เทศน์เช้า

เพียรด้วยปัญญา

๒o ก.พ. ๒๕๔๓

 

เพียรด้วยปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความเพียรกับปัญญาอันไหนสำคัญกว่ากันนะ? ความเพียรนะกับปัญญา...

แล้วก็วิเคราะห์วิจัยไป ถ้าหากว่าเราใช้ความเพียรอย่างเดียว เราใช้แต่ความเพียร ถ้าไม่ใช้ปัญญาก็ว่าไม่มีปัญญาแก้กิเลสไม่ได้ มันก็มีส่วนจริงอยู่

ถ้าเราใช้ความเพียรอย่างเดียวนะ ใช้ความเพียรมุมานะ แต่ความจะล่วงพ้นทุกข์ได้นี่เพราะความเพียร เห็นไหม ความเพียรนี่สำคัญมากเลย ถ้าความเพียรไม่มีพื้นฐาน คือว่าความอุตสาหะ การประพฤติปฏิบัติของเรา ความจงใจ ความตั้งใจจริง ถ้าตรงนี้ไม่มี

อาจารย์สอนอยู่นะ สอนบอกบ่อยเลยว่า “ปัญญามันจะเกิดต่อเมื่อจนตรอกจนมุม” จนตรอกจนมุมคือเวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเวลามันทุกข์ เวลาความเพียรเข้าไปที่สุดแล้วมันจะมีทางช่องออก นี่ปัญญาแท้มันเกิดตรงนั้นนะ นี่ปัญญา แต่เราว่าจะใช้ปัญญาก่อนๆ ถ้ามีปัญญาก่อน นี่ปัญญาสำคัญมาก แต่ถ้าสุดท้ายรวมลงแล้ว ไม่มีสิ่งใดจะมีคุณค่าสูงต่ำกว่ากันเลย เพราะมันเป็นมรรค ๘ ต้องรวมตัว เห็นไหม ระหว่างความเพียรอุตสาหะนะ...ถูกต้องเลย เป็นพื้นฐาน ถ้ามองข้ามตรงนี้นะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เรื่องการอดอาหารตรัสไว้ว่า “ไม่ใช่ทาง ไม่ให้พระนี้อดอาหาร ให้ตั้งใจทำด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือว่าพอเลี้ยงชีพไป”

แต่นี่เพราะว่าคนมองรูปแบบ มองเข้าไปแล้วมันจะมองแง่เดียวไง พออดอาหารก็จะอดเฉยๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน อดอาหารทีแรกเข้าใจว่าการอดอาหารนี้เป็นทางเดินไง แต่พอผ่านไปแล้ว การอดอาหารนี่เป็นการสร้างฐาน มีพื้นฐาน

พื้นฐานเกิดจากความเพียร การเร่งความเพียร การอดอาหารอันนั้นทำให้จิตนี้ตั้งมั่น พอจิตนี้ตั้งมั่น หันกลับมาอานาปานสติ แล้วเริ่มใช้วิปัสสนาเข้าไป ผลัวะ...ขาดเลย นั่นน่ะพื้นฐานจากตรงนั้น เบสิกตรงนี้สำคัญมากเลย นี่การอดอาหาร

ถึงว่าถ้าการอดอาหารนี้ ใครอดอาหารเพื่อจะอวดตัวว่าเป็นผู้ที่ว่าเคร่งกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น พระพุทธเจ้าปรับอาบัติทุกกฏทุกๆ กิริยาเคลื่อนไหว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุญาตเพื่อให้เป็นอุบายการหาทางออก อุบายเร่งความเพียร ถ้าอดอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นเลย

แต่เพราะเราคิดกันว่าถ้าสิ่งใดมันสะดวกสบายกับเรา เราก็อ้างว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่า “ห้ามๆ” ไง ห้าม...ห้ามต่อเมื่อคนที่ไม่มีปัญญาการว่าตรงไหนมันพอดี ถ้าอดเฉยๆ อดตายก็ตายเปล่า แต่ถ้าอดมาแล้วให้สร้างความขึ้นมา สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นฐาน พื้นฐานขึ้นมาคือว่าใจมันมีพื้นฐานขึ้นมา

นี่ความเพียรถึงสำคัญ ถ้าไม่มีความเพียรเลยนะ ความเพียรกับปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้น เห็นไหม ถ้าปัญญามันใช้อยู่ เราใช้ปัญญาอยู่ ปัญญาเราใช้อยู่โดยปกติ มันมีเล่ห์เหลี่ยมของกิเลส มันใช้มาด้วยนะ ควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ ควรๆ หมดเลย

ถึงว่าถ้าควรปั๊บ เราต้องเร่งความเพียรเข้าไป ความเพียรของเรานี่หนักเข้าไปๆ ยืนพื้นของความเพียรไว้ ระหว่างความเพียรนะ นี่เขาขนาดว่าเอาไปเห็นว่าปัญญาอย่างนี้ปัญญากิเลสมันหลอกตัวเอง เห็นว่าครูบาอาจารย์เราเน้นแต่ความเพียรมากๆ เขาก็เขียนคอลัมน์มาว่า พระขึ้นไปนั่งบนต้นไม้ ให้เร่งความเพียรไปเถิด นั่งอยู่บนต้นไม้ นั่งจนเป็นลิงเป็นค่างไปก็แค่นั่งไปนะ เพราะไม่มีปัญญา ต้องใช้ปัญญาต่างหากถึงจะล่วงพ้นจากกิเลสได้ ถ้าไม่ใช้ปัญญาเลย...

จริง...ถ้ามองแง่เดียว แต่มันต้องมองรอบด้านสิ รอบด้านว่าถ้าไม่มีความเพียร ไม่มีการริเริ่ม ไม่มีการจดจ่อเข้าไป ไม่มีการมุมานะ เวลามันจนตรอกจนมุมมันเหมือนคนมันทิ้งภาระทุกอย่าง ทิ้งความยึดมั่นถือมั่น ทิ้งความเป็นตนเป็นตัว ทิ้งหมดเลย ปัญญาเกิดขึ้นตรงนั้น มันจะสว่างโพลงขึ้นมาเลย สว่างว่ามันจะมีทางรอดไปได้ นั้นคือปัญญาแท้ไง

ปัญญาที่คิดว่าควรจะทำอย่างนั้น ควรจะทำอย่างนี้ ควรจะ...ควรจะจนไม่มีการไล่ต้อน ควรจะจนความเพียรนี้ไม่ตั้งมั่นได้ ความเพียรนี้ไม่มีการยืนขึ้นมาได้ แล้วก็มาโทษกันระหว่างไง ระหว่างว่าถ้าใช้ความเพียรนี้ เหมือนคนที่ไม่มีปัญญา โง่ๆ เซ่อๆ ก็ทำไปอย่างนั้นนะ ทำไปอย่างนี้แล้วมันจะล่วงพ้นจากกิเลสไปได้อย่างไร ต้องใช้ปัญญามันถึงจะพ้นจากกิเลสได้

ปัญญาใช้ไปก่อน...ใช้ปัญญาก่อนมันก็ใช้ปัญญาเห็นแก้ตัว ใช้ว่าควรๆ เห็นไหม นี่ระหว่างความเพียรกับปัญญา อันไหนมีคุณค่ากว่ากัน?

ทีนี้อันไหนมีคุณค่ากว่ากัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอยู่แล้ว “จะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร” เราถึงต้องเอาความเพียรนี่เป็นพื้นฐาน พอมีพื้นฐานขึ้นไป มันรองรับทุกๆ อย่าง

ต้นไม้ เห็นไหม ต้นไม้ทุกอย่างเกิดบนดิน บ้านเรือนก็เกิดบนดิน บนดินบนพื้นฐานของดิน ถ้าดินนั้นเป็นเลนเป็นโคลน เห็นไหม บ้านเรือนนั้นก็ต้องล้มไป ต้นไม้ก็ปลูกไว้ไม่ได้ ถ้ามันแห้งจนเกินไปต้นไม้ก็ตายหมด เป็นไปไม่ได้ เห็นไหม ต้องพอดี ความเพียรถ้าเราไม่ได้ใช้ปัญญาเลย ความเพียรนี้ก็เหมือนกับเรานวดดินทำดินขึ้นไป นี่ความเพียรขึ้นไป เวลามันปลูกต้นไม้ขึ้นไป มันก็พอดีๆๆ แล้วจะไปติความเพียรได้อย่างไร?

ย้อนกลับมา...ย้อนกลับมาความเพียรก็เป็นสมาธิ เห็นไหม ก่อนจะทำสมาธิ ความเพียรขึ้นมา ต้องมีความเพียรก่อนถึงเกิดสมาธิ สมาธิก็เหมือนกัน สมาธิ ปัญญา ความเพียรกับปัญญา นั่นเป็นเรื่องโลกๆ หมดเลย แล้วสมาธิกับปัญญา เห็นไหม มันยกเข้ามา สมาธิกับปัญญา

ถ้าไม่เป็นสมาธิ เป็นสังขารทั้งหมด แต่ถ้ามีสมาธิเป็นปัญญาทั้งหมด ปัญญาก็คือสังขารนั่นแหละ แต่สังขารที่มีสมาธิแยกออก แยกตัวตน แยกเรา แยกความเห็นของเรา แยกที่ว่าเราเข้าไปแย่งส่วนเวลามันความเห็นขึ้นไป มันจะแยกตัวนี้ออกมา แยกออกมาจากกิเลสไง จากว่าจากแรงดึงดูด จากความเคยใจ จากสิ่งที่ขับเคลื่อนออกมาทั้งหมด นั่นสมาธิ

แล้วปัญญาล่ะ? ปัญญามันจะหมุนไปเอง ปัญญามันเป็นสังขารเหมือนกัน แต่สังขารที่ไม่ใช่ว่าเราเคยคิดเคยเดาเลย ถ้าเป็นปัญญาของเราเองนะ ปัญญาที่ว่าเป็นปัญญาโลกียะ ปัญญาที่ว่าไม่มีสมาธิเข้ามา มันคิดปรุงไป มันเหมือนๆ กัน เหมือนๆ กับโลกเราคิด เหมือนกับความคิดเราเดิมนี่แหละ เหมือนๆ กัน

แต่มันจะว่างบ้างอะไรบ้างเพราะมันใช้ตรรกะ ใช้ความตรึก เห็นไหม พอตรึกเข้าไปๆ มันจะปล่อยเองได้ มันจะเข้าใจความคิดของตัวเองเหมือนกัน นี่ตรรกะอันหนึ่ง ตรรกะอันนี้มันเป็นโลกหมดเลย แต่ถ้าเป็นปัญญามันก็เป็นสังขาร ตรรกะก็เป็นสังขาร สังขารคิด สังขารปรุง สังขารแต่งทั้งหมดเลย แล้วพอมันเป็นปัญญาขึ้นมาก็สังขารเหมือนกัน

ทีนี้ถ้ามันเป็นสังขารเหมือนกัน แต่มันมีสมาธิ มันมีงานชอบ เห็นไหม ถ้าเป็นมรรคนี่มีงานชอบ งานเข้ามาตรงนั้นชอบ อะไรทุกอย่างชอบหมด สติชอบ ปัญญาชอบ ความเพียรชอบ ความดำริ...สำคัญมากเลย ดำริผิดนิดเดียวมันออกนอกลู่นอกทาง ถ้าดำริถูกมันชอบหมด ความชอบหมดมันก็พอดีไป มันหมุนไป เห็นไหม ความหมุนไปอันนี้ ปัญญาอันนี้ต่างหาก แต่เขาไม่เคยเห็นปัญญาอันนี้ล่ะสิ

เราถึงบอกว่า “ต้องล่วงพ้นด้วยความเพียร และต้องใช้ปัญญาอย่างเดียว ความเพียรนี้ เห็นไหม เป็นผู้ที่ว่าไม่มีปัญญา ทำไปสักแต่ว่าและมันจะไม่ได้ผล...”

“จะไม่ได้ผลก็ทำ...” หลวงปู่แหวนพูดไว้เลย

เหมือนกับกระรอกกระแต เขาทำรังไว้ที่ริมทะเลไง แล้วพายุมันพัดเอาลูกตกไปในทะเล เอาหางไปจุ่มน้ำทะเลแล้วมันขึ้นมาสะบัด ขึ้นมาสะบัด จะชุบน้ำทะเลนั้นให้แห้งเพื่อจะเอาลูกขึ้นมา จนเทวดาทนไม่ไหว เทวดามาสนทนาด้วยนะว่า

“ทำอะไรนี่?”

“จะเอาลูกขึ้นมาจากทะเลนี้ เพราะลูกตกไปในทะเลนี้”

“แล้วเอาหางไปชุบขึ้นมาแล้วมาสะบัด แล้วเมื่อไหร่มันจะแห้งล่ะ?”

“จะแห้งหรือไม่แห้งไม่รู้ จะทำไปตลอด ทำจนกว่าจะหมดเรี่ยวหมดแรง” เพราะว่าด้วยความผูกพันกับลูกของตัวเองนั้น เห็นไหม จนเทวดาทนไม่ไหวนะ เทวดาเอาลูกขึ้นมาจากทะเลให้

นี่มันเหมือนกับมหาชนกเลย ความเพียร เห็นไหม ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะของตัวเองนะ อันนี้สำคัญ สำคัญมากเลย แล้วปัญญาจะเกิดขึ้น มันไปใคร่ครวญเอาข้างหน้าไง ถ้าเราว่าจะเอาปัญญาก่อน แล้วเราคิดเอาไปก่อน คิดเอาไปก่อน พอคิดเอาไปก่อน มันเป็นความคิดของเรา แล้วความเพียรก็ไม่ได้ระดับ พอไม่ได้ระดับขึ้นมา ดินไม่ควรแก่การงาน สมาธิก็ไม่ควรแก่การงาน ถึงว่าต้องเอาความเพียรไป แล้วปัญญามันจะเกิด

ในการประพฤติปฏิบัติแบบครูบาอาจารย์ที่สอนๆ มานะ สอนมาอย่างนี้นี่ ครูบาอาจารย์สอนมาอย่างนี้ เราก็ต้องเชื่อครูบาอาจารย์ ทำไปอย่างนี้ เอวัง