เทศน์บนศาลา

เทศน์อบรมในพรรษา

๑๙ ต.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นักภาวนา ฟังนะ นักภาวนา รักษาความจริง โลกนี้เป็นโลกสมมุตินะ มันเป็นความจริงปลอม คำว่า “สมมุติ” มันก็เป็นความจริงนะ แต่ความจริงที่เป็นของปลอม มันไม่ใช่จริงแท้ไง สมบัติ...ปัญญาก็เหมือนกัน การศึกษาเล่าเรียนมานี้ ปัญญา...ศึกษามาเท่าไหร่มันก็ลืม เห็นไหม การศึกษาเล่าเรียนมามันมีลืม ต้องไปค้นคว้าตำราเพื่อฟื้นความจำ มันสมมุติไหมล่ะ

ปัญญาของเรา เราว่าเราศึกษามาแล้ว ฝังไว้ในหัวมันก็ยังลืมเลย แล้วเกี่ยวอะไรกับวัตถุข้างนอก นามธรรมกับนามธรรม สัญญาความจำได้หมายรู้ สัญญา คือ ความจำ การศึกษาเล่าเรียนมาก็จำมา แต่เป็นประโยชน์เมื่อประกอบอาชีพทางโลก แล้วพอเป็นประโยชน์แล้วมันก็ชักให้ใจหลงไป

เพราะว่าเป็นประโยชน์ เรามีความรู้มาก เรามีความรู้ ความรู้เป็นเรา ไปยึดเข้ามันก็ทุกข์แล้ว ทุกข์เพราะมันไม่สมความปรารถนาไง เราทำอะไรก็แล้วแต่ เราคิดว่าปัญญาเราพร้อม เหตุการณ์เราคิดว่ามันสำเร็จ แล้วทำไปมันไม่สำเร็จเพราะอะไร มันไม่สำเร็จเพราะว่าส่วนประกอบมันมี กรรมของคนมี คนเรานี่ การศึกษาเล่าเรียนมา จบมาเหมือนกันหมด บางคนประสบความสำเร็จในชีวิต ถ้าคนจบมาด้วยกัน ทำงานมาด้วยกัน มันก็ต้องสำเร็จด้วยกันหมดสิ

ยกตัวอย่างเช่นทัพบก ผบ.ทบ. มีคนเดียว ผบ.ทบ. ผู้บัญชาการทัพบกมีคนเดียว จบมาเป็นรุ่นเท่าไร ทำไมคนนั้นเป็นได้ล่ะ แล้ววาสนานะ คนจะเป็นๆ ไม่ได้เป็น นั่นพูดถึง มันอาศัยกรรม อาศัยวาสนา

นี่ว่ากรรม เราทำอะไรไม่สำเร็จๆ เราเอาปัญญามาเทียบสิ ปัญญาอย่างเดียวไม่พอ ว่าปัญญาอย่างเดียวจะให้ประสบความสำเร็จมันไม่พอ ต้องอาศัยตัวเสริม ตัวข้างเคียงด้วย จังหวะ โอกาสของเรา วาสนาบารมีคนก็ไม่เท่ากัน นี่ความจริงปลอม แต่เราไปยึดว่าเป็นความจริง

เวลาเราอยู่ทางโลก เราก็ยอมใช้ ปัญญาอย่างนี้เราต้องใช้นะ ปัญญาอย่างนี้เราก็ใช้ ปัญญาทางโลก โลกียะ คือว่า ความจริงปลอมไง ถึงเป็นความจริง อาหารก็ปลอม อาหารที่ร่างกายกินก็ของปลอม เก็บไว้มันก็เน่าก็บูดใช่ไหม อาหารก็ไม่เหมือนกันด้วย อย่างเช่น สัตว์ก็กินอย่างหนึ่ง มนุษย์ก็กินอย่างหนึ่ง อาหารที่ดีเลิศของมนุษย์เลย ไปให้สัตว์กินสิ สัตว์มันก็ไม่ชอบ มันชอบกินตามประสาของมัน อาหารใครอาหารมัน นี่ความชอบต่างกัน มันถึงว่าของปลอมไง

เราว่าดี อาหารของเราดีมากเลย ปลอมไหม? ปลอม มันไม่จริงหรอก เพราะมันชั่วคราว

นี่ว่า โลก ความจริงปลอม กับความจริงแท้ๆ ที่ไหนล่ะ

พระพุทธเจ้าสอน ทุกข์ที่ไหน ทุกข์ เวลาทุกข์ใจ ทุกข์ที่ไหน แก้ทุกข์นั่นล่ะ แก้ทุกข์ อริยสัจไง อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นไหม จากความจริงปลอมๆ ขึ้นมา เราก็อาศัยชีวิตนี้เลี้ยงมา เลี้ยงชีวิตเรามา จิตนี้มันเกิดตายๆ มาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว มาเกิดเป็นมนุษย์นี้ เราก็ใช้ความปลอมกับความปลอมนี้เลี้ยงร่างกายนี้มา เลี้ยงจิตใจนี้มา มาประสบพบความจริงที่เป็นบัญญัติ

พระพุทธเจ้าบัญญัติไง บัญญัติว่า อย่างเช่นสวดมนต์ นี่บัญญัติ บัญญัติ หมายถึง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า บัญญัติมาทับสมมุติ ทับความจริงปลอมนั้นเป็นชั้นหนึ่ง แล้วความจริงในบัญญัตินี้อีกชั้นหนึ่ง จากของที่เขาเรียกกันสมมุติทั่วไป บัญญัติมาให้เป็นเวทนา ความสุข ความทุกข์ เวทนา เห็นไหม เป็นเวทนา จะได้สื่อเป็นบัญญัติ บัญญัติทับสมมุติอีกทีหนึ่ง

“ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕” ของในโลกนี้ ไม่มีอะไรเลย เราไปตื่น พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นดินหมด เวลามันแปรสภาพไป มันจะแปรสภาพกลายเป็นดินไปหมด อะไรก็แล้วแต่ ของที่คมแข็งนี้เป็นดิน เห็นไหม ดิน น้ำ ลม ไฟ ร่างกายเรา ธาตุ ๔...ขันธ์ ๕ คือ ความจำ ความคิด

ถ้าเราสมมุติไปมันจะมาก ฟั่นเฝือเกินไป บัญญัติศัพท์มาให้มันแค่นี้เอง คือว่าบัญญัติ สมมุติบัญญัติ นี่บัญญัติทับสมมุติทีหนึ่ง ให้เป็นความจริงขยับเข้ามาใกล้กับความจริงแท้ อริยสัจไง อริยสัจนี้ก็เป็นบัญญัติ เป็นสมมุติอันหนึ่งเหมือนกัน แต่มันสมมุติที่เข้ามาใกล้ความจริงเข้ามาอีกนิดหนึ่ง คือว่าไม่ให้เราฟั่นเฝือ แล้วให้สื่อกันได้ ในชาวพุทธด้วยกันจะใช้บัญญัตินี้สื่อกันรู้หมด แม้แต่เทวดามาฟังธรรมของพระพุทธเจ้า มาฟังธรรม ก็ใช้อย่างนี้ เป็นบัญญัติทับไปไง เพื่อเป็นเหมือนกับภาษาอีกภาษาหนึ่ง

ทีนี้เราศึกษาอันนี้มาแล้วต้องทำให้แจ้งขึ้นมาในใจ แจ้งขึ้นมา หมายถึงว่า เราเสพ ใจมันเข้าไปเสพ เสวยอารมณ์อย่างนั้น ความทุกข์มันกินโดยธรรมชาติของมันเอง หัวใจเราทุกข์ เราเร่าร้อน เราแก้ไม่เป็น ได้แต่บ่นว่า “ร้อนๆๆ ทุกข์ๆๆ” แต่แก้ไม่เป็น เห็นคนทะเลาะกันไหม คนทะเลาะกัน คนต่อสู้กัน มันตะลุมบอนกันอยู่นั่นน่ะ แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร อย่างนั้นน่ะ

นี่หัวใจก็เหมือนกัน มันตะลุมบอนอยู่กับความทุกข์ มันเป็นเนื้อเดียวกันไง ความทุกข์กับหัวใจนี่เป็นเนื้อเดียวกัน มันก็เลยเป็นทุกข์อันเดียวกัน เหมือนกับคนต่อสู้กัน มันตะลุมบอนกัน แต่อันนี้เราไม่ได้ต่อสู้ อันนี้เราเป็นเนื้อเดียวกันไปเลย พอเรามาศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า เรื่องบัญญัติ พระพุทธเจ้าบอกว่า “ทุกข์นี้เป็นความจริง ทุกข์ภายนอก ทุกข์ภายใน”

ทุกข์ การทำงานนั้นทุกข์อย่างหยาบ อันนั้นไว้ต่างหาก ทุกข์ภายในหัวใจอย่างนี้ เวลาหัวใจมันทุกข์ มันไม่ได้สมความปรารถนามัน มันก็ไม่พอใจ เห็นไหม มันไม่ได้ความปรารถนาที่เราคิด มันก็ขัดเคืองใจแล้ว แล้วขนาดมันได้ความปรารถนามาแล้ว มันก็ยังไม่พอใจ เพราะหัวใจนี้ไม่เคยอิ่ม หัวใจไม่เคยอิ่มหรอก ถมเข้าไปเถิด ไม่เคยเต็ม มันจะหิวของมันตลอดไป เพราะว่ามันมีกิเลสไง เพราะกิเลสนี้ ปากมันใหญ่มาก มันกินสมบัติทั้ง ๓ โลกธาตุนี้ มันก็ยังไม่เคยพอ มันจะเอาให้มากกว่านั้นอีก มันได้เท่าไหร่มันก็ไม่เคยพอ นี่พอมันเสวยอย่างนั้น มันถึงได้เป็นทุกข์

แล้วพอเราทำใจให้มันปล่อยวางหมดแล้วนะ มันก็ยังเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น เพราะเราไม่ได้ชำระมัน นั่นคือว่า ให้รู้ทุกข์ เราไม่รู้ว่าทุกข์ รู้ไหม พวกเรานี่ไปกำหนดผลของทุกข์ต่างหากล่ะ เวลาทุกข์นี้มันเสวยขึ้นมา มันเป็นเหมือนกับพลังงานของทุกข์มันใช้แล้ว เราไม่รู้เรื่องเลย พอมันทำให้หัวใจนี้เป็นทุกข์แล้ว แล้วมันสงบตัวไป ทุกข์ คือว่า กิเลสมันใช้เราทำงานแล้ว ตัวมันเองซ่อนอยู่ในใต้ความคิดนั้น แล้วเราค่อยมา “อ๋อ! มันทุกข์นะ”

คือว่า เราไปรู้แต่ผลของมันไง คือว่า เราไม่สามารถกำหนดทุกข์ถูก เราไปกำหนดแต่ผลของทุกข์ ผลของมันใช่ไหม มันไสให้เราคิด ไสให้เราทำ เป็นผลแล้ว หรือว่า เรากำหนดทุกข์ไม่เจอ เราบ่นว่าทุกข์ๆ อยู่นะ แต่เราไม่เคยเห็นว่าทุกข์อยู่ที่ไหนเลย เห็นไหม

บัญญัติเสร็จแล้ว เราเข้าใจบัญญัติแล้ว ยังต้องแสวงหา ต้องทำให้เกิดขึ้นมาจากภายใน นี่เรียกว่า “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ”

ปริยัติ คือ เล่าเรียนบัญญัติมา แล้วก็มาปฏิบัติ แล้วปฏิเวธ พอมันรู้ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งนะ นั่นล่ะ ความจริงแท้ จากความจริงสมมุติเข้ามา มันจะเข้าไปเจอความจริงแท้ภายใน นี่กำหนดทุกข์ กำหนดทุกข์ หมายถึง ตัวจุดที่เป็นตัวต้นเหตุ ตัวที่ให้เราทุกข์ร้อนอยู่นี่ มันทุกข์ในทุกข์ไง คือว่าทุกข์นี้ เราทุกข์เป็นแค่ผลใช่ไหม เราจับตัวต้นเหตุว่าทุกข์อยู่ที่ไหน พอจับตัวนี้ได้ ต้องทำให้ใจสงบ ใจสงบ ใจปล่อยวางแล้วเห็นตัวนี้ เห็นความทุกข์ภายในแล้วสาวเข้าไป สาวจากตัวเหตุนี้ ตัวที่ผลเป็นทุกข์ ให้เข้าไปหาว่า ทุกข์อันนี้เกิดจากอะไร

เรานั่งอยู่เฉยๆ นะ เราไม่พอใจขึ้นมา เราทุกข์ขึ้นมาแล้ว ไม่พอใจนี่ ฟึดฟัดๆ ขึ้นมาเลยในหัวใจ มันเกิดจากอะไร? เกิดจากสมุทัย สมุทัย คือ ความไม่อยาก เห็นไหม ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เรานั่งอยู่ เราไม่อยากอะไรก็ไม่รู้ บางทีน่ะ มันขืนใจ มันขัดใจไปเฉยๆ นั่นล่ะ นั่นเขาเรียกว่า “สมุทัย” สมุทัย คือ ความอยาก ความไม่อยากในหัวใจ มันยุออกมา นั่นน่ะ แก้เข้าไปตรงนั้น

ตรงนี้ต่างหาก พอแก้เข้าไปที่ตรงนี้ คือเหตุให้เกิดทุกข์ จับทุกข์แล้วสาวเข้าไปหาเหตุ ตัวทุกข์มันหายเอง มันก็ว่างเอง มันแบบว่า เราบังคับใจได้ จากใจนี่มันไสให้เราคิด ตามปกติเราเป็นขี้ข้ามันตลอดเลย เราจะสามารถเข้าไปถึงตัวต้นเหตุ แล้วไปชำระตัวต้นเหตุนี้ได้ เกิดจากนี่ เกิดจากเราสาวเข้าไปหาความจริงแท้ไง จากความจริงปลอมๆ ข้างนอกนั่นล่ะ

จะหาอย่างไร? ความจริงแท้จะหาอย่างไร?

ความจริงแท้หาในโลกนี้ไม่ได้ โลกนี้ไม่มี เราวิ่งไปเถอะ เราจะหาสมบัติในโลกนี้ หาเป็นแก้วแหวนเงินทอง หาได้อยู่ แต่จะหาความจริงแท้ในนั้น ไม่มี ต้องสละออกมา เหมือนคนทะเลาะกัน เราต้องแยกคนทะเลาะกันออกจากกัน เห็นไหม ถ้าเราแยกคนที่ทะเลาะกัน ต่อสู้กัน ออกจากกัน เราห้าม เราต้องแยกคนออกมาก่อน แล้วเรามาคุยว่า เหตุผลเพราะอะไร ใครผิดใครถูก

อันนี้ก็เหมือนกัน หัวใจมันตะลุมบอนอยู่กับความคิด ตะลุมบอนอยู่กับความโลภ มันไม่เห็นหรอก เราต้องสละออก เราต้องแยกความคิดที่เราติดออกมา ให้อยู่ในความสงบ ให้แยกหัวใจ กับแยกอารมณ์ออกจากกัน

ฉะนั้น เวลาพระบวช หรือว่านักปฏิบัติต้องมา มาในที่สงัด สัปปายะไง สัปปายะที่ทำให้ใจนี้สงบ เห็นไหม เวลาพระธุดงค์ไป ธุดงค์ไปไหน? ธุดงค์ไปในป่า นี่มันจะแยกหัวใจออกมาจากโลก แยกหัวใจออกมาไม่ให้มันคลุกเคล้า ไม่ให้มันเป็นเนื้อเดียวกันจนหาเหตุหาผล หาต้นหาปลายไม่เจอ ต้องแยกออกมา แยกคนทะเลาะกันออกจากกัน แยกใจออกจากอารมณ์ นี่แยกกันจากตรงนี้

จากการเข้าใจ ก่อนเราจะปฏิบัติ ก่อนที่เราจะทำความเพียร เราต้องศึกษาใช่ไหม ใช้ปัญญาใช่ไหม ใช้ปัญญาแล้วบังคับใจตัวเองให้ลงถึงความสงบ บังคับใจตัวเองนั่นน่ะ แยกใจออกมาจากอารมณ์ที่ว่าทะเลาะกัน ทำใจให้สงบสิ

ทีนี้มันทำยาก คนตะลุมบอนกันอยู่ เราแยกออกมา เขาไม่พอใจหรอก มันโกรธกัน ปล่อย มันก็เข้าหากันอย่างเก่า อารมณ์กับใจก็เหมือนกัน จะยับยั้งอย่างไรมันก็คิด จะยับยั้งอย่างไรมันก็คิด ทำอย่างไรให้ใจมันไม่คิด ให้มันอยู่เฉยๆ นั่นล่ะ ทำใจให้สงบ เริ่มทำใจให้สงบ แยกออกมา ต้องแยกออกจากกันแล้วจะเห็นเหตุเห็นผล แค่แยกออกจากกันนี่นะ แยกใจออกมานี่

คนตะลุมบอนกันนะ คนกำลังทะเลาะกัน มันทั้งต่อย ทั้งทำร้ายร่างกายกัน มันก็ต้องระวังตัว ต้องเจ็บต้องปวด พอเราแยกออกมาจากกัน มันจะหอบแล้วเหนื่อย อันนี้ก็เหมือนกัน แยกใจออกจากอารมณ์นี่นะ อารมณ์กับใจแยกออกจากกัน มันจะมีความสุขมากนะ “โอ้! เมื่อก่อนทำไมมันคิดฟุ้งซ่านไปทั่ว” พอแยกออกมา “เอ! มันโล่ง มันปล่อยวาง” เหมือนกับมันไม่มีใครทำร้ายแล้ว หัวใจนี้ไม่มีใครกดขี่มัน นี่แยกออกมาอย่างนั้น

ทำใจให้สงบ มันมีความสุข ความสุขในการทำใจให้สงบนี้ก็เป็นสุขอย่างหนึ่ง สุขที่แปลกโลก ในโลกนี้ ความสุขที่เราพอใจมันก็เป็นความสุขชั่วคราว สุขด้วยอามิสไง สุขด้วยต้องมีเหตุล่อ สุขต้องทำให้ใจมันพอใจ เหมือนกับเราล่อเด็กๆ เอาของเล่นให้มัน มันจะดีใจชั่วครั้งชั่วคราว ใจก็เหมือนกัน ในความจริงปลอมในโลก เราหาอะไรใดๆ วัตถุใดมาล่อใจ มันก็มีความสุขชั่วคราว มันไม่มั่นคงหรอก

แต่พอมันปล่อยวางตามความเป็นจริง สุขแท้โดยตัวมันเองไง มีสมาธิธรรม รสของธรรม ใจไม่เคยได้ดื่มได้กินเลย ใจมันกินอารมณ์ตลอดเวลา มันกินแต่อารมณ์โลก กินแต่ความจริงปลอมๆ มาตลอดเวลา มันก็ว่ามีความสุขพอสมควร ถ้าเราเป็นขี้ขา หาจนกว่ามันจะพอใจนะ มันก็มีความสุขชั่วครั้งชั่วคราว แต่พอมันปล่อยจากอารมณ์โลก ความจริงปลอมๆ เป็นความจริงในบัญญัติ ในสมาธิธรรมของพระพุทธเจ้า มันกินสมาธิธรรมนะ ไม่ต้องเจือด้วยอามิสนะ

“ใจ” ใจเป็นนามธรรม แล้วธรรมะเป็นนามธรรมเหมือนกัน เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน สุขอันนี้ สุขเกิดขึ้นจากตัวเราเอง สุขไม่ต้องไปแสวงหาภายนอก สุขอยู่ที่กลางหัวอกเราเท่านั้นน่ะ สุขในตัวนี่หาง่ายๆ เลย เรามันเซ่อกัน เราไปหาแต่ข้างนอกกันนะ เราว่า “สุขอยู่ที่ไหนนะ สุขอยู่ที่ไหนนะ” เราก็วิ่งแสวงหากัน แล้วมันก็หลอกไปๆ หลอกไปเรื่อยๆ

เวลานี่เป็นของแป๊บเดียวนะ ๘๐ ปีนี่ชั่วครั้งชั่วคราวเลยล่ะ เราภูมิใจกัน เห็นสัตว์มันอายุ ๕ วัน ๗ วัน ๑๐ ปี ๒๐ ปี ว่ามันอายุน้อย เราว่าเรานี่อายุยืน...ไม่ยืนหรอก พวกที่เขาเป็นทิพย์เขามองเรานี่หัวเราะเยาะเลยล่ะ ชั่วชีวิตเรานี้วันเดียวของเขาเอง ชั่วชีวิตเรานี่ ๑๐๐ ปี เท่ากับ ๑ วันของเขาบนสวรรค์ แป๊บเดียว ฉะนั้นว่า เรามาเกิด ๑๐ กว่าปีแล้วตายไป...๒๐ ปีตายไปนะ แค่เขาไม่ถึงครึ่งวัน

นี่เวลาว่า เราภูมิใจกันนะ นี่ขนาดว่า นี่เป็นกฎธรรมชาติของวัฏฏะนะ แล้วเรามาคิดมุมกลับสิ ถ้าเราอายุมากๆ นะ อายุสัก ๗๐-๘๐ แล้วร่างกายมันใช้ไม่ได้แล้ว เรานอนพะงาบๆ อยู่นะ มันเบื่อหน่าย มันอยากจะให้มันสิ้นๆ ไป ชีวิตเรานี่ นี่พูดถึงความประมาทไง ตอนนี้เราก็ประมาทในชีวิตนะ ประมาทมากๆ เลย วันเวลานะ เรานี่ยังภูมิใจว่าอีก ๕ ปี ๑๐ ปี ๒๐ ปี เราจะมีชีวิตอยู่ ชีวิตนี้ยังอีกยาวไกล ทำเมื่อไรก็ได้...ไม่หรอก

เวลากิเลสมันหลอกเรา มันหลอกมาอย่างนี้ หลอกว่าเมื่อไหร่ก็ได้ หลอกมา มันยังไม่ถึง คนเรายังไม่ถึงเชิงตะกอน มันยังไม่เสียใจหรอก พอมันจะตายนั่นน่ะมันจะเสียใจ แล้วเสียใจก็หมดเวลาแล้ว นี่ผลของวัฏฏะตามความเป็นจริงนะ ถ้าเรามาศึกษาตรงนี้ เราเข้าใจตรงนี้ เราจะไม่ใช้ชีวิตนี้ไปเปล่าประโยชน์ ว่าอย่างนั้นน่ะ ชีวิตเรานี่เราใช้ไปแบบสุรุ่ยสุร่าย วันเวลานี่เราสุรุ่ยสุร่ายมาก เราปล่อยผ่านไปๆๆ แล้วเรายึดอะไรไม่ได้เลย

วัฏฏะ คือว่า การเกิดการตายในวัฏวนไง เราไม่ใช่เกิดชาตินี้ชาติเดียวหรอก เราเกิดมามากแล้ว แล้วยังต้องไปข้างหน้าอีก เรามายืนอยู่ตรงปัจจุบันนะ ลองหันไปดูข้างหลังสิ อดีตที่ผ่านมา แล้วอนาคตข้างหน้าไปนี่ แล้วเราจะตื่นอะไร จะให้โลกมันหลอกอยู่อย่างนั้นเหรอ โลกนี้ไม่ใช่ธรรม ธรรมนี้ก็ไม่ใช่โลก แต่มันอาศัยกันอยู่นะ อาศัยที่ว่า มันมีโลกก็มีธรรมไง เพราะมีโลกนี่มันเป็นทุกข์ใช่ไหม มันเป็นสีดำ ก็ต้องมีสีขาว สีขาวตรงข้ามกับสีดำ นี่อยู่ในโลกเหมือนกัน แสวงหาตามโลกเขา เพราะเราเกิดมานี่มันเป็นวัฏฏะ มันต้องอยู่ในโลกเขาอย่างนี้แหละ แต่ธรรมมันก็อยู่ท่ามกลางโลกนั่นล่ะ แต่เราหาไม่เจอ

ทีนี้ผู้ที่ฉลาด มาเกิดในโลกนี้ พระพุทธเจ้านี้เป็นผู้ฉลาดที่สุด เกิดท่ามกลางโลกนี้ แล้วเป็นผู้ที่ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เป็นสยัมภู รู้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมีใครสอนเลย แต่กว่าจะรู้ได้อย่างนั้นนะ เพราะท่านสร้างสมบารมีมามาก เห็นไหม

อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เราเรียนมาด้วยกัน ทำไมเราไม่เหมือนกัน นี่ก็เหมือนกัน เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ท่านเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เราเกิดเป็นสาวก เป็นผู้ที่ได้มาเกิดท่ามกลางของศาสนา เราก็มีวาสนามาก มากจริงๆ แต่พระพุทธเจ้าต้องทุกข์แล้วมาตรัสรู้ในโลกนี้ไง ถึงว่า บารมี เห็นไหม การเกิดการตายไม่เหมือนกัน ท่านสร้างมา

ฟังสิ ใน ๑๐ ชาตินั้นนะ ในการสร้างเป็นพุทธภูมิมานั้นนะ ทุกข์มากขนาดนั้น ถึงได้เป็นผลมาอย่างนั้น แต่เราไม่ได้มองตรงนั้นนี่ เรามองแต่เราๆ นี่ไง มองแต่ตัวเรา ยึดตัวเราเป็นใหญ่ อะไรก็แล้วแต่ เรานี้เป็นใหญ่ๆ เลย เพราะพอใจแล้วมันก็ไสให้คิด นี่ให้มองอดีต แล้วก็มองไปอนาคตไง แล้วสิ่งว่า เกิดมาท่ามกลาง เกิดมาท่ามกลางแล้วนะ เหมือนอาหารวางอยู่ตรงหน้าเลย สำรับอาหารวางอยู่ตรงหน้าเลย แล้วปล่อยให้มันเสียไปนะ ตลาดวายไง แต่นี่ปล่อยให้ชีวิตนี้ผ่านไปไง สัจธรรมมีอยู่แล้ว แล้วจะอยู่คงที่ตลอดไป แต่หัวใจเราเข้าไม่ถึงต่างหาก ว่าศาสนาเสื่อมไง

ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เสื่อม แล้วพวกเราก็ภูมิใจนะ ชาวพุทธ ว่าศาสนาไม่เสื่อม บุคคลเสื่อมๆ บุคคล เรา หัวใจเราเสื่อม ห่างไกลจากศาสนาออกมา ห่างไกลจากสัจจะความจริงแท้อยู่ภายในหัวใจนะ หัวใจเรามืดบอด เราหลับตามองเข้าไปในหัวใจ มีแต่มืด มองไม่เห็นอะไรเลย

เพราะคนเรามืด เราบอด เรามีกิเลสมาก ถึงต้องฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฟังผู้ที่มีตา ฟังผู้ที่หูตาสว่าง ท่านมองเข้าไปในกิเลส ท่านจะรู้เลยว่ากิริยาของใจกับกิริยาของกิเลส อารมณ์ ธาตุรู้มันเป็นธาตุเฉยๆ มันเสวยอารมณ์ ระหว่างใจกับกิเลส กับขันธ์ เห็นไหม เวลามันกระทบกัน แต่เรามองไม่เห็น เพราะเรามองเข้าไป มืดบอดๆ ดำไปหมด ถึงต้องใช้ศาสนธรรมไง

ที่ว่า เราจะเสื่อม อาหารจะวาย วายตรงนี้ ศาสนาเสื่อมตรงนั้นน่ะ เพราะเราไม่เชื่อ เราเข้าไม่ถึงต่างหาก สัจธรรมไม่เสื่อม เราว่า บุคคลเสื่อมๆ บุคคล ไม่ต้องไปมองที่อื่น บุคคลเรานี่ล่ะ บุคคลเรานี่เสื่อมจากศาสนา เสื่อมออกไปไกลไง หัวใจมันไม่ได้เข้าไปเสวยไง

ชาวพุทธนะ ควรจะได้เข้าไปเสวยสมาธิธรรมก็ยังดี ใจนี่สงบ สมาธิธรรม เราเสวยอยู่ มีความสุขอยู่พอสมควร แล้วถ้าดับลง เราต้องตายไปโดยที่ว่าเราไม่ได้ชำระกิเลส เราก็ไปเกิดเป็นพรหม ถ้าเราจับตรงนี้ได้ จับอารมณ์อันนี้ได้ เวลาจิตมันจะดับ เสวยอารมณ์นี้ก่อน ต้องเกิดอยู่แล้ว สมาธิธรรม เอกัคคตารมณ์ เป็นหนึ่ง พรหมนี้ก็เป็นขันธ์หนึ่ง เทวดาขันธ์ ๔ มนุษย์ก็ขันธ์ ๕ มนุษย์เรานี่มีขันธ์ ๕

จิตเป็นหนึ่ง เวลาจิตเป็นสมาธิ จิตเป็นพรหม จิตเป็นพรหมเพราะมันเป็นหนึ่งเดียว เพราะอารมณ์ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว เราเสวยอย่างนั้น ทีนี้อารมณ์ที่มันกินได้นะ เราเทียบได้ ๓ โลกธาตุ ใจเรานี้เทียบได้ เขาว่า “สวรรค์มีไหม สิ่งนี้มีไหม” ไม่ต้องไปพิสูจน์ที่สวรรค์นั่น สวรรค์ที่ว่าจิตนี้มันไปเสวยนี่ช้าเกินไป สวรรค์ในใจนี่แหละ มันจะเห็นที่เกิดที่นี่เลย อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของเทวดา นี่สวรรค์ในใจ อารมณ์ที่มีความสุข เห็นไหม แต่ว่าจิตมันเป็นสมาธิ อารมณ์เป็นหนึ่ง พรหมเป็นอย่างนี้เอง เอกัคคตารมณ์ ขันธ์ ๑ นี่สวรรค์ภายใน

มันก็ต่อกัน ภพมันก็ต่อภพ เพราะใจนี้มันเสวยมาหมดแล้ว ๓ โลกธาตุนี้ไม่มีภพไหนที่เราไม่เคยเกิดเลย คนเรานี่เกิดลุ่มๆ ดอนๆ เกิดที่สุขมากก็เคยเกิด เกิดที่ทุกข์มากก็เคยเกิด แล้วซับลงที่หัวใจ ซับลงมาอยู่ที่ใจนั่นล่ะ มันย่อยสลายลงมาให้เป็นขันธ์ในปฏิจจสมุปบาท ให้เป็นสัญญาในปฏิจจสมุปบาทนะ ไม่ใช่ขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือขันธ์ปัจจุบันนี้ ย่อยเข้าไปๆ ก็สะสมไว้ที่นั่น เวลาจิตสงบขึ้นมา จิต สงบลงไป สิ่งที่อยู่ในหัวใจมันออกมาเอง นั่นถึงสาวได้ สาวถึงหาอดีตได้ พอสาวไปมันก็ติดพันๆๆ ชำระๆๆ ชำระขาดออกไปๆๆ เราเป็นหนี้ใคร เราจ่ายหนี้เขาไป เราก็รู้ว่าหนี้เราหมด อันนี้ก็เหมือนกัน เราชำระในหัวใจเราออกไปเท่าไรๆ มันเบาลงๆ หนี้เราก็หมดไป เหตุที่สัมพันธ์กัน เหตุที่ว่าใจจะไปสวรรค์ ตัดสวรรค์ออกจากใจเลยล่ะ

นี่มันเป็น ๒ แง่ แง่หนึ่งคือว่า เราตายแล้วเราไปหา เราไปเสวยภพอย่างนั้นหนึ่ง

กับเหตุที่จะไปนี่ เพราะใจมันเกี่ยวพันกัน

ใจเป็นอะไร เวลามันดับไปมันก็เสวยอย่างนั้นล่ะ นี่ถึงว่า ดับที่ใจๆ นิพพานน่ะ นิพพานในหัวใจ ใจเสวยนิพพาน ดับสิ้น แต่ถ้าไม่ดับมันก็เวียนอยู่อย่างนั้น เวียนอยู่อย่างนั้นเอง เวียนขึ้นสูงๆ ต่ำๆ สูงๆ ต่ำๆ นั่นน่ะ

เวลาการเป็นมนุษย์ของเรา เรานี่เป็นแค่เฟืองตัวหนึ่งในเครื่องนะ เฟืองตัวหนึ่งในเครื่อง เวลาเครื่องยนต์มันหมุนไปนะ เฟืองเต็มไปหมดเลย วัฏวนนี้ เรามนุษย์คนหนึ่งก็เป็นแค่เฟืองตัวหนึ่ง โลกนี้มันกว้างขวาง ในโลกนี้เรายังไม่เข้าใจทั้งหมดเลย แล้วใน ๓ โลกธาตุ เราจะไปเข้าใจได้อย่างไร ฉะนั้น ถ้าเราจะไปศึกษาข้างนอกหมดมันไม่ได้ เราต้องกลับเข้ามาศึกษาที่หัวใจเรา ดับที่หัวใจนี้เลย ดับที่หัวใจเรา แต่นี่ออกไปข้างนอกไง

วัฏฏะ ที่ว่า ให้ดูโลกข้างนอก ดูแล้วเทียบเข้ามาในหัวใจเรา เราเป็นเฟืองตัวหนึ่ง แล้วก็หมุนในใจเรานี่ กิเลสในใจเราก็หมุนในหัวใจนี่หัวปั่นอยู่แล้ว แล้วยังต้องมาปั่นใน ๓ โลกธาตุนี้อีกนะ ชาตินี้ตายไป เกิดมาแล้วตายๆ แล้วหมุนไปอย่างนั้น เฟืองตัวหนึ่ง แล้วหมุนไปในเครื่อง ก็ทำให้เครื่องนี่หมุนไป เราก็เป็นเฟืองตัวหนึ่งใน ๓ โลกธาตุนี้ ก็หมุนอยู่อย่างนี้ ในเฟืองตัวนั้น เวลาหมุนมันก็ร้อน มันก็สึกหรอ แต่มันก็ดับไม่ได้ เพราะเครื่องมันหมุนไป พอเครื่องมันติดแล้ว พลังงานของคนอื่นมันก็หมุนเฟืองนั้นไป

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราอยู่ในวัฏฏะ วัฏฏะก็บีบคั้นเรา ๓ โลกธาตุบีบคั้นเรานะ เพราะเราเป็นมนุษย์ ถึงไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอะไรก็แล้วแต่ ก็อยู่ใน ๓ โลกธาตุนี้ เฟืองตัวนั้นก็หมุนไปตลอดเวลา ดูสิ ทุกข์ไม่ทุกข์ เราก็โดนหมุนนะ กิเลสหมุนในใจ ก็หมุนแล้ว เฟืองมันหมุนมันก็ร้อนอยู่ชั้นหนึ่งแล้ว ยังต้องให้วัฏฏะนี้บีบคั้นเราไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะมันหลุดออกมาไม่ได้ ยังต้องดับสองดับ ออกจากวัฏฏะด้วย แล้วดับในหัวใจอีกด้วย เอาเฟืองนั้นออกมาจากเครื่องเลย ยกตัวให้ขึ้นเอง ออกจากวัฏฏะ ยกตัวเองออกมา พ้นออกมาจากวัฏฏะเลย แล้วมันไม่ต้องไปหมุนไปปั่นอยู่อย่างนั้น แต่มันต้องหยุดตัวเองก่อน หยุดใจนี่ หยุดใจให้ได้

พอหยุดใจ ใจมันก็ทรงตัวได้ นี่มันหยุดไม่ได้ เห็นไหม เวลาเครื่องมันปั่นไป มันลากไป กิเลสมันลากไป ความอยากในใจนั่นล่ะ

๑. ความอยากในใจ

๒. ความเคยชินในใจ

๓. การขับเคลื่อน

เราไม่สามารถรู้เลยๆ มันน่าสงสารนะ เราปรารถนาดี ใครๆ ก็อยากเป็นคนดี ใครๆ ก็อยากมีความสุข แต่ทำไมทำไม่ได้ล่ะ เราว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี ไม่ควรทำ แต่มันก็อยากทำในใจ มันก็ไสไป มันก็ดันไป นี่มันน่าคิด ถ้าได้ฉุกคิด นั้นน่ะเราเป็นคนดี ได้ฉุกคิดมันก็เริ่มยับยั้งไง ขอให้ได้ฉุกคิด นี่ไม่ได้ฉุกคิด บ่น ได้แต่บ่น “เราก็ทุกข์ เราก็เป็นชาวพุทธ เราก็ทำความดีมามาก ทำไมชีวิตมันทุกข์ ขนาดนี้หนอ” อันนี้มันเป็นความเห็นของเรานี่นา

ชีวิตคนนี่นะ บางคนทุกข์มากเลย แต่คนนอกเขามองว่าคนนี้มีความสุขมากเลย เพราะทุกคนมองออก มันจะมองว่าคนอื่นมีความสุข เรานี้มีความทุกข์ คนอื่นมีความสุข เรามีความทุกข์ ทั้งนั้นเลย แล้วเราก็มาบ่นของเราว่าเราทุกข์ๆ...ก็มันอยากออกไง อยากออกไปหมด เพราะมันคาดมันหมาย คือว่า ตัณหาความทะยานอยาก อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นทำให้ทุกข์มาก เพราะไม่เข้าใจ

ปิดสวิตซ์ก็หมด เปิดไฟ กดสวิตซ์ ไฟมันก็เปิด พรึ๊บ...สว่างไปหมดเลย ดับสวิตซ์ มันก็ดับ แต่นี่มันไม่ดับสวิตซ์ มันวิ่งไปดับไฟ จะเอามือไปปิด ปิดตรงนั้น ปิดตรงนี้ แสงมันก็ลอดมาจนได้ล่ะ ไอ้นี่ก็บ่นว่าทุกข์ๆ แล้วก็จะไปแก้ที่นู่นแก้ที่นี่ บ้านทั้งหลัง มันรั่วหมดทั้งหลังเลย แล้วปิดไม่ได้ เวลาฝนตก เห็นไหม หลังคานี่รั่วไปหมดเลย ซึมเข้าไป รั่วไปหมดเลย นี่ก็บ่นว่าทุกข์ๆ แล้วก็รักษาไม่ได้ รักษาตัวเองไม่ได้ ดูใจตัวเองไม่ได้ นี่มันมีแต่บ่นๆ

หลับตา หันเข้ามา เวลามันทุกข์ร้อนมากๆ นะ หลับตานี่มันยิ่งฟุ้งมากเลย เห็นไหม เวลาใจเราอารมณ์ดีๆ หลับตามันก็ง่ายขึ้น เห็นไหม นี่สติ ความระลึกรู้อยู่...เข้าใจ เข้าใจว่าจะเอาความดี เอาความสุข มันเป็นความเข้าใจเฉยๆ น่ะสิ เป็นความเข้าใจ ไม่ใช่ความจริง มันเป็นการคาดการหมาย รู้ไหม การคาด การหมาย การด้น การเดา หมายไปทั่ว หมายเท่าไรมันก็ทุกข์เท่านั้นล่ะ คาดเท่าไรก็ทุกข์เท่านั้นล่ะ เพราะคาดไป เอากิเลสมันคาดนี่ ๒ ก็เป็น ๓...๓ ก็เป็น ๔ คาดไปเรื่อย ผลัดไปเรื่อยๆๆ

หยุด สติทันมันก็หยุดอยู่นะ สติทันน่ะ อย่างวัตถุหยุดนี่มันจะหยุดง่ายๆ เลย แต่หัวใจ นามธรรมนี่มันหยุดไม่ได้ เราบอกหยุด แป๊บเดียวเท่านั้นล่ะ พอสิ้นคำว่า “หยุด” มันก็หมุนไปแล้ว จิตนี้มหัศจรรย์นะ เวลามันเป็นผลขึ้นมามันถึงได้ให้ผลมากไง จิตนี้มหัศจรรย์ จิตเรานี่ ถึงว่าให้หยุด ถ้าไม่หยุดนี่มันหมุนออก สมบัติล้ำค่า สมบัติมหาศาลเลย ที่ว่ามหัศจรรย์ไง จิตหนึ่งมันเป็นตัวมันเองก็มหัศจรรย์อยู่แล้ว แต่ถ้าเราทำได้อีกล่ะ มันจะไม่สงสัยใดๆ ในโลกนี้ สิ่งใดในโลกนี้เรายิ่งสงสัยเท่าไร เราก็ยิ่งระแวง ยิ่งคิดมาก เพราะมันไม่เข้าใจ ความรู้ใดๆ ในโลกนี้มันเป็นเรื่องของเขา แต่ความรู้ชำระภายใน ความรู้ที่เข้าใจตนเอง การเข้าใจตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เห็นไหม

แต่นี่มันไม่เข้าใจตน มันเข้าใจตามสมมุติน่ะ ชื่อ นาย ก. นาย ข. นั่นน่ะ สถานะปัจจุบันนี้ค้ำคออยู่ เหมือนคนในคุก คนในคุกกับคนนอกคุก เท่านั้นเอง เข้าคุก-ออกคุก เข้าคุก-ออกคุก เกิดมานี่แหละ นี่คุกของมนุษย์ คุกของความคิดเราไง มันคุกจริงๆ นะ ออกจากคุกไปสิ ตายไป ออกจากคุกไปก็ไปเสวยอยู่คุกใหม่ อยู่ในภพไหน อยู่ในชาตินี้ก็คุกนั้นล่ะ

มันรู้ตามสถานะปัจจุบันนี้ แล้วก็หลับตาเลย รู้แล้วก็หลับตา ไม่รู้ว่ามันมาจากไหน เกิดมานี่เกิดมาจากไหน แล้วตายแล้วจะไปไหน เวลาถามตัวเองแค่นี้มันก็สะท้อนใจนะ...

...ธรรมชาตินี้ไม่ต้องสอน สัตว์ทุกตัวกลัวตาย ตายก็กลัว เวลาตายขึ้นมานี่ใจสั่นใจหายหมดนะ เวลาจะว่าตายนี่ ตาย แต่ต้องตายหมด ธรรมชาติมันต้องตายอยู่แล้ว แต่เกิดนี่สิ แล้วจะไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ในเมื่อมีเชื้ออยู่ ในเมื่อหัวใจนี้มันยังมียางเหนียวอยู่ในใจ ต้องเกิดเด็ดขาด แต่เราเข้าใจว่าตายแล้วไม่มี ตายแล้วสูญ หรือตายแล้วก็ไม่รู้จะไปไหน เกิดสูงๆ ต่ำๆ เกิด เกิดแน่ๆ

นอกศาสนาก็ว่ากันไปนะ แต่ในศาสนา ดูใจนี่ นักปฏิบัติจะดูใจ เพราะใจมันเกิดมันดับแล้วมันรู้จริงๆ ตามหัวใจ ตามภายใน ภายในนี่มันจริงตามความเป็นจริงเลย เพราะเห็นเชื้อจริงๆ ถ้าเราจะไปดับกิเลสนะ เราไม่เห็นเชื้อโรค เราไม่รู้ว่าตัวไหนเป็นเชื้อ แล้วดับตัวไหนเราจะดับได้อย่างไร แล้วเวลามันตัดขาดๆ คำว่า “ตัดขาดๆ” ตัดขาดจากกิเลสที่มันซ้อน มันไปสมานให้ขันธ์ ๕ กับใจเป็นอันเดียวกันไง

ในสักกายทิฏฐิ เข้าใจว่ากายนี้เป็นเรา อย่างเช่นกายกับใจนี้ เราก็แยกไม่ถูกว่าอันไหนกาย อันไหนใจ แล้วเวลามันขาดนะ ใจมันปล่อยกาย มันปล่อยเป็นชั้นๆ เข้ามานั่นน่ะ เราจับไปที่กายเรา เราว่าจับไปที่กาย แล้วกายเราจับรู้สึก แล้วใจอยู่ไหนล่ะ ลองจับใจออกมาให้ดู ไม่เคยเห็น เราไม่เคยเห็นใจของเราเอง ใครได้สมาธิธรรมนั่นล่ะเห็นใจของตัวเอง ใจมันสงบ มันรวมไปแล้วเป็นหนึ่ง ความรู้สึกนั่นล่ะจับ นั่นแยกกายกับใจ

สมาธิที่ลึกๆ นะ สามารถแยกออกจากกันได้เลย แยกความรู้สึกนี้ออกจากกายได้หมดเลย แต่ไม่สามารถชำระกิเลสได้ ยกเว้นแต่ว่าความเข้าใจในการที่มันสมาน การที่กิเลสมันสมานกายกับใจนี้เป็นอันเดียวกันนั่นน่ะ เราแยกออกจากกัน นั่นเห็นเชื้อโรค

เชื้อโรค คือ ตัวกิเลส มันสมานไง เชื้อเข้าไปอยู่ในกาย มันทำให้ เวลาเชื้อโรคเข้า เราไม่สบาย มันมีเชื้อโรคใช่ไหม ทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วย เอายาไปกำราบมัน เชื้อโรคต้องหายไป สงบตัวลง ก็เบาขึ้น

กิเลสก็เหมือนกัน วิปัสสนาญาณเข้าไปตัด วิปัสสนาญาณนะ ว่าอย่างนั้นเลย เราสร้างขึ้นมา สร้างปัญญาขึ้นมา กายนี้มันไม่ใช่เรา ถ้าใช่เรา เราต้องสั่งได้ เกิดแล้วไม่ต้องตาย เกิดแล้วห้ามตาย เพราะกายนี้เป็นของเรา ร่างกายนี้หยุดเลย แบบสต๊าฟไว้เลย กาลเวลาให้มันเคลื่อนไปเฉยๆ แต่ร่างกายนี้ไม่เสื่อมสภาพตามไป ให้มันเป็นอมตะ เราต้องทำอย่างนั้นสิ แต่นี่มันไม่ได้ มันแปรสภาพตามความเป็นจริง นี่จริงตามบัญญัติ

การเกิดนี้จะไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะกรรมมี กรรมไสมาให้เกิด แต่ในเมื่อเกิดมาแล้ว เหมือนกับตามน้ำ เราเกิดเป็นมนุษย์มาเพราะบุญกุศลสร้างมา แล้วเหมือนกับตามน้ำมา จริงตามน้ำ แล้วจะปล่อยไปอย่างไร มันเป็นบุญมา ตามน้ำมาแล้วนี่เราสร้างขึ้นมาอีกมันก็สูงขึ้น...ห้ามไม่ได้ ของอย่างนี้ห้ามไม่ได้ มันต้องเกิดแน่นอน

ฉะนั้น เราไปห้ามไม่ให้เกิดเป็นมนุษย์ มันก็เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นสัตว์ เกิดในอบายภูมิ เกิดเป็นเทวดา อันนี้มันใช้...อย่างเช่นเกิดเป็นเทวดา หมดจากเทวดาแล้วลงมาเกิดเป็นมนุษย์นี่ประเสริฐแล้ว มันอย่างนั้นก็เกิดเป็นอย่างอื่นที่ต่ำกว่านี้ไป เกิดจากข้างล่างขึ้นมาก็เหมือนกัน เกิดจากอบายขึ้นมานี้ก็เกิดเป็นมนุษย์

คนมีทำดีทำชั่วเหมือนกันหมด ทุกคน ทุกคนต้องผ่านการทำความดีความชั่วมา ไม่มีใครทำดีหมด แล้วทำความชั่วหมด เพราะเวลากิเลสมันให้ผลนี่เราบังคับไม่ได้ เผลอไป ทำไป โดนกิเลสยุยงโดยเราไม่รู้ตัว นี่มันบังคับมาให้เกิดอยู่แล้ว ทีนี้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องใช้สถานะมนุษย์นี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เห็นไหม ใช้สถานะมนุษย์เรานี่ มนุษย์สมบัติ

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ มันประเสริฐจริงไหม สัตว์ประเสริฐต้องมีศีลธรรมในหัวใจ สัตว์ประเสริฐมันประเสริฐต่างกับสัตว์เดรัจฉานก็ตรงที่มันมีศีลมีธรรมไง มนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานมันก็มีหัวใจ มีร่างกายเหมือนกัน สัตว์เดรัจฉานมันก็รู้สุขรู้ทุกข์เหมือนกันนะ มันก็เกลียดทุกข์ มันก็ปรารถนาจะมีความสุข เราลองให้วัตถุสิ่งของมันสิ มันดีใจเลยล่ะ ให้อาหารมัน มันเข้ามาหาเลย เห็นไหม มันก็ปรารถนาความสุขเหมือนกัน

แล้วมนุษย์เรานี่ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐๆ ประเสริฐอย่างนี้ มีศีลมีธรรมจากศีลธรรมที่ความจำได้นะ ศีล ๕ ศีล ๑๐ นี่เราจำได้ กับอธิศีล ศีลในหัวใจนี่เป็นศีลแท้ๆ เลย กระเพื่อมออกมาจากความรู้สึกปั๊บ รู้ว่าผิดถูกแล้ว กระเพื่อมนะ ใจคิด คือ กระเพื่อมไง ใจไม่คิด ใจสงบ ถ้าใจคิดออกมานั่นน่ะอธิศีล อธิศีล อธิจิต นั่นล่ะยิ่งประเสริฐเข้าไปใหญ่ ประเสริฐภายใน นี่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เราทำให้เป็นสัตว์ประเสริฐ เราถึงใช้ภพมนุษย์นี้ให้เป็นประโยชน์

ทำความดีได้ไปเกิดบนสวรรค์ เกิดแน่นอน เพราะมันดับนี้แล้วจิตมันเสวยไปเลย มันเป็นธรรมชาติของมันไปเอง แต่เราต้องบังคับการก้าวเดินไปข้างหน้าของเราไปอีกชั้นหนึ่งสิ ทำไปเรื่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนถึงมันสิ้นไปเลยนะ คราวนี้ไม่เกิด ทำได้ที่นี่นะ ทำได้ที่นี่เพราะพ้นจากที่นี่ไป พ้นจากมนุษย์สมบัติไป ถ้าเราไม่พบช่วงของศาสนา ศาสนธรรมคำสั่งสอนอันนี้ อันที่ว่าอันนี้ถึงนิพพานๆ มันก็พูดกันสักแต่ว่า

เพราะว่า คำว่า “นิพพาน” มันเป็นคำที่ฝังลึกมาแต่กาลไหนๆ แล้ว แต่ถ้าในช่วงกลางศาสนาเรานะ นิพพาน คือว่า พอสงบเราก็เข้าใจว่าเป็นนิพพานไง ถ้าศาสนธรรมพระพุทธเจ้าไม่ได้วางไว้ แล้วภิกษุ ครูบาอาจารย์ไม่ได้สืบทอดกันมา มันเป็นความเข้าใจ กิเลสมันหลอกอีกชั้นหนึ่ง

เวลากิเลสมันหลอก หลอกเรื่องให้เราทุกข์ก็หลอกแล้ว หลอกปฏิบัติ ขณะปฏิบัติอยู่มันก็ยังไสให้เราเข้าใจว่าอันที่จิตเป็นสมาธินั้นเป็นนิพพานนะ เวลาจิตมันสงบเข้าไปภายในนั้นนะ เพราะสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมันก็เข้าใจว่า อันนี้เป็นนิพพาน นั่นก็เสียเวลาไปอีกชาติหนึ่ง แล้วทำความดี เพราะไปเป็นผู้ปฏิบัติใช่ไหม ถึงปฏิบัติผิด แต่มันก็ได้สร้างอริยทรัพย์ภายในแล้ว ก็ไปเกิดเป็นพรหม เกิดเป็นอะไรอยู่นั่นล่ะ แล้วพอไปรู้ตัวอีกทีก็ไปอยู่ที่นั่นแล้ว “ไอ้นี่ไม่ใช่นิพพานนี่นะ นิพพานยังมีอีกที่หนึ่ง” เห็นไหม มันไปเป็นผลแล้วเราถึงจะไปรู้

นี่เหมือนกัน เวลาทุกข์เกิดออกมา มันเป็นผลแล้วถึงรู้ว่าทุกข์ แต่ไม่สามารถหาเหตุได้ ถึงว่า มนุษย์เกิดมาพบพระพุทธศาสนานี้ประเสริฐมาก ประเสริฐมากๆ เลย แบ่งได้นี่ ตลาดยังไม่วาย หัวใจเรายังไม่เคลื่อนออกไปจากศาสนา ต่อไปมันจะถือเฉยๆ ไง ถ้าเคลื่อนออกไป ถือเฉยๆ

สัจจะมี ครูบาอาจารย์มี ความจริงมี หัวใจเราก็มี หัวใจเราน่ะ ของที่เป็นวัตถุนะ มันกลับเป็นอนิจจัง มันต้องแปรสภาพ แต่จริงๆ คือหัวใจเรานี่แหละ มันเป็นนามธรรมนะ แต่มันจะมีอยู่ตลอดเวลา กระดิกขึ้นมาสิ บางทีเรานั่งเหม่อๆ เห็นไหม ไม่มีเลย พอนั่งขึ้นมาก็เกิดทันทีเลย นามธรรมอันนี้มันกลับคงที่ หัวใจนี่แปลกมาก คงที่ มันมีอยู่ตลอดเวลา ตายไปอยู่ที่ไหนมันก็มี ความรู้สึกอันนี้ เพราะความรู้สึกไม่เคยตาย ตายแต่เฉพาะร่างกาย

เวลาร่างกายนี้ชำรุดทรุดโทรมไป มันต้องตาย หมดไปต้องตายไป แต่หัวใจไม่เคยตายหรอก แต่มันเป็นขี้ข้าเขาไปตลอด กิเลสมันไสไปในวัฏฏะนี่ ทุกข์ ๒ ชั้นนั่นน่ะ วัฏฏะบีบให้ทุกข์อยู่ชั้นหนึ่ง ทุกข์ในหัวใจบีบไว้อีกชั้นหนึ่ง

แต่มาเจอหมอแล้ว เจอพระพุทธเจ้า เจอยาแล้วนะ ศาสนธรรมนี่ ศาสนธรรม ธรรมของพระพุทธเจ้านี้เป็นยา ยานี้ชำระกิเลส ยาที่ชำระโรคที่มีอยู่ในหัวใจ เราก็รู้ว่าเป็นโรคทุกคน คนที่เกิดมาทุกคนมีโรคหมด ไม่เว้นเลยแม้แต่คนเดียว เพราะกิเลสนี้ทำให้เกิด คนที่เกิดคือคนที่มีกิเลสเท่านั้น ทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์นี่มีเชื้อโรคหมดเลย ไม่มีใครที่ไม่มี คือมีกิเลสในหัวใจ แล้วชำระ คือพระพุทธเจ้าเป็นองค์แรก แล้วก็พระสาวกที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้นที่ชำระโรคนี้ได้ แล้วนอกจากนั้น ไม่ได้ ตายไปพร้อมกับโรค ตายไปพร้อมกับกิเลสไง

ไอ้เราก็ต้องเดินไปถึงตรงนั้น เรานี่ก็ต้องตายเด็ดขาดเลย แต่ตายไปด้วยเราจะเอาสมบัติพกไปได้ขนาดไหน สมบัตินี่...คือว่า เชื้อโรค แล้วก็ธรรมะพระพุทธเจ้า เราปราบปรามได้ขนาดไหนในหัวใจเรา เราได้ไปเท่านั้นน่ะ ความดีที่เราทำนี่ได้ไปเท่านั้นน่ะ

สมบัติผลัดกันชม สมบัติในโลกนี้เป็นของโลกนี้ เป็นของสาธารณะ เราหาได้มากได้น้อยเราก็ภูมิใจอยู่ตอนยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นน่ะ พอสิ้นไปนั้นนะ แต่ถ้าเป็นผู้ดี สมบัตินั้นเป็นประโยชน์ ประโยชน์ หมายถึงว่า ไม่ให้โทษเรามากจนเกินไป แต่ถ้าผู้ที่ว่าเป็นห่วงมันมากเกินไป รักษามันมากเกินไปนะ มันกลับให้ผลเป็นโทษ ก็เราติดไง

เวลาเราจะตายไป เราต้องชำระใจ เราต้องเอาแต่อริยทรัพย์ภายในไปพร้อมกัน แต่คนเราถ้ามันไม่เข้าใจ เวลาตายมันยึดแต่สมบัติภายนอก ข้างในนี่กลับไม่ได้เลย จะทำความดีขนาดไหนก็ฝังอยู่ภายใน แต่มันยังไม่เสวยผล

อย่างเช่นเราเคยทำความดีไว้ เราไม่นึกถึงมัน มันก็ไม่มี เห็นไหม เงียบ อยู่ไหนก็ไม่รู้ แต่เรานึกถึงความดีที่เราเคยทำสิ ขึ้นมาทันทีเลย นั่นน่ะ ถ้าเราเข้าใจอันนี้ เราคิดถึงความดีภายในนะ สมบัติภายนอกเราจะทิ้งเลย ก่อนจะตาย เราจะทิ้งเลย เราไม่สนใจ เราจะเอาความดีภายใน เพราะอันนี้มันแนบกับใจ ไปพร้อมกับใจ

สมบัติภายนอกนี่เราทิ้งให้ลูกให้หลานมันไว้ ทิ้งให้ใครก็ทิ้งให้ไปเลย เราอย่าไปยึดมัน ยึดมันนี่มันออกไปเอาข้างนอก มันเสวยภพข้างนอกนี้ จิตมันไม่เอาของที่ละเอียดกว่า แม้แต่สมบัติมี เหมือนกับอาหารมีในตู้กับข้าว เรายังเปิดกินไม่เป็นเลย ทั้งๆ ที่เราหา เป็นของเราแล้วนะ ทั้งๆ ที่เราหาไว้ในหัวใจแล้วน่ะ

เพราะกิเลสมันจะให้เราเกิดต่ำ เกิดที่ว่ามันมาบังคับเราได้ เกิดต่ำแล้วมันบังคับบัญชา หรือที่อยู่ บ้านของมัน มันอยากอยู่บ้านที่ว่ามันอยู่สะดวกสบาย แต่เราอยากให้มันอยู่ในบ้านที่ไม่สะดวกสบาย อยากให้หัวใจเรามีธรรมมากๆ เราจะได้มีความสุขมากๆ ให้กิเลสมันอยู่ห้องเล็กๆ ห้องแคบๆ นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างธรรมกับกิเลสในหัวใจเรา แล้วเราจะทำอย่างไร จะเอาสิ่งที่ดีบรรจุในหัวใจเราให้มากๆ

ถึงว่า ไม่เสียว่าเราเกิดเป็นมนุษย์แล้วพบพระพุทธศาสนาจริงๆ ด้วย แล้วได้บรรจุ พยายามยัดความสุข ยัดธรรมนี้เข้าไปในหัวใจเราให้มากที่สุด บรรทุกสมบัติ ธรรมสมบัติเข้าใจหัวใจแล้ว บรรทุกไปให้ได้มากที่สุด จนถึงที่สุดแล้วเต็มเลย ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน

จากที่แบ่งเป็น ๒ ไง ขาวกับดำ สุขกับทุกข์ จนใจนี้เต็มไปด้วยธรรมทั้งแท่งเลย ว่า เอโก ธัมโม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เราบรรทุกไปในหัวใจ ธรรมมากขนาดไหน กิเลสมันก็มี เห็นไหม มันอนัตตา มันแปรสภาพอยู่ มันก็ต่อสู้กันอยู่ตลอดเวลาภายในใจเรานั่นน่ะ

แต่พอเราบรรทุกจนเต็มหมด จนกิเลสมันไม่มีที่อยู่เลย เป็นธรรมทั้งแท่ง เอโก ธัมโม ธรรมเป็นเอก ธรรมเป็นหนึ่ง อันนี้ไม่แปรสภาพ เป็นธรรมแท้ แต่ถ้าเราเอาธรรมบรรจุไปๆ ยังมีกิเลสอยู่ มันยังเป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมนี้ก็แปรสภาพ เพราะกิเลสมันชนะบ้าง ธรรมชนะบ้าง เป็นบางโอกาส

เราถึงต้องบรรจุให้เต็ม แต่มันเต็มไม่ได้เพราะกิเลสมันอยู่ในใจ มันยังแบ่งที่อยู่ตลอดเวลา อย่างที่ว่านั่นน่ะ พิจารณากาย พิจารณาจิต นี่ล่ะ ฆ่ามันเป็นชั้นๆ มันมีอยู่ ๔ ห้องในหัวใจ กิเลส ๔ ห้องไง โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล เห็นไหม ๔ ห้องเหมือนกัน

แต่ห้องของผลนะ ห้องของผลกับห้องของเหตุ เราก็ไล่เข้าไปสิ ไล่จนไม่ให้มันอยู่ในหัวใจเลย ปิดให้หมดทั้ง ๔ ห้อง บรรจุธรรมให้เต็ม ไล่มันออกไปจากใจ ไล่ด้วยมรรค

พิจารณากาย สักกายทิฏฐิ จนขาด นั่นน่ะได้ห้องหนึ่ง มันก็เหลือ ๓ ห้อง

พิจารณาอุปาทาน อุปาทานในกาย ในจิต นี่มันก็เหลือ ๒ ห้อง

พิจารณากามราคะในขันธ์ ๕ ขันธ์ภายในหัวใจขาด นั่นน่ะมันเหลือห้องเดียวแล้ว

พิจารณาตอของจิต ตอของจิตที่อยู่ใต้ขันธ์ ดับมันให้หมดนะ

จาก ๔ ห้องเหลือห้องเดียว มันเป็นหนึ่ง พอลงตรงนี้ผลัวะ! มันก็หมดแล้ว

นั่นน่ะธรรมทั้งแท่ง ไม่ใช่อยู่ในอนัตตา พ้นจากอนัตตาไป อัตตาก็ไม่ใช่ จะเป็นหนึ่ง เป็นแท่งก็ไม่ได้ มันสักแต่ว่าธรรม มันกระเพื่อมออกมาทีไรมันก็พร้อมออกมากับสติ พร้อมออกมาทั้งความรู้

เพราะจิตนี้เป็นหนึ่ง จิตนี้ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี้เป็นกิริยา กระเพื่อมมาก็เป็นขันธ์ นี่จิตกระเพื่อมๆ ออกมากี่ขันธ์ นั่นน่ะเสวยอารมณ์ จิตเสวยอารมณ์ไง

จิตอย่างนี้ไม่เสวย เพราะสติมันพร้อมอยู่ จิตนี้ไม่เสวยอารมณ์ ไม่เสวยทุกข์ ไม่เสวยใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการเสวย อิ่มอยู่ในตัวมันเอง นี่ธรรมอันเอก

ถ้าเราบรรจุเต็มๆ เราบรรจุได้ขณะมีชีวิตอยู่ บรรจุได้ขนาดนี้ ใจมันพร้อม ใจมันศรัทธา ใจมันพร้อมจะทำ ศาสนธรรม คือธรรมคืออาหารอยู่ข้างหน้า ตลาดยังไม่วาย โอ้ย...เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา จะรู้จักว่าตลาดมันเริ่มวาย แก่ เฒ่า ชราคร่ำคร่าไปนั้นน่ะ

คนมีธรรมในหัวใจมันยังมีที่ผ่อนคลาย คนไม่มีธรรมในหัวใจนะ ดูคนแก่ที่ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักผิดจักชั่ว นอนอยู่นะ แก่มาก จนเบื่อ เบื่อหน่ายเนาะ จนบางคนมีนะว่าอยากตาย ตายๆ ไปซะ ตายไปมันก็ไปเกิดทุกข์ข้างหน้านั่นล่ะ เหมือนคนตกสมัยไง ตกแบบอายุมากจนแบบว่าลูกหลานมันพ้นวัยที่จะคึกคะนอง แต่มันก็กลัวตายนะ มันหันไปทางไหนมันก็หันไม่ออก จะอยู่หรือมันก็เบื่อ ไอ้จะไปหรือก็กลัวตาย เราจะเป็นอย่างนั้นไหม เราจะใช้ชีวิตเป็นอย่างนั้นไหม ชีวิตเรา เราจะใช้ชีวิตอย่างนั้นไหม เราต้องใช้ขณะนี้ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี่

เวลาเราเจอทอง สมมุติ ทองเขากองไว้ในร้านทอง เขาบอกให้หยิบเอาเท่าไรก็ได้ เราก็จะหยิบให้เต็มที่เลย ทองในร้านทอง สร้อยคอทองคำนั่นน่ะ เขาบอก “อ้าว! เปิดร้านนะ ใครจะหยิบเอาๆ” เราก็คว้าเต็มที่เลย แต่พอบอกธรรมะพระพุทธเจ้า ให้สละแล้วได้ในหัวใจ ทำไมไม่คว้า ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ ทำไมไม่คว้า คว้าให้ติดมือ ใครคว้าได้เท่าไรมันติดไปเท่านั้นล่ะ แต่เราไปคว้ากันแต่การศึกษา คว้าแต่สมบัติของเขา มันไม่เข้าถึงใจไง

ใจนี้เป็นนามธรรม อย่างเช่นกำหนดให้จิตนี้มันว่าง จิตว่างทีหนึ่งมันก็เหมือนเราชำระบ้านทีหนึ่ง ชำระบ้านที่หนึ่งสะอาดที่หนึ่งๆ จากที่มันสกปรก สกปรกมาก นี่เริ่มคว้าเข้ามาภายใน

สมาธิธรรม สมาธิเป็นมรรคองค์หนึ่ง มรรค ๘ องค์ของมรรคมี ๘ พอมีสมาธิขึ้นมามันก็บ้านสะอาดขึ้น บ้านสะอาดขึ้น งานก็ถูกต้องขึ้น จากงานข้างนอก งานที่ว่าเราพลั้งเผลอไป ทำอะไรก็ทำแบบไม่เข้าใจ แต่พอมีมรรค เพราะ คำว่า “มีมรรค” มันต้องมีปัญญาเห็นชอบ ความดำริชอบ ปัญญาเห็นชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพด้วยสมาธิธรรม ไม่เลี้ยงชีพด้วยอารมณ์ อันนี้มันก็หมุนเข้ามา

อริยมรรค มรรคเป็นทางอันเอก แก้ แก้ที่ตรงนี้ไง

เขาว่า “เอ๊! ใจเป็นธรรมๆ...แก้อย่างไร”

งานภายนอกเราใช้มือทำ งานภายในใช้หัวใจทำ ใช้ความคิดทำ

งานข้างนอกใช้มือใช่ไหม ประกอบอาชีพ เลี้ยงชีพชอบ ทำสัมมาอาชีวะ อาชีพบริสุทธิ์

เลี้ยงหัวใจชอบ ก็ใช้ความคิด นั่นเลี้ยงหัวใจ เพราะจิตมันกินอารมณ์ เลี้ยงหัวใจชอบ

สัมมาอาชีวะของใจ กับสัมมาอาชีวะของปาก สัมมาอาชีวะของใจนี้มันกินอารมณ์ พอจิตเป็นสมาธิ มันสะอาดขึ้นๆ มันก็เข้าไป นั่นล่ะคว้าเข้ามา นี่งานเป็นอย่างนั้น งานในทางธรรม จนเต็มขึ้นมาๆ ถึงให้คว้าเอา

มี อาหารมี เวลาเราทำงานอยากทำสบาย กิเลสมันสอนอย่างนั้นน่ะ อยากให้ดี อยากให้สบายโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ ก็จะให้เป็นคนดี อยู่เฉยๆ ก็อยากจะให้มันมีความสุข

นี่พระพุทธเจ้าสอนว่าต้องทำ ถ้าพระพุทธเจ้าบอก ของนี้ไม่ต้องทำนะ แบบว่าเสกให้ได้นะ ท่านจะไม่ทิ้งพวกเราไว้เลย คนเกิดมานี่ให้เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ใครไม่สงสาร เราดูสิ ดูลูก ดูหลาน ดูญาติพี่น้องเรา เราสงสารไหม? เราก็สงสาร เราก็อยากให้ทุกคนมีความสุข แล้วพระพุทธเจ้าดูเราน่ะ

เป็นญาติกันโดยธรรมนะ คนเกิดมานี่เป็นญาติกันหมดเลย เพราะอะไร เพราะมันมีขันธ์ ๕ กับธาตุ ๔ เหมือนกัน มีปากมีท้องเหมือนกัน คือว่า สถานะเท่ากันหมดเลย การเกิดมานี่ เกิดเป็นมนุษย์ ต้องอาหารใส่ปาก ปากนี่ต้องกินเหมือนกัน มีท้องเหมือนกัน หิวเหมือนกัน ทุกข์เหมือนกัน สุขเหมือนกัน เสมอกันด้วยธรรม เขาเรียกว่า “ญาติโดยธรรม” เป็นญาติกัน เพราะเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน

เพราะเป็นญาติกันหมด ทำไมไม่สงสารกันล่ะ แล้วพระพุทธเจ้าใจเป็นพระอรหันต์ ใจท่านประเสริฐ ทำไมท่านจะไม่สงสาร ถ้าสงสาร ทำไมไม่บอกว่า คนเกิดมาให้เป็นพระอรหันต์หมด ไม่ทิ้งเอาไว้เลยในโลกนี้

มันเป็นไปโดยภายใน การจะเสวยธรรม การกระทำ เพราะกิเลสมันอยู่ที่ภายใน มันไม่สามารถยัดเยียดได้ โรงงานปั๊มวัตถุ ปั๊มสิ่งของ ปั๊มที่ว่า...เป็นสมบัติ เขาปั๊มมาได้ โรงงานปั๊ม มันปั๊มได้ เพราะมันเป็นวัตถุ แต่หัวใจปั๊มไม่ได้

แม้แต่แม่เราพ่อเรา ลูกในท้อง อยากให้ทุกคนดีเหมือนกันหมด จะให้ออกมาให้เหมือนกันหมดเลยมันยังไม่เหมือนเลย เพราะกรรมมันตกแต่ง กรรมของผู้นั้นน่ะ กรรมของพ่อ กรรมของแม่ แล้วยังกรรมของลูกที่มาเกิดนั้นอีก เพราะกรรมของลูก คือ ตัวจิต กรรมของแม่นั้นเป็นกระแส

กาละ เห็นไหม ไข่ของแม่ แล้วไอ้นั่นเป็นวัตถุ ที่ว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ไม่ใช่กระแสของกรรม แต่จิตปฏิสนธิ คือ ตัวเรานี้สำคัญที่สุด ๓ อย่างมาบรรจบพบกัน ปฏิสนธิจิตกับเชื้อของพ่อกับไข่ของแม่ พอดี กรรมมันผสมกันพอดี นั่นเกิดออกมา นั่นถึงว่าพ่อแม่บังคับไม่ได้ไง พ่อแม่ถึงอยากให้ลูกเหมือนกันหมดไม่ได้ไง เพราะตัวปฏิสนธิจิตของดวงนั้นต่างหาก มันยังทำให้สมใจหมายไม่ได้เลย ไอ้นี่ใจก็เหมือนกัน

พระพุทธเจ้าก็อยากจะให้เป็นเหมือนกันทั้งหมดล่ะ ให้มีความสุขทั้งหมด ถึงได้วางศาสนธรรมอันนี้ไว้ไง แล้วเราเกิดมาแล้ว จิตดวงนั้นเป็นผู้ที่เสวยเองไง เพราะปฏิสนธิจิตนั้น มันมีกรรมมา กรรมมาก กรรมน้อย ทำบุญมา เห็นไหม

กรรม คือ กรรมดี กรรมชั่วไง ถ้าปฏิสนธิจิตอันนั้น ตาสว่างมาพอสมควร มาเจอศาสนาด้วย อยากด้วย ประพฤติปฏิบัติด้วย นั้นล่ะมันถึงสว่างโพลงภายในไง ถึงได้บรรจุหัวใจได้เต็มธรรมไง ถึงได้เป็น เอโก ธัมโม ในหัวใจนั้นไง ถึงเป็นปฏิสนธิจิตดวงนั้นต่างหากล่ะ ธรรมเป็นอันเอกอันนั้น ปฏิสนธิจิตนั้น อิ่มทั้งธรรมแล้วมันก็ไม่ไปเกิดอีก เห็นไหม

จากที่ว่าไข่ของแม่กับเชื้อของพ่อนั้นน่ะ แล้วปฏิสนธิจิตนี้ไม่มาเกิด มันเป็นไปไม่ได้ เป็นหมันอยู่อย่างนั้นล่ะ ปฏิสนธิจิตนี้ไม่มาอีกแล้ว มันจะมาเกิดได้อย่างไร พ่อแม่ปรารถนามีลูกเท่าไหร่ ก็ไม่มี ก็กรรมของพ่อของแม่ กระแสมีอยู่ แต่ปฏิสนธิจิตนี้สิ้นไปแล้วนี่ มันจะเอาอะไรมาเกิด มันก็เหลือแต่พ่อกับแม่ก็หวังไปสิ

แต่ปฏิสนธิจิตนี้ มันไม่เกี่ยว เห็นไหม บังคับไม่ได้ นี่เป็นอันเอกไง เอกอันนี้ เอกที่ไม่มีใครบังคับได้ กิเลสบังคับไม่ได้ วัฏฏะไม่มีสิทธิ์ มันหลุดพ้นออกไปหมดเลย นี่พระพุทธเจ้าสอนไว้ไง นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้า เราเป็นสาวก บริษัท ๔ อยู่ท่ามกลาง มันถึงน่าภูมิใจ น่ามุมานะ กอบโกยเข้ามาในหัวใจ กอบโกยนะ พยายามกอบโกยเลย ขยันหมั่นเพียร จงใจ ตั้งใจ ใครเขาจะว่าเป็นคนไม่เอาเรื่อง คนไม่เอาถ่าน อันนั้นแล้วแต่เขาว่าหรอก แล้วแต่ปากของโลกนะ

โลกธรรม ๘ ใครทำดีเกินหน้ากันไม่ได้หรอก ถ้าเราตั้งใจทำ เป็นสมบัติของเรา สมบัติใครสมบัติมัน ใครกินใครอิ่มนะ ใครไม่ทำคนนั้นไม่ได้ แล้วเราตั้งใจ ถึงว่าให้กอบโกยไง ยังมีชีวิต โรคก็เต็มหัวใจ ยาก็เต็มหัวใจ แต่มันกินคนละทีไง เวลาอิ่มเอิบนะ โอ้...ดีอกดีใจ พักเดียว เพราะเชื้อโรคมันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว มันต้องเกิดเอง มันต้องเกิดโดยธรรมชาติ เพราะมันฝังอยู่ ถึงได้ต้องทำเอง ยาก็มี ธรรมะก็มี ฉลาดไม่ฉลาดเท่านั้นเอง

เวลาเราพูดกัน เราคุยกัน ใครเขาว่าเราโง่ เราไม่พอใจหรอก เราว่าเราฉลาดนี้ เลอเลิศเลยล่ะ โลกนี้ใครจะฉลาดเท่าเราว่ะ อย่าว่าแต่โลกนี้เลย สามโลกธาตุนี้ไม่มีใครฉลาดเท่าเราหรอก แต่ดันไปโง่กับกิเลสไง ไปโง่กับไอ้ตัวมืดดำในหัวใจที่มันบังคับนั้นน่ะ ไม่เป็นอิสระกับตัวเลยนะ จะฉลาดขนาดไหน มันก็โง่กับกิเลสของตัวนั้นน่ะ กิเลสมันไสให้ทำอะไร ก็ต้องไปเป็นขี้ข้ามัน

ถ้าคนฉลาดจริงมันต้องพ้นจาก ไอ้ความบังคับในหัวใจสิ จะอยู่ที่ไหนก็มีความสุขนะ นั่งนอนที่ไหนก็ไม่เป็นขี้ข้าใครเลยล่ะ จะนั่ง จะยืน จะนอน อยู่ที่ไหน อิสระตลอด แต่เปลือกนอกนี้เป็นขี้ข้านะ เปลือกนอกนะ เปลือกนอกยังอยู่นี่ กายมนุษย์มันยังครอบคลุมอยู่นี่ มันต้องกินต้องใช้เหมือนกัน แต่หัวใจหรอก ที่หัวใจเป็นอิสระนั้นน่ะ แต่เปลือกนอกยังบังคับอยู่นี้ สังคมยังบังคับอยู่ สังคมเอย โลกธรรม นั้นล่ะเปลือกนอก มันถึงว่าไม่ทะลุออกไปไง ถึงมองกันไม่ออกไง

ถึงว่าอิสระในหัวใจนี้ มันสุขส่วนตัว สมบัติส่วนบุคคล สมบัติของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติได้นะ อยู่ไหนก็อิสระภายใน ก็หัวใจเป็นอิสระใช่ไหม ถึงจะเป็นทาสใครก็แล้วแต่ มันเป็นทาสแต่กายเท่านั้นแหละ แต่หัวใจมันเป็นอิสระไปแล้ว นั่นน่ะ ผู้ฉลาดไง

แต่เรานี้เป็นทาสทั้งภายใน เป็นทาสกิเลสทั้งหมด ฉลาดไม่จริง นี้อย่าให้คนอื่นว่าโง่ เราว่าเองเลย เราว่าตัวเราเอง เราติตัวเราเอง พลิกขึ้นมา พลิกขึ้นมาทุกอย่างให้มันเป็นประโยชน์ไง พลิกขึ้นมาๆ พลิกใจขึ้นมาไง

พอพลิกใจขึ้นมา ก็เหมือนกับเราทำงาน พลังงานกลับมาเต็มที่เลย ลองพลิกใจทีหนึ่งนะ เราก็มีความมุมานะ ใจมันก็หึกเหิมขึ้นมาทีหนึ่ง ความหึกเหิมนั้นน่ะ กำลังใจ มีกำลังใจนะ มันก็สามารถทำได้แบบเต็มที่เลย

ถ้าไม่มีกำลังใจ มันอ่อนแอนะ ใจอ่อนแอนะ จะนั่งขนาดไหนนะ ใจไม่สู้นะ ใจไม่สู้ นั่งไป สักแต่ว่ากิริยาไง เราพยายามนั่ง เอาไม้มัดไว้เลย มัดตัวเองกับไม้ไว้เลยนะ ให้ตั้งให้ตรงเลยนะ แต่หัวใจไม่สู้ มันก็อย่างนั้นแหละ นี่ถึงว่ากำลังใจสำคัญมาก กำลังใจจากของเรานี่ ถึงให้พลิก คอยพลิก ถ้าคนอื่นพูดนะมันแบ่งไปครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าเราพูดกับใจเราเอง เราฉลาดจริงหรือ นี่กำลังใจมันเกิดเอง เราฉลาดจริงหรือ ฉลาดจริงทำไมเราไม่สามารถทำแบบที่ว่า ธรรมะพระพุทธเจ้าสอนไว้มันมีเครื่องปูนป้ายหมายไว้ตลอดทางเลย แต่เราทำไม่ได้นี่ เราคนนี้เป็นคนอย่างไร เห็นไหม ทางก็มีอยู่

เราไปบนถนน เห็นไหม เครื่องหมายบอกป้ายทาง โค้งไหนๆ เห็นหมด ไปได้ เข้าโค้งนะ ระวังให้ดี ไปได้ เราระวังไปได้ พระพุทธเจ้าก็บอก ทำทานแล้วสละความตระหนี่ถี่เหนียวแน่นในหัวใจ ให้ถือศีล เพื่อให้ใจไม่ฟุ้งซ่าน

เหมือนกับรั้วบ้าน เราทำสมาธิให้ใจสงบเข้ามา นี่ป้าย หมายเข้ามา เห็นไหม นี่พระพุทธเจ้าก็บอก ถนนนี้ก็มีลูกศรชี้เข้ามาๆ นี้พอจิตสงบแล้ว ก็ให้พิจารณา เป็นองค์ของมรรค จับกิเลส จับความไม่พอใจ จับความติดในกาย นี่จับความติดในกาย กายนี้เราติดมันไหม ถ้าเราไม่ติดมัน ทำไมเรามันยึดมันหมาย มันมีอุปาทานอยู่ เวลาเราติด เราถามตัวเองว่า ติดไหม? ไม่ติด พระพุทธเจ้าสอน แล้วก็รู้ มันรู้แต่ปากไง เหมือนกับเราฟังเขาเล่าว่านะ ที่นั่นเกิดไฟไหม้ๆ เราก็เฉยๆ นะ ไฟไหม้ก็รู้ว่า คือว่า ไฟไหม้บ้าน แต่ถ้าวันไหนไฟไหม้บ้านเราสิ หมดเนื้อหมดตัว มันจะเสียใจมากเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าบอกไว้ สอนไว้ ก็รู้แต่ปากไง พระพุทธเจ้าสอน เราก็รู้ ชาวพุทธรู้ โน่นก็ไม่เป็นไร โน่นก็ปล่อยวาง มันไม่ได้ปล่อยหรอก มันซุกเข้าไปในหัวใจ หนักเข้าไปอีก เวลาเขาว่าเราไม่โกรธหรอก ไอ้ไม่โกรธ มันโกรธไปแล้ว มันโกรธจนแบบมันสงบแล้ว เออ...ฉันไม่โกรธหรอก แต่หัวใจมันหงุดหงิดเลย นั่นรู้แต่ปากเป็นอย่างนั้น นี่รู้ปริยัติ รู้ตามการศึกษาเล่าเรียน รู้มาแล้วนี่ มันยังมาเป็นโทษ โทษว่า เรารู้แล้วไง เรารู้แล้ว เราไม่กระทำ เรารู้แล้ว เราปล่อยวางแล้ว กิเลสมันเลยหัวเราะเยาะ ขี่คอ นั่งหัวเราะอยู่ในหัวใจนั้นน่ะ กิเลส คือว่า มันอยู่ที่หัวใจ มันรักษาบ้านมันได้ไง มันรักษาที่อยู่ของมันได้ มันก็หัวเราะเยาะเรา (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)