ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เขาว่าหนีทุกข์

๒๗ มิ.ย. ๒๕๕๓

 

เขาว่าหนีทุกข์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๑๑๔. คำถามนะ มันเป็นคำถามเหมือนคำปรารภ เมื่อนั่งภาวนาไปแล้วเกิดไปพิจารณาเห็นว่า โลกมนุษย์เรานี้เป็นภพภูมิหนึ่งที่จิตระดับเดียวกันที่สร้างมาให้เห็นและเกี่ยวพันกัน แม้ขี่ยานออกไปนอกโลก ไปจนสุดหล้าแห่งจักรวาล เลยจักรวาลไป ก็จะไม่พบสิ่งที่สิ้นสุดได้ ภพภูมินี้เราสร้างมาเอง แม้สุขคติภูมินี้ หรือภพภูมิต่ำลงไป ก็เป็นแบบเดียวกัน

แต่เวลาภาวนาได้สงบดีๆ ก็เห็นว่า ก็เห็นอีกว่า มันไม่มีอะไรเลยที่ไม่ลงหลักไตรลักษณ์ แล้วจิตมันก็ลอยเด่นอยู่ มันเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ถ้าไปยึดดีก็สุข ถ้าไปยึดทุกข์ก็ทุกข์ แต่สภาวะนี้เห็นแว็บเดียวเท่านั้นคือ แค่รู้สึกได้เพียงชั่วลมหายใจจริงๆ มันทุกข์มากจนมองเห็นว่าชีวิตนี้เกิดๆ ดับๆ

ขณะจิตเดี๋ยวนั้น เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกย้อนขึ้นมาว่า มันต้องมีความหลุดพ้น ทางของพระป่าถูกแน่ แต่เรายังปฏิบัติไม่ถึงความหลุดพ้น เข้าใจว่าหากเดินตามทางเดิมคือปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ลดละ จนอาการนั้น เกิดขึ้นแล้วหลุดพ้นไปเลย คงเป็นทางถูก

แต่นี่มันเหมือนดึงหนังสติ๊ก ขาดจากกันแว็บเดียวเท่านั้น แล้วทันทีมันก็กลับไปติดต่อ กลายเป็นเส้นสายดั่งเดิมอีก ในชั่วลมหายใจนั้น

ขอโอกาสหลวงพ่อช่วยแก้ไข หรือเทศนาว่ากล่าวด้วยครับว่า ผิดถูกประการใด ขอน้อมรับธรรม ตอนนี้ผมก็ยังภาวนาอยู่ตลอดเวลาและสวดมนต์ทำวัตร

หลวงพ่อ : นี่แหละๆ สำคัญ เวลาเราเน้นกันที่ว่า เวลาปฏิบัติกันนี่ให้เราพยายามทำความสงบของใจ ไอ้สิ่งที่เขาเห็น เห็นไหม เห็นแค่แว็บเดียว คือความเห็นกับความรู้สึกมันใกล้เคียงกัน บางทีนี่ ถ้าคนที่ไม่มีนิมิต คือไม่เห็นสิ่งใด แต่มันเกิดความรู้สึกไง เวลาจิตเราดิ่งลง หรือจิตเรามีความสงบนี้ มันจะมีความคิดที่เราคาดคิดไม่ถึงแว็บเข้ามา อันนี้มันเป็นผลของบุคคลคนนั้น นี่แหละที่เรียกว่าเป็นปัจจัตตัง จะให้คนพูดจ้ำจี้จำไชขนาดไหนก็แล้วแต่ จะมีเหตุมีผลเหนือขนาดไหน ความรับรู้นี่มันก็แค่ความรับรู้สามัญสำนึก แต่เวลาจิตมันสงบนะ โอ้โฮ! พอเกิดความรู้สึกอย่างนี้ มันจะสะเทือนใจมาก มันสะเทือนใจเพราะจิตมันมีพื้นฐาน จิตมันสงบไง ถ้าจิตไม่สงบนะ เราบอกว่าเปรียบจิตเหมือนเปลือกส้ม เปลือกส้มนี่มันทนแรงขีดข่วนได้มากกว่าเนื้อส้ม

สามัญสำนึกของความคิดเห็นไหม มันจะโดนกระทบกระเทือนขนาดไหนนะ หรือมันสัมผัสได้แค่ไหนนะ มันก็มีความรับรู้เหมือนเปลือกส้ม เนื้อส้มถ้าไม่มีเปลือกส้มนะ เนื้อส้มนั้นจะเน่า เนื้อส้มจะรักษาอยู่ได้เพราะเปลือกส้มมันรักษาเนื้อมัน ความคิดของเรา นี่มันครอบคลุมใจไว้ ความคิดต่างๆ มันก็เกิดจากสามัญสำนึกเท่านั้นแหละ พอทำความสงบของใจมันก็เหมือนเราปอกเปลือกส้มออก เปลือกส้มกับเนื้อส้ม มันแตกต่างกันด้วยคุณสมบัติของมัน จิตของเรานะ เวลาปกติมันก็มีความคิดอย่างนี้ แต่พอมันสงบเข้าไปนะมันจะมีความคิดอีกความคิดหนึ่ง แล้วความคิดอันนั้นพอขณะที่มันผุดขึ้นมานะ มันก็ยังมีความรับรู้ได้ขนาดนี้เห็นไหม

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านจะบอกเรื่องผลของวัฏฏะ นรก สวรรค์ ให้พวกเราเชื่อมั่น พอเราเชื่อมั่นแล้ว การกระทำเราจะมีเป้าหมาย ถ้าจะไปสวรรค์ต้องทำคุณงามความดี ถ้าทำความชั่วจะไปตกนรก นี่ครูบาอาจารย์ท่านพยายามย้ำให้เราเชื่อมั่นตรงนี้ เราฟังแล้วมันก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา แต่พอปฏิบัติไปเห็นไหม

“โลกมนุษย์เหมือนกับภพภูมิหนึ่งสร้างเกี่ยวพันขึ้นมา แม้ขี่ยานออกไปสุดหล้า เลยจักรวาลไปก็ไม่เห็น” แต่พอจิตมันสัมผัสเห็นไหม การสัมผัสอย่างนี้ ที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ย้ำ พยายามย้ำนะว่า ผลของวัฏฏะ คือนรกสวรรค์นี่มันมีอยู่ของมัน โทษนะ มันไม่ทำอะไรเราหรอก นรกก็นรก สวรรค์ก็สวรรค์เกี่ยวอะไรกับเราล่ะ แต่เวลาทำคุณงามความดีของเราแล้วต่างหากล่ะ เราตายไปแล้วต่างหาก เห็นไหม

ในปัจจุบันนี่ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องสวรรค์ ถ้าเราเชื่อเรื่องสวรรค์เชื่อเรื่องนรก มันก็เป็นภพภูมิที่จิตที่ตายแล้วไปจุติไปเกิดใช่ไหม แล้วในปัจจุบันนี้ล่ะ ถ้าเราเชื่อแล้วเราจะควบคุมชีวิตเราไง เราเชื่อแล้ว เราจะทำคุณงามความดีของเราไง ฉะนั้นที่ครูบาอาจารย์ท่านย้ำ ท่านก็ย้ำตรงนี้ ย้ำเพื่อให้เราเชื่อมั่นเวลาฟังธรรม แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว นี่ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ย้ำ ไปสัมผัสเองไปรู้เอง ถ้าไปสัมผัสเองไปรู้เองนี่ไม่ต้องมีใครบอกเห็นไหม นี่มั่นคงกว่า ความมั่นคงเพราะว่าเราไปเห็น เชื่อมั่น

เพราะมนุษย์นี่มันเป็นภพหนึ่ง ภพสูงภพต่ำ แต่ทุกอย่างแล้วมันก็ไม่พ้นจากไตรลักษณ์แน่นอน เราบอกว่าผลของวัฏฏะ เห็นไหม เราเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ผลของวัฏฏะคือ นรก สวรรค์ แล้วการเวียนตายเวียนเกิดเป็นไตรลักษณ์ไหม เป็น! เป็นไตรลักษณ์เพราะมันเป็นผลที่มันเป็นไปใช่ไหม แต่ในปัจจุบันนี้ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราประพฤติปฏิบัติกันนี่เราจะพ้นจากวัฏฏะเลย พ้นจากการเป็นไตรลักษณ์เลย ที่เขาบอกว่านิพพานเป็นอนัตตา อนัตตามันก็ไตรลักษณ์ แล้วนิพพานมันเป็นไตรลักษณ์ มันก็เวียนกลับมา มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่ทำมานั้นถูกแล้ว นี่พูดถึงว่า ให้ตอบว่าควรทำอย่างไรต่อไป

คำว่าทำถูกทำผิดนี่นะ มันคือผล ถ้าทำถูกมันจะมีผลลัพธ์ ถ้าทำผิดนะมันจะมีผลลัพธ์เป็นลบ ผลลัพธ์ที่เป็นลบนี่คือเราเข้าใจผิด เราเข้าใจผิดว่ามันถูกต้อง นี่ผลลัพธ์ที่เป็นลบไง เป็นลบคือเราไม่ก้าวหน้า แต่ถ้าเป็นความถูกต้องนะมันเป็นสัมมาทิฏฐินี่ ผลลัพธ์ของมันคือมันทำให้เราเข้าใจ มันทำให้เรามั่นคง ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์อันนี้มันยังไม่ถึงที่สุดใช่ไหม เพราะมันไปรู้ไปเห็นเข้า ว่ามันเป็นไตรลักษณ์ สรรพสิ่งเป็นไตรลักษณ์ “แต่มันแค่แว็บเดียว เหมือนดึงหนังสติ๊กขาด แว็บเดียวแล้วกลับไปติดอีก” นี่เราไปรู้เห็นแป๊บเดียวเห็นไหม แต่การรู้เห็นแป๊บเดียวมันก็เป็นการรู้เห็น อย่างเช่น พระพุทธเจ้าเวลาตักบาตรเทโว เห็นไหม นรกสวรรค์เห็นกันหมด พอเห็นหมดทุกคนมันทึ่งมาก

อันนี้เราไปเห็นของเราเอง “เห็นแป็บเดียว เหมือนกับดึงหนังสติ๊กขาด แต่แล้วมันก็กลับมาสานกันอีก” แต่ก็ได้เห็นน่ะ คำว่าได้เห็นนี่นะ เห็นอย่างนี้เขาเรียกว่านิมิต พวกปัญญาชน เขาจะติเตียนพวกปฏิบัติพุทโธว่าติดนิมิต อะไรก็เป็นนิมิต คำว่านิมิตนี่มันมีหลากหลายมาก คำว่านิมิตนะ นิมิตคือเครื่องหมายบอก นิมิตคือสิ่งที่เห็น สิ่งที่กระทบ อย่างเช่น ป้ายจราจรนี่คือนิมิต ป้ายจราจรทั้งหมดที่เราขับรถไป นิมิตบอกว่าเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ทางอันตราย นี้คือนิมิตหมายบอก

ฉะนั้น สิ่งที่จิตไปรู้เห็นคือนิมิตหมายบอก คนขับรถมาในคันเดียวกัน นิมิตหมายบอกนั้นสำคัญที่สุดกับโชเฟอร์คนขับรถนั้น เพราะเขาบังคับให้รถนั้นเป็นไป แล้วคนในรถทั้งคัน นิมิตหมายบอกเขาจะรู้หรือไม่รู้ไม่เกี่ยวนะ จิตของเรานะเวลาเข้าไปเห็นสิ่งต่างๆ เป็นนิมิต สิ่งที่เป็นนิมิตเห็นไหม เขาบอกว่าจะติดนิมิต ถ้าเรามีสติเราจะติดนิมิตได้อย่างไร นิมิตนี้มีความจำเป็นกับโชเฟอร์นั้น เพราะเขาจะบังคับรถนั้นให้พ้นจากอันตรายไป แต่คนที่นั่งอยู่ในรถ เขาไม่เห็นนิมิต เขาไม่รับรู้นิมิตว่านิมิตนั้นคืออะไร เราบอกว่านิมิตจะมีความจำเป็นต่อโชเฟอร์ นิมิตมันจะมีความจำเป็นก็ต่อเมื่อผู้นั้นมีความจำเป็นจะต้องใช้ ผู้ที่พิจารณากายโดยเจโตวิมุตติ เจโตวิมุตติก็คือเห็นกายและสภาวะมันแยกแยะออกไป มันเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นสภาวะ มันเป็นอนิจจัง ถ้าเห็นสภาวะนั้นมันจะเป็นประโยชน์ไง

แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่ภาวนาปัญญาวิมุตติ พิจารณากายโดยไม่ต้องใช้กาย พิจารณากายโดยไม่เห็นกาย พิจารณากายโดยใช้ปัญญา อย่างนี้เป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าปัญญาวิมุตติมันเป็นเรื่องของปัญญา ฉะนั้นคำว่าติดนิมิต ถ้าเรามีสติปัญญามันไม่ติดหรอก เราจะเปรียบนิมิตเหมือนจานข้าว นิมิตนี่เหมือนข้าวแกงหนึ่งจาน ข้าวแกงนั้นเป็นนิมิตไหม เป็น! ถ้าติดนิมิตนะ เราติดนิมิตคือเรากินข้าวนั้น เอ็งอย่ากินข้าวนะ ก็มันเป็นนิมิต เราจะบอกว่า คำว่าข้าวจานนั้น เรากินข้าวจานนั้นเพื่อการดำรงชีวิต

เพราะฉะนั้นคนจะอยู่ได้มันต้องมีการดำรงชีวิต แล้วเราจะบอกว่านิมิตนี่นะ มันเป็นเครื่องหมายบอก เรื่องจิตนี่มีทุกคนๆ แต่มีมากมีน้อย มีในลักษณะใดเท่านั้นเอง แล้วบอกว่าติดนิมิต ไม่มีนิมิต ใครไม่มีนิมิตกูอยากฟังนัก ถ้าไม่มีนิมิตมันจะสื่อสารกันด้วยภาษาได้อย่างไร มันจะสื่อสารรับรู้กันได้อย่างไร นี่ก็นิมิตทั้งนั้นล่ะ แล้วถ้าเราจะใช้คำว่านิมิตว่า เห็นนิมิตแล้วมันผิดมันหลงนี่ ส่วนใหญ่ถ้าจิตปกติเห็นนิมิต สมมุติอย่างเราไม่เคยภาวนา พอเห็นนิมิตนี่ตกใจนะ โห ขนลุกขนพองเลยนะ หอบเลยนะ อาจารย์ โอ๊ย! มันเป็นอย่างนั้นนะๆ ไปเห็นครั้งแรกมันตื่นเต้นไง

ตื่นเต้นแต่ก็มีสติปัญญาอยู่ ตื่นเต้นแต่ก็ควบคุมตัวเองได้อยู่ แต่คนที่จะเสียส่วนใหญ่แล้วนี่จิตเขาไม่ปกติ พอไปเห็นมันก็สร้างภาพไง นิมิตของคนที่ไม่ปกติ คือคนที่เห็นแล้วหลุดต่างๆ นี่มันเป็นเพราะว่าเราขาดสติ ไอ้ขาดสติอย่างนี้ เราต้องบอกว่า เหมือนกับเราเป็นมนุษย์ มนุษย์จะมีการเจ็บไข้ได้ป่วย จะมีโรคภัยไข้เจ็บแตกต่างกันไป จิตของคนเวลาปฏิบัติไปเห็นนิมิต เห็นสิ่งต่างๆ มันก็แตกต่างกันไป

แต่มันมีของมันใช่ไหม มันมีของมัน ถ้าเราจะบอกว่า ติดนิมิต หรือนิมิตผิดนี้ ไม่ใช่ อยู่ที่การบริหารมันต่างหากล่ะ อยู่ที่จิตเป็นปกติ แล้วเราบริหารความรู้ความเห็นอันนั้นให้มันเป็นแง่บวก ให้มันเป็นประโยชน์กับเราต่างหากล่ะ ไม่ใช่ว่าเราปฏิเสธ ไม่บริหารมัน ไม่มีๆ จะไม่มีได้อย่างไร มันต้องบริหาร ต้องจัดการมัน จัดการกับสิ่งที่เห็นนั้น ฉะนั้นที่ว่าเห็นนิมิตแล้วมันทำให้ติด สมถะมันทำให้เห็นแต่นิมิต ไม่เกิดปัญญา ก็จะเอานิมิตนั้นล่ะมาฝึกปัญญา ก็จะเอานิมิตนั้นมาฝึกฝนให้มันเกิดปัญญาขึ้นมา แล้วเกิดปัญญาตามความเป็นจริง

ฉะนั้นสิ่งที่ปฏิบัติ ถ้ากำหนดพุทโธอยู่แล้วก็ให้กำหนดพุทโธ ไป ถ้าทำมาปฏิบัติมานี่ เพียงแต่สิ่งที่เห็นนี่นะ เป็นผลของมัน คือปัจจัตตัง การปฏิบัติต้องมีอย่างนี้ พอมีการปฏิบัติ เพราะถ้าคนไม่ปฏิบัติไปฟังเทศน์นะก็เหมือนคนเราที่ไม่มีปัญหาใดๆ เลย ฟังเทศน์ก็ฟังเป็นกุศลเท่านั้นเอง

แต่เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัตินะ อย่างที่หลวงตาเล่าให้ฟังว่าหลวงปู่มั่นเวลาจะประชุมพระนะ โอ้โฮ! พระนี่จะดีใจมากเลย เพราะวุฒิภาวะ จิตใจของคนมันหลากหลาย เวลาหลวงปู่มั่นเทศน์ เทศน์ของพระป่าจะไม่เทศน์เรื่องทาน ไม่เทศน์เรื่องศีล เพราะถือว่าเรื่องทาน เรื่องศีลนี้เป็นคุณสมบัติของชาวพุทธอยู่แล้ว เรื่องของทานเรื่องของศีล พระกรรมฐานเขาไม่เทศน์กันหรอก เขาเทศน์ปัญญาเลย เริ่มต้นปูพื้นจากสมาธิทำความสงบของใจขึ้นมา สังเกตได้เวลาครูบาอาจารย์จะเทศน์นะ ถ้าพระป่าที่ภาวนาเป็นนะเขาไม่เทศน์เรื่องทานหรอก โอ๊ย! เรื่องทานน่ะเรื่องอนุบาลเรื่องสอนเด็ก เรื่องศีลก็เป็นเรื่องกฎกติกา ฉะนั้นถ้าพระเป็นชาวพุทธเรื่องนี้มันเป็นสมบัติพื้นฐานของชาวพุทธอยู่แล้ว

ฉะนั้นเวลาหลวงปู่มั่นท่านเทศน์ ท่านจะเทศน์ถึงเรื่องทำสมาธิเลย ทีนี้การทำสมาธิมันจะต้องมีอุบาย อย่างเช่น การปฏิบัตินี่อุบายวิธีการมันหลากหลายใช่ไหม คนเรามันมีอุปสรรคอะไร ทุกคนก็จะฟัง พอคนที่ทำสมาธิได้แล้วก็เป็นปุถุชน เป็นกัลยาณปุถุชน แล้วท่านจะพูดถึง โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล มันอยู่ที่ระดับของจิต จิตของใครอยู่ในระดับไหน อย่างเช่น ปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล คนที่ผ่านแล้วนี่รู้หมด

เราไปฟังทางวิชาการที่เรารู้อยู่แล้ว เราก็นั่งฟังเฉยๆ แต่ถ้าเรามีความลังเลสงสัยอะไร หรือทางวิชาการเราทำมาได้แค่นี้ แล้วจะต่อยอดอย่างไร เราจะรอตรงนั้น จิตของคนฟังจะรออยู่ตรงนั้น รอหลวงปู่มั่นเทศน์มาระดับนี้ พอขยับเข้ามาใกล้ถึงตรงที่เรามีความจำเป็นนะ โอ้โฮ! มันตั้งใจเลยนะ กลัวพลาดไง กลัวจับไม่ติดไง พอพูดถึงระดับนั้นปั๊บ นี่ พระกรรมฐานที่ฟังเทศน์เป็นเขาจะฟังเทศน์กันอย่างนี้ จากพื้นฐานมา

อย่างคนที่จะเป็นโสดาบันนะ ก็รอจากปุถุชน กัลยาณปุถุชน คือทำสมาธิคล่องแคล่ว กัลยาณปุถุชนพอไปเห็นกาย ก็คือเห็นนิมิตนี่แหละจะเป็นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เพราะจิตมันเห็น จิตมันมีการกระทำ แล้วท่านจะอธิบาย พอคนฟังถึงตรงนี้ปั๊บ ฟังเอาอุบาย ฟังเอาอาวุธที่จะไปฆ่ากิเลส นี่พระป่าเขาฟังเทศน์กันอย่างนั้น ท่านจะเทศน์ถึงอุบาย ถึงวิธีการ ถึงผลสรุป พอผลสรุปจบปั๊บขั้นต่อไปก็เป็นสกิทาคามรรค คนเหล่านั้นก็จะฟังเริ่มฟัง เพราะเราผ่านโสดาบันมาแล้วเรารู้ เรารู้อยู่แล้ว เราทำได้แล้ว เพียงแต่หลวงปู่มั่นท่านเทศน์ให้คนที่ยังทำไม่ได้ เทศน์ให้ประชาชนส่วนใหญ่ ไอ้คนที่ได้อยู่แล้วมันก็ฟังเป็นวิหารธรรม

อย่างเช่น หลวงตาท่านเทศน์ที่วัดป่าบ้านตาดนะ หลวงปู่ลีท่านนั่งฟังอยู่ด้วย หลวงตานี่พวกเราเชื่อมั่นกันว่าท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงปู่ลีก็เป็นพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์ก็เทศน์ให้พระอรหันต์ฟัง พระอรหันต์ต้องสอนพระอรหันต์อีกไหม พระอรหันต์ไม่ต้องสอนพระอรหันต์อีกแล้วนะ แต่หลวงปู่ลีท่านก็นั่งฟังอยู่ด้วย พอเทศน์จบ “เนอะ ธรรมลีเนอะ เนอะ” เหมือนกันไหม มีอะไรขัดแย้งไหม นี่ไง ความจริงกับความจริง แต่เวลาเทศน์มันเป็นเรื่องของสังคมใช่ไหม เวลาเทศน์คือรวมพระทั้งวัด พระอรหันต์ก็มาฟังพระอรหันต์เทศน์ พระอรหันต์ก็เทศน์ให้กับผู้ที่ปฏิบัติขึ้นมา

นี่พูดถึงการฟังเทศน์ มันจะเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ฉะนั้นในการปฏิบัติ เริ่มต้นควรทำอย่างไรต่อไป ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วมันเห็นผลขึ้นมา เราก็มีสติ มีปัญญา มีความมั่นคงทำต่อเนื่องไป ทำต่อเนื่องไปเห็นไหม อย่างที่ว่าสิ่งที่เห็น

ถาม : ๑๑๕. อันนี้ไม่น่าจะตอบ ๑๑๕. นะ น้ำจะท่วมประเทศไทย (หัวเราะ)

กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมได้ยินว่าดอกเตอร์คนหนึ่ง ท่านได้ปฏิบัติมาในระดับ

ที่ว่าสามารถหยั่งรู้ได้ในหลายๆ เรื่อง และท่านได้ออกมาเตือนชาวไทยว่าจะเกิดน้ำท่วมขึ้น และจะมีผู้สูญเสียเป็นจำนวนมาก เหตุดังกล่าวทำให้ผมรู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก ไม่ค่อยมีสมาธิในการดำเนินชีวิต เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะบ้านและญาติอยู่ในพื้นที่ที่จะประสบภัย

จึงใคร่อยากกราบขอความเมตตาจากหลวงพ่อว่าจะปฏิบัติตนเช่นไร ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารในเรื่องดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา หรือว่าให้ดำเนินชีวิตแบบปกติ แล้วถ้าเกิดขึ้นจริงแล้วเราไม่ได้แก้ไข จะถือว่าเราประมาทหรือไม่ เพราะหลายๆ คนบอกว่า แล้วแต่เวรแต่กรรม ส่วนผมคิดว่าถ้าเราไม่ประมาท เราน่าจะแก้ไขก่อน ไม่ใช่แล้วแต่เวรแต่กรรม

ท้ายนี้ขอกราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพในธรรม

หลวงพ่อ : ใช่ เวลาพระพุทธเจ้าจะไปปรินิพพานนะ “ภิกษุทั้งหลายเธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย” พิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาท ความไม่ประมาทใช่ไหม เราก็ดูแลของเรา นี่สิ่งนี้นะถ้าเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ด้วยความไม่ประมาทใช่ไหม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว” ถ้าเราเป็นชาวพุทธนะ เราต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรมคือสัจธรรม ตามสัจธรรมเห็นไหม พระพุทธคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคือธรรมะ ธรรมะตามความเป็นจริง พระสงฆ์คือพระอริยสาวกที่จะชี้นำเรา แต่อันนี้เขาบอกว่าน้ำจะท่วมโลก แล้วเราก็ไปตื่นเต้น เขาเรียกว่าถือมงคลตื่นข่าว

การถือมงคลตื่นข่าว ความทุกข์ยังไม่มาถึงเรา เราไปเอาความทุกข์มายัดเยียดใส่ใจเราก่อนนะ พอน้ำจะท่วม ไม่ทำมาหากินเลยนะ คอยจะปิดประตูกันน้ำอยู่นั่นน่ะ เราทำมาหากินของเรา สิ่งที่เราไม่ประมาทก็คือไม่ประมาท ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เราจะบอกว่าไอ้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องปกติ ไปดูทางภาคใต้นะ เขาทำหนังสารคดี ไอ้พวกชายหาดริมฝั่งโดนซัดไปมากมายมหาศาลเลย อย่างนี้น้ำท่วมโลกไหม ตามชายฝั่งนี่นะ น้ำมันจะซัดหายเข้าไปทีหลายๆ เมตร บ้านนี้พังลงมา เพราะว่าเราอยู่กันเห็นไหม คนที่เขาจะป้องกันเขาก็ทำของเขา ไอ้คนพื้นที่มันก็ต้องมีปัญหาไป นี่มันเป็นข้อเท็จจริง

เราจะบอกว่า คำว่าถือมงคลตื่นข่าว เราวิตกกังวลไปหมดล่ะ ถ้าเราเป็นชาวพุทธเห็นไหม สัจธรรม ใช่ เราเป็นปัญญาชนใช่ไหม เราก็รู้เหตุรู้ผลกันอยู่แล้วว่ามันจะเป็นอย่างไร เราก็ดูแลของเรา เราก็ป้องกัน ไม่ต้องไปตื่นเต้น แต่นี่มันตื่นเต้นจนไม่เป็นสมาธิ ไม่ต้องทำงานเลย กรณีอย่างนี้เหมือนกับหมอเลย คนไข้มาตรวจใช่ไหม คนไข้ไม่มีทางรอดแล้ว หมอบอกว่าอย่างไรรู้ไหม “ไม่เป็นอะไร เดี๋ยวก็หายแล้ว” หมอต้องให้กำลังใจคนไข้ใช่ไหม โอ้ยพอคนไข้มาตรวจนะ เป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย พรุ่งนี้ตาย ไม่ทันถึงพรุ่งนี้เลย มันตายเดี๋ยวนั้นเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน น้ำจะท่วมโลก มันจะท่วมจริงหรือเปล่า แล้วพูดออกไปมันกระเทือนกันไหม มันก็กระเทือนกัน นี้น้ำจะท่วมโลกหรือไม่ท่วมโลก มันจริงหรือไม่จริงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะนี้มันเกินไป ประสาเราจะบอกว่า ไม่ท่วม ทำไมชายฝั่งมันโดนน้ำกัดเซาะไปล่ะ ดูสิ ตอนนี้ฝนตกหนักมากเลย ดินถล่มมา น้ำไม่ทันท่วมโลกหรอกภูเขามันถล่มมาทับบ้านน่ะตายเป็นร้อย ประสาเรานะมันอยู่ที่เวรที่กรรม

การออกมาพูด พูดแล้วมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์นะ ครูบาอาจารย์เราท่านจะไม่พูด มันจะเป็นจริงไหมล่ะ คำว่าโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้มันแปรสภาพ มันไม่มีอะไรคงที่ เราจะบอกว่าไม่ท่วม เราอยากจะพูดอย่างนี้จริงๆ นะ เราจะบอกว่า ไม่ท่วม! เราจะพูดอย่างนั้นเลย ทีนี้ถ้าบอกว่าไม่ท่วม แล้วเอาอะไรมาการันตีล่ะ เอาอะไรมารับรองล่ะ มันจะท่วมบางส่วน เพราะความเปลี่ยนแปลง คำว่าอนิจจัง

เราปลูกบ้านไว้หลังหนึ่ง ถ้าบ้านหลังนั้นมีคนดูแลรักษา บ้านหลังนั้นจะมั่นคงมาก เราปลูกบ้านไว้ ๒ หลังนะ บ้านหนึ่งมีคนอยู่ อีกบ้านหนึ่งปลูกทิ้งไว้ บ้านหลังที่ไม่มีคนอยู่นี่มันจะเสื่อมสภาพเร็วมาก โลกเห็นไหม โลกมันเป็นสภาวะแบบนี้ บ้านที่ปลูกแล้วมีคนอยู่ มันก็มีคนดูแลรักษา บ้านที่ไม่มีคนอยู่ มันจะเสื่อมสภาพ โลกมันก็เหมือนกับบ้านที่ไม่มีคนอยู่ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แล้วจะบอกว่าน้ำไม่ท่วม คำว่าไม่ท่วมของเรานี้ มันเปลี่ยนแปลงไป กว่ามันเปลี่ยนไปนี่มันอีกกี่สิบปี เป็นร้อยๆ ปี โลกเรานี่ กี่ร้อยล้านปี คำว่ากี่ร้อยล้านปี แล้วชีวิตเราอยู่กี่วัน นี่ถ้าพูดถึงหลักความจริงนะ ฉะนั้นสิ่งที่บอกว่าน้ำจะท่วมนี้ เราเห็นมาหลายรอบแล้ว หลายรอบที่ว่า เมื่อก่อนนะเป็นสิบถึงยี่สิบปีมาแล้วเนอะ พ.ศ. ๒๕๐๐ หรือไงนี้ ที่เขาว่าน้ำจะท่วม จนเราสงสารนะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตนี่แหละ พวกไฟฟ้าฝ่ายผลิตหลายคนนี่ลาออกจากงาน แล้วไปซื้อที่แถวทางเชียงใหม่กัน อยู่บนเขา สละหน้าที่ของตัวเองเลยนะ ลาออกจากงานแล้วไปซื้อกัน ไปซื้อที่ทางเชียงใหม่ เพราะน้ำมันจะไม่ท่วม ตอนนี้เสียดายไหม ลาออกจากงานมานะ เราเห็นอย่างนี้มาหลายรอบ

ฉะนั้นสิ่งที่เขาเอามาพูด เราก็ดูแลรักษาของเราเท่านั้นล่ะ นี่พูดถึงเราไม่ถือมงคลตื่นข่าว เราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อสัจจะ เชื่อความจริง มันจะท่วมหรือไม่ท่วมเราก็ดูแลรักษาบ้านของเรา ถึงมันจะท่วมก็ท่วมด้วยกัน แต่เราก็จะบอกว่าไม่ท่วม ไม่ท่วม ไปดูเนเธอร์แลนด์สิ มันอยู่ใต้น้ำนะเว้ย เขากั้นเขื่อนไว้เลย พูดอย่างนี้เป็นโลกแล้วนะ เป็นวิทยาศาสตร์ พอเป็นวิทยาศาสตร์ไปแล้วมันจะออกไปนอกเรื่อง เราพยายามจะดึงกลับมาธรรมะ จะตอบไม่ให้พ้นจาก “ไม่ถือมงคลตื่นข่าว”

พระพุทธเจ้าสอนมาแล้วว่าไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว ให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเป็นพุทธมามกะ ให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เท่านั้น ถ้าไปถือผีถือสางสิ่งต่างๆ นี่เราไม่ใช่ชาวพุทธกันแล้วนะ เราไม่อยากจะพูดให้มันขาดไป เพราะอะไร เพราะพระที่มีความมั่งคงมันมีน้อย ถ้าอย่างนั้นพอถือมงคลตื่นข่าว ถือนอกจากพระรัตนตรัย คือขาดจากพระพุทธศาสนา นี่ถ้าเอากันเข้มๆ นะ พระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนั้นเลย ถ้าเอาเข้มๆ นี่ต้องถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านั้น ถ้าถือผีถือสาง ถือนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขาดจากพุทธมามกะ แต่นี่ถือดอกเตอร์ ดอกเตอร์พูด ตื่นใหญ่เลย

ไม่กลัว ไม่กลัวหรอก ไม่กลัวแล้วจะทำอย่างไร “แล้วอย่างนี้ไม่เป็นการประมาทหรือ” เราก็ไม่ได้ประมาท แต่เราเกิดที่นี่ เราเกิดในบ้านของเรา เราเกิดกับพ่อแม่ของเรา พ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติของเราก็อยู่ที่นั่น แล้วเราจะดูแลรักษาอย่างไร ถ้าเรารักษาได้เราก็รักษา ถ้าเรารักษาไม่ได้ การเคลื่อนย้ายการอะไร ถึงเวลามันเป็นไปเอง ไม่ต้องไปเอาทุกข์ในอนาคตมาเหยียบย่ำหัวใจในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันนี้ไปเอาทุกข์ในอนาคตไง เรื่องยังไม่เกิดเลย เอามาเหยียบหัวใจตัวเอง ไม่ใช่ชาวพุทธนะ ชาวพุทธนี่อยู่กับความเป็นจริง นี่ตอบแค่นี้

ถาม : ๑๑๖. หนูเริ่มบริกรรมพุทโธ ได้ ๔ วันแล้วค่ะ แต่มีพื้นฐานเคยนั่งสมาธิทุกวันเช้า ๑ ชั่วโมง เย็น ๑ ชั่วโมงค่ะ ปัจจุบัน นั่งสมาธิ ได้ ๔๕ นาที

เพราะปวดเท้า (นั่งขัดสมาธิ ๒ ชั้น) หนูจึงบริกรรมพุทโธๆๆ เร็วๆ ชัดๆ ดังๆๆๆ รู้สึกจิตไปอยู่กับพุทโธก็จะไม่ปวดแล้วก็รู้สึกปวดไม่มากขึ้นมาใหม่

หนูเคยฝึกบริกรรมยุบหนอพองหนอๆ เร็วๆๆๆ เพราะตอนนั้นหนูรู้สึกปวดขามากๆ จึงบริกรรมเร็วๆๆ หนูรู้สึกว่าพอจิตมันอยู่กับคำบริกรรมจะทนอาการปวดได้ แต่ถ้าเป็นวิธียุบหนอพองหนอบริกรรมแบบนั้น ผู้สอน(ฆราวาส)บอกว่าหนีทุกข์ค่ะ พอหนูมาฝึกบริกรรมพุทโธๆๆ พอปวด หนูก็บริกรรมให้เร็วขึ้น ชัดๆๆ ดังๆๆๆๆ ก็ทนปวดได้ดีค่ะ บางขณะก็ไม่รู้สึกปวด แต่กิเลสมันบอกหนูว่า ตะโกนดังๆๆ คนข้างบ้านจะแปลกใจว่าทำอะไร คือกลัวเสียงดังไปยังบ้านที่ติดกันค่ะ

แต่ปัญหาที่หนูอยากกราบเรียนถามคือ หนูเข้าใจว่า จิตมันทุกข์เพราะจิตมันไปรู้อารมณ์ ถ้าไม่รู้อารมณ์มันก็ไม่ทุกข์ค่ะ อย่างเราบริกรรมพุทโธ จิตมันไม่ไปรู้อารมณ์อื่น มันรู้อยู่กับพุทโธมันก็ไม่ทุกข์ค่ะ จึงอยากถามหลวงพ่อว่า หนูจะดูอะไรต่อไปคะ

และที่เห็นตัวรู้นั้น มันเป็นเพียงการแยกรูปนามเท่านั้นใช่ไหมค่ะ

หลวงพ่อ : อันนี้มันเป็น ๒ ประเด็นนะ ประเด็น ๑ ที่เขาบอกว่ายุบหนอ พองหนอ มาก่อน คำว่า ยุบหนอ พองหนอหรืออภิธรรมนี่ เขาบอกว่ามันเป็นวิปัสสนา คือใช้ปัญญา ไอ้พุทโธนี่มันเป็นสมถะ แล้วอย่างนี้พอมาพุทโธๆ แล้วมันดีขึ้นเห็นไหม พอไปถามอาจารย์เขา อาจารย์เขาก็ว่าหนีทุกข์ คำว่าหนีทุกข์ กับการวิปัสสนาเข้าไปเผชิญกับทุกข์ มันเป็นคนละกรณีกัน

ในการปฏิบัติ อย่างเช่นคนเรามีกำลัง มีสติปัญญา เราจะทำอะไรเราก็ทำได้ แต่คนที่ไม่มีกำลัง คนที่ป่วยไข้นอนอยู่นี่เขาจะทำอะไรได้ เขาทำอะไรไม่ได้หรอก ฉะนั้นสิ่งที่ว่าหนีทุกข์ ถ้าคนเจ็บไข้ได้ป่วย มันก็ต้องทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยหายก่อนใช่ไหม มันถึงจะมีกำลังขึ้นมา มันถึงจะทำสิ่งใดได้

นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธๆ เพื่อจิตสงบ มันไม่ใช่หนีทุกข์หรอก มันไม่ให้ทุกข์มันเกิด มันจะหนีทุกข์ไปไหนล่ะ เพราะว่าของอย่างนี้มันเป็นอนิจจัง พอจิตสงบมันก็ปล่อยได้ พอจิตคลายออกมามันก็ทุกข์อยู่อย่างนั้น ไม่ใช่หนีทุกข์หรอก แต่มันเป็นการฝึกใจ มันเป็นการฝึกให้จิตนี้มั่นคง ให้จิตนี้มีกำลังขึ้นมา เผื่อมันเจอสิ่งใดมันก็ต่อสู้ได้ อย่างเช่นพอพุทโธๆ แล้วทำไมความเจ็บปวดมันหายไป ความเจ็บปวดที่มันหายไปนี่มันยืนยันแล้วเห็นไหม

เวลาเราบอกว่า การต่อสู้กับเวทนามีอยู่ ๒ วิธี วิธีที่ ๑ คือการหลบ อย่างเช่น เรานี่ไม่มีกำลังอะไรเลย แล้วให้ไปแบกของ ๕๐๐-๖๐๐ กิโลนี้ไม่มีทางล่ะ เห็นคนเลี้ยงวัวไหม เขาอุ้มลูกวัวมาตั้งแต่เด็กๆ จนวัวโตเต็มๆ เขาก็อุ้มได้เพราะเขาอุ้มทุกวัน นี่ก็เหมือนกัน จิตใจเราไม่มีกำลังเราจะไปสู้อะไร มันเจอเวทนามันก็ไม่ไหวแล้ว ที่เราพุทโธๆ นี่เราหลบก่อน หลบสร้างกำลังก่อน เหมือนเขาไปอุ้มวัว เขาไปอุ้มทุกวันๆ จนอุ้มได้

อันนี้ก็เหมือนกัน หัดพุทโธๆ ใครว่าจะหลบๆ ไอ้อย่างนี้ในพระไตรปิฎก หลวงปู่มั่น ครูอาจารย์ท่านบอกว่า ในพระไตรปิฎกไม่ได้บอกไว้ ในพระไตรปิฎกบอกแค่ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่วิธีกระทำมันอีกเยอะแยะ ไอ้ที่พุทโธๆ นี่คือทำสมาธิจะให้จิตมันสงบ นี่เขาบอกว่าในพระไตรปิฎกมันไม่มี พระไตรปิฎกไม่ได้บอกไว้ ถ้าพระไตรปิฎกบอกไว้นะ พระไตรปิฎกต้องมีถึง ๒๐ ตู้ ไม่ใช่มีตู้เดียวนะ ต้องมี ๒๐ ตู้เลยล่ะ เขียนหมดเลยนะ จะเริ่มต้นนั่งสมาธิต้องเตรียมตัวอย่างนั้น มันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก

เราจะบอกว่า สิ่งที่เขาบอกว่ามันเป็นการหนีทุกข์ พอบอกว่าหนีทุกข์ปั๊บพวกเราก็ ๑.การหนีทุกข์ ๒.สมถะไม่เกิดปัญญา ๓.สมถะเป็นการไม่เผชิญความจริง มีแต่คนติเตียนไปหมดเลยนะ ถ้ามีคนติเตียนนะ นั่งอยู่นี่ให้บอกเลย เงินในกระเป๋านี่เอามาให้เราหมดเลย เพราะเงินมันไม่ดี เงินมันทำให้คนเสียคนนะ ใครมีเงินมากๆ นี่เสียคนหมดล่ะ เดี๋ยวมันจะเอาเงินไปเที่ยวเตร่ เอาเงินมาให้เราหมดเลยแล้วกลับบ้านไป ไม่มีใครยอมสักคน เงินของใครก็ไม่อยากให้ใครทั้งนั้นแหละ เงินของเรา

สมถะหรือสมาธินี่เปรียบเหมือนเงินทุน ถ้าไม่มีทุนจะทำสิ่งใดไม่ได้เลย แล้วมึงปฏิเสธเงินได้อย่างไร ปฏิเสธสมาธิได้อย่างไร ปฏิเสธสมถะได้อย่างไร เงินนี่นะ ถ้าคนฉลาดเอาเงินไปทำประโยชน์ได้มหาศาลเลย เงินถ้าคนโง่เอาไปใช้นะ คนโง่นี้เอาไปทำลายตัวเองเลย แล้วก็บอกว่าเงินไม่ดี เงินไม่ดี ก็มึงโง่! มึงไม่รู้จักใช้เงิน เงินมันก็ไม่ดี ตัวมึงน่ะไม่ดี ไม่ใช่เงินมันไม่ดี ไอ้ตัวคนพูดน่ะมันไม่ดี ถ้าตัวคนพูดมันดี แล้วทำไมมึงใช้เงินไม่เป็นล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน สมถะไม่ดี สมาธิไม่ดี แล้วมาปฏิเสธเงิน มันเลยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ในโลกนี้คนที่ปฏิเสธเงินแล้วบอกว่าตัวเองเป็นเศรษฐี หรือบอกว่าเขามีต้นทุนไปทำธุรกิจ โยมเชื่อไหม นี่ก็เหมือนกันบอกว่า สมถะไม่ดี

ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล ปัญญานะ ไม่มีสมาธิ นี่มันปฏิเสธเงินไง ปฏิเสธเงินไปแล้ว แล้วไปทำธุรกิจในท้องตลาดได้อย่างไร แล้วก็บอก อู้ย ภาวนาดี ภาวนาเก่ง ภาวนายอดเยี่ยม มารยาสาไถ หลอกได้แต่สังคมโลกไง แต่หลอกผู้รู้จริงไม่ได้! หลอกศากยบุตรพุทธชิโนรสไม่ได้!

ฉะนั้นนี่เป็นคำที่เขาเขียนมาเลย บอกว่าเป็นการหนีทุกข์ นี่เขาเขียนมาเลยนะ ผู้สอนบอกว่า “ไอ้พุทโธๆ เป็นการหนีทุกข์ค่ะ” เวรกรรม! ตัวเองก็บอกว่าพุทโธๆ แล้วมันหายปวด ก็รู้ๆ อยู่ แล้วก็เอาไปถามอาจารย์ พออาจารย์บอกว่า เอาเงินมาให้เรานะแล้วเอ็งกลับบ้านไป นี่ไงหนีทุกข์ไง งงนะ เงินในกระเป๋าเราจะเอาไปให้เขาทำไมล่ะ เงินของเราคือประสบการณ์ที่เราปฏิบัติมา จริงไหม แล้วพอเราไปถามเขา เขาบอกว่าเราปฏิบัติมาไม่ถูก ก็เชื่อเขานะ นี่ไง เพราะเราถือว่าเป็นอาจารย์ของเรา แต่อาจารย์ของเราปฏิบัติไม่เป็นก็ได้ ความรู้ของอาจารย์สู้เราก็ไม่ได้

ฉะนั้นถึงบอกว่ากำหนดพุทโธๆ ไป เราเชื่อพระพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิ ปัญญาที่เกิดเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากกิเลส โลกียะคือโลก ปัญญาเกิดจากโลก ถ้าจิตสงบแล้วจะเกิดโลกุตตระ ปัญญาเกิดจากสมาธิ ปัญญาเกิดจากจิตที่ไม่มีกิเลสเห็นไหม

ถาม : หนูเข้าใจว่าจิตมันทุกข์ จิตมันทุกข์เพราะจิตมันไปรู้อารมณ์ ถ้าไม่รู้อารมณ์มันก็ไม่ทุกข์

หลวงพ่อ : ถ้าไม่รู้อารมณ์มันก็ทุกข์ แต่ทุกข์ละเอียด ถ้าไปรู้อารมณ์ใช่ไหมมันก็เป็นความทุกข์หยาบๆ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส มันก็มีความทุกข์ของมันนะ ความผ่องใสคู่กับความเศร้าหมอง ถ้าเรามีความผ่องใส ดูสิความทุกข์ของมหาเศรษฐี มหาเศรษฐีมีเงินนะเยอะมากเลย แล้วก็เป็นทุกข์นะ เป็นทุกข์ว่าเงินนั้นมันไม่งอกเงย พอเงินมันเสื่อมค่าเห็นไหม มันเสื่อมค่าทุกๆ วันแล้วจะทำอย่างไร นี่ก็เหมือนกัน พอมันผ่องใส จิตมันไม่เสวยอารมณ์ มันก็ทุกข์ ทุกข์อันละเอียด ทุกข์อย่างหยาบก็คือทุกข์ที่บริหารจัดการ ทุกข์ที่แสวงหามันมา หามาเก็บรักษาก็ทุกข์

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตปล่อยวางมันไม่มีอารมณ์มันก็ทุกข์ เพราะอะไร เพราะมันยังไม่ได้แก้ไขอะไรเลย นี่ไงที่เราพูดถึงว่า สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ นี่จิตมันจะปล่อยวางเป็นสมาธิดีขนาดไหน มันก็ทุกข์ แต่เรามีความสุขไง พอเป็นสมาธิเราก็พอใจ เราก็ว่าสุขไง แต่ความจริงมันก็ทุกข์เห็นไหม นี่ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆ จะเป็นแบบนี้ พอหนีเสือมามันก็นึกว่ามันมีความสุขไง มันจะไปเจอไอ้เข้ข้างหน้า ทำสมาธิมาแล้วโอ้โฮมีความสุขมากเลย นี่ข้อเท็จจริง ฉะนั้นบอกว่า ไม่ทำสมาธิก็ไม่ได้ ไม่ทำสมาธิโลกุตตรธรรมไม่เกิด!

เราถึงบอกว่าคนที่ปฏิเสธสมาธิ มันถอนรากถอนโคนตัวมันเอง มันถอนคุณสมบัติที่จิตนี้จะเป็นอริยภูมิของใจมันทิ้งหมดเลย แล้วมันยังอวดว่าเป็นชาวพุทธอีก ฉะนั้นสิ่งที่ทำสมาธิ กระดาษน่ะกินไม่ได้นะ แบงก์กินไม่ได้หรอกมันเป็นกระดาษ แต่แบงก์ไปแลกเป็นอาหารมา อาหารอร่อยมากเลย แต่กระดาษกินไม่ได้ แต่ไม่มีกระดาษไปแลกอาหารมา ก็ไม่มีอาหาร เรามีกระดาษไปแลกอาหารมา กระดาษกินไม่ได้ สมาธิฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่สมาธินี้เป็นแบงก์เป็นกระดาษที่จะไปแลกเปลี่ยนเอาปัญญามา

ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีกระดาษ เอ็งจะไม่มีอาหารกินกัน แล้วเขาก็ปฏิเสธกระดาษกันนะ แล้วก็ โอ้โฮว่างๆ โอ๊ยวิปัสสนาเป็นสติปัฏฐาน โกหก! ไปโกหกไอ้พวกไม่รู้น่ะ ไอ้คนรู้เขาไม่เชื่อหรอก นี่พูดถึงว่ามันหนีทุกข์ไง มันจะไปหนีทุกข์ที่ไหน มันสร้างสมให้เข้มแข็งขึ้นมาก่อน พอเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว มันอยู่ที่ครูบาอาจารย์เขาจะประคองกัน เพื่อจะให้ปฏิบัติกัน เพื่อจะให้หลุดพ้น ไปเป็นศาสนทายาท เป็นทายาทของศาสนาเพื่อจะจรรโลงศาสนาต่อไป

ครูบาอาจารย์ของเรานี่ พยายามจะสร้างทายาทศาสนธรรม เพื่อจะจรรโลงศาสนา มีครูบาอาจารย์องค์ไหนบ้างที่จะไม่พยายามสร้างผู้ที่จรรโลงศาสนาต่อไป สิ่งนี้มันจึงเกิดขึ้น ถ้าเราไม่สร้างไม่ทำกันมันจะไม่เกิดขึ้นมา มันจะไม่มีของมัน

ถาม : ๑๑๙. การถือศีล ๘ โยมมีคำถามจะกราบเรียนถามหลวงพ่อดังนี้ ๑ อุโบสถศีล กับศีล ๘ ต่างกันอย่างไร อย่างไหนได้อานิสงส์มากกว่ากันคะ จำเป็นหรือไม่ต้องไปรักษาศีล ๘ ที่วัด ถ้ารักษาศีล ๘ ที่บ้านหรือที่ทำงานจะได้ไหมคะ

หลวงพ่อ : ได้!

ถาม : การปฏิบัติธรรมดังต่อไปนี้ แบบไหนได้ผลเร็วกว่ากันคะ

๑. ปฏิบัติแบบสมถะจนได้สมาธิระดับฌาน แล้วค่อยเข้าวิปัสสนา

๒. ปฏิบัติแบบวิปัสสนาก่อนแล้วค่อยมาทำแบบสมาธิ

๓. การปฏิบัติแบบสมาธิสลับกับวิปัสสนา สลับกันไปเรื่อยๆ

๔. ปฏิบัติแบบวิปัสสนาล้วนๆ

หลวงพ่อ : ๑ ๒ ๓ ๔ นี่ ปฏิบัติแบบนี้นะ ปฏิบัติแบบในกระดาษนี่จะไม่ได้อะไรเลยล่ะ นี่ปฏิบัติแบบในกระดาษไง เพราะคำว่าในกระดาษคือทฤษฎี แล้วเราไปติดทฤษฎีนะ มันจะติดของมันไปหมด แต่ในการปฏิบัตินี่มันอยู่ที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า เวลาปฏิบัติของเราแต่ละคนนะ มันจะมีอุปสรรค อย่างเช่น วันนี้ปฏิบัติดีมากเลย แล้ววันต่อไป ไปเจอผลกระทบอะไรอย่างนี้ไม่ลงเลย

เห็นไหมในการก้าวเดิน เดินจงกรมอย่างช้า เดินจงกรมอย่างเร็ว มันก็อยู่ที่อารมณ์กระทบ พอจิตเราดีขึ้นมา พอจิตเราปฏิบัติมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา พอมันเห็นสิ่งใดนะ เวลาใครภาวนาแล้วจิตดีนะ จะบอกเลยนะ ในโลกนี้จะไม่มีอะไรมาทำลายจิตฉันได้เลย โอ้ฉันนี่เก่งมากเลยนะ แต่ถ้าไม่รักษาไว้พอมันเสื่อมนะ แม้แต่ไม้จิ้มฟันมันก็สงสัยแล้ว ไม้จิ้มฟันมามันก็กลัวแล้ว แต่ถ้าจิตมันดีนะ มันบอกเลย โอ้ยในโลกนี้นะจะไม่กลัวอะไรเลย พอจิตมันเสื่อมนะ ไม่ต้องไปกลัวหรอก ตัวมันเองมันยังกลัวตัวมันเองเลย

การปฏิบัติอย่างนี้นะมันจะไม่มีกฎ จะปฏิบัติอย่างไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่ความถนัด เรื่องความถนัดเห็นไหม ความถนัดด้วย แล้วเรารักษาของเราด้วย ฉะนั้นจะเอาอะไรเป็นกฎตายตัวไม่ได้ อย่างเช่น คนที่หาช่องทางของตัวเห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่า เวลาท่านอดอาหารนี่มันจะภาวนาดี แต่ถ้าท่านอดนอนน่ะไม่ได้เลย สมองมันตื้อ ปัญญามันไม่สะดวกเลย แต่บางคนนะอดนอนนี่ดีมากเลย

การอดนอนนี้แก้ง่วงนอนได้ แต่พวกเราบอกการอดนอนจะแก้ง่วงนอนได้อย่างไร คนง่วงนอนก็ต้องนอนให้มันเต็มที่เลย มันถึงจะหายง่วงนอน ก็นอนอีก ๒ ชาติ ยิ่งนอนยิ่งอยากนอนต่อไป แต่ถ้าเวลามันจะนอนนะ ลุกนั่งใหม่ๆ จะง่วงมาก เพราะอดนอนเนสัชชิกนี่เราทำมาบ่อย ตอนปฏิบัติโดยปกตินะ ทุกวันพระไม่เคยนอน วันพระนี่ถวายพระพุทธเจ้า เนสัชชิกตลอด แล้วพอปฏิบัติเริ่มต้นนะ ไม่นอนตลอดเลย ไม่นอนเป็นหลายๆ เดือนเลย แล้วไม่กินข้าวด้วย อดทั้งนอน อดทั้งอาหารด้วย แล้วก็บอกว่า โอ้โฮ!อย่างนี้มันทำเกินไป มันทำให้ร่างกาย... ทำให้เกินไปนี้ ร่างกายมันไม่เกินไปหรอก เราจะเอาใจเราให้อยู่ได้ไง

นี่ถึงว่า การปฏิบัติแบบไหนจะเร็วหรือไม่เร็วนี่ จิตของคนน่ะเดี๋ยวเจริญ เดี๋ยวเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญไง เดี๋ยวอารมณ์ก็ดี เดี๋ยวอารมณ์ก็ร้าย คือว่าจิตมันไวเกินไป อุปสรรคของจิตมันมีมากเกินไป แล้วจะบอกว่าจะทำแบบนั้นๆ มันเป็นทฤษฎีข้างนอก มันไม่ทันกิน! มันไม่ทันหรอก ฉะนั้นมันต้องปฏิบัติทั้ง ๔ วิธีนี้เลย วนไปวนมาไง เขาเรียกอุบายพลิกแพลง ถ้าทำอย่างนี่ปั๊บนะวันนี้ดีมากเลย พอทำๆ ไปกิเลสมันรู้ทันนะมันดักหน้าแล้ว ให้ทำอย่างนี้นะๆ แล้วก็จบแล้ว ไม่ได้อะไรเลย

มันสร้างโปรแกรมไว้หมดไง ทำครบโปรแกรมแล้วก็หัวทิ่ม ทำจบทุกอย่างแล้ว ไม่ได้เรื่องไง ถ้าทำจบโปรแกรมแล้วไม่ได้เรื่องก็ต่ออีก เข้าโปรแกรมที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อัดไปเลย นี่ไง การจะชนะตนเองอย่างนี้ไง เพราะเราตั้งโปรแกรมของเราเองใช่ไหม กิเลสมันก็รู้ เพราะเราตั้งเอง แล้วมันหลอกเราว่าทำให้ครบ ครบแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ จะเอาอะไรต่อล่ะ ฉะนั้นจะบอกว่าถ้าปฏิบัติในกระดาษจะเป็นแบบนี้ ถ้าปฏิบัติตามความเป็นจริง จะเจอปัญหาใดก็ต้องแก้ไขไปตามนั้น

การถือศีล ๘ กับศีลอุโบสถมันต่างกัน ศีลอุโบสถหมายถึงวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ มันเป็นการนัดไง เห็นไหม สมัยโบราณเรานี่เวลาไปวัดไปวา ทุกวันพระเขาจะไปวัดกัน นี้ถืออุโบสถศีล แต่คนที่เขาถือศีล ๘ ทั้งชีวิตเลยนะ สมัยโบราณเรานะผู้เฒ่าผู้แก่เขาจะถือศีล ๘ ตลอดชีวิต นั้นเป็นศีลอุโบสถไหม ไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร เพราะไม่ใช่วันพระ วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ นี่เป็นถือศีลอุโบสถ ศีลอุโบสถก็ศีล ๘ นั้นแหละ ศีล ๘ กับศีลอุโบสถก็ศีลตัวอันเดียวกัน แต่มันเป็นโอกาสไง โอกาสของวันพระ

อุโบสถศีลได้บุญมากกว่าไหม ได้บุญ ได้บุญเพราะอะไร ก็เหมือนกับเราอยู่คนเดียว เรากินข้าวคนเดียวอร่อยไหม ถ้ามีพรรคพวกมากินด้วยกันอร่อยไหมล่ะ ได้พบกัน ได้เจอกัน ได้คุยกัน อันนี้เป็นเรื่องของโลกนะ

นี่พูดเรื่องของศีล ศีลอุโบสถกับศีล ๘ แตกต่างกันอย่างไร ศีล ๘ กับศีลอุโบสถ คือศีลเหมือนกัน แต่ต่างกันเพราะวันอุโบสถ ศีลอุโบสถเห็นไหม วันพระ ในพระสุตตันตปิฎกมีมากกว่านี้อีก บอกว่า ศีลอุโบสถ ศีล ๘ นี่ เทวดามาจดชื่อ ถ้าศีล ๑๕ ค่ำศีลอุโบสถเห็นไหม พระอินทร์มาจดเองเลยนะ ในอุโบสถมีเลยนะอยู่ในพระสุตตันตปิฏก อันนี้พูดถึงเรื่องศีล อันนี้จบแล้ว จบ เอวัง