เทศน์เช้า

ศรัทธาสำคัญ

๑๗ ม.ค. ๒๕๔๔

 

ศรัทธาสำคัญ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความเชื่อ.. ความเชื่อความศรัทธาของใจ เวลาเราเลี้ยงร่างกาย เราเอาอาหารใส่ปากกินเป็นอาหาร แต่ใจกินอะไรเป็นอาหาร? ใจกินอารมณ์เป็นอาหาร กินบุญกุศลเป็นอาหาร อาหารของใจ ถ้าอาหารของใจเป็นอาหารที่ดี ใจก็ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าอาหารของใจเป็นอาหารที่มีพิษ ความโกรธ ความหลง เห็นไหม

ความหลงนะเราไม่รู้เรื่องเลย ความโกรธนี่มันเห็น เวลาเราโกรธมันเดือดร้อน แต่เวลาหลงนี่เราไม่รู้เลยว่าเราหลง เพราะเราคิด พอเราคิดคิดว่าเราถูก เราทำไป พอทำไปแล้วมันเป็นอดีตอนาคตตรงนี้ ตรงที่เวลาผลเกิดขึ้นมา มันจะให้ผลเป็นความเจ็บปวดแสบร้อน เพราะเราหลง เราหลงทำอะไรไปแล้วมันจะไม่ได้ผลตามที่ความเป็นจริง เพราะเราหลง

ความหลงไปมันไม่ตามความเป็นจริง ทำไปโดยตามความไม่เป็นจริง ผลจะให้ตามความเป็นจริงไปไม่ได้ แต่! แต่มันเป็นความเป็นจริงของกิเลส ความเป็นจริงของเรา เราทำจริงๆ หลงจริงๆ

เขาว่าศรัทธาความเชื่อ ความเชื่อนี่ถ้าพูดถึงว่าเวลาทางนี้ โลกนี่เขาจะต่อต้านกันมากว่าความเชื่อจะทำให้คนหลงใหล แต่ต้องอาศัยความเชื่อเพื่อเกิดมีกำลังใจ ความเชื่อนี่เป็นสิ่งที่ว่าประเสริฐมาก ถ้าเราไม่มีความเชื่อไม่มีความศรัทธา เราจะไม่รับรู้สิ่งใดๆ เลย เราจะปิดกั้นทั้งหมดเลย เราจะถือตัวตนของเราเป็นใหญ่ ถือตัวเรานี่เป็นที่ตั้งแล้วถือตัวเราเป็นใหญ่ จะไม่ยอมฟังใครทั้งสิ้น

มันถึงต้องมีความเชื่อความศรัทธา เชื่อในอะไร? เชื่อในศาสนา ทุกคนจะมีความเห็นของตัวเองเป็นหลัก แล้วตัวเองก็คิดเองว่าตัวเองพึ่งตัวเองไม่ได้ ตัวเองนี่พึ่งตัวเองไม่ได้หรอก เพราะมันว้าเหว่ มันทุกข์มันร้อน มันไม่สามารถจะเอาความทุกข์นี่ออกจากใจได้ มันถึงต้องเชื่อศาสนา

ความเชื่ออันนี้เป็นความเชื่อของโลก ความเชื่อของเขานี่ความเชื่อในศาสนา แล้วความเชื่อนี้ พอเชื่อในศาสนามันถึงจะเกิดการกระทำ การกระทำอันนั้นที่ว่าหลงไม่หลงอยู่ตรงนี้ ถ้าเราทำคุณงามความดี เราทำความถูกต้อง คุณงามความดีของเรามันจะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างเช่นพอเราทำบ่อยเข้าๆ เราจะเห็นความผิดพลาดของเรา

เรามาทำบุญกุศล เมื่อก่อนเรามาทำบุญกุศล เราจะไม่พอใจเลยที่ทำอย่างนี้ เพราะวัดอื่นๆ เขาทำอีกอย่างหนึ่ง ถ้าวัดอื่นๆ ทั่วไปเขาต้องถวายเป็นพิธีกรรม พอพิธีกรรมแล้วจะว่าอันนี้เป็นบุญกุศล มันก็ขัดอกขัดใจ เราจะมีความขัดอกขัดใจเลย ขัดว่ามันไม่สมกับความเห็นของเรา

แต่พอเรามองไปนานเข้าๆ ทำอย่างนี้มันสะดวก มันสบาย มันเป็นเนื้อหาสาระเป็นความจริง ความจริงเพราะอะไร? เพราะเราคิดจะถวายทาน เราคิดตั้งแต่ทีแรกแล้ว เราอยากให้ทาน พอเราไปให้ทานเราก็ถวายไปเลย เห็นไหม มันมีความคิดแบบผู้ใหญ่ ไม่ต้องอาศัยพิธีกรรมมาเป็นเครื่องหล่อหลอมใจอีกทีหนึ่ง

เราอยากไปวัด เอาของไป แล้วพอไปที่วัดแล้วต้องทำพิธีกรรม เพื่อตัดความผูกพันของเราไง เพื่อตัดว่าให้มันเป็นความให้ด้วยความเชื่อ ให้ด้วยความจริงจัง แต่ในความให้ด้วยเห็นคุณกับให้ด้วยความเชื่อต่างกัน

จากที่ว่าพัฒนาขึ้นไป จิตพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เราให้ด้วยความเห็นคุณ เพราะเราสละออกไป บุญกุศลจะเข้ามาถึงใจเรา แล้วมันจะสะสมลงมาที่ใจ พอทำนานเข้าๆ มันจะเห็น เห็นไหม นี่จิตที่มันพัฒนาขึ้น พัฒนาเนื่องจากว่าเมื่อก่อนถ้าไม่ทำอย่างนี้จะว่ามันไม่ใช่บุญกุศล แต่พอทำความเข้าใจไปถึงถวายปั๊บ ท่านรับแล้ว

อันนั้นเป็นเนื้อหาสาระของการบุญกุศล คือการให้ ผู้ให้ให้ด้วยความคิดว่าอยากให้ ขณะที่ให้ ให้แล้ว ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ ขณะที่รับ เห็นไหม อันนี้เป็นไทยทานที่เขาถวายมา เขาให้มา รับด้วยความบริสุทธิ์ ตักด้วยความบริสุทธิ์ ใช้ด้วยความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ปฏิคาหกนี้เป็นสิ่งที่ให้บุญกุศลมากที่สุด ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ขณะให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ให้แล้วด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง บุญกุศลจะมหาศาล

แต่ถ้าเป็นพิธีกรรมมันตะขิดตะขวงใจ ตะขิดตะขวงใจว่าเมื่อไหร่จะเป็นอย่างนั้น เมื่อไหร่จะเป็นอย่างนี้ พิธีการว่าแล้วมันผิดพลาดไป มันจะไม่ได้ นั่นคือการกระทำที่ผิด เห็นไหม การกระทำที่ผิดมันก็จะผูกพันกับใจไป นี่เวลาให้ถูกให้ผิด การกระทำที่ผิดการกระทำที่ถูก แล้วพอการกระทำที่ถูกแล้ว การประพฤติปฏิบัตินี่มันจะเป็นศรัทธา เป็นความเห็น เห็นไหม ความเชื่ออันนี้มันจะเกาะเข้าไปเพราะอะไร? เพราะเราผ่านการประพฤติปฏิบัติ ผ่านการพิจารณาเข้าไป

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าการกระทำของตัวเอง มันเอาตัวเองเป็นใหญ่ พอตัวเองเป็นใหญ่ ตัวเองคิด คำสอนจะสอนขนาดไหนก็แล้วแต่ เวลาทำไปจะต้องมีตัวเราเคลือบแคลงเข้าไปด้วย มีตัวเราเอนเอียงเข้าไปในความเห็นที่ประพฤติปฏิบัติ แล้วพอทำบ่อยเข้าๆๆ จนเข้าถึงเนื้อหาสาระของมัน

พอเข้าถึงเนื้อหาสาระของมัน มันจะเป็นไปธรรมชาติของมัน พอเป็นธรรมชาติของมัน มันจะเป็นตามความเป็นจริง พอเป็นตามความเป็นจริงมันหลุดออกไปไง ความเห็นที่มันกระทำแล้วมันจะหลุดออกไป คือว่ามันเหมือนสะสมประสบการณ์ตรงเข้ามาถึงใจ พอใจผ่านนั้นเข้าไปแล้ว ศรัทธาก็เกิดขึ้นอีก ศรัทธาอันนี้เกิดขึ้น เห็นไหม ศรัทธาที่ผ่านการประพฤติปฏิบัติ ศรัทธาที่ผ่านประสบการณ์ตรงเข้าไปแล้ว มันเห็นตามความเป็นจริงมันจะปล่อยวางตามความเป็นจริง อันนี้ก็เป็นความเชื่อ แต่เขาไม่รู้ว่าอันนี้เป็นความเชื่อไง

ความเชื่อไง ศรัทธา อจลศรัทธา ศรัทธาที่คลอนแคลนอยู่ ศรัทธาที่มีเรายึดมั่น เรามีความเห็นของเราเอาเข้าไปปนเปด้วย ความเห็นของเรา เห็นไหม กับประพฤติปฏิบัติเห็นตามความเป็นจริง พอเห็นตามความเป็นจริงมันเป็นอกุปปะ จิตนี้มันชำระกิเลสแล้วหลุดออกไป อันนี้ยิ่งกว่าศรัทธา เพราะเป็นอจลศรัทธา

ฟังสิ! ศรัทธาของในศาสนามีศรัทธาปกติ ศรัทธาทั่วไป กับอจลศรัทธา อจลศรัทธามันเข้ากับอกุปปธรรม เห็นไหม อจลศรัทธาคือศรัทธาที่ไม่คลอนแคลน ไม่บ่ายเบี่ยง ต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้เป็นรัตนตรัยโดยสมบูรณ์ ใครจะว่ากล่าวขนาดไหนจะไม่เบี่ยงเบน ไม่เป็นไป ไม่หลงไป ไม่ผิดพลาดไปจากไตรสรณคมน์ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย จะเป็นอจลศรัทธาที่แน่นอนตายตัวในใจนั้น แล้วใจดวงนั้นจะเกิดตายอีกก็มีขอบเขต เพราะอะไร? เพราะเข้ากระแสแล้ว ถ้าเข้ากระแสถึงจะเป็นอจลศรัทธา อจลศรัทธาก็เป็นความเชื่อใช่ไหม?

นี่เราไปดูถูกความเชื่อๆ ความเชื่อคือกำลังใจ กำลังใจของเรามันต้องมี ถ้ามีกำลังใจ มีความเชื่อมีศรัทธาขึ้นมา แล้วมันจะประพฤติปฏิบัติเข้าไปจนกลายเป็นอจลศรัทธาเข้าไป เป็นบุคคลที่จะต้องศึกษาต่อไป เสขบุคคลกับอเสขบุคคล ต้องศึกษาไปๆ จนถึงที่สุดไง ถึงที่สุดเป็นอเสขบุคคล ไม่ต้องศึกษาอีก เห็นไหม ถึงไม่ต้องอาศัยศรัทธาอีก

ศรัทธานี้เป็นอาการของใจ ใจนี้ยังเกิดยังตายอยู่ เราหาบุญกุศลมาใส่ใจของเราให้เรามีกำลังใจขึ้นไป หาบุญกุศลมาใส่ใจกันไป นี้ถ้าเราคิดว่าศรัทธานี้มันเป็นความเชื่อ มันไม่เป็นไปต้องใช้แต่ปัญญาๆ ปัญญามันเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์เหมือนกัน เป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าเป็นประโยชน์มากต้องอาศัยศรัทธา มันถึงจะเป็นปัญญาในภาวนามยปัญญา

ถ้าไม่มีศรัทธาเลย มันก็เป็นความคิดของเรา มันก็เป็นโลกียะเหมือนกัน ถ้าศรัทธามันหลง แล้วปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญาก็ปัญญาโจรไง ปัญญาขี้โกง เห็นไหม คนที่มันจะโกงกัน ปัญญามันมากมายขนาดไหน มันหาเล่ห์เหลี่ยมให้เราจับมันไม่ได้เลย อันนั้นก็เป็นปัญญาเหมือนกัน แต่ปัญญาในทางโกง

ถ้าศรัทธาในทางสัมมา สัมมามันเข้ามา พอมันเข้ามามันก็เป็นไปโดยธรรมชาติของมัน แล้วเกิดอจลศรัทธาขึ้นมา นั่นยิ่งสัมมาเข้าไปใหญ่เพราะมันผ่านมรรคแล้ว มรรคมันผ่านไป มันวิปัสสนาไปรอบหนึ่ง มันรู้เท่าวงจรรอบหนึ่ง แล้วมันปล่อยวางไปตามความเป็นจริงกลายเป็น อจลศรัทธาขึ้นมา อจลศรัทธาขึ้นมานี้ก็ฝังไปอยู่ที่ใจดวงนั้น

ในเมื่อยังต้องเวียนตายเวียนเกิด ในเมื่อยังต้องก้าวเดินต่อไป มันต้องอาศัยอาหารนี้ไปตลอด จนกว่ามันถึงที่สุดของการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม จะว่าศรัทธาก็ไม่ใช่ ไม่ศรัทธาก็ไม่ใช่ มันรู้อยู่ในใจของมันเองเพราะมันปล่อยวางหมด มันขาดออกไปจากใจหมด แต่ขณะที่ยังต้องดำเนินอยู่ ต้องก้าวเดินอยู่ ต้องอาศัยอจลศรัทธา ศรัทธานี้ไม่คลอนแคลนขึ้นไป

มันถึงว่าเราถึงเห็นคุณค่าของความศรัทธา (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)