เทศน์เช้า

สัญชาติพุทธ

๔ ธ.ค. ๒๕๔๒

 

สัญชาติพุทธ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ใจของคนนะมันละเอียดอ่อนมาก มันเข้ากับหลักของศาสนาได้ไง หลักศาสนาละเอียดอ่อนกว่าเรื่องของใจอีก ใจมันละเอียดอ่อน คือว่ามันจับต้องไม่ได้ แต่มันทิฐิมานะ มันกระด้างไง ความกระด้างแสดงออกไปโดยที่ไม่รู้สึกตัวเลยว่ากระด้าง เพราะความแสดงทุกวันๆ ความเคยชิน ความเคยชินแสดงออกอยู่ในของปกติธรรมดา แต่คนที่เขาเห็นเขารับไม่ได้ เขารับไม่ได้หรอก กิริยากระด้างกระเดื่องอย่างนี้เขารับกันไม่ได้

แต่ศาสนาละเอียดอ่อนกว่านั้นอีกนะ เข้าไปกำจัดสิ่งนี้ได้หมดเลย เพียงแต่ว่าเรื่องหยาบๆ มันต้องค่อยๆ ตะล่อมเข้าไปๆ การลองผิดลองถูก ไม่มีทางหรอก ถ้ามันถูกได้หมดนี่นะ เปรียญ ๙ ประโยคต้องเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เปรียญ ๙ ประโยคศึกษาธรรมะมานี่ทะลุปรุโปร่ง ขนาดว่าเถียงด้วยนะ ไปถามหลวงปู่ฝั้น “ในธรรมะพระพุทธเจ้านี่รู้หมด ทุกแง่ทุกมุมรู้ทั้งนั้นเลย แล้วจะให้ผมปฏิบัติอย่างไร?” ถามหลวงปู่ฝั้น

หลวงปู่ฝั้นบอก “อริยสัจอยู่ที่ไหน? ทุกข์อยู่ที่ไหน? กำหนดไปที่ทุกข์ของคนๆ นั้นสิ”

ขนาด ๙ ประโยคไปถามนะว่า “สอนพระสารีบุตรก็สอนไปแง่หนึ่ง สอนพระโมคคัลลานะไปแง่หนึ่ง สอนครูบาอาจารย์แต่ละองค์เป็นคนละแง่หนึ่งๆ ก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดเลย แล้วให้ผมเอาทางไหน? จะให้ผมจับทางไหนแล้วเดินตามเข้าไป?”

มันเป็นไปไม่ได้หรอก! ที่ว่ารู้แล้วจำแล้วจะว่าเป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้เลย สิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะให้เป็นไปได้ มันเป็นไปไม่ได้ ทีนี้มันต้องฝึกไป ถูก-ผิดมันต้องฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ

ดูสิ ทุกข์ของเราเห็นไหม ทุกข์ของบุคคล หนี้... หนี้ของบุคคล หนี้ของบริษัท เป็นหนี้ของบริษัทนี่ บริษัทแบกรับเกือบตายเลย หนี้ของบุคคล หนี้ของเอกชน ทำอย่างไรจะผลักไสให้เป็นหนี้สาธารณะ ผลักไสให้เป็นหนี้สาธารณะด้วยอำนาจของอะไร ด้วยอำนาจของการเมืองใช่ไหม ด้วยอำนาจของผู้ปกครอง ด้วยอำนาจของการเมือง

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เป็นหนี้บุคคล หนี้ของเราเราทุกข์เกือบตายนะ เราแบกทุกข์ยากนะ แล้วจะทำอย่างไรให้ผลักภาระหนี้นี้ออกไป? เป็นหนี้สาธารณะก็เจียดจ่ายกันไป เห็นไหม แชร์กันออกไปเล็กๆ น้อยๆ ก็ดูว่าไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่เป็นหนี้สาธารณะ ธรรมนี้เป็นของสาธารณะ ทุกข์เป็นทุกข์ของส่วนบุคคล ทุกข์เป็นทุกข์ของเรา เราจะผลักไสออกไปอย่างไรให้มันเบาบางออกไปไง การผลักไสออกไปมันก็ต้องด้วยอำนาจของรัฐบาลใช่ไหม?

“อำนาจของตน” อำนาจของตนเกิดจากสมาธิก่อนไง เกิดจากหลักการของเรา อำนาจของเรา เราข่มใจของเราได้ เราพลิกใจของเราได้ อำนาจของรัฐบาลจะเกิด อำนาจของเราจะเกิด เกิดด้วยความที่เรามุมานะ เราตั้งใจของเรา นี่ผลักไสออกไปให้จางออกไป ให้ทุกข์จางออกไปเป็นสาธารณะ ทุกข์นี้ไม่ใช่เรา

นี่มันทุกข์เป็นเรา เวลาทุกข์นี่เป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราหมดเลย เรายึดมั่นถือมั่นนะ เราตะแบงไป มันวันนึงๆ มีแต่ตะแบงไปนะ ตะแบงด้วยเอาความเห็นของตัวเองมาตะแบงออกไปทุกวั๊นทุกวัน แล้วจะไปบีบไสให้ของสาธารณะมาเป็นของของเราทั้งหมด มันเป็นไปได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้เลย ของสาธารณะเป็นของสาธารณะ แต่ไอ้นี่มันไม่ยึดมันก็ไม่ทุกข์ แต่เพราะมันยึดเข้ามาเป็นของของเรา เห็นไหม เพราะมีอำนาจของรัฐถึงว่าตรากฎหมายออกมาเพื่อจะดันออกไป นี่ตรากฎหมายออกมา

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราถึงมีอำนาจขึ้นมา เราใช้ปัญญาของเราพิจารณาอย่างไร? จะใช้ปัญญาของเราผลักไสความยึดติดถือมั่นของเรานี้ออกไปอย่างไร เห็นไหม ธรรมะเป็นของสาธารณะ

แล้วมุมกลับนะ ยกมุมกลับ ในทางโลกของเขา ถ้าสมบัติเป็นของสาธารณะนี่ยึดมั่นถือมั่นนะ โกงกินมาเป็นของบุคคล เห็นไหม พยายามดึงกลับมาเป็นของบุคคล สมบัติเป็นสาธารณะ ธรรมนี้เป็นสาธารณะ ธรรมนี้เป็นของสาธารณะ ธรรมนี้เป็นกลาง แล้วแต่ใครจะโน้มน้าวเข้ามาใส่ใจของเราได้ โน้มน้าวเข้ามา

นี่จะไปยึดสมบัติสาธารณะเป็นของเรา โกงเข้ามาเป็นของเรา ยิ่งโกงเท่าไหร่นั่นน่ะทิฐิมานะเห็นไหม ความโกงเข้ามา แล้วมันโกงได้ไม่ได้ ความโกงเข้ามานี่เป็นสมบัติชั่วคราว ของเป็นสาธารณะ เงินทองนี่เราอาศัยมาเป็นของเราได้ในชาตินี้นะ แต่หนี้ของกรรม หนี้กรรมหนี้ที่เราสร้างสมบุญบาปอันนี้ไว้ มันต้องไปเจออีกข้างหน้าต่อไป มันเป็นของเราไหมล่ะ?

นี่กิเลสมันหามา มันไปกว้านมาชั่วคราว แต่เวลาตายไปนะ กิเลสมันไม่ได้รับทุกข์ จิตดวงที่มีกิเลสนั้นต่างหากที่จะไปรับทุกข์ต่อไป จิตดวงนั้นนะ จิตดวงที่รับทุกข์เป็นผลนี่นา มันเป็นวิบาก ได้รับทุกข์ต่อไปๆๆ นี่ว่าจะดึงยึดมาเป็นของเรา ของสาธารณะจะยึดมาเป็นของเรา แล้วมันเป็นของเราจริงไหม มันเป็นของเราก็ชั่ว ๘๐ ปีเราต้องตายไป เรายึดไว้อย่างนี้แล้วมันต้องพลัดพราก เราไม่ตายจากสมบัติ สมบัติก็ต้องพลัดพรากไปจากเรา ถึงจะอยู่กับเราไปจนตาย เราตายไปแล้วก็ต้องตกถึงแต่ลูกหลานไป ลูกหลานของเราเสวยสมบัติอันนั้นไป แต่ไอ้คนที่ไปเอามา ไอ้คนที่รับทุกข์นั้นคือใคร?

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ธรรมนี้เป็นสาธารณะ เห็นไหม อาจารย์มหาบัวบอกว่า “ธรรมแท้ๆ เข้าไปทุกอณูในอวกาศทุกอย่าง เข้าไปหมดไม่มีขัดกับสิ่งใดเลย ธรรมมันเข้าไปได้ทุกแง่ทุกมุม ธรรมมันอ่อนมาก ธรรมมันไม่เป็นโทษกับใคร” นี่ธรรม ธรรมในหัวใจที่ว่าเป็นธรรมแล้วนะ

เริ่มต้นจากกิเลสเป็นหัวใจเป็นบุคคล เป็นบุคคลมันเลยยึดมั่นถือมั่นมากไง จนทำใจนี้ให้เป็นสาธารณะ จนเป็นสาธารณะนี้ก็เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพ ให้ใจนี้สมบัตินี้เป็นสาธารณะ จนมันเป็นธรรมโดยเนื้อหาสาระของมันเอง ไม่ใช่สาธารณะ มันกลับเป็นธรรมในหัวใจเพราะใจดวงนั้นเป็นธรรม เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไป ก็เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป พระสารีบุตรจะปรินิพพาน มาลาพระพุทธเจ้าเห็นไหม “สารีบุตร เธอจงเห็นสมควรแก่เวลาของเธอเถิด” คือว่าแล้วแต่ธรรมอันนั้นเลย ความพอดีที่ว่าจะพอดีของพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็เอาความสุขอันนั้นไป

อาสเวหิ อาสวะสิ้นไป จิตฺตานิ จิตของผู้ปฏิบัตินี้พ้นจากทั้งหมด พ้นจากกิเลส พ้นจากความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากบุคคล พ้นจากสาธารณะ แม้แต่สาธารณะก็พ้นนะ มันเป็นของบุคคล บุคคลที่เป็นธรรมไง ถึงว่าเป็นวิมุตติ มันบัญญัติไม่ได้ มันเทียบเคียงไม่ได้ แต่ก็จะให้เห็นว่าในเมื่อมันเป็นอย่างนั้นแล้ว จากสาธารณะ เห็นไหม ก็ยังโกงกันมา ดึงกันมา เราก็จะผลักออกไปๆ

แต่มันจำเป็นตรงนี้ จำเป็นตรงใจที่มันตั้งขึ้นมาได้ไหมนี่ ใจมันตั้งขึ้นมาไม่ได้ ใจเป็นรัฐบาลไม่ได้ ใจไม่มีอำนาจเหนือกิเลสไง ใจไม่มีอำนาจเหนือเรา ใจต้องมีอำนาจเหนือเราก่อน เหนือเราเห็นไหม เพราะถ้าอยู่ในเรา นี่ความคิดโลกทั้งหมดเลย โลกียะ ถึงต้องทำใจให้สงบขึ้นมาก่อน

พอใจนั้นสงบขึ้นมา ปัญญามันเกิดเป็นโลกุตตระ โลกุตตระนี่เป็นสาธารณะแล้วเห็นไหม เข้ากับหลักธรรมพระพุทธเจ้า ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เป็นอกาลิโก ใครเข้าถึงดวงนั้นเต็มหมด แม้แต่ ๕,๐๐๐ ปีศาสนานี้เสื่อมไปแล้วนะ หมดไปแล้วนะ แล้วพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสรู้ก็ธรรมอันเก่านี้ แต่กาลเวลาเสวยสุขเสวยทุกข์มันต่างกัน เพราะชีวิตมันจะยาวไกลหรือสั้นแคบต่างกัน แต่ธรรมคืออันนี้ ชำระกิเลสคืออันนี้ อริยสัจคืออันนี้ พระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานไปแล้วข้างหน้า ๔ องค์ก็ตรัสรู้อันนี้ พระอริยสาวกก็ตรัสรู้อันนี้

แต่ใจดวงที่มันตรัสรู้มันต้องมีอำนาจของรัฐบาล อำนาจของความข่มใจนี้ได้ก่อนไง อำนาจของความข่มใจ ถึงจะเป็นธรรมขึ้นมาก็เอาธรรมนี้ไปบีบบี้สีไฟคนอื่น เห็นไหม เป็นธรรมขึ้นมาคือจิตมันจะเข้าที่เข้าทาง ก็หลงตัวเองเห็นไหม ก็ไอ้แค่พยับแดด แค่ยังไม่ทำอะไรเลย ขนาดพยับแดดก็ยังไปตื่นเต้น ไปดีใจกับมัน ไปจับต้องมัน จะไปยึดของสาธารณะเป็นของเราไง

ของนี่สาธารณะมันเกิด-ดับ เกิด-ดับอยู่ที่ใจ มันเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วมันก็ต้องแปรสภาพไป เห็นไหม มันเป็นไตรลักษณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว ทีนี้ถ้าเราไม่มีพื้นฐาน คือใจไม่มีความมั่นคงพอ เราจะจับต้องอันนี้ไม่ได้ ถึงต้องเป็นการเข้าไปประสบเอง เห็นไหม ประสบการณ์ตรงของจิตผู้ที่ปฏิบัตินั้นมันจะเข้าใจหลักอันนี้ แล้วมันจะทำจิตตัวนี้ตั้งอยู่ได้ไง

ความที่จะตั้งอยู่ได้เพราะว่าความผิดพลาดบ่อยๆ หลุดจากมือเห็นไหม จากใจดวงหนึ่งให้ใจดวงหนึ่ง จากใจดวงหนึ่งยื่นให้ใจดวงหนึ่ง ใจดวงนั้นไม่สามารถรับสิ่งนี้ได้ ปล่อยให้หลุดมือออกไป มันก็เสียดาย พอมันเสียดายมันก็ต้องมีความแสวงหา มันก็ต้องพยายามตั้งใจ ทำอย่างไรจะให้ภาชนะนี้ใส่ธรรมอันนี้ได้ไง ทำอย่างไรให้ใจนี้พยายามจะรับสิ่งอันนี้ได้ มันก็ต้องดัดแปลงใจ

มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสิ่งที่เป็นความรู้เฉพาะคน คนๆ นั้นต้องเข้าถึงเอง เข้าจับต้องเอง จะไปให้... ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าเอาไปหมดแล้ว สัตว์โลกนี่ขนไปหมด สัตว์โลกขนไปหมด ไม่มีใครจะปล่อยทิ้งไว้หรอก มันต้องใจดวงนั้นเป็นเอง เห็นไหม กิเลสเกิดที่ใจ กิเลสเจริญเติบโตในใจ กิเลสข่มเหงใจแล้วมันก็ไป ให้ใจนั้นรับทุกข์ต่อไป เห็นไหม กิเลสเกิดจากใจ

ธรรมก็เกิดจากใจ แต่ไม่ได้ธรรมเกิดจากตำรา ตำราเป็นแผนที่ แผนที่เป็นแผนที่นะ แล้วเข้าไปชำระใจตัวนั้น มันถึงต้องประสบการณ์ตรง ไม่มีทางเลยที่จะบอกแล้วให้เข้าใจได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “เราเป็นคนชี้ทาง” ชี้ทางไปคนเดินไปหลงทางก็ไม่ถึง คนเดินไปไม่มีกำลังพอก็ไม่ถึง ชี้บอกขนาดไหน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถึงศาสดา เป็นพระพุทธเจ้านะ เป็นผู้ที่มารื้อสัตว์ขนสัตว์นะ แต่ขนไปได้เท่าที่ว่าจิตดวงนั้นยอมรับไง มันจะเริ่มยอมรับก่อน ยอมรับในความทุกข์ความยาก ในความที่จะเอาชนะกิเลสตน ต้องสร้างตนขึ้นมาให้ได้ก่อนไง จะเอาแต่เอาเปรียบๆ เอาเปรียบมันกิเลสอยู่แล้ว เอากิเลสแก้กิเลสได้อย่างไร? กิเลสแก้กิเลสไม่ได้ ธรรมต้องแก้กิเลส แต่จะเข้าถึงธรรมได้มันต้องเป็นธรรม ไม่ใช่เอากิเลสไปเหนือธรรมไง ทำเข้าไปแล้วเป็นกิเลส เอากิเลสไปควบคุมธรรมไว้ จะเอาทำมาข่มธรรม ข่มได้อย่างไร ข่มไม่อยู่

สมาธิเกิดขึ้นมีกำลังพลังงานนะ รัฐบาลนี้มีอำนาจมาก ข่มไว้ชั่วคราว รัฐบาลนั้นเปลี่ยนไปนะ เปลี่ยนรัฐบาลนั้นไป ไอ้สิ่งที่ทำความผิดไว้ เขาก็ต้องมาดูแล เห็นไหม ต้องตรวจสอบ ต้องจับมา ต้องเอาขึ้นศาล ต้องชำระสะสางกันในความผิดนั้น เห็นไหม ถ้ามีกำลังอยู่มันข่มได้ชั่วคราวเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นความเป็นจริง มันไม่ใช่ข่ม มันชำระล้างได้เกลี้ยงเลย ชำระได้เกลี้ยงมันต้องรักษาอย่างนั้น ชำระได้เกลี้ยงมันก็ต้องขึ้นไปเรื่อยๆ พัฒนาขึ้นไปเรื่อย นี่ธรรมที่เป็นสาธารณะ จะเป็นของเรามันต้องธรรมที่เกิดขึ้นจากใจของเรา ถึงเป็นของเรา แต่เป็นของเราแล้วก็หลุดมือไปๆ เพราะ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพทั้งหมด จนกว่ามันจะเป็นของเราได้ อันนั้นจะเป็นของเราจริง

นี่ศาสนามันละเอียดอ่อนขนาดนั้น แล้วจะมาเอาชุบมือเปิบ ชุบมือเปิบไม่ได้หรอก ชุบมือเปิบไม่มี ถ้าจะชุบมือเปิบ ในมุมกลับกัน ศาสนามีอยู่พร้อม พระพุทธเจ้าต้องแสวงหาเอง นี่ของมีอยู่ ยังชุบมือเปิบไม่ได้ ก็ล้างมือตัวเอง ชุบล้างเปิบไม่ถึงธรรม เข้าไม่ถึงธรรม เข้าไปถึงเปลือกๆ แล้วก็ว่าอันนี้เป็นธรรม

เป็นธรรมไปไม่ได้! ชุบมือเปิบยังเปิบไม่เป็น แล้วเราจะไปแสวงหาเองมันก็ตายเปล่า มันต้องตั้งสตินะถึงจะเอาตัวรอดได้ ไม่ตั้งสติ ไม่ตั้งใจตัว เอาตัวรอดไปอย่างไร ไปไม่รอด พอไปไม่รอดก็จะโทษ โทษว่าทำจะเป็นจะตายนะ อุตส่าห์แสวงหาขนาดนี้แล้วทำไมไปไม่ได้ มรรคผลไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี

มันไม่มีที่ไหน มันทุกข์ร้อนในใจ อะไรคือไม่มี? เผาอยู่นี่ทำไมมันไม่มีเหรอ? จะไปสุคโตข้างหน้าต้องปัจจุบันนี้สุคโตก่อน ต้องสุขเดี๋ยวนี้ ไปนี่สุขหมด วันนี้ดีพรุ่งนี้ต้องดีตลอด วันนี้ทุกข์ร้อนเต็มหัวใจแล้วพรุ่งนี้จะไปสุข เอามาจากไหน?

เห็นไหม ถึงว่ามันถึงประสบได้ไง ว่าไม่มี... ไม่มีก็ต้องถามใจตัวเอง ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ถ้าทุกข์นั่นน่ะธรรมมี เพราะอะไร เพราะธรรมแก้ทุกข์นั้น ทุกข์นั้นเป็นอริยสัจ พอจับอริยสัจได้เราจะเข้าถึงนั้น นั่นล่ะแก้ทุกข์ ทุกข์ต้องแก้ตรงนั้น เอวัง