เทศน์บนศาลา

อำนาจกิเลส

๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๓

 

อำนาจกิเลส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ตั้งใจฟังธรรม เราอุตส่าห์ขวนขวาย เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ การเกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วพบพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องค้นคว้า รื้อค้น สร้างบุญญาธิการมาเป็นพระโพธิสัตว์ ต้องมาตรัสรู้เองโดยชอบ ผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบต้องสร้างบุญญาธิการมา

เวลาครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัติขึ้นมาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ “จะสอนได้อย่างไร จะสอนได้อย่างไรนะ” มันเป็นความลึกลับมหัศจรรย์มาก ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ของเรามีธรรมและวินัยนี้ เกิดมาในพระพุทธศาสนา แล้วมีความเลื่อมใสศรัทธา ออกประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเป็นผู้รื้อค้น เป็นผู้ค้นคว้า มานะบากบั่นพยายามขวนขวาย แล้วพยายามรื้อค้นขึ้นมาที่ไหน

พวกเราในสมัยปัจจุบันนี้ เราจะรื้อค้นขึ้นมาจากตู้พระไตรปิฎก ทุกคนกลัวว่าเราจะพลัดพราก เราจะห่างออกจากศาสนา พยายามจะรื้อค้นในตู้พระไตรปิฎก ว่ารื้อค้นสิ่งนั้นแล้วจะเป็นสัจธรรม แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านรื้อค้นอยู่ในป่าในเขา ท่านพยายามรื้อค้นจากหัวใจของท่าน เวลาท่านรื้อค้นจากหัวใจของท่านขึ้นมา จะมีความลังเลสงสัย ถ้ามีอะไรเป็นสิ่งที่สะดุดใจ ท่านก็มารื้อค้นในพระไตรปิฎก

เวลาหลวงปู่มั่นท่านไม่มีที่ปรึกษา ท่านก็รื้อค้นในพระไตรปิฎก แล้วไปถามเจ้าคุณอุบาลี ให้เจ้าคุณอุบาลีวินิจฉัยในเรื่องของปริยัติ ให้วินิจฉัยเรื่องธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าตัวเองปฏิบัติเข้าไปแล้ว ความเห็น ความรับรู้ ประสบการณ์ เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฐิโกที่เกิดขึ้นมากับประสบการณ์ของเรา

แต่เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยเวลาศึกษาเห็นไหม ธรรมมันมีหลากหลาย มีตั้งแต่หยาบไปหาละเอียด จนถึงละเอียดที่สุด เวลาเราปฏิบัติขึ้นไป เราจะเกิดอุปสรรค เกิดความลังเลสงสัย เกิดการกระทำที่เราทำขึ้นมาแล้ว มันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น มันเป็นธรรมเหนือโลกนะ ในปัจจุบันนี้ “อำนาจของกิเลส” กิเลสนี้มีอำนาจมาก มันมีอำนาจเหนืออธิปไตยในหัวใจของเรา หัวใจของเรา ชีวิตของเรา ความรับรู้สึกของเรา ถ้าไม่มีพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ปัจจุบันนี้มีพุทธศาสนา

ดูสิ ดูคนที่เขาไม่ได้นับถือพุทธศาสนา ดูความเป็นอยู่ของเขาเห็นไหม เขาอยู่ใต้อำนาจของกิเลส เพราะมันมีอวิชชา ถึงพาจิตดวงนั้นมาเกิด เวลาเขาอยู่ใต้อำนาจของกิเลส เขาจะทำสิ่งใดก็ได้ตามความพอใจของเขา ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ จะมีความเห่อเหิม มีความทะนงตนว่าไม่นับถือศาสนาใดๆ เวลาเขาลงในทะเบียนบ้าน เขาต้องลงว่านับถือศาสนาใด ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย ด้วยอำนาจของกิเลสไง

อำนาจของกิเลสมันมีอำนาจมาก มันมีอำนาจว่าตัวเองมีความรู้มากกว่า ตัวเองเป็นปัญญาชนที่มีการศึกษา มีความรับรู้ เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องล้าสมัย เรื่องตกยุค เห็นว่าตัวเองมีคุณค่ามากกว่า ในเมื่อคุณค่าของตัวเองมีมากกว่า กิเลสมันก็มีอำนาจขึ้นมาโดยที่ว่ามันมีเหตุมีผลนะ เพราะเหตุใด

เพราะสมัยโบราณ สมัยยุคน้ำแข็ง ยุคโลหะ ยุคต่างๆ มา มนุษย์เริ่มมีความเจริญมากขึ้น มีปัญญามากขึ้น มนุษย์จะไม่รังแกกัน มนุษย์จะให้อภัยต่อกันต่างๆ แต่ถ้าเป็นสมัยโบราณคนก็เหมือนสัตว์ ดูสิ ไม่มีไฟนะ กินอาหารดิบๆ ทุกอย่างดิบๆ ดูอำนาจของกิเลสสิ ทีนี้เวลาคนมันพัฒนาขึ้นมาแล้ว มันพัฒนาขึ้นมามันมีปัญญา มันก็ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส

อำนาจของกิเลสมันมีอำนาจมาก มันพาเราเกิดเราตายนะ เวลาพาเกิดพาตาย เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์เห็นไหม นี่ความปรารถนาดี ถ้าความปรารถนาดีก็ยังมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่เหมือนกัน แต่มันเป็นไปในทางบวก ก็ค้นคว้า พยายามสร้างบุญญาธิการ มีการค้นคว้า มีการสร้างสม มีการสะสม มีการทำคุณงามความดี แต่ความดีอย่างนี้มันก็เป็นความดีของวัฏฏะเห็นไหม ดูสิ กิเลสมันมีอำนาจไหม ไม่มีใจดวงใดเลยที่พ้นจากอำนาจของมันไป ทุกดวงใจอยู่ใต้อำนาจของมันหมด

แล้วพออยู่ใต้อำนาจของมันหมด เวลาเกิดมาเป็นชาวพุทธขึ้นมา มันก็มีทิฏฐิมานะของมัน ก็ว่าตัวเรามีความดีความเด่น มีความพร้อมหมด ต่างๆ มันมีอำนาจมาก มันทำลายนะ ดูสิ ดูคนที่เป็นชาวพุทธเรา แต่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เป็นชาวพุทธแต่ทะเบียนบ้าน เขาก็ใช้ชีวิตของเขา ดูสิ เขาฉ้อฉล เขาทำลายโอกาสของเขา เขาพยายามเอารัดเอาเปรียบคนอื่น เขาทำเพื่อประโยชน์ของเขา เขาว่าเขาได้ประโยชน์นะ การกระทำมันเป็นกรรมทั้งนั้น เพราะเราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ จะเป็นสิ่งที่เป็นเวรเป็นกรรม

เวลามีการพนันขันต่อ ผู้ชนะก็สร้างเวรสร้างกรรม ผู้แพ้ก็ต้องเสียทรัพย์ พอเสียทรัพย์ขึ้นมามันเจ็บช้ำน้ำใจ มันก็มีเรื่องของการผูกพยาบาทอาฆาต นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นการพนันขันต่อนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางโลกล่ะ การฉ้อฉลกันต่างๆ มันสร้างแต่เวรแต่กรรม แต่ในเรื่องอำนาจของกิเลสมันว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับมัน ในเมื่อสิ่งนั้นมันจะเป็นคุณต่อเขา เขาทำของเขาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก นี่มันทำลายทั้งนั้นนะ ทำลายแม้แต่ในชีวิตประจำวัน

เราเกิดมาในปัจจุบันนี้ เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา มีศีล ๕ มีทาน มีศีล มีการภาวนา เพื่อเหตุใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนพ้นจากกิเลส เป็นศาสดาของเรา พอเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขอยู่ เวลาจะออกบิณฑบาตครั้งแรก “เราจะทำอย่างไร”

อนาคตังสญาณเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ก่อนมาทำอย่างไร พอทำอย่างไรนี่ เวลาย้อนไปดูพระพุทธเจ้าต่างๆ ว่าทำอย่างไร เพราะทำตามประเพณีของพระโพธิสัตว์ ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวดามาถวายบาตร ๔ ใบ อธิษฐานให้เหลือใบเดียวแล้วออกบิณฑบาตเพื่อเลี้ยงชีพ เพราะสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดา แต่ดำรงธรรมและวินัยไว้ ดูความเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

อย่างเช่นในปัจจุบัน ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาใครก็แล้วแต่ที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันก็จบแล้วนะ ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์ก็ตายซะ มันไม่มีกิเลสแล้วเป็นวิมุตติสุข คำว่าวิมุตติสุขเราแสวงหาความสุขกัน เราแสวงหาเรื่องของโลก ปัจจัยเครื่องอาศัย เราว่าเป็นความสุขๆ ความสุขอย่างนี้เป็นความสุขที่เจือด้วยอามิส ความสุขที่อยู่ในอำนาจของกิเลส กิเลสมันพอใจ กิเลสมันต้องการ กิเลสมันได้สะสม กิเลสมันได้เสพต่างๆ นี่มีความสุข ความสุขภายใต้อาณัติของกิเลส เราก็แสวงหากัน แล้ววิมุตติสุขมันคือสุขที่พ้นจากอำนาจ ทำลายกิเลสในหัวใจจนหมดสิ้นไป ไม่มีอำนาจใดๆ เลยที่จะมามีอำนาจเหนือกับสภาวธรรมอันนั้น เหนือสัจธรรม เหนือสัจธรรมคือธรรมธาตุ นี่พอวิมุตติสุขแล้วก็ตายซะ

ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้คิดอย่างนั้นล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ล่ะ ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอย่างไร ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะจะรื้อใคร จะเอาใครก่อน เพราะจะไปสอนใคร เขาต้องมีวุฒิภาวะ เขาต้องมีการรับรู้จึงจะสอนเขาได้ นี่จะเอาอาฬารดาบส เพราะเคยไปศึกษากับเขา เขามีสมาธิของเขา เขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา

ถ้าจะแสดงธรรมกับคนที่มีพื้นฐานก็ตายเสียแล้ว ถึงมาเอาปัญจวัคคีย์ เพราะว่าได้อุปัฏฐากกันมา ๖ ปี คำว่า ๖ ปี ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามรื้อค้น พยายามประพฤติปฏิบัติ ปัญจวัคคีย์ก็ปฏิบัติไปด้วย ดูสิ อุปัฏฐากอยู่ ๖ ปี เห็นไหม มันก็มีเวลาว่าง มันก็ทำความเพียร เร่งความเพียรของตัวเองไป ถึงที่สุดไปเอาปัญจวัคคีย์เพราะมีความพร้อม ไปเอาปัญจวัคคีย์ก่อน เวลาได้ปัญจวัคคีย์มาแล้ว เสวยวิมุตติสุข

พระยสะ “ที่นี่เดือดร้อนหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ”   ได้มา ๖๐ องค์นะ “ที่นี่ไม่เดือดร้อน ที่นี่ไม่วุ่นวาย” ได้พระยสะ และเพื่อนของพระยสะมาอีก ๕๔ องค์ รวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเป็น ๖๑ องค์

นี่พูดถึงว่าเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ได้จริง ๆ แต่เวลาพระพุทธศาสนาเผยแผ่ออกไป เพื่อประโยชน์กับโลก จริตนิสัยมันก็แตกต่างหลากหลายกันไป ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา นี่ไง สิ่งนี้มีในพระพุทธศาสนานะ แต่ถ้าคนที่มีกิเลสตัณหาทะยานอยาก ที่มันมีอำนาจมากกว่า เขาไม่เชื่อ ของเขา ดูอย่างพวกเดียรถีย์ นิครนถ์ เห็นไหม ทำไมเขาอยากจะทำลาย ทำไมเขาจ้างให้นักเลงมาทำลายพระโมคคัลลานะล่ะ นี่ไง ดูอำนาจของเขาสิ ทั้งๆ ที่มีพระพุทธศาสนานะ ทั้งๆ ที่อยู่ในยุคในคราวเดียวกัน

แต่ในปัจจุบันนี้ ศาสนานี้กำลังอยู่ในกึ่งพุทธกาล เรามาเกิดในกึ่งพุทธกาลแล้วเราพบพุทธศาสนา ถ้าเราเกิดมาก่อนหน้าหรือคล้อยหลังนี้ไป ศาสนาก็มีอยู่อย่างนี้ เพราะศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้จะมีอยู่ ๕,๐๐๐ ปี แต่ผู้ที่จะชี้นำล่ะ เพราะอะไร เพราะอำนาจของกิเลสเรา กิเลสเรามันยอมใคร อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนถ้าไม่เห็นความบกพร่องของตน แต่ถ้าเราเห็นความบกพร่อง เราจะแก้ไขของเรา

แต่ครูบาอาจารย์ชี้ความบกพร่องของเรา ทุกคนจะไม่ค่อยพอใจ กิเลสอำนาจของมันก็เหนือเราอยู่แล้วใช่ไหม มันก็มีทิฏฐิมานะอยู่แล้ว แล้วยังจะให้ใครมาชี้หน้ากิเลสของเราได้ แม้แต่กิเลสของเราอยู่กับเราๆ ก็ไม่รู้ เราก็ไม่ยอมจำนน เราก็ไม่ยอมรับ เพราะกิเลสมันครอบงำเราหมด เราอยู่ในอำนาจของมันทั้งหมด แล้วเวลาเราศึกษา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราจะให้ใครมาชี้หน้ามัน ยิ่งมีใครมาชี้หน้ามัน ชี้หน้ากิเลสเรานะ ทำไมเราโกรธ ทำไมเราไม่พอใจ ทั้งๆ ที่ชี้หน้ากิเลส ชี้หน้าความผิดพลาด ชี้หน้าสิ่งต่าง ๆ ที่มันผิด ดูอำนาจของมันเห็นไหม

ในปัจจุบันนี้กึ่งพุทธกาล เรามีครูมีอาจารย์ของเรา ท่านพยายามประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพื่อเป็นสัจธรรม เป็นความจริงในหัวใจของครูบาอาจารย์ของเรา ถ้ามีความจริงในครูบาอาจารย์ของเรา ท่านวางข้อวัตรปฏิบัติ ท่านวางให้เราก้าวเดินอย่างไร เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลารื้อสัตว์ขนสัตว์ ประเพณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอย่างไร

เวลาเผยแผ่ไปเห็นไหม ดูสิ เล็งญาณนะ พุทธกิจ ๕ เช้าขึ้นมาออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ แล้วถึงภาคบ่ายโปรดประชาชน ถึงหัวค่ำเทศนาว่าการพระ ถึงตอนดึกเทศน์เทวดา อินทร์ พรหม เล็งญาณๆ เล็งญาณตลอดเพราะอะไร เพราะสิ่งนี้มันเป็นพุทธวิสัย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอรหันต์ทั้งหมดนั่งล้อมรอบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ พระอุบาลีเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน ถามขึ้นมาในวงว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานหรือยัง” พระอนุรุทธะนั่งอยู่ข้างๆ ตอบว่า “ยัง ในปัจจุบันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเข้าปฐมฌาน เข้าสมาบัติ” เห็นไหม เข้าปฐมฌาน รูปฌาน อรูปฌาน เข้าแล้วถอยหลังเข้า-ออก ระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานระหว่างนั้น

นี่ก็พระอรหันต์เหมือนกัน ทำไมพระอุบาลีถามขึ้นมาล่ะ พระอุบาลีเป็นเอตทัคคะทางกฎทางวินัยนะ ถามขึ้นมาเห็นไหม พระอนุรุทธะนั่งอยู่ ก็ตอบหรือว่าพูดอยู่ไง มันเป็นปกติมันเป็นธรรมดาของเอตทัคคะ คือผู้ที่ถนัด นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเล็งญาณๆ นี่พุทธวิสัย สิ่งต่างๆ มันเป็นเรื่องปกติ

เหมือนเรามีตา เราลืมตาเราก็เห็นภาพ เราลืมขึ้นมาเราก็เห็นกันหมด แต่หัวใจที่มันมีกำลังของมัน มันเป็นปกติธรรมดาของมัน ฉะนั้นคำว่าเล็งญาณเป็นเรื่องปกติเป็นเรื่องธรรมดาทั้งนั้น เพียงแต่ว่าสมควรหรือไม่สมควรที่จะแสดง สมควรทำและไม่สมควรทำ

ถ้าสมควรและเป็นประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ พยายามจะค้นคว้า พยายามจะเมตตาสัตว์โลก แต่ถ้าสิ่งใดมันไม่เป็นประโยชน์ ขนาดว่าพระต่อรองด้วยว่าอยากรู้อยากเห็น อยากให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้นำ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ทำเลย เพราะมันไม่เป็นประโยชน์ มันไปสร้างอำนาจให้กับกิเลส กิเลสมันมีอำนาจในหัวใจดวงนั้นอยู่แล้ว

แต่ถ้ากิเลสมันมีอำนาจอยู่แล้ว มันครอบงำอยู่แล้ว ด้วยความอยากรู้ ด้วยความแส่ส่ายของมัน อยากรู้ธรรม อยากเข้าใจธรรม แต่ตัวเองไม่มีหลักฐาน อยากอาศัยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิเสธ นี่มีอยู่ในพระไตรปิฎก สิ่งที่เป็นการกระทำอย่างนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก

โดยสัจธรรม ถ้าโดยปกติ โดยความชำนาญของจิต จิตจะมีความชำนาญเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่ประพฤติปฏิบัติสิ้นกิเลสไป ถ้ามันไม่มีสิ่งนั้นเลยที่เขาเรียกว่าสุกขวิปัสสโก เตวิชโช สิ่งต่างๆ ที่ประพฤติปฏิบัติมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา อยู่ที่อำนาจวาสนา อำนาจวาสนามันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่การกระทำไง เราทำดีทำชั่วมาจนเป็นจริตเป็นนิสัย ทำทุกวันๆ

คนเราอยู่ด้วยกัน บางทีก็รำคาญ ผิดซ้ำผิดซากก็ผิดซ้ำอยู่นั่น แต่คนที่ผิดก็ผิดจนเป็นเรื่องธรรมดา แต่คนที่เห็น “ทำไมมันไม่แก้ไข” มันแก้ไขไม่ได้เพราะอะไร เพราะจิตใจมันตกอยู่ใต้อำนาจของมัน กิเลสมันย่ำยี กิเลสมันเหยียบย่ำ แล้วผู้ที่อยู่ใต้อำนาจของกิเลสก็ไม่มีการพลิกแพลง ไม่มีการต่อสู้ ไม่มีการหาทางออกของเรา แล้วให้กิเลสมันเหยียบย่ำ แล้วก็บอกว่าจะปฏิบัติธรรมนะ

การปฏิบัติธรรมมันต้องมีสติมีปัญญา คอยหาความบกพร่องของตัว สิ่งใดที่เป็นความขาดตกบกพร่องนั่นแหละ สิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่กิเลสใช้ทำลายเรา แล้วถ้าเรามีสติปัญญาเพราะอะไร เพราะเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาใช่ไหม เราเป็นชาวพุทธเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเรามีอำนาจวาสนา เราจะออกประพฤติปฏิบัติ เราจะชำระกิเลสของเรา

ถ้าเราชำระกิเลสของเรา มันต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง มีเนื้อหาสาระ จิตเวลาอำนาจของกิเลสมันมีอำนาจเหนือจิตเห็นไหม อวิชชามันครอบงำจิต พอครอบงำจิต เวลาปฏิสนธิจิตมาเกิดในไข่ ในครรภ์ มันมาจากอะไร มันก็มาจากอวิชชา มาจากพญามาร มารมีอำนาจมากนะ เวลาอยู่ในคฤหัสถ์นี้อยู่ใต้อำนาจของมาร

ถ้าอยู่ใต้อำนาจของมาร มารปกครองหมดเลย พอมารปกครองหมด เราอยู่ใต้อำนาจของมัน ทำสิ่งใดก็ต้องไปยอมจำนนกับมัน ไปยอมจำนนกับกิเลสตลอด กิเลสก็มีอำนาจมากในหัวใจของเรา มันเป็นจริตเป็นนิสัย เป็นการกระทำ ทำดีทำชั่วมันมีอำนาจครอบงำหมดเลย เวลาปฏิสนธิจิต เวลาไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในนรกอเวจี เกิดต่างๆ มันก็อยู่ใต้อำนาจของมาร นี่มารมันคลอบงำหมด ดูสิ ดูอำนาจของมัน กิเลสนี้มีอำนาจมาก กิเลสนี้มันทำลายสัตว์โลกทั้งหมด

ถ้ามันทำลายสัตว์โลก มันบังคับให้สัตว์โลกไปเกิดตามกรรม เวลาเกิดกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เกิดการกระทำ พอเกิดการกระทำมันเกิดวิบาก ผลมันตกลงที่ไหนล่ะ มันก็ตกลงอยู่ที่จิตนั้น ดูสิ กิเลสมันมีอำนาจเหนือจิตนั้น มันต้องการให้จิตนั้นอยู่ในอำนาจของมัน มันให้ทำแต่กรรมดีกรรมชั่ว แล้วให้ตกผลึกในหัวใจนั้น ให้เป็นเวรเป็นกรรม แล้วเวรกรรมนั้นมันมีการกระทำนั้น แล้วมันก็หมุนไปตกอยู่ในอำนาจของมันโดยผลของวัฏฏะ

จิตที่มันเป็นผลของวัฏฏะมันเกิดมันตายใช่ไหม เวลามันเกิดมันตาย ดูสิ เรามองสังคมออกไป เราเห็นหมดนะ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนั้นเป็นอย่างนั้น ในสังคมเราเห็นเขาได้หมดเลย แต่เราไม่เห็นตัวเรา

นี่ก็เหมือนกัน ผลของวัฏฏะ สัตว์มันตายมันเกิดเราเห็นหมด ดูสิ สัตว์เวลาเขาจะเอาไปฆ่า เขาจูงไปเขาลากไป ถ้าสัตว์มันมีสติปัญญา มันรู้มันเสียใจของมันนะ แต่มันไม่มีทางต่อต้าน แต่สัตว์ที่มันเซ่อ สัตว์ที่มันไม่เข้าใจมันก็นึกว่ามันได้ประโยชน์ตลอด มันคิดว่าเขาจะปรนเปรอมัน เลี้ยงมัน เขาเลี้ยงมันไว้ทำไม เขาเลี้ยงไว้ฆ่าเห็นไหม แต่คนที่เขารักสัตว์เขาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อน มันก็ขึ้นอยู่กับอำนาจวาสนาของสัตว์ จิตมันมีอำนาจวาสนาของมัน ที่มันได้ทำบุญทำบาปมา ฉะนั้นเวลาเขาเอาไปฆ่า เรามองไปเราเห็นหมด เราเห็นผลของวัฏฏะ แต่ใจของเราๆ ไม่เห็นนะ

นี่ไง พุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบอกว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องย้อนกลับมา เพราะสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้ให้เราก้าวเดินตามนี้ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ประพฤติปฏิบัติ ท่านได้รื้อค้น

ถ้าไม่ได้รื้อค้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ “ถ้าไม่มี กิจจญาณ ไม่มีสัจจญาณ ไม่มีสัจจะความจริง เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเราเป็นพระอรหันต์” เดี๋ยวนี้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา เพราะมันมีการกระทำ มันมีความเป็นจริงของมันขึ้นมา ถ้ามีความเป็นธรรม กิจญาณ กิจการกระทำในหัวใจมันได้ทำลายอวิชชา ทำลายสิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาทะยานอยาก ที่มันมีอำนาจในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำลายจนสิ้นออกไป

ถ้าทำลายทุกอย่างมันสิ้นออกไปแล้ว สิ่งที่เป็นการกระทำอันนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าให้เงี่ยหูลงฟัง เห็นไหม ทเวเม ภิกฺขเว ทางที่เราทำกันอยู่นี้มันทาง ๒ ส่วน อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ถ้าความพอใจและความไม่พอใจมันขัดแย้งกันในหัวใจเราอยู่ตลอดเวลา มัชฌิมาปฏิปทามันจะไม่เกิดกับเราหรอก มัชฌิมาปฏิปทาที่บอกว่าเป็นทางสายกลางๆ กางเสื่อกางหมอนไง กลางอำนาจของกิเลสไง กลางที่ไม่มีสติปัญญาไง มันเป็นกลางไปไม่ได้หรอก

มันเป็นกลางไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย ความเป็นกลางของเราก็คือความเป็นกลางใต้อำนาจของกิเลส กิเลสบอกให้เป็นกลาง “ว่างๆ ว่างๆ” มีความสงบ... มีความสบาย... โอ๊ย! ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เศร้าใจนะ มันน่าเศร้าใจ เวลาชีวิตประจำวัน กิเลสเหยียบย่ำเรา ทำลายเราอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่เป็นความดำรงชีวิตนี่แหละ ทั้งๆ ที่เราทำคุณงามความดีนี่แหละ เพราะอะไร

เพราะวันเวลาของเรามันเสียเปล่าไปวันหนึ่งๆ เห็นไหม กาลเวลามันกินชีวิตของเราไป แล้วกินตัวมันเองด้วย โลกนี้มันหมุนไปโดยวิทยาศาสตร์ โดยสัจธรรม มันทำลายตัวมันเองตลอด มันเคลื่อนที่ตลอดเวลา โลกนี้มันเป็นอนิจจัง มันต้องแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของเราก็ต้องแปรปรวนตลอดเวลา เราสร้างมาด้วยบุญกุศล จะมีอายุ ๑๐๐ ปี หรือ ๒๐๐ ปีก็แล้วแต่ มันก็ต้องตายไป ยิ่งทำความชั่วยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่

ดูอำนาจของมัน มันเหยียบย่ำ มันทำลาย มันฉุดกระชากให้หัวใจต้องทำตามอำนาจของมัน ถ้าทำตามอำนาจของมัน ดูสิอำนาจของมัน มันทำลายตลอด ทั้งๆ ที่เราเป็นคนดีมันก็ทำลาย มันทำลายชีวิตเราไง มันทำลายโอกาส ทำลายเวลาของเราไปตลอดเห็นไหม ถ้ามันจะทำลายเรา เราก็เอาตัวมัน คือเอาความรับรู้ เอาความรู้สึก เอาหัวใจนี่แหละต่อสู้กับมัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาต่อสู้กับกิเลสเอาอะไรต่อสู้ นั่งอยู่โคนต้นโพธิ์นั้นเอาอะไรต่อสู้ ก็เอาสัจธรรม เอาสติปัญญานี้ต่อสู้เข้าไปกับกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันมีอำนาจอยู่ แล้วเข้าไปทำลาย พอจิตสงบเข้าไป บุพเพนิวาสานุสติญาณ เวลาจิตสงบเข้าไป นั่นมันยังมีอำนาจอยู่นะ ถ้าบุพเพนิวาสานุสติญาณ จิตสงบเข้าไปถึงฐาน แล้วมีข้อมูลของจิตเพราะจิตได้กระทำมา

ย้อนอดีตชาติเพราะอะไร เพราะจิตนี้เคยเกิดเคยตายอยู่ในอำนาจของกิเลส กิเลสมันมีอำนาจมาก มันทำให้หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เกิดได้ตายมา ตั้งแต่พระเวสสันดรย้อนกลับไปไม่มีที่สิ้นสุด แล้วพอจิตมันสงบเข้าไป มันไปเห็นข้อมูล ย้อนกลับเข้าไปไม่มีที่สิ้นสุด นี่ไงแม้แต่จิตสงบ มีญาณหยั่งรู้อดีตชาติ มันก็มีอำนาจของมัน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สร้างบุญกุศลมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีสติปัญญาเห็นไหม มันมีอำนาจ

เวลาเราทำจิตสงบแล้วย้อนอดีตชาติไป ทุกคนก็อยากรู้อยากเห็นทั้งนั้น มันติด! มันอยากรู้อยากเห็นมันก็เป็นอดีตไป มันไม่เป็นปัจจุบัน นี่ไง ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา อันนี้มันตกไปกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ทาง ๒ ส่วน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาไปก็มีสติสัมปชัญญะดึงกลับมาด้วยความสงบ ด้วยจิตที่เป็นอานาปานสติ ด้วยจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ พอลงถึงฐาน นี่จุตูปปาตญาณมันออกไปอีกแล้ว

นี่ไง พอออกไป นี่อำนาจของมัน คำว่าอำนาจของมันคือมันมีกำลัง มันมีความเหนือกว่าใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณนี้ มันเป็นฌานโลกีย์ มันเป็นญาณหยั่งรู้ในหัวใจ มันไม่ใช่มรรคญาณ มันไม่ใช่สัจธรรม ไม่ใช่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันไม่เป็นมรรคสัจ มันเป็นความรู้ของฐาน ความรู้จากกำลังของสมาธิ รู้กำลังของจิตที่มันมีกำลังของมัน มันรู้ข้อมูลของใจตัวเอง เพราะตัวเองที่เกิดมามันมีการเกิดและการตาย นี่ผลของวัฏฏะไง

ที่เราเห็นคนอื่นเกิด คนอื่นตาย เห็นสัตว์โลก เห็นสังคม โอ๊ย! มันน่าสงสารไปหมด เข้าใจเรื่องของเขาไปหมด แต่เรื่องของตัวเองมันไม่เข้าใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาถึงจิตของเรา จิตทุกดวงใจมันก็มีการเกิดและการตายเป็นธรรมชาติของมัน ย้อนกลับมาที่นี่

ถ้าย้อนกลับมาเพราะจิตมันเป็นสัมมาสมาธิ พอจิตมันถึงฐานของมัน อาสวักขยญาณเข้าไปสู่ฐีติจิต มันทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายหัวใจ ทำลายทั้งหมด ยิ่งทำลายยิ่งเป็นธรรมธาตุ ถ้าไม่ทำลายฐีติจิต ไม่ทำลายสิ่งที่เป็นภพ เป็นสถานที่ เป็นความรับรู้ของใจที่มันเกิดเห็นไหม นี่ไง เขาบอกว่าศาสนาพุทธไม่ใช่ปัจเจกชน ถ้าศาสนาพุทธเป็นปัจเจกชน ก็จะเอาแต่ตัวเองรอดไง ถ้าไม่มีการกระทำ คนที่ไม่เคยทำลายสิ่งที่เป็นอวิชชา กิจจญาณที่เข้าไปทำลาย ภวาสวะ ทำลายภพ สิ่งที่กิเลสมันเป็นที่อาศัย กิเลสมันมีอำนาจก็เพราะมันมีที่ตั้ง กิเลสมันมีอำนาจเพราะมันครอบคลุมได้ เพราะมันมีปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณ ตัวนี้มันเป็นตัวฐาน ถ้าไม่ทำลายมัน ตรงนี้มันก็เป็นที่อยู่ของมัน เป็นสถานที่ๆ มันจะบังคับบัญชาจิตของเรา พอทำลายหมดแล้ว พอจิตเข้าไปทำลาย ยิ่งทำลายยิ่งสะอาดบริสุทธิ์ แล้วทำลายอย่างไร

นี่ไง สิ่งที่มันเป็นความจริง มันมีของมันเห็นไหม ถ้ามันทำลายภวาสวะ ทำลายข้อมูลทั้งหมด ทำลายฐีติจิตทั้งหมด นี่ไงความสะอาดบริสุทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าทำลายสภาวะแบบนั้น เพราะมีการกระทำอย่างนั้น เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทำลายกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีการวางธรรมและวินัย

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ พระอานนท์เห็นไหม สิ่งใดที่จำมาที่เป็นประโยชน์ เอามาศึกษา เอามาค้นคว้า แล้วเอามาสั่งสอน พระอานนท์เป็นผู้จำ เป็นพหูสูตร จำพระสุตตันตปิฎกมา จำสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนมา เทคนิคต่างๆ ก็จำมา จดจารึกกันมา แล้วเราก็ไปศึกษาด้วยอำนาจของกิเลส เราได้แต่ชื่อนะ ตัวเองไม่รู้จักตัวเอง ถ้าตัวเองไม่รู้จักตัวเองเห็นไหม ดูสิ การทำลายของมัน แม้แต่การทำคุณงามความดี การตั้งใจศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ตัวเองไม่เข้าใจอะไรเลย ยิ่งศึกษายิ่งไม่เข้าใจ

แต่ในปัจจุบันนี้สิ่งที่เขาคุยกันอยู่ ที่เขาพูดกันอยู่ เขาพูดโดยตรรกะของเขา จริงๆ แล้วเนื้อหาสาระมันไม่รู้เรื่องหรอก ไม่เข้าใจสิ่งใดๆ เลย เพราะมันไม่เป็นความจริง อย่างเช่น รสหวาน รสเค็ม มันมีรสหวานรสเค็มต่อเมื่อเราได้ลิ้มรสนั้น แต่นี่ก็อธิบายว่ารสหวาน รสเค็ม ไปเรื่อยๆ แต่ตัวเองไม่เคยได้ลิ้มรสนั้น ถ้าไม่เคยได้ลิ้มรสนั้นก็อาศัยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ดูสิ ดูกิเลสมันทำลาย ทำลายชาวพุทธที่ประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้เรียนปริยัติ เห็นไหม ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ในการประพฤติปฏิบัติไม่เป็นอย่างนั้น เพราะสิ่งที่มันเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นรสหวานรสเค็มเห็นไหม เราจะรู้รสหวานหรือรสเค็มเพราะเราสัมผัส พอเราสัมผัส ความสัมผัสอันนั้นมันจะมั่นคงกับชื่อนะ กับสิ่งที่ว่าเป็นรสหวานรสเค็มจากที่เราจำมา ถ้าเราจำมา รสหวาน ความหวานของมันมีค่าความหวานมาก ความหวานน้อย โอ้โฮ! พูดร้อยแปดเลย ไอ้คนฟังก็เชื่อนะ แต่รสหวานเป็นอย่างไรไม่รู้ รสเค็มก็เหมือนกัน รสเค็มมันมีความเค็มเข้มข้นขนาดไหน นี่กิเลสมันทำลาย ทำลายแม้แต่ความดีของเราเอง ทำลายในการประพฤติปฏิบัติของเราเอง

ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติของเรา กิเลสนะ อำนาจของมันตั้งแต่โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค ถึงอรหัตตมรรคเห็นไหม มันยังยึดยังยื้อกันอยู่ กิเลสอย่างหยาบโสดาปัตติมรรค กิเลสอย่างกลางสกิทาคามิมรรค กิเลสอย่างละเอียดอนาคามิมรรค กิเลสอย่างละเอียดสุดอรหัตตมรรค สิ่งนี้เรายังจะต้องเผชิญ เราจะต้องปักหลักปักฐานของเรา เพื่อจะแก้ไขหัวใจของเรา

ถ้าเราจะแก้ไขหัวใจของเรา เราก็ตั้งสติกับเรา แล้วมีคำบริกรรมครูบาอาจารย์สอนให้ทำความสงบของใจ พยายามพุทโธๆๆ ไป แล้วพยายามพุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันไม่สงบ จิตมันมีความฟุ้งซ่าน จิตมันมีการต่อต้าน กิเลสมันมีอำนาจมาก ถ้ากิเลสมันมีความต่อต้าน เราก็ต้องมีอุบายวิธีการ

ครูบาอาจารย์ของเราเป็นแม่เหล็ก ลูกศิษย์ลูกหา พระบวชใหม่ก็อยากหาครูบาอาจารย์เป็นที่เกาะที่พึ่งอาศัย ถ้าเราไปพึ่งอาศัยด้วยคุณธรรม อาศัยด้วยความจริงจังของเรา เพราะว่าพุทธศาสนาก็ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ มา การส่งต่อเป็นทอดๆ มา ครูบาอาจารย์ก็ต้องการ สิ่งที่เราไปศึกษา เพื่อประพฤติปฏิบัติให้ได้ตามความเป็นจริง

แต่ถ้าเราไปพึ่งครูบาอาจารย์ เรามีทิฐิมานะ ดูสิ ภูเขาทองมันเป็นทองทั้งลูกเลย มันเป็นทองคำทั้งนั้น เราไปด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อีกาดำปิดปี๋เลย ไปเกาะอยู่บนภูเขาทองมันก็เป็นอีกาอยู่วันยังค่ำ นี่ก็เหมือนกัน สิ่งนี้ถ้าเราแก้ไขของเรา เราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ ถ้าเป็นผู้ชี้นำเห็นไหม ถ้ามันมีอำนาจของมัน กิเลสมันขัดแย้งในหัวใจของเรา มันมีความลังเลสงสัย มันไม่มีความเข้าใจสิ่งใดๆ ขึ้นมา เราก็ศึกษาได้ เราก็ถามได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ต่อต้านนะ

เวลาเราทำความสงบของใจ เริ่มต้นประพฤติปฏิบัติใหม่ มันเหมือนกับเด็กหัดใหม่ เด็กหัดใหม่จะเริ่มต้นทำสิ่งใดๆ มันก็มีความขัดแย้งไปทั้งนั้น เพราะมันไม่มีความชำนาญ จิตของเราก็เหมือนกัน จิตของเราเวลาเรากำลังพุทโธๆๆ ไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็แล้วแต่ มันจะลงไปสู่ความสงบมันลงได้ยากเพราะเหตุใด เพราะว่ามันเป็นเรื่องธรรมเหนือโลก

ในปาราชิก ๔ อวดอุตริมนุสสธรรม พูดถึงฌานสมาบัติ ถ้าเป็นภิกษุนะ ถ้าไม่มีในตนนั่นแหละอวดอุตริมนุสสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ ในปกติสมาธิของเราที่ว่ามีอยู่แล้ว มันเป็นสมาธิของปุถุชน คำว่าสมาธิของเราคือสติปัญญาที่บังคับให้เราเป็นปกติ แต่ถ้าเราทำพุทโธๆ หรือทำปัญญาอบรมสมาธิ เราต้องการให้ลึกกว่านี้ เพราะถ้ามันลึกกว่านี้ แล้วถ้าปัญญามันเกิดมันก็เกิดโดยโลกุตตรปัญญา

แต่ถ้ามันเป็นปัญญาปัจจุบัน เราฝึกปัญญาโดยสมาธิของปุถุชน สมาธิของมนุษย์ก็สิ่งที่สร้างมา คนที่สร้างบุญมามาก สิ่งต่างๆ ถ้ามีโอกาสมา เขาจะมีความมั่นคงของเขา แต่ถ้าเราสร้างของเรามา เราเป็นโลภจริต เราจะวิตกกังวลตลอด สิ่งที่วิตกกังวลเราจะคิดสิ่งใดทำสิ่งใด เราจะไม่มั่นคงของเราเลย อันนี้มันเป็นจริตนิสัย สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของโลก มันก็มีของมันอยู่แล้ว มีอยู่แล้วคือว่ามันเป็นจริตนิสัย เป็นอำนาจวาสนาบารมีของแต่ละบุคคลมันไม่เหมือนกัน

ทีนี้เรามาประพฤติปฏิบัติ เวลาเรากำหนดพุทโธๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ คนเราเวลาปฏิบัติ ด้วยความเป็นชาวพุทธ เกิดเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา อยากประพฤติปฏิบัติ อยากจะออกจากทุกข์ เวลาศึกษาธรรม วิมุตติสุขมันมีความสุขมาก ถ้าจิตเป็นสมาธินี่ โอ้โฮ! มันจะมีความร่มเย็นเป็นสุข เราก็อยากให้มันเป็นอย่างนั้น เราก็อยากได้อย่างนั้น

พอมีความอยาก ดูสิอำนาจของกิเลสมันหลอก สิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ ในพุทธศาสนาของฟรีไม่มี ของเกิดเองไม่มี ทุกอย่างเกิดเองไม่มี มันต้องมีการกระทำทั้งนั้นล่ะ เวลาพุทโธๆๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา สมาธิมันเกิดขึ้น ทีนี้ความฟุ้งซ่าน หรือสิ่งต่างๆ คือกิเลสที่มันมีอำนาจในหัวใจของเรา สิ่งที่มันจะต่อต้าน

การประพฤติปฏิบัติที่การเริ่มต้นเห็นไหม ดูนักกีฬาที่มีความชำนาญของเขา เขาจะใช้ประโยชน์ในทักษะของเขาได้ตลอดเวลา แต่ของเราเห็นไหม พวกเราผู้ฝึกหัดใหม่ เราต้องอาศัยความฝึกหัดให้มีความชำนาญ จิตมันคุ้นเคยกับอารมณ์สามัญสำนึก จิตมันคุ้นเคยกับกิเลส จิตมันว่ามันรู้อยู่ เราศึกษาธรรมะ เราอยากพ้นจากกิเลส แล้วธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะพ้นจากกิเลสได้ นี่ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เราอยากได้สิ่งนั้น

แต่เวลาเราปฏิบัติ เราปฏิบัติกับอะไรล่ะ เพราะกิเลสมันมีอำนาจเหนือกว่า ก็ปฏิบัติด้วยการยอมจำนนกับกิเลส มีความลังเลสงสัยไปตลอด จะพุทโธหรือ มันก็มีความขัดแย้งในใจ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิหรือ มันก็ออกนอกลู่นอกทางกันไป มันหลุดออกไปเห็นไหม เราจึงต้องใช้สติ ต้องใช้ปัญญา ถ้าใช้สติปัญญาขึ้นมา เวลาพุทโธๆ มันมีสิ่งใดเป็นผลตอบสนอง ถ้าผลตอบสนองมันเป็นประโยชน์ขึ้นมา เราก็ต้องตั้งสติของเรา เรากำหนดพุทโธๆ

การกำหนดพุทโธเหมือนกับสิ่งต่างๆ ที่เราจัดให้มันเข้าที่ ถ้าจิตมันมีความฟุ้งซ่าน มันมีแรงต่อต้าน มันมีอะไรต่างๆ มันมีของมันทั้งนั้น สิ่งที่มันมีของมันอยู่แล้ว เราถึงต้องตั้งสติแล้วเราต้องหมั่นสังเกตจิตใจของเรา แล้วเราใช้ปัญญาใคร่ครวญ สิ่งใดควรและไม่ควร ถ้าไม่ควรเราไม่ควรไปทำมัน ถ้าเราไม่ควรทำเลย ไม่ควรคิดเลย ถ้ามันจะคิดสิ่งใดที่มันจะเข้ามาทำให้จิตใจนี้ฟุ้งซ่าน เราตบไปทันทีเลย ตบคือสติบอกไม่ให้คิด ไม่ให้ทำ เรารักษาใจของเรา

ขณะที่เรารักษาใจของเรานะ ทำของเรา รักษาของเรา กำหนดของเราขึ้นมา พอจิตมันสงบเข้ามาบ่อยครั้งเข้า เราใช้ปัญญามากขึ้นมันจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าจิตของเรามีความสงบเข้ามา แล้วเวลาปัญญามันใคร่ครวญสิ่งใด เวลามันคิดสิ่งใด ทำไมมันคิดได้ ทำไมมันเห็นโทษ ทำไมมันทำแล้วมันเห็นประโยชน์ ทำไมมันมีความพอใจ

แต่ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านเห็นไหม จิตมันเป็นเรื่องของกิเลสนะ มันคิดไม่ออก มันคิดน้อยเนื้อต่ำใจ เราเป็นคนไม่มีอำนาจวาสนา เราปฏิบัติไปแล้วก็จะไม่ได้ผล คนอื่นเขามีวาสนากว่าเรา เราควรจะกลับไปบ้านดีกว่า เราจะไปทำชีวิตประจำวันของเรา เราแค่ไปทำบุญของเราก็ได้ ถ้าจิตใจมันไม่มีกำลัง มันจะคิดออกไป ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดของใคร เป็นอุบายของใคร มันเป็นเครื่องล่อของใคร มันก็กิเลสทั้งนั้น

กิเลสนี้ ดูสิอำนาจของมันทำลายทุกวิถีทาง มันเป็นเครื่องทำลายตลอด เป็นเครื่องทำลายประจำหัวใจ เป็นเครื่องทำลายประจำความรู้สึกของเราตลอด ทำลายความมั่นคง ความตั้งใจ ความจงใจ การกระทำ ทำลายให้เสียหายทั้งนั้น แต่เวลามีสติปัญญาขึ้นมานี่ สัจธรรมจะพาให้เราออกจากทุกข์

ถ้าสัจธรรมพาให้เราออกจากทุกข์ กว่าเราจะตั้งสติได้ กว่าเราจะตั้งของเราขึ้นมา เราก็ไปเก็บเล็กผสมน้อยมาจากไหน มันก็ไปเก็บเล็กผสมน้อยมาตั้งแต่เราตั้งสตินี่ไง มันเก็บเล็กผสมน้อยต่อเมื่อเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เราเก็บเล็กผสมน้อยเพราะเรามีความตั้งใจของเรา ถ้าเราไม่มีความตั้งใจของเรา ใครเขาจะเอามาให้

เวลาวัตถุทางโลกเห็นไหม พ่อแม่จะมีการจุนเจือลูก จะเอาสิ่งต่างๆ มาให้ลูกได้ แต่ในการประพฤติปฏิบัติใครจะให้เรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเราเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น เพราะจิตของเรา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นของเรา ด้วยสติปัญญาของเรา ถ้ามันเกิดผลกับเรานะ จิตมันเริ่มผ่อนแรง คำว่าผ่อนแรง เห็นไหมมันไม่มีกำลังมากจนเกินไป

แต่เดิมถ้าเราประพฤติปฏิบัติใหม่ หัวใจของเรามันเต้นตูมตามๆ มันฉุดกระชาก มันดื้อ มันไปด้วยอำนาจของมัน เรานี่ต้องยอมจำนนมันตลอด พอมันมีสติขึ้นมาเราควบคุมได้แล้ว เราควบคุมสิ่งที่มีอำนาจ ดูสิช้างสารที่มันตกมันที่มันมีอำนาจของมัน เราควบคุมมันได้ ถ้าเราควบคุมมันได้ เราจะมีความภูมิใจไหม ทุกคนจะมีความภูมิใจนะ “ฮื่อ! หัวใจของเราก็ดูแลได้เนาะ โอ้โฮ! เราก็มีความสามารถที่จะควบคุมได้เนาะ” สิ่งนี้มันจะเริ่มสงบตัวแล้ว เพราะด้วยสติด้วยปัญญาควบคุมเขา

พอด้วยสติด้วยปัญญาควบคุมเขา จิตเริ่มสงบ พอจิตเริ่มสงบ มองสิ่งใดมันจะมองเป็นประโยชน์ มองเป็นคุณงามความดี แต่สิ่งนี้เป็นอนิจจัง มันเกิดขึ้นด้วยคุณงามความดีของเรา เกิดขึ้นด้วยสติปัญญาของเรา เกิดขึ้นด้วยคำบริกรรม พอมันเกิดขึ้นด้วยอย่างนี้ เพราะมันมีเหตุผลมันจึงเกิดขึ้น พอมีเหตุมีผลเกิดขึ้น เราก็ต้องพยายามสร้างเหตุนั้นมากขึ้น เราก็ต้องดูแลรักษา

การดูแลรักษา การปฏิบัติในพระไตรปิฎกบอกไว้ประจำ “การปฏิบัติผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปฏิบัติไม่เสมอต้นเสมอปลาย” ทีนี้โอกาสในการปฏิบัติสม่ำเสมอเราหาได้ยาก ตอนนี้บวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา ความปฏิบัติสม่ำเสมอนี้เรามีโอกาสแล้ว เราตั้งเวลาไว้เลย อย่างเช่น ในพรรษาเราตั้งเวลาไว้เลย เราจะนอนกี่โมง เราจะตื่นกี่โมง จะนั่งสมาธิวันละกี่ชั่วโมง เวลาเดินจงกรมวันละกี่ชั่วโมง ความสม่ำเสมอนี้เราทำได้ เราถือธุดงควัตร เราตั้งสัจจะแล้วพยายามทำอย่างนั้น การปฏิบัติที่ไม่ได้ผลเพราะขาดความสม่ำเสมอ ความเสมอต้นเสมอปลาย

ถ้าเรามีความเสมอต้นเสมอปลาย มันจะได้และไม่ได้ เพราะความเสมอต้นเสมอปลายมันเป็นพิธีการ คือเราตั้งใจปฏิบัติ แต่สิ่งที่มันจะได้ขึ้นมา คือจิตของเรามันสงบหรือไม่สงบนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความปฏิบัติสม่ำเสมอนี้เป็นโอกาส แล้วถ้าจิตมันสงบขึ้นมา จิตมันมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันเกิดจากผลที่ปฏิบัติสม่ำเสมอนั้น

ถ้าความปฏิบัติสม่ำเสมอนั้นมันเกิดผลขึ้นมา เราจะมีความร่มเย็นเป็นสุข เราจะมีหลักมีเกณฑ์ของเราขึ้นมา พอมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราใช้ให้พิจารณาออกไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม หรือในวัตรปฏิบัติต่างๆ มันจะเห็นทะลุปรุโปร่งเพราะอะไร เพราะจิตมัน... จะว่าจิตคนละดวง ไม่ใช่ มันก็จิตดวงเดียวนี่แหละ จิตของเราเวลามันฟุ้งซ่าน เวลามันทุกข์ยาก มันเอาแต่คายพิษออกมาให้เราเร่าร้อน แล้วจิตของเรานี่แหละ เวลามันสงบร่มเย็นขึ้นมา มันมองเรื่องเดียวกันว่าทำไมมันดีไปหมดเลย มันสุข มันมีความพอใจ แล้วเวลามันคายพิษนะ เวลามันฟุ้งซ่านนะ ทำไมมันทุกข์ล่ะ ก็จิตดวงนี้แหละ

เขาบอกว่าจิตมี ๑๐๘ ดวง ๑๐๘ ดวงนั่นมันเป็นอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์โทสะ อารมณ์โมหะ นั่นล่ะความรู้สึก ที่เขาว่าเป็นดวงๆๆๆ แต่มันก็มาจากจิตของเรานี่แหละ มาจากจิตดวงนี้แหละ ถ้าจิตดวงนี้เราดูแลรักษาขึ้นมา เราจะเห็นประโยชน์ของมัน ถ้าเราดูแลรักษาขึ้นมา จิตมันจะพัฒนาขึ้นมา มันจะดีขึ้น พอดีขึ้นก็ใช้ปัญญา คำว่าใช้ปัญญาคือใช้ปัญญาใคร่ครวญให้จิตมั่นคง การใช้ปัญญาในสัจธรรม ที่เขาบอกว่านั่นก็สักแต่ว่า นั่นก็ไม่ใช่ อันนั้นมันเกินไป

มันเกินไปหมายถึงว่าเด็กมันเกิดขึ้นมา เด็กมันยังไม่รู้จักทำมาหากินอะไรเลย ก็บอกสักแต่ว่า สักแต่ว่า เด็กนั้นมันก็จะนอนในเบาะนั้นจนตาย เด็กมันจะไม่พัฒนาเลย มันจะนอนอยู่ในเบาะนั้น เด็กโตขึ้นมามันก็ยังนอนอยู่ในเบาะ มันนอนไม่ได้หรอก เพราะมันต้องโตขึ้นมา มนุษย์มันจะนอนแบเบาะอย่างนั้นตลอดไปไม่ได้ เพราะมันเป็นมนุษย์ แต่หัวใจมันนอนได้ เพราะมันเป็นนามธรรม

ที่บอกว่านั่นมันสักแต่ว่านะ นี่ไงอำนาจของกิเลส เวลามันฉ้อฉลกับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นสักแต่ว่า นั่นก็เป็นอนิจจัง มันไม่มีสิ่งใดเลย นี่ไงมันก็เหมือนจิตมันไม่พัฒนา มันก็เหมือนจิตที่นอนแบเบาะ แล้วพอนอนแบเบาะมันก็จมแช่อยู่กับอวิชชา จมแช่อยู่กับอำนาจของกิเลส ไม่มีสิ่งใดตอบสนอง ปฏิบัติไปก็ปฏิบัติเสียเปล่า ปฏิบัติไปเป็นกิริยา แต่ความเป็นจริงไม่มี

พอความเป็นจริงไม่มีนะ พอกิเลสมันตีกลับ เวลามันตีกลับ เวลาจิตมันเสื่อมนะ เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ของเราจะเสมอต้นเสมอปลายเพราะอะไร เพราะของท่านเป็นความจริง แต่ครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็นความจริงนะ สักแต่ว่าๆ นี่ เวลามันตีกลับขึ้นมา มันสำรอกออกมา มันคายออกมา มันจะทำแต่ความเสียหายให้กับบุคคลคนนั้น แล้วยังทำความเสียหายให้กับสังคมอีกมหาศาลเลย นี่ไงโดยอำนาจของมันนะ

คำว่าสักแต่ว่าๆ นี่ มันชิงสุกก่อนห่าม มันไปขายก่อนซื้อ แต่ในการกระทำเห็นไหม ไม่ให้กิเลสมันมีอำนาจมากไปกว่าเรา กิเลสมันมีอำนาจอยู่แล้ว ถ้ากิเลสมันไม่มีอำนาจมันไม่เอาจิตนี้มาปฏิสนธิให้เราเกิดเป็นมนุษย์มานั่งอยู่นี้หรอก สิ่งที่เป็นมนุษย์ สิ่งที่มีความรับรู้ เพราะกิเลสมันมีอำนาจ มันถึงทำให้เราเกิดมา มันถึงทำให้เราทุกข์ เพราะมันมีอำนาจ มีความอยาก

แต่ความอยากที่เป็นมรรค อยากในการแสวงหา อยากในการเอาออก มันมีอำนาจ เราก็ใช้สิ่งที่มันมีอำนาจ นี่ เกลือจิ้มเกลือ จิตแก้จิต เอาความรู้สึกของเราทำลายตัวเราเอง ถ้าเอาความรู้สึกของเรา ตั้งตัวเราขึ้นมาได้ เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่เราสร้างคุณงามความดีในแง่บวกตั้งมั่น พอตั้งขึ้นมา ตั้งสติ แล้วใช้ปัญญาของเราใคร่ครวญบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า พอมันสงบขึ้นมาบ่อยๆ จากจิตที่คายพิษ มันจะมีความฟุ้งซ่าน มันจะมีความทุกข์

แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สิ่งที่ปฏิบัติขึ้นมามันมีคุณค่าของมันขึ้นมา จิตต้องสงบได้ ถ้าจิตสงบไม่ได้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สอน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ทำให้จิตมันสงบ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา สงบเล็กสงบน้อย สงบมากขนาดไหน เวลามันเกิดขึ้นมามันเป็นผลบวกทั้งนั้น

ดูสิ เครื่องจักรเวลาเขาจะซ่อมมัน เขาต้องดับเครื่องมัน จิตที่มันหมุนอยู่ตลอดเลา จิตที่มันมีแต่ความทุกข์ความยาก มันจะไปทำสิ่งใดได้ล่ะ ถ้ามันทำความสงบเข้ามา สงบเล็กสงบน้อยก็ไม่สำคัญ เพราะความสงบเล็กสงบน้อย มากน้อยขนาดไหน มันเป็นความต่างระหว่างความฟุ้งซ่านกับความสงบไง มันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก จิตดวงนั้นจะรู้เอง จิตทุกดวงจิตจะเข้า จะรู้ จะเห็น จะสัมผัส

รสหวานก็รู้ว่าหวาน รสเค็มก็รู้ว่าเค็ม ไม่ใช่รสหวานรสเค็มที่มันอยู่ในตำรา รสหวานรสเค็มเป็นตัวอักษร เป็นตัวอักษรว่ารสหวานคือตัวอักษร แต่ไม่ได้ลิ้มรส แต่พอจิตมันสงบขึ้นมามันได้ลิ้มรส หวานก็รู้ว่าหวาน หวานมากหวานน้อยก็รู้ เค็มมากเค็มน้อยก็รู้ ในเมื่อมันเป็นปัจจัตตัง จิตมันมีความสงบ มันมีความร่มเย็นขึ้นมา

พอมีความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมาเพราะเกิดจากอะไร เกิดจากสติปัญญาของเรา พอเกิดจากสติปัญญาของเรา นี่ไงมันไม่ใช่เด็กแบเบาะ นั่นก็สักแต่ว่า ของทุกอย่างมันมีอยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ อำนาจกิเลสมันมีอำนาจเหนือกว่า ถ้ามันมีอยู่แล้ว มันต้องควักออกมาให้เราดูสิ ไม่มีหรอก! ไม่มี! แต่เพราะอำนาจของมันฉ้อฉลว่าเป็นธรรมๆ เป็นธรรมะฉ้อฉล ไม่ใช่ธรรมะตามความเป็นจริง

ถ้าธรรมะตามความเป็นจริงนะ ต้องมีองค์ความรู้ มีการกระทำ มีการสำรอก มีการคายออก แล้วสำรอกคายออกอย่างไร นี่ไงพอจิตมันสงบเข้ามา สงบมากสงบน้อยพิจารณาไปบ่อยครั้งเข้า มันจะฝึกหัด มันเป็นบททดสอบ บทฝึกหัดให้ใจมันมีพัฒนาการ

พอใจมันมีพัฒนาการนะ ใครจะมีสิ่งใดเป็นอุปสรรค ใครจะมีสิ่งใดเป็นวิปัสสนา เป็นสิ่งที่เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ด้วยการใช้ปัญญา สิ่งนั้นจับแล้วแยกแยะไป เราจะไม่ต้องว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาปฏิบัตินั่นก็สักแต่ว่า นู่นก็สักแต่ว่า แล้วเราก็ไปสร้างภาพกันไว้อย่างนั้น แล้วต้องทำให้เป็นอย่างนั้นถึงจะเข้าสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่เป็นความจริงหรอก

ดูสิ เศรษฐีแต่ละยุคแต่ละสมัย ในเรื่องของโลกเขายังแตกต่างกันเลย ค่าของเงินเห็นไหม ๑ บาทสมัยโบราณมีคุณค่ามากเลย เดี๋ยวนี้ ๑,๐๐๐ บาทยังแทบไม่มีค่าเลย ๑,๐๐๐ บาทซื้ออะไรได้บ้าง สมัยโบราณนะ ๑ สตางค์ยังมีค่ามากเลย นี่ก็เหมือนกัน สมบัติของครูบาอาจารย์ สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณค่ามาก แล้วสมบัติของเราๆ จะมีกี่หมื่นกี่แสนล้านบาท แล้วมีคุณค่าเท่ากับสิ่งนั้น เราก็ประพฤติปฏิบัติของเราไป มันเป็นยุคเป็นสมัย มันถึงเวลาที่เราจะต้องปฏิบัติของเรา

ถ้าเราปฏิบัติของเราเพราะอะไร เพราะเราไม่ให้เวลามันกลืนนะ มันกลืนกินทั้งชีวิตของเราและตัวมันเองด้วย ตัวมันเองคือภพชาติไง ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ กว่าจะเกิดมาได้ กว่าจะผ่านช่องคลอดของแม่ออกมาได้ เหมือนตายแล้วฟื้นนะ ตายแล้วฟื้นขึ้นมาถึงเป็นมนุษย์ขึ้นมา แล้วยังจะต้องไปอย่างนั้นรอบแล้วรอบเล่าๆ อยู่อย่างนั้นอีกหรือ ถ้าเราไม่อยากไปรอบแล้วรอบเล่าก็เอาสิ่งนั้นมาเตือนใจตัว เกิดมาแล้วเป็นมนุษย์ ตายแล้วจะไม่เกิดอีก จะไม่ไปผ่านช่องแคบนั้นอีกแล้ว จะไม่ให้รีดตัวเราออกมาให้มันทุกข์ยากขนาดนั้น ถ้าจะไม่อยากออกไปผ่านช่องแคบนั้นจะทำอย่างใด

ถ้าไม่อยากผ่านช่องแคบนั้นก็ต้องมีสติ ก็ต้องมีปัญญา ก็ต้องมีความจริงจัง มีความองอาจกล้าหาญ มีการกระทำของเราให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเราไปกลัวสิ่งที่เราจะต้องผ่านช่องแคบนั้น ทำไมตรงนี้เราไม่จริงจัง ถ้าเราไม่จริงจัง เราไม่ทำสิ่งนั้น เราก็ต้องไปผ่านอย่างนั้นอีก เราจะต้องไปเกิดไปตายอยู่อย่างนั้นอีก เราจะเอาสิ่งใด ถ้าเราคิดอย่างนี้ นี่คือการต่อรองกับกิเลส เพื่อให้หัวใจของเรามีโอกาส

ถ้ามันทำความสงบได้ จิตมันจะมีโอกาสนะ ถ้าเรามีสติปัญญา จิตมันสงบเข้ามาปัญญามันเกิด เวลาปัญญามันเกิด คนที่ภาวนาเป็นจะเป็นโลกุตตรปัญญา ไม่เป็นปัญญาแบบสถิติ ไม่เป็นปัญญาสมอง ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้อย่างนี้ ปัญญาอย่างนั้นพอจิตมันสงบมันก็เปิดกว้าง ถ้าจิตเราไม่สงบมันมีความฟุ้งซ่าน มีข้อมูล มีความพอใจของตัว แล้วเวลาปัญญามันเกิดขึ้นมาก็เกิดขึ้นมาจากฐานที่สกปรก

แต่เวลาที่จิตมันสงบเข้ามา สิ่งที่มันสงบ มันไม่มีข้อมูลสถิติ เพราะเราคาดหมายไม่ได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าการคาดหมายมันเป็นสัญญา สิ่งที่เป็นสัญญามันไม่เป็นปัญญาอยู่แล้ว ฉะนั้นมันถึงว่ามันจะเกิดขึ้นโดยที่เราคาดหมายไม่ได้ มันจะเป็นปัจจุบันธรรม มันจะเป็นสัจธรรมที่จะเกิดขึ้นในขณะนั้น

ถ้ามันเกิดขึ้นในขณะนั้น ถ้าจิตมันรู้มันเห็น ฟังสิ จิตมันรู้มันเห็น เหมือนเราเดินไปบนถนน แล้วเราไปเจอทองคำก้อนหนึ่งตกอยู่ เราจะตื่นเต้นไหม เราก็ตื่นเต้นเป็นธรรมดา จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันสงบขึ้นมา แล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม โดยสัจธรรม โดยความจริงของมันนะ ดูสิ เราไปเจอทองคำ เราเห็นเราก็อยากได้ เราก็อยากจะเป็นเจ้าของ อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันสะเทือนหัวใจมาก เพราะอะไร เพราะจิตมันสงบ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน

ถ้ามันจับสิ่งนั้นได้ แล้วมันแยกแยะของมันเห็นไหม แยกแยะทำลาย ทำลายด้วยสัจธรรม ทำลายเพราะเหตุใด อำนาจของกิเลสมันฝังในหัวใจ กิเลสมันนอนเนื่องมากับความรู้สึกของเรา พอนอนเนื่องมากับความรู้สึกของเรา นี่เห็นแก่ตัว สิ่งที่เห็นแก่ตัว สิ่งที่มันต้องการมีอำนาจครอบงำเรา มันก็บอกว่าโน่นก็ดี นี่ก็งาม มันเป็นจิตใต้สำนึก มันเป็นสัญชาตญาณ

ทุกคนก็ว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ ทำไมสิ่งที่เป็นมนุษย์จะไม่เป็นเรา เป็น! เป็นโดยสมมุติ เพราะถ้าเราบอกว่ามนุษย์นี้เป็นเรา เราจะเกิดเป็นมนุษย์ตลอดไป แล้วถ้าเราสร้างคุณงามความดีไปเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม เราจะเกิดได้อย่างไร นี่เพราะเป็นผลของวัฏฏะ เราไม่มีอำนาจควบคุมว่าเราจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป มันเป็นเรื่องของเวรเรื่องของกรรม มันเป็นเรื่องของกิเลสที่มันนอนเนื่องมากับใจ พอมันนอนเนื่องมากับใจ พอมันเห็นสิ่งใด สิ่งนี้มันฝังรากลึกอยู่ในหัวใจของเราอยู่แล้ว

พอเรากำหนดปัญญาอบรมสมาธิ หรือสมาธิอบรมปัญญา ถ้ามันสงบเข้ามา เวลามันเป็นข้อเท็จจริงของมัน มันเกิดปัญญา เกิดเป็นโลกุตตรปัญญา มันจะไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เพราะการเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมมันสะเทือนหัวใจ มันใช้ปัญญาแยกแยะของมันเห็นไหม ทำลายบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้า มันจะสำรอกคายออกเป็นตทังคปหาน มันปล่อย!

ความปล่อยเห็นไหม เวลาเราพิจารณากาย เวลาไปเที่ยวป่าช้าก็เป็นการพิจารณากายภายนอก เวลาเราไปเห็น เห็นไหม เห็นคนทุกข์คนยาก เห็นสิ่งต่างๆ เราเห็นข้างนอกเราก็รู้สึกสลดสังเวช ถ้าจิตใจเราฟุ้งซ่าน จิตใจเรามันกำลังเห่อเหิม พอไปเห็นสภาพของคนที่พิการ คนที่เขาทุกข์ยาก เห็นแล้วเราสลดใจนะ เราไม่เป็นอย่างนั้นก็บุญแล้ว ถ้าเราเป็นอย่างนั้นเราจะทุกข์ขนาดไหน พอไปเห็นสภาวะอย่างนั้น นี่! กายนอก

กายนอกคือสภาวะที่เห็นจากภายนอกโดยตาเนื้อ มันจะหดเข้ามา หดความรู้สึกเข้ามา มันเกิดสังเวช มันเกิดความหดหู่หัวใจ พอหดหู่หัวใจมันจะย้อนกลับเข้ามาเป็นอิสระ เป็นตัวของมันเอง การพิจารณาภายนอก มันจะถอนความรู้สึกกลับมาเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมถะ การพิจารณากายนอกเป็นสภาวะให้ตัวเองเป็นอิสระ พอเป็นอิสระแล้ว อิสระคือสมาธิ อิสระคือจิตที่เป็นอิสระ จิตที่ไม่ข้องเกี่ยว แต่ที่เขาว่า “สักแต่ว่า สักแต่ว่า” นี่แหละกิเลสล้วนๆ ไอ้ “สักแต่ว่า สักแต่ว่า” คือกลับมาอิสระ

อิสระคืออะไร อิสระคืออวิชชา อิสระก็คือกิเลส อิสระก็ตัวของมัน อิสระแล้วมันต้องวิปัสสนา วิปัสสนาคือว่าจิตที่มันเป็นอิสระแล้ว จิตที่มันเป็นสัมมาสมาธิแล้วออกรู้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันแยกมันแยะของมัน การที่เราทำสมาธิ เรายังต้องล้มลุกคลุกคลาน แค่สมาธินี่กำปั้นทุบดินนะ

กำปั้นทุบดินเพราะอะไร เพราะจิตเรามีอยู่แล้ว ปฏิสนธิจิตทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ปฏิสนธิจิตปฏิสนธิวิญญาณเรามีอยู่แล้ว แล้วถ้ามีอยู่แล้ว ถ้าเราใช้ปัญญา เราใช้คำบริกรรม ถ้ามันหดสั้นจากสิ่งที่เป็นรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร มันไปยึดหมด ยึดจักรวาล ยึดหมดเลย ถ้าจิตมันจินตนาการได้ มันยึดหมด ยึดสวรรค์ ยึดพรหม ยึดนิพพาน ยึดหมดเลย ทีนี้เราพุทโธๆๆ นี่มันหดสั้นเข้ามาเป็นอิสระของมัน คำว่ากำปั้นทุบดินคือของมันมีอยู่แล้ว ปฏิสนธิจิตนี่ โลกนี้มีเพราะมีเรา มันยึดครอบจักรวาลไปเลย แล้วเราพุทโธๆๆ ย้อนกลับมาเป็นมัน ถ้าย้อนกลับเข้ามา กำปั้นทุบดินหมายถึงว่าสิ่งที่เป็นสมถะ สิ่งที่เป็นตัวจิต สิ่งที่เป็นสัมมาสมาธิของมันมีอยู่

พลังงานออกไปจากไหน ความรู้สึก ความคิดต่างๆ ออกมาจากไหน ออกมาจากจิต แล้วจิตมันอยู่กลางหัวอกเรานี่ แล้วเราพุทโธๆๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ทำไมเรากลับมาสู่มันไม่ได้ เวลามันออกไป ความคิดมันยิงออกไปจากฐานของใจ แล้วเราพยายามดึงกำลังที่มีกลับมาสู่ฐาน ทำไมทำไม่ได้

พุทโธๆ กับปัญญาอบรมสมาธิ มันเหมือนกำปั้นทุบดินเลย ของมันมีอยู่ ของมันเกิดมาจากฐีติจิต พอมันกลับมาสู่ตัวของมันเห็นไหม มันไม่ได้คิดออกไปโดยความฟุ้งซ่าน มันไม่ได้คิดออกไปโดยธรรมชาติของมัน เวลาออกรู้นี้ ต้องฝึก ต้องหมั่น มันจะเกิดเองไม่ได้หรอก

จิตเป็นสมาธิแล้วมันจะเกิดปัญญา นั่งไว้เฉยๆ แล้วปัญญามันจะวิ่งมาชนเรา ไม่มีทาง! นี่ไง เพราะมันเป็นจินตนาการ เป็นสิ่งที่ว่าเวลาประพฤติปฏิบัติ อำนาจของกิเลสมันทำให้ทุกอย่าง ทุกการกระทำเสียหายไปหมด แม้แต่ในการปฏิบัติ เวลาการปฏิบัติไปในวงกรรมฐานของเรา เวลาปฏิบัติไปติดในสมาธิก็มี ติดในการวิปัสสนาก็มี ติดในขั้นของโสดาบันไม่ทะลุก็มี พอทะลุไปแล้วไปติดในสกิทาคามี ไปติดในอนาคาคามี เข้าใจว่าอนาคามีคือสิ้นกิเลสก็มี

นี่ไง ทั้งๆ ที่ฆ่ามันมาเป็นชั้นๆ แล้วนะ แต่กิเลสที่มันละเอียดกว่ามันก็ยังครอบงำให้เราไขว้เขว ให้เราอยู่ในอำนาจของมันตลอดมา ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามีครูบาอาจารย์เราจะไม่เสียเวลา ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ ประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นมากับเรา เราต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญอีก กว่าจะปลดสิ่งที่มันเกาะเกี่ยวหัวใจไว้เป็นปีเป็นเดือนนะ บางทีเกาะเอาไม่ออกเลย บางทีพิจารณาจนปลดไม่ได้เลย เกาะอยู่อย่างนั้น เกาะอยู่จนตาย ติดจนตายไป ตายไปพร้อมกับความติดนั้น

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ คำว่ามีครูบาอาจารย์ ท่านเคยผ่านอย่างนี้มาทั้งหมด เคยผ่านมาแต่ละชั้นแต่ละตอน การที่กิเลสมันหลอก หลอกอย่างไร เวลากิเลสมันหลอกแล้วความเห็นเป็นอย่างไร มันก็เหมือนดูสิ ดูอย่างบ้านเรือน ๔ ชั้น ครูบาอาจารย์อยู่ชั้นบนสุดท่านจะเห็นหมดเลย เพราะท่านต้องผ่านชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ชั้น ๔ ท่านต้องผ่านขึ้นไป แล้วการผ่านขึ้นไป มันก็มีอุปสรรคของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน

แต่ครูบาอาจารย์อยู่บนชั้น ๔ เราจะเข้าชั้น ๑ เราจะเข้าบ้านนะ เราบอกเราเข้าบ้านแล้ว ไอ้บ้านนั้นเป็นกิเลส ไม่สนใจ ไอ้ตัวเองอยู่ในที่โล่ง “โอ๊ย! นิพพานๆ” นี่ไง อำนาจของกิเลสมันฉ้อฉล มันหลอกลวงให้ผู้ประพฤติปฏิบัติไขว้เขว แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านต้องผ่าน ท่านต้องสร้างฐานชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ ชั้น ๔ ท่านสร้างของท่านขึ้นมา

ถ้าการสร้างขึ้นมามันแตกต่างกันอย่างไร ชั้น ๑ กับชั้น ๒ แตกต่างกันอย่างไร ชั้น ๒ กับชั้น ๓ แตกต่างกันอย่างไร ชั้น ๓ กับชั้น ๔ แตกต่างกันอย่างไร พอถึงชั้น ๔ ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว มันแตกต่างกับปุถุชนที่ว่ากำปั้นทุบดิน ที่ว่านิพพานๆๆ คือว่าง คือสิ่งสงบเย็นๆ สงบเย็นมีอะไรเป็นเครื่องตอบสนอง

ดูอำนาจของกิเลสสิ มันมีอำนาจขนาดไหน เวลาคนประพฤติปฏิบัติมันยังฉ้อฉล มันยังหลอกลวงให้อยู่ในอำนาจของมันตลอดไปเห็นไหม แต่เพราะเราเกิดมามีอำนาจวาสนา เราเกิดมามีครูมีอาจารย์ ครูบาอาจารย์ของเราในวงกรรมฐาน ในวงของพระป่านี้ มันจะมีวงใน

วงใน หมายถึงว่า ลูกศิษย์กับอาจารย์สนิทคุ้นเคยกัน แล้วทำข้อวัตรปฏิบัติกันนี่ เรามีปัญหา เรามีสิ่งใด ด้วยความคุ้นเคยใช่ไหม แล้วด้วยความสนิทชิดเชื้อ จะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของครูบาอาจารย์ที่ว่าองค์ไหนติดอย่างไร องค์ไหนเป็นอย่างไร คอยเล่าให้เราฟัง สิ่งที่เล่าให้ฟัง แล้วเราเป็นอย่างนั้นไหม เรามีปัญหาไหม นี่ไง วงกรรมฐาน

“วงกรรมฐาน วงผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ” มันก็เหมือนกับวงนักวิชาการที่เขารื้อค้น เขาจะคุยกันในวงทางวิชาการของเขา ว่าสิ่งที่เราทำวิจัยอยู่นี้ มันมีอะไรขาดตกบกพร่อง แล้วทางวิชาการที่เขาไม่เป็นธรรมนะ เขาจะขโมยคุณงามความดี เขาจะขโมยข้อมูลไปเป็นผลงานของเขา แต่นี่ครูบาอาจารย์ของเราจะขโมยอะไร ชีวิตเราก็ทิ้งแล้ว สิ่งต่างๆ ไม่มีขโมยหรอก มีแต่จะบอก ในวงในนี่วงกรรมฐาน วงของครูบาอาจารย์นะ แล้วก็วงของลูกศิษย์ลูกหาที่ประพฤติปฏิบัติ

สมัยหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดสิ่งใดมาจะเข้าใจได้ วงของผู้ที่เข้าใจ วงทางนักวิชาการที่มีวุฒิภาวะ ที่มีปัญญาเสมอกัน พูดถึงทางวิชาการจะเข้าใจกันได้ แต่ถ้าวงทางวิชาการหรือนักวิชาการที่ไม่มีวุฒิภาวะ หรือปัญญาอ่อน ทางวิชาการเขาคุยกันขนาดไหนก็ไม่รู้เรื่องหรอก ไม่เข้าใจกับเขาหรอก อยู่ในวงวิชาการนั้นก็ไม่รู้จักวิชาการนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในวงกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ของเราที่ปฏิบัติมีเนื้อหาสาระ หลวงปู่มั่นพูดสิ่งใด มันจะไม่คลาดเคลื่อนเลย มันคำไหนคำนั้น ออกมามันจะเป็นประโยชน์หมดเลย แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติไม่เป็น หลวงปู่มั่นก็พูดอย่างนี้แหละ แต่เราเข้าใจไม่ได้ เราเข้าใจสิ่งที่หลวงปู่มั่น เข้าใจไม่ได้ ยังบอกว่าหลวงปู่มั่นพูดผิดอีกนะ หลวงปู่มั่นท่านแก่ชราภาพ ท่านพูดเพ้อเจ้อ ท่านพูดแล้วไม่เป็นความจริง ดูสิ ดูอำนาจของกิเลสที่มันครอบงำหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ

เวลาสิ้นจากกิเลสไปแล้ว เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติจนกิเลสมันตายจากหัวใจไปแล้ว ถ้ามันตายจากหัวใจไปแล้ว มันต้องไม่มีกิเลส ไม่มีสิ่งใดเลย ครูบาอาจารย์บอกว่าเผลอโน่น เผลอนี่ คำว่าเผลอนี้มันเป็นกิริยาภายนอก ดูสิ กิริยาภายนอกเห็นไหม ร่างกายเราใช้งานแล้วเราเหนื่อยล้าไหม เรานั่งนานๆ เราขบเมื่อยไหม

หัวใจก็เหมือนกัน มันเสวยอารมณ์ออกมา มันเสวยเป็นความคิดออกมา แล้วพอเสวย เพราะตัวธรรมธาตุ ตัวพลังงานที่สะอาด วิมุตติแสดงออกไม่ได้ มันแสดงออกโดยสมมุติ มันแสดงออกโดยผ่านขันธ์เห็นไหม ผ่านขันธ์คือออกผ่านสัญญา สังขาร วิญญาณ ผ่านขันธ์เวลามันเผลอ เผลอตรงนี้ไง มันเผลอที่ขันธ์

ดูสิ เราไปสั่งความไว้กับคนๆ หนึ่ง อีกคนๆ หนึ่งจำความนี้ไว้แล้ว แล้วเขาทำงานอย่างอื่นจนเขาลืมไป เราไปถามเขา เขารู้ไหม พอเราไปถามเขา สิ่งที่เราไปสั่งความไว้ เขาจำไม่ได้ เพราะตอนสั่งความ “จำให้แม่นๆ นะ จำให้แม่นนะ” แต่เขาทำงาน พอเขาฟังจากเราไปแล้วเขาไปทำงานอย่างอื่นต่อไป พอทำงานอย่างอื่นต่อไปนี่ แล้วสมองมันก็คิดของมันไป เวลากลับมาถามถึงคำที่เราสั่งไว้ก็จำไม่ได้

จิตเสวยอารมณ์! ที่ว่าเผลอๆ ไง จิตเสวยอารมณ์มันก็เสวยขันธ์ พอมันเสวยขันธ์ พอมันกลับมาที่ตัวมันเองล่ะ “เผลอ” เผลอเสวยอารมณ์ มันจะไม่มีผลไง มันไม่มีผลกับจิตดวงนั้นหรอก มันไม่มีผลกับสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ธรรมธาตุก็คือธรรมธาตุ

ฉะนั้นสิ่งที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านชราภาพ ท่านจะเผลอ ท่านจะไม่เข้าใจ มันเป็นความเพ้อเจ้อ! ของอำนาจกิเลสของไอ้พวกที่วุฒิภาวะมันต่ำต้อยไง

ในการปฏิบัติของเรา เราอย่าให้สิ่งนั้นมาทำลายเรา สิ่งนี้มันเป็นคติธรรมนะ ครูบาอาจารย์ของเรามีคติ มีคุณธรรม ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา ท่านกตัญญูกตเวทีกับครูบาอาจารย์ ท่านรักเคารพบูชา ครูบาอาจารย์ก็เหมือนพ่อกับลูกนะ การอยู่ด้วยกันมาเนิ่นนาน มันก็มีพูดจริง พูดเล่น พูดหยอก พูดล้อ ขนาดหยอกล้อของคนที่มีคุณธรรม หยอกล้อก็หยอกล้อด้วยธรรม พูดเล่นก็เล่นด้วยธรรม พูดจริงก็จริงก็เข้มข้นด้วยธรรม ถ้ามีกตัญญูกตเวทีมันจะฟังเห็นไหม

ถ้าไม่มีอำนาจกิเลสนะ อำนาจกิเลสในแง่บวกมันคือคุณงามความดี แต่เพราะมีอำนาจธรรม สิ่งใดที่ครูบาอาจารย์ท่านหยอกท่านล้อ มันมีก็เกร็ดนะ มันมีคติธรรม ถ้าคติธรรมนี้เราจับมาเป็นประโยชน์เห็นไหม ถ้าใจเป็นธรรมมันจะเป็นประโยชน์ แล้วมันจะเข้าใจสภาวะต่างๆ หมด ถ้าจิตใจไม่เป็นธรรม มันจะได้สิ่งที่เป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันได้แต่ความฉ้อฉลในหัวใจ

ฉะนั้นถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราจะไม่ให้เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ให้เป็นอย่างนั้นเราก็ตั้งสติของเรา ใจเขา ใจเรา ใจของคนอื่น ใจของสังคม ใจของหมู่คณะ เขาจะเป็นอย่างไร ถ้ามันเป็นคุณงามความดีเราก็สาธุ ถ้ามันเป็นคุณงามความดีไปไม่ได้ ในเมื่ออำนาจของกิเลสมันมีกำลังมากกว่า เขาจะทำให้ฉ้อฉล ให้จิตใจนี้มันคลาดเคลื่อนกันไป เราก็ดูใจเรา ถ้าดูใจเรานะ เราก็พยายามทำความสงบของใจเรา เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาของเรา

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ในเมื่อเราเป็นสัตว์สังคม เราอาศัยสังคมนั้นอยู่ แต่เราต้องการอาศัยสังคมนั้นอยู่เพื่อรักษาใจเรา เราอาศัยสังคมนั้นอยู่เพื่อทำจิตใจเราให้สงบ นี่มันเรื่องของเขา เขาทำสิ่งใดเวรกรรมนั้นมันตกกับเขาทั้งนั้น แต่ถ้าเราทำคุณงามความดีของเรา เวรกรรมมันก็ตกกับเรา แล้วถ้ามันเป็นคุณธรรม เป็นคุณงามความดี สัจธรรมมันจะเกิดขึ้นในหัวใจของเรา ถ้ามันเกิดขึ้นในหัวใจของเรา ถ้าจิตสงบแล้วเราทำงานของเรา เราแยกแยะของเรา เราดูแลของเรา เราจะไม่ให้กิเลสมันมีอำนาจเหนือจิตใจของเรา

ในปัจจุบันนี้มันมีอำนาจอยู่ เพราะเรายังมีกิเลสอยู่ แต่เราพยายามจะสู้กับมันอยู่นี่ไง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราจะต้องต่อสู้กับกิเลสของเรา องค์ความรู้ของการชำระกิเลสตั้งแต่เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา มันมีการกระทำของมัน แล้วมีการกระทำของมัน มันทำเห็นชัดๆ ไง เวลาสมุจเฉทปหาน เวลามันฆ่ากิเลส เห็นกิเลสมันตายต่อหน้า มันตายอย่างไร พอมันตายขึ้นไปแล้วมันจะฟื้นมาได้อีกไหม ถ้ามันฟื้นขึ้นมาได้มันก็เป็นตทังคปหาน มันไม่ใช่สมุจเฉทปหาน มันไม่เป็นอกุปปธรรม

กุปปธรรม-อกุปปธรรม กุปปธรรมคือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นิพพานเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตา ถ้าเป็นอนัตตา จิตใจก็เป็นอนัตตา ขอนไม้ก็เป็นอนัตตา อากาศก็เป็นอนัตตา ก้อนเมฆก็เป็นอนัตตา ก้อนเมฆมันแปรปรวนตลอดมันเป็นอนัตตาไหม มันก็เป็นอนัตตา แล้วมันได้อะไร?

แต่ถ้ามันเป็นปัจจุบันธรรมนะ สัจธรรมที่มันเกิดขึ้นมาในหัวใจ ไม่เป็นแบบนกแก้วนกขุนทองหรอก กุปปธรรม สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา นิพพานเป็นอนัตตา ไม่เป็น! เป็นอนัตตาไม่ได้ ถ้านิพพานเป็นอนัตตา พวกเราไม่ต้องทำอะไรเลย มันมีอยู่แล้ว เพราะสรรพสิ่งนี้มันแปรปรวนตลอด อนัตตาคือการไม่คงที่ อนัตตาคือการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ความแปรปรวนของมัน มันมีของมันอยู่แล้ว

แล้วนิพพานมันเป็นความแปรปรวนหรือ นิพพานมันไม่คงที่หรือ เขาบอกว่าถ้านิพพานคงที่มันจะเป็นตัวตน เป็นตัวตนก็มึงทำลายตัวตน มันทำลายตัวตนไปถึงเป็นนิพพาน ถ้ามันไม่ทำลายตัวตนมันจะนิพพานได้อย่างไร การมีนิพพานต้องทำลายตัวตนใช่ไหม ถ้าทำลายตัวตนแล้วนิพพานมันจะมีตัวตนได้อย่างไร ถ้านิพพานมีตัวตน ไอ้นิพพานอย่างนั้นก็คือนิพพานโกหกนะสิ มันจะเป็นนิพพานได้อย่างไร

ถ้ามันมีความจริงของมันเพราะอะไร เพราะมันมีความจริงขึ้นมา มันมีการกระทำของมันขึ้นมา ไม่ใช่มีความจำ แต่นี่คำหนึ่งก็พระไตรปิฎก สองคำก็พระไตรปิฎก สาธุนะ พระไตรปิฎก สัจธรรมอันนั้นก็เคารพบูชา แต่เคารพบูชานี่มันเคารพบูชาในปริยัติ ปริยัตินี่คือธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่กตัญญูกตเวที คนที่มีคุณธรรมจะอกตัญญูมันเป็นไปไม่ได้หรอก ไม่มีใครอกตัญญูหรอก แต่ไอ้พวกอกตัญญูนั่นแหละ มันเอากฎหมาย เอาธรรมวินัยมาเหยียบย่ำคนอื่น ว่าเป็นธรรมวินัย ว่าสิ่งนี้เป็นพระไตรปิฎก เพราะมันไปเอามาแอบอ้าง

แต่ครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ หลวงปู่มั่น แม้แต่ตัวอักษรท่านยังไม่ยอมอยู่เสมอเลย ท่านต้องยกไว้บนที่สูง ท่านบอกว่า “อักษรทุกตัว มันเป็นการสื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้” ไม่ใช่พระไตรปิฎกนะ แม้แต่ตัวอักษรเฉยๆ ตัวหนังสือนี่ หลวงปู่มั่นท่านจะไม่ยอมนั่งเสมอเลย ท่านจะยกไว้เลย ถ้ายิ่งมีตำราท่านจะเอาไว้ที่สูง ท่านจะไม่นอน ไม่นั่งตีเสมอตัวอักษรเลย เพราะท่านบอกว่า “ตัวอักษรนี้ เป็นการสื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ไม่ใช่จะบอกว่าธรรมวินัยในตู้พระไตรปิฎกแล้วจะไม่เคารพบูชา เคารพบูชาแต่เคารพบูชาแบบธรรม ไม่ใช่เคารพบูชาแบบกิเลส ถ้าเคารพบูชาแบบกิเลสก็เหมือนตำรวจ กฎหมายมีเอาไว้หาผลประโยชน์ พระไตรปิฎกก็มีเอาไว้หาผลประโยชน์ ถ้ากูท่องจำได้แม่น กูเถียงชนะมึง นี่คือพระไตรปิฎก นี่คือธรรมของพระพุทธเจ้า

ถ้ามึงพูดคำในพระไตรปิฎกผิด กฎหมายนี้มึงพูดผิด มึงไม่เข้าใจเรื่องกฎหมาย แต่มึงไม่ได้ทำผิด แล้วมันจะผิดกฎหมายตรงไหน คนที่ประพฤติปฏิบัติมาเขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แล้วกฎหมายมันจะมีประโยชน์อะไร กฎหมายจะไปบังคับเขาได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่นี้คนที่ท่องกฎหมายได้แม่น เอากฎหมายไปเที่ยวทำลายเขา เอากฎหมายเที่ยวไปเหยียบย่ำคนอื่น แต่นี่ก็มาบอกว่าพระไตรปิฎกๆ

พระไตรปิฎกเป็นคุณประโยชน์ แต่เป็นคุณประโยชน์ในการชำระกิเลสของเรา พระไตรปิฎกเป็นธรรมและวินัย ธรรมวินัยนี้เพื่อจะย้อนกลับมาชำระกิเลสของเรา พระไตรปิฎกไม่ได้เอาไว้ไปเหยียบย่ำคนอื่น พระไตรปิฎกไม่ใช่ว่าเอาไปเหยียบย่ำเพื่อหาผลประโยชน์ พระไตรปิฎกไม่ใช่ว่าเอาไว้เป็นสินค้า! พระไตรปิฎกเอาไว้เคารพบูชา เอาไว้ทำลายกิเลสของตัวเอง

ถ้าอำนาจของกิเลสมันไม่มี เราจะทำลายกิเลสของเรา สิ่งต่างๆ ที่เป็นธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นประโยชน์กับเรา กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น แต่ถ้าจิตใจของเราเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วฉ้อฉลจะเอาสิ่งนั้น เหมือนเจ้าหน้าที่เอากฎกติกาไปเที่ยวหาผลประโยชน์มาใส่ตัว มันเป็นธรรมไหม มันเป็นการชำระกิเลสไหม

ถ้าชำระกิเลส ถ้าเราเป็นคนจริง เราเป็นของจริง ทำไมเราต้องเอากฎหมายมาหนุนหลังล่ะ ความดีก็คือความดี สัจธรรมก็คือสัจธรรม ถ้ามีสัจธรรมจริงก็พูดออกมาสิ สัจธรรมคืออะไร ความจริงมันเป็นอะไร ไม่ใช่ฉ้อฉล บิดซ้ายบิดขวาอยู่อย่างนั้น แล้วบอกว่านี่คือพระไตรปิฎก มันก็พระไตรปิฎกที่ปากสกปรกมันพูด ปากอมขี้!

แต่ถ้าปากสะอาด ปากที่มันเป็นประโยชน์ พูดถึงพระไตรปิฎก พูดด้วยความสะอาดนะ พูดให้พวกเราชื่นชม เราชื่นชมการกระทำขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราชื่นชมพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีพระพุทธศาสนา แล้วเราเป็นชาวพุทธที่เคารพพระพุทธศาสนา เพื่อประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

เพราะเราเคารพพระพุทธศาสนา เท่ากับเราเคารพตัวเราเอง เพราะหัวใจของเราคือพุทธะ จิตใจของเราเห็นไหม นี่พุทธะ ถ้ามันเป็นธรรม เป็นคุณธรรม เป็นคุณงามความดี เราจะชื่นชม ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีพุทธศาสนา ถ้าจะมีพระพุทธศาสนา ก็จะต้องมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเท่านั้น อย่างพวกเราจะรื้อค้นกันเองหรือ เป็นไปไม่ได้

ฉะนั้นมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครูเป็นอาจารย์ แม้แต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ยังเคารพบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเรามีอะไรที่จะไปตีเสมอ เรามีอะไรที่จะไปดูถูกดูแคลน เรามีอะไรที่จะไปทำลาย ไม่มี! ไม่มีหรอก! แต่มันเป็นความจริง มันเป็นสัจธรรม ฉะนั้นการเคารพบูชาต้องเคารพบูชาด้วยธรรม เคารพบูชาด้วยสัจธรรม ไม่ใช่เอามาแอบอ้างหาผลประโยชน์เพื่อประโยชน์กับตน เอวัง