เทศน์เช้า

จิตต้องพัฒนา

๑ ต.ค. ๒๕๔๓

 

จิตต้องพัฒนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

รักนี้ทุกข์นัก เวลาพลัดพราก เห็นไหม รักกันมาก นี่เวลารักกันมากแล้วพรากออกไปมันจะเจ็บปวดขนาดไหน ความเจ็บปวดนี่กรรม เราบอกกรรมคือความกระเทือนหัวใจดวงนั้น เราทำกรรมไว้แล้วเราจะไม่ยอมรับสิ่งใดก็แล้วแต่ เราสามารถจะหลบเลี่ยงได้ ไอ้ความหลบเลี่ยงนั้นมันเป็นวัตถุ วัตถุนี่มันแทนกันได้ หลบเลี่ยงได้

อย่างทำความผิดนี่กฎหมายจับไม่ได้ ยังไม่ต้องโทษเลย กฎหมายจับไม่ได้ หนีกฎหมายไป แต่กรรมที่กระทำไว้มันทรมานมาก ความสะเทือนหัวใจนี่กรรม หัวใจนี่เป็นใหญ่ แล้วหัวใจนี่ตายเกิด ๆ ตลอด หัวใจเราตายเกิด ๆ ฉะนั้นว่าความตายเกิดมันเวียนไป เวลาตายเกิดขึ้นมานี่ ทำไมเวลาเรายกมาวิปัสสนา เวลายกขึ้นมานี่ เราเกิดมาพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตา เรื่องสัจจะ เรื่องความเป็นจริง นี่มันเป็นคุณสมบัติที่จะมาชำระหัวใจ

แต่ถ้าไม่ชำระหัวใจมันก็เป็นอย่างนั้น มันเป็นจิตที่ว่าต้องตายเกิด ๆ แล้วเราจะไปปฏิเสธความจิตว่าตายเกิด ๆ ได้อย่างไร เราปฏิเสธอย่างนั้นเราก็เอาหลักศาสนานี่ไปสวมให้กับธรรมชาตินั้น ธรรมชาติอย่างนี้มันเป็นธรรมชาติของโลกไง ธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ความเปลี่ยนแปลงไป ธรรมชาติของธรรมมันเหนือธรรมนั้น เหนือการเกิดและการตาย เยาะเย้ยการเกิดและการตายได้เลยนะ ตายต่อหน้าก็ไม่กลัว ขณะตายสละตาย เห็นไหม

ดูอย่างพระที่ว่าโดนเสือกัดสิ วิปัสสนาอยู่นี่ ความที่โดนเสือกัด ไม่สนใจกับเสือกัดนั้นนะ ย้อนกลับมาดูสิ ระหว่างความตายที่อุกฤษฏ์กำลังจะตายอยู่นั้น มันไม่ไปสนใจกับความดิ้นรน ถ้าจิตมันออกมานะมันจะดิ้นรนเอาตัวรอด แต่นี้จิตไม่ออก ไม่ดิ้นรนเอาตัวรอด จิตดูแต่ว่าความกลัวตายนั้น ความกระเพื่อมของใจนั้น เพราะใจนั้นมันต่อหน้าเหตุการณ์อย่างนั้น มันพยายามจะดิ้นรนเอาตัวรอด กิเลสมันต้องแสดงออกไง

นี่แล้วผจญไปตรงนั้น เห็นไหม จิตไม่ออกหมายถึงว่า จิตอยู่ในวงงานความเพียรในวิปัสสนานั้น ถ้าจิตออกมานี่มันไม่คิดถึงวิปัสสนานั้น มันคิดถึงการเกิดและการตาย การเกิดและการตายนี่มันเป็นธรรมชาติของวัฏฏะ แล้วธรรมที่เป็นอนัตตา เห็นไหม ความที่เป็นอนัตตาเข้าไปนี่ มันจะเข้าไป ธรรมอันนี้มันเกิดเป็นช่วง ๆ หมายถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาก็มีสิ่งนี้ขึ้นมา ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เสื่อมไปนะ ความเสื่อมไป ธรรมะนี้เสื่อมไป อันนี้มันอยู่ชั่วคราว ยาที่จะมาแก้สิ่งนี้มีอยู่ชั่วคราว

แต่หัวใจที่เกิดตายนี้มันเป็นของไม่ชั่วคราว มันเป็นของจริงโดยตลอด ของจริงจริงแบบโลกเขา ถึงเวลาวิปัสสนาเข้าไป อย่างฝรั่งที่เขาว่านี่ มันต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งรู้สิ ต้องมีสิ่งควรจะรู้ ถูกต้องเลย เพราะเราไปเข้าใจว่าสรรพสิ่งเป็นธรรมชาติไง ทุกอย่างเป็นธรรมชาติหมด เวลาจิตเราวิปัสสนาไปมันก็เป็นธรรมชาติ

เหมือนเด็กนี่ เวลาเด็กอ่อนขึ้นมานี่ เราต้องศึกษาให้เด็กนี้ยืนอยู่ได้ โลกของเด็กเป็นโลกของความฝัน เด็กจะเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วสรรพสิ่งนี้ต้องตัวเองเป็นใหญ่ เป็นความต้องการของตัวเอง ตัวเองถ้าขัดจากความตรงนั้นก็จะมีความเสียใจ เห็นไหม ต้องทำให้จิตนั้นเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ให้ตั้งตัวเองได้ ให้ยอมรับสภาวะตามความเป็นจริงว่ามันจะไม่มีสิ่งใดเลยจะถูกใจจะพอใจเราทั้งหมด ไม่มีสรรพสิ่งใดเลยจะมาถูกใจ พอใจเรา มันต้องยอมรับสิ่งนั้น

พอยอมรับสิ่งนั้น ก็เหมือนกัน นี่ถ้าทำจิตให้ออกมารับรู้ ถ้าเราภาวนาไปโดยสภาวธรรม ไม่มีจิตตัวรับรู้นี่ มันก็เหมือนโลกของความฝัน โลกของเด็ก มันไม่มีสิ่งที่เก็บข้อมูล มันไม่มีสิ่งตัวเก็บความรับรู้ทั้งหมด เวลาข้อมูลที่เราเข้าไปนี่ ความสัมผัสมันจะตกผลึกลงตรงไหน นี่ชีวิตของเด็ก ไม่ยอมรับรู้ ปฏิเสธความเป็นจริง แต่อยู่ในโลกของความฝัน พอโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นนี่ ยึดมั่นถือมั่นเกินไป วัยรุ่นนี่ยึดมั่นถือมั่นนะ ไม่ยอมฟังใครแล้วจะเอาแต่ใจของตัวเอง นี่เวลากิเลสมันเกิดก็เหมือนเรานี่ แล้วก็วัยทำงาน พอวัยทำงานไป วัยของชรา เห็นไหม

นี่จะมองให้เห็นว่าสภาวธรรมไง สภาวะความของเด็กนี่มันยึดหมดเลยว่าเป็นของมัน สภาวะของวัยรุ่นนี่กิเลสมันก็รุนแรง รุนแรงมันเป็นไปประสามัน แล้วพอวัยของสภาวะทำงานนี่ มันโดนเหตุการณ์นั้นสอน สภาวะนั้นสอนเข้าไปนี่ประสบการณ์ตรง พอคนแก่ประสบการณ์เต็มที่แล้วนี่ มันว่าโลกเป็นอย่างนี้เอง สรรพสิ่งเป็นอย่างนี้เอง เข้าใจโลกเอง แล้วจะอะไรกระทบกระเทือนมามันก็จะปล่อยวางไปได้ แล้วตัวใดเป็นตัวรับรู้ล่ะ? จิตตัวนั้นเป็นตัวรับรู้มาตลอด เหตุการณ์ประสบขึ้นมา แต่ขนาดที่ว่านี้เป็นชีวิตหนึ่งชีวิตนะ ชีวิตหนึ่งชีวิตนี้มันเป็นวงจรของชีวิตที่เป็นสัจจะความจริง

แต่ถ้าวิปัสสนาอยู่นี่ วิปัสสนาหมายถึงว่าเวลาทำความเพียรอยู่ เราเข้าใจว่าเราศึกษาธรรมะมา แล้วเราเข้าใจว่า เราทำความเพียรอยู่ ให้ทั้งกัปทั้งกัลป์นะ มันก็เป็นเด็กอ่อนอยู่อย่างนั้น มันไม่พัฒนาขึ้นมาเป็นวัยรุ่นหรอก จากเด็กอ่อน จากวัยรุ่น จากวัยทำงาน จากวัยชรานี่ อันนี้มันเป็นสัจจะที่เราเห็นว่ามันพัฒนาขึ้นมา สิ่งที่พัฒนาขึ้นมามันถึงจะเข้าใจใช่ไหม จิตที่พัฒนาขึ้นมาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา เห็นไหม นี่วุฒิภาวะของใจ

เหมือนกัน วิปัสสนาหรือเราเข้าใจธรรมะนี่ เข้าใจแบบวัยรุ่น ก็เข้าใจแบบเริ่มต้นวิปัสสนาแล้วก็จมอยู่นั่น มันไม่พัฒนาขึ้นไป จมอยู่นั่น เข้าใจอย่างนั้น ยึดอยู่อย่างนั้น ยึดอาการอย่างนั้นเป็นใจ ใจอยู่กับอาการอย่างนั้น แล้วมันเป็นสัญญาอารมณ์ สัญญาอารมณ์เกิดขึ้น เห็นไหม อารมณ์ที่มันเป็นธรรมกับสัญญาความยึดของเรา เรายึดในสัญญาอารมณ์นั้น มันก็ปล่อยวางได้ตามสัญญาอารมณ์นั้น

มันเป็นสัญญาอารมณ์ที่เกิดขึ้น เป็นอารมณ์ที่มันสมมุติขึ้นมา มันเป็นความเราตบแต่ง มันเป็นปั้นแต่งขึ้นมา มันไม่เป็นความเป็นจริง มันถึงว่าเข้าใจอย่างนั้น ก็เลยเข้าใจว่าไม่ต้องมีสิ่งใดตัวรับรู้ สภาวธรรมมันเป็นตัวสภาวะรับรู้แล้วมันถึงปฏิเสธหลักความจริง เห็นไหม สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน สมถกรรมฐานนี่มันพัฒนาขึ้นเป็นวัยรุ่น พอวิปัสสนานี่วัยทำงาน วิปัสสนาจนเข้าใจแล้ว เป็นวัยของประสบการณ์ทั้งหมดที่เข้าใจตามความจริง แล้ววางไว้

นี่มันพัฒนาขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ถ้าไม่พัฒนา มันก็อยู่ตรงนั้น เกิดตาย ๆ นะ อย่างคนเรานี่ไม่เข้าใจเลย ใช้ชีวิตทางโลกเขา พออายุสัก ๖๐ – ๗๐ คนแก่ก็จะมาภาวนา นี่เวลาเรายึดมั่นว่าเรานี่อายุขัยเรามาก เราอายุ ๗๐ – ๘๐ ผ่านโลกมาเยอะ เราจะมีความเข้าใจมากกว่าคนอื่น แต่เด็ก ๆ มันเข้ามาภาวนาตั้งแต่ทีแรกน่ะ จิตเขาตั้งมั่นมานี่ หัวใจมันต่างกัน อายุขัยสำหรับโลกนี้เป็นอายุขัยสำหรับโลก

แต่ประสบการณ์ของธรรม เห็นไหม พระอะไรที่ในสมัยพุทธกาลน่ะ ที่ว่าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้วไม่มีงานทำ ไปขอร้องพระพุทธเจ้าว่าจะจัดอาสนะให้สงฆ์ เห็นไหม นี่เพราะอะไร? เพราะมันใจเต็มแล้ว ถึงจะเป็นเด็กอยู่แต่ใจเต็มแล้ว สามเณร ๗ ขวบขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาแล้ว นี่ใจนั้นเต็มแล้ว เด็กหรือไม่เด็กมันอยู่ที่ตรงหัวใจนั้นพัฒนาสุดของหัวใจนั้น สิ้นสุดของความเชื้อไขที่พาเกิดพาตาย

แต่อายุ ๗๐ – ๘๐ มาภาวนานี่ นั่นน่ะยิ่งกว่าเด็กอนุบาลอีก เฉพาะหัวใจน่ะ เพราะมันนั่งไม่ได้เลย หัวใจก็มีแต่ความคิดที่มันรู้อยู่แล้ว ความรู้อยู่แล้ว ความรู้นี่มันเดือดพล่านอยู่ในหัวใจ ความเดือดพล่านมันจะเอาความสงบมาจากไหน ความเดือดพล่านไม่มีความสงบอยู่แล้วในหัวใจ แล้วอายุขัยของร่างกายน่ะ ร่างกายมันใช้มากไปนี่ พอใช้มากไป พอผู้เฒ่าผู้แก่นี่ มันจะนั่งมันก็เจ็บปวดโอดโอยไปตลอด มันอ่อนทั้งหัวใจ อ่อนทั้งร่างกายนะ อ่อนในทางธรรม

แต่ในความยึดมั่นถือมั่นของใจนี่ นึกว่าตัวเองนี่มีอายุขัย มีความรู้มาก นี่ล่ะอนุบาล ยิ่งกว่าอนุบาลอีก เด็กอนุบาลมันยังรู้ตัวว่าเด็กอนุบาลนะ ไปโรงเรียนยังเรียนตัวอักษร เรียนอะไรเพื่อว่าจะจดจำขึ้นมา อันนี้ไม่ยอมรับครู ไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น ยอมรับแต่ความเป็นตัวเอง ถึงบอกเวลาที่ว่าเป็นอนุบาลไม่พัฒนาขึ้นมานี่ มันก็เป็นอนุบาลอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอนุบาลตลอดไป

แต่ถ้าพัฒนาขึ้นมานี่ มันถึงว่าพัฒนาของจิต นี่วุฒิภาวะของใจ อาจารย์ถึงได้พูดไง อาจารย์พูดบ่อยนะ เวลาท่านแสดงธรรมขึ้นมานี่ จะไม่หวั่นไหวกับสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่เข้าไปเห็นสิ่งนั้นน่ะ พอเข้าใจแล้วจะมากราบศพทีหลัง แล้วถ้าไม่เข้าใจ ใจนั้นจะเป็นอนุบาลไปในวัฏฏะเลย อย่าว่าแต่ภพชาติของมนุษย์นี้ ถ้าไม่เชื่อมันก็ไม่เชื่อตลอดไป แล้วก็ต้องเกิดตายตลอดไป จิตที่ตัวตายตัวเกิดนี่ มันมีอยู่แล้ว

นี่เวลาตายไปนะ ร่างกายก็ตายไป คุณงามความดี อกุศลหรือกุศลที่เกิดในหัวใจนั้นจะพาใจดวงนั้นไปเกิด ดีหรือชั่วไปเกิดตามสภาวะของเขา มันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แล้วเราจะปฏิเสธว่ามันไม่มีได้อย่างไร เพียงแต่ธรรมะเป็นธรรมที่ว่าเข้ามาคลี่คลายสิ่งนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้หมด รู้หมด รู้ถึงโลกนอกโลกใน โลกนอกก็รู้ โลกในก็รู้ เพราะว่าเป็นสัพพัญญู รู้ไปทั้งหมดเลย

แต่สาวกะนี่รู้แล้วแต่จริตนิสัย อำนาจวาสนาบารมีของแต่ละดวงใจทำมา แต่เข้าใจเรื่องของจิตดับหมด ดับอวิชชา ดับทั้งหมด ศาสนานี้ถึงจะเป็นเครื่องที่บอกถึงชีวิตไง ศาสนานี้อธิบายเรื่องชีวิตได้ทั้งหมด เรื่องการเกิดและการตาย อธิบายจนทำให้ดับ ดับสิ้นทั้งหมด เป็นบรมสุขของหัวใจดวงนั้น

อันนี้ถึงว่าเป็นที่พึ่งของเรานะ รัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราถึงต้องนึกขึ้นมาให้ได้ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก นึกขึ้นมามันก็มีที่เกาะที่เกี่ยว เวลาเร่ร่อนไปเร่ร่อนไป ถึงเวลาจะตายขึ้นมาแล้วสลดสังเวช มันจะตายขึ้นมานี่ มันมีแต่ความยึดมั่นถือมั่นนี่ พลัดพรากออกไป มีแต่ความทุกข์นะ เศร้าหมองไปตลอดเวลา แต่ยังดีที่ว่าตัวเองมีวุฒิภาวะทางใจ เข้าใจเรื่องนี้ ถึงจะเศร้าหมองมันก็เป็นเศร้าหมองที่พอทนได้ พอทนได้ไง

แต่ถ้าเศร้าหมองทนไม่ได้นะ มันจะกระวนกระวาย จะรั้งไว้อย่างไรมันก็รั้งไว้ไม่อยู่หรอก รั้งไว้ไม่ได้ เราเกิดมาแล้วเราต้องตายทั้งหมด เพียงแต่ตายตอนไหนเท่านั้นเอง ฉะนั้นเราถึงเป็นผู้ไม่ประมาท หาที่พึ่งไว้ ๆ ทุกข์มันทุกข์ทุกคน บวชเป็นพระมานี่ เขาว่าไม่ทุกข์ บวชเป็นพระมาคิดว่ามาเสวยสุขนะ บวชเป็นพระมามันก็ทุกข์เพราะหัวใจมันมีเหมือนกัน ทีนี้บวชเป็นพระมาก็ต้องมาแก้ไข เห็นไหม สภาวะไหนก็ทุกข์เหมือนกัน เพียงแต่มันสภาวะของนักรบ พระนี้นักรบ เวลาทั้งหมดเข้าเผชิญกับการวิปัสสนาชำระกิเลสทั้งหมด

อย่างเรานี้อาศัยให้ทานก่อน รักษาศีล ทีนี้มันพออาศัยให้ทานก่อน เห็นไหม มีศีล มีภาวนา มันก็มีหน้าที่การงาน หน้าที่การงานก็ทุกข์ มันทุกข์สองต่อสามต่อ แล้วพอหัวใจจะพลัดพรากก็ทุกข์ นี่มันอยู่ในวงการของทุกข์ ถ้าเราเข้าใจตามทุกข์จริง มันจะแก้ไขได้ เราหาเหตุเจอแก้ไขได้ ถ้าไม่มีเหตุเราจะไปแก้ไขที่ตรงไหน

สภาวะการเกิดและการตายนี้เป็นทุกข์อันของจริง สภาวะทุกข์ที่เราประสบอยู่นี้เป็นสภาวะรอง แล้วสภาวะรองนี่มันเป็นเพราะยึดมันถึงได้ทุกข์ ถ้าคนยึดน้อยมันก็ทุกข์น้อย คนยึดมากมันก็ทุกข์มาก คนที่เขาเล่นของ เห็นไหม เล่นของอะไรที่เขารักมากนี่ เขาจะยึดอันนั้นมาก เวลาพรากออกไปเขาจะมีความทุกข์มากเลย ถ้าคนที่ไม่เล่น เขามีของมีวัตถุชิ้นเดียวกัน ความยึดมันน้อยกว่า

นี่ทุกข์อย่างนั้นทุกข์จรมา แล้วคำว่ายึด ๆ นี่ ถ้าเราเข้าใจทั้งหมดเลย เราก็ไม่ยึดเลย พอไม่ยึดเลยมันก็ปล่อยไปได้ ยึดน้อยที่สุด ทุกข์น้อยที่สุด ยึดมากที่สุด ทุกข์มากที่สุด อันนี้ทุกข์เพราะยึด ทุกข์จรมา ทุกข์จริงนี่การเกิดและการตาย ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ แต่ทุกข์จรมานี่มันปฏิเสธได้ ปฏิเสธได้ด้วยความเข้าใจ ด้วยความศึกษาแล้วเข้าใจ มันไม่ได้ปฏิเสธหรอก มันเข้าใจแล้วมันปล่อยไปเองโดยธรรมชาติเลย เห็นไหม ทุกข์เหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องหาที่พึ่งของเรา เอวัง