ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

นิพพานชอบ

๑๒ มิ.ย. ๒๕๕๓

 

นิพพานชอบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้เขาถามแปลกมากเลยล่ะ แล้วพูดไปมันเหมือนกับเรื่องที่ว่ามันสูงมาก แต่ว่าเราดูเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ถามเรื่องนิพพานวันนี้ แล้วมันเข้าเว็บไซต์มาด้วย วันนี้จะตอบเรื่องนิพพานนะ ไม่รู้ว่าพานอะไร พานแว่นฟ้าหรือเปล่าก็ไม่รู้ เอาเนาะ

ถาม : ปัญหาที่ ๙๙ เนาะ การรักษาศีล ๕ ที่ยั่งยืน เมื่อก่อนกระผมทำผิดศีล ไม่สามารถรักษาศีลได้แม้แต่ข้อเดียว ไม่เคยมีความสุขที่ยั่งยืนเลย มีแต่เรื่องตลอด ขนาดนี้กระผมพยายามจะตั้งใจและรักษาศีลให้มากที่สุด เลยมีคำถามว่า กระผมจะทำอย่างไรจะรักษาศีล ๕ ให้ยั่งยืนตลอดไป กราบขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : รักษาศีล ๕ นี่ เวลาเราคิดเห็นไหม นี้พูดเรื่องการรักษาศีล ๕ ก่อน ศีลก็คือศีล ศีลคือกฎหมาย ศีลคือข้อห้าม ถ้าเรารักษาความปกติของเรา กฎหมายเขาเขียนไว้อยู่ในกฤษฎีกา เขาไม่มาทำลายเราหรอก ถ้าเราไม่ได้ทำความผิด

แต่ถ้าเราทำความผิดเห็นไหม ศีลคือข้อบังคับ แต่ถ้าเรารักษาให้ยั่งยืน รักษาใจเราไง เรามีสติแล้วรักษาใจเรา เวลาเราผิดพลาดขึ้นไป เขาเรียกว่าสองขายังรู้พลาด การกระทำมันจะมีความผิดพลาดบ้าง เพราะคนเรามีเวรมีกรรม

เพราะมีคนมาถามปัญหาบ่อย เวลาขับรถมา เวลารีบๆ มาเห็นไหม ขับรถมาเร็วมาก แล้วหมาวิ่งตัดหน้า ทุกคนจะเสียใจนะ บอก โอ๊ย นี่หลวงพ่อ ขับรถชนหมาตาย เราบอกว่าเอ็งไม่คิดว่าหมามันมาชนรถมึงตาย อ้าว มันเป็นเรื่องสุดวิสัย เราขับรถมาด้วยความเร็วบนถนนของเรา แล้วมันวิ่งมาตัดหน้าด้วยความกระชั้นชิด ไม่มีใครต้องการจะทำหรอก แต่เวรกรรมของสัตว์ เขาก็มีเวรกรรมของเขา เราก็มีเวรกรรมของเรา

ฉะนั้นไอ้ความผิดพลาดของเรานะมันมี ทีนี้ความผิดพลาดของเรานะ ดูสิเราจะอยู่คนเดียวได้อย่างไร เราก็มีสายบุญสายกรรม คนถูกชะตาคนไม่ถูกชะตามันมีของมันเป็นธรรมชาติของมัน ฉะนั้นสิ่งที่ไม่ถูกชะตามันก็กระเทือนใจของเรา เราก็รักษาจิตของเรา ฉะนั้น เวลาความผิดพลาดเขาไม่ชอบหน้าเรา อย่างเช่น เราขับรถไปบนถนนเห็นไหม ขับไปดีๆ อยู่ในกฎจราจรนะ รถมันมาชนท้ายตูม! เลย เราไม่ได้ตั้งใจอะไรเลย นี่! เวรกรรมมันมี

แล้วไอ้เรื่องว่าจะถือศีลด้วยความบริสุทธิ์ แล้วจะไม่ให้มีผิดอะไรเลย มันก็เหมือนก้อนหิน เหมือนโต๊ะ เหมือนเตียง มันไม่ได้ทำความผิดพลาดอะไรเลย ยกไปตั้งมันก็ตั้งอยู่อย่างนั้นนะ มันไม่มีชีวิต คนเรามีชีวิตขึ้นมาเพราะสายบุญสายกรรม มันมีการกระทำมา คนเรามีกรรมเก่ากรรมใหม่ กรรมเก่าคนเรามีนะ ถ้ากรรมเก่าคนเราไม่มี ทำไมเราเจ็บไข้ได้ป่วย มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ โรคเวรโรคกรรมก็มีนะ

การเจ็บไข้ได้ป่วยมี ๓ ชนิด โดยธรรมชาติของการเจ็บไข้ได้ป่วย

๑.ทางวิทยาศาสตร์ คือการเสื่อมสภาพของร่างกายนี้ เรื่องนี้เรื่องทางการแพทย์ ความเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องการเสื่อมสภาพ เรื่องร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องของโลก

๒.เจ็บไข้ได้ป่วยเรื่องของเวรของกรรม

๓.เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยการอุปาทาน

นี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก เจ็บไข้ได้ป่วยมีอยู่ตามอย่าง อย่างหนึ่งก็ไม่เป็นไรหรอก นึกว่าเป็น อุปาทานจนเป็นนะ อีกอย่างก็เรื่องเวรเรื่องกรรมมันสุดวิสัย แม้แต่หมอก็ตรวจไม่ได้ เข้าไปในคอมพิวเตอร์ เช็คแล้วเช็คอีก เช็คแล้วเช็คอีกก็ไม่รู้หรอก แต่ถ้ามันหมดเวรหมดกรรมนะ คอมพิวเตอร์เช็คแล้วเจอเลย นี่สายบุญสายกรรมเห็นไหม ฉะนั้นเรามีเวรมีกรรม เราไม่ใช่วัตถุ เราไม่ใช่สิ่งไม่มีชีวิต ร่างกายนี้มันเป็นวัตถุ แต่ว่าจิตใจมันเป็นนามธรรม

ฉะนั้น การรักษาศีลให้มั่นคงเห็นไหม รักษาใจเรา มีความชื่นๆ ในใจเรา ถ้ามีใจเราๆ ตื่นตัวตลอดเวลาเห็นไหม ศีลจะเป็นปกติ ศีลคือความปกติของใจ พอรักษาศีลขึ้นมา พอใจมันมีศีลขึ้นมา ใจมันก็มีคุณธรรมเห็นไหม สิ่งที่เป็นวัตถุ โต๊ะ เก้าอี้ต่างๆ มันไม่ทำผิดศีล เพราะตั้งตรงไหนก็ตั้งอยู่ตรงนั้นนะ ปัดให้สะอาด อย่าไปตั้งทับสัตว์ ไม่ได้ ทับสัตว์ๆ เห็นไหม มันสะอาดของมัน มันไม่ผิดศีลเลย มันตั้งอยู่อย่างนั้นนะ แล้วมันก็ไม่ได้อะไรหรอก เอาตั้งไว้โชว์

ดูสิ เขาเล่นของเก่าเห็นไหม โอ้ เอามาตั้งโชว์ ใส่ตู้โชว์ไว้ โอ้โฮ ศีลมันบริสุทธิ์ เพราะมันไม่ได้เบียดเบียนใครเลย แต่ไอ้เราสิมีความรู้สึก ฉะนั้นความรู้สึกอันนี้ ศีลบริสุทธิ์มันบริสุทธิ์ที่นี่ ถ้าเรามีสติมีปัญญาของเรา เรารักษาของเรา ความผิดพลาดเพราะเรามีชีวิต เรามีการเคลื่อนไหว ความผิดพลาดเพราะพลั้งเผลอ ความผิดพลาดต่างๆ นี่ ผิดพลาดแล้วเราก็ตั้งใจ วิรัติเอาใหม่ ฝึกไปอย่างนี้มันจะดีขึ้น

กระผมอยากถาม รักษาศีลให้ยั่งยืน ถ้ายั่งยืนขึ้นมา เพราะตอนนี้จิตใจเราดีไง พอจิตใจเราเริ่มถดถอยขึ้นมานี่ มันก็ เอ่อ

มีคนพูดมากเลย ขอถือศีล ๔ ศีล ข้อสุราขอยกเว้น ใครๆ ก็ขอยกเว้นเห็นไหม เวลามันถอยแล้วนะขอ ๔ ข้อไง ข้อหนึ่งไม่เอาแล้ว แต่ถ้าตอนนี้สติมันดีขอ ๕ ข้อ ศีล ๕ เพราะอะไรล่ะ เพราะจิตใจของเรา อันนี้จิตใจของเราก็ดี นี่การรักษาศีลที่มั่นคง ฉะนั้นจิตใจมันมั่นคงมันดีขึ้นมา ไม่ใช่รักษาศีล เขียนศีล ๕ สักไว้หน้าผากเลย มีกฎกติกา ๕ ข้อ แต่จิตใจปล่อยให้มันเหลวไหล เห็นไหม

หลวงตาบอกว่า รักษาศีลไม่รักษาศูนย์ รักษาศูนย์เพราะว่าจิตใจเราอ่อนแอ จิตใจเราไม่มั่นคง ถ้าจิตมันมั่นคงขึ้นมามันจะเป็นมา พอเป็นมามันจะมาเสริมกัน พอมันมั่นคงขึ้นมาเพราะมันมีความอบอุ่น มีความมั่นใจว่าเราทำคุณงามความดี ทำคุณงามความดีไปเรื่อยๆ มันก็กลับมาจนเป็นอธิศีล

อธิศีลไม่ต้องทำอะไรเลยนะ อธิศีลมันเป็นศีลอัตโนมัติเลย อธิศีลมันไม่มีอะไรผิดเลย เป็นศีลโดยใจ ใจเป็นศีลโดยธรรมชาติเลย แต่ใหม่ๆ นี้ยัง เงอะงะ เงอะงะ อยู่ เพราะว่าความรู้สึกกับใจมันคนละอันกัน พอใจมีพลังงานใช่ไหม ความรู้สึกมันเคย นี้ก็ผิด นี้ก็ผิด นี้ก็ผิด เกร็งไปหมดเลย แต่พอมันเป็นอันเดียวกันแล้วนะ เป็นอธิศีลแล้วนะ โอ้ สบายมาก รักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ ถ้าเวลามันผิดพลาดก็ว่ากันไป สิ่งใดผิดพลาดมี เวรมีกรรม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะปรินิพพาน เวลาไปถึงแหล่งน้ำที่มันขุ่นเห็นไหม

“อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน ขอน้ำให้เราได้ดื่มเถอะ” พระอานนท์จะไปตักแล้วตักอีกเห็นไหม สุดท้ายตัดสินใจตักมาให้เลยนะ น้ำขุ่นๆ ก็ใสขึ้นมา

“สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยเป็น ได้เป็นขึ้นมาแล้ว อานนท์” เป็นอย่างนี้เองอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะอำนาจวาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน้ำนั้นจึงใส แต่เพราะเราเคยมีกรรมมีเวรมา เคยเป็นพ่อค้าโคต่าง เวลาจูงวัวไป ดึงวัวไว้ นี่! กรรมเห็นไหม เวรกรรมมันมี

ฉะนั้นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมี เศษ สอุปาทิเสสนิพพาน จะไปนิพพานยังมีเศษบุญเศษกรรมตามมา เศษบุญเศษกรรมไม่ใช่เรื่องอริยสัจ ไม่ใช่เรื่องความจริงในหัวใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีทุกข์ เราเป็นคนกระหายน้ำ เรารู้เองว่าเรากระหายน้ำเราจะทุกข์ไหม เราไม่เห็นทุกข์เลย เพราะเรากระหายน้ำ แต่กระหายน้ำถ้าเราดื่มน้ำมันก็มีความสุขใช่ไหม ถึงว่าอานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน แต่ไม่ใช่ความทุกข์ ความกระหายเพราะร่างกายเรามันต้องการแค่นั้นเอง

เวลาเราเดินอยู่ ปกติเราเหงื่อไหลไคลย้อย เหงื่อมาจากไหน เหงื่อก็มาจากน้ำในร่างกายของเรานี้แหละ แล้วเป็นทุกข์ไหมล่ะ อ้าว ก็เหงื่อไหล แต่ถ้าเป็นเด็กๆ มันทุกข์นะ มันไม่ยอมให้เหงื่อไหล มันบอกเหงื่อไหลเป็นโทษ มันเพ่งโทษตัวมันเอง ทุกข์เพราะมันไม่เข้าใจ

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นไม่มีทุกข์ ฉะนั้นรักษาศีลด้วยความบริสุทธิ์ก็รักษาใจเราให้ดี

ถาม : ปัญหาที่ ๑๐๐ กราบนมัสการผมมีข้อสงสัย จะเรียนถามพระอาจารย์ครับมีหลวงพ่อองค์หนึ่งเคยบอกไว้ว่า แดนพระนิพพาน:
ผู้ที่จะเข้าใจพระนิพพานได้ถูกต้อง คือ ผู้ที่เข้ากระแสพระนิพพาน คือ อริยมรรค เช่น พระโสดาปัตติมรรคจนถึงพระอรหันต์ หรือท่านผู้ที่ฝึกมโนมยิทธิจิตเป็นทิพย์ สัมผัสพระนิพพานได้ตามความเป็นจริง หรือพระที่มีฌานสมาบัติถอดจิตออกไปนมัสการพระพุทธเจ้าที่พระจุฬามณี หรือพระพุทธเจ้าที่พระนิพพาน พระนิพพานมีลักษณะดังนี้
1. นิพพานเป็นแดนทิพย์ แดนอมตะ มีสภาวะสะอาดบริสุทธิ์สดใส สว่าง ไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ สว่างด้วยแสงแก้วมณีโชติช่วงยิ่งกว่าเพชร
2. พระนิพพานเย็นสบายไม่ร้อนไม่หนาว
3. กว้างใหญ่ไพศาลมากกว่าโลกหลายล้านเท่า เป็นดินแดนที่มีขอบเขตไม่จำกัด พื้นที่สามารถขยายได้โดยอัตโนมัติ
4. นิพพาน มีความแน่นอน ไม่เปลี่ยน ไม่สูญสลาย เป็นไปตามความจำเป็น เช่นกายทิพย์นิพพานจะนั่งก็มีที่รองนั่งมารับทันทีโดยไม่ต้องคิดเนรมิตเหมือนสวรรค์
5. นิพพานเป็นสถานที่เป็นทิพย์ที่ละเอียดยิ่งกว่าสวรรค์ พรหม เป็นทิพย์ที่ถาวร สวรรค์ พรหม เป็นทิพย์แต่เป็นชั่วขณะตามบุญบารมีหมดบุญก็ต้องจุติใหม่ (แต่เทวดาก็ปฏิบัติธรรมเบื้องบนเลื่อนระดับถึงพระนิพพานได้ โดยที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ก็ทรงแสดงธรรมสั่งสอนเทวดา พรหม ที่มีบุญบารมีสูง เคารพพระพุทธศาสนา )
6. นิพพานไม่มีขันธ์ 5 ธาตุ 4 ไม่มีสัตว์ คน ผู้ที่นิพพาน ท่านเรียกว่า พระอรหันต์ พระวิสุทธิเทพ พุทธกายหรือ ธรรมกาย (มีศาสนาพุทธเท่านั้นที่มีพระอรหันต์ ศาสนาอื่นเช่น ศาสนาพราหมณ์สูงสุดก็คือพระอนาคามี )
7. แดนนิพพานมองด้วยสายตาหรือกล้องส่องทางไกลไม่เห็น อยู่ไกลจากสุริยจักรวาลมาก ไปได้ด้วยจิตที่มีสมาธิ ปราศจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม อวิชชา ที่ติดขันธ์ 5 ในโลก
8. นิพพานนังปรมังสุญญัง นิพพานสูญจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชา อกุศลกรรม สูญจากขันธ์ 5 สูญจากดิน น้ำ อากาศ ไฟ สูญจากทุกข์ทั้งปวง สูญจากอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สูญจากวัฏสงสารการเวียนว่ายตายเกิด สูญจากสังโยชน์ 10 สูญจากนรก โลก สวรรค์ พรหม
9. นิพพานไม่สูญจากจิตบริสุทธิ์ ท่านเรียกว่า พระวิสุทธิเทพ คือ เทพที่มีจิตสะอาดบริสุทธิ์ จากเครื่องเศร้าหมองกิเลสร้อยรัด สังโยชน์ 10 อย่าง
10.นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งเหนือคำพรรณนา จึงกล่าวนิพพานมีทุกอย่างที่โลกไม่มี จิตมีอิสรเสรี จะไปไหนได้รวดเร็ว จะมาโลกนี้ก็ได้ จะเห็นอะไรได้ทั่วจักรวาลเพราะจิตเป็นทิพย์ไม่มีอะไรปิดบัง จิตพ้นจากกรงขังของขันธ์ 5 หรือกรงขังของกายคน กายเทพ กายพรหม
11. กายทิพย์พระนิพพาน เบายิ่งกว่าอากาศ ตามองไม่เห็น มีศีรษะ มีตา มีมือ มีขา 2 ขา ไม่มีเพศ ไม่มีอวัยวะภายใน ไม่มีกระดูก ไม่ต้องกินต้องถ่าย ไม่เหนื่อย ไม่ต้องทำงาน หมดภาระทุกสิ่ง ไม่มีคำว่าตาย
12. พระท่านที่อยู่พระนิพพาน มีความสุขมาก ท่านก็เป็นห่วง กลัวคนจะตกนรก กลัวลูกหลานไม่ถึงนิพพาน เป็นห่วงแต่ท่านไม่ทุกข์ มีอุเบกขา พระพุทธเจ้าและพรอรหันต์ยังคอยช่วยเหลือมนุษย์ที่ปฏิบัติดีตลอดเวลา คอยประคับประคองจิตคนให้เดินถูกทาง ไม่หลงไปทางมืดทางอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นคนพิการคนยากจนเป็นต้น
13. จะพิสูจน์พระนิพพานได้ด้วยตนเอง เป็นปัจจัตตัง ฝึก มโนมยิทธิ ก็ได้ง่าย ๆ มีฝึกสอนฟรีไม่ต้องเสียเงิน แต่ต้องมีศีล 5 ครบ เคารพพระรัตนตรัย เชื่อในคำสอนพระพุทธองค์ด้วยจริงใจไม่คัดค้านคำสอนที่ว่านรกสวรรค์พรหมนิพพานมีจริง กรรมมีจริง มีสมาธิพอสมควร มีวิปัสสนาญาณ เห็นว่าเกิดเป็นคนไม่มีใครเป็นสุขจริง ร่างกายเหม็นสาบสางมีภาระต้องเติมเชื้อเพลิง ต้องขับถ่ายของสกปรกทุกวัน ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหา และตายในที่สุด
14. พระนิพพานมี 12 ชั้น แตกต่างกันตามบุญวาสนาบารมีแต่ละองค์ เช่น พระพุทธเจ้าก็อยู่สูงสุดมีฉัพพรรณรังสี (รัศมี 6 ประการ) สว่างมาก พระอรหันต์ธรรมดาก็อยู่ชั้นต่ำ แสงริบหรี่


บทความนี้เป็นบทความที่เพื่อนผม ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติใหม่ ส่งมาให้อ่านทางอินเตอร์เน็ต
ผมอ่านแล้ว ในบทความ แต่ละคำแต่ละประโยค เป็นภาษาที่สื่อออกมาจากใจ ทำให้ยากต่อการใช้สมองคิดและจินตนาการ
เพราะถ้าอาศัยการคิด หรือจินตนาการเพื่อทำความเข้าใจบทความนี้แล้ว
อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน และเป็นภัยต่อการศึกษาธรรม
จึงต้องอาศัยการปฏิบัติให้รู้ให้เห็นเพื่อให้เข้าถึงสิ่งที่หลวงพ่อองค์นี้กล่าวไว้เท่านั้น
ผมลองตีความด้วยสติปัญญาและประสบการณ์ของอันน้อยนิด ได้ความว่า ข้อ 1-13 ผมไม่ติดใจสงสัยอะไร
แต่ข้อ14 ข้อสุดท้าย ที่บอกว่านิพพานมี 12ชั้น เมื่อได้อ่านแล้ว
ผมสงสัยมาก และตามภูมิจิตภูมิธรรมอันน้อยนิดของผม ก็ไม่สามารถตอบคำถามที่ผมสงสัยนี้ได้เลย

จึงเรียนขอ ท่านพระอาจารย์สงบ มนัสสันโต เมตตาตอบคำถาม
ที่ว่าพระนิพพานมี 12 ชั้นนี้ จริงหรือไม่

หลวงพ่อ : ไม่จริง เราจะบอกว่าคำว่าวิมุตติ คำว่านิพพานก็เป็นสมมุติ ตัวนิพพานเป็นความจริง ตัวคำว่านิพพานเป็นสมมุติ สมมุติคือภาษาพูดไง อย่างเช่น อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม อำเภออะไรก็แล้วแต่นะ ตัวอำเภออยู่ที่ไหน ตัวอำเภอนั้นเป็นชื่อจริง เป็นสถานที่จริงใช่ไหม อำเภอโพธาราม ก็เป็นสถานที่ว่าการอำเภอโพธาราม คือใจกลางอำเภอโพธาราม นี้คืออำเภอโพธาราม แต่คำว่าอำเภอโพธารามนี้เป็นสมมุติ ตัวเขียนไง ตัวชื่อมันคือสมมุติ

นิพพานคือสมมุติ สมมุติว่านิพพาน แต่เนื้อหาคำว่านิพพานนะ เหตุข้อเท็จจริงของนิพพานนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฉะนั้น นิพพานกับวิมุตตินี่เป็นสมมุติ เป็นสมมุติเพราะสมมุติชื่อ เหมือนบัญญัติชื่อไง บัญญัติว่านิพพาน คำว่านิพพานเป็นสมมุติ แต่ข้อเท็จจริงในเนื้อนิพพานนั้นเป็นนิพพานจริงๆ

ฉะนั้นถ้านิพพานเป็นความจริง ข้อเท็จจริงของนิพพาน พอข้อเท็จจริงของนิพพานนี่ หลวงตาบอกนิพพานเที่ยง นิพพานคงที่ นิพพานมีอยู่ แต่มีอยู่แบบนิพพาน ทีนี้คำว่ามีอยู่แบบนิพพานนี่ นิพพานเขาไม่ขยายความ

ถ้าขยายความเห็นไหม ดูสิ ดูมหายานนะ พอนิพพานใช่ไหม เพราะหินยานนะ นิพพาน แต่ถ้าเป็นมหายานนิพพานสูงกว่า อยู่สุขาวดีโน้นนะ สูงกว่านิพพาน อยู่ภาคตะวันตกของนิพพาน นี้ก็แบ่งนิพพาน ๑๒ แล้วไง ถ้านิพพานมี ๑๒ นิพพานมันก็เหมือนกับเรานี้ไง มันก็เหมือนชนชั้นนี้ไง นิพพานมี ๑๒ ได้อย่างไร

นิพพานมีหนึ่งเดียว! นิพพานไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่ฉัพพรรณรังสี พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ สามเณรน้อยที่ ๗ ขวบเป็นพระอรหันต์ มีค่าเท่ากันหมด นี้ไงคำว่า นิพพาน ไม่มีใครสูงใครต่ำกว่ากัน เพียงแต่จะสูงต่ำที่อำนาจวาสนาบารมี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยนี่ สิ่งนี้ โอ้โฮ มหาศาลเลย บุญมหาศาลเพราะอะไร เพราะกำลังความรู้ต่างๆ มันมันแตกต่างกันตามอำนาจวาสนาบารมี แต่ความสะอาดบริสุทธิ์เหมือนกัน

นิพพานมีหนึ่งเดียว! นิพพานไม่มี ๑๒ ขั้น ๑๔ ขั้น ๑๕ ขั้น มันไม่มีนิพพานหรอก เหมือนเราสอนเด็กเห็นไหม ก. ไก่ ก. เอย ก. ไก่ เขาเอาไก่อะไร ไก่แจ้ ไก่อู ไก่ป่า อ้าว แล้วไก่ใครถูกวะ อ้าว ก็ ก. ไก่ ใช่ไหม

นี่ก็เหมือนนิพพานนี้ไง ก. เอย ก. ไก่ใช่ไหม พอหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งเขาก็เอาไก่โต้ง พอหนังสือมันหมดยุคเขาก็พิมพ์ใหม่เขาก็เอาไก่แจ้ พออีกทีเขาก็เอาไก่อู มันไปเถียงกันเลยว่า ก. ไก่ ใครถูก ก. ไก่ ใครผิด นี่ก็เหมือนกัน ถ้านิพพานมึงยังคุยกันว่า มี ๑๒ ชั้น ๕ ชั้น ๑๐ ชั้นนี่ มึงไก่อู หรือไก่แจ้ มึงจะเอาไก่อะไร นิพพานคือนิพพานไง

หลวงตาบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านไม่เคยประกาศตนเลยว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ไม่เคยได้ยินจากปากหลวงปู่มั่นเลยว่าท่านเป็นพระอรหันต์ หรือท่านมีคุณธรรม แต่ทำไมพระ หรือครูบาอาจารย์ที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่น เคารพศรัทธาแล้วเชื่อมั่นว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ ลูกศิษย์ที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นนะเคารพหลวงปู่มั่น แต่ที่ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นที่ไม่เชื่อ แล้วตีตัวออกมาก็มี คนที่ไปแล้วเรียกว่าจริตนิสัยมันไม่เข้ากัน ก็เก็บของออกไป คือไม่เชื่อหลวงปู่มั่นก็มี มี

แต่คนที่เชื่อถือศรัทธา หลวงตาท่านเล่าให้ฟังเองว่า หลวงปู่มั่นไม่เคยพูดเรื่องนี้ออกมาจากปากของหลวงปู่มั่นเลย แต่ทำไมผู้ที่ไปอยู่อาศัย ทำไมเคารพศรัทธาแล้วเชื่อมั่นมากว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์

เพราะลองคิดดูนะ สมัยก่อน ตอนนี้ใครคิดสินค้าอะไรก็แล้วแต่ที่มันล้ำหน้าออกไป แล้วเอามาให้สังคมยอมรับ เป็นเรื่องที่ทุกข์ยากมากเลย คือความคิดเราล้ำหน้าสังคมไป ปวดหัวมากเลย สังคมตามเราไม่ทัน แล้วเราจะอธิบายให้สังคมฟัง ไอ้คนที่คิดล่วงหน้าไป มันอธิบายจนมันปวดหัวขนาดไหน สังคมนั้นก็ไม่รับรู้

นี้พูดถึงสังคม สิ่งที่เป็นการพัฒนาที่เราทันกันนะ เพราะเราไปดูได้ต่างประเทศมันพัฒนาล่วงหน้าเราไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี แต่ละประเทศนี่ เราเห็นได้เลยว่าถ้าเราจะพัฒนาไป เราจะเป็นแบบเกาหลี จะเป็นแบบญี่ปุ่น เรารู้การพัฒนาของประเทศ ถ้ามันพัฒนาไปจะเป็นระดับของมันขึ้นไปเลย ถ้าสังคมนี่ แต่เวลาย้อนกลับไปดูประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าเราเห็นไหม ถ้าเขาพัฒนาขึ้นมา เขาจะมาเป็นเหมือนเรา อันนี้เพราะมันเห็นได้ด้วยรูปสัมผัสนะ

แต่ถ้านิพพาน คนพูดอย่างไรมันก็งง คิดดูสิ หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ท่านรู้ของท่าน แล้วท่านจะมาบอกไอ้คนที่ไม่รู้แล้วให้มายืนยัน เหมือนกับพ่อแม่ต้องบอกกับลูกว่า เฮ้ย พ่อดีเนาะ พ่อแม่คนไหนต้องให้ลูกมันบอกว่าพ่อแม่มันดีหรือไม่ดี เพราะวุฒิภาวะของพ่อแม่สูงกว่าลูกกี่ร้อยกี่พันเท่า ครูบาอาจารย์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นความจริง ท่านมีคุณธรรมของท่าน ท่านไม่ต้องการสิ่งใดที่มาเป็นการยืนยันว่าท่านเป็นคนดีหรือท่านเป็นคนไม่ดีหรอก คนดีหรือคนไม่ดีลูกเขาก็รู้ของลูกเขาเอง แล้วสังคมเขายอมรับของเขาเอง

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นนิพพานจริง ทำไมนิพพานต้อง ๑๓ ๑๔ ๑๕ ข้อ มันนิพพานอะไรของมึงวะ นิพพานอะไรของมึงมันหลายข้อแท้ แล้วมันขัดแย้งกันนะ เขาบอกว่ามันเป็นภาษา มันจะมีนิพพานได้อย่างไร นิพพานเป็นสถานที่เป็นทิพย์ที่ละเอียดยิ่งกว่าสวรรค์ ละเอียดยิ่งกว่าพรหม เป็นทิพย์ที่ถาวร สวรรค์ พรหม ที่เป็นทิพย์แต่เป็นชั่วคราว เพราะตามบุญวาสนา เพราะตามบุญบารมีของผู้หมดไป เขาบอกคำว่าทิพย์ ทิพย์ของนิพพานไง แล้วบอกว่านิพพานเป็นทิพย์

แล้วก็ไปปฏิเสธเองนะ บอกว่าไม่ใช่ทิพย์แบบเทวดา แบบพรหมไง อ้าว มึงเขียนนิพพานเอง แล้วมึงก็เถียงคำพูดของมึงเอง แล้วมึงจะไปนิพพานตรงไหน นี่มันขัดแย้งกันไปนี่ แม้แต่ข้อเขียนว่านิพพานคือหัวข้อ ๑๖ ข้อ ๑๗ ข้อนี่ เขาผลิตออกมาจากใจนี่ ไก่อูหรือไก่แจ้ มันก็คิดจินตนาการของมันไป แล้วสุดท้ายนะนิพพานมี ๑๒ ชั้น

มหายาน เช่น เว่ยหลางนี่ของจริง ขนาดเว่ยหลางตกลงกับชินเชา ชินเชากับเว่ยหลางนี่เป็นลูกศิษย์ด้วยกันเห็นไหม แล้วอาจารย์นี่เขาจะส่งมอบ ส่งมอบหมายถึงว่าจะให้ตั้งเจ้าอาวาสหรือให้เป็นผู้นำต่อไป เขาบอกให้แสดงกึ๋นไง ให้แสดงความสามารถว่าใครมีความสามารถแค่ไหน ให้เขียนโศลกมา

นี่ชินเชาก็เขียนเลย กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดทุกวันๆ เลย ฝุ่นจะไม่เกาะกระจกเลย นี่เขาจะดูวุฒิภาวะ คนเป็นเขาจะดูแค่นี้ โอ้โฮ คนที่ไม่ถึงนะ ลูกศิษย์ลูกหาที่ไม่ถึงนะ โอ้โฮ ตั้งโต๊ะ ตั้งธูปตั้งเทียนกราบกันใหญ่เลย โอ้โฮ โศลกนี้มันสุดยอดเลย กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส

เว่ยหลางเป็นคนตำข้าว อยู่ในสำนักนั้น เป็นคนหุงข้าว ตำข้าวมาเพื่อเลี้ยงสำนักนั้น ตัวเองมีคุณธรรมนะ แต่ไม่มีใครรู้ แล้วตัวเองอ่านหนังสือไม่ออกใช่ไหม เห็นเขายืนมุงดูกัน ก็มาด้วย แล้วถามว่า

“นี่เขามีอะไรกัน”

“โอ่ ไม่รู้เรื่องหรอกเหรอ สังฆราชบอกลูกศิษย์ที่อยู่ด้วยกัน ใครมีกึ๋น ใครมีปัญญานี่ ให้แสดงโศลก คือว่าแสดงคุณธรรมออกมา”

“แล้วเขาแสดงคุณธรรมว่าอย่างไรล่ะ”

“โอ่ เขาแสดงว่า กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส หมั่นเช็ดกระจกทุกวั้น ทุกวันเลย กระจกมันจะใสตลอดเลย”

“อย่างนั้นเหรอ ช่วยเขียนให้ผมทีสิ เขียนให้ผมที ของผมก็มี”

“ว่าไงล่ะ”

“กายก็ไม่มี กระจกก็ไม่มี ไม่มีอะไรเลย แล้วฝุ่นจะเกาะอะไรล่ะ” โอ่ พอเขียนขึ้นไปนะ ไอ้คนอ่านทึ่งกันหมดเลยนะ

แต่สังฆราชฉลาดมาก เพราะอะไร เพราะว่าชินเชานี่เขาเป็นรองจากหัวหน้า มันจะมีลูกศิษย์ที่มีบริษัทมีบริวารมาก แต่เว่ยหลางนี่เขาเป็นคนตำข้าว ไม่มีใครรู้จักเลย ถ้าไปชมอะไรขึ้นมานี่มันเป็นลาภสักการะ เว่ยหลางนี่จะมีปัญหามาก สังฆราชเป็นผู้ที่มีคุณธรรม รู้ถึงอนาคต รู้ถึงความเป็นไปของสังคม รู้ทุกอย่างนะ ก็เลยเพื่อป้องกันปัญหานะ

“โอ๊ย นี่ใครเขียนนะ”

“เว่ยหลางเขียน”

“โอ๊ย มันชั่วร้าย เอารองเท้าลบๆ ออก ให้เอารองเท้าท่านลบออกเลยนะ ไอ้กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มีนี่ไม่ดี ลบออกหมดเลย” เพื่อไม่ให้เกิดมีปัญหาในสังคม

แต่เพราะเว่ยหลางเขารู้ตัวของเขา เขาก็ไปทำหน้าที่เก่าเขานะ เขาก็ไปตำข้าวอย่างเดิม สังฆราชเดินไปหาที่ตำข้าวเลย เอาไม้เคาะที่ครก ๓ ครั้ง เปาะ เปาะ เปาะ ๓ หน ตีความได้หลายหลากเลย กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส เวลามันแยกออกจากกัน กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส เวลามันรวมนี่ นี่มันอีกขั้นตอนหนึ่ง สักกายทิฏฐิ แยกสักกายทิฏฐินี่เป็นโสดาบัน กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใสนี่มันแค่ขั้นที่ ๒ พอขั้นที่ ๓ นี่ เปาะ เปาะ เปาะ ขั้นที่ ๓ มันไม่มีกามราคะ มันทำลายกามราคะหมดแล้ว แต่มันยังไม่จบ ไปเคาะ เปาะ เปาะ เปาะ นี่ แต่มันอยู่ที่คนอ่าน อยู่ที่วุฒิภาวะของผู้อ่าน ถ้าผู้อ่านไม่มีคุณธรรมเลย

ก็นัดตี ๓ ในตำราบอกว่าสังฆราชนัดเว่ยหลางให้เข้าไปหาเวลาตี ๓ ตี ๓ นี่เข้าไปหาที่กุฏิไง นี่ตี ๓ ด้วย แต่ถ้า เปาะ เปาะ เปาะ ก็ ๓ ขั้น พอเคาะปั๊บ สังฆราชก็กลับไปที่พัก พอถึงตี ๓ เว่ยหลางก็เข้าไปหาสังฆราช สังฆราชสอนต่อไปเห็นไหม จากไม่มีๆ เห็นไหม “โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง” โลกนี้ว่างหมดเลย ไม่มีอะไรเลย ว่างหมดเลย นี่ไง กายก็ไม่มี จิตก็ไม่มี อะไรก็ไม่มีหมดเลย ไม่มีอะไรมีเลย

พระพุทธเจ้าสอนโมฆราช “โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนไอ้ผู้ที่รู้ว่าว่าง” ไอ้คนที่บอกว่าไม่มี ใครเป็นคนพูดว่าไม่มี ใครเป็นคนบอกว่าไม่มี อากาศมันไม่รู้ตัวมันเอง มันเป็นสสาร มันไม่มีชีวิต มันไม่รู้สิ่งใดๆ แต่เรามีชีวิต เรามีความรับรู้ของเราใช่ไหม อะไรมันไม่มี โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนไอ้ผู้รู้ กลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ ไอ้ว่างนะส่วนว่าง พอกลับมาถอนตรงนี้เห็นไหม พอสอนเสร็จนี่จบ ตอนนี้ไม่พูดแล้ว นี่นิพพาน ไอ้นิพพาน ๑๒ ชั้น ๑๔ ชั้น ๑๕ ชั้น เขาไม่พูดแล้ว เว่ยหลางไม่พูดอะไรเลยนะ เงียบ อื่อ

เพราะในมหายาน เวลาเขาถามปัญหา ผู้ที่ลุกขึ้นตอบ ถ้าตอบแจ้วๆๆๆ นะ ไอ้นั่นยังไม่ถึง แต่ถ้าพูดถึงว่า อ้าว ลุกขึ้นตอบ ยืนขึ้นมาเลย เม้มปากเลยนะ แล้วก็นั่งลง นั่นคือนิพพาน ลุกขึ้นยืนแล้วก็นั่งลง มันเหมือนสมาธินี่ เราบอกอะไร ที่ใครบอกว่า โอ๊ย เป็นสมาธินะ ไม่เป็น ไม่เป็นหรอก แต่อู้ฮู อู้ฮู อู้ฮู เลยนี่ เม้มปากเลย มันอธิบายไม่ได้

ความรับรู้ ความเห็นของเรานะ มันลึกลับมหัศจรรย์ ธรรมมันเหนือโลก แล้วไอ้ ก เอย ก ไก่ ไอ้ไก่โต้ง ไก่แจ้ ไก่อู นี่มันเป็นสมมุติ คำว่านิพพาน วิมุตติ นี่เป็นคำสมมุตินะ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เพื่อให้เราสื่อถึงนิพพาน

ฉะนั้นพอคำว่านิพพานนี่มันอยู่ที่วุฒิภาวะ ถ้าวุฒิภาวะของเรา คำว่านิพพานมึงจินตนาการเอานี่ นี่นั่งกันอยู่นี่ อ้าว นิพพาน ทุกคนอธิบายมา กระดาษคนละแผ่นเอามาอ่าน ไม่ตรงกันเลยแล้วกันล่ะ อ้าวแจกกระดาษคนละแผ่นเลย ปากกาคนละเล่ม นิพพานเขียนมาเลยในความเห็นของตัว ตอบมา นิพพานแม่งมันไปคนละเรื่องเลย

แต่ถ้าคนเขารู้จริง มันยืนขึ้นเม้มปาก แล้วนั่งลง ของจริง แต่ถ้าพวกเรานะ ไอ้นี่ไม่รู้ ไอ้นี่ไม่เป็น แต่ถ้านักวิชาการเริ่มอธิบายนะ โอ้โฮ นิพพานนี้สุดยอดเลย ขี้โม้! ขี้โม้ทั้งนั้น ฉะนั้นไอ้นิพพาน ๑๒ นิพพาน ๑๓ ไม่มี ไม่มีหรอก นิพพานมีหนึ่งเดียว แล้วนิพพานนี้พระพุทธเจ้าอยู่สูงสุด คำว่าพระพุทธเจ้าอยู่สูงสุดมีฉัพพรรณรังสี มีต่างๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มี

ถ้ามันมีอย่างนี้ อ้าว ถ้าพระพุทธเจ้าอยู่สูงสุด แล้วนิพพานของพระพุทธเจ้า กับนิพพานของผู้ที่นิพพานนี่ มันเอาอะไรมาเทียบกัน เห็นไหมเวลาครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้าบอกว่าเวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะมาลาไปนิพพานนะ “เธอจงให้สมควรแก่เวลาของเธอเถิด” นี่คำว่านิพพานกับนิพพานเขาคุยกัน เขาคุยกันอย่างนี้นะ อ้าว คนๆ หนึ่งมาลานะ ประสาเรามาลาจะไปนิพพาน เอ่อ ลาไปนิพพาน แล้วพระพุทธเจ้าจะบอกเอ็งรีบไปนิพพานเลย หรือเอ็งอยู่กับกูก่อน เอ็งอย่าเพิ่งไปนิพพานก็ไม่ได้พูด เพราะนิพพานแล้วก็รู้เหมือนกันหมดแล้ว ถ้ารู้เหมือนกันหมดแล้วเวลามาลานี่ ลาเพราะอะไร ลาเพราะเห็นคุณไง

พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรเห็นไหม ไปอยู่กับสัญชัยน่ะ สัญชัยบอก นั่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ นี่ก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้ ใครๆ ก็สอนว่านู่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่มันก็เป็นวัตถุ ไม่ใช่เห็นไหม “ โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิ” เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่างเพราะอะไร เพราะจิตมันมีวัฒนาการ มันพัฒนาการของมันไป มันจะไปรู้ถึงที่สุดขบวนการของมัน

เหมือนเราทำอาหารที่จวนจะสุก หรือเราทำสิ่งใดที่จวนจะสำเร็จ มันจวนจะสำเร็จแล้วนี่ มันสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่สรุป ถ้ามันสรุปปั๊บมันก็จบ แต่เราไม่ทำอะไรเลย เราไม่มีความรู้อะไรเลย สักแต่ว่า สักแต่ว่า อ้าว ตอนนี้ เขาวัดกันด้วยความเป็นเศรษฐี ด้วยทรัพย์ ทุกคนยกมือหมดเลย เป็นเศรษฐีหมดเลย แล้วเศรษฐีของใคร เศรษฐีของใคร นี่ก็สักแต่ว่าไง โน่นก็สักแต่ว่า นี่ก็สักแต่ว่า แล้วมึงมีอะไร ไอ้สักแต่ว่า สักแต่ว่านี่มึงมีอะไร แล้วก็อ้างว่าก็พระพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าสอนเฉพาะบุคคลนะ พระพุทธเจ้าจะสอนคนที่เหมาะสม คนที่ถึงเวลา คนที่ควรจะเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าถึงสอนตรงนั้น แล้วเอ็งสร้างบุญอะไรมาเป็นอย่างนั้น ดูสิ พี่น้องกันทุกๆ คน ออกมาจากท้องพ่อท้องแม่เดียวกัน เหมือนกันไหม มันไม่เหมือน เพราะอะไร เพราะแต่ละคนสร้างเวรสร้างกรรมมาจากพ่อแม่คนเดียวกัน แต่ลูกออกมานี่รูปลักษณะไม่มีเหมือนกันสักคนหนึ่ง เพราะจิตของเขา ทั้งๆ ที่ส่วนผสมไข่กับสเปริ์มของพ่อแม่คนเดียวกัน ทำไมลูกออกมา ๔ - ๕ คนไม่เหมือนกันเลย ทำไมมันไม่เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน แล้วคำว่านิพพานๆ นี่ พอนิพพานคืออย่างนี้ใช่ไหม แต่ลูกเราก็คือลูกเราใช่ไหม ลูกเราออกมาแล้วก็มีชีวิตเหมือนกันใช่ไหม นี่ตรวจดีเอ็นเอ ทุกอย่างนี่ กรรมพันธุ์ของพ่อแม่หมดเลย แต่เวรกรรมของเขา

พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ไปศึกษากับสัญชัยมา นั่นก็ไม่ใช่ นี่ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่คือไม่ใช่ แล้วพอไม่ใช่นี่ เรียนจนจบแล้วมันอึดอัด มันรู้อยู่ไม่มีอะไรเลย ถึงสัญญากันแล้วก็ไปเจอพระอัสสชิ พระอัสสชิบอก

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สิ่งที่ว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ มันมีเหตุมีผล พระพุทธเจ้าสอนไปดับที่เหตุนั้น” ปิ๊ง! โสดาบันเลย แล้วมาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนจนเป็นพระอรหันต์

นี่ไง คำว่าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมานี่ เราได้สมบัตินี้มาจากใคร เราได้สมบัตินี้มาจากพระพุทธเจ้า นี้พอเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้วนี่ พระอรหันต์จบแล้ว ไม่มีอะไรแล้ว แต่เพราะกตัญญูกตเวที เวลาโจรทุบตายแล้วนะ พอทุบตายมันก็ตายแล้ว พอโจรเห็นว่าตายมันก็ไป แต่ด้วยฤทธิ์ด้วยเดชเห็นไหม มีฤทธิ์มาก รวมร่างกายนี้เลยให้ขึ้นมาเป็นมนุษย์อย่างเก่า แล้วเหาะไปลาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอก “ให้สมควรแก่กาลเวลา” สมควรแก่กาลเวลาคือสมควรแก่เหตุแก่ผลของเรา แก่เวรแก่กรรมของเรา แก่ความรับรู้ของเรา สมควรแก่เหตุของเธอเถิด เธอสมควรอย่างไรก็ทำอย่างนั้น ไม่ได้ฉุดรั้ง ไม่ได้ผลัก ไม่ได้เสริม นี่คือนิพพานไง

นิพพานไม่มีสิ่งใดบกพร่องอีกแล้ว ไม่มีสิ่งใดเติมเต็ม และไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ฉะนั้นพระอรหันต์ด้วยกันคุยกันนะ เวลาพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ ไปลาพระพุทธเจ้าจะไปนิพพาน พระอัญญาโกณฑัญญะไปลาพระพุทธเจ้าจะไปนิพพาน พระพุทธเจ้าบอก ให้เห็นสมควรแก่เธอเถิด คือว่ากิเลสมันสิ้นมาตั้งแต่เป็นพระอรหันต์แล้ว ไอ้นี่มันเศษส่วน ไอ้นี่มันของเหลือใช้ ของเหลือใช้ๆ เพื่อประโยชน์แล้ว พอสมควรแก่เวลา หมดกิจการใช้แล้วก็จบ มันจบตั้งแต่เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว แล้วจะไม่มีการเถียงกันเลย

ถ้านิพพานของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง แล้วนิพพานของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัญญาโกณฑัญญะอย่างหนึ่ง มันก็เถียงกันตายเลย แล้วถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่นะ กรณีอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาในปาฏิโมกข์เห็นไหม ไอ้ปาฏิโมกข์สามเณรไง สามเณรจำชื่อไม่ได้ ที่สวด สามเณรหรือพระนี่ไม่เชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน หรือมีความเห็นผิดเห็นไหม พระพุทธเจ้าบอกให้ไปถอนความเห็น ถ้าสวด ๓ ครั้งแล้วไม่ถอนความเห็นแล้วเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แต่ถ้ากล่าวตู่พุทธพจน์นี่เป็นสังฆาทิเสส

นี่พูดถึงนิพพานแบบคนดิบ แบบพวกเรานี่ กระดาษคนละแผ่นแล้วเขียนนิพพานนี่ พระพุทธเจ้าปฏิเสธหมดเลย เพราะขนาดว่านิพพานกับวิมุตตินี่มันยังเป็นสมมุติเลย เป็นสมมุติโดยชื่อ ชื่ออ้างอิงถึงผลข้อเท็จจริงที่เป็นนิพพานจริงๆ แต่คำว่านิพพานกับคำว่าวิมุตตินี่เป็นสมมุติ แล้วพอมาถึงที่สุดแล้วนะชื่อไม่สำคัญ เห็นไหม

หลวงตาท่านบอกเลย เขาจะเรียกนิพพาน เรียกอรหันต์ เขาจะเรียกขี้หมา เรียกอะไรก็เรื่องของเขา แต่ใจของกูเป็น ไม่เกี่ยวกับพวกมึง ไม่เกี่ยว แต่ไอ้นี่ใจกูไม่เป็นไง นิพพานมี ๑๒ ชั้นเลย โอ่ ถ้ามี ๑๒ ชั้นนะ มันก็เหมือนสวรรค์ สวรรค์ ๖ ชั้น พรหม ๑๖ แล้วนิพพานมี ๑๒ ชั้นเหรอ แล้วมันต่างอะไรกันวะ

นี่พูดถึงเห็นไหม เขาถามมาว่าเขาสงสัย และ หนึ่ง ให้ผมคลายสงสัยและเป็นกำลังใจปฏิบัติ ฉะนั้นเราปฏิบัติแล้วนี่ เราให้เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา โดยข้อเท็จจริง สิ่งใดที่มันจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงมันเรื่องของเขา สิ่งใดที่ไม่เป็นจริงมันเรื่องของเขานะ แต่เรื่องของเราคือความรู้ความจริงของเรา ถ้าเรารู้จริงเห็นจริงของเราขึ้นมานี่ สิ่งนี้มันจะละไปเองจากหัวใจของเรา

เราปฏิบัติมาใหม่ๆ นะ เราพยายามปฏิบัติของเราอยู่ แล้วมีความเชื่อมั่นว่ามีครูอาจารย์ที่เป็นอาจารย์ของเรา ท่านต้องมีความรู้ความเห็นดีกว่าเรา เราก็ไปถามปัญหาอย่างนี้ แล้วท่านก็ตอบไปไหนมาสามวาสองศอก ถามองค์หนึ่งก็ตอบอย่างหนึ่ง ถามอีกองค์หนึ่งก็ตอบอีกอย่างหนึ่ง แล้วปวดหัวมากเลย

สุดท้ายแล้วพอเราขึ้นไปทางอีสาน พอไปเจอหลวงปู่จวน ไม่ต้องถามท่านยังตอบก่อนเลย สงสัยท่านคีย์ให้ก่อนได้เลย ท่านเทศน์ขึ้นมานี่ ปั๋ง! ปั๋ง! เลย แล้วเวลามีปัญหาขึ้นไปนะ เวลาพูดกันนี่ นี่เวลาผู้ปฏิบัติเห็นไหม

เช่น หลวงปู่เจี๊ยะนี่ เวลาอาจารย์จันทร์เรียนมากราบหลวงปู่เจี๊ยะนะ อาจารย์จันทร์เรียนพูดเอง เราก็อยู่ที่นั่นด้วย

“จันทร์เรียน ตอบมาคำเดียวเลยนะ ดูจิตนี่มันแก้กิเลสได้หรือไม่ได้ ได้หรือไม่ได้”

“ไม่ได้ครับ”

“เอ่อ ถูก” ถามคำเดียว ตอบคำเดียว

ดูจิตนี่ได้หรือไม่ได้ ไม่ได้ครับ ไม่ได้ครับ เอ่อ ไม่ต้องอธิบายกันเลย คนจริงนะ ความจริงเขาถามกันแค่นี้ ถ้าพูดถึงได้หรือไม่ได้ บอกไม่ได้ ไม่ได้เพราะอะไรถ้าไม่ได้ ถ้าได้นี่ถ้ามันเห็นต่างมันก็ต้องมีเหตุผลรองรับ แต่นี้บอกเลย เพราะท่านรู้อยู่แล้วไง ถ้าท่านรู้อยู่แล้วท่านถามเลย ดูจิตนี่มันแก้กิเลสได้หรือไม่ได้ หลวงปู่จันทร์เรียนบอกไม่ได้ครับ แล้วท่านก็บอก เอ่อ เท่านั้น

ฉะนั้นเวลาครูบาอาจารย์ ถ้าท่านจะแก้ไขกัน ท่านพูดคำเดียวนะ พูดคำเดียวนี่ เราจะใช้ไปมหาศาลเลย มันเหมือนเกลือนี่เราใช้ได้ทุกอย่างเลย เกลือนี้เป็นเรื่องปัจจัย ทำอาหารก็ได้ ใช้รักษาโรคก็ได้ ทำอะไรก็ได้ นี่คำพูดคำเดียวนี่นะ มันครอบคลุมหมด พอพูดมานี่ เอ๊อะ เอ๊อะ เลย

แต่ก่อนหน้านั้นเราปฏิบัติมานี่ เราก็เหมือนโลกนี่แหละ เราก็เหมือนโยมนี่แหละ รู้มากปัญญามาก โอ้โฮ แตกฉาน กลัวผิดพลาด ไปคุยกับอาจารย์ๆ ก็นักปราชญ์เหมือนกัน อูย น้ำลายท่วมทุ่งเลย แม่งเถียงกันทั้งวันเลย แล้วไม่ได้ห่าอะไรเลย ปวดหัว! เวลาไปหาครูบาอาจารย์นะพูดคำเดียว ครั้งแรกเลยไปเจอหลวงปู่จวน เพราะตอนนั้นมันเข้าใจว่ามันว่างหมด พอไปถึงไปหาท่าน เอ่อ อวิชชาอย่างหยาบท่านสงบตัวลง อวิชชาอย่างกลางในหัวใจท่านยังอีกเต็มหัวใจเลย อวิชชาอย่างละเอียดในหัวใจท่านนะเต็มหัวใจเลย เงียบ! ไม่เถียงเลย เงียบเลยนะ เออ! จริงวะ จริง!

แต่ก่อนนะ โอย กูว่าง กูว่าง อูย กูมีธรรม กูมีธรรม แล้วไปถามใครนะ นี่มันว่างแล้วนะ เขาก็อธิบาย เอ่อ มันว่างอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ น้ำลายท่วมทุ่ง คนบ้า ๒ คนคุยกัน คนบ้าคุยกัน ๒ คน ไอ้คนปฏิบัติมันก็บ้า ไม่รู้มันก็ไปถามอาจารย์มัน อาจารย์แม่งก็บ้า แม่งคุยกัน ๒ คนน้ำท่วมทุ่งเลย พอไปหาอาจารย์จวนนะ ทีเดียว พลั้ว! อวิชชาอย่างหยาบๆ พื้นฐานความฟุ้งซ่านอย่างหยาบๆ เรานี่ เราคุมมันได้จริง ความไม่รู้อวิชชาอย่างกลาง ความไม่รู้เหนือรู้ทิศของเรานี่อีกมหาศาลเลยจริงไหม จริง! ในความรู้สึกเรานี่จริงไหม จริง! แล้วไอ้อวิชชาอย่างละเอียด จิตใต้สำนึกที่มึงไม่รู้เรื่องเลยนี่ มันคุมหัวใจมึงเลยจริงไหม จริง! เถียงสิ มึงเถียงมา หงายท้องตึงเลย เออ! ใช่!

เออ! ใช่! นี่มีประโยชน์มากนะ พอเออใช่ปั๊บนี่ โละทิ้งหมดเลย การกระทำที่กระทำมาต่างๆ นั้นหยุดหมด แล้วเริ่มต้นใหม่ ไม่อย่างนั้นมันก็พายเรือในอ่างอยู่อย่างนั้น มีแต่ข้อแม้ มีแต่ความเห็น มีแต่ทิฏฐิมานะ มีแต่ความรู้มาก เถียงกันอยู่ในหัวใจ ทำอะไรก็ไปไม่รอด มีเด็กจัญไรอยู่ในหัวใจ แล้วมันว่ามันเก่ง มันมีแต่ความจัญไรอยู่ในนี้ พอพูดอย่างนั้นปั๊บทิ้งหมดเลย อื่อ ตั้งแต่บัดนี้ไปเริ่มต้นใหม่ ไอ้ที่หลงๆ มา ไอ้ที่ทิฏฐิมานะ ไอ้ความรู้จริง ไอ้ว่าง ไอ้เวิ้ง ห่าเหว ทิ้งหมดเลย แล้วเริ่มต้นใหม่

พอเริ่มต้นตั้งแต่นั้นมาเห็นไหม จากอาจารย์ที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ แล้วปฏิบัติมานี่ ไม่กี่เดือนเราได้ฐานเลย เข้าหลักเข้าเกณฑ์มาเลย พอเข้าหลักเข้าเกณฑ์มา พอมีหลักมีฐานมีเกณฑ์ขึ้นมาปั๊บ ก็คิดว่า เอ่อ สบายแล้วเนาะ แบบว่าคนตาบอด แล้วมีคนจูงอยู่นี่ แหม สบาย มันไปไหนก็ได้ อยู่ดีๆ เครื่องบินตก โอ้โฮ พอเครื่องบินตกนะ มันเข็ดตอนที่เราไม่มีแล้วไปหาคนนี่ ไอ้น้ำท่วมทุ่ง ไอ้คนบ้า คนบ้าคุยกันนะ มันเจอมาเยอะแล้ว แล้วมาเจอคนดีๆ จูงอยู่นี่ แล้วคนจูงก็ไปซะแล้ว โอ้โหย

นี่พูดถึงว่าเราเจอสภาพแบบนี้มา ฉะนั้นพอคำถามว่านิพพาน ๑๒ ชั้น ๑๕ ชั้นอะไรนี่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราไม่ปฏิบัติ เราก็งง แล้วเราก็เชื่อนะ โอ้โฮ นิพพานตั้ง ๑๒ โว้ย โอ้โฮ ๑๔ ข้อเชียวโว้ย ยิ่งอ่านก็ยิ่งมันนะโว้ย โหย กูจินตนาการ เรามันผ่านมา แล้ว เขาถามมาให้เราตอบไง ให้เราตอบว่าเพื่อให้คลายความสงสัย เพื่อเป็นกำลังใจ เพื่อในการประพฤติปฏิบัติ ให้ผมมีความมั่นใจครับ

เราก็เป็นอย่างนี้มา จึงบอกว่านิพพานของเขามันนิพพานไม่ชอบ ถ้านิพพานชอบมันจะเป็นสัจจะความจริง แล้วนิพพานชอบอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร เห็นไหม พูดกับพระอัญญาโกณฑัญญะนี่ คือนิพพานกับนิพพานเขาคุยกันง่าย แล้วไอ้คำว่านิพพานเขาคุยกันนี่มันก็เป็นภาษาสมมุติ แต่ไอ้ความรับรู้สึกนี่มันรู้จริงของมัน มันเป็นความจริงของมัน

ฉะนั้นคนรู้จริงของเขานี่ เราปฏิบัติขึ้นไป สำคัญคือเหตุและผล สำคัญคือการตั้งใจ สำคัญคือการปฏิบัติของเรา ความสำคัญอันนี้นะ ผลของมันถ้ามันรู้เองนี่ โธ่ เป็นเศรษฐีไม่ต้องกลัวหรอกว่าธนาคารมันไม่มาหาเราที่บ้าน เอ็งเป็นเศรษฐี เดี๋ยวธนาคารมันมาหาที่บ้าน กลัวเงินไม่มีที่เก็บไง มึงไม่ต้องกลัวหรอกว่าคุณธรรมเราไม่มีที่เก็บ มึงหาเถอะเงินนะ เดี๋ยวธนาคารเขาจะมาหาถึงบ้านเลย มารับฝากเรียบร้อยเลย ถ้าเรามีความจริงขึ้นมานะ อันนั้นเป็นความจริง ฉะนั้นนิพพานจริงๆ จะเป็นอันนั้น ฉะนั้นเหตุและผลของเรานะ ธรรมของเรา

การพูดไปมันก็กระเทือนกันบ้าง เพราะว่ามันเป็นอุดมคติของการปฏิบัติของแต่ละสายๆ แต่อันนี้มันพูดอกมาเพื่อเป็นประโยชน์กับสังคม ถ้าใครปฏิบัติแล้วได้ผล นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล หรือเราปฏิบัติแล้วต้องการความจริง เราต้องมีศีล อย่างเช่นเขามาถามนี่ ทำไมต้องพุทโธ ทำไมต้องมาชักช้าอยู่อย่างนี้

เราแก้คนมาเยอะนะ ถ้าการใช้ปัญญา การประพฤติปฏิบัติไปนี่ เขาเกิดจินตนาการ เขาเกิดความเห็นของเขานี่ โอ้โฮ มันเป็นตรรกะ มันเป็นปรัชญาที่เกิดขึ้นมาแล้วมันสื่อได้ โอ้โฮ เป็นคุณธรรม มันมีความเข้าใจ มีความดูดดื่ม แล้วพอทำไปนะ มันดูดดื่มใหม่ๆ พอไปแล้วมันจะจืด พอไปแล้วมันจะเคยชิน แล้วมันจะอั้น บอกว่ากำหนดพุทโธไปสิ เขาก็ยังบ่ายเบี่ยง บ่ายเบี่ยง แต่เขาพุทโธไปบ่อยๆ พอจิตมันละเอียดเข้าไปนะ พอปัญญามันเกิดอีกทีนี้ โอ้โฮ มันถากถาง มันจะสดชื่นอยู่ตลอดเวลา ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมานี่ เพราะอะไรรู้ไหม

เพราะผักสดเห็นไหม เราเก็บผักสดจากต้น เรามากินนี่ โอ้โฮ มันสดชื่น มันสด มันมีรสหวาน มันมีอะไร จิตของเรานี่มันปัจจุบัน จิตมันเป็นสมาธิ มันเป็นปัจจุบัน พอเป็นปัจจุบันนี่ มันเกิดปัญญาขึ้นมานี่ มันจะสดชื่น มันจะสดของมันอยู่ตลอดเวลา เราจะกินผักสดที่เก็บจากต้นทุกวัน

จิตมันเป็นสมาธิขึ้นมา มันได้สัมผัสความดูดดื่มของมัน แล้วมันพิจารณาของมัน มันผ่านเข้าไปเห็นไหม มันไม่เหมือนตรรกะ ไม่เหมือนสิ่งที่เราเข้าใจเป็น โลกียปัญญาหรอก ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมานี่ มันแตกต่างมาก

ฉะนั้นคำว่าทำไมต้องมาพุทโธ นี่เวลานี้พูดถึงนิพพานกันเลยนะ แต่เวลาปฏิบัติให้มาพุทโธๆๆ นี่ โอ๊ย เหมือนกับเด็กเล่นขายของ ไอ้เด็กเล่นขายของ ดูสิ เราฝึกงานเริ่มต้นเราต้องฝึกงานตั้งแต่เริ่มทำความสะอาดมาทั้งนั้นล่ะ ถ้าเราไม่รู้จักการทำความสะอาดต่างๆ ขึ้นมา ในสำนักงานเราจะอยู่ได้อย่างไร นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นเราก็ต้องทำความสะอาดของใจขึ้นมาก่อน พุทโธเข้าไปก่อน ทีนี้พวกเรานี่เห็นว่าพุทโธมันหยาบ จะเอาละเอียดเลย จะเอาส่วนยอดเลย แล้วไม่ได้กิน พวกจะเอาส่วนยอดเลยนี่

ต้นไม้นะ มันเกิดจากรากในดิน นี่มันเอายอดปักดิน มันจะกินรากมัน มันจะเอาส่วนยอดไม่ได้ นั้นพอไม่ได้นะ ทำแบบนี้ ทำแบบพุทโธ เราจะเข้าไปถึง เราจะมีพื้นฐาน มีความรู้จริง มีต่างๆ ขึ้นไป มันจะสร้างสมขึ้นมาจนถึงนิพพานนะ แล้วจะได้ไม่ต้องไปถามใครว่านิพพานจริงหรือนิพพานปลอม แต่ถ้านิพพานจริงนะ นิพพานชอบ นิพพานถูกต้อง นิพพานดีงาม เราจะรู้ของเรา ถ้ารู้ของเราขึ้นมาแล้วนะ นี่มันเป็นสมบัติของเรา

ถึงบอกว่าอันนี้พูดเพื่อเป็นคติ เป็นคติในการปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นแล้วนี่ ทฤษฎี หรือคำสอนใดๆ นี่ เวลาเราโยนเข้ามาในสังคม สังคมต้องคอยมาแยกแยะ ต้องคอยมาแบกหาม แล้วสังคมมันอ่อนแอเกินไป มันรับรู้สิ่งที่เป็นอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเราพูดไว้เป็นหลักเป็นเกณฑ์ จะไปขัดใจใครบ้างนี่มันก็เรื่องของเขา แต่เพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราถึงบอกว่านิพพานชอบ เอวัง