เทศน์เช้า

คุณของธุดงค์

๙ มี.ค. ๒๕๔๓

 

คุณของธุดงค์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พูดกันเพื่อศาสนา เพื่อให้คนมั่นใจในศาสนา ครูบาอาจารย์ต้องยืนยันค้ำประกันเป็นหลักของศาสนา

ในหลักของศาสนาเหมือนกัน ในการถือธุดงควัตร เห็นไหม ธุดงควัตรเป็นศีลในศีล ถือธุดงควัตรนี่เขามีฝ่ายว่าเป็นการประพฤติลำบาก ส่วนใหญ่จะคิดกันอย่างนั้น เพราะว่าในการจะประพฤติปฏิบัติ แม้แต่ฉันข้าวมื้อเดียว เขาว่าเป็นของที่ยากแล้ว ยังต้องให้ผ่อนให้มันน้อยลงอีกๆ มันเป็นสิ่งที่ลำบาก

มันเปรียบเหมือนนะ เปรียบเหมือนว่าเราเกิดมาในประเทศไทย เรามีตำรวจเป็นคนที่ควบคุมกฎหมายให้เราอยู่แล้ว รักษาความปลอดภัยให้เราอยู่แล้ว นี่ศีลโดยปกติ เราไม่ได้ทำอะไร หรือไม่มีเหตุการณ์อะไรตำรวจจะไม่มายุ่งกับเราเลย ศีลก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ทำมันผิดปกติ เห็นไหม เราก็ไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นความผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว นี่มันเป็นเรื่องของความปกติ

แต่ทำไมที่บ้านที่เขามีสมบัติมาก หรือเขาต้องการความปลอดภัยมากขึ้น ทำไมเขาต้องจ้างพวกรักษาความปลอดภัยมารักษาอีกล่ะ?

นี่เหมือนกัน เขาจ้างผู้รักษาความปลอดภัยมารักษาความปลอดภัยให้เขามากขึ้น เห็นไหม ทั้งๆ ที่ว่าตำรวจรักษากฎหมายก็มีอยู่ ศีลโดยปกติก็มีอยู่แล้ว เห็นไหม ว่าศีลนี่พระบังคับด้วยการใครจะรับศีล ขนาดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เห็นไหม แล้วสถานะของผู้ที่ว่าจะอาราธนาศีลนั้นขึ้นมา หรือว่าวิรัติขึ้นมาในใจของตัว

ทีนี้ไอ้ธุดงควัตร เห็นไหม ผู้รักษาความปลอดภัยนี่ เราจ้างมา เราสามารถจะสั่งให้เขาดูแลตรงไหนก็ได้ใช่ไหม? เราสั่งคือว่าเป็นสิทธิของเราที่เราจ้างผู้รักษาความปลอดภัยมารักษาความปลอดภัยเรา เพื่อความปลอดภัยของเรา แต่ในธุดงควัตรเราวิรัติขึ้นมาเอง เราวิรัติขึ้นมาว่าเราต้องการทำอย่างนี้ มันเข้าไปบีบคั้น

โลกกัน...การรักษากันไว้คือรักษาแต่สมบัติพัสถาน เห็นไหม รักษาไว้ แต่ในธรรมไม่ใช่รักษาไว้ ธรรมคือการสละออกไป ยิ่งสละออกไปเท่าไหร่จะเกิดความว่าง เห็นไหม ที่ว่าแหวกจอกแหนๆ นี่ แหวกจอกแหนเพื่อเห็นน้ำ แหวกจอกแหนไปก็เพื่อจะเข้าถึงตรงนั้น นี้การแหวกจอกแหนนี่ แหวกจอกแหนออกไป ต้องแหวกออกไป

ไอ้นี่เหมือนกัน ธุดงควัตรก็เพื่อมาชำระออกไป ความตระหนี่ ความอยาก ความเห็นไหม ยิ่งสละออกไปมันจะเข้าถึงความสงบไง ธุดงควัตรถึงมีประโยชน์ตรงนี้ เห็นไหม มีประโยชน์ตรงที่จะเข้าให้ถึงได้ มันเป็นระหว่างปัญญาความคิดของโลกเขา เห็นไหม ความคิดของโลกเขาคือสิ่งที่สงวนรักษาขึ้นมาจะได้มาก การกว้านการต้อนเข้ามา คือว่าการยึดเหนี่ยวเข้ามาถึงว่าเราเป็นผู้ได้

แต่มันผิดกับหลักของธรรม หลักของธรรมคือการสละออกต่างหาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “บ้านเรือนนี้เปรียบเหมือนกับว่าโดนไฟไหม้อยู่ ใครขนของออกจากเรือนได้เท่าไหร่ ก็สมบัติที่ไม่โดนไฟไหม้เป็นของเรา”

นี่เราต้องโดน...ชาติ ความเป็นไป “ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา” การเกิดและการตายเผาผลาญชีวิตนี้ต้องให้มอดไหม้ไปโดยธรรมชาติของมันเลย แล้วสิ่งที่สละออกไปนั้นเป็นวัตถุ วัตถุนี้เป็นสายกระเทือนถึงว่าใจผู้สละออกไปถึงได้ขึ้นมา ได้ความสละออกไปเป็นทรัพย์กับในใจดวงนั้นไป นั้นผู้ที่สละออกถึงได้เข้ามา

นี้ธุดงควัตรเป็นการชำระล้างการสละออก มันต่างกับโลกตรงนี้ไง โลกคือการแสวงหาขึ้นมา ความสะดวกความสบาย ความพอใจ เห็นไหม วิชาการถึงคิดอย่างนั้น คิดว่าจะทำอย่างไรให้เราสะดวกให้เราสบาย แล้วให้เข้าถึงไง คือว่าให้มีความสุข แต่ไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นมีผลข้างเคียงไปตลอด ความสุขที่คิดว่าเป็นความสุข จะเป็นความเร่าร้อนเผาลนทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเป็นการบังคับตน เห็นไหม เป็นการสละออก เอาธุดงควัตรเข้าไปกด

ศีลเป็นศีล ศีลนี่บังคับ ศีลนี่ถ้าเราผิด เห็นไหม เราออกไปทำถึงผิด ถ้าเราปกติอยู่ เราก็ไม่ได้ผิดศีลเลย แต่ธุดงควัตรไม่ใช่อย่างนั้น ธุดงควัตรตามเข้าไปในหัวใจเลย ตามเข้าไปแล้วดูว่าหัวใจจะคิดอย่างไร? พรุ่งนี้ออกบิณฑบาตจะได้มากได้น้อย เห็นไหม ความคิดนี่คิดมี จะฉันนู้นจะฉันนี้ แล้วสละออก มักน้อยสันโดษในมื้อเดียว ในอะไร นี่ตามเข้าไป

เหมือนกับเราจ้างผู้รักษาความปลอดภัยเข้ามารักษาความปลอดภัยในหัวใจของเรา ให้หัวใจของเราใสสะอาดขึ้นมา แต่อันนี้เป็นธุดงควัตรที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ แล้วไม่ได้บังคับ ฟังนะ! ถ้าเป็นศีล ทุกคนต้องอยู่ในศีลทั้งหมด ในกรอบของศีลทั้งหมด ไม่ยกเว้นเลย แต่ในธุดงควัตรนี้ไม่ได้บังคับว่าทุกคนต้องถือธุดงควัตรไง

ถึงว่าไม่ใช่ทุกข์นิยม คือว่าต้องมีความทุกข์ถึงจะเห็นธรรมได้ ทุกข์มันเป็นสัจจะอยู่แล้ว เพียงแต่คนเข้าไปด้วยความอ่อนละมุนละไมก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วการเข้าไปอ่อนละมุนละไม จะโดนกิเลสหลอกทั้งหมด ส่วนใหญ่กิเลสหลอก ถึงได้ต้องเข้มงวดเข้าไปก่อนไง เข้มงวดด้วยธุดงควัตร

ธุดงควัตรเป็นเครื่องมือเข้าไปจับ มันลึกกว่าศีลนะ เพราะมันทะลวงเข้าไปนะ ศีลคือปกติ กรอบของศีล กรอบของใจ นี่ทะลุทะลวงเข้าไปถึงแก่นของใจ คือความตระหนี่ถี่เหนี่ยวในหัวใจนั้น ความอยากสะดวกอยากสบาย ความอยากอันนั้น เห็นไหม อยากสะดวกอยากสบายทำให้กิริยา ให้การประพฤติปฏิบัติของตนจะล้มเหลวไป

เวลาจะถือธุดงค์ต้องอธิษฐานเอาขึ้นมา เห็นไหม ผู้ใดอธิษฐานก็ได้ไม่อธิษฐานก็ได้ นี้เพียงแต่ผู้ที่ฉลาด ทำไมเวลาเรารักษาความปลอดภัย ทำไมเราอุตส่าห์ไปจ้างมา เพิ่มขึ้นมาเพื่อรักษาความปลอดภัยเรา? เราถึงต้องการความปลอดภัย ต้องการความอุ่นใจ?

แต่ในเรื่องจะประพฤติปฏิบัติเพื่อควบคุมใจ เราจะสร้างเสริมขึ้นมาให้เข้มแข็งขึ้นมาในข้อวัตรปฏิบัติ ทำไมว่าอันนี้เป็นความลำบากล่ะ? เพราะอะไร?

เพราะเราจะไปกดขี่ทำลาย ไม่ให้อวิชชา คือว่าความสะดวกของใจ เห็นไหม ความเคยใจ กิเลสคือความเคยใจ มันได้รับความสะดวกสบาย มันเคยได้รับความสะดวกสบายของมัน มันย่ำยีหัวใจของสัตว์โลกอยู่ตลอดเวลา แล้วมันเป็นเจ้าวัฏจักรคุมอำนาจอยู่ตรงนั้น แล้วไม่เคยมีสิ่งใดจะเข้าไปขัดขวางมันได้เลย

พอเราจะเอาธุดงควัตรเข้าไป เห็นไหม นี่เริ่มมีความคิดว่าสิ่งนี้สมควรหรือ? ฟังสิ! นี่เป็นพื้นๆ นะ สมควรจะเข้ามาหรือ? มันไม่เกินไปหรือ? เห็นไหม ทำให้ล้มไปแล้ว เห็นไหม แล้วถ้าเราฝืนขึ้นมาล่ะ?

เราฝืนขึ้นมาเพราะเราเชื่อ เราเชื่อครูบาอาจารย์ เห็นไหม เพราะธุดงควัตรทำให้เกิดครูบาอาจารย์ที่ว่าเป็นผู้ที่ดำเนินไปก่อน แล้วท่านเบิกทางถางทางไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหาไง ลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนที่ว่าอ่อนเปลี้ยเสียขา เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา คนเพลียแรง คนไม่มีกำลังใจ ต้องเห็นอันนั้นเป็นกำลังใจ แล้วเดินตามไปชำระกิเลสของตัว เดินตามไปด้วยอำนาจที่ว่าเราจะชนะใจของเรา ชำระไอ้อวิชชาที่เจ้าวัฏจักรอยู่ในใจของเรา เราชนะเราด้วยวิธีการของธุดงควัตร

ฉะนั้น ธุดงควัตรถึงเป็นคุณ แต่เป็นคุณเพราะเราไม่เคยเห็นคุณก่อน เราถึงเห็นความลำบากทุกข์ร้อนก่อน แต่ถ้าเราเชื่อเราศรัทธาในครูบาอาจารย์ ผู้ที่ผ่านมีธุดงควัตรออกไปถึงเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอริยบุคคลให้เรากราบไหว้บูชาอยู่ เราทำไมจะไม่ยินดีจะถือธุดงค์ขึ้นมาล่ะ?

เราต้องยินดีถือในธุดงควัตรของเราขึ้นมา ของเรา เห็นไหม ของเราคือของกิเลสนั้น กิเลสมันเป็นเราอยู่แล้ว เข้าไปบีบบี้สีไฟกับมัน

นั่นถึงว่าเป็นศีลในศีล เป็นศีล... (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)