เทศน์เช้า

พระอรหันต์คือพระอรหันต์

๗ ธ.ค. ๒๕๔๒

 

พระอรหันต์คือพระอรหันต์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันเฉลิมฯ น่ะ วันของผู้มีบุญไง บุญกุศลนะมันของผู้มีบุญนะ บุญ คุณของความดี การสะสมความดี ทุกคนทำกันหมดเลย ทุกคน เห็นไหม ทำบุญถวายในหลวง แล้วคนถามบ่อยเลยว่า “ถวายอุทิศส่วนกุศลให้คนเป็นได้ไหม?”

เราทำอุทิศส่วนกุศลให้ถวายในหลวง คนเป็นก็อุทิศได้ คนตายก็อุทิศได้ คนเป็นอุทิศได้ เห็นไหม เพราะอุทิศไปบารมีมันส่งเสริมไปๆ เราทำบุญอุทิศให้ในหลวง ทุกคนทำอุทิศให้ในหลวงหมดเลย แต่คนทำน่ะได้ อดยาเพื่ออุทิศในหลวง เห็นไหม ทำตัวเพื่ออุทิศในหลวง แล้วเราได้อะไรขึ้นมา เราได้สิ่งที่เราทำคุณงามความดีไง อันนี้มันเป็นการยอมรับ คนที่จะยอมรับได้นะ สะสมบุญบารมีมาขนาดนี้นะ เป็นการยอมรับทั่วโลกเลย ยอมรับ เห็นความเป็นไปของประเทศไทยเรื่องรักในหลวงนี่แปลกมาก

แต่นี่เราต้องย้อนกลับมาสิ กว่าที่จะเป็นอย่างนี้ได้ เห็นไหม สะสมบุญบารมีมาตั้งแต่ตอนขึ้นนั่งเป็นกษัตริย์ใหม่ๆ ต้องสะสมมาๆ ทำมา ใครจะเห็นเชื่อ-ไม่เชื่อก็แล้วแต่ สะสมไปด้วย นี่ทำดีต้องได้ดี มันเข้ากับหลักศาสนาไง ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แล้วแต่ว่ามันจะอยู่ทำตรงไหนก็แล้วแต่ แต่มันจะให้ผลตลอด นี่ทำคุณงามความดีมาตลอด แล้วถ้าย้อนกลับไปนะ มันไม่ใช่ทำคุณงามความดีตั้งแต่ชาตินี้ที่ไหนล่ะ

ส่วนบนของฝ่ายปกครอง เห็นไหม ชนชั้นบน มันต้องสร้างสมคุณงามความดีมา มันจะพัดไปเรื่อยๆ พัดไปเรื่อย ไปได้นะ ไปได้ นี่บุญกุศลมันส่งไป ถ้าอย่างนั้นคนจนๆ คนที่ว่าคนทุกข์ยากนี่เป็นคนทำบาปไปทั้งนั้นสิ ถึงเป็นคนทุกข์ยากนะ เวลาเราตีศาสนา ตีเข้ามาเพื่อกิเลสไง ความทุกข์ความยากหรือความมั่งมีศรีสุขนั้นมันไม่ใช่บุญกุศลโดยตัวหลักมันเองไง บุญกุศลนี้พระพุทธเจ้าสอนถึงว่าความสุข-ความทุกข์ในหัวใจต่างหาก

คนเราฐานะจะมั่งมีหรือไม่มั่งมี บางทีทำไมพระโพธิสัตว์เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังมี บางชาติเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานต้องต่ำกว่าคนสิ แต่เป็นสัตว์เดรัจฉานก็เป็นหัวหน้าสัตว์ เป็นปลา เป็นนกแขกเต้า จะเป็นกวางทอง เป็นอะไรนี่ เป็นหัวหน้าสัตว์ แต่มันพัดวนไป เห็นไหม มันสะสมบารมีแต่ละภพแต่ละชาติขึ้นไปของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าว่าในหลวงนี่เป็นพระโพธิสัตว์ก็น่าจะพูดว่าน่าจะใช่ พระโพธิสัตว์สร้างสมมากี่ชาติแล้ว แล้วสะสมมา ถึงการยอมรับมันต้องมีตรงนั้นด้วย แล้วสะสมมา ถ้าคนเรานะอยู่ในความอิสระของตัวเอง กิเลสมันพาไป มันทำให้ทำใจตัวเองได้ มันอยากหรอก มีอำนาจ มีทุกอย่างอยู่ในมือ มันจะทำอะไรก็ได้แล้วแต่ความพอใจ แต่ทำไมทำแต่คุณงามความดีล่ะ?

เวลาจะมีศึกเกิดอะไรขึ้นมา อย่าทำให้ประชาชนฉันเดือดร้อนนะ เห็นไหม อย่าทำให้ประชาชนของฉันเดือดร้อน พยายามจะให้คนมีความสุข แล้วความสุขนั้นย้อนกลับไปถึงตัวท่านเอง เห็นไหม ทุกคนรัก ทุกคนเคารพ เป็นเกราะป้องกันตัวอย่างดีที่สุด มวลชน ความเชื่อของคน ความเชื่ออันนี้เกิดจากตรงไหน?

ความเชื่ออันนี้มันต้องสะสมมาหนึ่ง แล้วว่าต้องมีบุญต้องมีบารมีของเขามา แล้วทำไมคนต้องเป็นหลายร้อยล้านคนยอมรับคนๆ เดียว เห็นไหม ทำดีต้องได้ดี ถ้าเราพูดถึงคุณงามความดีนั้น เราก็สะสมของเรา นั่นดีภายนอก

ดีภายนอก เห็นไหม หลักของศาสนาสอนว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” สุข-ทุกข์อยู่ที่ใจของบุคคลคนนั้น ดวงใจดวงนั้นถึงจะทำสุขทำทุกข์ถึงใจดวงนั้น นี่เราอาศัยข้างนอก เราอุทิศให้ข้างนอกไป มันก็เปรียบเหมือนกับเราศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม ถ้าเราศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่พระรัตนตรัย พระธรรมคำสั่งสอน ศีลนี่บังคับใจเราเข้าไปแล้ว เพราะเราต้องมีความเชื่อ

แต่นี้พอมาคิดว่าพุทธ ธรรม สงฆ์ เป็นรัตนะ เป็นแก้วสารพัดนึก เรานึกไม่ออก พอนึกไม่ออก เราทำไม่ออก เอ๊ ทำอย่างไร มันลังเลสงสัยนะ ชาวพุทธถึงไม่มีหลักเกณฑ์อะไรเลย ถ้าชาวพุทธจะมีหลักเกณฑ์ เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน เห็นไหม นี่เราเชื่อในหลวงเพราะมันเห็นๆ กันอยู่ เรายอมรับว่าคุณงามความดีของท่าน

พระพุทธเจ้ามากกว่านั้นนะ! พระโพธิสัตว์ต้องสร้างบุญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน แล้วพระโพธิสัตว์ต้องสะสมไปจนพระพุทธเจ้าพยากรณ์ พยากรณ์แล้วถึงได้สะสมมาอีก ๑๐ ชาติสุดท้าย เห็นไหมทศชาติ จนเป็นพระเวสสันดร พระพุทธเจ้าทุกๆ องค์ต้องมาสละครอบครัวทั้งหมดเลย สละกัณหา ชาลี ต้องสละหมด นางมัทรีก็สละออก ต้องสละออกทั้งหมดเพราะมันสะเทือนหัวใจ สิ่งที่สะเทือนหัวใจที่สุดในโลกนี้ไม่มีอะไรเหมือนระหว่างฝ่ายตรงข้าม มันสะเทือนมาก แล้วเป็นคู่ของตัวเอง แล้วกระชากออกไปจากใจที่ว่าเป็นของเราอยู่กับมืออย่างนี้ แล้วก็มาขอไป

ความให้มันให้ด้วยสัญชาตญาณ แต่ความทุกข์อันนั้นเต็มหัวใจนะ มันสะเทือนถึงขั้วหัวใจ แล้วพอมาไปเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วก็ยังต้องสละออกไปอีก สละออกไป พระพุทธเจ้าจะเป็นอย่างนั้นหมด ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นมันไม่ถึงโพธิญาณ ถ้าเป็นอย่างนั้นด้วยความนิ่มนวลหรือไม่นิ่มนวลอีกต่างหาก

การสะสมมา ทำคุณงามความดีต้องได้คุณงามความดี ทำคุณงามความดีนะ ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว จะมีหลักศาสนาไม่มีหลักศาสนา สัจธรรมมันเป็นอย่างนั้น นี่มันมีหลักศาสนาให้ชี้นำอีกต่างหาก เราจะทำคุณงามความดีไง ดีภายนอก เห็นไหม เราทำคุณงามความดี ต้องสละให้ในหลวง สละในหลวง แล้วในหัวใจเราล่ะ เราจะสละให้ใครล่ะ?

หัวใจเรายิ่งสละออกเท่าไหร่มันยิ่งได้มากขนาดนั้น เวลาทำบุญกุศลนะ อุทิศให้ในหลวงไป อุทิศไปแล้วบุญเราจะขาดไปเลย เช่น ทำบุญวันนี้ อุทิศให้ทุกๆ คนแล้วมันจะบกพร่องไปไหม? ไม่มีบกพร่องไป มันจะเพิ่มมากขึ้น เพราะว่ามันเป็นนามธรรม บุญมันเป็นกุศล ยิ่งสละออกไป เหมือนเทียนเล่มหนึ่ง จุดเทียนติดเล่มหนึ่งแล้วจุดให้เล่มต่อๆ ไป เทียนเล่มนั้นมันจะจางไปตรงไหน เทียนเล่มเก่าก็ยังเต็มที่ เราอุทิศไปเท่าไหร่ มันยิ่งได้มากเข้ามา นี่อุทิศออกไปๆ

มันเป็นนามธรรมใช่ไหม? นามธรรมอุทิศออกไป อุทิศเพื่อเขา เราก็ได้มากขึ้นๆๆ มันสะสมนะ มากขึ้นตรงไหน? มากขึ้นตรงผลตอบแทนไง เรายิ้มแย้มแจ่มใสให้ผู้อื่น ผู้อื่นยิ้มแย้มแจ่มใสให้เรา เราทำคุณประโยชน์ให้คนอื่น คนอื่นก็ต้องคิดถึงเรา นี่อุทิศออกไป นี่ขนาดนี่เป็นวัตถุนะ สิ่งที่มองเห็น นามธรรมเหมือนกัน หัวใจดวงนี้ประเสริฐ คนๆ นี้เป็นคนดี คนนี้ว่าเราเคารพนับถือ มันเป็นการยอมรับ เห็นไหม บารมีจะสะสมมาตรงนั้น ทีนี้ถ้าเป็นภายในล่ะ?

นี่นามธรรมจากภายนอกต้องกระทบเข้ามา ธรรมะมันละเอียดอ่อนมากไง ทำคุณงามความดีภายนอก กับทำคุณงามความดีภายใน เห็นไหม ใจมันก็ยังคิดอยู่ ให้ครูบาอาจารย์สอนมันก็ยังคิดอยู่ว่า เอ๊ะ มันไม่น่าจะถูก ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ใจเราต้องคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ใจเรามันมีความโต้แย้ง เพราะกิเลสในหัวใจมันมีอยู่ ความเห็นแก่ตัว เราไม่ได้บอกเราเห็นแก่ตัวนะ แต่สัญชาตญาณของมัน มันเป็นโดยธรรมชาติของมัน ความเห็นแก่ตัว ความโต้แย้งภายใน ความลังเลสงสัย เห็นไหม มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน ทีนี้ต้องทำใจให้สงบจากตรงนี้ไง ทำใจให้สงบเป็นความดีภายในแล้ว

จากอุทิศส่วนกุศลภายนอกมันก็เข้าหลักเข้ามา เหมือนกับมาถวายทานตลอดนี่ได้ฟังเทศน์ ฟังเทศน์บ่อยๆ เข้า ไอ้คำเทศน์คำสั่งสอนมันจะเข้าไปถึงใจของตัวเอง นี่มันเป็นคำสอน เอ๊ะมันแปลก มันแปลกจากโลกไปนะ สมมุติสัจจะ สมมุตินี่ สัจจะนี่เป็นสมมุติทั้งหมด สมมุตินี่มันเป็นสมมุติอยู่ แต่มันมีจริง เห็นไหม สัจจะ สมมุติสัจจะ แล้วอริยสัจจะ สัจจะภายใน อริยสัจจะ

ถ้าเราจะเห็นอริยสัจนี่คือเราจะเห็นทุกข์ของเราไง เห็นทุกข์ของเรานะ แต่นี่เราไม่เห็นทุกข์ของเรานะ เราเดินตามทุกข์ต้อยๆ ต่างหากนะ คนเราเกิดมาเราไม่รู้จักทุกข์ของตัวเองเลย มันบ่นต่อเมื่อทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว แล้วเราค่อยมาบ่นกัน มันไม่เห็นอริยสัจไง มันเห็นแต่สมมุติสัจจะ

สมมุติสัจจะคือว่าเทียบเคียงมาพูดกัน ความจริงเหมือนไง เหมือนทุกข์เลย เวลาเล่ากัน หรือเช่นเราไปประสบอุบัติเหตุอะไรก็แล้วแต่ เรามาคิดถึงความนั้น เราจะสยองใจ เห็นไหม มันเป็นความจริงเหมือน เพราะไม่ใช่ของจริงแล้ว แต่ถ้าเราประสบอุบัติเหตุเลยอยู่ในขณะนั้น นั่นน่ะความจริงแท้

นี่ก็เหมือนกัน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี่เป็นความทุกข์เหมือน มันไม่ใช่เป็นอริยสัจ มันเป็นสมมุติสัจจะ เป็นความทุกข์ มันเป็นความทุกข์เหมือนไง เป็นความคลาดเคลื่อนไป เราถึงตามไปๆ เราถึงไม่เห็นทุกข์ เราจับทุกข์ไม่ได้ เราถึงไม่เห็นอริยสัจ เราต้องเห็นอริยสัจก่อน เราเห็นอริยสัจแล้วเราถึงทำงานในอริยสัจนั้นไง

มันถึงว่านี่มันจะสูงขึ้น ความสูงขึ้นของใจของที่มันสูงขึ้น เห็นสมมุติสัจจะก่อน เห็นสมมุติสัจจะก็เชื่อไง เชื่อในสมมุติสัจจะ เชื่อ นี่สุตมยปัญญา เห็นอริยสัจ เห็นทุกข์ของตัวเอง ตัวเองทุกข์ขึ้นมา

มันไม่เห็นทุกข์อย่างนี้หรอก ไอ้เห็นทุกข์อย่างนี้มันเห็นทุกข์เป็นอดีต-อนาคต เห็นไหม เราจะทุกข์ตรอมใจ เราจะคิดมากต่อเมื่อเราหักห้ามไม่ได้ แต่ถ้าเห็นอริยสัจก่อน ทำอริยสัจ กิจจญาณ สัจจญาณ สัจจญาณเกิดขึ้น กิจจญาณเกิดขึ้น การทำอย่างนั้นแล้วมันรู้แจ้งแทงตลอดไง สิ่งนี้จะเป็นโทษ มันจะหลบหลีก เห็นไหม พอมันหลบหลีกสิ่งที่จะเป็นโทษ มันจะเกิดโทษได้อย่างไร? มันจะเกิดทุกข์ได้อย่างไร?

นี้มันไม่ใช่อย่างนั้น เราว่าอันนี้เป็นทุกข์แต่เราทำสิ่งนั้นตลอดเวลา เราทำสิ่งว่ามันจะเกิดเหตุให้เป็นทุกข์ตลอดเวลา แต่เราว่าเป็นทุกข์ เห็นไหม แต่ถ้าเห็นสัจจะจริง เห็นรู้เท่าตามความเป็นจริง มันจะยับยั้งตรงนั้น มันจะไม่ไปทำเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ เห็นไหม

นี่เหมือนกัน อริยสัจนะ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ใช่ไหม ทุกข์ดับ รู้สัจจะในการดับทุกข์ นี่ในอริยสัจไง ถ้าเห็นทุกข์แล้วมันถึงจับแล้วสาวไปหาเหตุได้ นี่เรามันสาวไปหาเหตุไม่ได้ หาเหตุอยู่ที่ไหน? เหตุมันอยู่ที่ใจ เพราะใจยึด คำนี้ง่ายมากเลย คำว่าง่ายมากๆ แต่ทำแสนยากเลย ทุกข์เพราะยึด เพราะเรายึดถึงทุกข์ ถ้าเราปล่อยก็ไม่ทุกข์

สิ่งที่คนรักต่างกัน สิ่งที่คนหวงแหนต่างกัน ความหวงแหนอันนั้น ความยึดมั่นถือมั่นนั้นเป็นตัณหา เป็นอุปาทานทำให้เกิดทุกข์ โลกนี้มีอยู่มันก็มีอยู่แล้ว เราเกิดเราตาย เห็นไหม ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะจะบอกเลยว่า ตายไปแล้วให้ทำอย่างนั้นๆ นะ มันไม่ห่วง ไม่อาลัย ไม่อาวรณ์ไง

แต่ถ้าคนจะเป็นต้องตายแล้วนี่ ทุกคนเกิดมาในอริยสัจมันต้องตายทั้งหมด คนเกิดมาทั้งหมดต้องตายทั้งหมด แต่เวลาตายขึ้นไปตายด้วยความผูกมัด ความยึดมั่นถือมั่น เห็นไหม นั่นมันไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น อันนี้ก็เป็นทุกข์ ทุกข์โดยที่ว่าเรียกร้องแก้ไขตัวเองไม่ได้ ทุกข์ที่ยอมจำนน ทุกข์ที่ไม่ได้ยอมรับสภาพ มันเป็นสัจจะอย่างนั้น แต่ไอ้กิเลสนี้มันต่อต้าน เห็นไหม นี่ถึงว่ามันไม่รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง

แต่ถ้าคนเห็นอริยสัจตามธรรมอริยสัจ ธรรมอริยสัจนะ เห็นอริยสัจ แล้วพิจารณาอริยสัจจนหลุดออกมาจากอริยสัจนั้น เห็นไหม อริยสัจ ฟังสิ! ไม่ใช่สมมุติสัจจะ เป็นอริยสัจจะ อริยสัจจะที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วต้องดับไป แต่ตัวธรรมที่ออกมาจากอริยสัจมันเห็นความจริงอันนั้น มันจะไม่ตื่นเต้น มันจะไม่กระวนกระวาย มันจะไม่ต่อต้านไง ความไม่ต่อต้าน ความรู้เท่าตามความเป็นจริง แล้วปล่อยความเป็นจริงไว้นั้น เป็นความเป็นจริง เห็นไหม ผู้รู้เท่านั้นออกมา

ขับรถมานี่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายนี้เป็นยานพาหนะ ทำให้ใจดวงนั้นเห็นไหม จากทำความดีข้างนอกไง จากทำความดีเพราะว่าเชื่อในรัตนตรัย เห็นคุณงามความดีของพระเจ้าอยู่หัว ทำอุทิศเข้าไป แล้วใกล้เข้ามาเรื่อยๆ สะสมเข้ามาเรื่อยๆ ทำดีต้องได้ดี เห็นประโยชน์อันนั้นนะ เราทำนี้ทำเพื่อความสุขของเรา ทำจากสมมุติสัจจะ แล้วเข้าไปเรื่อยๆ ทำใจให้มันสงบให้ได้ จากความที่ว่าตัวเองขัดแย้งในใจของตัวเองไง ตัวเองขัดแย้ง จิตใต้สำนึกมันจะขัดแย้งตัวเองตลอดเวลา นี่ทำใจให้สงบก่อน พอสงบเข้าไปแล้ว ความสงบนั้นเป็นพื้นฐานให้เห็นทุกข์สัจจะ ให้เห็นอริยสัจไง

ถ้ายังไม่มีความสงบนั้นมันเป็นสมมุติสัจจะ ความเหมือน ความคิด ความเห็น เป็นความเหมือน ความเทียบเคียงทั้งหมด มันจับต้องตัวตนไม่ได้ แต่ถ้าจิตนั้นสงบแล้วเห็นอริยสัจ เห็นอริยสัจแล้วถึงตั้งอริยสัจ เห็นอริยสัจ สาวไปหาเหตุ เห็นไหม

ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดทุกข์ก่อน ทุกข์ความจริง คือจับความจริงได้ สาวไปหาเหตุให้เกิดทุกข์ คือสมุทัย ทุกข์ สมุทัย ถึงเกิดนิโรธดับ เห็นไหม ทุกข์ดับ ดับเพราะอะไร เพราะเหตุ นี่ย้อนกลับเข้าไป นี่อริยสัจจากภายใน เห็นไหม จากสมมุติสัจจะเป็นอริยสัจจะ แล้วเป็นวิมุตติ มันเกินสัจจะ มันเป็นความจริงในตัวมันเองที่ไม่ต้องการคุณค่าใดๆ ไปการันตีไง ไม่ต้องมีคุณค่าใดๆ ไปบอก

ถึงว่าเป็นธรรมประสิทธิ์ประสาทให้ ธรรมอริยสัจนี้ประสิทธิ์ประสาทให้ใจดวงนั้นไง ใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติจนเข้าถึงหลักความจริง มันจะพ้นออกไปจากสมมุติสัจจะ จากอริยสัจจะ อริยสัจจะนี้ยังเป็นเครื่องดำเนินอยู่ เป็นไตรลักษณ์ เป็นทุกขัง เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นไตรลักษณ์อยู่ แล้วมันหลุดพ้นออกไป ไม่ต้องมีใครตีค่าไง

มันถึงว่าเป็นของที่ประเสริฐที่ว่าเหนือโลก เหนือสงสาร เหนือวัฏฏะที่ว่าต้องเวียนว่ายตายเกิด เห็นไหม ทำคุณงามความดีนี้ก็เพื่อเป็นพาหะขับเคลื่อนไป ทำความดีเพื่อความดี เห็นไหม ไม่ได้ทำความดีเพื่ออยากได้ความดี ทำความดีเพื่อความดี ดีเป็นดี ดีให้ผลดี ชั่วให้ผลชั่ว ทำดีเพื่อให้เป็นความดี ความดีนั้นมันจะให้ผลในตัวมันเองขึ้นไปเรื่อยๆ นะ มันจะให้ผลเพราะว่าอะไร?

ถ้าเราทำความดีแล้วทุกคนจะเรียกร้องไง เราทำดีแล้วไม่เห็นได้ดี เราปฏิบัติแล้วจะไม่เห็นได้อะไร เพราะอะไร เพราะตัณหามันไปแทรกเข้าไปในทุกๆ การทำคุณงามความดีนั้นไง นี่ทำความดีเพื่อความดี ทำชั่วมันไม่ต้องเพื่อความชั่ว มันเป็นความชั่วทันที ทำความดีแล้วอยากได้ความดี อยากได้สิ่งที่ตอบสนองมา เราเอาตัณหาเข้าไปในคุณงามความดีของเรา เห็นไหม ทำความดีเป็นสมมุติสัจจะอยู่แล้ว ทำความดีนี่ แต่พอมาอริยสัจจะ เป็นภายใน เป็นทำความดีภายในนะ อันนี้เป็นอริยสัจจะ

อริยสัจมันจะสอนใจให้ใจผ่องแผ้วได้ไง ให้ใจสว่างไสว เห็นไหม ใจผ่องแผ้วหลุดพ้นออกไป นี่จากสมมุติ จากเป็นอริยสัจแล้วจะพ้นออกไป มันถึงว่าไม่ต้องมีใครการันตีไง มันถึงเป็นธรรมะล้วนๆ ไง ธรรมของจริงเกิดขึ้นจากที่เราพยายามเชื่อก่อน เห็นไหม พยายามเชื่อแล้วอาศัยผู้นำ เป็นสิ่งที่เราขวนขวายทำไป ทำตามผู้นำไปก่อน แล้วก็เชื่อธรรมะ เชื่อพระรัตนตรัยเข้ามาอีก เห็นไหม

ความเชื่อนี่สำคัญมาก ศรัทธา แต่ความเชื่อเข้ามาก่อน เชื่อแล้วทำเข้าไป แต่ความเชื่อจริงๆ มันแก้ไม่ได้ เพราะมันเป็นสมมุติสัจจะเหมือนกัน มันเป็นความเชื่อจากภายนอกเข้ามา มันไม่เป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเป็นอริยสัจ เป็นธรรมจักรที่เคลื่อนออกไป เห็นอริยสัจ จนใคร่ครวญตามความเป็นจริงแล้วภาวนามยปัญญาจะเกิด ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นจากฐีติจิต เกิดขึ้นจากใจดวงที่มีกิเลสนั้น แต่มันพ้นขึ้นมาจากเป็นภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญาจะหมุนเข้าไปๆ นี่เป็นอริยสัจ จากเป็นความจริงเกิดขึ้นนะ เป็นอริยสัจ ธรรมจักรมันเคลื่อนไป จนธรรมจักรนี้เคลื่อนไปเป็นมัชฌิมาเต็มที่แล้วถึงชำระขาดออกไป ชำระใจดวงนั้น ใจดวงนั้นพ้นออกไปจากอริยสัจ ตัวอริยสัจก็เป็นตัวเกาะเกี่ยว ตัวอยาก ตัวเหมือนๆ กัน

แต่พอหมุนไปๆ หมุนต้องลองผิดลองถูก เห็นไหม มันหมุนไปแล้วมันไม่ขาด เพราะมันไม่ขาดเพราะมันไม่เป็นตัวของภาวนามยปัญญาโดยเนื้อแท้ มันมีเราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย มันจะหมุนไปเรื่อยๆ ความผิด-ความถูกนั้นทำเข้าไป การประพฤติปฏิบัติทำเข้าไป อันนี้มันต้องพยายามขวนขวาย ต้องพยายามขวนขวายนะ เพราะว่ามันจะเสื่อมลงตลอดเวลา น้ำขึ้นไปสูงแล้วมันจะ... (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)