ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หยุดเป็นปลวก

๑๗ ก.ค. ๒๕๕๓

 

หยุดเป็นปลวก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ปัญหาที่ ๑๔๗. จะถามว่าการที่โยมถวายเงินทองแก่พระภิกษุสามเณร พระภิกษุจะต้องอาบัติ และโยมก็บาปด้วย เรื่องนี้จริงไหมครับ

หลวงพ่อ : มีข้อความบางตอนเขายกตัวอย่างนะ บอกว่าเงินทองไม่ควรแก่ภิกษุ จากพระไตรปิฎกเล่ม ๓ หน้า ๙๔๐ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ พระบัญญัติ อนึ่ง ภิกษุใดรับก็ดี ให้รับก็ดีซึ่งเงินทอง หรือยินดีในเงินทอง อันเขาเก็บไว้ให้ก็ดี เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ แล้วก็อธิบายไปเรื่องตกนรกอเวจีไปร้อยแปดพันเก้าเลย

นี่มันเป็นประเด็นพอสมควร เราก็เฉยไว้มาตลอด ทีนี้ถ้าจะพูดนะ ถ้าจะพูดนี่ แล้วเขาก็ถามมามาก แล้วก็ยกมามาก จะไม่อยากยุ่งเลย

แล้วดูในเว็บไซต์นี่ “หยุดทำลายพุทธศาสนาด้วยการถวายเงินทองภิกษุสามเณร”

เราถึงบอกว่า “หยุดเป็นปลวกแทะศาสนา หยุดเป็นปลวกคอยทำลายศาสนา”

ถ้าพูดถึงนี่มันเป็นวินัยนะ อ้างพระไตรปิฎก แล้วพออ้างพระไตรปิฎกนี่ พวกเราก็จะเชื่อว่าอ้างพระไตรปิฎก แต่เขาอ้างพระไตรปิฎกด้วยคำอ้างของเขา อ้างเฉพาะเป็นบางจุดบางส่วนที่เขาเอามาอ้างอิง แต่ความจริงถ้าอ้างพระไตรปิฎกก็ต้องอ้างพระไตรปิฎกทั้งตู้ อ้างพระไตรปิฎกทั้งเล่ม ว่ามันขัดแย้งหรือมันส่งเสริมกันอย่างไร ไม่ใช่ว่าเอาจุดใดจุดหนึ่งมาอ้างอิงไง

ฉะนั้นถ้าบอกว่าอ้างพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกนะมันก็มี เดี๋ยวจะพูดเรียงมาให้เป็นลำดับ พระไตรปิฎกมีนะ เขาอ้างนิสสัคคิยปาจิตตีย์

ในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ข้อที่ ๑๐. คฤหัสถ์ ฆราวาส ใครก็แล้วแต่ ให้ทรัพย์ ให้กับภิกษุ ให้กับการกสงฆ์ การกสงฆ์นั้นบอกว่า ให้ทรัพย์เพื่อปัจจัย ๔ ไง เพื่อจีวร แล้วให้ไปรับจากการกสงฆ์ จากผู้ที่ถือเงินนั้นไว้ ให้เธอเดินไปยืนได้ ๒ หน ถ้าเขายังไม่ให้ ให้ทวงได้ ๓ ครั้ง มันก็อยู่ในนิสสัคคิยปาจิตตีย์เหมือนกัน

พระไตรปิฎกนี่บอกว่า “ภิกษุใดรับก็ดีซึ่งเงินและทอง มันเป็นปาจิตตีย์ด้วย มันอยู่ในปาจิตตีย์ “โย ปน ภิกฺขุ ชาตรูปรชตํ อุคฺคณฺเหยฺย วา อุคฺคณฺหาเปยฺย วา อุปนิกฺขิตฺตํ วา สาทิเยยฺย, นิสฺสคฺคิยํ ปาจิตฺติยํ” เป็นนิสสัคคีย์เห็นไหม ภิกษุรับก็ดี รับสิ่งต่างๆ อันนี้มันเป็นกฎหมาย เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังเรื่อยๆ แต่ในข้อที่ ๑๐. เห็นไหม เราจะบอกว่า พระพุทธเจ้านี่เป็นพระอรหันต์ เป็นพระศาสดา จะทำสิ่งใดขัดแย้งกันเป็นไปไม่ได้เลย

ฉะนั้นเริ่มต้นนี่บังคับไว้อย่างนี้จริงๆ เสร็จแล้วมันมีจิตตคฤหบดี จิตตคฤหบดีเห็นว่าพระที่บวชนี่เป็นกฎุมพีก็มี เป็นลูกเศรษฐี เป็นคนทุกข์คนยากก็มี แล้วสมัยนั้นมันต้องเดินทาง พอเดินทางนี่ เห็นพระเดินทางนี่สงสาร พอสงสารก็อยากจะถวายปัจจัย นี่พอถวายปัจจัยไม่ได้ ถวายค่ารถนี่ไง ฉะนั้นเขาบอกว่าต้องไปขอพระพุทธเจ้า จิตตคฤหบดีเป็นคนไปขอพระพุทธเจ้าเอง ว่าคนที่บวชมานี่ มันมีหลากหลายชนชั้น ฉะนั้นบางชนชั้นเขาจะไม่สะดวก ก็จะถวายค่ารถให้

พระพุทธเจ้าบอกว่า นี่พระไตรปิฎกหมดนะ พระพุทธเจ้าบอกว่า “อนึ่ง ภิกษุใดรับก็ดี ให้ผู้อื่นรับก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ของนี่เป็นนิสสัคคีย์ แต่เวลาพระพุทธเจ้าอนุญาตนะ ไม่อนุญาตให้รับเงินและทอง ให้ยินดีสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง คือว่าให้เขาหยิบเงินนะ แล้วเขาไปซื้อตั๋วรถให้ใช่ไหม เพราะสมัยนั้นมันมีรถระหว่างแคว้นแล้ว มันมีรถม้า สมัยพระพุทธเจ้ามันมีรถระหว่างแคว้น จิตตคฤหบดีเป็นผู้ขออนุญาต

มันก็เหมือนกับผ้าอาบนี่ ผ้าอาบ นางวิสาขาเป็นผู้ขออนุญาต

รองเท้านี่ได้มาเพราะพระโสณะ เพราะพระโสณะเดินจนเท้าแตก พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระโสณะใส่รองเท้า พระโสณะบอกว่า “ถ้าอนุญาตให้ใส่รองเท้าคนเดียวนี่ ไม่ยอม เพราะมันเหมือนกับว่าอ่อนแอกว่าคนอื่น ถ้าพระพุทธเจ้าอนุญาตพระโสณะ ต้องอนุญาตหมด”

นี่ไง พระพุทธเจ้าอนุญาตหมดแล้ว พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง แต่พระพุทธเจ้าไม่ให้ยินดีในตัวเงินและตัวทอง เพราะว่าเขาไม่ได้เอาปัจจัยนี่ ให้คนที่ถือปัจจัยไปแลกเปลี่ยนปัจจัย ๔ มา แล้วถ้าเวลาการกสงฆ์ คนที่ถือเงินสงฆ์ แล้วถ้าเกิดเขาโกงล่ะ เห็นไหม เธอไปยืนได้ ๒ หน ไปทวงได้กี่หน อยู่ในนิสสัคคิยปาจิตตีย์

พระพุทธเจ้าไม่อนุญาต ทำไมพระพุทธเจ้าบัญญัติว่าให้ไปทวงได้ล่ะ แล้วนี่เขาพูดอย่างนี้นะ เขาบอกว่า “ถ้าโยมทำลายพุทธศาสนา ผู้ที่ถวายเงินถวายทองพระนี่ จะเป็นผู้ทำลายศาสนา พระต้องตกนรกอเวจี แล้วคนถวายก็ตกนรกอเวจีไปด้วย” ตกกันไปใหญ่เลย ตกนรกอเวจีไปหมดเลย ถ้าทำผิดตกนรกอเวจี ถ้าทำถูกล่ะ ทำถูกมันก็ได้มรรคผลนะ

นี่ถวายเงินและทองนะ ใช่ ถ้าเขาถวายเงินและทอง แล้วพระนั้นเอาเงินและทองนั้นไปเพื่อเงินทองเห็นไหม “เงินต่อเงิน” ว่าอย่างนั้น แต่ถ้าถวายไปแล้ว เขาไม่ได้ยินดี แต่เขามีคนเก็บไว้ แล้วทำเพื่อประโยชน์กับสาธารณะ

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ ท่านบอกว่า “การออกมาช่วยโลกนี้ ท่านเสียสละชีวิต ๒ หน หนหนึ่งคือเสียสละชีวิตต่อสู้กับกิเลส แต่อีกหนหนึ่งคือเสียสละชีวิตเพื่อสังคม เพื่อโลก เท่ากับเสียสละชีวิตเลย” แล้วทำอย่างนี้มันจะเป็นบาปไหม มันจะเป็นบาปหรือเป็นบุญ

เรื่องของเงินและทองนี้ ถ้ามันเป็นโทษนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปออกธุดงค์กับพระอานนท์ แล้วไปเจอโจรมันปล้นมา พอมันปล้นมานะ แล้วเจ้าหน้าที่ตามมา มันจวนตัว มันก็ทิ้งเงินหนีไป พระพุทธเจ้าเดินมาถึงคันนานั้น บอก “นี่อสรพิษ เงินนี่อสรพิษ” พระอานนท์ตามมา พระอานนท์ก็งงนะ “เอ๊! เงินเป็นอสรพิษ” เพราะเราไม่ทันพระพุทธเจ้าหรอก เอ้อ เงินจะเป็นอสรพิษได้อย่างไร

นี่พอผ่านไป พระพุทธเจ้าออกไปบิณฑบาตไง บิณฑบาตผ่านไป ฉะนั้นพอเจ้าหน้าที่เขาตามมา ไปเจอถุงเงินนั้น พอถุงเงินนั้น เงินตกอยู่ที่นี่ เขาปล้นมา ใครเป็นคนปล้นมา ตกอยู่ในที่นาของใคร เขาไปจับเจ้าของที่นานั้นนะ เพราะเจ้าของนานั้นไถนาใช่ไหม เขามาถึงคันนาเขาทิ้ง แล้วโจรก็หนีไป พอพระพุทธเจ้าเดินผ่านมาก็บอกว่า “นี่อสรพิษ อสรพิษ” ไอ้คนไถนานี่เคารพพระพุทธเจ้าใช่ไหม ก็ถือไม้มาเลยนะ นึกว่าจะมาตีงูไง นึกว่าอสรพิษคืองู ก็จะมาตีงู ก็เคารพพระพุทธเจ้า กลัวพระพุทธเจ้าจะโดนงูกัด ก็ไปเจอถุงเงินนั้น ก็เอาถุงเงินนั้นวางไว้นั่นล่ะ แล้วกลับมาไถนาต่อ

พอเจ้าหน้าที่เขาตามมา พอมาเจอถุงเงินนั้น ถุงเงินนั้นตกอยู่ในเจ้าของคือคนทำนานั้น แล้วคนทำนามันเอาพักไว้ เพราะว่าเจ้าของนาเขาก็ไม่สนใจ เพราะคนสมัยนั้นศีลธรรมเขาสูง ทีนี้พอเจ้าหน้าที่เขามา เขาจับ เขาเห็นหลักฐานคือเงินนั้น แล้วเจ้าของนาด้วย ที่นาของเขาด้วย แล้วเขาเป็นคนเห็นเงินนั้นด้วย เขาก็จับคนนั้นไปไต่สวน ในกษัตริย์เขาก็ไปสอบสวนกัน เขาบอกว่า ”ไอ้นี่ปล้น”

“ไม่ได้ปล้น ไม่ได้ปล้น” ไอ้เจ้าของนาว่าไม่ได้ปล้นนะ มันก็ยืนยันว่าไม่ได้ปล้น ไม่ได้ปล้น แล้วพอสอบสวนไปสอบสวนมา มันสอบสวนถึงที่สุด มันไม่มีทางออก มันก็บอกว่า “มันไป มันเห็นเงินนี่ เห็นพระพุทธเจ้าเดินผ่านมา แล้วพระพุทธเจ้าบอก นี่อสรพิษ มันคิดว่าเป็นอสรพิษ มันก็คิดว่าจะเอาไม้ไปตีอสรพิษ ก็ไปเจอนี่ ถ้าไม่เชื่อให้ไปถามพระพุทธเจ้าสิ”

ก็เอาพระพุทธเจ้ามาเป็นพยานว่า พระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้นจริงไหม เหตุการณ์อย่างนี้จริงไหม พระพุทธเจ้าบอกว่า “จริง” ไอ้ชาวนานี่พ้นจากโทษเลยนะ แล้วพอจริงปั๊บเขาก็ตามไปจับไอ้โจรตัวจริงได้

นี่พูดถึงว่า เห็นไหม เราบอกว่า มันให้โทษขนาดนั้น แม้แต่ฆราวาสก็ยังให้โทษขนาดนั้น แล้วพระจะให้โทษขนาดไหน ให้โทษแน่นอน ถ้าพระนี่ไปหลงในเงินและทอง แต่ในเมื่อเขาถวายเงินและทอง แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าให้ยินดีในเกิดขึ้นจากเงินและทอง คำว่ายินดีเกิดขึ้นจากเงินและทอง เห็นไหม

อย่างเช่นศาลานี่ ถ้าบอกว่าเราไม่ยินดีในเงินและทอง ศาลานี้สร้างด้วยเงินของใคร เงินของโยมทั้งนั้นนะ แล้วโยมเป็นเจ้าภาพสร้างกันขึ้นมา แล้วถ้าเราไปติดมันนี่ คำว่าไม่ยินดีหมายถึงว่าเรารังเกียจนะ ถ้ารังเกียจนะ เราจะอยู่ในวัดไม่ได้เลย วัดทุกวัดสร้างขึ้นมาด้วยเงินของใคร ฉะนั้นสิ่งที่สร้างมานี่ มันเป็นปัจจัย ๔ คือที่อยู่อาศัย ปัจจัย ๔ นะ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค นี่ถ้ายินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง ยินดีในปัจจัย ๔ ที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง ถ้าปฏิเสธเงินทอง ปฏิเสธไม่ยินดี เห็นไหม ภิกษุไม่ได้รับก็ดี ภิกษุบอกว่าไม่ได้รับเงิน แต่ก็ยินดีในเงิน

ไอ้ยินดีในเงินนะ คนมีกิเลสมันก็ธรรมดาเนาะ เขานินทากันมากนะ ไม่รับตังค์นะ แต่ถึงเวลาก็นับกันใหญ่ นั่นเพราะเขายินดีในเงินและทอง และคำว่ายินดีในเงินและทองนี่ มันก็เป็นโทษ เพราะอสรพิษ แต่ถ้าไม่ยินดีในเงินและทองล่ะ แต่ยินดีในสิ่งที่เกิดจากเงินและทองล่ะ พระพุทธเจ้าอนุญาตตรงนี้ ถ้าพระพุทธเจ้าอนุญาตตรงนี้

เขาจะบอกว่าเป็นการทำลายศาสนา มันแบบว่า ถ้าการไม่ทำลายศาสนานะ ถ้าไม่มีวินัยเลยนี่ สมัยพระพุทธเจ้านะ ไม่มีวินัยสักข้อหนึ่ง ไม่มีกฎกติกาแม้แต่ข้อเดียว พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ พระยสะ ปัญจวัคคีย์ ๖๑ องค์ ไม่มีวินัยสักข้อหนึ่ง ออกจากพระยสะ ก็ไปเทศนาว่าการ ไปเอาชฏิล ๓ พี่น้องได้อีกพันเท่าไร ๑,๒๕๐ หรือพันเท่าไร พระอรหันต์หลายพันองค์เลยนะ ไม่มีวินัยแม้แต่ข้อเดียวนะ ไม่มีกฎหมายแม้แต่ข้อเดียว พระอรหันต์เยอะแยะเลย แต่พอสังคมมันซับซ้อนขึ้นมา พระวินัยทุกข้อ มีพระทำผิดมาแล้ว พอพระทำผิดพระพุทธเจ้าก็บัญญัติขึ้นมาว่า “ไม่ให้ทำ ไม่ให้ทำ ไม่ให้ทำ”

ฉะนั้นบอกว่า สิ่งที่ว่าทำลายศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ให้ยินดีในเงินและทอง แต่ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง ถ้าบอกว่าพระบัญญัติใช่ไหม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ให้ไปดูในพระไตรปิฎกเล่ม ๓ หน้า ร้อย... พระไตรปิฎกของเราก็มี นิสสัคคิยปาจิตตีย์ข้อที่ ๑๐. น่ะ ให้ทรัพย์มา แล้วได้รับทรัพย์นั้น แล้วถ้าไม่ได้ตามนั้นให้ไปทวงได้ ๓ หน นี่ก็พระไตรปิฎกเหมือนกัน พระบัญญัติเหมือนกัน เราจะบอกว่าถ้าพระพุทธเจ้า...

ทีแรกหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ทีแรกห้ามขาด ไม่ได้เลย ไม่ให้เลย เราก็ไม่ยุ่งเลย ฉะนั้นมีคนไปขอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็อนุญาตมา แล้วอนุญาตมา มันก็ทำมาเป็นขั้นเป็นตอนไง ฉะนั้นถึงบอกว่า ถ้าอ้างพระไตรปิฎกในเล่มใดเล่มหนึ่ง หรือในกฎใดกฎหนึ่ง แต่มันขัดแย้งกันไปหมด จากที่ว่าของๆ สงฆ์ ของๆ บุคคล เห็นไหม เวลาเงิน สิ่งที่ปัจจัยได้มาจากของๆ สงฆ์ เห็นไหม ดูสิ ของที่เราถวายสังฆทานนี่ของๆ สงฆ์ ศีลวันตัสสะ เห็นไหม ผู้มีศีล กับสังฆัสสะ มันมีที่มาที่ไปหมด ทีนี้มันมีที่มาที่ไป

เขาพูดอย่างนี้ เขาบอกว่า อ้าว.. พูดอย่างนี้ก็เพราะอยากได้ตังค์นะสิ ก็พูดอย่างนี้ พูดนี้พูดเข้าข้าง พูดไม่ใช่ว่าพูดอยากได้หรือไม่อยากได้หรอก พูดตามธรรมและวินัย เพราะว่ากฎข้อบังคับ ถ้าพูดเฉพาะข้อนี้โดดๆ มันก็เป็นอย่างนี้จริงๆ “ภิกษุห้ามรับเงินและทอง ห้ามหยิบทั้งเงินและทอง” แต่สุดท้ายแล้ว พอมีคนมาขอพระพุทธเจ้าก็บัญญัติ เห็นไหม บัญญัติว่า “ให้ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง” ยังไม่ให้ยินดีในตัวเงินตัวทอง ให้ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินและทอง

แล้วดูสิ อย่างเช่นพระพุทธรูป พระพุทธรูปที่เป็นทองคำนี่ แล้วทำอย่างไร พระพุทธรูปทองคำ ถ้าพูดประสา ถ้าเถรตรงนะ ถ้าเถรส่องบาตรนะจะเป็นปัญหา ถ้าพระพุทธรูปเป็นทองคำ แล้วปล่อยให้หยากไย่มันขึ้นทั้งพระพุทธรูปหมดนี่พระพุทธรูปทองคำจะมีประโยชน์อะไร นี่พระพุทธรูปทองคำนะ เว้นไว้แต่สมมุติ

พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้สงฆ์นี้ ตั้งบุคคลคนหนึ่งให้ทำความสะอาด คนที่ไปทำความสะอาดพระพุทธรูปนั้นไม่เป็นอาบัติเลย จับทองนี่ ถ้าเป็นทองคำ ทองแท่ง ทองที่เป็นเหรียญเงินที่ใช้ประโยชน์เห็นไหม แต่นี่เป็นทองคำที่เป็นพระพุทธรูปก็เป็นทองเหมือนกัน แต่สมมุติให้พระองค์ใดองค์หนึ่งเป็นคนทำความสะอาด พระองค์นี้จับเงินและทองจะไม่เป็นอาบัติ เว้นไว้แต่สมมุติ ในวินัยทุกข้อเว้นไว้แต่สมมุติ ว่าในวินัยมันมีนิยามของวินัยเห็นไหม จะทำเพื่อเหตุนั้น เหตุนั้น เหตุนั้น แล้วก็อาบัติ - อนาบัติ อนาบัติคือว่าไม่ครบองค์ประกอบ

อย่างเช่น ผ้าอาบนี่ เถียงกันประจำ เรื่องของผ้าอาบ เรื่องของวิกัปหรือไม่ต้องวิกัป นี่บางสำนักเขาจะเถียงกัน แต่ถ้าเราไปดูในพระไตรปิฎก มันมีอยู่แล้วว่าเป็นอาบัติ เป็นอนาบัติ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบอย่างนี้มันไม่เป็นอาบัติ

อย่างเช่นผ้าอาบน้ำฝนเห็นไหม เขาบอกว่า หมดวัน.. ไอ้หมดวันนี่นะ พอนางวิสาขาให้ขอผ้าอาบได้ พระก็ไปขอกันก่อน ขอกันหลังเก็บไว้ใช้นี่ เวลามันยืดเยื้อ อย่างนั้นมันเป็นพร่ำเพรื่อ พระพุทธเจ้าเลยบัญญัติไง ให้ขอก่อนหน้าฝนได้ ๑ เดือน แล้วพอพ้นเดือนแล้วนี่ มันหมดอายุ คำว่าหมดอายุแล้วนี่ มันจะยืดเยื้อกันไป

เรื่องผ้าอาบน้ำฝนนั้น ถ้าผ้ามันยังดีอยู่ ก็ใช้ต่อไปได้ ให้อธิษฐานเป็นผ้าอาบน้ำฝน หรือ อธิษฐานเป็นบริขารโจล อธิษฐานอะไรก็ได้ ประสาเราว่า ๑.ประหยัดมัธยัสถ์ เรียบง่าย ธรรมวินัยมีไว้เพื่อเหตุนี้ ทีนี้คนมันมีมาก แล้วมันก็ตะแบง มันก็แถ มันก็จะเอาแต่ความสะดวกของมัน

ฉะนั้นถ้ามันซื่อสัตย์ เราจะบอกเลยว่า มันไม่ต้องมีธรรมวินัยแม้แต่ข้อเดียว พระอรหันต์เป็นพันๆ เลย ไม่ต้องมีธรรมวินัยแม้แต่ข้อเดียว พอมีธรรมวินัยออกมามหาศาล พระอรหันต์ก็น้อยลงๆ เพราะอะไรเพราะคุณภาพของคนมันต่ำลงเรื่อยๆ แล้วมันจะหลบเลี่ยงตลอด ฉะนั้นที่จะเอาข้อดีข้อหนึ่งมาบัญญัติสังคม มาตรวจสอบสังคม มันเป็นไปไม่ได้

ที่บอกว่า การถวายเงินนี้จะเป็นบาปหรือเป็นบุญ ถ้าเป็นบุญเราก็ต้องทำให้มันถูกต้อง เช่นเราถวายเป็นปัจจัย ๔ เห็นไหม ในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ข้อที่ ๑๐. ราชา คหบดี ข้าราชการต่างๆ ถ้าเขาต้องการถวายเงิน เป็นปัจจัย ๔ เป็นจีวร ให้ฝากไว้กับการกสงฆ์ ให้ไว้กับไวยาวจกรเก็บไว้ แล้วถ้าเราต้องการสิ่งใดเราก็ไปบอกให้เขานำสิ่งนั้นมา ถ้าได้มาก็จบกัน ถ้าไม่ได้มาให้กลับไปบอกเจ้าของทรัพย์ บอกว่าสิ่งที่เขาได้ฝากไว้กับไวยาวจกรนั้นมันไม่ได้เกิดประโยชน์เพื่อให้เขาไปเอาคืน นี่พระไตรปิฎกพูดไว้ชัดมาก

ที่เขาบอกว่าในพระไตรปิฎกเล่ม ๓ เราบอกว่าถ้าเล่ม ๓ ก็ใกล้เคียงกัน นิสสัคคีย์มันอยู่ในหมวดเดียวกัน แต่เขาพูดเฉพาะที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ภิกษุห้ามรับ แต่เวลาที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ภิกษุให้รับแบบนี้ๆ เขาก็ไม่พูดถึงนะ ในพระไตรปิฎกเหมือนกัน ข้อนิสสัคคีย์เหมือนกัน นี่มันไม่รอบคอบนะ พอไม่รอบคอบมันก็จะเสียหายแล้วก็ตะแบงไปเรื่อยว่า จะตกนรกอเวจีไปอย่างนั้น แล้วที่ถวายปัจจัย ๔ แล้วได้บุญล่ะ

อย่างพระอานนท์นะ ได้ทีหนึ่งตั้ง ๕,๐๐๐ ผืน เขาเป็นมเหสีของกษัตริย์แล้วศรัทธาพระอานนท์มาก จึงถวายผ้าแก้พระอานนท์ทีหนึ่งตั้ง ๕๐๐ ผืน กษัตริย์ก็โกรธมากหาว่าพระอานนท์โลภมาก “พระอะไรรับผ้าทีหนึ่งตั้ง ๕๐๐ ผืน” จึงไปหาพระอานนท์เลยว่า ทำไมไม่รู้จักกาลเทศะ

พระอานนท์นี้เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าแต่ทำไมรับผ้าทีหนึ่งตั้ง ๕๐๐ ผืน มันมากเกินไป แล้วพระอานนท์จะเอาไปไหนหมด

พระอานนท์บอกว่า “๕๐๐ ผืนนี้จะเอามาแจกพระ พระที่ไม่มีใครรู้จัก พระบวชใหม่ พระอยู่ป่าที่เขาอาจขาดแคลน”

“แล้วพอแจกพระไป พระก็มีผ้านั้นอยู่แล้ว แล้วผ้านั้นจะเอาไปทำอะไร”

“เอาไปทำม่าน”

“แล้วม่านก็มีอยู่แล้ว แล้วจะเอาม่านนั้นไปทำอะไร”

“ม่านนั้นก็รื้อลงมา แล้วเอาไปทำเป็นผ้าขี้ริ้ว ทำผ้าเช็ดเท้า”

“แล้วผ้าเช็ดเท้าก็มีอยู่แล้ว แล้วจะเอาผ้าเช็ดเท้านั้นไปทำอะไร”

“ผ้าเช็ดเท้านั้น ก็เอาไปตำ” อินเดียในสมัยโบราณเขาทำบ้านด้วยดิน ก็เอาไปตำกับดิน แล้วเอาไปฉาบทาบ้าน

เห็นไหม ใช้ได้หมดทุกอย่างเลย กษัตริย์นั้นจากที่โกรธพระอานนท์มากว่า พระมเหสีจะถวายไตรจีวรทีหนึ่ง ๕๐๐ ชุด โกรธมากว่า พระอานนท์ไม่รู้จักกาลเทศะ พระอานนท์เห็นแก่ลาภ รับสิ่งใดที่มันเกินกว่าเหตุผล แต่พอไปถึงแล้วพระอานนท์บอกว่า ของทุกอย่างนี้ เรียบง่ายและได้ใช้ประโยชน์ทั้งหมดเลย ตัวเองก็เลยถวายอีก ๕๐๐ ชุด ทีแรกก็จะเป็นจะตายนะ จะทะเลาะกับพระมเหสีว่า ไปถวายทีละ ๕๐๐ ชุดนี้ มันเกินกว่าเหตุ พอเห็นว่าเขาได้ใช้ประโยชน์หมด

เพราะเราไม่รู้หรอกว่าในวงการของพระนี่นะ ถ้าพระองค์ไหนเป็นที่เคารพศรัทธา พระองค์นั้นจะมีคนที่อุปัฏฐากดูแล พระองค์ไหนที่ไม่มีใครรู้จัก พระองค์ไหนที่อยู่ในป่าในเขา ที่เป็นพระที่ดี ถ้าเป็นพระที่ดีนี้จะไม่ออกมาในสังคมเลย แล้วเขาจะอยู่แต่ของเขา อย่างเช่น พระอัญญาโกณฑัญญะ อยู่แต่ในป่านะ ไม่ออกมาสังคมกับโลกเลย เวลาได้ผ้ามา ผ้าบังสุกุล อย่างเช่น หลวงปู่มั่น ท่านก็ใช้ผ้าบังสุกุลจนตายนะ ไม่เอาคหบดีเลย ที่เอามาถวายนี้ไม่เอาเลย แต่จะเก็บเอา เย็บเอา ปะเอา พอซักแล้วไม่เกลี้ยงก็มีลาย ก็จะย้อมเอา เวลาที่อยู่ในป่าในเขาแล้วเขาขาดแคลน เขาก็เจือจานกัน เขาก็ดูแลกัน เขารักษากัน แต่ไอ้คนที่เห็นแก่ตัว ไอ้คนที่หน้าด้าน ไอ้คนที่ทำลายศาสนา อันนั้นมันก็เป็นบาปเป็นกรรมของเขา

คนเรานี้พอบอกว่าวินัยข้อนี้บังคับ บังคับแล้วพระจะดีหมด มันก็ไม่ใช่ กฎหมายมันมีแล้ว แต่คนดีก็มี คนชั่วก็มี วินัยบังคับแล้วพระดีก็ส่งเสริม แต่พระชั่ว พระที่ทำลาย มันก็มี ฉะนั้นที่พูดนี้ ไม่ใช่ว่าจะปกป้องพระทั้งหมด แล้วปกป้องศาสนา ปกป้องธรรมวินัย แล้วในธรรมวินัยนี้ข้อห้ามก็มี ข้อ ๑๐. นิสสัคคิยปาจิตตีย์ เรื่องจีวร เรื่องถวายทรัพย์ ก็ไปดูสิ มันก็มี แล้ววินัยมันก็มี พูดเอาแต่ได้ แต่ไอ้เรื่องบุคคลเรื่องของพระนั้นมันอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องของธรรมและวินัยนี้เรื่องหนึ่ง

นี่ไง ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนวัตถุ เห็นไหม หนังสือนี้ก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง แล้วก็ตีความกันออกมา ส่วนศาสนธรรมถ้าจิตใจของคนที่มีคุณธรรมนี้ เขาจะทำชั่วหรือจิตใจของคนที่มีคุณธรรม มีศีลธรรมนี้เขาจะทำไหม เรื่องเศษกระดาษ หลวงตาท่านพูดบ่อย “ไอ้หลังลาย” หลวงปู่แหวนเอามามวนบุหรี่ดูดเลย คนเรามันพูดเอาแต่ได้ มันก็ว่าอย่างนั้นนะ ถึงบอกว่า “หยุดทำลายศาสนาด้วยการถวายเงินเถิด”

ทีนี่คนมันก็สงสัย เขาถึงถามมา ถามมาก็ตอบแล้วเนี่ย จะบอกว่าถ้าทำไปเพื่อโลก เพื่อกิเลสมันก็ผิดหมด แต่ถ้าทำไปเพื่อประโยชน์กับสังคม ถูก ! ถ้าทำถูกมันคือถูก ถ้าทำถูกมันจะได้สวรรค์ จะได้มรรคผลนิพพาน แต่ถ้ามันทำผิดมันก็ตกนรกอเวจี ก็ถูก ! แล้วนี่ก็ว่าจะตกนรกอเวจีอย่างเดียวเลย แล้วที่เขาทำถูกต้องดีงามนี้แล้วมันไม่มีบุญเลยหรือ การถวายปัจจัยพระนี้ไม่ได้บุญเลยหรือ จะเป็นบาปหมดเลย

แล้วอยากดูพระที่พูดนี่ มึงอย่าอยู่วัด มึงไปอยู่โคนต้นไม้ มึงก็อยู่วัดแล้ววัดนี้เอาอะไรมาสร้าง พูดน่ะไม่ได้มองตัวเองเลยนะ ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าอย่างนี้มันก็ต้องเหมือนเทวทัตน่ะ อยู่โคนไม้ซะ อ้าว ก็ต้นไม้มันเกิดจากธรรมชาติ ไอ้โบสถ์วิหารนั่นก็ไม่ต้องสร้าง เงินของเขาทั้งนั้นน่ะ งั้นไอ้ที่เขามาสร้างก็ตกนรกกันหมดแล้ว เอ็งก็อยู่ใต้นรกเขานั่นน่ะ

พูดไปแล้วเดี๋ยวแรงเกินไป พูดอะไรมันเกินไป พูดหน้าเดียวไง มันเอาแต่ได้ เอาแต่เรื่องหน้าเดียว อันนั้นจบนะ ทีนี้เรามาพูดเรื่องดีๆ บ้าง อันนี้เป็นจดหมายถามมานะ มาจากจันทบุรีเขาให้ตอบทางเว็บไซต์ ตอบโดยตรง เราไม่ตอบ

ถาม : พุทโธไปเรื่อยๆ แล้วผมมีความรู้สึกเคลิ้มไปนิดหนึ่ง แล้วคำบริกรรมพุทโธกับลมหายใจก็ปรากฏขึ้นในใจและมีภาพนิมิตต่างๆ นานา บังเกิดตามมา ถ้าผมนึกถึงร่างกายของสตรี ผมก็จะเห็นภาพหญิงสาวนอนเปลือยกายอยู่ตรงหน้า แล้วผิวหนังจะแยกออกจากกัน มอง ตับ ไต ไส้แออัดอยู่ในท้อง ต่อมา ตับ ไต ไส้ ถูกแยกออกไป เหลือแต่ร่างกายเปล่าๆ ภายในท้องว่างเปล่า เห็นอวัยวะเพศเหมือนถูกเจาะไว้ ต่อมาเนื้อหนังหายไป เหลือแต่กระดูก ต่อมากระดูกสลายลงกลายเป็นกองฝุ่นอยู่กับพื้น เมื่อกระดูกเป็นกองฝุ่นแล้ว กองฝุ่นก็รวมตัวกลับเป็นโครงกระดูก เนื้อหนังก็งอกขึ้นมาปกคลุมกระดูก ตับ ไต ไส้ ก็ปรากฏขึ้นมาบรรจุอยู่ในท้องนั้น ผิวหนังก็งอกขึ้นมาปกคลุม เป็นร่างกายของหญิงสาวเหมือนตอนเริ่มต้น ผลของการเห็นภาพนั้น ทำให้ผมรู้สึกได้เพียงเล็กน้อยว่า ร่างกายเป็นสิ่งสมมุติ หรือบางทีก็เพียงรู้สึกเล็กน้อยว่า ความรู้สึกเพศเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเองในใจของเรา ผมจึงกราบเรียนหลวงพ่อว่า การเจริญปัญญาที่จะสามารถละวางกิเลสได้อย่างแท้จริง ครูบาอาจารย์สอนอย่างไรต่อไปครับ

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดถึงการปฏิบัตินะ นี่เราจะพักตรงนี้ไว้นิดหนึ่ง เห็นไหม นี่เป็นคฤหัสถ์นะ ผู้ถามมาจากจันทบุรี ไม่เอ่ยชื่อ... นี่เขาเป็นคฤหัสถ์ เขายังปฏิบัติได้อย่างนี้ แล้วที่ว่าถวายเงินพระ ถวายเงินพระนี่ พระแท้ๆ พูดออกมานี่ ไปพูดเรื่องธรรมวินัยนี่ ไปพูดเรื่องวินัยที่มันเป็นข้อบังคับ แต่นี้เวลาปฏิบัติเห็นไหม ถ้าเราซื่อสัตย์ขึ้นมา นี่แม้แต่คฤหัสถ์นะ นี่ไม่ใช่พระนะ เวลาเขาปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม นี่พุทโธๆ ไปนี่ เวลานึกถึงภาพ มันเห็นภาพ อันนี้เป็นนิมิต แล้วถ้าเห็นนิมิตนี่มันต่อเนื่อง

คำว่านิมิตนะ เราเห็นภาพนี่ เราเห็นภาพต้นไม้ ต้นต่างๆ นี่ เราเห็นทุกวัน เพราะมันเป็นวัตถุ เราเห็นได้ชัดเจน แต่คำว่านิมิตมันเห็นภาพนี่เป็นนามธรรม พอเห็นเป็นนามธรรมนี่ เห็นเป็นโครงกระดูกเห็นไหม แล้วมันแปรสภาพนี่ ตรงนี้น่ะมันเป็นการต่อเนื่องของจิต ถ้าจิตมันต่อเนื่อง จิตมันเป็นผู้รู้ เช่น เราลืมตา เราจะเห็นภาพต่อเนื่อง เห็นนกบิน นกมันจะกระพือปีก แล้วมันจะบินไปเห็นไหม

ทีนี้ภาพที่ว่าร่างกายนี่ พอมันย่อยสลาย จากย่อยสลาย หนังลอกออกไปนี่ มันเป็นภาพต่อเนื่องเห็นไหม มันเป็นภาพต่อเนื่อง ต่อเนื่องมา ถ้าเป็นภาพต่อเนื่องมาจนถึงที่สุด มันสลายเป็นฝุ่นเป็นผงไปเลย เป็นผงเพราะอะไร ด้วยจิตมันเพ่งดูอยู่เห็นไหม สิ่งนี้มันกลับขึ้นรูปขึ้นมา เหมือนเป็นโครงกระดูก เป็นอะไรขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเห็นไหม มันเวียนกลับนี่ สิ่งนี้มันเกิดขึ้นเพราะเหตุใด

สิ่งที่มันเกิดขึ้นมานี่ ถ้าเราดูหนัง ภาพเคลื่อนไหวเพราะมันมีฟิล์มเห็นไหม มันมีภาพอยู่แล้ว พอแสงมันผ่านภาพนั้นไป เพราะมันมีวัตถุ คือมันมีต้นแบบ มันมีฟิล์มอยู่แล้ว แต่ขณะที่เราพิจารณาของเรานี่ มันไม่มี มันไม่มีข้อมูลนะ มันเป็นของมันไปโดยข้อเท็จจริง อำนาจวาสนาของคนมันไม่เหมือนกัน นี่พอไม่เหมือนกันนี่ พอมันเป็นสภาวะแบบนี้ นี่ ถ้าเราภาวนา

ถ้าเราปฏิบัตินี่ กรณีที่มันเกิดขึ้นโดยที่เราคาดหมายไม่ได้ พอเราคาดหมายไม่ได้นี่ มันไม่ใช่สัญญาไง อย่างเช่นเรามีข้อมูลใช่ไหม เราอยากพ้นทุกข์ เราอยากมีอะไรนี่ เราจะมีข้อมูลของเรา แต่นี่มันไม่มี มันเป็นของมันไป แล้วเป็นครั้งต่อไป มันไม่เป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้ปั๊บ พอเรามีประสบการณ์หนหนึ่ง พอมีประสบการณ์หนหนึ่งปั๊บมันจะมีข้อมูลแล้ว คือเรียกสัญญา สัญญานี่มันอยู่ในใจแล้ว คราวต่อไปมันจะทำอย่างนี้อีกมันไม่ได้ พอไม่ได้ พอจิตมันสงบแล้ว มันไปเห็นภาพเหมือนกัน แต่ภาพมันคนละลักษณะหรือเป็นภาพอย่างอื่น เราก็แปลกใจนะ เอ๊! สมาธิเราเสื่อมไปหรือไงนี่ เอ๊! หรือว่าเราปฏิบัติไปแล้วไม่ได้ผล

คำว่าได้ผล มันจะเป็นปัจจุบันของมันตลอด นี่พอปัจจุบันนี่ ถ้าทำอย่างนี้ การกระทำเราจะบอกว่า นี่การเจริญปัญญาที่สามารถละกิเลสได้ทำอย่างไร ทำอย่างนี้ล่ะ ทำที่กำหนดพุทโธๆ นี่ พอจิตมันสงบแล้วน้อมไปดูกาย แล้วถ้ามันไม่เห็นกาย หรือมันเกิดขึ้นมาไม่ได้ กลับมาที่ความสงบอย่างเดียว กลับมาที่ความสงบ เพราะจิตมันไม่พอ

อย่างเช่นเราเห็นใช่ไหม อย่างน้ำหนักเรามีเท่าไร เรายกของได้หนักขนาดนั้น แต่ถ้าครั้งต่อไปนี่ จิตใจเราอ่อนแอด้วย แล้วน้ำหนักของเรามากขึ้น ยกไม่ได้ คือสิ่งที่เราเห็นครั้งแรกนี่ เราเห็นแล้วมันจะภาพซึ้งใจมาก แต่เห็นครั้งที่ ๒ มันไม่ซึ้งใจแล้ว มันต้องเห็นละเอียดอ่อนไปกว่านั้น ฉะนั้นจิตต้องละเอียดไปมากกว่านั้น ฉะนั้นกำหนดพุทโธๆ เข้าไปบ่อยๆ พุทโธเข้าไปบ่อย พุทโธเข้าไปมากขึ้น ให้จิตมันสงบมากกว่านี้ แล้วน้อมกลับไปดูอีก น้อมกลับไปดูอีก ทำอย่างนี้บ่อยๆ ทำบ่อยๆ เข้าไปนี่

ดูสิ เวลาเห็นสภาพแบบนั้นเห็นไหม นี่ผมมีความรู้สึกเพียงเล็กน้อยว่าร่างกายนี้เป็นของสมมุติ ผมมีความรู้สึกเล็กน้อยว่าความรู้สึกทางเพศนี่ เป็นเพราะใจเรานึกขึ้นมาเอง เห็นไหม ผมรู้สึกเพียงเล็กน้อย แต่พอเราพิจารณาบ่อยครั้งเข้านี่ ความรู้สึกเพียงเล็กน้อยนี่ มันจะมีความรู้สึกมากขึ้น มีรู้สึกความเป็นธรรมมากขึ้น มากขึ้น มากขึ้น เพราะอะไร เพราะการชำนาญ ความชำนาญนี่ ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ

โดยข้อเท็จจริงเหมือนคนทำอาหาร หรือคนทำหน้าที่เย็บปักถักร้อยนี่ ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ จะชำนาญมากเลย จิตก็เหมือนกัน ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ มันจะชำนาญของมัน พอชำนาญของมัน มันมีความชำนาญมากขึ้น มันแยกแยะได้มากขึ้น จิตใจมันจะดีขึ้น นี่ ผลของมันอยู่ที่นี่ ผลของมันอยู่ที่การภาวนา ไอ้กฎกติกา ไอ้ข้อบังคับนี่ เขาบังคับไว้ทำดีทำชั่ว แต่เวลาทำดีขึ้นมาแล้วนี่ ผลที่มันจะถอดถอนมันอยู่ที่การภาวนา

ฉะนั้นไอ้เรื่องทำดีทำชั่วนะ สังคมมันมีอยู่แล้ว มันมีสายบุญสายกรรม มันมีเรื่องเวรเรื่องกรรม เรื่องความชอบของคน บางคนพูดด้วยหลักของทาน ชอบแต่ทำบุญกุศล ให้ภาวนา จับภาวนาไม่ยอมนะ ไอ้คนอยากภาวนานี่ เขาก็ไม่สนใจเรื่องทานเลยเห็นไหม ไอ้คนระดับทำทานนะ ให้ภาวนากลับบ้านหมด ไม่เอา แต่ถ้าถวายทาน ชอบ นี่จริตนิสัยของคนมันแตกต่างหลากหลาย

ฉะนั้นเรื่องธรรมวินัยนี่ บังคับสังคมส่วนใหญ่ คนมีดีมีชั่ว คนดีก็คือดี ดีแล้วก็ส่งเสริม คนที่ไม่ดีเราก็แยกแยะออกไป กันออกไปไกลๆ นี่กันออกไปซะ ก็ชีวิตเหมือนกัน คนชั่วจะฆ่ามันหรือ ถ้าฆ่ามันมึงก็ผิดศีล คนชั่วเราก็ฆ่าไม่ได้ ฆ่าเขาไม่ได้ก็กันเขาออกไปเห็นไหม แล้วเอาคนดีไว้ แล้วคนดีให้ปฏิบัติไป นี่วินัยมีไว้เพื่อเหตุนั้น แต่เวลาจะเอาความจริงมันก็อยู่ที่การภาวนานี่

การภาวนาเห็นไหม กำหนดพุทโธๆ บ่อยๆ แล้วมันจะเป็นขึ้นมาอย่างนี้ แล้วถ้าเป็นครั้งต่อไปมันจะเป็นรูปแบบอื่น ถ้าเป็นรูปแบบนี้อีกมันจะเป็นสัญญา แต่ถ้ามันจะเป็นรูปแบบนี้อีก โดยปัจจุบันนะ มันจะละเอียดกว่านี้ ถ้าละเอียดกว่านี้ คือว่าถ้ามันเกิดขึ้น ให้มันเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน ปัจจุบันถ้าสติเราดี สมาธิเราดีนี่ ภาพที่เกิดขึ้น สตินี้มันจ้องได้เลย มันเพ่งได้เลย แล้วมันถามได้เลย ถ้ามันเป็นความจริง มันจะคงที่ของมัน

แต่ถ้าเป็นนิมิตปลอม นิมิตที่มันไม่คงที่ พอเราตั้งสติปั๊บมันจะหายไปเอง สิ่งนี้มันจะเคลื่อนเลย ถ้าสติเราดีนะ สติดี สมาธิดี ของอย่างนี้ ในแก้วที่มีน้ำ เห็นไหม มันจะมีน้ำ แล้วเราได้ดื่มน้ำนั้น ถ้าแก้วที่ไม่มีน้ำ แก้วเปล่าๆ มันไม่มีน้ำ ถ้ายกขึ้นมาเราไม่ต้องระวังเลยว่าน้ำนั้นจะหกหรือไม่หก แต่ถ้าแก้วที่มีน้ำ มันก็จะมีน้ำนะ สมาธิที่ดีมันมีน้ำ มันมีความชุ่มชื่น แล้วน้ำนั้นมันจะได้ดื่มได้กิน

สมาธิที่ดีเวลาเกิดภาพ เกิดความรู้สึกนี้ มันมีน้ำ มีรสชาติ เรารู้ได้ เราจับแก้วเขย่า น้ำมันก็กระเพื่อมแล้ว แล้วถ้าคว่ำทิ้งน้ำมันก็ออกหมด จิตก็เหมือนกัน ถ้าเกิดภาพต่างๆ มันถามได้ มันตรวจสอบได้หมดนะ แต่ถ้าแก้วที่ไม่มีน้ำใช่ไหม โอ้ มันจะหมุนได้รอบตัวเลย แล้วไม่มีอะไรกระเพื่อมเลย นี่เหมือนกัน จิตที่ไม่มีสมาธิเลยแล้วเห็นนู่นเห็นนี่ มันก็เพ้อฝันน่ะ

มันตรวจสอบได้ มันไม่มีหรอก ทีนี้ความจริงมันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นให้ทำอย่างไรต่อไป

ตั้งสติไว้นะ แล้วพุทโธไปนี่แหละ แล้วน้อมไปดูกาย ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ เข้า นี่คือการพิจารณากาย

ถาม : พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ มีดังเม็ดทราย คือนับไม่ถ้วนใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีดังเม็ดทราย แล้วเม็ดทรายมีมากขนาดไหน พระพุทธเจ้ามีมากขนาดนั้นเชียวหรือ มาก... มากขนาดนั้นจริงๆ อยู่ในพระไตรปิฎกเหมือนกัน เวลาเราสวดมนต์ทุกวัน สัมพุทเธ ๆ พระพุทธเจ้ามากมายดั่งเม็ดหินเม็ดทราย แล้วของเราเห็นไหม อย่างพุทธกัปนี้ ๕ องค์ แล้วต่อไปอนาคตวงศ์ ๑๐ องค์ ตอนนี้ที่ตรวจสอบได้ก็ ๑๕ แล้วก่อนหน้านั้นมาล่ะ

พระพุทธเจ้าเรา พระสมณโคดม เป็นพระพุทธเจ้าเพราะเหตุใด เป็นพระพุทธเจ้าเพราะปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ พอปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าทีปังกรเป็นผู้พยากรณ์ เป็นผู้พยากรณ์แล้ว ๔ อสงไขย พระพุทธเจ้าเราต้องสร้างบุญบารมีมา ๔ อสงไขย แล้วพระพุทธเจ้าทีปังกร เป็นผู้พยากรณ์พระพุทธเจ้าเรา ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าไปข้างหน้า แล้วพระพุทธเจ้าเราก็พยากรณ์ต่อไป

ถ้าผู้ที่ตั้งใจเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์ ถ้าได้พยากรณ์แล้ว กลับไม่ได้ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ นี่ปรารถนาพระพุทธเจ้าทั้งนั้นล่ะ แม้แต่หลวงตาท่านก็บอก ท่านพูดออกมาเร็วๆ นี้เอง บอกว่า “เราไม่ได้บอกใครเลยว่า เราก็เคยปรารถนาพุทธภูมิเหมือนกัน ทำไมแม่ชีแก้วรู้ได้” ท่านพูดเองนะ แสดงว่าท่านก็ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน หลวงตานี่ ท่านก็ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกันนี่

ทีนี้คนปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านี่มหาศาลเลย เราจะบอกว่าเกือบทั้งหมดเลย ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ทุกคนอยากเป็นพระพุทธเจ้าด้วย อยากเป็นพระอรหันต์ด้วย แต่ พวกเราสู้ไปไม่ไหวไง ถ้ามีกำลังแล้ว เป็นสาวกก็เอาแล้ว เป็นผู้ที่จะพ้นทุกข์ก็เอาแล้ว

ฉะนั้น บอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ดั่งเม็ดทราย ที่นับไม่ถ้วน จริงหรือไม่จริง จริง! จริงแน่นอน เพียงแต่ว่าเม็ดทรายมันเป็นเม็ดทรายที่เราเห็นได้ เม็ดทรายนี่นะ ต่อไปจะหาเม็ดทรายไม่ได้แล้ว เพราะเขาเอาไปทำสิ่งก่อสร้างกันหมด ทรายนี่หายเกลี้ยงเลย ต่อไปทรายก็หาไม่เจอ แต่นามธรรม พระพุทธเจ้าดั่งเม็ดทรายนี่ มันอยู่อย่างนั้นตลอดไป ดั่งเม็ดหินเม็ดทราย

กรณีอย่างนี้เมื่อก่อนเราก็สงสัย เราก็งงนะ มันจะจริงหรือๆ ขนาดพระพุทธเจ้าองค์เดียวก็แทบจะไม่เชื่ออยู่แล้ว แล้วพระพุทธเจ้ามีดั่งเม็ดทราย แต่พอมาศึกษาตามข้อเท็จจริงแล้ว เชื่อ อย่างเช่นที่ว่านี่ อย่างพระพุทธเจ้าทีปังกร เป็นผู้พยากรณ์พระพุทธเจ้าเรามา แล้วพอมานี่ ภัทรกัป ๕ องค์ อนาคตวงศ์อีก ๑๐ แล้วต่อไปอีกเห็นไหม แล้วในปัจจุบันนี้ ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอีกเยอะแยะเลย ใครๆ ก็ปรารถนาพระพุทธภูมิอีกมาก แล้วก็ต่อไปอีกข้างหน้า เพราะพระที่จะมาปรารถนาพุทธภูมินี่เยอะมากนะ

ฉะนั้น จริงหรือไม่จริง พอจริงขึ้นมานี่ เรื่องจิตวิญญาณเรารู้เราเห็นไม่ได้ เรื่องผีเรื่องสางเรายังเถียงกันอยู่ว่ามีจริงหรือไม่จริงเลย แล้วเรื่องจิตวิญญาณของครูบาอาจารย์ของสิ่งที่มันเป็นไปนี่ ถ้าเราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็เชื่อพุทธวิสัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วเราปฏิบัติขึ้นมานี่ เวลาปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม แม้แต่ แต่ละองค์ อย่างเช่น พระพุทธเจ้านี่ เป็นพระอรหันต์ แล้วสาวก สาวกะ อย่าง พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ครูบาอาจารย์เราเป็นพระอรหันต์

นี่ก็เหมือนกัน อ้าว พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ หลวงปู่มั่นก็พระอรหันต์ เพียงแต่พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า หลวงปู่มั่นเป็นสาวก ก็พระอรหันต์เหมือนกัน ถ้าพระพุทธเจ้าเป็นเม็ดหินเม็ดทราย พระอรหันต์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมา เช่น อย่างสมัยพระพุทธเจ้าเห็นไหม มาฆบูชา พระอรหันต์โดยเอหิภิกขุนี่ ๑,๒๕๐ องค์ นั่นถ้าพูดถึงพุทธะ ก็พุทธะสะอาดหมดนะ

ถ้าเปรียบว่าเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ แต่พระพุทธเจ้าด้วยการเรียนจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าโดยการเรียนโดยสาวก แต่พระพุทธเจ้าจริงๆ ไม่ได้เรียนจากใคร ตรัสรู้เองโดยชอบ นี่มันแตกต่างกันตรงนี้ไง ว่าถ้าจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่ได้ศึกษามาจากใคร แต่พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล ศึกษามาจากพระพุทธเจ้า แต่เป็นพระอรหันต์เหมือนกันไง นี่เราจะเปรียบว่าพระอรหันต์องค์หนึ่ง ก็เปรียบเหมือนพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งไง มันก็เห็นอยู่ชัดๆ เป็นเม็ดหินเม็ดทรายไหมล่ะ

ทีนี้เพียงแต่ว่าเป็นพระพุทธเจ้าแต่ละองค์มันเป็นศาสนาหนหนึ่งๆ มันใช้กาลเวลา กาลเวลาจะสร้างสมเป็นพระพุทธเจ้าได้ แล้วกาลเวลาจะถึงเวลาแล้ว มันต้องใช้กาลเวลา แต่กาลเวลาขนาดไหน ดูสิ เวลาก็หมุนไปสิอย่างนี้ ฉะนั้น ถึงบอกว่า พระพุทธเจ้ามีดังเม็ดหินเม็ดทราย ไอ้กรณีอย่างนี้นะ มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกอยู่แล้ว คำสวดมนต์เราก็มี เพียงแต่ว่า ความเข้าใจ นี่พูดถึงความเข้าใจว่า จริงหรือไม่จริง จริง

ถาม : ชีวิตของมนุษย์เราที่ผ่านมา นับไม่ถ้วนดั่งเม็ดทราย ในกำมือนั้น คือนับไม่ถ้วนใช่ไหมคะ

หลวงพ่อ : ใช่ ชีวิตเราผ่านมาก็นับไม่ถ้วนดังเม็ดทราย ดังไม่ถ้วนเพราะอะไร ชีวิตเรานี่นะเอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ของพวกเรานี่จิตหนึ่งเหมือนกัน จิตหนึ่งจะเวียนตายเวียนเกิดเหมือนกัน เอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง พระพุทธเจ้าเวลาจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าย้อนไปดูบุพเพนิวาสานุสติญาณ คืออดีตชาติของพระพุทธเจ้าไง

ดูสิ ชาติของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า ชาติจากพระพุทธเจ้าไปก็พระเวสสันดร ย้อนไป ท่านใช้คำว่านับไม่ได้ นับต้นนับปลายไม่ได้เลย คือการเกิดและการตายของจิตของพระพุทธเจ้านี่ มันนับไม่ได้เลยนี่ ฉะนั้น จิตของพระพุทธเจ้ากับจิตของเรานี่ ถ้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้นะ ก็เป็นเหมือนเรานี่ คือจิตเหมือนเราเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าพอตรัสรู้ปั๊บก็เป็น พระพุทธเจ้าไป

ฉะนั้นจิตของพระพุทธเจ้า กับจิตของเรานี่ก็เกิด ตาย เหมือนกัน ฉะนั้นเพียงแต่พวกเรานี่ไม่มีปัญญารู้ได้ดั่งพระพุทธเจ้า ทีนี้พระพุทธเจ้ารู้ได้ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ เราก็เอาจิตเรานี่ ถ้าเรารู้ได้เหมือนพระพุทธเจ้า มันก็เหมือนที่นับต้นนับปลายไม่ได้ คือนับไม่ได้เลย พอนับไม่ได้เลยนี่ เราก็กลับมาที่ว่าดั่งเม็ดหินเม็ดทรายไหม เห็นไหม เพราะนับไม่ได้เลย มันซับซ้อนมา นี่ผลของวัฏฏะ

จิตดวงเดียวเรานี่แหละ หลวงตาพูดบ่อย ว่าเราเกิดเป็นคน คนหนึ่งแล้วตายไป จิตดวงเดียวนี้แหละ แล้วเอาซากศพที่มันเกิดตายๆ นี่ กองไว้โลกนี้ไม่มีที่เก็บ จิตดวงเดียวนะ แต่นี้พอจิต พอตายหนึ่ง ซากศพมันก็ย่อยสลาย ย่อยสลายไปนะ แต่หัวใจนี่ เกิดเป็นชาติหนึ่งมันก็ทุกข์หนึ่ง ทำดีก็สุขหนึ่ง อันนี้มันสร้างเป็นจริตนิสัย พันธุกรรมของเมล็ดพืช พันธุกรรมของจิต

เมล็ดพันธุ์พืชเขาต้องตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อให้มันแข็งแรง ให้มันทนต่อโรค ให้มันเป็นประโยชน์ขึ้นมา จิตของเราเวลาเกิดตายๆ นี่ มันจะตัดแต่งด้วยผลบุญผลกรรม ผลบุญดีๆ นี่มันจะตัดแต่งให้จิตใจนี่เป็นดีขึ้นมา พันธุกรรมของจิตเกิดจากบุญและบาป ในพันธุกรรมของเมล็ดพืชเขาต้องตัดแต่งด้วยวิทยาศาสตร์ ตัดแต่งด้วยทางสารเคมีของเขาที่เขาตัดแต่ง

นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้นบอกว่าจริงหรือไม่จริง จริงแน่นอน พอจริงแน่นอนนี่ ไอ้ตรงนี้นะ ถ้าจะเทียบ เทียบได้หลายแง่มุมเลย แง่มุมหนึ่งคือนิสัยของคน ท้องหนึ่ง เห็นไหม พี่ น้อง พ่อ แม่คนเดียวกัน ทำไมนิสัยไม่เหมือนกันเลย พ่อแม่คนเดียวกันเห็นไหม แต่นิสัยแตกต่างกัน ก็นี่บุญกรรมไง เพราะจิต มันเกิดตายแตกต่างกันมา มันก็สะสมกันมา

ฉะนั้น พระพุทธเจ้ามีมากดังเม็ดหินเม็ดทรายใช่ไหม นั้นจิตหนึ่งนะ จิตหนึ่ง คือจิตของพระพุทธเจ้า คือเวียนตายเวียนเกิด เราก็จิตหนึ่ง ปัจจุบันนี้เป็นเรา แต่เราก็เวียนตายเวียนเกิดเหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าไม่มีต้นไม่มีปลาย พระพุทธเจ้าพอไปสร้างบุญขึ้นมา อย่างพวกเรานี่ มันจะไม่มีต้นไม่มีปลายเห็นไหม

อย่างเช่นพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วพระโพธิสัตว์กลับไม่ได้ แต่ถ้าพวกเรา ของเราปฏิบัติ ถ้าพูดถึงพวกเรา ดวงตาเห็นธรรม เห็นไหม ๗ ชาติเท่านั้น จบเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ดวงตาเห็นธรรมนี่ เราสร้างไปนี่มันแบบว่า เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำๆ มันลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวก็ดี แม้แต่ความคิดมนุษย์ชีวิตเดียวนี่ เราก็ยังคิดแง่บวกแง่ลบได้วันหนึ่งหลายรอบ

แล้วระหว่างช่วงที่เราคิดดี เราบุกบั่น เรามุมานะ เวลามันท้อถอยนี่ เราคิดทางลบนี่ มันแตกต่างไปละ ฉะนั้นถ้าจิตเรามันยังไม่มั่นคง หมายถึงว่า ยังไม่มีดวงตาเห็นธรรม ถ้าดวงตาเห็นธรรมนะ ความคิดก็อย่างนี้ แต่ ถ้ามันสมุจเฉทปหาน เห็นไหม มันเป็นอกุปปธรรมแล้ว พออกุปปธรรม มันไม่ลงต่ำไง ไม่ลงต่ำ หมายถึงว่า พอเร่งก็ขึ้นเลย เหมือนกับพระอานนท์ เห็นไหม

พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน แล้วพอพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระอานนท์สำเร็จเป็นพระอรหันต์เลย นางวิสาขาก็เป็นพระโสดาบัน แล้วนางวิสาขาก็ตายไปพร้อมพระโสดาบัน เห็นไหม มีอย่างนี้แล้วไม่เร่ง ถ้าเร่งมันก็เร่งขึ้นไปเลย มันก็พยายามดันขึ้นไป มันก็ปฏิบัติต่อเนื่องกันไปเลย มันก็จบได้ แต่ถ้ามันไม่จบก็เหมือนนางวิสาขา เห็นไหม ได้โสดาบันแล้วก็อีก ๗ ชาติ

ฉะนั้น ตรงนี้ถ้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์แล้วอย่างหนึ่ง แต่ของเรานี่ เราไม่ได้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ เราจะต้องทำตัวเราเอง ไม่มีใครพยากรณ์ เอาธรรมะพยากรณ์ เอาธรรมะ เอาสัจธรรมตามที่ปฏิบัติแล้วนี่ อย่างที่ถามเมื่อกี้เห็นไหม พิจารณาเห็นร่างกายต่างๆ เราก็พิจารณาของเขาไป อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำของเรา สิ่งที่ถามมานี่ ถูกต้องอย่างนั้นหมดเลย

ถูกต้องคืออะไร ถูกต้องคือผลของวัฏฏะ ถูกต้องคือข้อเท็จจริง ถูกต้องคือวิทยาศาสตร์ ถูกต้องคือสิ่งที่เป็นจริง ที่มันเป็นจริงแต่อนิจจัง คือแปรสภาพ ฉะนั้นมันเป็นของมันอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันนี้เราเป็นเรา แล้วเราเห็นเรื่องอย่างนี้ปั๊บนี่ เราเข้าใจเรื่องอย่างนี้ปั๊บนี่ ปัจจุบันถ้าเห็นเรื่องอย่างนี้ปั๊บนะ หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ เปิดนรก สวรรค์ กับโลกนี่ ให้คนเห็นนี่ คนจะไม่ทำความชั่วเลย

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้ว่าชีวิตเรา มันจะหมุนไปอย่างนี้ เราจะมุมานะกับปัจจุบันนี้ไง เอาปัจจุบันนี้ให้ได้ ไปข้างหน้ากูจะไปทุกข์อีกนะ แล้วมันก็ไม่แน่นอน ถ้าเอาให้จริงจังของเรานี่ เพื่อประโยชน์กับเรา อันนี้เอามาหนุนความเห็นของเราในปัจจุบันนี้ไง พยายาม มันจะเมื่อยล้า มันจะท้อถอย มันจะคอตก ทุกข์จริงๆ นะ

เวลาปฏิบัตินี่มันจะทุกข์ แต่ทุกข์แล้วนี่ อย่างพูดตอนเช้า ต้องฝืนมัน ฝืนทุกอย่าง ฝืนอย่างนั้น ฝืนมันเพื่อจะทดสอบกัน ทดสอบเห็นไหม อย่างที่ความคิดที่มันเกิดขึ้น ทุกอย่างที่มันบีบคั้นเรานี่ ถ้าเรามีสติ แล้วเราใช้ปัญญา ผ่านอันนี้ไปนะ เฮ้อ! เท่านี้เอง พอมันมีกำลังทำได้ๆ นะ มันจะมั่นคงขึ้น ทำความดีขึ้น เพื่อประโยชน์กับตัวมันนะ คติธรรมอย่างนี้ คติอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วนี่ เราคิดแล้ว เราใช้ปัญญาแล้ว ใคร่ครวญแล้ว สอนตัวเองไง

พอสอนตัวเองเห็นไหม นี่พันธุกรรมทางจิต จิตได้รดน้ำ ได้พรวนดิน ได้ใส่ปุ๋ย จิตมันจะงอกงาม นี่ก็เหมือนกัน พอเรามีความคิดอย่างนี้ใช่ไหม เราก็ใช้สติปัญญา ให้กำลังใจตัวเอง ให้เห็นโทษของมัน เห็นไหม เราก็ใส่ปุ๋ย ดูแล รดน้ำพรวนดิน ให้จิตใจเราเข้มแข็ง เพื่อจะต่อสู้กับมัน ต่อสู้กับกิเลสของตัวเอง ต่อสู้กับความเห็นของตัวเอง ให้เป็นอิสรภาพได้ เอวัง