เทศน์เช้า

กุศล

๑๘ ก.ย. ๒๕๔๒

 

กุศล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานวันพระนะ วันนี้วันเสาร์คนเยอะหน่อย กิเลส.. กิเลสมันต้องถอนออก ต้องถอนออก อาจารย์มหาบัวว่า “ดึงฟืนออกจากกองไฟ” ไม่มีทางเลยที่จะใส่ฟืนเข้าไปแล้วจะให้ไฟดับ ไฟยิ่งได้ฟืนมันยิ่งไปมาก ต้องชักฟืนนั้นออก

นี่ของมันมีอยู่ ของมันมีอยู่ ถ้าเราไปตามมันนะไม่มีวันจะสิ้นสุดหรอก มันไปเรื่อย แล้วมันยังเจริญไปข้างหน้า โลกจะเจริญไปข้างหน้า ยิ่งเจริญไปเท่าไหร่คนยิ่งแย่ คนจะแย่ลงๆ เพราะอะไร? เพราะความเจริญ เทคโนโลยีมันเจริญมาก มันเจริญจนคนพยายามจะปั้นคนให้เป็นวัตถุไปด้วย แล้วเราก็จะหมุนไปกับมัน โลกมันถึงได้ร้อนไง

นี่มันก็เหมือนกันเลย ทีแรกก็เป็นกุศลอยู่ คิดอยู่ทุกคนนะว่าทำกุศล ทำความดีมา ว่าโลกมันเจริญแล้วเราจะเจริญตาม พอโลกมันเจริญขึ้นมาแล้วเราหมุนไม่ตามเทคโนโลยีหรอก หัวปั่นเลย ประเทศที่เจริญแล้ว ดูคนเขาสิ เขาจะมีแต่ความทุกข์มากเลย แต่...แต่มองในมุมกลับนะว่าเขาเจริญไง เขาเจริญแล้วเราอยากเจริญตามเขา เราเจริญตามเขามันสำคัญตรงจุดยืนนี่ จุดยืนของเรา ให้รู้จักตัวเราเอง

เราถึงว่าญี่ปุ่นดีกว่า ญี่ปุ่นนี่เวลาถึงวันหยุดของเขา เขาจะใช้ชีวิตแบบญี่ปุ่นไง เขาใช้ชีวิตของเขา แต่เวลาทำงานของเขาก็ไปอีก เห็นไหม เขามีจุดยืน ถ้าประสาเราว่าเขารักชาติ ความรักชาติของเขาเหมือนกับคลั่งชาติ แต่เขารักชาติของเขา มันเลยมีจุดยืนไง อะไรมาก็แล้วแต่แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นหมด แปลภาษาญี่ปุ่นหมด แต่ของเราจุดยืนตรงนี้ไม่มี พอจุดยืนไม่มีจะให้เจริญตามเขา

ทีนี้เจริญ โลกส่วนโลก ธรรมส่วนธรรม เจริญ ทุกคนอยากให้มันเจริญ แต่เจริญแล้วต้องมีจุดยืนตรงนี้ด้วย ถึงบอกว่าการศึกษา การใคร่ครวญมา นี่กุศลไง ทำความดี ความว่ามันเจริญแล้วจะมีความสุข แล้วมันไม่ใช่ ร้อนไปเรื่อยๆๆ ยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อย ยิ่ง...เห็นไหม อย่างคนมีฐานะมาก นอนไม่หลับหรอก มันจะคิดมาก อู้ฮู...คิดมาก ยิ่งคิดมากยิ่งเครียดมากนะ ยิ่งถ้าเราพอมีพอกินไป มันก็พอ มันไม่เดือดร้อน นี่มันสบายใจต่างกัน แต่ถ้ายิ่งสูงมาก ยิ่งคิดมาก โอ้โฮ...ตัวเลข คิดแต่เรื่องของตัวเลข นี่ไงถึงว่าทำกุศลแล้วจะทำให้เกิดเป็นบุญ

นี่ก็เหมือนกัน กุศลทำให้เกิดอกุศลไง กุศลมันแค่เป็นกุศล แต่เพราะไม่มีจุดยืนที่พอ ศาสนาเราถึงสำคัญไง ต้องให้มีศีลก่อน เห็นไหม ศีล ๕ นี่สำคัญที่สุดเลย ศีล ๕ ดูอย่างที่อย่างเช่นจิตสงบ จิตเป็นสมาธิ จิตนี่ควรการทำไสยศาสตร์ ทำคุณไสยต่างๆ นี่เพราะอะไร? เพราะไม่มีศีล มีศีลจะทำไปได้อย่างไร ปาณาติปาตา แค่คิดทุจริตออกไป อันนั้นก็เป็นปาณาติปาตาแล้ว ทำร้ายเขาแล้ว ทำลายคนอื่น นี่ไม่ทำลาย ถ้ามันไม่ทำลายคนอื่น พอจิตมันดีขึ้นมามันก็ทรงตัวขึ้นมา

นี่กุศลทำให้เกิดกุศลไปเรื่อยๆ ไม่ใช่กุศลทำให้เกิดอกุศล พอจิตมันออกไป อกุศลสิทำให้ตัวเองหลงใหล ตัวเองได้ปลื้มไปนะเวลาไปเห็นนิมิต เห็นอะไรต่างๆ ทำให้เสียไปเลย จนทำไม คนภาวนาแล้วถึงจะทำให้สติเสียไปได้ก็มี เห็นไหม

การภาวนานี่ ศีล สมาธิ ปัญญา การภาวนานี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ทำไมทำแล้วทำไมเสียไปล่ะ? ทีแรกทำให้เกิดกุศลไง อยากทำภาวนา แต่ทำแล้วทำไมมันออกไปรูปนั้นล่ะ นี่พอเราประคองไง กิเลสมันร้ายมาก ถึงต้องประคองไป กิเลสมันร้ายมาก หมายถึงว่ามันทำไปแล้วมันก็หลงไป หลงไป แต่ทำไมเราต้องทำบุญกุศลล่ะ

นี่สร้างไง สร้างของเรา เวลาให้ทานใจมันจะสะดวกขึ้น เปรียบเหมือนฝีเลย ฝีถ้ามันอยู่เฉยๆ มันจะปวดมาก ถ้าเราได้บ่งออกไป หนองออกไปแล้วจะหายปวด ใจคนเหมือนกัน มันอยู่ปกติของมัน มันครอบไว้เฉยๆ ทานก็เหมือนกับบ่งออกไง การสละออก การให้ออก การสละออกไปๆ นี่มันบ่งออกไป มันได้ความสบายกลับมา มันได้มาก แต่คนไปมองตรงนั้น นี่เพราะอย่างว่าล่ะ กิเลส ความตระหนี่ ความคิดว่ามันให้แล้วจะได้เกิดประโยชน์ไหม ความคิดมาก ถึงว่าต้องให้ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ นี่มันจะเป็นบุญกุศล แต่มันจะเจอได้อย่างไร

ถึงว่าต้องเป็นอำนาจวาสนา จะเจอครูอาจารย์ต่อเรานี่วาสนานะ วาสนามากเลย พอมันมีวาสนาไป ทำบุญได้บุญเหมือนกัน ทำบุญได้บุญเหมือนกัน แต่ได้มาแล้วนี่มันขนาดไหน มันต่างกันไป ถ้าเราทำบุญแล้วได้บุญ เห็นไหม ทำบุญ หนึ่งการทำบุญแล้วได้ฟังธรรม ได้ฟังธรรมก่อน ผลที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจารย์มหาบัวท่านบอกเลย “เปรียบเหมือนกับเปิดประตู” เปิดประตูออก อากาศเข้าขนาดไหน เปิดมาก เปิดน้อย เข้า-ออกนี่เสมอกัน

นี่ถ้าคนใจมันเป็นกลาง ใจมันเป็นกลางมันจะเห็นตรงนี้ไง เห็นความละเอียดอ่อน ความเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องอย่างนี้ นี่ผู้ที่ผ่านมาแล้วจะเห็นเรื่องอย่างนี้ แต่ถ้าเราอยู่ใกล้ๆ นะไม่เห็น ใกล้ตัวไง ของใกล้ตัว เวลาหวังมรรคผลนิพพานกันทั้งนั้นล่ะ หวังข้างบนไง แต่ตรงนี้ ตรงพื้นฐานนี่สกปรกหมดเลย มันจะได้อย่างไร อาจารย์ถึงบอกว่าภาชนะใส่ไง ก่อนที่จะใส่ภาชนะเราต้องสะอาดก่อน ต้องมีศีลก่อน ศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม แต่โยมก็ต้องทาน ศีล ภาวนา มีทาน เพราะทานมันทำได้

อย่างที่เขาพูดเมื่อวาน เขาบอกว่า “อย่างเขาภาวนานี่ ศีล ๕ พอไหม?”

เราบอก “พอ”

เขาบอก “พอได้อย่างไร? ศีล ๕ พอปฏิบัติหรือ?”

เราบอกนี่คิดผิดเลย ศีล ๕ โยมนี่พอ เพราะอะไร? เพราะในสภาวะของคฤหัสถ์ไง ในสภาวะของพระนี่ศีล ๒๒๗ ใช่ไหม ศีล ๒๒๗ เพราะเป็นพระ เหมือนข้าราชการมีกฎระเบียบบังคับ แต่ประชาชนธรรมดานี่กฎระเบียบของข้าราชการไม่บังคับ กฎระเบียบข้าราชการพลเรือนไม่บังคับพวกประชาชน ทีนี้ประชาชนก็ถือกฎหมายน้อยกว่า

พระก็เหมือนกัน “ผู้ที่จะปฏิบัติต้องศีล ๒๒๗ ศีล ๕ ไม่พอ”

พอ! เพราะมันอยู่ในสถานะของคฤหัสถ์ ไม่ได้อยู่ในสถานะของสงฆ์ ต่างกันไง เห็นไหม ตำรวจทำความผิด ตำรวจจะได้โทษมาก เพราะตำรวจไปทำความผิด เพราะตำรวจหน้าที่ของเขาคือรักษากฎหมายแล้วทำความผิดเอง พระเหมือนกัน ผู้ที่จรรโลง ผู้ที่รักษาศีลธรรมไง เป็นศากยบุตร เป็นผู้ทรงศีลธรรม แล้วทำความผิดก็ได้ผิดมาก ฉะนั้น ถ้าทำความถูกก็ได้ถูกมาก ทีนี้เราคฤหัสถ์ ศีล ๕ เวลาทำมันถึงว่าทำได้ พอ เพราะพระพุทธเจ้าบอกแล้วให้ถือศีล ๕ ไง ศีล ๕ มันพอ มันทำมาได้

พอ แต่ทีนี้คำว่าพอเพราะในสถานะของคฤหัสถ์ใช่ไหม สถานะของโยมใช่ไหม พอมันทำขึ้นมาแล้วมันเป็นไปเอง พอมาทำแล้วศีล ๕ มันเป็นไปเอง ดูอย่างเช่นพอภาวนาไปๆ สีลัพพตปรามาส ไม่ถือศีลด้วยลูบคลำ มันเป็นศีลโดยที่ว่าใจเป็นศีลเลย ใจนี่มันเป็นหนึ่งเลย ใจมันไม่คิดวอกแวก อันนั้นประเสริฐสุด

อย่างพระสมัยพุทธกาลสิ ไม่อยู่แล้ว นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด อยากจะไปสึก ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า

“ศีลมันมากนะ ถือศีลข้อเดียวได้ไหม?”

“ได้”

“ถือที่ใจ ให้ใจไม่เจตนาทำความผิด รักษาใจไว้เลย”

นี่ใจไปอยู่ข้างนอกไง นี่ถ้ามันภาวนาขึ้นไป มันรบขึ้นไป มันเจริญขึ้นเอง แต่เริ่มต้นไง ต้องอย่างนั้นๆ เขาถึงบอกว่าต้องให้ใจสะอาดก่อนแล้วค่อยมาภาวนา ใจมันสกปรกโดยกิเลสอยู่แล้ว เอาศีลคุมมันเข้าไปก่อน เขาถึงว่าจะให้มันสะอาดก่อน แล้วค่อยมาเริ่มต้นมันเป็นไปได้ยาก ต้องเริ่มต้นนี้ไป แล้วมันจะพัฒนาขึ้นไปเรื่อย จากศีล ๕ นี่ไปก่อน ทำเข้าไปๆ พอมันทำแล้วมันทุ่มเข้าไป อย่างที่ว่าจิตมันเริ่มสงบเข้าไป แล้วมันอยากได้ลึกเข้าไปอีก ต้องทำอะไรขึ้นมา เห็นไหม ศีลต้องยอมรับให้มากขึ้น มันจะวิรัติเอง มันจะงดเว้นไปเอง

อย่างเราไปเจอสิ่งที่ดีขึ้นไป เราอยากได้ขึ้นไป เราก็ต้องมีภาชนะใหญ่ขึ้น ของที่ควรจะใส่ ของที่ละเอียดอ่อนขึ้นไป ภาชนะควรอย่างไรมันจะเป็นขึ้นไป แล้วปัญญามันจะเกิดไปเรื่อย ปัญญาจะเกิดไปเรื่อย มันเห็นเอง รู้เอง

อย่างที่เขาว่า เห็นไหม จิตที่เป็นสมาธิ ลงไปมันหายไปนี่ เป็นอย่างนี้ไหม นี่ความเข้าใจคนไม่เหมือนกัน จิตที่ตกภวังค์ เข้าใจว่าเป็นสมาธิเพราะพุทโธหายเหมือนกัน

เราถึงบอกว่า ไม่ใช่ ถ้าจิตเป็นสมาธินะ ทุกอณูของวินาที ทุกเวลาที่เคลื่อนไปสติมันจะรู้ตลอด มันจะลงไปตลอด มันรู้ตัวเองตลอดเลย มันไม่ใช่ว่าพอถึงว่ากำหนดไปๆ วูบหายไปเลย นี่พุทโธหายเหมือนกัน แต่หายคนละลักษณะ หายเพราะว่ามันหายไปเองโดยที่ว่ามันหลุดมือไป กับพุทโธหายนี่

พุทโธนี่ พุทโธๆ พุทโธไม่ได้เพราะจิตมันละเอียดเข้าไป มันเหมือนกับว่าเวลาพูดอยู่นี่อ้าปากพูด แล้วเราเงียบสิ หุบปากไว้เฉยๆ นี่เสียงนี้หายไป นี่ก็เหมือนกัน พอพุทโธๆ กับใจเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อเดียวกันจนจิตนี้นึกพุทโธไม่ออก เห็นไหม ความหายมันหายอย่างนั้น มันหายเพราะว่ามันกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน สติมันพร้อม มันเห็นการกลืน ดูอย่างจันทรคราส สุริยคราสมันกลืนมันเห็นขนาดนั้น

นี่เหมือนกัน เนื้อพุทโธที่เรานึกพุทโธๆ อยู่นี่ กับใจนี้กลืนเป็นอันเดียวกัน สติพร้อมตลอด เห็นตลอดเลย แต่มันเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเป็นแบบว่าตกภวังค์ พุทโธๆๆ แล้วหายวูบไปเลยอย่างนี้ เป็นไปได้ง่าย แล้วเป็นทุกคนด้วย การที่เป็นอย่างนี้ที่เราเรียกว่าตกภวังค์ ถึงว่าการหาย ถ้าเข้าใจว่าเขาเข้าใจว่าอันนี้ถูกต้องด้วย เพราะไปฟัง นี่ความเข้าใจของตัวเอง พอไปฟังครูบาอาจารย์สอนว่าพุทโธๆ ไป พุทโธจะหาย พอหายเลยก็นึกว่าเป็นอันเดียวกัน

เวิ้งว้างนะ เขาบอกว่าเวิ้งว้าง เวิ้งว้างสิมันหาย มันไม่รู้เรื่อง แต่บอกทำต่อไปไม่ได้ไง แต่มันสะดุ้งออกมา บอกอันนี้ไม่ใช่ อันนี้เป็นภวังค์ อันนี้หายเพราะมันตกภวังค์ มันหลับไป มันวูบหายไป หลุดมือออกไป แต่ถ้ามันหายไปโดยธรรมชาติของมันว่าจนพุทโธหาย จนเป็นสมาธิที่อัปปนาสมาธิ คือว่านึกไม่ได้เลย อันนั้นมันละเอียดเข้ามาๆ มันรู้ตัวตลอด รู้ตัวตลอด มันต่างกันตรงนั้น แล้วผลก็ต่างกัน เพราะผลอันนี้มันไม่ให้ผล อย่างสะดุ้งออกมานี่ ออกมาก็ยังเพลีย รู้สึกร่างกายมันไม่สดชื่น แต่ถ้าเป็นสมาธิออกมานะ ลุกขึ้นมานี่ตัวเบามาก ความเบาของใจ

ร่างกายมันใช้ตามปกติ แต่ขาก้าวเดินไปเหมือนมันลอยไป มันไม่มีรับความรู้สึกไง มันเคลื่อนไปเหมือนลอยไปเลย แต่ความจริงคือเดินไปนั่นแหละ แต่ความรู้สึกเหมือนเราลอยไป มันเบาขนาดนั้นไง มันเบาจนกิริยาที่เคลื่อนไหวมันแทบไม่รับรู้อะไรเลย ใจมันอยู่อิสระของตัวมันเอง นี่เวลาออกอัปปนาสมาธิออกมา มันจะ โอ้โฮ... ว่าง โล่งไปหลายวันทีเดียวเลยนะ เป็นหลายวัน พอจิตมันปล่อย มันเหมือนกับว่าแก้วน้ำกับน้ำ ถ้าความจริงของเรา แก้วน้ำกับน้ำเราดูเป็นอันเดียวกัน แต่ความจริงน้ำกับแก้วน้ำมันอยู่คนละอันนะ น้ำกับแก้วน้ำมันคนละส่วนกันใช่ไหม แต่น้ำอยู่ในแก้วน้ำ

จิตที่อยู่ในกายนี้ก็เหมือนกัน กับแก้วน้ำนี่มันแผ่ซ่านเป็นอันเดียวกันหมดเลย พอสมาธิมันเกิดเข้าไป น้ำกับแก้วน้ำมันแยกกันอิสระ ทีนี้ไอ้เปลือกนี่คือกายไง ไอ้แก้วน้ำคือตัวกาย ไอ้จิตนี่มันได้หดตัวเข้ามา มันปล่อยว่างออกไป มันเคลื่อนไป โดยที่ว่ามันก้าวไป มันถึงว่าไอ้จิตนี้ไม่ค่อยรับรู้ มันเลยแบบว่าโล่ง เหมือนลอยไป มีความสุขมาก แต่พอสักพักเดียว ไม่กี่วันมันก็ออกมาเป็นอันเดียวกัน ก็เหมือนกับเรา คือว่าเวลาออกมาแล้ว จิตมันออกส่งออกมาแล้ว มันถึงว่ามันไม่ไอ้นั่นไง จิตส่งออกมาแล้วมันเหมือนกับว่าไม่ได้ชำระกิเลส

ถ้าจิตมันไม่ได้ชำระกิเลส ออกมานี่มันสงบเข้าไปเฉยๆ ไม่ได้ชำระล้าง ถ้าชำระล้างแล้วนี่ขาดออกไป สังโยชน์ขาดออกไป ไอ้น้ำกับแก้วน้ำมันคนละอันเลย รู้ชัดๆ รู้ตลอดเวลา สติพร้อมอยู่คนละอันตลอดเวลา แต่อยู่ด้วยกันนะ แต่คนละอัน กายกับใจ มันละกาย มันละได้อย่างนั้น แต่มันต้องละด้วยปัญญา แต่ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิหรือฐีติจิตมันละได้ คือว่าสมาธิลึกๆ สามารถทำให้ใจนี่ละกายได้เลย แต่ละได้ชั่วคราว

มันละโดยธรรมชาติ ความจริงมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แล้วมันมีอะไรผูกอยู่ แต่ถ้าเวลาจิตมันสงบ เป็นอย่างนี้ขึ้นมาก่อน แล้วเราค่อยวิปัสสนาไป เพราะถ้ามันลึกขนาดนี้มันวิปัสสนาไม่ได้ มันไม่รับรู้เลย เห็นไหม แก้วน้ำกับน้ำมันแยกออกจากกัน มันไม่ค่อยรับรู้กัน ออกมาก็ต้องให้น้ำกับแก้วน้ำมันทำความรู้สึกกัน วิปัสสนากัน จนมันเห็นตามความเป็นจริงแล้วมันปล่อยเอง อันนั้นถึงว่าเป็นปัญญา เป็นวิปัสสนาเพราะเหตุนั้น แล้วมันถึงมีความสุข

สมบัติมีเพราะมีเรา ทุกอย่างในโลกนี้มีเพราะมีเรา บุญกุศลมีก็เพราะมีหัวใจนี้ ทำบุญกุศลขนาดไหน เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม นี่ทุกอย่างตรงนี้มันเป็นจากวัตถุทาน กลายเป็นทิพย์สมบัติ เวลาเราตายไปกลายเป็นทิพย์สมบัติ สิ่งอื่นมีเพราะมีกายกับใจ ถ้าเป็นมนุษย์อยู่นี่ เพราะมีกายมันถึงมีของเรา นี่สถานะทางมนุษย์ เห็นไหม นิติกรรมต่างๆ เขียนด้วยมนุษย์ แต่พอมนุษย์ตายไปล่ะ ทุกอย่างจบลงที่นี่ เป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานไป แต่บุญกุศลติดกับใจดวงนั้นไป ที่เราสะสมไว้ อันนั้นต่างหากสมบัติของใจดวงนั้นไป เป็นทิพย์สมบัติอยู่กับใจนั้นไปตลอด

วิปัสสนาญาณจนแบบว่ามันละขาดออกมา มันก็ขาดตามความเป็นจริง ข้ามพ้นบุญและบาป เห็นไหม มันประเสริฐกว่าทิพย์สมบัติอีก ทิพย์สมบัติยังต้องไปเสวย ยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในทิพย์สมบัตินั้น ในวัฏวนนั้น นี้มันจะปล่อยเลย มันปล่อยออกไป ถ้ายังไม่ถึงที่สุดมันก็ไปเกิดบนสถานะในทิพย์สมบัตินั้น แต่ทิพย์สมบัติแบบพระอริยเจ้าไง เทวดาที่เป็นพระอริยเจ้า กับเทวดาที่เป็นเทวดาปุถุชน บุญกุศลส่งขึ้นไปเฉยๆ

นั้นถึงว่า มันได้รับผลอันนั้นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เหนือกว่าแบบผู้บัญชาการ แบบผู้จัดการ รู้ครอบ เป็นคนเจ้าของทั้งหมด กับเราเป็นลูกจ้างไง ได้ทิพย์สมบัติแต่ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดตามแต่อำนาจของวัฏฏะ อำนาจของบุญกุศลที่มันจะหมดไป เรารับผลโดยที่ว่าเรารับผล กับเรารับผลโดยที่เราเป็นเจ้าของ จิตมันรู้ออก มันรู้ทั่ว มันปล่อยหมดแล้ว แต่สถานะมันยังไม่พ้นจากกิเลสมันก็ต้องเกิดอีก

นี่บุญกุศล ศาสนาเราถึงประเสริฐมาก ศาสนาพุทธนี่ประเสริฐมากเลย เราเกิดพบพระพุทธศาสนานะ ตัวนี้ตัวศาสนาคือตัวศาสนธรรม ศาสนาคือธรรมคำสั่งสอน ธรรม ศาสนธรรมอันนี้ถึงว่าเป็นตัวศาสนา อย่างอื่นแล้วเป็นสิ่งที่ว่า พระพุทธเจ้านี้ก็เป็นผู้ตรัสรู้ธรรม พระสงฆ์ก็มารู้ธรรมถึงเป็นขึ้นมา คือตัวธรรมนั้นน่ะตัวกลาง ตัวที่จะเปลี่ยนสถานะจากปุถุชนเป็นอริยเจ้า เป็นอริยเจ้าขึ้นไปเลย พ้นๆๆ เป็นขั้นตอนขึ้นไป แต่อันนี้เรายังไม่ถึงขนาดนั้นเราก็สะสมของเราไป ถึงว่าอันนี้มันก็ทำให้เราเข้าใจในชีวิต เหตุอะไรเกิดขึ้นแล้วมันรับได้ ความทุกข์เกิดขึ้นรับได้ สิ่งใดเกิดขึ้นมารับได้ ความรับได้อันนั้นมันก็เป็นความพอไง

รู้ เข้าใจ ชีวิตนี้มันก็ไม่ต้องทุกข์ยากมากนัก มันทุกข์เป็นธรรมชาติ แต่ไม่ทุกข์ยากแบบหลงใหลไปกับมันไง มันเข้าใจชีวิต มันไม่หลงใหลไปกับชีวิต ชีวิตนี้ก็เหมือนกับอิสระพอสมควรล่ะ