เทศน์เช้า

มรรค

๑๗ ก.ย. ๒๕๔๓

 

มรรค
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ทำความสงบ จิตนี้สงบมาก ตัวนี้หายหมดเลย พอตัวนี้หายหมดเลยนี่ แล้วเขาไม่ทำอะไร เขาจะรอแต่มรรค เขาว่าเขาจะรอสร้างมรรคขึ้นมาไง ตามตำรา อ่านตำรามา ครูบาอาจารย์ว่า “ให้เราสร้างมรรคขึ้นมา” แล้วพอภาวนาไป มีความรู้สึกอยู่แต่ตัวนี่หายหมด ๆ แล้วรอสร้างมรรค เราบอกว่า “อันนี้มันเป็นมรรคอยู่แล้ว” เขาทำถูกอยู่ แต่ด้วยความเข้าใจผิดของเขา ทำให้เขาไม่ก้าวเดินไปข้างหน้า พอจิตเขาสงบขึ้นมานี่ เขาจะรอว่าสร้างมรรคขึ้นมา ให้หามรรคขึ้นมา มีมรรคขึ้นแล้ว มรรค ๘ มันถึงจะได้วิปัสสนา เขาไม่ยกวิปัสสนาเลย เขาปล่อยให้จิตของเขาเสื่อมไป

เราบอกนี่มันเป็นมรรค มรรคมันมีหลายระดับใช่ไหม อย่างสัมมาอาชีวะเรา เราประกอบอาชีพชอบนี่ก็เป็นมรรค มรรคของเราคือมรรคของโลกียะ ไอ้นี่มรรคของขั้นสมถะ มันก็เป็นมรรคอยู่แล้ว คือว่าเหมือนกับขันธ์ ๕ นี่ ความคิดของเรามันมีอยู่ดั้งเดิม ถ้าเราคิดโดยธรรมชาติของเรา หรือคิดโดยเห็นแก่ตัวนี่มันเป็นโลก คิดแล้วมันมีแต่ความทุกข์ แต่ถ้าเราคิดถึงคุณงามความดี คิดถึงการสร้างกุศล นี่เป็นมรรค

อันนี้ก็เหมือนกัน พอใจที่มันพยายามทำความสงบเข้ามานี่ อันนี้เป็นมรรค เราบอกว่า มันมีมรรคอยู่แล้ว เขาตกใจเลยล่ะ บอกว่า ในการกระทำของเรานี่เป็นมรรค เป็นมรรคใช่ไหม พอมันเป็นมรรคนี่ ยกขึ้นวิปัสสนาหมายถึงว่า เราต้องพิจารณายกขึ้นใจ คือว่าพลิกใจเข้าไปดูกาย เวทนา จิต ธรรม หรือหาเหตุผล อันนั้นถึงจะเป็นมรรค มรรคมันไม่ใช่ว่ารอสร้างมรรค ๆ แล้วมรรคมันเป็นนามธรรม

มันเหมือนกับเรากินข้าวอิ่ม ความอิ่มนั้นเกิดจากผลของเรากินข้าวอิ่ม เสร็จแล้วมันก็จะหิวต่อไป เพราะต่อไปแล้วอาหารมันย่อยไปแล้ว มันก็ต้องจางไป ต้องหิวกระหายเหมือนกัน อันนี้แล้วไปรอผลของความอิ่มใช่ไหม แต่ไม่เข้าใจว่าผลของความอิ่มอยู่ตรงไหน แล้วเขาสงสัยไง อ้อ...จริงอยู่ เวลาครั้งแรกพอความสงบขึ้นมานี่ มันจะมีความสุขมาก มีความปลื้มปีติมาก พอครั้งต่อ ๆ ไปนี่มันจางลง ๆ มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ความสุขครั้งแรก ความเต็มเปี่ยมของสมาธิไง

สมาธิเหมือนน้ำเต็มแก้ว พอมันเต็มแก้วแล้วมันก็มีความสุขเท่านั้น ทีนี้ต่อไปแล้วมันก็มีแต่เสื่อมลง ๆ ถึงว่าต้องสร้างขึ้นมาใหม่ แล้วยกขึ้นวิปัสสนา คืออันที่ความสงบนั้นน่ะ มันสงบแล้ววิปัสสนาได้เลย ไม่ต้องไปรอว่าให้มีมรรคก่อน แล้วมรรคอยู่ที่ไหนล่ะ ตัวเองสร้างมรรค เห็นไหม ความเข้าใจว่ามรรคมันจะมาอีกชั้นตอนหนึ่งไง แต่ไม่เข้าใจว่าการกระทำของตัวนั้นน่ะคือตัวมรรค

ตัวเราสร้างเหตุผลขึ้นมาในหัวใจน่ะคือมรรค มรรคมันจะมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ละเอียดเข้าไป ละเอียดถึงเวลามันเป็นภาวนามยปัญญานี่ มรรคตัวนั้นมันเป็นมรรคโดยธรรมชาติเลย เราจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับมรรคตัวนั้นไม่ได้เลย มันจะเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน แต่เริ่มต้นน่ะเราต้องผลักไสขึ้นไป ๆ ความผลักไสขึ้นไปนั้นเป็นมรรค เป็นมรรคหมายถึงว่า ถ้าเราเดินขึ้นไป เราภาวนาขึ้นไป เราทำขึ้นไปนี่ มันจะได้ประโยชน์ไปเรื่อย ๆ ใช่ไหม

แต่นี่ไปรอหวังผล ตัวเองสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาถึงจุดหนึ่งแล้วเข้าใจว่า ในตำราว่าต้องสร้างมรรคขึ้นมา ให้มีมรรคก่อน มรรคนั้นคือเป็นอาวุธที่จะเข้าไปวิปัสสนา นี่เข้าไปทำวิปัสสนา จริง...ถูกต้อง ถ้าใครสอนก็ต้องว่า ต้องมีมรรคขึ้นมา สร้างมรรคขึ้นมา มรรคของโลก มรรคของธรรม มรรคของโลกก็ที่ว่า ทำคุณงามความดีนี่ มันเป็นโลกมันยังผูกพันอยู่ มันยังผูกมัดอยู่ ถ้ามรรคของธรรมนี่ มันเรื่องจางออก ๆ คลายออก ๆ

นี่ถึงว่า มันต้องสร้างมรรค มรรคนี่ต้องมีขึ้นมา แต่มรรคนี้มันมีขึ้นมาแล้ว มันมีขึ้นมาโดยเราต้องเข้าใจของเราขึ้นไป ๆ ความเข้าใจของเรา ทีนี้เราไม่เข้าใจ เราไปแยกเลย มันเป็นอันเดียวกัน การกระทำนั้นคือมรรค มรรคนั้นมีสัมมาและมีมิจฉา ความทำผิดนั้นเป็นมิจฉา มิจฉาสมาธิ มิจฉากัมมันโต มิจฉา... ความเป็นมิจฉาทั้งหมด มิจฉาคือในเหตุที่ผิด ถ้าเราทำความผิดนั้น มรรคนี่สร้างให้เราผิด เราก็ลงในทางผิด ถ้ามรรคถูกเราก็สร้างในทางถูก แล้วมรรคนี้มันก็เจริญแล้วเสื่อม ๆ เหมือนกัน เพราะสัมมาสมาธิ สติมันก็เจริญแล้วเสื่อม ทุกอย่างมีเจริญขึ้นมาแล้วเสื่อมลง ๆ

ทีนี้ถ้าเราเจริญขึ้นมา เราต้องสร้างฐานขึ้นมา แล้วรักษาฐานของเรา แล้วเราวิปัสสนา วิปัสสนามันก็ก้าวเดินไป ถ้าเป็นสมถะนี่มันเหมือนเรากินข้าวแล้วอิ่ม แล้วมันก็ย่อยอาหารไปแล้วก็ต้องหิวเป็นธรรมดา แต่วิปัสสนาเวลามันขาดนี่ อิ่มเต็มใจ หมายถึงว่า ใจนี่มันเคยประสบความสำเร็จ เราทำงานแล้วเราประสบความสำเร็จชิ้นหนึ่ง ความประสบความสำเร็จชิ้นนั้นมันจะฝังใจไป คิดถึงเมื่อไหร่มันก็ประสบความสำเร็จ เห็นไหม เราประกอบงานขึ้นมา อย่างที่ว่าสิ่งที่มหัศจรรย์นั้นอย่างหนึ่ง แล้วเราทำความสำเร็จเอาไว้ นี่มันเป็นความฝังใจ

อกุปปธรรมก็เหมือนกัน มันไม่มีเจริญแล้วเสื่อม วิปัสสนาไป ๆ จนมันขาดออก ความที่มันขาดออกไปแล้วนี่ มันเป็นความฝังใจ ถึงบอกว่าอริยสัจ ผู้ที่ว่าเป็นอริยบุคคลไม่ลืมในอริยสัจ อริยสัจนั้นจะฝังอยู่ในหัวใจดวงนั้น ไม่มีทางจะคลอนแคลนเลย มันเป็นเนื้อเดียวกับใจนั้น คืออริยสัจฝังอยู่ที่ใจดวงนั้น แล้วใจดวงนั้นรู้จักอริยสัจออกมา อันนี้ถึงบอกว่าเป็นอกุปปธรรม ถ้าอันนี้ถึงจะไม่เสื่อม

สิ่งที่สร้างอยู่นี่มันเจริญแล้วเสื่อม ๆ เพราะเราไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจแล้วเราไม่รักษา ความรักษาเพราะอะไร? เพราะว่ารอมรรค รอเหตุผลที่ ๒ ไง รอผลที่ ๒ ขึ้นไป สร้างขึ้นมาความสงบแล้วก็รอเหตุว่ามันจะแปรสภาพเป็นมรรคขึ้นไป นี่เพราะเขาปฏิบัติถูกนะ เขาทำถูก แต่เขาไม่เข้าใจ เขาถึงร้อง “อ๋อ...” ร้องอ๋อเลยนะ อย่างนั้นแสดงว่าต้องสร้างต่อไป เพราะเขานั่งรออยู่เฉย ๆ

นี่มันเหมือนกับที่เราว่า “น้ำใสแล้วเห็นตัวปลา” ในตำราว่า “น้ำใสนี่เห็นตัวปลา” ในบาลีนะ บอกว่า “น้ำใสแล้วจะเห็นตัวปลา” เราให้ทำจิตสงบเข้าไป พอจิตมันสงบขึ้นมาเราก็นั่งรอให้เห็นตัวปลา เพราะเราเอาความเห็นของโลกนี้ไปเทียบไง ว่าน้ำขุ่นเราจะไม่เห็นปลา พอน้ำใสเราจะเห็นปลา นี้น้ำใสขึ้นมาเห็นปลามันเปรียบเหมือนโลก

แต่ถ้าเป็นทางธรรม กิเลสมันเหมือนกับปลาตัวนั้น พอกิเลสเหมือนปลาตัวนั้น กิเลสนี่มันเหมือนกับความรู้สึกของเราด้วย กิเลสนี่มันเป็นความรู้สึกของเรา มันความเคยใจของเรา มันแนบมากับใจของเรา พอเราจะทำอะไรกิเลสมันจะรู้ตัว กิเลสมันจะหลบหลีก มันจะพยายามซ่อนเร้นตัวมันเอง ความซ่อนเร้นน้ำใส ๆ นี่มันก็ทำให้ตัวมันเองใสยิ่งกว่าน้ำนั้น พยายามหลบอยู่ในน้ำนั้น ถึงนี่การปฏิบัติธรรมมันยากมันยากตรงนี้ เห็นไหม

ถึงบอกว่าเวลาเรายกขึ้น ใจเราสงบแล้วเหมือนน้ำใส แล้วเรายังต้องพยายามวิปัสสนา เพราะว่าน้ำใสหรือทำความสงบนี่ มันมีมาดั้งเดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส เรียนเรื่องทำความสงบ สมาธินี่มีมาดั้งเดิม แต่ในโลกนี่ไม่มีปัญญาในสมาธินั้น พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้นี่ เพราะมีปัญญาในสมาธินั้น ปัญญาในสมาธินั้นก็ปัญญาตัวนี้ไง

ปัญญาคือความเพ่งพินิจ แล้วหาไอ้ปลาตัวนั้น แล้วทำลายปลาตัวนั้น พอทำลายปลาตัวนั้นปั๊บ ในน้ำนั้นก็ไม่มีปลาที่จะไปแหวกว่ายทำให้น้ำนั้นสั่นไหวต่อไป เพราะปลาตายไปจากน้ำนั้น น้ำนั้นจะใสบริสุทธิ์ แต่ถ้าทำสมาธิอยู่นั้น น้ำนั้นสงบเพราะอำนาจของการกดไว้ของสมาธิ แต่เวลาสมาธินี้เสื่อมลงไป ปลานั้นจะแหวกว่ายอยู่ในน้ำนั้น ทำให้ใจของเรานี่ต้องไปอยู่ในอำนาจในความเคลื่อนไหวของน้ำนั้น ทำให้เราเคลื่อนไหวไป

นี่มันต่างกันตรงนี้ ถึงว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมมันสำคัญตรงที่ว่า เราจะยกขึ้นไหม สำคัญจริง ๆ นะ ถ้าไม่สำคัญตรงนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต้องมาตรัสรู้ เพราะเขามีอยู่ดั้งเดิม ไอ้น้ำใสแล้วเห็นตัวปลานี่ เพราะทำจิตสงบมีอยู่ดั้งเดิม แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้มากกว่านั้น คือปัญญา ปัญญาในปัญญาทองคำ

ปัญญาทางโลกนี่ใครก็มี นักวิทยาศาสตร์มีอยู่แล้วปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกนั้นเป็นปัญญา เป็นเครื่องที่ว่าเราแสวงหาจากข้างนอกเข้ามาไว้ในใจ พอเข้ามาไว้ในใจนี่ ไอ้ปลาตัวนั้นมันอยู่ในน้ำนั้น แล้วเราไปหาจอกแหนคือปัญญาที่เราเล่าเรียนศึกษาทางโลกนี่ เหมือนกับเราหาจอกหาแหนมาประดับน้ำนั้น แล้วปลาอยู่ในน้ำนั้น ฉะนั้นจอกแหนจะเจริญหรือไม่เจริญอาศัยการอยู่ที่น้ำนั้น ความคิดปัญญาของโลกเขานี่จะเจริญรุ่งเรืองก็อาศัยน้ำคือจิตนั้นเป็นการวิเคราะห์ออกมา ไอ้ปลาตัวนั้นมันอาศัยออกมาด้วย ถึงว่าปัญญาของโลกเขากิเลสพาใช้ไง กิเลสคือว่าความเคยใจในใจนั้นมันจะพาใช้

แต่ปัญญาในทางธรรม เห็นไหม จอกแหนก็ออกหมด จอกแหนก็ไม่มี น้ำนั้นน้ำใส แล้วน้ำใสนี่ดูความใสของน้ำนั้น เข้าไปจับปลาที่อยู่ในน้ำนั้น แปลกไหม? เพราะปลาอยู่ในน้ำ เพราะเอาน้ำนั้นเข้าไปจับ ไม่อาศัยจอกแหน ปัญญาทางโลกไม่อาศัยเลย อาศัยแต่น้ำนั้นเข้าไปจับปลา เพราะปลาอยู่ในน้ำ น้ำนั้นไปจับปลา รู้สึกถึงปลาก็วิปัสสนา ปลานี้อาศัยน้ำ ปลานี้อาศัยเราอยู่ วิปัสสนาไป ๆ จนฆ่าปลานั้นตาย ปลาเป็นนามธรรม ปลานี้เป็นสมมุติ บุคลาธิษฐานขึ้นมา ความเคยใจนี่นามธรรม เป็นนามธรรมหมด

กิเลสนี้เป็นความคิด เป็นนามธรรม แต่ชำระได้ ถ้าชำระไม่ได้มันอกุปปธรรม ไม่หลุดออกไป ปลานั้นไม่ตายคาน้ำนั้น ไม่มีส่วนที่พิสูจน์ได้ อันนั้นยังไม่ใช่อกุปปะ มันเจริญแล้วเสื่อม ความสงบนี้เจริญแล้วเสื่อม นี่ขุ่นมัวตลอด ใสเดี๋ยวก็โดนกวนก็ขุ่น พอเราทำให้จิตสงบมันก็สงบ เดี๋ยวโดนกวนอีกมันก็ขุ่น น้ำนั้นจะขุ่นไปตลอด ขุ่นเพราะธรรมชาติของปลานั้นมันแหวกว่ายอยู่ในน้ำนั้น

แต่ถ้าปลาตายเป็นชั้น ๆ ๆ เข้าไปนี่ น้ำนั้นไม่มีปลาไปแหวกว่าย มันใสสะอาดโดยธรรมชาติของมัน มันจะบริสุทธิ์ของมันโดยตลอดไป แล้วปลาที่ตายไปนี่ นั่นล่ะเห็นซากศพของมัน นี่ซากศพของมันถึงเห็นอย่างนั้น เป็นนามธรรมอยู่นะ แต่นามธรรมดูสิ ดูเราทำปฏิบัติเข้าไป เห็นไหม เราเกิดนิมิตได้ เราเกิดภาพได้ เราความเห็นได้ อันนี้ก็เหมือนกัน เห็นนอนตายเกลื่อน ซากศพของกิเลสเกลื่อนตายอยู่อย่างนั้นเลยล่ะ ตายเป็นชั้น ๆ เข้ามา ถึงเป็นอกุปปธรรม ต้องเป็นอย่างนั้นถึงจะเป็นความจริง