เทศน์บนศาลา

เทศน์อบรมในพรรษา

๑๑ ต.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

“ชีวิต” ชีวิตมนุษย์เกิดมาปรารถนาความสุขนะ ชีวิตมนุษย์เกิดมาอยู่นานๆ เข้า มันลืมนะ คนเรามันมองไปอนาคตหมด มองไปแต่อนาคตแล้วก็มองไปอดีต ไม่เคยอยู่กับปัจจุบันนะ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องของไตรลักษณ์คือความพลัดพราก ตัวเองจะตายอยู่แล้วยังสั่งคนข้างหลังไว้ สิ่งนั้นให้เก็บไว้ สิ่งนี้ให้เก็บไว้ สั่งคนข้างหลัง

ชีวิตนี้มันสั้นน่ะ เมืองเปรียบแบบคนเก่าคนแก่ เห็นย้ายออกจากโพธารามไปอยู่ที่อื่นหลายสิบปีแล้วกลับมา จำไม่ได้ คนเดิมก็จำไม่ได้ ชีวิตเราก็เหมือนกัน ตายจากโลกมนุษย์นี้ไป แล้วกลับมาเกิดซ้ำในที่เก่า สิ่งที่เป็นปัจจุบันนี่จำไม่ได้ แต่สายของกรรมมันมี สายของกรรม มันใช้กรรมเก่ากรรมใหม่นั่นล่ะ วัฏวนไง

เราว่าเราตาย คนที่ตายไป แม่จะตายฝากลูกไว้ว่า ห้ามให้คนอื่นเลี้ยงนะ ต้องให้อยู่ด้วยกันเอง คนจะตายไปมันยังห่วงยังใยอีก แล้วก็ตายไป แล้วก็กลับมาเกิดอยู่นั่นแหละ ซับซ้อนอยู่ตรงเก่านั่นแหละ แต่ไอ้สมมุติโลกนี้ คนตายไปแล้วถือว่าขาดกันไป มาเกิดใหม่ก็เป็นคนคนใหม่แล้ว เกิดเป็นคนละตระกูลไป แต่สายของกรรมที่มันเกี่ยวเนื่องกัน “การกระทำ” นั่นวัฏวน

ชีวิตนี้เลยกลายเป็นของแคบๆ สั้นๆ นั้นน่ะ ไม่ยาวไกลหรอก แต่เราไปยาวไกล เราไปมองกัน อู้หู! ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๘๐ ปีกว่าเราจะตาย มันเลยทำให้เราประมาทไง

โลกนี้มันมีความพลัดพรากเป็นที่สุด ชีวิตก็เหมือนกัน ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด แน่นอน! สัจจะอันนี้เป็นความจริง เราก็เชื่อกันว่าสัจจะอันนี้เป็นความจริง เราเข้าใจสัจจะไหมล่ะ

เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม พระพุทธเจ้าสอนมาอย่างนั้น ศาสนธรรมสอนมาอย่างนั้น แล้วคนโบราณชาวพุทธขึ้นมาก็ถือคติกันมาอย่างนั้น ก็กลายเป็นลัทธิ ลัทธิความเชื่อ แต่มันยังไม่เป็นสัจจะความจริงขึ้นมาจากใจ แล้วหัดภาวนาทำใจทุกวันๆ จนเกิดอริยสัจจะ “อริยสัจ” เห็นไหม ไม่ใช่สัจจะธรรมดานะ สัจจะที่จริงแท้แน่นอน หัวใจนี่เป็นผู้รู้ แต่ตอนนี้แค่เห็นตามความเป็นจริง แค่สัจจะภายนอก สมมุติภายนอกเราก็รับไม่ได้แล้ว สมมุตินะ คิดดูสิสมมุติคือความเป็นอยู่ โลกปัจจุบันนี้สมมุติ เกิดเป็นคน สมมุติชัดๆ เลย

นาย ก. เวลาไปเปลี่ยนชื่อเป็นนาย ข. ก็ต้องเรียกเป็นนาย ข. ไป เห็นไหม “สมมุติ” คนก็เหมือนกัน เกิดมาเป็นคนนี่ก็สมมุติว่าคน สัตว์มันไม่รู้หรอกคนหรือไม่คน มันว่ายักษ์ สัตว์มันเห็นคนมันว่ายักษ์นะ เพราะคนกินทุกอย่างที่ขวางหน้า อาหารถือว่า เป็นอาหารทั้งหมดไง มันกินเขาหมดเลย ฉะนั้นมันไม่ว่าคน มันว่ายักษ์ ถ้าสัตว์ต่อสัตว์มันรังแกกัน มันจับกินกัน มันจะร้อง แต่ถ้าคนจับมันจะเงียบเลย เพราะว่าอย่างไรก็ไม่รอด

แต่เราว่าเราเป็นคนกัน แต่สัตว์ พวกสัตว์เดรัจฉาน พวกที่ว่าเราเป็นอาหาร เขาเห็นคนมันว่าเป็นยักษ์ ใครเป็นคนสมมุติว่าเป็นคน นี่สมมุติ ขนาดในสมมุติเรายังไม่เข้าใจเลย เวลามีอะไรที่แปรสภาพไป เราจะเสียใจ โอ้โฮ! หัวใจแทบหลุดจากหัวใจเลยนะ ขั้วหัวใจแทบหลุด มันสะเทือนนะ เวลาของรักของหวงที่อยู่กับข้างตัวแล้วมันพลัดพรากออกไป นี่สมมุติเฉยๆ

แต่ถ้าเรามาศึกษาธรรมะ พระพุทธเจ้าบอกว่า มันแปรสภาพเท่านั้นๆ มันรู้สัจจะความจริงไง รู้สมมุติ รู้สัจจะ แล้วจนรู้อริยสัจที่เกิดขึ้นจากภายใน อริยสัจที่จริง จริงคือว่าใจดวงนี้มันไม่หวั่นไหว “จริง” ใจมันอิ่มในตัวมันเอง

เรามาเก็บหอมรอมริบ เรามาทำเก็บหอมรอมริบ เอาเงินเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน ใส่กระปุก ใส่ไหไว้จนกว่ามันจะเต็ม ความเพียรของเราเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเราไปมองว่าชีวิตนี้ยาวไกล เมื่อไรก็ได้แล้ว ไม่ไหวนะ มันนอนใจเกินไป เราไปตลาดเราก็อยากซื้อของสดๆ ถ้าเราไปตลาด อยากซื้อของสดๆ

เหมือนกัน ปัจจุบันร่างกายเราพร้อม นี่สดๆ เลยนะ ถ้าตลาดมันวายแล้วเราไป แทบจะไม่มีอะไรซื้อเลย ของมันเหลือแต่เศษเขาเลือกแล้ว ยังมีให้ซื้อก็ยังดี แต่ถ้ามันวายไปไม่มีของขายเลย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน กำลังสดชื่น กำลังแข็งแรง นี่ตลาดกำลังดีเลย พอเราเริ่มเจ็บไข้ได้ป่วย นั่นเริ่มแล้ว เริ่มจะวายแล้ว

ไปดูคนป่วยนะ เราไปดูอยู่ บางทีไปเที่ยวไปดูไปเห็น น่าคิดมาก บอกว่ามันทรมานจนแบบอยากตายดีกว่า สู้อย่าอยู่เสีย เราก็รับรู้ว่าคนป่วยไข้ขนาดนี้มันฟื้นไม่ได้ มันไม่สามารถจะดีขึ้นมาได้ ก็เลยตัดใจว่า ตายเสียดีกว่าเห็นไหม นั่นตลาดมันจะวาย แล้วเราจะนอนใจได้ไหม เราจะนอนใจในตัวเราเองได้ไหม

แป๊บเดียว แก่ก็ตายได้ หนุ่มก็ตายได้ สาวก็ตายได้ หายใจเข้าไม่หายใจออก หายใจออกไม่หายใจเข้า นั่นตลาดวาย ดูตลาดข้างนอกแล้วก็มาดูตลาดข้างใน ดูตัวเรา แล้วก็ดูหัวใจด้วย ร่างกายมันจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าหัวใจมันฮึกเหิมนะ มันมุมานะ มันก็มีส่วน มันทำได้ เก็บหอมรอมริบเรา ตรงนี้เท่านั้นนะเป็นที่พึ่ง

“โลกธรรม ๘” โลกนี้มันเป็นอย่างนั้น เป็นของเก่าดั้งเดิม โลกธรรม ๘ เป็นธรรมดั้งเดิมมาแต่โบราณกาล ก่อนจะมีพระพุทธศาสนาด้วย คำนินทา-คำสรรเสริญ สุขกับทุกข์ นี่ของดั้งเดิมเลยล่ะ แต่มันแก้กันไม่ได้ เพียงแต่ว่าบรรเทากันไปเท่านั้นเอง เข้าสมาบัติ เข้าสมาธิ เมื่อมีความเป็นสุข สุขนั้นมันก็แปรสภาพเห็นไหม ทุกข์ก็แปรสภาพ สุขก็แปรสภาพ

นี้เวลาเราเจอทุกข์ เราไม่จับทุกข์อันนั้นมาเป็นคติ ถ้าเราจับทุกข์มาเป็นคติ มันเหมือนกับไฟ แล้วเราจะได้ไม่ประมาทไง อันนี้ก็เป็นทุกข์นะ แล้วเราจะเจอมากกว่านี้อีก เวลามันรุนแรงขึ้นมานะ เวลาเราใกล้ตาย ทุกข์อันนั้นจะสุดๆ เลย ทุกข์แบบนี้มันยังพอแรง มันยังผ่อนคลายกันได้ คือว่ากำลังมันยังพอไง

อย่างเช่นเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายยังแข็งแรง มันต่อต้านได้ แต่ถ้าร่างกายมันอ่อนแอจนมันต่อต้านไอ้พวกเชื้อโรคไม่ได้ มันไม่มีทางจะต่อต้านได้แล้วมันสุดนะ มันจนตรอกไง เวลาเราเข้าไปจนตรอก เข้าไปในโรงเชือดนะถึงจะรู้จัก

“นักโทษประหาร” คนนี้นักโทษประหาร รอเวลาจะประหารเท่านั้น นักโทษคนนี้ตลอดชีวิต นักโทษคนนี้ ๒๐ ปี นักโทษคนนี้กำลังอยู่แค่ฟ้องศาล ยังไม่ได้ตัดสิน นี่เหมือนกัน เราจะปล่อยให้ไปอยู่ตรงไหน นักโทษนะ เกิดมาตายแน่นอน เกิดมาตายเด็ดขาดเลย คนเกิดมาไม่มีใครจะฝืนได้ ต้องตายข้างหน้าเท่านั้น พลัดพรากเป็นที่สุด มันต้องแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ แก้ไขในทุกอย่างที่พร้อมอยู่นี่ ถ้าไปถึงตอนนั้นแล้วมันแก้ไม่ไหว ยกเว้นแต่ผู้ที่ใจเด็ด

ในสมัยพุทธกาลมีพระอยู่ในป่า เสือกินนะ เริ่มกินถึงข้อเท้านะยังไม่สำเร็จ ไม่หนีนะ ให้เสือกินไป พิจารณาไปเรื่อย มาถึงเข่า มาถึงเอว ยังมีชีวิตอยู่นะเห็นไหม ใจเด็ด นั่นน่ะคนใจเด็ด ขนาดสำเร็จท่ามกลางปากเสือ อยู่ในพระไตรปิฎกมี ตำรามี บอกไว้ชัดๆ เลย สำเร็จท่ามกลางปากเสือเลย อย่างเราโดนเสือกัดสิ จะทนไหวไหม เพราะว่าคนใจเด็ด มี คนใจเด็ดมี คนใจเพชรมี

มันขึ้นมาจากตรงนั้น จากหัวใจที่ว่าพร้อม พลิกขึ้นมาจากหัวใจ ร่างกายเสือกินให้กินไป เจ็บปวดขนาดไหนให้เจ็บปวดขนาดนั้นไป พิจารณาไปเรื่อย พิจารณาไปเรื่อย สำเร็จพร้อมกับตายไปเลย

เขายังไม่ตายเปล่านะ เราจะตายเปล่าหรือ?

ช้าไม่ได้ อย่าปล่อยให้ตลาดวาย วายข้างนอกกับวายข้างในต่างกันอีกด้วย วายข้างนอกก็ตลาดวายเห็นกันชัดๆ แต่หัวใจวายนี่สิ ถ้าทางหมอหัวใจวาย คือคนตายใช่ไหม แต่เราว่าหัวใจวายคือหัวใจมันไม่เอา วันไหนหัวใจถอย นั่นล่ะวาย แต่มันยังมีชีวิตอยู่นะ วายหมายถึงว่า มันหมดค่า ชีวิตนี้ทำไปก็ไม่มีค่า ทำไปทำทรมานทำไม ทำไมคนในโลกนี้เขามีความสุขนัก เราต้องมาทรมานตัวเราให้มีความทุกข์

เชื้อโรคเวลามันกระจายออกไป มันขยายตัว เซลล์เชื้อโรคมันแตกตัว มันจะฟุ้งไปขนาดไหน นี่ก็เหมือนกัน ความคิดที่มันอยู่กับปัจจุบัน มันเกิดมา คนเกิดมาเป็นมนุษย์ได้อริยสมบัติมาแล้ว มนุษย์สมบัติ ได้มนุษย์สมบัติมาเป็นของประเสริฐอยู่แล้ว แล้วไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา แล้วพอหัวใจวาย มันไม่เห็นค่าตรงนี้ มันเป็นเชื้อโรค พอเชื้อโรคมันขยายออกไป มันไม่หันกลับมาดู มันเพลินตามกิเลส กิเลสมันไสหัวออกไปแล้ว กิเลสมันไสความคิดออกไปแล้ว เราก็เชื่อมัน เราก็เชื่อมันเลยนะ

เกิดมาทั้งชาติก็ให้มีความสุข ต้องหาความสุขใส่ตัวให้เต็มที่ ของเดิมๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลยนะ ของเดิมๆ มันมีอยู่แล้วตั้งแต่ไหนแต่ไรมา เกิดๆ ดับๆ วันคืนล่วงไปๆ เช้าก็มืด เช้าก็มืดนะ ปี วัน เดือน เดือน วัน ปี..เป็นเดือน เป็นวัน เป็นปีไปเรื่อย เราก็คิดตามไป คิดตามไป พอคิดตามไปมันก็ไปหวังข้างหน้า เมื่อนั้น เมื่อนี้ เมื่อนี้ เมื่อนั้น พอคิดตามไปมันหวังไป

การหมุน การเคลื่อนออกไป เหมือนกับเราปล่อยของกลิ้งออกไปจากมือ วิ่งตามไปเก็บ วิ่งตามไปเถอะ มันกลิ้งไปข้างหน้านั่นน่ะ หอบเหนื่อยอยู่นั่นแหละ หยุดสิ หยุดก่อน มันจะกลิ้งไปไหนให้มันกลิ้งไป ให้มันหยุด ของที่มันตกมา มันกลิ้งไปพอมันหยุดแล้วเราเดินไปเก็บมันง่ายกว่า แต่ที่มันลาดชันมันก็กลิ้งไปเรื่อย ของมันกลิ้งไปเรื่อย เราก็วิ่งตามไปเรื่อย

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดเวลามันออกไปเป็นอย่างนั้นล่ะ เพราะความคิดนี้มันไม่ใช่เรานะ ความคิดมันพุ่งออกไป เราวิ่งตามไป เราวิ่งตามไป เราก็ว่าทุกข์ ว่าทุกข์นะ พระพุทธเจ้าสอนนะว่าในโลกนี้มีแต่คนโง่ ถือคบเพลิงไว้คนละอัน แล้วก็ต่างบ่นว่าร้อนๆๆ พระพุทธเจ้าฉลาดกว่าเพื่อน ทิ้งคบเพลิงนั้นก่อน แล้วก็บอกให้พวกเราทิ้งด้วย

เหมือนกัน วิ่งตามความคิด คบเพลิง คบไฟ แล้วก็บ่นกันว่าทุกข์ๆ นี่ไง บ่นกันว่าร้อนๆ ก็วิ่งตามไป วิ่งอยู่นั่นล่ะ ไม่หยุด ต้องหยุดก่อน ความคิดต้องหยุดก่อน หยุดให้มันเป็นสมาธิ ถ้าไม่หยุดมันก็เหมือนกับวิ่งเก็บของอยู่นั่นล่ะ เพราะมันเป็นโลก ความว่าเป็นโลกมันคิดผูกคิดมัด ความคิดเป็นเรา เราแยกไม่ออก เราแยกไม่ได้

“เครื่องติด” เครื่องยนต์ติดแล้วไม่เคยดับ ต้องดับเครื่องก่อน แล้วพอดับเครื่องนะ พอดับเครื่องเสร็จ เราเอาสายพานใส่ไปเอาเครื่องนี้ไปลากกับเครื่องยนต์อีกอันหนึ่ง มันได้ประโยชน์ขึ้นมา ถ้าเครื่องติดเฉยๆ ความคิดมันคิดอยู่เฉยๆ เราดับเครื่องเสียก่อน แล้วพอเครื่องมันดับแล้วใช่ไหม เราก็ยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาอันนี้เหมือนกับว่า เราดับเครื่องเสร็จแล้วเราใส่สายพาน เครื่องนี้มันก็ไปฉุดลากไอ้เครื่องยนต์ที่เราจะทำประโยชน์ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง ก็เป็นปัญญาขึ้นมา

จากถ้าไม่มีอันนี้ มันก็คิดมันก็ปั่นของมันอยู่อย่างนั้นล่ะ ต้องดับเครื่องคือเป็นสมาธิ แล้วเอาพลังงานไปใช้ในการพ่วงให้เครื่องยนต์อันอื่นขึ้นมาอีกอันหนึ่ง อันนั้นเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าไม่มีอันนั้นนะ คิดอยู่ปัจจุบันนี้มันเป็นโลกอยู่เฉยๆ นั่นล่ะ

คำว่า “เป็นโลก” ดูสิ การทำงานนั่นเป็นโลก คิดแล้วก็ไปทำ เราว่าเป็นประโยชน์...เป็น ก็ว่าประโยชน์ของสมมุติบัญญัติ

อริยสัจเห็นไหม สัจจะ อริยสัจจะ

เราไปเห็นคุณค่าของข้างนอกไง พอเห็นคุณค่าของข้างนอก เราก็ติดอยู่ข้างนอกนี่ไง ติดอยู่นะ ติดอยู่เป็นอุปาทานใช่ไหม อุปาทานให้ยึดใช่ไหม มันยึดนะ ยึดเวลา ยึดชีวิต ยึดทุกอย่าง ยึดแต่ของน้อยๆ นะ แล้วพอยึดไปยึดมา สุดท้ายอาลัยอาวรณ์สำคัญที่สุดนะ การพลัดพราก ความอาลัยอาวรณ์นะ พอใกล้อย่างนั้นแล้วไม่ห่วงอย่างอื่นล่ะ ห่วงชีวิตสุดชีวิตแหละ

ดูใจเข้าไปดีกว่า “ดูใจ” ความพลัดพราก ความอาลัยอาวรณ์มันเศร้า มันเกาะกินอยู่ที่ใจนะ คนเราจนตรอกขึ้นมามันจะคิดนะ แต่ตอนนี้ยังไม่จนตรอก มันไม่จนตรอก เราต้องทำ พอเราเริ่มมีปัญญาคิด เราเชื่อใจ เราเชื่อ เรามีศรัทธา เราเชื่อในความเป็นจริง ถึงเราจะคนไม่มีปัญญาจะเห็นตามนั้น แต่ก็เชื่อครูบาอาจารย์ เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อธรรมนะ เชื่อปัญญา เชื่อปัญญาของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วถึงมาสอนเราเห็นไหม เชื่อพุทธคุณ เชื่อปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า เชื่อเมตตาธรรม พระพุทธเจ้าสำเร็จแล้วนะ เป็นพระอรหันต์นะ แล้วค่อยมาสอนเรา นี้ถ้าเรายังไม่รู้เท่า ต้องเชื่อตรงนั้นก่อน มันจะได้มีศรัทธาขึ้นมาไง

“ความเชื่อ” เพราะความเชื่อถึงทำให้เรามีการกระทำ

ใหม่ๆ ต้องบังคับกันก่อน ต้องบังคับนะ ถ้าไม่บังคับ จะบอกว่าให้มันเป็นไปโดยธรรมชาติ เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเกิด คนเราเกิดมาจากกิเลส กิเลสอยู่ที่หัวใจ เราบังคับนะบังคับ ถ้าเข้าทาง มันยังง่ายกว่า แต่บังคับใจ เพราะอะไร เพราะมันบังคับไม่ได้ มันไม่มี เป็นนามธรรมด้วย แล้วจับต้องไม่ได้ด้วย

ถึงต้องว่าเอาเกลือจิ้มเกลือไง เอาใจจิ้มใจไง เอาความรู้สึกที่มันจะคิดออก ระลึกให้เกิดสติขึ้นมา รู้สึกตัวอยู่นั่นสติ การรู้สึกตัวอยู่ มีสติอยู่ มันเริ่มจะเหนี่ยวรั้งได้ พอมันจะคิด มันก็คิดเบาๆ มันยังคิดได้อยู่เบาๆ ถ้าสติทันนะ คิดอยู่อย่างนั้นล่ะ ต้องหยุดคิดก่อน มันจะเบาลง เบาลงนะ สมาธิธรรมนี่มันจะเบา

อย่างเช่นเวลามันคิด มันคิดไปรุนแรงฟุ้งซ่านมาก ถ้าเรามีสติย้ำเข้ามามันจะอ่อนลง อ่อนลงไง แต่ยังคิดอยู่ จากที่มันรุนแรงก็ให้มันเบาลง เบาลง จนมันเริ่มละเอียดลง ละเอียดลง มันจะเริ่มหายไปแล้วมันจะปล่อยว่าง โล่งโถงเลย อันนี้ก็เป็นสมาธิแล้ว ปัญญาอบรมสมาธิไง มันเป็นสมาธิแล้วนะ ใจมันปล่อยแล้ว แต่มันอยู่ได้ไม่นานเท่านั้นเอง ธรรมชาติมันจะพุ่งออกอีก เราก็รั้งไว้ รั้งไว้บ่อยๆ รั้งไว้บ่อยๆ เลย

พอเราคิด เราใช้ปัญญาใคร่ครวญตาม เวลามันคิดไป เรามีสติตามไป คิดไปเรื่องอะไรแล้วแต่ พอมันคิดจนมันเหนื่อยมันหอบมันหยุด ถามตัวเองว่ามีประโยชน์อะไร ความคิดเรา เราคิดขึ้นมา ถามตัวเองว่ามีประโยชน์อะไร? ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย แต่มีสติอยู่นะ แต่ถ้าไม่มีสติอยู่ พอมันคิดจบไปแล้วมันก็แล้วกันไป แล้วก็คิดขึ้นมาใหม่

มันก็เหมือนกายกับใจ มันเหมือนกัน คือว่ามันใช้ประโยชน์ได้ ใช้ประโยชน์ในการย้อนกลับ เราจะวิ่งไปหาอะไรก็แล้วแต่ไม่เจอ วิ่งไปหาข้างนอกนะ ความสุขวิ่งหาข้างนอกไม่เจอ ถ้าหักกลับมาหาที่ตัว หาที่กาย หาที่ใจ...เจอ ความยึดก็ยึดที่นี่ แต่เราไปมองข้างนอก ความทุกข์ก็ทุกข์ที่นี่ แต่เราไปมองข้างนอก โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของ...เป็นทุกข์

ดูสิ เราเอาไม้นะ เอาเหล็กนะไปเผาไฟสิ มันเคยร้องว่า มันเจ็บมันปวดไหม แต่เราไปคิดว่ามันร้อน เพราะมันเป็นไฟใช่ไหม ๑.

๒. ถ้าเราไปโดนไฟเผาอีก มันยิ่งร้อนเข้าไปใหญ่

อย่างเช่นเราเอามือเข้าไปในไฟ มันจะร้อนไหม แต่วัตถุมันรู้ว่ามันร้อนไหมเห็นไหม คือวัตถุมันไม่ได้ทุกข์ จริงๆ คือหัวใจเราเท่านั้นทุกข์ เพราะใจนี้ไปยึดมันถึงได้ทุกข์ ใจนี้ไปยึด วัตถุนี้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เราจะเกิด เราจะตาย เราจะมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ มันจะเป็นอย่างนี้อยู่ตลอดไป แต่พอเราเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในวัตถุนั้น เราต้องการให้มันเป็นตามความพอใจของเรา อยากจะเก็บ จะซ่อน จะงำไว้ถ้าเอาไว้ใช้ของเรา อยากจะให้คนที่พอใจจะให้ แล้วมันจะไม่สมปรารถนาเราสักอย่างหนึ่ง

ของเราหามาว่าดี ว่าประเสริฐ เอาไว้เพื่อให้คนที่เราชอบเรารัก มันไม่ชอบหรอก มันก็มีกิเลสของมัน คือว่ามันก็ชอบกันไปคนละอย่าง ของเราว่าดี มันว่าไม่ดี ของมันว่าไม่ดี เราว่าดี เห็นไหม ทิฐิความเห็นมันไม่เหมือนกันหรอกคนน่ะ ความเห็นทิฐิของคนก็ต่างกันอยู่แล้ว แล้วจะให้ของนั้นเหมือนกันได้อย่างไร นี้ของใครก็เป็นของเขา คือว่าจริตนิสัยของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ฉะนั้นถึงว่าจะเอาวัตถุมาเทียบว่าของแค่นั้นจะให้คนอื่นมีความสุข เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นวัตถุถึงจะเอามาเทียบค่าของใจไม่ได้

เราถึงให้หันกลับมาที่ใจไง มันจะยึดมาก ยึดน้อย เราเป็นคนรู้ ของถ้าเป็นสิทธิของเรา จะอยู่บ้าน จะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ ในธนาคาร ในเซฟของเราอยู่แล้ว แต่รู้ด้วยความเข้าใจ แล้วถ้าเกิดถ้ามันจะหายไป มันจะหลุด มันจะพรากจากเราไป มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมดาเลย เพราะของนี้มันเป็นวัตถุใช่ไหม

แต่มันมีกรรมอีกตัวหนึ่ง กรรมที่การกระทำเอาหามาด้วยบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์

“การหามา” สัมมาอาชีวะ นั่นแหละมันจะมาให้ผล

การหายไปโดยธรรมชาติของมันก็อย่างหนึ่ง การหายไปด้วยกรรมก็อย่างหนึ่ง อันนี้ก็เหมือนกัน หัวใจกับร่างกายมันต้องแปรสภาพ มันต้องหายไปอยู่แล้ว แต่การกระทำของกรรมเห็นไหม ถ้าเราทำกรรมดี เราใช้ตรงนี้เป็นที่การขุดค้น ขุดค้นนะ ให้เราเกิดเป็นผู้วิเศษขึ้นมาจากกายจากใจของเรานี่เห็นไหม กรรมคือการกระทำอันนี้

ถ้ากายนี้เป็นของเรา สมบัติข้างนอกมันยังพลัดพรากเลย แล้วสมบัติกายนี้ มันจะพลัดพรากไหม ถามตัวเองสิ ย่นเข้ามา ย่นเข้ามาไง กายเราเองแท้ๆ หัวใจเราแท้ๆ เลยว่าเป็นของเรา แล้วเราบังคับมันได้ไหม เราจะรักษาเป็นสมบัติเราตลอดไปได้ไหม? ไม่ได้เพราะเหตุใด?

วัฏฏะมันหมุนไปนะ เรามาเป็นส่วนหนึ่งที่มันหมุนไปเท่านั้นเอง เรานี่โง่มาก เรานี่โง่มากแล้วไม่เข้าใจ แล้วก็หมุนตามไป แล้วหมุนตามไม่ตามเปล่า หมุนแล้วนะ มันเป็นพลังงานการหมุนของวัฏฏะอยู่แล้ว แล้วเราไปเร่งมัน หัวใจเราไปเร่งให้มันหมุนเร็วเข้าไปอีก เหมือนกับจักรวาลเห็นไหม ดวงอาทิตย์ก็หมุนอยู่แล้ว รอบจักรวาลก็หมุนรอบดวงอาทิตย์อยู่แล้ว แล้วเราไปเร่งขึ้นไปอีก กิเลสไปเร่งใจเข้าไปอีก มันทุกข์กี่เท่าตัว

การกระทำนะ ถึงว่าพอมันจะเร่ง มันหมุนอยู่แล้ว เราก็ปล่อยให้มันหมุนไป แล้วเราพิจารณา ว่ากรรม-การกระทำนะ หมุนจน ถ้าปัญญาเข้าไปหยุดการหมุนนี้ แต่เมื่อโคจรรอบอยู่เหมือนกัน โคจรรอบวัฏฏะ รอบจักรวาลนี้เหมือนกัน ใจนี้ก็เหมือนกัน เราหยุดตรงที่ว่ามันไปเร่งความคิดให้มันหมุนตัวมันเอง หยุดเป็นสมาธิไง พอเป็นสมาธินี้มันก็ไม่มีแรงดึงดูดใช่ไหม ปัญญาอันนี้ ปัญญาที่ว่ามันจะเกิดภาวนามยปัญญานี่แหละ

“ภาวนามยปัญญา” มันปัญญาในอะไรล่ะ? ปัญญาภายใน ปัญญาความคิดภายในที่เกิดจากสมาธิ คิดลงที่ไหน คิดลงคือการที่มันแปรสภาพไง ความคิดมันคิดมาจากไหน หาย หายไปไหน เวลาคิดอยู่มาจากอะไร นี่ปัญญาลงตรงนี้ ลงอันนี้ก็ลงที่ธรรมารมณ์ พิจารณาธรรม

การพิจารณาคือการใคร่ครวญ การใช้ปัญญาไง

การพิจารณาลงที่กาย ลงที่กายนะ กายมันแปรสภาพอยู่แล้ว กายนอก กายนอกคือร่างกายมันแปรสภาพอยู่แล้ว เดี๋ยวเจ็บเดี๋ยวปวด แต่ถ้ากายข้างใน ตาในเห็นกาย มันจะแปรสภาพตามแต่ความรำพึงของใจเลย เห็นทีแรกมันเป็นนิมิตไง ปฏิภาค ให้นิมิตนี้ ให้กายนี้ จากตาในที่เห็นเป็นนามธรรมนั้น ให้มันแปรสภาพ

จากแปรสภาพธรรมดานี่มันแปรสภาพโดยธรรมชาติ แต่แปรสภาพจากปัญญาการใคร่ครวญนั้นมันแปรสภาพให้หัวใจนั้นฉลาดขึ้น ให้เจ้านาย เจ้านายคือใจ เห็นกายนี้แปรสภาพแล้วให้มันปล่อยกายไง ปล่อยไอ้ความยึดมั่นถือมั่นอันนั้น ไอ้ความยึดมั่นถือมั่นว่าสมบัติเป็นของเรา นี่ก็ยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้เป็นเรา ใจนี้เป็นเรา เรานี้เป็นเจ้านาย

แต่มันความโง่ ก็เลยใช้ของไม่เป็นไง ความโง่ยึดจนทุกข์ ถ้าความฉลาดแล้วมันไม่โง่ มันไม่โง่ กายกับใจอยู่ด้วยกัน มันพิจารณาจนเข้าใจแล้วมันปล่อยวางแล้ว มันอยู่ด้วยกันว่าเป็นมิตร อยู่ด้วยความเข้าใจไง อยู่แบบไม่มีความเป็นหนี้ เรามีเงินเป็นสิทธิของเรา เราใช้ด้วยความพอใจ ไม่ใช่เราไปกู้ยืมเขามา เราต้องใช้ดอกเบี้ย ใช้แล้วยังต้องหาทั้งต้นทั้งดอกคืนเขาไง ถ้ามันยึดมันเป็นอย่างนั้น ทั้งต้นทั้งดอกนะ

ทำดีก็ไปสวรรค์ ทำชั่วก็ตกนรก แล้วไอ้ความเป็นอยู่เวลาในโลกนี้กับเวลาในสวรรค์นรกมันต่างกันเห็นไหม ทำดีก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ มีความสุข แล้วเวลาก็ยาวกว่า ทบไปแล้ว ทำชั่วล่ะ ตกนรกไป แล้วไปชดใช้เขาอีก นั่นล่ะกู้ยืมเขามา แต่ถ้ามันฉลาดแล้วเป็นสมบัติของเรา มันเป็นตามความเป็นจริง ถ้าเรามีปัญญา นี่คือปัญญา

ภาวนามยปัญญาไง ภาวนามยปัญญามันไปเกิดพร้อมในมรรคคือองค์ ๘ นะ เรามันเอียง เวลาเราคิดอยู่มันเอียง มันหนักไปทางความคิด สมาธิไม่พอ สมาธิมันไม่สามัคคีเห็นไหม งานก็งานที่ผิด ว่าอันนี้เป็นความคิดที่ถูกแล้ว มันยังเป็นโลกียะอยู่ มันคิดมันก็ยังเป็นโลกียะอยู่ มันก็ต้องฝึกไป ฝึกไป มันเข้าไปเรื่อย ละเอียดเข้าไปเรื่อย

พอมันพร้อมกัน งานชอบ ความเพียรชอบ สมาธิชอบ ความดำริชอบ ความเห็นชอบ ลงไปรวมกันหมด มรรคนี้สามัคคีนะ มรรคที่สามัคคีมันตัดขาด นี่ธรรมจักร ตัดกิเลสที่ความยึดมั่นถือมั่นอันนั้น ยึดมั่นถือมั่นที่กายกับใจเท่านั้น ยึดมั่นถือมั่นข้างนอกมันเป็นรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก มันตัดตรงนั้นไม่ได้ รูป รส กลิ่น เสียงภายนอกหดเข้ามา

ใจนี้หดจากรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกเข้ามาอยู่ที่ใจเห็นไหม ใจนี่หด หดที่ไปยึดมั่นถือมั่นจากรูป รส กลิ่น เสียงภายนอก หดเข้ามาที่ใจ นั่นสมาธิชอบ เพราะเป็นสมาธิ มันก็หดเข้ามาอยู่ที่ตัวมันเอง แล้วพอมาใคร่ครวญ คิดพิจารณาอยู่ตลอดเวลา จนมรรคนี้สามัคคี มรรคนี้สามัคคีนะ มรรค ความคิด คิดในสมาธิด้วย สมาธิมีอยู่ในใจด้วย แล้วสมาธิหมุนความคิดขึ้นมาด้วย หมุนเข้าไป หมุนเข้าไป

มันตัดลงที่ใจ ไม่ได้ตัดลงที่วัตถุภายนอก ตัดลงที่ใจ

พอตัดผลัวะ ตัดกิเลส ตัดความยึดมั่นถือมั่นไง

ของอยู่ติดกันแบบสีกับน้ำ แล้วมันแยกออกจากกัน สีที่เราไปผสมในน้ำ น้ำนั้นสีแดง อย่างนี้มันแยกไม่ได้ แต่ใจก็เหมือนกัน กิเลสกับใจเหมือนน้ำนี้สีแดง เพราะมีใส่สีแดงลงไป แล้วมันแยกออกจากกัน สีนี้แยกออกมาเลย น้ำส่วนน้ำเลย

เวลามันสมุจเฉทปหานนะ เสร็จแล้วก็เข้ามาอยู่เหมือนเก่า แต่มันขาดออกไปแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นออกไป ก็เหมือนกับมือ ๒ ข้างที่จับมือกัน ซ้ายกับขวา แต่เมื่อก่อนมันมัดไว้ มันแยกไม่ออก ซ้ายกับขวาเราจับกัน เราทำงานได้ พอเราทำงานสองมือประคองอะไรมันก็มั่นคง เวลามันแยกนะ ไม่ใช่ว่าแยกกายกับใจออกจากกันแล้ว แยกความยึดมั่นถือมั่นแล้วมันจะใช้งานไม่ได้ กลับใช้ได้ กลับดีด้วย นี่อริยสัจ

อริยสัจนะ เกิดขึ้นมาจากอะไร?

ก็จากเก็บเล็กผสมน้อยไง แล้วเกิดขึ้นจากตลาดกำลังสดๆ อย่าปล่อยให้ตลาดวาย

รสทั้งโลก ไม่มีรสใด รสของธรรมประเสริฐที่สุด สัตว์ในโลกนี้ สัตว์มนุษย์ประเสริฐที่สุด แล้วพระพุทธเจ้ายอดในสัตว์ของโลก แล้วเราเป็นอะไร ในบรรดาสัตว์ ๒ เท้า พระพุทธเจ้าประเสริฐสุด พระพุทธเจ้านะ แล้วพระพุทธเจ้าเป็นใคร? เป็นศาสดา เป็นผู้นำ ออกหน้าไปแล้ว แล้วเรามีกี่เท้า เราถามตัวเองนะ เรามีกี่เท้า เราจะเป็นสัตว์อะไร เราจะคลานต้วมเตี้ยมๆ อยู่นี่เหรอ

ดูสิ ดูเวลาโลกมันร้อน ไฟมันมา ทำไมวิ่งหนีทัน ทำไมไม่คลานต้วมเตี้ยมล่ะเวลาหนีไฟหนีน้ำ เวลาหนีกิเลสทำไมต้วมเตี้ยม

มันไม่เห็น มันไม่รู้จักโทษไง มันไม่รู้จักว่านี่เป็นกิเลส มันเลยไม่กลัว คิดว่าแก้ไขตามตัวเองนี่แก้ไขได้ แก้ไขอย่างกิเลสมันหลอก มันหลอกนะ จะไปที่นั่นจะสบาย ไปที่นี่จะสบาย แม้แต่นักบวชก็เหมือนกันนะ บวชอยู่ ปฏิบัติอยู่ มันทุกข์ยาก สึกออกไปดีกว่า ออกไปทำงานทำการยังได้ทำบุญต่อเห็นไหม มันยังพลิกกลับมา

จะขนาดไหนก็แล้วแต่ สวะในแม่น้ำ น้ำลงมันก็ลงตาม น้ำขึ้นมันก็ขึ้นตาม จะทำดีขนาดไหนก็แล้วแต่ แล้วกิเลสมันอยู่ในใจ มันต้องสูงขึ้นไปพร้อมกับการทำดีของเรานั่นล่ะ เรายิ่งทำดีขนาดไหนมันก็จะขึ้นขี่คอไว้ จะให้เราอ่อนยวบยาบตลอดเวลา ถ้าเรารู้อย่างนี้ต้องระวังไง เรารู้นะ เรารู้ว่าเรามีกิเลสอยู่ กิเลสในใจเรามันขี่หัวอยู่นี่อ่อนข้อไม่ได้ อ่อนข้อไม่ได้เลย อ่อนข้อวันไหนก็เสร็จล่ะ...

...“ของร้อน” แล้วเราก็บ่นกัน แล้วเราก็อ่านตำรับตำรานะ ศึกษากันมานะ ว่ารสของธรรมมันประเสริฐๆ รสของธรรมน่ะ สมาธิธรรม สมาธินะ ปัญญาธรรม วิมุตติธรรม วิมุตติญาณทัสสนะ มันคงที่นะ

ดูสิ โลกเขาเดือดร้อนกันขนาดไหนมันยังอยู่ของมันได้ ไม่ตื่นไปข้างหน้าแล้วไม่ตื่นไปข้างหลัง ไอ้เรามันตื่นไปทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลังนะ เมื่อนั้น เมื่อนั้นนั่นล่ะ ไอ้นี่ข้างหน้าไม่มีอะไรนะ จะดับเมื่อไรมันก็ดับเท่านั้นล่ะ ข้างหลังก็ไม่มีอะไร ข้างหน้าก็ไม่มีอะไร มันไปไหน? มันอิ่มในตัวมันเอง คิดดูสิว่าข้างหน้าไม่มีอะไร เรายังหวังข้างหน้านะ หวังว่าเมื่อนั้น หวังว่าสวรรค์ชั้นนั้น หวังไปข้างหน้า

แล้วนี่ไม่หวังอะไรเลย มันแปลกไหม มันไม่เห็นหวังอะไร ไม่หวังก็ไม่ทุกข์ จะดับจะเกิดมันไม่มีอยู่แล้ว มันรอแต่เวลาน่ะ ฉะนั้นมันถึงว่าไม่ทุกข์ตามโลกไง

ถึงว่า โลกเห็นโลกทุกข์ เห็นโลกทุกข์นะ ถ้าเป็นโลก เราเป็นโลกไหม? “เป็น” อยู่ในโลกไหม? “อยู่” อยู่ในโลกแต่ไม่ติดโลกสิ เราอยู่ในโลกนะ ไม่ติดโลก พยายามอย่าไปติดมัน อาศัยไป เหมือนกับกายอาศัยใจ อาศัยแล้วไม่อาศัยเปล่านะ อาศัยแล้วเข้าฝั่งด้วย เรืออยู่กลางทะเลเลย

เกิดเป็นมนุษย์อยู่ในโลกสมมุติ ใช้ชีวิตดีมันก็ดี ใช้ชีวิตไม่ดีมันจะตายนะ บัวใต้น้ำ เต่ามันกินหมดแหละ อยู่กลางทะเล ฉลามมันขนาดไหน ไม่สงสารตัวเองไง ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ไม่ได้สงสารตัวเองเลย คิดว่าตัวเองฉลาดเสียด้วยนะ ถ้าสงสารตัวเอง มันก็ต้องเอาเข้าฝั่งสิ เรือ กายมันจะพาเข้าฝั่งได้ ฝั่งวิมุตติ ไม่ใช่วัฏวน

“คัดหางเสือ” คัดอย่างนี้คัดหางเสือ คัดเข้ามาให้ใจมันสงบ

ดูสิ ถ้ามันสงบแล้วมันจะเป็นอย่างไร ถ้าใจสงบมันจะมีสุขขนาดไหน ในรสของธรรมนี่

ใจมันไม่สงบ เพราะมันจิ่มลงขึ้นไป มันจะเกิดความรู้ภายในออกมา เกิดรู้ภายใน แวบออกมา ไอ้ความคิดมันคิดต่อต้านนั้นไอ้นั่นตัวหลอก เวลาความคิดมันแวบออกมานั่นล่ะ เพราะเวลาความคิดเดิม ปกติโลกียะนี่คิดอยู่แล้ว แล้วเราจะบีบมัน บีบให้ความคิดนี้ไม่มีด้วยสติ ด้วยพุทโธ พุทโธ พุทโธ เข้าไป แล้วมันก็มีความคิดอันอื่นอีก อันนี้ออกมาก็ยังไม่ใช่ อย่าไปติดมัน ไม่ใช่หรอก

ถ้ามันต้องการให้ความสงบใช่ไหม เราต้องการใจให้สงบใช่ไหม เราต้องการให้ใจสงบ นี่แหละเขาเรียกมันบังเงา กิเลสบังเงา

“ความคิดภายใน” จากเดิมคิดธรรมดาอยู่แล้ว พอมันเจอการต่อสู้ เจอการต่อต้านจากธรรมะ ต้านให้กิเลสมันสงบตัวลง มันก็พลิกออกอีกทีหนึ่ง โอ้! กิเลสนี่มันร้ายกาจนะ มันจะสู้ธรรมไง สู้ธรรมคือวิริยธรรม นั่งนี่วิริยอุตสาหะ มรรคไง ความเพียรชอบ เพียรในการต่อสู้ เพียรในเข้าสงคราม ชนะตนเอง

สงครามนะ สงครามข้างนอกมันต่อสู้ไป มันยังมีเขามีเรา มันยังช่วยเหลือกันนะ เป็นกองทัพ แต่กองทัพกิเลสมันกรีฑามา แล้วกองทัพธรรมในหัวใจมันไม่สู้เลย รบเข้าไปสิ มันพลิกแพลง มันมีเล่ห์เหลี่ยมทั้งนั้น

ที่มันคิดออกมา คิดออกมา เพราะการคิดนี้ ไอ้คิดออกมามันคิดให้ล้มเลิกใช่ไหม แต่ถ้าปัญญาอบรมสมาธิไม่ได้คิดอย่างนั้น มันคิดเท่าทันความคิด ไอ้นี่มันคิดได้ทะเล่อ ไอ้ที่คิดว่าเห็นสภาพแบบนั้น เห็นสภาพแบบนี้ มันคิดให้ออกไปนอกลู่นอกทางไง

เช่น เราคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ที่ว่ามันจะทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน แล้วความคิดที่ว่าเป็นปัญญานะ คือมันคิดว่า ไอ้ที่คิดอันนี้มันไม่ใช่ ไอ้ที่ความคิดว่าให้เราล้มลุกคลุกคลานนี้มันเป็นแค่ความคิด มันเป็นสัญญา มันเป็นสังขาร มันไม่ให้ผลแบบนี้หรอก นี่ปัญญาเป็นอย่างนี้ คือว่ามันใคร่ครวญความคิด แล้วเห็นว่าความคิดอันนี้เป็นสมมุติที่ว่า มันคิดขึ้นมาแล้วไม่เป็นตามความเป็นจริง มันก็ปล่อยวาง

แต่ถ้ากิเลสมันเสี้ยมนะ มันจะบอกว่า คิดอย่างนี้แล้วต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ อันนั้นมันเป็นการหลอก กิเลสหลอกอีกชั้นหนึ่ง เราก็ไม่ต้องการ ถ้าใช้ปัญญามันจะเป็น นี่อย่างนี้มันก็มาหลอก

อย่างนั่งสมาธิก็เหมือนกัน นั่งสมาธิอยู่ มันนั่งถึงจุดหนึ่ง มันจะปวด มันจะเจ็บ ถึงจุดนั้นมันก็จะเป็นตรงนั้นอีกล่ะ กิเลสมันเอาแบบว่า เอาหลุมพรางมาล่อไว้ข้างหน้า บางคนนั่งอยู่ถึงเวลาจุดหนึ่งมันจะทนไม่ไหว ถ้าเราพิจารณา เราต่อสู้นะ มันข้ามจากหลุมพรางอันนี้ข้ามไปนะ นั่นล่ะมันถึงจะลงสมาธิ

ปัญญาที่ยังไม่เป็นปัญญาอย่าไปเข้าใจว่าเป็นปัญญา อันนั้นมันเป็นบังเงา กิเลสมันบังเงามาอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะสงบมันจะมีการล่อลวง ถ้าสิ่งที่มันเป็นปัญญานะ มันจะทำให้เราปล่อยวาง ทำให้เราว่าง จะทำให้เราไม่สงสัย

ไอ้นี่มันหลอกชัดๆ เวลาเราคิดอยู่อย่างนี้ เราก็ว่าอันนี้เป็นความคิดที่ว่าทำให้เราทุกข์ร้อน แต่เวลาอันนั้นขึ้นมา ก็ให้เราทุกข์ร้อนในทุกข์ร้อน แต่เราไม่เข้าใจ เราว่าอันนั้นเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมทำไมมันแก้สงสัยตัวเองไม่ได้

ถ้าเป็นธรรมนะ เป็นความถูกต้องนะ มันจะสงบแล้วมันจะไม่สงสัยเลย มันจะปล่อยหมด นี่การปล่อยแบบขยะข้างนอกนะ ปล่อยมลพิษ ปล่อยสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี จิตมันจะเข้ามาเป็นหนึ่ง เอกัคคตารมณ์ มันต้องปล่อยความคิดขยะอันนี้ก่อน แต่เราไปเห็นความคิดขยะนี้มันเป็นคุณค่า เพราะเราคิดว่ามันแวบขึ้นมาจากภายใน...ไม่ทัน! ไม่ทันกิเลสหรอก มันแวบขึ้นมาจากหัวใจจากภายใน

เสมือนเราตีต้อนสัตว์เข้ามุมนั่นล่ะ แล้วไปเจอตัวเห็บตัวไรจากสัตว์โดดออกมา คิดว่าอันนั้นเป็นประโยชน์...ไม่ใช่!

ปัญญาเป็นปัญญา มันต้องผ่านผิดผ่านถูก ผ่านสมรภูมิตลอด มันทำเหยาะๆ แหยะๆ ทำเหยาะๆ แหยะๆ แล้วก็ว่าอันนี้เป็นทางที่ถูกต้อง...ไม่ใช่หรอก ไม่ใช่หรอก!

“ทองคำมันไม่กลัวไฟ ความจริงมันไม่กลัวการพิสูจน์”

สมาธิก็เหมือนกัน มันไม่กลัวหรอก ซัดเข้าไป หัวใจนี่พิจารณาเข้าไป อัดเข้าไปเลย ไม่ต้องกลัวว่ามันจะแหลก วัตถุสิ่งของ เราทุบเราตีมันจะแหลก แต่ความคิดตีเข้าไปเถอะ อัดเข้าไปเลย ยิ่งอัดขึ้นมามันยิ่งสวยงาม ความคิดนี่ หัวใจนี่ ไม่ต้องไปกลัวว่ามันจะบุบสลาย ไม่ต้องไปกลัวว่ามันจะทำลายนะ มันเป็นนามธรรม เราใช้ธรรมะอัดเข้าไปเลย ปัญญา อัดซ้ำอัดซากอยู่นั่นล่ะ มันจะคิดออกมา อัดเข้าไปอีก

คำว่า “อัดเข้าไป” ก็ตั้งขึ้นมาว่าสิ่งที่คิดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้ามันยังสงสัยอยู่ไม่ใช่ อัดเข้าไป อัดเข้าไป อัดเข้าไปก็พิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป

นี่ไม่อย่างนั้นสิ แวบหน่อยเดียวก็พุ่งวิ่งออกแล้ว เหมือนกับเด็กวิ่งเข้าไปหาผู้ใหญ่ เขาให้เงินมานิดหน่อย หรือว่าเขา...ปรบมือให้หน่อย หลอก มันวิ่งออกมาดีใจว่าทำงานสำเร็จแล้ว

ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก เห็นไหม เน้นว่า “ไม่ใช่” ตลอดเลย

ถ้าใช่มันเป็นปัจจัตตัง คำว่า “ปัจจัตตัง” รู้จำเพาะตน ความสุขความทุกข์ในใจของเราใครจะหลอกได้ ความลังเลสงสัยมันเป็นนิวรณธรรม มันจะไม่ถามหรอกถ้าของจริงน่ะ เพียงแต่ว่าสบตากันมองตารู้เลย ยิ่งเกิดนิวรณ์ขึ้นมาเท่าไร ยิ่งเกิดความฟุ้งซ่านเท่าไร แล้วเราก็ไปปลุกให้มันขึ้นมาตลอดว่าอันนี้เป็นธรรมๆ เดินหลงทางแล้วยังไม่รู้ว่านี้หลงทางนะ

ทางนี้พระพุทธเจ้าบอกเป็นทางอันตรง เราเดินไปเห็นแสงสีข้างๆ น่ะ ลงข้างทางหมดแล้วว่าอันนี้เป็นทางๆ แล้วทำไมไม่ถึงสักที ถามแต่เรื่องจิปาถะไง เอาแต่เรื่องข้างๆ ทางมาเป็นนิวรณ์ มันไม่ตรงดิ่งเข้าเนื้อใน ไม่ตรงเข้าไปถึงจุดกลางของหัวใจ

ปัญญา ปัญญาอะไร ปัญญาอย่างนั้นน่ะ

มันเหมือนเด็กๆ ว่าศาสนาเหมือนกับตุ๊กตาแล้วนะ “เครื่องเล่น” เป็นเครื่องเล่นของความคิด เป็นลัทธิ ลัทธิศาสนา ลัทธิต่างๆ มันไม่สัจจะ ลองเป็นสัจธรรมสิ ลัทธิได้อย่างไร ลัทธิเป็นลัทธิ เป็นข้อบัญญัติกันขึ้นมาเฉยๆ เป็นลัทธิ เป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง

แต่สัจธรรมไม่ใช่ลัทธิ มันชำระกิเลส “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ลัทธิตรงไหน เห็นธรรม รู้ธรรม ใจเป็นธรรม โอ้โฮ! มันไม่ใช่ไปรู้เฉยๆ มันเป็นธรรมขึ้นทั้งแท่งขึ้นจากใจ ใจนั้นเป็นธรรมขึ้นมาเองโดยตัวมันเองเลย มันจะเป็นลัทธิได้อย่างไร

นั่นมันถึงว่า มันไม่หลอกหรอก ศาสนานี้เป็นของจริง ธรรมะนี้จริง จริงแท้แน่นอน เราต้องทำความเข้าใจว่า เราต่างหากไม่จริง เราต่างหากเดินไม่ถูกทาง เราต่างหาก แล้วถ้าเราก็ไม่ใช่อีกนะ กิเลสต่างหาก ถ้าเป็นเรา ทำไมเราทุกข์ขนาดนี้ กิเลสต่างหากทำให้เราเป็นคนทุกข์ กิเลสต่างหากทำให้เราหลงทาง ธรรมะไม่ใช่เครื่องของหลง ธรรมะเป็นของจริง น้ำที่สะอาด เมืองใหญ่ๆ รอเราอยู่เลย นิพพาน เมืองแห่งนิพพานธรรม

แต่เราเข้าไม่ถูกทาง แล้วเราไปโทษว่าเมืองนั้นหลอก เราไปโทษธรรมะพระพุทธเจ้าหลอก เราไปโทษเลย ว่าธรรมะพระพุทธเจ้าทำให้เราลำบาก กิเลสต่างหากๆ

เราพ้นจากกิเลส เราชำระกิเลส เราสู้กิเลส พ้นจากกิเลสไป เราก็มีความสุข สุขที่ไม่ทุกข์นะ ไม่ใช่สุขแบบว่าสุขกับทุกข์ อย่างเวลาเราทุกข์ เวลาเราพอใจเราก็สุข ความสุขอันนี้สุขสมมุติ สุขแบบธรรมะมันสุขแบบไม่เจือด้วยใดๆ ทั้งสิ้น อิ่มอยู่อย่างนั้นล่ะ ไม่แปรสภาพ สุขแท้แน่นอน ความสงบ

“ความสุขอย่างอื่นใดๆ ในโลกนี้ไม่มีเท่ากับความสงบของใจ”

สงบในสมาธิอย่างหนึ่ง สงบในวิมุตติธรรมนั้นอีกอย่างหนึ่ง เพราะสงบในสมาธินี้มันยัง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตา แต่ในวิมุตติธรรมนั้นมันเป็นธรรมแท้ มันไม่อยู่ในสพฺเพ ธมฺมา ฯ มันพ้นจากสพฺเพ ฯ ไป

ถึงว่ามันเป็นสุขแท้ สุขอย่างเดียว ไม่ใช่สุขในสมมุตินี้ สุขในสมมุติก็สุขกับทุกข์ สุขในสมมุติไง สุขในโลกของเรานี่สุขในวัฏวน สุขในเทวดา สุขในอินทร์ ในพรหมเห็นไหม มันสุขคู่กับทุกข์ มันแปรสภาพ กับสุขแท้มันไม่แปรสภาพ ธรรมแท้เป็นอย่างนั้น ธรรมแท้ๆ

ถึงบอก อู๋ย! สุขมาก ผลมีอยู่ รออยู่ กวักมือเรียกอยู่ เราต้องเข้าให้ถึงสิ

เกิดเป็นคน เกิดเป็นชาวพุทธ พบพระพุทธศาสนา แล้วว่าเป็นนักปฏิบัติด้วย พระพุทธเจ้าทุกข์มากนะ ดูสิ กว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ สร้างบารมีมากี่อสงไขย ดูสิยาวนานขนาดไหน แล้วพอเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะยังมาทุกข์อีก ทุกข์จนกว่ามาตรัสรู้ ออกบวชแล้วอีก ๖ ปีนะ

กว่าจะหาสำรับใหญ่ๆ เลยแล้วมาตั้งไว้ตรงหน้า แต่ต้องโทษตัวเองว่าทำไมเราโง่ขนาดนี้ เปิบไม่เป็นน่ะ สำรับตั้งอยู่ตรงหน้า ชุบมือนะ ล้างมือมาแล้วก็เปิบเลย ล้างมือมาเปิบเลยแล้วเปิบไม่ได้ ถามตัวเองว่า เรามีวาสนาขนาดไหน น่าน้อยใจไหม เราเห็นสำรับข้างนอก เราก็เห็นข้าวปลาอาหารเต็มสำรับเลยล่ะ สำรับพระพุทธเจ้านี่ไง ทาน ศีล ภาวนา นี่สำรับ นี่อาหาร มรรคคือองค์ ๘ นี้ยิ่งอาหารยอดเลย แล้วเปิบได้ไหม มีอยู่พร้อมเลยนะ แต่หยิบแล้วหลุดมือๆ ไม่เข้าถึงใจ ใจเลยไม่เป็นธรรมขึ้นมาไง

นั่นถึงว่าถามตัวเอง ถามตัวเองว่า เรามีวาสนาขนาดไหน เราไปทำ ทำอย่างไร ไอ้มือข้างนอกที่ว่าเปิบๆ อย่าไปใช้มัน ใช้ความคิดน่ะ ไอ้ความคิดมันก็เหมือนกับมือ ความคิดนะ แล้วป้อนไปที่ใจ เพราะใจนี้มันเสวยความคิด ใจนี้เสวยอารมณ์

คำว่า “เสวย” กินแต่ปากเหรอ ปากเท่านั้นกินข้าวได้เสวยได้ใช่ไหม แล้วใจมันเสวยความคิด ถ้ามัน เวลาเราเผลอ เวลาเราอยู่เฉยๆ นะ เราเหม่ออย่างนี้ นั่นมันไม่เสวย มันมีความรู้สึกไหม เสวยคือว่ามันคิดแล้ว จิตแท้ๆ มันเป็นธาตุรู้ แล้วมันเสวยอารมณ์ตลอด นี่ป้อน เอาความคิด เอากิริยาของใจป้อนเข้าไป กิริยานะ กิริยาป้อนเข้าไปที่ตัวใจ ป้อนพุทโธ ป้อนให้ความปล่อยวาง ป้อนเข้าไป กินธรรมเรื่อยๆ กินธรรมเรื่อยๆ ปัญญาธรรมไง กินจนมันอิ่ม พอมันอิ่มถึงจุดหนึ่งมันสลัด สลัดๆ สลัดไปเรื่อยนะ ให้มันอิ่มในตัวมันเอง

อย่างเช่น พิจารณากายกับใจ พิจารณาไปเรื่อย มันสลัดเป็นขั้นเป็นตอนไปเรื่อย บุคคล ๘ นะ มรรค ๔ ผล ๔ บุคคล ๘ จำพวก อิ่มจุดหนึ่งสลัดจุดหนึ่ง อิ่มจุดหนึ่งสลัดจุดหนึ่ง จนครบอิ่มเต็มตัวเป็นธรรมแท้เลย นั่นธรรมภายใน

มีอยู่ นี่ไง อาหารกาย อาหารข้างนอกสำรับข้างนอก ที่สำรับธรรมของพระพุทธเจ้า ใจเท่านั้นเป็นผู้เสวย ธรรมะอยู่ที่ใจ ใจเท่านั้นเป็นภาชนะใส่ธรรมไง ตู้พระไตรปิฎกนี่ก็กระดาษนะ เลอะหมึกพิมพ์ไว้ เอาไว้กราบไว้ไหว้ กราบธรรม กราบตู้พระไตรปิฎก ไม่ได้กราบธรรมในหัวใจเลย

ภาชนะ ความรู้สึกไง ภาชนะคือความรู้สึก มันมาใส่ความรู้สึก ใส่ความสุข

ธรรมะพระพุทธเจ้ากับหัวใจมันจะเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน จะมีใจเท่านั้นจะไปลิ้มรสของธรรมะพระพุทธเจ้า นั่นมันเสวยไง จากเสวยทุกข์ก็มาเสวยสุข แล้วก็เสวยธรรม แล้วก็อิ่มในธรรม เต็มในหัวใจ ธรรมทั้งแท่ง ไม่อยู่ในวัฏฏะแล้ว ถ้าไม่อย่างนี้แล้วมันยังวนอยู่ ถ้าใจนี้ไม่ได้เสวยธรรม มันเสวยทุกข์ พอมันเสวยทุกข์มันก็เสวยอยู่ในวัฏฏะนี้ มันก็วนไปสิ ทั้งเสวยทุกข์ด้วย ทั้งหมุนเวียนอยู่ด้วย มัน ๒ ชั้น ๓ ชั้นนะ

แต่ถ้ามันอิ่มธรรมแล้วนะ มันหลุดออกไปจากสมมุตินี้ สุขอยู่แล้วด้วย แล้วไม่หมุนเวียนด้วยเห็นไหม “นิพพานแท้”

ไม่ใช่นิพพานของคนเขาว่านิพพานของผู้มีกิเลส นอนหลับๆ อยู่นั่นน่ะมีความสุข นี่แหละสุข สุขของโลกเขา สุขแบบเบ็ดไง วิ่งหากัน วิ่งหาเหยื่อ เบ็ดมันเกี่ยวเอา ปล่อยไม่ได้ มันจะดิ้นแด่วๆ อยู่นั่นน่ะ นี่แหละอุปาทาน แก้ด้วยธรรมของพระพุทธเจ้า “อุปาทาน” ปล่อยอุปาทาน อุปาทานความยึดมั่น

พอมันมีอุปาทานมันยึด ยึดก็ทุกข์ พอยึดก็ไม่อยากให้แปรสภาพ ก็เป็นสมุทัย เป็นตัณหาความทะยานอยาก เป็นสมุทัยพอยึดแล้วนี่ แต่ถ้าไม่ยึดสิ ไม่ยึด ปล่อย ปล่อยก็อยู่ตามความเป็นจริง ไม่เขาก็เรามันต้องจากกันแน่นอน ทุกอย่าง ทั้งแม้แต่กายกับใจด้วยนะ กายกับใจมันต้องจากกัน แต่ผู้มีกิเลสล้นหัวหรือว่ามีธรรมะเต็มหัวใจก็ต้องสลัดกายนี้เหมือนกัน ถึงจุดหนึ่งแล้วกายก็ต้องจากกัน

ผู้มีธรรมะเต็มหัวใจก็ต้องสลัดกายนี้ทิ้งไว้เหมือนกัน พระพุทธเจ้าเห็นไหม พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว สรีระก็เผามาเป็นพระบรมสารีริกธาตุ หัวใจของพระพุทธเจ้าก็เป็นหัวใจพระพุทธเจ้าไปแล้ว กับถ้าผู้ที่กิเลสเต็มตัวมันก็ต้องทิ้งกายนี้เหมือนกัน กายนี้ก็ต้องแปรสภาพเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟเหมือนกัน แล้วหัวใจนั้นมันก็ต้องไปหมุนอยู่ในวัฏฏะนั่นล่ะ ถึงต้องสละเหมือนกัน

แต่เราจะสละอย่างไร แม้แต่กายกับใจยังต้องสละ ต้องแยกจากกัน ต้องแยกจากกันแน่นอน แล้ววัตถุใดมันจะไม่แยก แล้วความคิดใดมันจะมัดใจไปตลอด

ความคิดเรามันเปลี่ยนมาตั้งแต่เด็กมาจนโต แล้วจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเปลี่ยนไปทางดีหรือทางไม่ดี มันจะเปลี่ยนไปทางไหนถามสิ ทางดีขึ้นไหม ทางสูงขึ้นไหม ทางพ้นจากฉลามร้ายไหม จะลอยคออยู่ในทะเลอยู่นี่เหรอ อยู่ในวัฏวนนี่เหรอ ยังจะลอยคอวนอยู่ให้ฉลามมันงับอยู่อย่างนี้หรอ เราว่าเราโง่หรือเราฉลาด ถามตัว เราโง่หรือเราฉลาด เราฉลาดทำไมเราไม่เอาตัวเราพ้นไป

ชาวพุทธ พุทธะเป็นผู้รู้ “พุทธะ” พระพุทธเจ้าอยู่ในหัวใจของเราทุกๆ ดวง ยังมีกำหนดรู้สึกตัวตนอยู่ พุทธะอยู่ในหัวใจ พุทธะนะ แต่ไม่ได้เอาออกมา ไม่ได้ให้มันสว่างโพลงจากภายใน ถ้าพุทธะนี้สว่างโพลงจากภายในนั่นน่ะหมดกัน หมดกันเลย อย่างอื่นหมดสิ้น แต่นี่มันซุกอยู่ภายใน โดนกลบอยู่ไว้ไง หัวใจมันร่ำร้องอยากให้ช่วยเหลือ

ทุกข์อยู่ที่ใจ ใจเรียกร้อง ใจร่ำร้องอยากจะเป็นอิสระ อยากจะพ้นจากกรงขังของกิเลส แล้วไม่มีอะไรสามารถทำได้ ยกเว้นแต่ทุกข์กันอยู่นี่ ยกเว้นแต่ธรรมะพระพุทธเจ้า ยกเว้นแต่การวิปัสสนาญาณนี่แหละ สมถะ วิปัสสนาเท่านั้น เท่านั้นนะ อย่างอื่นไม่มีหรอก

สมถกรรมฐานคือปล่อยเพียงแต่ให้กิเลสมันยุบยอบตัวลงเพื่อให้มันมีกำลังจัดธรรมะขึ้นมาต่อสู้ แต่ถ้าเป็นโลกเต็มๆ เลย มันต่อสู้ไม่ได้เพราะกิเลสมันเต็มตัว แบบน้ำเป็นน้ำครำตลอดเลย น้ำคร่ำ น้ำสกปรก มันจะทำประโยชน์อะไรขึ้นมาได้ ต้องทำน้ำนี้ให้เป็นน้ำสะอาดก่อน น้ำนั้นถึงจะมารดต้นไม้ จากถ้ามันสะอาดน้อย รดต้นไม้เป็นประโยชน์ ถ้าสะอาดมากเราก็ใช้ดื่มกินได้

หัวใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้ากิเลสมันสงบตัวลง สมาธิธรรมนี้เข้าไปทำให้กิเลสนี้สงบตัวลง สงบตัวลงคือน้ำนั้นสะอาดขึ้น คือหัวใจสะอาดขึ้น แต่ถ้ากิเลสไม่สงบตัวลงด้วยสมาธินะ มันก็เป็นน้ำสกปรกอย่างนั้น เป็นน้ำเน่า มันน่าขยะแขยงไหม น้ำเน่าข้างนอก แล้วหัวใจเน่า ติดอยู่ในโลกนี่มันเน่าหรือไม่เน่า? มันเป็นเน่า มันเน่าหนองอยู่ในหัวใจเลยล่ะ มันกลิ้งอยู่ในโลกนี้ มันไม่สะอาดในตัวมันเอง นี่สมถกรรมฐาน

“วิปัสสนากรรมฐาน” น้ำสะอาดแล้วมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา น้ำสะอาดทิ้งไว้เดี๋ยวมันก็ระเหยขึ้นไปอยู่บนเมฆหมด น้ำสะอาดแล้วก็ต้องมาวิปัสสนา น้ำสะอาดก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง จิตที่สงบก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง จิตที่สงบกับจิตที่ฟุ้งซ่านก็ต่างกัน จิตที่สงบแล้วปล่อยให้มันเสื่อมไป ให้เป็นฟุ้งซ่านอย่างเก่า กับจิตที่สงบแล้ววิปัสสนาก็ต่างกัน

ของนี่อยู่ที่มือ เงินอยู่ที่บนมือ เราจะซื้ออะไรใช้ ถ้าเราฉลาด เงินนี้ก็เป็นคุณค่ากับร่างกาย ถ้าเราไม่ฉลาด เราก็ซื้อยาเสพติดเข้ามาเสพ สมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้น เท่านั้นเลยถึงจะทำให้เรารอดพ้นไปได้ รอดพ้นจากโทษภัยทั้งหมดใน ๓ โลกธาตุ โทษภัยจากโลกนี้นะ ยังโทษภัยจากมาร จากกรรม จากเวรนั่นน่ะ

“วิชามาร” เพราะมันขึ้นมาแล้ววิชามารมันหลอกนะ อย่าเข้าใจว่าพัฒนาเข้าไปมากๆ แล้วมันจะว่าดีไปตลอดนะ มันจะหลอกไปเรื่อยล่ะ วิชาธรรมก็มีวิชาเทพ

ถึงว่าอย่านอนใจ ชาวพุทธไม่ให้นอนใจ ให้มีวิริยอุตสาหะ พยายามนะ พยายามเอาตัวรอด สำรับมี ธรรมมี นั่งอยู่กลางวงข้าว นั่งอยู่กลางวงธรรมก็ชาวพุทธ นั่งอยู่ท่ามกลางศาสนา นั่งอยู่ท่ามกลางเลยนะ ช้าแล้วตลาดวาย อย่าให้ใจมันวาย อย่าให้ความเชื่อความศรัทธาอันนี้วาย

ธรรมะสอน พระพุทธเจ้าก็สอน สอนว่ากาลามสูตรนะ ให้ทดลองให้เกิดขึ้นจากใจ ไม่ให้เชื่อบุคคล ไม่ให้เชื่อว่าตามๆ กันมา ไม่ให้เชื่อว่าครูบาอาจารย์สอน ให้พิสูจน์นะ นี่ฟังธรรมแล้วพิสูจน์ขึ้นมา พิสูจน์ขึ้นมาก็เป็นพยานกันๆ นี่ถึงว่าไม่ให้วาย

เราว่าตลาดไม่วายก็เพราะว่าแรงดึงดูดอันนั้นเหรอ? ใช่มีส่วน แรงดึงดูดจากครูบาอาจารย์มีส่วน แต่แรงดึงดูดภายนอกมันจางได้ เห็นไหมพลังงานภายนอกเดี๋ยวมันก็หมด แบตต้องชาร์จอยู่ตลอดเวลา แต่พลังงานภายในของเราเอง ความเชื่อภายในสำคัญ ศรัทธา อจลศรัทธา ศรัทธาที่คลอนแคลน กับศรัทธาที่มั่นคง ต้องปลุกปลอบใจ

มันน่าเห็นใจ พูดถึงมันน่าเห็นใจ มันล้าน่ะเนาะ มันล้า มันทุกข์ มันยาก เอ! ทำไมเราทำขนาดนี้ ทำไมมันไม่ได้ผล ทำไมทำขนาดนี้ไม่ได้ผล

เราว่านี่ เราว่าเราทำมากแล้ว แต่ทำมากของเราเพราะเราไม่เคยทำ พระโสณะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้านะ พระพุทธเจ้าสอนแท้ๆ นะ เดินจงกรม เดินไปกลับ ไปกลับจนฝ่าเท้าแตก เลือดแดง พระพุทธเจ้าเดินมาเยี่ยมนะ มาเห็นทางตรงนั้นตกใจ ฟังนะ

“ที่ตรงนี้เป็นที่เชือดโคของใคร”

ฟังสิ เลือดมันแดงไปหมด ขนาดพระพุทธเจ้ายังสงสารขนาดนั้นนะ

พระจักขุบาลไม่นอนทั้งพรรษา แล้วพอไปถึงปลายๆ พรรษามันทุกข์แล้วตาเจ็บ ไปให้หมอดู หมอบอกเลยนะ

“ถ้าไม่นอนไม่พักตา ตาจะบอด”

“บอดก็บอด”

สู้นะ จนตามันเจ็บอยู่แล้วนะ พอไปท้ายๆ พรรษา ตาเจ็บน่ะบอดเลย ก่อนมันจะบอดมันจะเจ็บปวดมากนะ ก็วิปัสสนาเต็มที่เลย พอตาเริ่มฟางบอดปั๊บ หัวใจในบานสำเร็จทันทีเลย พระจักขุบาล ในตำราสอนไว้ ในตำราพระไตรปิฎกว่าไว้เลยนะ ในธรรมบทแปล ว่าตาบอดพร้อมกับหัวใจบาน สิ้นกิเลสไปพร้อมกัน นั่นฟังดูสิ นั่นล่ะมันความเพียรอย่างนั้น มันถึงว่าชำระกิเลสกัน

แล้วเราถึงถามตัวเองว่าเราก็ทำมากขนาดนี้ “มากขนาดเราว่า” มากขนาดที่เราทำนี่ไง มันไม่ใช่มากขนาดที่ว่าพอสมควรแก่ธรรม

คำว่า “สมควรแก่ธรรม” สมควรแก่ว่ากิเลสมันมาก ธรรมะมีน้ำหนักมากกว่า

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สมควรแก่ธรรมที่จะชำระกิเลส ไม่ใช่สมควรแก่กิเลสว่ามากแล้ว พักเหอะ ไอ้ที่เราทำมันทำสมควรแก่กิเลส กิเลสว่า อู๋ย!ทำมาก เราทำมามากเหลือเกิน นี่สมควรแก่กิเลส ไม่สมควรแก่ธรรม

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมต้องเห็นธรรมแน่นอน” พระพุทธเจ้าว่าไว้อย่างนั้นนะ

พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าตอนพระพุทธเจ้าจะนิพพาน

“พระพุทธเจ้านิพพานแล้วจะหมดเขตหมดกาลอีกเมื่อไร”

พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์นะ“พระอานนท์อย่าถามอย่างนั้นเลย ถ้าในโลกนี้ยังมีผู้ปฏิบัติอยู่” ฟังสิ “ถ้าในโลกนี้ยังมีผู้ปฏิบัติอยู่ จะไม่สิ้นจากพระอรหันต์เลย”

ไม่สิ้น! จะมีพระอรหันต์ตลอดไป มันจะขาดแต่ว่าในโลกนี้ผู้ปฏิบัติจะน้อยลง แล้วจะไม่เชื่อ แล้วจะไม่ปฏิบัติต่างหาก ธรรมะถึงจะหมดไป ธรรมะจะหมดต่อเมื่อไม่มีคนเชื่อแล้วไม่มีผู้ปฏิบัติ ตัวธรรมะไม่หมด แต่คนเชื่อ คนปฏิบัติไม่มี นี่เหมือนกัน ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วมันจะไม่ได้ผลตรงไหน ตรงไหนที่มันจะไม่ให้ผล

เพราะพุทธพจน์นะ พุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าว่าไว้หมดเลย แล้วใครจะค้านได้ พระพุทธเจ้าเป็นหนึ่ง คำพูดยิ่งเป็นหนึ่งใหญ่ พระพุทธเจ้ามีองค์เดียว ไม่มีสอง ไม่มี หนึ่งแล้วก็ไม่พูดปด ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำที่เป็นสอง ต้องหนึ่งลูกเดียว สัจจะอย่างเดียว แล้วก็มีครูบาอาจารย์ทำตามๆ มา มันก็มีตัวอย่างมาตลอด ทำไมเราจะทำไม่ได้ ทำไมว่าเราจะโดนหลอก มันจะว่าเราโดนหลอกน่ะสิ

“ทำไมธรรมะสมัยพระพุทธเจ้าทำง่ายแท้ ทำไมสมัยเราทำยาก”

สมัยพระพุทธเจ้า สมัยเราทุกข์อันเดียวกัน สมัยนั้นก็ทุกข์ เป็นอริยสัจเหมือนกัน สมัยนี้ก็ทุกข์เหมือนกัน ก็ทุกข์เหมือนกัน ธรรมะเหมือนกัน ทำไมแก้ไม่ได้

เวลามันหิวขึ้นมา ทำไมกินข้าวแล้วมันอิ่มล่ะ เวลาท้องหิวกินอาหารเข้าไปก็อิ่ม ทุกข์ก็เหมือนกัน เวลาทุกข์ปฏิบัติธรรมก็ต้องหาย แต่นี่เวลาปฏิบัติธรรมมันไปคลุกอยู่กับ...(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)