ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อนาลโยวาท

๒๒ พ.ค. ๒๕๕๓

 

อนาลโยวาท
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : อันนี้มัน ๘๒. นี่ถามมายาวเลยล่ะ ว่าอยากบวชมาก ต้น ลำปาง อยากบวชมาก แต่เพราะเป็นหนี้ เพราะกู้เรียนมา ใช้หนี้มา ๓ ปีแล้ว แต่อยากบวช แล้วทำงานอยู่ ทำงานใช้หนี้กู้ทุนจากการศึกษาไง ฉะนั้นเขาถามว่า เวลาเขากำหนดภาวนาไปเรื่อยๆ นี่ เขาแปลกใจว่า ทำไมเขาเห็นพ่อแม่ เขาเห็นแล้วมันแบบว่า มันเฉยๆ ไง ธรรมดานี่ถ้าเป็นทางโลกเราเห็นพ่อแม่ เราก็อยากจะอุปัฏฐาก อยากจะดูแลพ่อแม่ให้ดี แต่ทำไมมันเห็นแล้วเฉยๆ เขาสงสัยไง ว่ากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธไปแล้ว ทำไมเห็นว่าพ่อแม่เป็นเรื่องปกติ และไม่มีความเป็นห่วงพ่อห่วงแม่

คือเราก็บูชาท่านไว้ในฐานะบุพการี ไม่ได้ไม่เห็นคุณท่าน แต่จิตใจมันไม่ยึดติด ยึดมั่นว่าท่านจะต้องสบาย ท่านต้องไม่เป็นอะไร คือปลงว่าสุดท้ายสัตว์โลกไม่พ้นตาย ก็เพียงแค่จิตออกจากร่าง จิตของท่านหลังจากออกจากร่างนี้แล้วเท่านั้น เพราะท่านเป็นบุคคลธรรมดา เพราะถือพระพุทธศาสนาเพียงแค่ทะเบียนบ้าน มีทางเดียวเท่านั้น คือผมบวชประพฤติปฏิบัติเพื่อช่วยท่าน ตอนนี้ผมเก็บเงินจ่ายหนี้ได้ ๓ ปีแล้ว ชาตินี้ต้องบวชให้ได้ ต้องตายในผ้าเหลือง ต้องให้ถึงวิมุตติหลุดพ้นให้ได้ ขอหลวงพ่อช่วยเทศน์โปรดสัตว์ด้วยเถิด

หลวงพ่อ : เห็นไหม พูดถึงว่าความเจตนานี่ดี เจตนาดีเพราะเขาคิดว่าดี แล้วอย่างการปฏิบัตินี่

ถาม : คำถามผมถามว่า เราจะปฏิบัติธรรมในท่ามกลางที่เราทำงานอย่างไรครับ เพื่อให้เหมาะแก่การสถานที่ เพราะทำงานอยู่ ประสาโลกนะถ้าทำงานอยู่มันเห็นนี่ เพราะเวลาเราอยู่ทางโลกนี่ มันเหมือนกับเราอยู่ในท่ามกลางของสังคมอย่างนี้เราก็เห็น ทีนี้พอเห็นเข้าอย่างนี้เราก็เบื่อหน่าย แต่เวลาพอบวชแล้ว ประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้วมันมีทางตัน มันก็คิดอีกแหละ ใจคนมันไม่แน่นอน

ฉะนั้นมีครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านบอกเลยนะ ถ้าอยากบวชนี้ไม่ให้บวช จนหายอยาก แล้วค่อยให้บวช บางองค์เขาพูดอย่างนี้นะ ถ้าอยากบวชนี้ไม่ให้บวชไง ให้อยู่จนหายอยากเลย เบื่อแล้วนะ อย่างนั้นค่อยให้บวช อย่างนี้ก็มี เพราะเรื่องของความรู้สึกของคนมันเปลี่ยนแปลงได้

ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ ที่พูดนี้มันเป็นความเห็นของเรา เราอยู่คนเดียวเราก็เห็นว่า เราคิดถูกคิดดี มันก็ถูกต้องมันคิดถูกคิดดี แต่นี่มันดีแบบโลกไง เวลาปฏิบัติไปแล้วนะ ฉะนั้นเวลาพอเราปฏิบัติกัน ทำไมเราต้องทุกข์ยาก ทำไมเราต้องปฏิบัติกันขนาดนั้น แล้วเวลาปฏิบัติเราก็ต้องมีความสะดวกสบาย เราต้องมีความสมดุลของเรา

ปฏิบัติแบบวิทยาศาสตร์นี่พอเข้าใจได้ อันนี้มันเป็นเรื่องของโลกไง เหมือนกับเราศึกษาทางวิชาการ พอเรารู้แล้วเราก็คือรู้นั่น อย่างยากที่สุดคือทำวิทยานิพนธ์นี่ ต้องพิสูจน์ ต้องให้เชิงประจักษ์ ให้กรรมการเห็นได้ว่าเราทำได้จริง เห็นไหม ฉะนั้นเวลาอย่างนั้นก็ว่าเป็นเรื่องยาก แต่เวลาปฏิบัติแล้ว มันไม่ใช่ให้กรรมการตัดสิน ไม่ใช่ให้คณะกรรมการตัดสินว่าวิทยานิพนธ์ของเรานี่จะเชิงประจักษ์ว่าจริงหรือไม่จริง มันเป็นการที่เราต้องประจักษ์กับตัวเราเอง โอ้โฮ มันอีกชั้นหนึ่งนะ เวลาต้องต่อสู้กับตัวเองนี่ แล้วตัวเองมันก็มีข้อมูล ทุกคนเข้าข้างตัวเองหมดใช่ไหม อุ๊ย ถูกต้อง ใช้ได้ เรียบร้อย เสร็จ กิเลสเอาไปกินเกลี้ยงเลย ถูกต้อง ใช้ได้นี่ มันถูกต้องของกิเลสไง แต่ถ้าเป็นจริงขึ้นมานะ ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นจะเข้าปัญหานี้เลย ปัญหาที่ถามมานี่ เดี๋ยวเราจะอธิบายตรงนี้เลย

ถาม : ๘๓. สงสัยกัณฑ์เทศน์ของหลวงปู่ขาว เรื่องอานาปานสติค่ะ อ่านเจอใน เว็บของธรรมจักร เป็นโอวาทของหลวงปู่ขาว กัณฑ์ที่ ๒ จากหนังสืออนาลโยวาท ขอยกตรงที่สงสัยถามหลวงพ่อนะคะ เพราะเคยอ่านหลวงพ่อสอนว่า อานาปานสติเกิดปัญญาไม่ได้ และที่ตรวจสอบกับพระไตรปิฎก เรื่องจินตมยปัญญาที่เป็นปัญญาตรัสรู้เอง จะมีเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนคนธรรมดาจะมีแค่สุตมยปัญญา และ ภาวนามยปัญญาเท่านั้น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสอดคล้องกับคำสอนของหลวงพ่อค่ะ

หลวงพ่อ : นี่เขาไปอ่านในพระไตรปิฎก

ถาม : แต่ทำไมหลวงปู่ขาวสอนว่า อัปปนา จะเกิดปัญญาขึ้นเองได้คะ หมายถึง จินตมยปัญญาหรือเปล่าคะ หรือว่าพระองค์นั้นไปอ่านตรงนี้เจอมา เลยเอาตรงนี้มาสอน

หลวงพ่อ : เขาหมายถึงพระองค์นั้น เดี๋ยวข้างล่างจะมีต่อ เราจะอธิบายตรงนี้ก่อน อธิบายตรงที่ความเข้าใจผิดว่า อานาปานสติเกิดปัญญาไม่ได้ และที่เขาตรวจสอบในพระไตรปิฎกนี่ นี่ตรงนี้จะแก้ตรงนี้ไง เขาตรวจสอบในพระไตรปิฎกเรื่องจินตมยปัญญา ที่เป็นปัญญาการตรัสรู้เองขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า ไม่ใช่ ไม่ใช่จินตมยปัญญา ปัญญานี้มันมีสุตมยปัญญา

สุตมยปัญญาคือการศึกษา ศึกษาทางวิชาการนี้เขาเรียกสุตมยปัญญา จินตนาการนี้จินตมยปัญญา และภาวนามยปัญญา ฉะนั้นบอกว่าจินตมยปัญญานี้ เป็นปัญญาตรัสรู้เองของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ ตรงนี้เขาคลาดเคลื่อนไง เขาคลาดเคลื่อน มันเป็น สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา มันเป็นระยะผ่านของปัญญา ปัญญาเวลาเราภาวนาไปนี่เราจะมีสุตมยปัญญา คือการศึกษานี่แหละ แล้วเวลาภาวนาไปนี่ถ้าจิตมันเป็นสมาธินะ แล้วสมาธินี่มันรู้ของมันโดยที่ยังเป็นโลกอยู่นี่ เขาเรียกจินตนาการ จินตนาการด้วยสมาธิด้วยนี่ โอ้โฮ มันเพริศแพร้วมากนะ มันจะติดตัวเอง มันจะหลงของมันไง แต่มันยังไม่เป็นความจริง

ไม่เป็นความจริงเพราะอะไร เพราะมันเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาคือปัญญาที่เกิดจากการภาวนาล้วนๆ คำว่าภาวนาล้วนๆ นี่มันไม่มีตัวตนเราบวกไง ถ้า จินตมยปัญญานี่ จินตนาการต่างๆ นี่ จินตนาการมาจากไหน จินตนาการต้องมาจากตัวตนใช่ไหม ถ้าไม่มีตัวตนจะจินตนาการได้อย่างไร จินตนาการมันต้องมีที่มาที่ไปไง แล้วทีนี้ภาวนามยปัญญานี่มันจะพ้นจากตัวตน จากสิ่งที่จินตนาการจากฐานนะ ฐานการจินตนาการจะไม่มี ภาวนาล้วนๆ คือว่า ภาวนาจากการปฏิบัตินี้ ภาวนามยปัญญามันจะเกิดจนฆ่ากิเลสได้

ฉะนั้นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสาวกที่เป็นนี้ มันก็ต้องผ่านกระบวนการอย่างนี้หมด สุตมยปัญญานี่ ตอนนี้เป็นสุตมยปัญญา โยมฟังเราอยู่นี่เป็นสุตมยปัญญา เพราะศึกษา จำเอาจากความเห็นความรู้ของเรา นี่สุตมยปัญญา แล้วเวลาจินตนาการ เห็นไหม ขึ้นมาเป็นปัญญาของตัวเองนี่เป็นจินตมยปัญญา

เอ้อ หลวงพ่อพูดถูกว่ะ เอ๊ะ ตรงนี้หลวงพ่อน่าจะพูดผิดนะ ความเห็นเราจะถูกนะ เห็นไหม นี่มันจินตนาการเห็นไหม ถูกผิดนี้มันจะหาเหตุหาผลของมัน นี่จินตนาการของเรามันยังไม่เป็นความจริง พอเราภาวนาไปนี่ หาเหตุหาผลมันจะลงตัวเห็นไหม พอลงตัวแล้วเกิดจากปัญญาของเราเองนี่ ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมา

ฉะนั้นบอกว่าจินตมยปัญญานี้ เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า อะไรนี้ ไม่ใช่ เพราะจินตมยปัญญามันฆ่ากิเลสไม่ได้ จินตมยปัญญานี้เป็นระยะผ่านของปัญญา มันฆ่ากิเลสไม่ได้ อันนี้อันหนึ่งเห็นไหม แล้วก็ที่ว่าหลวงปู่ขาวเรื่องอานาปานสติ ตรงนี้เราจะย้อนกลับมาที่นี่เลย

ถาม : ๒. หลวงปู่ขาว อนาลโย คัดลอกมาจากอนาลโยวาท ธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย และประวัติความอาพาธ คณะศิษยานุศิษย์จัดพิมพ์ถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลในพระราชทานเพลิงศพนะ นี้เข้าถึงหนังสือเขาแล้ว

เมื่อจิตรวมแล้ว มันจะรู้ตามความเป็นจริง มันจะว่าง มันจะวาง ว่างนั่นแหละ พอจิตรวมแล้วมันก็วาง ค้นหาตัวไม่มี พอมันสงบแล้วปัญญามันเกิดขึ้นของมันเอง ครั้นมันสงบลงถึงฐานถึงที่ มันเป็นอัปปนาแล้ว มันเกิดขึ้นเองนะ พอนึกเท่านั้น มันปรุงฟุ้งขึ้น มันปรุงแล้ว มันไม่ได้ยึดแสงสว่าง สว่างหมดทั้งโลกก็ตาม มันไม่ไปยึด มันสาวเข้าหาคน คนอยู่ที่ไหนมันอวดว่าตนว่าตัว ไล่เข้าไป ถ้ามันรวมลงอย่างนั้น มันอาศัยสติควบคุมให้มันอยู่ อย่าให้มันไป จิตรวมลงอย่างนี้แจ่มใสทีเดียว ไม่ใช่มันง่วงนอน มันไม่ใช่วิสัยของสมาธิ อันนี้มันแจ่มใสอย่างนั้น เรียกว่าสัมมาสมาธิ มันเป็นสมาธิอันถูกต้อง แล้วก็แม่นมันนั่นแหละ (หลวงพ่อ : แม่นภาษาอีสานนะ) แล้วก็แม่นมันนั่นแหละ แม่นจิตนั่นแหละ เป็นตัวศีลล่ะ จิตนั่นแหละเป็นตัวสมาธิ จิตนั่นแหละเป็นตัวปัญญา อันเดียวนั่นแหละ มันจะถึงอธิจิต อธิศีล อธิปัญญาได้ ก็อาศัยสติควบคุม

หลวงพ่อ : เห็นไหม พอจิตมันรวมลง ความรู้ตามความเป็นจริงมันวาง ว่าง นั่นแหละ พอจิตรวมลงก็วาง ค้นหาตัวไม่มี พอจิตมันสงบแล้วปัญญามันเกิดขึ้นเอง เห็นไหม ถ้าเป็นอัปปนาสมาธินี่ พอมันวาง ค้นหาตัวไม่มี มันสักแต่ว่าหมด มันไม่มีเลย เราถึงบอกว่าอัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ไม่ได้หรอก

ทีนี้คำว่าอัปปนาสมาธิเกิดปัญญาไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันเป็นอำนาจวาสนาของคน อำนาจวาสนาของคน ของครูบาอาจารย์นี้ท่าน

อย่างเช่นหลวงตาเห็นไหม หลวงตานี่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า หลวงตาเป็นธรรมปฏิสัมภิทา คือหลวงตาท่านจะชำนาญในธรรม มันเหมือนกับเราเรียนจบหนังสือมา หรือเราทำหน้าที่การงาน เราเป็นผู้ที่ชำนาญ เราจะอธิบายวิชาการนี้ได้แจ่มแจ้ง ได้ชัดเจนมาก แต่บางคนทำงานได้ แต่ถ้าให้อธิบาย มันอธิบายไม่ค่อยถูก เราจะบอกว่าคนบางทีอธิบายนี่มันไม่ชัดเจนหรือมันไม่อะไร แต่ต้องมีความจริงนะ ถ้าคนทำงานเป็นนี่มันจะจริงหมด

ฉะนั้นหลวงปู่ขาวนี้ชัวร์มาก ฉะนั้นเวลาบอกว่า ปัญญามันเกิดขึ้นของมันเอง ครั้นมันสงบถึงฐานแล้ว ถึงอัปปนาแล้วมันเกิดขึ้นเองนะ ฟังให้ดีนะ มันเกิดขึ้นเองนะ พอนึกเท่านั้นมันปรุงฟุ้งขึ้น มันปรุงแล้วมันไม่ไปยึดแสงสว่าง สว่างทั้งหมดโลกนี้ก็ตามมันไม่ไปยึด มันสาวเข้าหาคน มันสาวเข้าหาคน คนอยู่ที่ไหน มันอวดว่าตนว่าตัว ไล่เข้าไป

เห็นไหม อัปปนาสมาธิถ้ามันเกิด คำว่าพอมันลงอัปปนาสมาธิ มันเป็นสักแต่ว่า มันเกิดปัญญาไม่ได้หรอก ทีนี้คำว่ามันเกิดขึ้นเองนี่ คำว่ามันเกิดขึ้นเอง เวลาคนอธิบายไง คนอธิบายใช่ไหม คนอธิบายว่ามันเกิดขึ้นเอง มันเกิดขึ้นต่อเนื่อง ต่อเนื่องจากว่าอัปปนาสมาธิแล้ว มันถอนออกมาเห็นไหม คำว่ามันถอนออกมา มันสาว มันไม่ติดในแสงสว่าง มันสาวเข้าหาคน

เราจะบอกว่าเหมือนสมบัติ ถ้าสมบัติของเราเห็นไหม อย่างเช่นเราทำมาหากินใช่ไหม ทำบัญชีนี่เราสามารถตรวจสอบได้ว่าเงินของเรานี่บริสุทธิ์ แต่สำหรับเรานี่เราฟอกเงิน เงินของเราไม่มีที่มาที่ไป เรามีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง แล้วเงินนี้ทุจริต แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันเป็นเงินสุจริตล่ะ มันไม่มีที่มาที่ไปใช่ไหม ฉะนั้น นี่เราพูดถึงเงิน ถ้าเงินถูกต้องตามกฎหมาย เราทำธุรกิจของเรามา มันมีต้นทุน มีการซื้อขาย มันมีผลกำไร มันมีทุกอย่างแหละ แต่ถ้าเราทำทุจริตมาอย่างนี้ มันได้มาเหมือนลาภลอย แล้วมันมีต้นทุนมาจากไหน

เราจะบอกว่า คำว่าอัปปนาสมาธิ เห็นไหม เวลาเข้าอัปปนาสมาธินี่เกิดปัญญาไม่ได้หรอก แต่เวลามันถอนออกมาแล้ว มันมีการกระทำไง นี่ไงมีการกระทำเห็นไหม ตรงนี้ คำว่าปัญญามันเกิดขึ้นเองนี่มันเป็นการอธิบายที่ว่า เพราะท่านเกิดอย่างนั้นจริงๆ ท่านเกิดเพราะว่าท่านมีการกระทำ แต่เวลาท่านอธิบายนี่ท่านบอกว่าเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นเอง ทำไมเวลาเกิดขึ้นเองแล้วเห็นไหม ปัญญามันเกิดขึ้นเอง ครั้นมันสงบลงถึงฐาน ถึงที่มันเป็นอัปปนาแล้ว มันเกิดขึ้นเองนะ พอนึกเท่านั้น มันเกิดขึ้นเองนะ พอนึกเท่านั้น มันปรุงฟุ้งขึ้น มันปรุงแล้วมันไม่ยึดแสงสว่าง สว่างหมดทั้งโลกก็ตาม มันไม่ไปยึด มันสาวเข้าหาคน ไหนคน คนอยู่ที่ไหน มันมาอวดตัวอวดตนไล่มันเข้าไป ถ้ามันรวมลงอย่างนั้น มันอาศัยสติควบคุมให้มันอยู่อย่างนั้น อย่าให้มันไปจิตรวมลงอย่างเดียว อย่าให้จิตรวมลงอย่างนี้ แจ่มใสทีเดียว

นี่ไง เราจะบอกว่ามันมีเหตุมีผล มันมีอริยสัจ มันมีความจริงไง พอจิตรวมลงแล้วเห็นไหม เป็นอัปปนาสมาธิ คำว่าเกิดขึ้นเองนี่มันเป็นคำพูดที่สรุป แต่มันจะมีขบวนการของมันเห็นไหม เวลาเขาบอกว่า เพราะมันมีเหตุมีผล ถ้าความจริงแล้วคือความจริง เข้าใจได้หมดล่ะ แต่ถ้าไม่เป็นความจริง อย่างที่เราปฏิเสธอัปปนาสมาธิของเขา เห็นไหม เขาบอกว่า พิจารณาดูจนรอบรู้ พอจิตรวมลงสู่อัปปนาสมาธิ ปัญญาจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แล้วเราถึงอธิบายคำว่าอัตโนมัติคือไม่มี

แล้วเขาบอกว่า ถ้าอัตโนมัติไม่มี ทำไมหลวงตาบอกว่าจิตท่านเป็นอัตโนมัติ นี่คำว่าหลวงตาที่ว่าจิตเป็นอัตโนมัติ คือเราทำชำนาญจนเป็นอัตโนมัติ คือความชำนาญของเรานี่ทำจน จนหลับตาทำก็ทำได้ เห็นไหม มันเป็นอัตโนมัติ คือว่าอัตโนมัติด้วยความชำนาญ แต่ถ้าคนไม่มี คนจะฟอกเงิน อัตโนมัติคือมันเกิดขึ้นเอง ที่เราอธิบายนี่อธิบายตรงนี้ไง มันเหมือนกับธรรมะนี้มันละเอียดมาก จนเราไม่สามารถจะรู้ได้ พอไม่สามารถจะรู้ได้ พอคนมาอธิบายเรื่องธรรม เพราะสิ่งนี้เราไม่รู้อยู่แล้วไง พอคนอธิบายเราก็เชื่อเลย แต่ถ้าคนมันมีหลักมีเกณฑ์นี่ อธิบายมารู้ผิดรู้ถูกเลย อธิบายอย่างนี้แสดงว่าอย่างนี้ผิด ถ้าอธิบายอย่างนี้แสดงว่าถูก

เราถึงบอกว่าหลวงตาบอกอัตโนมัติถูก ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะท่านชำนาญเป็นอัตโนมัติ มันมีที่มาอย่างนี้ มีที่มาก่อนที่มันจะเป็นอัตโนมัตินี่ อู้ฮู ฝืนเต็มที่นะ กิเลสมันฝืน โอ้โฮ ทุกอย่างมันก็ฉุดกระชากใจ เราต้องต่อสู้เต็มที่จนมันมีหลักของมัน แล้วมันก็ต่อสู้กับกิเลส จนมันชำนาญ หลวงตาพูดอย่างนี้นะ ถ้าเราชำนาญแล้ว กิเลสมันหลบหมดเลย เหมือนเราถืออาวุธแล้วหากิเลส กิเลสอยู่ไหน กิเลสอยู่ไหน กิเลสมันวิ่งหนีหมดเลยนะ ถ้าจิตเราดี แต่ถ้าจิตเราไม่ดีนะ กิเลสมันกระโดดถีบ เราก็ยังไม่เห็นมันเลย

นี่ไงคำว่าอัตโนมัติ มันมีเหตุมีผลอย่างนี้ไง ถ้าเราชำนาญขึ้นมาแล้ว กิเลสมันหลบหน้าหมด พอกิเลสมันหลบหน้าหมด อย่างพวกเราภาวนาเวลาจิตดีๆ เห็นไหม โอ้โฮ เป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นล่ะ แหม วันนี้สุดยอดเลย เนี้ยบ แหม ดีมากเลย พรุ่งนี้เสื่อมหมดเลย วันต่อไปไม่เหลือเลย แต่ถ้าพูดถึงความอัตโนมัติชำนาญนี่มันจะสู้ไปเรื่อยๆ มันจะต่อสู้ไปเรื่อย มันจะหาไปเรื่อยๆ เป็นอัตโนมัติ แล้วคำพูดของหลวงตาว่าเป็นอัตโนมัตินี่คือปัญญามันรอบรู้ ปัญญามันใคร่ครวญมันไป แต่ถ้าคนไม่เป็นเห็นไหม ลงอัปปนาสมาธิ ปัญญามันจะเกิดเอง เกิดโดยอัตโนมัติ อัตโนมัติ แว้บ แว้บ แว้บ แล้วมันจะจบกิเลสไปเลย มันต่างกันตรงนี้ไง

นี่ไง ที่บอกว่ามันเกิดขึ้นเอง คำว่าเกิดขึ้นเองนี่มันเป็นการอธิบายโดยสรุป ไอ้อย่างนี้นี่พระกรรมฐานเรานี่ ปัญญาของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน บางคนอธิบายได้แตกฉาน แยกแยะได้เห็นชัดเจน บางองค์ท่านอธิบายให้เราด้วยความรวบรัด นี่ไงมันถึงเป็นอำนาจวาสนาของคน มันแต่ละคนไม่เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์ ถ้าเป็นความจริงเราเคารพบูชากัน ผลตอบสนองนี้เหมือนกัน แต่เวลาอธิบาย เราถึงหาเห็นไหม หาองค์ไหนที่ท่านอธิบายให้เราเข้าใจได้

ฉะนั้นไม่ต้องห่วง เขาห่วงมาก ห่วงว่าขนาดเขียนมาในเว็บไซต์นี่ กลัวเขาไปเจอแล้วจะว่าอ้าง อ้างเอามากลบ เอามาต่อต้านเรา ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องห่วง ความจริงคือความจริง ความจริงยืนอยู่ที่ไหนมันก็คือความจริง ฉะนั้นไอ้เรื่องอัปปนาสมาธิ พอสุดท้ายเข้านี่เรียกว่าอัปปนาสมาธิที่ถูกต้อง แล้วแม่นมันนั่นแหละ คำว่าแม่นมันคือตัวจิตนั่นแหละ เพราะเป็นอัปปนาสมาธิ แล้วถ้าออกใช้ปัญญานี่มันจะจับจิตได้ พอจับจิตได้มันจะเกิดการใช้ปัญญา เกิดการแยกแยะ เหมือนที่ว่าเงินเรานี่มันถูกต้องตามกฎหมาย มันมีที่มาที่ไปนี่มันจะสรุป จะตรวจสอบที่ไหน จะให้ใครมาตรวจสอบ มันสะอาดบริสุทธิ์ตลอด แต่ถ้าเงินของเราเงินสกปรก จะไม่กล้าให้ใครตรวจสอบนะ จะเก็บซ่อนไว้ ไม่กล้าตรวจสอบทั้งสิ้น

ฉะนั้นถ้าเป็นความจริง จะตรวจสอบที่ไหนนี่ตรวจสอบถูกหมดล่ะ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันมีที่มาที่ไป มันมีที่ลงอัปปนาสมาธิ แล้วไม่ติด ท่านบอกเลยไม่ติดในแสง ไม่ติดในอะไร ปรุงออกมาหาตัวตน เห็นไหม หาตัวตน แม่นมัน แม่น จิตอยู่ที่ไหน กายอยู่ที่ไหน หาตัวตน แล้วแยกแยะมันไป ทีนี้เพียงแต่ว่ามันพูดสรุปได้

ถาม : ที่จริงไม่อยากโพสต์ถามในเว็บ เพราะกลัวจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ให้เขาเอาไปอ้างได้ แต่ทีมงานบอกว่าจะไม่โชว์ข้อความ ก็เลยตัดสินใจโพสต์ค่ะ เพราะอยู่ไกลมาก อยู่ถึงสงขลา ไม่สะดวกในการมากราบเรียนถามด้วยตัวเอง กลัวเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบตอนนี้

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดมาเรื่อยนะ แล้วก็พูดถึงการปฏิบัติของเขา

ถาม : ถ้าพูดถึงการปฏิบัติของเขา เขาพิจารณากายตามแนวทางการปฏิบัติของหลวงตา ใช้วิธีดูอสุภะ ในหนังสือกำหนดให้ดู ถูกไฟเผาให้เน่าเปื่อย ไปทำวิธีการตามหลวงตาสอนค่ะ ทำไมไม่รู้สึกกลัวภาพศพเลย เห็นเป็นเฉยๆ ธรรมดา

หลวงพ่อ : นี่ เวลาเขาพิจารณาของเขาไปแล้วนี่เขามีผลของเขา นี่พูดแล้วเป็น อันนี้นะพูดถึงว่าเขาเป็นคนที่มีวาสนานะ หมายถึงว่า เขาฟังทุกอย่าง เขาถามเยอะแยะไปหมดเลย ๓-๔ หน้าเขียนมา เวลาพูดถึงอันนั้นปั๊บ เขาพิสูจน์ของเขาด้วยตัวเขาเองแล้ว แล้วเขาก็ย้อนกลับมาถึงการปฏิบัติว่า นี่เขากำหนดพุทโธ พุทโธ แล้วเวลาพิจารณาอสุภะ พิจารณาซากศพต่างๆ แล้วทำไมมันเฉยๆ ธรรมดา

คำว่าเฉยๆ ธรรมดานี่มันมีขึ้นมีลง ใจของคนนี่เช่นบางทีเรากลัวผีนี่ บางทีเราก็กลัวมากนะ บางทีเราก็กลัวน้อย บางทีเราก็ไม่กลัวเลย ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ ใจของคนเห็นไหม ถ้าใจคนที่มีสตินี่ ไอ้เรื่องความกลัวมันจะน้อยลง แต่ถ้าขาดสติมันจะกลัวมาก แต่ในเรื่องสภาวะซากศพ สภาวะอสุภะ เวลามันเจอซากศพทำไมมันรู้สึกเฉยๆ รู้สึกเฉยๆ เพราะเรามีสติปัญญา เพราะจิตเราดีไง คำว่าดีอย่างนี้มันดีโดยอนิจจัง มันมีขึ้นมีลง ฉะนั้นมีขึ้นมีลงนี่ให้ภาวนาไปเรื่อยๆ

อารมณ์กรรมฐาน นี่พูดไปเรื่องการปฏิบัตินะ มันจะมีมาเรื่อย คำถามเขาเยอะมาก ทีนี้อ่านแล้วมันจะเสียเวลา ฉะนั้นเวลาเขาพูดนี่เขาพูดประสาเขามาเรื่อย ว่าอยากจะทำบุญ อยากจะอะไรก็ว่าไป ศรัทธาว่าอย่างนั้นเถอะ เพียงแต่มีข้อดีตรงนี้ ตรงที่ว่าอัปปนาสมาธิ เขากลัวคนอื่นจะมาอ้างว่ามันเหมือนกัน ทำไมหลวงปู่ขาวเป็น ทำไมเขาถึงไม่เป็น

เวลาเราอ้างนี่เราไปก๊อบปี้มา เราจะอธิบายอะไรไม่ได้ ๑.อธิบายไม่ได้ ๒.ด้วยความเข้าใจ เราจะอธิบายเข้าข้างตัวเอง มันไม่เป็นความจริง ถ้ามันไม่เป็นความจริง ทีนี้ไอ้กรณีอย่างนี้ที่ว่าหลวงตาท่านพูดเห็นไหม เวลาท่านเขียนประวัติหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า ถ้าไม่รู้นี่เขียนไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้นี่เราเขียนไม่ได้ แล้วถ้าไม่รู้เขียน มันก็อาจคลาดเคลื่อนได้ ถ้าไม่รู้เขียนไง เพราะคำพูดคำหนึ่ง คำพูดของผู้ที่พูดมันมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่คนที่เข้าไปเข้าใจ มันเข้าใจความหมายนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเข้าใจในความหมายได้เต็มที่เลย มันก็อธิบายได้ชัดเจนใช่ไหม แต่เราไปเข้าใจความหมายเพียง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็อธิบายได้แค่นั้น แล้วถ้าไม่มีความเข้าใจเลย มันก็จะต่างกันไป

อันนี้พูดถึงผู้รู้และผู้ไม่รู้ ฉะนั้นกรณีที่เขียนมาแล้วนี่ ถ้าผู้รู้กับผู้รู้อธิบาย นี่มันเห็นได้ ฉะนั้นถ้าเขาอธิบายมาขนาดไหน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ฉะนั้นคำว่าเกิดขึ้นเอง พอเกิดขึ้นเองนี่ แต่ผลที่เกิดขึ้นเองมีการรองรับ มีสิ่งที่ นี่พออัปปนาพอมันเกิดขึ้นเองนะ เพราะฉะนั้นมันก็ปรุงฟุ้งขึ้น มันปรุงเข้าไป มันไม่ยึดแสงสว่างนั้น ความสว่างทั้งหมดที่โลกนี้ก็ตาม มันไม่ยึด มันสาวเข้าหาคน คนไหน คนอยู่ที่ไหน มันสาวเข้าหาคน มันสาวเข้าหาอริยสัจ

แต่เวลาท่านทำของท่านจนชำนาญ ท่านถึงบอกว่ามันเกิดขึ้นเองไง เกิดขึ้นเองทำไมมันสาวล่ะ ทำไมใช้สติไปล่ะ มันอธิบายได้ มันไม่มีการเกิดขึ้นเองทั้งสิ้น ฉะนั้นเวลาข้อต่อไปนี่เขาพูดถึง ถามอีกเรื่องหนึ่งอีก

ถาม : อีกเรื่องหนึ่ง อยากทราบเรื่องหลวงปู่องค์หนึ่ง

หลวงพ่อ : เขาส่งหนังสือมาให้ดูเลย เราได้ข่าวมาที่ว่าเป็นอนาคาหรืออะไรที่ว่านั่น

ถาม : ท่านเห็นนิมิตเป็นพระพุทธเจ้า เห็นสาวกเดินบิณฑบาต แล้วมีบาตรของท่านต่อแถว มาเป็นบาตรของท่าน

หลวงพ่อ : อันนี้เดี๋ยวไปพูดหลังไมค์ดีกว่า ทีแรกเราก็ดูๆ อยู่ มีหลวงปู่องค์หนึ่ง เราถึงบอกว่า เราไม่ใช่เจ้าคณะอำเภอเจ้าคณะจังหวัดที่จะมาจับผิดคนด้วย ตรวจสอบมันตรวจสอบไม่ได้ แต่เวลาเราพูดกันนี่ด้วยความหวังดีกับศาสนา มีอะไรแปลกใจ มีอะไรไม่เข้าใจก็จะถามเนาะ ทีนี้การตอบปัญหานี่มันก็มีสะเทือนกันพอสมควร

ฉะนั้นเวลาไปถามหลวงตานี่ หลวงตาจะบอกว่า มันเรื่องของเขา เรื่องของเรานี่เราทำความดีของเราพอสมควรหรือยัง ถ้าเรื่องของเขา ผิดก็เขาผิด ถ้าเขาทำชั่วก็เขาชั่ว แต่ถ้าเป็นเรื่องของเรา เราต้องถามตัวเราว่าเราทำถูกต้องหรือยัง เราทำคุณงามความดีแล้วหรือยัง ถ้าอย่างนี้แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเราไง ฉะนั้นกรณีอย่างนั้นเดี๋ยวค่อยว่าหลังไมค์ เอาอันต่อไป

ถาม : ๘๔. ก็เรื่องนี้เหมือนกัน ส่งประวัติมาให้ดูด้วย หลวงพ่อลองดูอ่านด้วยนะคะ

หลวงพ่อ : ๘๔. ตอบแล้ว

ถาม : ทีนี้ ๘๕. ตามเพ่งจุดตึงๆ ต่างๆ เช่นหว่างคิ้ว เป็นการทำสมถะหรือไม่ครับ ผมเคยได้อ่าน คือนั่งสมาธิดูลมหายใจ ผมได้ฟังตอบปัญหาที่ถามหลวงพ่อ เรื่องนั่งสมาธิแล้วมีอาหารตึงตามจุดต่างๆ หว่างคิ้ว หน้าผาก ผมก็เคยเป็นอย่างนั้น คือนั่งสมาธิดูลมหายใจแล้วลมชัดขึ้น แล้วมีความรู้สึกตึงๆ ตรงสันจมูก แล้วค่อยๆ ขยับไปที่หว่างคิ้ว ผมก็เอาความรู้สึกนั้นไปไว้ตรงที่ตึงๆ นั้น แล้วก็บังคับให้มันขยับไปตามใจ มันขยับไปตามสันจมูก เลื่อนขึ้นไประหว่างคิ้ว แล้วก็เลื่อนไปตามหน้าผาก เลื่อนลงเลื่อนไปมา ความตึงนั้นบังคับได้

ทีแรกรู้สึกว่าบริเวณกว้างนั้น เล็กลง ยิ่งเล็กลงความรู้สึกนั้นตึงชัด รู้จุดๆ หลังจากทำแล้วรู้สึกว่าจุดหว่างคิ้วเสมอ นี่เขาว่าไปนะ ตอนทำแบบนั้นผมไม่ได้ภาวนา ไม่ได้สูดลมหายใจ แต่ตั้งใจเอาความรู้สึกรวมไว้ที่จุดระหว่างคิ้วนั้น แล้วเพ่งไปเรื่อยๆ อยากถามหลวงพ่อว่าอย่างนี้เป็นสมถะหรือไม่ครับ เพราะผมเข้าใจว่าสมถะคือการเพ่ง แล้วที่ผมทำอยู่นี้คือการเพ่งเหมือนกัน

หลวงพ่อ : ทีนี้ คำว่าสมถะกับวิปัสสนานี่ เรามาคิดกันเอง เราจะบอกว่าเรามาคิดกันเองเลย ฉะนั้นถ้าเราทำสมถะมันก็ต้องใช้ปัญญาเหมือนกันใช่ไหม เราทำสมถะนี่ต้องใช้ปัญญานะ ถ้าเราไม่ใช้ปัญญานี่กิเลสมันลากไปหมดล่ะ อย่างเช่นเรากำหนดพุทโธหรือกำหนดอะไรก็แล้วแต่ มันจะแว้บไปแว้บมานี่ เราจะบอกว่า บางคนนะบอกว่าถ้าตั้งทำสติแล้วต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ แล้วมันจะไม่มีอาการอย่างนั้นเลย ไอ้นั่นโดยทางวิชาการ โดยทางทฤษฎี

แต่ในการปฏิบัติเหมือนเด็กเลย พี่เลี้ยงดูเด็กเห็นไหม เด็กมันจะเล่นของมันตามประสาเด็ก พี่เลี้ยงกับเด็กคนละคนใช่ไหม เรากำหนดพุทโธ เราใช้สมาธินี่ นั่นคือพี่เลี้ยง ไอ้ตัวจิตคือตัวเด็ก เราต้องการให้เด็กนี้สงบ ฉะนั้นเพราะเด็กนี่มันก็ต้องมีอาการแสดงออกของเด็ก มันต้องต่อต้าน มันต้องหาทางออกของมันเป็นธรรมดา จิตของเราก็เหมือนกัน

ฉะนั้นกำหนดคำพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่คือพี่เลี้ยง นี่คือคำบริกรรมไง ฉะนั้นมันก็ต้องมีแว้บบ้างอะไรบ้างเป็นธรรมดา ทีนี้พอแว้บปั๊บนี่เราจะมีการเสียใจ ฉะนั้นบอกว่า ถ้ามันจะแว้บมันจะอะไรนะ มันก็แล้วกันไป แล้วเราตั้งสติถ้ามันดีขึ้น ดีขึ้นนี่ มันสงบ มันจะดีขึ้นทั้งเด็กและทั้งพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงก็ไม่ต้องคุมมาก เพราะเด็กมันดีขึ้น เด็กมีเหตุผลขึ้น เด็กมันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง เด็กจะอยู่ในความสงบ ถ้าเด็กอยู่ในความสงบคือจิตมันสงบเห็นไหม พี่เลี้ยงก็ดีขึ้น พุทโธ พุทโธ พุทโธกับจิตนี่มันก็จะดีขึ้นไปพร้อมกัน

ฉะนั้นเราบอก ถ้าพี่เลี้ยงกับเด็กนี่มันเป็นศัตรูกันเลย บังคับกันเลย เด็กมันต่อต้าน มันก็จะดิ้นรน นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะภาวนากันเห็นไหม พอตั้งพุทโธแล้วนะ ต้องไม่มีแลบเลย มันเหมือนกับมีการต่อต้านกัน จิตมันยิ่งดิ้นใหญ่ แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธของเรา โดยสติของเรา โดยคำบริกรรมของเรา มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป เด็กมันไม่ยอมรับ เด็กมันจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเรื่องของเด็กเลย หน้าที่ของเรา เราดูแลรักษาของเราไป พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป เด็กมันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไป พอเราไม่ไปยุ่งกับมัน เดี๋ยวเด็กมันไม่ต่อต้านนะ เด็กมันสงบของมันเองนะ เราจะเห็นผล

นี่พูดถึงไงว่าเวลาเราบอกว่าอย่างนี้เป็นสมถะไหม สมถะมันก็ต้องมีปัญญา ในวิปัสสนาก็มีสมถะ ฉะนั้นเวลามันเกิดขึ้นมานี่ สิ่งที่ว่ามันตึง มันตึงจนหว่างคิ้วมันเป็นจุดขึ้นมา ไอ้อย่างนี้จิตมันไปเกาะไง เหมือนพุทโธนี่ เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตไปเกาะพุทโธ ทีนี้พอเราเอาความรู้สึก จิตคืออะไร จิตคือความรู้สึก แล้วไปรู้สึกที่หว่างคิ้วนั้น ไปรู้สึกที่ความรู้สึกนั้น แล้วก็เลื่อนความรู้สึกนั้นมาเห็นไหม มันเป็นไปได้ ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นไปได้ทุกๆ คน เวลาคนปฏิบัตินี่มันมีร้อยแปดพันเก้าไง

เหมือนรสอาหาร ทุกคนจะชอบรสแตกต่างกันไป ฉะนั้นสิ่งใดที่มันตรงใจกับเรา เราก็ชอบใจ อันนี้ก็เหมือนกัน จิตพอมันไปกำหนดที่ไหน แล้วให้มันเลื่อนขึ้นไป เลื่อนไปเลื่อนมา มันสนุกมันไง มันเป็นความสงบไหม เป็น แต่มันเป็นความสงบอย่างนี้ มันได้แค่นี้ ได้แค่นี้แล้วมันจะเสื่อมไป แต่ถ้ามันเป็นจุดเหมือนที่ตั้งที่หนึ่ง กรรมฐานนี้มันตั้งที่ปลายจมูก ตั้งที่ไหนก็แล้วแต่ เป็นความรู้สึก พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ ถ้ามันสงบเข้าไป มันจะลึกกว่านั้น เพราะมันสงบแล้ว เวลามันเกิดปัญญา มันจะเกิดโลกุตตรปัญญา

อันนี้มันเหมือนของเล่น มันจะเคลื่อนไปเคลื่อนมา เคลื่อนมาเคลื่อนไปนี่ มันก็เหมือนกับพี่เลี้ยงกับเด็กนี่ โอ๋กันไปก็โอ๋กันมา ไอ้พี่เลี้ยงจะเลี้ยงเด็ก เด็กก็พาพี่เลี้ยงไปเที่ยว ไอ้พี่เลี้ยงก็ต่อรองเด็กก็พาไปนู้นพาไปนี่ มันก็จะวนอยู่อย่างนี้ไง

ถาม : ผมเพ่งจนรู้สึก ๓ จุด ตรงกลางหว่างคิ้ว ปลายคิ้วและริมฝีปาก

หลวงพ่อ : อันนี้พูดถึงการเพ่งนะ มันเป็นไปไหม สิ่งที่จะบอกว่าเขาฟังเราพูดเรื่องเพ่ง เรื่องตึงนั้นคือเขาเป็นแล้วเขาแก้เขา พอเราแก้เขา เราต้องการให้ปล่อยอาการอย่างนี้ พอปล่อยอาการอย่างนี้ พอจิตมันไม่รับรู้อาการภายนอกมันจะรู้อาการภายใน อาการเพ่ง อาการตึงอาการต่างๆ นี่มันเป็นเรื่องของความรู้สึกจากร่างกายใช่ไหม จากผิวหนังใช่ไหม จิตมันส่งออกมาไง แต่ถ้าเราพุทโธไปเรื่อยๆ เราทิ้งสิ่งนี้ปั๊บจิตมันจะเป็นตัวของมันเองเห็นไหม ถ้าจิตเข้ามาเป็นตัวของมันเอง มันจะเป็นความสงบใช่ไหม เราพูดเพื่อให้เขาสงบมากไปกว่านั้น

แต่นี่พอพูดแล้วไปตรงกับความที่เขาเคยเป็น เขาโพสต์มาเลยนั่น ผมทำได้เหมือนกัน เขาว่านะ ทำได้มันก็เป็นประสบการณ์นะ เพราะการเพ่งความรู้สึกที่หว่างคิ้วจนเป็นก้อนแข็งๆ ลักษณะเหมือนสีแดงที่แขกเขาเอาแต้มที่หน้าผาก แต่ก้อนแข็งๆ ระหว่างคิ้วผมไม่ได้นูนขึ้นมาจนมองเห็น ใช้คิ้วกดดูความรู้สึกครับ

หลวงพ่อ : อันนี้เป็นประสบการณ์ทางจิต แล้วเสร็จแล้วมันก็จะผ่านไป เราทำเพื่อความสงบนะ เราไม่ได้ทำเพื่อเอาสิ่งนั้นมาเป็นคุณสมบัติไง

ถาม : ผมภาวนาพุทโธ พุทโธ (อันนี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งนะ) ปัญหาที่ ๑. เขาจะฝากทองไปฝากกับหลวงตา ให้เขาไปส่งเอง

ปัญหาที่ ๒. ผมภาวนาพุทโธ พุทโธตลอดทั้งวัน ในขณะที่ทำงานอยู่ พอตกเย็นผมจะนั่งทำอานาปานสติ ถามว่า ทั้งสองอย่างสามารถทำสลับกันได้ไหมครับ

หลวงพ่อ : ได้ กำหนดพุทโธ พุทโธ เรากำหนดพุทโธนี้เป็นพุทธานุสสติ กำหนดอานาปานสติ เห็นไหม เราขยับได้ เหมือนการนั่งภาวนาเห็นไหม นั่งสมาธิก็ได้ เดินจงกรมก็ได้ ยืนเฉยๆ ก็ได้ ยืนเฉยๆ แล้วกำหนดนี่ก็เหมือนกับท่ายืน เห็นไหม ยืน เดิน นั่ง นอนนี้ได้หมด พุทโธ พุทโธนี่คือพุทธานุสสติ อานาปานสติสลับทำต่างโอกาสได้ ไม่เสียหาย ไม่เสียหาย

ถาม : ปัญหาต่อไป เราจะให้จบวันนี้เลย ปัญญาต่อไป ผมเรียนถามปัญหาดังนี้ครับ ผมคนเดียว เอ้อ คือคนเดียวที่ส่งมาชื่อต้น ลำปางนั่นล่ะ อันนี้เขาส่งมาฉบับที่ ๒ ถามว่า การภาวนาที่หนักเบาเรื่องสมาธิ การพิจารณาตัด หรือรู้ทันนี้ มันเกี่ยวข้องกันอย่างไรครับ คือคงไม่มีใครนั่งสมาธิหรือพุทโธอยู่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะฆราวาสที่ยังต้องมีภาระทางโลกอันน่าเบื่อ ทุกวันนี้ผมใช้วิธีปกติ คือรอมีโอกาสจะบวช

หลวงพ่อ : ดูทีวีของเขาไปเรื่อยเนาะ นี่ทำเรื่องสมาธิเรื่องหนักเรื่องเบา กับการตัด มันต่างกันอย่างไร มันไม่ต่างกัน เพราะอย่างเช่นการพิจารณา การตัด เห็นไหม เรื่องของทำสมาธิคือทำความสงบของใจ แล้วเอาความสงบนี้พิจารณา คำว่าตัดหมายถึงว่า เวลาเราตัดกิเลส คำว่าตัดกิเลสมันจะเกิดขึ้นมาต่อเมื่อจิตเรามีกำลังเพียงพอ

มีคนภาวนาเยอะมาก เวลาภาวนาไปแล้วนี่ใช้ปัญญาไป เห็นไหม พอใช้ปัญญาไปแล้วมันมีความดูดดื่ม เพราะเราพิจารณาไปแล้วมันปล่อยวาง มันมีความสุขมีความดูดดื่มมาก พอมีความสุขมีความดูดดื่มมาก มันก็อยากได้ผลมาก พออยากได้ผลมากมันก็ใช้ปัญญามาก คิดว่าตรงนี้คือการทำงาน ทีนี้พอใช้ปัญญามาก เหมือนเราเลย เราใช้จ่ายเงินมาก แล้วเราไม่หาเงินเข้ามาในบัญชีเรา บัญชีเราจะหมดไปเรื่อยๆ พอบัญชีหมดไปเรื่อยๆ พอบัญชีเราหมดเราจะใช้อะไรไม่ได้เลย

ทีนี้ใช้ปัญญาไปมากเข้ามากเข้านี่ พูดถึงการใช้ปัญญานี้จะเป็นประโยชน์ คือการตัดไง พอถึงเวลาแล้วนี่มันตัดไม่ได้ มันตัดไม่ได้เพราะเราไม่สามารถตัดบัญชีได้ ตัดบัญชีว่าเราได้จ่ายหนี้ได้ เพราะเงินของเรามันไม่พอ มันจะยื้ออยู่อย่างนั้นล่ะ ฉะนั้นถ้าคนมีสติมีปัญญาทันนะ เขาจะวางไว้ตรงนั้นแล้วกลับมาพุทโธ กลับมาพุทโธ กลับมา อานาปานสติ เพื่อหาเงินเติมเข้าบัญชี พอหาเงินเติมเข้าบัญชี พอยอดเงินในบัญชีนี่มันมีมากพอจ่ายหนี้ได้นี่ มันจะตัด ตัดยอดหนี้นั้นทิ้งไปทิ้งไป

อันนี้ก็เหมือนกันการตัดนี่มันต้องอาศัยสมถะ เราจะบอกว่าการตัดคือพิจารณาตัดกับสมถะนี้มันแตกต่างกันอย่างไร สมถะคือเราหาเงินเข้าบัญชี หาเงินเข้ามาเป็นต้นทุนของเราเพื่อเอาไว้ใช้จ่าย เพราะเงินเราหามาเหนื่อยไหม เหนื่อยมาก แล้วเอาเข้าบัญชีนี้เราได้อะไร ก็ได้ตัวเลขบัญชีขึ้นมา แล้วเราได้อะไรล่ะ ได้ความพอใจว่าเรามีบัญชีใช่ไหม แต่เวลาเราตัด เราเอาเงินนี้ไปจ่ายหนี้ หรือไปซื้อปัจจัย เราจะมีความสุขตรงนั้น

ปัญญาที่เราตัด ปัญญาที่เราพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาทุกข์ พิจารณาชีวิต พิจารณาสิ่งต่างๆ ที่มันหมักหมมในใจนี้ เราพิจารณาด้วยปัญญา ปัญญาอันนี้ถ้ามันมีสมาธิ คือมีเงินในบัญชี บัญชีเราสามารถจ่ายๆๆ ได้ มันจะตัดปัญหานั้นได้ขาดๆๆ เพราะมันได้จ่ายหนี้ไปแล้ว แต่ถ้ามันไม่มีเงินในบัญชีแล้วเราพิจารณานะ เราเป็นหนี้ใครใช่ไหม แล้วเราก็ไปตกลงไงว่าจะจ่ายให้เมื่อนั้นๆ แต่เราไม่ได้จ่าย มันก็อยู่อย่างนั้นล่ะ ปัญญาถ้าไม่มีสมาธิ เราพิจารณาขนาดไหน ถ้าไม่มีเงินต้นทุนไปตัดนี่มันใช้ในนั้นไม่ได้

ฉะนั้นคำว่าสมถะมีความจำเป็น มีความจำเป็นว่าเราต้องหา เราต้องทำจิตเราให้มีสมาธิ แล้วพอเราไปพิจารณาใช้ตัดอย่างไร มันจะตัดขาด ตัดได้ มันปล่อยวางได้ตามความเป็นจริง แล้วจะมีความสุขมาก พอมีความสุขมากนี่คนมันเพลินไง เวลาภาวนาไปมันมีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เพราะสมถกรรมฐานนี้โดยหลักมันตัดกิเลสไม่ได้ ทุกคนเลยไม่เห็นคุณค่ามัน พอทุกคนไม่เห็นคุณค่ามัน บางสำนักจึงบอกว่าไม่จำเป็น ไม่ต้องทำ ทำแล้วเสียเวลาอีกต่างหาก นี่คือด้วยมุมมองของคนที่ภาวนาไม่เป็น หรือไม่เคยภาวนา

แต่ถ้าคนภาวนาเป็นนี้ ใครบ้างจะไม่หาเงินหาทองเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตน มันต้องหาเงินหาทองเป็นสมบัติส่วนตน เพื่อเอาไว้ใช้จ่าย โดยธรรมชาติเลย จิตนี่ถ้าไม่มีสมถะ ไม่มีกำลังของตัวเองขึ้นมาเลย มันจะทำอะไรไม่ได้เลย เหมือนคนที่ไม่สามารถดูแลตัวเอง ต้องอาศัยคนอื่นเลี้ยงดูมาตลอดไป จิตตัวเองถ้าไม่มีหลักมีเกณฑ์ของตัวเองเลย อาศัยอยู่ในศาสนานี้แล้วบอกว่า สบาย สบาย สบาย มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย มันอาศัยสังคมอยู่เฉยๆ โดยที่มันไม่สามารถอยู่ด้วยตัวมันเองได้

แต่ถ้าเราพุทโธ หรือ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จนมันสามารถยืนโดยตัวมันเองได้ เห็นไหม ไอ้สมถะ ไอ้กำหนดพุทโธ พุทโธหรือว่าอัปปนาสมาธินี่ เราทำของเรามา จนเราสามารถยืนด้วยตัวเราเองได้ เรามีเงินมีทองของเราได้ เราใช้จ่ายของเราได้ เนี่ยมันไปพิจารณาแล้วมันตัดได้ เป็นปัญญาตัดได้

ตรงนี้ เราพูดกับพวกปฏิบัติมาตรงนี้เยอะมาก เวลาคนทำสมถะไม่ได้ ก็บอกอยากจะทำสมถะ เวลาคนทำสมถะได้แล้ว ใช้ปัญญาไปแล้ว ก็บอกว่าใช้ปัญญาไปแล้วทำไมมันไม่ก้าวหน้า มันก้าวหน้าทีแรก ก้าวหน้าตอนทำใหม่ๆ นี่ โอ้โฮ มันดีมากเลย แล้วพอฟังต่อไป เป็นอย่างไรต่อไปล่ะ มันก็อย่างนี้ คือมันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้เพราะอะไร ไปไม่ได้เพราะมันเพลินตรงนี้ เห็นว่าสมถะนี่ทำไว้ตั้งนานแล้วไม่ได้ประโยชน์ พอใช้ปัญญาแล้ว โอ้โฮ มันไปใหญ่เลย พอไปๆๆ มันหมดทุนไง พอมันหมดทุนก็ หลวงพ่อ มันไปได้ หลวงพ่อมันไปไม่ได้ โอ๋ย กลับมาสมถะใหม่สิ แต่กว่าจะกลับมาได้นะ

มันก็เหมือนหลวงตาน่ะ หลวงตาตอนที่หลวงปู่มั่นท่านเอาออกมาจากติดสมาธิ เห็นไหม ติตัวเองนะ มานอนตายอยู่บนสมาธินี่ มันฆ่ากิเลสไม่ได้ก็ออกใช้ปัญญา พอใช้ไปใช้ไปมันเพลิน พอมันเพลินก็กำลังมันหมดไง ท่านก็ไปหาหลวงปู่มั่นนะ

“เนี่ยบอกว่าติดสมาธินี่ให้ออกใช้ปัญญา ก็ใช้แล้วนะนี่ ใช้ไปใช้ไปจนมันใช้จนมันไม่มีกำลังน่ะ”

“นั่นล่ะมันบ้าสังขาร”

“อ้าว มันบ้าสังขารอย่างไรล่ะ ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็ฆ่ากิเลสไม่ได้ ก็นี่ก็ใช้ปัญญาแล้วนี่”

“นั่นล่ะมันบ้าสังขาร”

ท่านตอบให้ใช้ความคิด เพราะบ้าสังขารคือว่าเราใช้ปัญญามากเกินไป บ้าสังขาร คือบ้าปัญญานั่นล่ะ คือปัญญานี่ใช้จนบ้าแล้ว จนเราบ้าปัญญา เราอยากจะได้มรรคได้ผลไง

สุดท้ายแล้วท่านได้สติ ท่านกลับมาพุทโธ พุทโธใหม่ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พอมีกำลังมันก็ก้าวเดินไปพร้อมกัน ไอ้ตรงนี้มันเป็นปัญหามาก มันเป็นปัญหาเพราะว่ามันเป็นประสบการณ์ของจิต เหมือนคนทำงาน คนทำงานนี่เราจะทำสิ่งใดก่อน แล้วจะทำสิ่งใดให้มันสมดุลกัน ตรงนี้ต้องค่อยๆ หาเหตุผลของตัวเอง คนทำอย่างนี้ พอทำอย่างนี้แล้วมันเป็นไปได้ อืมใช้ได้ พอมันทำไปแล้วมันเริ่มติดขัดแล้ว ติดขัดปั๊บเราต้องกลับมาหาเหตุผลเลยว่า มันเป็นเพราะอะไร ทำไมก่อนหน้านั้น ทำมาแล้วทำไมมันราบรื่นดีงามหมดเลย ทำไมมันถึงตรงนี้มันไปไม่ได้

ทำไมมันไปไม่ได้ ต้องหาเหตุผลไง ถ้าหาเหตุผลปั๊บ เดี๋ยวมันจะหาเพราะอะไร มันจะหาเหตุผลของมัน อ๋อ ขาดอะไร มันก็จะเติมสิ่งนั้น พอเติมสิ่งนั้น พอมันสมดุลเห็นไหม พอมันสมดุลนี่ พอมรรคมันสมดุล เขาเรียกมรรคสามัคคี มรรค ๘ มันจะรวมกัน แล้วมันจะทำลายกิเลสขาด ขาด ไอ้ที่ว่าตัดๆ มานี่ ตัดคือตทังคปหาน คือการฝึกปัญญามา แต่พอเราหาความสมดุล เราใช้ความสมดุลหาเหตุหาผลมัน จนถึงที่สุดนะ มันหามาเติมกันพอดีนี่ สติก็พอดี สมาธิก็พอดี ปัญญา งานชอบ เพียรชอบ เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพคือการดำรงชีวิตของมันไง ดำรงชีวิตของมรรค การดำรงอยู่ของมรรคนี่มันทำของมัน ถ้ามันสมดุลปั๊บนี่ พอมันสามัคคีกัน มันรวมกัน มันรวมกันเป็นเหมือนกับหญ้าที่มัดเป็นเกลียวเชือก ที่มันมีความเข้มแข็ง มันรวมลงแล้วมันชำระกิเลสได้

ฉะนั้นสิ่งที่ว่า การพิจารณาทำสมาธิและการพิจารณาตัดนี่ ควรทำอย่างใด ไอ้อย่างนี้มันเป็นปัญหาหญ้าปากคอก สำหรับคนที่เป็น นี่มันก็เหมือนกับคนมาถามน่ะ หลวงพ่อ จะกินข้าวด้วยช้อน อีกคนบอก หลวงพ่อ จะกินข้าวด้วยตะเกียบ ไอ้พวกฝรั่งบอก หลวงพ่อ จะกินข้าวด้วยมีด แล้วบอกอะไรมันสำคัญกว่าอะไรล่ะ มันอยู่ที่อาหารไง ถ้าเรากินอาหารเส้น เราก็กินด้วยตะเกียบ ถ้าเรากินข้าว ก็ด้วยช้อน ถ้าเราจะกินสเต็กเราต้องกินด้วยมีด ทีนี้มันอยู่ที่ว่า อาหารอะไรสมควรกับอะไร

การภาวนาก็เหมือนกัน ความสมดุลของเรา มันต้องหาเอาเอง ถ้าเราบอกปั๊บนี่เห็นไหม หลวงตาหรือครูบาอาจารย์ถ้าท่านภาวนาเป็นท่านจะบอกว่า บางอย่างจะบอกหมดไม่ได้ ถ้าบอกหมดแล้ว เช่นเราบอกเลยนะ ทุกคนต้องกินข้าวด้วยตะเกียบนะ เพราะเรากินด้วยอาหารเส้น พอมันไปเจอเม็ดข้าวนี่มันก็จะไปนั่งเขี่ยอยู่นั่นล่ะ ตะเกียบมันกินไม่ได้ไง คือคนมันถือเถรตรงไง

ถ้าคนที่มีความเคารพบูชากัน มันจะเชื่อมั่น แล้วบอกสิ่งใดปั๊บมันก็จะเอาสิ่งนั้นมาเป็นแนวทางชีวิต แล้วพอเขาไปเจออะไรที่มันใช้ไม่ได้ เขาพลิกแพลงไม่เป็น ฉะนั้นคำว่า มันต้องพลิกแพลงไงว่า เราจะขึ้นภูเขา เราจะลงทะเล เราจะใช้สิ่งใดดำรงชีวิต เราภาวนาไปแล้วนี่เราเจอประสบการณ์สิ่งใด เราจะพลิกแพลงของเราไงว่า เวลาปัจจุบัน อย่างเหตุการณ์ปัจจุบันนี้เราจะใช้ปัญญาอย่างใด เราจะใช้ความสงบแค่ไหน เราจะเอาสติปัญญาอย่างไรต่อสู้กับเหตุการณ์เฉพาะหน้า

ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านถึงบอกว่า พูดชัดเจนไปไม่ได้ เพราะพูดชัดเจนไปนี่ ด้วยความเคารพศรัทธาของเรา หนึ่ง. ด้วยความไปเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า หนึ่ง. ตัดสินใจอะไรไม่ถูกเลย เอาชีวิตนี้แขวนไว้กับอาจารย์ โทษนะ หลวงปู่มั่นนี้ท่านก็นิพพานไปแล้ว จะแขวนกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็ตายไปแล้ว จะไปถามก็ถามไม่ได้ ไอ้ที่ยึดไว้ก็ในหัวใจนี่ แล้วไปเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า มันต้องแก้ไขก็แก้ไขไม่ถูก แล้วก็จะเอาคำพูดของหลวงปู่มั่นมาแก้ มันแก้ไม่ได้ มันต้องเอาประสบการณ์ของเราแก้ ประสบการณ์ในหัวใจที่มันเห็นอย่างนั้นน่ะ มันจะแก้อย่างไร จะต่อสู้อย่างไร

ของครูบาอาจารย์เราก็เคารพบูชา หลวงปู่มั่นท่านสอนไว้นี้เคารพมาก แต่เหตุการณ์ปัจจุบันนี้มันเป็นของเรา แล้วเหตุการณ์ปัจจุบันนี้ สภาวะแวดล้อม ความเป็นไปในปัจจุบันนี้มันแตกต่างกันแล้ว

แล้วเราจะสู้อย่างไร ฉะนั้นไอ้ที่ให้ฟันธงนี่ หลวงพ่อนี่ถามอะไรไม่ตอบทุกที พูดไปนี่เหมือนกับเจ้าเล่ห์ หลบไปหลบมา ไม่กล้าตอบปัญหา เขาจะว่าเราไม่กล้าตอบปัญหานะ แต่ความจริงแล้ว อาจารย์จะสงสารลูกศิษย์มาก ถ้าตอบปัญหาด้วยความยึดมั่น ไอ้คนที่มันยึดมั่นสิ่งนั้นไป กลับเป็นโทษกับคนที่ยึดไง ฉะนั้นเวลาตอบ จะตอบโดยภาพรวม ตอบด้วยวิธีการ แล้วเวลาเกิดสิ่งใดขึ้น เราจะต้องค้นเอง เราจะต้องหาเอง เราจะต้องให้เป็นประสบการณ์ปัจจุบันนั้นเอง เพื่อฆ่ากิเลสของตัวเองนะ

นี่ข้อที่ ๑. ข้อที่ ๒. นี่ถามปัญญาเรื่องกามราคะ ในความดำรงชีวิตนี่มันจะเกิดสภาวะแบบนั้น เขาถามมาด้วยความเถรตรงไงว่า กามราคะ ความกำหนัด เราจะแก้อย่างไร แล้วก็ว่าตามนั้นไป แต่ถ้าให้เราตอบนะ ความกำหนัดความต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น เพราะ เพราะเราคิดว่าเราจะแก้ด้วยอสุภะ คิดว่าจะแก้ด้วยปัญญา แต่ในเมื่ออย่างเรานี่มันไม่มีปัญญาที่จะเกิดอสุภะเกิดต่างๆ เราต้องแก้ด้วยความเมตตา

เราต้องแก้ด้วยความเมตตาว่า สัตว์โลกเกิดมานี่เป็นญาติด้วยกัน เป็นสิ่งที่ผูกพันกันมา เราจะไม่ไปคิดอย่างนั้นไง เราต้องแก้ด้วยปัญญา เอาปัญญาเราแก้ไปก่อนว่า สิ่งนี้เป็นญาติพี่น้องเรา เป็นคนใกล้ชิดเรา เราไม่ควรไปคิดสิ่งที่เป็นเรื่องของกิเลส นี่มันแก้อย่างนี้เข้ามา พอแก้ปั๊บ พอแก้เข้ามาเรื่อยๆ มันก็เป็นเอกเทศ เป็นตัวตนขึ้นมา คือว่ามีเอกภาพขึ้นมา จิตมันมั่นคงขึ้นมา พอจิตมันมั่นคงขึ้นมา เรามาใช้พุทโธ หรือใช้อัปปนาสมาธิ จิตมันมีสมาธิขึ้นมา พอมันใช้ปัญญาอีกทีหนึ่ง มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาฆ่ากิเลส อันนั้นมันถึงจะฆ่ากิเลสได้ อันนั้นมันถึงจะยับยั้งได้จริง

แต่ในปัจจุบันนี้เรายับยั้งไม่ได้จริง พอยับยั้งไม่ได้จริงนี่เราต้องใช้ เขาเรียกว่าเหมือนกับเรา ความโกรธ ความโกรธเห็นไหม ความกำหนัดยินดีต่างๆ นี่มันมีกับมนุษย์ ทีนี้มีกับมนุษย์แล้วเราจะไปแก้เอาตรงนั้นว่า พอมีความกำหนัดแล้วจะไปแก้มันน่ะ ไม่ทันหรอก เราต้องแก้ในปัจจุบันนี้ไง สมมุติอย่างเช่นเรามีความโกรธใช่ไหม เราก็แผ่เมตตาไว้ สัตว์ร่วมโลก เห็นไหม เราทำใจเราไว้ก่อน เราทำใจเราไว้ก่อน อุทิศให้สัตว์ร่วมโลก เกิดมาด้วยกันนี่ พอมีอะไรกระทบนะก็สัตว์ด้วยกัน คือเมตตาเขา เมตตาเราไง เขาก็เหมือนเรา เราก็เหมือนเขา เขาก็ไม่ต้องการคนโกรธเขา เราก็ไม่อยากให้คนมาโกรธเรา ฉะนั้นเขาทำความผิดพลาดกับเรา เขาอาจจะไม่ตั้งใจก็ได้ เขาทำด้วยความผิดพลาดก็ได้ ความโกรธของเราก็น้อยลง เห็นไหม เราต้องมีความ นี่แก้โดยดิบๆ ไง

แต่ถ้าจิตเราดีขึ้นแล้ว เรามีสติปัญญาขึ้นแล้ว ถูกต้อง กามราคะมันต้องแก้ด้วย อสุภะ แต่มันจะเป็นอสุภะต่อเมื่อมันจะต้องมีสติ มีสมาธิ มันถึงเกิดอสุภะ เกิดปัญญาที่จะทำให้กิเลสมันอ่อนน้อมลง กามราคะมันเบาบางไป แต่ในปัจจุบันนี้มันยังไม่ได้นี่ หน้ามืดนะ ตัวเองก็พยายามจะสู้อยู่นี่ แต่มันสู้ไม่ไหว พอสู้ไม่ไหวนี่เราแผ่เมตตาไว้เลย เราคิดเชิงบวกไว้ก่อน พอคิดเชิงบวกไว้คือว่าไม่ให้กิเลสนี้มันได้อาศัยเอาหัวใจเรา ไปหาผลประโยชน์ของมัน เราคิดเชิงบวกไว้เลยว่าสิ่งนี้เป็นสัตว์ร่วมโลก เป็นญาติเรา เป็นสิ่งต่างๆ เรา

ถ้าเรื่องของโทสะ เราก็เป็นมนุษย์ร่วมโลกใช่ไหม ใครๆ ก็ไม่ต้องการสิ่งใด นี่คิดอย่างนี้ คิดกล่อมใจเราไว้ก่อน รักษาใจเราไว้ก่อน พอเรารักษาใจไว้ก่อน ใจเราตั้งมั่น ใจเรามันไม่ขุ่นมัว ใจเราทำความสงบได้ง่ายขึ้น แล้วพอจิตใจสงบมากขึ้น ปัญญามากขึ้น เดี๋ยวเราจะชำระกิเลสเราได้มากขึ้น มันจะเป็นประโยชน์กับเราไปในอนาคตไง

เขาว่ากราบนมัสการ เทิดทูนหลวงพ่อ เทิดทูนเพราะตอนนี้ยังไม่มีข่าวเข้ามากระตุ้นไง พอเดี๋ยวมีข่าวบอกว่า เฮ้ย หลวงพ่อพูดผิดนะ หลวงพ่อมึงโกหกนะ โอ้โฮ ไอ้เทิดทูนนั่นหายเกลี้ยงเลย เทิดทูนหรือไม่เทิดทูนมันเป็นน้ำใจของคน ฉะนั้นเราเองต้องยืนในหลักใจของเราได้ เราจะรู้ใจเราเองว่าเราดีหรือไม่ดี เราผิดพลาดหรือไม่ผิดพลาด มันเป็นความเห็นของเรานะ อันนี้เป็นการตอบปัญหาเนาะ จบเนาะ มีอะไรมีไหม เอวัง