เทศน์บนศาลา

การเพ่งดูจิตกับการขุดคุ้ยถากถางจิต

๒๔ ธ.ค. ๒๕๓๙

 

การเพ่งดูจิตและการขุดคุ้ยถากถางจิต
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตามสบาย ไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องกำหนดพุทโธ แต่ระลึกสติอยู่ ระลึกสติไว้นะ ให้เอาใจเกาะเสียงไว้ จะรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง ถ้าเป็นประสาโลกมันอยากจะรู้ ใครพูดอะไรมานี่จะรู้ให้หมดไง จะรู้ให้เข้าใจ อันนั้นมันเป็นความเห็นแก่ตัว ฟังสิ ความเห็นแก่ตัวไง เห็นแก่ตัวว่าตัวเองอยากรู้ แล้วมันจะไม่รู้อะไรเลย เพราะว่าความรู้อันที่ว่าเราอยากรู้นั่นน่ะ มันเป็นความอยากอันหนึ่งนะ แล้วเป็นความอยากรู้ว่ารู้ของคนอื่นไง

ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นปัจจัตตัง ความรู้เฉพาะตนเกิดขึ้น ความรู้ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ความรู้ตามความเป็นจริงไง ทำใจให้สงบ เอาเสียงรสของธรรม เอาเสียงนั้น เอาธรรมะของครูบาอาจารย์นั้นเป็นที่เกาะเกี่ยวแล้วทำใจให้เป็นปกติ ทำใจไว้เรื่อยๆ จิตมันจะละเอียดเข้าไป แล้วมันจะเสพความรู้สึกจากความเป็นจริงของตัว อันนี้ถึงจะเป็นความจริงแท้ของบุคคลคนนั้นไง ถ้าเราไปตามความเข้าใจ ความเห็นแก่ตัว ความอยากรู้ก่อน ความคาดความหมายก่อน มันไปกวนใจให้ขุ่นเห็นไหม ความเห็นแก่ตัวว่าตัวจะได้กลับไม่ได้

ความไม่เห็นแก่ตัวไง สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่า สักแต่ว่า ทำไปตามความเป็นจริง แล้วมันจะเกิดขึ้น เราไม่สักแต่ว่า เราไปยึดหมายผลก่อนเห็นไหม

“ฟัง” ตั้งใจฟัง ตั้งใจนะ ฟังไว้เฉยๆ แล้วกำหนดเข้าไปเรื่อยๆ จิตมันจะละเอียดเข้าไป นี่ความเป็นจริงของเนื้อหาสาระของจิต ไม่ใช่ความเป็นจริงของการศึกษาเล่าเรียนในการศึกษาการจำ การจำต้องพยายามจำให้ได้ถึงจะเข้าใจเนื้อความไง แต่อันนี้การปล่อย การปล่อยแล้วเข้าไปเสพ ใจเข้าไปเสพความสงบ จิตมันสงบไปเรื่อย ธรรมชาติของจิตมันไม่ยอม มันกวนตัวเองตลอดเวลา

ธรรมชาติของจิต พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนแก้วน้ำแล้วมันขุ่นด้วยตะกอนอยู่ตลอดเวลา จิตของเราก็เป็นอย่างนั้น พลังงานมันส่งออกตลอดเวลา พลังงานส่งออกนะ แล้วพลังงานนั้นจะมีขันธ์ ๕ ด้วย มันใช้พลังนั้นผ่านขันธ์ ๕ ตัวสัญญาตัวปรุงไง ตัวสัญญา ตัวข้อมูลเดิม ความจำได้หมายรู้ สังขารคือความปรุงความแต่ง นี่พลังงานมันใช้ผ่านตรงนี้ ผ่านขันธ์ ๕ ผ่านกิริยาของใจ มันก็กวนให้ขุ่นไปเรื่อย กวนให้ขุ่นไปเรื่อย

แต่พอจะทำให้มันสงบขึ้นมา เราจะเอาสัญญาทำให้สงบไม่ได้ มันต้องเอาธรรมะ ธรรมคือความเป็นจริงไง กิริยาที่ความเป็นจริง กิริยาของสติเห็นไหม เอาอาการของใจเข้าไปสงบมัน เห็นไหม ตั้งสติไว้อย่างนี้ สตินั้นก็เป็นระลึกรู้ สติเกิดขึ้นจากจิต จิตกำหนดระลึกรู้อยู่ สติมันก็พร้อมรู้อยู่เห็นไหม เอาเนื้อของจิตกำราบเนื้อของจิต เอาพลังงานตัวนั้นกำราบพลังงานตัวนั้น พลังงานที่เป็นพลังงานโง่ กับพลังงานธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เป็นพลังงานฉลาดไง ถ้าโลกก็ว่าพลังงานสกปรก พลังงานสะอาด

พลังงานของกิเลส กิเลสมันไสออกมา พลังงานตัวนี้ตัวของจิต มันขับออกมาโดยธรรมชาติ ถึงคนต้องมาเกิดไง ถึงเราต้องมาเกิด จิตวิญญาณนี้ต้องเร่ร่อนไปตลอดเวลาไง จิตวิญญาณของเรานี่ไม่เป็นอิสระ มันอยู่ในใต้อาณัติของกิเลส คือยางเหนียวที่มันต้องไสไปตลอดเวลา เกิดตาย เกิดตายมาตลอด จิตดวงนี้เคยเกิดเคยตาย เคยลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด ไม่ใช่ว่าเกิดเฉพาะชาตินี้ เราจะมาเห็นว่าเราเกิดมาเป็นเราแล้ว เราถึงว่ามีเรา จิตดวงนี้ซับซ้อนมาตลอดเวลาเห็นไหม พลังงานตัวนี้มันไสไปตลอด

ฉะนั้น พอเรามาเกิดมาชาติปัจจุบัน เราเกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนถึงตัวตน สอนถึงตัวตนภายใน ตัวตนภายนอกด้วย สอนถึงภายในนะ ให้เราเริ่มตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนาเห็นไหม พวกเราต้องทำทานก่อน การทำทานคือไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ใจนี่มันเป็นกว้างแล้ว ใจมันเปิดกว้างก่อน ทาน ทำทานให้ใจเปิดกว้าง ใจเปิดกว้าง คนเปิดกว้างเห็นไหม บ้านที่ปลอดโปร่ง บ้านที่ปลูกอยู่สะดวกสบาย ไม่เจอแดดจนมากเกินไป บ้านไม่ปลูกอยู่กลางพายุ

นี่เหมือนกัน พอใจมันเปิดกว้างมันปลอดโปร่ง ความปลอดโปร่ง กระแสลม ความเป็นอยู่ ความเข้ามา กระแสการเข้ามาเห็นไหม ทานเริ่มมีไง คนไม่มีทาน คนไม่รู้จักตัวตนไง คนไม่เห็นคุณงามความดีของเรา คนมีทานแล้วก็มีศีลเห็นไหม มีทานออกไปก่อน มันปลอดโปร่งมันโล่ง มันจะเข้ามาได้อย่างไร เข้ามาแล้วตามแต่ธรรมชาติลมพัดเข้ามาให้บ้านพังไปเลยเหรอ ถึงต้องมีศีลขึ้นมาอีกเห็นไหม ศีลควบคุมความปลอดโปร่งตัวนี้ไง

ศีลคือความปกติ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ อธิศีล ศีลอันบริสุทธิ์ของพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเห็นไหม สีลัพพตปรามาส ศีลไง ศีลไม่ลูบคลำเหมือนปุถุชน ปุถุชนนี่ศีลมีการลูบการคลำ การทำด้วยความไม่แน่นอนเห็นไหม อธิศีล ศีลเกิดจากความเป็นจริงจากภายในไง อธิศีลนั่นศีลบริสุทธิ์แท้ ไอ้ศีลของเรามันศีลชั่วคราว เดี๋ยวก็เผลอทำผิดอย่างนั้น เดี๋ยวก็เผลอทำผิดอย่างนั้น มันก็ต้องยอมรับ แต่เราก็ต้องมีศีล มีศีลมันถึงจะเริ่มเห็นไหม มีศีล พอศีลคือจิตมันคิด เราเจออะไรที่ว่าเป็นความผิดเราอยากทำ บางอย่างเราอยากทำเห็นไหม ถ้าเรามีศีลนี่มันจะบังคับตรงนี้ได้ ถ้าไม่มีศีลเห็นไหม ไม่มีศีลมันจะปล่อยตามสบายไง เห็นไหมบ้านเปิดกว้างไง

ทาน การอภัยกัน ทานเห็นไหม แล้วก็มีศีลกำหนดเข้ามา มีศีลแล้วก็เริ่มมีภาวนา พอมีศีลมีการกำหนดขอบเขต การกำหนดขอบเขตมันก็ไม่ตั้งมั่น กำหนดขอบเขตไว้ ขอบเขตไว้ ขยับเขยื้อนไปเรื่อย ศีลน่ะ ศีลที่เรากำหนดไว้ พอมันเป็นปกติมันก็ไม่เป็นความเป็นจริงของเราไง ถึงต้องมีสมาธิไง ศีล สมาธิ ภาวนา การภาวนาคือการรวบรวมเห็นไหม ขอบเขตของศีลแล้วให้ตั้งมั่นอยู่ที่ภพคือหัวใจ นี่ตัวตนมันเริ่มจะมีขึ้นมา

จากเราเกิดเป็นสัตว์ เป็นสัตว์นะ เป็นเปรต เป็นผี เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เร่ร่อนมาตลอดเลย ไปตามกระแส เห็นเรือไหม เรือหรือว่าสวะที่ลอยไปตามน้ำ มันไปตามกระแส แม้แต่น้ำจะพัดไป เป็นไปตามอย่างนั้น เราปักไง เราปักสมอ ปักเสาแล้วเราผูกเรือไว้สิ เรือนั้นก็ไม่ไปตามกระแส มีภาวนาเพื่อจิตตั้งมั่น ไม่ตามกระแสความคิดของตัวไปเรื่อยไง ความคิดของตัวไปตามกระแส ไปตามเวรตามกรรม ตามสิ่งที่จะพบเห็น เราปักให้จิตให้เห็นตัวตนของเรา เห็นตัวตนคือว่าจิตตั้งมั่น เริ่มทำสมาธิ ไม่ไหลตามกระแสไป ฉะนั้นคนมีธรรมถึงเป็นผู้ที่เอาตัวรอดได้

ปัจจุบันนี้ ดูสิ โลกขนาดไหน ร้อนไหม เศรษฐกิจตกต่ำมาก โลกเร่าร้อนมาก แล้วเราก็มองตรงนั้นเป็นความสุข ความทุกข์ เรามองวัตถุกัน เรามองข้าม เราหลงทางนะ เราหลงทางกัน จริงอยู่ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย เราไม่ปฏิเสธปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย คน สัตว์ ขาดปัจจัย ๔ ไม่ได้ ปัจจัย ๔ ต้องมีนะ มีเครื่องอยู่อาศัยเห็นไหม เครื่องอยู่อาศัยไม่ใช่เป็นขี้ข้า เครื่องอยู่อาศัยมันเป็นเครื่องอยู่อาศัยชั่วคราว มนุษย์นี้ ๘๐ ปี ๑๐๐ ปีก็ตายไป ปัจจัย ๔ เราใช้เฉพาะในชีวิตมนุษย์นี้ เราสะสมกันไว้จนเราตายไปแล้วก็ยังเหลือกองอีกมหาศาล แล้วเราก็ไปยึดตรงนั้นว่าเป็นของของเรา เราหลงทาง หรือไม่หลงทาง สิ่งสิ่งนั้นจะจากเราไปตอนนี้ หรือเราตายจากมันไปเด็ดขาด

ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งที่จะตามจิตวิญญาณของเราไปคือคุณงามความดี หรือการประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นบุญกุศลภายในไง เป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่แนบกับดวงใจไป ดวงใจนะ จิตวิญญาณนั่นไง มันจะแนบกับจิตวิญญาณนั้นไปเลย เพราะมันเป็นความรู้สึกภายในกระทบกับความรู้สึกภายใน ความรู้สึกภายในนี้เท่านั้นที่มันจะตายไปพร้อมกับจิตวิญญาณของเรา วัตถุที่เราหาไว้มันจะกองไว้ในโลกนี้ ไม่สามารถจะตามเราไปได้ เว้นไว้แต่เรามีความคิดเป็นคนผู้ที่ฉลาดให้ทานออกไปนั่นน่ะ วัตถุนั้นมันถึงจะกลายมาเป็นทิพย์ เป็นความฝังใจไป เพราะทานนั้นเราได้สละออกแล้ว อันนั้นถึงจะเป็นประโยชน์

เราได้เจือจานใคร คนคนนั้นเขาได้มีความพ้นทุกข์จากอันนั้นไปเห็นไหม พ้นจากความบีบบี้สีไฟของความทุกข์อันนั้น เขามีความยิ้มแย้มแจ่มใส เราเห็นเห็นไหม อันนั้นเป็นบุญกุศลเกิดขึ้นปัจจุบันเลย เรายื่นให้คนไหนคนนั้นเขามีความอิ่มอกอิ่มใจ เราก็มีความสุข แล้วมันยัง...นั่นปัจจุบันนะ ปัจจุบันที่เกิดขึ้นที่พบเห็น มีความอิ่มใจ บุญเกิดขึ้นในหัวใจ สะสมไป สะสมไป เราระลึกอยู่เมื่อไหร่มันก็เป็นบุญกุศลตลอด ระลึกถึงว่าการที่เราให้ไปด้วยความพอใจ วัตถุนั้นถึงจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อเราได้ทำประโยชน์อย่างนั้น

แต่เราไปยึดมันน่ะ เราไปยึดมันว่าจะไม่ให้พลัดพรากจากเราไป หรือเราไปยึด เราไปหา ยึดไว้อย่างนั้น มันเลยเป็นทุกข์ไง เรายึดไว้ สิ่งนั้นจะมีหรือจะเป็นไป ขณะที่มันจะมีมาหรือมันจะเสียไป อันนั้นมันเป็นเหตุผลหรือว่ามันเป็นข้อเท็จจริงขณะนั้น แต่หัวใจมันร้อนรุ่มอีกต่างหากนั่นน่ะ มันเป็นทุกข์สองชั้นเข้าไปเห็นไหม ถ้าเราสละสิ่งนั้นวางไว้ก่อน เราจะแก้ไขอย่างไรต่อไปข้างหน้านั้นมันเป็นเหตุการณ์ที่เราจะแก้ไขออกไป แต่เราต้องดึงใจของเราไม่ให้เร่าร้อนตามไป นี่ถึงว่าเป็นนามธรรมไง บุญกุศลมันเป็นนามธรรม จิตวิญญาณนี้เป็นนามธรรม แต่นามธรรมนี้มันสำคัญกว่าวัตถุอีก วัตถุมันแปรสภาพให้เราเห็น เราว่ามันเป็นอนิจจัง

แต่นามธรรมในหัวใจที่มันเกิดขึ้นแล้วมันยึดมั่นถือมั่นนี่ มันจะทำลายได้ยากแสนยากกว่าวัตถุหลายร้อยเท่านัก กิเลสภายในนี้มันยิ่งยึดยิ่งถือ สิ่งของนั้นจะล่วงเลยมา ๑๐ ปี ๒๐ ปีแล้วเป็นวัตถุมันต้องบุบสลายไป มันต้องโดนทำลายไปหมดแล้ว แต่ความจำมาที่เราจำมาในหัวใจทำไมมันยึดขนาดนั้น คิดถึง มันจะเป็นของสดๆ ใหม่ๆ ตลอดเวลาเห็นไหม แต่เวลาเราคุยกันนี่ เราว่าวัตถุมันเป็นอนิจจัง แต่ความเป็นอนิจจังภายในเราไม่ได้ดู

ความเป็นอนิจจังภายใน ทำไมเราไม่สละ ไม่ปล่อย ไม่วางล่ะ เพราะเราปล่อยวางมันไม่เป็นไง เราปล่อยวางมันไม่ได้ไง มันไม่ใช่ว่ามันจะมาสะสมเอาแต่ชาติปัจจุบันนะ มันสะสมมาแต่อดีตชาติ การเกิดสูงๆ ต่ำๆ ของจิตวิญญาณดวงนี้ มันสะสมมาในหัวใจนั้นมหาศาลเลย ฉะนั้นจิตวิญญาณของแต่ละบุคคลเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วถึงได้ไม่เสมอกันไง ความไม่เสมอกันในปัจจุบันนี้มันมีการขับดันมาจากอดีต การสะสมมาต่างกัน อย่างเช่น ปัจจุบันนี่เราทำทานก็ต่างกัน การกระทำของบุคคลก็ต่างกัน อันนี้ต่างหากมันถึงสะสมมา แล้วมันให้มาเป็นวาสนาบารมีไง

คนมีวาสนามีบารมี คำว่า “บารมี” มันเป็นบารมีภายใน คนมีบารมีผู้คนก็เชื่อคนก็ฟัง คนไม่มีบารมีพูดไปเถิด คนเขาไม่ฟัง อันนี้เป็นการแสดงออกไปทางให้เห็นรูปธรรม แต่บารมีภายในสำคัญกว่านะ การนั่ง การทำความสงบได้ไว การพิจารณาได้ไว การจับต้องตนเองได้ไว การจับต้องตนเองไง จิตนี้เคว้งคว้าง จิตนี้เป็นนามธรรม ไหลไปตามกระแส สติเป็นคนยึดเหนี่ยวรั้งไว้ ขอบเขตให้ใกล้เข้ามา จนจิตนี้อยู่ในอำนาจของสติ อยู่ในอำนาจนะ มันหดสั้นเข้ามาจากความคิดที่พุ่งออกไป ความคิดพุ่งออกไป กระแสที่พุ่งออกไป ความคิดออกไป อันนั้นมันพุ่งออกไปรับรู้รูป รส กลิ่น เสียง ภายนอก

สตินี้พยายามเหนี่ยวรั้งเข้ามา การต่อสู้การเหนี่ยวรั้งเข้ามานี้ ต่อสู้กันด้วยความสุดๆ เวลาประพฤติปฏิบัติเราอย่าไปกลัวความทุกข์ เวลาทุกข์ของโลกมันให้ผลมาจนเราน้ำตาไหล น้ำตาร่วงนะ การทำงานนี้แสนทุกข์แสนยาก เราก็ยังฝืนทำเพราะเราเห็นผล แต่การประพฤติปฏิบัติอย่าไปหวั่นไหว อย่ากลัวทุกข์ อย่ากลัวยาก ทุ่มเข้าไปสุดความสามารถ มีแรงเท่าไร มีความจงใจเท่าไร ต้องทุ่มไปทั้งหมดเลย ความทุกข์จะเกิดจากการประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นความทุกข์ที่เราจะพ้นจากทุกข์ เป็นการแก้ไข

เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย ไปโรงพยาบาล หมอเขาฉีดยา อันนั้นก็เป็นความเจ็บปวด แต่เจ็บปวดเพื่อจะหายจากโรค ไม่ใช่ว่าเราเป็นแผล เราเป็นเป็นไข้ แล้วเราพยายามหาของแสลงใส่เข้าไป ทาเข้าไป ให้โรคภัยนั้นขยายตัวออกไป

ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติมันมีแต่ความทุกข์เห็นไหม เหมือนกับไปโรงพยาบาลเพื่อจะพ้นออกจากไข้ ความเจ็บ ความปวดอันนี้เราต้องยอมรับ เราต้องชื่นใจ ผงเข้าตาเห็นไหม ผงเข้าตา เรามองภาพก็ไม่ชัด ตานี้ก็มัวด้วย ความเชื่อในผลของการปฏิบัติไง เหมือนผงเข้าตา เรามันลังเล เราสงสัยว่าประพฤติปฏิบัติแล้วจิตมันจะสงบอย่างไร มรรคผลจะเป็นอย่างไร ผลเกิดจากการปฏิบัติมันจะมีจริงหรือ กาลเวลามันผ่านพ้นไป พระพุทธเจ้าปรินิพพานมา ๒,๕๐๐ กว่าปีมันจะมีมรรคผลอยู่อีกหรือ จนว่าพระพุทธเจ้าตายไป มรรคผลนิพพานจะหมดไปพร้อมพระพุทธเจ้าน่ะ

มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นความจริงอยู่ สัจจะความจริงอยู่ คนเราเกิดมานี่เกิดมาจากเด็กแล้วก็โตไปเป็นผู้ใหญ่ แล้วต้องแก่ไป ต้องตายไป เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นความจริงอยู่ มันเป็นความทุกข์อยู่ แล้วผู้มาประสบธรรมเห็นไหม การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันก็เป็นธรรม มันเป็นความจริงอันหนึ่ง ความทุกข์ที่ผูกมัดมันก็เป็นความจริงอันหนึ่ง ความแก้ไขให้หลุดพ้นออกไปมันต้องเป็นความจริงอันหนึ่งสิ

พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มรรคผลไม่จางไปจากโลกเลย มีตลอดเวลา” มันจะขาด ขาดแต่ว่าเราไม่เชื่อเห็นไหม ผงเข้าตา ตาฝ้าตามัวไง เราก็ว่าเห็นตาฝ้าตามัว แต่ความลังเลสงสัยของใจ ตาธรรม ตาในไง ตาในมันลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยการประพฤติปฏิบัติมันถึงไม่ปฏิบัติตามความเป็นจริง

ถึงว่า ทุกข์เพราะความเป็นทุกข์ของโลก เราก็อยากจะออกทุกข์ เวลาออกจากโลกเศรษฐกิจตกต่ำนี่มีแต่ความเป็นทุกข์ มีแต่โลกนี้เร่าร้อนอยากจะออกจากทุกข์แล้วมาประพฤติปฏิบัติ พอเริ่มประพฤติปฏิบัติว่าทางนี้ ทางศาสนานี้จะทำให้เราพ้นทุกข์ได้ แต่พอปฏิบัติมันก็เกิดความลังเลสงสัยเห็นไหม มันจับ มันเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ มันจับ จับไม่จริง มันต้องเชื่อมั่น พอเชื่อมั่นการกระทำของเรามันก็จะตั้งมั่น การกระทำของเราก็จะเป็นความเป็นจริงไง

ตั้งมั่นเลย มรรคผลมีจริง เราพยายามตั้งสติให้จริงๆ ไม่ลังเลสงสัย ไม่ลูบๆ คลำๆ ไง ความลูบๆ คลำๆ ทำให้เราทำแล้วประพฤติปฏิบัติแล้วไม่ได้หลักได้เกณฑ์ เราไม่ลูบไม่คลำ ทุ่มลงไป ทุ่มลงไปที่หัวใจนั่นน่ะ การทุ่มลงไปคือการไม่ลังเลสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ทำแบบทุ่มทั้งตัว ไม่ทำแบบเหยียบเรือสองแคมไง ทำไปแล้วก็บอกเดี๋ยวก็บอกหยุดก่อน เอาไว้ สงวนพลังงานในหัวใจไว้ เพื่อไปทำงานอย่างอื่นไง มันทุ่มไม่จริง กิเลสในหัวใจมันจะหลอกมาตลอด หลอกเรานั่นล่ะ

มันแบ่งส่วนหนึ่งในพลังงานที่ว่าจะตั้งสติเอาไว้จะไปทำงานข้างหน้าไง งานข้างหน้าหมายถึงงานประกอบอาชีพ งานออกจากตรงนี้ไปไง กิเลสมันหลอกอย่างนั้นนะ มันไม่ทุ่มจริงหรอก วัตถุสิ่งใดก็แล้วแต่เราใช้ไปมันจะหมด พอทุ่มไปนี่หมด แต่สติความระลึกรู้อยู่ภายใน ทุ่มเท่าไรมันก็ไม่หมด มันเป็นนามธรรม นึกขึ้นเท่าไรมันก็มีเท่านั้น แต่เราสงวนไว้เอง เรามันโง่ โง่กับตัวเองไง กลัวว่าทำไปแล้วมันจะหมดเปลืองไง เราก็เลยแบบว่าสงวนไว้ ทำไม่เต็มมือ ทำเต็มมือไปเลย ทุ่มไปทั้งตัว ทุ่มไปทั้งความรู้สึกทั้งหมด แล้วนึกขึ้นมามันก็มีเท่าเก่าๆๆ

ไม่เท่าเก่านะ มันจะมากกว่าเก่าด้วย ถ้ายิ่งระลึกรู้ ยิ่งทำเข้าไป เพราะมันจะกว้างขวางขึ้นไปไง ความชำนาญ ความคล่อง กระแสน้ำไหลไปในดิน ไหลไปมันจะเซาะดินให้เปิดกว้างขึ้น พลังงานที่เราระลึกขึ้นมา แล้วเราฝึกหัดขึ้นมา มันจะเหมือนกับว่า วสีในการชำนาญ การใช้ไง การใช้พลังงานตัวนี้ เราชำนาญเข้า มันก็เหมือนกับกระแสน้ำที่ไหลไปในดินมากๆ มันจะกว้าง มันจะชำนาญขึ้น ชำนาญในวสี ชำนาญในการประพฤติปฏิบัติ

ยิ่งระลึกรู้เท่าไร มันยิ่งมากขึ้นๆ เห็นไหม มันจะตั้งมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าใช้แล้วมันจะหมดไป ยิ่งใช้ยิ่งมี เพราะชำนาญขึ้น ใหญ่ขึ้น ดีขึ้น ละเอียดอ่อนขึ้น แต่เวลาเราจะไปใช้ในทางเหตุเราไม่กล้าใช้ ใช้ในทางเหตุเรากลัวจะเสีย กลัว สงวนไว้ เราไม่ใส่ไปเต็มที่เลย

เรื่องของหัวใจไง ทุ่มลงไป กำหนดส่วนใดส่วนหนึ่ง มันจะรวมลงตรงนั้น ปลายจมูกเห็นไหม ปลายจมูกหรือกำหนดระลึกรู้อยู่ตรงไหน กำหนดไป ตรงนั้นมันจะเป็นจุดศูนย์รวมทั้งหมดของความรู้สึก ความตั้งมั่นตรงนั้น กำหนดไว้ กำหนดไว้ จิตมันจะเริ่มปล่อยวางจากรูป รส กลิ่น เสียงภายนอกไง จากที่มันพุ่งออกไปความคิดไง ความคิดจะจางลงๆๆ มันเป็นการยื้อยุดกันระหว่างธรรมกับกิเลส กิเลสถ้าคิดออกไปในรูป รส กลิ่น เสียง นี้มันจะมีอารมณ์ มีความรู้สึก มันพอใจ มันสนุก มันเป็นอารมณ์ที่กิเลสมันพอใจ มันก็ดึงไป

แล้วสติเราดึงกลับมาพุทโธๆๆ หรือดึงกลับมาความระลึกรู้อยู่นี่ เราดึงกลับมา มันเป็นการยื้อยุดกันระหว่างกิเลสกับธรรมไง กิเลสนี้มันอยู่ในหัวใจเรามาเป็นล้านๆๆ ชาติ เพราะเราเกิดมานี้ไม่มีที่สิ้นสุด ความสนิท ความชิดเชื้อระหว่างกิเลสกับใจมันถึงเป็นเนื้อเดียวกัน ธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศมา ๒,๕๐๐ ปี แล้วเรามาประสบ...จริงอยู่ เราเชื่อเพราะเราเป็นชาวพุทธ เราเชื่อเพราะครูบาอาจารย์เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้ เราเชื่อเพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเป็นจริงผ่านพ้นไปได้จริง เราเชื่อเห็นไหม แต่เราเชื่อนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากข้างนอกเข้ามา

แต่กิเลสนี้เป็นเนื้อเดียวกับหัวใจเห็นไหม มันยื้อยุดออกไป มันยาก มันยากตรงนี้ไง เพราะถ้าทำเข้ามานี้กิเลสมันรู้อยู่ เหมือนยากับโรค โรคมันกลัวยา ยาเข้ามานี่ต้องตามมากำจัดโรคนี้แน่นอน ฉะนั้นเวลาเข้ามานี่เข้ามาจากภายนอก สิ่งที่เข้ามาจากภายนอก กับสิ่งที่อยู่หัวใจ สิ่งที่อยู่ในหัวใจมันต้องต้านทานได้ดีกว่า มันต้านได้ดีกว่ามันถึงเข้าถึงใจได้ยาก การทำความสงบเริ่มต้นมันถึงเป็นไปได้ยากไง เพราะมันเป็นสิ่งที่เข้ามาจากข้างนอก แต่เข้ามาจากข้างนอกมันก็เป็นธรรม เป็นยา เป็นส่วนที่ควรจะเป็น ส่วนที่เป็นประโยชน์

ส่วนที่เป็นประโยชน์ เราต้องขวนขวาย ความยากความง่ายนี้ ยากง่ายเกิดจากกิเลสของเรา ยานี่ไม่ให้โทษหรอก ยานี่ธรรมะพระพุทธเจ้าให้คุณล้วนๆ เลย ยาของโลกมันยังมีการแพ้ยาบ้าง แบบว่ามีผลข้างเคียง ธรรมะพระพุทธเจ้านี้ไม่มีผลข้างเคียง มีแต่ดีกับดีล้วนๆ ธรรม ธรรมไง เวลาเราเรียกร้องความเป็นธรรมเห็นไหม เขาเรียกร้องความเป็นธรรม เขาร้องเรียนกัน เขาหาความเป็นธรรม เพราะว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

แต่หัวใจเราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากธรรมะพระพุทธเจ้า มันได้รับแต่กิเลส มันได้แต่รสของความเจ็บแสบปวดร้อน รสของโลกธรรมไง นินทา การนินทา การกล่าวร้ายเห็นไหม ความคิดจากภายใน ความเสื่อมลาภ เราได้แต่รสของกิเลส มันทิ้งโลกธรรมที่ตามส่วนของกิเลส เราได้แต่รสอย่างนั้น แต่รสของธรรม รสของธรรม ความสงบของใจ ความรู้เท่าทันกิเลส การคิดออกไปที่ทำให้เราทุกข์ยาก ธรรมมันจะเข้ามาชำระตรงนี้ไง ทำให้ผลล้วนอย่างเดียว แต่มันยากเพราะกิเลสเราต่อต้าน มันยาก เพราะว่าหัวใจเราไม่เปิดรับ มันยากเพราะหัวใจ

กิเลสนี่เราว่าธรรม ธรรมเราก็จับต้องไม่ได้ กิเลสเราก็จับต้องไม่ได้ แต่มันขับไสออกมาเป็นความรู้สึกเราก็ไม่รู้ เห็นไหม มันขับไสออกมา มันยากเพราะกิเลสของเรานะ เราต้องทำความเข้าใจว่าที่เราประพฤติปฏิบัติไม่ได้อยู่ หรือเราทำไม่ได้ผลเพราะกิเลสของเรา ไม่ใช่ธรรมะพระพุทธเจ้า ธรรมะพระพุทธเจ้าให้ผลอย่างเดียว ไม่มีโทษเลย การถือศีล เห็นไหม การให้ทานแล้วหมดไปเหรอ? มันหมดไปในวัตถุ แต่มันได้มาด้วยนามธรรม มันได้มาด้วยบุญกุศล มันได้มหาศาลเลย

วัตถุที่หมด หมดไปสิ เพราะวัตถุที่หมดไปมันถึงจะได้สิ่งที่ตอบแทนกลับมาไง ศีลก็เหมือนกัน เราระงับความสะดวกสบายของเรา เราระงับมือ เราระงับตีน ระงับสิ่งที่จะไปทำความผิด ระงับแม้แต่หัวใจที่คิดผิดเลย กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเห็นไหม อธิศีลมันระงับถึงมโนกรรม เพราะอธิศีล ศีลนี้เกิดจากมโน “อธิศีล” ศีลบริสุทธิ์จากหัวใจ นั่นน่ะธรรมล้วนๆ ศีลเราระงับ เราปล่อย เราสละตรงนั้นออก เราก็ได้สิ่งตอบแทนขึ้นมา คือหัวใจเราเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ ขณะที่ศีลนั้นบริสุทธิ์ ขณะนั่งปัจจุบันนี้ศีล ๕ ครบบริบูรณ์ เราไม่ได้ทำความผิดใดๆ แม้แต่นิดเดียวเลย อันนี้เป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่องของขณะปัจจุบันที่มีศีลบริสุทธิ์

มีสมาธิเห็นไหม มีสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตนี้เป็นจิตที่ตั้งมั่น จิตนี้เป็นจิตที่ไม่หิวกระหาย จิตนี้เป็นจิตที่อิ่ม ไม่เสวยอารมณ์ของโลก ไม่เสวยอารมณ์ในรูป รส กลิ่น เสียงแล้ว เห็นไหม เสวยธรรม สมาธิธรรมไง จิตตั้งมั่นมันเสวยธรรม เสวยความสงบ นี่ธรรมเริ่มเกิดขึ้นจากใจ

จากที่ว่ากิเลสล้วนๆ จากกิเลส จากธรรมภายนอก เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันต้องเกิดขึ้นจากใจ การเกิดขึ้นจากใจนี้เป็นปัจจัตตัง การเกิดขึ้นจากใจนี้พระพุทธเจ้าสอน เห็นไหม ถึงว่าเป็นสัมมาสมาธิไง ความทำใจให้สงบมันมีมาแต่ดั้งเดิม เพราะว่าทุกคนเกิดมา ทุกคนมีวาสนาบารมี ทุกคนขวนขวายอยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าถึงมีอยู่ตลอดเวลาไง แม้แต่ศาสนาไม่มี พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้ได้ เพราะมีวาสนาบารมีของบุคคลนั้น

อันนี้จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นมีอยู่ การทำความสงบของใจก็มีอยู่ แต่เป็นสัมมา สัมมาคือสงบแบบที่ไหลเวียนเห็นไหม สงบแบบไหลเวียน น้ำที่สะอาด ไหลเวียนไปแล้วมันก็สะอาด ไม่ขุ่นเป็นตม น้ำที่สกปรกเวลามันทำความสะอาดขึ้นมานี่ตะกอนจะนอนก้น พอไหลเวียน สิ่งที่สงบก็ต้องขึ้นมาให้สกปรกอย่างเก่าเห็นไหม สัมมาสมาธิ กับมิจฉาสมาธิไง ความเป็นสัมมาสมาธิเราทำจิตให้สงบด้วยมีศีลกำหนดมา สิ่งที่มีศีลนั้นกำหนดมา ศีลนั้นบริสุทธิ์ทำให้เกิดสมาธิที่ตั้งมั่น สมาธิที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง สมาธิ สัมมาสมาธิถึงได้ต้องเดินอริยมรรคไง

สมาธินี้เป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรค ๘ สัมมาสมาธิจิตนี้สงบ จิตนี้มีความสุขมาก จิตนี้ตั้งมั่น มันเสพธรรมเข้าไปส่วนหนึ่ง มันควรแก่การงานไง จิตสงบแล้วอ่อนนิ่ม ควรแก่การงานในการพิจารณาความเป็นไตรลักษณ์ ความเป็นอนิจจังของโลก ความเป็นไปแปรปรวนตลอดเวลา เราถึงว่าเราหลงทางกันไปจับต้องวัตถุไง เราต้องดู วัตถุมันก็แปรปรวน มันต้องแปรสภาพไปตลอดเวลา ไม่มีสิ่งใดคงที่

แต่หัวใจที่อาศัยปัจจัย ๔ อยู่นี่ การอาศัยปัจจัย ๔ อยู่แล้ว แล้วรู้เท่าปัจจัย ๔ ใช้ปัจจัย ๔ ด้วยความเป็นประโยชน์ล้วนๆ ไง แล้วใช้ชีวิตแบบมีคุณค่าไง ชีวิตนี้มันต้องเกิดดับ การเกิด มีความพอใจของทุกๆ คน การเกิด ชีวิตใหม่เกิดแล้วมีแต่ความดีใจ ตระกูลนั้นมีความดีใจว่ามีผู้สืบต่อตระกูลแล้ว มีผู้สืบต่อ สืบสกุลต่อไป เป็นการฉลอง การดีอกดีใจ เห็นไหม แต่การดับ การดับของชีวิตหนึ่งในตระกูลตระกูลนั้นจะมีความเสียใจ จะมีความเศร้าโศก

แต่มันเป็นความเป็นจริง ทุกคนต้องเดินไปตรงนั้นทั้งหมด ทุกชีวิตที่เกิดขึ้นต้องดับทั้งหมด การใช้ชีวิตแบบสุรุ่ยสุร่าย การใช้ชีวิตแบบไม่มีธรรมในหัวใจ กับจิตตั้งมั่น จิตได้รู้แล้ว มีสมาธิ มีความรู้ เข้าใจในชีวิต หันกลับมาดูชีวิตเห็นไหม ดูชีวิตภายนอก ดูรูป รส กลิ่น เสียง ดูภายนอก ดูชีวิตภายใน ดูการเกิดดับของอารมณ์ในหัวใจ

ชีวิตที่เกิดดับ วันๆ หนึ่งการเกิดดับ ความคิดเกิดดับในหัวใจนี้กี่ซับกี่ซ้อน เกิดๆ ดับๆ ในหัวใจนี่ การเกิดดับของอารมณ์หนึ่งๆ ความทุกข์อารมณ์หนึ่งๆ สิ ความทุกข์อารมณ์หนึ่ง คิดถึงสิ่งที่เจ็บแสบเจ็บปวด จะเกิดความทุกข์มากในอารมณ์อารมณ์นั้น อารมณ์นั้นดับ ความเจ็บแสบอันนั้นมันไปไหน มันหลงเหลืออยู่เพราะอารมณ์นั้นดับ มันก็ค่อยๆ ดับตามกันไป มันเนื่องด้วยอารมณ์อันนั้น

มันเนื่องด้วยเพราะอารมณ์อันนั้นมาขุ่นมัว แต่ความรู้สึกมันจะต่อไป แล้วก็จางไปๆ การเกิดดับ สัมมาสมาธิความหันกลับมาดูไง ดูสิ่งที่เป็นอนิจจัง ดูให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ไง ความเป็นไตรลักษณ์นั้นสิ่งที่เกิดขึ้น...

...การพิจารณาเห็นไหม เราไปมองอยากจะเห็นแต่ความ...

...ไม่ได้มอง ไม่ได้รู้สึกตัวว่าอารมณ์ที่พิจารณาอยู่นั้น พิจารณาเขาอยู่ก็เป็นไตรลักษณ์

การพิจารณาภายนอก การพิจารณาดูเป็นไตรลักษณ์แล้วมันปล่อยวาง นี่จิตสงบ ความสงบความร่มเย็นของหัวใจนะ ที่ว่าจิตตั้งมั่น มันเป็นความสงบแบบกำปั้นทุบดิน คือความสงบของจิตสงบ แต่กิเลส คือว่ายางเหนียว สิ่งที่จะต้องแก้ไข มันซุกอยู่ภายใน แต่การพิจารณาไตรลักษณ์ การพิจารณาอารมณ์เห็นไหม เราขุดคุ้ยสิ่งที่มันสงบอยู่ใต้จิต ขึ้นมาพิจารณา

การพิจารณานี้เป็นการวิปัสสนาไง เป็นหมอก็ต้องเป็นการผ่าตัดไง ก่อนจะผ่าตัด เราต้องทำให้คนไข้พร้อมในการจะเข้าผ่าตัด ในการทำจิตสงบเห็นไหม ทำให้เราพร้อมที่จะเกิดมีการผ่าตัดกิเลส ต้องจิตสงบก่อน ต้องจิตสงบแล้วเอากิเลสขึ้นมาพิจารณา การตัด วิปัสสนานี้ถึงจะเป็นการตัด เป็นการสมุจเฉท เป็นการตัดให้ขาดออกไปไง

การพิจารณาแล้วนี่ การพิจารณามันถึงว่า พิจารณาใหม่ๆ พิจารณาเห็นการเป็นไตรลักษณ์ข้างนอกนี่ มันก็ตัด แต่มันตัดไม่ถูก ตรงสมุฏฐานของโรค มันก็เลยสงบปล่อยวางเข้ามา คือการพิจารณาไตรลักษณ์ในอารมณ์นั้นไง แต่ตัวอารมณ์นั้นมันไม่เป็นไตรลักษณ์ด้วยไง

พิจารณาเข้าๆ หลายครั้งหลายหนเข้าเห็นไหม ความเป็นอารมณ์นั้นมันจะแปรปรวนให้เห็น แล้วความรู้สึกของเรานั้นก็สงบตามไปด้วย ความสงบคือว่า มันกินตัวมันเองด้วยไง ไม่มีเราเข้าไปขวางในสิ่งที่มันจะเป็นความว่างอันนั้นไง และจิตสงบข้างนอกที่ว่าจิตตั้งมั่นอย่างหนึ่ง อารมณ์ความสงบมีความสุขอย่างหนึ่ง แต่การขาดนี้มันจะต่างกันออกไป การที่ว่าพิจารณาไตรลักษณ์จนเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ชำระสะสางกันตามความเป็นจริง มันจะเป็นความรู้สึกที่ลึกกว่า

ลึกเข้าไปสิๆ เพราะว่ากิเลสนี้มันเป็นเนื้อเดียวกับใจใช่ไหม เราไปลูบคลำอยู่ภายนอก มันก็เป็นการชำระข้างนอกเข้ามา เหมือนตัวเราสกปรกนี่ เราอาบน้ำ เราได้แค่ผิวหนัง แต่ความสกปรกในร่างกายของเรา เดี๋ยวมันก็ขับออกมา ทีนี้ถ้าเราไปชำระสิ่งที่จะขับออกมาจากผิวหนัง จากภายใน ทางวิทยาศาสตร์ทำไม่ได้ แต่ทางธรรมทำได้ ธรรมของจิตทำได้ มันถึงเยี่ยมไง ธรรมะถึงว่าวิเศษสุด มันเข้าไปชำระความรู้สึกของกิเลสที่อยู่ในเนื้อเดียวกับจิต จางออกไป จางออกไป พิจารณาเรื่องของกายจนเข้าใจเห็นไหม เพราะความเป็นไตรลักษณ์มันเห็นตามความเป็นจริงแล้ว มันก็ปล่อยวางตามความเป็นจริงสิ เพราะเหตุให้เกิดทุกข์ กายจิตที่มันเกี่ยวเนื่องกัน ที่มันออกไป เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ไง

ถึงว่าเหตุของความเป็นทุกข์ เห็นไหม เข้าไปชำระเหตุนั้นไง ชำระเหตุนั้นไง เหตุนั้นมันเป็นสมุทัยไง ความหลง ความไม่เข้าใจของตัว เพราะจิตนี้มันหลงมาตลอด ความหลงความไม่เข้าใจ พอมันเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง แล้วตัวมันเองก็เห็นความเป็นจริงของตัวมันเองด้วย มันก็อ๋อ! น่ะสิ มันจะหลงไปไหนล่ะ เราเอาเงินไปเก็บไว้ข้างนอก เราเอาเงินเก็บไว้ในที่ไหนก็แล้วแต่ แล้วเราวิ่งหาไปนี่ เราหาไป เจอหรือไม่เจอ ความเจอนั้นก็อย่างหนึ่งเห็นไหม เราไปเก็บเงินเก็บไว้ข้างนอก

เหมือนกับเราไปชำระสะสางข้างนอกไง กับเรามาชำระสะสางที่หัวใจไง ถึงว่าเราเก็บไว้ข้างนอก เราไปหาข้างนอก แล้วใครเป็นคนไปเก็บ เห็นไหม เหตุ เราต่างหากเป็นคนไปเก็บ เราเอาเงินนั้นไปเก็บ เราเอาเงินนั้นไปวางไว้ข้างนอก ใครเป็นคนผิด เราเป็นคนผิดใช่ไหม เพราะเราเป็นคนเอาไป เราเป็นคนหลงรึเปล่า หลง เพราะเราเอาไปไว้ข้างนอก แล้วเงินเป็นอะไร เงินเป็นกระดาษ แล้วความคิดตรึกนั้นเป็นอะไร เป็นอารมณ์ ความเสียอกเสียใจคืออะไร คืออารมณ์ภายใน

กระดาษนั้นจะใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ได้ เห็นไหมนี่คือความหลง กระดาษนั้นถ้าปัจจุบันเขาใช้กันอยู่ กายนี้ยังใช้ได้อยู่ ก็ยังใช้อยู่ แต่ถ้าเราเข้าใจว่า กระดาษนั้นถึงจุดหนึ่งแล้วเขาต้องพิมพ์ใหม่ เขาต้องแปรสภาพใหม่ เขายกเลิกใช้ได้ กายนี้ถ้าตายไปแล้วไม่มีค่า ถ้าเราตายออกไป จิตวิญญาณนี้ออกจากร่างกายไปเกิดสภาวะใหม่ กายนี้ก็ไม่มีค่า เห็นไหม

แต่ถ้าเราอยู่ในกายนี้ เราพิจารณาปัจจุบันไง ให้เห็นค่า ให้เห็นความปล่อยวางไง ที่ว่าเราเอาเงินไปไว้ข้างนอกนั่นน่ะ เราไปติดเรื่องของเงินข้างนอกเป็นความหลง แต่เพราะใจนั้นไปติด ถ้าใจนั้นปล่อยวาง กระดาษนั้นก็คือกระดาษไป เราจะเจอหรือไม่เจอนั้นมันเป็นเรื่องของกระดาษ วัตถุภายนอก แต่ความยึดติดของใจที่ไปติดกระดาษนั้น ไปติดเงินนั้นไง

ความไม่เข้าใจระหว่างกายกับจิตที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่นี่ ก็เหมือนกัน มันก็ว่ากายกับเรานี้เป็นอันเดียวกันไง แต่จริงๆ คือตัวหัวใจนี้มันไปเกาะเกี่ยวกับกายใช่ไหม มันเกาะเกี่ยวว่าเราคือเราใช่ไหม กายกับเรานี้เป็นอันเดียวกัน เราเป็นคนคนหนึ่ง เราเป็นคนปัจจุบันนี้ มันก็เลยว่าหลงในวัตถุกายไง มันหลง เป็นไตรลักษณ์ไม่เป็นความเป็นจริง การพิจารณาที่ว่ายังไม่เป็นความเป็นจริง

พิจารณาพอมันเข้าใจจุดหนึ่งมันก็ปล่อยวาง แต่ปล่อยวางด้วยความเห็นแต่ภายนอกไง ก็ปล่อยวางเรื่องของความรู้สึกภายนอก แต่ตัวของมรรค มันไม่สามัคคี มรรคไม่สามัคคี มรรคไม่รวมตัวไง ก็เห็นกาย เห็นกายๆ มันเข้าใจกาย เข้าใจกาย แต่มันไม่แปรตามความเป็นจริง ความเป็นจริงมันต้องชำระไอ้ตัวความลังเลสงสัยไง ความไม่เข้าใจไง เพราะว่ากายกับจิตนี้ ปัจจุบันนี้มันเป็นเราแน่นอน เพราะเรากับกายนี้อยู่ด้วยกัน

นาย ก คือนาย ก นาย ก จะเป็นอะไร ก็ต้องเป็นนาย ก แต่ที่ความยึดติดนาย ก นั่นเห็นไหม ถ้าชำระตรงนี้แล้ว นาย ก ก็คือนาย ก แต่ความลังเลสงสัย ความยึดติดนั้น อันนั้นไม่มี ความยึดติดในสักกายทิฏฐิ ความเข้าใจ มันแก้ตรงนี้ มันแก้ตรงความยึดติดของอุปาทาน ตรงความยึดมั่นถือมั่นกายกับเรา มันแก้ตรงที่ว่า เราไปเอาเงินไว้ข้างนอก แล้วเราไปติดเงินข้างนอกนั่นไง

พอมันเข้าใจตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงเป็นปัจจุบันธรรม แล้วปล่อยวางตามความเป็นจริงในปัจจุบันนั้น ปล่อยวางตามความเป็นจริง นี่การชำระ การผ่าตัดความลังเลสงสัย การผ่าตัดความลังเลสงสัยที่ความยึดมั่นถือมั่นไง มันลังเลสงสัยด้วย แล้วมันไปยังยึดว่าอุปาทานด้วย

การพิจารณาย้อนกลับ ย้อนกลับเข้าไปทำลายไอ้ความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยไม่มี ความยึดมั่นถือมั่นก็ต้องแตกสลายไปพร้อมกันไง มันก็เลยปล่อยวางอีกช่วงหนึ่ง คือว่าปล่อยวางอันนี้มันถึงได้ลึกกว่า ความรู้สึกอันนี้มันถึงต่างกับจิตตั้งมั่นไง เพราะจิตตั้งมั่นนั้นมันตั้งมั่นด้วยความลังเลสงสัยนี้อยู่ลึกๆ ลงไป แล้วก็เสพธรรมไง นั่นก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า

แต่การพิจารณาตามความเป็นจริงหนึ่ง แล้วมรรคอริยสัจจังรวมตัวกันอีกหนึ่ง สมุจเฉทปหานจากความลังเลสงสัยภายในอีกหนึ่ง นั่นวิปัสสนา อันนี้ถึงเป็นวิปัสสนาญาณไง ยถาภูตัง ญาณทัสสนังไง ยถาภูตังเลย รู้ตามความเป็นจริง แล้วยังมีความรู้สึกอีกอันหนึ่งที่ว่า หลุดออกไป รู้ว่าหลุดออกเลย แค่เริ่มต้นนะ มันถึงเป็นปัจจัตตังที่แน่นอนมาก

ความเป็นปัจจัตตัง ธรรมะประสิทธิ์ประสาทในหัวใจแล้ว มันไม่ต้องถามใครๆ ทั้งสิ้น เพราะยิ่งถามคนอื่นก็ไม่รู้ ตัวเองก็ไม่รู้ถึงได้ถาม การเอ่ยปากถามออกไปจะรู้ได้อย่างไร เพราะใครจะตอบ แต่ถ้าการประพฤติปฏิบัติ ธรรมะพระพุทธเจ้าประกาศตอบ อยู่ในหัวใจของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ชำระตามความเป็นจริง ถึงว่าอำนาจวาสนาของผู้นั้นไง

บุคคลผู้นั้น บุคคล ๘ จำพวกเห็นไหม จากปุถุชนขึ้นมาเลย บุคคล ๘ จำพวกก็บุคคลที่ปฏิบัติขึ้นไป คนคนเดียวผ่านขั้นตอนขึ้นไปถึง ๘ ขั้นตอน ขั้นตอนหนึ่งก็เป็นบุคคลคนนั้น บุคคลบุคคลไง วาสนาของเราจะอยู่ตรงไหนไง อันนี้เป็นทางขึ้น บุคคลที่จะก้าวไปตามพระพุทธเจ้าได้วางแนวทางไว้ มรรคะไง ทางอันเอก ไม่ต้องลงทุนลงแรงด้วย อยู่ที่หัวใจนี่ อยู่ที่กายกับใจเราเท่านั้นนะ

ถึงว่าโลกมันจะเจริญจะเสื่อม นั่นเรื่องของโลก ความเห็นภายในของเรา แล้วเห็นคุณค่าด้วย ไม่ใช่เห็นธรรมดานะ เห็นคุณค่าของการมีลมหายใจอยู่นี้ เห็นคุณค่าของการมีจิตวิญญาณที่อยู่ในกายนี้ เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติไง โอกาสที่เราจะได้แสวงหาไง เรามีสวนมีไร่มีนาอยู่หนึ่งสวน เราไม่ทำสวนทำนาเราให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ถึงวันหนึ่งเขาต้องไล่ที่เราออกไป ถึงวันหนึ่งไอ้สวนไร่นาของร่างกายนี้มันต้องแตกดับเป็นธรรมดา เรามีสวนมีนาอยู่หนึ่งผืน แล้วเราไม่ปลูกมรรคปลูกผลขึ้นมาในนาในสวนของเราขึ้นมาหรือ

เราจะมีวาสนาหรือไม่มีวาสนา ถึงว่าเยี่ยม เยี่ยมมากๆ นะ อยู่ที่โอกาส โอกาสคือการหันกลับมาดู กับโอกาสออกไปข้างนอก โอกาสของเราไง กาลเวลา กาลเวลาหนึ่ง มีความมุมานะ การเวลาหนึ่ง มีความสนใจ แต่กาลเวลาหนึ่งมันก็จะมีความจางไปเด็ดขาด สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา ความตั้งใจความอุตสาหะเกิดขึ้น มันก็มีความอ่อนแอ มีความท้อแท้อยู่เป็นธรรมดา ธรรมดาเลย สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา

นั้นถึงว่า เวลามันจริงเวลามันจังไง ถึงว่าอย่าหลง อย่าเดินผิดทาง อย่าส่งออก อย่าไปหยิบจับต้องกับวัตถุไว้จนเกินกว่าเหตุ เกินกว่าเหตุนะ ถึงว่าไม่ให้ทั้งหมดล่ะ ไม่ได้ คนเราเกิดมานี่ เกิดมาในสภาพของปากและท้องไง มนุษย์เกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม มีหนึ่งปาก หนึ่งท้องเหมือนกันหมด ทุกคนต้องทำงาน ทุกคนต้องหาของใส่ปาก ของเข้าปากมันก็ตกถึงท้องไง ถ้าท้องมีพลังงานมันก็ยังสืบต่อชีวิตอยู่นี้นะ

การเกิดตายนี้มันของธรรมดา แต่ถ้าให้มันตายตอนนี้หรือ อดจนมันตายไปหรือ ไม่กินให้มันตายไปซะ ตายไปก็โง่เข้าไปอีกใหญ่นะ มันก็เหมือนคืนสวนนาเขาไปไง จะตายต่อเมื่อต้องทำให้เกิดผลขึ้นมาก่อนสิ มีสวนมีนาอยู่ชิ้นหนึ่ง เขายังไม่ได้เรียกคืน ทำไมรีบไปคืนเขา ก็มาอดตายถ้ารีบไปคืนเขา เสียค่าเช่าด้วยการหาอาหารมาใส่ปากนี่แหละ มันก็จะได้เช่าชีวิตนี้ไว้ไง เช่าให้ร่างกายเราอยู่ด้วยกันต่อไป เพื่อจะได้ประกอบคุณงามความดีไง

คือจะออกจากโลก ถ้าออกจากโลกนะ โลกนี้คือหมู่สัตว์ โลกนี้คือเรา เราต้องเวียนว่ายตายเกิดไปตามโลก เกิดมาก็ทุกข์ มีการเจริญขึ้นต้องมีการเสื่อมไป เกิดในยุคของการเสื่อม เสื่อมด้วยความเจริญ เกิดมาในยุคของความเจริญของศาสนาไง ยุคความเจริญ ยุคของการประพฤติปฏิบัติ ยุคที่มีการตื่นตัว เราเกิดมาอยู่ในกระแสอันนั้นน่ะ วาสนาไม่วาสนา นี่กระแสข้างนอก แล้วกระแสข้างในหัวใจล่ะ

มีอยู่คราวหนึ่ง เรามีความมุมานะ เห็นไหม นั่นล่ะโอกาสทอง มีอยู่คราวหนึ่ง จิตนี้ท้อถอย เป็นคราวๆ ไป เราถึงต้องทำหน้าที่ของเราอย่างเดียวคือเติมความศรัทธา ศรัทธาคือหัวรถจักร ความศรัทธา ความเชื่อมั่น พยายามเขี่ยผงออกจากตา ความลังเลสงสัยไง ความลังเลสงสัย ความไม่ปักใจเชื่อ

หัวใจมันทุกข์ใครจะช่วยเหลือมัน เจอหน้ากันก็ได้แต่ว่า "สบายไหม?" ช่วยเหลือกันได้แค่ปลอบประโลมเท่านั้นเอง "อย่าทำอย่างนั้นนะ ควรจะทำอย่างนี้นะ" เห็นไหม แต่ใครมันจะสามารถแก้ทุกข์ในหัวใจของเราได้ เราเท่านั้นนะ! เราเท่านั้น! เพราะอุปาทานก็อยู่ในเรา ความยึดมั่นถือมั่นก็อยู่ในเรา อยู่ในเราไง อยู่ในความลังเลสงสัยของใจไง ก็ต้องพลิกสิ จิตแก้จิต ความลังเลสงสัย เกิดขึ้นมาจากความมุมานะเข้าไปแก้ไขมัน

อนุสัยไง การนอนเนื่องของใจ อนุสัยนะ ภวานุสัย อวิชชานุสัย กิเลสนุสัย อนุสัย ๓ มันเป็นเครื่องดองใจไง เปรียบเหมือนผลไม้ที่ดองแล้ว ผลไม้ที่ดองน่ะมันเข้าไปในเนื้อเลย เห็นไหม แต่ผลไม้นั้นมันเป็น... ผลไม้เป็นวัตถุ มันแก้ให้สะอาดไม่ได้ ของดองแล้วนี่ จะเปลี่ยนยังไงให้มันสะอาดขึ้นมาให้เหมือนกับผลไม้ที่ยังไม่ดอง แต่หัวใจที่อนุสัยที่ดองไว้นี่ ชำระได้ สะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์นะ พ้นออกไปจากโลก มันเป็นสิ่งที่เป้าหมายในศาสนาเรา

ศาสนาพุทธของเราสอนมรรคผลนิพพาน สอนตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา บุคคล ๘ จำพวก พ้นออกไปจนถึงสิ้น บ่วงของมารไง หลุดออกไปจากบ่วงของโลก ออกไปจากบ่วงของ ๓ โลกธาตุ ออกไปจากพรหมโลก เราปรารถนาเกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม พระพุทธเจ้าสอนว่าออกไปจากบ่วงไง สังสารวัฏนี้เราเวียนว่ายตายเกิดมาไม่เบื่อหรือ

เราเท่านั้นหรือที่จะเผาศพคนอื่น ศพเรา เราไม่เคยเผาเลย เขามัดตราสังศพเห็นไหม ห่วงพ่อ ห่วงลูก ห่วงบุตร ห่วงภรรยา ห่วงทรัพย์สมบัติ นี่เห็นไหมทำลายบ่วงออกไปไง เผากิเลสของตัวเองซะ แล้วไม่ต้องให้ใครมาเผาศพ เผากิเลสของตัว เผาความกังวลของใจ ใจไม่กังวลอยู่อีกแล้วมันจะมาเอาความทุกข์มาจากไหน ใจยังเป็นขี้ข้าอยู่ กิเลสมันเหยียบบนหัวใจน่ะ มันเหยียบย่ำบนหัวใจแล้วก็มีแต่ความทุกข์ ห่วงแต่ใครจะไม่จัดงานศพ ไม่จัดทำพิธีกรรมให้สมเกียรติ ตายไปกลัวผี ไม่อยากให้เอาไปไว้ป่าช้า เวลามันตายไปแล้วใครจะเอาไว้ได้

เวลาคิดเห็นไหม มันคิด ดูกิเลส เวลามันคิดไง คนกลัวผี ตายแล้วอย่าเอาไปป่าช้านะ กลัวผี พอตายไปแล้วก็เป็นผี มันสั่งเสียอะไรได้ นี่ดูความเหลื่อมล้ำของกิเลสในหัวใจสิ แล้วก็ดูถึงปัจจุบันนี้สิ นี่ความเหลื่อมนิดเดียว เส้นผมบังภูเขา แง่ของกิเลสมันบังใจนิดหนึ่ง เวลาเราอยู่เห็นไหม เรากลัวว่าเราตายแล้วกลัวผี ไม่เอาไปป่าช้า เวลาเราตายไปแล้วเราก็เป็นผี เขาก็กลัวเรา แต่ทำไมตอนนี้เขาไม่กลัวเราล่ะ ทำไมตอนนี้เขามาดีกับเรา เขามาลูบหน้าลูบหลังล่ะ

เราไปส่งคนกันได้แค่เชิงตะกอนนะ เราส่งศพได้แค่เชิงตะกอน แต่กิเลสนี้มันต้องไปตามเวรตามกรรมอันนั้นน่ะ ถ้าเราชำระได้ก่อน ศพของเราไม่ต้องใครมาส่ง จิตวิญญาณนี้บริสุทธิ์ ไปเสวยสิ่งที่ดีไง ใครเป็นคนหาสมบัติอันนี้ให้กับจิตวิญญาณของเรา เราเท่านั้น เห็นไหม คือว่ามนุษย์เราช่วยกันได้แค่ไปส่งที่เชิงตะกอน แต่ธรรมะพระพุทธเจ้ายกระดับของหัวใจนะ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทา เป็นอนาคา เป็นอรหันต์สิ้นไปเลย ดูสิว่าคุณค่ามันต่างกันมากมายขนาดไหน

เขาว่าศาสนานี้เป็นตัวถ่วงสังคม ศาสนานี้เอาเปรียบโลก โลกจะทำอะไรต้องเป็นใหญ่ ธรรมต้องเป็นใหญ่ ธรรมเหนือโลก แต่เพราะว่าเราไม่เข้าใจไง แล้วธรรมก็เลยไปถ่วงโลก ศาสนานี้เบียดเบียน ศาสนานี้ถ่วงสังคม สังคมไม่เห็นคุณค่าไง นี่ทำให้คนเราตาบอดไง ยกวัตถุใหญ่กว่า ยกวัตถุขึ้นมาเป็นใหญ่ ศาสนานี้เป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ มันเป็นปัจจัตตังในหัวใจ ปัจจัตตังตามความเป็นจริง ไม่ใช่ปัจจัตตังแบบที่ว่ามาอวดอ้างกันนะ ปัจจัตตังอวดอ้างคือว่าเป็นปัจจัตตังเอาออกมาสื่อกันไม่ได้ ก็อวดอ้างกันไป

ปัจจัตตังจริงๆ มันเหนือโลก มันต้องเหนือสิ ความเหนือด้วยการไม่ติดในโลกไง ถ้าไม่ติดในโลก สมบัติในโลกนี้ต้องไม่มีค่า ถ้าสมบัติมีค่า มันต้องติดโลก การติดนั้นคือให้ค่าสิ่งนั้น ของในโลกไม่มีค่าทั้งหมด แม้แต่สวรรค์ก็ไม่มีค่า แม้แต่พรหมก็ไม่มีค่าเห็นไหม ภพของ ๓ โลกธาตุไม่มีค่าใดๆ ทั้งสิ้นเลย มันพ้นจาก ๓ โลกธาตุไป เอาอะไรมาให้ค่ามัน ถ้าไม่ให้ค่ามันแล้วจะติดโลกได้อย่างไร โลกนี้ถึงไม่มีค่า โลกนี้ถึงเป็นเศษฝุ่น แล้วว่าธรรมทำไมจะไม่เหนือโลก ธรรมต้องเหนือโลก แล้วเราปฏิบัติเอาอะไร เอาโลกหรือเอาธรรม

เราเป็นนักปฏิบัติ ร่างกายนี้เป็นโลก เพราะมันเป็นวัตถุ แล้วเราจะทำอย่างไรเราจะให้พ้นออกไป นามธรรมนะจิตวิญญาณนี่ รับเสียงได้ ถ้าเขามีเครื่องขยายเสียง เขาด่ามาจากเป็นกิโลๆ เรายังเจ็บปวดได้ เขาด่ามาเห็นไหม ไปรับเสียงมา นี่นามธรรมมันออกไปเอาได้ใน ๓ โลกธาตุเลย แต่ร่ายกายนี่เขาจะทำลายเรา เขาก็ต้องทำลายที่ผิวหนัง มันจะเจ็บปวดเข้าไปถึงร่างกายของเรา

เปรียบกับวัตถุสิ นี่เปรียบวัตถุกับเปรียบนามธรรม เปล่งเสียงนี่หูมันออกไปเอาถึงไหนเอาได้นะ แล้วก็ไปเอาความเจ็บปวดเข้ามาเห็นไหม แล้วเวลาร่างกายนี่ เขามาตี เขามาทำให้เจ็บปวดล่ะ มันก็ร่างกายนี้เป้าเล็กขนาดไหน นี่ธรรมเหนือโลก นามธรรมใหญ่มาก สิ่งความคิดนี้ถ้าออกมาเป็นวัตถุ จะซ้อนๆๆ กันใน ๓ โลกธาตุจุไม่หมด สมบัติที่เป็นทิพย์นี้ใหญ่โตมหาศาล ธรรมเหนือโลก

ถ้าเราคิดสิ พิจารณานะ แล้วเราชำระของเราได้ เราชำระสิ่งเกาะเกี่ยวที่ในหัวใจเราได้นี่ สิ่งเกาะเกี่ยวนี้มันบีบให้เล็กลงเรื่อย สิ่งใดเกาะเกี่ยวก็เหมือนกับเป็นขอบเขต มันปล่อยวางตรงไหน ตรงเกาะเกี่ยวไม่มี มันก็ว่างขึ้นๆ ปลดออกได้หมด เวิ้งว้างไปหมด ปลดออกจนไม่มีสิ่งใดข้องเกี่ยวเลย เวิ้งว้างจน ๓ โลกธาตุนี้จับต้องไม่ได้ ธรรมเหนือโลก

หัวใจเราเป็น ทุกดวงใจมีสิทธิทุกดวงใจ มีลมหายใจ มีจิตวิญญาณ มีสิทธิทั้งหมด ในศาสนาพุทธ มรรคผลนิพพานวางไว้ต่อหน้า เราปฏิเสธกันทั้งหมด ว่าเราไม่มีวาสนา เราไม่กล้าจับต้องว่าเป็นของสูงส่ง มันเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า สมบัติของครูบาอาจารย์สมัยพุทธกาล ปัจจุบันนี้เราไม่มีโอกาส มันไม่มีโอกาสไปที่ไหน ถ้ามันไม่มีโอกาส เราต้องปฏิญาณตนว่าเราไม่ทุกข์กันแล้ว ในหัวใจเราไม่มีทุกข์ ทุกข์เราปัจจุบันนี้เป็นคนที่ประเสริฐ เป็นคนที่มีความสุขมหาศาล เป็นคนที่ไม่เคยประสบทุกข์เลย นั้นถึงจะพูดได้

แต่ถ้าในหัวใจยังทุกข์อยู่นะ ยังหงอยเหงา ยังเศร้าสร้อย ยังคอตก ก็ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้าทุกข์มันมีมันต้องมีมรรคแก้สิ ถ้าทุกข์มันยังจับต้องได้ ทุกข์ยังรับรู้อยู่ ทุกข์มันดับมันก็เกิดความดับทุกข์เห็นไหม นิโรธ นิโรธะ ความสุขจะเกิดขึ้นจากทุกข์ดับทั้งหมด เพราะทุกข์มันดับ นี้ทุกข์มันทั้งหัวใจ แล้วเครื่องดับมี แต่เราปฏิเสธเครื่องดับไง เราถึงว่าเราไม่มีวาสนา

ไฟมันร้อน อาการ เราเข้าไปใกล้ไฟ ไฟจะเอาความร้อนเปล่งมาถึงเรา เราจะเกิดความร้อน เพราะเราใกล้ไฟ เห็นไหม แล้วทุกข์มันเกิด มันให้ผล แล้วถ้าไฟมันดับลงล่ะ มันเย็นลงล่ะ นิโรธเกิดเห็นไหม นิโรธมันเกิดขึ้น ความเย็นเกิดขึ้นจากเรา เห็นไหม กิเลสมันดับไง กิเลสไม่มีไง ความสุขเกิดขึ้น ความสุขเกิดขึ้นจากความร้อนที่เกิดขึ้นเผาผลาญในใจ ไม่มี สุขอย่างไรก็คิดเอาเอง

สุขที่ไม่เกิดจากความทุกข์บีบบี้สีไฟ ถึงว่า”ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” “ไม่ใช่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ สุข” ความสุขไม่ต้องพูดถึงมัน มันเป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นไปตามความเป็นจริง ผู้เกิดเหตุแล้วดับเหตุหมด ผลที่ได้รับอันนั้นไง ธรรมล้วนๆ ไง ธรรมล้วนๆ เกิดขึ้นจากการระงับดับทุกข์ให้หมด แล้วผลที่เกิดขึ้นอันนั้นไม่พูดกัน มันเป็นความจริงที่เกิดจากกระแสความเร่าร้อน กระแสความทุกข์ กระแสของไฟ กระแสของกิเลสที่เผาผลาญไง เผาผลาญมาทุกภพทุกชาติ เผาผลาญมาจนเป็นปัจจุบันนี้ คนถ้าหยาบมันก็เผาผลาญแบบร้อนไง เผาผลาญแบบไฟไง แบบกอไผ่มันเผาเห็นไหม มันแตกโป้งป้างๆ กริยาของความทุกข์แบบทุกข์เข็ญใจ ผู้ที่ทุกข์เข็ญใจมันจะทุกข์แบบนั้น แบบหยาบๆ

คนที่มั่งมีศรีสุขเห็นไหม มันก็เป็นไฟนะ มันก็เป็นความทุกข์แบบละเอียดขึ้นมา เห็นไหม เป็นความทุกข์ว่าเป็นภาระความรับผิดชอบ เป็นทุกข์ที่ว่าแบกไว้หนัก เป็นความทุกข์บริหารผู้อื่น เป็นความทุกข์ที่ว่าแบกรับผิดชอบการบริหาร นี่ก็เป็นความทุกข์อีกอันหนึ่ง ความทุกข์ละเอียดขึ้นมาเห็นไหม ความทุกข์อย่างนี้มันเป็นความทุกข์ขึ้นมาที่ว่า เกิดจากไฟช็อต เกิดจากกระแสไฟ อย่างไฟฟ้าเราใช้ขึ้นมานี่ก็ยังมีความร้อนออกมา เห็นไหม นี่เรื่องกระแสไฟ

ยังมีทุกข์เข้าไปอีกนะ เป็นทุกข์กับความอ้อยอิ่งเห็นไหม ดูอย่างแสงแดดยังให้ความร้อนอยู่ ไม่ต้องไฟฟ้าหรอก ความทุกข์อันละเอียดขึ้นไป แล้วมันดับทั้งหมด มันอยู่ที่เราเกิดภพชาติไหน ดับทั้งหมด ธรรมถึงเป็นความจริงไง ถึงทำได้ไง

ถึงว่าศาสนาเราสอนนะ สอนตั้งแต่เริ่มต้น พระพุทธเจ้าสอน เราถึงว่าเราเป็นชาวพุทธ เราต้องภูมิใจไง เป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เป็นคนที่มีวาสนาบารมีมาก มีวาสนาบารมีไง สิทธิและโอกาสมีทุกคน สิทธิและโอกาสที่จะจับต้องธรรม แล้วเราไปปฏิเสธสิทธิและโอกาสของเราเองไง คนๆ นั้นไร้ค่า ไร้ค่าเพราะตัวเองทำค่าของตัวเองให้เสื่อมไป ไม่ใช่ไร้ค่าเพราะว่าศาสนาหรือใครมาเป็นคนตีค่าให้นะ

การมีค่าหรือไร้ค่า เกิดจากความรู้สึกภายในของเราเองด้วย ความรู้สึกความเห็นของเราอันนั้นมันจะเป็นคนให้ค่าเราว่า เรามีโอกาสหรือเราไม่มีโอกาส การให้ค่าเราไม่ต้องให้คนอื่นให้ หัวใจเราเองเป็นคนให้ เห็นไหม ถึงว่าเป็นประชาธิปไตยสุดๆ เลย เป็นธรรมะเป็นโอกาสของแต่ละบุคคล นี่ศาสนาพุทธให้ความเสมอภาคขนาดนั้น ศาสนาพุทธให้ความเสมอภาคทุกๆ คนเลย ธรรมไง เป็นธรรมไง ธรรมาธิปไตย

ประกาศศาสนาไว้ วางไว้เป็นท่ามกลาง แล้วธรรมาธิปไตยแต่ละบุคคลจะหยิบเอาได้ จับต้องเอาได้ ธรรมาธิปไตย ธรรมแท้ๆ เลย ธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นของพระพุทธเจ้าจริงๆ นะ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ ศาสนาของพระสมณะโคดม แล้วเราเป็นสาวก เป็นบริษัท ๔ เป็นผู้ที่ได้เกิดมาท่ามกลางศาสนา ท่ามกลางนะ เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันเป็นความจริง ท่ามกลางศาสนาเห็นไหม

การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย แล้วศาสนานี้ครอบคลุมอยู่ ครอบคลุมว่าการเกิด เกิดจากกิเลส การกำจัดกิเลสได้คือการสิ้นไป การกำจัดกิเลสได้คือการตายของปุถุชน การกำจัดกิเลสตายไปด้วยธรรม ตายไปด้วยกิเลส กับตายไปด้วยธรรม เห็นไหม การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่ามกลางศาสนา เราเกิดมาท่ามกลางศาสนาไง เป็นอณูเล็กๆ เป็นหนอนตัวหนึ่ง เกิดขึ้นมาในท่ามกลางศาสนา แล้วหนอนตัวนั้นจะฉลาด หรือจะโง่มันเป็นสิทธิของหนอนตัวนั้นไง

คือว่า วาสนาบารมี หนอนตัวนั้นจะแทะจะไช หรือว่าหนอนตัวนั้นจะทำตัวเองจนเป็นผู้ประเสริฐ นี่แหละคือธรรมะพระพุทธเจ้า นี่ล่ะฟังธรรม เราตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจให้ดี แล้วเราจะได้สมความปรารถนาของแต่ละบุคคล เอวัง