมด ลูกศิษย์พระโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์หมดเลย ลูกศิษย์ของพระเทวทัตลามกหมดเลย มันเข้ากันโดยธาตุ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ที่ดีก็แล้วแต่ แต่ถ้าธาตุเรากับธาตุท่านขัดแย้งกัน

อย่างเช่น ดูอาหารของคนจีน คนจีนจะกินอาหารที่จืด อาหารที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย คนไทยชอบกินรสเผ็ด น้ำพริกที่ว่าเผ็ด อาหารไทยเป็นอย่างหนึ่ง อาหารจีนเป็นอย่างหนึ่ง แล้วเราเป็นคนจีนหรือคนไทย ไปอยู่กับอีกครอบครัวหนึ่ง โอ้โฮ ชีวิตเรานี่เป็นทุกข์มากเลย คือไม่เคยได้กินอะไรที่มันถูกใจเลย ไปกินอาหารที่ไม่มีรสชาติหรือตรงข้ามตลอดไปเลย มันก็เป็นความทุกข์ของเรา นี่พูดถึงสัปปายะ

ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นกรณีของหญ้าปากคอก ที่ว่าผมบวชแล้วแต่จิตใจไม่สงบเลย เพราะบวชไปแล้วทุกคนก็มีความหวังไว้มาก แล้วหวังมากผู้บวชใหม่นี่ เขาเรียกอิ่มบุญ อิ่มบุญนี่มันทำอะไรด้วยความชุ่มชื่นใจมาก แล้วอยากทำมากแล้วมันไม่ได้ดั่งใจ มันก็เลยยิ่งเกิดแบบว่ามันตีกลับ ฉะนั้นต้องทำใจนิ่งๆ แล้วเรื่องของเขา เรื่องของพระที่เขาทำมันเรื่องของเขา เราก็ทำของเรา เพราะเราเข้าไปอยู่ในสังคมอย่างนั้นแล้ว

ฉะนั้นถ้าให้ดี จะย้ายวัดหรือไม่ย้ายวัด มันควรจะคิดตั้งแต่ก่อนบวชไง ก่อนบวชเราต้องไปศึกษาก่อนเราไปดูก่อน ฉะนั้นเวลาเราไปหาครูบาอาจารย์เราเลือกครูบาอาจารย์ของเราก็เพราะเหตุนี้ไง เราเลือกครูบาอาจารย์ของเรา เวลาเขาบวชเขาเลือกเขาแยกแยะก่อนว่าอะไรควรไม่ควร อะไรเข้ากันได้หรือเข้ากันไม่ได้ ถ้าเข้าไม่ได้ เราก็ควรแยกไปอยู่ที่ๆ เราพอใจ

ฉะนั้นถ้าลาสิกขาไปถือศีล ๘ อยู่วัดประพฤติปฏิบัติ คือว่าอยู่กับใจไง หาครูบาอาจารย์ เวลาปฏิบัติเราปฏิบัติตลอดชีวิตนะ เหมือนกับเราเกิดมาต้องมีอาหารการกินตลอดชีวิตถ้าเราขาดอาหารเราก็ต้องตาย จิตใจของเราถ้าเราปฏิบัติเราก็มีคุณธรรมในหัวใจของเรา ในเมื่อเรามีชีวิตอยู่มันก็เหมือนกับอาหารของใจ เราก็ปฏิบัติของเราไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาไปประพฤติปฏิบัติกับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปี ผิดหมด ไปอยู่กับองค์ไหนก็แล้วแต่ ศึกษาเขาจนหมดไส้หมดพุง มันก็แก้กิเลสไม่ได้

จนท่านต้องกลับมาปฏิบัติของท่านเอง แล้วเวลาสำเร็จขึ้นมา เวลาเทศนาว่าการ ภิกษุทั้งหลายไม่มีกำมือในเรา องค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าไม่มีข้อใดปิดบังไว้เลย ไม่มีกำมือในเรา เราจริงหรือเปล่าเท่านั้นเอง ฉะนั้นเราศึกษาธรรมวินัยแล้วเราปฏิบัติของเรา ปรึกษาว่าจะย้ายวัดอะไรไหม เพราะเราบวชชั่วคราวบวชไม่กี่วัน แล้วถ้าพูดถึงบวชไปแล้ว เขาก็มีทางออกของเขา แล้วเวลาเข้าไปมันก็จะเห็นสภาวะแบบนี้ แล้วมันก็จะกลับมาถึงตัวเรา แล้วนี่เราถึงบอกมันเป็นนิทาน

เราพูดถึงเรื่องสัปปายะ ๔ หมู่คณะเป็นสัปปายะ ถ้าไม่เป็นสัปปายะการปฏิบัตินี้มันจะขัดแย้ง การปฏิบัติไม่สะดวก อาหารเป็นสัปปายะ ฉันแล้วปฏิบัติง่าย ยิ่งถ้ามีครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ ท่านชี้นำให้เราไปทางที่ถูกต้องเลย สถานที่เป็นสัปปายะ ทีนี้ถ้ามันเป็นสัปปายะหรือไม่เป็นสัปปายะนี่ เพราะเราไม่มีสิทธิ์เลือก บางทีเวลาบวชอยากบวชใกล้บ้าน อยากสะดวกสบาย เวลาบวชก็คิดแค่นั้น แต่เวลาผลของมันเป็นอย่างนี้ มันจะมาเสียใจในภายหลัง ถ้าทีแรกเราจะบวช เราไปหาที่ถูกใจของเรา จะไกลหน่อยจะลำบากหน่อยมันก็ต้องทน แล้วเวลาบวชไปแล้วมันจะไม่มีผลขัดแย้งอย่างนี้

นี่เวลาบวชนะไปไกลก็ไม่ได้ ไกลบ้านแม่ไม่ยอม ไกลบ้านพ่อไม่ยอม พ่อแม่ปู่ย่าตายายวุ่นไปหมด แล้วบวชแล้ววัดก็ต้องดีด้วย มันก็เขียนพล็อตเรื่องสร้างหนังเองเลยก็จบ เราไม่สามารถสร้างหนังเองได้ สังคมมันเป็นอย่างนี้ มีแต่ว่าเราจะปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับสังคมนั้นได้ คิดกันไปเอาเองนะ อันนี้บอกว่าให้ทำไปให้ปฏิบัติไปมันอยู่ที่เวรที่กรรมของคน ในเมื่อเจอสภาพแบบนี้แล้ว แล้วพอมันผ่านพ้นไปแล้ว เราไปปฏิบัติเอาตามหลังนะ

ถาม : ๘๐. ฝากขอขมาหลวงพ่อด้วย ดิฉันเขียนถามเรื่องสันตติไป ไม่มีเจตนาหลอกหลวงพ่อเลย ไม่มีเจตนาหลอกหลวงพ่อหรอก เพียงแต่เพิ่งอ่านเจอเลยเขียนไป สงสัยก็ถามทั้งนั้น สันตติที่เขาว่ากันเกิดดับนั่นคืออะไร ซึ่งหลวงพ่อกรุณาตอบหมดแล้วในธรรมเทศนานั้น

หลวงพ่อ : ที่เขียนมาคือเขียนมาขอโทษ เพราะวันนั้นเราพูดเรื่องสันตติไป เพราะธรรมดานะ ถ้าเราถามธรรมะกันเราเห็นหน้าเห็นตากัน เราซักถามกันได้ แต่ในอินเตอร์เน็ตคนจะเขียนอย่างไรก็ได้ ฉะนั้นเขียนคำถามมา คำตอบเราตอบมาบ่อยมาก ฉะนั้นพอเขาถามมาก็ตอบไป

เพียงแต่ถ้าตอบไป ถ้ามันเป็นการอย่างที่เราพูดว่าเป็นการขุดบ่อล่อปลา หรือบางคนเห็นก็รู้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถามมาเพื่อจะให้เราแบบว่าขยายเนื้อความ มันก็ไปกระเทือนกัน แต่ถ้าถามด้วยความสงสัย ด้วยจิตบริสุทธิ์ เราก็เห็นด้วยนะ แต่การถามมันมีปัญหาอย่างนั้นเราเลยพูดดักไว้ ไม่งั้นคนเรานี่นานาจิตตัง แล้วบุคคลสาธารณะมันเหมือนยืนอยู่กลางแสงไฟ ทุกคนมองเห็นหมด ใช่ไหม นี่เหมือนกันเราตอบปัญหามันก็เหมือนเราตอบปัญหา ทุกคนมุมมองมันแตกต่างกันไป เขาจะมองว่าบางทีเราก็เขียนปัญหาถามเองแล้วก็ตอบเอง คืออยากจะว่าใครก็เขียนปัญหาขึ้นมาแล้วไปว่าเขา ฉะนั้นที่พูดไว้อย่างนี้ เพื่อกันไว้ว่าสิ่งที่ทำนี้ มันเป็นปัจจุบันหมด อันนี้เขาขอขมาเฉย ๆ

ถาม : ๘๑. อันนี้น่าสงสาร เหมือนปัญหาแรกเลยนี่ปัญหาหญ้าปากคอก ปัญหาพื้นฐาน ผลของการพิจารณาและระลึกถึงความตาย กราบนมัสการหลวงพ่อสงบ ผมมีปัญหาขอเรียนถามหลวงพ่อช่วยแนะนำด้วยครับ ปัญหาคือ ผมพิจารณาและระลึกถึงความตายและเรื่องสรรพสิ่งล้วนอนิจจัง ผมพิจารณาหลายอย่าง ถ้าเล่ามันก็ยาวครับ แต่ที่ผมพิจารณาความตายจนจิตรู้สึกแบบนี้ ผมใช้เวลาพิจารณาไม่นานนักครับ คือตอนนั้นมีคนใกล้ตัวตายไป แล้วก็มีคนหัวใจวายตายต่อหน้าผมด้วย ผมก็เลยคิดถึงตัวเองครับ แต่ผมก็ยังระลึกถึงความตายบ่อยๆ ครับ ผมรู้สึกว่าคนเราเกิดมาก็เหมือนๆ กัน ดำเนินชีวิตเหมือนๆ กัน ลงเอยที่เดียวกัน สุดท้ายก็ตายทุกคน

ผมพิจารณาไปจนจิตรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตที่ต้องดิ้นรนแข่งขัน ความอยากได้อยากมีมันก็ลดวูบลงไปแบบรู้สึกได้เลย รู้สึกว่าทรัพย์สมบัติของโลกมีค่าน้อย รู้สึกเข้าใจคำว่าตายแล้วเอาไปไม่ได้ว่าเป็นอย่างนี้เอง และเกิดความรู้สึกว่า มีแต่บุญเท่านั้นที่มีค่าจริงๆ รู้สึกอยากไปให้พ้นจากสังคม อยากไปบวชแต่ก็มีภาระ คือมีภรรยาซะแล้วครับ แต่ก็มีความรู้สึกว่าพอ และไม่เอาแล้ว ลูกสืบสกุลผมไม่อยากมีเลย ใจรู้สึกว่าอยากให้มันจบแค่นี้ จะสุขจะทุกข์ก็ให้จบแค่นี้ ไม่อยากสร้างห่วงอีก

ตรงที่ความอยากได้อยากมีมันวูบลงไปนี้แหละครับที่เป็นปัญหา เพราะความรู้สึกกระตือรือร้นขวนขวายดิ้นรน มันก็วูบลงไปมากด้วยเหมือนกัน อยากจะไปบวชแต่ไปไม่ได้ จะอยู่ทำมาหากิน มันก็ไม่ขวนขวาย เพราะไม่อยากได้อะไร รู้สึกว่าชีวิตต้องการแค่ปัจจัย ๔ เล็กน้อย แบบแค่พอเลี้ยงชีพไม่ให้ตายก็พอ

มันเป็นผลเสียของการพิจารณาความตายใช่ไหมครับ เพราะมันทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ คนใกล้ตัวก็เป็นทุกข์ ตอนนี้ผมก็พยายามทำใจให้ใช้ชีวิตแบบปกติและปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย แต่เรื่องความกระตือรือร้นดิ้นรนอยากได้อยากมีมันลดลงไป มันก็เป็นปัญหาที่ผมไม่รู้จะแก้อย่างไรครับ รบกวนหลวงพ่อช่วยตอบด้วย

หลวงพ่อ : ปัญหาของมันคือว่า มันเป็นผลเสียของการพิจารณาความตายใช่ไหมครับ เพราะมันทำให้รู้สึกเป็นทุกข์ คนใกล้ตัวก็เป็นทุกข์ การพิจารณาความตายเป็น มรณานุสสติ เป็นกรรมฐานห้องหนึ่ง พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็เป็นกรรมฐานห้องหนึ่ง อานาปานสติก็เป็นกรรมฐานห้องหนึ่ง เป็นวิธีการทำความสงบของใจ ๔๐ อย่าง ทีนี้พอเราระลึกถึงความตาย เห็นไหม คนเราเวลาฮึกเหิม เวลามีความทุกข์เวลาต่างๆ แล้วเรานึกถึงความตาย มันจะสลดมันหดทันที เวลาเราคึกคะนอง เราคิดเรื่องอะไรที่แบบว่ามันเป็นความฟุ้งซ่าน คิดแต่เรื่องที่สร้างบาปอกุศล ถ้าคิดถึงความตายนะมันจบ

ฉะนั้นมรณานุสสติ มันเป็นกรรมฐานห้องหนึ่งที่มีประโยชน์มาก แต่มันเป็นจริตของคน เราแนะนำลูกศิษย์ไปเยอะมากให้คิดถึงความตาย บางคนกลับมาอุทธรณ์ หลวงพ่อ พอคิดถึงความตายนะมันขาอ่อนหมดเลย มันทำอะไรไม่ได้เลย ไอ้นี่มันก็แบบว่าเข้มเกินไป เขาให้คิดถึงความตาย ให้เรามีสติ ไม่ให้เราฟุ้งเฟ้อเกินไป อย่างเช่นเราจะโกรธใคร เราจะมีอารมณ์กระทบกระเทือนกับใคร พอเรานึกถึงความตาย มันให้อภัยเขา เดี๋ยวเขาก็ตายแล้ว เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว เราจะไปผูกโกรธกันทำไม

ระลึกถึงความตายนี่เหมือนเรา เหมือนกับสุดโต่ง สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง พอคิดถึงความตายมันไม่สุดโต่ง พอคิดถึงความตาย บางคนเฉา บางคนคิดไม่ได้ แต่บางคนดี มีเยอะมากเลยที่คิดถึงความตายดีมากเลย ธรรมดาคนเรามันเห่อเหิม มันทะเยอทะยานมันเอาเต็มที่เลย พอคิดถึงความตายมันพอดี คนที่มันพอดีก็มี คนที่คิดถึงความตายแล้วดีมากก็มี คนที่คิดถึงความตายแล้วมันห่อเหี่ยว

คนที่คิดถึงความตายมันเฉาจนไม่อยากอยู่เลยก็มี มันเหมือนพุทโธเลย บางคนพุทโธก็ดีมาก บางคนพุทโธมันก็อึดอัดขัดข้อง พระพุทธเจ้าถึงบอกมีถึง ๔๐ วิธีการ ฉะนั้นไอ้คำว่าระลึกถึงความตายนี่มันไม่อยากทำสิ่งใดเลย ความจริงนะถ้าคนเขามีสติปัญญา พอเขาระลึกถึงความตาย เขาจะรีบขวนขวาย เขาจะรีบทำงานทำการไว้ แล้วสมบัตินี้ทิ้งไว้ให้คนอื่น จะได้ตายไปแบบไม่มีภาระ แต่นี่บอกว่าพอคิดถึงความตายแล้วไม่ทำอะไรเลย ห่อเหี่ยวหงอยเหงาเศร้าสร้อย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนถึงให้ไปเที่ยวป่าช้า ในวิสุทธิมรรค ให้ไปเหนือลมเพราะไปใต้ลมกลิ่นมันจะเข้ามาปะทะเราก่อน คำว่ากลิ่นมันจะเข้ามาปะทะเราก่อนนี่นะ จิตใจเรามันยังไม่มีหลักมีเกณฑ์ พอเจอกลิ่นเหม็นกลิ่นต่างๆ มันทำให้หัวใจมันสั่นคลอน มันก็ไม่มีประโยชน์แล้ว แต่ถ้าเราไปเหนือลมจิตใจเรายังไม่พร้อม มันไปเห็นใช่ไหม พอเห็นภาพนี่มันจะไปปรับปรุงหัวใจเราก่อน พอเห็นภาพเห็นต่างๆ หัวใจเรามันเหมือนเด็กเลย เด็กเริ่มการศึกษามันปูพื้นมันขึ้นมา

ถ้าเด็กมันปูพื้นการศึกษาขึ้นมาพอมันมีปัญญาขึ้นมา มันมีปัญญามันจะใช้ปัญญาของมันเพื่อประโยชน์ไปข้างหน้าได้เลย ฉะนั้นถ้าเราไปเข้าใต้ลมเราไปเจอกลิ่นก่อนยังไม่ทันพิจารณามันล้มก่อนเลย มันสู้ไม่ไหวแล้ว โอ้ย มันเหม็นมาก ไม่ถูกจริตเลย เห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกว่าให้เข้าเหนือลมแล้วมีสติพิจารณา ถ้าผู้ที่ไปดูใหม่ ถ้ายังไม่เข้มแข็งให้ดูซากศพเก่าก่อน อย่าไปดูซากศพใหม่ เพราะไปดูซากศพใหม่จิตใจเราสู้ไม่ได้ก็ให้ดูซากศพเก่าก่อน พอดูซากศพเก่าพอจิตใจมันพัฒนาขึ้นแล้ว มันดูซากศพใหม่ก็ได้

เวลาไปเที่ยวป่าช้า เขายังต้องมีวิธีการเลย ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราระลึกถึงความตายถ้าจิตมันห่อเหี่ยว ตัวเองก็เป็นทุกข์ คนใกล้ตัวก็เป็นทุกข์ โอ้ยพิจารณาไปแล้วทุกคนเป็นทุกข์ แต่ถ้าพูดถึงในการปฏิบัติถ้าจิตใจเราดี คนใกล้ตัวคนที่อยู่ด้วยกัน เวลาเราจะพลัดพรากไปเขาก็ต้องทุกข์ร้อนเป็นธรรมดา แต่ความทุกข์อย่างนี้ทุกข์เพราะความพลัดพราก แต่นี้ถ้าพูดถึงจิตใจเราไม่เอาไหนเลย มันไม่เป็นความเป็นจริง มันสุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง มันไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาในมรณานุสสติ

ถ้าเป็น มัชฌิมาปฏิปทาในมรณานุสสติ มรณานุสสติจะสร้างคุณประโยชน์กับเรามหาศาล เพราะมันเป็นการแก้กิเลสเป็นสมถะอันหนึ่งเป็นการแก้กิเลสอันหนึ่ง เวลาฮึกเหิม เวลาเห่อเหิมถ้าคิดถึงความตายมันหยุดหมดมันสะดุดหมด ฉะนั้นที่บอกตอนเริ่มต้นว่ามีคนใกล้ตัวตายไปต่อหน้า มีคนหัวใจวายตายไปต่อหน้า เราฟังลูกศิษย์คนหนึ่งเขาเล่าให้ฟัง เขาเป็นพยาบาลในห้องผ่าตัด เขามีประสบการณ์กับหมอ หมอบางคน คนไข้มาหมอที่จิตใจดีจะบอกจะช่วยเหลือคนไข้ด้วยจรรยาบรรณ

แต่หมอคนไหนจิตใจไม่ดี เวลาคนไข้มาจะหยอกล้อเล่น เป็นพูดเล่นในทางที่ผิดในทางที่ไม่ดี ขนาดที่ว่าในวิชาชีพของเขา ถ้าไม่มัชฌิมาไม่สมดุลของเขา มันยังให้ผลเป็นโทษกับเขา แต่ถ้าบางคน หมอที่เป็นคนดีมาก เขาเจอคนหนึ่งเขาบอกว่า ทำงานโรงงานแล้วมันลากมือเข้าไป มือนี่แหลกหมด แล้วมาผ่าตัด หมอที่ดีเขาเห็นแล้วเขาเมตตามาก แต่หมอที่เขาเป็นทางโลก เขามองแบบว่าเป็นของสนุก เป็นปลาหมึก เป็นอะไรไป เขาแซวเล่นสนุกไปเลย เห็นไหมจิตใจมันไม่สมควร มันก็ไปอย่างหนึ่ง ถ้าจิตใจมันสมควร มันก็เป็นอย่างหนึ่ง มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ในการประพฤติปฏิบัตินี่ก็เหมือนกัน มรณานุสสตินี่เป็นของดีหมด เพียงแต่จิตใจเราถ้ามันไม่ดีอย่างนี้ เราก็กลับไปพุทโธดีกว่า เรากลับไปพุทโธเรากลับไปปฏิบัติทางอื่น มรณานุสสตินี่ เราเอามาคิดเฉพาะว่า เวลาจิตใจมันห่อเหี่ยว มันไม่สู้คน มันใช้อย่างนี้ได้ การภาวนามันมีหลากหลาย ฉะนั้นเวลาจิตของเราเวลาภาวนาไปแล้ว ถ้ามันมีการแสดงออก การแสดงออกของใจมันตอบสนอง ความตอบสนองเห็นไหม ถ้าตอบสนองในทางที่ถูกต้อง ตอบสนองในทางที่ดีงาม มันก็ตอบสนอง

นี่ไงที่บอกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค คือว่ามันพอใจสิ่งใดมันก็สะสมมันก็หมักหมมอย่างนั้น มันไม่ก้าวหน้า อัตตกิลมถานุโยค พอเราพยายามจะแผดเผามัน ถ้ามันไม่สมดุลของมัน มันก็ไม่ก้าวหน้า นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันมัชฌิมาปฏิปทา เวลาเรากำหนดพุทโธหรือมรณานุสสติจิตใจมันจะพัฒนามันจะก้าวหน้า ถ้ามันจะก้าวหน้า นี่จริตของเราผลงานของเรา นี่การปฏิบัติของเรา มันจะก้าวหน้ามันจะดีงามมาก แต่ถ้ามันมีปัญหา เราเปลี่ยนแปลงได้ ความก้าวหน้าไม่ก้าวหน้ามันเป็นอุบายวิธีการของเราเหมือนกัน

เวลาเป็นกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค มันไม่ใช่การดำรงชีวิตนี้หรอก มันเป็นเวลาปฏิบัติในหัวใจ กามสุขัลลิกานุโยค เวลามันติดสุข เวลามันทุกข์ยากขึ้นมา เวลาปฏิบัติขึ้นไปมันจะเป็นจะตายมันหลอก เราพยายามเข้มแข็งเราจะเอาจริงให้ได้มันดึงไปอัตตกิลมถานุโยคเลย ดูสิ เวลาพระภาวนาแล้วจิตเสื่อมๆ เห็นไหมเอามีดเชือดคอเลย นี่ อัตตกิลมถานุโยค มันทุกข์มันยากของมัน แต่เวลาเชือดคอเวลาเลือดพุ่งออกมา ปัญญาท่านเกิดขึ้นมา พอพิจารณาก็สิ้นกิเลสไปเดี๋ยวนั้น กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค มันเป็นอาการของใจ

เวลาใจมันทำลายเรา มันทำลายจากภายใน มันทำลายเราให้เสียหายเลย ฉะนั้นถ้ามันเป็นอย่างนั้น เวลาครูบาอาจารย์ปฏิบัติอย่างนั้น มันเคยผ่านประสบการณ์อย่างนั้นมา

กรณีอย่างนี้ มันเป็นหญ้าปากคอก คือยังเริ่มปฏิบัติเห็นไหม อยากบวช เพราะเวลาภาวนาไปแล้วมรณานุสสติแล้วมันกลับสลดหดหู่ ฉะนั้นเวลาคำบริกรรม เวลาการปฏิบัติคำบริกรรมมันมีวิธีการหลากหลาย เหมือนแบบคนไปทางรถ ไปทางเรือ ไปทางอากาศ ถ้าเราไปทางไหนสะดวก เราควรไปทางนั้น

เรามีเครื่องมืออย่างไหน เราจะไปทางไหนเราควรไปทางนั้น ถ้ามันไปทางนั้นได้ ทางที่เราไป ถ้าไม่ใช่ทางของเรามันอั้นตู้อย่างนี้ มันอั้นตู้แล้วมันไม่เป็นประโยชน์กับเรา เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป มันพิจารณาตั้งแต่ทีแรกแล้วเพียงแต่ว่าพอเราภาวนาไป เราภาวนาของเราไปคนเดียว แล้วพอบอกว่า มันต้องเป็นการพิจารณาความตาย มันมีความรู้สึกดีตั้งแต่ทีแรก แล้วเราก็คิดว่าถูกต้องแล้วเราก็ทำของเราไป มันมีหลายคนมากเวลาที่ไปปฏิบัติพุทโธ ๆๆ ตั้งหลายปี แต่มันเป็นไปไม่ได้ พอเปลี่ยนไปใช้คำบริกรรมอันอื่น แล้วมันเป็นไปได้เลย

นี่เหมือนกัน มันห่อเหี่ยวจากการพิจารณาระลึกถึงความตาย มันเป็นคำบริกรรมคำหนึ่ง มันเป็นกรรมฐานอันหนึ่ง แล้วพอเราใช้ไปแล้ว มันไม่เป็นประโยชน์กับเรา เราควรเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่น แล้วพอไปใช้อย่างอื่นปั๊บเหมือนอุบายเลย พอพิจารณาอย่างอื่นถ้ามันไม่ก้าวหน้า เราค่อยกลับมาใช้ความตาย กลับมาใช้ความตายขึ้นมาเพื่อให้จิตใจมีหลักมีเกณฑ์ของมัน แล้วไปพิจารณาทางอื่นต่อไปมันจะได้ก้าวหน้าต่อไปๆ ของมันไป ไม่ให้มันมาหมักหมมอย่างนี้

ถาม : เป็นฉบับที่ ๒ กระผมเขียนถามปัญหาหลวงพ่อฉบับที่ ๒ กระผมสนใจเรื่องปัญญาอบรมสมาธิ ได้ฟังหลวงพ่อในเสียงหลายชุดแต่ยังไม่กระจ่างนัก จึงขออนุญาตให้หลวงพ่ออธิบาย เรื่องปัญญาอบรมสมาธิให้กระจ่างครับ เรื่องปัญญาอบรมสมาธิที่กระผมลองทำดู อยากให้หลวงพ่อตรวจให้หน่อยครับ ว่าถูกต้องหรือไม่ ผมเข้าใจและปฏิบัติดังนี้ ปัญญาอบรมสมาธินั้นจะดีมากๆ ตอนฟังธรรมของครูบาอาจารย์ โดยเราจะคิดพิจารณาไปด้วยในข้อธรรมนั้นๆ ผมลองสังเกตตัวเอง พอฟังธรรมไปนานๆ สัก ๒-๓ ชั่วโมง ขณะฟังก็กำหนดสติ ซึ่งคำว่าสติ ผมเข้าใจว่าคือการกำหนดให้รู้สึกในความรู้สึกที่พิจารณาข้อธรรมนั้นไปอย่างต่อเนื่อง พอเสร็จแล้วผมก็รู้สึกว่า ใจนั้นสงบเยือกเย็นมาก ไม่ต่างกับการพิจารณาพุทโธหรือกำหนดลมหายใจ ขอนมัสการด้วยความเคารพ ศิษย์ทางไกล หนองคาย

หลวงพ่อ : ตรงนี้ดีมาก ขณะที่ฟังก็กำหนดสติ ซึ่งคำว่าสติ ผมเข้าใจว่าคือการกำหนดเห็นไหม ซึ่งคำว่าสติ ผมเข้าใจว่าคือการกำหนด ให้รู้สึกในความรู้สึกที่พิจารณาข้อธรรมนั้น แหม..มันชัดนะ เนี่ยเวลาฟังธรรมไป ๒-๓ ชั่วโมงนี่คือปัญญาอบรมสมาธิ เพราะถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เราจะคิดเองโดยไม่ต้องฟังก็ได้ ถ้าฟังเวลาฟังเทศน์ อาศัยว่าเสียงเทศน์นั้นเป็นคำพิจารณาแทน แต่นี่เขาใช้ฟังเทศน์ อันนี้มันเป็นอุบายเฉพาะบุคคล

ถ้าเราบอกอย่างนี้ถูก ผู้ที่ฟังในซีดีเรา จะบอกว่า ก็หลวงพ่อบอกเอง บอกว่าเวลาฟังครูบาอาจารย์ให้ตั้งสติไว้เฉยๆ แล้วเสียงจะมาเอง แต่นี่เขาบอกว่าตอนฟังครูบาอาจารย์เทศน์โดยพิจารณาไปด้วยในข้อธรรมนั้นๆ ผมสังเกตตัวเองฟังไปนานๆ ๒-๓ ชั่วโมง อันนี้เป็นกรณีเฉพาะบุคคล ถ้าเขาฟังแล้ว เขาใช้สติตามไปด้วยคิดไปด้วย แล้วกำหนดฟังตามนั้น พิจารณาตามนั้น ถ้ามันเป็นความดีเห็นไหม ผมรู้สึกเยือกเย็นมาก ไม่ต่างกับการพิจารณาโดยพุทโธหรือดูลมหายใจเลย

เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือพิจารณาพุทโธ หรือดูลมหายใจเข้าออก อานาปานสติ ไม่ต่างกัน คำว่าไม่ต่างกันถ้าผลมัน การพิจารณาทุกๆ อย่างเราต้องการความสงบอย่างเดียว เราต้องการจิตตั้งมั่นอย่างเดียว ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิถูกต้องหมด ไอ้นี่คืออุบาย วิธีการกับเป้าหมาย เป้าหมายคือความสงบ วิธีการมันแตกต่างหลากหลาย นี่คือวิธีการ วิธีการของใคร ถ้าวิธีการของใครถูกต้องดีงามกับจิตดวงนั้น ถ้าจิตมันเข้าสู่ความสงบเยือกเย็น ถูกต้องหมด ทีนี้ความสงบเยือกเย็นมันก็มีเริ่มต้น ขณิกะ อุปจาระ อัปปนานั้นอีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งคือว่า ให้พิจารณาเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป

ฉะนั้นสิ่งที่ทำมาให้ตรวจสอบ ฟังหลวงพ่อให้หลวงพ่อตรวจสอบหน่อย แหมกลัวผิดมาก ไอ้ตรวจสอบนี่มันตรวจสอบตัวหนังสือ ถ้าตรวจสอบเวลาปฏิบัติมาแล้ว มาคุยกันอันนั้นจะชัดเจนมาก ไอ้ตรวจสอบตัวหนังสือนี่คือว่านี่คือตัวอักษร เหมือนกับหลวงตาท่านพูดว่า พระไตรปิฎกนี่เป็นกิริยาของธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนธรรมแท้ๆ คือที่อยู่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้ว

คำพูดที่ออกมาจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือกิริยา คือพระไตรปิฎก ฉะนั้นเรามาศึกษาพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็ชี้กลับไปที่ใจชี้กลับไปที่ความบริสุทธิ์ อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่พูดออกมาเป็นตัวอักษรทั้งหมด ให้ตรวจสอบก็ตรวจสอบ นี้ก็เป็นเครื่องหมาย เป็นกิริยา เป็นการบอกว่าเราทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง แต่ความตรวจสอบจริงๆ คือความตรวจสอบในใจดวงนั้น

ถ้าคุยธรรมะโดยตรง มันก็เป็นประโยชน์อันหนึ่ง อันนี้คุยกันโดยตัวอักษร เพราะว่าเราเคยบอกไว้เหมือนกัน เวลาพระเขาสอนสมาธิ เขาให้ลงคะแนน เขียนเป็นตัวหนังสือ ส่งการบ้านสมาธิ เราบอกว่าไม่มีทางสมาธิมันอยู่ที่ใจ เวลาสงบไม่สงบมันอยู่ที่ใจ ถ้าให้เขียนขึ้นมานี่นั่งสมาธิได้สมาธิทุกคนเลยนะ แล้วเขียนสมาธิมาส่งการบ้าน ใครถูกไม่ถูกไม่รู้ เพราะคนที่เขียนบางคนอธิบายได้ชัดเจนมาก บางคนอธิบายได้กว้างขวาง บางคนอธิบายไม่เป็นเลย ไอ้คนอธิบายไม่เป็นถูกก็ได้เพราะเขาเป็นสมาธิจริงเขาอธิบายไม่ได้ ไอ้คนที่อธิบายเป็นคุ้งเป็นแคว นั่นไม่ใช่สมาธิหรอก มันเป็นสมาธิตัวอักษร

ฉะนั้นไอ้ตรวจสอบนี่ ตรวจสอบนี่ใช่เพราะตัวอักษรนี่ ถ้าไม่เป็นก็เขียนไม่ได้ ไม่เป็นก็พูดไม่ได้ แล้วพูดเหมือนก็ไม่ได้ ไอ้นี่มันมีอยู่ ๒ คำ คำว่าสติคือความกำหนดรู้ ผมเข้าใจว่าคือการกำหนดความรู้สึก ผมเข้าใจว่าเห็นไหม ถ้าเข้าใจว่าก็เหมือนกับบอกว่านี่สีแดงยกสีแดงขึ้นมาถูกไหม ถูกก็คือถูก ผมเข้าใจว่ามันถูกก็คือถูก แล้วเวลากำหนดไปจิตมันสงบเยือกเย็นไม่ต่างกันเลย คำว่าไม่ต่างกันเลย

ถ้าคนภาวนาแล้วต่างคนต่างถือดี ไอ้คนที่ปัญญาอบรมสมาธิบอกของฉันอันดับหนึ่ง ไอ้ที่พิจารณาพุทโธก็บอกว่าพุทโธอันดับหนึ่ง ไอ้ที่ดูลมหายใจก็บอกว่าดูลมหายใจอันดับหนึ่ง ไอ้ ๓ คนนี่มันเถียงกันแล้ว แต่นี้ทำไมคนๆ เดียวบอกว่า ๓ อย่างนี้เหมือนกันหมด เพราะอะไร เพราะเป้าหมายมันเหมือนกัน ธรรมะถ้าไปลงในที่เดียวกัน มันจะไม่เถียงกัน แล้วมันจะถูกต้องด้วย นี่ปัญญาอบรมสมาธิ เขาก็บอกว่าสมาธิสงบเยือกเย็นมากไม่ต่างกับพุทโธเลย ไม่ต่างกับดูลมหายใจเลย ถ้าคนที่ภาวนาเป็นสมาธิเหมือนกัน มันจะเถียงกันตรงไหน ไม่เถียงกันหรอก สมาธิก็คือสมาธิ เอ็งจะมาทางไหนก็เป็นสมาธิ

แต่ถ้าเอ็งเข้าสมาธิไม่ได้ เอ็งก็บอกสมาธิเป็นของเอ็ง กำหนดอย่างนู้นเป็นสมาธิถ้ามันไม่เป็นนะ เถียงกันตายเลย เพราะสมาธิมันไม่เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าสมาธิมันถูกต้องนะ ไอ้กำหนดสตินั้นอันหนึ่ง มันเหมือนกันเลย ทุกอย่างหมดเลย อันนี้อันหนึ่ง แล้วมันถูกต้องอันหนึ่ง ถ้ามันจะถูก มันจะลงในทางเดียวกัน อย่างไรก็ลงทางเดียวกัน เหมือนอย่างกระแสน้ำ แม่น้ำทุกสายจะลงสู่ทะเล มันก็ลงทะเลเหมือนกัน นี่ความถูกต้อง ถ้าปฏิบัติแล้วมันเหมือนกันทั้งนั้นเลย แต่ถ้ายังไม่เหมือนกันเพราะอะไร เพราะเราเองเรายังงงตัวเราเองอยู่ เราเองเราก็ยังสงสัยตัวเราเอง ถ้าเราสงสัยตัวเราเองสิ่งนั้นมันก็คือความจำ ถ้าความจำมันทำให้ดีขึ้นมันก็ดีขึ้น นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

เมื่อวานพูดเรื่องอัปปนาเห็นไหม ว่าอัปปนามันก็เป็นไอ้นั่นกัน ปัญญาอบรมสมาธิก็เหมือนกัน ปัญญาอบรมสมาธิมันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียดมหาศาลเลย ปัญญาอบรมสมาธิคือทำสมาธิ แล้วถ้าปัญญามันพิจารณาของมันไป มันก็เป็นสมาธิ มันละเอียดเข้าไป

ปัญญาคือปัญญาญาณที่ฆ่ากิเลส มันจะไปอีก ละเอียดกว่านี้ กว้างขวางกว่านี้ แล้วอย่างที่หลวงตาพูด ไม่รู้พูดไม่ได้หรอก คนที่ปฏิบัติไม่ถึงพูดออกมามันก็พูดได้แค่นี้ มันพูดได้ในสิ่งที่เราเคยทำมาทั้งนั้น ฉะนั้นปัญญาอบรมสมาธิ มันจะไปอีกไกลมากเลยล่ะ เพียงแต่ว่า ถ้าทำแล้ว มันไม่มีอะไรมีคุณค่ามากกว่าอะไร คำว่าไม่มีอะไรมีคุณค่ามากกว่าอะไรเพราะคำนี้เห็นไหมว่า ปัญญาอบรมสมาธิ พุทโธ ลมหายใจเหมือนกันหมดไม่แตกต่างกัน เราจะบอกว่าผลของมัน พอตอบออกมาแล้วไม่แตกต่างกัน

อย่างเช่นอาหารจะเป็นน้ำพริกผักต้ม จะเป็นอาหารเลิศหรูขนาดไหน ผลของมันกินข้าวแล้วอิ่ม ก็พอ ผลของมันกินแล้วร่างกายมีพลังงาน ร่างกายแข็งแรงสุดยอดเลย ฉะนั้นไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติของคนจะละเอียดอ่อนมากขนาดไหน มันอยู่ที่จริตนิสัยของคน ถ้าปฏิบัติแล้วถูกต้องแล้วก็คือความว่าถูกต้อง เอวัง