เทศน์เช้า

สื่อแก้ไขกรณีหลวงปู่มั่น

๒o พ.ย. ๒๕๔๒

 

สื่อแก้ไขกรณีหลวงปู่มั่น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องของเสขะ อเสขบุคคล ตอนนี้เขายอมรับแล้ว หนังสือพิมพ์ลงใหม่แล้วว่า อันนี้ไม่ใช่หนังสือหลวงปู่มั่น หนังสือมติชนเขาลง ตอนนั้นลงทีหนึ่ง ลงแล้วพวกเราก็หลงกันไปเลยนะ ว่าพระอรหันต์ตายกับคนตายนี่เหมือนกัน ตายแล้วเหมือนกัน... มันจะเหมือนกันไปได้อย่างไร ในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน เห็นไหม เดินไปน่ะ เดินไปปรินิพพานแล้วยังไปสอนคน คนจะตายในคืนนั้นนะ แต่เรื่องความตายของตัวนี่ไม่ได้ตกใจเลย ยังเอาความตายของตัวนี่เป็นคติสอนคนอื่นอีกต่างหาก นี่พระพุทธเจ้า

พระอานนท์ มีญาติข้างพ่อและญาติข้างแม่ เวลาท่านจะปรินิพพานเขาจะแย่งศพกัน พระอานนท์กำหนดขึ้นไปเลยนะ กำหนดขึ้นไปบนอากาศ แล้วเวลาตายศพนี่แบ่งเป็น ๒ ซีกเลย ซีกหนึ่งตกไปญาติข้างพ่อ ซีกหนึ่งตกไปญาติข้างแม่ คนเข้าฌานสมาบัติแล้วทำอิทธิฤทธิ์ขนาดนั้น เหาะขึ้นไปแล้วไปตายกลางอากาศ นี่พระอรหันต์ตาย เห็นไหม ปุถุชนตาย กับ พระอรหันต์ตาย ต่างกันมาก ต่างกันมหาศาล

ดูอย่างสมัยปัจจุบันเรา หลวงปู่มั่นเอาไปไว้ที่วัดป่าสุทธาวาส แล้วนอนอยู่ พระล้อมรอบเลย ท่านนอนนะ นอนสีหไสยาสน์ พยายามทำสีหไสยาสน์ แต่ทำไม่ได้ เพราะอาจารย์เล่าให้ฟังว่า เอียงๆ อยู่ก็เอาหมอนหนุนเข้าไป นอนจนสงบนิ่งไปเลย จนเจ้าคุณจูมนั่งอยู่ด้วย “นี่ไม่ใช่ตายแล้วหรือ” กำหนดเวลา ตี ๑ กว่ากำหนดจับดู ท่านเสียไปแล้ว เห็นไหม นอนตายต่อหน้าพระล้อมรอบเลย แต่ถ้าปุถุชนตายมันไม่ร้องไห้ ไม่คร่ำครวญพิไร มันไม่เหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเหมือนกัน

แต่ตอนที่ลงหนังสือพิมพ์มา ลงเป็นข่าวสารมา เราก็เชื่อกัน ฟังดูแล้ว เราอ่านไหม มันเป็นข่าวสารกระจายออกไป แต่ยังดีอยู่ที่ว่าตอนนี้เขาแก้ข่าวแล้ว บอกว่าหนังสือนี้ครูบาอาจารย์สายเราไม่ยอมรับ

1ครูบาอาจารย์สายเราไม่ยอมรับ

2เขาก็หาเองด้วยว่าหนังสือนี้พิมพ์ตั้งแต่ปี ๗๕ปี ๗๕ มั่ง ปี ๙๐ กว่ามั่ง แล้วมารวมเล่มขึ้นมา

แต่มันมีว่า ถ้าจะมีถูกอยู่ มันมีเนื้อหาสาระตอนที่ถูกอยู่ ตอนตอบเจ้าคุณจูมไง มีอยู่ส่วนหนึ่ง ใน ๖ ส่วนนั้นมีถูกอยู่ส่วนหนึ่ง เป็นส่วนจริงที่หลวงปู่มั่นพูดไว้จริง แต่อีก ๕ ส่วนนั้นใครเขียนขึ้นมาก็ไม่รู้ แต่อ้างว่าเป็นหนังสือหลวงปู่มั่น มันน่าสลดใจตรงที่ว่าตำราผิด ตำรานี่ผิดแต่ก็พยายามจะพูดกันว่าถูก แล้วเวลาคนที่มีหลักเกณฑ์มันฟังออก มันก็เข้าใจไงว่าอันนี้ผิด แต่คนที่ไม่เข้าใจ ถึงว่าแผนที่ผิดมันจะทำให้เราไปตกที่ไหน แผนที่ไง

อาจารย์มหาบัวบอกว่า “พระไตรปิฎกนี่ถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์” พระไตรปิฎกนี่ถูกต้อง ธรรมะพระพุทธเจ้านี่ถูกต้อง แต่มันถูกเฉพาะตัวหนังสือนั้นไง มันถูกก็ในสถานะนั้น แต่คนอ่านไปตีความผิด ขนาดของที่ถูกๆ อยู่ยังตีความผิด เห็นไหม แต่นี่เขียนมาให้ผิดไปเลย เพราะอะไร? เพราะว่าคนเขียนนี่อ่านเจตนาออกไง ความเข้าใจว่าคนตายต้องตายเหมือนกัน พระอรหันต์ตายกับปุถุชนตาย ตายเหมือนกัน ตายเหมือนกันในการตาย เพราะว่าคนเราเกิดมาต้องตาย ในเมื่อสสารเกิดขึ้นมาก็ต้องแปรสภาพไป ตายขึ้นมาเพราะว่าเกิดขึ้นมาเป็นชีวิต แล้วต้องตายไป

แต่ตายไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันตรงที่หัวใจไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน เพราะเราตายนะเราตายไปพร้อมกับความยึดมั่นถือมั่น เราตายไปพร้อมกับกิเลส เราตายพร้อมกับความผูกพัน เราตายพร้อมกับความอาลัยอาวรณ์ นี่ทั้งหมดเลย แต่สิ่งนี้พระอรหันต์ไม่มีเลยแม้แต่ซีกกระพี้ลิ้น หัวใจบริสุทธิ์เต็มพอหมดเลย ความอาลัยอาวรณ์ไม่มี ความผูก ความยึดมั่นถือมั่น ความวิตกกังวลไม่มี เพราะ...เพราะว่าตั้งแต่วันที่ปรินิพพาน เห็นไหม วันที่สิ้นกิเลส พอสิ้นกิเลสแล้ว มันก็เห็นอยู่แล้วว่าการเกิดและการตายนี้มีค่าเท่ากัน

แต่ทางโลกการเกิดมีความดีใจมากเลย ลูกเกิดขึ้นมานี่จะมีความดีใจมาก เด็กมันก็ร้องแล้วก็กำมือด้วย ยึดมั่นถือมั่นเห็นไหม เวลาตายไป ผู้เฒ่าตายไปตายพร้อมกับความแบมือออก คลายมือออก นี่ไม่ได้เอาอะไรไปเลย เห็นไหม เวลาตายขึ้นไป คนเราตาย เวลามานี่เหมือนนก นกขึ้นมาเกาะกิ่งไม้ลงนิ่มนวลมาก แต่เวลาไปมันจะบินมันต้องถีบกิ่งไม้ออกไป กิ่งไม้จะสั่นไหวไปหมดเลย คนเราเกิดมามีแต่ความยึดมั่นถือมั่น เวลาตายไปก็ตายไปพร้อมกับความวิตกกังวล พร้อมกับความอาลัยอาวรณ์ พร้อมกับความกลัว เราจะไปไหนมันไม่แน่ใจ แต่พระอรหันต์ว่า “การเกิดและการตายมีค่าเท่ากัน” เพราะว่ามันไม่มีอะไรตายไง

จิตนี้เกิดดับๆ อยู่ เพราะมันวนอยู่ในวัฏฏะ จิตเรานี่วนอยู่ในวัฏฏะ วัฏวนอยู่ตลอด การเกิดและการตาย บุพเพนิวาสานุสติญาณมันย้อนอดีตไปเห็นหมด ว่าเราเคยเกิดเคยตายมาแล้ว ไอ้เคยเกิดเคยตายนี่มันผ่านสภาวะเฉยๆ แต่ไอ้จิตที่มันเกิดตายแล้ว เกิดตายแล้วตายมาๆ ไอ้ตัวนี้เป็นตัวของเราไง ตัวที่ยังมีอยู่ ตัวที่จิตที่มันเกิดตาย จิตนี้คนเราเกิดมาถึงบารมีไม่เท่ากัน บารมีของบุคคลไม่เท่ากันเพราะว่าการสะสมมาต่างกัน การอยู่ภพชาติมันต่างกัน มันสะสมมาๆ จนมาถึงวันสิ้นกิเลส มันถึงเห็นว่าไอ้การเกิดและการตายนั่นสมมุติตลอดมา ไอ้สามโลกธาตุนั่น

แต่พอวิมุตติหลุดพ้น นี่ถึงว่าการเกิดและการตายถึงมีค่าเท่ากัน ถึงไม่สามารถสั่นไหวหัวใจดวงนั้นได้ หัวใจดวงนั้นเข้าใจหมด ไม่มีสิ่งใดหลอกใจดวงนั้นได้เลย แต่จะพูดนี่ ธรรมะนี่ก็เป็นของพระพุทธเจ้า แต่ผู้ฟังก็ฟังไว้เฉยๆ น่ะ เป็นจากข้างนอกเข้ามา แต่ผู้ที่ชำระกิเลส ใจแก้ใจ กิเลสอยู่ข้างในใช่ไหม มัคคอริยสัจจังเข้าไปแก้กิเลสอันนั้น การเข้าไปแก้กิเลสอันนั้น มันเข้าไปถึงหัวใจ มันไปชะล้างอันนั้นหมด

แต่การจำมา จำมาเป็นเปลือก จินตมยปัญญาเข้ามาเป็นกลาง แล้วภาวนามยปัญญาอยู่ข้างใน กิเลสอยู่ข้างในนี้มันถึงได้ต่อต้าน ปากว่ารู้ไง ปาก สุตมยปัญญาว่าเข้าใจ ว่ารู้ การเกิดและการตายมีค่าเท่ากัน แต่เวลาตายจริงๆ แล้วมันก็อาลัยอาวรณ์ มันก็สั่นไหว มันก็ยังคิดถึงคนอื่น เพื่อให้เขาคิดถึงเรา คิดถึงคนนั้น คิดถึงคนนี้ จริงๆ แล้วคือคิดถึงตัวเอง ตัวเองต้องพลัดพรากจากไปอยู่แล้ว เพราะห่วงเขา รักเขา แต่จริงๆ แล้วมันก็รักเรา เพราะมีเราถึงมีเขา มีทุกอย่างหมด พระพุทธเจ้าถึงให้สอนตรงนี้ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มัคคอริยสัจจังของแต่ละบุคคล

บุคคล ๘ จำพวก ผู้ที่ปฏิบัติ ๘ จำพวก ทำใจของตนขึ้นเป็นจำพวกไหน บุคคล ๘ จำพวก จากปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส แล้วขยับขึ้นไป จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนหมายถึงทำใจให้สงบได้ ปรับใจให้เข้าเป็นสภาวะปกติ สภาวะใจของเรานี่ไม่ปกติ เพราะว่าความกลัว ความอาลัย ความอาวรณ์ ความโกรธ ความโลภ ความหลงในใจนี่ มันทำให้ใจฟุ้งซ่าน นี่สภาวะของใจไม่ปกติ ถึงว่าต้องเอาศีลเข้าไปปรับใจตัวนี้ให้เป็นปกติ

ถ้าใจตัวนี้เป็นปกติโดยธรรมชาตินะ ใจตัวนี้เป็นปกติไม่ได้ เริ่มต้น เพราะว่าเราต้องทำใจให้สงบ ความสงบนี้เป็นความชั่วคราว ความชั่วคราวเห็นไหม ทำใจให้สงบ ชั่วคราวๆ เข้านี่ ยังไม่เป็นปกติ ใจจะเป็นปกติต้องความสงบบ่อยๆ เข้า จนจิตนี้ตั้งมั่น จิตนี้ตั้งมั่นเห็นไหม จิตก็ถึงเป็นปกติ นี่เป็นสมาธิไง

ความสงบเข้าไปบ่อยๆ เข้า สมาธิคือจิตที่มันตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นคือจิตที่ปกติ จิตที่ปกตินี้ถึงเป็นกัลยาณปุถุชน จากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนเป็นผู้เดินโสดาปัตติมรรค เป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ ไง จิตสงบแล้วถึงยกขึ้นเป็นบุคคลจำพวกที่ ๑ ยกขึ้น ถ้าไม่ยกขึ้นนะ จิตสงบแล้วก็ปล่อยให้สงบอยู่เฉยๆ แล้วให้มันแปรสภาพไป จิตนี้แปรสภาพไป สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเจริญขึ้นแล้วเสื่อมลง โดยธรรมชาติของมัน สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นต้องแปรสภาพทั้งหมด จิตนี้สงบแล้วมันก็ต้องเสื่อมไป มันไม่ตั้งมั่น เพราะถ้ามันตั้งมั่นแล้วมันต้องยกขึ้นวิปัสสนา ตรงนี้ถึงจะเป็นบุคคลจำพวกที่ ๑

บุคคลจำพวกที่ ๑ หมายถึงจับกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ยกขึ้นเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นไหม กัลยาณปุถุชนถึงจะเดินโสดาปัตติมรรคได้ โสดาปัตติมรรคหมายถึงว่ามีเหตุมีผล ต้องจับสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้ววิปัสสนาไปให้เห็นสภาวะตามความเป็นจริง ขณะที่วิปัสสนาอยู่นี่ กำลังใคร่ครวญอยู่ นี่บุคคลจำพวกที่ ๑ จนมันเป็นผลออกไป จนชำระขาดออกไป ขาดออกไปถึงเป็นบุคคลจำพวกที่ ๒ จำพวกที่ ๒ คือผลเห็นไหม เหตุและผลขึ้นไปเรื่อยๆ อันนั้นถึงจะเป็นของบุคคลคนนั้น ถึงจะเป็นว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ถึงจะเป็นที่ว่า คนที่เกิดแล้วตาย ตายเพราะอะไร มันจะเห็นตั้งแต่ตรงนี้ขึ้นไปเลย

เพราะอะไร? เพราะว่าถ้าสักกายทิฏฐิขาดไป มันจะไม่มีความลังเลสงสัยในธรรม นี่ถึงเป็นอจลศรัทธา ศรัทธาตั้งแต่ตรงนั้น ถึงว่าผู้ที่เข้าเห็นธรรมแล้วจะไม่มีการถือมงคลตื่นข่าว จะไม่เชื่อสิ่งนอกศาสนา จะไม่เชื่อสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถึงว่าตั้งมั่นตรงนี้ไง ตั้งมั่นขึ้นมาจากว่าทำใจให้ปกติก่อน ถ้าใจปกติแล้วไม่ยกขึ้นมันจะเสื่อม ไอ้ตรงเสื่อมนี่ ตอนใจมันเจริญขึ้นมานี่ มันเจริญขึ้นมาก แล้วความเห็นภายในมันจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์นั้นเป็นผู้วิเศษ ไม่ใช่ธรรมะ อริยบุคคลไม่ใช่ผู้วิเศษ อริยบุคคลเป็นคนปกติ เป็นคนปกติที่สามารถชำระความผูกพันของใจได้ไง เป็นคนปกติ เห็นไหม

แต่บารมีของใจที่สะสมมา บารมีของใจ เห็นไหม ใจที่สะสมมา ต่างเกิดตายๆ ขึ้นมา ถ้าสะสมมานี่มันจะมีคุณวิเศษอยู่ในนั้น บารมีอันนั้นต่างหาก กับอริยบุคคล อริยบุคคลหมายถึง ความเข้าใจตน ความเห็นของตน ตนชำระตนได้ พอมันขาดออกไป ขาดออกไปหมายถึงว่าความ ผูกพันที่ขาดออก สิ่งที่เกิดเป็นเนื้อเดียวกัน ใจเรานี่ผูกพันกับความอาลัยอาวรณ์ ผูกพันกับความรู้สึกทั้งหมด ผูกพันกับความโกรธ ความโลภ ความหลง แล้วมันขาดออกไป

ความขาดออกไปนี่คือสังโยชน์ ความขาดออกไปถึงจะเห็นความต่าง ความเห็นต่างออกไป ต่างออกไปจากปุถุชน พอต่างออกไปมันถึงว่าเป็นอริยบุคคลมันเป็นตรงนั้น มันเห็นจากภายใน แล้วมันเป็นปัจจัตตัง มันจะรับรู้จากภายใน แล้วมันจะเข้าใจ มันไม่มีความตื่นเต้นใดๆ เลย มันถึงว่าเป็นคนที่ว่าตั้งมั่นไง ตั้งมั่นอยู่ในหลักของศาสนา ไม่เชื่อในมงคลตื่นข่าว

ถ้ามีหลักตรงนั้นปั๊บ ย้อนกลับมาดูที่หนังสือนี่ มันเป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าพวกเรานี่มันเป็นการฟังข่าวร่ำลือกันมา ลือไง ข่าวจากข้างนอก ข่าวร่ำลือ เห็นไหม ฟังแต่ข่าวลือ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อติดยี่ห้อว่าหลวงปู่มั่นว่านั่นล่ะ เชื่อทันที! ว่าหลวงปู่มั่นว่าอย่างนั้น แต่เนื้อหาสาระนี่บิดเบือนทั้งหมด ขนาดว่าเขาโฆษณาเอง เขาเขียนมาเอง แล้วเขาก็สารภาพเอง คงจะต้องมีใครโต้แย้งเขาไป ถึงยอมสารภาพออกมาเลยนะ เขียนเป็นคอลัมน์ออกมา ซ้ำมาว่าหนังสือที่เขียนมานี้ครูบาอาจารย์สายเราไม่ยอมรับหนึ่ง เนื้อหาสาระนี้เข้าใจว่าผิดหนึ่ง เขายอมรับมาเองเลย เขียนยอมรับมาเลย

นี่ถึงว่าในนี้มันก็เลยว่าสังคมพุทธมันยังประเสริฐอยู่ตรงนี้ไง ประเสริฐที่ว่าผู้รู้ยังมีอยู่ไง ต้องมีผู้โต้แย้งเข้าไป ผู้ต่อว่าเข้าไป เขาถึงยอมแก้ข่าวอันนี้ ถ้าไม่มีใครโต้แย้งเข้าไป มันก็เป็นข่าวอันนั้นแล้วก็ยึดมั่นอันนั้น เพราะเป็นเอกสารสาธารณะ แล้วพวกเรายึดไปถือไป ถือผิดไง มันถึงน่าคิดมาก ถึงจะว่าเป็นตำรา เป็นข่าว ยืนยันว่าเป็นของหลวงปู่มั่นด้วย มันก็ยังสอนผิด พอผิดลงไปแล้วมันก็ดี ดีตรงที่ว่ามีคนที่ว่าผู้รู้จริง เห็นไหม ผู้รู้จริงมี ถึงว่ามรรคมี ผลมี นิพพานมี นรก-สวรรค์มี ผู้ปฏิบัติถึงจริงจะเห็นจริงตามนั้น

ในหลักของศาสนาไง หลักศาสนาเรานี่ หมายถึงว่า ทรัพย์ในศาสนาเป็นสมบัติกลาง ใครสามารถจะหยิบฉวยเอาจากในศาสนานี้ได้ มือใครสามารถจะจับหยิบฉวยเอาจากทรัพย์ในศาสนานี้ ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา จนถึงนิพพานนะ นี่ศาสนาพุทธถึงว่าเป็นศาสนาของแก่นสาร มีแก่น มีสาร มีสาระที่ควรให้เราเคารพ แล้วก็พยายามแสวงหาเพื่อให้ใจของเราเข้าถึงศาสนาได้ มันก็เป็นสมบัติส่วนตน เป็นสมบัติของตัวบุคคลเลย อันนี้มันถึงว่ามันไม่ต้องไปลังเลด้วย แล้วไม่ฟังใครทั้งสิ้น ไอ้ฟังนี่มันฟังเป็นคตินะ

เวลาครูบาอาจารย์เขาพูดกัน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ อาจารย์เล่าให้ฟังตอนที่พระอยู่ในป่ากัน เวลากลับไปหาหลวงปู่มั่น จะไปรายงานหลวงปู่มั่นก่อน หลวงปู่มั่นจะแก้ไขเฉพาะส่วนบุคคลนั้น แล้วจะรวมพระทันที ถ้าพระออกมาจากป่าแล้วมารายงานผล วันนั้นจะเทศน์แบบฟ้าดินถล่มเลย เพราะว่า ธมฺมสากจฺฉา เป็นมงคลระหว่างผู้ที่เข้าไปปฏิบัติมา ได้มา หรือผิด ถูกต้อง ผิดมาก็ต้องมารายงานอาจารย์ อาจารย์จะแก้ไขมา แล้วก็เริ่มต้นขึ้นมา แก้ไขแล้วยังอุตส่าห์กระจายไปกับผู้ที่หมู่สงฆ์ในวัดนั้นได้ฟัง ได้เป็นคติอีกต่างหาก นั่นน่ะ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

ถ้าเป็นการสนทนาธรรมกัน ยอมรับเหตุและผลนั้น มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ว่าทำให้พวกเรามีการสัมมนากัน มีการวิเคราะห์กันให้ถูกต้องตลอด ศาสนานี้ก็จะบริสุทธิ์ เห็นไหม ศาสนานี้จะเข้าถึงได้ เห็นไหม แล้วเป็นการยอมรับกันตามสัจจะ ตามหลักความจริง ไม่ใช่ยอมรับกันเป็นที่ว่าเป็นยี่ห้อ เป็นการยอมรับว่าเป็น เป็นเฉยๆ แต่ไม่เป็นโดยเนื้อหาสาระ นี่เป็นชาวพุทธ

อาจารย์สอนว่า เหตุและผลรวมกันแล้วถึงเป็นธรรม เหตุ ผล พอเหมาะพอเจาะ เหตุไม่พอผลเกิดไม่ได้ เหตุต้องหนัก ฉะนั้นเวลาพูดถึง ธมฺมสากจฺฉา เราจะถามกันเรื่องเหตุไง ทำอย่างไร วิปัสสนาอย่างไร ยกขึ้นอย่างไร แล้วถึงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แต่ว่าถ้าบอกว่ามาถึงจุดนี้ๆ แต่เหตุมันไม่มี เหตุไม่พอผลมันเป็นไปไม่ได้ เหตุพอแล้วผลมันจะเป็นไปเอง ถึงว่าหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ ความเพียรหน้าที่ของเรา มรรคผลมีอยู่แล้ว ความเพียร หน้าที่ใส่ความเพียร ใส่ความเพียรเข้าไป ต้มน้ำเรามีหน้าที่ใส่ฟืนอย่างเดียว แล้วน้ำจะเดือด ตบะธรรมเผากิเลสทั้งหมด แล้วมันจะเกิดขึ้นกลางหัวใจของผู้ปฏิบัตินั้น เอวัง