เทศน์เช้า

กรรมชี้เจตนา

๑ ก.ย. ๒๕๔๒

 

กรรมชี้เจตนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถึงหัวใจเลย เพราะว่าคนเราทุกข์นี่มันทุกข์กันที่ใจ พระพุทธเจ้าสอนเน้นลงที่ใจ เน้นลงที่ใจ ใจเป็นภาชนะใส่ธรรม ใจนะเป็นภาชนะใส่ธรรม ใจมีกิเลส ฉะนั้น ใจต่างหากที่ว่ามันเป็นเจตนาทำความชั่ว ความคิด ความเจตนาออกมา ทีนี้มันวางเจตนามา เจตนามันรู้อยู่ว่าผิด คนทำผิดต้องรู้ว่าผิด คนไหนทำผิด เจตนาตั้งไว้ผิด รู้ว่าผิดแน่นอนเลย เพียงแต่ว่าพยายามจะให้สังคมยอมรับว่าถูก สังคมยอมรับนะ เขาพยายามจะกลบเกลื่อนเอาไว้ด้วยกิริยาภายนอกไง

นี่อาจารย์มหาบัวสอนประจำนะ “ความคึกคะนองของใจ ดูกิริยาที่แสดงออกมา มันจะรู้ว่าใจคนนั้นคิดอย่างไร” ย้อนกลับไปที่ใจ ความคึกความคะนองของใจมันแสดงออกมา นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อความเป็นธรรมไง เจตนาว่าเป็นธรรม ส่งเสริมศาสนา รักศาสนามาก รักมาก รักศาสนามาก ถ้าคนรักศาสนามาก ศาสนาอยู่ที่ไหน? ศาสนา ศาสนธรรมนี้เป็นคำสั่งสอน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้เป็นตัวศาสนานะ ศาสนธรรม ธรรมวินัยเป็นตัวศาสนา ตัวศาสนาที่สอน ตัวศาสนาที่สอนนั้นเป็นกิริยาของธรรม เห็นไหม เป็นตำราของธรรม แล้วไปบิดเบือน เบี่ยงเบนทั้งหมดเลย เบี่ยงเบนไปเพื่อจะให้เข้าถึงเจตนาความคิดของตัว มันเป็นไปได้อย่างไร?

คนเราเจตนาบริสุทธิ์นะ เจตนาบริสุทธิ์ จิตใจๆ เขาว่านะจิตมันจะใส ใสขนาดไหนมันก็จิตเดิมแท้นั้นผ่องใส จิตใสๆ นั่นน่ะ ว่าจิตใสๆ ถ้าคนเรามีความบริสุทธิ์ใจ ว่าจิตมันใส มันผ่องใส จะไปพูดอย่างไรไม่ได้เพราะมันใส ก็มันใสมันก็แค่จิตใจ มันแค่สมาธิมันจะเป็นประโยชน์อะไร? อุปกิเลส เห็นไหม โอปายิกัง โอภาส จิตใจ จิตสว่างมันเป็นอุปกิเลสทั้งนั้น ในตำรามันก็บอกอยู่ ถ้ามันคนบริสุทธิ์ใจ จิตใสๆ มันก็เข้ากับอุปกิเลส จิตผ่องใส จิตใสๆ มันมีอะไร?

ถ้าคนเรามันเจตนาบริสุทธิ์ มันเทียบเข้าไปในธรรมและวินัย ในธรรมะพระพุทธเจ้ามันก็หมดแล้วแหละ จิตผ่องใสเป็นอุปกิเลสทั้งหมด จะใสขนาดไหนมันก็ใสอุปกิเลส จะหยุดนิ่ง จะใสอย่างไรมันก็อุปกิเลส แล้วมันพ้นออกไปได้อย่างไร? มันไม่ได้พ้นออกไป แต่ทำไมแอบอ้างว่าอันนั้นเป็น จิตใสนี่เป็นนิพพาน จิตใสนี่เป็นที่พัก เป็นจุดหมาย เป้าหมายของศาสนาพุทธล่ะ? มันโกหกตัวเอง มันหลอกตัวเองทั้งหมด ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ต้องรู้ว่าจิตมันออกมามันใสขนาดไหนก็แล้วแต่ แต่ความคิดออกมามันเป็นทุจริตได้อย่างไร?

ถ้าจิตมันบริสุทธิ์ใจ ความผิดพลาด นี่มันต้องยอมรับความผิดพลาด พอยอมรับความผิดพลาดแล้วมันต้องรีบแก้ไข เพราะคนเรามันต้องการความถูกต้องใช่ไหม? ต้องการชำระกิเลสในหัวใจใช่ไหม? จิตใสๆ มันอุปกิเลส ๑๖ มันก็ชัดอยู่ ไม่ต้องมายืนยันภาคปฏิบัติเลย ในตำราก็บอกไว้ชัดมาก แล้วพูดว่าจิตมันใส จิตมันใส จิตมันใสนี่จิตมันดี ดีได้อย่างไร? ถ้าดีจะทำความชั่วอย่างนี้ได้อย่างไร?

แล้วก็ตั้งใจ เห็นไหม ตั้งใจอยู่แล้ว ตั้งใจกลบเกลื่อนไว้หมดแล้ว คิดว่ามันจะอยู่เหนือกฎหมายไง พอเหนือกฎหมายนี่ออกแล้ว ร้องศาลรัฐธรรมนูญว่ามีความแตกต่าง ก็รู้อยู่ว่ามันแตกต่าง ถ้าไม่รู้ว่าแตกต่างทำมาทำไม? ถ้ารู้ว่าแตกต่าง เวลายันมาว่าผิดจากพระไตรปิฎกนี่ถูก พระไตรปิฎกต่างหากผิด พระไตรปิฎกต้องแก้ไขพระไตรปิฎกนู่นน่ะ มันรู้มาแต่แรกว่าความแตกต่าง แต่เพียงแต่กลบเกลื่อนไว้ แล้วไปแยกเป็นนิกายใหม่ ไปตั้งนิกายใหม่ นิกายใหม่ก็เป็นนิกายใหม่ไปสิ นิกายใหม่มันต้องบริสุทธิ์ใจจากนิกายใหม่มาตั้งแต่ทีแรกสิ

นี่อ้างไง อิงพระพุทธเจ้าทั้งหมดเลย เอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวขายทั้งหมดเลย เสร็จแล้วก็ลบล้างพระพุทธเจ้าทั้งหมดเลย แล้วก็ว่าตัวเองถูกต้องด้วยนะ แล้วพอมาถึงก็อ้างศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญใครเป็นคนร่างขึ้นมา ศาลเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา สสร. เพิ่งตั้งขึ้นมา รัฐธรรมนูญเพิ่งตั้ง ใครเป็นคนร่าง? หัวดำๆ เป็นคนร่าง กฎหมายโลกเป็นกติกาของสังคมเท่านั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาของสังคม สังคมร่างขึ้นมา คนร่างขึ้นมา แล้วพระนี่ไปอ้างรัฐธรรมนูญมาแอบอิง มาเป็นที่พึ่ง มาเป็นที่เกาะรัฐธรรมนูญนั้น

รัฐธรรมนูญกับธรรมวินัยมันต่างกันตรงไหน? ต่างกันราวฟ้ากับดิน ธรรมวินัยสูงกว่ารัฐธรรมนูญมหาศาล เพราะธรรมวินัยเข้าถึงใจ รัฐธรรมนูญเพียงปกป้อง เพียงแต่หลบหลีกหาเอาที่ว่าตรงไหนสังคมเห็นว่าถูกต้องเท่านั้นเอง สังคมเห็นว่าถูกต้องนะ สังคมคนที่มีกิเลสถูกต้อง อ้างศาลรัฐธรรมนูญ อ้างให้รัฐธรรมนูญปกป้อง ถ้ารัฐธรรมนูญตีความแล้ว คนจะขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้เลย นั่นมันกฎหมายสูงสุดของประเทศ เห็นไหม กฎรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญนี้ยอมรับ

รัฐธรรมนูญยอมรับอยู่ รัฐธรรมนูญยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพการนับถือ แต่มันต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ ตัวเองเหม็นอย่างกับขี้ แล้วก็ไปอ้างรัฐธรรมนูญมาคุ้มครองไง เหม็นอย่างกับขี้นะ ความเห็นตามความผิดอยู่ ก็รู้อยู่ว่าความแตกต่าง รู้ตั้งแต่ทีแรกว่าผิด แต่ทำความผิดไปแล้ว เพราะมีเจตนาทำความผิด มีเจตนาจะกลืนกินเขา มีเจตนาจะรวบรัดเขา มีเจตนาทุจริตมาแต่แรก แล้วพอทำไปแล้วเขารู้ทัน เรื่องมันยังไม่จบ ถ้าเรื่องมันจบไปแล้วนะศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่พูดถึง

ศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็นคฤหัสถ์เขาเป็นคนบัญญัติขึ้นมา มันเล็กน้อย สิ่งใดที่ไปขัดกับความตัวเองที่จะกลืนกินเขาได้นั่นน่ะ อันนั้นก็มาขัด แต่เวลาตัวเองจนตรอกจนมุมก็ไปอ้างสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าต่ำต้อยไง อ้างว่าต่ำต้อย เห็นไหม แต่เดิมทำบุญที่วัดไหนก็ไม่ได้บุญหรอก ทำบุญที่ไหนก็ไม่ได้บุญ เพราะพระไม่ดี แต่ตอนนี้ว่าพระมาทั้งหมดเพราะศรัทธา นี่เวลาอ้าง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ อ้างครึ่งหนึ่ง บังไว้ครึ่งหนึ่ง บังเจตนาความชั่วไว้ครึ่งหนึ่งตลอดไปเลย อ้างว่าทำบุญที่อื่นไม่ได้บุญ ต้องทำบุญกับที่นี่ เพราะที่นี่ไปถวายพระพุทธเจ้าได้ถึงต้นตอ ถ้าทำบุญที่อื่นได้ครึ่งเดียว แล้วเวลาจนตรอกจนมุมมา เห็นไหม พระศรัทธา พระมา

นี่ก็เหมือนกัน อ้างศาลรัฐธรรมนูญ ลองถ้าพูดถึงคนเข้าใจ ศาลรัฐธรรมนูญนี่ขัดบัญญัติ ธรรมวินัยพระพุทธเจ้านี่ผู้สิ้นกิเลสเป็นคนบัญญัตินะ พระพุทธเจ้าเป็นคนบัญญัติธรรมและวินัยอันนี้มา นานาสังวาสมันก็เป็นนานาสังวาส ถ้าเป็นต่างนิกายมันต้องเป็นต่างนิกายมา ต่างนิกายมันก็เริ่มต้นตั้งแต่จตุตถกรรมมาตรงไหน? นี้บวชมาในเถรวาทไง บวชมากล่าวคำอามะ ภันเตมาตลอดไง แล้วพอทำไปบอกมีความแตกต่าง

มันทุจริต มันฆ่าพ่อมันตั้งแต่ยังเป็นพระอยู่นั่นน่ะ ฆ่าความเห็นนั้นไง ความเห็นแตกต่างไง ความแตกต่างนี้มันต้องแตกต่างในหัวใจสิ ปัญญาที่หมุนไป หมุนไปให้ได้สิ เอามาชำระกิเลสให้ได้ แต่นี้ไม่ใช่ชำระกิเลส นี่มันสะสมกิเลสไง สะสมกิเลส สะสมเข้ามาสิ สะสมกิเลสว่าความแตกต่างให้มันออกไปจากข้อบังคับเดิมไง มันน่าเศร้าใจตรงที่ว่าศาสนาพุทธเรานี่นะ ในโลกปฏิบัติ มันมีเมืองไทยเรานี่จุดเด่นที่สุดเลย แม้แต่ที่ว่าลังกา เขาไปดูกันมาว่าที่ลังกานี่นะเป็นศาสนาที่เพียวๆ ศาสนาที่ดี

ดีจริงอยู่ แต่ดีในพิธีกรรม เพราะพวกพระ พวกยุโรปบวชมามาก ผ่านจากอินเดียมา มาอยู่ที่ลังกา ต้องมาที่เมืองไทยถ้าอยากจะเข้าถึงแก่นของธรรม จะเข้าถึงแก่นของธรรม ปฏิบัติอยู่ที่เมืองไทย เมืองไทยมีสำนักปฏิบัติมาก แต่สำนักปฏิบัติมันต้องซื่อสัตย์กับธรรมวินัยสิ ซื่อสัตย์กับธรรมวินัย ซื่อสัตย์กับตัวเองสิ ไม่ใช่ว่าสำนักปฏิบัติแต่เปลือกว่าสำนักปฏิบัติ แต่ปฏิบัติเข้าไปแล้วปฏิบัติเอาหลักแก่นของศาสนา หรือปฏิบัติไปเพื่อเอากิเลสของตัวเอง

จิตใสๆ อันนี้เป็นใสสุดยอด ใสนั่นมันก็คืออวิชชา อุปกิเลสมันครอบงำอยู่ ความหลงใหล ความหลงในการปฏิบัติมันต้องยอมรับสิ ความเศร้าหมองในใจมันต้องมีแน่นอน ความทุกข์ในใจ ถ้าคนมันซื่อสัตย์ต่อตัวเองนี่มันเห็น ในเมื่อตัวเองยังว้าเหว่ ในเมื่อตัวเองยังมีความทุกข์อยู่ ในเมื่อใจยังไม่เป็นอิสระ อย่างไรมันก็มีความทุกข์ มีความทุกข์ในใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นไปไม่ได้หรอกว่าจิตนี้มีกิเลสอยู่จะมีความสุข

จิตที่มีกิเลสอยู่นะ มันจิตผ่องใสในเมื่อจิตนี้เป็นสมาธิ มันผ่องใส มันจะมีความสุขต่อเมื่อเข้าไปอยู่ในสมาธินั้น สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพทั้งหมด ในเมื่อทำจิตให้เป็นสมาธิ จิตนั้นต้องเสื่อมจากสมาธิแน่นอน มันเป็นกุปปธรรม มันยังเป็นกุปปธรรมอยู่ มันยังต้องเสื่อมสภาพ มีความเจริญแล้วมีความเสื่อม เพราะตัวมันเองก็เป็นอนัตตา

ในตัวของสมาธิเองนั้นก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ต้องเป็นอนัตตาตลอด ธรรมทั้งหลายนี้เป็นอนัตตาตลอด เป็นอนัตตาเพราะว่ามันแค่ผ่องใส มันไม่ได้ขุดคุ้ย มันไม่ได้หากาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ได้ชำระกิเลสตามความเป็นจริง มัคคะอริยสัจจังยังไม่ได้เกิด ภาวนามยปัญญายังไม่มี แก่นของศาสนาคืออริยมรรคต่างหาก

ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการขุดคุ้ย จากการถากถางจิต จากการถากถางไอ้ความผ่องใส ไอ้ความผ่องใสนั้นเป็นอุปกิเลส เห็นไหม จิตผ่องใสนี้เป็นจิตเดิมแท้ จิตผ่องใสแต่หมองไปด้วยอุปกิเลส ขณะที่ผ่องใสอยู่ตัวมันชำระ มันปล่อยวางอุปกิเลสไว้ ซ่อนไว้อยู่ใต้ความผ่องใสนั้น แล้วไม่ได้ชำระกิเลส เพราะไม่ได้อริยมรรคเลย

ศาสนาพุทธสอนถึงอริยมรรคนะ เห็นไหม ความดำริชอบ ดำริในความผ่องใสนั้นมันมีกิเลสอยู่ ความผ่องใส กิเลสมันซุกอยู่ในความผ่องใสนั้น ความผ่องใสนั้น ความเพียรชอบ ชอบในการชำระกิเลสในความผ่องใสนั้น การงานชอบ ชอบเพราะการขุดคุ้ยหา หรือเพ่งดูว่าไอ้ความผ่องใสนั้นมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันเป็นไตรลักษณ์ในความผ่องใสนั้น ความผ่องใสนั้นมันต้องแปรสภาพตลอด มันตั้งอยู่ด้วยความผ่องใสตลอดไปไม่ได้

นี่ถึงว่าความดำริชอบ การงานชอบ ชอบลงกับความผ่องใสนั้น ความเพียรชอบ ถ้าชอบต้องใคร่ครวญดูความผ่องใสนั้น ไม่ใช่ใคร่ครวญดูกระเป๋าเขา ไม่ใช่ใคร่ครวญดูเงินของใครจะให้มากให้น้อย ไม่ใช่ใคร่ครวญด้วยการเอาเงินซื้อมรรค ผล นิพพานได้ ไม่ใช่ใคร่ครวญว่าใครมีเงินมาก คนนั้นมีวาสนาเข้าถึงมรรค ผล นิพพาน ทุคตะเข็ญใจก็เข้าถึงได้ ในเมื่อหัวใจนั้นยังมีอยู่ เห็นไหม นี่การชอบงานใคร่ครวญกิเลสของตัวต่างหาก ใคร่ครวญใจของตัว ใคร่ครวญกิเลสของตัว

พระพุทธเจ้าสอนว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆอยู่ที่ใจผู้ปฏิบัติไง” ไม่ต้องอ้างหรอกว่าเป็นอาจารย์หรือเป็นลูกศิษย์ เป็นอะไรก็ได้ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เห็นไหม เชื่อคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วขุดคุ้ยเข้ามาที่ใจของตัว ต้องมีการขุดคุ้ย มีการชำระ มีการขุดคุ้ยชำระนั้นคือการเริ่มต้นของภาวนามยปัญญา การทำจิตสงบเข้ามามันมีมาก่อนศาสนาพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติศาสนา มันก็มีทำจิตผ่องใสอยู่แล้ว

กาฬเทวิล อาฬารดาบส จิตผ่องใสไหม? เข้าสมาบัติน่ะ มันยังดีกว่าเราอีก เพราะเข้าสมาบัติแล้วเขายังทรงอยู่ได้ ไปถึงอยู่บนพรหม ขนาดพระพุทธเจ้าเกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะยังมาดู ยังเป็นอาจารย์สอนเจ้าชายสิทธัตถะด้วย แต่เจ้าชายสิทธัตถะสลัดทิ้งทั้งหมดในความผ่องใสนั้นไง ในความเป็นสมาบัติ เป็นฌานอันนั้นมันสลัดทิ้งทั้งหมด เพราะมันเป็นหนึ่งเดียว มันยังไม่เป็นสัมมาด้วย เพราะมันทำให้จิตนี้ส่งออกไป เห็นไหม การทำใจให้ผ่องใสแล้วขึ้นไปอยู่บนพรหม จิตมันบังคับให้ตัวเองลอยขึ้นไปบนพรหมได้ มันส่งออกหรือมันส่งเข้านั่นน่ะ? มันชำระกิเลสหรือมันเพิ่มกิเลสนั่นน่ะ?

เป็นผู้ที่เป็นศาสดาสอนเขาทั้งหมด ทุกคนต้องอยู่ใต้อำนาจของตัวเองทั้งหมด มีความผ่องใส แล้วสร้างความผ่องใสไว้ มันน่าชมเชยที่เขารักษาจิตของเขาได้ เพราะมันเจริญแล้วเสื่อม แล้วเขายังรักษาไว้คงที่ได้ เขาเก่งตรงนี้ไง เขายังดีกว่าคนที่ทำจิตผ่องใสแล้วเสื่อมไปหมด ใช้ความคิดของตัว ใช้กิเลสของตัวทั้งหมดมาหลอกลวง

ทั้งๆ ที่ปฏิญาณตนว่าเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมัคคะอริยสัจจังในการชำระความผ่องใสนั้นให้หมดไป ความผ่องใสนั้นต้องแตกสลายไป ความผ่องใสนั้นจะไม่มีอยู่ในจิตที่เป็นของจริงเลย เพราะความผ่องใสนี้เป็นแค่จิตมันเข้าไปอยู่ที่ความสงบ แล้วมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป แต่ถ้าเอาความผ่องใส เอาจิตที่มันสงบนั้นยกขึ้นวิปัสสนา อันนี้ต่างหากคือแก่นของศาสนา

“สุภัททะ เธออย่าถามให้เสียเวลาไปเลย ในศาสนาไหนไม่มีมรรค ในศาสนานั้นจะไม่มีผลเด็ดขาด ในศาสนาเรามีมัคคะอริยสัจจัง มรรค มรรคเครื่องดำเนินนี้เป็นทางของการชำระกิเลสต่างหาก สุภัททะอย่าถามให้ชักช้าไปเลย บวชเถิดแล้วพิจารณาด้วยมัคคะอริยสัจจังนั้น”

เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเป็นองค์สุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เห็นไหม มันอยู่ที่ตรงนี้หรอก มันอยู่ที่ภาวนามยปัญญาตรงนี้ต่างหากมันถึงจะเป็นความจริงขึ้นมาในหลักของศาสนา นี่ถึงเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยความเป็นจริงไง ไม่ใช่เป็นด้วยความตะแบงไง เกิดมาในท่ามกลางศาสนา เกิดมาเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทำลายมันไปทั้งตั้งแต่ข้างล่างถึงข้างบน ทำลายถึงแก่นของศาสนา ทำลายถึงวิธีการจะเข้าถึงศาสนาไง แล้วยังว่าตัวเองจะจรรโลงศาสนา ตัวเองจะส่งเสริมศาสนาไง

เป็นผู้ที่รักใคร่ศาสนา อยากจะสงวนรักษาศาสนา เป็นตัวทำลายอยู่ชัดๆ ไม่รู้เลย เพราะทำลายหลักการอันนี้ไง ทำลายหลักการที่ว่าแม้แต่จิตผ่องใสนี้มันเป็นแค่เริ่มพื้นฐานตั้งแต่อาฬารดาบส อุทกดาบสสอนเจ้าชายสิทธัตถะมาแล้ว เจ้าชายสลัดทิ้งมาต่างหาก สลัดทิ้งไปเพราะมันไม่ใช่ทางไง ถึงต้องมาเริ่มอานาปานสติใหม่ มาบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ แล้วก็อาสวักขยญาณต่างหาก อาสวักขยญาณชำระจิตนั้นหลุดออกไป วิมุตติสุขอันนี้เป็นแก่นของศาสนา

นี่ไงเรื่องของตัวศาสนา นี่คือตัวจริง แล้วใครต้องไปร้องกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญเกิดเมื่อในปีนี้เอง ศาสนานี้ ๒,๕๐๐ ปีมาตลอด จรรโลงให้เกิดพระอริยสาวก เกิดพระอรหันต์เป็นช่วงๆ มาตลอด รัฐธรรมนูญนี้เพิ่งเกิดเมื่อปีนี้ อายุมันต่างขนาดไหน? ความคงทน ความเป็นจริง ความเป็นสัจจะ มหาศาลเลยต่างกัน แต่ก็อ้างกันเพื่อเอาตัวรอดไง อ้างกัน มันถึงว่าเริ่มเห็นตั้งแต่เจตนา การเห็นตรงนี้เห็นเจตนาทั้งหมดเลย ว่าเจตนานี้มันมีอะไรแฝงมาตลอด แล้วพอถึงจนตรอกจนมุมก็เปิดออกมาให้เห็นตามหลักความจริงว่าอันนี้ นี่ออกมาให้เห็นว่าเจตนาของตัวเป็นอย่างไร เจตนาของตัวที่สะสมไว้ ที่ปกปิดไว้ไง

แต่ในเมื่อเจอไฟเผาเข้าไป ทองเจอไฟมันยิ่งหลอมให้สุกใสไง นี่เจอการตรวจสอบเข้าไป วิ่งหนีไง เจอการตรวจสอบไป ตะแบงออกไปศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ตะแบงกลับเข้ามาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมวินัยอันนี้ มันต้องคุยกันตรงนี้สิ ธรรมและวินัย ต้องซื่อสัตย์กับธรรมวินัย ต้องซื่อสัตย์กับพ่อของตัวสิ ซื่อสัตย์กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ

ได้เพศมา เพศของสงฆ์มา ได้การบำรุงรักษามาจากบริษัท ๔ ได้การบำรุงรักษา ได้การส่งเสริมมาจากบริษัท ๔ เกิดขึ้นมาในศาสนา แล้วก็เหยียบกันไปหมดเลย เหยียบหัวศาสนาไปหรือ? เหยียบหัวครูบาอาจารย์ไปอย่างนั้นหรือ? นั่นหรือเป็นผู้มีธรรม? ข้ามพ้นจากในศาสนานี้ออกไปเอาข้างนอกไง อ้างอิงกันไปเรื่อย อ้างอิงกันไปเรื่อย ไม่ใช่ความจริงหรอก เพียงแต่มันจริงอยู่ เรารู้อยู่ว่ามันไม่จริงมาตลอด เพียงแต่การแสดงออกมันเห็นชัดไง

นี่มันเป็นการสั่งสอนสังคมจริงๆ สังคมชาวพุทธ ไม่ใช่ตื่นกันแต่รูปแบบ เห็นข้างนอกสวยๆ งามๆ ตื่นแต่รูปแบบ เอารูปแบบมาคล้อง เอากระดูกมาคล้องคอ เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองหนัง เอากระดูกมาแขวนคอไว้เลย ฉันนี่เป็นชาวพุทธในเชิงปฏิบัติ เอารูปแบบมาแขวนไว้เฉยๆ ไง ก็เอากระดูกมาแขวนคอ เนื้อของศาสนาไม่ได้ลิ้มรสเลย เนื้อของธรรมไง ไอ้จิตผ่องใสๆ ขอให้มันเป็นเถิด

สมัยปัจจุบันนี้มันไม่ได้เลยล่ะ สมัยก่อนพุทธกาลมันมีอยู่มหาศาล จิตพื้นฐานนี้เป็นผู้ที่มีสมาธิอยู่แล้ว หาทางออกอยู่แล้ว เพราะคนทุกคนหาทางออก เพราะความสุขมันมีอยู่แค่นั้นแหละ แต่เดี๋ยวนี้มันเหลิง เหลิงไปตามโลกไง ถึงว่าจิตผ่องใสให้มันได้ขึ้นมา มันก็ยังว่าพออยู่ พอกิน ทำให้จิตนี้มีความสุข มีความอยู่ได้ไง แต่มันไม่ใช่แก่นของศาสนาหรอก แก่นของศาสนาคือมัคคะอริยสัจจังต่างหาก มรรค ๘ เครื่องดำเนินให้พ้นจากทุกข์ต่างหาก มรรคตัวนี้แล้วเกิดขึ้น ไม่ใช่มรรคนึกเอา ไม่ใช่มรรคแต่งตั้ง ไม่ใช่มรรคระบบ มรรคจัดตั้ง มรรคคิดขึ้นมาให้มันเป็นมรรคไง มรรคนั่นมรรคมีเราคิดไง

พยายามเปรียบเทียบมานะ ในมรรคของโลกเขา เห็นไหม สัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพชอบ ทำงานชอบด้วยมรรค มรรคนั้นมรรคหยาบๆ มันไม่ใช่อริยมรรค มันไม่ใช่บุคคล ๘ จำพวกที่เดินโสดาปัตติมรรคนู่นน่ะ ไอ้มรรคอย่างนี้ เพียงแต่ว่าดึงออกมาเปรียบเทียบมาให้เป็นความดำรงชีวิตอยู่ของโลกเท่านั้นเอง แต่มรรคที่เป็นความจริง มัคคะอริยสัจจังภายในนั้นมาเลี้ยงใจชอบ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเลี้ยงใจชอบ อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วมัคคะทำลายมัน ทำลายอาหารที่ใจกินนั้นจากทุจริตเป็นสุจริตไง ทำลายอารมณ์ความคิดอันนั้นน่ะ

ผู้ที่มีมรรค ผู้ที่ทำลายความทุจริตของใจแล้ว มันจะเห็นผ่องใสอะไรของมันขึ้นมาในหัวใจอีกล่ะ? ในเมื่อมันทำลายอารมณ์ทั้งหมดเลย มันหมดจากความผ่องใสไปทั้งสิ้น เพราะความผ่องใสนั้นมันยังไม่รู้ว่าอันนี้ทุจริตหรือสุจริต เพราะความผ่องใสมันเป็นกลางอยู่ มันเป็นสังโยชน์ไง สังโยชน์ที่มันอยู่เฉยๆ ไม่มีเจตนาความคิดถูกผิดไง ไอ้พอออกมาเป็นโลภ โกรธ หลงแล้วถึงเป็นความผิดไป

นั่นน่ะมันทำลายตัวที่ตั้งอยู่ก่อน ก่อนที่เป็นทุจริตหรือสุจริตตัวนั้น ทำลายออกทั้งหมดเลย นั่นน่ะมัคคะอริยสัจจังทำลายตรงนั้น ศาสนาพุทธถึงเป็นศาสนาที่ประเสริฐ ศาสนาที่ยอดเยี่ยม ยอดจริงๆ เกิดขึ้นมาท่ามกลางศาสนา มันควรจรรโลงศาสนาให้ตามความเป็นจริง ศาสนาจะได้อยู่ยั่งยืนตลอดไป คุยกันไป โม้กันไป รักศาสนาทุกคน แล้วก็เหยียบกันไปทุกคน ไม่มีใครรู้จริงซักคนหนึ่ง