เทศน์เช้า

ความว่างพระอนาคา

๙ ก.ค. ๒๕๔๓

 

ความว่างพระอนาคา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นั่นมันในศาสนา ถ้าความศรัทธานี่ดีมาก อ่านแล้วจะมีกำลังใจ เพราะว่าอ่านแล้วมันเหมือนกับทำแล้วมันสะดวก มันทำง่าย ทำอย่างนั้นๆ เข้าไปแล้ว เขาบอกว่า “อารมณ์เขาจะว่างหมดเลย” อารมณ์ของพระอนาคามีคือความว่าง เราบอก “ใช่” อารมณ์ของพระอนาคามีนะ เป็นว่างมาก ว่าง...ว่างจนที่ว่า ไปเห็นพระอนาคามีนี่มันเหมือนในเรือนว่าง แล้วมีคนอยู่ในเรือนว่างนั้นคือคนคนนั้น

แต่ความว่างที่โยมเป็นอยู่นี้เป็นความว่างเฉยๆ เป็นสมถะ ไม่ใช่ความว่างของพระอนาคามีหรอก เพราะว่าโยมยังเป็นโยมอยู่ โยมยังไม่ได้เลย โยมจะเป็นพระอนาคามีได้อย่างไร เขาบอกว่า “แต่ในตำราว่าไว้อย่างนั้น” เห็นไหม บอกตำราว่าไว้อย่างนั้นว่า อารมณ์ความว่างนี่ อารมณ์พระโสดาบันเป็นอย่างนี้ อารมณ์พระสกิทาคามีเป็นอย่างนี้ อารมณ์พระอนาคามีเป็นอย่างนี้ อารมณ์พระอรหันต์เป็นอย่างนั้น แล้วเขาทำความว่าง ทำใจของเขาขึ้นไปเป็นอย่างนั้น

เราบอก “ไม่ใช่” ถ้าจะเป็นพระโสดาบันมันต้องมีการวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณปัญญาแทงทะลุกิเลสหลุดออกไป อย่างเช่นขันธ์ ๕ นี่แยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ แยกขันธ์ออกไป ขันธ์เป็นสักกายทิฏฐิ สักกายทิฏฐินี้กับจิต เห็นไหม จิตกับสักกายทิฏฐิ คือทิฏฐิความเห็นผิดของเรามันผูกติดเป็นเนื้อเดียวกัน แล้ววิปัสสนาเข้าไปแยกขันธ์กับจิตออกไป แยกออกไป ขณะแยกออกไป ทุกข์ก็แยกออกไปด้วย ทุกข์ออกไป ขันธ์แยกออกไป จิตแยกออกมา อันนี้เป็นโสดาบัน

เขาบอกว่า ถ้าเป็นความเห็นเขาว่าอันนี้เป็นพระอนาคามี

นี่คือความเห็นของโยมเขา เอามาพูดให้ฟังว่า อ่านหนังสือแล้ว ความเห็นที่ผิดน่ะ แผนที่เครื่องดำเนิน ปลูกศรัทธา ศรัทธานี่ไม่ใช่แผนที่ ศรัทธาคือความเชื่อ ความเชื่อความเลื่อมใสในศาสนานี้ อ่านแล้วมีความศรัทธา คิดว่าเรามีความสามารถจะเป็นไป เป็นไปได้จริงๆ แต่ต้องทำให้ถูกทาง แต่เป็นไปอย่างนี้มันเป็นไปแบบชุบมือเปิบไง เป็นไปแบบว่าเราคาดหมายไป เราคาดหมาย เราทำไปแล้วมันก็ไม่เป็นความจริงของเรา เพียงแต่ว่ายังดีอยู่ เขามาคุยกันแล้วเขาฟังเหตุผล ถ้าอย่างนั้นต้องทำใหม่ ทำใหม่หมายถึงว่าอันนี้เป็นพื้นฐาน

เราบอกว่า “มันเป็นธรรมชาติที่ต้องมีพื้นฐานอันนี้ก่อน” ฌานหรือสมาธิ เห็นไหม ถ้าคำว่า“ฌาน” นี่ฝ่ายอภิธรรมจะบอกว่าเป็นฌานอารมณ์ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นฌานนั้นๆ เราบอกว่าดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฝึกกับอาฬารดาบสนะ อาฬารดาบสได้ฌานสมาบัติ เห็นไหม

แต่เวลาท่านจะมาทำเอาคืนสุดท้ายนี่ ทำไมท่านวางสมาบัติไว้หมดเลย วางฌานไว้หมด วางฌานแล้วเอาอานาปานสติ เห็นไหม เอาอานาปานสติ เอาความสงบของใจ นี่มันต้องมีความสงบของใจ เอาอานาปานสติปูพื้นฐานก่อน วางพื้นฐานใจให้ขึ้นมาก่อน วางศรัทธาใจขึ้นมา พอวางพื้นฐานของใจขึ้นมาแล้วนี่เป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม อานาปานสตินี้ยกขึ้นวิปัสสนา พอยกขึ้นวิปัสสนาไป มันก็เป็นวิปัสสนาไป พอวิปัสสนาไปก็คือการชำระ มันต้องมีการชำระอย่างนี้มันถึงเป็นอริยบุคคลขึ้นมา เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป

แบบว่าทำความสงบเฉยๆ แล้วจะเป็นพระอนาคามี มันเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ที่ถามนี่ ต้องลังเลสงสัยในตัวเองอยู่แล้วใช่ไหม ถึงว่า “อันนี้เป็นอารมณ์ของพระอนาคามีหรือเปล่า” เพราะว่าเขาเป็นความว่างอยู่ อันนั้นเป็นพระอนาคามีขึ้นมา นี่อันนั้นเป็นไป พอพูดให้เขาเข้าใจ เขาก็ยอมรับว่าเขาจะมาประพฤติปฏิบัติด้วย

แต่เวลาพระมาถามเมื่อวาน ถามเรื่อง “ถ้าผู้เห็นอวิชชา เห็นแล้วจะไม่พูดว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ” อันนี้เป็นคำพูดของอาจารย์มหาบัวพูดในเทป แล้วก็พูดถึงในเทปเราด้วย พูดตรงกัน แต่ไปขัดกับตำรา ขัดกับตำราว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วในตำราต้องผิด ตำราบอกว่า “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ”

เราบอก ฟังนะ อวิชชา ปัจจยาการนี่ คำว่า “ปัจจยาการ” เห็นไหม เขาเป็น ๗ ประโยค ๖ ประโยคด้วยกัน เขาก็ยังบอกว่าถูกต้อง ปัจจยาการรวมกันแล้วเหมือนกับไม่ใช่สิ่งที่แยกออกจากกัน เป็นสิ่งที่เป็นอันเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน

แต่เวลาขันธ์ ๕ มันแยกออกจากกัน เห็นไหม ขันธ์ ๕ นี่แยกออกจากกัน แต่ในเมื่อเวลาเราแยกขันธ์ ๕ นี่เป็นกองๆ แยกเป็นกองๆ ได้ แต่เราจะไปแยกปัจจยาการอันนั้นให้มันเป็นกองๆ ได้อย่างไรในเมื่อมันเป็นปัจจยาการกันอยู่แล้ว ฉะนั้น ผู้ที่ไปเห็นแล้วแยกเป็นปัจจยาการนั้นคือผู้ที่ไม่เคยเห็น แต่ถูกต้องตามตำราแผนที่ อันนี้กลับถูกต้องนะ เพราะอะไร เพราะมันอยู่ในพระไตรปิฎก เอาพระไตรปิฎกไปอ้างกันเลยว่า พระไตรปิฎกบอกไว้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ

ปัจจยาการคือหมุนรอบเป็นวงในตัวมันเองตลอดไป ไม่มีการแยกออกมา

ทีนี้พอขึ้นไปเห็นนี่ เหมือนกับเราจุดน้ำมัน เอาน้ำมันเข้าไปจุดในไฟนี่มันจะพรึ่บ! ขึ้นมาพร้อมกัน พรึ่บ! ที่ลุกขึ้นมาพร้อมกันนั่นคือปัจจยาการทั้งหมด นี่อาการ ๑๒ ปัจจยาการนั้นเกิดขึ้นพร้อมกัน ทีนี้ถ้าเป็นสาวกะสาวกวิสัยมันจะมองไม่เห็นตรงนั้น มันจะแบ่งแยกตรงนั้นไม่ได้ คำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” นั้นถูกต้องตามหลักวิชาการ ถูกต้องตามปรัชญา ถูกต้อง ถูกต้องหมด แต่วิสัยสาวกะผู้ที่เราจะไปแยก ปรัชญาอันนี้เราจะไปวิเคราะห์ขึ้นมานี่จะเป็นไปได้ยาก

เป็นไปได้ยากเพราะว่าเราจะไม่สามารถวิเคราะห์อันนี้ได้ เพราะว่าสาวกะวิสัย สาวกวิสัย แต่ความเป็นพุทธวิสัยปัญญาที่ควบคุมได้หมด ถึงแบ่งแยกไว้ถูก แล้วเขียนไว้ในตำรา วางไว้ตามตำราให้เราเดินตาม นี่ถูกต้อง ตำราอันนั้นถูกต้อง ถูกต้องตามภาคปริยัติไง ถูกต้องตามแผนที่ดำเนิน พิกัดของภาวะของใจ ทุกอย่างพิกัดของใจ ถูกต้องหมดเลย

แต่เวลาเข้าไปเห็นนี่เราไม่สามารถจะแบ่งแยกออกมาได้เป็นอย่างนั้น นี่อธิบายให้เขาฟัง ถามปัญหามาก ถามปัญหาขึ้นไปเรื่อยๆ แต่มันเป็นปัญหาของเราที่เราต้องพูด พอดีเราพูดถึงว่า ฐีติจิตเหมือนกัน บอกว่าฐีติจิตน่ะอยู่ในเทป “ฐีติจิต” เห็นไหม เราบอกว่า พระพุทธเจ้าเย้ยมาร พูดว่า “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เธอจะเกิดอีกไม่ได้แล้ว เราจะไม่ดำริถึงเจ้า” แล้วเราก็ยกหลวงปู่มั่นว่า หลวงปู่มั่นบอกว่า “อวิชชาเกิดจากฐีติจิต”

ทีนี้ถ้าคนฟังแล้วก็หาว่าหลวงปู่มั่นนี่มีพื้นฐานมากกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ไม่ใช่” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยาะเย้ยมาร ใจที่เป็นพระอรหันต์แล้ว เห็นไหม เป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาด้วย แล้วมีความเสวยวิมุตติสุข เคยเป็นทุกข์มาก ทุกข์มากเพราะโดนกิเลสนี้เผาเร่าร้อนใจมา เผามาตลอด

ดูสิ เวลาเจ้าชายสิทธัตถะจะออกผนวช เห็นไหม คิดดู ไปดูนางพิมพา ไปดูราหุลน่ะ มันจะทุกข์ มันสะเทือนหัวใจขนาดไหน นี่ทุกข์มันเบียดเบียนมาจนวาระสุดท้ายที่มันจะเบียดเบียนมา จนมาปฏิบัติอีก ๖ ปี ทุกข์นี้มันควบคุมใจมา มันบีบบี้สีไฟ บีบควบคุมใจมาตลอด แล้วพอตัวเองมาชนะกิเลส ทุกอย่างที่มันเคยควบคุมอยู่นี่หลุดออกไป แล้วเย้ยมาร

ความเย้ยมารคือว่ามันสะใจไง มันสะใจตัวเองว่าตัวเองโดนมา ควบคุมมา ตายเกิดๆ ในวัฏฏะมา จนตลอดมา มาถึงบัดนี้สิ้นสุดกันเสียที “มารเอย เธอเกิดไม่ได้อีกแล้ว” มันเป็นความเข้าใจระหว่างท่านเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็เหมือนกับ...เวลาปัญญา เราภาวนาไปนี่ปัญญามันเกิด เหมือนกับความคิดดีคิดชั่วเกิดขึ้นมา ความคิดมันเกิดขึ้นน่ะ มันพูดกับตัวเอง เห็นไหม มันเลยพูดแล้วเข้าใจ

แต่ถ้าคำพูดนี้มาพูดกับพวกเราเมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีศาสนา ใครจะไม่เข้าใจหรอก ไม่เข้าใจเพราะอะไร เพราะว่าพื้นฐานของปุถุชน ความเห็นของเรามันไม่ถึงพระพุทธเจ้าใช่ไหม มันไม่ถึง มันไม่สะอาดพอที่จะเข้าใจธรรมะที่ละเอียดได้หรอก

แต่อวิชชาเกิดจากฐีติจิตอันนี้ หลวงปู่มั่นเทศน์สอนพวกเรา พวกคฤหัสถ์ พวกเราพวกกิเลสหนาๆ นี่ เพราะพวกเราจะลังเลสงสัยว่า ทุกอย่างมีแดนเกิด ทุกอย่างมีที่เกิดที่ดับ ทุกอย่างมีที่ไปที่มา แล้วอวิชชานี่มันมาจากไหน มันโผล่มาอย่างไรในหัวใจเรา มาควบคุมเรา ท่านถึงบอกว่า “มาจากฐีติจิต”

ฐีติจิต คือจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสหมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้มันคือตัวอวิชชา แล้วมันขยับเขยื้อนออกมานี่ พอมันฐีติจิตนี่มันพร้อมขึ้นไปเป็นภวาสวะ เป็นภพ เห็นไหม แล้วมันขยับเขยื้อนออกมา นั่นก็คืออวิชชาเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของสมมุติ มันเป็นเรื่องของในกองถังขยะ ที่ท่านว่าในกองขยะในกองของพวกเรานี่มีกิเลสควบคุมตัวเราเองอยู่ หลวงปู่มั่นสอนอย่างนั้น พอสอนอย่างนั้นเป็นปรัชญาใช่ไหม พอมันเป็นปรัชญานี่มันจะเข้ากับพวกเราได้ เข้าใจกับความรู้สึกพวกเราที่มีปรัชญาการ เราจะเข้าใจ เรามี เราตีความได้ไง

อันนั้นถึงว่า ถ้าเราตีความได้ ทุกคนถ้ามีกิเลสอยู่นะ จะยกย่องว่าตัวเองนี่ฉลาด พอตัวเองฉลาด ตัวเองรู้ ตัวเองก็คิดมาก คิดออกไปว่าตัวเองฉลาด แต่ความจริงคือโง่ไง โง่เพราะอะไร โง่เพราะความฉลาดนั้นโดนความมืดความไม่เข้าใจนั้นให้คิดตามไป เพราะอวิชชามันอยู่เบื้องหลังนั้น ฉะนั้น พอเป็นปรัชญาเป็นวิชาการนี่เราจะตรึกกันได้ มันเป็นความตรึกได้

ธรรมะนี้ตรึกไม่ได้ อริยผลนี่ตรึกไม่ได้ ธรรมะนี่ตรึกได้ ตรึกเป็นปัญญา ตรึกขึ้นมาก่อน ธรรมะฝ่ายเหตุไง ตรึกเป็นธรรมะนี่คือปัญญาหัดก้าวเดิน ความตรึกคือปัญญาหัดก้าวเดินออกจากความคิดนี้คือความตรึกของเรา ความตรึก ความตรึกตรอง ตรึกตรองในความใคร่ครวญ เป็นอิทธิบาท ๔ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา นี่วิมังสาใคร่ครวญไตร่ตรองไปเรื่อยๆ ในหัวใจ นี่เป็นธรรมฝ่ายเหตุ

แต่ธรรมฝ่ายเหตุนี้มันจะเป็นผลไปไม่ได้ ธรรมฝ่ายเหตุนี้สร้างเหตุขึ้นไป เหตุขึ้นไปจำกัดเหตุในหัวใจนั้น ในภวาสวะนั้น แล้วขับเคลื่อนออกไปเป็นผล ถึงบอกว่า เวลาจิตมันจะเป็นมรรค ๔ ผล ๔ มรรคนี้จะสัมปยุตเข้าไปชำระกิเลส มันจะรวมตัวเข้าไป นี่เหตุ กว่าที่เราจะสร้างเหตุขึ้นไป ให้มันสัมปยุตเข้าไป คือมันรวมตัวเข้าไปชำระกิเลสออกไป แล้วมันคายออก พอมันคายออกมา สิ่งที่หลุดกับคายออกไปนั้นเป็นอิสระ คือใจดวงที่โดนบีบ โดนมัคคะนี้รวมเข้าไป

เขาบอกว่าทำไม นี่พระถามว่า ทำไมต้องบอกว่า อย่างโสดาปัตติมรรค ทำไมไม่โสดาปัตติมรรคแล้วก็ก้าวเป็น ๒ ๓ ๔ ขึ้นไปเลย เราบอกว่า มรรค ๔ ผล ๔ ไง มรรคอันหนึ่งเหมือนกับว่า มรรคอันหนึ่งใช่ไหม เหมือนกับกับข้าวมื้อหนึ่ง เราได้กินอาหารมื้อนั้นไปแล้ว เก็บล้างสำรับแล้ว มื้อนั้นหมดไป ความอิ่มหนำสำราญเกิดขึ้นมาจากสำรับนั้น นี้คือโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค

มรรค ๑ มรรคของโสดาบัน เวลาสัมปยุตเข้าไปต้องรวมตัวนะ รวมตัว มรรคสามัคคี ไม่มีเรา ภาวนามยปัญญาจะเกิด นี่ธรรมจักรมันจะเคลื่อนไปๆ เขาถามว่า “ธรรมจักรมันเคลื่อนไปอย่างไร” คำว่า “ธรรมจักรมันเคลื่อนไป” ทำไมมันต้องมีเคลื่อนออกไป เคลื่อนออกไปเพราะปัญญาเราก้าวเดินออกไป ก้าวเดินออกไปเรื่อยๆ จากความส่งเสริมของปัญญาฝ่ายเหตุ ธรรมฝ่ายเหตุไง

ธรรมฝ่ายเหตุคือว่า อิทธิบาท ๔ ที่เราตรึกตรองขึ้นมาเรื่อยๆ พอขึ้นมาแล้ว ขึ้นมาเรื่อยๆ นี่ มันทรงตัวมันเองได้ พอทรงตัวมันเองได้นี่ มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา มัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาพร้อมกับภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วจะสัมปยุตรวมเข้าไป นี่เข้าไปเกาะ มันเกิดจากไหนสิ่งที่ว่านี่? สิ่งที่ว่านี่เกิดขึ้นมาจากอาการของใจที่เราสร้างขึ้นมาแล้วมันชำระเข้าไปที่อาการของใจนั้น ชำระอาการของใจนั้น พร้อมทั้งอาการของใจ อาการของใจปกป้องเปลือกของใจ คุ้มใจอยู่ มันสัมปยุตเข้าไปทั้งหมด มันกลืนกินเหมือนกับจันทรุปราคา มันกลืนกินเข้าไป ปิดบังเข้าไปทั้งดวงเลย แล้วมันคายออก เข้าไปคือสัมปยุตเข้าไป นั่นคือมรรคอริยสัจจัง คือรวมตัวขึ้น ทำสัมปยุตเข้าไปชำระกิเลส แล้วคายออกมา พอคายออกมา ดวงจันทร์พอคายออกมา ดวงจันทร์คล้อยออกมาเป็นความสว่างอย่างเก่า เห็นไหม

นี่เวลากลืนกินเข้าไปนั่นคือสัมปยุต นั้นคือธรรมจักร นั้นคือภาวนามยปัญญารวมตัวเข้าไป แล้วคายออก พอคายออกมาก็เป็นผลหนึ่ง ผลจากการคายออกมา ไม่ใช่ผลเกิดขึ้นกับสัมปยุตเข้าไป สัมปยุตเข้าไปนั่นคือปฏิกิริยาของมรรค กำลังทำตัวอยู่ กำลังสมุจเฉทปหานอยู่ ขั้นตอนหนึ่งๆ มันจะพ้นออกไป

นี่ทำไมต้องมีมรรค ๔ ผล ๔ แต่มรรค ๔ ผล ๔ นี้เป็นเพราะเวไนยสัตว์ แต่เราคิดว่า มรรคผลเดียวกับสมุจเฉทเลย คือว่านั่งหนเดียว อย่างพระยสะนี่คืนเดียวสำเร็จไป เทศน์พาหิยะ ขณะบิณฑบาตอยู่ พอเทศน์เสร็จไป ควายขวิดตาย นั้นเป็นเพราะว่าสหชาติเกิดพร้อมพระพุทธเจ้าหนึ่ง บุญญาธิการของเขาหนึ่ง อันนั้นมี แต่เวลาเขาออกมา...

ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ปฐมยาม เห็นไหม ปฐมยามนั้นเป็นบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้อันนี้ยังเป็นโลกอยู่ มัชฌิมยามได้จิตรวมตัวเข้าไป ได้จุตูปปาตญาณ ก็ยังเป็นโลกอยู่ แต่เวลาหนเดียวนี่ ปัจฉิมยาม ทีเดียวขาดเลย นั่นก็ทีเดียวเหมือนกัน แต่ทำไมผู้ที่ทำทีเดียว คือมรรครวมตัวหนเดียวชำระตลอดไปเลย มรรค ๔ ผล ๔ นี้ตลอดไป แต่วางไว้สำหรับพวกเราเวไนยสัตว์ สัตว์ที่ต้องพยายามขวนขวายไง เพราะเรามันเป็นผู้ที่มาภายหลัง

ถ้าผู้ที่มีโอกาสจะได้พบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอก บอกเพราะมันตรงตัว บอกนี่หมายถึงว่า ท่านจะมองอยู่ จริตนิสัย บุญญาธิการสะสมมา จริตนิสัยตรงกับอะไรจะชี้เข้าไป แบบจูฬปันถกน่ะ ขนาดพี่ชายเป็นพระอรหันต์ บอกว่าไปสึกเถอะ ขนาดว่าให้ท่องคำสวดมนต์คำเดียวยังท่องไม่ได้ ไม่มีปัญญา

พอจะไปสึก พระพุทธเจ้าไปดักรออยู่ “จูฬปันถก เธอบวชเพื่อใคร”

“บวชเพื่อพระพุทธเจ้า ไม่ได้บวชเพื่อพี่ชาย”

“มานี่ มานี่”

ให้ลูบผ้าขาวไง ให้ลูบผ้าขาวว่า “ผ้านี่ขาวหนอ ผ้านี่ขาวหนอ”

ลูบผ้าขาวนั้นน่ะ จนเห็นความสลดใจว่าผ้าขาวมันขาวอยู่ เราไปลูบผ้าขาว ผ้าขาวมันดำเพราะอะไร ดำเพราะเหงื่อไคลของเราเข้าไปกับผ้าขาวนั้น มันสลดสังเวช มันสลัดออก เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลย นี่จูฬปันถก เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองทะลุปรุโปร่ง พุทธวิสัย จะเห็นแทงทะลุปรุโปร่งว่าจิตดวงนั้นเคยสร้างอะไรมา พอสร้างอะไรมานี่ พอบอกให้ มันจะไปตรงกับตรงนั้น ทีเดียวสำเร็จเลย

แต่ผู้ที่มีความเห็นอย่างนั้นมันต้องเป็นเอตทัคคะ ที่เป็นสาวกมีบ้าง กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น รุ่นภายหลังมานี่ สาวกะๆ นี่ ความเห็น เห็นไหม ความสะอาดเสมอกัน ความเสมอกัน สิ้นเสมอกัน ความสะอาดเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่บุญญาธิการ เห็นไหม ถึงว่าพุทธวิสัย พุทธวิสัยรู้ไปหมด โลกนอกโลกใน แต่สาวกะนี่รู้แต่โลกใน โลกนอกนี่มีแต่บางองค์จะพอรู้บ้าง พอโลกนอกหมายถึงว่า หมู่สัตว์ไง โลกในคือเรื่องส่วนตัว โลกในคือเรื่องของเรา

โลกคือเรา เราเป็นโลก เพราะเราเกิดตายในโลกนี้ โลกนี้มีเพราะมีเรา เพราะเราไปยึดโลกนั้น พอมันสละโลกนั้นออกไป นี้สาวกะรู้ได้ โลกใน โลกนอกนี้มันบุญญาธิการสร้างมาน้อยหนึ่ง แล้วก็เป็นผู้ที่ชุบมือเปิบอยู่แล้ว เห็นไหม มาเรียนวิชาการที่มีอยู่แล้วในโลกนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องค้นคว้าเอง ทุกคนต้องค้นคว้าเอง แต่เรามาชุบมือเปิบสิ่งที่มีอยู่ ฉะนั้นบุญญาธิการเราถึงได้น้อย ถึงได้โลกนอกไม่เข้าใจ การสอนถึงไม่ได้ละเอียดอ่อนแบบนั้น แต่ก็รู้ถึงโลกในแล้วทำตาม ชี้เห็นอันนี้ได้ขึ้นมา

นั่นน่ะถึงบอกว่า เขาอ่านตำรา แล้วถามตามตำรานั้นก็ตอบตามตำราไป ถึงบอกว่า มันเป็นประโยชน์ ประโยชน์ที่ว่าเขายังเข้ามา เขายังประพฤติปฏิบัติ แต่ว่าพอพูดไปเขาก็เข้าใจอยู่ แล้วถามเยอะ เมื่อวานถามมาก เราถามด้วย แล้วจะพูดของเราด้วย เอวัง