ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมมะละลาย ตอนที่2

๑๒ ส.ค. ๒๕๕๓

 

ธรรมะละลาย ตอนที่ ๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

 

หลวงพ่อ : เป็นประธานชมรม แล้วทางนี้เขาร้องเรียนไง ร้องเรียนว่าเวลาไปตามวัด ไปเฉพาะจุดเดียวๆ เหรอ

โยม : พวกหนูก็ให้น้องโหวต ถ้าน้องอยากไปก็แล้วแต่น้อง

หลวงพ่อ : ถ้าโหวตเอา แล้วเคยมีการโหวตกันไหม อันนี้อันหนึ่งเนาะ แล้วถ้าโหวตแล้วนี่ ถ้ามีความไม่สะดวก เราก็เป็นคนวินิจฉัยเองอีกรอบหนึ่งใช่ไหม

โยม : ก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่างค่ะ

หลวงพ่อ : เราจะพูดอย่างนี้ไง เราจะพูดบอกว่า เราเป็นหัวหน้า เป็นประธาน เป็นผู้นำคนนี่มันลำบาก เราเข้าใจว่าระดับอย่างนี้มันคือผู้บริหาร ทีนี้ถ้ามันเป็นความลำบาก เพราะว่ามันมีหลายกลุ่ม มันก็ต้องมีความแตกต่างว่าเขาจะไปไหน แล้วเราเป็นหัวหน้า มันก็แบบว่าเอาใจคนไม่ได้ทั้งหมด ทีนี้พอเอาใจคนไม่ได้ทั้งหมดนี่ มันก็ต้องอยู่ที่เรานะ

ถ้าหัวหน้าที่ดี พระพุทธเจ้าบอกไว้เลยว่า “โคนำฝูง” ถ้าหัวหน้าโคนั้นดีมาก จะพาฝูงโคนั้นพ้นจากวังน้ำวน แต่ถ้าหัวหน้าโคไม่ฉลาด จะพาโคทั้งฝูงไปสู่วังน้ำวน

“วังน้ำวน คือวัฏวนไง วัฏวน คือการเกิดและการตาย” ถ้าหัวหน้าฉลาด หัวหน้าโคตัวนั้นจะพาหมู่คณะ พาฝูงโคนั้นให้พ้นจากวังน้ำวน

วังน้ำวน เห็นไหม มันเป็นกระแสของวัฏฏะก็ได้ การประชาสัมพันธ์ การสื่อสาร การต่างๆ นี้ มันจะชักนำเราไป ทีนี้เราจะเอากึ๋นอย่างไรไปพิจารณาว่ามันถูกหรือผิด

ฉะนั้นถ้าถูกหรือผิดนี่ เพียงแต่ว่าเวลาเราไปไหนนะ ปีหนึ่งจะไปกันกี่หนไม่รู้เนาะ ปีหนึ่งออกกี่หน

โยม : ก็หลายครั้งค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าหลายครั้งนั่นเรื่องหนึ่ง แล้วการพาไปนี่มันเป็นการรับผิดชอบ เราต้องรับผิดชอบนะเวลาพาไปแล้ว ถ้าที่นี่เราไม่พอใจ เราจะพาไปที่ใหม่ แล้วที่ใหม่เขาจะปฏิสันถารเราไหม เขาจะดูแลเราไหม มันไม่สะดวก ถ้าที่ไหนสะดวก มันก็เป็นสิ่งที่เขาพอใจ อันนี้เป็นสถานที่ไป

อย่างของเรานี่เราไม่รับเลย มีคนมาเสนอมาก เพราะที่นั่นมันเป็นพวกวชิรพยาบาลไง มันเป็นพวกหมอ พวกหมอมากันทีหนึ่ง ๓๐-๔๐ เหมือนกัน ทีนี้พวกหมอมานี่ ประสาเรา โทษนะไม่ได้ว่า ประสาเราว่า เรามายุ่งกับพวกโยมนี้ไม่ค่อยได้ประโยชน์เท่าไหร่ ในความรู้สึกเราเลย ไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ ไม่ได้ประโยชน์เพราะมันต้องลงมาคลุก มันเสียเวลามาก

แต่ของเรานี่เราไม่เคยรับเป็นหมู่คณะเท่าไหร่เลย ใครอยากปฏิบัติ มาปฏิบัติได้ตลอด ตามแต่คนที่เขาจะมาพร้อมกัน ใครมีความพร้อมก็ให้คนนั้นมา ก็แค่นั้นเอง

ฉะนั้นพอไปที่ไหนแล้ว ถ้าเขาไม่รับหรือเขาไม่ต้อนรับ นี่มันก็เป็นภาระของเรา อันนี้เราก็เห็นด้วย แต่นี่เพียงแต่ว่าถ้าเป็นหัวหน้า แล้วถ้าเราฉลาด “อะไรที่เป็นประโยชน์กับพวกเรา นั่นสำคัญกว่า” เป็นประโยชน์ไง

ถ้าเราไปที่ไหน มันแบบว่าประสาเรานะ เราไปที่ไหนก็แล้วแต่ เราเคยไปแล้ว เราเห็นแล้ว กับเราไปอีกสถานที่หนึ่งที่มันไม่เคยไป แล้วมีข้อมูลที่เปรียบเทียบ อันนั้นน่าจะดีกว่า

นี่นะเราเคยไปแล้วใช่ไหม เราก็ว่าไปครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ครั้งที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้

โยม : แต่ทีนี้ว่า คือใน ๓ ปี น้องแทบจะไม่เคยไปที่อื่นเลยค่ะอาจารย์ คือสมัยหนูเป็นรุ่นพี่นี่ไปที่อื่นเยอะค่ะ อย่างสายหลวงปู่ชา หรือไปวัดพระอาจารย์อุทัย ไปภูวัว-ภูทอก ไปนาคำน้อย ไปหลวงพ่อจันเรียน คืออยากให้เราไปเรียนรู้ที่อื่นด้วยค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าอย่างนี้ดี

โยม : คือเราจะได้ความหลากหลาย ได้เจอครูบาอาจารย์หลายๆ แบบค่ะ

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าอย่างนี้เราเห็นด้วย เพียงแต่ว่ามันเป็นการรับผิดชอบไง ถ้าอย่างนี้เราก็เห็นด้วย

โยม : แล้วท่านก็ต้อนรับดีค่ะ ครูบาอาจารย์ที่เราเคยไป

หลวงพ่อ : แล้วแต่สถานที่ ที่โยมพูดมาเราเคยไปหมดแล้ว เราเคยเห็นสถานที่เขาหมดแล้ว เพราะว่าพระก็กรรมฐาน เราก็ไปเห็นมาหมดแล้วเหมือนกัน นี่ไปเห็นมาหมดแล้ว คือมันต้องออกไป เราอยากให้ได้ประโยชน์ทุกๆ คน แล้วอยากให้ได้ประโยชน์ตามความเป็นจริงไง

“สันทิฏฐิโก คือ ประสบการณ์จริง ปัจจัตตัง คือ รู้จำเพาะตน ศาสนาสำคัญตรงนี้”

ตำราทางวิชาการนี้ เราจะอ่านขนาดไหนก็แล้วแต่ มันอยู่ที่มุมมองของคนที่จะตีความ คนตีความไปทางไหน มันก็ตีความไปตามนั้น ตำราก็เป็นตัวกลางนั่นไง ตำราเล่มเดียวกันนะ แต่อ่านแล้วคนได้ประโยชน์จากตำรานั้นแตกต่างกันมหาศาลเลย

ทีนี้ สันทิฏฐิโก ไอ้ประสบการณ์ของจิต ถ้าจิตมันมีประสบการณ์ แล้วใครได้ประสบการณ์อันนั้นล่ะ นี่ศาสนาพุทธนี้ถึงสำคัญ

ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามนี้แตกต่างกันอย่างไร ศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม เขาบอกว่าให้เชื่อพระเจ้า พระเจ้าเป็นผู้ตัดสิน เวลาเราทำคุณงามความดีไป เราต้องเชื่อพระเจ้าไง มันไม่เป็นอิสรภาพไง

แต่พุทธศาสนา พุทโธ เห็นไหม ศาสนาพุทธนี่ปฏิเสธเทวดา ปฏิเสธพระเจ้าหมด แต่ ! แต่ประสบการณ์ของจิต ประสบการณ์ของเรานี่สำคัญ ประสบการณ์ความจริงอันนี้ เพราะประสบการณ์ความจริงอันนี้ มันทำให้เราเป็นพระเจ้าไง

ถ้าเป็นพระเจ้าก็คือพระอินทร์ เป็นพวกเทวดานี่ไง ในความรู้ของเขา เราคิดว่าเขารู้ได้แค่นั้นไง แต่เวลาเราปฏิบัติกัน เราสร้างคุณงามความดีกัน เรานี่เป็นพระอินทร์ พระอินทร์มีวาระ พระอินทร์เหมือนมนุษย์ เวลาหมดวาระไปแล้วมันตาย พอตายแล้ว ใครที่มาเกิดใหม่ เห็นไหม เกิดในวาระนั้นก็เป็นพระอินทร์

เหมือนประธานสภา นี่ไง พวกพระอินทร์พวกนี้เขาเป็นแบบนี้ พอหมดวาระเขาก็ต้องตายเหมือนกัน ไม่มีอะไรคงที่ไง

ฉะนั้นเวลาปฏิบัติแล้ว เราปฏิเสธเทวดา อินทร์ พรหมหมด เพราะเราเป็นของเราเองไง นี่ศาสนาพุทธนะ นี่ขนาดเวียนตายเวียนเกิดนะ แล้วเวลาถ้ามันปฏิบัติแล้ว ที่ว่าเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคานี่ตัวจิตมันเป็นเลย ถ้าตัวจิตมันเป็นแล้ว อันนี้ประสบการณ์นี้สำคัญ ฉะนั้นเวลาถ้าไปนี่มันไปซึมซับไง ซึมซับเอามาก่อน

เขาอยากให้เราแวะที่ขอนแก่น แต่เราไม่อยากเข้าไป จริงๆ แล้วที่ไหนมีปัญหาอะไรนี่ จริงๆ แล้วเราไม่ค่อยอยากยุ่งหรอก เพราะภาระเราก็เยอะเหลือเกิน ประสาเรา ภาระของเรา เราก็ยืนหลักของเราไว้นี่แหละ เหมือนเขาเลี้ยงหอยแมลงภู่ เขาปักหลักไว้ แล้วหอยแมลงภู่มันก็เกาะของมันเอง

“ภาระของเราก็คือยืนหลักศาสนานี้ให้มั่นคง” แล้วเวลาใครมาก็นี่ ที่เราเรียกมาพูดนี่ เพราะเราอยากจะให้เคลียร์กันไง เราอยากให้เคลียร์กัน เราอยากให้ทุกคนได้ประโยชน์ไง

ดูอย่างเวลาน้ำหลาก เห็นไหม ดูสิ เวลาอุทกภัยมานี่ตายเป็นพัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเชื่อกระแสใดกระแสหนึ่ง มันหลากท่วมไปหมดเลยนะ แต่เวลาภัยแล้ง หรือเวลาน้ำมันแล้งขึ้นมานี่ไม่มีเลย แต่ถ้าเรามีน้ำหลายสาย สายไหนมันแห้งขอด มันยังมีบางสายที่เราพอใช้ประโยชน์ได้ ถ้าเราใช้แม่น้ำอยู่สายเดียว ถ้าสายนั้นดีก็ดีไป ถ้าสายนั้นไม่ดี พอเวลามันหลากขึ้นมา มันท่วมขึ้นมานี่หมดเลยนะ

เราไม่มองอะไรทั้งสิ้น แต่เรามองหัวใจนะ มองความรู้สึกของพวกโยมนี่แหละ หลวงตาที่ท่านทนอยู่นี่ก็เพราะเหตุนี้ เวลาท่านเทศน์ออกไป หรือท่านจัดการอะไรออกไป ใครเก็บประโยชน์อันนั้นได้ แล้วใครทำตัวเองขึ้นมาจนบรรลุธรรมได้ มันจะเป็นประโยชน์กับศาสนามหาศาลเลย

“พระพุทธเจ้าตรัสรู้องค์เดียว สอนทั้งสามโลกธาตุ” สอนเทวดา สอนอินทร์ สอนพรหม เวลาหลวงปู่มั่น หลวงตา หรือครูบาอาจารย์สอนเทวดา ท่านสอนอย่างไร เทวดาภาษานึก ภาษาใจภาษาเดียว ภาษาที่เป็นภาษากลาง แต่ภาษาความรู้สึกนี่ไม่ต้องพูด ! ออกมาหมดเลย

นั่นแหละ พูดถึงถ้าได้ศาสนธรรมซักองค์เดียว จะเป็นประโยชน์ขนาดนั้น แล้วแสนยาก เราถึงบอกไง หลวงปู่มั่นท่านได้ ๒๐ องค์ประมาณนั้น ที่เฉพาะหลวงปู่มั่นเอาได้นะ แล้วคิดดูสิ พอหลวงปู่ฝั้นได้กี่องค์ แล้วหลวงตาได้กี่องค์ ๑๐ องค์นี่ก็นับว่าสูงส่งแล้ว ไอ้ที่ว่ากันว่าได้จำนวนอย่างนั้น อู้ฮู... ปวดหัวเลย ไม่มีหรอก เป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้

แล้วเวลาปฏิบัตินี่ก็เกือบเป็นเกือบตาย อย่างพวกโยมนี่นะปฏิบัติ เวลามาวัด เพียงแต่ว่าศีลธรรมจริยธรรมนี้ เกลี้ยกล่อมขัดเกลาให้เราเป็นคนดี ให้เรามีศีลธรรมจริยธรรม

สมบัติของโยมนะ คือ แก้วแหวนเงินทอง สมบัติของพระ คือ ศีลธรรมจริยธรรม คือธรรมตามความจริงอันนั้น ฉะนั้นระดับพวกโยมนี้ เข้ามาในวัดก็เพื่อมาศึกษา เพื่อให้เป็นคนดี เป็นคนเก่ง ถ้าทั้งคนเก่งกับคนดีรวมกัน ทรัพยากรมนุษย์จะมีค่ามาก

เรามองพวกโยมได้แค่นี้ เอาเข้ามาในศาสนาก็เพื่อให้เป็นคนดี เห็นไหม ให้รักพ่อรักแม่ ให้รักทุกคน พ่อแม่มีความสำคัญมากนะ ถ้าเราพูดถึงคำว่าพ่อแม่ ภาษาโลกคือพ่อแม่มีลิขสิทธิ์เป็นเจ้าของเรา เพราะไข่ใบหนึ่งมาเป็นเรากันอยู่นี้ นี่เป็นไข่ของแม่ สเปิร์มของพ่อ แล้วเวลาออกมาแล้ว เรากินเลือดพ่อเลือดแม่ เพราะเรากินนม น้ำนมกลั่นออกมาจากเลือด แล้วเราทำไมจะไม่รักพ่อรักแม่เรา

ถ้าลิขสิทธิ์นะ ร่างกายนี้ของแม่ ดีเอ็นเอ พันธุกรรมตรวจออกมา เป็นของพ่อแม่หมด แต่นิสัยไม่ใช่ ถ้านิสัยใช่ พ่อแม่ต้องบอกให้ลูกเป็นคนดีหมด แล้วท้องหนึ่งทำไมมันดีไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นศีลธรรมจริยธรรม มันมากล่อมตรงนี้ ขัดเกลาหัวใจนี้ ขัดเกลาหัวใจให้เราเป็นคนกตัญญู อย่างน้อยให้เรากตัญญูกับพ่อแม่ก่อน ญาติพี่น้องนี่ให้เรากตัญญูก่อน แล้วออกมาถึงสังคม แค่นี้แหละ แต่ถ้ามรรคผลนี่นะ โอ้โฮ... อีกหลายชาติว่ะ อีกหลายชาติ.. แต่ถ้ามันทำได้ก็โอเค เราโอเคนะถ้าทำได้จริงๆ

ฉะนั้นเพียงแต่ว่าตอนนี้เขาอุทธรณ์ นี่ทางนี้เขาบอกว่าต้องการให้หลากหลาย เราก็อยากจะคุย แต่มันคุยกันนี้ เราถึงบอกว่าที่มาของประธาน แล้วประธานก็มีวาระ แล้วประธานก็บอกว่างานหนักหนาแล้ว มันก็ต้องเห็นใจกันหลายๆ ฝ่ายเนาะ เราเป็นกลาง เป็นกลางว่าควรทำอย่างใด

แต่ถ้าอย่างนี้ปั๊บเราก็ต้องหาเพื่อประโยชน์นะ “ทรัพยากรมนุษย์มีค่าที่สุด แล้วมนุษย์... หัวใจนี้มีค่าที่สุด”

ตำแหน่งมีเพราะมีเรา ทุกอย่างมีเพราะมีเรา ถ้าเราตายแล้วนะสมบัติก็ตกอยู่นี่แหละ เรานี่เป็นคนสาธารณะ สมบัติเรามีมหาศาล แต่พอเราตายแล้วสมบัติก็เป็นของรัฐ พระตายนี่สมบัติเป็นของสงฆ์นะ แล้วอย่างนั้นถ้าเราตายล่ะ แต่นี่เพราะเรามีชีวิต ชีวิตถึงมีค่ามาก เราต้องแก้ไขตรงนี้นะ

นี่ถ้าพูดถึงประธานนะ ประธานจะพาไป แต่ทางนี้เขาอยากจะให้มันหลากหลายเนาะ หลากหลาย... เราก็ต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร

ขอนแก่น... ก็ยังดีนะยังดีที่ว่ามันยัง.. เพียงแต่เราจะบอกว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมไง แล้วไปบวช ๓ เดือน แล้วตอนนี้กลับมาเรียนใหม่เหรอ หรืออย่างไร

โยม : ก็ผมเรียนแล้วจบ ผมก็บวชครับ

หลวงพ่อ : อ๋อ.. เรียนจบแล้วเหรอ นึกว่าเรียนไม่จบแล้วบวชด้วย อย่างนั้นมันก็อยู่ที่ความเห็นนะ เวลาถ้ามันเห็นนี่มันก็เคารพมาก เวลาความเห็นเปลี่ยนไปนี่ โอ้โฮ... อยากจะเบือนหน้าหนีเลยล่ะ

โยม : บางทีมีปัญหาเรื่องเรียน เบื่อเรียนหรืออะไรก็อยากบวชค่ะ ก็เลยกลัวว่าจะไปไม่ตลอดรอดฝั่งค่ะอาจารย์ คือ ถ้าไปตลอดรอดฝั่งก็ดี

หลวงพ่อ : ใช่ ถ้าไปตลอดรอดฝั่งก็ดีไป พูดถึงถ้าเรียนแล้วมันเครียดมันอะไรนี่ ก็ต้องสอนตรงนี้ กลับมาพักไง สมาธินี่แหละ เราไปธรรมศาสตร์..

โยม : ที่รุ่นพี่ที่ชมรมไปบวชนี้ เพราะ........ที่อุดร ชวนบวชด้วย นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น

หลวงพ่อ : ชวนบวชนี่ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ ชวนบวชนี่มันเป็นหน้าที่ของพระ หน้าที่ของพระนี่เขาเรียกว่า “เผยแผ่”

การเผยแผ่นี้ คือ เขาพยายามจะเผยแผ่ พยายามจะสร้างอย่างที่ว่าสร้างบุคลากรนี่แหละ ทีนี้ถ้าคนสร้างบุคลากร มันต้องคิดอย่างนี้ ดูสิ อย่างเช่น สำนักงานต่างๆ เวลาเขาจะสร้างคนขึ้นมา เห็นไหม เขาพยายามปฐมนิเทศน์ เขาต้องพัฒนาคนว่าอย่างนั้นเถอะ เพื่อเป็นประโยชน์ไง แต่นี่พัฒนาคน แล้วคนนั้นมันพัฒนาได้หรือเปล่า เพราะถ้าคนพัฒนาได้ เขาจะคัดขึ้นมา ถ้าคนพัฒนาไม่ได้ เห็นไหม ก็ต้องวางเขาไว้อย่างนั้น

แต่นี่ที่ว่าชวนเราบวช เราจะเอาเขาได้จริงหรือเปล่า ดูอย่างหลวงตาสิ หลวงตานี่นะวันนั้นมีพระมา เราว่ามีกี่องค์ ๗๐ องค์ โอ้โฮ... มึงจะบ้าเหรอ คราวหน้าเอา ๓๐๐ นะ

แต่ถ้าเป็นพวกเรานี่นะ พัฒนาบุคลากรเราก็จะเอาให้เยอะ เราจะหาเอาให้ดี แต่หลวงตาบอกว่า ยิ่งจำนวนมันมากนี่นะ คุณภาพมันไม่มี !

วัดของท่านเห็นไหม ท่านไม่ให้เกิน ๖๐ นี่ขนาดว่าท่านนี่นะกว้างขวางมาก กว้างขวางคือว่า ท่านผ่านประสบการณ์มามาก ท่านสามารถพัฒนาคนได้มาก แต่ถ้ามากกว่านั้น คุณภาพมันไม่มี

ฉะนั้นเวลาเราจะพัฒนา เวลาเราจะเอาคน เราก็ต้องคิดว่าเรานี่มีกำลังเท่าไหร่ แล้วเราสามารถจะพัฒนาได้มากได้น้อยแค่ไหน แต่ถ้าบอกว่ามาหาเรานี่ เราจะเอาเลยห้าร้อย พันหนึ่ง ห้าแสน... ห้าแสนกูก็เป็นคอมพิวเตอร์ไง มึงก็ดูนั่นแหละ พอคอมพิวเตอร์มึงดูแล้วมึงก็ตีความกัน มันไม่ใช่อย่างนี้ไง

โธ่.. เวลาถามปัญหาเข้ามาในอินเตอร์เน็ตนี่เราจับเลย ไอ้นี่มันอ่านหนังสือมาถาม หรือว่ามันปฏิบัติมาถาม หรือว่าไม่ได้ปฏิบัติ แต่วิตกกังวลแล้วถาม หรือนั่งฟังเขาเล่าว่า แล้วก็มาถาม

แต่ถ้ามันคุยกันต่อหน้าใช่ไหม เอ้า... ว่ามา ถ้าว่ามาปั๊บแล้วมันพูดมาจากประสบการณ์ที่มันไม่มี แล้วจะเอาอะไรถาม ถ้าเอ็งถามมา แล้วเอ็งตั้งคำถามผิด กูจะบอกว่าคำถามมึงตั้งผิดนะ

มีความรู้อย่างนี้ เป็นความรู้จากภายในนะ เวลาเป็นสมาธิขึ้นมานี่มันพูดไม่ถูกหรอก ถ้ามาถึงบอก อู๋ย... ว่างๆๆ เลยนะ อู๋ย.. เอ็งว่าว่าง กูก็ว่าว่างไง แล้วว่างนี่อะไรมึงว่าง สมาธิก็ไม่รู้ เพราะถ้าเป็นสมาธินะ อู้ฮู... มันพูดไม่ออกเลยล่ะ นั่นล่ะจริง แต่ถ้าว่างๆ ว่างๆ นี่คิดไง

“นี่ไงพลังงานคือตัวจิต ความคิดคือขันธ์ ๕”

ความคิดนี่เปรียบเหมือนเปลือกส้ม ความคิดเป็นขันธ์ ๕ ทีนี้เปลือกส้มนี่มันรู้ถึงความคิดใช่ไหม มันก็คิดให้ว่าง... คิดให้ว่าง ถ้าคิดให้ว่าง คือ เปลือกส้มใช่ไหมมันคิดให้ว่าง มันก็ยังมีอยู่ใช่ไหม เพราะมันคิดให้ว่าง แต่ตัวมันนี้ยังไม่ว่าง

ตอนนี้เป็นอย่างนี้หมดเลยนะ คิดว่าว่างๆ โอ้โฮ.. สบาย ใครมาก็บอกว่า “โอ้โฮ... ว่างๆ สบายเนาะ สบาย” มันหลอกตัวเองไง หลอกให้ว่างไง แต่ความจริงมันไม่ว่างหรอก ไม่ว่างเพราะอะไร เพราะกูเพิ่งคุยอยู่นี่ มันยังไม่ได้ทำอะไรเลย

นี่ถ้าเวลาถามปัญหา เวลาจะแก้ไขนี่มันเหมือนหมอเลย เวลาหมอจะรักษาคนไข้ เห็นไหม ตรวจโรคก่อน มีโรคอะไรบ้าง มีอะไรบ้าง แล้วก็แก้ไปตามนั้น แต่นี่มันไม่เป็นอะไรเลยนะ แต่วิตกกลัวจะเป็นโรคอันนั้น “หมอ... ถ้าโรคนี้เกิดขึ้นแล้วทำอย่างไร” มึงยังไม่ได้เป็นเลยไอ้ห่า มึงต้องมาถามกูทำไม เสียเวลา

นี่พูดถึงจำนวนนะ เวลาเขาชวนบวช

โยม : ได้ยินมาว่า ลักษณะของที่........ชวนบวชนั้น มีองค์หนึ่งที่ชวนบวชแล้วบอกว่า “บวชเข้ามากับหลวงพ่อนะ ๓ ปีได้แน่ ถ้า ๓ ปีไม่ได้ พอตายแล้วหลวงพ่อจะทุบเศษขวดแก้วให้เป็นแก้วให้” ลักษณะนี้ครับ

หลวงพ่อ : อันนี้เราพูดไปแล้วรอบหนึ่งเนาะ

โยม : ขอพระอาจารย์อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าน้องๆ เพิ่งมาใหม่ อยากให้ได้ฟัง

หลวงพ่อ : นี่นะ เรามีหนังสือหลายเล่มที่เขาเอามาเขียนนะ เราดูคำนำ หนังสือที่เขาแจกธรรมะกันนี้ เมื่อก่อนเขาพูดกันอย่างนี้ เขาบอกว่า “การแจกให้ธรรมเป็นทานนี้ จะเป็นบุญมาก” แต่ในความเห็นเรา หนังสือธรรมะนี่นะ ถ้าในวัดเรา เราดูแล้วเราเผาทิ้งหมดเลย เราไม่ให้ผ่านมือเรา ถ้าผ่านมือเรานี่เขาหาว่าเราเห็นด้วย

ถ้าหนังสือเข้ามาเราจะดูที่คำนำ เพราะคำนำที่เขาเขียนนะมันมีหลายเล่ม เขาบอกเลย เขาเขียนนะว่าการปฏิบัติจะเป็นอย่างนั้น อะไรเป็นอย่างนั้น แล้วพอเปิดไปนี่การสอนจะเป็นอย่างนั้น มันเป็นธรรมของใครของใครไง

มันเหมือนกับนักกฎหมาย คำนำนี้เขาเขียนเหมือนปลดล็อกตัวเองไว้เลย ว่ากูไม่รับผิดชอบ คำนำนี่มันเขียนเหมือนนักกฎหมายเลย ถ้าเราเขียนนะเราบอก “หนังสือนี้ ถ้าใครอ่านแล้ว ผิดถูกนั้นผมรับผิดชอบ” โอ้โฮ... หนังสือนี้มีค่าเลย แต่ถ้า “หนังสือนี้เป็นสมบัติสาธารณะ ผมก็เพิ่งปฏิบัติมา ผมก็ยังไม่เข้าใจ ถ้าผิดถูกนะก็ไปโทษตำราเอาก็แล้วกัน” อย่างนี้นะมึงไม่ต้องอ่านเลย

มึงจะอ่านไปทำห่าอะไร เพราะในคำนำมึงก็เปิดมาแล้วว่าอันนี้โกหก ตำรานี้โกหก แล้วมันมีพวกสภาพัฒน์ไปหาเรา เวลาปฏิบัติมาแล้วแบบว่าเขามีอาการอย่างนั้น เราบอกว่ามันผิด “มันผิดอย่างไรล่ะ ก็ตำรามันสอนมาอย่างนี้” โทษนะ.. ตำรานี่หมาแม่งเขียน ! เขาสะอึกเลยนะ

เราไปเชื่อเอกสารกันไง เอกสารนี้ทางยุโรปสำคัญมากนะ เพราะทางยุโรปเขาออกเอกสารมา เขาต้องมั่นคง เขาต้องเป็นข้อเท็จจริง เขาต้องชัวร์ แต่เอกสารของพวกเรานี่ เดี๋ยวนี้หมาก็เขียนได้นะ แม่งก็เขียนๆๆ แจกกันแล้ว

ฉะนั้นกรณีอย่างนี้ เราจะพูดถึงถ้ามันออกมาแล้ว “นี่ให้ธรรมเป็นทาน ธรรมเป็นทาน” แล้วมันธรรมของใครล่ะ

ทีนี้กรณีที่เขาว่า “เวลาบวชแล้ว ๓ ปีถ้าไม่เป็นแก้วนี่จะทุบให้” นี่ถ้าเป็นคำพูดแบบว่าหยอกล้อกัน มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเขาพูดอย่างนี้ เราจะบอกว่ามันไม่เป็นการรับผิดชอบ ถ้า ๓ ปีเอ็งไม่ได้กูจะทุบขวดแก้ว แล้วเอ็งไปทุบทำไมขวดแก้วนี่

โยม : ก็ไม่รู้ว่าหยอกหรือเปล่า แต่ทำให้คนนั้นตัดสินใจบวชเลยค่ะ เพราะว่าจะได้อรหันต์อย่างนี้ค่ะ

หลวงพ่อ : ลูกศิษย์เราทุกคนนี่นะหลอกยาก เพราะไปหาเรา เราจะคุยอย่างนี้ตลอดไง มันหลอกยากเพราะอะไร เพราะว่ามันมีเหตุมีผลใช่ไหม แล้วกรณีอย่างนี้ลูกศิษย์เราพูดเอง บอกว่าถ้าความเชื่อถือระหว่างเพื่อนคุยกัน เอ็งจะเชื่อถือกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าพระพูดเอ็งเชื่อกี่เปอร์เซ็นต์

นี่ไงมันตายตรงนี้ ตรงที่ว่า “พระพูด” ในเมื่อพระพูดเราก็เชื่อจริงไหม ถ้าเพื่อนพูดเราจะเชื่อเขาได้เท่าไหร่ เขาบอกว่าถ้าโยมพูดมันก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าพระพูดมันก็เป็นอย่างหนึ่ง เพราะสังคมไทยบอกว่า “พระเป็นผู้มีศีล” เราก็บอกว่าพระนี่มันก็เหมือนตำรวจไง ถ้าตำรวจปล้นเขานะ โทษของตำรวจเป็น ๒ เท่า ถ้าประชาชนปล้น ประชาชนก็มีความผิดเหมือนกัน

ทีนี้พอโยมพูดผิด ก็เป็นผิดไง แล้วถ้าพระพูดผิดล่ะ พระโกหกล่ะ ก็ต้อง ๒ เท่า แต่ทีนี้เราไม่คิดว่า ๒ เท่าสิ เราเสือกว่า โอ๋ย.. พระพูดนี่ต้องถูกเว้ย พอว่าพระพูดถูกก็เลยตัดสินใจบวช ถ้าธรรมดาไม่มีใครพูดเลย

อย่างเช่นเราจะบวชนี่ไม่มีใครชวนเราเลยนะมึง กูอยากบวชเอง ไม่ต้องให้ใครชวนหรอก ก็กูจะบวช กูก็จะบวช จะทำไม ถ้าคนเขาอยากบวชอยู่แล้ว เขาก็บวชเลย ไม่ต้องมีใครชวนหรอก แต่นี่พอมีการชวน พอมีการชวนแล้วก็มีการเสียหาย แล้วมันเป็นหมู่ที่ใหญ่ มันก็เป็นการที่ว่าคนที่เห็นผิดเห็นถูก มันก็เลยมีปัญหากันขึ้นมานี่ไง

คนที่ศรัทธา คนที่เห็นดีของเขา เขาก็เชื่อของเขา ไอ้คนที่เขาเห็นกันตรงข้ามนี้ มันก็มีความเห็นเป็นอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้พอมีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง มันก็แบบว่า มันเป็นบุญเป็นกรรมของแต่ละคน เขาเรียก “สายบุญสายกรรม”

“สายบุญสายกรรม” นี้เราลองสังเกตได้ไหม บางที่เราว่าพระที่นี่ปฏิบัติตัวไม่ดีเลย แต่ทำไมคนถึงไปวัดนั้นเยอะมากเลย คุณภาพของคนที่เขาเชื่อได้แค่นั้นไง มันอยู่ที่คุณภาพของคน บางทีพระบางองค์นี่ปฏิบัติตัวดีมากเลย แต่สังคมปฏิเสธหมดเลย นี่มันเป็นสายบุญสายกรรมของเขา

ทีนี้พอเป็นสายบุญสายกรรมของเขา อย่างเช่นพ่อ แม่ ลูก นี่เขาบอกว่าเอ็งเกิดมาจากไหน ก็ว่าเกิดจากท้องแม่ทั้งนั้นเลย แต่ความจริงไม่ใช่ ท้องพ่อท้องแม่นี้มันเกิดในวัฏฏะนะ แต่ความจริงเพราะจิตมันมีกรรม ถ้าจิตมันไม่มีกรรม จิตนั้นไม่มาเกิดแล้ว เพราะจิตมันมีกรรม มันมีวิบาก แล้วมันมีผลบาลานซ์ระหว่างพ่อแม่นั้นพอดี

สังเกตนะพ่อแม่คู่หนึ่ง มีลูก ๓ คน นิสัยไม่เหมือนกันเลย พ่อแม่คู่หนึ่ง ขณะที่พ่อแม่กำลังเศรษฐกิจดี ลูกคนนั้นเกิดมา โอ้โฮ... พ่อแม่โอ๋อย่างดีเลย พอพ่อแม่เศรษฐกิจตกต่ำ ลูกอีกคนมาเกิด ลูกคนนั้นเกิดมาจากพ่อแม่เดียวกันนะ แต่ได้รับความดูแลจากพ่อแม่ไม่เท่ากัน เพราะเป็นความจำเป็นของระบบเศรษฐกิจในครอบครัวนั้น

“นี่เป็นกรรมของเด็กคนนั้น กรรมของจิตดวงนั้นไง”

ฉะนั้นการเกิดนี้ “เกิดเพราะกรรมของใจเราเองต่างหาก” เพราะเรามีกรรม เราถึงต้องมาเกิดอย่างนี้ แต่บังเอิญว่าเราเคยทำสายบุญสายกรรมกับพ่อแม่นี้ เราถึงมาเกิด แล้วถ้าลูกดีนะ พ่อแม่จะมีความปลื้มใจมากเลย แต่ถ้าลูกต่อต้านพ่อแม่ พ่อแม่ก็ทุกข์มากเลย

พ่อแม่จะมีความสุขมากนะ เมื่อลูกเรียนจบ แล้วมีหน้าที่การงานทำ เท่านั้นพ่อแม่จะมีความสุขมาก... ไม่ต้องเอาตังมาให้.. ไม่ต้อง ! แค่ให้ลูกๆ ทุกคนยืนได้ในสังคม พ่อแม่จะมีความสุขที่สุดเลย พ่อแม่จะมีความสุขต่อเมื่อลูกประสบความสำเร็จ ไม่ต้องการอะไรจากลูกเลย

“ความรักของพ่อแม่สะอาดบริสุทธิ์ ความรักของพ่อแม่ ไม่มีสิ่งใดเข้ามาเจือปนเลย” ฉะนั้นเราถึงบอกให้กตัญญูต่อพ่อแม่ นี่ศาสนาพุทธสอนอย่างนี้ !

ฉะนั้นไอ้ตรงนี้ ตรงที่บอกว่าเขาไม่รับผิดชอบไง นี่มันก็เป็นเทคนิคของโวหารเนาะ แล้วแต่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ

ฉะนั้นที่เขาบอกว่า “ถ้าไม่เป็น..จะทุบขวดแก้ว” ก็คือมันไม่เป็นไง ถ้ามันไม่เป็น ก็ทุบขวดแก้วก็จบ อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ เห็นไหม ไม่ต้องทุบหรอก ขวดแก้วก็อยู่ขวดแก้วอย่างนั้นแหละ ไม่ต้องทุบหรอก อย่ามาปะทะกันเลย

ไอ้นี่มันจะเป็นเวรกรรมของคนที่บวชคนนั้น ถ้าเขาประสบความสำเร็จ แต่เราไม่เชื่อ ! ไม่เชื่อเพราะอะไร เพราะการประสบความสำเร็จ เขาต้องไม่สอนอย่างนั้น เพราะคำสอนของเขานะ มันเป็นการพูดโน้มน้าว โน้มนำ “มันไม่เป็นความจริงกับการปฏิบัติ” เป็นการพูดโน้มน้าว ชักจูง

แต่ถ้าเป็นการพูดโน้มน้าวชักจูงแบบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศน์ทีหนึ่ง ๔ ชั่วโมงนะ เพราะท่านเทศน์ถึงสัจธรรม หลวงตาบอกเลยเวลาหลวงปู่มั่นจะเทศน์นะ ทุกคนจะเหมือนกับลูกที่ได้ดื่มน้ำนมจากพ่อแม่ “น้ำนมคือว่าสิ่งที่เป็นสัจธรรมอันนั้น” แล้วมันมีภูมิ มันมีระดับ มันมีเยอะมาก

ผู้ที่ปฏิบัติใหม่นะ หลวงปู่มั่นท่านจะพูดเรื่องสมาธิเลย ท่านจะไม่พูดเรื่องศีล เพราะศีลมันมีปกติอยู่แล้ว เพราะบวชพระมา ศีลมันต้องมี ๒๒๗ อยู่แล้ว ที่ท่านพูดเรื่องสมาธิ เพื่อให้คนที่ยังปฏิบัติสมาธิไม่ได้

คำว่าพูดเรื่องสมาธิหมายถึงว่า เทคนิค “กำหนดพุทโธจะได้อย่างนั้น ปัญญาอบรมสมาธิได้อย่างนั้น การกระทำถ้าเราตั้งสติจะเป็นอย่างนี้ จิตถ้ามีสติมั่นคงแล้ว จะเป็นอย่างนั้น... อย่างนั้น” ท่านจะพูดเรื่องสมาธิ เรื่องเหตุไง เรื่องการปฏิบัติสมาธิเราก็นั่งฟัง ท่านบอกว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนั้น

ทีนี้ภูมิของขั้นสมาธิก็ฟัง พอภูมิสมาธิปั๊บ ได้สมาธิแล้วก็ปุถุชน กัลยาณปุถุชน แล้วยกขึ้นโสดาปัตติมรรค พอโสดาปัตติมรรค “จิตสงบแล้วควรจะทำอย่างนั้น ควรจะโน้มไปอย่างนั้น ควรจะทำอย่างนั้น” ไอ้พวกที่เริ่มจะปฏิบัติก็นั่งฟัง “นี่เป็นขั้นของภูมิจิต”

ฉะนั้นพอหลวงตาท่านฟัง เพราะตอนที่หลวงตาไปอยู่กับท่าน หลวงตาท่านได้อนาคาแล้ว ท่านก็ฟังพวกพื้นฐานนี้ พระที่อยู่ด้วยกันก็ฟังไป ใครยังไม่ได้ก็ให้ไปฟังระดับนี้ แล้วพอสูงขึ้นไปนะกูงงแล้ว กูไม่รู้แล้ว แต่กูก็ฟังเสียงเพื่อความสุข ไอ้คนที่จิตระดับนั้นก็รอรับช่วง เพราะท่านพูดไป

“จิตดวงหนึ่งนี้มันพัฒนาเป็นชั้นๆ ขึ้นไป”

ทีนี้พอพวกที่รับช่วงนี่ เวลาหลวงปู่มั่นจะเทศน์ ก็เหมือนกับสเต็ป ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ จนถึงขบวนการ จนถึงที่สุด ทุกกัณฑ์ของหลวงปู่มั่นจะถึงที่สุด ถ้าหลวงปู่มั่นลงมาเทศน์ปั๊บ คือท่านเทศน์ไปเรื่อยๆ เห็นไหม อย่างนี้เป็นการโน้มน้าวหรือเปล่า นี่เป็นการโน้มน้าว เป็นการพูดล่วงหน้าหรือเปล่า... ไม่ใช่ ! นี่เวลาเป็นธรรม เขาเทศน์กันอย่างนี้

พอมันสูงขึ้นไป เห็นไหม อย่างโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล พอคนผ่านตรงนั้น โสดาปัตติผลไปแล้ว ก็รอสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล ถ้าคนผ่านสกิทาคามิผลไปแล้ว เขาก็รออนาคามิมรรค

โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค มันแตกต่างกันอย่างไร ปี ๑ ปี ๒ ปี ๓ เรียนตำราแตกต่างกันอย่างไร นี่ไงมันแตกต่างกันหมดแหละ ปี ๑ ก็ตำราชุดหนึ่งใช่ไหม เป็นระดับของปี ๑ พอปี ๒ ก็ตำราที่เข้มข้นขึ้นไป แล้วก็ปี ๓ ปี ๔ แล้วถ้าไปต่อโทอีกล่ะ

นี่เวลาเทศน์นะ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์อย่างนั้น พอท่านเทศน์อย่างนั้นปั๊บ ผู้ที่ปฏิบัติมันก็ทำอย่างนี้ นี่ไงการปฏิบัติ การทำมันเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าโน้มน้าวเอานะ “กำหนดอย่างนั้น เพ่งจิตเป็นอย่างนั้น” บ้าหมด ! มันเป็นวิปัสสนึกไง สร้างภาพกันไง สร้างว่าเป็นอย่างนั้นไง พอบอกว่าหลุดๆ กูรู้หมดว่าหลุดๆ เพราะอะไร ทำไมถึงหลุด แล้วถ้าหลุดแล้วรับผิดชอบไหม หลุดคือขาดสติไง แล้วถ้าหลุดแล้วนี่แก้อย่างไร ถ้ามันไม่เป็นมันแก้ไม่ถูกหรอก

แล้วประสาเรานี่ อย่างที่ว่าเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ ท่านเป็นของท่านอย่างนั้น มันรู้เลยเหตุอย่างนี้จะตอบผลอย่างนี้ เหตุอย่างนี้ตอบผลอย่างนี้ แล้วเหตุอย่างนี้ที่มันบิดออกไป แล้วเหตุอย่างนี้มันบิดเบือนไป เราจะกลับมาแก้เหตุนี้อย่างไร ให้เข้ามาสู่ปัจจุบัน ให้เข้ามาสู่สติปัญญาที่ไม่หลุด

อันนี้ไม่ได้ทำอะไรกันเลย บางที่บอกว่า “หลุด... หลุดก็เป็นกรรมของเขา ก็เขาเป็นกรรมก็หลุดไง” เออ.. ถ้าอย่างนั้นกูก็ไม่ต้องมาหามึงหรอก กูอยู่คนเดียวก็ได้ ก็มันเป็นกรรมของกูไง ทำไมกูต้องมาหามึงด้วย

เขาไปหาอาจารย์องค์นั้นเพื่ออะไร

โยม : มีน้องคนหนึ่งที่เหมือนกับวิปลาสค่ะ พ่อแม่เขาก็รับตัวไป เห็นทางวัดบอกว่าเขาก็มีอาการอยู่แล้ว ก็เลยไม่รู้ว่าจะอย่างไร แต่ว่าผลสุดท้ายก็คือเรียนไม่จบค่ะ

หลวงพ่อ : ถ้าอย่างนี้นะ ให้เราไปทำบุญ แต่ถ้าเราปฏิบัตินะ แล้วมันมีเหตุการณ์อย่างนั้น เหมือนกับอย่างเช่น ถ้าเราเข้าโรงพยาบาล หมอโรงพยาบาลนี้รักษาคนไข้ แล้วคนไข้มีแต่โรคแทรกซ้อน คนไข้ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย แสดงว่าหมอโรงพยาบาลนี้ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเราเป็นหมอโรงพยาบาลนี้นะ แล้วหมอโรงพยาบาลนี้รักษาคนไข้ได้หายเป็นปกติหมด หมอโรงพยาบาลนี้ถึงน่าเชื่อถือ

นี่ก็เหมือนกับเราไปวัดนี้ เราทำอย่างนี้ แล้วเขาไม่รับผิดชอบอย่างนี้ มันก็น่าคิดแล้วนะ ต้องคิด ความจริงแล้วหมอต้องรับผิดชอบ หลวงตาพูดประจำได้ยินไหม “ไม่รู้พูดไม่ได้… ไม่เข้าใจแก้ไม่ได้”

ทีนี้พอคนเราถ้าไม่เข้าใจ แล้วเกิดสภาวะแบบนี้ขึ้นมา เขาคงคิดว่ามันจะไม่เกิดไง แล้วพอมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นอย่างไรล่ะ แล้วเวลาภาวนาไป อย่างที่ว่าโน้มนำไป จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะตำรามันมี หรือมีทฤษฏีในตำราของครูบาอาจารย์ใช่ไหม เราลองฟังสิ อาการอย่างนี้เป็นอย่างนี้ๆ พระโสดาบันเป็นอย่างนี้ๆ แล้วเขาก็พูดตาม มันก็เป็นลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้าไง ลิขสิทธิ์ของเราไม่มีไง

มันเป็นลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้านะ เอาลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้ามาพูด แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้วจะได้แบบนี้ แต่ความจริงตัวเองไม่มี มันเป็นสินค้าลอกเลียนแบบ สินค้าของเขานี่ เขามีการวิจัย สินค้านี่เขามีพัฒนาการตลอด แต่เอ็งลอกเลียนแบบมา เอ็งตายตัวคงที่... ไม่มีทางหรอก พอมีสินค้าที่ดีมา เอ็งก็ขายไม่ออกแล้ว

โยม : ก็เลยกลัวว่าพ่อแม่ญาติพี่น้องเขาทุกคนจะไม่สนใจศาสนาด้วยค่ะ จะหมดศรัทธาในศาสนาพุทธ ก็เลยกระจายวงออกไปค่ะ

หลวงพ่อ : เราไม่ใช่ตำรวจเว้ย เราไม่ใช่ตำรวจพระนะมึง แต่ที่พูดนี่ เพราะอยากจะพูด อยากจะให้พวกเรานี้ อย่างไรก็แล้วแต่ อยากให้พวกเราเป็นอิสรภาพ เราไม่ต้องการให้ใครโดนครอบงำทางความคิด ที่เราพูดอยู่นี่เพราะ “เราไม่ต้องการให้ใครโดนครอบงำทางความคิด ความคิดเราต้องเป็นอิสระ”

“กาลามสูตร” ไม่ให้เชื่อใคร อย่าเชื่อที่เราพูด ! อย่าเชื่อตำรา ให้เชื่อประสบการณ์ของจิต อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น ! กาลามสูตร พระพุทธเจ้าสอนเอง ไม่ให้เชื่อ ! พระพุทธเจ้าสอนเอง ให้เชื่อประสบการณ์ที่เราทำ

แล้วประสบการณ์ที่เราทำมันแสนยากไง บอกให้ทำสมาธิ อีก ๑๐ ปียังทำกันไม่ได้เลย แล้วสมาธิเป็นอย่างไรว่ามา แล้วเกิดโลกุตตรปัญญาเป็นอย่างไร

นี่เป็นโลกียปัญญานะ โลกียปัญญา ความคิดเกิดจากฐาน ความคิดเกิดจากภพ ความคิดเกิดจากจิต

จิต... จิตเป็นนามธรรมไม่มี แต่เป็นภพ เป็นภพนี่คือเรายกตัวอย่าง เป็นภพคือสถานะ ความคิดเกิดจากมัน แล้วมันนี้มาจากไหน มันนี้คือนามธรรมที่เป็นจิตนี้ เป็นจิตนี้มันมีอวิชชา เพราะมันมีอวิชชา แล้วอวิชชามันมีกิเลสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ภวาสวะคือภพ

สถานที่เป็นภพนี้ ความคิดเกิดจากตัวนี้ ความคิดเกิดจากอวิชชานี้ ความคิดถึงเป็นโลก โลกคือโลกทัศน์ โลกคือความรู้สึกของตัว แล้วถ้าความคิดเกิดจากโลกนี้ มันถึงเป็นโลกียปัญญา ความคิดเราที่เกิดทางวิชาการทั้งหมดนี้เกิดจากโลก เกิดจากความเห็นของจิต เกิดจากความเป็นไปของตัวตน

การทำความสงบของใจ เพื่อให้ภวาสวะ ให้ภพนี้ มันสะอาดบริสุทธิ์ของมัน มันสะอาดตรงไหน สะอาดตรงที่ตัวตนไง เพราะมีตัวตน มีอีโก้ ถึงทำให้เราสงบไม่ได้ เพราะตัวตนทุกคนว่าตัวเองแจ๋ว ทุกคนว่าตัวเองเยี่ยม พอยอดเยี่ยมแล้ว มึงเป็นสมาธิแล้วก็ว่ามึงเก่ง ก็มึงเก่งไงมันถึงโง่ !

แต่ถ้ามึงทำความสงบของใจเข้าไป พอตัวตนมันสงบเข้ามา แล้วมันไม่มีอวิชชา เพราะตัวตนคืออวิชชา พอตัวตนนี้มันสงบลง มันเป็นสมาธิ มันเป็นสัมมาสมาธิ พอเป็นสัมมาสมาธิแล้วน้อมไป น้อมไปในสิ่งที่มันติดข้องในตัวมัน พอน้อมไปถึงสิ่งที่ติดข้องในตัวมัน “นี่โลกุตตรธรรม ถึงต้องเกิดจากสัมมาสมาธิ !”

ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิ ความคิดที่เกิดขึ้นนี้เป็นโลกียปัญญาทั้งหมด เป็นปัญญาของตัวตน เป็นปัญญาของอีโก้ !

โง่ ! มันแก้กิเลสไม่ได้ !

ปัญญามันต้องแยกไปอีกนะ “โลกียปัญญากับโลกุตตรปัญญา”

“โลกียปัญญา คือ ปัญญาเพื่อสะสมตัวมัน ปัญญาเพื่อความมั่นคงของมัน ปัญญาเพื่อตัวตน”

นี่ดอกเตอร์ ศาสตราจารย์นี้ มันว่ามันแจ๋ว มันรู้ มันรู้เรื่องทฤษฏีเรื่องวิทยาศาสตร์ทางโลก แต่มันไม่รู้จักตัวมันเอง เพราะมันเริ่มเกิดขึ้นมาจากตัวมันทั้งหมด

แต่ในทางธรรมนี้ โลกส่วนโลก ความรับรู้ทั้งหมดทางวิชาการนั้นเป็นของเขา เขามีของเขาอยู่แล้ว ให้กลับมาที่ตัวมัน แล้วทำลายภพ !

“ทำลายตัวมัน ด้วยปัญญาของมัน” หาตัวมันยังไม่เจอเลย แม่งไปฆ่าใครก็ไม่รู้ โน้มนำแม่งไปก่อนเลย มรรคผลจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น วนไปนู้น ตัวแม่งยิ่งอ้วนยิ่งพอง กิเลสแม่งยิ่งครองโลก อยู่ดีๆ แม่งก็เสือกหลุดเพี้ยนไปเลย

นี่พูดถึงธรรมะนะ ของจริงมันเป็นอย่างนี้ ของจริงนี่มันกลับมาที่เราทั้งหมดเลย

นี่ไงพุทธศาสนาถึงปฏิเสธเทพเจ้าทั้งหมด ปฏิเสธทั้งหมด กูนี่คือพระเจ้า เพราะกูทำดี กูถึงได้เกิดเป็นพระอินทร์ ถ้ากูทำชั่ว กูก็เป็นตัวเหี้ย

เอาอันนี้เป็นหลักเนาะ เอาอันนี้เป็นหลัก อย่าพึ่งใคร เวลาพึ่งครูบาอาจารย์นี่เราพึ่งเพื่อชี้นำ แต่ถ้าคนชี้นำเรา มันชี้นำให้เราไปนอกลู่นอกทาง เราก็ไม่ไปกับเขา อย่างที่ว่าไง “พระพูด พระพูด” พอเห็นว่าพระพูดก็ว่าพระมีศีลโว้ย กูก็ต้องเชื่อไว้ก่อน พระเปรตก็เยอะนะมึง

หลวงตาหรือครูบาอาจารย์ของเรา ท่านเป็นพระที่ประเสริฐ พระที่ดีก็เยอะแยะ พระเปรตก็มี เราจะพูดอย่างนี้นะ คำสุดท้ายแล้ว เหนื่อย

“ความดีและความชั่วทุกดวงใจรับรู้”

อาจารย์องค์ไหนที่พูดจริงหรือที่พูดชั่ว เขาก็รู้ตัวเขา อย่างเช่น เราพูดผิดทุกวันๆ เราจะรู้ตัวว่า เราพูดผิดไหม คนที่สอนถูกสอนผิดทุกวันๆ เจ้าตัวที่สอนนั้น... รู้ ! เรายืนยัน คนที่สอนผิดๆๆ อยู่นั่น มันต้องรู้ตัวมัน แต่มันยอมรับความจริงหรือเปล่าเท่านั้นแหละ

เวลาเราทำถูกทำผิดอยู่นี่เรารู้ไหม ฉะนั้นคนสอนคนพูดนั่นมันรู้ ! มันรู้ถูกรู้ผิด นี่เจ้าตัวรู้ก่อน ความลับไม่มีในโลก ไอ้คนพูด คนสอนนั้นมันรู้ !

แล้วเราก็พยายามทำตัวเราให้เข้มแข็ง ฟังแล้วคอยแยกแยะเอา อย่าเพิ่งเชื่อ แล้วอย่างที่ว่านี่ เราลองไปหลายๆ ที่ แล้วเอามาเทียบกัน จะเป็นประโยชน์กับเรา

มันจะยาก เพราะเปลี่ยนที่หนึ่ง มันก็สายงานใหม่ มันก็ยุ่งยากหน่อย ค่อยๆ ทำเอา เพื่อประโยชน์กับพวกเรา เพราะเราเป็นหัวหน้า หัวหน้าที่ดีมันจะยุ่งยากนิดหนึ่ง แต่เราก็ต้องฝึกต้องทำ เพราะเราเป็นหัวหน้า ไม่อย่างนั้นเขาไม่เลือกมาเป็นหัวหน้าหรอก เขาเลือกมาแล้ว เราก็พยายามหาสิ่งที่ดีๆ ให้กับพวกเราเองไง

พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย เห็นไหม สร้างสมมาเป็นอสงไขยๆ คนดี... จะสร้างความดีมาแต่ละชาติๆ แต่ละซับละซ้อน เราก็ฝืนทำไป แล้วก็อยู่ที่จุดยืนนี้

จะพาฝูงโคไปทางไหน หัวหน้า... จะพามวลชนเราไปทางไหน เราหาของเรา อย่าเพิ่งเชื่อใคร แม้แต่เราพูดก็อย่าเชื่อ แต่นี่เราพูดหลักการให้ฟังเนาะ เอวัง