เทศน์บนศาลา

เทศน์อบรมในพรรษา

๒๖ ต.ค. ๒๕๓๙

 

เทศน์อบรมในพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ชาวโลกเขาปรารถนาความสุขกัน ทุกคนหวง ดวงใจนะ ดวงใจทุกหัวใจมันเร่ร่อน ดวงใจมันว้าเหว่ มันไม่มีที่พึ่ง คนไม่มีศาสนานะ คนไม่มีศาสนา เห็นไหม สักแต่ว่าอยู่ไปอย่างนั้นน่ะ มีความสุข มีความพอใจ มันก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เวลาทุกข์ขึ้นมาคอตก ไม่รู้จะแก้อย่างไร

เริ่มจากไม่มีศาสนานะ ศาสนาประเพณีนับถือกันตามประเพณี เวลามันทุกข์จริงๆ มันแก้ไม่ได้ เหมือนกันเลยล่ะ เรามีแต่ตำราของยา เราไม่มีตัวยาไว้ในตู้ยาในบ้านเลย ในตู้ยาในบ้านนะ มีแต่หนังสือ ตำราของยาวางไว้ในตู้ แต่ไม่มีเนื้อยาไว้ในตู้เลย เจ็บไข้ได้ป่วยเอาตำรามากางนี้กินไม่ได้ ตำรายาไม่ใช่ตัวยา

นี่เราก็ว่าเราเป็นชาวพุทธไง ถือกันตามประเพณี เขาว่าทำบุญกุศล ทำบุญทำทานกัน ตายแล้วจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ ไปรอเอาไปเกิดบนสวรรค์ จะไปลิ้มรสของสวรรค์ มีความสุขไง แต่พระพุทธเจ้าสอนนะ สอนถึงบุคคล ๘ จำพวก บางทีเราสวดกันอยู่ทุกวัน “สังฆะๆ” นั่นน่ะ คือว่าให้หัวใจนี่มันเสวยสุขในปัจจุบันเลย คือว่าธรรมะนี้เป็นยาไง ธรรมโอสถไง เป็นยาชำระโรคในหัวใจเลยนะ

ยานี่แค่เป็นตัวยา แค่ตำรา แค่จำมา ประเพณีไง ตามประเพณีมา แล้วก็มาปฏิบัติ นี่เอายาเข้าไปในใจเลยแหละ แต่มันหาปากของใจไม่เจอไง เราไม่สามารถเอายาเข้าไปในใจเราได้ไง มันก็เลยเป็นการสุดวิสัย เป็นการทุกข์ยาก จะทุกข์ยากขนาดไหนเราก็ต้องพอใจ พอใจ

ดูคน เห็นไหม เราตกลงไปในหลุมลึก หรือเราเป็นคนป่วยไข้หายจากไข้ เราจะพอใจมากเลย ไม่อยากกลับไปป่วยอีก คนป่วยแล้วหายจากไข้นี่มันจะเห็นเลย เห็นคุณของว่าการหายนี่คนหายจากโรคนี่มันจะมีความ... เอ้อ! ไม่ทุกข์ยากมากนัก คนขึ้นมาจากหลุมจากหล่ม ต้องมาชำระล้างร่างกายให้สะอาดใช่ไหม

ไอ้นี่ออกพรรษาแล้วจะพ้นจากถือศีล มันจะออกจากหล่มเหรอ เห็นไหม คิดสิ ถ้าเราคิดว่าเรามานี่เราชำระร่างกายไง ชำระร่างกายให้สะอาด... การถือศีล การถือวัตรปฏิบัตินี่มันก็เหมือนทำไม้ไง ไม้ที่สด ไม้สด เห็นไหม ไม้สดติดไฟยาก เอาศีล เห็นไหม เอาข้อวัตรปฏิบัติมาทำให้ไม้นี่แห้ง เราเอาไม้นี้ตากแดด พอไม้นี้ตากแดด มันแห้ง มันสมควรแก่งานไหม? ไม้แห้งใส่ไฟมันก็ติดง่าย ไม้สด ไม้เปียกใส่ไฟไป กว่ามันจะต้องไปเผากันจนกว่ามันจะเริ่มแห้งแล้วมันจะเริ่มไหม้

นี่ก็เหมือนกัน เราอุตส่าห์ถือศีล ถืออะไรมา นี่ใจมันคิดอย่างนั้น จะเทียบให้ดูเรื่องของกิเลสไง ถ้าทำความดี มันขัดกับกิเลส พอพ้นจากว่า เออ! ออกพรรษาแล้วเราจะได้สะดวกสบาย ไม่ต้องมีกติกาของใจ โอ้! มันรอเวลา มันยิ้มเลยนะ มันยิ้มว่า โอ๋ย! มันจะสะดวกแล้วล่ะ แต่มันเทียบให้เห็นในหัวใจของตัว เทียบดูสิ เทียบดูว่าคนตกลงไปในหล่มนะ ตกลงไปในหลุมมูตรหลุมคูถ ขึ้นมาล้างร่างกายแล้วอยากจะตกลงไปอีกไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราอุตส่าห์ปฏิบัติมา ร่างกายเราหรือว่าศีลของเราบริสุทธิ์ขนาดนี้ แล้วเรากลับไปอีกนะ มันถึงว่าถือได้ ศีลนี้ถือได้ ไม่จำเป็นว่าเฉพาะในเราตั้งกฎกติกาไว้ขนาด ๓ เดือนเท่านั้น นั่นนะให้มันมียา เวลายา “ยาขม” ยาขมไม่ใช่ขนม มันหวาน กิเลสมันต้องขัดใจอยู่แล้ว ฉะนั้น ให้ยับยั้งไว้ ให้พอเป็นที่พึ่งของใจ

เราไม่เคยปฏิบัตินะ อย่างเช่น เขาบอกเล่าหรือเราไปศึกษามา เราไม่เคยเข้าไปสัมผัส อย่างไรมันก็ลืม แต่ถ้ามันรู้ขึ้นมาในใจนะ ได้สัมผัส ได้รู้ขึ้นมาแล้วมันหลอกไม่ได้หรอก เราเข้าไปเห็นน่ะ ในตู้เซฟของเรานี่ เงินมีอยู่เท่าไร เราเปิดของเราออกมานับแล้วเราปิดของเราไว้ ใครมันจะมาหลอกเราได้ว่าเราไม่มีสตางค์ อันนี้ก็เหมือนกัน เราลองได้ปฏิบัติ เราลองได้กระทำแล้ว เราเข้าไปสัมผัส เราได้ไปรู้ นั่นน่ะ มันเป็นความรู้ภายในของเรา เอามาใช้เมื่อไรก็ได้ แล้วใครหลอกไม่ได้ แล้วจะหลอกตัวเองก็ไม่ได้

ก่อนเราจะมาประพฤติปฏิบัติ เราต้องลังเลสงสัยนะ เราต้องงงไปหมดเลยว่า เขาทำอย่างไรกัน เขาทำเพื่ออะไรกัน เขามีจุดหมายอะไร แล้วพอเข้ามาทำนี่นะ ก็ยังงงอยู่ ยังไม่รู้วิธีการ แต่พอทำเข้าไปจนเข้าไปลิ้มรสแล้วสิ พอลิ้มรสแล้วไม่ต้องให้ใครบอกเลย เห็นไหม รสของธรรมไง รสของธรรมเราเข้าไปเสวยเองนะ ว่าธรรมะของสูง ว่าใจไม่เสวยอารมณ์นั้นเป็นของสุดยอด สุดยอดนั้นมันเป็นขั้นสุดท้ายต้องเป็นอย่างนั้น แต่เริ่มต้นต้องเสวยเข้าไปก่อน ต้องเสวยเลย

มันเสวยกิเลสแล้วมาเสวยธรรมนะ จากหัวใจ... อย่าว่าแต่มันโดนเสวยกิเลสเลย มันเป็นโดยธรรมชาติ แล้วเรามากินธรรมะนี่มันต่างกันเลย ธรรมะคือความขัดหัวใจให้สะอาดขึ้น จากหัวใจหยาบๆ “หัวใจหยาบๆ” ฟังดูสิ มันเห็นของในโลกนี่เป็นคุณหมดเลย พอมาเห็นการปฏิบัติธรรมนี่เป็นของทุกข์ยากหมดเลย

แต่พอมันมุมกลับเข้าไปสิ ลองได้เข้าไปเสวยโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลแล้วเท่านั้นล่ะ มันจะกินแต่ธรรมอย่างเดียว มันจะไขว่คว้าเหมือนกับมรรคผลนี่อยู่แค่มือเอื้อมน่ะ มันกำหนดวันตายเลยนะ มันจะไม่หันกลับมาดูของที่ทางโลกนี่เลย มันจะดันไปข้างหน้าอย่างเดียว

หมายถึงว่า คนมันเดินหาทางไม่เจอเลยนะ เราเดินอยู่ในป่า ทุกข์ยากขนาดไหน ในป่ารกชัฏไม่มีถนนหนทาง ต้องพยายามดันตัวเองไป ในป่า ในเขาทางก็ไม่มี อาหารก็ไม่มี ทุกข์ยากมาก จนเดินพ้นออกจากป่านั้นไป แล้วขึ้นไปเห็นถนนเป็นทางนะ ๔ เลน ยาวเหยียดทอดไปข้างหน้า โล่งเตียนหมดเลยนะ นี่เป็นอย่างนั้นล่ะ ถ้าลองได้เหยียบอริยมรรคแล้ว

ทำไมมันจะไม่เอื้อมมือคว้ามัน มันก็อยู่แค่มือเอื้อม มันถึงไม่อยากให้สิ่งใดๆ ในเกาะเกี่ยว ในโลกนี้มาทำให้เสียเวลาเลย สิ่งใดๆ ที่มาเกาะเกี่ยวอยู่ มันทำให้เนิ่นช้า มันจะรีบสลัดออกๆ เลย นั่นถ้าเราออกจากป่ารกชัฏ แต่นี้มันรกชัฏไปหมดเลย ป่าของเรานี่ ป่าในหัวใจไง หัวใจไม่ได้ถึงในจุดที่สว่างเลย มันถึงได้เอือมระอา พอเริ่มการกระทำ ทำให้ใจมันไม่อยากทำ หรือทำแล้วก็ทุกข์ยากขนาดนี้

เปลือกไข่ไง เห็นไหม “ไข่” เนื้อไข่คือเนื้อหัวใจ เปลือกไข่เรากะเทาะไม่แตก เปลือกไข่นี่เราแค่เอาของแข็งกระทบหน่อยเดียวมันก็แตก แต่เปลือกไข่อวิชชา... พระพุทธเจ้าว่านะ เรา... มีพราหมณ์ไปติพระพุทธเจ้าไงว่าพระพุทธเจ้านี่ถือตัว ไม่ยอมกราบไหว้ใครไง พราหมณ์ผู้เฒ่าน่ะ พระพุทธเจ้าบอกว่า

“เรานะ ไม่เห็นใครในโลกนี้จะสมควรไง จะสูงกว่าพระพุทธเจ้า”

เพราะพระพุทธเจ้านี้ท่านเปรียบให้พราหมณ์นั้นฟังไง ว่าในไข่นี่นะ ไข่ด้วยกันทั้งหมด ไอ้ตัวแรกที่เจาะเปลือกไข่ออกมา ตัวนั้นเป็นตัวอะไร? เป็นตัวพี่ใหญ่ แล้วมันจะไปเคารพใครล่ะ มันมีใครสมควรเคารพบ้าง เพราะมันไม่มีใครสมควรเคารพเลย เพราะอะไร เพราะทุกหัวใจมันอยู่ในไข่ มันไม่ได้กะเทาะออกมา พระพุทธเจ้าสำเร็จออกมาเป็นพระพุทธเจ้ามีองค์เดียว หนึ่งเดียวในโลก หนึ่งเดียวในวัฏฏะ แล้วจะไปกราบไหว้ใคร ไอ้พวกนั้นมันจมมูตรจมคูถอยู่ในไข่ ไข่มันจะเน่าทิ้งหมด

หัวใจคือไข่ อวิชชามันคลุมอยู่นะ...ไม่มีทาง มันจะกะเทาะออกมาอย่างไร

พระพุทธเจ้าใช้จะงอยปากนะ กะเทาะเปลือกไข่ออกมา สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ไอ้อย่างพวกเราจะกะเทาะ เจาะอยู่ข้างนอกนะ แล้วเจาะเปลือกไข่เข้าไปให้เป็นสมาธิ...นี้ต่างกันนะ เพราะหัวใจนี่มันด้านไปหมดเลย กิเลสมันครอบคลุมไปหมด

เปลือกไข่นี้คือตัวกิเลส มันคลุมนะ เราพยายามทำใจให้สงบนะ ทำใจให้สงบนะ นี่กะเทาะเปลือก กะเทาะเข้าไปหาในตัวไข่นั้นก่อน แต่พระพุทธเจ้านี้กะเทาะออกแล้ว... พราหมณ์นั้นยังโง่อยู่ ยังไม่เข้าใจตามความเป็นจริง แต่พออธิบายแล้วก็เข้าใจนะ อ้อ! พระพุทธเจ้าพูดถูก เพราะพูดออกมาจากความจริง มันจะผิดไปตรงไหนนะ

เพราะพราหมณ์นั้น ผู้เป็นพราหมณ์มันต้องมีการทำใจสงบเหมือนกัน รู้เลยว่า อ้อ! ใจสงบเป็นอย่างนั้น แต่มันไม่มีปัญญาอย่างนี้ออกมา พระพุทธเจ้าพูดออกมาจะสะเทือนใจมาก ผู้เป็นธรรมนะ ผู้ที่ใจเป็นธรรม มันจะฟังเป็นเหตุเป็นผล ไม่เข้าข้างตัวเอง

นี่ของเราคิดดูสิ เราจะพยายามจะทำใจให้สงบ ป่ารกชัฏอันนี้ ก็เหมือนกะเทาะเปลือกไข่เข้าไปในหัวใจ พยายามทำใจให้สงบให้ได้ ทำใจให้สงบ รสของสมาธิ รสของความสงบ

“สุขอื่นใดเท่ากับความสงบไม่มี”

ความสงบจากเข้าสมาธิธรรมนะ กับความสงบจากกิเลสทั้งหมด ความสงบจากกะเทาะเปลือกไข่จากอวิชชาเข้าไปให้สงบ อันนี้ก็มีความสุขมากๆ ความสุขที่แปลกโลก โลกนี้ไม่เคยมี

โลกนี้จะมีความสุขต้องเกิดจากอามิสสินจ้าง เกิดจากความพอใจของกิเลส แล้วมันก็จะสงบตัวลงให้เรามีความสุขแค่นิดๆ เดียว แค่พยับแดดเท่านั้นเอง เราก็ยัง โอ้โฮ! เพลิดเพลินว่ามีความสุขมาก แล้วมันสงบในตัวมันเองนะ มันจะมีความสุขขนาดไหน

เอ้า! จินตนาการดูเอา

แล้วความสุขอันนี้ไปค้นหาที่ไหน จะไปหากันที่ไหนล่ะ

พระพุทธเจ้าสอนลงที่หัวใจไง คนที่มีกายกับใจ กายกับใจนะ คนตายแล้วเหมือนหลุดออกจากร่างกาย หัวใจมันตายไปแล้วนะ หมดโอกาสแล้ว เรามีกายกับใจ กายกับใจนะ เหตุผลอยู่ที่ตรงนี้เลย ไม่ต้องไปวิ่งหาข้างนอกเลย วิ่งไปแบบ อื้อหืม! มันเหนื่อยเปล่า เหนื่อยมากๆ เหนื่อยมากๆ

ความดำรงชีวิต ปัจจัย ๔ นั้น อันนั้นเป็นเหตุความจำเป็น ไอ้นั่นอย่างหนึ่ง แต่ปัจจัย ๔ ดูสิ เราใช้สอยกันขนาดไหน นี่มันจะอ้าง เวลากิเลสมันจะปฏิบัติ เวลามันจะเข้ามาทำความสงบใจนะมันจะอ้าง ว่าเราเป็นคนที่ว่าต้องยังมีการมีงาน ยังมีความจำเป็นอยู่ อันนี้มันเริ่มผลักให้ล้มตั้งแต่ทีแรกเลย

“ความจำเป็น” ทุกคนก็มีความจำเป็นทั้งนั้นล่ะ

แต่ถ้าเครื่องปัจจัยเครื่องอาศัยนะ กับที่ว่าเราไม่ยอมเจียดเวลามาทำอย่างนี้เลยนี่ ไม่ยอมเจียดเวลามาให้ถึงความสงบเลย... ต่างกันมาก ถ้าเราหักกลับมาความสงบแล้วนะ ปัจจัยเป็นของที่ว่ามีมากเกินไป ผู้ที่ปฏิบัติแล้วปัจจัยจะมากเกินไปเลย มันเป็นภาระให้การเก็บรักษายิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่ มันจะเจียดเวลาออกมาให้มีเวลามากๆ เพื่อจะทำใจให้สงบ ให้มีเวลามากๆ ไง

เวลามากๆ มันก็มีเหตุมาก เหตุมาก ผลก็ต้องเกิด เราพยายามสร้างเหตุ สร้างเหตุ สร้างเหตุ

มรรคและผลนะมีอยู่ตลอดเวลา... แน่นอน ขาดอย่างเดียว คือขาดเหตุปัจจัยของเราเท่านั้น มรรคผลของพระพุทธเจ้า มรรคผลของสาวกลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า ประกาศไว้โต้งๆ หมดเลย ก็เหมือนกับสินค้าในห้างสรรพสินค้า สินค้ามากมายเลย แต่เราไม่มีเงินไปซื้อ เราเข้าไปหยิบฉวยไม่ได้ เพราะเราไม่มีเหตุผลพอ

นี่ก็เหมือนกัน เหตุเพราะเราทำใจไม่สงบพอ เหตุเพราะเราทำใจไม่ลงตรงกลางไง มัชฌิมาปฏิปทาไง บางคนว่าเราปฏิบัติน้อย เรานั่งน้อย บางคนว่าเรานั่งมากเกินไป นั่งนานเป็นวันๆ ก็ไม่เห็นมันลง ไม่เห็นมันเข้าสมาธิเลย การลองผิดลองถูกไง ใจมันไม่เคยทำ ของที่มันไม่เคยทำ มันจะลงให้แบบว่าเป็น... เราตักน้ำใส่ตุ่ม เราเห็นปากตุ่มเราก็ใส่ลงไป มันก็เป็นตุ่มใช่ไหม แต่หัวใจไม่เป็นอย่างนั้นนี่นา หัวใจนี่มันต้องสงบตัวลงมา สงบตัวเข้ามา สงบตัวเข้ามา เพราะกระแสนี้มันออกไปเหมือนกับดวงอาทิตย์ มันออกไปทั้งรอบตัว มันไม่ใช่ออกไปอย่างตุ่ม มีแค่ปากใช่ไหม มีแค่ปากตุ่มเราใส่ตุ่ม เราตักออกได้ ตักเข้าได้ มันมีที่รอบอยู่

แต่หัวใจมันออกรอบตัว มันไม่รู้ตรงไหนเป็นปาก ตรงไหนเป็นก้น ตรงไหนจะใส่เข้าใส่ออก มันต้องใช้สติยับยั้งดึงเข้ามา ดึงเข้ามาเพื่อให้มันสงบตัว เห็นไหม ที่ว่ามันเป็นเปลือกไข่ไง มันออกรอบตัว เพราะของไม่เคยทำ

เปรียบเทียบเข้ามาเท่านั้น เปรียบเทียบจากวัตถุเข้ามาเพื่อให้เห็นเรื่องของใจ ว่าใจนี่มันออกอย่างไร พอเราเข้าใจอย่างนั้นปั๊บ อ้อ! มันถึงว่าไม่ใช่วัตถุ มันเป็นนามธรรม... จะเปรียบเฉยๆ เปรียบสตินี่สติๆ ถ้าสติพร้อมอยู่ เห็นไหม “สติพร้อม” เริ่มต้นนั่งนี่สติจะพร้อมมากเลย แล้วไปก็จางลงๆๆ มันก็เลยพลิกไปเลย โดนเอาไปกินอีกแล้ว

นั่นถึงว่าเวลาเราติใคร ก็ติคนอื่น ใครก็ติเข้าไปได้ แต่ไม่เคยติตัวเองไง ทำไมใจมันไม่เป็นไป?

เพราะเริ่มติเรา เราเริ่มติเริ่มเอะใจไง ต้องถามตัวเองไง ถามใจของตัวเองว่า “ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้” นี่มันจะมีเหตุมีผลให้เริ่มการค้นคว้าเข้ามาภายใน ยิ่งถามเท่าไร ยิ่งหาเหตุในหัวใจเท่าไร นั่นล่ะคือการสาวเข้ามาให้สั้นเข้า กระแสที่พุ่งออกไปไง

กระแสที่พุ่งออกไปแล้วมันก็ลากความคิดเราไปหมดเลย ลากตัวเราไปเลย ลากว่าเราเก่งนี่ไปหมดเลย ไปถลอกปอกเปลือก ไปจนหมดอำนาจมันแล้วนะหันกลับมา ถึงว่า โอ้! เรา… แล้วเดี๋ยวก็ไปอีกแล้ว ไปอยู่อย่างนั้นนะ ไปอยู่อย่างนั้นนะ ร้อนไหม?... ร้อน ทุกข์ไหม?... ทุกข์

มันไม่ได้ผลเพราะว่าคิดผิดที่ไง ย้อนไปผิด ตั้งใจไว้ผิด ต้องว่าอย่างนั้น ว่าตั้งใจไว้ผิด

เราว่าเราปฏิบัตินะ ดูอย่างตาชั่ง เราเอาของขึ้นไปวางบนตาชั่ง น้ำหนักมันต้องเกิดทันทีเลย แต่นี่เราทุ่มทั้งตัวนะ ทุ่มทั้งตัว ทำทั้งวัน นั่งภาวนามากี่เดือนๆ แล้วใจมันไม่เป็นไปเพราะอะไร เห็นไหม วัตถุนี่เราเอาแค่เอาของอะไรก็ได้ขึ้นไปบนตาชั่ง น้ำหนักมันเกิด ตาชั่งเข็มต้องกระดิกไปเลย แต่หัวใจมันไม่กระดิกไปล่ะ

เหตุมันพอไหมล่ะ... เหตุน่ะ

“เหตุ” น้ำหนักมันอยู่ที่ไหน วางบนตาชั่ง ไปวางไว้ตรงไหนของตาชั่ง นี่กำหนดดู ลมกระทบ ดูลมกระทบ ดูใจก็ดูใจ ดูได้หมด วางลงไปตรงนั้นล่ะ วางลงที่ตรงหัวใจปั้บ หัวใจกับพุทโธไง ความรู้สึกนะ ความรู้สึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ วางลงตรงนั้น วางลงที่ลมหายใจเข้าออก วางลงไป วางลงไป วางลงไป วางลงไปให้กดลงไปให้ได้ กดน้ำหนักของกิเลสให้มันเงียบสงบลงไป กำหนดไว้ กำหนดไว้นะ

“รสของสุข” สุขข้างนอก รสของสุขข้างนอก แต่สุขภายในน่ะ...

นี่ถึงว่าศาสนาพุทธไง ศาสนาของพระพุทธเจ้าไง มรรคผลไง ผลของส่วนบุคคล ผู้ใดทำผู้นั้นได้

ไอ้นี่ไม่อย่างนั้นน่ะ มีแต่ผู้จำ คอยแต่จะซัก คอยแต่จะถามให้ได้ แล้วก็จำว่า “ฉันรู้ๆ” อันนั้นเป็นการมั่นหมายนะ ฟังเทศน์นี่ฟังเทศน์ฟังแล้วปัจจุบันธรรม อย่าหมายออก อย่าหมายจินตนาการ จินตนาการนั้นเป็นอดีตทั้งหมด พอหมายจินตนาการ จินตนาการไป คาดเดาไปก่อนไง นี่มันเป็นอดีตไป มันไม่มัชฌิมา มันไม่ลงตรงกลาง เห็นไหม มันต้องเอาเหตุปัจจุบันของเราสิ

ไฟนะ ไฟใส่ไปที่เตา ไอ้นี่ไฟไว้บนศีรษะ มันก็ไหม้หัวเอาสิ เอาไฟไว้บนศีรษะได้อย่างไร ไอ้ไฟเวลาบนศีรษะ มันก็ไหม้ใช่ไหม ไอ้นี่ความรู้นะ ความรู้ความคิดว่าแน่ ว่าเก่ง ว่ารู้ เอาไว้คุยกันไง ยิ่งรู้มากกิเลสมันก็อยู่ข้างหลังความรู้นั่นล่ะ ยิ่งรู้มาก ยิ่งจินตนาการมาก มันก็หลอกมาก พอหลอกมากก็เป็นอย่างนี้ หลอกมากก็หมายมาก หมายมากก็คาดไปข้างหน้ามาก คาดไปข้างหน้ามากก็ทำแล้วก็เหนื่อยเปล่า เหนื่อยเปล่านะ ด้วยความอยากไปก่อนไง ด้วยความอยากรู้ไปก่อน อยากจินตนาการไปก่อน การปฏิบัติทำอย่างนั้นไม่ได้

การปฏิบัติห้ามจินตนาการไปก่อน ศึกษาเล่าเรียนมา พอจะเริ่มนั่งนี่ เอาความรู้ใส่ตู้แล้วล็อกกุญแจไว้เลย ทำเหมือนคนโง่ที่สุด เพราะจิตมันเป็นแบบนั้น ธรรมชาติไง น้ำไง น้ำใสน้ำสะอาดมันตอบใครไม่ได้

ไอ้นี่อยากให้น้ำใสน้ำสะอาดแต่ปั่นไว้ ปั่นไว้ ปั่นให้น้ำนั้นเป็นฟองอยู่ตลอดเวลา ไม่สงบสักที หยุดสิ หยุดความคิดของตัว หยุดความที่ว่าไอ้ที่ว่าฉลาดๆ ไอ้ที่ว่าแน่ๆ นั่นน่ะหยุดให้ได้ ทีนี้มันหยุดไม่ได้ หยุดแล้วมันหมุน หยุดแล้วมันหมุน ความคิดมันหมุนไปธรรมชาติอยู่แล้ว คิดดูสิว่ามันคิดหมุน มันก็เหมือนกับน้ำสกปรก เวลาเขาทำน้ำเสีย เห็นไหม เขาต้องปั่นให้น้ำมันสะอาด

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรายั้งไว้ ยั้งไว้นะ มันสะอาดขึ้น สะอาดขึ้น แล้วความเร็วของจิตมันก็เป็นอย่างเดิม มันยังหมุนอยู่ แต่หมุนแบบสะอาดไง มันถึงมีพลังงานของใจไง ใจที่เป็นสมาธิ จิตที่นิ่งที่สุดนั่นน่ะ ความเร็วของจิตแล้วมันนิ่งที่สุด มันอยู่ในตัวของมัน พลังงานมันจะเกิดขนาดไหน พลังงานนะ

แต่มันเกิดพลังงานพร้อมกับความสุขด้วย ความสุขของใจนะ ความสุขของความสงบมีแต่ความสุขมาก แล้วถ้ามีความสุขมาก มันก็เผลอก็ลืม เห็นไหม สมาธินี่ทำให้คนติดสุข มีความสุขมาก แล้วพอความสุขแล้วพอติดสุข อยู่จนเสื่อม เสื่อมไปนะ เสื่อมไป หมดไป ร้อนไปค่อยกลับมาหาใหม่ แล้วก็เสื่อมไป จนคิดว่า “อ้อ! สมบัติอันนี้มันเป็นอนิจจัง” ค่อยเอามาเป็นสมาธิ เอาสมาธิมาตั้งเป็นฐานของมรรคนะ แล้ววิปัสสนาขึ้นไปนะ นั่นน่ะ พลังงานของจิตที่สงบมันยิ่งได้ประโยชน์เข้าไปใหญ่ วิปัสสนาญาณ... สมุจเฉทปหาน กิเลสตัดเป็นช่วงๆๆ เข้าไปเลยล่ะ

นั่นน่ะ มันถึงว่ามันมีความสุขแล้ว แล้วมันยังมีพลังงานในตัวมันเอง เรามีความสุขแล้วเราใช้ไม่เป็นไง ไก่ได้พลอยไง ไก่มันได้พลอยมาเม็ดหนึ่ง มันขอข้าวสารเมล็ดเดียวเท่านั้นน่ะ พลอยมันใช้ไม่เป็น นี่ความสุขของสมาธิยังหาไม่ได้ แล้วสมาธิหาไม่ได้แล้วก็ยังเป็นไก่ได้พลอยอีก ดูสิว่าทางเดินของเรายังอีกยาวไกลขนาดไหนทางเดินถึงจะสิ้นสุดของการปฏิบัติ... สิ้นสุดของทุกข์ งานเรายังอีกมาก

“งาน” งานภายใน งานของอาชาไนยไง บุรุษอาชาไนย คนอาชาไนยมันเลือกกินเลือกใช้นะ สัตว์อาชาไนยไม่คลุกอยู่กับของเหม็น ไอ้นี่หัวใจเราเป็นอาชาไนยไหม ถ้าหัวใจเราอาชาไนย หัวใจเราต้องเลือกสิ เลือกสิ่งที่ว่ามันพาให้หลงไปนั่นนะ สิ่งที่ชักหัวใจให้กลิ้งไปอยู่กับกิเลส...ไม่เอา ไม่เสวย ไม่กิน สัตว์อาชาไนยมันยังเป็นไปได้ แต่หัวใจเรา... เราเห็นสัตว์อาชาไนย เราว่าสัตว์ประเสริฐ เราดีกว่าสัตว์ภายนอก ดีกว่าสัตว์เดรัจฉาน แต่สัตว์ของใจ สัตว์มนุษย์นี่มันไม่อาชาไนยนี่นะ มันกินทุกอย่างที่ขวางหน้า นี่เทียบเข้ามา ดีแต่ยกย่องตนว่าตัวเองฉลาดไง ถ้าฉลาดทำไมไม่เอาใจให้สงบได้ เอาใจวิปัสสนาให้ชำระกิเลสได้ นี่ดู... ถามใจตัว ถามใจตัวมันก็ได้เป็นประโยชน์นะ

มันนอนจมนอนใจไง ใจมันนอนจม มันไม่มีใครสะกิดมัน ไม่เคยมีใครสะกิด “เราเท่านั้นเป็นหนึ่งในโลก ในโลกนี้ใครมันจะแน่กว่าเรา ในโลกนี้ใครจะประเสริฐกว่าเรา” นั่นล่ะมันนอนจมนั่นล่ะ ไม่มีใครเคยมาแบ่งแยกอำนาจจากมันเลยในหัวใจเรานะ กิเลสนี่มันครอง ครองใจเราว่าหนึ่งเดียว ในโลกนี้ไม่มีใครจะเท่านี้เลย

แล้วธรรมะนี่เข้าไปแบ่งไง แบ่งมาให้รู้ว่าตัวเองยังโง่อยู่ ไอ้ว่าฉลาด ฉลาดเพราะไอ้โง่พาให้ฉลาดไง “โง่พาให้ฉลาด” ฟังสิ เพราะกิเลสมันโง่ แล้วมันก็ว่ามันฉลาด ธรรมะพระพุทธเจ้าต่างหากเป็นของประเสริฐที่ว่าทำให้เราพ้นทุกข์ได้ เป็นของที่ว่าเป็นปัญญาไง ความเห็นชอบ มรรคมีองค์ ๘ เห็นไหม ดำริชอบ ปัญญาชอบ ปัญญาอย่างนั้นต่างหากถึงว่าเป็นของประเสริฐ

แต่มันว่าอันนั้นไม่ดี เพราะมาทำลายมัน มาขัดกับความรู้สึกของมัน มาขัดกับความเคยใจไง มาขัดกับความสะดวกของใจ การที่ว่ามันจะกินได้ตามใจชอบ ถึงว่า “โง่พาฉลาด” ฉลาดแบบโง่ๆ แต่ฉลาดแบบธรรมไม่มี ฉลาดแบบพระพุทธเจ้าสอน ฉลาดแบบอริยมรรค

“ปัญญาเท่านั้น” ปัญญาเท่านั้นทำให้พ้นจากกิเลส ปัญญาเท่านั้นสามารถยับยั้งความคิดได้ ฟังสิว่า “ปัญญาสามารถยับยั้งความคิด” เพราะความคิดอันนั้นมันเป็นสังขาร สังขารคือการปรุงแต่งของใจไง สังขารนี้เป็นธรรมชาติ จิตนี้เป็นธรรมชาติอย่างนั้น จิตนี้มันเป็นพลังงานตัวรู้นะ พลังงานเท่านั้น แล้วมันหมุนออกมาเป็นสังขารน่ะ วิญญาณรับรู้ไง อารมณ์ผัสสะกระทบกับใจ

“มโน” เห็นไหม มโนคือหัวใจ ผัสสะก็ธรรมารมณ์ “มโนวิญฺญาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ “ เห็นไหม “...สัมผัสเสปิ นิพพินทะติ” คือว่าแม้แต่หัวใจนั้นก็ควรเบื่อหน่าย ความสัมผัสของใจกับอารมณ์ก็ควรเบื่อหน่าย ผลที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสนั้น นี่ว่าความคิด เห็นไหม สังขารไงสังขาร สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง มันเป็นธรรมชาติของใจเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ากิเลสมันครอง มันถึงว่าความคิดของมันไง มันถึงว่าไม่ใช่ปัญญา สังขารนี้ไม่ใช่ปัญญา

แล้วทำอย่างไรให้เป็นปัญญาล่ะ? ก็จิตมันสงบก่อน พอจิตสงบก่อนแล้วคิดออกมาใหม่ มันก็เป็นสังขารอันเก่า แต่มันมีตัวยับยั้ง มีสติอยู่ เห็นไหม มีสมาธิอยู่ พลังงานอันนี้พอ ก็เป็นปัญญา ปัญญาของกิเลสใช้มันก็ใช้ผ่านสังขาร

ปัญญาของอริยมรรคก็ผ่านสังขาร ฟังสิ “ผ่านสังขาร” ใช้สังขารนี้เป็นทางเดินเหมือนกัน แต่มันมีสมาธิ มันมีพลังงานตัวยับยั้ง มันก็เลยเป็นปัญญา เป็นปัญญาที่คิดออกมาแล้วไม่เร่าร้อน เป็นปัญญาที่คิดตัด สังขารกิเลสใช้นี่มันหมุนเพื่อผูกมัด ปัญญาของพระพุทธเจ้านี้มันมีสติ มีสมาธิ มีพลังงานตัวยับยั้ง ตัวตัดขาด มันจะต่อสู้กันตลอดเวลาถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ

การต่อสู้ที่สนามหัวใจนั่นน่ะ สนามหัวใจของเรา ในร่างกายและหัวใจของเรานี้เป็นสนามรบอันประเสริฐ เป็นงานอันใหญ่ งานข้างนอกมันเป็นงานข้างนอก เป็นงานอันประเสริฐ หันเข้ามาข้างในนี้เพราะมันชำระภพชำระชาติไง

การเวียนว่ายตายเกิดมันไม่มีต้นไม่มีปลาย มันหมุนไปตลอด มันหมุนไปตลอด ดูแบบทะเล มหาสมุทรสิ เราตกอยู่ในนั้น มันจะวนไปไหน แล้วสวะอันนี้มันโดนพัดเข้ามาบนฝั่งหรือบนเกาะๆ หนึ่ง นี่เราเกิดเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง เหมือนกับสวะหรือว่าไอ้พวกขอนไม้ ไอ้เศษสวะในทะเลนั้นมันเข้ามาติดบนบก แล้วเดี๋ยวมันก็โดนน้ำซัดออกไปอีก นี่ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ชาติหนึ่งไง ทำไมไม่ใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ ใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์มันก็สามารถไง จากติดเกาะ จากติดผืนดินนี่ เราลุกขึ้นมาเลย ให้สวะนั้นมันลุกได้ เดินได้

นี่ก็เหมือนกัน ให้หัวใจมันตื่นไง ถ้าหัวใจไม่ตื่น มันก็สวะนั่นล่ะ ดับลงไปมันก็หมุนลงไปอีก จิตนี้มันต้องวนออกไปอยู่แล้ว วนออกไป มันทุกข์ขนาดไหนคิดดูสิ แล้วนี่วนมาเจอแล้ว คิดดูว่าเกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้มีเท่าไร แล้วที่ว่านับถือศาสนาพุทธมีเท่าไร แล้วปฏิบัติมีเท่าไร นี่เทียบมาๆๆ

แล้วปฏิบัติแล้วยังมีปฏิบัติผิดปฏิบัติถูกอีกด้วยนะ ปฏิบัติเพื่ออะไรนั่นน่ะ เวลาปฏิบัติ ปฏิบัติทั้งนั้นนะ ว่าปฏิบัติธรรมๆ... ธรรมะของใคร ธรรมะของพระพุทธเจ้าก่อน สักแต่ว่าทำกัน ว่านั่งปฏิบัติ นั่งปฏิบัติ

เราเข้าถูกทางนะ ว่าอย่างนั้นเลย ว่าถูกทางเพราะอะไร เพราะว่ามันทำแล้วมันลงที่หัวใจไง ไม่ใช่ทำแล้วไปลงที่อื่น ลงที่หัวใจนะ แล้วหัวใจต้องปลอดโปร่งโล่ง แล้วต้องมัชฌิมาไง ลงกลางหัวใจของเราทั้งหมด ชำระลงที่นี่ มันจะได้มันให้ได้เป็นผลตามนามธรรม ไม่ใช่ว่าได้ผลแต่ว่าทำแล้วเพื่อไปแขวนคอไง เพื่อเอาป้ายแขวนคอว่าฉันเป็นนักปฏิบัติ เอาชื่อเสียง เอาศักดินาจากข้างนอก... ไม่ใช่

“เราเป็นคนต่ำต้อย เป็นผ้าขี้ริ้ว” เหยียบย่ำลงไปเลยที่ใจนั่นน่ะ มันยิ่งชำระเท่าไรมันยิ่งมักน้อย

ธรรมะ คือการเอาออกไง ธรรมะแท้นะ เพื่อความมักน้อยสันโดษ เพราะมันอิ่มในตัวมันเอง ใจมันประเสริฐนะ มันประเสริฐกว่าทุกๆ อย่าง เพราะใจนี่ถ้าสัมผัสธรรมได้ เวลามันทุกข์มันก็ทุกข์สุดๆ หัวใจน่ะ

ไม้น่ะ เวลาใส่เข้าไปในไฟ เวลามันโดนความร้อน มันแตก เสียงมันดังระเบิด แต่มันทุกข์ไหม ถามมันสิ วัตถุสิ่งใด... ของนี่ลองใส่เข้าไปในไฟสิ เผาเข้าไปสิ มันไม่เป็นทุกข์เลย หัวใจเท่านั้นมันทุกข์ หัวใจเรามันเจ็บ มันเร่า มันร้อนนะ แล้วทุกข์ก็ไม่เท่ากันด้วยนะ เวลาของรักของเราพลัดพรากจากเราไป น้ำตาไหล น้ำตาคลอ ไอ้คนที่มันมองอยู่มันหัวเราะเยาะด้วย “ของแค่นี้ทำไมมันเสียใจอยู่ได้”

เวลาใจของเราทุกข์ มันทุกข์เพราะหัวใจของเรา

เวลาใจมันทุกข์ อะไรมันจะทุกข์เท่าหัวใจ แล้วอะไรมันจะสุขเท่าหัวใจเหมือนกัน

ใจถึงประเสริฐไง เวลามันปล่อยวาง เห็นไหม เวลามันปล่อยวางขนาดไหนเราสบายใจ มันพองขนาดไหนนั่นน่ะ จะเหาะเหินเดินฟ้านะ ขนาดเรานั่งเฉยๆ อยู่นี่ มันยังจะเหาะจะเหินเลย มันโล่งมันโถงไปหมด แล้วมันชำระไป ชำระไปนั่นน่ะ ชำระลองดูน่ะใจ

เวลามันหลุดออกไปหมดแล้ว แล้วดูว่าใจมันไม่มีนะ ไม่มีอย่างไร

คนเขาบอก คนเขาเล่ากันนะ มันก็ว่าไปประสามัน แต่เราสัมผัสของเราเองมาตลอด สัมผัสมาตลอด ใครจะมาโกหกไม่ได้หรอก แล้วถ้ารู้จริงนะ โกหกตัวเองก็ไม่ได้ จะแกล้งเซ่อ แกล้งโง่ขนาดไหน มันก็รู้ว่าจิตมันเป็นแบบนั้น จะปฏิเสธว่ามี-ไม่มี มันเป็นของมันเองอยู่ตลอดเวลา เหมือนของเรามีอยู่ เราจะบอกเราไม่มี มันก็มีอยู่อย่างนั้น แล้วคนอื่นพูดก็ไม่มีความหมาย

เรายังหลอกเราไม่ได้ แล้วใครมันจะหลอกได้

เวลามันหลง มันก็หลงเต็มที่นะ ได้ ๕ ได้ ๑o นี่แหม นับใหญ่เลย นับแล้วนับอีก...ไม่ต้องไปนับมัน ของมันมีอยู่นะ ปฏิบัติทุกวันๆ ทำมาเรื่อยๆ มันเหมือนคนค้าขายนะ ถ้ายิ่งค้าขายแล้วมีกำไร มันมีแก่ใจนะ ถ้าหัวใจมันเริ่มทำแล้วมันได้ประโยชน์ขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ต้องพยายามกัดฟันนะ ถ้าไม่ว่าขาดทุนแล้วมันจะเลิก ขาดทุนๆๆ แล้วไม่สู้ๆ

หัวใจถ้ามันสู้จริงๆ นะ การค้านี่มีล้มลุกคลุกคลาน ขนาดการค้าทางโลกเขายังมีล้มลุกคลุกคลานคือว่ามันมีกำไร-มีขาดทุนไปเรื่อย แล้วแต่การตลาด แล้วแต่วาสนาบารมีของบุคคล ไอ้นี่ก็เหมือนกันนะ หัวใจ ถ้าเราทำของเรา เราทำของเรา วาสนาบารมีของเรา แล้วมันทำเข้ามา ถ้าหัวใจมันประเสริฐขึ้นมา ของเมื่อก่อนที่เราเห็นมีคุณค่าทางโลก เห็นไหม เราจะยึดมั่นถือมั่นมากเลย แต่ถ้าใจมันเป็นธรรมขึ้นมา มันจะติตัวเองเลยว่า “ทำไมมันโง่ขนาดนั้น”

ของสิ่งเดียวกันนั้นน่ะ มันมองต่างกันเลยถ้าใจมันเปิดนะ

แต่ถ้าใจมันปิดนะ มันก็ปิดวันยังค่ำ มันติดอย่างไรมันก็ติดอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าใจมันเปิดขึ้นมา มันเห็นโทษ ๒ ชั้น เห็นโทษของของ ของนั้นชิ้นหนึ่ง แล้วยังเห็นโทษของใจที่ไปติดอีกชิ้นหนึ่ง เป็นของ ๒ อย่าง

แต่ถ้ามันติด... มันไม่เห็นเลย เราไปติดก็เป็นของดี ของๆ นั้นเป็นของดี ดีกับดีก็เป็นอันเดียวกัน ก็เลยกลิ้งหมุนไปเป็นอันหนึ่งเดียวหมดเลย แต่ถ้ามันแยกแล้วมันแยกออกจากกัน มันแตกออกไปนะ ของนั้นก็เป็นของนั้นอยู่ประจำโลก หัวใจที่หลุดออกมา หัวใจที่ปล่อยวางออกมา มันก็มีความสุขอีกชั้นหนึ่ง

นี่ผู้ฉลาดนะ หัวใจมันประเสริฐขึ้นมาอย่างนั้นล่ะ มันปล่อยวางของข้างนอกแล้วนะ แล้วมันมาปล่อยวางอารมณ์ในใจอีกชั้นหนึ่ง ปล่อยวางอารมณ์ในใจนะ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจนี่มันก็เป็นวัตถุ ความคิดนี่เป็นวัตถุอันหนึ่ง เห็นไหม เราปล่อยวัตถุภายนอกแล้วเราต้องมาปล่อยวัตถุภายในด้วย

พอปล่อยวัตถุภายในนะ อารมณ์ที่เป็นวัตถุ พิจารณาจนมันปล่อยวาง พิจารณาจนปล่อยวางนะ พิจารณาเห็นโทษไง เราเห็นโทษวัตถุภายนอกใช่ไหม มันเป็นวัตถุเราเห็นง่าย แต่อารมณ์นี้เราจับต้องไม่ได้ เราไม่เห็นว่ามันเป็นวัตถุได้อย่างไร

อารมณ์นี้เป็นวัตถุได้อย่างไร?... เป็นสิ เป็นเพราะว่าจิตมันคิดมันถึงจับต้องไง พอจับต้องแล้วต้องเป็นวัตถุ “จิตจับต้องนะ” ถ้าจิตไม่จับต้อง มันจะเป็นอารมณ์ขึ้นมาไม่ได้ เป็นความคิดขึ้นมาไม่ได้ ถ้าเป็นความคิดขึ้นมา เราต้องคิดอยู่ตลอดเวลาสิ

เวลานี้เราคิดเรื่องงาน เห็นไหม เวลาเข้าครัว เราคิดเรื่องทำกับข้าว เวลาเรามานั่งที่โต๊ะ เราคิดแต่เรื่องจะกินข้าว... ทำไมมันไม่เป็นอันเดียวกันล่ะ นั่นมันเป็นวัตถุเป็นชิ้นๆๆ มาตลอด เพราะจิตมันไปคิด มันถึงเป็นวัตถุ... แล้วจิตจะปล่อย ปล่อยอย่างไร? ก็ต้องเอาวัตถุนั้นมาคิด เอาวัตถุนั้นน่ะ ก็เอาความคิดแก้ความคิดไง เอาวัตถุนั้นมาตั้ง ตั้งเวลาปฏิบัตินะ ตั้งเวลาเราพิจารณา ตั้งว่า “สิ่งนั้นมันเป็นอะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ดับ ดับได้อย่างไร”

มันเป็นธรรมชาติหมุนอยู่ ธรรมชาตินี้มันหมุนอยู่ ธรรมชาตินี่ แล้วเราเกิดเป็นคนนะ มันก็หมุนอยู่อย่างนี้ ถ้าเราไม่เอามาคิด มันก็ใช้ไปโดยธรรมชาติแล้วมันก็เสื่อมไป แล้วสลายไป แล้วเราก็หมุนไปเรื่อยๆ หมุนไปเกิดภพชาติใหม่ไป แต่ถ้าเรามาคิดตรงนี้ มันปล่อยวางเข้ามาตรงนี้ มาคิดถึงความคิดของตัว

แล้วคิดอย่างไร? จับต้องอย่างไร? ปัญญาไง จับต้องแล้วแยกแยะ อารมณ์ที่มันมีความคิดนั่นน่ะจับไว้นะ จับได้ไหม? ไม่ได้เพราะอะไร เพราะสติเราไม่มี เพราะเราไม่เคยทำ เพราะเรายังทำไม่ถึงขั้นตอน

พอจิตมันสงบ เราก็เทียบสิ เวลาเราปล่อยวาง เราก็เทียบ เวลาเราคิด เราก็เทียบ แล้วเราก็มาดูกันช่วงนี้ ถ้ามันไม่สงบ มันเป็นโลกียะ มันคิดแบบโลกนั่นน่ะ ก็รู้... รู้ที่ไหน? รู้ที่ปาก

เวลาโมโห เราโมโหอย่างนั้น เราคิดอย่างนั้นนะ สิ่งที่มันเกิดขึ้นแล้วนะ มันล่วงไปแล้ว มันเป็นอดีต เราคิดขึ้นมา มันก็เป็นอดีต

การประพฤติปฏิบัตินี่มันเป็นปัจจุบันธรรมไง ปัจจุบันธรรมนี่มันถึงแก้ไขกิเลสได้ไง ถ้าเป็นอดีต-อนาคตนี่แก้ไม่ได้ แต่อดีต-อนาคตนี่มันเสริมมาปัจจุบันนี้ให้ทันไง เพื่อเป็นคติ เป็นตัวอย่าง เป็นการที่เอามาเป็นครูไง นี่ถ้าแก้เดี๋ยวนี้ ตัดกันเดี๋ยวนี้ มันก็เป็นปัจจุบันธรรม มันก็เป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตนขึ้นเดี๋ยวนั้น... ถึงต้องกลับมาคิด เอาอดีตนั้นมาตั้งคิด

ขณะคิดอยู่นี่มันเป็นปัจจุบัน ขณะคิดอยู่นะ ถึงจะเป็นอดีตก็เอาอดีตมาตั้งเป็นปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันมันยังคิดไม่ได้ นั่นคือการฝึกปัญญาเริ่มแรก ที่ว่าตามความคิด ตามความคิดนี่แหละ เอาความคิดเรื่องอดีตนั้นมาตั้งขึ้นมา ให้เกิดอารมณ์ขึ้นมาในปัจจุบัน แล้วสติพร้อมอยู่ก็หมุนคิดตามไป นี่เอาความคิดแก้ความคิด

นี่วัตถุภายใน ละวัตถุภายนอกแล้ว ก็มาละวัตถุภายในที่เป็นความคิดนี้ เห็นไหม ปล่อยวัตถุภายนอก แล้วก็มาปล่อยวัตถุภายใน จิตมันก็ว่าง นี่ชำระจิต ชำระหัวใจเราไง มันต้องวัตถุภายใน ไอ้เสี้ยนที่ตำใจอยู่นั่นน่ะสำคัญมาก เสี้ยนตำใจมันอิ่มอยู่ มันเสี้ยนตำอยู่ในใจมันเจ็บปวดอยู่แล้ว แล้วมันไม่รู้จักเจ็บปวด มันผลักไสให้ออกมาเอาวัตถุภายนอกไง มันเหนื่อยหลายซับหลายซ้อนนะ

ถ้าเราแก้เสี้ยนตำใจออก หัวใจมันไม่เจ็บปวด พอหัวใจไม่เจ็บปวด มันก็ไม่กินอารมณ์ที่เจ็บปวดในใจใช่ไหม มันก็ไม่มาติดวัตถุภายนอก นี่ถ้ามันแก้ข้างในเสร็จแล้วนะ มันเอาเสี้ยนตำใจออกแล้วนะ วัตถุภายนอกนี่ก็เก้อๆ เขินๆ เป็นเครื่องอาศัยของมนุษย์เราเท่านั้นเอง แต่ลองถ้ามันปวดระบมอยู่ มันไม่รู้มันก็หมุนออกมา หมุนออกมา นั่นน่ะดูใจ นี่แก้อย่างนี้ แก้วัตถุภายใน ปล่อยวัตถุภายนอกแล้วมาปล่อยวัตถุภายใน เห็นไหม

ทีนี้ปล่อยวัตถุภายใน ปล่อยเข้าไปเรื่อยๆ นะ “วัตถุภายใน” ปล่อย ๑ ปล่อย ๒ ปล่อย ๓ เข้าไปเรื่อยๆ พอปล่อยแล้วทีนี้ปล่อยอย่างไรล่ะ? ปล่อย ๑ ปล่อย ๒ ปล่อย ๓ แล้ว ทีนี้ตัวมันเองจะปล่อยได้อย่างไร นี่พลังงานของใจ ไอ้วัตถุภายในนั่นเป็นวัตถุภายในนะ ไอ้ตัวที่ปล่อยๆ เข้ามามันเป็นตัวพลังงานอีกตัวหนึ่งน่ะ ตัวที่ว่างๆ นี่มันไม่มีวัตถุแล้ว

ทีนี้ปล่อยอย่างไร? นี่มันจะละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปนะ จากขันธ์นอกไง ขันธ์นอก ขันธ์ใน ขันธ์ในใจไง ธาตุในธาตุ เวทนาในเวทนาไง มันจะละเข้ามา ละเข้ามา ต้องตั้งใจให้ได้ ตั้งเป้าไง ตั้งเป้านี่ อย่างหลง ถ้าตั้งเป้าออก มันส่งออก

ผลักเข้ามา อะไรจะเกิดขึ้นต้องดูที่ความรู้สึกของใจตลอด มันยังติดไหม มันยังมีความเศร้าหมอง มันยังมีความเฉา ในเมื่อไฟฟ้านี่เราเปิดขึ้นมา ถ้าไฟมันตก มันต้องอ่อนลงๆ หัวใจก็อย่างนั้นล่ะ ถ้าหัวใจยังมีเชื้ออยู่ วัตถุภายนอกมันปล่อยมาแล้วจริงอยู่ มันต้องมีเชื้อตัวขับดันมันอยู่ ไอ้เชื้อตัวขับดันให้ใจนี้เป็นพลังงานนั่นน่ะ ไอ้วัตถุนั้นมันกระทบกับใจใช่ไหม มันถึงเป็นวัตถุ ไอ้ตัวนี้มันเป็นตัวพลังงานเฉยๆ นั่นล่ะตัวอวิชชา ปัจจยา สังขาราล่ะ

ฐีติจิต... “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส” จิตเดิมแท้ จิตตัวเดิมแท้

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” จิตเดิมแท้นั่นกิเลสล้วนๆ เลย

จากปล่อยๆๆๆ ปล่อยเขาเข้ามา มันก็มาปล่อยถึงตัวมันเอง ไอ้ตัวเจ้าวัฏจักรไง

ตัวว่า “เจ้าวัฏจักร” ตัวใหญ่ ตัวเคลิบเคลิ้มอยู่ในหัวใจของเรา มาหักตรงนี้ หักเรือนยอดของเจ้าวัฏจักรเท่านั้นล่ะ นี่คราวนี้สิ้น สิ้นจากอะไร สิ้นจากวัฏฏะ สิ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นหนึ่งเดียว

จากเป็นขี้ข้านะ จากเป็นคนคุก จากเป็นที่ว่าอยู่ในคุก พ้นออกไปจากวัฏฏะ... คุก ๓ คุกนี้นะ ปัญญานี้เท่านั้นถึงว่าเป็นปัญญาที่ว่าไม่เป็นขี้ข้าของใครไง ไม่อยู่ในกรอบ มันเวิ้งว้างไปหมด มันเข้าใจไปหมด เพราะมันเข้าใจ มันถึงไม่ติดใช่ไหม

มันรู้เท่า มันรู้เท่าตามความเป็นจริง การรู้เท่าความไม่ขยับคือพอไง มันไม่ขยับออก เพราะขยับมันกระเพื่อม พอกระเพื่อมมันก็เป็นนั่นน่ะวัตถุเกิด มันถอยกลับมาตรงที่มันพออยู่ มันเป็นชีวิตๆ หนึ่ง เป็นชีวิตที่อยู่สงบ เป็นชีวิตที่อยู่นิ่ง เป็นชีวิตที่สุขที่สุด เป็นความสงบแท้อยู่ที่หัวใจ

นี่ผลจากการปฏิบัติไง ผลจากการเรายกตัวเราขึ้นพ้นจากสิ่งสกปรกไง

นี่เรายกตัวเราขึ้นมาแล้ว เวลาเราเทียบเป็นวัตถุ เห็นไหม เราเห็นสิ่งที่โสโครกที่เราล้างออกไปแล้ว เราไม่อยากกลับไปลงไปเกลือกกลั้วเลย นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติมาจนขนาดนี้ เราจะกลับไปลงไปอยู่ที่เดิมอีกเหรอ

เราต้องยกให้เราสูงขึ้นตลอด เราต้องกลับยกขึ้นมาสูงขึ้นสิ เราอย่าไปเห็นของสกปรก ไปเห็นขี้โคลนขี้ตมนั้นว่าเป็นทองคำสิ เราต้องเห็นทองคำแท้ๆ ธรรมะพระพุทธเจ้านี้เป็นทองคำ เป้าหมายไง อย่าเอาโคลนมาเทียบกับทอง ทองเป็นทอง โคลนเป็นโคลน นี้เราจะอยู่ในโคลนหรืออยู่ในทองล่ะ

นี่เราต้องถามตัวเองตลอด ถามตัวเองนะ

ถ้า “ถามตัวเองนะ” เราเป็นคนที่มีประโยชน์ เราเป็นคนที่จะเอาตัวนี้พ้นจากโลกนี้ไปได้

“โลกนี้เป็นของร้อน” พระพุทธเจ้าสอนนะ “โลกนี้เป็นของร้อนนะ” ไฟมันเผาอยู่ตลอดเวลา ทำไมเรายังรื่นเริง เพลิดเพลินกันตลอดเวลา?

เราว่าโลกนี้เป็นของเย็น เกิดมาเวลาทุกข์เราก็ว่าโลกมันร้อน เวลามีความสุขเราว่าไอ้โลกก็พออยู่ได้ มันจะทุกข์ อันนั้นก็ทุกขสัจจะ มันจะสุขก็ทุกข์มันดับลงเฉยๆ มันสุขเพราะว่ามันพอใจเท่านั้นเอง เดี๋ยวมันก็กลับมาทุกข์อย่างเก่า

ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง ทุกข์นี้มันเป็นหนามมันเป็นหอกทิ่มอยู่ที่กลางหัวใจ

ถ้าเราไม่ชักออก เราไม่ดึงออก มันก็จะทุกข์ตลอดไป มันจะทุกข์ไปอย่างนี้ ทุกข์ไปตลอด

แต่ถ้าเราชักหอกออกจากหัวใจแล้วนะ มันพ้นจากความทุกข์ ทีนี้มันก็เหลือแต่แค่กิริยาแค่ชั้นหนึ่ง เหลือแค่กิริยาของใจ กับกิริยาของร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่ มันก็ใช้ชีวิตอย่างเรานี่แหละ ใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ธรรมดานี่แหละ แต่มันใช้แบบไม่มีความกังวลไง

จิตนี้มันพ้นแล้วเหมือนกับเราบ้านเราชำระสะอาดหมดแล้วนี่ เราก็สบายใจ จะนอนจะกินอย่างไรก็ได้ บ้านนี้เราสะอาด เราชำระหมดแล้ว ไม่มีงานในบ้านแล้ว บ้านนี่มีอาหารเต็มบ้านทุกอย่างพร้อมหมดเลย เราก็นั่งกินนอนกินไปเฉยๆ เท่านั้นเอง รอจนกว่าว่า เอ้อ! เขาจะเอาบ้านคืนไป แล้วเราก็ไปของเรา… เท่านั้นนะ ถึงว่าทุกข์อันในหัวใจนี่ เราดึงหนามออกจากใจหรือยัง “หนามในหัวใจ”

การถามมา ถามมาเพื่อเหตุนี้ไง มันมีต้นมีปลาย มีที่สิ้นสุดนะ

งานที่สำเร็จ งานที่เสร็จได้คืองานทางศาสนา งานการปฏิบัติ งานของโลก งานของการสร้างบ้านสร้างเรือน งานสร้างชาติ อย่าหวังว่ามันจะเสร็จ ตายเปล่า ตายทิ้ง ตายทิ้ง ตายเปล่ามาขนาดไหนแล้วใครสร้างเสร็จ? ไม่มีใครสร้างเสร็จนะ มันเป็นอนิจจัง โลกมันหมุนไปอย่างนั้น

แต่ประพฤติปฏิบัติเรา สร้างชาติในใจนี่ สร้างชาติ ชาติชาวพุทธนะ ผลักชาติกิเลสออก มันเป็นของมันเต็มตัวอยู่อย่างนั้นล่ะ ลดชาติของมนุษย์ ลดชาติของทุกอย่างในหัวใจ นี่ชักหนามออกไง ดึงหอกออกจากใจ มันปักอยู่ที่ใจนะ หอกคือกิเลสไง ปักอยู่ที่กลางหัวใจเลยล่ะ เหมือนเขาเจอดินแดนใหม่ เขาปักธงยึดเป็นชาติของเรา... นี่มันก็ปักอยู่กลางใจ

แล้วเอาอะไรไปดึงมันออก? นี่ไง ธรรมะพระพุทธเจ้า... เริ่มตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนานี่แหละ เริ่มเข้าไปชำระล้างมันไปเรื่อย จะดึงมันออกให้ได้... ศีล สมาธิ ปัญญาไง ปัญญาเครื่องชำระกิเลส ปัญญาๆ ภาวนามยปัญญาไง

คนเขาเรียนมามาก เขาว่าปัญญามาก ปัญญามากมันก็สร้างสมมาก กิเลสมันก็มากตามไป เราเกิดมา เกิดทำสมาธิ เกิดทำปัญญาขึ้นมา “ภาวนามยปัญญา” ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาเกิดจากสมาธิ สมาธินี้ไม่มีหนึ่ง ไม่มีตัวตนไง สมาธิคือความสงบของใจ ไม่มีเราไม่มีเขา สักแต่ว่าไง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา แล้วมันเป็นสมาธิ

แล้วเกิดปัญญาที่เป็นปัญญาของกลาง ปัญญาของการภาวนา ปัญญาของกลางคือว่าของธรรมชาติ ปัญญาของธรรมชาติไม่ใช่ปัญญาของบุคคล มันเข้ามาตัดกิเลสไง นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญากลาง ปัญญาธรรม ไม่ใช่ปัญญาที่เราศึกษาเล่าเรียนมาเป็นปัญญาของเรา มันยึด กับปัญญาธรรม ปัญญาภาวนามยปัญญานี่ มันก็ไปตัดชำระออกไป ชำระจนสิ้น

เราต้องสร้างสมขึ้นมาในใจของเรา ให้เป็นสมบัติของเราไง สมบัติของใคร บุคคลไหนปฏิบัติ คนนั้นเป็นคนได้ สมบัติของเรา เราต้องทำของเราขึ้นมา สร้างสมขึ้นมา เก็บเล็กผสมน้อยไง มี ๕ มี ๑o เก็บไว้ๆ ฝืนไว้ ทำไว้ ฝึกไว้ เกิดจากการฝึกฝนเท่านั้น ปัญญามันจะลอยฟ้ามาจากไหน สมาธิมันจะลอยฟ้ามาจากใคร พระพุทธเจ้าจะประทานให้เหรอ พระพุทธเจ้าบอกแล้วนี่

“พระพุทธเจ้าเป็นคนสอน เราเป็นคนบอกแนะชี้แนวทางเท่านั้น พวกเธอทั้งหลายต้องทำเอง”

“พวกเธอ” ก็คือพวกเรานี่แหละ พวกที่มีกิเลสหนาๆ นี่แหละ พวกที่เขาสิ้นไปแล้ว เขาไปแล้ว ไม่ต้องมาคอยมาเป็นภาระใคร ไอ้พวกเรานี่พวกภาระ ภาระกับเราเองนั่นน่ะ พวกพะรุงพะรังไง เป็นภาระที่ให้หนักไง แต่กิเลสมันว่าไม่หนักนะ กิเลสมันเบา มันเอาไว้ไง เอาไว้เป็นขี้ข้ามัน มันชอบ กิเลสมันชอบ มันมีพวกมาก นอนจมกันไง ทับกันสูงๆ หลายๆ ชั้นนะมัน โอ้! มันอุ่น มันสุขใจ

แต่เวลาจะหลุดจากมันนี่แหม มันเสียใจมาก แล้วมันเอาเราตายเลยนะ พอมันขยับขึ้นเท่านั้นน่ะ เราก็กลิ้ง ทุกข์ยาก ลำบาก แค่ทุกข์ยากลำบากนะ มันก็ไม่เอาแล้ว แล้วอะไรมันง่าย กิเลสเราก็ว่ามันง่าย เลิกน่ะ...ง่าย นอนน่ะ...ง่าย ไม่ทำอะไรเลยอยู่เฉยๆ น่ะ...ง่าย

ไอ้การปฏิบัตินี้ก็อยู่เฉยๆ เหมือนกัน “กายมันอยู่เฉยๆ” แต่หัวใจมันไม่เฉยสิ ถ้ากายมันเฉย หัวใจมันเฉย ก็ดีน่ะสิ แต่พลังงานของใจมันเฉยไม่เป็น ธรรมชาติของมันอยู่แล้ว นอนนิ่งๆ นั่นล่ะมันคิดไปร้อยแปด ไอ้คิดดีมันก็เป็นประโยชน์ใช่ไหม ไอ้คิดไม่ดีซะด้วยนี่นะ คิดเอาบาปเอากรรม ทับลงไป ทับลงไป ตัวเองจะจมอยู่แล้วมันยังไม่เห็นนะ มันจะให้มันจมหนักลงไปอีก

ธรรมะพระพุทธเจ้ามันดีอย่างนี้

นี่เหมือนเรือไง เหมือนเรือบรรทุกเรามา บรรทุกเรามา ถึงจะคิดผิดคิดถูก ทำความชั่ว ทำความผิด ทำบาปกรรมอะไรไว้บ้าง มันก็ยังมีบุญกุศลมารองรับไง รองรับคือว่าทำความดีไว้ไง ถึงว่าตัวเองไม่มีดีก็จริงอยู่ ก็ยังเชื่อพระพุทธเจ้าอยู่ ยังเชื่อศาสนาอยู่ ยังได้ทำความดีไว้บ้าง ยังให้เป็นแบบว่ารองรับไม่ให้ถึงว่าเหยียบน้ำป๋อมไปเลยไง จะลงน้ำก็มีเรือคอยพายเข้าฝั่ง

นั่นธรรมของเรา นั่นคือความดีของเรา เกิดจากเรานับถือครูบาอาจารย์ เราเชื่อ เราปฏิบัติ เราทำความดีไว้บ้าง มันจะมารองรับไว้ไง มารองรับไว้ไง ไม่ให้ถึงกับตกน้ำป๋อมไปเลย ป๋อมไปเลยนะ

นั่นน่ะ ความคิดเวลามันให้ผล เห็นไหม มโนกรรมไง เวลาฐีติจิตนะ จิตตัวนั้นตัวสำคัญ เวลามันคิด มันคิดไปอย่างนั้นน่ะ เป็นมโนกรรม กายกรรม วจีกรรม

แล้วถ้ามันสะอาดขึ้นมาแล้วล่ะ นี้มันคิดออกมามันก็เป็นแง่บวกหมดน่ะสิ

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้น่ะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนพึ่งตัวเองได้แล้วนี่ นี่ก็เป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วยสิ จากที่พึ่งคนอื่นนะ จากพึ่งครูบาอาจารย์นะ จากต้องพึ่งเขาทั้งหมดเลย เห็นไหม ก็พึ่งธรรมะพระพุทธเจ้านี่ เหมือนเรือรับไว้นั่นน่ะ แล้วทำเข้าๆ จนมีเรือตัวเองนะ มันรู้ผิดรู้ถูก มันจะหลบหลีกเองถูก เห็นไหม “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” มันประเสริฐขนาดนั้นแล้ว พอมันพึ่งตนเองได้ คนเอาตัวรอดได้แล้วมันก็เป็นที่พึ่งคนอื่นได้ เห็นไหม จากคนที่ว่าทำอะไรไม่เป็นเลยนะ จากคนที่มันมืด ๘ ด้าน มันยังประเสริฐได้ แล้วเราเป็นใคร เราต้องทำได้สิ

พอเราทำได้มันก็มีกำลังใจ “ใจกัดเพชร” เวลามันทุกข์มันก็เสวยมันเต็มที่ เวลามันต่อสู้ มันต้องกัดเพชรก่อน แล้วมันก็จะไปสุขเต็มที่ เวลาทุกข์มันทุกข์เต็มที่ เวลามันกัดเพชรไม่ได้สิ มันไม่กัดเพชร มันโดนเพชรกัด แล้วมันก็ล้มลง แล้วมันจะเอาสุขมาจากไหน

ถ้ามันกัดเพชรขาดล่ะ โอ้! มันต้องเป็นความสุขแน่นอน เพราะตัวใจมันเป็นตัวเพชรอยู่แล้ว มันกัดเพชรขาดเลย มันแกร่งกว่าเพชรอีก มันแกร่งกว่า มันแข็งกว่า เพชรยังต้องละเอียดไปจากมันน่ะ เพราะละเอียดแล้วมันถึงโผล่ขึ้นมาไง พอโผล่ขึ้นมาล่ะ เพชรไม่มีค่าเลย มันเหนือเพชร เพชรก็กลายเป็นเศษกระจก เมื่อก่อนเพชรมีค่ามาก จับมือไม้สั่น พอมันเหนือขึ้นมานี่ โอ้โฮ! เศษแก้วนะ

หัวใจมันประเสริฐมาก เป็นเพชรที่ไม่มีการเสื่อมสลาย ไม่อยู่ในกฎอนิจจังไง พ้นจากไตรลักษณ์… อัตตา อนัตตาพ้นไปหมดนะ อัตตาก็ไม่อัตตา เพราะอัตตามันจะขึ้นมาอุเบกขาไง อัตตาก็ไม่ใช่ อนัตตาก็ไม่ใช่ มันคงที่ของมันอย่างนั้นล่ะ อนัตตานี้มันแปรสภาพ ของที่แปรสภาพ มันก็ต้องแปรสภาพอยู่แล้ว อัตตาก็เหมือนอุเบกขาที่มันจะคอยกระดิกต่อไป

แต่สิ่งนั้นมันเป็นตัวมันเอง มันเป็นตัวของมันตัวอยู่อย่างนั้นน่ะ มันพ้นจากการเป็นขี้ข้านั่น มันเป็นอิสระไง อิสระของใจ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)