เทศน์เช้า

พลังของใจ

๔ มิ.ย. ๒๕๔๓

 

พลังของใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

สะเทือนใจมันก็เข้าถึงหัวใจ เวลาเราฟังธรรมมันสะเทือนหัวใจถ้ามันซึ้งใจ คำว่า “ซึ้งใจ กินใจ” นั่นน่ะมันสะเทือนใจ มันถึงจะชำระกิเลส นี้ย้อนกลับมาเวลาเราทุกข์ยากกัน เวลาเราทุกข์เรายากกัน เห็นไหม เวลามันสะเทือนใจมันสะเทือนใจทางทุกข์ยาก เราทุกข์ยาก เราโศกเศร้าพิลาปรำพัน นี่ความสะเทือนใจ

แล้วมันเป็นโดยธรรมชาติ แต่เราไม่เคยคิดกันเลย อันนี้มันเป็นธรรม มันเป็นเนื้อเดียวกัน เวลาเรามีความทุกข์ เวลามันยึดมั่นถือมั่นในหัวใจ มันเป็นไปอย่างนั้นโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นเราไง เรากับอารมณ์นี้เป็นอันเดียวกัน พอมันเป็นอันเดียวกันมันก็เป็นไปอย่างนั้น มันไม่เฉลียวใจ จะเฉลียวใจก็ต่อเมื่อมันผ่านไปแล้ว สิ่งนั้นไม่ควรเสียใจเลย สิ่งนี้ไม่ควรเสียใจเลย เพราะมันผ่านไปแล้ว แต่ขณะที่ผ่าน เห็นไหม อดีตอนาคตอย่างหนึ่ง ปัจจุบันอย่างหนึ่ง

แต่ขณะที่ว่าเวลาเราฟังธรรม เราฟังธรรมนี่พลังของใจไง ถ้าใจมันเริ่ม ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะที่ว่าเราทำสมาธิเฉย ๆ นะ จิตเราตั้งมั่นขึ้นมา เราจงใจนี่ก็เป็นสมาธิพอสมควรแล้ว อย่างเราอยู่โดยปกตินี่ก็เป็นสมาธิอันหนึ่ง แล้วถ้าจิตมันอยู่สมาธิอันหนึ่งแล้วมันใคร่ครวญ แล้วพอฟังไปมันสะเทือนหัวใจ พอมันสะเทือนหัวใจ นี่ธรรมสังเวชไง

ปลงธรรมสังเวชก็คือความเสียใจ ความเศร้าใจ ให้ใจมันได้คิด กับเวลามันเศร้าโศกเสียใจ เห็นไหม มันเป็นทางโลกไป นี่เพราะมันมีสติสัมปชัญญะในปัจจุบันนั้น มันสะเทือนใจแค่นั้น เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ที่เราจับต้องได้ พอเราจับต้องอาการของใจของเราได้ เราก็จะเคลื่อนไหวไปได้ เรามีการแยกแยะได้ นี่ธรรม

พลังของธรรมกับพลังของกิเลส มันก็คือพลังงานของหัวใจที่มันออกมาเท่านั้น มันมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมัน แต่พวกเราไม่เคยใคร่ครวญ พวกเราไม่เคยศึกษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วถึงได้บอกว่า เวลาปลงธรรมสังเวชมันก็เศร้าโศกเสียใจ คำว่า “เศร้าโศกเสียใจ” มันก็เป็นทางโลกไป ทางโลกว่าเศร้าโศกเสียใจให้เป็นความทุกข์ แต่ความสะเทือนใจนี่มันเป็นธรรม ถึงใช้คำใหม่ว่า “ปลงธรรมสังเวช”

มันสังเวช ความสลดสังเวช เห็นไหม สลดกับสังเวช ความสลดทำให้หดหู่เศร้าใจ ความสังเวชทำให้คิดว่าหาทางออกไง เราจะหาทางออกจากสิ่งที่เราจมอยู่นี่ได้อย่างไร ปลงธรรมสังเวชหมายถึงว่า ให้เตือนสติตัวเอง มีสติ มีสัมปชัญญะ มีการออกไป ดูอย่างพระพุทธเจ้าตอนจะออกบวชสิ เทวทูตทั้ง ๔ มาให้เห็นเลย นี่ธรรมสังเวช ปลงธรรมสังเวชจน...“อย่างนี้ก็มีด้วยเหรอ?”

ธรรมสังเวชหมายถึงว่า เราเริ่มจะหาทางออกจากทางปกติที่มันเคย ช่องทางของใจที่มันเคยผ่านทางนี้ไง ช่องทางของใจที่มันเคยเป็นอารมณ์อันเดียวนี่ผูกมัดกันไป ๆ ธรรมกับพลังของใจ เห็นไหม พลังของกิเลสก็ขับเคลื่อนให้เรามีความสุข ขับเคลื่อนให้เรามีความทุกข์ มีความเร่าร้อน พลังของกิเลสเอาความเร่าร้อนมาสะสมให้หัวใจ เวลามันเกิดขึ้นนี่ มันถึงบอกว่า “เกิดขึ้นจากกิเลส”

กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ เกิดกิเลส เกิดการกระทำ แล้วผลถึงตามมา เวลาเกิดขึ้นมานี่ พลังของกิเลสมันทำให้เรามันคิดไป มันทำไป แล้วความเร่าร้อนคือผลของมันตกอยู่ที่ใจ เวลาเราทำความไม่ดีขึ้นมานี่ ทำไปเถิด แต่กรรมมันตกอยู่ที่ใจ แล้วใจดวงนั้นก็รองรับไว้ ๆ ย่อยสลายลงไป อยู่ที่ก้นบึ้งของใจ นี่พลังงานถึงขับเคลื่อน ขับเคลื่อนไป

นี้พลังงานของธรรม เห็นไหม ถ้าพลังงานของธรรม มันสะเทือนใจขึ้นมา มันถึงว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้ก็ทุกข์ร้อน สิ่งที่เราเป็นอยู่ในโลก เราหามาเป็นปัจจัย ๔ นี่ มันต้องมีการแสวงหา ต้องมีพลังงาน ต้องมีทำงานกันไป มันก็ทุกข์อยู่แล้ว ทุกข์อันนี้เป็นทุกข์ประจำธาตุขันธ์ ทุกข์ประจำธาตุขันธ์หมายถึงว่า สิ่งที่เยียวยาและสิ่งที่บกพร่อง สิ่งที่บกพร่องก็ต้องเติมให้เต็มตลอดเวลา

นี่ถึงบอกว่าโลกที่เป็นโลก โลกอย่างที่ว่าโลกที่ไม่เคยเต็ม อาการของโลกคือความพร่องไปของกิเลส ความพร่องไปของใจ ความพร่องไปของความคิด ถึงว่าเติมให้เต็ม ๆ ทำความสงบเข้ามานี่เติมให้เต็ม เต็มโดยความสงบเฉย ๆ มันก็เป็นพลังงานธรรมดา พลังงานที่ว่าเริ่มตั้งสติสัมปชัญญะจะหาทางออก นี่พลังของใจ ถ้าพลังของใจพลังของธรรมมีขึ้นมา มันจะเริ่มก้าวออกไป ก้าวออกไปในหัวใจ

ในใจนี่ พอมันในใจขึ้นมานี่ สิ่งนั้นมันสิ่งที่ทำให้ผูกมัด สิ่งที่ผูกมัดเกิดขึ้นมาจากความเป็นธรรมชาติของมัน แล้วเราจะแยกแยะออกไปอย่างไร มันทำให้เรามีกำลังใจ แล้วมันทำให้เราขึ้นมา นี่พลังของธรรม ถ้าพลังของธรรมเกิดขึ้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี้ต้องเป็นแบบว่า อาชาไนยไง เป็นอาชาไนยเพราะว่ามันต้องฝืนตน เวลาเราตั้งสัจจะอธิษฐานขึ้นมา จะไม่ทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วพอเวลานานไป ๆ มันก็ทำให้ผ่อนไป ๆ

อาชาไนยคือว่า มันต้องให้จิตใจเข้มแข็ง พอจิตใจเข้มแข็งนี่ สะสมบารมีธรรมออกไป บารมีธรรมนี้เป็นของที่ควรสะสมอย่างยิ่ง บารมีธรรมหมายถึงว่า สิ่งที่ทำ วิบากแล้วเกิดผล บารมีธรรมก็เกิดวิบาก วิบากคือการกระทำ เกิดกรรมคือการกระทำ วิบากคือผล บารมีธรรมอันนั้นทำให้เกิดขึ้นมา ไม่ได้ต้องมาทุกข์ยากอย่างนี้ต่อไป ถึงจะไม่ถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาก็ขอให้มีเครื่องบันเทิง เครื่องหล่อเลี้ยงใจให้ไปมีความสุข คือว่าให้มันเกิดความดีขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่บารมีธรรมควรสะสมอย่างนี้

บารมีธรรม เห็นไหม เวลาเราตกทุกข์ได้ยาก เราเดือดร้อนขึ้นมา ถ้ามีคนมาช่วยเหลือเรา นี่บารมีธรรมเราเคยสะสมมา แต่ถ้าเราตกทุกข์ได้ยาก แล้วเราต้องขวนขวายโดยคนเดียวของเราไป นี่บารมีธรรมเราไม่มี แต่เราก็จะหาทางออก บารมีธรรมข้างนอกคือว่าการช่วยเหลือกัน บารมีธรรมข้างใน ถ้าบารมีธรรมข้างในนะ มันจะใฝ่ดีไง ใจมันจะฝักใฝ่กับสิ่งที่ว่าจะหาทางออก ใจมันจะไม่ฝักใฝ่อยู่กับการจมอยู่กับสิ่งที่มูตรคูถ สิ่งที่มูตรคูถนี่เวลาพูดว่ามูตรคูถเราก็เทียบถึงข้างนอก มูตรคูถข้างนอก มูตรคูถคืออารมณ์ที่มันหมักหมมไว้ ก็เหมือนเหงื่อไคลออกมาจากร่างกายมันก็เป็นของสกปรก สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับใจแล้วมันก็ถ่ายทอดไว้ที่ใจ

คำว่า “กิเลส” นี่มันเป็นนามธรรม เป็นอาการของใจที่มองไม่เห็น แต่มันให้ผล ความให้ผลนี่ มูตรคูถคืออารมณ์ที่มันปกคลุมใจอยู่ แล้วใจก็อยู่กับมันอยู่อย่างนั้น เห็นไหม มันปกคลุมใจ ถึงว่ากิเลสนี้มีหัวใจของสัตว์โลกเป็นที่อยู่อาศัย กิเลสนี้ปกครองใจนี้ กิเลสเอาใจนี้เป็นบ้านเรือนที่อาศัยไป แล้วก็ปกคลุมไป เราถึงแพ้ตลอด เราแพ้ความคิดเราเอง เราแพ้กิเลสของเราเอง ความยับยั้งชั่งใจเราไม่มี นี่แหละจมอยู่ในมูตรคูถ มูตรคูถอย่างนั้น

แต่ในความคิดเหมือนกัน พลังงานของใจ เห็นไหม อาชาไนยขึ้นมาอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ อาชาไนยขึ้นมานี่ มันก็ตั้งสัจจะขึ้นมา บารมีธรรมขึ้นมา การจะเหนี่ยวรั้ง การจะแหวกว่ายออกจากสิ่งที่เป็นแก่นของกิเลส มันต้องมีความยากลำบาก ความยากลำบากอันนั้น ประกอบอาชีพข้างนอกก็ว่ายากแล้ว จะเทียบให้เห็นว่า การประกอบอาชีพข้างนอกเราก็ว่าเป็นงานที่แสนยาก แต่การประกอบความเพียรภายในใจมันยากขึ้นไปกว่านั้นอีก

แล้วถ้ามันยากขึ้นไปแล้วเอามาสอนทำไม? ทำแต่เรื่องยาก ๆ ...ความเรื่องยาก ๆ ก็เพื่อจะหาความสุขไง ความมักง่ายจะได้แต่ของง่าย ๆ ความเพียรพยายามเท่านั้น แม้แต่ลุยไฟก็ยังกล้าลุยไฟไป เพื่อจะไปเอาสิ่งที่ว่าเป็นสมบัติจากการลุยไฟ ผ่านจากการลุยไฟออกไป การลุยไฟไง ลุยไฟราคะ ตัณหา ไฟโกรธ ไฟโลภ ไฟหลง อยู่ในหัวใจนี่ ราคัคคินา โทสัคคินา มันเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราสามารถลุยออกไปได้ มันก็ลุยออกไปได้ ถ้าเราลุยออกไปได้นี่

ถึงว่ามันต้องมีกำลังใจ พลังงานของใจ เราเที่ยวไปเห็นว่ามันมีอยู่ในพลังงานของหัวใจเรา มนุษย์มีอยู่ทั้งหมด แต่เราเป็นคนที่ว่าอ่อนเปลี้ยเสียขา คือว่าเราเป็นคนที่ไม่มีความกล้าหาญ ไม่มีความคิดริเริ่มในหัวใจของเรา เราถึงปล่อยให้พลังงานของเราใช้ออกไปโดยธรรมชาติของมัน มันเผาผลาญตัวมันเอง เห็นไหม ชีวิตหนึ่งเผาผลาญจนพลังงานนี้หมดไป

แต่พลังงานนี้ถ้าเราสะสมรวมขึ้นมาเป็นสัมมาสมาธิ นี่พลังงานเกิดขึ้น พลังงานนี้เยี่ยมที่สุด พลังงานในหัวใจ เรามองแต่พลังงานข้างนอก ไม่ได้มองพลังงานในใจของเรา ดูสิเวลาเขาเหาะเหินเดินฟ้านี่ มันทำได้ขนาดนั้นจริง ๆ แต่เหาะเหินเดินฟ้าก็เป็นพลังงานหยาบ ๆ พลังงานข้างนอก เห็นไหม พลังงานข้างในน่ะ สัมมาสมาธิหมุนเข้าไป มันถึงชำระแก่นของกิเลสอันนั้นได้ กิเลสที่ว่าเหนียวแน่นขนาดไหน ที่แก่นอยู่ที่ใจนั่นน่ะ

แต่พลังงาน เห็นไหม พลังงานก็คืออาการของใจ ไม่ใช่ใจ เพราะถ้าสมุจเฉทปหานขึ้นมาแล้วนี่ กิเลสก็คืออาการของใจที่มันเกิดขึ้น เพราะมันอาศัยใจเป็นที่อยู่อาศัย พลังงานของธรรมก็เกิดขึ้นจากใจดวงนั้น พอชำระกิเลสสิ้นไป เห็นไหม อาสวะ อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ จิตตัวนี้เป็นผู้ที่วิมุตติด้วย จิตตัวนี้ไม่มีกิเลสครอบคลุมอยู่ ฟังสิ พลังงานถึงเป็นอาการของใจที่เราสร้างขึ้นมา พลังงานนั้นสร้างขึ้นมาเพื่อชำระตัวมันให้สะอาด ให้สะอาดให้ได้

นี่พลังงานของใจชำระใจของตัวเอง พลังงานของธรรม ถึงว่าปลงธรรมสังเวช พลังงานของธรรมทำให้ใจนี้พัฒนาขึ้น พลังงานของกิเลสทำให้มันแบบว่าเศร้าหมอง จมอยู่ในความคิดของตัวเอง จมปลักอยู่กับความคิด แล้วก็ความจมปลักถึงว่าอำนาจวาสนาน้อยไง เราไม่มีอำนาจ เรามีวาสนาน้อย นี่กิเลสมันสอนขึ้นมาก็สอนได้แค่นี้

อำนาจวาสนาน้อยทำไมเกิดเป็นคน? เกิดเป็นคนแล้วพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาที่ว่าทำให้สิ้นไป คือว่าเกิดเป็นคนหมายถึงว่า มีภาชนะรองรับ พุทธศาสนาคือยาธรรมโอสถ ทุกอย่างมีพร้อมหมดเลย มีภาชนะที่จะรองรับผลอันนั้น มีผลอันนั้นที่ว่าเป็นทฤษฎี ที่ว่าให้เราประกอบขึ้นมาเป็นธรรมโอสถให้หัวใจ คนมีวาสนาคือว่าคนที่พร้อมไง พร้อมทั้งจิตใจ เพราะมาเป็นชาวพุทธ ศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ พร้อมทั้งจิตใจ พร้อมทั้งธรรมที่ว่ามีอยู่ในปัจจุบันธรรมอันนั้น นี่พร้อมหมด

แล้วเราเป็นคนที่มีโอกาสขนาดนั้น ทำไมไม่มีวาสนา วาสนาพร้อมอยู่ แต่เวลานั้นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาในหน้าที่การงานที่เราทำหน้าที่การงาน นั้นเป็นเวลาที่ว่า ทุกข์ในธาตุขันธ์ กับความที่จะเอาชนะกิเลสนี้ ทุกข์ที่ว่าต้องชำระกัน เชือดเฉือนกันอยู่ภายใน มันถึงว่ามันเป็นลืมตา ๒ ข้าง ตาหนึ่งคือตาของโลก คือธาตุขันธ์ ตาหนึ่งคือตาของธรรม ที่ว่าใจดวงนี้ถ้ายังมีกิเลสอยู่มันก็หมุนเวียนไป

ถ้าพลังงานของธรรมจนสิ้นไป นี่พลังงานในตัวมันเอง มันชำระตัวมันเองด้วยพลังงานของกิเลสก็ดึงอยู่ในโลก พลังงานของธรรมก็พ้นออกไปจากกิเลส พ้นออกไปชั่วคราวก็ยังดี พ้นออกไปคือว่าความปล่อยวางชั่วคราว อันนี้อยู่ที่ไหน? อยู่ในหัวใจเราหมดเลย พระพุทธเจ้าถึงสอนให้พึ่งตนเอง พึ่งตนเองด้วยอาศัยเกาะเกี่ยวครูบาอาจารย์ทำอันนั้นขึ้นมา เกาะเกี่ยวไป พึ่งตนเองหมายถึงใจมันจะแก้ของมันขึ้นไป แล้วมันจะสามารถทำได้ อย่างเช่นเป็นช่าง ผู้ที่เป็นช่างอะไรก็แล้วแต่ จะไม่ประมาท จะไม่ประหม่า ไม่สนใจในสิ่งที่ว่าของที่เราเป็นอยู่จะเสียหายไปเลย เพราะทำได้

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นช่างซ่อมหัวใจของเรา ถ้าเราทำได้ขึ้นมา เราจะไม่กลัวเลยว่ามันจะไปถึงไหน ปกคลุมมันได้ ทำใจมันได้ นี่พลังงานของธรรมทำได้ขนาดนั้น นี้มันอยู่ที่ไหนล่ะ? มันอยู่ในตัวของเรา อยู่ในความริเริ่มของเรา อยู่ในการที่ว่าเราจะเอาออกมาใช้ เอามาเป็นประโยชน์กับเราเอง ของที่มีอยู่ในหัวใจของเรา เงินทองในบ้านเรา เรายังเห็นมีคุณประโยชน์กับเราได้ เรายังใช้สอยเงินทองนั้นเป็นประโยชน์

แต่กำลังใจหัวใจอยู่ในร่างกาย อยู่ในกลางหัวอกของเรานี่ เราไม่ปลุกปลอบขึ้นมาให้มีกำลังขึ้นมาในหัวใจของเราเพื่อจะชนะความคิดตัวเองบ้างเลยเหรอ? สมบัติอยู่ในเราแท้ ๆ พระพุทธเจ้าบอก “เพชรเม็ดหนึ่งอยู่ที่หน้าผาก แต่เรามองไม่เห็น เราหาทั่วไป”

นี่ก็เหมือนกัน หัวใจมีพลังงานอยู่เต็มหัวใจเลย เพียงแต่ว่าเราต้องปิดกั้นให้ใจนี้เป็นสมาธิ ไม่ให้ไหล พลังงานนี้ใช้รั่วไหลออกไปโดยที่ไม่มีประโยชน์ ถึงว่า “พุทโธ ๆ” ไป เพื่อให้พลังงานนี้รวมตัวขึ้นมา พอพลังงานรวมตัวขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับคนที่เป็นเจ้าของพลังงานนั้น หัวใจนั้นได้เสพพลังงานของใจ พลังงานของธรรม เราปิดกั้นขึ้นมาด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ให้พลังงานนี้ขึ้นมา ทรงตัวขึ้นมา ๆ พลังงานขึ้นมาก็เป็นประโยชน์กับเรา

นี่เงินทองเป็นประโยชน์ข้างนอก กำลังใจ หัวใจเป็นประโยชน์กับเราภายในหัวใจ ศาสนาสอนเรื่องของใจ เน้นเรื่องที่ใจ ใจนี้ประเสริฐที่สุด เอวัง